ความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในความสามารถที่พิเศษของมนุษย์ สิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่มีคุณค่า และก่อให้เกิดสิ่งที่แปลกใหม่และเป็นประโยชน์มากมาย แม้ว่าสำหรับคนส่วนใหญ่สิ่งนี้ดูเป็นเรื่องที่ยาก แต่ทว่าบางคนกลับสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
จินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนกันได้ แต่การกระตุ้นด้วยวิธีต่างๆจะช่วยให้คนเราค้นพบศักยภาพนี้ในตัวเอง และบทความนี้แนะนำวิธีการปลุกพลังจินตนาการและช่วยให้คุณเข้าใกล้การเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น ด้วยวิธีการ 14 ข้อ ดังนี้
1) จำกัดตัวเลือกของคุณ
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การมีตัวเลือกจำกัดช่วยกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการที่คุณมีตัวเลือกมากเกินไป เปรียบเหมือนกับการที่คุณเปิดประตูทุกบาน ซึ่งจะทำให้คุณสับสน วอกแวก และตัดสินใจได้ยากว่าจะมุ่งตรงไปยังประตูบานใดก่อน
ในทางกลับกัน หากคุณมีตัวเลือกไม่มากนัก ธรรมชาติจะผลักดันให้สมองทำงานมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้คุณสามารถกำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการทางความคิดได้ง่ายขึ้น และคุณจะพบกับคำตอบที่ต้องการ
2) อย่ารอคอยแรงบันดาลใจ
บางคนใช้คำว่า “แรงบันดาลใจ” เป็นข้ออ้างในการเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆ พวกเขาผัดวันประกันพรุ่ง และมักรอคอยให้ไฟในตัวเองลุกโชน แต่พฤติกรรมเช่นนี้กลับกลายเป็นตัวขัดขวางความสำเร็จในชีวิต หากคุณอยากที่จะสร้างสรรค์สิ่งใดก็ตาม จงอย่ารอคอยแรงบันดาลใจ เพราะเราสามารถสร้างสิ่งต่างๆขึ้นเองได้ด้วยการลงมือทำ และคุณจะพบกับความสำเร็จในที่สุด
ตัวอย่างนี้เห็นได้จากนักกีฬาที่ทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนักเพื่อการแข่งขันที่ยังมาไม่ถึง พวกเขาดูแลร่างกายและฝึกซ้อมอยู่เสมอ พวกเขาเชื่อว่าความพยายามอย่างหนักจะสามารถจุดไฟให้เกิดขึ้น และท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้รับชัยชนะ
3) ให้ความสำคัญกับปัญหามากกว่าคำตอบ
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “หากฉันมีเวลา 1 ชั่วโมงในการแก้ไขปัญหา ฉันจะใช้เวลา 55 นาทีในการคิดถึงปัญหานั้น และจะใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการคิดถึงคำตอบ” กล่าวคือ เมื่อคุณเริ่มต้นทำงานชิ้นหนึ่งและพบกับปัญหา ให้คุณค่อยๆคิดหาทางแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นทีละตอน และคุณจะได้พบกับคำตอบเอง
หากคุณยังนึกไม่ออก ให้คุณลองจินตนาการว่าตัวคุณกำลังหลงทาง และถ้าคุณมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับภาพของจุดหมายปลายทาง โดยไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบข้าง คุณก็จะไม่มีวันได้พบทางออก ในทางกลับกัน หากคุณเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อยู่กับความเป็นจริง พยายามสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว และค่อยๆลัดเลาะไปตามเส้นทาง สุดท้ายคุณก็จะได้พบทางออกนั้น
4) ใช้สิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” กระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
คนเรามักเอาสภาพแวดล้อมภายนอกมาเป็นเงื่อนไขในการทำลายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคิดโปรเจคใหม่ๆสักชิ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว คุณก็มักจบลงด้วยความคิดที่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากความรู้ความสามารถ กำลังคน เงินทุน เป็นต้น วิธีคิดเช่นนี้เป็นการดับฝัน และตัดจินตนาการไปจนหมดสิ้น
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า “คนเราสร้างสรรค์นวัตกรรม เมื่อคิดถึงสิ่งที่อยู่ห่างไกล หรือสิ่งที่อยู่ในอนาคต” ดังนั้น อะไรก็ตามที่เราคิดว่าไม่เชื่อมโยง หรือเป็นไปไม่ได้ อย่าเพิ่งด่วนตัดทิ้งไป เพราะหลายครั้งที่จินตนาการหรือการคิดนอกกรอบสามารถเป็นจริงได้
5) ทำงานในร้านกาแฟ
วารสารงานวิจัยผู้บริโภคฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า ร้านกาแฟทั่วไปมีเสียงดังอยู่ในระดับปานกลาง (ประมาณ 70 เดซิเบล) อันเป็นเหตุให้สมองเกิดความยากในการประมวลผล ซึ่งขณะเดียวกันจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดที่เป็นนามธรรม และส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ระดับเสียงที่เงียบหรือดังจนเกินไป จะลดความสามารถในการประมวลผลข้อมูล หรือขัดขวางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณ
6) ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้เรารู้สึกสดชื่น และกระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังส่งผลให้สมองทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เนื่องจากระหว่างที่เราออกกำลังกาย สมองทุกส่วนจะทำงานร่วมกัน และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างสะดวก ราบรื่น ซึ่งจะทำให้เราเกิดความคิดดีๆมากมาย เหมือนดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “ฉันคิดออก เมื่อฉันออกกำลังกาย”
7) ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการทำสิ่งต่างๆ
คุณเคยลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการเขียนหนังสือ วาดภาพ หรือหยิบจับสิ่งของบ้างหรือไม่ นักวิจัยเปิดเผยว่าการใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำกิจกรรมต่างๆจะทำให้สมองทั้งสองซีกถูกใช้งาน และนำมาซึ่งพลังแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ วิธีการนี้ทำให้คุณเกิดความรู้สึกแปลกใหม่ เพราะคุณจะคอยสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายที่แตกต่างออกไป และคุณจะพบว่านอกจากวิธีการเดิมๆ มีวิธีการใหม่มากมายที่ทำให้คุณสามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ
8) ฝึกคิดสวนทาง
โดยปกติ คนเราจะคิดจากจุดเริ่มต้นไปหาจุดสิ้นสุด แต่หากคุณต้องการความแตกต่าง วิธีการคิดแบบเดิมอาจไม่สามารถตอบโจทย์คุณได้ การคิดสวนทางเป็นหนึ่งในวิธีกระตุ้นพลังความคิดสร้างสรรค์ สิ่งนี้ทำให้คุณพบกับมุมมองที่แปลกใหม่และสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ในการเขียนบทละคร หากคุณเขียนฉากจบของเรื่องแล้วค่อยๆย้อนกลับไปเขียนฉากเริ่มต้น คุณจะได้โครงเรื่องที่แปลกใหม่ น่าสนใจ ซึ่งผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาเนื้อเรื่องของคุณได้ วิธีการนี้ทำให้คุณมีบทละครที่โดดเด่นและไม่ซ้ำใคร
9) ให้ความสำคัญกับความคิดที่ฟุ้งซ่าน
ระหว่างวัน ภาพหรือความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวของคุณอาจดูไม่มีประโยชน์หรือไม่มีคุณค่าใดๆ และบ่อยครั้งที่คุณมองข้ามและปล่อยให้มันเลือนหายไปโดยไม่ทำอะไร แต่แท้จริงแล้ว สิ่งนี้เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ซึ่งกำลังจะผลิดอกออกผลให้กับคุณในไม่ช้า
ดังนั้น คุณไม่ควรปล่อยสิ่งดีๆเหล่านี้ให้หลุดลอยไป จงพกสมุดและปากกาไปกับคุณในทุกที่เพื่อบันทึกไอเดียหรือแรงบันดาลใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และคุณจะได้พบว่าความคิดที่ดูเหมือนไร้ค่าและฟุ้งซ่านนั้นเป็นสิ่งที่ล้ำค่า หากคุณมองเห็นและทำมันให้กลายเป็นจริง
10) ลดการบริโภคข้อมูลข่าวสาร และปลดปล่อยจินตนาการของคุณให้ล่องลอย
ทุกวันนี้ เราบริโภคข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การติดตามข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ การติดต่อสื่อสารและค้นคว้าหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต และการเชื่อมต่อความคิดเห็นของผู้คนบนโลกผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นต้น การสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ทำให้สมองของเราเต็มไปด้วยข้อมูล ถูกสื่อครอบงำ และอาจถูกจำกัดอิสรภาพทางความคิดได้
ดังนั้น เมื่อคุณมีเวลาว่าง แทนที่คุณจะหยิบโทรศัพท์มือถือ หรือเปิดโน้ตบุคเพื่อค้นหาข้อมูลหรือติดตามข่าวสาร ให้คุณลองทิ้งเครื่องมือเหล่านี้ไว้ และปลดปล่อยจิตใจของคุณให้ล่องลอยไปตามจินตนาการ วิธีการนี้ช่วยให้คุณได้พิจารณาไตร่ตรองถึงความรู้สึกที่ไม่ยึดติดหรือผูกพันกับสิ่งใด และคุณจะรู้สึกประหลาดใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
11) ทำในสิ่งที่คุณไม่เคยทำ และไปในสถานที่ที่คุณไม่เคยไป
หากคุณทำแต่สิ่งเดิมๆอย่างซ้ำซากจำเจ คุณจะรู้สึกอุดอู้ เบื่อหน่าย และไม่มีชีวิตชีวา แต่หากคุณลองเปลี่ยนบรรยากาศ หรือพบเจอกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ คุณจะได้รับมุมมองที่สดใส และมีความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม
ดังนั้น เพื่อกระตุ้นพลังจินตนาการที่ดีในตัวคุณ คุณอาจลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป เช่น ระหว่างทางที่คุณเดินทางกลับบ้าน ให้คุณลองเปลี่ยนเส้นทางดู คุณอาจเดินเตร็ดเตร่ไปตามท้องถนน และหยุดมองสิ่งรอบตัว และสิ่งที่คุณได้เห็นจะทำให้คุณรู้สึกสดชื่น และเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
12) หัวเราะออกมา
ไม่ว่าสถานการณ์จะแย่สักแค่ไหน พยายามยิ้มและหัวเราะเข้าไว้ เพราะเมื่อคุณหัวเราะ ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดฟินซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา สิ่งนี้จะช่วยให้คุณอารมณ์ดี มองโลกในแง่บวก และเกิดความคิดดีๆ
13) ทำสมาธิ
การทำสมาธิ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อคุณหายใจเข้าลึกๆจะช่วยให้ปอดขยายใหญ่และได้รับออกซิเจนมากขึ้น และสิ่งนี้จะส่งพลังงานไปยังสมอง ทำให้สมองคุณปลอดโปร่ง และสามารถคิดสิ่งต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนี้ การนั่งสมาธิทำให้จิตใจของคุณสงบ มีความจดจ่อ และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีสติปัญญาอีกด้วย
14) หยุดพักบ้าง
การที่เราเผชิญกับปัญหาและพยายามคิดหาวิธีแก้ไขต่างๆอาจทำให้จิตใจเราสับสน วุ่นวาย และก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ดังนั้น หากคุณพบว่าตัวเองกำลังกดดัน หรือคิดหาหนทางไม่ออก จงหยุดพักเพื่อผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
การหยุดพักช่วยยับยั้งความคิดด้านลบได้ชั่วคราว คุณอาจไปเดินทางท่องเที่ยว รับประทานอาหาร เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่คุณชอบ และเมื่อคุณอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลาย คุณจะรู้สึกสดชื่น ปลอดโปร่ง และพร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้น
เรียบเรียงโดย ทีม Learning Hub Thailand
Source: http://www.dailygood.org/story/1011/14-surprising-ways-to-boost-creativity-ed-decker/