‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด
คุณไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้นะครับ แล้วปล่อยบทความนี้ผ่านไป แต่ผมคิดว่าคุณอาจจะเสียใจในภายหลัง
ผมมีเรื่องของ ‘แดเนียล คานีแมน’ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอลเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ. 2002 มาเล่าให้ฟัง
คานีแมนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics) และการตัดสินใจ (Decision Making) เจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง Thinking Fast and Slow ที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน
===
คานีแมนบอกเราว่า “เมื่อมีเรื่องให้ตัดสินใจ สมองของคนเรามีการทำงาน 2 ระบบ ระบบแรก เป็นระบบที่รวดเร็ว ตอบสนองตามสัญชาติญานและอารมณ์ ส่วนระบบที่สองเป็นระบบที่ช้า ตอบสนองโดยใช้เหตุผล”
ระบบแรกใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่สองมาก ซึ่งปกติแล้วมนุษย์เรามักจะใช้ระบบแรกในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ฟังเผินๆ ก็น่าจะดีที่เราใช้พลังงานน้อยเพราะสมองเป็นอวัยวะที่กินพลังงานสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของมัน แต่ข้อเสียของการใช้ระบบแรกในการคิดก็คือมันมักทำให้เราตัดสินใจผิด!
===
การตัดสินใจผิดเกิดจากการที่เราทำตามอารมณ์ (การใช้ระบบแรก) โดยขาดเหตุผล (การใช้ระบบที่สอง) ปรากฏการณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘อคติทางความคิด’ (Cognitive Bias) นั่นเอง
อคติทางความคิดเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2020 นี้เป็นต้นมา จาก Influencer สายพัฒนาตัวเองหลายท่าน วันนี้ผมจะยกตัวอย่างให้ดูสัก 2 อคติทางความคิดเพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้น
===
เรื่องแรก ลองนึกภาพตัวคุณซื้อตั๋วดูฟุตบอลคู่หยุดโลก (จริงๆ โลกก็ยังหมุนแหละ แต่ผมพูดให้ดูยิ่งใหญ่) Manchester United ปะทะ Liverpool ที่จะแข่งที่ประเทศไทยกลางปี 2565 ที่จะถึงนี้
ปรากฎว่าในวันที่ฟุตบอลคู่นี้แข่งขันคุณเกิดท้องเสียอย่างหนักในตอนเช้า ในใจลึก ๆ คุณอยากนอนอยู่บ้าน หรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือด้วยซ้ำ แต่กลับเกิดความคิดในหัวของคุณว่า ‘เสียค่าตั๋วไปแล้วราคาแพงมากด้วย’ คุณเลยพยายามที่จะลากสังขารตัวเองไปให้ได้ แม้จะต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปด้วยคุณก็ยอม
ถ้าคุณตัดสินใจจะเลือกทางนี้ด้วยเหตุผลนี้ นั่นแปลว่าคุณกำลังเกิดอคติทางความคิดแล้วครับ
===
อคติทางความคิดรูปแบบนี้คือ Sunk-Cost Fallacy ครับ หรือปรากฎการณ์ที่เราเอาต้นทุนจมซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกคืนไม่ได้แล้วมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าคุณสามารถเอาบัตรไปคืนผู้จัดได้โดยบอกว่าคุณท้องเสีย ขอเงินคืนเต็มจำนวน หรือบางส่วนได้ แบบนี้จะไม่เรียกต้นทุนจม แต่ถ้าคุณทำเช่นนั้นไม่ได้ค่าตั๋วนี้ก็คือต้นทุนจมครับ
ในทางกลับกันถ้าอาการของคุณไม่ได้รุนแรงมากนัก แล้วคุณตัดสินใจโดยมองว่าการไปดูจะได้ความสุขและสนุกมากกว่าการนอนเฉยๆ แบบนี้เป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นอยู่บ้าง หรือสุดท้ายแล้วคุณป่วยหนักจริงๆ แล้วคุณเลือกที่จะไม่ไปโดยขายตั๋วให้คนที่อยากดู (ผมคิดว่ามีเยอะ) ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยครับ
===
Sunk-Cost Fallacy เกิดขึ้นได้แม้ในเรื่องของความสัมพันธ์ สามี-ภรรยาบางคู่อยู่กันมานาน คบกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี มีลูกด้วยกัน พอถึงวันนึงความรู้สึกที่มีต่อกันไม่เหมือนเดิมแต่ก็ไม่ยอมพูดคุยกันเพื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ด้วยกันต่อไป หรือจะแยกทางจากกัน เพราะต่างคิดว่าคบกันมานานขนาดนี้แล้วก็ควรจะคบต่อไป
ถ้าคิดแบบนี้เรียกว่าเอาต้นทุนจมมาคิด (การคบกันมานานในอดีต) หรือ เจอ Sunk-Cost Fallacy อีกแล้วครับ
แต่ถ้าพิจารณาว่าจะอยู่ด้วยกัน เพราะมองว่าการแยกกันจะเกิดผลเสียต่อลูก ต่อตนเอง ตลอดจนทั้งคู่พูดคุยกันว่าสามารถปรับตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ในอนาคต โดยต่อยอดจากการที่เคยรู้จักกันในอดีตและปัจจุบัน แบบนี้เรียกว่าตัดสินใจด้วยเหตุผล ไม่ถือว่าติดกับดัก Sunk-Cost Fallacy
===
สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทความนี้ทั้งหมด 5 เรื่อง ดังนี้
- สมองมีการทำงานสองระบบ แบบเร็ว และแบบช้า
- เราสามารถเกิดอคติทางความคิดได้ง่ายมาก เมื่อใช้ระบบแบบเร็วมาใช้ในการตัดสินใจ
- รู้จัก Sunk-Cost Fallacy หรือต้นทุนจมที่เรามักเอามาใช้ในการตัดสินใจด้วย
- อคติทางความคิดอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้จากการตัดสินใจที่เหมือนกัน (เช่น ไปดูฟุตบอลแม้ป่วย) ขึ้นกับเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องนั้นด้วย (ถ้าเอาต้นทุนจมมาเป็นปัจจัยคุณกำลังติดอคติทางความคิดแล้ว)
- ขอให้กลับไปพิจารณาบทความนี้ในช่วงต้นอีกครั้ง ผมบอกว่าจะแนะนำให้รู้จักอคติทางความคิด 2 อย่างใช่ไหมครับ สังเกตเห็นไหมครับว่าใกล้จะจบบทความอยู่แล้วแต่ผมพูดถึงแค่ Sunk-Cost Fallacy เท่านั้นเอง
ที่จริง ผมแสดงให้คุณเห็นสิ่งที่เรียกว่า FOMO หรือ Fear of Missing Out ซึ่งเป็นความกลัวที่จะพลาดอะไรบางอย่างตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของบทความแล้ว (ทั้งทั้งหัวข้อ และประโยคแรกที่ผมบอกคุณอาจจะเสียใจ)
ไม่แน่ใจว่าที่คุณอ่านบทความถึงตรงนี้ เป็นเพราะหัวข้อ หรือการเกริ่นนำต้นบทความมากแค่ไหน แต่คุณน่าจะได้เห็นการทำงานของอคติทางความคิดที่ชื่อ FOMO กันไปบ้างแล้ว…แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะครับ
ถ้าอยากตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น อ่าน วิธีสร้างทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อนำไปปรับใช้กับโจทย์ของคุณ คลิกที่นี่
===
การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่
บทความโดย
อ.ป้อบ มาติก ตั้งตรงจิตร, CFA, FRM
วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการโน้มน้าวและการเจรจาต่อรอง
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน