3 วิธีฟื้นตัวเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต
ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่กระจายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไวรัสตัวร้ายทำลายทั้งสุขภาพ ทำลายทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่เท่าภาวะวิกฤตที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ที่ถ้าเกิดกับใครแล้วดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
รายงานการวิจัยพบว่าพนักงาน 58% ไม่สามารถควบคุมสมาธิในการทำงานในสภาวะวิกฤตได้ และทำให้พวกเขาหลงทางอยู่ในความคิดเชิงลบได้อย่างง่ายดาย
เมื่อแนวคิดเชิงลบนี้มีความรุนแรงมากขึ้น จะยิ่งส่งผลให้พนักงานเกิดความรู้สึกกลัวและหมดหนทาง ไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ในสถานการณ์เช่นนี้
=====
ความกลัวจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังติดอยู่ในกรอบที่แคบลง และยากที่จะดึงประสบการณ์หรือพลังความคิดสร้างสรรค์มาช่วยขยายกรอบความคิดให้ใหญ่ขึ้นได้ เมื่อกรอบความคิดของเราแคบลง มุมมองของเราที่กำลังเผชิญอยู่กับสภาวะวิกฤตก็จะมีแนวโน้มลดลงไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 กำลังหยอกล้ออยู่กับความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดของเรา
โดยเฉพาะสถานการณ์นี้ที่เราทุกคนต้อง Social Distancing เว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของทุกคนด้วยแล้ว ความกลัวก็ยิ่งทำงานมากขึ้น เพิ่มความรู้สึกกังวลและโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก
=====
มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับลูกศรดอกที่สอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ถามลูกศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดถูกยิงด้วยลูกธนูจะเจ็บปวดไหม” ลูกศิษย์ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจ็บแน่นอน”
ท่านถามอีก “ถ้าถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่สองอีก จะเจ็บปวดมากยิ่งกว่าเดิมไหม” แล้วก็อธิบายว่า “ในชีวิตเราไม่อาจควบคุมลูกศรลูกแรกที่เข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม ลูกศรดอกที่สองเป็นเพียงการตอบสนองต่อเหตุการณ์แรก ดังนั้น ลูกศรดอกที่สองที่เข้ามานั้น มาพร้อมกับความเป็นไปได้ในการเลือกของเรา”
ย้อนกลับมาสถานการณ์โควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เปรียบเหมือนเรากำลังประสบกับความเจ็บปวดจากลูกศรดอกแรก นั่นคือ ข้อจำกัดการเดินทาง ราคาหุ้นตก การขาดแคลนอาหารการกินหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ เป็นต้น
ขณะที่ลูกศรดอกที่สอง คือ ความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสของเราเอง คำถามที่เราถามตัวเองตลอดเวลา “เราติดหรือยัง” กังวลว่าคนที่เรารักจะได้รับผลกระทบนี้ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางการเงิน และสถานการณ์อื่น ๆ
=====
จะเห็นว่าลูกศรดอกแรกเป็นสิ่งที่เราต้องเจอกับความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ลูกศรดอกที่สอง กลับกลายเป็นการต่อต้าน ไม่ยอมรับ ความกลัว ความกังวลจากสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อจิตใจเรามากกว่า ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอบสนองอย่างไร
สิ่งสำคัญคือการจดจำไว้ว่า ลูกศรดอกที่สอง คืออารมณ์และจิตใจของเราที่ตอบโต้ต่อสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่มันมักจะทำให้เราทุกข์ยิ่งกว่าเดิม โดยทำให้ใจเรากังวลและกลัว ปิดกั้นตัวเองจากการมองเห็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
หนทางที่จะก้าวข้ามธรรมชาตินี้ของเรา คือการกลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ เราต้องสามารถควบคุมความคิดและใช้ศักยภาพของตัวเอง ในการเผชิญหน้ากับลูกศรลูกแรก และสามารถหักลูกศรดอกที่สองก่อนที่มันจะเข้ามาทำร้ายเราซ้ำได้
=====
Resilience จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะในภาวะวิกฤตนี้ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของเราด้วยการมีสติ และเพิ่มขีดความสามารถในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการใช้ทักษะในการสังเกตความคิด การจัดการกับความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ และการปรับสมดุลทางความคิดอย่างรวดเร็ว และนี่คือ 3 วิธีการฟื้นฟูตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ
1. การทำใจให้สงบ
พูดเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ได้ยาก การทำใจให้สงบเริ่มต้นจากการมีสติอยู่กับปัจจุบัน แม้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้จะเห็นว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น บางคนอาจต้องเปลี่ยนสภาพการทำงาน หรือต้องอยู่ในกรอบที่จำกัด การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ คือ ให้ลองคิดถึงปัจจุบัน สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ อาจใช้วิธีการทำสมาธิ หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ได้
จากนั้นหากความกลัวหรือกังวลก่อตัวขึ้นอยู่ในใจมาก ๆ ให้เราตระหนักและยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกนั้น การยอมรับความรู้สึกของตัวเองว่ากำลังกลัวหรือกังวลไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร กลับเป็นเรื่องดีที่เราสามารถยอมรับกับความรู้สึกของตัวเองได้ และเป็นสัญญาณดีที่หมายถึงการมีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป
แนวทางการทำใจให้สงบก็คือการเป็นอิสระจากความคิดที่รบกวนตัวเราเอง ลองดูแนวทางการฝึกได้ในบทความนี้
=====
2. ทบทวนอย่างมีสติ
หลายครั้งที่เมื่อคนเรามีความกลัว ความวิตกกังวล ปฏิกิริยาที่เรามักตอบสนองกลับไป คือการรีบตอบโต้ รีบแก้ปัญหาโดยทันที และบ่อยครั้งที่ผลของมันกลับทำร้ายตัวเรามากขึ้นไปอีก การจะลงมือจัดการตัวเองที่กำลังสับสน จัดการธุรกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรตอนนี้ คงไม่ดีแน่
หลังจากที่เราสามารถทำใจให้สงบ มีสติ และยอมรับกับอารมณ์ ความกลัวที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองได้แล้ว กรอบคิดของเราจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เราใช้สติทบทวนตัวเองให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และมีทางออกให้กับตัวเองได้มากขึ้นด้วย
ในทางจิตวิทยา การทบทวนตัวเองอย่างมีสติ ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการวางมือจากปัญหาที่กำลังวุ่นวาย หันมองออกไปนอกหน้าต่าง มองต้นไม้สีเขียว หรือมองอะไรที่ทำให้เราสบายใจ ก็ช่วยให้สมองของเราได้ขยายกรอบคิด และสามารถทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สามารถค้นหาคำตอบที่ชัดเจน ได้วิธีการที่ดีที่สุด และวางแผนในการแก้ไขปัญหา และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
=====
3. ส่งต่อกำลังใจ
ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ นอกจากตัวเราที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เรารู้จักและไม่รู้จักก็ตามกำลังต้องการกำลังใจเช่นกัน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกำลังพยายามจัดการกับไวรัสตัวร้าย กิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมถูกยกเลิก โรงเรียนปิดแบบกะทันหัน
ภาคธุรกิจก็ได้ออกนโยบาย Work from Home ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และห้ามเดินทาง เพื่อลดการติดต่อ ทั้ง ๆ ที่เราทราบดีว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเข้าสังคม” สถานการณ์นี้จึงทำให้เรารู้สึกถึงการแตกแยก ส่งผลให้เกิดความกลัวและวิตกกังวล
การส่งต่อกำลังใจให้แก่กันในสถานการณ์อันเลวร้าย การหยิบยื่นความปรารถนาดีให้แก่กัน จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่ง หากเราสามารถจัดการสติของตัวเอง ทำใจให้สงบ และสามารถทบทวนตัวเองจนพบกับทางออกในการจัดการปัญหาของตัวเองได้แล้ว เราเองก็จะมีพลังในการส่งกำลังใจให้กับคนอื่น ๆ ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหา ไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ ให้พวกเขามีสติ และทบทวนตัวเองเพื่อค้นพบทางออกได้เช่นกัน
ลองคิดดูสิครับ ถ้าเราส่งต่อกำลังใจให้กับคนอื่นมาก ๆ และพวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ ตัวเราเองจะมีพลังใจเกิดขึ้นมากขนาดไหน
การกระจายตัวอย่างรวดเร็วของโควิด-19 อาจเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบไปทั่ว โดยเฉพาะสภาพจิตใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้ความยืดหยุ่นด้วยการทำใจให้สงบโดยการมีสติ ทบทวนตัวเองด้วยความไม่รีบร้อน และส่งต่อกำลังใจให้ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ถ้าคุณอยากฝึกฝนวิธีการฟื้นฟูจิตใจตัวเองและคนในทีมเพื่อให้ทำงานต่อได้แม้จะต้องเผชิญวิกฤตหนักหนาขนาดไหน ขอแนะนำหลักสูตร Emotional Intelligence คลิกที่นี่
=====
แปลและเรียบเรียงโดย โค้ชแบท – อรรณพ นิยมเดชา นักจิตวิทยาด้านการบริหารและการพัฒนาตนเอง
อ้างอิงจาก Build Your Resilience in the face of a crisis โดย Ramus Hougaard et al., Harvard Business Review, March 2020.
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน