งานวิจัยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) เป็นตัวชี้วัดความสุขและความสำเร็จในชีวิต
แม้ว่า EQ จะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น จับต้องได้ยาก แต่มันจะปรากฎออกมาในพฤติกรรมของแต่ละคน ทั้งด้านความสามารถในการเข้าสังคม การรับมือกับสถานการณ์ที่ยาก กระบวนการตัดสินใจ และมุมมองในชีวิต เป็นต้น
ปัจจุบันเราสามารถทดสอบ EQ ของคนทั่วไปได้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตามงานวิจัยจากผู้คนหลายพันคนทำให้ได้พบว่า มีอุปนิสัยและพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งชี้ว่าคนเหล่านี้มี EQ ที่สูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่
====
1. สามารถบ่งบอก ‘ภาวะอารมณ์’ ของตัวเองได้
มนุษย์ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึก แต่เชื่อไหมว่า มีคนเพียง 36% เท่านั้น ที่สามารถบอกได้ว่า ขณะนี้ตัวเองรู้สึกอย่างไร
คนทั่วไปไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกจึงมักปฏิเสธ หรือกดทับอารมณ์ของตัวเอง คนที่มี EQ สูง จะสามารถบ่งบอก และแยกแยะระดับอารมณ์ได้อย่างละเอียดชัดเจน เช่น
ตอนนี้รู้สึกแย่ หงุดหงิด รำคาญ ขุ่นเคือง โกรธ กังวล กระวนกระวาย ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ยิ่งสามารถอธิบายได้ละเอียดมากเท่าไหร่ แสดงว่าเขารู้จักตัวเองดีมากเท่านั้น
====
2. ใส่ใจผู้คน และไม่ด่วนตัดสินคนอื่น
คนมี EQ สูงนั้นจะมีความห่วงใยใส่ใจผู้คนที่อยู่รอบๆตัวของเขา จะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในการคิดหรือตัดสินใจ แต่จะมองรอบๆตัวว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายได้มากที่สุดอย่างไร
เมื่อต้องเจอกับคนที่ขี้หงุดหงิด ขี้วีน เขาจะรักษาระดับอารมณ์ไม่ให้ขึ้นไปตามสิ่งที่มากระทบ เขามองว่าคนเหล่านี้อาจกำลังเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอยู่ และรู้ว่าไม่มีใครถูกหรือผิดไปซะทุกอย่าง ดังนั้นเขาจะไม่ด่วนตัดสินคน และจะสื่อสารโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
====
3. ยอมรับความเปลี่ยนแปลง โดยไม่มองหาความสมบูรณ์แบบ
เขาคือคนที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอด เขารู้ว่าความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง คืออุปสรรคต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิต เขาจึงมองว่าความไม่แน่นอน คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ และก็พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น
เขาจะไม่ตั้งเป้าหมายถึงความสมบูรณ์แบบ เพราะรู้ว่ามันไม่มีอยู่จริง แทนที่จะมองว่าตัวเองห่างจากความสมบูรณ์แบบมากแค่ไหน เขาจะมองว่าตัวเองทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อไปมากกว่า
====
4. รู้จักและรู้เท่าทันตัวเองจึงไม่โกรธง่าย ๆ
คนที่มี EQ สูงจะรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และจะปรับใช้สิ่งเหล่านั้นมากขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ ขณะเดียวกันก็จะเก็บจุดอ่อนเอาไว้ ไม่ให้มาฉุดรั้งตัวเอง
เขารู้ดีว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะมากดปุ่มให้ตัวเองโกรธหรือเสียใจ และอะไรที่จะสร้างกำลังใจไปสู่ความสำเร็จ เขาจะเป็นผู้ “เลือกตอบสนองต่อสถานการณ์” ไม่ใช่ “เป็นเหยื่อของสถานการณ์” ที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่ว่าโกรธไม่เป็น แต่ด้วยความที่เขารู้จักตัวเองดี จึงมีความมั่นใจในและเคารพในตัวเอง ดังนั้นแม้ว่าจะมีใครมาแหย่ให้โกรธ พูดจาดูถูก หรือล้อเลียน เขาจะไม่ถือเป็นอารมณ์ เพราะลึกๆแล้วเขารู้ว่า นั่นเป็นเพราะอีกฝ่ายอิจฉา และรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอต่างหาก
====
5. รู้ว่าเมื่อไหร่ควรปฏิเสธและปฏิเสธเป็น
คนมี EQ สูง รู้ความต้องการของตัวเอง และควบคุมตัวเองได้ เขารู้ว่ายิ่งอดทนมากไป ยิ่งจะสร้างความเครียด ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะพูดว่า “ไม่” อย่างสุภาพ โดยที่ไม่รู้สึกแย่หรือกังวลภายหลัง
เขารู้ว่าการใช้คำว่า “บางที ไม่แน่ใจ อาจจะ ดูอีกทีนะ” ยิ่งจะทำให้เกิดความคาดหวัง และอึดอัดทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นเค้าจะให้คำสัญญาหรือตอบรับ ก็ต่อเมื่อเค้าหมายความถึงสิ่งที่พูดจริงๆ เท่านั้น
====
6. ยอมให้ตัวเองผิดพลาดได้
คนมี EQ สูง ตระหนักดีว่า “ความผิดกับตัวเขา” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดังนั้นเขาจะให้อภัยตัวเองได้เร็ว เมื่อเกิดความผิดพลาด เขาจะมองหาบทเรียนที่ได้รับ และนำไปปรับปรุงสำหรับครั้งต่อไป
เขาไม่ลืมความผิดนั้น แล้วก็ไม่ “จมอยู่กับความผิด” มันจะเป็นเพียงความทรงจำที่เตือนใจไม่ให้ทำผิดซ้ำ และความผิดที่ดูลำบากหนักหนาในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้เค้าลุกขึ้นได้ง่ายและเร็วขึ้นในครั้งต่อไป
ถ้ายึดติดกับความผิดพลาดหรือสิ่งที่ไม่เป็นไปตามใจมาก ๆ มักจะทำให้เกิดความเครียด อ่าน 5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนไปด้วยกัน คลิกที่นี่
====
7. รู้ว่าเมื่อไรควรหยุดและพัก
คนมี EQ สูงนั้นมักจัดสรรเวลา “หยุดพัก” ให้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอ แม้เขาจะทำงานหนัก และมีเรื่องต้องทำมากมาย แต่เค้าก็หาเวลา “ออฟไลน์” ให้กับตัวเองได้ การปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์และงาน ไม่ต้องติดต่อหรือพูดคุยกับใคร คือการมอบ “ช่วงเวลาเงียบ” ให้กายและใจได้หยุดพักอย่างแท้จริง
การที่ได้มีเวลาทบทวน ใคร่ครวญกับตัวเอง ทำให้เขากลับมาทำงานได้อย่างสดชื่น มีชีวิตชีวา และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
7 อุปนิสัยของผู้มี EQ สูง ทำให้เราสามารถประเมินตัวเองคร่าวๆ ได้ว่ายังขาดตกบกพร่องในข้อใด เพราะระดับ EQ ของเรานั้น แปรผันโดยตรงกับความสุขในชีวิต EQ และความสุข ต่างก็เป็น “ทักษะ” ที่ฝึกฝนได้ และส่งต่อได้
อ้างอิงจาก Travis Bradberry ผู้เขียนหนังสือ Emotional Intelligence 2.0
====
ถ้าคุณต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบริหารจัดการอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence คลิกดูรายละเอียดที่นี่
บทความโดย
อ.เรือรบ จิณณ์ณัฏฐ์ พรหมนุรักษ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ
CEO ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645