4 วิถี สู่ความร่ำรวยที่แท้จริง

“ความรวย”  เป็นความใฝ่ฝันของผู้คนทั่วไป ซึ่งเริ่มจาก การได้ทำงานดีๆ มีเงินเดือนสูงๆ หรือมีธุรกิจของตนเอง จะได้มีเงินเยอะๆ เมื่อรวยแล้ว ชีวิตจะได้สบาย

แต่ว่า “คนรวยที่แท้จริง” ต้องมีเงินเท่าไหร่กัน ?

ในยุคปัจจุบัน “ความร่ำรวยที่แท้จริง” ไม่ได้วัดจาก “จำนวนเงินที่มี” แต่วัดจาก “อิสรภาพ” ที่ได้รับต่างหาก

ความรวย ที่คุณเข้าใจ “ยิ่งมีเงินมาก ก็จะยิ่งมีความสุขมาก” ใช่มั้ย ?

ในอดีต ความร่ำรวยอาจหมายถึง ผู้ที่ครอบครองเงิน หรือวัตถุที่มีค่าเป็นจำนวนมาก ความร่ำรวยของแต่ละคนวัดได้จาก การมีรถราคาแพงหรือไม่ มีบ้านหลังใหญ่แค่ไหน ได้ไปเที่ยวทริปหรูได้บ่อยเท่าใด การได้ครอบครองแบรนด์ชั้นนำและวัตถุหายาก มันสะท้อนถึงความร่ำรวยของคุณ แนวคิดแบบนี้ทำให้ผู้คนพยายาม ดิ้นรนไขว่คว้า สะสมครอบครอง เพื่อให้มีมากที่สุด

จนบางคนอาจไม่คำนึงถึง “วิธีการที่ได้มา”

มองเพียงแค่ “มูลค่าของสิ่งที่ครอบครอง”

แต่มันจะสร้างความสุขให้กับพวกเขาจริงๆหรือ ?

แน่นอนว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญและขาดไม่ได้ในโลกปัจจุบัน แต่หากลองพิจารณาดู เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการมีชีวิตรอดของคนกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อยเท่านั้น

ส่วนคนที่ “พอมีอันจะกิน” ซึ่งเป็นประชากรที่มีการศึกษา เงินถูกใช้เพื่อสร้างความสนุกสนาน ความสะดวกสบาย ที่อาจเกินความจำเป็น เช่น การแสดงความหรูหราเพื่อเข้าสังคมและเรียกร้องการยอมรับจากผู้อื่น ใช่หรือไม่

เปรียบเทียบให้ภาพเห็นตัวอย่างง่ายๆ หากในวัยเริ่มทำงาน คุณสามารถเก็บเงินจนซื้อรถคันแรกได้ นั่นย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับชีวิต เพราะคุณไม่ต้องไปยืนเบียดร้อนบนรถเมล์ ไม่ต้องดมควันกลางถนนบนมอเตอร์ไซด์ และสามารถขับรถของคุณเองไปได้ในทุกที่ๆต้องการ  ไปทำงาน ไปเจอเพื่อน ไปปาร์ตี้ยามค่ำคืนโดยไม่ต้องกลัวอันตราย แบบนี้ย่อมสร้างความสุขให้คุณอย่างมาก

เมื่อได้เลื่อนตำแหน่ง คุณจึงซื้อ รถคันที่ 2 ที่หรูกว่าเดิม ลองเปรียบเทียบความสุขตอนที่ได้รถคันใหม่นี้ เทียบกับตอนมีรถคันแรก อย่างไหนมีมากกว่ากัน

และหากซื้อ รถคันที่ 3 ตอนมีลูก ก็คงแทบไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรแล้ว

รถคันที่ 4 ที่ซื้อมา คงต้องเริ่มคิดว่าจะหาที่จอดที่ไหน

ส่วนรถคันที่ 5  อาจทำให้ต้องจ้างคนมาล้างรถเพิ่มอีกคน

 

ลองพิจารณาว่าที่ผ่านมา คุณมีที่สิ่งที่ซื้อมาได้ใช้เพียงแค่หนเดียวแล้วก็เก็บ มากแค่ไหน ?

คุณมีสิ่งที่ซื้อมาเป็นปีแล้ว ยังไม่เคยแกะห่อออกมาใช้เลย บ้างหรือไม่ ?

คุณได้ออกไปหาซื้อของ แล้วมาพบทีหลังว่าคุณมีสิ่งนั้นอยู่แล้ว บ่อยแค่ไหน ?

คุณต้องทิ้งของกินดีๆที่หมดอายุ เพราะคุณซื้อไว้แล้วหลงลืมหรือกินไม่หมด ไปเยอะมั้ย ?

ทุกครั้งที่ซื้อของชิ้นใหม่ คุณมีความสุขอยู่กับมันได้นานเพียงใด ?

หากทุกคนใช้ชีวิตแบบนี้ ยิ่งผลิตมากทรัพยากรธรรมชาติจะยิ่งร่อยหรอ สิ่งของจะกองทับถม มลพิษจะเกินควบคุม ขยะจะล้นโลกดังนั้นการมีสิ่งของมากๆก็อาจลดความสุขของเราไปได้

จะเห็นได้ว่า หากเราอยู่ในกลุ่มคนที่พอมีอันจะกิน เงินและสิ่งของที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ปัจจัยที่จะ “เพิ่มความสุข” ได้มากเท่าไหร่เลย

แล้วความสุขจริงๆอยู่ที่ไหนล่ะ

 


ความร่ำรวยที่แท้จริง “4 วิถี สู่อิสรภาพ”

คงถึงเวลาทบทวนแล้วว่า โลกนี้กำลังต้องการแนวคิดของ “ความร่ำรวย” ในรูปแบบใหม่หรือเปล่า คนที่มี “ความร่ำรวยที่แท้จริง” อาจดูได้จาก 4 วิถีการใช้ชีวิต ดังนี้

 

1. ความร่ำรวย ทางอารมณ์

คนรวยที่แท้จริง คือคนที่ “ไร้ความกังวลในเรื่องเงิน” เขาสามารถควบคุมอารมณ์ภายในให้สดใสเบิกบานได้ การที่เขามีอารมณ์ดีเป็นประจำ ก็จะทำให้พบแต่ประสบการณ์ดีๆในชีวิต

ไม่จำเป็นต้องรวยร้อยล้านพันล้าน ถึงจะปราศจากความกังวลในเรื่องเงิน ขอเพียงรู้จักบริหารเงินให้มีเหลือใช้ในทุกเดือน ไม่ยึดติดกับวัตถุภายนอกที่อาจสูญเสียไปเมื่อไหร่ก็ได้ รู้จักพึ่งพาตัวเองมากกว่าพึ่งพาคนอื่น

เมื่อมี “ความร่ำรวยทางอารมณ์” ก็จะไม่ขี้กลัว ไม่หงุดหงิดจิตตก ไม่ห่อเหี่ยวนานๆ จะมีความชัดเจนในชีวิต มีแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ มีพลังข้างในที่ผลักดันในตัวเองอยู่เสมอ และมีประสิทธิภาพในการทำงานให้สำเร็จได้อย่างสูง

 

2. ความร่ำรวย ด้านเวลา

เวลาคือสิ่งที่มี “ราคา” มากที่สุด เพราะชีวิตมีวันหมดอายุ จึงไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับเวลาที่หมดไปแต่ละปีๆ หากเราไม่ใช้ชีวิตที่เราเลือก เราก็กำลังผลาญเวลาในชีวิตของตัวเองลงไปเปล่าๆ

คนที่ร่ำรวยอย่างแท้จริง สามารถเลือกวิถีชีวิตที่สามารถเป็นผู้กำหนดตารางเวลาของตัวเองได้ ว่าจะตื่นกี่โมง ทำงานกี่โมง พักผ่อนเมื่อไหร่

ไม่ต้องให้คนอื่นเป็นผู้กำหนด ไม่ต้องตื่นเช้าฝ่ารถติดบนถนน ไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนเพื่อไปพักผ่อนในวันหยุดยาว

เมื่อมี “ความร่ำรวยด้านเวลา” ทำให้เค้าใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นได้มากที่สุด

 

3. ความร่ำรวย ไม่จำกัดด้วยสถานที่

คนรวยที่แท้จริง สามารถจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ได้ หรือเดินทางเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ ไม่จำเป็นจะต้องมีเงินมากมายที่จะใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว แต่เป็นเพราะพวกเค้ามีเวลา มีพลังเหลือเฟือ จึงสามารถเลือกที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆได้

พวกเค้าเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองอย่างแท้จริง จึงสามารถทำงาน ใช้ชีวิตและพักผ่อนได้ทุกที่ และทุกเวลา

เมื่อมี “ความร่ำรวย ที่ไม่จำกัดด้วยสถานที่” ทำให้เค้าได้รู้จักออกไปใช้ชีวิต พบปะผู้คน ไม่ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ได้มีโอกาสพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันหลากหลายในโลก เป็นอิสรภาพที่เค้ากำหนดได้ด้วยตัวเอง

 

4. ความร่ำรวย ในการให้

สุดยอดตัวชี้วัดของการเป็นคนรวยที่แท้จริงคือ “ความสามารถในการให้และแบ่งปัน” ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลา ให้แรงงาน ให้เงิน หรือแบ่งปันความสุขที่มีแผ่กระจายไปสู่ผู้คนรอบๆตัว คนที่มั่งคั่งนั้นเป็นผู้เหลือเฟือที่จะให้ ไม่จำเป็นว่าเค้าต้องมีเงินมากมาย เพียงแต่ว่ามันมากพอที่จะแบ่งปันออกไปได้ แม้บางคนมีมากมายก็ยังไม่สามารถให้คนอื่นรได้ เพราะลึกๆแล้วในจิตใจ เค้ายังรู้สึกว่ามีไม่พอนั่นเอง

เมื่อมีความมั่งคั่งในการให้ ย่อมจะเติมเต็มคุณค่าและความหมายในชีวิต เค้าจะรู้สึกได้ถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้วัดจากจำนวนเงินที่มีหรือมูลค่าสิ่งของที่ครอบครองอย่างใดเลย

 

คนที่ร่ำรวยไม่ว่าจะมีเงินกี่ร้อยล้านพันล้าน ทั้งชีวิตของเขา อาจเข้าไม่ถึงความรู้สึกมั่งคั่งร่ำรวยเลยก็เป็นได้

เพราะความร่ำรวยที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย ก็สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตทั้ง 4 มิตินี้ได้

เพียงแต่ต้องอาศัยการรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้

มีไลฟ์สไตล์ที่พอเพียง

มีทักษะที่หลากหลาย

และมีความกล้าคิด กล้าทำ นอกกรอบ

สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณเข้าถึงคำว่า “ความร่ำรวยที่แท้จริง”

และมันจะนำพามาซึ่งความสุข และความร่ำรวยเงินทองไปพร้อมๆกัน อย่างที่คุณนึกไม่ถึงทีเดียว

 แม้วันนี้เราอาจยังทำได้ไม่ครบทั้ง 4 ด้าน แต่ขอให้กำลังใจว่า

หากทำได้สักหนึ่งข้อ ส่วนที่เหลือจะทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เพราะการเดินไปถูกทิศและไม่หลงทาง ไม่ช้าไม่นานเราจะถึงปลายทางได้อย่างแน่นอน

แนวคิดจากหนังสือ  The New Meaning of Rich: Four Principles of Wealth That Will Change Your Life by Evan Tarver

เรียบเรียงโดย เรือรบ

ถอดรหัสสมอง 3 มิติ ของนักเขียนมือโปร

“ในการเขียนหนังสือสักเล่ม เทคนิควิธีการเป็นเพียง 5% เท่านั้น

ที่เหลืออีก 95% คือ ทักษะและกระบวนการคิด ที่เหมาะสมกับการเป็นนักเขียนต่างหาก” –เรือรบ

คำถามยอดฮิต เมื่อถามถึงการเริ่มต้นในการเขียนก็คือ จะต้องเรียนเทคนิคการเขียนจากที่ไหนและอย่างไร ?

หลายคนที่อยากเป็นนักเขียน เคยไปเรียนคอร์สสอนเทคนิคการเขียนมาหลายคอร์ส หมดเงินหมดเวลาไปก็เยอะ แต่ก็ยังเขียนออกมาไม่ได้  เขียนได้ก็ไม่นาน แรงบันดาลใจหมด ไอเดียตีบตัน กลัวผิด เกรงว่าจะทำไม่ได้ ไม่มั่นใจ แล้วก็ไปมองหาคอร์สที่จะสอนเทคนิคการเขียนดีๆต่อไป… จริงๆแล้วสิ่งที่เราขาดไปอาจไม่ใช่เทคนิค แต่เป็น “ทักษะและกระบวนการคิด”  ที่เราไม่สามารถคิดและเป็นได้อย่างนักเขียนนั่นเอง หากเราสามารถเข้าถึงกระบวนการคิด หรือ “ถอดรหัสสมอง ของนักเขียนมือโปร” ได้ เราก็จะสามารถผลิตงานเขียนออกมาอย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติในแบบของตัวเราได้อย่างแน่นอน “รหัสสมอง” หมายถึง กระบวนการทำงานทางความคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก่อนที่นักเขียนจะจรดปากกา หรือเริ่มพิมพ์บทความในบรรทัดแรก งานเขียนที่เราเห็นนั้น เป็นเพียงผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งสามารถถอดรหัสสมองของนักเขียน ให้ออกมาเป็นมิติทางรูปธรรมได้ 3 ด้านดังนี้

1. Input การรับข้อมูล

มิติในการนำเข้าข้อมูล เรียกง่ายๆก็คือ “การรับรู้” ของสมองเรา ซึ่งจะผ่านการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นเอง โดยการรับรู้นี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อ ทำให้เครื่องรับนั้น “ใสและแจ่มชัด” มากพอ ที่จะไม่บิดเบือนข้อมูลตรงหน้าไป สามารถเห็นถึง แง่มุมความละเอียดลึกซึ้งกับสิ่งต่างๆตรงหน้าได้ การรับรู้ที่แจ่มชัด จำเป็นจะต้องมีครบทุกมิติ “มิติทางกายภาพ” อันได้แก่ รูป แสง สี เสียง “มิติทางใจ” อันได้แก่ ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องเมื่อได้รับรู้สิ่งๆนั้น ทักษะที่สำคัญในการรับข้อมูล คือ ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ทักษะการสังเกต (Observation) และทักษะการรับรู้ด้วยใจ (Heart Receptor)

2. Process การประมวลผล

การประมวลผลก็คือ “การทำงานของสมอง” นั่นเอง ในขั้นนี้ เราจะได้กลับมามองเห็นวิธีการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งแบ่งเป็น สมองซีกซ้ายและซีกขวา ทำอย่างไรจะให้การทำงานของสมองทั้งสองซีกนั้น ประสานกันได้อย่างลงตัว มีกระบวนการคิดที่ “ทั้งลึกและกว้าง” ไปพร้อมๆกัน เราควรฝึกสร้างสมดุลของสมอง 2 ซีก ฝึกทักษะที่จะนำพากระบวนการคิดของเรา ให้เฉียบคมเป็นตรรกะขั้นตอน ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอารมณ์ สีสัน และสะท้อนแง่มุมของความงดงามในชีวิตด้วย ความสมดุล เป็นสิ่งสำคัญ หากเราใส่ความรู้ จากสมองซีกซ้ายมากเกินไป บทความของเราก็จะแห้งแล้ง น่าเบื่อ ไม่น่าติดตาม แต่หากเราใส่อารมรณ์ความรู้สึก จากสมองซีกขวามากเกินไป บทความของเราก็จะเยิ่นเย้อ ยืดย้วย เพ้อฝันจนจับต้องไม่ได้

นอกจากสมองที่ใช้คิดแล้ว เรายังสามารถมีตัวช่วยอีกอย่าง ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “จิตใต้สำนึก” ซึ่งจะเก็บความทรงจำและศักยภาพที่ซ่อนเร้น ที่เราไม่รู้ไว้ภายใน จำนวนมาก คิดเป็น 95% ของสิ่งที่เรายังไม่เคยค้นพบในตัวเอง

มิติจากจิตใต้สำนึกนั้น ไม่ใช่มิติที่ลี้ลับแต่อย่างใด นักเขียนมืออาชีพ รู้วิธีที่จะสร้างปรากฏการณ์ “ปิ๊งแว้บ” สร้างช่องว่างให้ ชั่วขณะแห่งปัญญาญาณ เผยตัวออกมา

 3. Output การถ่ายทอด

การฝึกฝนในเรื่องการถ่ายทอดนี้ จะเน้นการเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของเรา ซึ่งมีแบบแผนและสไตล์งานเขียน ที่เป็นเอกลักษณ์ เปรียบเหมือนเป็น “Signature หรือลายเซ็นเฉพาะ” ของตัวเรา หากเราสามารถรู้จักและเข้าใจแบบแผนภายในของตัวเอง รู้สไตล์การเขียน 4 แบบที่แตกต่างกัน เราจะสามารถพัฒนาสไตล์งานเขียน ที่เหมาะสมกับตัวเองและรู้ถึงประเภทงานเขียนที่เราถนัดได้ มิติของการถ่ายทอด มีความสำคัญมากไปกว่าการคำนึงแค่ว่า จะเขียนอย่างไรให้ดูดี น่าอ่าน มีภาษาสละสลวย แต่เป็นการมองถึง “คุณค่า” ของงานเขียนของเรา ว่าเราจะถ่ายทอดมันออกมา แล้วสร้างประโยชน์ให้ผู้คนได้ในระดับใด “คุณค่าที่คนอ่านได้รับ” จะเป็นตัววัดระดับว่า งานเขียนของคุณนั้น เป็นระดับทั่วไป งานเขียนชั้นดี หรือว่างานเขียนชั้นเลิศกันแน่


หากเราฝึกฝนตัวเองด้วยฝึกตามรหัสสมองของนักเขียนทั้ง 3 ประการนี้ จะทำให้เกิดการจุดประกายแห่งแรงบันดาลใจ สามารถเขียนออกมาได้ไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติ และมีศิลปะในการใช้สไตล์การเขียนให้น่าประทับใจไม่รู้ลืม ซึ่งจะยกระดับงานของเราไปอีกขั้นอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน เพียงเท่านี้เราก็พร้อมแล้ว ที่จะผลิตงานเขียนชั้นเลิศเพื่อสร้างตำนานของตนเอง

28-29 พ.ค.นี้  “Intuitive Writing: ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวคุณ”  โดย เรือรบ 

หลักสูตร 2 วัน ที่จะไม่สอนเทคนิคการเขียน แต่จะสร้างทักษะและปรับกระบวนการคิดให้เราเป็นนักเขียนได้ นำพาศักยภาพเบื้องลึกของจิตใต้สำนึกออกมาใช้ในการเขียน ฝึกทักษะการสะท้อนความคิด (Self-Reflection) การใคร่ครวญตกผลึกความคิด (Self-Realization) ตลอดจนการสร้างพื้นที่ว่างภายใน เพื่อปลดปล่อยให้ปัญญาญาณ (Intuition) และแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่แฝงอยู่ ได้เผยออกมาอย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ (Flow)  รายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่

ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหาร ยุค AEC

ในปัจจุบัน “ปัญหาเรื่องคน” คือปัญหาใหญ่ในองค์กร จริงหรือไม่?

เข้าสู่ยุค AEC ระบบสังคมมีความซับซ้อน ผู้คนนั้นก็มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ทำให้การฟังของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา

ต่อไปนี้เป็น 5 ปัญหายอดฮิตในการทำงาน คุณเจอบ้างหรือเปล่า ?

  1. ความเร่งรีบในการสื่อสาร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดบ่อย
  2. อยากจะคุยด้วย แต่อีกฝ่ายไม่ค่อยพูด ไม่ยอมเสนอความเห็น
  3. ลูกน้องพยักหน้าเข้าใจ แต่พองานออกมา ไม่เหมือนที่สั่งไปเลย
  4. วิธีการสื่อสารในแบบเรา คนนึงรับได้ แต่กับบางคนรับไม่ได้ เอาใจไม่ถูก
  5. ปัญหาการลาออกส่วนใหญ่ เป็นเพราะมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน

เพราะเหตุใด จึงเกิดปัญหาเหล่านี้ ?

เราจะพบว่ามีผู้บริหารอยู่ 2 ประเภทในองค์กร ที่ใช้หลักการบริหารที่ต่างกัน

การบริหาร ด้วย “ความกลัว”

โดยมากมักจะเกิดกับผู้บริหารแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Stlye) ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต เขาจึงคิดว่าลูกน้องซึ่งเด็กกว่าและอ่อนประสบการณ์กว่า ควรจะเป็นฝ่ายเชื่อฟังและทำตาม โดยที่ไม่รู้ตัว เขามักจะใช้หลัก “6 บ.” ในการบริหารงาน นั่นคือ

บี้ ชอบสั่งการแบบขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ
ใบ้ ไม่ค่อยสอนงาน เห็นอะไรดีไม่เคยชม
เบลม ชอบตำหนิต่อว่า เห็นอะไรก็ผิดไปหมด
โบ้ย หากถ้าตัวเองทำผิด หรือตัดสินใจพลาด ก็อ้างว่าเป็นเพราะคนอื่น
เบิ้ล ถ้าลูกน้องทำผิดมา จะถูกซ้ำเติม หรือลงโทษทันที
บล็อก เขาไม่อยากเห็นใครทำตัวโดดเด่น และไม่ค่อยฟังความเห็นใคร

ผลลัพธ์จากการบริหาร ด้วยความกลัว

พนักงานจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะซุกไว้ด้วยกลัวความผิด อาจทำให้ปัญหาเล็กน้อยก็ลุกลามไปจนยากที่จะแก้ไข คนที่ไม่อยากถูกตำหนิ ก็คอยระวังตัวแจ จนไม่กล้าทำอะไร เห็นสิ่งที่ไม่เวิร์คก็จะเฉยชา องค์กรจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่มีความผูกพันกันในองค์กร ใครทนได้ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป

เพื่อหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรม 6 บ.” ซึ่งจะเป็นวงจรขาลงของการทำงานและส่งให้เกิดผลเสียมากมาย  จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรที่จะเรียนรู้  “ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”  และนำไปปรับใช้ในการทำงาน


การสื่อสารด้วย “ความรัก”

ผู้บริหารยุค AEC จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องคน ประสานงานให้เกิดการสื่อสารที่ลื่นไหลในองค์กรได้ “ความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “เจ้านาย หรือ Boss” ที่เอาแต่สั่งการและตำหนิ ไปเป็น “ผู้หล่อเลี้ยง หรือ Mentor” ที่จะคอยรับฟังและให้การสนับสนุน

ทักษะการสื่อสาร ของผู้บริหารยุคใหม่ ได้แก่

1.การฟังเสียงภายในตนเอง (Inner Listening)

การที่จะรักผู้อื่นได้ ต้องเริ่มด้วยการรู้จัก เข้าใจและยอมรับในตนเองให้ได้ก่อน ดังนั้น ทักษะการฟังเสียงภายในตนเอง จะทำให้ผู้นำคนนั้น เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างถ่องแท้ แล้วจะนำไปสู่ความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นจะทำให้เขาสามารถมอบความรักและความเห็นอกเห็นใจ ให้กับผู้คนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

2.การฟังเพื่อผลลัพธ์ (Active Listening)

การฟังเพื่อผลลัพธ์ เป็นทักษะที่ช่วยประหยัดเวลาในการฟังได้ อีกทั้งมีประสิทธิภาพอย่างสูง สามารถเก็บประเด็นได้ครบ และช่วยให้อีกฝ่ายได้แก้ปัญหาของตนเองด้วย

ซึ่งการจะฟังแบบนี้ต้องมีทักษะในการตั้งคำถามต่อยอด การสะท้อนอารมณ์ การทวนความ และการจับประเด็น เพื่อให้ผู้พูดรู้ว่า ผู้บริหารกำลังใส่ใจและรับฟัง อีกทั้งช่วยสนับสนุนให้เค้าแก้ปัญหาและหาทางออกด้วยตนเอง โดยไม่ชี้นำและสั่งการ

3.การสื่อสารด้วยใจกรุณา (Compassionate Communication)

ผู้บริหารยุค AEC ควรมีความมั่นคงในใจและเปิดเผย จะสามารถพูดจากความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริง ออกมาจากใจอย่างตรงๆซื่อๆได้ โดยไม่ปิดบัง ไม่ต้องใช้กลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อมหว่านล้อมใดๆ การพูดแบบปากไม่ตรงกับใจ การพูดเป็นปริศนาที่ต้องทิ้งให้ผู้ฟังตีความเอง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียเวลา

ผู้นำที่ดี มีสติตระหนักรู้ว่า คำพูดที่ตรงไปตรงมาของเขา จะไม่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เขาจะเลือกใช้คำพูดที่รับผิดชอบในความรู้สึกของตัวเองและไม่กล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย

แทนที่จะพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “คุณเอ ทำไมงานที่สั่งไปทำไม่เสร็จ รู้ไหมว่าทำงานล่าช้าแบบนี้บริษัทเสียหาย คุณจะว่ายังไง”

ผู้นำจะเลือกใช้คำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกและความต้องการแทน “คุณเอ ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกเครียด เพราะงานที่เราต้องส่งลูกค้าไม่เสร็จตามกำหนด ผมต้องการรักษาเครดิตของบริษัท เราควรทำยังไงดี มีอะไรให้ผมช่วยเหลือบ้างมั้ย”

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วย “ความรัก”

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการทำงาน เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานไปด้วยนานๆ อยากเห็นองค์กรเจริญเติบโต มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คอยระวังความผิดพลาดและจุดบกพร่องรั่วไหล มีความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งดีๆให้แก่องค์กรโดยไม่ต้องสั่ง และจะสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความรัก” แบบนี้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป


ผู้นำในยุค AEC นอกจากจะมีทักษะในด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว จึงต้องมีทักษะในด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศ

โดยเฉพาะ “ทักษะการสื่อสารและการฟัง” (Communication & Listening Skill) ถือเป็นทักษะหลักที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องให้ความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงจะสร้างแรงบันดาลใจและปลุกศักยภาพในผู้คน และนำพาองค์กรฟันฝ่าความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของกระแสธุรกิจในอนาคตได้ต่อไป

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

ขอแนะนำ หลักสูตร “ ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค AEC” โดย “เรือรบ”   

เน้น Workshop เพื่อฝึกทักษะการฟังและสื่อสารขั้นสูง และเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำ ให้สามารถนำไปใช้ได้ทันที

9 ก.ค. นี้ หลักสูตร 1 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป คลิกที่นี่

หลักสูตร In House 2 วัน สำหรับองค์กร คลิกที่นี่

ไดอะล็อคในองค์กร (1)

ในตอนนี้ เราจะมาดูรูปแบบในการทำไดอะล็อคในหน่วยงานหรือองค์กร ไว้ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลองนำไปใช้

เพื่อให้พอเห็นภาพจะบรรยายไปตามลำดับเหตุการณ์ พึงระลึกไว้ว่า การนำไปฝึกฝนและปฏิบัติเท่านั้น จึงจะทำให้เราสัมผัสไดอะล็อคได้อย่างแท้จริง แม้การอ่านอย่างตั้งใจ และมีความเข้าใจในทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็เป็นเพียง 10% ของประสบการณ์จริงเท่านั้น

การจัดสถานที่ ควรเลือกให้อยู่ในพื้นที่สงบปราศจากเสียงรบกวนและมีความสบายเพียงพอ โดยมากหากจะได้ผล จะจัดให้นั่งล้อมกันเป็นวงกลม โดยไม่มีโต๊ะหรือสิ่งขวางกั้นอยู่กลางวง หากเป็นไปได้ให้นั่งกับพื้นหรือบนเบาะรองนั่งเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียม โดยที่ไม่มีประธานของกลุ่ม

เพื่อความสะดวกสำหรับผู้เริ่มใหม่ อาจตั้งผู้มีประสบการณ์ในการทำไดอะล็อคคอยเป็นผู้อำนวยวงหรือเรียกสั้นๆว่า “ฟา (Facilitator) ” เพื่ออธิบาย คอยดูแลกติกาของกลุ่ม และจับประเด็นในการพูดคุย สมาชิกในการพูดคุยอาจเริ่มจาก 4-5 คน ไปจนถึง 20 คน

ระยะเวลาที่ใช้ ควรมีเวลาอย่างต่ำราว 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของกลุ่ม

โดยมากชั่วโมงแรกบรรยากาศจะยังอึดอัดและไม่คุ้นชิน (Stress) การสนทนาในวงจะเริ่มเลื่อนไหล (Flow) ในชั่วโมงที่สอง เมื่อเข้าสู่ชั่วโมงที่สาม จะเกิดการใคร่ครวญภายในตน และเริ่มดำดิ่งลงลึกในการค้นหาคำตอบของตัวเอง (Deep Inquiry) และโดยมากจะรู้สึกอิ่มเอมและผ่อนคลาย (Relax) ในตอนจบ โดยไม่จำเป็นต้องตกตะกอนความคิดได้ในทุกครั้งที่ทำ

การเปิดวงไดอะล็อค รอบแรกนิยมเริ่มด้วยการเช็คอิน (Check in)

นั่นคือการพูดแสดงความรู้สึกสดๆในขณะนั้นทีละคน เพื่อเป็นการให้กลับมาสัมผัส รับรู้และมีสติอยู่กับปัจจุบัน อาจพูดถึงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นกังวลในขณะนั้นก็ได้ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสามารถละวางเรื่องราวภาระหน้าที่ต่างๆไว้นอกวงได้ชั่วคราว ให้รู้สึกว่าตนได้วางตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิวัยวุฒิ ยศฐาหรือฐานะลงไว้ก่อน รู้สึกเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมวง รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยในรอบต่อไป

รอบที่สอง พูดตามใจโดยไม่มีหัวข้อ หรือ Free Talk

หลังจากเช็คอินครบทุกคนแล้ว ให้เริ่มผลัดกันพูดทีละคน โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ใครจะสมัครใจพูดก่อนก็ได้ รอให้คนหนึ่งพูดจบก่อน แล้วอาจยกมือพอให้เป็นสัญญาณว่าเราขอเป็นคนพูดต่อไป โดยอยากจะพูดหัวข้อใดก็ได้ตามใจ ไม่จำเป็นต้องพูดหัวข้อเดียวกัน อยากจะเปลี่ยนหัวข้อ ข้ามหัวข้อ เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะความตั้งใจในการคุย เราไม่ได้มาฝึกพูด แต่เรามาฝึกที่จะ “ฟัง”

ใครไม่พร้อมก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนที่เหลือก็เป็นผู้ฟังที่ดี ระหว่างที่ฟังนั้น ให้สังเกตอารมณ์ความรู้สึกภายในใจของตน สังเกตสิ่งที่ได้ยินและสิ่งที่เราตีความ การตัดสินถูกผิด ความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย

ยิ่งเราอึดอัดขัดข้อง อยากพูดค้านมากเท่าใด แสดงว่าเราสามารถจับการตัดสินของตนเองได้แล้ว ให้โอกาสตนเองได้ห้อยแขวนคำตัดสินนั้นไว้ก่อน แล้วฟังต่อจนจบ

การสนทนาแบบใหม่เช่นนี้ อาจทำให้อึดอัดและรู้สึกฝืนในช่วงแรก

แต่หากเราทำได้ จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดเสมอกัน เป็นการสร้างพื้นที่ที่เท่าเทียมและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หากเป็นวงสนทนาเพื่อทำการจัดการความรู้ (KM) ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดสามารถค่อยๆลำเลียงองค์ความรู้ภายในออกมาได้ เรายังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะจะปิดกั้นความรู้สึกอยากแบ่งปันออกไป

ยิ่งการหาไอเดียใหม่ๆด้วยระดมความคิด (Brain Storming) โดยใช้วิธีนี้ยิ่งจะมีประโยชน์ เพราะความเห็นเพียงเล็กๆกับเรื่องง่ายๆหรือเรื่องธรรมดาๆ ก็อาจเปิดช่องให้สร้างโอกาสหรือความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม หากเราด่วนทำการตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใดๆ อาจทำให้ผู้คนเสียความรู้สึก และไม่อยากเสนอความคิดอื่นๆอีกเลยก็เป็นได้

การดำเนินการพูดคุยในวง ก็จะเป็นไปอย่างธรรมชาติ วนไปเรื่อยๆ จนครบเวลา โดยในตอนหน้า จะอธิบายถึงตอนจบและประโยชน์ของกระบวนการนี้ต่อไป

………………..

(ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)

ไดอะล็อคในองค์กร (2)

ต่อจากตอนที่แล้ว เรากำลังกล่าวถึงการนำกระบวนการไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งสิ่งที่แปลกไปกว่าการสนทนาหรือการประชุมทั่วไปก็คือ ในวงไดอะล็อค จะไม่มีหัวข้อในการพูดคุย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องตั้งหัวข้อมาก่อน

ความน่าฉงนของบทสนทนาที่ไม่มีหัวข้อ

เราจะพบว่า เมื่อแต่ละคนพูดเรื่องบางอย่างออกมา ตอนแรกอาจดูไม่เกี่ยวกัน ไปคนละทิศละทาง แต่พอผลัดกันพูดวนไปสักรอบหรือสองรอบ อาจมีหัวข้อบางเรื่องที่กลายเป็น “วาระร่วม” หรือความสนใจร่วมในที่สุด เมื่อนั้นก็จะเกิดการเลื่อนไหลอย่างรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

อย่างไรก็ตาม หากเราจะมีจุดประสงค์ที่จะประยุกต์ใช้รูปแบบของการไดอะล็อค มาทำ KM หรือมาประชุมหารือใดๆ ก็อาจตั้งหัวข้อได้เช่นกัน แต่ถ้าหากมีการถกเถียงกันหรือต้องหาข้อยุติด้วยการโหวต หรือคำตัดสินของคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องประกาศและยอมรับการประชุมนั้นว่าได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการอภิปราย หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่การไดอะล็อคอีกต่อไป

พูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ด่วนสรุป ห้อยแขวนคำตัดสิน

ในระหว่างที่พูดคุยทำไดอะล็อคกัน หากใครต้องการจะเสนอความคิดที่ตนเองกลั่นกรองหรือตกผลึกได้ ก็ควรพูดในลักษณะที่เป็นความเห็นเฉพาะตน ไม่ยัดเยียดข้อสรุปนั้นให้ใคร ไม่ฟันธง อาจทิ้งท้ายว่า มั้ง รึเปล่า เพื่อเตือนสติตนเองว่า ความคิดของตนนั้นไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปก็ได้

หากเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่าตนคิดถูกเสมอ เราก็จะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งยังปิดโอกาสที่จะเข้าใจหรือยอมรับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป ซึ่งนั่นเป็นชนวนบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งระหว่างคู่สนทนา แต่หากเมื่อใดเราห้อยแขวนคำตัดสินได้ รับฟังเขาอย่างเต็มที่ แม้ภายหลังเรายืนกรานความคิดเรา อีกฝ่ายก็ย่อมยินดีจะเข้าใจมากกว่าที่เราปิดใจ รีบเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์ทันทีที่ยังไม่ทันฟังจนจบ ซึ่งล้วนเห็นในบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน


 

รอบสุดท้าย คือการ Check Out

เมื่อสมควรแก่เวลา ผู้อำนวยวงหรือฟา (Facilitator) ก็จะเชิญผู้ร่วมวงเช็คเอาท์ (Check out) ซึ่งก็คือการพูดถึงคุณค่าที่ตนได้รับจากการพูดคุยในครั้งนี้ รวมไปถึงสิ่งใดๆที่อยากพูดเพื่อให้รู้สึกเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ไม่ค้างคาใจ (Completion)

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากไดอะล็อคกันได้นานและลงลึกพอ สมาชิกในวงจะพบกับความอิ่มเอมใจ เพราะการสนทนานั้นจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีคุณค่าและมีความหมาย

เพียงระยะเวลาสั้นๆ เราจะได้รู้จักเพื่อนร่วมวงในมุมใหม่ที่ลึกซึ้งอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน การได้สัมผัสอารมณ์เบื้องลึกและคุณค่าในใจของกันและกัน ทำให้รู้สึกสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น อีกทั้งตลอดเวลาในการทำไดอะล็อคนั้น เราจะได้รับการรับฟังอย่างใส่ใจ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

เพียงแค่การรับฟังอย่างตั้งใจก็เปรียบเสมือนคำชื่นชมและการยอมรับ โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องกล่าวคำเยินยอหรือใช้คำพูดหวานหูใดๆเลย

เมื่อทุกคนเช็คเอาท์ครบแล้ว ฟาก็อาจเชิญทุกคนคารวะให้กัน เป็นแสดงการขอบคุณด้วยการโค้งงามๆในท่านั่งให้แก่กันและกัน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ


มหัศจรรย์ผลลัพธ์ของการไดอะล็อค

ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แต่ในช่วงเวลาแห่งการสนทนาเท่านั้น โดยมากผู้คนรายงานว่า หลังจากจบการไดอะล็อคแล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เพียงหนึ่งวันหรือสองวัน อยู่ๆพวกเขาก็จะเกิดญาณทัสนะหรืออาการปิ๊งแว้บบางอย่างขึ้นมา และสามารถแก้ไขโจทย์ที่ตนขบคิดไว้มานานก่อนการไดอะล็อคได้

นั่นเป็นเพราะมนุษย์เราต่างมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตและจิตใจใกล้เคียงกัน การสนทนาที่ผ่อนคลายก็นำพาองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันอยู่ในวงนั้น ให้เลื่อนไหลเข้ามาสู่จิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เมื่อมันเพาะบ่มได้ที่ หากมีปัญหาก็ถึงเวลาที่ปัญญาจะเผยออกมา

สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่อาจมีปัญญาหาคำตอบได้เลยหากเราคิดเพียงคนเดียว เพราะถ้าหากเรารู้คำตอบอยู่แล้ว หรือหาคำตอบได้เอง นั่นก็จะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง หรือไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่อะไรนัก

แต่ปัญหาชีวิตหรือปัญหาสำคัญที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถขบคิดได้ด้วยตนเอง หากจะเกิดจากการตกผลึกจากกระบวนการคิดร่วมกัน ได้ค้นพบปัญญาญาณร่วม หรือ Collective Wisdom ในวงไดอะล็อคนั่นเอง

( ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)


 

ไดอะล็อค: บริหารงานได้ผล คนเป็นสุข

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นผู้บริหารองค์กร คือ “การฟัง”

มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้ประสิทธิภาพการฟังของผู้บริหารลดลง อาจเป็นด้วยเวลาจำกัดและภาระงานที่มาก หรืออาจะเป็นประสบการณ์ ความรู้ ความอาวุโส ทำให้พอฟังยังไม่ทันจบก็รีบตัดบท เพราะคิดว่า “รู้อยู่แล้ว“ ดังนั้นดูเหมือน ยิ่งอาวุโสมาก มิติการฟังยิ่งลดลง เป็นสัดส่วนผกผันกันไป

และคงปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ในองค์กรมีการฝึกทักษะการทำงาน การพูด และทักษะอื่นๆอีกมากมาย แต่สำหรับทักษะการฟังนั้น ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เรื่องการฟัง ไม่เห็นความจำเป็นต้องฝึกเลย

ผลกระทบที่พบได้ คงจะไม่พ้น “ปัญหาเรื่องคน” ซึ่งปัญหาใหญ่ๆมักจะเริ่มด้วยสาเหตุเล็กๆ เช่น การสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกันในการทำงาน
ก่อตัวเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย นานเข้าเกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ส่งผลให้เกิดการขาดประสิทธิภาพการทำงานและการประสานงาน และจบลงด้วยอัตราการลาออกที่เพิ่มสูง

ในแต่ละปีองค์กรต้องสูญเสียคนเก่งและมีความสามารถไป เพราะเรื่องสาเหตุเล็กนิดเดียว คือ “เราไม่ฟังกัน” สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ แต่จะมีทางแก้ไขอย่างไร….


ไดอะล็อค คือ การสนทนาด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง และไม่ด่วนตัดสิน

ซี่งเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ใช้ในการฝึกทักษะการฟัง เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทีมงานอีกด้วย มีกรณีศึกษาตัวอย่าง จากผู้บริหารธุรกิจวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลงานชนะเลิศด้านพลังงานระดับอาเซียนถึง 6 ปีซ้อน ผู้บริหารหญิงวัย 59 ปีท่านนี้ มาฝึกไดอะล็อคกับผมอย่างต่อเนื่อง แล้ววันหนึ่งก็เขียนจดหมายมาเล่า ว่าได้นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างไร ต่อไปนี้เป็นเนื้อความบางส่วนในจดหมายของท่าน

“โดยทั่วๆไปแล้วในการทำงาน เมื่อเราคุยกับลูกน้องเราจะฟังไปคิดไป มีข้อมูลมากมายวิ่งอยู่ในหัว และยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่หรือความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมาเกี่ยวด้วย ทำให้ยิ่งต้องคิดหนักไม่เคยได้ตั้งใจฟังจนจบ เราก็มักจะมีข้อมูลที่แน่นหนา พร้อมสวนกลับทันทีที่ได้ยินอะไรไม่ถูกไม่ควร กติกาที่สำคัญในการไดอะล็อคคือ การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน

เพราะในการตัดสินเราจะต้องวิเคราะห์หาเหตุและผล ใช้ความคิดมากในขณะรับฟัง เมื่อได้นำทักษะการฟังจากไดอะล็อคมาใช้ในการทำงาน ทำให้เรามีความช้าลงในการตัดสิน ไม่คอยจ้องแต่จะสอนงานหรือจับผิดอย่างเดียว มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของลูกน้องจนจบ

เมื่อเราลดการตัดสินความคิดเห็นของพวกเขา ทำให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายตามไปด้วย เกิดผลดีคือได้ความคิดเห็นที่ดีๆมากขึ้นหลากหลายขึ้น ลูกน้องเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องแนะนำมาก มันจึงช่วยลดภาระในการตัดสินใจเพราะเขาจะกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ใจเราโล่งได้ระดับหนึ่ง และถ้าทำได้มากขึ้นใจคงเบาสบายมากขึ้น

ประสบการณ์จากการร่วมวงไดอะล็อค ทำให้เราได้ฝึกความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก่อนที่จะตัดสิน ด้วยการค้นหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ ก่อนที่จะเชื่อ ทำให้ดิฉันเริ่มระมัดระวังและเตือนตัวเองให้รู้จักแยกแยะ ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินนั้น เป็นข้อมูลจากความจริง หรือเป็นความคิดเห็นจากการตีความของผู้พูดเอง ซึ่งเมื่อนำไปใช้ ก็จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในสิ่งต่างๆอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ลำเอียงเข้าข้างความคิดเห็นฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือกระทั่งลำเอียงเข้าข้างความคิดตัวเอง

ความรู้สึกที่เคยหนักอึ้ง มาจนถึงปลายทางของชีวิตการทำงาน แต่เมื่อได้มาพบหนทางแห่งการฝึกตน ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะนำมาใช้ ในช่วงเวลามีค่าที่เหลืออยู่ คงทำให้ดิฉันได้ก้าวไปในการเดินทางแห่งความสุขบ้างก็เป็นได้”

จากกรณีศึกษาจะเห็นว่า “ทักษะการฟัง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญของภาวะผู้นำ

การที่ผู้บริหารปรับทัศนคติและพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยในการพัฒนาทีมงาน ส่งเสริมให้ลูกน้องคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และภาคภูมิใจในตนเองได้

หากได้มีการนำไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ส่งผลกระทบสูง นอกจากจะได้ประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานแล้ว จะได้เรื่องการจัดการความขัดแย้ง การบริหารความสัมพันธ์ เป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำ ค่านิยมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในระยะยาว

เรียกว่า งานได้ผล และคนก็เป็นสุข ไปพร้อมๆกัน…

บทความโดย เรือรบ


 

สนใจฝึกไดอะล็อค แนะนำคอร์ส “Dialogue & Deep Listening: ศิลปะแห่งการสื่อสารและการฟัง”

โปรโมชั่นพิเศษ มา 2 จ่าย 1 สำหรับ 10 ท่านแรกเท่านั้น คลิกที่นี่

หลักสูตร In house สำหรับการอบรมในองค์กร คลิกที่นี่

4 ขั้นตอนใช้จัดการ เมื่อมีใครทำให้คุณโกรธ

ภ เทคนิคจัดการ เมื่อใครทำให้คุณโกรธ

ในแว่บแรกเมื่อมีใครสักคนทำให้คุณไม่พอใจ โกรธ เจ็บปวด คุณคงคิดที่จะตอบโต้ หรือหาทางแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม ผมเองก็เป็นเช่นนั้น

มันเป็นปฏิกริยาโต้ตอบที่เป็นอัตโนมัติของมนุษย์ ถ้าสู้ได้ก็ลุย ถ้าดูแล้วสู้ไม่ได้หรือไม่เหมาะสม ก็ค่อยหาทางแก้แค้นวันหลัง สัญชาตญาณนี้มันถูกฝังอยู่ส่วนลึกสุดของสมองของเรา คงยากที่จะปฏิเสธได้

แต่ทุกๆครั้งที่ผมคิดแก้แค้น ตอบโต้ หรืออยากทำสิ่งร้ายๆกับใครสักคน ผมพบว่า ความโกรธแค้น เหล่านั้น ไม่ได้ลดลงไป แต่มันกลับกัดกินในใจหนักกว่าเดิม ผมจึงค่อยเริ่มเข้าใจว่า…

“ศัตรูที่ต้องจัดการไม่ใช่คนที่ทำให้เราเจ็บ แต่เป็นความโกรธเกลียดในใจของเราต่างหาก”

ต่อไปนี้เป็น 4 ขั้นตอนที่ผมใช้จัดการอารมณ์ และจิตใจของตัวเองเวลาโกรธ ซึ่งผมเรียกมันว่า Inner Listening หรือ การรับฟังเสียงภายใน

1.รับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ เรามักกระโจนไปสู่วิธีการจัดการ สมองคิดจากอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน นั่นทำให้เราคิดไปสารพัด ถึงสิ่งไม่ดีของอีกฝ่าย ที่เราได้รับรู้มาตลอด เรียกว่า ยิ่งคิดยิ่งแค้น

“เมื่อไม่พอใจ ให้รับรู้อารมณ์ อย่าจมอยู่กับความคิด”

สิ่งแรกที่เราควรทำ จึงควรเป็นการกลับมารับรู้อารมณ์ของเรา ว่ากำลัง หงุดหงิด โกรธ ไม่พอใจ มากแค่ไหน มองดูตัวเองเหมือนว่าเราดูหนังบู๊สักเรื่องหนึ่งอยู่ ว่าพระเอกกำลังฉุนได้ที่เลย

การรับรู้อารมณ์อาจจะไม่ง่ายนักในช่วงแรก อาจฝึกจากการรับรู้ร่างกายก่อน เช่น สังเกตเห็นความร้อนผ่าวของเลือดที่สูบฉีดขึ้นหน้า รับรู้ถึงลมหายใจฟืดฟาดที่รุนแรง อาการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย นั่นทำให้เรารับรู้ตัวเองได้มากขึ้น


2. ยอมรับอารมณ์นั้น

หลายครั้งเมื่ออารมณ์ขึ้น เราจะไม่ยอมให้มันอยู่ในตัวเรา เราจะระบายอารมณ์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ระบายออกด้วยการขว้างปาข้าวของ ปิดประตูเสียงดัง บีบแตรเสียงดัง ตะโกนดังๆ แต่นั่นไม่ใช่วิธีทำให้อารมณ์ลดลง

บางคนทำตรงข้าม พยายามควบคุมอารมณ์ ระงับมันด้วยการเก็บกดเอาไว้ แต่คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนขี้บ่น ขี้ฟ้อง ขี้น้อยใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น หรือไปออกอาการโวยวายกับคนใกล้ตัวแทน

เราไม่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ เพราะอารมณ์นั้น ควบคุมไม่ได้

“ยิ่งใช้อารมณ์ มันจะยิ่งบานปลาย เราแค่ยอมรับมันให้ได้ก็พอ”

เริ่มจากขั้นที่ 1 คือ รับรู้ว่าเรามีอารมณ์ จากนั้นก็ยอมรับให้อารมณ์เหล่านั้นแสดงตัว แล้วค่อยๆเห็นมันเปลี่ยนแปลงไปเอง ตามธรรมชาติ

โอบอุ้มอารมณ์ ให้เหมือนเราอุ้มทารกน้อย ให้อยู่ในอ้อมกอดของมารดา เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์โกรธนั้นจะค่อยๆลดลงเอง โดยที่เราไม่ต้องไปจัดการใดๆเลย


3. สำรวจความต้องการ

แม้ว่าอารมณ์ลดลงแล้ว แต่ปัญหาและคู่กรณีที่ค้างคา ยังแก้ไขไม่ได้ หลายคนพยายามแก้ปัญหา ด้วยการคิดบวก มองในด้านดีของคนๆนั้น หรือหาข้อดดีอื่นๆมาชดเชย

บางทีก็พยายามหาวิธีคิดใดๆ มาปลอบใจตัวเอง บอกกับตัวเองว่า มันคงเป็นกรรมเก่าละมั้ง เจ้ากรรมนายเวรเก่าละสิ ดวงตกมั้ง ฟาดเคราะห์ไปละกันเรา

การคิดบวก มันช่วยเราได้แค่เพียงชั่วคราว เพราะในส่วนลึก เราก็ยังไม่โอเค เราอาจหลอกคนอื่น ฝืนยิ้มได้ ทำว่าตอนนี้ชีวิตดี๊ดี แต่เราหลอกข้างในของตัวเองไม่ได้แน่นอน

บางคนพยายามหาทางที่จะลืม ด้วยการไปหาของกินอร่อยๆ ไปช้อปปิ้งของสวยๆ หรือไปกินเหล้าย้อมใจให้ลืมเธอ นั่นก็ไม่ใช่วิธีทำให้ปัญหาหมดไป (ส่วนใหญ่จะเพิ่มปัญหาใหม่ๆเข้ามา)

“สิ่งที่แย่กว่าในการพยายามลืม คือมันจะยิ่งจำฝังแน่นขึ้นอีก”

วิธีการแก้ปัญหาขั้นที่ 3 คือ เมื่ออารมณ์ลดลงแล้ว คือการกลับมาคุยกับตัวเอง ด้วยการ “สำรวจความต้องการ” ที่อยู่ลึกๆในใจเรา

ลองหากระดาษว่างๆ นั่งเขียนทบทวนตัวเองว่า สาเหตุที่เราโกรธ ไม่พอใจ คนๆนั้นเค้าทำอะไรที่ขัดกับ “คุณค่า” ที่เรายึดถือ หรือสวนทางกับ “ความต้องการ” ในขณะนั้นของเรา

เขียนมาให้ชัด ว่าลึกๆแล้ว เราต้องการอะไร และถ้าเป็นไปได้ ลองพิจารณาด้วยว่า อีกฝ่ายกำลังต้องการอะไร จากเหตุการณ์นั้นๆด้วย


4. สื่อสารด้วย I Statement

หลายครั้งเมื่อเราได้กลับมาทบทวน จะพบว่า ความขัดแย้งต่างๆเกิดขึ้นเพียง การยึดถือคุณค่าที่ต่างกัน หรือมีความต้องการที่กันเท่านั้นเอง

หากเรารู้ความต้องการที่ชัดเจนของเราแล้ว อย่างน้อยก็จะเจอทางออกจากปัญหาได้ง่ายขึ้น

นี่แหละที่มีคำกล่าวว่า “เมื่อเจอปัญหา แล้วหาทางออกไม่ได้ ให้ไปออกที่ทางเข้า” ก็คือการกลับไปย้อนดูว่าทางเข้า หรือจุดเริ่มของปัญหาคือ ความต้องการ หรือคุณค่าใด ที่ไม่ตรงกันนั่นเอง

เมื่อเรารับรู้อารมณ์ ดูแลมันได้แล้ว เราสามารถมองเห็นความต้องการของตัวเองชัดเจน ก็ถึงเวลาสำคัญ คือขั้นตอนในการสื่อสารกับอีกฝ่าย

หลายๆคนคงเคยเรียนเรื่อง เทคนิคการพูดเจรจาต่อรอง การใช้วาทะศิลป์ในแบบต่างๆ แต่ผมพบว่าเทคนิคเหล่านั้น มันจะไม่ได้ผลเลย ถ้าหากคุณไม่สามารถพูดมันออกมาจากใจที่แท้จริง

การพูดจากใจที่แท้จริง คือ “การสื่อสารที่ความรู้สึก และความต้องการของเราตรงๆ”

ผมจะเรียกว่า เทคนิค I Statement คือ พูดจากตัวเรา ไม่ใช่กล่าวโทษอีกฝ่าย ไม่ใช่การสื่อสารด้วยความคาดหวัง หรือบอกวิธีการที่เราต้องการให้อีกฝ่ายทำ มาดูตัวอย่างต่อไปนี้

เหตุการณ์ที่ 1: เจ้านาย ต้องการจะตักเตือนลูกน้องที่ทำงานบกพร่อง

คุณเคยคิดบ้างมั้ยกับสิ่งที่ทำลงไป ผมหวังว่าคราวหลังคุณควรจะคิดให้ถี่ถ้วนกว่านี้ (กล่าวโทษ)

ผมรู้สึกเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ผมต้องการหาวิธีที่เราจะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน  (I Statement)

เหตุการณ์ที่ 2: อยากจะบอกตรงๆว่า ไม่ชอบนิสัยบางอย่างของเพื่อนร่วมงาน

อย่ามาทำนิสัยแบบนี้กับฉันได้มั้ย เป็นใครก็ไม่ชอบ ทำไมไม่คิดถึงใจคนอื่นซะบ้าง (กล่าวโทษ)

ฉันรู้สึกหงุดหงิดและไม่พอใจ ฉันต้องการความเคารพเท่าเทียม ในฐานะเพื่อนร่วมงาน (I Statement)

เหตุการณ์ที่ 3: ภรรยา รู้สึกน้อยใจ กับบางพฤติกรรมของสามี

ทำไมต้องบ่นต้องว่าฉันตลอด ใช่สิ ฉันมันไม่ได้เป็นที่คุณหวังไว้ ฉันคงไม่ดีพอสำหรับคุณ (กล่าวโทษ)

ฉันรู้สึกเสียใจและน้อยใจ ฉันต้องการการยอมรับ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรา (I Statement)

สรุปจากกรณีตัวอย่าง

การใช้ I Statement ต้องอาศัยการฝึกฝน เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนกับนิสัยตอบโต้ ซึ่งเป็นอัตโนมัติของเรา แม้ว่าการใช้ I Statement อาจจะยังไม่รู้ว่า หลังจากนั้นอีกฝ่ายจะตอบกลับมาอย่างไร จะออกหัวหรือออกก้อย แต่อย่างน้อยมันก็เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยที่ลงลึกมากขึ้น

มันจะไม่ทำให้อีกฝ่าย “ปกป้องตัวเอง” หรือ “การโต้ตอบที่รุนแรง” เพราะเราเป็นฝ่ายลดกำแพงลงและเปิดใจตัวเองออกไปแล้วนั่นเอง


คุณคงเคยตอบโต้กับเหตุการณ์ หรือผู้คนด้วยอารมณ์ ด้วยความรวดเร็ว คุณจะพบว่าหลายๆครั้งแล้ว แทนที่มันจะดีขึ้น มันกลับยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม นั่นเป็นเพราะอะไร

“คนขาดสติ ย่อมไม่อาจคิดอ่าน ที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม”

การฟังเสียงในใจ หรือ Inner Listening ก็คือการกลับมามีสติ รู้สึกตัวและใช้ปัญญาในการใคร่ครวญตัวเอง ก่อนที่จะสื่อสารออกไป

การแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุ ก็คือ เริ่มจัดการกับตัวเอง ก่อนที่จะจัดการกับคนอื่น

4 ขั้นตอนนี้ ไม่ได้ใช้เวลานาน ถ้าได้รับการฝึกฝนมาบ้าง ก็จะทำได้อย่างง่ายขึ้น

หากเพียงอ่านบทความนี้จบ อาจจะยังทำทั้ง 4 ขั้นตอนไม่ได้ทันที แต่อย่างน้อย เตือนตัวเองสักนิด ในครั้งหน้าเมื่อเราเริ่มอารมณ์ขึ้น ขอให้เราฝึกที่จะรับรู้อารมณ์ตัวเองให้ทัน

หยุดยั้งตัวเองแล้ว “ขอเวลานอก” ออกมาก่อนจะเหตุการณ์มันจะบานปลายรุนแรง

เมื่อเรามีเวลาได้อยู่กับตัวเอง การใช้เทคนิค “ฟังเสียงภายใน” ก็จะช่วยให้เราคลี่คลายสถานการณ์ในใจได้ดีขึ้นเอง และการสื่อสารหลังจากนั้น ก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นอย่างมาก

บทความโดย อ.เรือรบ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาการสื่อสาร และโค้ชนักเขียนมือโปร


สำหรับคนที่อยากแก้ปัญหาความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ปัญหาการสื่อสารในการทำงาน โดยใช้เทคนิคการ “ฟังเสียงภายในตนเอง Inner Listening” ผมกำลังจะมีคอร์สที่ลงลึกในเรื่องนี้

วันที่ 9 ก.ค.นี้ หลักสูตร “ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค AEC” โดย เรือรบ คลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่ 

 

 

10 กุญแจสำคัญไขประตูแห่งความสุข

10-tools-to-live-a-happy-life

คุณคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” กล่าวคือ ในชีวิตจริงเราไม่สามารถมีชีวิตที่สุขสบายเหมือนดั่งเจ้าหญิงและเจ้าชายในนิยาย บางครั้งเราพบเจอกับสิ่งที่สวยงาม แต่บางครั้งเราต้องเผชิญกับสิ่งเลวร้าย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชีวิตของเราจะมีทั้งสุขและทุกข์ แต่เราเลือกที่จะมีความสุขมากกว่าความทุกข์ได้ และกุญแจสำคัญที่จะช่วยคุณไขประตูแห่งความสุขได้ก็คือ “ทัศนคติ” ของคุณ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้ที่มองโลกในแง่ดีมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาว ส่วนผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายกลับมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น หากคุณต้องการทราบว่าตนเองเป็นคนมองโลกในแง่ดี หรือ มองโลกในแง่ร้าย ลองอ่านบททดสอบนี้ดู

หากมีแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วคุณจะมองมันอย่างไร ระหว่าง “มีน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว” กับ “มีน้ำหายไปครึ่งแก้ว” และคำตอบจะสะท้อนทัศนคติของคุณ หากคุณเลือก “มีน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้ว” คุณเป็นคนมองโลกในแง่บวก คุณชื่นชมและพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ในสถานการณ์นี้คุณรู้สึกว่าการมีน้ำเหลืออยู่ครึ่งแก้วดีกว่าการมีเพียงแก้วเปล่า ในทางกลับกัน หากคุณเลือก “มีน้ำหายไปครึ่งแก้ว” คุณเป็นคนมองโลกในแง่ลบ คุณสนใจในสิ่งที่ขาดหายไป ดังนั้น คุณจะพยายามไขว่คว้าหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย

เมื่อคุณรู้คำตอบแล้ว จงรักษาหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติของคุณให้กลายเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก หากคุณไม่รู้วิธีที่จะทำมัน บทความนี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณมีมุมมองในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเดิม และพบกับความสุขในชีวิต

1) มองหาด้านดี ๆ ในสถานการณ์อันเลวร้าย

ในแต่ละวัน คุณต้องพบเจอกับเรื่องราวทั้งดีและร้ายปะปนกัน และเพื่อสนับสนุนทัศนคติการมองโลกในแง่ดี เมื่อคุณเผชิญกับเหตุการณ์แย่ ๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดหรือโมโห ให้คุณพยายามคิดบวก มองหาด้านดีในสถานการณ์อันเลวร้ายนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเจอรถติดบนถนน แทนที่คุณจะบ่น ด่า หรือระบายความโมโหด้วยการบีบแตรเสียงดัง คุณอาจคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะใช้เวลาฟังเพลงโปรดของคุณให้นานขึ้น

2) ให้ความสนใจและชื่นชมกับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว

ท่ามกลางสังคมที่วุ่นวาย มนุษย์เราต่างดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุขในรูปแบบต่าง ๆ แต่หนึ่งในหลายวิธีที่ทำให้เราค้นพบความสุขก็คือ การได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และสนใจต่อสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว

ผู้ที่นับถือนิกายเซนมีความสุขจากการพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พวกเขาจะชื่นชม ซึมซับ และมีความสุขไปกับสิ่งที่แสนธรรมดาและเรียบง่าย ยกตัวอย่างเช่น การได้เห็นผีเสื้อกระพือปีกเบา ๆ หรือการเฝ้ามองสายฝนอันชุ่มฉ่ำ และคุณก็สามารถนำเอาวิธีนี้ไปใช้ได้เช่นกัน สิ่งนี้จะช่วยให้คุณมองเห็นปัญหาใหญ่ ๆกลายเป็นเรื่องเล็กในพริบตา

3) ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม กล่าวคือ โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน และต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นในยามที่เราประสบปัญหาในชีวิต เราย่อมต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และแน่นอนว่า หากเราเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก หรือเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือทางจิตใจ เราก็ควรที่จะช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นเช่นกัน

การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นทำให้เราได้พัฒนาความคิดด้านบวกของตนเอง ในทางกลับกัน คนที่คิดเอาแต่ได้ จิตใจจะเต็มไปด้วยกิเลสและความทุกข์ ต่างกับคนที่คิดจะแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่น พวกเขารู้จักและเห็นคุณค่าของการให้ และเมื่อเขาหยิบยื่นความปรารถนาดีให้กับผู้อื่นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่าเขาจะยิ่งได้รับสิ่งดี ๆ กลับคืนมา

4) ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ

ในสังคมสมัยใหม่ ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกนิยม แต่ละคนต่างยึดถือตัวเองเป็นที่ตั้ง ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อนสิ่งอื่นใด จนนำมาซึ่งสภาวะต่างคนต่างอยู่ในสังคม

อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ยังคงสามารถใช้ได้ตลอดกาล มนุษย์ต้องอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมและจริงใจ ยกตัวอย่างเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น หากคู่สนทนาของคุณกำลังประสบปัญหา คุณก็ควรที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจ รับฟังและให้คำแนะนำแก่เขาด้วยความจริงใจ นอกจากนี้หากคุณสามารถช่วยเหลือเขาได้ ก็ควรที่จะทำโดยไม่หวังผลตอบแทน

5) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

หากคุณนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในบ้านทั้งวันโดยไม่ทำอะไรเลย คุณจะกลายเป็นคนขี้เกียจและเฉื่อยชาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นคุณจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์

หนึ่งในวิธีการสร้างสุขภาพกายและใจที่ดี คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม คุณควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะสิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดีมีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวัน นอกจากนี้ คุณควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งจะทำให้คุณมีความสุขและผ่อนคลายความตึงเครียดได้

6) ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน

ครอบครัวและเพื่อนคือคนที่รู้จักคุณดีที่สุด พวกเขารักคุณอย่างไม่มีเงื่อนไข และเข้าใจคุณเกือบทุกเรื่อง ดังนั้นคุณจึงควรใช้เวลาอยู่กับพวกเขาบ้าง

การใช้เวลาร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวสามารถทำได้ตั้งแต่กิจกรรมเล็ก ๆ ภายในบ้าน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน ดูโทรทัศน์ร่วมกัน ไปจนถึงกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การไปท่องเที่ยว หรือการดูภาพยนตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะแบ่งเวลาให้กับกลุ่มเพื่อนของคุณด้วย เพราะมิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญ  มันไม่ได้หาได้ง่าย ๆ ดังนั้น เมื่อคุณเจอแล้ว จึงควรรักษาไว้ให้ดีที่สุด คุณอาจหาโอกาสพบปะสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนบ้าง สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดีและอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก

7) เดินตามความฝันและทำสิ่งที่คุณสนใจจริง ๆ

หลายคนทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่ต้องทำ จนทำให้ลืมไปว่าตัวเองสนใจและต้องการอะไรจริง ๆ ดังนั้น จงค้นหาสิ่งที่คุณรัก และเมื่อคุณเจอแล้ว จงทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง เพราะสิ่งนี้จะทำให้คุณมีความสุขและอิ่มเอิบใจ จงท่องให้ขึ้นใจว่าชีวิตของคนเราสั้นนัก ดังนั้น เราไม่ควรเสียเวลากับการทำสิ่งที่ฝืนใจตัวเอง

8) ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ แต่ต้องรู้ข้อจำกัดของตัวเอง

การทำกิจกรรมที่คุณชอบ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี หรือการท่องเที่ยวจะทำให้คุณพึงพอใจ และมีความสุข แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรทำสิ่งต่างๆอย่างสุดโต่งจนเกินไป เพราะนั่นจะทำให้คุณหมดสนุกและอาจทำให้คุณเครียดอีกด้วย ดังนั้น จงทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสมไม่มากหรือน้อยจนเกินไป กล่าวคือ การเดินทางสายกลางเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

9) อย่าระบายความโกรธให้ผู้อื่น

แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากจะมีหน้าตาบูดบึ้ง หรือเป็นคนอารมณ์ร้าย ดังนั้น เมื่อคุณรู้สึกโกรธหรือโมโหสิ่งใดก็ตาม อย่าระบายอารมณ์ของคุณกับผู้อื่น เพราะมันจะทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบไปด้วย ความโกรธเปรียบเสมือนวงล้อแห่งไฟ และเมื่อคุณผลักวงล้อนี้ไปยังผู้อื่น มันจะเผาผลาญและแสดงพลังต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง เพราะฉะนั้น หากคุณเริ่มหงุดหงิด ให้พยายามเบี่ยงเบนอารมณ์และระงับความรู้สึกนั้น โดยการคิดถึงสิ่งดีดป ๆ คุณอาจเดินออกไปข้างนอกเพื่อหลีกหนีจากสถานการณ์ตึงเครียดนั้น สูดลมหายใจลึกๆ จนกระทั่งความโกรธนั้นหายไป

10) ลดการรับสื่อที่ไม่มีประโยชน์

สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยสื่อมากมายหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น รายการทางโทรทัศน์ออกอากาศละครที่มีเนื้อหาไม่สร้างสรรค คลื่นวิทยุมักเปิดเพลงที่มีเนื้อหาด้านลบ เช่น เพลงอกหัก หลงรักคนมีเจ้าของ หรือเพลงที่มีเนื้อหาล่อแหลม สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตใจของคุณหม่นหมองและเป็นการยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้จิตใจของคุณมองโลกในแง่บวก คุณควรเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์และไม่ควรติดตามหรือเสียเวลากับสื่อที่ไม่มีประโยชน์

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://expandedconsciousness.com/2015/08/09/10-tools-to-live-a-happy-life/)

30 เรื่องจิ๋วแต่แจ๋ว ทำแล้วสุขสุดๆ

little-things-you-can-every-day-refresh-your-life

เชื่อว่าทุกคนเกิดมาคงเคยมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น บางคนทุกข์เนื่องจากกังวลว่าตนเองจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือประสบความสำเร็จมากพอหรือยัง บางคนมักเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆและมักรู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอหรือมีสิ่งที่ขาดหายไปบางคนเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย เจ้าคิดเจ้าแค้น เห็นแก่ตัว เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเรามีจิตใจโศกเศร้า หม่นหมอง หรือเกิดความทุกข์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จงอย่าลืมว่าชีวิตคนเราสั้นนัก อย่ามัวเสียเวลากับเรื่องที่ทำให้เราไม่สบายใจ เราควรใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่าและทำให้ตนเองมีความสุขมากที่สุดบทความนี้เปิดเผยเรื่องราวง่ายๆในชีวิตประจำวันที่คุณสามารถทำได้เพื่อเติมความสุขให้กับชีวิตของคุณ

1) ทำสิ่งที่คุณชอบทำตอนเด็กๆ เช่น นั่งชิงช้า เล่นเกม หรืออ่านหนังสือการ์ตูน คุณจะรู้สึกเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่ไม่ได้ทำมานาน และนั่นจะทำให้คุณยิ้มได้

2) ฟังเพลงอัลบั้มโปรดสมัยที่คุณยังวัยรุ่น และหวนรำลึกถึงช่วงเวลา ณ ตอนนั้น สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกเบิกบานใจและกระชุ่มกระชวย

3) เดินเตร็ดเตร่ยามเย็นในสถานที่ร่มรื่น เช่น อุทยาน หรือ สวนสาธารณะ คุณจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ และรู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้น

4) หากคุณมีโอกาส ลองเต้นหรือทำท่าทางแปลกประหลาด คุณอาจทำในครัว ริมถนน หรือในห้องน้ำ และเมื่อคุณได้ปลดปล่อย คุณจะอารมณ์ดีขึ้น

5) เดินสำรวจสถานที่ต่างๆในละแวกที่คุณพักอาศัยคุณอาจลองเข้าไปซื้อของในร้านใหม่ๆ หรือลองทานอาหารเมนูใหม่ๆ สิ่งนี้จะทำให้คุณพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ และคุณอาจจะพบสิ่งที่คุณกำลังตามหาก็ได้

6) ชงเครื่องดื่มร้อนๆถ้วยโปรด เช่น ชา โกโก้ หรือช็อคโกแล็ตและนั่งจิบมันอย่างช้าๆบนโซฟา แค่นี้คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจแล้ว

7) ลองเล่นโยคะหรือออกกำลังกายเบาๆ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกดีและกระฉับกระเฉงมากขึ้น

8) ฟังเพลงโปรดพร้อมๆกับจุดเทียนหอมในห้องนอนของคุณ เมื่อประสาทสัมผัสทางการได้ยินและได้กลิ่นทำงาน คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย

9) เขียนสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ 3 สิ่งในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อย เช่น ขนมชิ้นเล็กๆที่ทำให้คุณอิ่มท้อง ไปจนถึงบุคคลที่คุณรักเช่นเพื่อนหรือครอบครัว

10) ทำสิ่งที่คุณรักและมีความสำคัญกับคุณ เช่น การเขียนหนังสือ การเล่นดนตรี การปลูกต้นไม้ หรือการทำงานฝีมือ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้คุณได้พักผ่อนหย่อนใจ และช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

11) ร้องเพลงที่คุณชอบ เพราะคุณจะรู้สึกผ่อนคลายและได้ปลดปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงเพลง

12) ลองรับประทานอาหารเช้าบนเตียงสักครั้ง อย่าลืมว่าต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์และรสชาติอร่อย สิ่งนี้ช่วยให้คุณเริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างสดใส

13) ลองปลูกต้นไม้ หรือดอกไม้บ้าง เพราะมันจะช่วยให้คุณใจเย็นลง แต่หากบ้านของคุณไม่มีสวน คุณอาจลองเลี้ยงต้นไม้ที่ปลูกในร่มได้

14) ทำอาหารจานโปรดทานเอง โดยใส่ใจกับขั้นตอนการปรุงและการรับประทานอาหาร ซึ่งคุณจะพบว่าอาหารช่วยให้คุณผ่อนคลาย และอารมณ์ดีขึ้นได้

15) เยี่ยมชมสถานที่สาธารณะบริเวณใกล้ๆชุมชนที่คุณอาศัยอยู่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือสวนสาธารณะ สถานที่เหล่านี้จะทำให้คุณพบกับประสบการณ์แปลกใหม่

16) หากคุณมีสัตว์เลี้ยง จงให้เวลากับมัน โดยการกอดมัน พามันไปเดินเล่น หรืออาบน้ำให้มัน

17) การวาดภาพ หรือระบายสีสามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายและทำให้คุณเกิดจินตนาการใหม่ๆได้ แต่หากคุณไม่มีเวลามากนัก เพียงแค่สเก๊ตช์ภาพเร็วๆก็ได้

18) ในตอนต้นสัปดาห์ คุณอาจทำของว่างที่อร่อยและมีประโยชน์ เช่นขนมปังธัญพืช เพื่อที่ตลอดทั้งสัปดาห์คุณจะมีของทานเล่นที่สามารถรองท้องและทานได้ในทันที

19) ใช้เวลากับเพื่อนหรือคนที่คุณรัก โดยการทานข้าวร่วมกัน ดูโทรทัศน์ร่วมกัน หรือฟังเพลงร่วมกัน สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก

20) เริ่มอ่านหนังสือเล่มใหม่ที่คุณยังไม่เคยอ่าน และคุณจะพบเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย

21) เมื่อคุณมีโอกาส ลองกล่าวชื่นชมและขอบคุณเพื่อนหรือผู้ร่วมงานของคุณ แน่นอนว่าพวกเขาจะรู้สึกดีเมื่อได้รับคำชม และนี่เป็นวิธีการเผื่อแผ่ความสุขให้กับคนรอบข้างอีกทางหนึ่ง

22) หากคุณตื่นขึ้นมาและพบว่าเป็นวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส และปลอดโปร่ง คุณควรออกไปทานข้าวนอกบ้าน เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศดีๆเหล่านั้น

23) ทำขนมที่คุณชอบและแบ่งให้กับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ เพราะ “การให้” จะทำให้คุณรู้สึกดี สบายใจ และมีความสุข

24) ผ่อนคลายตัวเองด้วยการหมักผม มาสก์หน้า หรือนวดน้ำมัน กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจเหล่านี้ทำให้คุณมีความสุขได้เช่นกัน

25) ทำงานอดิเรกที่ช่วยพัฒนาให้คุณมีทักษะใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ เช่น การเย็บปักถักร้อย การปลูกต้นไม้ การเล่นดนตรี เป็นต้น

26) ในช่วงเวลาของการอาบน้ำ คุณอาจจะตีฟองนุ่มๆและจุดเทียนหอมเพื่อการผ่อนคลาย

27) ลองยิ้มให้กับคนแปลกหน้าที่คุณพบเจอตามถนน แล้วคุณจะพบว่ามิตรภาพดีๆสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

28) การสัมผัสกับความสวยงามของธรรมชาติ เช่น การชมพระอาทิตย์ขึ้น หรือชมพระอาทิตย์ตกสามารถสร้างความสุขและความประทับใจให้คุณไม่รู้ลืม

29) ชมภาพยนตร์สนุกๆหรือตลกๆที่ทำให้คุณยิ้มได้ วิธีการนี้ช่วยให้คุณได้ปลดปล่อยความเครียดที่สะสมมานาน

30) ติดต่อกับคนที่คุณไม่ได้ติดต่อมานาน เช่น เพื่อนสมัยมัธยม หรือเพื่อนร่วมงานที่เก่า แล้วคุณจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://www.lifehack.org/309278/little-things-you-can-every-day-refresh-your-life)

4 นิสัยสร้างสุขที่คุณทำได้ ง่ายกว่าที่คิด

“ความสุขไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของเราเอง” – องค์ดาไล ลามะ

คุณไม่สามารถมีความสุขได้ตลอดเวลา แต่คุณสามารถที่จะเรียนรู้การมีความสุขผ่านช่วงเวลาที่ดีและร้ายในชีวิต มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณไม่มีความสุขเพราะเจ้านายคุณงี่เง่า แฟนคุณไม่ได้ดั่งใจ หรือเพื่อนคุณพูดอะไรขัดหู แต่ทั้งหมดนั้นมันมาจากตัวคุณเอง คุณไม่มีความสุขกับงาน คุณไม่มีความสุขกับเรื่องต่างๆ เพราะตัวคุณ และใจคุณเองเป็นคนกำหนด

ความสุขของคุณอาจไม่ใช่ความสุขของคนอื่น หรือความสุขของคนอื่นอาจเป็นความทุกข์ของคุณ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กัน คุณไม่สามารอยู่คนเดียวได้โดยไม่พึ่งพาคนอื่น ด้วยสังคม อาชีพ หน้าที่การงาน และความรับผิดชอบ อาจทำให้คุณและคนรอบตัวคุณเกิดผิดใจกัน หรือ ทำให้เกิดความสุขน้อยลง จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และจุดแตกหักภายหลัง เราไม่สามารถควบคุมความสุขจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ แต่เราสามารถควบคุมตัวเราเอง โดยการสร้างพฤติกรรมที่ทำให้เรามีความสุขจำภายในได้

พฤติกรรมที่ทำให้คุณมีความสุข

คุณสามารถมีความสุขจากสิ่งเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันของคุณได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณมองข้าม และคุณไม่จำเป็นต้องใช้เงินฟุ่มเฟือย หรือ ใช้แรงกายมากมายในการสร้างความสุขเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคุณ

1.เขียน 3 สิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขในแต่ละวัน

คุณอาจเริ่มการจดบันทึก หรือ เขียนสิ่งที่ทำให้คุณยิ้ม หัวเราะ หรือมีความสุขในวันนี้ คุณแค่ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง และทบทวนว่าวันนี้คุณทำอะไรบ้าง สิ่งไหนที่ทำให้คุณรู้สึกดี และสิ่งไหนที่คุณไม่ชอบ ทำให้คุณอึดอัด กังวล หรือคิดมาก คุณจะค้นพบตัวเองว่าคุณชอบทำอะไร และอะไรคือสิ่งที่สร้างความสุขให้คุณในแต่ละวัน มันไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้คุณยิ้มได้ มันอาจเป็นอะไรเล็กๆน้อยๆ ระหว่างวันก็ได้ ขอเพียงแค่คุณรู้สึกดีกับมันก็พอ

2.ช่วยเหลือผู้อื่น

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณนึกถึงแต่ตัวเอง ทำทุกอย่างทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก เมื่อนั้นคือคุณกำลังเป็นคนที่ไม่มีความสุข เพราะคุณมองแค่มุมเดียวจากตัวเอง อะไรที่ไม่ได้ดังใจ หรือขัดใจ จะทำให้คุณมีอารมณ์ขุ่นมัว และรู้สึกหงุดหงิด แต่ถ้าคุณลองเปิดใจ ลองมองโลกในมุมของคนอื่น คุณจะเห็นความทุกข์ของคนอื่น และรู้ดีว่าคุณโชคดีกว่าพวกเขามากแค่ไหน คุณสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น การให้โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน และเห็นคนที่คุณช่วยเหลือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการช่วยเหลือของคุณ คุณจะรู้สึกอิ่มเอม ตื้นตัน และมันเป็นความสุขที่ไม่สามารถซื้อได้

3.ทำสมาธิ

การทำสมาธิ คือพื้นฐานที่จำเป็นของชีวิต และคุณควรฝึกเป็นนิสัย การทำสมาธินอกจากทำให้จิตใจคุณสงบ รู้สึกผ่อนคลาย มันยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คุณได้อยู่กับความคิด และอยู่กับตัวเองจริงๆ ทำให้คุณมีสติรับรู้ ตกผลึกทางความคิดมากขึ้น การทำสมาธิทำให้คุณใช้ชีวิตและให้ความสำคัญกับคำว่าปัจจุบัน เพราะความทุกข์ที่เกิดส่วนใหญ่ในใจคุณมักมาจากการที่ไม่สามารถลืมอดีตอันเจ็บปวด หรือการกังวลไปกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง การทำสมาธิจะทำให้คุณลดความกังวลและอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น การทำสมาธิสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และไม่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนใดๆ นอกจากต้นทุนเวลา คุณสามารถฝึกสมาธิแค่เพียง 2 นาทีต่อวัน เพียงแค่คุณสังเกตและพิจารณาลมหายใจเข้าออก คุณก็จะรับรู้ถึงความสงบสุขในใจได้

4.ออกกำลังกาย

ทุกคนรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งดี แต่การออกกำลังกายไม่ได้ทำให้ร่างกายคุณกระปรี้กระเปร่าเท่านั้น แต่ยังทำให้จิตใจคุณปลอดโปร่งอีกด้วย การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายของคุณหลั่งฮอร์โมนซึ่งเป็นสารความสุข ทำให้คุณรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ถ้าคุณไม่ได้ออกกำลังกายเป็นนิสัย คุณสามารถเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆก่อนก็ได้ เพื่อให้ร่างกายคุณเริ่มชินและให้เวลากับคุณในการปรับตัว ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องออกกำลังกายเป็นชั่วโมง คุณสามารถแบ่งเวลาการออกกำลังกายได้แค่ 5-10 นาที ที่บ้าน ถึงแม้ว่าคุณจะยุ่งมากแค่ไหน แต่คุณก็ควรจัดตารางเพื่อการออกกำลังกายนี้ เพียงแค่ไม่กี่นาทีต่อวัน กับกิจกรรมที่ทำให้คุณแข็งแรงขึ้นและมีความสุขขึ้น

มีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เพิ่มพูนความสุขของคุณในแต่ละวัน เช่น การกินอาหารที่อร่อย การดื่มชา การเล่นโยคะ การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่า อะไรที่ทำให้คุณมีความสุขและสนุกกับสิ่งนั้น จงทำมันบ่อยๆ แต่ถ้าอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกกังวล จงถอยออกห่าง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือ การเพิ่มความสุขให้กับชีวิตเล็กๆน้อยๆ มันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ใช้เงินมหาศาล ใช้เวลามาก หรือทำให้คุณเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต คุณสามารถเริ่มได้จากสิ่งเล็กๆ แต่ทำมันอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเต็มใจ และคุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิต

เรียบเรียงโดย ทีม Learning Hub Thailand

http://zenhabits.net/brighten/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save