ความคิด คือ สิ่งที่อยู่กับเราตลอดเวลาแม้เวลาหลับ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง และใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้ผมมี 10 เรื่องสำคัญ เกี่ยวกับความคิดที่คุณอาจไม่เคยรู้ มาฝากครับ
1.ความคิด และจิต ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
แต่มีส่วนสัมพันธ์กัน ความคิดคือจิตสำนึก อุปนิสัยและการตอบสนองคือสิ่งที่ถูกส่งมาจากจิตใต้สำนึก
ส่วนธรรมชาติของจิตเดิมแท้นั้นอยู่ลึกลงไปกว่าจิตสำนึก จิตใต้สำนึก และเป็นยิ่งกว่าจิตไร้สำนึก แท้จริงแล้ว เราไม่ใช่ความคิด และความคิดก็ไม่ใช่เรา
2.ความคิด และอุปนิสัยของคนเรานั้น เกิดจากการสะสมสัญญาหมายจำหลายภพชาติ
ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ชาตินี้เพียงชาติเดียว การแก้ปัญหาความคิดโดยการพยายามคิดดีเพียงอย่างเดียวจึงเป็นไปไม่ได้
เพราะธรรมชาติของจิตย่อมมีการปรุงแต่งทั้งความคิดดีและร้ายสลับกันไปมา พระพุทธเจ้าจึงนำเสนอหนทางใหม่ที่ดีกว่า
“การควบคุมความคิด” นั่นคือ “การเห็นความคิด” เมื่อเราคิด เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ ต่อเมื่อเราเห็นความคิด
เราจะหลุดออกจากสถานการณ์ เมื่อเห็นความคิดแล้ว จะนำไปสู่ความรู้ที่ว่าความคิดไม่ใช่เรา เมื่อรู้ว่าความคิดไม่ใช่เราแล้วจะนำไปสู่การไม่ยึดติดความคิด จึงเป็นการแก้ไขปัญหาความคิดที่ได้ผลถาวร
3.สิ่งที่เราเรียกว่าการใช้ความคิดของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่การใช้ความคิด
แต่เป็นแค่การปรุงแต่งและความฟุ่งซ่าน เป็นแค่ความกังวลไร้ประโยชน์ที่ผุดขึ้นมาระหว่างกำลังเผลอเรอ ถ้าเป็นการใช้ความคิดจริง จะไม่ก่อให้เกิดโทษและความทุกข์ตามมา
การใช้ความคิดที่แท้จริงจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อเรามีสมาธิพุ่งเป้าไปสู่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นการขับเคลื่อนชีวิตโดยใช้กำลังแห่งปัจจุบันขณะไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความคิดอดีต และอนาคตเข้ามาเกี่ยวข้อง
4.ทุกข์ทั้งหมด ล้วนเกิดจากความคิดปรุงแต่ง
ไม่ว่าจะเรียกมันว่า ทุกข์เพราะอะไร แต่รากก็มาจากสิ่งเดียวกัน นั่นคือความคิด ถ้าใครแก้ปัญหาความคิดได้ บุคคลผู้นั้นก็จะไม่มีความทุกข์เลยชั่วชีวิต
5.การยุติความทุกข์ให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์
เป็นสิ่งที่ทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง หรือเรื่องอุปมาอุปไม
6.ทุกจุดที่มนุษย์ทุกคนยืนอยู่ ล้วนมีทั้งสุข และทุกข์
ไม่มีใครมีความสุขอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา การที่คนเราจะพบความสุขที่แท้จริงได้
จึงไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราเป็นใคร มีฐานะอย่างไร มีการศึกษาแค่ไหน แต่เป็นเรื่องที่ว่า เราสามารถเท่าทันความคิดของเราได้แค่ไหน
คิดเก่ง ไม่ได้แปลว่าเท่าทันความคิด และเท่าทันความคิด ก็ไม่จำเป็นต้องคิดเก่ง หากแต่ต้องมีความสามารถใช้ความคิดได้ในเวลาที่เหมาะสม เป็นนายของความคิด ไม่ใช่เป็นทาสที่ถูกความคิดลากจูงไปสู่หนทางแห่งความทุกข์
7.สติ คือ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคนเรา
เพราะสติคือตัวควบคุมความคิด และการควบคุมสติ ไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ การอ่าน การฟัง จึงไม่สามารถทำให้คนเรามีสติที่แข็งแกร่งได้
เป็นแต่เพียงการทำความเข้าใจเบื้องต้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนทางจิตที่ถูกต้องเท่านั้น
8.โหมดของความคิดนั้นมีด้วยกันห้าโหมด
หนึ่ง คิดร้ายอันได้แก่คิดปรุงแต่งหรืออกุศลทั้งหลาย
สอง คิดดีหรือคิดเป็นกุศล คิดในลักษณะเมตตา หรือคิดในการทำหน้าที่อย่างไร้กังวล
สาม ดับความคิด หรือทำงานด้วยจิตว่าง หรืออยู่ในฌานสมาธิทั้งแปดระดับ
สี่ เห็นความคิด นั่นคือ เห็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึก เห็นการปรุงแต่งของความคิด เห็นความจริงแห่งการเกิดดับของสิ่งต่างๆ
ห้า เห็นว่า ความคิดไม่ใช่ตัวตน เห็นว่า แม้แต่จิตก็ไม่ใช่เรา
9.ปกติแล้วคนเราจะมีความคิดอยู่ในโหมดคิดร้ายมากที่สุด
ถ้ามีสติขึ้นหน่อยก็จะสามารถประคับประคองตนเองให้อยู่ในโหมดคิดดีได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่นานก็จะย้ายความคิดไปอยู่ในโหมดคิดร้ายอีก สลับไปมาอยู่อย่างนั้น ส่วนโหมดดับความคิดจะต้องมีการฝึกฝนสมาธิเข้ามาเกี่ยวข้อง
และถ้าจะเข้าสู่การเห็นความคิด และรู้ว่าความคิดไม่ใช่ตัวตน ก็จำเป็นต้องฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐานควบคู่ไปด้วย
10.ใครก็ตามที่เห็นการทำงานของความคิดบ่อยๆ ความคิด และจิตจะแยกออกจากกัน
จากนั้นความคิดที่ขึ้นๆ ลงๆ ดีๆ ร้ายๆ สุขๆ ทุกข์ๆ จะเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางมากขึ้นโดยไม่ต้องควบคุม สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ส่งผลให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นคนที่มีความสงบนิ่ง สุขุม มีปัญญาเฉียมคม
ไม่ตกเป็นทาสของความต้องการชนิดต่างๆ ต่อเมื่อจิตเห็นการทำงานของความคิดบ่อยเข้าๆ ก็จะเห็นว่าแม้แต่ตัวจิตเองก็มีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเห็นว่าจิตมีลักษณะเกิดดับแล้ว กระบวนการที่จิตจะเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเราจะถูกทำลาย ความยึดมั่นถือมั่นจึงถูกทำลายลงไปด้วย สิ่งนี้เอง คือ จุดมุ่งหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์
เป็นการทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้จริง เพียงแค่ตั้งใจจริง ฝึกฝนจริง ก็จะได้สิ่งที่เป็นของจริง ซึ่งคู่ควรกับผู้ที่เป็นคนจริงเท่านั้น