คนไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรม เขาบอกว่า.. ได้ยินมาว่า.. มาแต่ไหนแต่ไร อินเดียก็ตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมนี้ มะปรางก็ตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมนี้ ศิษย์เก่าจากประเทศอินเดียคนอื่นๆ ก็ตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมนี้
ปัจจุบัน ยังคงมีความเข้าใจและตั้งคำถามผิดๆ เกี่ยวกับประเทศอินเดีย อาทิ
อินเดียไม่ได้มีแต่พระไปเรียนเหรอ?
คนอินเดียยังขี้ข้างทางอยู่หรือเปล่า?
อินเดียมีห้องน้ำหรือยัง?
ไปอินเดียแล้วเหม็นไหม?
ถ้าอินเดียมันเลวร้ายขนาดนั้น 10 คนไทยที่มะปรางได้สรรหาคัดเลือก มาจากหลากหลายสาขาอาชีพคงไม่อยู่รอดปลอดภัย กลับมานั่งคุยให้สัมภาษณ์กับมะปรางถึงชีวิตในอินเดียอย่างมีความสุข
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือยกยอปอปั้นประเทศอินเดีย แต่เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อเท็จจริงจากปากของคนไทย ที่เคยไปใช้ชีวิตและสัมผัสความเป็นอินเดียมา ถ้าอินเดียเลวร้ายอย่างที่เขาบอกมา ทำไมคนไทยเหล่านี้กลับมาบ้านด้วยความภาคภูมิใจ? ทำไมเขากลับมาบ้านด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงาน?
เชื่อมะปราง .. มันต้องมีเหตุผลว่าทำไมต้องอินเดีย
ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วน
ก่อนไปอินเดีย…
“เรียนจบปีหนึ่งแล้ว ทำไมลาออกไปเรียนอินเดียล่ะ มะปราง?”
นั่นสิ ทำไม?
หนึ่ง ถ้ายังเรียนต่อที่เมืองไทย พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แน่ๆ แล้วพอเรียนจบ จะได้งานดีๆ ทำเหรอ?
สอง ทุนฟรีไม่มีข้อผูกมัด จ่ายแค่ค่าตั๋วเครื่องบินเอง คุ้มจะตาย
สาม อยากไปเที่ยวอินเดีย .. ข้อนี้ สำคัญที่สุด
เรื่องของเรื่องคือ มันเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีหนึ่งคนหนึ่งที่ชื่อ “มะปราง” มันเกิดอาการเบื่อ ไม่มีอะไรทำช่วงปิดเทอมขึ้นปี 2 อยากหาที่ทดสอบภาษาอังกฤษตัวเอง แต่ TOEIC ก็เสียเงินเยอะ IELTS นี้ยิ่งไปใหญ่
แทบจะขายบ้าน ขายรถ ขายหมา หาเงินไปสมัครสอบ .. งั้นไม่เป็นไร ไม่สอบก็ได้ ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แก้เซ็งแทน
นั่นแหละ .. จุดเริ่มต้นของการได้ไปเรียนต่ออินเดีย
มะปรางกวาดสายตาไปเห็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “ทุนเรียนฟรี มีทั่วโลก” วางโชว์พร้อมป้าย Sales 70% (ลดราคาอีกนิดก็เกือบจะแจกฟรีแล้วพี่เอ๋ย..) มะปรางควักเงินซื้อทันที
หลังเดินงานหนังสือเสร็จ มะปรางก็ออกไปเดินสูดอากาศสดชื่นที่สวนเบญจกิติด้านข้างของศูนย์ประชุมฯ ต่อ มีบางอย่างสะกิดให้มะปรางควักหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หน้าแรกที่เปิดเจอ คือ ทุนรัฐบาลอินเดีย ICCR มะปรางอ่านหน้าแรก จนอ่านไปอีก 2-3 หน้า ..
อ๊าว กำลังเปิดรับสมัครอยู่นี่ ไปลองสอบเล่นๆ หน่อยละกัน
มะปรางหาข้อมูลเอง เตรียมเอกสารเอง ติดต่อสถานทูตด้วยตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่ามะปรางจะไปสอบ แม้แต่พ่อกับแม่ก็ไม่รู้ ไม่รู้จะบอกทำไม เพราะมะปรางแค่อยากสอบวัดระดับภาษาอังกฤษตัวเองเล่นเฉยๆ
เล่นๆ จริงๆ สอบผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนอยู่เมืองไมซอร์ (Mysore) ทางอินเดียตอนใต้ เป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ.2554-2557) เรียนจบกลับมาบ้านพร้อมใบปริญญาตรี และใบคะแนนที่มีคำว่า First Class ระบุไว้ .. สงสัยจะเล่นมากไปหน่อย
เมื่อถึงอินเดียแล้ว….
แค่ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมอย่าง “ห้องเรียน” มะปรางก็เจอวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเดิม หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่นั้น คือ บรรยากาศ Debate
มันไม่ใช่ Deabte เถียงกันไปมาธรรมดา
เคยเห็นพี่แขกทะเลาะกันไหม? นั่นแหละ มันดุเดือดแบบนั้นแหละ ..
เสียงดังโวยวาย มือไม้ออก หน้าตาเอาเรื่อง บางที ไม่เห็นด้วยกับคนที่คิดต่าง ก็ส่งเสียงแสดงความไม่พอใจออกมาให้ได้ยินซึ่งๆ หน้าเลย! ใครเคยอยู่อินเดียมาก่อน หรือมีเพื่อนเป็นคนอินเดีย คงจะพอนึกออกว่าเป็นเสียงแบบไหน
เสียงมันประมาณนี้ เฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮ! ลากยาวมากและดังมาก พร้อมแบมือใส่หน้าคู่ปรับ อารมณ์ประมาณว่า อะไรของมึงเนี่ยยยยยยยย?!
ครั้งแรกที่เห็นการ Debate ในห้องเรียน มะปรางตกใจมาก นึกว่าเพื่อนมันจะชกกัน! มะปรางเก็บของใส่กระเป๋าเตรียมตัวที่จะวิ่งออกจากห้องได้ทุกเมื่อ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อออดพักกลางวันของมหาวิทยาลัยดังขึ้น คือ เพื่อนแขกเดินเข้ามาหากัน หัวเราะ ตบไหล่ของอีกฝ่าย แล้วเดินออกจากห้องเรียนไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน!
เออะ ..
ที่นี้ ในห้องเรียน เขาแย่งกันพูด แย่งกันแสดงความคิดเห็น เขาสงสัยอะไร เขาจะยกมือถาม เขากล้าติติง มันสอนให้มะปรางรู้ว่า การคิดต่างไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย และการโต้แย้งก็ไม่ใช่เรื่องผิด
สิ่งที่มะปรางประทับใจที่สุด คือ หลังจบการ Debate ไม่เคยมีการโกรธ ไม่เคยมีการไม่พอใจ ไม่เคยมีการปะปนเรื่องในห้องเรียนกับเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวเข้าด้วยกัน
ทุกย่างก้าวในอินเดีย มีบทเรียนให้เสมอ ขนาดมะปรางถูกตำรวจจับ มะปรางยังได้มองเห็นชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่ง ใช่ค่ะ อ่านถูกแล้ว มะปรางถูกตำรวจจราจรจับ ด้วยสารพัดเหตุผลที่พี่ตำรวจบอกมา
หนึ่ง ใบขับขี่ไม่มี
สอง คู่มือจดทะเบียนรถก็ไม่มี
สาม หมวกกันน็อคไม่ใส่
สี่ ขี่รถมาด้วยความเร็วสูง
สูงมากกกก .. จำได้ว่าไม่น่าเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
พี่ตำรวจคิดค่าปรับเป็นเงินสดมูลค่า 3,500 รูปี (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,800 กว่าบาท) ช็อคหัวใจเหลือเกิน แม้กระทั่งค่าปรับ ยังมีราคาต่างชาติ มะปรางพกเงินติดตัวไม่ถึง 200 รูปี ไม่รู้จะทำยังไง มืดแปดด้าน กุญแจรถก็ตกอยู่ในมือพี่ตำรวจเรียบร้อย
ครั้งแรกในชีวิต มะปรางต้องวิ่งตามตื้อผู้ชายอินเดีย
Please Sir. Please. Discount. ต่อรองกันเหมือนซื้อของตามร้านค้า
อยู่ในอินเดีย ต้อง “สตรอง” และ “สตอ” มะปรางต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้มอเตอร์ไซค์คืนมาให้ได้ มะปรางชวนพี่ตำรวจคุย เริ่มจากการเล่าให้ฟังว่ามะปรางเป็นใคร มาจากประเทศอะไร สอบชิงทุนมาเรียนอินเดียได้ยังไง เรียนที่ไหน เรียนสาขาอะไร
ทำไมเลือกมาอินเดีย มีเพื่อนอินเดียเยอะไหม ชอบอาหารอินเดียหรือเปล่า ไปเที่ยวไหนในอินเดียมาแล้วบ้าง ฯลฯ
ผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่า คุยกันถูกคอ ค่าปรับลดจาก 3,500 รูปี เหลือ 100 รูปีในทันที
ฟังดูตลก แต่มันคือเรื่องจริง คนอินเดียหลายคนอาจจะดูดุ ดูเหมือนคนเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเรารู้จักเข้าหาคนอินเดีย เราจะรู้ว่าลึกๆ เขามีจิตใจที่ผ่อนปรนให้แก่กันและกัน ผ่อนหนัก ผ่อนเบา เขามีจิตใจที่ไม่ถือสาหาความ
ถ้าใครมีโอกาสมาอินเดีย “ถนน” คือห้องเรียนที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน รถชนกันรุนแรงขนาดไหน มะปรางยังไม่เคยได้ยินข่าวคนอินเดียหยิบปืนออกมายิงกัน หรือปล่อยหมัดชกกันจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต อย่างมากก็แค่ตะโกนด่าเสียงดังๆ แล้วบีบแตร่ใส่หน้ารถมันซักที จบ!
เออออ ชีวิตที่นี้ ไม่เหมือนที่ไหนดี มันส์…
3 ปี ในอินเดีย ทำให้มะปรางตอบกับตัวเองได้ว่า “ทำไมต้องเป็นอินเดีย?”
และมะปรางไม่อยากเป็นคนเดียวที่ตอบคำถามนี้ เพราะมันอาจจะแคบและน้อยไป มะปรางเลยชักชวน 10 คนไทย จากหลากหลายที่และสาขาอาชีพ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์อินเดีย ให้ทุกคนที่หยิบจับหนังสือเล่มนี้ได้อ่านกัน คำตอบมันจะได้ชัดเจนและเข้มข้นขึ้นว่า แล้วทำไมต้องไม่ใช่อินเดีย?
อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว หลายคนอาจจะเห็นด้วย หลายคนอาจจะไม่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น
ประเด็นคือ คุณจะถูกหนังสือเล่มนี้กระตุกให้คิด ให้มองอินเดียในมุมที่คุณไม่เคยสนใจ มองอินเดียในมุมที่คุณเคยมองข้ามไป อ่านเสร็จแล้ว คุณอาจจะเปลี่ยนใจจากที่เคยคิดจะตีแขกก่อนเจองูมาเป็น “ตีหัวตัวเองก่อนเจอแขก” ก็ได้
………………………………………………………………………………………………………………………………………………
10 คนไทยที่มะปรางคัดเลือกจากหลากหลายสาขาอาชีพที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้
1.พี่แพ็ต ธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ
2.น้องอดัม ซาหดัม แวยูโซ๊ะ นักสิทธิมนุษยชนเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.พี่แอน จริยา มิตรชัย ราชินีลิเกในวงการหนังบอลลีวูด
4.คุณพ่อชาร์ม สัจเดว – พี่ศิเวก สัจเดจ กรรมการผู้จัดการบริษัท IFS และกรรมการผู้จัดการบริษัท OMG Experience
5.ครูเก๋ วรารักษ์ สู่โนนทอง ทูตโยคะหัวเราะประจำประเทศไทย
6.อาจารย์ปุ๊ก ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ผู้เชี่ยวชาญผ้าอินเดีย
7.อาจารย์เอลี่ วุฒิพงศ์ ถวิลสมบัติ อาจารย์สอนภาษาฮินดี มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เคยใช้ชีวิตนักเรียนเพศที่สามในอินเดีย
8.พี่ขิง วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ บูติคโฮเต็ล กูรูของเมืองไทยและเจ้าของบริษัท Supergreen Studio
9.อาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร
10. บทสัมภาษณ์พิเศษ : อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย หรรษ วรรธน ศฤงคลา
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ: อินเดียมีอะไรจะบอก
ผู้เขียน : ปรางทอง จิตรเจริญกุล (มะปราง)
ขนาด: 14 x 21.5 cm.
จำนวนหน้า : 272 หน้า พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม
สำนักพิมพ์ : Learning hub
เดือนที่ออก : มิถุนายน 2559
ประเภท : แนะแนวการศึกษา
จัดจำหน่าย : se-ed books
หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจ ลูกสาวคนเดียวก็เรียนจบอินเดียได้ตามลิงค์นี้่ค่ะ
https://www.facebook.com/onlychildcansurviveinIndia/?fref=ts
เกี่ยวกับผู้เขียน
ปรางทอง จิตรเจริญกุล
ชื่อเล่น : มะปราง แต่เพื่อนๆ ที่อินเดียเรียก “พีเจ” (PJ) เพราะออกเสียงชื่อภาษาไทยไม่ได้ ออกเสียงทีไรเป็น แปร๊งตอง ไม่ก็ มาแปรง ตลอด ได้ยินแล้วไม่เคยรู้ว่าเพื่อนเรียกมะปรางอยู่ นึกว่าเรียกคนอื่น
การศึกษา : เรียนจบระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี หลังเรียนจบ ม. 6 มะปรางเข้าเรียนคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ลาออกตอนอยู่ปี 2 เทอม 1 เพื่อไปเรียนต่ออินเดีย
มะปรางสอบชิงทุนรัฐบาลอินเดีย ICCR ได้ในปี พ.ศ.2554 ไปเรียนต่อ Bachelor of Arts (B.A.) วิชาเอก History-Economics-Sociology (ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์) ที่ SBRR Mahajana First Grade College ภายใต้สังกัด University of Mysore
อาชีพ : หลังเรียนจบกลับมาไทยได้หนึ่งเดือน มะปรางเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายข่าวต่างประเทศให้กับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ทำจนถึงตอนนี้ (ตอนที่กำลังพิมพ์ข้อความนี้อยู่)