เหตุผลเบื้องหลังความเย่อหยิ่งของหัวหน้า
เคยสงสัยไหม ถ้าความอ่อนน้อมถ่อมตนสำคัญแล้วทำไมหัวหน้าจึงดูเย่อหยิ่งล่ะ
บทความหนึ่งจาก Wall street journal บอกไว้ว่า “หัวหน้าที่ดีที่สุดคือหัวหน้าที่ถ่อมตน” และบทความยังได้บอกต่ออีกว่า “ความถ่อมตนจะช่วยสร้างทีมเวิร์คที่แนบแน่น เรียนรู้กันรวดเร็ว และมีผลงานที่ยอดเยี่ยมแก่ทีมได้ด้วย”
ว่ากันว่าองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งวางแผนเพิ่มคุณลักษณะที่ดีแก่บุคลากรยังต้องกำหนดให้มีคุณลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
“ความจริงใจ ความถ่อมตัว ความเป็นธรรม ความถูกต้อง และการไม่เสแสร้ง” ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘H Factor’ หรือการรวมกันของความซื่อสัตย์ (Honesty) และความถ่อมตน (Humility) นั่นเอง
====
แต่เอาเข้าจริงแล้ว บรรดาหัวหน้าหรือผู้นำที่มีชื่อเสียงขององค์กรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่โดดเด่นมาก ๆ ล้วนอยู่ห่างไกลจากนิยามดังกล่าว
‘อีลอน มัสค์’ แห่ง Tesla ชอบทำตัวเองให้โดดเด่น สร้างอิทธิพลแก่คนอื่นในซิลิคอน วัลเลย์ ถ้ามองจากภาพรวมแล้วก็เป็นเรื่องยากมากที่จะจินตนาการได้ว่าบรรดาผู้นำองค์กรระดับโลกจะเป็นพวกที่ถ่อมตนได้อย่างไร
====
ในวงการกีฬา เจ้าของทีมกีฬามูลค่าสูงสุดในโลกอย่าง ‘ดัลลัส คาวบอยส์’ ที่ชื่อ ‘เจอร์รี่ โจนส์’ คือตัวอย่างที่ดีของคนที่ใช้สื่อให้ตัวเองโด่งดัง เขาทั้งคุยโม้โอ้อวดถึงความเก่งกาจ แม้ว่าทีมของเขาจะไม่ชนะการแข่งขันระดับสูงสุดมานับทศวรรษแล้วก็ตาม
น่าสงสัยมากว่า ถ้าความถ่อมตนของผู้นำสำคัญมาก แล้วทำไมผู้นำจำนวนมากจึงไม่มีสิ่งนี้ แถมยังจะไปทางด้านเย่อหยิ่งและอวดดีมากเป็นพิเศษเลยด้วยซ้ำ
====
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้นำจำนวนมากไม่สามารถที่จะทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตนไปพร้อม ๆ กับแสดงความทะเยอทะยานในเวลาเดียวกันได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่เราต้องไม่ลืมว่าคนเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายขององค์กร
คนเหล่านี้จึงมักจะต้องทบทวนตัวเองหลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้นำใหม่ ๆ ว่า “หมายความว่าตอนนี้เรามีอำนาจที่จะสั่งให้คนอื่นทำอะไรได้แล้วใช่ไหม”
นั่นคือความหมายแท้จริงของการมีอำนาจในฐานะผู้นำ พวกเขามีพันธกิจง่าย ๆ ว่าถ้าไม่ชนะก็แปลว่าแพ้ ความต้องการเอาชนะแบบนี้มักจะอยู่ตรงข้ามกับแนวคิดอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างชัดเจน
ความอ่อนน้อมอาจทำให้ผู้นำดูไม่ดีในเวลาที่จะต้องจัดการปัญหาสำคัญ เชื่อกันว่าในยามวิกฤตผู้นำไม่ควรแสดงอาการเปราะบาง และจะต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าเขาเข้มแข็งและมั่นใจที่จะพาองค์กรเดินไปข้างหน้าได้
====
อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วความอ่อนน้อมนั้นสามารถแทรกอยู่ในความเป็นผู้นำได้ เช่น แสดงความอ่อนน้อมในอาวุโสของการทำงาน เพื่อให้เกิดผลทางใจของคนทำงานที่อายุมากกว่าเรา
ถัดมาคือการถ่อมตัวต่อคนที่หลงใหลอำนาจและอิทธิพลรวมถึงผลงานของเขาในการทำงาน และอย่างที่สามก็คือ ความอ่อนน้อมนั้นคือแนวคิดที่ว่า “ที่นี่และเวลานี้ให้เราอ่อนน้อมเอาไว้ก่อน”
แนวคิด “ที่นี่และเวลานี้ให้อ่อนน้อมไว้ก่อน” คือการที่ตัวเราเองเห็นภาพว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องพึ่งพาคนอื่น เราควรจะมีบุคลิกอย่างไร
เช่น ต่อให้เราเป็นเจ้านายแต่แสดงออกให้ลูกน้องเห็นว่า ในเวลานี้เราไม่ได้อยู่เหนือกว่า เพราะลูกน้องรู้วิธีจัดการปัญหาให้ลุล่วงดีกว่าเรา แน่นอนว่าผู้นำเหล่านี้มีตัวเลือกว่าจะอ่อนน้อมในเวลานั้นเพื่อให้งานสำเร็จ หรือจะแสดงอาการหัวแข็งจนไม่เกิดผลดีในท้ายที่สุดแทน
น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ผู้นำจำนวนมากเลือกที่จะยอมแพ้ต่อการสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าโดยเลือกที่จะรักษาหน้าตาและตัวตนของตัวเอง มากกว่าที่จะยอมรับว่าตนเองต้องพึ่งพาลูกน้อง และช่วยกันทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายที่ใหญ่กว่าขององค์กร
และนี่คือคำถามที่เหมือนเป็นทางสองเลือกของผู้นำในปัจจุบัน ว่าจะไปในทางไหนระหว่างการทำตัวเย่อหยิ่งอวดดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูโด่งดัง หรือทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อผลลัพธ์ที่ดีเลิศขององค์กร
นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจมากว่าเราเข้มแข็งพอที่จะยอมรับว่า เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ทุกเรื่อง และเราสมควรที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนแม้กับคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายหรือไม่
====
เรียบเรียงจาก “If Humility Is So Important, Why Are Leaders So Arrogant?” โดย Bill Taylor จาก Harvard Business Review 15 ตุลาคม 2018
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 264
Recent Posts
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน