เทคนิคการให้ Feedback ที่มีประสิทธิผลสูง

เทคนิคการให้ Feedback ที่มีประสิทธิผลสูง

คุณไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้แน่ หากไม่รับ Feedback จากใครเลย

มีการศึกษาพบว่าการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานอย่างสร้างสรรค์ (Feedback) นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นได้จริง 

แต่การวิจารณ์มาพร้อมกับความรู้สึกหนักอึ้ง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับฟังความคิดเห็น หรือจะรู้สึกดีกับคำวิจารณ์เชิงลบ
===

งานวิจัยจาก Center for Creative Leadership (CCL) ศึกษาเกี่ยวกับการให้ Feedback พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

1.การ Feedback แรงๆ ไม่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดีจนอาจกลายเป็นการหยุดพัฒนามากกว่าจะพัฒนา

สิ่งที่จำเป็นมากเวลาวิจารณ์การทำงานของผู้อื่น คือต้องมีความเคารพในตัวเขาและมีความเป็นห่วงเป็นใย คำวิจารณ์ด้านลบอาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกไม่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาในภายหน้าได้
===

2. Feedback ด้านบวกคือสิ่งสำคัญ

คนส่วนใหญ่มักจะมองเห็นข้อเสียของผู้อื่นก่อนเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการเห็นว่าอะไรคือข้อดี นี่คือปัจจัยสำคัญเพราะถ้าอยากให้คนมีกำลังใจในการทำงานต่อไป คุณก็ต้องหาข้อดีของเขาให้เจอแล้วสื่อสารมันออกมา
===

3.หลีกเลี่ยงการบอกคนอื่นว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร

วิธีที่ดีกว่าคือการตั้งคำถามให้เขาคิดถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้รับ Feedback ได้คิดและประเมินถึงผลที่จะตามมา ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหรือไม่ อย่างไร
===

4. หัวใจสำคัญของการพัฒนาอยู่ที่ตัวของผู้ให้ Feedback

ขึ้นชื่อว่า Feedback ย่อมมาจากมุมมองที่แตกต่างกันของผู้ให้ Feedback คน 100 คนย่อมมี 100 มุมมอง แต่การให้ Feedback ของคนที่เป็นหัวหน้า

ปัจจัยสำคัญคือการให้ Feedback เพื่อให้เขาพัฒนาการทำงานต่อไปโดยใช้มุมมองและประสบการณ์ของคนที่เป็นหัวหน้าเข้ามาประกอบ

สิ่งที่ต้องจดจำเอาไว้เสมอคือ หัวหน้าต้องตัดสินใจอย่างเฉียบแหลมด้วยว่า จะหาทางให้ Feedback กับคนที่มีความแตกต่างกันด้วยวิธีไหนเพื่อให้แต่ละคนนำไปปรับปรุงแล้วเกิดผลที่ดีที่สุดต่อองค์กร
===

5. การวิจารณ์จุดอ่อนไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ไม่ได้มีแต่การบอกข้อดีหรือจุดแข็ง เท่านั้นที่ทำให้ผู้คนอยากพัฒนาฝีมือ แต่การบอกจุดอ่อนหรือบอกข้อเสียก็ก่อให้เกิดการพัฒนาได้เช่นกัน

เพราะบางคนอาจนำไปใช้เป็นแรงผลักดันให้ทำงานให้ดีที่สุดอาจจะเพื่อไม่ให้โดนไล่ออก หรือโดนตัดเงินเดือนนั่นเอง
===

6. อย่าให้คนทำงานที่ถนัดจนเกินไป

จริงอยู่ว่าการมอบหมายงานบางงานให้กับคนที่เก่งในเรื่องนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่มั่นใจได้แน่นอน แต่ก็อาจทำให้คนนั้นเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเก่งด้านนี้มากจนไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านอื่น ซึ่งอาจส่งผลเสียตามมาในอนาคตทั้งต่องานและต่อคนทำงานนั้นเอง

เมื่อเข้าใจหลักการและความสำคัญของการให้ Feedback แล้ว คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนเพิ่มเติมได้ใน ให้ Feedback อย่างไร ทีมจึงพัฒนาได้ไวขึ้น คลิกอ่านที่นี่

องค์กรที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นสิ่งสำคัญจะเริ่มต้นจากการให้ Feedback ซึ่งกันและกัน เมื่อทุกคนรับรู้ถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน ข้อดี-ข้อเสีย ย่อมพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

===

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องคือการ ให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “What Good Feedback Really Looks Like” โดย Craig Chappelow และ Cindy McCauley จาก Harvard Business Review 13 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

ถ้าลองไปถามลูกทีมหรือลูกน้องในองค์กรต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงยังคงทำงานอยู่ที่นั่น คำตอบส่วนใหญ่ที่ออกจากปากพวกเขาก็คือ

“ผม / ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าและมีตัวตน”

ความรู้สึกนี้สอดคล้องกับหลักการบริหารคนที่เรียกว่า “ต้องแสดงการยอมรับและยกย่องชื่นชม” (Recognition and Appreciation)

ผู้นำที่อยากให้ลูกน้องที่เก่งและดีทำงานด้วยกันต่อหรืออยากให้ลูกน้องพัฒนาผลงานด้วยความเต็มใจ ไม่ควรละเลยหลักการนี้เป็นอันขาด เพราะสองหลักการนี้นำมาซึ่งความรู้สึกภาคภูมิใจ

เมื่อคนทำงานได้รับความภาคภูมิใจ พวกเขาจะร่วมผลักดันผลงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ การอดทนทำงาน การซื่อสัตย์ หรือการรีดเค้นผลงานที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา
====

การยอมรับ (Recognition) ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกว่าจดจำตัวเขาและผลงานที่เขาทำได้ แต่ยังรวมถึงการให้ Feedback เชิงบวก ว่าลูกน้องได้ทำอะไรดี ๆ มาบ้าง บางครั้งอาจอยู่ในรูปของการให้รางวัล ให้โบนัส เลื่อนขั้น หรือบางทีเพียงแค่การพูดว่าขอบคุณหรือเขียนโน้ตเป็นลายมือก็ถือว่ามีคุณค่ามากพอแล้ว

แต่การยอมรับต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะวิธีนี้ไม่สามารถทำได้กับทุกคน ที่สำคัญมันเป็นการให้คุณให้โทษที่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เกิดขึ้นจึงต้องทำเป็นวาระโอกาสและเป็นวาระที่มักจะมาจากเจ้านายไปสู่ลูกน้องเป็นหลักด้วย
====

การยกย่องชื่นชม (Appreciation) มีเพื่อเสริมส่วนที่การยอมรับ (Recognition) ขาดหายไป เพราะวิธีนี้ไม่ใช่แค่การรอให้เขาทำผลงานดีออกมาก่อนเท่านั้น แต่การยกย่องชื่นชมสามารถทำได้เรื่อย ๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เห็นว่าอีกฝ่ายทำงานดี

====

การชื่นชมว่าอีกฝ่ายมีคุณค่านั้น ทำได้หลายวาระกว่า เช่นเทคนิคดังต่อไปนี้

รับฟัง

การฟังอีกฝ่ายพูดเป็นแสดงถึงการให้ความสำคัญ หากมีคนมาคุยด้วยตอนเรากำลังเล่นมือถือหรือจ้องหน้าคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเราต้องการให้ความสำคัญกับเขา ให้หยุดกิจกรรมนั้นแล้วหันมาสบตาผู้พูดและตั้งใจฟังดีกว่า

หนึ่งในทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพสูง ก็คือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม ศึกษาและฝึกฝนได้คลิกที่นี่
====

บอกคนอื่นๆ ว่าคนที่เราชื่นชมเจ๋งอย่างไร

การประกาศให้คนอื่นรู้นั้นไม่ต่างจากการให้ของขวัญที่ล้ำค่า เพราะนอกจากจะทำให้เจ้าตัวปลื้มแล้ว ยังเป็นการสร้างสถานะที่ดีของคนที่ถูกชมต่อหน้าสาธารณะชนอีกด้วย
====

แสดงออกไปเลย

บอกคนที่เราชื่นชมไปเลย ว่าสิ่งที่เป็นตัวเขานั้นดีเยี่ยมเพียงไร อาจจะถามเขาด้วยว่าเขาทำมันได้อย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำว่ามันมีมากจนเราสนใจ และแสดงความสนใจว่ามันจะดำเนินไปอย่างไรต่อ

ผลการสำรวจของพนักงานในองค์กรต่างๆ ผลที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งพบว่า คำชื่นชมจากเจ้านายทำให้พวกเขามีแรงใจที่จะอยู่ที่เดิมต่อไป และแม้ว่าเจ้านายจะชื่นชมบ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ยังจะอยากได้มันต่อไปอีกเรื่อย ๆ

แล้วคุณล่ะ วันนี้ได้ให้ยอมรับหรือชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจแล้วหรือยัง

====

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Why Employees Need Both Recognition and Appreciation” โดย Mike Robbins จาก Harvard Business Review 12 พฤศจิกายน 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 


ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

ครั้งสุดท้ายที่ระเบิดลง คุณรู้สึกอย่างไร และรับมือกับมันอย่างไร?

แม้ผมจะมีช่วงเช้าที่แสนสดใส แต่ช่วงบ่ายกลับเป็นเหมือนหนังคนละม้วน  เพราะผมได้ระเบิดอารมณ์ใส่น้องที่ทำงาน!!

จากการส่งข้อความแจ้งเรื่องงานที่เรียบง่าย แต่ไม่ถึง 3 นาทีต่อจากนั้น ภาพตัดมาที่ผมกำลังตะโกนเสียงดังผ่านโทรศัพท์ว่า…

“จะเถียงพี่ทำไม #%$^&”

หัวใจผมเต้นแรงไม่เป็นจังหวะ สายตาของผมเริ่มพร่ามัว ปากและมือของผมสั่นระริก ถ้าอยู่ใกล้ ๆ อยากจะเอามือตบโต๊ะใส่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

====

แม้จะรู้สึกผิดที่คุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แต่อีกใจก็รู้สึกสะใจชะมัดที่ได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง จนกระทั่งน้องปลายสายถามผมว่า…

“อันนี้คือพี่ใช่ไหม?”

คำถามนั้นทำให้ผมนิ่งไปพักใหญ่ ๆ แล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อดึงสติให้กลับมา

นี่ไม่ใช่ตัวตนของผม!!

แต่ความพลุ่งพล่านที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดมาจากการที่ ‘ความต้องการ’ และ ‘ความกลัว’ ของผม ถูกกระตุ้น ด้วยเสียงกระซิบเบา ๆ

เสียงกระซิบที่ดังในหัวว่า…

“มึงจะยอมให้เด็กมาข้ามหน้าข้ามตามึงไม่ได้”

“เด็กนี่มันเก่งกว่ามึงอีก มึงสู้น้องมันไม่ได้”

“น้องมันทำงานดีกว่า และกำลังทำให้มึงเป็นพวกดีแต่พูด”

และเสียงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผมก็ฟังไม่ทันเหมือนกัน

====

เสียงเหล่านี้ชวนให้ผมตีความว่าข้อความทางแชทและน้ำเสียงที่คุยกัน คือน้องคนนี้กำลังกวนประสาทและท้าทายผม

ซึ่งในเสี้ยววินาที ผมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า…

“การระเบิดอารมณ์ใส่น้อง คือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงบทเรียนที่พึ่งได้เรียนในคลาส Communication Secrets

ปัญหาอย่างหนึ่งในการสื่อสารนั่นก็คือ… ‘เจตนาหรือความกลัวลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูด (Subtext)’

ซึ่งเจตนาที่ซ่อนอยู่ในการระเบิดอารมณ์ครั้งนี้ของผมคือ… “การแสดงอำนาจ”

เพราะเสียงกระซิบที่ผมได้ยินมันกำลังทำให้ผมเห็นว่า “ผมกำลังไม่ปลอดภัย” ถ้ายังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ความสำคัญของผมในทีมจะถูกลดทอนลงและผมจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้อีกต่อไป ซึ่งผมยอมไม่ได้!!

====

พอรู้ว่าความกลัวลึก ๆ นี้กำลังบงการชีวิต ผมจึงเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใหม่

เพราะ “การระเบิดอารมณ์” แค่ทำให้ผมรู้สึกมีอำนาจ แต่มันไม่ได้ช่วยให้ทีมของเราเติบโตไปไหนเลย

ผมค่อย ๆ สำรวจเสียงกระซิบภายในใจ ปรับจังหวะของลมหายใจให้ช้าและผ่อนคลาย เปลี่ยนท่าทางใหม่ ให้ผ่อนคลายและมีรอยยิ้มมากขึ้น

ผมเปิดใจคุยกับน้อง เล่าให้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจผม และขอโทษที่ระเบิดอารมณ์ออกไปแบบนั้น

ท้ายที่สุด เราก็ได้ข้อสรุปกันว่า…

การสื่อสารผ่านข้อความ ทำให้เกิดการตีความที่ผิดเพี้ยน

ดังนั้นต่อไปในกรณีที่เป็นเนื้องานที่ต้องพูดคุยกัน เราจะใช้การโทรหากัน มากกว่าการพิมพ์

และหากคุยแล้วอารมณ์เริ่มพลุ่งพล่านแบบนี้อีก ผมจะให้น้องส่งสัญญาณกับผมว่า… “เราหายใจกันเถอะ”

เพื่อให้ผมกลับมามีสติ และตอบสนองได้ดีขึ้น

====

วิธีรับมือเวลาที่อารมณ์ขึ้น

หากคุณเคยหลุดอารมณ์เสียใส่ทีม หรือเพื่อนร่วมงานของคุณ และคุณก็รู้สึกเสียใจที่ทำแบบนั้นลงไป ผมแนะนำให้คุณได้ฝึก 3 ขั้นตอนดังนี้

1.ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง

อารมณ์เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต้องรู้สึกผิดเวลาอารมณ์ขึ้น เราแค่ต้องฝึกรู้เท่าทันว่าตอนนี้ เรากำลังโกรธ เรากำลังเสียใจ เรากำลังอึดอัดอยู่ นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

====

2.ฝึกสำรวจใจตัวเอง

อารมณ์ที่เกิดขึ้น คือผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดความกลัวบางอย่างภายในใจ หรืออาจเป็นการที่เรารู้สึกว่าความต้องการบางอย่างที่สำคัญของเรากำลังถูกคุกคาม

หากเรื่องอะไรมากระทบใจเราบ่อย ๆ ลองสำรวจใจของเราว่าเรากลัวอะไร หรือเราต้องการอะไรกันแน่

และเมื่อเรารู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเองแล้ว มันจะทำให้เรากลับมาพิจารณาหาทางเลือกอื่น ๆ ได้มากขึ้น

เพราะบางครั้ง เราก็ไม่ได้โกรธเพราะอยากโกรธ แต่เราโกรธ เพราะเราต้องการให้ผลงานออกมาดี ซึ่งการจะให้ผลงานออกมาดีนั้น  ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา โดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจคนอื่น

====

3.ฝึกเริ่มใหม่เสมอ

พลาดแล้วก็เริ่มใหม่ ระเบิดแล้วก็ขอโทษแล้วก็ปรับตัว มันอาจจะยากที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนไป แต่หากเราเริ่มใหม่ทุกครั้งเวลาที่พลาด ไม่หมดความพยายามต่อตัวเองที่จะฝึกบริหารและรับมืออารมณ์ให้ดีขึ้น

เมื่อเรารู้ตัวอีกทีหลังจากที่ทำต่อเนื่องไปได้สักระยะ คุณจะประหลาดใจว่าทำไมเพื่อนร่วมงานถึงรู้สึกสนิท เคารพ และอยากเข้าใกล้คุณมากกว่าแต่ก่อน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

เป็นกำลังใจในการฝึกนะครับ

บทความโดย

อ.กิตติ ไตรรัตน์

Self-Leadership Facilitator

ถ้าต้องการฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อให้การทำงานและการสร้างทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

.

 

 

 

5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน

5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน

การทำงานเป็นสาเหตุให้คุณเกิดความเครียดได้ ไม่ว่าความเครียดนั้นจะมาจากงานที่เพิ่มขึ้น เวลาที่น้อยลง หัวหน้างานผู้เข้มงวด หรือเพื่อนร่วมงานช่างนินทา

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันสามในสี่คนทุกข์ทรมานจากความเครียดในที่ทำงาน นอกจากนี้ องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ในแต่ละปีความเครียดเป็นสาเหตุให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากป่วย และทำให้ธุรกิจของอเมริกาเสียหายถึง 3,000 ล้านเหรียญ

จากข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่าความเครียดนั้นน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงจิตใจของผู้คนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในด้านต่างๆด้วย

ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดความเครียดก่อนที่มันจะกำจัดเรา โดยบทความนี้ได้แนะนำหลักปฏิบัติ 5 ข้อ เพื่อให้คุณสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดในที่ทำงานได้ ดังนี้

====

1) ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเครียดของคุณ กล่าวคือ อาหารสามารถกระตุ้นหรือบรรเทาความเครียดให้คุณได้ ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของอาหาร

อาหารที่ช่วยขจัดความเครียด ได้แก่ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่ว เผือก มัน น้ำเปล่า เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ และยังช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความเครียดได้อีกด้วย

นอกจากอาหารที่ควรรับประทานเพื่อลดความเครียดแล้ว ยังมีอาหารที่คุณควรหลีกเลี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารเพิ่มความเครียด ในระยะแรกที่ได้รับประทานคุณอาจรู้สึกดี แต่หากคุณรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือรับประทานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดสภาวะความเครียดสะสมในร่างกายได้

====

 2) กำหนดลมหายใจเข้า-ออก

เรื่องการหายใจก็มีความสัมพันธ์กับความเครียดเช่นกัน คุณจะพบว่าเมื่อคุณเครียด คุณจะหายใจเร็วหายใจตื้น หัวใจเต้นเร็ว และมีอาการกระสับกระส่าย

ดังนั้น เมื่อคุณเครียด ให้คุณกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยคุณอาจหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆประมาณ 1-2 นาที คุณสามารถทำเช่นนี้ในช่วงพักเที่ยง หรือระหว่างวันก็ได้ และหากคุณมีเวลามากกว่านั้น คุณอาจทำในช่วงเช้าและก่อนนอนด้วย

วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าและออกคล้ายๆกับการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้คุณลดความเครียดลงได้ เพราะเมื่อคุณหายใจเต็มปอดก็จะทำให้เลือดและสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น และสิ่งนี้จะทำให้คุณสดชื่น และกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น

====

3) ออกกำลังกาย

เวลาที่คุณนั่งจมอยู่กับปัญหาในที่ทำงาน นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เครียดเกร็งโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่รักษายาก

วิธีแก้ไขความเครียดที่ง่ายและทำได้ทันที ก็คือ ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ยืดเส้นยืดสาย หรือเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถสัก 10-15 นาที 

นอกจากนี้ ในแต่ละวันคุณควรแบ่งเวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อออกกำลังกาย ในช่วงแรกของการเริ่มต้น คุณอาจรู้สึกว่ายาก แต่หากคุณทำมันอย่างต่อเนื่อง ร่างกายของคุณจะแข็งแรงขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายแข็งแรง คุณก็จะสามารถรับมือกับความเครียดได้

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดพิน ซึ่งทำให้คุณรู้สึกดี มีพลัง และกระฉับกระเฉงมากขึ้น แต่หากคุณยังไม่มีแรงบันดาลใจมากพอ ให้ลองจัดกิจกรรมออกกำลังกายกับเพื่อนร่วมงานของคุณ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกสนุกและอยากออกกำลังกายมากขึ้น

====

4) เลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก หลีกเลี่ยงข้อมูลด้านลบ

ในที่ทำงานของคุณย่อมมีคนหลากหลายประเภท และคำกล่าวที่ว่า “หงส์อยู่ในฝูงหงส์ กาอยู่ในฝูงกา” นั้นเป็นจริงเสมอ

กล่าวคือ คนที่มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกันมักรวมตัวอยู่ด้วยกัน ดังนั้น หากคุณไม่อยากเครียด ก็ไม่ควรที่จะสุงสิงหรือยุ่งเกี่ยวกับคนที่ทำให้คุณเครียด

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานบางคนชอบระบายความเครียดให้ผู้อื่น เมื่อเขาไม่พอสิ่งใด เขาจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อต่อว่า แสดงน้ำเสียงเกรี้ยวกราด หรือแสดงท่าทางก้าวร้าว เป็นต้น

พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณ เพราะฉะนั้นจงอยู่ให้ไกลจากคนประเภทนี้ แต่ทว่า บางครั้งหากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้คุณมีสติ กลั่นกรองข้อเท็จจริง อย่าเชื่อข้อมูลทุกอย่างที่เขาพยายามสาดใส่คุณ เพราะนั่นจะทำให้คุณเครียด และกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

ทางที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเลือกคบเพื่อนร่วมงานที่มองโลกในแง่ดี และเลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก และหากคุณเกิดความเครียดให้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองผ่อนคลาย เช่น การดูหนัง ฟังเพลง การท่องเที่ยว เป็นต้น

====

5) เลือกเสพข่าวสารอย่างเหมาะสม

หากคุณเป็นพวกที่ชอบเกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองโดยติดตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กตลอดเวลา คุณกำลังจะเครียดโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจากพฤติกรรมของสื่อในปัจจุบันมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลในเชิงลบอย่างซ้ำไปซ้ำมา นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวมักใส่ความคิดเห็น หรือแสดงอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวลงไปในเหตุการณ์ที่นำเสนอ สิ่งนี้ทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์ร่วม และเกิดความเครียดในที่สุด

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดเชิงลบ คุณควรเลือกรับข่าวสารอย่างเหมาะสม กล่าวคือ คุณควรจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูล ไม่ควรเสพข้อมูลมากเกินไป เพราะเมื่อคุณรับข้อมูลแล้ว สมองของคุณก็จะบันทึกและประมวลผล ซึ่งหากข้อมูลมีเนื้อหาที่รุนแรงและมีปริมาณมากเกินไป คุณก็จะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่คุณเสพด้วย

นอกจากนี้ คุณควรเลือกรับสารที่มีประโยชน์ และมีเนื้อหาในแง่บวก เช่น ภาพการช่วยเหลือสังคม ภาพความสำเร็จ เป็นต้น เพราะข่าวสารดีๆเหล่านี้จะทำให้คุณมองโลกในแง่ดี และเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต

มีวิธีการบริหารความเครียดอีกมากมายที่คุณเรียนรู้และฝึกฝนได้ด้วยตัวเอง  อ่านประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์เพื่อฝึกบริหารจัดการอารมณ์ของคุณเองคลิกที่นี่

===

ที่มา : http://www.pickthebrain.com/blog/5-ways-reduce-stress-work-place/

 

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

ถ้าต้องการฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อให้การทำงานและการสร้างทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

วิธีทิ้งความเครียดเรื่องงานเพื่อความสงบในชีวิต

วิธีทิ้งความเครียดเรื่องงานเพื่อความสงบในชีวิต

ชีวิตคนเรามีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับงานและเรื่องชีวิตส่วนตัว แต่ปัญหาที่หลายคนเจอก็คือต้องต่อสู้ดิ้นรนในที่ทำงานอย่างหนักหนาสาหัสจนรู้สึกว่ามีภาวะเครียดสะสม 

พอกลับมาบ้านก็พบว่าตัวเองนำความทุกข์จากที่ทำงานกลับมาด้วย จนกระทบกับความสัมพันธ์ในบ้าน นอกจากนั้นความเครียดจากงานยังเข้ามารบกวนการกินและการนอนหลับของเราอีกด้วย

====

ใครที่เป็นแบบนี้ขอให้หยุดคิดสักนิด คุณไม่จำเป็นต้องได้เป็นพนักงานดีเด่นหรือเป็นหัวหน้าคนเก่งแต่ครอบครัวพัง สุขภาพพัง ไปจนกระทั่งชีวิตพัง

จงสลัดความเครียดทิ้งไว้หลังการทำงานแล้วมีชีวิตอยู่ที่บ้านอย่างสบายตัว วิธีการที่เราแนะนำให้คุณลองปฏิบัติมีทั้งหมด  5 วิธี ดังนี้

สื่อสารให้เป็น

ใส่ใจคนในครอบครัว สื่อสารให้พวกเขารู้ว่าคุณยังรักและแคร์พวกเขาเสมอ อย่าแค่เดินผ่านหรือมองผ่าน ให้ทักทายและพูดคุยกับคนที่บ้านเสมอ

ที่สำคัญ หากคุณประสบความเครียดจากการทำงานให้เล่าให้พวกเขาฟังอย่างเปิดอก พวกเขาจะได้รับมือทันเพราะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วอาจจะช่วยเหลือกันและกันได้

เช่น คุณอาจจะบอกแฟนว่า “ตอนนี้ผมรับบรีฟงานมาใหม่ มันยากเหมือนกัน ยังไงช่วงนี้ผมคงจะหนักหน่อย ถ้าเห็นต้องคุยงานทางโทรศัพท์ หรือนั่งอ่านเอกสารเพิ่มที่บ้าน ก็อย่าว่ากันนะ มันคงเป็นแบบนี้ไปสักพักนึง เดี๋ยวคงจะดีขึ้นเองครับ”
====

ปรับใจก่อนเลิกงาน

ช่วงเวลาหลังเลิกงานสู่การใช้ชีวิตคือช่วงที่เราสามารถปรับสภาวะจากคนแบกภาระหนักให้เป็นคนผ่อนคลายสบายใจได้ด้วยการหากิจกรรมง่าย ๆ ที่ทำให้มีความสุข

เช่น ลองออกไปหาทัศนียภาพที่มองแล้วมีความสุข ต้นไม้ สายน้ำ หรือถ้าไม่เห็นวิวอะไรใกล้ตัวเลยก็เอาโทรศัพท์มาเปิดดูรูปที่ทำให้มีความสุขก็ได้
====

หาคนปรับทุกข์

คือการหาคนที่จะมารับฟัง แบ่งเบาความกลัดกลุ้ม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิท เพื่อนฝูงในชีวิต หรือบรรดาโค้ชที่สามารถชี้แนวทางการในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ คุณควรมีคนเหล่านี้ไว้เป็นที่พึ่งพิงยามที่ต้องการความสบายใจ
====

วางแผนวันเครียด

คือการวางตารางในรอบสัปดาห์หรือรอบเดือนว่าวันไหนบ้างที่คุณจะโหมงานหนักเป็นพิเศษ อาจทำให้คุณต้องเลิกงานช้า ไม่สามารถพูดคุยกับครอบครัวหรือกินอาหารเย็นร่วมกันได้เหมือนปกติ

นี่คือเทคนิคการล็อควันที่ภาระเยอะไว้เพื่อที่จะมีเวลาสะสางงานเพิ่มขึ้น และช่วยให้ครอบครัวของคุณเตรียมตัวล่วงหน้าได้ด้วย
====

ขอบคุณที่ผ่านวันนี้มาได้

การขอบคุณในที่นี้สุดแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจจะไปสวดมนต์ให้ใจสงบ บางคนอาจระลึกถึงชีวิตที่ผ่านมาทั้งวันแล้วมองหาว่าอะไรเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนระลึกถึงและขอบคุณได้ทั้งนั้น

คุณอาจจะสรรเสริญกาแฟที่รสชาติดีสักแก้ว หรือขอบคุณไฟเขียวซึ่งเปิดให้ถนนฝั่งคุณเร็วกว่าปกติทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนานเกินไป

ยังมีอารมณ์ทางลบอีกมากมายที่อาจก่อปัญหาในการทำงานและการมีความสงบสุขในชีวิตของคุณ อ่านประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์ เพื่อฝึกบริหารจัดการอารมณ์ของคุณเองคลิกที่นี่

เทคนิคทั้งหมดนี้ หากนำไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยยกเอาความเครียดของการทำงานออกจากบ่าของคุณก่อนถึงบ้านอย่างแน่นอน

====

เรียบเรียงจาก “5 Ways to Leave Your Work Stress at Work” โดย Sabina Nawaz จาก Harvard Business Review 2 มีนาคม 2019

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่


เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์

ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์

คุณคิดว่าผู้นำแบบไหนจะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน

ระหว่างผู้นำที่เกิดสถานการณ์ตึงเครียดแล้วหน้าแดงก่ำ กำหมัดพร้อมตะคอกใส่ลูกน้อง

หรือผู้นำที่ยังดูใจเย็นราวกับควบคุมทุกอย่างได้ และค่อยๆ หาทางแก้สถานการณ์อย่างน่านับถือ

====

เชื่อว่า ‘ผู้นำที่สมบูรณ์แบบ’  ในใจหลายคน น่าจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือเกิดวิกฤตเพียงใด รวมถึงเป็นคนที่ให้ความไว้วางใจแก่ลูกทีม เปิดใจรับฟัง เข้าถึงและพูดคุยด้วยง่าย ไปจนถึงตัดสินใจได้อย่างมีหลักการและมีความระมัดระวัง

ด้านดี ๆ ของผู้นำมักจะมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’ หมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตัวเอง ตลอดจนอารมณ์ของผู้คนรอบข้างได้เป็นอย่างดี 

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะรู้ทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น และหาทางจัดการได้อย่างยอดเยี่ยม 

====

สำหรับคนที่เป็นผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์จะนำไปสู่ความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้น  ซึ่ง  ‘Daniel Goleman’  นักจิตวิทยาและนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวว่ามี 5 องค์ประกอบย่อยที่คุณต้องฝึกฝน

1.รู้ตัวเอง (Self-awareness)

คือ การรู้เท่าทันตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร อยู่ในอารมณ์แบบไหน หากทำอะไรออกไปจะกระทบกระเทือนคนอื่นอย่างไร ผู้นำที่รู้ตัวเองยังหมายถึงคนที่เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เข้าใจความเป็นมนุษย์ของตัวเองและผู้อื่นด้วย  

การจะพัฒนาทักษะการรู้จักตัวเองนี้ ทำได้ด้วยการฝึกเขียนบันทึก ใช้เวลาในแต่ละวันจดสิ่งที่คิดและรู้สึก เมื่อผ่านไปสักระยะจะทำให้เห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ ยังควรฝึกดึงตัวเองให้ช้าลงเมื่อเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเวลาที่เริ่มเกิดอารมณ์หงุดหงิดหรือรำคาญขึ้นมา

การดึงตัวเองให้ช้าลงจะทำให้คุณมีเวลาในการรับมือและแสดงออกได้ดีกว่าเดิม

====

2.จัดระเบียบตัวเอง (Self-regulation)

ความสามารถในการตั้งกฎเกณฑ์และจัดการตัวเองให้ได้ จะมีผลทำให้ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น เช่น ไม่พูดต่อว่าหรือประชดออกไป ไม่ตีตราผู้คน ไม่ด่วนตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ยังทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในสายตาคนอื่นด้วย 

ผู้นำควรจะมีหลักการ มีคุณค่าที่ยึดถือชัดเจน ไม่ประนีประนอมกับสิ่งไม่ถูกต้อง (ไม่เช่นนั้นจะโดนด่าว่าเป็นคนที่ไม่มีหลักการที่ยึดถือเลย) รู้ว่าในสถานการณ์ใดจะต้องทำตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับสิ่งที่ยึดถือ

นอกจากนี้จะต้องชัดเจนว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องยอมรับและปรับปรุง เพื่อให้คนรับรู้ว่าคนคน นี้ยึดถือในหลักการ  และท้ายที่สุด คุณควรจะฝึกให้ตัวเองสงบใจเมื่อพบเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก  การสูดหายใจลึก ๆ จนความคิดจิตใจเริ่มสงบ จะช่วยแสดงภาวะผู้นำของคุณได้เป็นอย่างดี

====

3.กระตุ้นปลุกเร้า (Self – Motivation)

ผู้นำที่ดีจะสามารถปลุกเร้าตนเองและคนอื่นให้ถึงเป้าหมายได้  โดยมีมาตรฐานการทำงานสูง การพัฒนาทักษะนี้ทำได้โดย การกลับมาสำรวจถึงเหตุผลที่ทำงานดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการย้ำเตือนตัวเองว่า เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และต้องการอะไร การเห็นภาพความสำเร็จและแรงจูงใจในการทำงานจะทำให้มีผลงานที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ยังควรที่จะระลึกอยู่เสมอว่าตัวเองคือ ผู้นำ ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นทีมงาน ควรจะทำให้คนในทีมรู้สึกได้ถึงความหวังและตระหนักว่ามีสิ่งดี ๆ รออยู่ข้างหน้า  อาจกล่าวโดยสรุปว่าเป็นคนที่ส่งพลังบวกไปให้คนทุกคนในทีมได้นั่นเอง

====

4.เข้าอกเข้าใจคนอื่น (Empathy)

การเป็นผู้นำคือการพยุงทีมทั้งหมดให้ไปด้วยกัน ผู้นำที่ดีจะต้องเข้าใจคนที่มาร่วมงานด้วย เข้าใจความรู้สึก เข้าใจสถานะและเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ ฉะนั้นใครที่เข้าอกเข้าใจ มีความเห็นใจลูกน้อง จะทำให้เขาได้รับความจงรักภักดีไปโดยปริยาย 

การพัฒนาองค์ประกอบนี้ ทำได้โดยการฝึกมองว่าถ้าตัวเองอยู่ในบทบาทหน้าที่ของลูกน้องจะเป็นอย่างไร ความรู้สึก ความต้องการ อุปสรรค และแรงบันดาลใจของเขามาจากไหน 

นอกจากนี้ ยังควรใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้เห็นถึงความรู้สึกแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษากาย

และท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการแสดงออกให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความเหน็ดเหนื่อยและตึงเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา  ถ้าเป็นไปได้ หาทางชดเชยให้แก่เขาด้วยก็จะดีมาก

ถ้าคุณอยากฝึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น ขอแนะนำให้คุณฝึก ทักษะการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathic Listening) คลิก ที่นี่ 

====

5.ทักษะการเข้าสังคม (Social Skills)

ผู้นำที่ดีควรจะมีความฉลาดทางอารมณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม นั่นคือ เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม ทำให้ลูกน้องได้รับข้อมูลข่าวสารไปจนถึงอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานที่เป็นบวก ทักษะนี้ยังรวมไปถึงการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ผู้นำควรจะเรียนรู้ว่าหนทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งกับคนในทีม ลูกค้า หรือคู่ค้า จะต้องมีกระบวนการอย่างไร ควรพัฒนาทักษะทางการสื่อสาร ตลอดไปจนการรู้จักยกย่องชื่นชมคนอื่น อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น

ทักษะทั้ง 5 นี้ หากผู้นำได้พัฒนาอย่างเหมาะสมแล้วล่ะก็ จะทำให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในฐานะของผู้นำองค์กรอย่างแน่นอน 

====

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่


เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

วิธีฝึก Self – Awareness เพื่อความสงบในการทำงาน

วิธีฝึก Self - Awareness เพื่อความสงบในการทำงาน

เป็นเรื่องธรรมดาที่เรามักไม่ค่อยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง เพราะมันเป็นนามธรรมที่จับต้องยาก แถมเรายังมีเรื่องสำคัญและเร่งด่วนถาโถมเข้ามาทุกวันอีกด้วย  

แต่หากคุณต้องการมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต การรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง หรือ  Self -Awareness คือทักษะที่สำคัญที่สุด ที่คุณควรฝึกฝน

Self – Awareness หรือ การตระหนักรู้ตัวเอง คือ รากฐานที่สำคัญของภาวะผู้นำ (Leadership)  ถ้าการลงเสาเข็มให้หยั่งรากลึกลงในพื้นดินก่อนการสร้างตึกสูงเป็นเรื่องสำคัญฉันท์ใด การฝึก Self – Awareness ก่อนการฝึกภาวะผู้นำก็เป็นเรื่องสำคัญฉันท์นั้น

====

Self – Awareness จะช่วยทำให้เกิด Self – understanding (การเข้าใจตนเอง) Self – Acceptance (การยอมรับตัวเอง)  Self – Esteem (ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง) ไปจนมี Self – Control หรือ สามารถควบคุมตนเองให้ทำพฤติกรรมที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จรวมถึงเลิกพฤติกรรมบ่อนทำลายตัวเองลงได้ด้วย

ซึ่งสุดท้ายมันจะช่วยทำให้ชีวิตของคุณมีประสิทธิผล หรือ  Productive มากขึ้นได้ด้วย 

แม้จะเข้าใจในเชิงแนวคิด(Concept) แต่ในทางปฏิบัติก็ยังทำได้ยากอยู่ดี ใช่แล้วครับ ผมไม่ได้บอกว่ามันทำได้ง่าย แต่ผมยืนยันว่านี่คือรากฐานของการเป็นผู้นำ และเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรฝึกไม่ว่าจะมีตำแหน่งและบทบาทใดก็ตาม

====

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลส่วนบุคคลและทักษะการร่วมมือร่วมใจภายในองค์กร ผมขอแบ่งปันประสบการณ์จากการฝึก Self – Awareness ในชีวิตจริงทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จนกลายมาเป็นวิธีการฝึกแบบ Step by Step ที่คุณสามารถฝึกตามได้ทันที ดังนี้ 

1.ใส่ใจกับความรู้สึกทางร่างกายของคุณ

เริ่มต้นที่ส่วนที่สัมผัสได้ง่ายที่สุดในตัวคุณ นั่นคือร่างกาย วางทุกสิ่งที่ทำตรงหน้าแล้วมารับรู้ร่างกายของคุณอย่างเต็มที่ โดยจะเลือกที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ ที่ลมหายใจก็ได้ 

====

2. ใส่ใจกับความรู้สึกภายในใจคุณ

หลับตา แล้วถามตัวเองว่า “ขณะนี้ฉันรู้สึกอย่างไร” อาจเริ่มที่การจับว่าความรู้สึกตัวเองเป็นไปในทางบวก ลบ หรือกลาง ๆ ก่อนก็ได้ เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ ค่อยเริ่มระบุชื่อความรู้สึกออกมา เช่น กลัว กังวล เครียด โกรธ โมโห แค้น ไม่พอใจ เป็นต้น

====

3. ยอมรับทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ

ระวังความคิดต่อต้านตัดสินความรู้สึกต่าง ๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัย มีที่มาที่ไป และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา ยอมรับว่าความคิดทั้งหมดไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีคือส่วนหนึ่งข้างในตัวเรา และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดทุกข์ด้วย

====

4. กำหนดรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน

ขั้นตอนนี้คือหัวใจของทุกสิ่ง การกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันจะอยู่กับลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องคิดของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของเราก็ได้ (ควรเคลื่อนไหวง่าย ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคิด) ถ้าจิตหลุดไปคิดก็แค่กลับมารู้ตัวในปัจจุบันเท่านั้น

====

5. เฝ้าดูทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายใน

รับรู้ทุกสิ่ง ทั้งความคิด ความรู้สึกทางจิตใจ ความรู้สึกทางร่างกาย แค่รับรู้โดยไม่ต้องไปตัดสินอะไรเลย อยู่กับปัจจุบันขณะต่อไปเรื่อย ๆ และถ้าหลุดไปจากปัจจุบันก็เพียงแค่กลับมา โดยไม่ต้องคิดตัดสินอะไรตัวเองเลย ฝึกแบบนี้ต่อเนื่องจะสามารถอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้นและนานขึ้นเอง 

เมื่อฝึกทักษะการมีสติรู้ตัวได้ในระดับหนึ่งแล้ว คุณจำเป็นต้องเปลี่ยน ‘การรู้ตัว’ เป็น ‘การปรับตัว’ เพื่อความสำเร็จที่แท้จริง คลิกอ่านที่นี่

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากมีทักษะตระหนักรู้เท่าทันความคิด ความรู้สึกของตัวเอง (Self -Awareness) เพื่อพัฒนาสู่การเป็นคนที่ฉลาดทางอารมณ์ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence  คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity (Productivity Facilitator) 

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เปลี่ยนการ ‘รู้ตัว’ เป็นการ ‘ปรับตัว’ เพื่อความสำเร็จที่แท้จริง

เปลี่ยนการ ‘รู้ตัว’ ให้กลายเป็น ‘การปรับตัว’ เพื่อความสำเร็จที่แท้จริง

“รู้ว่าต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง…แต่ชั้นก็ยังปรับตัวไม่ได้สักที”

นี่คือปัญหาที่เกาะกุมใจของใครหลายคน เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า การรู้ตัว (self-awareness) อันหมายการถึงรู้จุดแข็ง จุดอ่อน ความรู้สึก ความคิด และคุณค่าของตัวเอง ในห้วงเวลาต่างๆ บ้างไม่มากก็น้อย 

แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง เพียงแค่รู้ตัวยังไม่พอแต่เราจะต้องไปไกลกว่านั้นอีกก้าว นั่นคือการปรับตัวให้ได้ หรือที่เรียกว่า มีความสามารถที่จะบริหารจัดการตัวเอง (self-management) นั่นเอง

====

ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้ก็คือ หลายคนรู้ตัวเองว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และยังรู้อีกว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไข แต่ขั้นตอนแก้ไขนี่แหล่ะที่ไม่ง่ายเลย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีข้ออ้างต่าง ๆ มากมาย จนไม่สามารถจัดการตัวเองได้ในที่สุด  เคล็ดลับเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือเบื้องต้นให้สามารถลงมือทำได้จริง

เริ่มจากอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้ว่า ณ ตอนนี้กำลังทำอะไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งภายนอกและภายในใจเรา 

ชั้นที่สอง พิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป สิ่งที่ทำนั้นจะส่งผลอะไรตามมา และถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด จะแก้ปัญหาอย่างไร

ขั้นสุดท้าย เลือกทำในสิ่งที่จะเกิดผลดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่ง่ายที่สุดเลยก็ตาม

====

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำเหล่านี้มักจะพังพาบไม่เป็นท่า เพราะท้ายที่สุด แล้วมนุษย์มักจะเลือกหนทางที่ง่ายที่สุดและสะดวกที่สุดเสมอ เช่น รู้ตัวว่าถ้าปรับวิธีการพูดแล้วจะดีขึ้นแต่แทนที่จะลงมือปรับปรุงทันที กลับหาข้ออ้างบ่ายเบี่ยงแล้วเลือกใช้วิธีการพูดแบบเดิมไปก่อน เพราะการปรับนั้นจะต้องลงทุนลงแรงและทำให้ขาดความมั่นใจในช่วงแรก

เมื่อธรรมชาติมนุษย์เป็นเช่นนี้  เราจึงมีเทคนิค 6 ประการเพื่อกำราบตัวเอง และบริหารจัดการตัวเองให้สำเร็จอย่างเด็ดขาด

1.เลือกมาเลย ว่าจะเริ่มทำที่ไหน

ถ้าปัญหานี้มักเกิดในห้องประชุม ก็ต้องเริ่มต้นที่ห้องประชุมนี่แหละ

====

2. สังเกตดูดีๆ ว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคในการปรับปรุงตัวเอง

เช่น ไม่ยอมปรับปรุงเพราะมัวแต่ห่วงหล่อ เพราะห่วงภาพลักษณ์ของตัวเอง หรือเพราะเราต้องการผลลัพธ์บางอย่างจากการทำแบบเดิมอยู่ เป็นต้น
====

3. พิจารณาทางเลือกดีๆ และคิดล่วงหน้าไปเลยว่าจะเกิดผลอะไรตามมา 

การใช้ความคิดพิจารณาทางเลือกทั้งหลายจะทำให้เรามองเห็นภาพและรับมือได้ดีขึ้น 

====

4. ทำแผนขึ้นมา

เมื่อมีแผนการที่ชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอนอะไรต่อมิอะไรก็จะง่ายขึ้น

====

5.ทำตามแผนนั้นซะ!

ลงมือทำทันที หลังจากวางแผนเสร็จ  ไม่ต้องมาเสียเวลาหรือรอดูฤกษ์ยามอะไรแล้ว

====

6.ทำอีก ทำไปซ้ำๆ

ทำซ้ำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  จนกว่าจะสามารถ “ปรับตัว” ได้อย่างแท้จริง

เท่านี้แหละ คุณจะไม่เพียง “รู้ตัว” ว่ามีปัญหาและควรปรับปรุงอะไร แต่คุณยังสามารถที่จะ “ปรับตัว” โดยจัดการตัวเองได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ถ้าอยากพัฒนาตัวเองจากจุดที่อยู่ไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ ขอแนะนำหลักสูตร Emotional Intelligence เพื่อฝึกฝนทักษะการบริหารอารมณ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปรับตัว คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

เรียบเรียงจาก “How to Move from Self-Awareness to Self-Improvement” โดย Jennifer Porter จาก Harvard Business Review 19 มิถุนายน 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

เทคนิคคิดเชิงกลยุทธ์ที่ใช้วางแผนชีวิตให้สำเร็จตามเป้า

เทคนิคคิดเชิงกลยุทธ์ที่ใช้วางแผนชีวิตให้สำเร็จตามเป้า

เคยรู้สึกไหมว่า… คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาวางแผนท่องเที่ยว วางแผนพักร้อน มากกว่า “วางแผนชีวิตของตัวเอง”

แต่บางคนก็มุ่งมั่นตั้งใจวางแผนชีวิตของตัวเอง “วันละครั้ง” ก่อนนอนพวกเขาจะทำรายการสิ่งที่ต้องทำ แล้วพอตื่นนอน ก็ลงมือลุยตามนั้น

และก็มีบางคน ที่วางแผนชีวิต “สัปดาห์ละครั้ง” กลุ่มนี้จะทบทวนสิ่งต่างๆ ในสัปดาห์นั้น ตรวจสอบการนัดหมาย พิจารณาเป้าหมาย แล้วลงมือทำ

รู้ไหม… โดยทั่วไป คนกลุ่มหลังจะทำงานได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงานที่วางแผนวันต่อวัน!

====

และก็มีบางคน พอเริ่มต้นเดือนใหม่ จะใช้เวลาครึ่งวัน “วางแผนสำหรับ 40 วันข้างหน้า”  ที่ต้องเป็น 40 วัน เพราะวิธีนี้ได้ผลดีมากกว่าแบบ 30 วัน

พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการทบทวนกิจกรรมต่างๆ วางแผนสิ่งที่จะทำกับครอบครัว จากนั้นจะพิจารณาว่า โครงการ บทเรียน และเป้าหมายอื่นๆ มีอะไรบ้างที่อยากทำให้ลุล่วงในช่วง 4-5 สัปดาห์ข้างหน้า

ถัดไปคือการจัดตารางวัน-เวลา สำหรับคิด การเขียน การทำงาน การประชุม ฯลฯ ตามด้วยการจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูโชว์ ดูกีฬา หรือออกกำลังกาย

นอกจากนั้น ยังแบ่งช่วงเวลาเล็กน้อยไว้ชดเชยสำหรับเรื่องที่เหนือความคาดหมาย… เมื่อทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะสามารถบอกตัวเองและคนรอบข้างได้แทบจะทุกเรื่องที่จะทำในช่วงเดือนหน้า บางคนบอกได้ละเอียดเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงด้วยซ้ำ…

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” (Strategic Thinking) ซึ่งช่วยให้ใครหลายคนทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

====

เวลาที่ได้ยินคำว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” คุณนึกถึงอะไร?  ภาพแผนธุรกิจใหญ่โต การประชุมวางแผนงานเพื่อกอบกู้บริษัท หรือนึกถึงภาพเหตุการณ์ตอนที่ฝ่ายพันธมิตรวางแผนยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

อันที่จริง “การคิดเชิงกลยุทธ์” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปฏิบัติการทางทหารหรือธุรกิจ เราสามารถนำการคิดเชิงกลยุทธ์ มาปรับใช้ให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิตของเราได้ด้วย

====

ทำไม “การคิดเชิงกลยุทธ์” จึงสำคัญ?

เพราะ “การคิดเชิงกลยุทธ์” ช่วยในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่ง และหาเส้นทางที่ตรงและสั้นที่สุดในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม

ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงกลยุทธ์ มีมากมายนับไม่ถ้วน ต่อไปนี้เป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่า “เพราะอะไรเราถึงควรใช้ ‘การคิดเชิงกลยุทธ์’ เป็นเครื่องมือสำคัญในชีวิต”

====

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

นักเขียนชาวสเปน มิเกล เดอ เซอร์วานเตส เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่เตรียมตัวพร้อม เท่ากับมีชัยในสนามรบไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการนำปัญหาที่ซับซ้อนและเป้าหมายระยะยาวที่ยากเกินกว่าอธิบายได้ มาย่อยให้เหลือขนาดที่สามารถจัดการได้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้ามีแผนการ

การคิดเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้การบริหารชีวิตประจำวันง่ายขึ้นด้วย… จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่นักพูดและนักเขียน เป็นหนึ่งในคนที่ทำระบบแฟ้มข้อมูลได้เยี่ยมยอด การเขียนสุนทรพจน์และบทเรียนที่ใช้ในการสอน เป็นงานที่ยาก

แต่เพราะเขาจัดทำแฟ้มคำคม เรื่องเล่า กรณีศึกษา และบทความไว้อย่างเป็นระบบ เวลาที่ต้องการใช้อะไรเพื่ออธิบายประเด็นให้ชัดเจน เขาก็แค่ไปดูแฟ้มหนึ่งแฟ้ม จาก 1,200 แฟ้มที่จัดเก็บไว้ แล้วหาวัตถุดิบดีๆ ที่ใช้งานได้ มาใช้กับงานที่กำลังเขียนอยู่

เห็นไหมว่างานยากกลับกลายเป็นง่ายนิดเดียว ถ้าเราใช้การคิดเชิงกลยุทธ์

====

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยกระตุ้นให้เราตั้งคำถามที่เหมาะสม

คุณอยากแยกประเด็นหรือปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ออกเป็นส่วนเล็กๆ หรือไม่? ถ้าต้องการ ก็ต้องตั้งคำถาม การคิดเชิงกลยุทธ์

ลองดูคำถามข้างล่างนี้ ซึ่ง บ๊อบบ์ บีห์ล ผู้เขียนหนังสือ Masterplanning ได้เสนอเอาไว้ 

ทิศทาง เราควรทำอะไรต่อไป เพราะเหตุใด?

องค์กร ใครรับผิดชอบอะไร ใครรับผิดชอบใคร เรามีคนที่เหมาะสมในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือเปล่า?

เงินสด รายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิที่วางแผนไว้แล้ว เป็นอย่างไร เรายอมรับได้หรือไม่ เราจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย?

การติดตามผล เรามาถูกทางหรือเปล่า?

การประเมินภาพรวม เราทำได้คุณภาพตามที่เราคาดหวังและต้องการหรือเปล่า?

การปรับปรุง เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้อย่างไร?

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเพื่อเริ่มการวางแผนกลยุทธ์ และเป็นการเริ่มต้นที่ดีด้วย

====

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยปรับแต่งแผนให้เหมาะกับสถานการณ์

นายพลจอร์จ เอส. แพตตัน ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “นายพลที่ประสบความสำเร็จจะปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ไม่พยายามสร้างสถานการณ์ให้เข้ากับแผน”

นักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เก่ง ล้วนแม่นยำและละเอียดในการใช้ความคิด พวกเขาจะพยายามปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปัญหา เพราะกลยุทธ์ไม่ใช่แผนครอบจักรวาล ประเภทแผนเดียวใช้ได้กับทุกปัญหา

การคิดแบบกว้างๆ หรือคิดแบบลวกๆ เป็นศัตรูของความสำเร็จ ความตั้งใจที่จะปรับการคิดเชิงกลยุทธ์ จะบีบคนคนนั้นให้คิดไปไกลกว่าไอเดียที่คลุมเครือ เราควรต้องหาเส้นทางเฉพาะเจาะจงที่เข้าถึงภารกิจหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง

หนึ่งในวิธีตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างแผนการเชิงกลยุทธ์ในการทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง คือวิธีการทำ OKRs ภาคปฏิบัติในองค์กร คลิกอ่านที่นี่

====

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอน

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสิ่งที่คุณเป็นอยู่ กับสิ่งที่คุณอยากจะเป็น มันให้ทิศทางกับความน่าเชื่อถือในวันนี้ และเพิ่มศักยภาพสำหรับความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ ซึ่งก็คล้ายกับการสวมอานให้แก่ความฝันของคุณ ก่อนที่คุณจะควบมันทะยานออกไปข้างหน้า

====

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยลดความผิดพลาด

ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอะไรอย่างฉับพลัน หรือทำอย่างเฉื่อยชาไร้ความรู้สึก โดยไม่ได้กำหนดแนวคิดไว้ก่อน… “ขอบเขตของความผิดพลาด” ย่อมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เหมือนกับนักกอล์ฟที่ก้าวเข้าหาลูกกอล์ฟ แล้วตีลูกโดยไม่ได้จัดแนวการยืน หรือเล็งเป้าหมายให้ดีเสียก่อน ลูกกอล์ฟที่พุ่งออกจากหน้าไม้ในทิศทางที่เบี่ยงเบนจากแนวเป้าหมายไม่กี่องศา จะลอยไปตกห่างจากเป้าหมายเป็นสิบเป็นร้อยหลา

การคิดเชิงกลยุทธ์จะช่วยลด “ขอบเขตของความผิดพลาด” ได้เยอะ เพราะการคิดลักษณะนี้จะปรับการกระทำของคุณให้ไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดแนวลำตัวและท่ายืนในการตีกอล์ฟ ที่ช่วยให้ลูกไปตกใกล้หลุม ยิ่งคุณจัดให้อยู่ในแนวเดียวกับเป้าหมายมากเท่าใด คุณก็จะเดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น

====

การคิดเชิงกลยุทธ์ ทำให้คุณมีอิทธิพลเหนือคนอื่น

ผู้บริหารคนหนึ่งเผยความลับให้ผู้บริหารอีกคนหนึ่งฟังว่า “บริษัทของเรามีแผนระยะสั้นกับแผนระยะยาว แผนระยะสั้นจะคงอยู่อย่างนั้นนานพอที่จะเป็นแผนระยะยาว” แบบนี้ไม่เรียกว่า “กลยุทธ์” แล้ว แต่เป็นการสร้างปัญหา และไม่ใช่ปัญหาเดียวด้วย

การไม่สนใจ “วิธีคิดเชิงกลยุทธ์” ในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว แต่ยังเสียความน่าเชื่อถือจากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น

“คนที่มีแผนการ คือคนที่มีอำนาจ” ไม่สำคัญว่างานที่คุณทำอยู่จะเป็นอะไร? พนักงานบริษัทอยากเดินตามเจ้าของธุรกิจที่มีแผนธุรกิจที่ดี

อาสาสมัครอยากร่วมงานกับผู้นำโครงการที่มีแผนการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่น่าสนใจ… เด็กอยากอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีแผนการช่วงปิดเทอมที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดี

เพียงแค่คุณใช้ “การคิดเชิงกลยุทธ์” คนอื่นจะฟังและอยากทำตาม  ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้นำในองค์กร “การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้”

====

หากคุณต้องการใช้ OKRs กับตัวเองเพื่อร่วมกันตั้งเป้าหมายกับทีมให้เกิดผลลัพธ์และมีประสิทธิภาพ ขอแนะนำหลักสูตรOKRs in Action” คลิกดูได้ที่นี่ครับ

บทความโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093-925-4962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save