จะทำงานกับคนที่ไม่ชอบหน้าอย่างไร
นี่คือเรื่องเล่าของผู้บริหารหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ ซูซาน
เธอได้เข้าไปทำงานในสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่ง อะไร ๆ ก็เหมือนจะดีในช่วงแรก แต่ซูซานก็เจอปัญหาสำคัญในการทำงาน
เธอมีเพื่อนผู้บริหารคนหนึ่งชื่อ แพท ซึ่งทั้ซูซานและแพทต่างก็ไม่กินเส้นกันตั้งแต่ช่วงแรกที่ร่วมงานกัน
เมื่อเวลาผ่านไป อะไรต่ออะไรก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานก็อาจจะทำให้ผลงานที่ทั้งคู่ต้องรับผิดชอบย่ำแย่ลง และชีวิตการงานที่นี่ของทั้งสองก็อาจจะพังพินาศได้
====
เมื่อซูซานลองวิเคราะห์สถานการณ์ดู เธอพบว่าแพทเป็นคนที่มีทักษะการทำงานอยู่ในระดับสูง เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้บริหารที่ใคร ๆ ต่างก็ชื่นชอบ แถมแพทยังไม่ใช่คนที่มีพิษมีภัยหรือบั่นทอนใครเลย
แต่ซูซานก็ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าเธอไม่ชอบแพทเอาเสียเลย เพราะเป็นมนุษย์คนละสไตล์กับเธออย่างแท้จริง
ซูซานพบว่าเธอเข้าไม่ถึงแพทเลย เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจหรือไม่ได้รับความสำคัญในการทำงานร่วมกัน
นอกจากนั้นทีมของซูซานยังถูกทีมของแพทปล่อยปละละเลย ไม่สื่อสารอย่างที่ควรจะเป็น หรือบางทีก็เหมือนว่าทีมของแพทหลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารกับทีมของซูซาน
====
สุดท้ายแล้วซูซานก็ตัดสินใจคิดกลยุทธ์ที่จะทำงานร่วมกับแพท
แล้วซูซานก็ได้แนวทางในการทำงานร่วมกับคนที่ไม่ชอบหน้าทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้
1.ลองใช้เวลาอยู่ลำพังเพื่อสะท้อนสาเหตุความตึงเครียดที่มีต่อกันแล้วคิดทบทวนว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ลองคิดใคร่ครวญดูว่าทำไมถึงเกิดความรู้สึกไม่ชอบหน้ากันขึ้นมาได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าคุณควรเรียนรู้จากทุกคนที่ได้พบเจอว่าคุณควรทำตัวอย่างไรเมื่อพบเจอคนที่แตกต่าง (แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย)
จำไว้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ การพบปะพูดคุยในฐานะเพื่อนร่วมงานนั้นสำคัญมาก และบางทีการที่เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกันหรือการไม่ชอบหน้ากันอาจจะเกิดจากตัวคุณเองก็เป็นได้
====
2.พยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายให้มากขึ้น
วิธีการนี้สำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของคุณเอง ลองคิดดูว่า “ทำไมคนนั้นถึงทำแบบนั้น จะทำอย่างไรถึงจะจูงใจคนนั้นได้ คนนั้นมองเราอย่างไร คนนั้นต้องการอะไรจากเราบ้าง ฯลฯ”
การคิดในมุมของคนอื่นจะทำให้เห็นว่าอีกฝ่ายก็ต้องการประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับคุณ หมายความว่าเป้าหมายปลายทางของคุณกับเขาไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลยนั่นเอง
====
3.ทำตัวเป็นนักแก้ปัญหา มากกว่าจะเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นคู่แข่งกับเขา
เพื่อที่จะทำงานด้วยกันให้ได้ดีที่สุด คุณควรเปลี่ยนจากการมองว่าเขาเป็นคู่แข่งให้เป็นคนที่ร่วมงานกัน หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่คุณฝึกปฏิบัติได้คือการ ‘ให้’
ให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคุณ และเชิญชวนให้อีกฝ่ายบอกความรู้สึกของเขาเช่นกัน ก่อนจะหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
====
4.ถามให้มากขึ้น
ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด หลายคนมักจะเลือกบอกนู่นบอกนี่ ซึ่งอาจจะทำให้คุณดูเหมือนพวกชอบบงการและสร้างแรงกระเพื่อมในด้านลบเพิ่มขึ้นอีก
จะดีกว่าถ้าลองสร้างคำถามปลายเปิดดี ๆ ให้เขาได้ลองตอบและทั้งสองฝ่ายต่างก็รับฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง
====
5.ระมัดระวังการสื่อสารระหว่างบุคคลให้มากกว่าเดิม
เพราะแต่ละคนมีสไตล์การสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งสไตล์ของเราอาจไปสะกิดต่อมความรู้สึกไม่ชอบหรือไปโดนจุดเปราะบางของเขา
ฉะนั้นจะเป็นเรื่องดีกว่าถ้าคุณมองเห็นความแตกต่างระหว่างกันแล้วลองประยุกต์ความไม่เหมือนกันนั้นให้เชื่อมเข้าหากัน หรือหาตัวช่วยอื่นๆ ที่จะทำให้สองคนสามารถสื่อสารกันได้ดีขึ้น
กระทั่งการมีตัวกลางที่คุณและเขาเคารพมาช่วยถ่ายทอดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ได้เช่นกัน
====
6.ร้องขอความช่วยเหลือ
การขอให้อีกฝ่ายช่วยเหลือกลายเป็นเรื่องดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะวิธีนี้ทำให้คุณเป็นฝ่ายทลายกำแพงความตึงเครียด และแสดงให้อีกฝ่ายเห็นถึงความเชื่อมั่นที่คุณมีต่อเขา
มันคือการแสดงออกว่าคุณมองเห็นคุณค่า เห็นความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ของเขา
====
ซูซานได้ใช้หลักการเหล่านี้ในการจัดการปัญหากับแพท เธอพบว่าความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันดีขึ้น สื่อสารกันมากขึ้นและเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ชื่นชอบกันมากกว่าที่เคยคิดเอาไว้แต่แรกด้วย
====
เรียบเรียงจากบทความ “How to Collaborate with People You Don’t Like” โดย Mark Nevins ตีพิมพ์เมื่อ 4 ธันวาคม 2018 ใน Harvard Business Review
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน