3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของทุกปี ผมจะหาโอกาสให้ตัวเองได้หยุดพักจากงาน ถอยออกมาจากความวุ่นวายยุ่งเหยิงของชีวิต เข้าหาธรรมชาติ ปลีกวิเวกไปพักในที่เงียบๆสัก 1 สัปดาห์
ผมใช้เวลานี้ในการทบทวนและตกผลึกตัวเอง อีกทั้งใช้ในการมองภาพที่กำลังจะนำพาบริษัทและทีมงานก้าวต่อไปในอนาคต
สิ่งที่ผมได้จากการทบทวนตัวเอง ไม่ใช่ไอเดียใหม่ๆ ดีๆ แต่จะเห็นสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดไป ซึ่งในชีวิตการทำงานปกติ ไม่มีทางเลยที่ผมจะสังเกตหรือมองเห็น
และต่อไปนี้คือ 3 สิ่งที่ผมสังเกตเห็นตัวเองทำผิดพลาด และคิดว่านี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้นำหรือผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นเหมือนกับผม จึงเขียนบทความนี้แชร์ให้คุณได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
====
แน่นอนว่า คนที่เป็นผู้นำเป็นผู้บริหาร ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เก่ง ฉลาด มั่นใจ มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างเต็มที่ที่จะบรรลุผลลัพธ์และเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีความหวังดีกับผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น
คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์และช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ในแง่ของการนำทีม สิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้ นั่นเพราะอะไรบทความนี้มีคำตอบ
====
1.ความมั่นใจที่มากไปจนกลายเป็นอีโก้
ในฐานะผู้นำ เราผ่านชีวิตการทำงานมามาก มีประสบการณ์มาเยอะ จนประสบความสำเร็จมาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าเมื่อเจอสถานการณ์อะไรที่คุ้นเคย เราจะสามารถตัดสินใจในสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีไม่ทันจะฟังความเห็นคนอื่น
แม้อีกฝ่ายจะพยายามอธิบาย เราก็จะมีธงในใจและเอาตามสิ่งที่เราเห็นว่าถูก สั่งการฟันธงลงไปทันที นั่นทำให้ลูกน้องและคนรอบตัวมองว่าเรามีอีโก้ จึงมีระยะห่าง ไม่อยากจะเข้าหา หรือมาคุยกับเรา
====
2.มุ่งผลลัพธ์มากไป จนกลายเป็นเผด็จการ
ในฐานะผู้บริหาร เราอยากจะสร้างผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ อยากทำงานให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดแม้จุดเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่เราทำจึงเป็นการพยายามควบคุมทุกอย่าง ออกคำสั่งอย่างเดียว ลงรายละเอียดทุกจุด โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องคิดและทำด้วยตนเอง
หลายๆครั้ง ทีมงานอยากเสนอไอเดีย หรืออยากทำในสิ่งที่ต่างไป แต่พอจะพูด ก็ไปเจอข้อ 1 อีก คือเราไม่ฟังเขาเลย สุดท้ายทีมงานจะมองว่าเราเผด็จการ จึงหยุดคิด หยุดเสนอความเห็น เปลี่ยนเป็นรอฟังคำสั่งแทน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเดือดร้อนถ้าตัดสินใจผิดพลาด
====
3.หวังดีมากไป จนกลายเป็นยัดเยียด
ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านโลกมามากกว่า เรามีความหวังดีต่อทีมงาน อยากช่วยเหลือลูกน้อง จึงพยายามแนะนำสั่งสอนในจุดที่คิดว่าเขายังทำได้ไม่ดีพอ พอเราแนะนำไปแล้วเขาไม่ทำตาม เราก็ผิดหวัง ขุ่นเคือง หรือถึงขั้นน้อยใจ ทั้ง ๆ ที่หลายครั้งเขาก็ไม่ได้ขอให้ช่วยเลย
นั่นทำให้ทีมงาน มองว่าเรายัดเยียด จึงพยายามเอาตัวออกห่าง หรือถึงขั้นหูทวนลม ในทุกๆครั้งที่เราเอ่ยปากพูดอะไร เพราะมองว่าเราไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ของเขาจริงๆ
====
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้ปรับตัวเองเพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีขึ้น จนได้รับผลสะท้อนที่ดีจากน้อง ๆ ในทีมหลังจากนั้นไม่นาน ผมมีคำแนะนำให้กับผู้นำหรือผู้บริหารที่ไม่อยากมีปัญหาเหมือนผม ดังนี้
1.ไม่อยากมีอีโก้ ให้ลดความเร็วลง
ไม่ใช่ทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องได้คำตอบเดี๋ยวนี้ตอนนี้เท่านั้น เวลามีเรื่องอะไรเข้ามากระทบ ไม่ควรรีบตัดสินถูกผิด “ปล่อยให้ตัวเองได้ช้าลง” รับฟังมากขึ้น ถามความเห็นของทีมก่อน หากเขาคิดไม่ตรงกับเรา ก็ถามเหตุผลและให้เขาอธิบายมากขึ้นอีก ยังไม่ต้องรีบหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาเลย ทิ้งเวลาตัวเองและอีกฝ่ายกลับไปคิดใคร่ครวญในอีกมุมที่ต่างกัน แล้วค่อยนัดมาหารือกันทีหลัง
บางทีเราอาจจะเห็นจุดที่ดีกว่าจากมุมของอีกฝ่าย หรือกระทั่งแง่มุมที่มาปรับรวมกันแล้วดีขึ้นก็เป็นได้ แม้สุดท้ายแล้วเราตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามความคิดของเขา แต่เราก็ได้แสดงออกอย่างจริงใจว่าเราได้รับฟังและเคารพมุมมองของเขาอย่างเป็นกลางแล้วนั่นเอง
====
2.ไม่อยากเป็นเผด็จการ ปล่อยให้ทีมทำผิดพลาดได้
ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเป๊ะทั้งหมด อย่าเพิ่งรีบสั่งการหรือควบคุม “ฝึกให้ความไว้วางใจทีมงาน” ให้โอกาสทีมได้ทดลองทำ และเปิดพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์แบบบ้าง เพื่อให้ทีมงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้บทเรียนจากการคิดเองทำเอง จะได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น
เมื่อมอบหมายงานให้ไปแล้ว ก็อย่าไปคอยถามหรือตามงานบ่อย ๆ เพราะเขาจะมองว่าเราจู้จี้และไม่ไว้ใจ หากกังวลว่าลูกน้องจะทำงานสำคัญพัง ก็ให้มาเล่าแผนการและนัดให้มีการรายงานผลเป็นระยะแทน
====
3.ไม่อยากยัดเยียด อย่ารีบสอนรีบแนะนำ
สิ่งที่ยากในการเป็นผู้บริหาร คือ “การวางตัวเป็นกลาง” เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แล้วปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ค่อย ๆ เป็นไปตามจังหวะเวลาของมัน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไข บางทีความหวังดีที่เราให้ไป แต่ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เขาจะเข้าใจ คำแนะนำของเราเสียเปล่าหรืออาจเป็นผลเสียต่อเขาก็ได้ เช่น เขาต่อต้านแล้วไปทำตรงข้ามกับที่เราแนะนำ หรือเขาทำตามคำแนะนำโดยที่ไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริง ปัญหาเดิมก็ไม่ถูกแก้ แต่จะกลับมาใหม่อีกเรื่อย ๆ
แต่ก็ไม่ใช่จะวางเฉยจนไม่ทำอะไรเลย เมื่อเราพบว่าสิ่งที่ลูกน้องคิดและทำอาจส่งผลเสียหาก และดูท่าทางเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองพลาดอะไร ให้หาโอกาสชวนมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว พูดถึงสิ่งที่เราสังเกตเห็น พูดถึงความเป็นห่วงของเรา ให้ทำด้วยความเมตตาและปรารถนาดี
จากนั้นถามความเห็นหรือมุมมองของเขาว่าคิดเรื่องนี้อย่างไร ให้เวลาในการรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ ยังไม่ต้องรีบสอนหรือแนะนำ จนกว่าเขาจะขอความเห็นจากเรา เราก็ค่อยอธิบายมุมมองของเรา โดยไม่ต้องบังคับหรือคิดว่าเขาจะทำตามเรา เพราะชีวิตเขา เขาต้องรับผิดชอบผลลัพธ์นั้นด้วยตัวเอง
ยกเว้นว่าสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่องานและส่วนรวม เราจะต้องอธิบายให้เห็นผลกระทบส่วนนี้ แล้วถามเขาต่อว่าเขาจะป้องกันหรือแก้ไขมันอย่างไร หากเขาไม่ทราบหรือไม่รู้ เราค่อยแชร์มุมมองของเราอีกที ถ้าเป็นแบบนี้ทีมงานจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ก้าวก่ายชีวิตเขา แต่เรากำลังทำเพื่อส่วนรวม
ฝึกฝนทักษะการฟังเพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ไม่ด่วนแนะนำด้วย Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่
====
จากที่เล่ามา เป็นสิ่งที่ผมพยายามสังเกตตนเองจากการบริหารทีม และพยายามปรับตัวเองเพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ซึ่งหลายท่านที่อ่านอาจจะรู้สึกว่า ต้องปรับตัวเองมากไปหรือเปล่า ต้องผืนใจหรือพยายามเกินไปไหม
จากประสบการณ์ตรงของผม ยิ่งเราพูดน้อยลง สั่งการน้อยลง เข้าไปนั่งในออฟฟิศน้อยลง ผมพบว่าทีมงานยิ่งเก่งขึ้น ขยันมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และดูเหมือนว่าบรรยากาศในการทำงานจะดีขึ้นด้วย
ส่วนสิ่งที่ผมทำมากขึ้นคือ ให้เวลาในการฟังแต่ละคนมากขึ้น ให้เวลาพัฒนาแต่ละคนตามเป้าหมายของเขามากขึ้น สนับสนุนให้กำลังใจและชื่นชมแต่ละคนมากขึ้น
ที่ผมเน้นย้ำว่า “แต่ละคน” คือไม่ทำแบบเหมารวม แต่ทำแบบเฉพาะคน เลือกคนที่สำคัญเป็น Keyman ไม่กี่คนที่เราจะโฟกัสพัฒนาเขา แล้วสอนเขาให้ไปพัฒนาคนอื่นต่อ
เพราะงานที่แท้จริงของผู้นำ คือ “การสร้างผู้นำรอบ ๆ ตัว”
บทความโดย อ.เรือรบ CEO และผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962
====
ปล. ผมมีหลักสูตรใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2023 ชื่อ “Leading with Empathy” ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูง ดูรายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่ หากสนใจจัดอบรมในองค์กร โทร 093 925 4962 หรือ Line @lhtraining
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน