10 สิ่ง ที่คนมีความสุขทำ ก่อนนอนทุกคืน

happysleep

เมื่อคืนคุณหลับสบายมั้ยคะ ปัญหาหนึ่งของคนเมืองก็คือ หลับไม่สนิท นอนไม่เต็มอิ่ม นั่นมาจากสาเหตุอะไร

เราทุกคนเข้าใจและรู้ดีว่า “การนอนหลับ” เป็นสิ่งสำคัญ แต่ทว่า กิจกรรมที่เราทำก่อนนอนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน บางคนดูรายการโทรทัศน์ก่อนเข้านอน บางคนดื่มเบียร์กระป๋องพร้อมกับทานกับแกล้ม บางคนติดตามข่าวสารของเพื่อนๆผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นต้น กิจกรรมที่เราทำก่อนนอนเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพการนอน รวมทั้งสภาพอารมณ์ จิตใจ และความรู้สึกของเราในวันถัดไปด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า คนที่มีความสุขมักทำกิจกรรมก่อนนอนที่ทำให้ตนเองพึงพอใจ และรู้สึกผ่อนคลาย พวกเขาจะทำสิ่งที่มีความสุขและก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งตัวอย่างกิจกรรมก่อนนอนของพวกเขา คือ กิจกรรม 10 อย่าง ดังนี้

1. นั่งสมาธิ

ประโยชน์ของการนั่งสมาธิได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การนั่งสมาธิเป็นประจำก่อให้เกิดผลดีมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ช่วยรับมือกับปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้า ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

คนที่มีความสุขมักใช้เวลาก่อนนอนเพื่อนั่งสมาธิ วิธีการนี้ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อน ผ่อนคลาย และเป็นการทำให้จิตใจนิ่งและสงบก่อนนอน การนั่งสมาธิเป็นเหมือนการขจัดสิ่งไม่ดีที่ได้เจอมาทั้งวัน และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นวันใหม่อย่างมีความสุข

2. อ่านหนังสือ

คนที่มีความสุขมักอ่านหนังสือก่อนนอน พวกเขาไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูน นิตยสาร เฟสบุค หรือทวิตเตอร์ แต่พวกเขาอ่านหนังสือหรือบทความที่สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดเพื่อช่วยเป็นเชื้อเพลิงเติมไฟให้กับความคิดสร้างสรรค์และพลังของพวกเขาในวันรุ่งขึ้น สิ่งนี้ช่วยให้พวกเขาเกิดจินตนาการเชิงบวก มองโลกในแง่ดี และช่วยผลักดันชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น

การอ่านหนังสือที่ดีและมีประโยชน์จะทำให้คุณหลับไปพร้อมกับความคิดดีๆ คุณจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และตื่นขึ้นมาพร้อมความปรารถนาที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างเต็มเปี่ยม

3. วางแผนสิ่งที่จะทำในวันพรุ่งนี้

ก่อนเข้านอน คนที่มีความสุขมักจัดตารางและวางแผนสิ่งต่างๆที่เขาจะทำในวันรุ่งขึ้น กล่าวคือ เขาจะเอาความกังวลที่วนเวียนอยู่ในหัวออกมาเป็นรายการที่ต้องทำไว้ การรู้สิ่งที่จะต้องทำในวันพรุ่งนี้ทำให้เขารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย จิตใจและสมองปลอดโปร่ง ดังนั้น เขาก็จะตื่นขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่น และมีเป้าหมายในการทำสิ่งต่างๆอย่างชัดเจน

4. คิดถึงสิ่งที่ได้ทำสำเร็จในแต่ละวัน

เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวไว้ว่า “เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เราจึงจำเป็นต้องใช้มันให้เหมาะสมและคุ้มค่า” ก่อนที่เขาจะนอนในแต่ละวัน เขาถามตัวเองว่าวันนี้เขาได้ทำอะไรดีๆหรือไม่ วิธีการนี้ช่วยให้เขาทราบถึงสิ่งที่ตัวเองทำสำเร็จแล้ว และสิ่งที่ต้องพยายามทำต่อไป

คนที่มีความสุขมักใช้เวลาก่อนเข้านอนในการคิดพิจารณา และไตร่ตรองเหตุการณ์ในแต่ละวัน พวกเขาจะนึกถึงช่วงเวลาดีๆ และมองถึงความสำเร็จที่ผ่านมาในวันนั้นๆ สิ่งนี้เปรียบเสมือนแรงกระตุ้นให้พวกเขามีไฟ และคิดบวกตลอดเวลา

5.รู้สึกซาบซึ้งใจและขอบคุณสิ่งดีๆ

คนที่มีความสุขมักจะรู้สึกซาบซึ้งใจและขอบคุณในสิ่งที่ตนเองมี ก่อนเข้านอนพวกเขาจะหลับตาและคิดถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกขอบคุณในแต่ละวัน เช่น เรื่องที่เพื่อนร่วมงานขับรถมาส่งที่บ้าน เรื่องพนักงานที่บริการอาหารให้อย่างรวดเร็ว เรื่องสามีหรือภรรยาที่คอยอยู่เคียงข้างและสนับสนุนกันตลอดมา เป็นต้น การขอบคุณเป็น

ความรู้สึกดีๆที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ ทำให้คุณคิดบวก และเมื่อคุณนอนหลับไปพร้อมๆกับความรู้สึกดีๆ ก็จะทำให้คุณตื่นขึ้นมาพร้อมๆกับความรู้สึกดีๆเช่นกัน

6. พักผ่อนหย่อนใจ

คนที่มีความสุขแต่ละคนมีวิธีการพักผ่อน และผ่อนคลายตนเองที่แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบอาบน้ำและตีฟองนุ่มๆ บางคนชอบดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆก่อนนอน บางคนทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ เช่น วาดรูป หรือถัก นิตติ้ง เป็นต้น วิธีการพักผ่อนหย่อนใจเหล่านี้ ทำให้พวกเขารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น

7. ดื่มหรือทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

คนที่มีความสุขจะรู้สึกดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนเข้านอนคุณไม่ควรรับประทานอาหารบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อการนอนของคุณ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ คุณควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ทำให้นอนหลับได้ยาก ในทางกลับกัน คุณควรรับประทานอาหารจำพวกกล้วย เผือก ขนมปังโฮลวีต และนม เพราะอาหารเหล่านี้ย่อยง่าย และช่วยให้คุณผ่อนคลาย และนอนหลับสบายขึ้น

8. ออกกำลังเบาๆ

การวิ่ง หรือการยกน้ำหนักก่อนนอนไม่ใช่วิธีการออกกำลังกายที่ดีนัก เพราะมันทำให้อุณหภูมิในร่างกายคุณสูงขึ้น ทำให้รู้สึกตื่นตัว และนอนหลับได้ยาก หากคุณต้องการออกกำลังกายก่อนนอน ลองเปลี่ยนมาออกกำลังกายเบาๆ อย่างเช่น การยืดกล้ามเนื้อ หรือการเล่นโยคะแทน

9. ตัดเทคโนโลยีก่อนนอน

บางครั้งเราทำหลายสิ่งที่ไม่จำเป็นก่อนเข้านอน เช่น เช็คอีเมลล์ อ่านข่าว ติดตามสิ่งที่เพื่อนๆโพสต์ลงในอินสตราแกรมหรือเฟสบุค หรือแม้แต่การประกาศให้โลกรู้ว่าเรากำลังจะเข้านอนผ่านทางทวิตเตอร์ สิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด และทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น ก่อนเข้านอนเราจึงควรตัดเทคโนโลยีออกไป และทำสิ่งที่มีประโยชน์อื่นๆแทน

10. สร้างบรรยากาศในห้องนอน

บรรยากาศในห้องนอนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสามารถส่งผลต่อการนอนของคุณได้ คุณควรสร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ เช่น คุณอาจฟังเพลงช้าๆ หรือคุณอาจใช้น้ำมันหอมระเหยในห้องนอน เพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลาย และรู้สึกอยากพักผ่อน นอกจากนี้ ห้องนอนควรจะเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน อุณหภูมิในห้องต้องเย็นพอดี และควรปิดไฟให้มืด

แม้วันนั้นในตอนเริ่มต้น จะไม่ใช่วันที่ดีของคุณ แต่รับประกันได้ว่า ในตอนสิ้นวัน หากคุณลองใช้ 10 วิธีนี้ ก่อนเวลานอน จะทำให้คุณนอนหลับได้อย่างสุขใจอย่างแน่นอน หากมีวิธีอื่นๆที่ทำให้คุณมีความสุขก่อนนอน มาช่วยกันแชร์ต่อในคอมเม้นท์ข้างล่างนะคะ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

Source: http://www.lifehack.org/293117/10-things-happy-people-before-lying-bed-every-night

เผย 5 เคล็ดลับการปล่อยวางที่ทำได้จริง

สังคมปัจจุบันนี้ ต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันเพื่อที่จะให้ตัวเองสำเร็จและเหนือกว่าคนอื่น จนบางครั้งก็ลืมนึกถึงความสุขและใช้ชีวิตในแบบยึดติดกับความสำเร็จมากจนเกินไป

บางคนเมื่อเจอกับความล้มเหลว และความผิดพลาดต่างๆแล้ว ก็ทำใจให้ปล่อยวางกับเรื่องนั้น ไม่ได้ บางคนถึงขั้นคิดสั้น ฆ่าตัวตายไปเลยทีเดียว 

=====

สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ฝึกทำใจวางเฉยกับเรื่องต่างๆ รอบตัวซึ่งก็คือการปล่อยวางกับความยึดมั่นถือมั่น

ถ้าทำได้ คุณจะเห็นอีกมุมมองของชีวิต ที่อาจจะไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลยก็ได้

เมื่อพูดถึงคำว่าปล่อยวาง เราได้ยินกันบ่อยตั้งแต่เด็กจนโต  ดูเหมือนเป็นคำที่พูดง่ายแต่ทำทำได้ยาก Learning Hub จึงขอเสนอ 5 เคล็ดลับการปล่อยวางที่ทำได้จริงซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีที่อ่านจบ

=====

1.ให้อภัยอดีต

หลายคนมีอดีตที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่และเรื่องต่างๆ มักจะคอยตามหลอกหลอนอยู่เสมอ  ไมว่าจะดำเนินชีวิตไปทางไหน อดีตก็จะมาทักทายให้ได้เจ็บปวดอยู่เรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าไม่สามารถพบความสุขได้เลย

สำหรับอดีตนั้น ลึกๆแล้ว มันเกิดขึ้นมาจากใจของเราที่ไม่ยอมปล่อยวางจากเรื่องนั้นๆ ทำให้ความคิดยังคงสร้างอดีตที่แสนเจ็บปวดมาคอยทิ่มแทงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

Tips: เทคนิคในการปล่อยวางอดีต ก็คือ การให้อภัย ทั้งคนอื่น และตัวเราเอง

หากเรามองเห็นได้ว่า เหตุการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วไม่อาจหวนกลับมาแก้ไขได้อีก การให้อภัยคือการปลดปล่อยตัวเราจากความทุกข์ที่เกาะกินใจอยู่

และนั่นจะทำให้เรามีโอกาสได้ เริ่มต้นใหม่และทำให้เราสัมผัสกับความสุขในปัจจุบันได้อย่างเต็มเปี่ยมมากขึ้น

=====

2. หยุดกังวลเรื่องอนาคต

หลายคนมีชีวิตที่ดี แต่ไม่อาจมีความสุขได้เต็มที่ เพราะมีความกังวลกับอนาคตของตัวเอง  เช่น ถ้ามีมีลูก ก็กังวลกับอนาตคของลูกจนไม่อาจสงบจิตใจได้เลย

ในความเป็นจริง เราเองก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปยาวนานแค่ไหน เราอาจจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ การทำวันนี้ให้ดีที่สุด และกลับมามีความสุขอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า

หลายคนยอมแลกความสุขในปัจจุบันเพื่อรอคอยความสุขที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต น่าเศร้าที่หลายคนนั้นจากโลกนี้ไป โดยที่ยังไม่ได้พบกับความสุขนั้นเลย

Tips: หากต้องการปล่อยวางอนาคต ให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ

เมื่อมองเห็นว่า ชีวิตของเราไม่แน่นอน ปัจจุบันคือสิ่งที่แน่นอนและจริงแท้มากกว่า และเราสามารถทำให้ปัจจุบันเกิดขึ้นได้จริง

การมีความสุขตั้งแต่วันนี้ ทำทุกอย่างให้เหมือนสิ่งสุดท้ายที่เราจะได้ทำมันจะทำให้เรา ทำทุกสิ่งออกมาอย่างดีที่สุด

ทำอย่างไรถ้ายังมีความคิดกังวลกับอนาคต การตระหนักรู้เท่าทันตัวเอง (Self – Awareness) ช่วยคุณได้ นี่คือแนวทางการฝึกตระหนักรู้ในตัวเองที่เป็นรูปธรรมและเป็นขั้นตอนที่สุด

=====

3.ฝึกการบริจาค

เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องการความสะดวกสบาย เราจึงใช้ชีวิตเพื่อสะสมสิ่งของ ซื้อ เก็บ สะสมไว้เป็นปริมาณมาก จนบางครั้งก็มีเยอะเกินพอดี เยอะจนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองควรต้องมีอะไรบ้าง

ในความเป็นจริงทุกอย่างสิ่งต่าง ๆ ที่สะสมคือของที่เราไม่สามารถเอาไปได้เมื่อตายไปแล้ว แต่มนุษย์กลับยึดติดวัตถุเหล่านั้นเป็นอย่างมาก 

ทั้ง ๆ ที่วันหนึ่งถ้าเราตายไปแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นของไร้ค่าในทันที หลายคนแม้ป่วยหนัก ก็ยังหวงแหนสิ่งของ จนไม่ยอมปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ลงไป

Tips: หาเวลาประมาณสัปดาห์ละครั้ง ในการพิจารณาตู้เสื้อผ้า ห้องเก็บของ ลิ้นชักตู้

ดูว่ามีอะไรบ้างที่เราไม่เคยหยิบใช้เลยมากกว่า 1 ปี  จากนั้นให้ทยอยบริจาคสิ่งเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องเสียดาย

เพราะที่ผ่านมาเราเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีของชิ้นนั้นอยู่ ถ้าหากเราบริจาค มันจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นมากกว่า

ถ้าเราสามารถสละสิ่งเล็กๆน้อยๆ ได้อยู่เรื่อยๆได้จะทำให้เราสามารถปล่อยวางเรื่องใหญ่ต่างๆ ได้มากขึ้น

=====

4.มองเห็นทุกสิ่งเป็นสิ่งชั่วคราว

สถานะต่างๆในสังคมไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ลูกน้องหัวหน้า หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมาทั้งนั้น มันจึงเป็นเพียงแค่สิ่งชั่วคราว

ที่บอกอย่างนี้เพราะไม่มีใครที่จะรักษาตำแหน่ง หรือบทบาทเหล่านี้ไปจนตายได้ เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วเราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหน้าที่อะไร

ร่างกายเราจะกลับคืนสู่ธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีอะไรติดตัวเราไปได้เลย นอกจากความดี ความชั่ว และเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เราจะไปยึดติด กับสิ่งที่คนอื่นสมมติให้เราทำไม ปล่อยวางแล้วหันมาสร้างสิ่งดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้จดจำเรา ในแบบที่น่าจดจำจะดีกว่า

Tips: หากเรารู้สึกว่าใจไปยึดติดกับอะไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หน้าที่ ตำแหน่ง สถานะทางสังคม ให้ลองจินตนาการว่า อีกร้อยปีข้างหน้า สิ่งที่เรายึดถืออยู่นี้จะเป็นอย่างไร

เราจะพบว่า เรามองเห็นจุดจบของสิ่งต่างๆมองเห็นความเป็นสถานะชั่วคราว และไม่จีรังของสรรพสิ่ง

เมื่อระลึกรู้ เตือนใจตัวเองเนืองๆแบบนี้ เราจะสามารถปล่อยวางทุกสิ่งได้ง่ายยิ่งขึ้น

=====

5. ปล่อยให้มันเป็นไป

ที่สุดของการปล่อยวาง คือหยุดคาดการณ์และบังคับควบคุมอนาคต เพราะไม่มีใครที่จะสามารถหยั่งรู้ หรือจัดการกับอนาคตได้

สิ่งเดียวที่ทำได้ คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่มีวิธีอื่นใดอีก ที่จะทำให้อนาคตเราให้ดีได้ เมื่อทำวันนี้อย่างดีและเต็มที่แล้ว ก็จงปล่อยให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยกฎของเหตุและผล

ไม่ว่าเราจะเจอสิ่งดีหรือไม่ดี ให้คิดว่า เราได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะไม่ทำให้เราเสียใจภายหลัง

หลายๆ คนเคยคิดหรือไม่ว่า ที่เราเสียใจมากๆ กับเรื่องต่างๆ ที่เราผิดหวังนั้น จริงๆแล้ว เราเสียใจจากเรื่องอะไร เสียใจเพราะการเกิดขึ้นของเรื่องนั้นหรือเสียใจที่เราไม่ได้พยายามทำเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอย่างเต็มที่กันแน่

Tips: เราสามารถวางแผน และสร้างเป้าหมายได้ แต่ไม่ต้องยึดติดว่าทุกสิ่งจะต้องดำเนินไปตามแผนที่วางไว้เสมอไป

แผนมีเพื่อเป็นแผนที่บอกทาง แต่การเดินทางจะบอกถึงการใช้ชีวิตที่แท้จริง

ฉะนั้นเมื่อวางแผนแล้วก็จงทำให้เต็มที่ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป โดยไม่ต้องกังวลหรือคาดหวังผลลัพธ์ วิธีนี้จะทำให้เรามีความสุขในทุกย่างก้าวของชีวิตอย่างแน่นอน 

=====

ปล่อยวาง เป็นคำที่ใครก็สามารถเขียนหรือพูดให้ดูดีได้ แต่คนที่ทำได้จริงมีน้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางเสียเลยทีเดียวสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน

ถ้าในขณะนี้คุณกำลังมีความทุกข์ ขอให้ถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า เรากำลังฝึกที่จะปล่อยวางบ้างหรือยัง

หวังว่าทั้ง 5 วิธีนี้ จะทำให้ท่านสามารถปล่อยวางเรื่องราวต่างๆในชีวิตได้มากขึ้น และหากคุณมีวิธีอื่นๆที่ใช้ได้ผล ก็ช่วยแบ่งปันในคอมเม้นท์ให้เราได้เรียนรู้ไปด้วยกันมากขึ้นนะครับ

และถ้าคุณอยากติดอาวุธให้กับการปล่อยวาง กรอบคิดแบบยืดหยุ่น หรือ Growth Mindset ช่วยคุณได้ ดูรายละเอียดหลักสูตร Growth Mindset for Effective work ที่นี่

=====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

เผย 5 เทคนิค ปรับความคิด ชีวิตเป็นสุข

happymindset

มนุษย์เรานั้น จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิด คิดดี ก็จะมีความสุข คิดไม่ดี จิตใจก็จะเป็นทุกข์ เชื่อไหมว่า แม้สถานการณ์ภายนอกจะไม่เปลี่ยนเลย แต่หากเราสามารถปรับความคิดได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นในทันที

ฉะนั้นแล้ว จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถฝึกความคิดตัวเอง ให้โฟกัสหรือจดจ่อในสิ่งที่ดีๆได้ เพราะมันจะทำให้เราพบเจอแต่สิ่งที่ดีๆ ในขณะที่คนคิดแง่ลบ ก็จะเจอแต่เรื่องแย่ๆในชีวิตทุกวัน

ต่อไปนี้เป็น “5 เทคนิค ปรับความคิด ชีวิตเป็นสุข” ที่เรารวบรวมมาให้ท่านได้ลองใช้กัน

1.รู้เท่าทันความคิด

ไม่ปล่อยให้ความคิด ล่องลอยไปมาบ่อยๆ คนเรา ถ้าไม่เคยสังเกตดูความคิดของตัวเองแล้ว ก็จะไม่รู้ได้เลยว่า วันหนึ่งๆนั้น ความคิดเรา เกิดขึ้นมา และดับไป มากมายขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็น คิดเรื่องงาน เรื่องแฟน เรื่องเงิน หรือเรื่องไม่เป็นเรื่องอีกมากมายสารพัด เชื่อหรือไม่ ความคิดกว่า 90% ในแต่ละวัน ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้เราเลย บางครั้งกลับจะทำร้ายเราเสียด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเรารู้เท่าทันความคิดได้แล้ว จะทำให้เรามีสติอยู่กับตัวเองมากขึ้น และเราจะรู้ตัวตลอด ว่าตอนนี้เรากำลังคิดอะไรอยู่ หรือกำลังจะทำอะไรต่อไป ไม่เชื่อ ท่านก็ลองสังเกตความคิดของตัวเองดูสิครับ แล้วท่านจะรู้เลยว่า ที่ท่านทุกข์ หรือหาความสุขไม่ได้อยู่นั้น ที่แท้ก็มาจากสิ่งที่ท่าน เป็นคนคิดมันขึ้นมา ทั้งนั้นเอง

Tips: ลองนั่งเงียบๆสักวันละ 5-10 นาที โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ใช้ฝึก “รู้สึกตัว” เพื่อสังเกตความคิดของตัวเอง ความคิดเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ มันจะแปรเปลี่ยนไปอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปบังคับมัน เพียงแต่ให้เรา “รู้เท่าทัน” ก็พอ

2.อย่าประมาทความคิด

ก็แค่คิดเฉยๆ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ผิดหรอก นี่เป็นสิ่งที่หลายๆท่านเคยทำ หรือกำลังทำอยู่ แต่ขอให้ท่านระวังเรื่องนี้ ไว้สักหน่อยก็ดีนะครับ เพราะเมื่อคนเรา คิดเรื่องใดซ้ำๆในทุกๆวัน บางที่ อาจจะเผลอทำสิ่งที่คิดลงไป โดยที่เราไม่ทันระวังตัวก็เป็นได้ ถ้าเป็นเรื่องที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแล้ว ท่านจะพบกับความเสียใจอย่างแน่นอนที่สุด เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าประมาทกับความคิดกันนะครับ แม้มันจะเป็นแค่เพียง ความคิดเฉยๆก็ตาม

Tips: หากเมื่อไหร่รู้สึกตัวว่ามีความคิดที่ไม่ดีต่อคนอื่น ขอให้มองเข้าไปให้ลึกว่า เรารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไรจากเรื่องนี้กันแน่ ทำความเข้าใจตัวเองด้วยเหตุผล และปรับความคิดให้เป็นกลาง ก่อนที่มันจะกลายเป็นการกระทำที่เราอาจต้องมาเสียใจทีหลังนะครับ

3.อยากเป็นคนแบบไหน ให้คิดเหมือนคนแบบนั้น

พลังของความคิดนั้น มีมากจนบางทีเราก็คาดไม่ถึงเลยทีเดียวนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยอยากลดน้ำหนัก แต่ทำอย่างไรก็ลดไม่ได้สักที ใช้หลายวิธี แม้จะลดลงไปบ้าง แต่ในที่สุดน้ำหนักก็จะกลับมาเท่าเดิม ผมก็เลยลองมาสังเกตตัวเอง ว่ามีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่อง “การกิน”

ผมพบว่า แนวความคิดในการกิน คือ “กินอย่าให้เหลือ เพราะเสียดายของ” ซึ่งคนที่คิดแบบนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็น “คนอ้วน” ครับ นิสัยของผม เมื่อไปกินข้าวกับใคร ถ้าเห็นอาหารเหลือในจานกลาง ผมก็จะเก็บกวาดจนเกลี้ยงจาน เมื่อมีวิธีคิดแบบคนอ้วน จึงไม่แปลกเลยที่ผมอ้วน พอรู้แบบนี้ ผมเลยลองไปคุยกับคนผอม คนใกล้ตัวในบ้านที่ผอมก็คือ คุณยาย ซึ่งแนวคิดในการกินของคุณยายคือ “กินแค่พออิ่ม เหลือก็เก็บไว้มื้อต่อไป” พอผมเปลี่ยนแนวคิดเป็นแบบคุณยาย กินแค่พออิ่ม ไม่ได้กินให้อิ่มจนจุก ไม่นานนัก น้ำหนักผมก็ค่อยๆลดลงอย่างมาก แถมประหยัดเงินด้วย

Tips: หากเรายังมีนิสัยไม่ดีที่ยังแก้ไม่ได้ เป็นไปได้ว่าเรามีแนวคิดที่ไม่โอเค ขอให้สำรวจแนวคิดนั้นว่ามันทำลายตัวเราอย่างไร ตั้งเป้าหมายที่เราต้องการ แล้วไปค้นหาแนวคิดที่ส่งเสริมเป้าหมายนั้นจากคนอื่นๆมา จำไว้ว่า “อยากเป็นคนแบบไหน ต้องรู้จักคิดให้เหมือนกับคนแบบนั้น”

4.อยู่ในสังคมแบบไหน ก็เป็นคนแบบนั้น

สังคม สถานที่ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูง ต่อคนที่อยู่ในสถานที่ หรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ มันจะหล่อหลอมเข้าไปอยู่ในตัวคนๆนั้น โดยที่เขาไม่รู้ตัว เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นทุกวันๆ จนกลายเป็นนิสัยหนึ่งของชีวิตเขาไปแล้ว

คนเราจะถูกดึงดูดให้ไปเจอกันคนประเภทเดียวกันเสมอ แม้ว่าตอนแรกเราจะไม่ได้เป็นคนแบบนั้น แต่ถ้าหากคลุกคลีกับคนแบบใดแบบหนึ่งนานๆ ก็มีแนวโน้มที่เราจะเอนเอียง ไปคิด ชอบ ทำ ในรูปแบบนั้นเช่นกัน ถ้าใครอยากมีความสุข แต่กลับไปเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่ชอบนั่งเม้าท์นินทา หรือตามดูเพจดราม่าเป็นประจำ แบบนี้จะหาความสุขได้จริงหรือ เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเราอยากมีความคิดที่ดี ก็ต้องหาจุดเริ่มต้นที่ดี ให้กับตัวเราเอง เริ่มจากพาตัวเอง ไปอยู่ในสถานที่ หรือสภาพแวดล้อมที่ดีๆก่อนเลย

Tips: เคล็ดลับในการเปลี่ยนนิสัย ก็คือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ผู้คนที่คบ หรือการหาสังคมใหม่ๆ เช่น การไปเข้าสัมมนา เราจะเจอเพื่อนที่มีพลังงานดีๆ และแน่นอน เค้ามักจะนำพาโอกาสดีๆมาให้เราด้วย

5. มองปัญหา ให้เห็นเป็นโอกาส

คนที่ประสบความสำเร็จได้นั้น เขาจะไม่มองปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามันเป็นปัญหาแบบที่เรามองกัน แต่เขาเหล่านั้นจะมองมันเป็นโอกาส ให้ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ที่เขาคิดได้แบบนั้น เพราะว่าเขารู้จักที่จะคิด และได้แง่คิดเพราะผ่านล้มเหลวมาก่อนแล้ว คนเราถ้าไม่เคยได้ฝึกคิด หรือ ผ่านการคิดแบบนี้มาก่อนแล้วนั้น จะไม่สามารถคิดในแบบนี้ได้เลย ถ้าอยากประสบผลสำเร็จ จงหมั่นฝึกฝนความคิดของตัวเองทุกวันๆนะครับ “ฝึกมองปัญหา ให้เห็นเป็นโอกาส” แล้วท่านจะไม่กลัวปัญหา ที่จะเข้ามาในชีวิตของท่านอีกเลย เพราะทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามานั้น มันจะกลายเป็นโอกาส ให้ท่านได้ก้าวข้ามไป เพื่อพบกับความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตของท่านนั่นเอง

Tips: เมื่อเจอปัญหา หรือเกิดเรื่องไม่คาดฝัน ให้เตือนตัวเองว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดีเสมอ” ในระยะสั้นอาจดูไม่โอเค แต่ในระยะยาว เรื่องนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้ เติบโต และมีชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน

สุดท้าย ความสุขที่ได้จากการปรับความคิดที่ดีที่สุด ก็คือ การหยุดคิด เหมือนที่พุทธศาสนาสอนไว้เรื่องการปล่อยวาง การปล่อยวางก็คือ วางเฉย กับสิ่งต่างๆ หรือความคิด ที่เกิดขึ้นมา ณ ขณะนั้นๆ การรู้จักปล่อยวาง จะทำให้ใจเรา ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ท่านก็จะไม่เป็นทุกข์กับเรื่องอะไรเลย เพราะท่านจะไม่ยึดติดกับอะไร

การยึดติดนั้น คือ อยากให้ได้ อยากจะมี อยากให้เป็นดังใจเรา ยิ่งยึดมาก ยิ่งทุกข์มาก ซึ่งสิ่งที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด หากท่านทำได้แค่เพียงเล็กน้อย ท่านก็จะรับรู้ได้ทันทีเลยว่า ใจของท่านนั้น มีความสงบเพียงใด

ขอให้ทุกท่าน ได้ลองกลับไปพิจารณาฝึกจิต ฝึกความคิด ของตัวท่านดู ได้ผลดีประการใด อย่าลืมแชร์เทคนิคดีๆนี้ ให้กับเพื่อนๆ หรือคนที่ท่านรัก ด้วยนะครับ

บทความโดย Learning Hub Team

เผย 5 เคล็ดลับ สร้างความสุข ตั้งแต่อายุน้อย

happyyouth

คนเรา ยิ่งอายุมาก ทั้งความรับผิดชอบ ตำแหน่งฐานะ การงาน อาจทำให้การเข้าถึง “ความสุข” เป็นเรื่องยาก เพราะกฎเกณฑ์และมาตรฐานในชีวิตสูง

ความสุข คือ “ทักษะของจิตใจ” ที่ควรฝึกฝนตั้งแต่อายุน้อย นั่นจะทำให้คนๆนั้นเป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย และบ่อยครั้ง

เหล่าบรรดา Gen Y, Gen Z อาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมผู้ใหญ่ทั้งหลาย ต้องสร้างกรอบมาตรฐานเยอะแยะให้กับตัวเองด้วย แทนที่จะเลือกให้ตัวเอง พบเจอแต่ความสุขได้เลยตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ก็ไม่ทำกัน หรือคนที่เป็นผู้ใหญ่เหล่านั้น อาจจะยังไม่ได้รู้ถึงเคล็ดลับ  5 ข้อนี้ ก็เป็นได้

1.ความเด่นดัง ไม่ใช่หนทางสู่ความสุข

คนในยุคนี้ไม่ว่าใคร ก็อยากที่จะมีชื่อเสียง เด่นดังด้วยกันทั้งนั้น เพราะมันจะนำมาซึ่งความสุข เงินทอง และการนับหน้าถือตา อำนาจ อภิสิทธิ์ต่างๆที่คนอื่น มอบให้กับเรา ตอนที่อายุยังน้อยๆอาจจะไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่ต่อมาเมื่อไปชอบดารา นักร้อง หรือไอเดอลต่างๆ ก็อยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง จึงพยายามทำหลายๆวิธีให้มุ่งไปสู่จุดนั้น ทั้งๆที่อาจไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบและรักที่จะทำจริงๆ แต่ทำไปเพราะอยากดัง

คุณรู้หรือไม่ว่า ความดังและชื่อเสียงที่ได้รับมานั้น มันเป็นสิ่งของปลอม เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมาทั้งหมด เพราะในวันหนึ่งมันก็ต้องเสื่อมไป ถ้าคนที่คิดได้ ก็จะไม่หลงไปกับสิ่งเหล่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะคิดกันไม่ได้ และจะทำให้กลายเป็นคนหลงอำนาจ ใช้สิ่งที่มีไปในทางที่ผิด เมื่อวันหนึ่งที่อำนาจเหล่านั้นได้หมดลงไป คนพวกนี้จะทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส เพราะไม่เหลือใคร ที่จะสนใจ หรือให้การยอมรับเหมือนวันก่อน

Tips: ทำสิ่งในที่รัก และทำให้เต็มที่ ตั้งเป้าในการพัฒนาตัวเอง สร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับผู้คน ระวังในอำนาจวาสนาที่ได้มาอย่างรวดเร็ว ไม่หลงไปกับความฟุ้งเฟ้อที่จอมปลอม ส่วนความเด่นดัง ถ้ามี ก็เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต

2. หมั่นสังเกต สิ่งเล็กน้อย รอบๆตัว

ตอนเราอายุน้อย ผู้ใหญ่ในครอบครัว มักจะปลูกฝังว่า ความสุขไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ แต่ต้องผ่านความยากลำบากในชีวิตเสียก่อน ที่คิดว่าสร้างยากนั้น อาจเพราะเค้าเห็นว่า บางคนต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และเสียสละชีวิตส่วนตัวไป เพื่อที่จะแลกกับความสุขกลับมา ก็เลยคิดว่า ถ้าอยากได้ความสุขแล้ว ต้องทำแบบคนๆนั้น ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่จำเป็นเลย ความสุขอยู่รอบๆตัวเราเต็มไปหมด ถ้าเราฉลาดพอ ที่จะคิดให้เป็น เราก็จะสามารถสะสมความสุขเหล่านั้น ให้มาอยู่กับเราได้ โดยที่ไม่ต้องลำบากเลย

Tips: ความสุขที่แท้จริง อาจจะอยู่รอบๆตัวคุณอยู่แล้วก็ได้ ลองดูเด็กตัวเล็กๆ เค้าจะมีความสุขง่ายๆ กับสิ่งเล็กๆน้อยๆ หัวเราะดังๆ ยิ้มได้กว้างๆ ดังนั้น ในทุกวัน หมั่นลองสังเกตสิ่งรอบๆตัวคุณดู ว่าอะไรที่หากขาดมันไป อาจส่งผลกระทบกับคุณได้ เช่น คุณมีรถมอเตอร์ไซค์ ที่ไม่เคยเห็นความสำคัญ แต่วันไหนถ้ามันพังขึ้นมา คุณก็ต้องลำบากไปขึ้นรถเมล์ สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้คุณอาจจะหลงลืมไปในชีวิตไปก็ได้ เพราะอาจจะคิดว่า มันไม่มีความสำคัญต่อคุณสักเท่าไหร่ในตอนนี้ เลยทำให้มองข้ามมันไป

3.อย่ามัวสนใจ แต่เรื่องของตัวเอง

การสนใจตัวเอง เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เราเข้าใจ และรู้จักพัฒนาข้อบกพร่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เรา เป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด คนหนึ่งได้เลยทีเดียว แต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ ถ้าเราใช้มันไม่เป็น การสนใจแต่เรื่องของตัวเอง จนมองข้ามเรื่องของคนอื่นไป ในสายตาคนอื่น เราอาจจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวได้ง่ายๆ

ตอนอายุน้อยเราอาจจะไม่รู้สึกตัว เพราะเรายังคงหมกมุ่นอยู่แต่ความสุขของตัวเอง แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ต้องการขอความช่วยเหลือ ทีนี้ เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า ไม่มีใคร อยากที่จะยื่นมือมาช่วยเหลือเราเลย เพราะเรา ไม่เคยที่จะสนใจช่วยเหลือคนอื่นมาก่อนนั่นเอง

Tips: ลองเปิดโลกของตัวเอง ออกจากแค่ที่ทำงาน แนะนำให้ลองไปทำกิจกรรมอาสา หรือทำค่ายพัฒนาต่างๆ เราจะพบว่า โลกนี้มีมิติที่หลากหลาย สังคมและผู้คนยังขาดโอกาสและแตกต่างจากเรามาก และการแบ่งปันให้กับผู้คนที่ด้อยโอกาสกว่า เราจะพบคุณค่าและความสามารถในตัวเอง ที่เราอาจไม่เคยสัมผัสได้มาก่อน

4. สร้างสังคมที่ดี เริ่มที่ตัวเรา

ตอนอายุน้อย หลายคนไม่เคยสนใจเรื่องปัญหาสังคม การเมือง หรือสิ่งแวดล้อม เพราะดูเป็นเรื่องไกลตัว และด้วยเราเป็นเด็ก ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เชื่อไหม แม้คนเป็นผู้ใหญ่อายุมาก ก็คิดเช่นเดียวกัน ว่าเป็นแค่คนๆหนึ่ง คงไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นคนส่วนใหญ่ จึงเมินเฉยต่อเรื่องราวในสังคม อย่างมากก็แค่บ่น แต่ไม่ทำอะไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมือง ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาใดๆก็ตาม ไม่อาจแก้ได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากคนเล็กๆหลายๆคนเข้ามาช่วยกัน

Tips: แม้จะอายุน้อย เราเองก็เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปยืนประท้วงหรือทำอะไรที่เบียดเบียนตัวเอง เริ่มด้วยการเป็นคนอารมณ์ดีแจ่มใสอยู่เสมอ จริงใจ พร้อมจะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนอื่น เท่าที่มีกำลังความสามารถ เราก็สามารถสร้างสังคมเล็กๆแห่งการแบ่งปัน สร้างความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นระดับครอบครัว เพื่อนฝูงที่ทำงาน ชมรมต่างๆ ขอแค่เราเป็นคนที่พึ่งให้ตัวเองได้ เป็นที่พึ่งให้คนอื่นด้วยการทำประโยชน์ให้ผู้คนรอบตัว  แล้วเราก็จะพบว่าการสร้างสังคมที่ดี ก็เริ่มได้แค่นี้เอง

5. ฝึกเจริญสติ

ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ สิ่งผิดพลาดต่างๆ ในชีวิต ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการที่เราขาดสติ ในการทำสิ่งนั้นๆไปด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านรุนแรง ผลออกมา กลายเป็นความผิดพลาดที่เราต้องมาเสียใจภายหลัง การฝึกสมาธิหรือเจริญสติ จึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะเหมือนเป็นเกราะป้องกันภัย ให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด การฝึกสตินั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้เราประสบกับปัญหาชีวิตหนักๆก่อน ถึงจะเริ่มสนใจ แต่เรื่องการเจริญสตินั้น ทุกคนควรหมั่นฝึกทำให้เป็นนิสัย เพราะมันง่ายมากๆ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ทำตอนนี้เลยก็ยังได้

Tips: การเจริญสติไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตานานๆ แต่แค่ฝึกรับรู้ลมหายใจเข้าออก และรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ทำกิจวัตรอะไรก็ให้ระลึกรู้อยู่เนืองๆ เริ่มจาก 5 นาที 10 นาที แล้วค่อยเพิ่มเวลาให้มากยิ่งขึ้น พอมีสติยาวนาน ก็จะกลายเป็นสมาธิที่มั่นคง เมื่อสมาธิเราดีแล้ว ปัญญาก็จะเกิดโดยง่าย เราก็จะคิดได้ด้วยตัวเองว่า สิ่งไหนที่ทำแล้วมีความสุข สิ่งไหนที่ทำแล้วจะทุกข์ ก็จะไม่เกิดความผิดพลาด ขึ้นเพราะอารมณ์พาไปเหมือนแต่ก่อน

ถึงตรงนี้ คุณผู้อ่าน Gen Y Gen Z ก็รู้แล้วว่า ความสุขที่แท้จริง ไม่ได้มาจากการที่เรามีสิ่งของ มีเงินทอง  อำนาจชื่อเสียง มากมายเสมอไป อย่าไปติดหลุมพรางกับดักเหมือนผู้ใหญ่เค้า หากได้ฝึกปฏิบัติกับเคล็ดลับสร้างสุข ทั้ง 5 วิธีที่แนะนำไป ก็จะทำให้เรามีความสุขได้เลย ไม่ต้องรอให้ประสบความสำเร็จหรือรวยก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้ คุณมีความสุขแล้ว ก็จงภูมิใจได้เลยว่า คุณเป็นคนส่วนน้อยในสังคม ที่เดินมาถูกทาง

9 วิธีเพิ่มทักษะการฟัง สำหรับคนทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง

listenatwork

การฟัง หรือ Listening ถือเป็นหนึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่กระหายในความสำเร็จของชีวิต เพราะเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น สามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้จากทักษะแรกสุดที่ธรรมชาติให้มา นั่นคือการฟังนั่นเอง ยิ่งถ้าคุณทำงาน หรือสร้างธุรกิจ (Start Up) ด้วยแล้ว การฟังยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะหากการฟังไม่ดี เกิดการเข้าใจผิดหรือตัดสินใจผิด ปัญหาจะเกิดกับธุรกิจทันที

ดังนั้นเพื่อให้ทักษะการฟังพัฒนาขึ้น “9 วิธีการเพิ่มทักษะการฟัง” ต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณ มีพัฒนาการที่ดีด้านการฟัง และที่สำคัญ อาจกลายเป็นจิ้กซอว์ สำคัญในการสร้างความสำเร็จของคุณได้ด้วย

1.เรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน

ผมเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราอาจลืม หรือไม่ได้นึกถึงมากที่สุด นั่นคือ จงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน เราฟังเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ถอดรหัสของเสียงเหล่านั้นกลายเป็นข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ เช่น ฟังการสอน  ฟังวิธีการในการทำอาหาร เสียงช่วยให้เราถอดรหัสได้ง่ายเพิ่มขึ้น

2.คิดตามเสมอที่คุณฟัง

อย่าฟังเรื่องใดๆแบบปล่อยผ่าน แต่จงฟังอย่างตั้งใจ และพยายามตรองเรื่องที่เราฟังไปพร้อมๆกับเสียงที่ได้ยิน การที่เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นไปด้วย จะช่วยให้สมองได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นความคิดในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และมันจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ

3.ทวนความเป็นช่วงๆ ช่วยคุณได้

เพื่อให้การจดจำในสิ่งที่คนอื่นพูด เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากคุณสนทนากับบุคคลดังกล่าวอยู่ ลองเปลี่ยนเป็น การพูดสลับออกมาจากที่คุณฟังด้วย โดยพูดในเรื่องที่ผู้พูดคนนั้นได้ถ่ายทอดบทความออกมา ผมมักทำแบบนี้อยู่เสมอๆ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก คือผมสามารถจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ

4.ฝึกสมาธิของคุณเป็นประจำ

อย่าดูเบาในเรื่องของสมาธินะครับ มีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และด้านจิตวิทยาทั่วโลกมากมาย ที่สนับสนุนให้เรารู้ว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านความจำของคุณได้อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบเทคนิคง่ายๆอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า ฝึกสมาธิเลยครับ หรือเลือกเข้าคอร์สการอบรมเรื่องโยคะก็ได้

5.ลองฟังเสียงธรรมชาติและแยกเสียงสิ

ผมว่าเทคนิคข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการฟังอยู่ไม่น้อย นั่นคือ คุณลองหาโอกาสในการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากสถานที่นั้นเป็นสถานที่แบบธรรมชาติ เพื่อที่ว่า ผมอยากให้คุณลองฟังดูเสียของธรรมชาติ เสียงต้นไม้ เสียงลมพัด หรือเสียงน้ำตกที่ไหลรินอย่างอ้อยอิ่ง ตามลำธารต่างๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ถ้าเราสามารถฟังและแยกเสียงเหล่านั้นได้ดี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฟังอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

6. การอบรมเรื่องการฟัง ช่วยได้มาก

อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นนะครับ หากคุณมีปัญหาว่า ไม่สามารถเข้าใจสารที่เจ้านายสั่งงานคุณเป็นประจำ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีสมาธิสั้นในการฟังแล้ว จงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองอย่างง่ายๆด้วยการเรียนรู้ทักษะการฟังที่ถูกต้อง จากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถอย่างนี้จะดีกว่า การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นทักษะการฟังจากศูนย์

หลักสูตรสอนเรื่องการสื่อสารและการฟัง สำหรับคนทำงานในองค์กร เช่น “Communication for AEC Leadership: ทักษะการสื่อสารสำหรับผู้บริหารยุค AEC”

7.จดด้วยทุกครั้งที่คุณฟัง

สิ่งหนึ่งที่ผมนั้นชื่นชอบมากๆ เวลาเข้าไปฟังการอบรมหรือสัมมนานั่นคือ ยิ่งถ้าเรานั้นฟังมากเท่าใด สิ่งที่ตามมาคือปริมาณของข้อมูลที่ดีๆอาจล้นทะลัก จากคลังสมองของเรา ทำให้เราพลาดในการเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่ารอช้า เตรียมสมุดจดไปสักเล่ม และบันทึกเรื่องราวต่างๆไปด้วยเสมอในระหว่างที่คุณฟัง การทำอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูล ที่เกินกว่าจำนวนที่คุณรับรู้ได้อย่างแน่นอน

8. บันทึกผลของการฟังไว้บ้าง

หากเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า คุณควรจดบันทึกผลของการฟังลงในสมุดเสียหน่อย เช่นวันนี้ฟังเรื่องอะไร และสามารถฟังได้นานกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ผมว่าการทำอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการฟังได้ชัดเจนขึ้นมากเลยนะครับ

9.เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังได้

เทคนิคข้อที่เก้านี้ อาจเป็นเทคนิคที่หลายๆคนมองข้าม หรืออาจเกิดความไม่มั่นใจว่า มันจำเป็นจริงหรือ ผมยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มฝึกทักษะการฟังใหม่ๆ และสามารถฟังเรื่องราวของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง ในตอนนั้นผมคิดเสมอว่า มนุษย์เราจะสามารถฟังอะไรได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่า ผมต้องฟังอะไรได้ยาวกว่านั้น และเมื่อผมเชื่อ! ในที่สุดผมก็ทำได้ และนั่นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณด้วยเช่นกัน


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 9 วิธีการอย่างง่ายๆในการเพิ่มทักษะด้านการฟัง ที่เราสามารถนำแนวทางข้างต้นต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเราได้จริง และถ้าเราหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า ทักษะด้านการฟังของคุณจะต้องดีขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอนครับ

บทความโดย Learning Hub Thailand

พัฒนาทักษะการฟัง อย่างก้าวกระโดดใน 1 วัน ด้วยหลักสูตร “Dialogue & Deep Listening : ศิลปะการสื่อสารและการฟัง” โดย เรือรบ ดูรายละเอียดคลิก

5 ขั้นตอนเปลี่ยน Mindset ชีวิตเปลี่ยน ก่อนอายุ 30

5steps-mindset-3

Mindset หรือ กรอบความคิด เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตของเรา

การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตนเอง เพื่อให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดี

ย่อมต้องเริ่มมาจาก “การมี Mindset ที่ถูกต้อง”

ซึ่งการเปลี่ยน Mindset นั้น เราควรฝึกทำให้ได้ก่อนอายุ 30 โดยผมขอแชร์จากประสบการณ์ตรง ที่สามารถเปลี่ยน Mindset ของตัวเองได้และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหลังจากนั้น และต่อไปนี้เป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้กับตัวเอง

1. มองให้เห็นปัญหา ว่ามันเป็นโอกาส

“การมองเห็นปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”

การมองเห็นตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ต่อเนื่องจากที่ผมเคยเล่าไว้แล้วในบทความ 3 เหตุผล ทำไมเราควรเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก่อนอายุ 30”  ได้แก่ เรามักมองไม่เห็นตัวเอง ถึงมองเห็นก็มักไม่ยอมรับ หรือยอมรับแล้ว ก็ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา ดังนั้นการมองเห็นปัญหา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

ในช่วงก่อนอายุ 30 มีคนหลายคนสะท้อนว่า แรกๆ ที่เจอ ผมเป็นคนดูหยิ่ง หน้าดุ ไม่ค่อยยิ้ม ซึ่งผมฟังแล้วก็เฉยๆ ไม่คิดอะไร เพราะคิดว่าคงเกิดมาหน้าตาเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เมื่อใช้ชีวิตมานานขึ้น ก็ได้ยินเสียงสะท้อนมากขึ้น จากคนที่หวังดีอีกหลายๆ คน ทำให้ผมเริ่มเอะใจขึ้นมาบ้าง

เห็นได้ชัดว่า การเห็นปัญหาของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยจริงๆ แต่ในทุกปัญหา ย่อมมีโอกาส ผมลองย้อนคิดดูว่า ขนาดหน้าไม่รับแขก ทุกวันนี้ก็มีเพื่อนหลายคนนะ ถ้าผมยิ้มเก่ง ยิ้มง่ายขึ้น ดูน่าเข้าหา จะมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้นแค่ไหน  

2. อย่าปลอบใจตัวเอง

“ปัญหาเล็กๆ มักจะส่งผลกระทบใหญ่โต โดยที่เราไม่เคยรู้ตัว”

ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยมองเห็นปัญหา เพราะมองแค่ที่ตัวเอง ไม่ได้มองลึกลงไปถึง “ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่” เพราะแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ มันจะไม่ได้อยู่ตื้นๆ ที่พื้นผิวให้เราเห็นง่ายๆ

สำหรับในเรื่องยิ้ม ถ้ามองแค่ที่ตัวเอง ผมย่อมไม่เดือดร้อน เพราะผมไม่ได้เห็นหน้าตัวเองนี่ แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ก็คือ คนจะไม่ค่อยกล้าเข้าหาผม หรือไม่อยากเข้ามาพูดคุยกับผม ทำให้ผมมีเพื่อนน้อย เพื่อนใหม่ยิ่งยากที่จะมี แต่ผมก็มักจะปลอบใจตัวเองว่า ไม่เห็นเป็นไร การมีเพื่อนน้อยก็ดี เรื่องไม่เยอะ การอยู่คนเดียวก็ดี สงบสบายดี

การปลอบใจตัวเอง เป็นแนวโน้มให้เรา “ยึดติด” ในนิสัยเดิมๆ ไม่ได้ช่วยให้เรา “แก้ปัญหา” นั้นๆได้เลย

ดังนั้นเมื่อเจอกับปัญหาเราจำเป็นต้องนำมาพิจารณาตรงๆ อย่างเป็นกลาง ด้วยการตั้งคำถามใหม่ว่า ภายใต้ปัญหาเล็กๆ ในเรื่องนั้น “อะไรคือปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่”

สำหรับกรณีของผม ถ้ามองอย่างเป็นกลางแล้ว การที่เพื่อนน้อย หากไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่การที่คนใหม่ๆไม่อยากจะมาทำความรู้จักกับผม เป็นปัญหาใหญ่แน่นอน เพราะนั่นหมายถึง โอกาสดีๆ และคอนเนคชั่นดีๆ ในชีวิตหลายๆ อย่าง จะหายไป นอกจากนั้น สิ่งดีๆ ในตัวผม ก็คงไม่สามารถแบ่งปันกับใครได้มาก เพราะไม่มีใครอยากจะเข้าหาผมนั่นเอง

3. ทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

“ชีวิตไม่เคยเร่งด่วน แต่ปัญหาของชีวิตต้องให้เป็นเรื่องเร่งด่วน”

เราสามารถนอนทับปัญหา หรือจมอยู่กับมันได้นานเท่านาน ถ้าเรายังมองว่าชีวิตโอเคอยู่ นอกจากชีวิตจะเจอกับวิกฤต ที่จะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเปลี่ยนด้วยวิกฤตจึงเป็นเรื่องเจ็บปวดมาก การจะรอให้ชีวิตเจอวิกฤตแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง จึงไม่น่าใช่ทางเลือกที่ควรทำนัก

ความเร่งด่วนจะไม่เกิดขึ้นเอง มันจะต้องมาจากการเห็นความสำคัญของปัญหา โดยการจินตนาการจากคำถามว่า “หากเรายังนอนทับปัญหานี้ต่อไป สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับเราจะเป็นอย่างไร”

การที่ผมเป็นคนไม่ค่อยยิ้ม แต่เมื่อใช้ชีวิตมาสักระยะหนึ่ง พบว่า บุคคลิกของคนที่ประสบความสำเร็จและคนรวย มักจะเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูน่าคบหา ผมก็ชอบคนเช่นนั้น แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจำเป็นจะต้องทำ

ดังนั้นการเห็นปัญหา จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้น อาจยังไม่พอให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ความเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น ผมจึงต้องลองพิจารณาตัวเองว่าสิ่งที่จะแย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น ถ้าผมยังไม่ยิ้ม มันจะเป็นอย่างไรนะ

เคยได้ยินคำกล่าวว่า “ผลลัพธ์ในชีวิตของเรา สะท้อนตัวตนที่เราเป็น” ดังนั้นผมเลยย้อนมาดูผลลัพธ์ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ “เงินในกระเป๋า” จึงเห็นได้ชัดเลยว่า มีน้อยกว่าที่ควร ผมเองยังไม่พอใจกับเรื่องรายได้ของตัวเอง นั่นแสดงว่า “ตัวตนที่ผมเป็น” ในตอนนี้ยังไม่โอเคนะ ความเร่งด่วนเกิดขี้นทันที

เมื่อผมคิดว่า ถ้ายังไม่ยิ้มแบบนี้ ชีวิตคงจะถังแตกไปเรื่อยๆ แล้วมันจริงซะด้วย เห็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เค้ายิ้มแย้มแจ่มใสกันทุกคน ว่าแต่ คิดได้แล้ว จะเปลี่ยนยังไงดีล่ะ

4. ออกเดินทาง เพื่อแก้ปัญหา

“การแก้ปัญหา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่นั่งคิด
แม้ว่าจริงๆ แล้วการแก้ปัญหา ก็คือการพลิกความคิดนั่นเอง”

ฟังแล้วงงมั้ยครับ สิ่งที่ผมอยากสื่อก็คือ การแก้ปัญหานั้นจะง่ายดาย แบบพลิกความคิดเลย ถ้าเรารู้วิธี แต่ขั้นตอนกว่าที่จะรู้วิธี เราจำเป็นต้องออกแรงเดินทางไปค้นคว้า ไปหาผู้รู้ หรือหาวิธีการมาครับ นั่งคิดเองไม่ได้ เพราะหากมันเป็นปัญหาได้ มันต้องใหญ่เกินกรอบความคิดของเราในปัจจุบันแน่นอน

คนที่ “ฝึกเจริญสติ” มาอย่างดีแล้วเท่านั้น ที่จะมีปัญญาที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปพิจารณาอดีตของตัวเอง จนเจอที่มาของนิสัยของตัวเองได้

หากเรายังไม่แก่กล้าถึงเพียงนั้น แนะนำให้หา “โค้ช” ไปปรึกษาในเรื่องที่เราติดขัด หรือไปเข้า “อบรมสัมมนา” ในคอร์สที่จะพลิกมุมมองพลิกชีวิตของตัวเองได้ หรืออย่างน้อยที่สุด “อ่านหนังสือ” ด้านการพัฒนาตัวเอง ให้ได้ข้อมูลใหม่ๆมาพัฒนาชีวิต

ส่วนตัวผม ในช่วงวัย 25-30 ก็ได้ไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองจากหลากหลายที่ ไม่ว่าจะไปคอร์สปฏิบัติธรรม เข้าสัมมนา ฝึกเจริญสติ เรียนศาสตร์โค้ชชิ่ง อ่านหนังสือหลายสิบเล่ม เพราะผมเชื่อว่ายังมีปัญหาหรือจุดบอดอีกมาก ที่ผมยังไม่รู้ว่ามี

และสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยผมได้ในอนาคต และข้อดีของการออกเดินทางก็คือ ระหว่างทางที่เราจะเดินไปแก้ปัญหานึงนั้น โดยรู้ตัวและบางครั้งก็ไม่รู้ตัว เราได้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆในชีวิตไปได้อีกมากเลยทีเดียว

แม้ว่าผมจะยังยิ้มไม่เก่งอยู่ แต่ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น รู้จักคนมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างของคนได้มากขึ้น โดยไม่รู้ตัว ผมเริ่มเป็นคนรับฟังคนเก่ง มนุษย์สัมพันธ์ดี และมีแฟนที่น่ารัก อันหลังไม่เกี่ยวกับนิสัย แต่เป็นผลพลอยได้ครับ

5. นิสัยใหม่ ทำให้ยั่งยืน

“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำครั้งเดียวแล้วได้ผล นอกจากเราจะเป็นคนสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา”

ในเมื่อนิสัยเก่าๆเค้าใช้เวลาสะสมมาหลายปี ทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ได้ การสร้างนิสัยใหม่ ก็ต้องใช้เวลา หากเราคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ย่อมจะผิดหวัง

ดังนั้นต้องเผื่อใจ และค่อยๆทำมันทีละนิด แต่บ่อยๆ ซึ่งในตอนแรกๆมักจะรู้สึกฝืน นั่นก็แปลว่ามาถูกทางแล้วครับ ผมจึงต้องเริ่มฝึกที่จะยิ้มกับกระจกทุกเช้า เจอใครก็เตือนตัวเองว่าให้ยิ้ม ทั้งๆ ที่ในใจก็วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอยู่ด้วย แต่ผมรู้ว่า นิสัยใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ไอ้ความคิดเดิมๆ มันจะยังไม่ทิ้งผมไปไหนหรอก

แต่หากเราทำนิสัยใหม่ มากเข้า บ่อยเข้า นานพอ ความคิดใหม่ก็จะเสียงดังความความคิดเดิมได้เอง อีกครั้ง สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีสติ ในการใช้ชีวิตทุกวัน อย่าปล่อยให้อารมณ์ ความขี้เกียจ และความคุ้นชินเดิมๆ มันลากเรากลับไปได้ เพราะนั่นเท่ากับเรายอมแพ้กับชีวิตและอนาคตของตัวเอง

ไม่จำเป็นว่าเราต้องอายุน้อยกว่า 30 ที่จะทำตามเทคนิคเหล่านี้ได้ ขอแค่หัวใจเราอายุน้อยกว่า 30 ที่ยังมองว่าอนาคตยังมีความหวัง ยังอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้วันนี้ดีที่สุด และเพื่อวันพรุ่งนี้ที่จะดีกว่า

เทคนิคทั้ง 5 ข้อนี้ ก็จะช่วยคุณได้มากๆเลยละครับ แม้ผมไม่รู้สาเหตุในอดีตว่าทำไมตัวเองไม่ชอบยิ้ม แต่ด้วยการเปลี่ยน Mindset และการฝึกทุกวัน ตอนนี้เมื่ออายุ 30 กว่าปี ผมเริ่มยิ้มได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว เสียงในหัวของผมเงียบลงไป และจะทำให้ผมยิ้มเก่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเจอกับผมก็แวะเข้ามาหามาชวนคุยได้ครับ ผมไม่ดุ รับรอง ^__^

บทความโดย เรือรบ Learning Hub Thailand

3 เหตุผล ที่เราควรเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก่อนอายุ 30

changebefore30

เคยสงสัยไหม ทำไมการ เปลี่ยนแปลงตัวเอง ของหลายๆคนจึงเป็นสิ่งที่ยาก โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 30 บทความนี้จะบอกว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงตัวเองจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราฝึกที่จะทำตอนที่อายุยังไม่มาก ใครที่อายุไม่ถึง 30 อยากให้อ่าน ส่วนคนที่เกินแล้วลองดูว่าจริงไหม

1.เรามองไม่เห็นตัวเอง

มีใครมองเห็นตัวเองครบบ้างมั้ย อย่างน้อยก็แผ่นหลังและก้น ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้เอง ถ้าจะมอง ก็ต้องอาศัย “แสงสะท้อน” จากกระจก สิ่งที่เรามองไม่เห็นก็คือ “จุดบอด” ของดวงตาเรา

ในเรื่องนิสัยเอง ก็มีจุดบอดก็เช่นกัน เรามักจะมองไม่เห็นตัวเอง เพราะเรา “เป็นคนแบบนี้” มาตั้งแต่จำความได้ มันจึงเป็นเรื่องปกติของเรา แต่กระจกที่จะทำให้เราเห็นนิสัยของตัวเองได้ก็คือ “เสียงสะท้อน”จากคนใกล้ชิดนั่นเอง

โดยปกติคงไม่มีใครหวังดีกับเรา ขนาดที่เดินเข้ามาสะท้อนเราตรงๆ ว่าเรามีนิสัยที่ไม่ดีอย่างไร ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว เราจะไม่รู้เลยว่าคนอื่นนั้นจะรำคาญนิสัยของเราหรือไม่ เพราะคนทั่วไปคงไม่อยากเข้าไปวุ่นวายกับเรื่องส่วนตัวของตนอื่น ยกเว้นว่า คนๆนั้นจะหวังดีกับเราจริงๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเรารู้สึกว่าเพื่อนที่ทำงานมีกลิ่นปากแรง เราจะเตือนหรือบอกเค้าไหม หากเค้าเป็นคนที่นานๆเจอกันที เราคงไม่อยากก้าวก่ายบอกเค้า กลัวจะทำให้เค้ารู้สึกไม่ดี แต่ถ้าเกิดเราต้องเจอเค้าบ่อยๆหรือสนิทกัน แน่นอนว่า การบอกของเราก็คือการช่วยเหลือทั้งตัวเค้า (และตัวเราเอง)

ประเด็นของข้อนี้ก็คือ ถ้าเป็นเรื่องของนิสัย คนจะกล้าเดินมาฟีดแบ็คเรา เมื่อเรายังอายุน้อยๆ เพราะคิดว่าเราจะเปลี่ยนได้ และมันคงดีกับเรา หากเราอายุเกิน 30 ไปแล้ว โอกาสยากมากที่เราจะได้ยินใครมาเตือนเรา เพราะเค้าก็จะคิดว่า “โตๆกันแล้ว ให้มันรู้เอง” หรือไม่ก็ “บอกไปก็ไม่ช่วยหรอก อายุปูนนี้แล้ว”

ดังนั้น หากได้ยินใครเข้ามาฟีดแบ็ก หรือสะท้อนกับเราตรงๆ ว่าเค้าไม่พอใจอะไรเรา หรือเราทำให้เค้าเดือดร้อนรำคาญในเรื่องไหน นั่นคือ “ขุมทรัพย์” เลยทีเดียว แทนที่เราจะไม่พอใจเค้า เราต้องรู้สึกขอบคุณเค้าเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าใครคิดยังไงกับเรา มองเรายังไง ถ้าเค้าไม่เดินเข้ามาบอก


 

2. ถึงมองเห็น ก็ไม่ยอมรับ

เมื่อเรามองไม่เห็นตัวเอง การยอมรับสิ่งที่คนอื่นมองเห็น จึงเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เรามองเห็นอยู่แล้ว บางทีเรายังไม่อยากยอมรับเลย

สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เมื่อได้ยินเสียงสะท้อนจากคนใกล้ตัว ถึงเรื่องที่ฟังดูไม่ดี ปฏิกิริยาแรก เรามักจะไม่เชื่อ ไม่ยอมรับ ไม่โอเค ขอให้พยายามอย่าเพิ่งรีบปฏิเสธ ให้ขอบคุณ และนำสิ่งนั้นกับมาพิจารณาก่อน เพราะถ้าเราปกป้องตัวเอง และแสดงความไม่พอใจ เราอาจไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อเช่นนั้นอีกเลย

ยกตัวอย่างตัวผมเอง ย้อนกลับไปเมื่อตอนอายุยังไม่ถึง 30 จะมีเรื่องหนึ่งที่คนรอบๆตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนเพิ่งรู้จักกันบอกก็คือ “ตอนที่เจอผมตอนแรกๆ ดูเหมือนเป็นคนหยิ่ง” บางคนก็บอกว่าผม “หน้าดุ”  ซึ่งเมื่อได้ยินผมก็จะงงๆว่าจริงหรือ แล้วก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร

หากอายุยังไม่ถึง 30 เราควรจะฝึกสำรวจตัวเองด้วยใจเป็นกลางอยู่เสมอ  หรืออย่างน้อยก็ขอฟังฟีดแบ็กจากคนที่เราใกล้ชิดและไว้ใจ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ตรงที่สุด ถ้าเราไม่ทำในตอนนี้ เมื่อเราโตขึ้นนิสัยนั้นๆก็จะกลายเป็นเราอย่างแยกไม่ออก และสุดท้าย เราก็จะไม่คิดแม้แต่จะตรวจสอบและสงสัยตัวเองเลย


 

3. ถึงยอมรับ ก็ไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา

แน่นอนว่า เรามีชีวิตเหมือนที่เป็นได้ในทุกวันนี้ เพราะนิสัยที่เราเป็น ดังนั้นเมื่อเราได้ยินบางเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง ที่เราเองจะรู้ตัวหรือไม่เคยรู้ตัวก็ตามที ความรู้สึกแรกก็คือ “ไม่เห็นจะเป็นปัญหาตรงไหน” เพราะเราก็ใช้ชีวิตโอเคดี มาจนอายุเท่านี้แล้ว บางคนถึงกับพูดว่า “ไม่หนักหัวใคร”

แต่การที่มีคนเข้ามาสะท้อนกับเราตรงๆ อาจจะบอกเป็นนัยได้ว่านิสัยไม่ดีของเรานั้น เริ่มเพิ่มขึ้นตามเวลา แล้วมันทำให้หลายคนถึงกับอึดอัด รำคาญ จนถึงขั้นเดือดร้อน เค้าถึงเข้ามาสะท้อนด้วยความหวังดี

ก่อนหน้านี้เราอาจจะได้ยินมันลอยๆผ่านหูเข้ามา ซึ่งเราก็อาจได้ฟังบ้าง หรือไม่ได้ฟังบ้าง แต่มันจะเริ่มเอะใจก็เพราะว่า มีคนพูดเรื่องนี้กับเราบ่อยแค่ไหน และมีหลายคนมั้ย ที่เข้ามาพูดคล้ายๆกัน แสดงว่า มันอาจไม่เป็นปัญหากับตัวเรา แต่มันส่งผลกระทบต่อคนอื่น หรืออย่างน้อย หากเราสามารถปรับปรุงเรื่องนี้ได้ มันอาจช่วยให้หลายๆสิ่งดีขึ้น เค้าจึงเข้ามาบอกเราตรงๆ

ในกรณีที่มีคนสะท้อนว่า ผมหน้าดุ และหยิ่งนั้น แรกๆผมก็รับไม่ได้และไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา แต่พอใช้ชีวิตไป ก็ได้ยินเรื่องนี้จากปากหลายๆคนตรงกัน ซึ่งเชื่อว่ามีอีกหลายคนมากๆที่คงรู้สึกเช่นนี้แล้วไม่ได้พูด ดังนั้นผมจึงนำเรื่องนี้มาพิจารณาแล้วพบว่า ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ แต่หากผมปรับปรุงตัวเองให้หน้าตายิ้มและเป็นมิตรได้มากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้ผมมีเพื่อนมากขึ้น ช่วยให้มีโอกาสดีๆในชีวิตมากขึ้น และเรื่องนี้มันก็ไม่ได้ยากอะไร


 

หากอายุเกิน 30 จะสายเกินไปมั้ย

หากเราไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนถึงอายุ 30 เราก็จะมองข้ามมันไปเลย เพราะยังไงถ้าอายุมาก เปลี่ยนแปลงอะไรไปก็คงไม่มีผลแล้ว ดังนั้นก็มีแนวโน้มที่เราจะไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเอง

การเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุน้อย จะทำให้เรามี “ทักษะในการเปลี่ยนแปลง” ที่จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอายุเกิน 30 แล้วจะทำไม่ได้ หรือสายเกินไป ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้จักประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

สุดท้าย สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็นหลุมพรางของการเปลี่ยนแปลงก็คือ เราจะมองว่าสิ่งที่คนสะท้อนมา “ไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วน” เราจึงมักผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะชีวิต มักมีอย่างอื่นที่สำคัญกว่าเข้ามาแทรก ก็เลยลืมเลือนไป แต่ผมอยากจะบอกคุณว่า “สิ่งที่เราทำอย่างหนึ่ง มีผลสัมพันธ์กับทุกสิ่งในชีวิต”

ไม่มีเรื่องไหนเป็นเรื่องเล็ก ถ้ามันเกี่ยวกับนิสัย การเปลี่ยนนิสัยเพียงเรื่องเล็กๆจะส่งผลดีมหาศาลกับชีวิตข้างหน้าได้ และเรื่องนิสัยเล็กๆนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ง่ายซะด้วย มันเปลี่ยนยากอย่างไร และมีวิธีการก้าวข้ามยังไงนั้น ผมจะขอเล่าต่อในตอนหน้าครับ

บทความโดย เรือรบ

4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่าเรายังฟังไม่เป็น

“ยิ่งคุยกันมากขึ้น ทำไมเรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

บทความนี้ ผมจะเล่าถึง 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คนเรามักจะทำผิดพลาด ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้คน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์  ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุหลักๆมาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งๆที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้องอาศัย “สติ” และการ “เอาใจใส่”

ส่วนการได้ยิน เกิดขึ้นเองที่หู โดยเราไม่ต้องพยายามอะไร

ดังนั้น เรามีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่องๆนั้นเลย เป็นเหตุให้การสนทนาในชีวิตประจำวัน หากเราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายจริงๆ นั่นจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจกัน กลายเป็นปมความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นทะเลาะ และเลิกคบหากันในเวลาต่อมา

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจไหมว่าคุณฟังเป็น ?
ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง ที่เรามักจะพลาดกัน ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังอย่างไร


1.ฟัง แล้วคิดดักหน้า

หลายคนมักจะคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริงการคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง เรามักเผลอ “คิดไปดักหน้า” หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้ว ว่าคนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นเรา ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เค้าเสร็จสรรพ

โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่เราคิดมโนไปนั้น ก็ได้พลาดสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เค้าต้องการเลย

Tips: ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถามจึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ

2.ฟัง แล้วจมกับอารมณ์

ข้อนี้คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อนมักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง เราก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์ก็จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น

และยิ่งหากเรามีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้เราย้อนนึกถึงอดีต เรายิ่งจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่เรามีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆครั้ง อาการอินของเรา หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้ย่อมจะมาบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้เราละเลยผู้พูดไป อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

Tips: เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจเรา ใช้สติแยกแยะว่า เราสามารถรับฟังเค้าได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วเราก็จะสามารถฟังได้ โดยที่ไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง 

3.ฟัง แบบใจลอย

บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนานๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น

แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกมหรือแชทได้นานๆ คำว่าสมาธิสั้นนั้น อาจจะดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟังเกินไป

คนที่ใจลอยบ่อยๆเมื่อต้องฟังนั้น หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่องๆนั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าฟัง แต่หากสังเกตด้วยการมองตา ก็จะรู้เลยว่า ใจเค้าไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เค้าจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

Tips: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากเราไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรงๆว่าเราติดธุระอะไรอยู่ หรือเราไม่สะดวกคุยตอนนี้ 

การทำทีว่าฟัง แต่จริงๆแล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดเค้าจะรู้สึกได้ว่า จริงๆแล้ว เราฟังเค้าอยู่หรือเปล่า

4.ฟัง แบบมีธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเองเลย การฟังแบบมีธงในใจ จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อ

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลายๆคนอาจจะรู้สึกว่า เสียวเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อเรามีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมากลางทางเลย แย่งพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่หากลองคิดให้ดี ในแต่ละครั้งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปตามบริบทและเวลา การรีบด่วนตัดสินนั้นย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่เรารับรู้ในอดีตเท่านั้น เราจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่างไป ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

Tips: เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าเรากำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้นๆไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟังทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ เราจะคิดว่าเราฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ เราไม่เคยฟังเลย

บทความนี้ ทำให้เรารู้ว่า “การฟัง เป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจมองข้ามไม่ได้

หากเรามีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย เราก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเค้าอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟังหากเราสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล

และจะส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัว อย่างแน่นอน


เรียบเรียงโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม 

ท่านที่สนใจ ฝึกทักษะการฟัง ขอแนะนำหลักสูตร ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต
พบกัน 11 มิ.ย.นี้ อบรมโดย เรือรบ ดูรายละเอียด คลิก

4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง

deeplistening

“โลกออนไลน์ ทำให้เราพูดได้มากขึ้น แต่กลับฟังกันได้น้อยลง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สังเกตปฏิกริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง

2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดมีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา 

3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มึคุณภาพ

 4. เคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น 

แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า จะคุยกับเราอย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆกันด้วย

เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากสนใจฝึก การฟังอย่างลึกซึ้ง ขอแนะนำหลักสูตร “ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต”

วันที่ 11 มิ.ย.59 นี้ ครั้งสุดท้ายของปี อบรมโดย “เรือรบ” ดูรายละเอียดที่นี่

10 เหตุผลที่ “การเขียน” จะเปลี่ยนชีวิตคุณ

10reason2write

เคยได้ยินผลการวิจัยว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก เชื่อว่า “การเขียน” นั้นน้อยกว่า การเขียนเป็นทักษะที่คนในยุคปัจจุบันใช้น้อยมาก แม้ว่าเราจะอัพสเตตัสกันทุก 10 นาที แต่นั่นอาจแค่เรียกว่า “การสื่อสาร” ยังไม่นับว่าเป็น “การเขียน”

การเขียนที่มีคุณภาพ จะมาจาก“การคิดใคร่ครวญ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” เมื่อเราเริ่มเขียนเป็นประจำและต่อเนื่อง จะเกิดประโยชน์กับตัวเองมหาศาล และมันจะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากประสบการณ์ของผม มี 10 เหตุผล ที่การเขียนจะเปลี่ยนชีวิตของคุณได้

1.ลับคมความคิด

การเขียนสามารถช่วยในการทบทวน ประมวล และตกผลึกความคิดได้ดีกว่าที่ราคิดไว้คนเดียวในใจ หรือแค่พูดลอยๆ เรามักจะมองเห็นทางเลือกใหม่ๆ ถ้าได้เขียนออกมา

 2.ผลิตไอเดีย

การเขียนเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ในการผลิตไอเดียใหม่ๆของเรา

 3. พื้นที่อิสระ

การเขียนจะเป็นพื้นที่ให้ได้ลองผิดลองถูก ลองคิดและทำอะไรไร้กรอบ จนสามารถนำประกายความคิดที่ถูกจุดไว้ ไปต่อยอดให้เกิดเป็นแผนการที่เป็นรูปธรรม และทำได้จริง

 4. บูรณะจิตใจ

การเขียนจะทำให้เราได้ระบายความอึดอัดคับข้องใจ คลายเหงา บรรเทาทุกข์ทางใจ ทำให้เราสามารถโอบอุ้มดูแลจิตใจตนเอง และก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

 5. ทำงานที่ใช่

การเขียนจะทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ค้นพบจุดแข็ง จุดอ่อน ใช้เตือนใจและปรับปรุงตัวเองได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นหนทางใหม่ๆในการเลือกในสิ่งที่ตัวเองถนัด

 6. เข้าใจตัวเอง

การเขียนจะเป็นกระจกสะท้อน ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองอย่างแจ่มชัด ว่าขณะนี้ เราอารมณ์ มีความรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไรกันแน่ เมื่อนั้นเราจะมีความมั่นคงภายใน และทำทุกสิ่งด้วยความมั่นใจ ชัดเจน

 7. มองเห็นคุณค่า

การเขียนทำให้เรามองเห็นอุปนิสัยตัวเอง ว่าเป็นไปในทางใด เมื่อค้นพบ เข้าใจตัวเองแล้ว เราจะเริ่มเกิดการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น และนั่นทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเอง

8. พัฒนาการสื่อสาร

การเขียนจะช่วยให้เรามีความมั่นใจในการใช้ภาษาและเรียบเรียงความคิดได้ดีขึ้น ทำให้การพูดหรือการสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น แจ่มชัด มีประสิทธิภาพ

 9. สร้างตำนานครั้งใหม่

โลกของเรา ขับเคลื่อนด้วยภาษา ภาษากำหนดความคิด การพูด การกระทำ เมื่อเราใช้ภาษาได้อย่างมีคุณภาพ เราสามารถส่งมอบและถ่ายทอดความรู้ ทักษะ คุณค่าที่เรามี ผ่านภาษาและการเขียน เพื่อใช้สร้างความแตกต่างหรือทิ้งมรดกทางความคิดไว้กับโลกได้

 10. เปลี่ยนหัวใจตนเอง

ที่สุดแล้ว การเขียนจะสามารถพัฒนาจิตใจของเรา ให้รู้จัก เข้าใจ ยอมรับและรักตนเอง แล้วเราจะอ่อนโยนต่อโลกและสรรพสิ่ง ให้มีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อชีวิต และอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข

หลายคนคิดว่า ตัวเองไม่ใช่นักเขียน ไม่ใช่คนในแวดวงการศึกษา เลยไม่จำเป็นต้องเขียน นั่นทำให้เราสูญเสียประโยชน์ที่ได้จากการเขียนไปอย่างน่าเสียดาย

หากเราเริ่มเขียนเป็นประจำเพียงแค่วันละ 5-10 นาที ในตอนเช้าหรือก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นประจำเพียง 21 วัน ชีวิตของคุณจะไม่เหมือนเดิม

บทความโดย เรือรบ

หากไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร อยากเขียนเพื่อค้นพบตนเอง ค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียน ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวเอง

21-22 พ.ย. นี้ พบกันในหลักสูตร Intuitive Writing  ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวคุณ

นำกระบวนการโดย อ. เรือรบ รายละเอียดคลิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save