3 วิธีง่าย...ง่ายเพื่อฝึกคิดวิเคราะห์
พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราพบว่าองค์กรจำนวนมากไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เลย ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดนิดเดียวเท่านั้นจริง ๆ
บางแห่งตามเทคโนโลยีไม่ทัน บางแห่งมีปัญหาเรื่องคนหัวเก่า แต่พูดกันอย่างถึงที่สุดรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากที่เดียวกัน นั่นคือ ‘ขาดทักษะการคิดอย่างรอบด้าน’
====
ผู้นำองค์กรจำนวนมากไม่ยอมมุ่งเน้นประเด็นสำคัญให้มากพอ อีกทั้งยังใช้เวลาไม่คุ้มค่า บ้างก็กระโดดข้ามไปยังข้อสรุปเร็วเกินไป
แต่ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลอะไร พวกเขาก็ยังดึงดันที่จะเลือกเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตัวเอง รูปแบบนี้แหล่ะที่เรียกว่า ‘ขาดทักษะการคิดอย่างรอบด้าน’
ชื่อที่คุ้นหูของการคิดอย่างรอบด้านก็คือ ‘การคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking)’ สิ่งนี้เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ในชีวิตประจำวัน
บางคนอาจจะเคยทำหรือเคยฝึกทักษะนี้กันบ้างแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างมหาศาลระหว่างการ ‘เคยทำอยู่บ้าง’ กับการ ‘ทำอย่างสม่ำเสมอและรอบด้าน’
====
เราขอเชิญชวนให้คุณฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีต่อไปนี้
1.ลองตั้งคำถามกับข้อสรุปที่เคยมี
ข้อสรุปต่าง ๆ ที่เคยมีจะเป็นเครื่องนำทางองค์กรของคุณ แต่ถ้าคุณย้อนกลับไปดูข้อสรุปเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง แล้วลองตั้งคำถามว่ามันเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า อาจจะช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์มากขึ้น (แต่ไม่ใช่ให้ตั้งคำถามปรัชญาที่จะทำให้เสียเวลา อย่าง “ท้องฟ้ามันเป็นสีฟ้าจริงรึเปล่า” นะครับ)
เรื่องแรกสำหรับการตั้งคำถามคือ ‘จังหวะ’ เช่น เมื่อกำลังพูดถึงแผนการระยะยาวของบริษัทว่าจะทำให้ผลประกอบการเติบโต เราก็ควรใช้จังหวะนี้ถามว่า “มันจะเติบโตได้ยังไง”
หรือถ้าใครกำลังพยากรณ์สภาพตลาดในอนาคต เราก็อาจจะครุ่นคิดถึงคำถามที่ว่า “เขาเอาข้อมูลหรืองานวิจัยอะไรมารองรับ”
นอกจากนี้คุณยังควรถามว่านอกเหนือจากบทสรุปที่ได้มานั้น เรื่องนั้นสามารถสรุปไปในแนวทางอื่น ๆ ได้หรือไม่ มีตัวเลือกอื่นที่จะมาเปลี่ยนข้อสรุปได้หรือเปล่า
เช่น ถ้าทีมของคุณเคยสรุปว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีหน้าเพราะมีคนติดต่อเข้ามาเยอะ คุณอาจตั้งคำถามกลับไปว่าถ้าเกิดเสียลูกค้าของปีนี้ไป แล้วปีหน้าจะเพิ่มขึ้นขนาดนั้นได้อย่างไร เป็นต้น
====
2. ฝึกการใช้ ‘ตรรกะ’ ให้ถูกต้อง
บริษัทจำนวนมากใช้ ‘เหตุผล’ ในการหาข้อสรุปและผลักดันนโยบาย แต่ปัญหาคือ เหตุผลเหล่านั้นกลับไม่สมบูรณ์ (หรือเรียกว่าตรรกะเพี้ยน)
เช่น พบว่าอาหารฮาลาลขายดีขึ้นในทวีปเอเชีย บริษัทคุณจึงขยายสาขาร้านอาหารฮาลาลให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชีย แต่ช้าก่อนเพราะคนญี่ปุ่นไม่บริโภคอาหารประเภทนี้กัน ตัวเลขนั้นอาจพุ่งมาจากประเทศที่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้นก็ได้
ลองคิดถึงการใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลจริง ๆ ไม่ใช่แค่การคิดเหมารวบยอดเท่านั้น เพราะสิ่งหนึ่งจะเป็นผลมาจากอีกสิ่งหนึ่งได้นั้นมันจะต้องมีหลักฐานที่สนับสนุนอย่างชัดเจน และต้องมีเงื่อนไขและมีบริบทแวดล้อมที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่เพียงมันบังเอิญหรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนแทรกเข้ามา
====
3.หาวิธีการคิดแบบใหม่ๆ และรวบรวมมาใช้
เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ชอบอยู่ด้วยความเคยชินและสบายใจ เราจึงหาคนที่คิดเหมือนกันเพื่อมาอยู่รวมกัน เราติดต่อสื่อสารกับคนที่ความคิดและรสนิยมเข้ากันได้เป็นหลัก
ปัญหาคือการทำแบบนี้จะทำให้มองไม่เห็นวิธีการคิดหรือสิ่งแปลกใหม่อื่น ๆ เลย ในสังคมสื่อออนไลน์เราก็จะเลือกรับข่าวสารจากคนที่มีรสนิยมและความคิดแบบเดียวกัน
เมื่อเราเปิดหน้าเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็จะพบแต่คนแสดงความคิดเห็นที่เหมือนเรา จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ” นั่นเอง
ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่คุณจะต้องออกมาจากสังคมเดิม ๆ ลองหาคนในสังคมใหม่ อาชีพใหม่ หรือคนต่างเพศต่างวัยซึ่งจะทำให้คุณได้พบแง่มุมใหม่ ๆ ช่วยเปิดความคิดให้กว้างขึ้น การฝึกทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทักษะการคิดวิเคราะห์ของคุณแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน
====
====
เรียบเรียงจาก “3 Simple Habits to Improve Your Critical Thinking” โดย Helen Lee Bouygues จาก Harvard Business Review 6 พฤษภาคม 2019
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน