10 ข้อคิด เปลี่ยนชีวิตคับแคบ ให้กลายเป็นท้องฟ้าที่กว้างใหญ่

10-%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%95

1. ถ้าคิดว่า บ้านของท่านคือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในโฉนด ท่านจะเป็นผู้ยากจน

ท่านจะเป็นผู้ร่ำรวยก็ต่อเมื่อคิดว่า บ้านของท่านคือโลกทั้งใบ เมื่อท่านมีความคิดในการครอบครอง มีความคิดในการทำสัญลักษณ์แห่งความเป็นเจ้าของ สิ่งที่เป็นของท่านย่อมมีอยู่น้อยนิด เมื่อท่านยุติความคิดครอบครอง สิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ ย่อมเป็นของท่านโดยปริยาย

2.จงมองผู้อื่นดุจคนในครอบครัว

แบ่งปันอาหารที่ดีที่สุดให้เขา ส่วนท่านจงกินอาหารพื้นๆ ธรรมดาๆ ท่านไม่จำเป็นต้องกินอาหารดีๆ เพื่อให้ตนเองมีความสุข จงดื่มกินอาหารทิพย์จากความเมตตา จงเปลี่ยนรอยยิ้มและความสุขของผู้คนรอบข้างให้กลายเป็นอาหารของท่านเถิด

3.อย่าได้เป็นผู้ให้เลย เพราะการเป็นผู้ให้นั้นมีอัตตาแฝงอยู่

จงเป็นผู้รับใช้เถิด เพราะการเป็นผู้รับใช้คือการเป็นรองเท้าให้ผู้คนเหยียบย่ำ ท่านจะไม่สูญเสียสิ่งใดๆ จากการเป็นผู้รับใช้ เพราะการสูญเสียและการเสียเปรียบนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับใช้อยู่แล้ว

ต่อเมื่อท่านได้รับสิ่งใด แม้เป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหน สิ่งนั้นย่อมกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ทันที นับเป็นความฉลาดอย่างยิ่งที่ท่านจะกระทำตนเป็นผู้รับใช้เสียแต่วันนี้

4.จงยุติความต้องการทั้งปวง แม้ความต้องการนั้นดีงามเพียงไร

ขึ้นชื่อว่าความต้องการแล้วย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ ท่านจงเป็นผู้ปลูกต้นไม้ด้วยการทำหน้าที่ในปัจจุบัน จงรดน้ำลงไป แต่อย่าใส่ความปรารถนาลงไป ต้นไม้เติบโตด้วยแร่ธาตุ ด้วยน้ำ มิได้เติบโตด้วยความปรารถนาใดๆ ของท่านเลย

5.วาทศิลป์ที่ดีที่สุด มิใช่คำพูดที่คล้ายความฉลาด เมื่อท่านจะพูดจา จงพูดแต่ความจริง

ขอให้ท่านใคร่ครวญว่า พูดอย่างไรจึงเป็นความจริงมากที่สุด ท่านอาจเสียผลประโยชน์ไปบ้าง แต่มันช่างคุ้มค่ากับการแลกมาซึ่งจิตแห่งความเปิดเผย

6.จงอย่าเป็นผู้กล้า แต่จงบอกใครๆ ว่าท่านเป็นคนขี้ขลาดแค่ไหน

เมื่อท่านเป็นผู้กล้า ท่านกำลังปกปิดและวิ่งหนีตนเอง ต่อเมื่อท่านยอมรับในความขี้ขลาดของตน ท่านจึงกลับสู่ความผ่อนคลายของชีวิตอีกครั้ง

7.อย่าคาดหวังว่าท่านจะเปลี่ยนโลก

เพราะไม่มีใครเลยที่จะเปลี่ยนโลกได้ เมื่อโลกในบี้มีแต่ความธรรมดา จึงไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความธรรมดาไปได้ ความคาดหวังที่จะเปลี่ยนโลกก็คือความธรรมดาอย่างหนึ่ง มันเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป

จงปล่อยให้โลกเป็นอย่างที่เป็น จงเป็นผู้กวาดใบไม้ด้วยปัญญา ใบไม้ร่วงสู่พื้นทุกวัน ท่านจงกวาดเท่าที่กวาดได้ เพราะพรุ่งนี้ใบไม้ก็จะร่วงสู่พื้นดินอีก ชีวิตของท่านก็เช่นกัน

8.หน้าที่ของท่าน ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน

ทุกสิ่งที่ท่านทำอยู่ขอให้เป็นไปเพื่อความเบิกบานที่เป็นประโยชน์ อย่าทำหน้าที่ด้วยความเคร่งเครียด และอย่าหาความเบิกบานด้วยการทำสิ่งไร้ประโยชน์ จงหาสมดุลของความเบิกบานและการทำประโยชน์ให้พบ เพราะนั่นคือวิถีแห่งความดีงามของชีวิต

9.อย่าเรียกหาความดีใดๆ แต่จงเป็นความดีนั้นเสียเอง

อย่าแสวงหาแสงสว่างใดๆ แต่จงเป็นแสงนั้นเสียเอง ท่านจงเป็นในสิ่งที่ท่านฝันถึง จงอย่าหาผู้คนที่น่ากราบไหว้ แต่จงสร้างตนเองให้กราบไหว้ตนเองได้ อย่าเรียกหาสิ่งศักดิ์ แต่จงสร้างตนเองให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ความดีงาม ความสว่าง และความศักดิ์สิทธิ์ล้วนซ่อนอยู่ในตัวตนของท่านทั้งหมด

10.จงอย่าเป็นผู้มีชีวิตรกรุงรัง แต่จงเป็นผู้มีความเรียบง่ายอย่างยิ่ง

จงเป็นผู้กินง่าย อยู่ง่าย และนอนง่าย จงเป็นผู้พูดง่ายๆ คิดง่ายๆ และยอมรับอะไรง่ายๆ อย่าสะสมสิ่งใดเกิดความจำเป็นของชีวิต เพราะเราต่างเป็นผู้มาชั่วคราว เราต่างเป็นนักผจญภัยที่ต้องการความคล่องตัว

ขอท่านจงเป็นผู้เร่รอนในวิถีชีวิต อย่าได้เป็นมหาเศรษฐีผู้ลงหลักปักฐาน จงเป็นผู้โลดโผนโจนทะยานที่สะสมร่องรอยบาดแผล ขอท่านจงคุ้นชินกับความหิวโหยและเจ็บปวด เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแก่นสารของชีวิตซึ่งนำท่านมายังโลก เมื่อการเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้สิ้นสุด ท่านย่อมเป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งการศึกษาทั้งปวง

บทความโดย พศิน อินทรวงค์
ติดต่องานบรรยาย(วิทยากร) / ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

10 ข้อคิด ใช้ชีวิตอย่างทรงพลัง

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1

พลังและแรงจูงใจในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนอาจมีช่วงเวลาที่รู้สึกหมดพลัง ท้อแท้กับชีวิตที่ต้องเจอปัญหาสารพัด อยากให้ปัญหาจบเร็วๆ วันนี้ผมมีบทความที่จะให้พลังชีวิตกับคุณ เพื่อที่คุณจะได้ใช้ชีวิตให้มีพลังและสร้างคุณค่าให้กับผู้คนและโลกใบนี้ครับ

1. อย่าได้แสวงหาความสำเร็จที่สร้างความยึดติด

เพราะความสำเร็จที่สร้างความยึดติด คือความสำเร็จที่เป็นโทษ เป็นความโง่เขลาชนิดหนึ่งที่่ทำลายอิสรภาพ จงแสวงหาความสำเร็จในการทำลายอัตตาตัวตน นั่นคือความสำเร็จที่แท้จริง

2. ความรักและความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการแสวงหา ส่วนความรักเป็นเรื่องของการปรับปรุงจิตวิญญาณจากตัวตนภายใน ความสัมพันธ์มีรากมาจากความกลัว ส่วนความรักมีรากมาจากความกล้าหาญ การมีความรักไม่ใช่เรื่องของการมีคู่ และการมีคู่ไม่ใช่เรื่องของการมีความรัก

3. สุขและทุกข์ล้วนเป็นมายาสมมุติ

ถ้ามีความสุข จงสังเกตความไม่แน่นอนของมัน ถ้ามีความทุกข์ นั่นคือเรื่องที่น่ายินดี เพราะความทุกข์ทำให้ปัญญางอกงาม ส่วนความสุขทำให้เราตกอยู่ในความประมาท

4. อย่าได้ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความต้องการ

แต่จงขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังแห่งปัจจุบันขณะ มีความฝันได้ แต่อย่าจมอยู่กับความฝันตลอดเวลา เราจะมีชีวิตที่แท้จริงได้ ด้วยการตระหนักรู้อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น

5. ความล้มเหลวเป็นสิ่งมีค่ากว่าความสำเร็จ

แต่แท้จริงสองสิ่งล้วนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีสิ่งใดพิเศษควรค่าแก่การจดจำ จงทิ้งทั้งความล้มเหลว และความสำเร็จในอดีต สองสิ่งนี้ล้วนเป็นคุกที่กักขังไม่ให้เราเกิดใหม่ในปัจจุบันขณะ

6. จงเป็นอิสระจากประสบการณ์และการปรุงแต่งความคิดทั้งปวง

7. เงินทอง วัตถุ ชื่อเสียง ล้วนเป็นของแถมจากการใช้ชีวิต

ถ้ามีก็ดี ถ้าไม่มีก็ได้ อย่าให้ชีวิตที่มีค่าต้องมารับใช้สิ่งเหล่านี้ จงทำลายความต้องการในสิ่งเหล่านี้ แล้วชีวิตที่คับแคบจะกลายเป็นสนามหญ้ากว้างใหญ่

8. จงมีชีวิตที่พอใจกับทุกสิ่ง

ทั้งคำชื่นชม และคำด่าทอล้วนเป็นสิ่งที่ดีงาม การเกิดและการตายคือเรื่องเดียวกัน

9. อย่ามองว่าตนเองยิ่งใหญ่ อย่ามองว่าตนเองต้อยต่ำ

อย่าเห็นว่าผู้อื่นยิ่งใหญ่ อย่าเห็นว่าผู้อื่นต้อยต่ำ จงมองให้ทะลุถึงความเป็นสามัญธรรมดา ไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ ไม่มีสิ่งใดต้อยต่ำ ทุกอย่างเกิดจากการให้ค่าตั้งราคาของเราเอง

10. พลังชีวิตกำเนิดจากความคล่องตัวซึ่งมีรากจากความพอเพียง

จงหาทางทำลายความต้องการ เพื่อให้ชีวิตได้เคลื่อนที่เร็วขึ้น ท้องทะเลช่างกว้างใหญ่ อย่าแสวงหาเรือสำราญ แต่จงเป็นนักโต้คลื่นที่พร้อมเผชิญคลื่นลม อย่าได้พึ่งพาสิ่งใด แม้แต่แขนขา ดวงตาของตนเอง สิ่งที่พึ่งพาได้มีเพียงสิ่งเดียว นั่นคือจิตที่พร้อมยอมรับในทุกสถานการณ์

บทความโดย พศิน อินทรวงค์
ติดต่องานบรรยาย (วิทยากร) / ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
https://www.facebook.com/talktopasin2013

9 สิ่งที่ต้องทำ เพื่อเดินตามรอยเท้าพ่อ

s__4202773

“พ่อ” คือ คำที่ประชาชนชาวไทยใช้เป็นสรรพนามเรียก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยน่าจะเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่นำสรรพนามที่ใช้เรียกคนในครอบครัวมาเรียกพระมหากษัตริย์  แสดงให้เห็นได้ว่า พระองค์ท่านสำคัญและผูกพันกับชีวิตจิตใจของปวงชนชาวไทยเพียงใด  ตลอดชีวิตของพ่อ พ่อทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ลูกๆ ทุกคนมีความสุข

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ลูกๆ ทุกคน จะทำให้พ่อมีความสุขบ้าง สิ่งต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ลูกควรทำ เพื่อเดินตามรอยเท้าพ่อ

1.หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเรียน หรือวัยทำงาน ในทุกๆ เวลาของชีวิต ควรตั้งใจหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ เพราะนอกจากจะใช้ประกอบอาชีพได้แล้วความรู้ที่ได้ยังสามารถนำไปช่วยประโยชน์ส่วนรวมได้อีกด้วย

2.มุ่งมั่นในการทำงาน  

ไม่ว่าจะทำอาชีพใด เงินเดือนมากหรือน้อย งานทุกงานล้วนแต่ช่วยสร้างคุณค่าในชีวิตให้แก่ตัวผู้ปฎิบัติงาน และนอกจากนั้นยังสามารถช่วยสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมได้อีกด้วย

3.ใช้จ่ายแบบพอเพียง

ปัญหาการเงิน คือ ปัญหาที่ส่งผลโดยตรงกับความสุขในชีวิตคน การฝึกนิสัยในการใช้และเก็บออมเงินอย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง จึงถือเป็นการปิดประตูสู่ปัญหาการเงินในอนาคต

4. รักสามัคคี

การอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มากในบางทีย่อมมีทั้งเรื่องที่ถูกใจและไม่ถูกใจบ้างจึงต้องเรียนรู้ที่จะอะลุ้มอล่วย ยอมรับในความบกพร่องของผู้อื่น เช่นเดียวกับที่เราอยากให้ผู้อื่นยอมรับในความบกพร่องของตัวเรา เพราะในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

5.รับผิดชอบต่อหน้าที่

ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ ควรเกิดมาจากดำริและความคิดริเริ่มของตัวเอง ไม่ต้องรอให้ผู้อื่นตำหนิแล้วจึงอยากรับผิดชอบ

6.คำนึงถึงส่วนรวม

ฝึกที่จะทำอะไรโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะการไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่น จะส่งผลให้ทั้งตัวเราและผู้อื่นสามารถพัฒนาศักยภาพในตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับสังคม

7. เที่ยงตรง  

ในการตัดสินใจใดๆ ในชีวิตไม่ควรยึดถือความรัก ความโลภ ความกลัว ความหลง หรือความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก แต่ควรคำนึงถึงเหตุ และผลเป็นหลัก เพราะจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขที่ยั่งยืนทั้งของตนเองและผู้อื่น

8.สร้างความสุข  

ความสุขในที่นี้ ไม่ต้องแสวงหาจากเงินทอง หรือ ทรัพย์สินแต่เป็นความสุขที่สร้างขึ้นมาจากการทำเพื่อตนเองและทำเพื่อผู้อื่น

9.ซื่อสัตย์

ข้อสุดท้ายนี้ คือ พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการใช้ชีวิต หากพื้นฐานเรื่องความซื่อสัตย์แข็งแรงแล้ว ความสุขและความสำเร็จในเรื่องอื่นๆ ย่อมตามมาภายหลัง

ทั้ง 9 สิ่งนี้ คือสิ่งที่พ่อได้เคยสอนไว้  พ่อสอนจากการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและ ทุกสิ่งที่พ่อสอนมีเอกลักษณ์ที่เหมือนกันอยู่ 1 อย่าง นั่นคือ นอกจากสิ่งที่สอนให้ทำจะเกิดผลดีกับผู้ปฎิบัติตามแล้วยังเกิดผลดีกับสังคมโดยรวมอีกด้วย  นี่คือ “ประโยชน์สุข” ที่พ่อคงต้องการทิ้งเป็นมรดกไว้เพื่อให้ลูกๆ ทุกคนลุกขึ้นมาสานต่อ เพื่อความสุขของ “พ่อ” ความสุขของ “ลูกๆ” และความสุขของ “บ้าน” หลังนี้

 

เรียบเรียงโดย 

จิตเกษม น้อยไร่ภูมิ  

ที่มาข้อมูล  : จากกระแสพระราชดำรัสใน Appication “สุขที่พ่อสอน”

 

๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก (ตอนที่ ๑)

1

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ตลอด ๗๐ ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ มีมากมายนับไม่ถ้วน ทุกพระราชดำรัส ทุกถ้อยคำ ทุกประโยค ล้วนทำได้จริง ทำได้เลย และทำแล้วดีต่อชีวิต  เป็นประโยชน์ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเอง หากทำได้ ฉันถือว่าเป็นมงคลหนึ่งที่พระองค์พระราชทานให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพียงอยากให้สังคมไทยอุดมไปด้วยคนที่คิดดี ทำดี นั่นย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ

ฉันอยากจะยกตัวอย่างพระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานให้ในโอกาสต่างๆ และขอขยายความในสิ่งที่พระองค์ตรัส ตามความเข้าใจที่อาจไม่แตกฉานนักของฉันเอง เพียงหวังให้เราทุกคน ซึมซับ รับรู้ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ

๙ พระบรมราโชวาทที่ฉันยกมานี้ ถือว่าเป็นหลักคิดที่ดีงามในการนำไปใช้ในการทำงาน ฉันเชื่อแน่ว่า…ไม่ว่าเป็นนายจ้าง หรือลูกจ้าง ทุกข้อ หากนำไปปฏิบัติใช้ ก็เกิดผลดีกับชีวิต และสร้างความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพการงานได้อย่างมั่นคง วันนี้ฉันจะขอยกพระบรมราโชวาทในเรื่องของ “ความดี” มากล่าวถึงก่อนเป็นอันดับแรก

1.คนดี

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)

เรารู้ว่าสังคมเราทุกวันนี้ ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน

แต่องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ก็ต้องอาศัยคนดี มีคุณธรรม ไม่มีองค์กรใด เจริญเติบโตได้ หากนายจ้างมีเพียงอำนาจ แต่ขาดคุณธรรม ในฐานะลูกจ้างก็เช่นกัน การปรับเปลี่ยน เลื่อนตำแหน่ง ต่อให้เรามองว่าในระบบงานของเรายังคงมีเรื่องของเส้นสายมาเกี่ยวข้อง เรื่องของการ “เลียแข้งเลียขา”

จงศรัทธาในความดี ไม่มีใครเติบโต และประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างมั่นคง ด้วยการเหยียบหัวผู้อื่นเพื่อไปยืนอยู่บนที่สูง ความสำเร็จในองค์กร ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว และไม่สามารถรักษาไว้ได้ด้วยอำนาจ ความมั่นคงในอาชีพการงาน…การยึดมั่นในความดีต่างหาก ที่จะเป็นเหมือนเสาเข็มปักลงไปให้แข็งแรงทนทาน เราอาจต้องพิสูจน์ความดีกันเกือบทั้งชีวิต

ในขณะที่บางคนก้าวไปยังปลายทางได้เลยด้วยแรงผลักดันจากพรรคพวก แต่จงเชื่อเถอะว่า…ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้นาน คุณธรรมความดีนั้นยั่งยืนกว่า ฉันมิได้เชื่อที่ผลกรรมอย่างเดียว แต่ฉันเชื่อว่า…ทุกองค์กรล้วนต้องการคนเก่ง คนมีความสามารถ คนฉลาด ต่อให้ก้าวมาด้วยวิธีใด ผลประกอบการ ผลงานก็คือตัวกำหนดทิศทาง หรือต่อให้ผลงานโดดเด่น สร้างความสำเร็จให้องค์กรเพียงใด

สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ “การสร้างพลังความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน” นายจ้างต้องทำให้ลูกจ้างรักและศรัทธา การทำงานเป็นทีม ก็ต้องทำให้เพื่อนร่วมทีมเชื่อ…ในความสามารถ และพร้อมจะลุยไปด้วยกัน หรือแม้จะเป็นลูกจ้างด้วยกัน การมีคุณธรรมความดีในหัวใจ สิ่งที่เราปฏิบัติกับผู้อื่น ปฏิบัติกับองค์กร ก็จะนำพาแต่สิ่งดีๆ มาสู่เรา ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ผลตอบแทนมิได้มีเพียงแค่ “เงินเดือน” “ค่าจ้าง” แต่มันคือ “ความรักในงานที่ทำ ความสุขในงานที่ทำ รอยยิ้มที่มีต่อกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และการมีหัวหน้าที่ดีมีคุณธรรม” 

มองง่ายๆ เลยว่า “หากเราอยากให้หัวหน้างานเราเป็นแบบใด ก็จงทำตัวให้เป็นแบบนั้น”

อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ…การเลือก หรือส่งเสริมให้คนดีๆ ได้มีบทบาทในการแสดงความสามารถในด้านที่เขาถนัด และเปิดโอกาสให้คนดี เข้ามามีบทบาทในการควบคุมคนไม่ดี หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คนเก่งน่ะหายากก็จริง แต่คนดีหายากยิ่งกว่า” ต่อให้คนเก่ง เก่งกว่า ก็ไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้

หากไม่สามารถสร้างแรงศรัทธา พูดง่ายๆ หากไม่สามารถทำให้ “ลูกน้องยอมตายถวายชีวิต เพื่อนายจ้าง” ได้ ความสำเร็จก็คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะทุกองค์กรล้วนต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งฉันคงไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ “การเห็นแก่สินจ้างรางวัล” บางคนรู้ แยกแยะได้ว่าใครดี ใครไม่ดี โดยเฉพาะคนที่ให้สินจ้างรางวัลเพื่อผลักดันตัวเองไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า มีไม่น้อยที่ได้รับการสนับสนุน มิใช่มาจากคำว่า “ศรัทธา” แต่มาจากคำว่า “ค่าตอบแทน” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” ดังพระบรมราโชวาทของในหลวง ตรงพระดำรัสที่ว่า “ควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล พระองค์มองผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว  การยกย่อง เชิดชูคนไม่ดี ให้เข้ามามีอำนาจ บทบาทในองค์กร เพียงเพราะได้รับ “ค่าตอบแทน” พวกเขาหารู้ไม่ว่า…พวกเขากำลังนำพาความเดือดร้อนมิใช่เกิดกับองค์กรรวม แต่ความเดือดร้อนจะเกิดกับเราทุกคน “อำนาจที่ได้มาด้วยการแลกด้วยเงิน”

คุณค่าของเราทุกคนก็จะถูกตีราคาด้วยเงินเช่นกัน เราน่าจะนึกออกได้ว่า “หากเราทำงานกับนายจ้าง หรือหัวหน้า ที่ใช้เพียงอำนาจเงิน  โดยไร้ซึ่งคุณธรรม เราต้องเจอกับอะไรบ้าง?”  แล้วเราจะโทษใคร ในเมื่อเราเองที่เป็นคนเลือกเขาเหล่านั้น

นี่ฉันกำลังกล่าวถึงเรื่องการทำงานนะ แต่ดูเหมือนเส้นทางกำลังจะหันไปทางการเมือง เอาเป็นว่า…จงใช้สติ และสำนึกแห่งความดีงาม ตามคำสอนของพ่อ เลือก…คนที่ต้องมาทำงานกับเรา คนที่มาดูแลเรา คนที่เราจะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน คนที่จะอดทน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเรา คนที่เราจะยิ้มให้กันทุกวันในที่ทำงาน เพราะความสุข ความสำเร็จในชีวิตการทำงานของเรา มิได้หมายถึง “เราได้ทำงานกับคนดี”

แต่หมายถึง “เราได้เพิ่มกัลยาณมิตรเข้ามาในชีวิต” กัลยาณมิตรที่รายล้อมรอบตัวเรา เมื่อเราก้าวเท้าออกจากบ้าน ทีนี้…เรารู้หรือยังว่า…บุคคลเหล่านี้สำคัญแค่ไหนกับชีวิตเรา?  เพราะนอกจากเวลาที่เราทุ่มเทให้กับครอบครัวแล้ว พวกเขาเหล่านี้…คือเวลาที่เหลือเกือบทั้งหมดของชีวิตเรา เวลาของการทำงาน!

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า…พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างเดียว แต่สิ่งที่พระองค์ห่วงใยมากกว่านั้น…คือเราทุกคนในชาติ!

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวน และ Learning Hub Thailand

(ติดตาม  “๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก” ตอนที่ ๒ ตามลำดับถัดไป)

๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก (ตอนที่ ๒)

1

พระบรมราโชวาทในตอนที่ ๒ นี้ฉันขอยก ๓ พระบรมราโชวาทที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเราเอง

1. การทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข

“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)

ฉันยังคงเชื่ออยู่เสมอว่า “มนุษย์สามารถทำได้ทุกอย่างที่อยากทำ หากมีความตั้งใจจริง” ในชีวิตการทำงาน ต่อให้เป็นงานอันเป็นที่รัก ก็ย่อมต้องเจออุปสรรค เจอปัญหา และเจอกับภาวะฝืน เพราะไม่ว่างานอันใด ไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยง่ายดาย มีทั้งอุปสรรคที่คาดไม่ถึง

อุปสรรคที่มาจากเงื่อนไขของเราเอง หรืออุปสรรคที่เกิดจากบุคคลรอบข้างและส่งผลหรือมีอิทธิพลกับงานของเรา พระบรมราโชวาทนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเล็งเห็นถึงสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ และต้องเกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน พระองค์ท่านอยากให้เราเริ่มป้องกัน เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการ “เลิกตั้งข้อแม้ และลดเงื่อนไข”

เพียงเท่านี้ก็สามารถลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อันใด ต่อให้เราต้องเจอกับงานที่ไม่เป็นไปดังที่เราตั้งใจ เราก็จะสามารถทำและผ่านมันไปได้ด้วยใจที่ยอมรับ ไม่ฝืน ไม่อึดอัด เพราะเราไม่ได้สร้างเงื่อนไขใดๆ ไว้ตั้งแต่แรก

และจงเชื่ออยู่เสมอว่า… “คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ” ต่อให้เราไม่ได้สวมบทบาทของนายจ้าง เราเป็นเพียงแค่ลูกจ้าง ยิ่งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราอาจจำเป็นต้องทำงานหลายอย่างที่เรารู้สึกว่า “ไม่ใช่หน้าที่” “เกินหน้าที่” ของเรา ก็จงตระหนักไว้เสมอว่า “ไม่ว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร ก็จงทำให้เต็มความสามารถ

ต่อให้เป็นงานที่เราไม่เคยมีประสบการณ์หรือไม่เคยทำมาก่อน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราทำไม่ได้ เพียงแค่เรายังไม่เคยทำ” หลายอย่างในชีวิตฉัน เข้ามาพัฒนางานเขียนของฉันให้เติบโตขึ้น หนึ่งในนั้นคือสภาวะ “ฝืน” สภาวะ “เรียนรู้” จากสิ่งที่เคยบอกว่า “ไม่ชอบ” “ไม่เคยทำ”

อย่าด่วนสรุปว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เรา “ไม่ชอบ” หากเรายังไม่เคยทำสิ่งนั้นมาก่อนเลย ทุกการเรียนรู้มีการเติบโต ฉันเชื่อว่า…พระองค์ทรงอยากให้เราทุกคนเรียนรู้ พัฒนางานตัวเอง มิใช่มาจาก “ความชอบ” เพียงอย่างเดียว แต่ “ความจำเป็น” ก็สร้างการเรียนรู้ และพัฒนาได้เช่นกัน

2.การตั้งมั่นในความเพียร

“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้น คือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน

ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”

(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)

ตามความเข้าใจของฉัน “ความเพียร” ในความหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์ได้กำหนดความเพียรไว้ 2 ประการคือ

1. “ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่” หากมองในแง่ของการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฉันขอเรียกว่า “เป็นหูเป็นตา” คือ การดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์ และร่วมกันตั้งมั่นอยู่ในความดีงามและศีลธรรม ช่วยกันสอดส่องดูแล ให้องค์กรมีความก้าวหน้าอย่างขาวสะอาด ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

ไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล ร่วมมือกันผลักดันให้งานเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หากมีใครหรือมีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้อง เหมาะสม ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหา และกำจัดคนพาลอย่าให้เข้ามามีบทบาทในองค์กร รวมถึงการไม่ปล่อยให้คนพาลเข้ามามีอิทธิพลในองค์กรอีก

2. “ความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้บังเกิดขึ้น และระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป” นอกจากการเป็นหูเป็นตาให้องค์กรแล้ว ก็ต้องมีความตั้งมั่นที่จะประพฤติตนเป็นคนดี มีความเพียร ความตั้งใจในการทำงาน อดทน มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรค หลายครั้งในชีวิตการทำงาน

ปัญหาบางอย่างอาจแก้ไขง่ายดายถ้าเพียงเราละเลยคำว่า “ศีลธรรม ความดีงาม” แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น ไม่สามารถสร้างความสำเร็จและความสุขที่ยั่งยืนให้แก่เราได้ หากมันจะยากขึ้น หากมันจะต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ ก็จงเชื่อมั่นใน “คุณธรรม” ว่าสุดท้ายแล้ว ความดีงามจะทำให้เราผ่านทุกอุปสรรคไปได้ “ช้า” แต่ “ยั่งยืน”

และที่สำคัญ! ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะสร้างความภาคภูมิใจ มิใช่แค่ตัวเราเอง แต่ยังรวมไปถึงการสร้างการยอมรับในสังคม และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่วงศ์ตระกูลของเราเช่นกัน

3. การแก้ปัญหาด้วยปัญญา

“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์

การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”

(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539)

ในทุกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ล้วนแฝงไปด้วยหลักธรรมคำสั่งสอน ต่อให้พระองค์ตรัสถึงสติปัญญา ก็ยังคงเป็นสติปัญญาที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้สติ มิใช่การใช้เฉพาะแค่ “ปัญญา” “สติปัญญา” มิใช่แค่ความฉลาด หลักแหลมในการแก้ปัญหาอย่างเดียว

ไม่ใช่การแก้เฉพาะโจทย์ปัญหา แต่เป็นการตระหนักย้อนไปยังเหตุ เพื่อนำมาสู่ผล หาที่มา และมองไปข้างหน้าถึงผลที่จะได้รับ เป็นการคิดรอบด้าน คิดเป็นกระบวนการ ซึ่งนั่นย่อมนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดปัญหา มิใช่การรอให้ “ปัญหา” เกิดและคอยแก้เพียงอย่างเดียว เป็น “การใช้สติปัญญา” ตั้งแต่เริ่มต้น

มีการดำรงสติรู้ตัวอยู่เสมอในทุกขณะของการทำงาน เพื่อดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท  และเตรียมรับมือกับปัญหาด้วยสติปัญญา ที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เมื่อมีศีลธรรมเป็นตัวตั้ง ความยุติธรรมและสติปัญญาเป็นตัวตาม ปัญหาต่างๆ ก็จะถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง แก้ได้ที่ต้นเหตุ มิใช่แก้ที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ หมดไป ไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

ทั้ง ๓ พระบรมราโชวาทที่ฉันนำมาขยายความ หากเราน้อมนำมาใช้ในการทำงาน ทุกๆ อาชีพ ทุกๆ บทบาท ตำแหน่ง นอกจากจะสร้างความสำเร็จให้เกิดกับตัวเองแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร นำไปสู่การพัฒนา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ฉันคิดว่าพระองค์ก็คงอยากจะตรัสว่า “อย่าเกียจคร้าน มีงานก็ทำไป ขอเพียงขยัน ตั้งใจ อดทน และจงใช้ทั้งสติและปัญญาในการแก้ไขปัญหา แล้วชีวิตเราทุกคนก็จะเดินไปข้างหน้า นำพาประเทศเราให้อยู่รอดปลอดภัย”

แค่เราทุกคนทำได้ ไม่ต้องรอเป็นคนสำคัญระดับชาติ เราทำ ทุกคนทำ ประชาชนคนไทยทำ ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง สำหรับในหลวง…ฉันเชื่อว่า…เราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย…คือคนสำคัญของพระองค์!

ในฐานะคนสำคัญของพระราชา…เราควรทำสิ่งใด? เราน่าจะรู้ดี!

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวน และ Learning Hub Thailand

 

10 หลักคิด เกี่ยวกับความพยายามและความสำเร็จ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1-3

1. ความพยายามคือหัวใจของความสำเร็จ 

คือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แต่ละคน มีชีวิตที่แตกต่างกัน 

2.ความพยายาม คือความจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ถ้าจดจ่อได้เป็นระยะเวลานาน เป็นเดือน เป็นปี นั่นเรียกว่าความพยายาม ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ทำแล้วกัดไม่ปล่อย ไม่มีถอยไม่มีเลิก ดังนั้น อีกชื่อหนึ่งของความพยายามก็คือ “สมาธิ” ความพยายามและสมาธิคือสิ่งเดียวกัน โดยสมาธิคือเหตุที่ทำให้เกิดความพยายาม 

3.ถ้าสมาธิดี ความพยายามจะสูง ถ้าสมาธิต่ำ ความพยายามจะน้อย 

โอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต ขึ้นอยู่กับปริมาณของความพยายามหรือสมาธิ 

4.ความพยายามสร้างได้

เมื่อความพยายามคือสมาธิ นั่นย่อมหมายความว่า ความพยายามนั้นเป็นนามธรรมที่สร้างได้ วิธีสร้างความพยายามมีสองวิธี หนึ่ง รวบรวมกำลังใจแล้วลงมือทำ

วิธีนี้มักได้ผลกับคนที่มีสมาธิดีเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ค่อยได้ผลกับคนที่พื้นฐานสมาธิต่ำ อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความพยายามได้คือ ลงมือฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิจะช่วยให้คนเกียจคร้านเป็นคนมีความพยายามขึ้นมาได้

5.ความพยายามไม่ใช่สิ่งคงที่

บางวันเพิ่ม บางวันลด หมายความว่าในคนๆ หนึ่ง ย่อมมีทั้งช่วงเวลาที่มีความพยายามสูง และช่วงเวลาที่มีความพยายามต่ำ วิธีรักษาความพยายามเอาไว้ คือฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เพราะสมาธิคือเหตุที่ทำให้จิตใจตั้งมั่น และจิตใจตั้งมั่น ทำให้เกิดความพยายาม 

6. ถ้าคุณมีความพยายามแล้ว ความเฉลียวฉลาดย่อมตามมา

ไม่รู้สิ่งใด ก็จะรู้ได้ ทำสิ่งใดไม่ได้ ก็จะทำได้ ความพยายามจึงมีคุณค่ากว่าความเฉลียวฉลาด เพราะผู้ที่มีความพยายามแม้เป็นคนโง่เขล่าในช่วงแรก ก็จะโง่อยู่ไม่นาน ความพยายามจะผลักดันให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นผู้รอบรู้ได้อยู่ดี ดังนั้น คนโง่จึงไม่มีจริง แต่คนไม่พยายามนั่นมีอยู่จริง!!!

7.ความพยายามก็มีข้อเสีย

ความพยายามมีข้อดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ความพยายามก็มีข้อเสียอยู่ เมื่อใครคนหนึ่งพยายามกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากๆ จิตจะเกิดการยึดติด ทำให้เกิดความทุกข์เพราะสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้ ความพยายามจึงควรมีสติกำกับ สตินี้เองจะเป็นตัวปรับให้ความพยายามกลับมาสู่จุดสมดุล 

8.ผู้มีความพยายามสูง แต่สติต่ำ จะพัฒนาตนเองไปเป็นทาสกิเลส

คือยิ่งพยายามเท่าไหร่ สำเร็จเท่าไหร่ ยึดเป็นคนยึดในอัตตาตัวตนมากเท่านั้น และอัตตาตัวตนนี้เองที่เป็นบ่อเกิดและความชั่ว และการเบียดเบียนผู้อื่น ตรงนี้แก้ได้ด้วยการพัฒนาสติขึ้นมากำกับ ให้สติอยู่เหนือความพยายาม

อย่าให้ความพยายามอยู่เหนือสติ ถ้าทำได้อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นผู้มีทั้งความสำเร็จทางโลก และทางธรรมไปพร้อมกัน

9.ความเมตตา ความพยายาม และสติ สามสิ่งนี้ต้องมาพร้อมกันเสมอ

จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้เด็ดขาด เมตตาทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ผู้มีความดี ความพยายามทำให้เราสำเร็จ สติทำให้เราดำรงไว้ซึ่งความดีและความสำเร็จ เมื่อเรามีทั้งความดีและความสำเร็จ เราย่อมกลายเป็นผู้มีความสุขไปโดยปริยาย

10.ทุกความพยายาม อาจไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จ จะต้องมีความพยายามเป็นส่วนประกอบ 

อย่าถามหาความสำเร็จใดๆในอนาคต แต่จงถามหาความพยายาม และทำให้มันปรากฏในทันที ความเพียรนี่เองที่จะทำให้เราทั้งหลายอยู่กับปัจจุบันได้ เป็นฉันทะ มิใช่ตัณหา เป็นความจริง มิใช่ความฝัน 

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น เพราะความพยายามคือตัวตนของความสำเร็จ “จงพยายามให้เกิดความพยายาม” แล้วความพยายามจะทำให้ท่านสมปรารถนาทุกประการ 

บทความโดย

พศิน อินทรวงค์ https://www.facebook.com/talktopasin2013 

 

5 ขั้นตอน ทลายกำแพงในตัวคุณ

breaking-through-the-wall

Comfort Zone เป็นขอบเขตที่คนเรากำหนดขึ้น คนส่วนใหญ่มักปฏิเสธที่จะก้าวออกมาจากพื้นที่แห่งนี้เพราะเราจะรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัยแต่คุณรู้หรือไม่ว่าการที่เราอยู่ในที่ที่ปลอดภัยนานๆ จะทำให้เราเกิดความเคยชิน ย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่หรือไม่เกิดการพัฒนานั่นเอง 

การก้าวออกมาจากที่ที่เราคุ้นเคยอาจดูเป็นเรื่องที่เสี่ยง แต่การหยุดนิ่งโดยไม่ทำอะไรเลยเป็นเรื่องที่อันตรายมากกว่า ดังนั้นหากชีวิตของคุณมีแต่ความซ้ำซากจำเจ เช่น ทำงานในที่เดิมๆ สังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมเป็นเวลานานนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าคุณกำลังตกอยู่ในหลุมพรางของComfort Zone ซึ่งเป็นกำแพงที่คุณสร้างขึ้นมา  

นีลโดนัลด์วอล์ช กล่าวไว้ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อเราทลายกำแพงของตัวเอง” ขอแสดงความยินดีด้วยหากคุณกำลังพยายามทลายกำแพงนี้

แต่หากคุณไม่รู้วิธีที่จะก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว บทความนี้ช่วยให้คุณทลายกำแพงที่ปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าด้วย 5 ขั้นตอนต่อไปนี้  

1) อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ 

จิม รอนกล่าวว่า “คุณจะเป็นค่าเฉลี่ยของคนจำนวน 5 คนที่คุณใช้เวลาด้วย” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่รายล้อมรอบตัวคุณมีอิทธิพลอย่างมาก

ผู้คนเหล่านั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิต นิสัย ทัศนคติ และมุมมองของคุณ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคบเพื่อนที่ชอบออกกำลังกาย พวกเขาก็จะชวนคุณไปร่วมออกกำลังกายด้วย  

เมื่อคุณทราบเช่นนี้แล้ว จงใช้เวลาอยู่กับคนที่จะทำให้ชีวิตของคุณเจริญก้าวหน้า เพราะพวกเขาจะเป็นแรงผลักดันให้คุณทำในสิ่งต่างๆได้สำเร็จ คุณอาจเข้าร่วมสมาคมหรือชมรมที่คุณสนใจนอกจากนี้

ในปัจจุบันมีเครือข่ายออนไลน์ที่คุณสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เช่น Linked-in หรือกรุ๊ปต่างๆใน Facebook แต่หากคุณไม่ถนัดใช้เทคโนโลยีมากนัก คุณอาจเพิ่มแรงบันดาลใจให้กับตนเอง

โดยการอ่านหนังสือประเภทชีวประวัติหรือเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต วิธีการเหล่านี้จะทำให้คุณเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น และพร้อมที่จะก้าวออกมาจากสิ่งเดิมๆ  

2) ท้าทาย และเอาชนะร่างกายของคุณ 

การท้าทายและเอาชนะร่างกายของคุณเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้คุณก้าวออกมาจากกำแพงที่คุณสร้างขึ้น การตั้งเป้าหมายกับร่างกายของคุณเอง เช่น การลดน้ำหนัก หรือการออกกำลังกาย

เป็นสิ่งง่ายๆที่คุณสามารถทำได้ และเมื่อคุณทำสำเร็จ คุณจะเกิดความมั่นใจ และสามารถนำไปต่อยอดกับความสำเร็จด้านอื่นๆในชีวิตได้  

การพิชิตเป้าหมายด้านร่างกายของตนเองสอนให้คุณมีระเบียบวินัยกับตนเอง ลดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และช่วยให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้นคุณอาจท้าทายและเอาชนะร่างกายของตนเองด้วยการออกกำลังกายมันมีประโยชน์

เพราะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา สุขภาพของคุณจะแข็งแรงและสิ่งนี้ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้คุณก้าวออกมาจากพื้นที่เขตปลอดภัยของคุณ  

3) เริ่มทีละเล็กทีละน้อย 

การก้าวออกมาจาก Comfort Zone หรือการทลายกำแพงในตัวคุณไม่จำเป็นต้องรีบเร่งหรือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทางที่ดีก็คือ คุณควรปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา

ดังนั้น จงเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละเล็กทีละน้อย และค่อยๆก้าวออกมาจากความยึดติด ความซ้ำซากจำเจที่คุณสร้างขึ้น 

4) ทำความเข้าใจ และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น 

หากคุณมีความกังวลใจเรื่องภาพลักษณ์ เช่น รู้สึกกลัวว่าคนอื่นๆจะมองคุณอย่างไร คุณควรจะพูด ทำ หรือแสดงออกอย่างไรดี นั่นแสดงว่าคุณไม่เข้าใจการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริง

สิ่งที่ถูกต้อง ก็คือ ในทุกๆ บทสนทนาคุณควรสนใจว่าผู้อื่นกำลังพูดอะไร และต้องการสื่อสารสิ่งใด วิธีการนี้จะทำให้คุณเป็นนักสื่อสารที่ดี เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น 

การทำความเข้าใจกับความคิดของผู้อื่น และการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีต่อกันจะทำให้คุณสามารถก้าวออกมาจาก Comfort Zone และเข้าใกล้ความฝันของคุณมากยิ่งขึ้น

กล่าวคือ คุณจะสามารถทลายกำแพงในใจและคิดว่า “ฉันมีความคิดที่ดี และฉันต้องทำให้มันสำเร็จ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นต่อไป” ในทางกลับกัน หากคุณไม่ให้ความสำคัญกับผู้อื่น ก็จะไม่มีคนช่วยเหลือและสนับสนุนคุณ

ดังนั้น เมื่อคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณจะรู้สึกประหม่า ไม่มั่นใจ และกลัวว่าคนอื่นๆจะมองว่าคุณงี่เง่า ท้ายที่สุดคุณก็จะไม่กล้าก้าวออกมาจาก Comfort Zone  

5) เสแสร้งจนคุณกลายเป็นแบบนั้นจริงๆ 

เอมี่ คัดดี้กล่าวไว้ว่า “จงเสแสร้งจนคุณกลายเป็นแบบนั้นจริงๆ” งานวิจัยของเธอค้นพบว่าการเสแสร้งประหนึ่งว่าคุณเป็นคนแบบใดแบบหนึ่งนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนของคุณได้

การสวมบทบาทหรือแสดงละครเพียง 2 นาทีส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งเชื่อมโยงกับความมั่นใจของคนๆนั้น แม้ว่าอาจดูเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ แต่ผลการทดลองระบุว่าวิธีการนี้สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้  

หากคุณยังไม่เชื่อ ให้ลองสวมบทบาทและคิดว่าตนเองเป็นคนที่มั่นใจ สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ และก้าวออกมาจาก Comfort Zone สิ่งสำคัญก็คือ อย่าลืมว่า การแสดงเพียงเล็กน้อยก็จะให้ผลลัพธ์ที่เล็กน้อย ดังนั้น หากคุณต้องการผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และชัดเจน จงแสดงละครให้สมจริงสมจังที่สุด 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand 

Source: http://www.lifehack.org/326380/5-steps-you-should-take-you-longer-want-stay-your-comfort-zone 

วิธีก้าวข้าม ความทุกข์ใจที่เคยชิน

1

ถาม…

บางครั้งการที่เราคิดในเรื่องบางเรื่องอยู่คนเดียว คิดซ้ำไปซ้ำมา จนละอายแก่ใจที่เพ้อบ้าๆบอๆ ยิ่งไม่อยากคิดภาพก็ยิ่งโถมเข้ามา อยากจะลืมแต่มันทำไม่ได้

ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีความสุขเลย สิ่งดีๆ คงไม่หวนกลับมาอีกแล้วเข้าใจค่ะ แต่ความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นมาก็จะยังคงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ…..

ตอบ…

ไม่มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ใดที่จะอยู่กับเราตลอดไปหรอกครับ ต่อให้เราอยากจะกอดเก็บมันเอาไว้แค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้

ถึงจะทุกข์แค่ไหน แต่เรายังมีหน้าที่ที่ต้องทำ และเพื่อให้ช่วงเวลาเลวร้ายผ่านพ้นไปได้เร็วยิ่งขึ้น
ผมขอแนะนำให้คุณลองปฏิบัติห้าข้อต่อไปนี้ดูนะครับ!!!

1.ทำสิ่งที่ควรทำ

มีหน้าที่อะไร รับผิดชอบอะไรอยู่ก็ทำให้ดีที่สุด อย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้เลื่อนลอย อย่าทิ้งหน้าที่ของตนเอง ยิ่งทุกข์มากเท่าไหร่ ยิ่งต้องตั้งใจทำงานให้ดี ขยันสุดๆ พัฒนาตัวเองสุดๆ เอาจิตใจจดจ่ออยู่กับการงานของเราไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

2. พยายามทำตนให้เป็นคนดี

เมตตาให้มากๆ เห็นแก่ตัวให้น้อยๆ คิดถึงคนอื่นมากๆ คิดถึงตัวเองน้อยๆ เมื่อคิดถึงคนอื่นมาก เราจะโกรธเกลียดน้อยลง อภัยได้ง่ายขึ้น เข้าใจเหตุผลของผู้อื่นง่ายขึ้น จิตใจก็จะเบาขึ้น

3. พูดแต่สิ่งดี

อย่าพูดสิ่งทำลายความหวัง อย่าทำสิ่งที่ทำให้ชีวิตของตนหดหู่ อย่าคิดว่าตัวเองไม่มีค่า อย่าย้ำคิดย้ำทำ อย่าโทษคนอื่น อย่าโทษตัวเอง อย่าโทษฟ้าโทษดิน

แต่ให้ยอมรับว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ทำความเข้าใจ ให้อภัย และวางแผนชีวิตเพื่อจะก้าวเดินต่อไป

4. ฝึกมองด้านดีๆ ของชีวิต

เมื่อความทุกข์มาเยือน เราก็ต้องสร้างแสงสว่างให้เกิดขึ้น จงมองโลกให้มันสว่างไสว มองข้อดีของตนเอง มองข้อดีผู้อื่น พูดให้กำลังใจคนอื่น

พูดให้กำลังใจตนเอง ดีใจกับคนอื่น ใจดีกับตนเอง มองอะไรในด้านที่บวก เก็บเกี่ยวกำลังใจที่ผ่านเข้ามา และ สนุกกับชีวิต ทำสุขภาพจิตให้เบิกบานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

5.ท่องไว้เสมอ ท่องซ้ำๆ ให้ขึ้นใจ

ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สิ่งของ ชื่อเสียง หรืออำนาจ วาสนา เราเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่เกิดมา เป็นแค่คนที่อยู่บนโลกเพียงชั่วคราว อย่าไปเอาเป็นเอาตายอะไรกับชีวิตมากมาย

คนเรามีผิดได้ พลาดได้ ล้มได้ก็ลุกได้ ลุยให้เต็มที ทำให้สุดแรง แต่พอจบแล้วก็เรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งนั้นลง ทั้งเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องความรัก หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่

ทุกเรื่องราวก็ใช้หลักการเดียวกันคือ สร้างเหตุให้เต็มที่ แล้วปล่อยวางในผลลัพธ์ หมายความว่า ถึงเวลาทำก็ทำให้ถึงที่สุด เมื่อทำดีที่สุดแล้ว แม้อะไรจะเกิดขึ้น ก็ยอมรับด้วยความเข้าใจว่าเราได้ทำเต็มทีแล้ว และไม่ควรเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ความทุกข์ เสียใจ หรือความผิดหวังในชีวิตเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเหลี่ยง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าถ้าเราพยายามสร้างกำลังใจให้ตัวเอง พยายามรักษาฐานที่ตั้งของชีวิต ทำสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าชีวิตของเราจะเกิดปัญหาอะไร อุปสรรคจะยิ่งใหญ่แค่ไหน
ผมคิดว่ามันย่อมผ่านพ้นไปได้ในที่สุด

“ถ้าอยากมีชีวิตใหม่ ก็ต้องกัดฟันลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่” มันอาจไม่ง่ายนัก แต่เราก็ต้องฝืนใจทำ อย่าปล่อยให้ชีวิตจมอยู่ในมุมอับเฉานานเกินไป เพราะความสุขนั้นใกล้แค่เอื้อมมือคว้า เพียงแต่เราต้องรู้จักเปิดโอกาสให้ตัวเองบ้างเท่านั้นเอง…

บทความโดย

 “พศิน อินทรวงค์”
ติดตามผลงานหนังสือหรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

12 ขั้นตอน “ให้อภัย” คนที่คุณไม่อยากให้อภัย

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1-1

1. อย่าไปสนใจเรื่องการอโหสิกรรมมากเกินไป

ถ้ายังไม่พร้อมก็ให้ละไว้ อย่าไปย้ำคิดย้ำทำ หยุดพูดสิ่งไม่ดี หยุดทำสิ่งไม่ดี เมื่อใจยังให้อภัยไม่ได้ ก็ขอให้แขวนทุกอย่างเอาไว้ก่อน

2.ที่อโหสิกรรมไม่ได้ เพราะจิตใจยังไม่ปล่อยวาง

เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง พูดง่ายๆ ว่า ยังจับสิ่งที่ผ่านไปแล้วมาคิดปรุงแต่งซ้ำๆ อภัยวันนี้ พรุ่งนี้คิดอีกก็โกรธอีก พอโกรธแล้วนึกได้ ก็ให้อภัยแล้วก็โกรธอีก เพราะแท้จริงแล้วใจยังยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

3.ยอมรับ

ให้เรายอมรับกับใจของเราไปตามจริงว่า แท้จริงลึกๆ เราจะโกรธ ยังรู้สึกไม่ดีกับเขาอยู่ ให้รู้ว่า นี่คืออาการปกติของคนเรา ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกคนก็เป็นแบบนี้มากบ้างน้อยบ้าง เราไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว และอย่าไปถามหาเหตุผล ขอให้จำไว้ว่า เมื่อคิดจะให้อภัยใครแล้ว ก็อย่าไปถามหาเหตุผลถูกผิด

4. ทำใจสบายๆ 

 มองฟ้า มองดิน มองสิ่งต่างๆ ด้วยใจเบิกบาน ทำความเข้าใจ ตระหนักให้ชัดเจนว่า สิ่งต่างๆ ได้เป็นอดีต และมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว

5. มองเขา

มองผู้อื่นเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มองทุกคนด้วยความรัก มองว่า เขาก็มีเลือดมีเนื้อ มีเจ็บช้ำน้ำใจ ดีใจเสียใจเหมือนเรา

6. มองตัวเองว่า เราเองก็เคยทำผิดพลาดมาก่อน

เราเองก็ไม่ได้ดีไปทั้งหมด และเราก็เคยทำให้คนอื่นเสียใจเหมือนกัน

7. มองความดีของผู้ที่เราโกรธ

มองในมุมที่เป็นข้อดีของเขา มองอย่างเปิดใจ จนสามารถยอมรับ และชื่นชมในความดีของเขาได้

8. ฝึกเมตตาต่อผู้อื่น

คน สัตว์ สิ่งต่างๆ รอบตัว พยายามมองโลกนี้ด้วยใจที่อ่อนโยน อยู่กับโลกนี้ ทำกับโลกนี้เหมือนโลกนี้เป็นดอกไม้ที่บอบบางควรค่าแก่การทะนุถนอม

9. ลองทำดีกับผู้อื่น

เหมือนทำดีกับตนเอง เก็บของดีๆ ไว้ให้คนอื่นกิน ของไม่ดีเก็บไว้กินเอง เข้าร้านหนังสือ ซื้อเล่มเก่าๆ มาอ่าน เล่มดีๆ ปล่อยไว้ที่ร้านให้คนอื่นซื้อ ทำอะไรอย่าเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตนเอง แต่เก็บสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้คนอื่น

10. เมื่อเจอใครก็ตาม ลองมองหาข้อดีของเขาให้เป็นนิสัย

มองไปที่หัวใจของเขาจนเห็นความงดงามภายในใจของเขา

11. เมื่อโกรธลองฝึกรู้ตัว

ไม่จำเป็นต้องหายโกรธทันที แต่ให้รู้จักหยุดนิ่ง แล้วมองมาที่ใจตนเอง

มองให้เห็นความชั่วร้าย น่าเกลียดของตนเอง ปล่อยวาง แล้วค่อยๆ แก้ไขปรับปรุง แต่อย่าไปรู้สึกอึดอัดกับความไม่ดีของตนเอง ให้เข้าใจว่า ทุกคนมีข้อดีข้อเสีย และเรากำลังฝึกมองตนเองอยู่

โดยเฉพาะเวลาโกรธ ขอให้ตระหนักว่า เป็นเวลาที่ดีที่สุดในการมองตนเอง

12. ให้อภัยผู้อื่น

การให้อภัยเป็นการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราเอง เราคือผู้รับประโยชน์ทางตรง ส่วนคนที่เราอภัยคือผู้รับประโยชน์ทางอ้อม ในทางกลับกัน ถ้าเรากักเก็บความโกรธแค้นไว้

คนที่เสียประโยชน์คนแรกก็คือเรา เพราะเราคือผู้จุดไฟเผาบ้านแห่งความสันติภาพของตนเอง จงมองโลกอย่างผู้ตื่น มองด้วยสติปัญญาอย่ามองด้วยอัตตา เราจะเห็นความธรรมดาของตนเอง และเห็นความธรรมดาของผู้อื่น เราจะเห็นความจริงที่ว่า เรามาอยู่โลกนี้เพียงชั่วคราว และไม่ใช่ใครยิ่งใหญ่ที่ไหน

แต่เป็นแค่คนธรรมดา สุขทุกข์ของเรา ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือแตกต่างไปจากใคร แต่เป็นแค่เรื่องธรรมดา มองตนเองให้เล็กเข้าไว้ อย่าให้ความสำคัญกับตนเองมากนัก อยู่อย่างคนธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดมาบนโลก

อยู่อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนต่อโลก สุขบ้าง ทุกข์บ้างก็เข้าใจและเรียนรู้ไป แม้มีคนอื่นทำเราเสียใจ ก็ไม่แปลก โลกนี้มีคนเสียใจทุกวัน แค่บังเอิญวันนี้มันเกิดขึ้นกับเราเท่านั้นเอง

ขอให้ทำเช่นนี้ซ้ำๆ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป
เราก็จะสามารถให้อภัย คนที่เราไม่อยากอภัยได้แน่นอน!!!

บทความโดย “พศิน อินทรวงค์”
ติดต่องานบรรยาย (วิทยากร) / ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

คุณเป็นลูกแกะ หรือโจรสลัด ?

“Why join the navy if you can be a pirate” – Steve Jobs

เมื่อเห็นคำพูดนี้ คุณรู้สึกอย่างไร

สำหรับผม มันทิ่มแทงเข้ามาที่กลางหัวใจ เพราะ สตีฟ จ๊อบส์ ได้แฝงนัยยะที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการเลือก “เลือกที่จะใช้ชีวิต”

ผมนั้นเป็นทหารเรือ มาตลอด 19 ปี และใช้เวลาคิดเป็นสิบปี กว่าที่จะตัดสินใจถอดเครื่องแบบ ทิ้งความมั่นคง ออกมาเผชิญโลก ด้วยไลฟ์สไตล์อิสระแบบโจรสลัด เมื่อไม่นานมานี้…

ทุกคนที่รู้ข่าว ก็ต้องถาม ว่าคิดอะไร ถึงได้ตัดสินใจแบบนี้

ก่อนที่ผมจะตอบ ผมอยากให้คุณได้รู้จักการใช้ชีวิตของคน 2 กลุ่มที่ต่างกัน กลุ่มแรกคือ ลูกแกะ กลุ่มที่สองคือ โจรสลัด

ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีอันไหน ผิดหรือถูก ดีหรือแย่กว่ากัน เพียงแต่เป็น “วิถีการใช้ชีวิต” เท่านั้น

เรื่องราวต่อไปนี้ อาจทำให้หัวใจของบางคนสั่นไหว และบางข้อความอาจจะทิ่มเข้าไปที่กลางใจคุณ ให้ได้ทบทวนชีวิตว่า ที่ผ่านมาคุณเป็นใคร ?
=============================

ชีวิตของลูกแกะ

ชีวิตของลูกแกะ คือชีวิตที่ “ถูกเลือก” ให้ทำบางสิ่ง ไม่ให้ทำบางสิ่ง ถูกเลี้ยงให้เชื่อง ป้อนหญ้าป้อนน้ำ ถูกสอนให้คิด เชื่อในทางเดียว เพื่ออยู่ร่วมกันเป็นฝูง

โดยที่ไม่รู้ตัว ลูกแกจะถูกปลูกฝังนิสัยอยู่ 5 ประการ

1.ไม่ตั้งคำถาม เป็นผู้ตามที่ดี

ลูกแกะจะไม่ตั้งคำถามต่อทิศทางที่กำลังเดินไป (หรือถูกต้อนไป) เพราะเชื่อว่า ทำแบบคนส่วนใหญ่นั้นดีอยู่แล้ว จะปฏิเสธและโกรธเคือง คนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่

แม้ลูกแกะรู้สึกว่า สิ่งที่ผู้นำหรือคนส่วนใหญ่ทำ ไม่น่าจะถูก แต่ก็ไม่คิดจะพูดหรือแสดงออก เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหาที่จะตามมา ไม่อยากตกเป็นเป้าสายตา จึงเป็นผู้ตามที่ดี ลอยตามน้ำต่อไป

2.สนใจว่าคนอื่นคิดยังไง

ไม่ว่าจะทำอะไร โดยเฉพาะเรื่องใหม่ๆ ลูกแกะจะกังวลกับสายตาของคนอื่น เค้าจะคิดยังไงกับเรา จะมีใครว่าอะไรเรามั้ย สิ่งที่เราทำนั้นสมควรรึเปล่า

ลูกแกะยกเลิกความตั้งใจ หยุดยั้งสิ่งที่อยากทำ เพียงเพราะคำพูดของคนๆเดียว ที่ไม่เห็นด้วย โดยไม่ถามใจตัวเองเลย ว่าคิดอย่างไร และมักจะมาเสียดายทีหลัง

3.ใฝ่หาการยอมรับ

ลูกแกะจะรู้สึกอยู่ลึกๆว่าตัวเองยังไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ จึงทำหลายสิ่งเพื่อชดเชยความรู้สึกนั้น ไม่ว่าจะเป็น การซื้อของแบรนด์เนม ใส่เสื้อผ้าราคาแพง ใช้จ่ายเกินตัว ทำหลายๆสิ่งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม

ลูกแกะทำทุกอย่างเพื่อคำชื่นชม แม้ว่าสิ่งนั้นตัวเองไม่อยากทำก็ไม่กล้าปฏิเสธ เป็นเพราะกลัวอีกฝ่ายจะไม่รัก ไม่ยอมรับในตนเอง และมักจะบ่นว่า ตัวเองถูกเอาเปรียบอยู่เป็นประจำ

4.คุ้นชินกับความมั่นคง

ลูกแกะอยู่มานานก็เริ่มชินกับความมั่นคงปลอดภัย ในระบบที่คนเลี้ยงสร้างมา เมื่อมีหญ้ากินอิ่มทุกมื้อ จึงไม่คิดจะเดินออกนอกคอกที่ล้อมไว้ แม้หญ้าที่กินอยู่จะเริ่มมีน้อยและแห้งกรอบก็ตาม

แม้ลูกแกะได้ยินว่า มีทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มอยู่นอกคอกนี้ แต่ไม่มีใครสามารถการันตีความปลอดภัย และไม่แน่ใจด้วยว่าจะหาเจอ จึงบอกกับตัวเองว่า อยู่ที่เดิมนั่นแหละก็ดีแล้ว มีกินก็ดีกว่าไม่มี จะดิ้นรนไปทำไม

5.ใช้ชีวิตตามความต้องการคนอื่น

ลูกแกะไม่คิดว่า ชีวิตต้องมีเป้าหมายอะไร ใช้ชีวิตไปให้รอด มีกินมีใช้ก็ดีแล้ว จึงใช้ชีวิตแต่ละวัน ไปตามความต้องการของคนอื่น มากกว่าจะถามตัวเองว่า ชีวิตนี้ต้องการอะไร

หลายครั้งลูกแกะคิดเสียดายเวลาที่ผ่านไปแต่ละเดือน แต่ละปี รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไร้คุณค่า ไร้ความหมาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรให้ดีไปกว่านี้
====================

ชีวิตที่ผ่านมาของผม ก็คล้ายๆกับลูกแกะตัวนี้

ผมเกิดมาในตระกูลของข้าราชการ และถูกปลูกฝังว่า การทำงานราชการนั้นดีที่สุด มั่นคง ปลอดภัย มีสวัสดิการดี แม้จะไม่รวย แต่ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรี

มีเรื่องหนึ่งที่จำฝังใจ ตอนวันเกิดอายุ 10 ขวบ อยากได้เครื่องวีดีโอเกม ตอนนั้นราคา 1,500 บาท แต่พ่อแม่ไม่ซื้อให้ บอกว่ามันแพงเกินไป

บังเอิญวันนั้น มีเพื่อนพ่อไปทานข้าวด้วยกัน เค้าได้ยินเข้า เลยจูงมือผมพาเดินไปซื้อ ให้เป็นของขวัญวันเกิด

ผมรับมาอย่างงงๆ ว่าทำไมคนไม่รู้จัก มาซื้อของให้เราง่ายๆ

แล้วก็มารู้ทีหลังว่า ลุงเค้าเป็นนักธุรกิจ มีเงินมากมาย

ตั้งแต่วันนั้น ผมตั้งใจกับตัวเองว่า เมื่อโตขึ้นจะเป็นนักธุรกิจให้ได้ เพราะผมอยากจะมีเงินเยอะๆ จะได้ทำแบบลุง

เนื่องจากผมเป็นลูกคนโต หลานคนโตในตระกูล จึงเป็นที่คาดหวังมาก แม้ตัวผมเองรู้ว่าตัวเองชอบอะไรมาตั้งแต่เด็ก พยายามบอกว่าผมอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แต่สุดท้ายก็ไม่อาจทัดทานกับความต้องการผู้ใหญ่

บังเอิญผมเรียนดี จึงสอบติดโรงเรียนเตรียมทหารได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี

แม้ว่าผมต้องเจอปัญหา เผชิญความยากลำบาก พบสิ่งท้าทายมากมาย ระหว่างที่ผมกำลังศึกษา แต่ผมไม่เคยบ่นให้ใครฟัง เพราะผมไม่อยากให้พวกเค้าผิดหวังในตัวผม

ผมตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนจบออกมารับราชการในระบบ เป็นที่ชื่นชมจากทุกคนในบ้าน ผมภูมิใจในตัวเอง และคิดว่าจะตั้งใจทำงานให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด

ผมลืมเลือนความฝันในวัยเด็กไป ใช้ชีวิตเป็นลูกแกะในกรอบระเบียบที่วางไว้ โดยที่ไม่เคยฟังความรู้สึกลึกๆของตัวเองอีกเลย

==========================

ชีวิตของโจรสลัด

1.ตั้งคำถามกับสิ่งเดิมๆ มองหาสิ่งที่ดีกว่า

โจรสลัดจะไม่พอใจอะไรง่ายๆ มักจะถามว่ามีหนทาง หรือวิธีอื่น ที่จะทำให้ดีกว่านี้ได้อีกไหม เค้าไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เมื่อมีความรู้สึกว่า น่าจะทำได้ดีกว่าก็จะทำ เค้ากล้าคิด กล้าแตกแถว และกล้าแตกต่าง

ไม่เพียงตั้งคำถาม แต่เค้าลงมือลงแรง เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากหรือผลตอบแทน แค่รู้สึกว่า อยากสร้างทางที่ดีกว่า ด้วยสองมือของตัวเอง

2.เป็นตัวของตัวเอง

โจรสลัด ทำสิ่งต่างๆจากความต้องการของตัวเอง ไม่ต้องถามความคิดคนรอบข้าง เค้ารู้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร

แม้รู้ว่ามีหลายคนไม่เห็นด้วย มีสายตาฝูงแกะที่จับจ้องอยู่ แต่เค้าก็รู้ดีว่า ความคิดของคนเหล่านั้นไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตของเค้า แต่การกระทำที่ทำลงไปต่างหาก ที่จะส่งผลต่อชีวิตของเค้า

3.เชื่อมั่นและรักตัวเอง

โจรสลัด กล้าปฏิเสธ และยืนยันในความต้องการของตัวเอง เพราะเค้ารัก และให้ความสำคัญกับตัวเอง ใครจะว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ แต่เค้ามองว่า หากเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี จะไปช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร

ความเชื่อมั่นลึกๆที่มีมาก อาจดูเหมือนมีอีโก้สูง แต่โจรสลัดก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือต่อต้านกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเค้า เค้าให้ความเท่าเทียมและยอมรับในความแตกต่าง

4.กล้าเสี่ยง ไม่กลัวผิดพลาด

โจรสลัดรู้สึกว่า ความมั่นคงปลอดภัย และอะไรที่คาดการณ์ได้ มั่นน่าเบื่อสุดๆ ไม่เหลือความท้าทายอะไรอีก เค้ากล้าเสี่ยง ไม่กลัวผิดพลาด ไม่ใช่บ้าบิ่น แต่รู้ว่า ตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน

สิ่งที่โจรสลัดกลัว คือ กลัวเสียใจทีหลัง ที่ไม่ได้ทำ มากกว่ากลัวล้มเหลว เมื่อได้ลองทำแล้วพลาดก็ถือเป็นการเรียนรู้ และมันจะนำไปต่อยอดสู่สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าในที่สุด

5.ใช้ชีวิตตามเส้นทางของตัวเอง

โจรสลัดรู้เป้าหมายในชีวิตของตนเองอย่างชัดเจน เค้าจะเป็นผู้สร้างตำนาน ค้นหาเส้นทางใหม่ๆ มีความเป็นกบฎ ไม่อยากเดินตามทางใคร เค้าตัดสินใจที่จะเลือกใช้ชีวิตด้วยตนเอง

ไม่มีอะไรในชีวิต ที่มั่นคงแน่นอน ดังนั้นเมื่อยังหายใจอยู่ เค้ามั่นใจว่าสามารถเรียนรู้ ทำให้ดีกว่า และพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ตลอด 
====================

เงื่อนงำที่ทำให้ผม ค้นพบวิถีแห่งโจรสลัด

ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ผมสังเกตตัวเองเสมอ จนพบว่าผมไม่ใช่ลูกแกะ เพียงแต่เป็นโจรสลัด ที่ยังไม่ค้นพบตัวเอง สิ่งที่ผมสังเกตนิสัยตัวเองก็คือ

ผมมักจะคิดต่างจากเพื่อนคนอื่นๆในชั้นเรียน และถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ

ไม่ว่าจะไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มไหน ผมมักจะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่า

ผมเถียงรุ่นพี่และครู อยู่ในใจทุกครั้ง ด้วยระเบียบทำให้ผมพูดอะไรออกมาไม่ได้

ผมมักจะทำอะไรตามใจ โดยไม่ปรึกษาใคร และทำให้โดนต่อต้าน โดนต่อว่าบ่อยๆ

ผมมีเพื่อนน้อยมาก เพราะไม่ค่อยชอบทำตามใคร

ผมแอบมีกิจการเล็กๆตั้งแต่เรียนปี 1 และเปิดพอร์ตหุ้นตั้งแต่ปี 2

เพื่อนส่วนใหญ่ จบมาก็กู้เงินซื้อรถ แต่ผมกู้เงินเรียนด้านบริหารธุรกิจ ซื้อหนังสือ ไปเข้าสัมมนา ค่าเรียนทั้งหมด ก็ราวๆราคารถป้ายแดง

ไม่นานมานี้ ผมตัดสินใจลาออกแบบฉับพลัน โดยไม่บอกคนที่บ้านก่อน

แต่มาบอกทีหลังว่า ผมมาเป็นนักธุรกิจ เป็นวิทยากร เป็นโค้ชด้านการเขียน มีรายได้แต่ละเดือนไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะมากกว่าเงินเดือนเดิมประมาณ 5-8 เท่า

ผมใช้ผลลัพธ์ พิสูจน์ว่าผมไม่ได้ตัดสินใจแค่ตามอารมณ์ความรู้สึก อย่างไรก็ตามกว่าผมจะตัดสินใจลาออก ก็ใช้เวลาวางแผนและเตรียมตัวกว่า 10 ปี

ไม่มีอะไรการันตีว่าหลังจากนี้ ชีวิตผมจะร่ำรวยรุ่งโรจน์ ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และผมก็ไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้นเลย

เหตุผลเดียวที่ผมลาออก เพราะผมรู้ตัวแล้ว ว่าผมเป็นโจรสลัด ที่อยากเดินทางออกไปสู่โลกกว้าง ไปในที่ๆผมจะใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างสูงสุด
===================

ไม่สำคัญว่าที่ผ่านมาคุณเป็นใคร หรือทำอาชีพอะไรอยู่

สิ่งที่สำคัญคือ คุณเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างไร ระหว่างลูกแกะ กับโจรสลัด ?

หากคุณเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบโจรสลัด ช่วยฝากคอมเม้นท์ไว้ใต้บทความนี้ 
ถ้ามีเยอะ ผมจะเขียนบทความต่อไป ว่าทำอย่างไร คุณจะมีวิถีชีวิตแบบโจรสลัด

ผมอยากหาเพื่อน ที่จะออกไปลุยในโลกกว้างด้วยกันครับ

13339503_1098701643524708_887953190810839057_n

บทความโดย เรือรบ โค้ชนักเขียนมือโปร

ติดตามบทความย้อนหลังได้ที่เพจ เรือรบ โค้ชนักเขียนมือโปร

https://www.facebook.com/ruarob/posts/1169766423084896:0

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save