ใคร ๆ ก็คงอยากเรียนเก่ง ฉลาด และมีความจำเป็นเลิศ แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนประสบปัญหาอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าหัว เรียนไม่เก่ง จำไม่ได้
หากคุณปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ จะส่งผลต่อความได้เปรียบ โอกาสในชีวิต และความภาคภูมิใจในตัวเอง
ดังนั้น คุณควรพัฒนาตนเองให้เก่งและสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำตามเทคนิค 8 ข้อในบทความนี้
1) จับประเด็นให้ได้ สรุปความให้เป็น
ความสามารถในการสรุปความเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับวัยเรียนและวัยทำงาน คุณไม่จำเป็นต้องจดทุกคำพูดหรือทุกตัวอักษร แต่คุณต้องจับประเด็นสำคัญในสิ่งที่คุณฟังหรืออ่าน และถ่ายทอดความเข้าใจนั้นออกมาโดยใช้คำพูดของตนเอง
วิธีการฝึกฝนทักษะนี้ก็คือ หลังจากที่คุณอ่านหรือฟังข้อความยาว ๆ ให้คุณลองเขียนสรุปใจความสำคัญของสิ่งนั้น ๆ การทำเช่นนี้จะทำให้คุณรู้ว่าตนเองเข้าใจเนื้อหาสาระและสามารถจับประเด็นสำคัญได้หรือไม่
2) ใช้ความกดดันเป็นพลังผลักดัน
หากคุณทำให้ตนเองรู้สึกกดดันบ้าง คุณจะสามารถผลักดันความสามารถของตนเองได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจำกัดเวลาในการเรียนรู้ของตนเอง หรือคุณอาจตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น เป็นต้น
แรงกดดันนี้อาจทำให้คุณรู้สึกเครียดและกดดัน แต่มันทำให้คุณมีความมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามทำให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
3) หลีกหนีสิ่งรบกวน
โลกที่เราอาศัยอยู่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุที่รบกวนการเรียนรู้ และทำให้สมาธิของคุณวอกแวก เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น ดังนั้น หากคุณต้องการเรียนรู้ได้ดี และมีประสิทธิภาพ คุณควรหลีกหนีจากสิ่งยั่วยุเหล่านั้นเพราะความปรารถนาที่จะเรียนรู้อาจยังไม่พอที่จะทำให้คุณเรียนได้ดี
แต่คุณต้องรู้จักที่จะปฏิเสธสิ่งรบกวนรอบตัวคุณด้วยดังนั้น ในขณะที่คุณอยู่ในห้องเรียน คุณควรปิดอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ หากคุณอ่านหนังสือหรือทบทวนบทเรียน คุณควรปิดวิทยุ หรือเปิดเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง วิธีการนี้จะทำให้คุณมีสมาธิ และจดจ่อกับการเรียนรู้มากขึ้น
4) ฝึกฝนจนชำนาญ
สิ่งใดที่กระทำซ้ำ ๆ หรือมีการฝึกฝนอยู่เสมอ ผู้ฝึกย่อมทำสิ่งนั้นได้ดี ในทางกลับกัน สิ่งใดที่ไม่ได้ทำนาน ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกลืมหรือทำไม่ได้เหมือนเดิม ดังนั้นจงอย่ารอช้าที่จะฝึกฝน และทำซ้ำ หนึ่งในวิธีที่ช่วยย้ำเตือนความทรงจำ และทำให้คุณหลงลืมได้น้อยลงก็คือ การจดบันทึก
กล่าวคือ ยิ่งคุณเขียนมาก คุณก็จะยิ่งจำได้แม่นยำขึ้น เพราะการเขียนจะช่วยให้คุณมีสมาธิ และเมื่อคุณมีสมาธิ คุณก็จะสามารถจดจำสิ่งที่คุณเรียนรู้ได้ อีกทั้งมันยังช่วยเรียบเรียงความคิดของคุณให้เป็นระบบและทำให้การเรียนรู้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น5) ใช้ภาพประกอบ
หลายคนไม่รู้ว่าความจำมีความเชื่อมโยงกับการมองเห็น กล่าวคือ คนเราสามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ดี เมื่อเราเห็นภาพประกอบยกตัวอย่างเช่น หากคุณได้รับการแนะนำให้รู้จักเพื่อนใหม่จำนวน 10 คนผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อเวลาผ่านไปคุณอาจจำชื่อของพวกเขาได้เพียงแค่ 1-2 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากคุณได้รับการแนะนำให้รู้จักเพื่อนใหม่จำนวน 10 คนเท่าๆกันในงานปาร์ตี้ คุณมีแนวโน้มที่จะจำพวกเขาได้มากกว่า 1-2 คนอย่างแน่นอน เพราะคุณได้เห็นหน้าตาพวกเขาจริงๆ และได้ปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาผ่านการพูดคุย และการสัมผัส
ดังนั้น คุณสามารถประยุกต์สิ่งนี้กับการเรียนรู้ของคุณ โดยการใช้ภาพประกอบ เพราะมันจะทำให้คุณจดจำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น
6) เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ
แน่นอนว่าคนเราสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบได้ดีกว่าสิ่งที่เรารู้สึกเบื่อหน่าย หากคุณเปิดเพลงที่คุณชื่นชอบและไม่ได้ฟังมาเป็นระยะเวลาหลายปี คุณจะพบว่าตนเองยังสามารถจำเนื้อร้องได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้น หากคุณเรียนรู้ในสิ่งที่คุณเกลียด มันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้มันเข้าหัว และคุณก็ไม่สามารถทำมันได้ดี ดังนั้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น คุณควรรักการเรียนรู้ ทำให้มันน่าสนใจ และจงคิดว่ามันให้ประโยชน์แก่ชีวิตคุณ เพราะแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญต่อการทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ
7) พักผ่อนอย่างเพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอมีความสำคัญมาก เพราะมันส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ หากคุณลองสังเกตว่าวันใดที่คุณได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ สมองของคุณก็จะรู้สึกปลอดโปร่ง และสามารถเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากวันใดคุณพักผ่อนน้อย คุณจะรู้สึกถึงความอ่อนเพลีย สมองไม่แล่น และไม่สดชื่นตลอดทั้งวัน
ดังนั้น แทนที่คุณจะนอนดึกดื่นเพื่อโหมอ่านหนังสือ คุณควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอโดยควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมงเพื่อที่คุณจะได้รู้สึกสดชื่น และมีสมาธิกับสิ่งที่เรียนรู้ในแต่ละวัน
8) เชื่อมโยงสิ่งที่กำลังเรียนรู้กับสิ่งที่รู้อยู่แล้ว
การเชื่อมโยงสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้กับสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วจะทำให้คุณสามารถจดจำได้ดียิ่งขึ้น เพราะคุณจะเห็นความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกันซึ่งจะทำให้การเรียนรู้มีความหมายมากขึ้น หากคุณเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ
คุณอาจนึกถึงคำศัพท์ที่คุณรู้อยู่แล้ว หรือนึกถึงบริบทที่คุณเคยเจอคำศัพท์นี้ในชีวิตประจำวัน วิธีการนี้จะทำให้คุณเข้าใจและเห็นความสอดคล้องของความรู้ต่างๆบนโลกใบนี้