งานวิจัยบอกว่า คนทั่วไปใช้สมอง เพียงแค่ 3% จากที่ตัวเองมีอยู่ คุณคิดว่าจริงไหม?
นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง แถมยังสงสัยอีกว่า ทำไมบางคนถึงฉลาด มีไหวพริบมากกว่าคนอื่นจนทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ
‘สมอง’ อวัยวะพิเศษที่มีกลไกอัจฉริยะซึ่งคุณสามารถฝึกฝน ให้มันทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ แค่คุณรู้วิธี แต่ถ้าคุณไม่รู้ ก็เปรียบเสมือนคุณซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ สเปคสูงมา แล้วไปลงซอฟแวร์รุ่นเก่าทำให้มันทำงานได้เพียง 3% เท่านั้น รู้เช่นนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร?
====
‘Ron White’ เป็นแชมป์ความจำจากสหรัฐอเมริกา เขามีสมองดั่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์จนได้รับการบันทึกลงกินเนสส์บุ๊กหลายสถิติ เช่น การจำเลขจำนวน 28 หลัก ภายในเวลา 1.15 นาที การจำชื่อจำนวน 150 ชื่อ ภายในเวลา 20 นาที และการจดจำบทกลอนจำนวน 250 บรรทัดได้ภายในพริบตาเดียว
เขาฝึกฝนเทคนิคการเพิ่มความสามารถของสมองผ่านการจินตนาการแบบไอน์สไตน์ โดยมีเคล็ดลับในการเพิ่มความจำของสมองคนให้ทำหน้างานได้ดั่งสมองกล ด้วยการฝึกฝน 5 ขั้นตอนง่ายๆที่ใครๆ ก็ฝึกได้ ดังนี้
1. มุ่งประเด็นให้เด่นชัด (Focus)
ขั้นแรก คือ การโฟกัสสิ่งที่ต้องการจดจำให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร? มีความโดดเด่นหรือสำคัญตรงไหน ขั้นตอนนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้พลังของการจดจำมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนกับการที่เราบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ เราต้องรู้ชัดเจนว่าเรากำลังต้องการบันทึกอะไรภาพ ตัวอักษร หรือ พรีเซนเทชั่น การมีเป้าหมายเจาะจงชัดเจนเป็นขั้นแรกในการเพิ่มความจำให้มีประสิทธิภาพ
====
2. จัดทำแฟ้มบันทึก (File)
หากคุณต้องการเรียกคืนไฟล์ต่างๆ จากคอมพิวเตอร์กลับมาใช้ คุณจะต้องบันทึกโฟลเดอร์หรือไฟล์งานนั้นไว้เพื่อจะเรียกใช้ในภายหลัง ความจำต่างๆ ของคุณก็มีกลไกการทำงานแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์นี่แหล่ะ
ฉะนั้นเพื่อให้คุณสามารถเรียกข้อมูลกลับมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว คุณจำเป็นต้องบริหารจัดการความทรงจำ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นไฟล์แห่งความทรงจำ (Memory files) อย่างมีระบบและมีระเบียบ เพื่อจะได้เรียกใช้ได้ง่ายขึ้น
====
3. ฝึกจำเป็นภาพ (Picture)
ขั้นตอนนี้ เป็นการสร้างภาพต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เนื่องจากสมองของเรามักจำภาพได้มากกว่าข้อมูลแบบอื่น เราจึงจำเป็นต้องจินตนาการถึงสิ่งที่ต้องการจำเป็นภาพที่คุ้นเคย หรือภาพที่สะดุดตา
เช่น อยากจำคำว่า การทำงานเป็นทีม (Teamwork) ก็ให้นึกเป็นภาพผู้คนกำลังร่วมมือกันทำงานอยู่ เป็นต้น
พูดง่ายๆ ก็คือ อะไรก็ตามที่เราต้องการจำจะต้องแปลงให้อยู่ในรูปแบบของภาพเสมอเพื่อให้สมองมองเห็นและจดจำได้ หรือกล่าวได้ว่า เมื่อรู้ว่าสมองเราชอบจำเป็นภาพ เราก็ถอดรหัสสิ่งต่างๆ ให้เป็นภาษาของสมอง เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงไปได้ง่ายและมากขึ้นนั่นเอง
====
4. ตรึงให้มั่น (Glue)
ขั้นตอนนี้เป็นการเชื่อมข้อมูลที่เราต้องการจำ ให้ได้รับการบันทึกอยู่ในสมองได้นาน Ron พบเคล็ดลับว่า การที่เราจะจำบางสิ่งบางอย่าง สิ่งนั้นต้องมีความโดดเด่นเพียงพอที่จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำ มันต้องกระทบกับความรู้สึก (Feeling) ของเราอย่างรุนแรง
หากคุณลองสังเกตช่วงชีวิตที่ผ่านมา คุณจะเห็นว่าความจำจะติดตรึงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อภาพนั้นมีความ เคลื่อนไหว มีความรู้สึก หรือมีสิ่งพิเศษบางอย่างมาเชื่อมโยงกับเรา
และนี่เป็นคำตอบว่าทำไมคุณจึงสามารถนึกถึงรายละเอียดของเรื่องเศร้าที่ทำให้คุณเสียใจมากๆ หรือเรื่องที่ประทับใจสุดๆ เมื่อ 20 ปีก่อนได้อย่างแม่นยำ
เทคนิคของรอนคือ ภาษาภาพที่คุณสร้างขึ้นมาเพื่อจะจดจำ นั้นจะต้องเป็นภาพที่ติดตรึงในความทรงจำได้ดี มีความเคลื่อนไหว มีความรู้สึกร่วมอยู่ในนั้นด้วย
และหากเป็นภาพที่มีความพิเศษมากก็จะยิ่งช่วยให้จำได้ดีขึ้น ทำได้ง่ายๆ ด้วยการติดตรึงความจำเอาไว้ ด้วยการจินตนาการถึงความรู้สึกและการเคลื่อนไหวต่างๆ ลงไปในเนื้อหาของสิ่งที่จะจำนั่นเอง
====
5. หมั่นทบทวน (Review)
การทบทวนสิ่งที่บันทึกไว้ในความทรงจำ เป็นอีกขั้นตอนที่ทำให้เราสามารถจำสิ่งต่างๆ ได้ในระยะยาว เปรียบเทียบกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีการรีเฟรช (Refresh) หรือ อัพเกรด (Upgrade) โปรแกรมอยู่เสมอ
Ron ได้แนะนำเทคนิคง่ายๆ สำหรับขั้นตอนนี้ไว้ว่า ถ้าคุณต้องการจดจำชื่อผู้คนที่ได้พบมา เมื่อตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ ให้ถามตัวเองว่า เมื่อวานนี้เราได้พบใครบ้าง เพื่อจะทบทวนรายชื่อของคนที่เราได้พบ แล้วดูว่ามีกี่คนที่คุณสามารถจำได้ ตรงนี้ถือเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลลงไปในระบบบันทึกข้อมูลส่วนตัว คล้ายการ Upload ข้อมูลใหม่ใส่สมองนั่นเอง
นักวิจัยได้นำสมองของไอน์สไตน์ มาวิเคราะห์ พบว่าไม่ได้มีขนาดใหญ่ไปกว่าคนทั่วไป เลย
ดังนั้นเราทุกคนมีสมองที่สุดอัจฉริยะอยู่แล้ว เพียงแต่ยังใช้ไม่เป็นเท่านั้น หากเราสามารถใช้ศักยภาพสมองได้เต็มที่แบบนี้ เราจะบรรลุถึงเป้าหมายและความสำเร็จในชีวิต ทั้งในด้านการงาน และชีวิตส่วนตัว ได้อย่างแน่นอน
ฝึกสมองแล้ว อย่าลืมฝึกฝนจิตใจควบคู่กันไปด้วย อ่าน ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม คลิกที่นี่
====
ผู้บริหาร ผู้จัดการ และเจ้าของธุรกิจที่ต้องพัฒนาการทำงานของสมอง ต่อยอดสู่การพัฒนา Mindset และทักษะในการทำงานเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill ดูรายละเอียดคลิกที่นี่
บทความโดย
อ. เรือรบ จิณณ์ณัฏฐ์ พรหมนุรักษ์
CEO และผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962