ทำยังไงดี.. เมื่อต้องรับมือกับงานหลายอย่าง พร้อมกัน..

18 04 2017

หลังวันหยุดยาว หลายคนกลับมาใช้ชีวิตทำงานปกติ… แล้วต้องพบว่า “มีงานหลายอย่างที่ต้องทำพร้อมกัน” ซึ่งการทำงานได้หลายอย่างพร้อมกันเป็นทักษะส่วนตัวที่มีประโยชน์ แต่เราก็จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อใดที่เราพยายามทำงานหลายๆ อย่างมากเกินไป ย่อมส่งผลให้เรา… ไม่สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

ปัญหาเกิด เมื่อต้องใช้พื้นที่สมองพร้อมกัน

 

การต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ต้องอาศัยความเอาใจใส่มากกว่าปกติ ยังอาจส่งผลด้านลบต่อผลงาน… และความพยายามจะทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือทำให้เกิดความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จะทำให้ความตั้งใจน้อยลง ขาดสมาธิ มีแนวโน้มที่จะผิดพลาดได้

เหตุผลสำคัญของความล้มเหลวเหล่านี้ มีสาเหตุมาจาก.. การทำงานหลากหลาย จะแบ่งพลังประมวลผลของสมอง และยังลดประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่องานมากมายเหล่านี้ต้องทุ่มเทมากพอๆ กัน

สมองส่วนต่างๆ มีความชำนาญในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น การฟัง การดู การเคลื่อนไหว รวมถึงเรื่องการใช้ภาษา ดังนั้น การทำงานหลายอย่างพร้อมกันจึงเป็นเรื่องยากลำบาก และเป็นสาเหตุของปัญหามากมายตามมา

โดยเฉพาะเมื่องานสองอย่าง (หรือมากกว่านั้น) ต้องใช้รูปแบบการคิดที่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกันของสมอง ตัวอย่างเช่น คุณพยายามฟังการสนทนาที่ต่างกันสองเรื่องในเวลาเดียวกัน (งานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน), พูดคุยโทรศัพท์ขณะอ่านหนังสือ (งานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน) หรือกระทั่ง คุณลองลูบท้องพร้อมกับตบหัวตัวเองไปด้วยสิ! (งานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน) ดูฝืนๆ ไปหมดเลยเนอะ…

 

การทำงานหลายอย่างให้มีประสิทธิภาพ

 

ข้อแนะนำต่อไปนี้ หากนำไปปฏิบัติจะช่วยให้ทำกิจกรรมสองอย่าง (หรือมากกว่า) ได้พร้อมกัน และยังคงรักษาคุณภาพการคิดของคุณในการทำงานแต่ละอย่างได้…

1) อย่าปะปนงานที่ต้องใช้ทักษะเหมือนๆ กัน (เช่น การกดเบอร์โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ทั้งสองอย่างเป็นงานด้าน “การเคลื่อนไหว”) คุณควรนำงานที่ใช้ทักษะต่างกันมาทำพร้อมกัน จะทำให้เกิดปัญหาน้อยกว่า (เช่น การฟังดนตรีขณะขับรถ ซึ่งเป็นงานด้าน “การฟัง” บวกกับงานด้าน “การเคลื่อนไหว”)

2) หากคุณอยากฟังดนตรี ขณะอ่านหรือเขียนหนังสือ ลองฟังเพลงที่มีแต่ทำนองดนตรี โดยไม่มีเนื้อร้อง (ซึ่งคุณต้องใช้การประมวลทางภาษาในสมอง) หรือลองฟังเพลงต่างภาษา ซึ่งเนื้อเพลงและการพูดต่างภาษาจะเบนความสนใจได้น้อยกว่า

3) เมื่อคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้มี “เวลาพัก” ระหว่างงานสองงานนั้น เพื่อทำให้ความคิดคุณปลอดโปร่งเสียก่อน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ลองหากิจกรรมประจำวันที่ไม่ต้องการความเอาใจใส่มากนัก-เพื่อมาทำ หลังจากทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ

 

บ่อยครั้ง ก็ควรจัดลำดับความสำคัญ

 

การจะทำงานให้สำเร็จ เราจำเป็นต้องกำหนดพลังใจและพลังงาน เพื่อจดจ่อกับเรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ… วิธีที่ดีที่สุดในการจดจ่อกับงานที่สำคัญมากๆ และหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนเบนความสนใจ คือ… “ให้จัดลำดับความสำคัญ” ไม่ใช่ตอบสนองกับทุกเรื่องที่เข้ามาโดยทันที

 

เรื่องงาน ครอบครัว การพักผ่อน และการเล่นสนุกสนาน

 

ก่อนเริ่มทำกิจกรรมใด ลองเริ่มจากการเตือนตัวเอง ว่าเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมีอะไรบ้าง… การค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่นำไปปฏิบัติได้จริงๆ หรือเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ จะมีประโยชน์อะไร หากทางแก้เหล่านั้นไปคนละทางกับความคิด-ความเชื่อของคุณ

เพราะเรื่องทุกอย่างที่เราทำหรือพยายามจะทำนั้นล้วนจัดอยู่ในหนึ่งในสี่ประเภทต่อไปนี้ 1. เรื่องงาน (รวมถึงงานการกุศล และงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน) 2. เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น และเรื่องครอบครัว 3. งานอดิเรก และเวลาพักผ่อนจากงาน (รวมถึงการศึกษาหาความรู้เพื่อความเพลิดเพลิน) 4. เรื่องสุขภาพ (รวมถึงการฝึกฝนจิตใจ เช่น การฝึกสมาธิหรือโยคะ)

คุณควรพิจารณาว่า เรื่องเหล่านี้มีเรื่องไหน “สำคัญที่สุดสำหรับคุณตอนนี้” อะไรคือความสำคัญอันดับต้นๆ โดยรวมในชีวิตคุณ? คุณทุ่มเทเวลาให้แต่ละเรื่องนานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์? แล้วคุณอาจประหลาดใจที่พบว่า ตัวเองกำลังใช้เวลามากมายกับ “เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายสำคัญๆ ในชีวิตเลย”

 

ค้นหาว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด?

 

หลายต่อหลายครั้ง “การจัดลำดับความสำคัญ” มักถูกกำหนดจากเรื่องไหนต้องให้ความสนใจอย่างรีบด่วนที่สุด อาทิ งานเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำประจำวัน การจ่ายเงินตามบิลเรียกเก็บ รวมทั้งการทำตามที่คนอื่นขอร้อง…

คุณกลายเป็นฝ่ายตั้งรับมากเกินไป เหมือนคนที่ยืนหน้าเครื่องยิงลูกเทนนิส คอยตีลูกบอลที่พุ่งเข้ามาอย่างลนลาน แต่ไม่เคยมีเวลา “หยุดพัก” เพื่อขยับไปทำเรื่องอื่นเลย… ในขณะที่ชีวิตยิงงานที่ “เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ” มาที่คุณ ทว่าระหว่างนั้น กลับมีกิจกรรมที่ “ไม่ด่วน แต่อาจทำให้ชีวิตคุณมีคุณภาพขึ้น” ถูกละเลยไว้เบื้องหลัง หรือไม่ก็ถูกมองข้าม!!!

 

ควรจัดลำดับความสำคัญให้กับ “เรื่องที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น”

 

เราขอแนะนำให้คุณพิจารณากิจกรรมที่คุณทำ ว่าเข้าหมวดใดในรูปแบบงาน 4 ประเภท ต่อไปนี้… 1) งานด่วน และทำให้ชีวิตดีขึ้น 2) งานด่วน แต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น 3) งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ไม่รีบด่วน 4) งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

ค่อยๆ เติมงานหรือกิจกรรมของคุณจัดเข้าหมวดหมู่ข้างต้น พยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การทำกิจกรรม-ทำงานนี้ เป็นการทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราหรือไม่?”

 

ถ้าคุณต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เลือกทำ “งานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เป็นลำดับแรก เมื่อกิจกรรม/งานนั้นลุล่วงลงแล้ว คุณค่อยทำ ข้อ 2) ข้อ 3) ส่วน “งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เราอยากถามคุณว่า “เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ดีไหม?”

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

10 สัญญาณความล้มเหลวของการเป็นผู้นำ

15 02 2017

ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนมีหัวหน้างาน-ลูกน้อง มีผู้บริหาร-พนักงาน แต่ในกลุ่มผู้เป็นหัวหน้า หรือกลุ่มผู้บริหาร กลับมีหลายคนที่กำลังประสบความล้มเหลวในการเป็น “ผู้นำ”

นโปเลียน ฮิลล์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Think & Grow Rich หนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ผู้ประสบความสำเร็จทั่วโลกล้วนเคยอ่าน ว่า “ภาวะการเป็นผู้นำ มีด้วยกัน 2 แบบ หนึ่ง ผู้นำที่ได้รับการยินยอมและความเห็นชอบจากผู้ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการนำทีมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สอง การนำทีมด้วยการสั่งงาน การบังคับ เป็นการนำโดยไม่ได้รับการยินยอมพร้อมใจใดๆ จากผู้ปฏิบัติตาม”

นโปเลียน ฮิลล์ ย้ำว่า “จากหน้าประวัติศาสตร์ เราจะเห็นชัดว่า ผู้นำที่ใช้การออกคำสั่งบังคับให้ทำตาม จะดำรงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน มีบันทึกถึงกลุ่มผู้นำที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่กลับสูญเสียอำนาจลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ยินยอมพร้อมใจเดินตามผู้นำที่นำด้วยการบังคับตลอดไป”

ในฐานะหัวหน้า หรือผู้บริหารองค์กร ย่อมไม่อยากประสบความล้มเหลวในการเป็นผู้นำ… นโปเลียน ฮิลล์ ได้แนะวิธีสังเกต “10 สัญญาณอันตราย” ไว้ดังนี้…

 

1. ไม่สามารถจัดการงานลงรายละเอียด

บุคลิกสำคัญของการเป็น “ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ” จะต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ มองทะลุทุกปัญหา สามารถจัดการกับรายละเอียดงานต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน 

ที่สำคัญ ไม่มีผู้นำคนใดที่จะ “ยุ่งเกิน” จนไม่สามารถตัดสินใจในฐานะผู้นำภารกิจไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำรู้ทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงาน ย่อมมองออกว่า งานใดควรเร่งทำ งานใดควรลงมือทำเอง และงานใดควรมอบหมายให้ผู้ช่วยที่สามารถรับงานต่อได้

 

2. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานเล็กๆ น้อยๆ
 
ในทุกการทำงานย่อมมีงานใหญ่ งานรอง งานสำคัญ งานเร่งด่วน และงานที่รอก่อนได้ แต่บางครั้ง กับผู้นำบางคน เมื่อเห็นเป็น “งานเล็กๆ น้อยๆ” แม้จะสามารถช่วยเหลือทีมได้ แต่กลับเพิกเฉย ปล่อยให้ลูกทีมลงมือทำกันเอง

“ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกท่าน จะเป็นผู้รับใช้ท่าน” นโปเลียน ฮิลล์ ยกคำกล่าวอ้างอิงมาจาก “พระคัมภีร์ มัทธิว 23 :11” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งปกติได้มอบให้ผู้อื่นทำ แต่ถ้าสามารถช่วยแล้วงานเสร็จเร็วขึ้น ผู้นำควรเข้าไปร่วมทำด้วย เพราะสิ่งที่จะได้กลับมา คือผู้นำคนนั้นจะได้รับความร่วมแรงร่วมใจ และการนับถือจากผู้ปฏิบัติตาม

 

3. คาดหวังค่าตอบแทนจาก “สิ่งที่รู้”

ไม่แปลกที่คนเป็นหัวหน้า คนเป็นผู้บริหาร จะมีความรู้ในตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างดี แต่บางคนเมื่อ “รู้” แล้ว คาดหวังค่าตอบแทนจากความรู้ที่อยู่ในหัว เรียกร้องรายได้จากวุฒิการศึกษา ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริง ค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับ “การกระทำ”

หัวหน้า หรือผู้บริหาร จะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เลย หากหวังรายได้จากความรู้ที่มี โดยไม่ได้แปรความรู้เหล่านั้นเป็นการกระทำ และในฐานะผู้ปฏิบัติตาม ก็จะไม่เข้าใจความรู้ (ที่อยู่ในหัวของพวกเขา) หากไม่ได้เห็นภาพการกระทำที่ชัดเจน และทำตามได้ทันที

นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “โลกนี้ไม่จ่ายเงินสำหรับ ‘ความรู้ของใคร’ แต่จะจ่ายให้กับ… สิ่งที่พวกเขาทำ หรือสิ่งที่โน้มน้าวให้ผู้อื่นทำ”

 

4. กลัวการแข่งขันจากผู้ปฏิบัติตาม

เราสามารถเห็นได้ทั่วไปในสังคม ว่ามีผู้นำที่หวาดกลัวผู้ปฏิบัติตามคนใดคนหนึ่งจะมาแย่งตำแหน่ง ยิ่งคุณกลัวมากเท่าไหร่ สิ่งที่กลัวก็จะเป็นจริงเร็วขึ้นเท่านั้น

ผู้นำที่ดีควรสอนงาน มอบหมายงาน ทำทุกวิถีทางให้พนักงานรู้ทุกรายละเอียดงานในตำแหน่งของเขาด้วยความเต็มใจ วิธีนี้จะทำให้ผู้นำสามารถปลีกตัวจากหน้าที่เดิม มีเวลาพัฒนาตนเอง และก้าวไปสร้างสรรค์สิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นในหน่วยงานของตน

นโปเลียน ฮิลล์ ยืนยันจากการเก็บข้อมูลบุคคลผู้ประสบความสำเร็จนับร้อยคน ว่า “การมอบหมายงานให้ผู้อื่น จะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการพยายามทำทั้งหมดคนเดียว”

 

5. ไม่มีภาพจินตนาการล่วงหน้า

หากคุณตีความคำว่า “จินตนาการ” เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เรื่องเหนือจริง คุณย่อมไม่เห็นค่า ว่าผู้นำควรจะมีจินตนาการไปเพื่ออะไร?

คำว่า “จินตนาการ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่นั้น แต่ยังหมายถึง “การคิดภาพล่วงหน้าถึงสิ่งที่ ‘อาจจะ’ เกิดขึ้น” ผู้นำที่ดีควรต้องคิดภาพ คาดการณ์ทั้งด้านดีและด้านร้าย เพื่อเตรียมการรับมือเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังต้องคิดแผนสำรองสำหรับให้พนักงานปฏิบัติ มิเช่นนั้น เวลาเกิดเหตุสุดวิสัย เมื่อขาดจินตนาการภาพเหตุการณ์ล่วงหน้า ทีมจะเกิดภาวะระส่ำระสาย

 

6. รับความดีความชอบเพียงอย่างเดียว

หัวหน้าหรือผู้บริหารที่ชอบออกหน้า รับเอาความดีความชอบทั้งหมดของผู้ใต้บังคับบัญชา ว่า “เป็นผลงานของตน” มักเผชิญกับความรู้สึกไม่พอใจ แต่น่าแปลกที่บางทีพวกเขาไม่รู้ตัว และคิดว่าสิ่งที่พนักงานทำ เป็นสิ่งที่เขาทำ!

จากการวิเคราะห์ของนโปเลียน ฮิลล์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แทบทุกคนจะไม่ขอรับความดีความชอบใดๆ และยินดีที่จะบอกให้ทุกคนรู้ ว่าความดีความชอบเหล่านั้นเป็นของทีม เพราะผู้นำที่ดี รู้ว่าผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะทำงานหนักขึ้น หากได้รับการยกย่องชมเชย เป็นผลดีมากกว่าแค่ได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว

 

7. ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

หัวหน้างานที่มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง มักเผยท่าทีให้เห็นว่า “อยากทำอะไรก็ทำ” ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานต้องรับมือกับการมีหัวหน้างานประเภทนี้ พวกเขาจะรู้สึกเหนื่อยหน่าย แถมยังจะเอาไปนินทาว่าร้ายลับหลัง และแม้จะทำงานให้ตามสั่ง แต่ก็จะคอยระวังตัวตลอดเวลา ว่าคำสั่งนั้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบหรือเปล่า?

นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “ผู้ตามจะไม่ยอมรับนับถือผู้นำที่ไม่ยับยั้งชั่งใจ หรือยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง”

 

8. ไม่จริงใจต่อทีม
 
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเจอ คนที่ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานจับได้ว่าโดนหลอก โดนหักหลัง โดยเฉพาะจากคนที่เป็นหัวหน้า/เป็นผู้บริหาร พวกเขาจะแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อต้านขึ้นมาทันที และไม่ว่าต่อไปจะมีงานใดมอบหมายให้ทำ ก็จะทำแบบขอไปที ทำด้วยความระแวง ว่าจะโดนอะไรอีก!?

ผู้นำที่ดีจะต้อง ‘จริงใจ’ ทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ที่เหนือกว่าและผู้ที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถคงความเป็นผู้นำของตนไว้ได้นาน หากไร้ซึ่งความจริงใจ

นโปเลียน ฮิลล์ เปรียบ “ผู้นำที่ไม่จริงใจ” ว่าต่ำกว่าผงธุลีดิน สมควรถูกเหยียดหยาม และ “ความไม่จริงใจต่อกัน คือสาเหตุหลักของความล้มเหลวในทุกด้านของชีวิต”

 

9. ไม่พยายามโน้มน้าวให้เชื่อ

ผู้นำที่ดีจะนำทีมด้วยการพยายามโน้มน้าวให้เชื่อ ให้คิด และทำตาม ไม่ใช่การทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา “หวาดกลัว” แต่ก็มีผู้นำที่ไม่สามารถทำให้พนักงานเชื่อและยินดีทำตามด้วยความเต็มใจได้ โดยจะพยายามทำให้ผู้ปฏิบัติตาม รู้สึกถึง ‘อำนาจ’ นั่นหมายความว่า พวกเขาจะเป็นผู้นำประเภทที่จะคอยข่มขู่ บังคับ และออกคำสั่ง

คุณจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับในความคิด ยอมรับไปถึงบุคลิกที่ไม่เบียดเบียน หรือเอารัดเอาเปรียบ เมื่อพนักงานยอมรับความคิดและการกระทำของผู้นำ นั่นหมายถึงว่า พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความยุติธรรม ที่จะได้รับในทุกการปฏิบัติงาน

 

10. ชอบออกงาน ชอบคุยโว อวดตำแหน่ง
 
เรามักจะเห็นหัวหน้า/ผู้บริหารบางคน ชอบออกงาน คุยโวอวดตัว ว่าตนมีหน้าที่การงานดี มีตำแหน่งใหญ่โต เพื่อให้คนนับถือใน “ตำแหน่ง” ที่ตนได้รับ

เป็นความจริง ว่าพวกเขาจะได้รับการนับถือจากตำแหน่งที่ได้รับ แต่กลับไม่ได้รับการนับถือจากพนักงาน ในฐานะที่เป็นผู้นำที่ดี เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่า ผู้นำของเขากำลังให้ความสำคัญกับตำแหน่งมากเกินพอดี

นโปเลียน ฮิลล์ เขียนแซวคนที่ชอบคุยโวอวดตำแหน่ง ในหนังสือ Think & Grow Rich ว่า “พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความสำคัญอื่นให้คนทั่วไปเห็น นอกจาก ‘ตำแหน่ง’ ที่ได้มา จึงพยายามวางตัวหรูหรา เจ้ายศเจ้าอย่าง อวดโอ้เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นความสำคัญ”

 

 

บทความโดย LEARNING HUB TEAM

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save