5 บทเรียนชีวิต ที่เด็กๆสอนเรา

5lessonfromchild

เชื่อว่าชีวิตของหลายๆคน เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเพราะมีลูก ไม่ใช่เพียงเรื่องภาระความรับผิดชอบ แต่เป็นสภาวะจิตใจด้านในด้วย บทบาทหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่ จะทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตทางจิตวิญญาณ กลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่

อย่าคิดว่าการเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่สอนลูกเพียงฝ่ายเดียว มีหลายสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากลูกๆได้ และมันจะทำให้เราเติบโตไปอีกขั้น อาจตกผลึกจนกระทั่งแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตได้

ส่วนคนที่ไม่มีลูก ก็สามารถเรียนรู้จากหลานๆและเด็กเล็กๆได้เช่นกัน มาดูกันว่า พวกเค้าจะสอนบทเรียนอะไรให้เราได้บ้าง

 

 ถึงผู้ใหญ่ทุกคน…

เด็กน้อย คือดวงวิญญาณอันเก่าแก่ ในร่างเล็กๆ

เค้าเกิดมาเพื่อเติบโต และใช้ชีวิตในแนวทางของตัวเอง

เค้ามาจากเรา แต่ไม่ได้เป็นของเรา

เราได้เรียนรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ ก็เพราะเค้านั่นเอง

1.แค่ได้เล่น ก็มีความสุข

เด็กๆเกิดมาพร้อมกับความสดใสร่าเริง เค้าไม่ต้องพยายามเอาใจใคร เพียงแต่เป็นตัวเอง รอยยิ้มของเค้ามันเปล่งประกายจนทำให้ผู้คนรอบตัวรู้สึกมีความสุขไปด้วย เด็กๆทุกคนหัวเราะง่าย ยิ้มเก่ง แค่ได้เล่นก็มีความสุขง่ายๆ เห็นชีวิตเป็นเรื่องสนุก เด็กๆไม่เคยกลัวแพ้ พอล้มแล้วก็รีบลุกไปเล่นต่อ มีพลังขับเคลื่อนในตัวเองตลอดเวลา

แน่นอนว่า ผู้ใหญ่มีภาระและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ  แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่ควรจะเลิกเล่นสนุก เด็กๆสอนเราว่า จงออกแบบชีวิตใหม่ เปลี่ยนชีวิตให้เป็นเกมและการเล่นสนุก ไม่เคยคาดหวังว่าจะชนะ ขอแค่ให้ได้เล่นก็มีความสุข

…………………

2.ทุกอย่างเริ่มที่จินตนาการ

เด็กๆต่างมีพรสวรรค์ในการจินตนาการที่ล้ำเลิศ หากผู้ใหญ่ไม่คอยห้าม สอนสั่งและหยุดยั้ง เค้าจะไม่มีข้อจำกัดในการผลิตไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เลย เด็กๆไม่ต้องการของเล่นแพงๆ ขอมีเพียงดินทราย ก้อนหิน ท่อนไม้ ก็จะเสกให้กลายเป็น ปราสาท มังกร เครื่องบิน ยานอวกาศ ใช้จินตนาการขับเคลื่อนมันไปมา มีครบหมดทั้งภาพ แสง สี เสียงและอารมณ์ นั่นทำให้ชีวิตของเค้ามีสีสันและความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด

แม้กฎระเบียบเป็นสิ่งที่ต้องยึดถึอและปฏิบัติ แต่เด็กๆสอนเราว่า ชีวิตไม่ควรขาดจินตนาการ เพราะมันจะสร้างโอกาสใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้าได้เสมอ ชีวิตจะเป็นไปเท่าที่เราขีดกรอบไว้ ไม่มากไปกว่านั้น ดังนั้นจินตนาการของเรา จึงเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตการเติบโตและความเป็นไปได้ในชีวิตเราเอง

………………..

3.อย่าหยุดตั้งคำถาม

สำหรับเด็กๆแล้ว ชีวิตคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เค้าจะตื่นเต้นกับทุกสิ่ง เค้าช่างสังเกตและตั้งคำถามไม่หยุดหย่อน มันอาจดูน่ารำคาญ แต่แท้จริงแล้ว คำถามทำให้ชีวิตขับเคลื่อนต่อไปในทางที่พัฒนาและแตกต่างไปจากเดิม ชีวิตที่หยุดเรียนรู้ เหมือนต้นไม้ที่หยุดโตและกำลังจะตายลง หากติดอยู่กับความคุ้นชินเดิมๆ เท่ากับตายไปแล้วทางจิตวิญญาณ

แม้จะคิดว่าตัวเองรู้ดีในเรื่องนั้นแล้วก็ตาม เด็กๆสอนเราว่า อย่าหยุดตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว จงใช้ชีวิตด้วยการค้นคว้าทดลอง ออกเดินทางไปพบกับความตื่นเต้นสดใหม่ อย่าหยุดเรียนรู้และอย่าพอใจกับคำตอบเดิมๆ

……………………..

4.ต้องการอะไร จะทำให้ได้

เด็กๆมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า หากเค้าต้องการอะไรแล้ว จะมีวิธีสารพัดที่จะทำเพื่อจะได้มา ถ้าทำเองได้จะพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ถ้าต้องพึ่งพาคนอื่น เค้าจะขอตรงๆอย่างไม่เขินอายหรือเกรงใจ แต่ถ้าไม่ได้ผล เค้าจะหาวิธีอื่นๆสารพัด งัดกลยุทธ์ออกมาใช้ทุกอย่าง ทั้งออดอ้อนออเซาะ ขอร้องไปจนถึงร้องไห้ หรือไม่ก็โวยวายชักดิ้นชักงอ แต่เหนือสิ่งอื่นใด หากเป็นสิ่งที่ต้องการจริงๆ พวกเค้าจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถ้ายังไม่ได้วันนี้ วันหลังจะมาใหม่ ไม่ลืมง่ายๆแน่นอน

ผู้ใหญ่หลายคนใช้ชีวิตมาหลายสิบปี โดยละเลยความต้องการลึกๆของตัวเอง ส่วนบางคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรเด็กๆสอนให้เรารู้ว่า มันสำคัญมากที่เราต้องชัดเจนถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองก่อน และขอให้มุ่งมั่นและมีพันธะสัญญากับสิ่งนั้น หากลองทำแล้วไม่เวิร์ค อย่ายอมจำนน มันต้องมีวิธีอื่นๆที่จะทำให้ได้ผล ตราบใดที่เราไม่ย่อท้อและหยุดเสียกลางคัน สักวันจะต้องสำเร็จแน่นอน

………………..

5.มิตรภาพสำคัญที่สุด

ในทุกวันที่เด็กๆออกไปวิ่งเล่น บางทีก็ร้องไห้กลับมา เพราะอาจถูกเพื่อนรังแก แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่รีบตีโพยตีพาย เร่งด่วนเข้าไปจัดการ เด็กจะมีวิธีการในการปรับตัวของเค้าเอง พอหายเจ็บแล้วเค้าก็ให้อภัยอีกฝ่ายได้ง่ายๆ และพร้อมจะเริ่มใหม่เสมอ เพราะเค้ารู้ว่าถ้าอยากจะเล่นกันอีก มิตรภาพสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

แน่นอนว่าการใช้ชีวิตครอบครัวและการทำงานร่วมกัน ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป อาจมีการกระทบกระทั่งกัน บางครั้งก็รุนแรงจนมีคนร้องไห้ เด็กๆสอนว่า อย่าไปยึดติดว่าใครถูกใครผิด หากเรายังมองเห็นว่าคนๆนี้สำคัญกับชีวิตเรา ความรักและมิตรภาพสำคัญกว่าเสมอ การให้อภัยไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ในทางตรงกันข้าม มันคือความกล้าหาญที่จะบอกว่า “ฉันรักเธอนะ เรามาเริ่มใหม่กันเถอะ”

ถึงคุณผู้อ่าน….

ตัวเราเอง ก็คือเด็กน้อยคนนั้นด้วย

กว่าที่จะเติบโตมา เราได้เรียนรู้สิ่งที่ควรและไม่ควร จนมีข้อจำกัดมากมาย

แต่การเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้หมายความว่า จำเป็นจะต้องทิ้งความเป็นเด็กไป

แล้วละทิ้งความสนุก ความฝัน ความต้องการ และจินตนาการในตัวเองไปด้วย

ความเป็นเด็กน้อยในตัว จะทำให้ชีวิตของเราสดใส มีชีวิตชีวา และมีความสุขอยู่เสมอ

หากอยากนำพาความเป็นเด็กน้อยกลับมาอีกครั้ง
ลองไปเล่นสนุกคลุกคลีกับพวกเค้าดู
เชื่อว่ายังมีบทเรียนอีกหลายข้อ ที่เราสามารถเรียนรู้จากเด็กๆได้
คุณค้นพบข้อใดเพิ่มเติมอีกไหม กรุณาแชร์ในคอมเม้นท์ด้านล่างนะครับ

บทความโดย เรือรบ

10 เหตุผลที่ “การเขียน” จะเปลี่ยนชีวิตคุณ

10reason2write

เคยได้ยินผลการวิจัยว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก เชื่อว่า “การเขียน” นั้นน้อยกว่า การเขียนเป็นทักษะที่คนในยุคปัจจุบันใช้น้อยมาก แม้ว่าเราจะอัพสเตตัสกันทุก 10 นาที แต่นั่นอาจแค่เรียกว่า “การสื่อสาร” ยังไม่นับว่าเป็น “การเขียน”

การเขียนที่มีคุณภาพ จะมาจาก“การคิดใคร่ครวญ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” เมื่อเราเริ่มเขียนเป็นประจำและต่อเนื่อง จะเกิดประโยชน์กับตัวเองมหาศาล และมันจะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากประสบการณ์ของผม มี 10 เหตุผล ที่การเขียนจะเปลี่ยนชีวิตของคุณได้

1.ลับคมความคิด

การเขียนสามารถช่วยในการทบทวน ประมวล และตกผลึกความคิดได้ดีกว่าที่ราคิดไว้คนเดียวในใจ หรือแค่พูดลอยๆ เรามักจะมองเห็นทางเลือกใหม่ๆ ถ้าได้เขียนออกมา

 2.ผลิตไอเดีย

การเขียนเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ในการผลิตไอเดียใหม่ๆของเรา

 3. พื้นที่อิสระ

การเขียนจะเป็นพื้นที่ให้ได้ลองผิดลองถูก ลองคิดและทำอะไรไร้กรอบ จนสามารถนำประกายความคิดที่ถูกจุดไว้ ไปต่อยอดให้เกิดเป็นแผนการที่เป็นรูปธรรม และทำได้จริง

 4. บูรณะจิตใจ

การเขียนจะทำให้เราได้ระบายความอึดอัดคับข้องใจ คลายเหงา บรรเทาทุกข์ทางใจ ทำให้เราสามารถโอบอุ้มดูแลจิตใจตนเอง และก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

 5. ทำงานที่ใช่

การเขียนจะทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ค้นพบจุดแข็ง จุดอ่อน ใช้เตือนใจและปรับปรุงตัวเองได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นหนทางใหม่ๆในการเลือกในสิ่งที่ตัวเองถนัด

 6. เข้าใจตัวเอง

การเขียนจะเป็นกระจกสะท้อน ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองอย่างแจ่มชัด ว่าขณะนี้ เราอารมณ์ มีความรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไรกันแน่ เมื่อนั้นเราจะมีความมั่นคงภายใน และทำทุกสิ่งด้วยความมั่นใจ ชัดเจน

 7. มองเห็นคุณค่า

การเขียนทำให้เรามองเห็นอุปนิสัยตัวเอง ว่าเป็นไปในทางใด เมื่อค้นพบ เข้าใจตัวเองแล้ว เราจะเริ่มเกิดการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น และนั่นทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเอง

8. พัฒนาการสื่อสาร

การเขียนจะช่วยให้เรามีความมั่นใจในการใช้ภาษาและเรียบเรียงความคิดได้ดีขึ้น ทำให้การพูดหรือการสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น แจ่มชัด มีประสิทธิภาพ

 9. สร้างตำนานครั้งใหม่

โลกของเรา ขับเคลื่อนด้วยภาษา ภาษากำหนดความคิด การพูด การกระทำ เมื่อเราใช้ภาษาได้อย่างมีคุณภาพ เราสามารถส่งมอบและถ่ายทอดความรู้ ทักษะ คุณค่าที่เรามี ผ่านภาษาและการเขียน เพื่อใช้สร้างความแตกต่างหรือทิ้งมรดกทางความคิดไว้กับโลกได้

 10. เปลี่ยนหัวใจตนเอง

ที่สุดแล้ว การเขียนจะสามารถพัฒนาจิตใจของเรา ให้รู้จัก เข้าใจ ยอมรับและรักตนเอง แล้วเราจะอ่อนโยนต่อโลกและสรรพสิ่ง ให้มีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อชีวิต และอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข

หลายคนคิดว่า ตัวเองไม่ใช่นักเขียน ไม่ใช่คนในแวดวงการศึกษา เลยไม่จำเป็นต้องเขียน นั่นทำให้เราสูญเสียประโยชน์ที่ได้จากการเขียนไปอย่างน่าเสียดาย

หากเราเริ่มเขียนเป็นประจำเพียงแค่วันละ 5-10 นาที ในตอนเช้าหรือก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นประจำเพียง 21 วัน ชีวิตของคุณจะไม่เหมือนเดิม

บทความโดย เรือรบ

หากไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร อยากเขียนเพื่อค้นพบตนเอง ค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียน ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวเอง

21-22 พ.ย. นี้ พบกันในหลักสูตร Intuitive Writing  ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวคุณ

นำกระบวนการโดย อ. เรือรบ รายละเอียดคลิก

4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง

deeplistening

“โลกออนไลน์ ทำให้เราพูดได้มากขึ้น แต่กลับฟังกันได้น้อยลง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สังเกตปฏิกริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง

2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดมีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา 

3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มึคุณภาพ

 4. เคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น 

แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า จะคุยกับเราอย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆกันด้วย

เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากสนใจฝึก การฟังอย่างลึกซึ้ง ขอแนะนำหลักสูตร “ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต”

วันที่ 11 มิ.ย.59 นี้ ครั้งสุดท้ายของปี อบรมโดย “เรือรบ” ดูรายละเอียดที่นี่

3 สิ่งที่คนมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ “ความสุข” ?

What-makes-a-good-relationship

ความสุขคืออะไร ? คนเราต่างพูดถึงมันมาเป็นร้อยๆปี จนถึงวันนี้ มีผลวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามารองรับ แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ เราน่าจะเริ่มจากคำถามง่ายๆเช่นว่า อะไรบ้างที่ไม่ใช่ความสุข ?

ความสุข ไม่ใช่การมีความรู้สึกดีตลอดเวลา

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว คนขี้สงสัยคงถามว่า คนที่เสพโคเคน กัญชา ก็จะต้องเป็นคนที่มีความสุขมากๆใช่มั้ย? ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า อารมณ์แบบธรรมดาๆ ในทุกๆวันนั้น ดูจะเป็นผลดีต่อจิตใจมากกว่า อารมณ์แบบมีความสุขสุดๆ สำเร็จสุดๆ เพราะในที่สุดแล้ว อะไรก็ตามที่ขึ้นไปสูง ก็ย่อมตกลงมาเป็นธรรมดา

นอกจากนั้น หากคุณถามคนทั่วไปว่า อะไรคือสิ่งที่คุ้มค่ากับการมีชีวิตอยู่ พวกเค้าจะไม่พูดเรื่องอารมณ์หรอก พวกเขาจะพูดถึงอะไรที่มีความหมาย เช่น ความสัมพันธ์ ความดีที่ทำไว้ ซึ่งงานวิจัยก็ระบุว่า หากคุณเพ่งความสนใจไปที่ความพยายามที่จะรู้สึกดีตลอดเวลามากเกินไป คุณก็จะรู้สึกไม่พอใจสักที หรือพูดอีกนัยหนึ่ง จะไม่มีความรู้สึกดีอันใด ที่จะทำให้คุณรู้สึกพอใจนั่นเอง เพราะสิ่งที่คุณคาดหวัง มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้จริงสำหรับคนส่วนใหญ่

ความสุข ไม่ใช่ความร่ำรวย หรือสามารถซื้อทุกสิ่งที่อยากได้

แน่นอนว่าความเป็นอยู่ที่อดอยากขาดแคลน นั้นยากที่จะทำให้รู้สึกมีความสุข แต่เงินก็ไม่ใช่สิ่งที่จะซื้อความสุขได้เสมอไป ลองจินตนาการสิว่า อยู่ๆคุณก็ได้ขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 1 แสน คุณก็จะตื่นเต้นมากๆในระยะสั้นๆ เวลาผ่านไปไม่นานความคาดหวังและการใช้จ่ายของคุณก็จะเปลี่ยนไปตามรายได้ใหม่ของคุณ ก่อนที่คุณจะทันรู้ตัว คุณก็จะมีความรู้สึกเหมือนๆกับก่อนหน้าที่จะได้เงินก้อนนี้มา เพราะเงินนี้ก็เอาไปใช้ซื้อบ้านใหม่ รถใหม่ สิ่งของเครื่องใช้หรูหราใหม่ๆ ที่ใครๆก็ต่างอยากมีกัน พอคุณได้มาแล้ว ความสุขก็ไม่ได้มากขึ้นเลย

มีข้อยกเว้นเดียวก็คือ หากคุณใช้เงินไปเพื่อซื้อประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น การจ่ายเงินเพื่อไปพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวกับครอบครัว จัดทริปเที่ยวสนุกผจญภัยกับเพื่อนๆ พาเพื่อนร่วมงานไปทำบุญบ้านพักคนชรา หรือเลี้ยงดูเด็กพิการ แบบนี้จะทำให้คุณมีความสุขมากกว่า เพราะคุณได้รับความสัมพันธ์ที่ดีและประสบการณ์ร่วมที่หาซื้อไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามนั่นมักไม่ใช่วิธีที่คนใช้จ่ายเมื่อได้เงินมา

ความสุข ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

มีความเชื่อเรื่อง “เป้าหมายของชีวิต” นั่นทำให้คนคิดถึงเรื่องความสุข ทำให้คนเราต่างทำงานหนัก เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่วันหนึ่งเราจะ “เดินทางไปถึง” ความสุขในบั้นปลาย ซึ่งในทางตรงกันข้าม อาจมีน้อยคนมากๆที่จะเข้าถึงความสุขแบบยั่งยืนหรือทำให้ตัวเองมีความสุขได้อย่างสม่ำเสมอ

โดยมากในชีวิต สิ่งที่จะสร้างความสุขให้เรานั้นจะเป็นเหตุการณ์แบบครั้งเดียวและระยะสั้น เช่น การเรียนจบ ได้เลื่อนตำแหน่ง และการแต่งงาน ซึ่งนั่นจะเป็นความสุขที่ค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆหลังจากที่เราปรับตัวรับรู้สิ่งนั้นๆแล้ว
นั่นจึงเป็นเหตุให้หลายๆคน พยายามค้นคว้าหาเทคนิควิธีการที่จะทำให้มีความสุขขึ้น เช่น การเขียนบันทึกแห่งการขอบคุณ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เป็นพฤติกรรมสร้างสุข เพราะมันไม่ใช่แค่เหตุการณ์ครั้งเดียว

ถ้าอย่างนั้น ความสุขคืออะไรกันแน่ ?

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความสุขเป็น ผลรวมของ 2 สิ่งคือ
ความพึงพอใจของคุณเกี่ยวกับชีวิต ตัวอย่างเช่น เมื่อได้ทำงานที่รัก หรือทำสิ่งที่มีความหมายต่อผู้อื่น
และ ความรู้สึกดี ที่คุณได้รับในแต่ละวัน

ทั้งสองสิ่งนี้เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ในเมื่อชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงตลอด และเรามีอารมณ์ขึ้นลงตลอดเวลา นั่นทำให้ความสุขเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

ข่าวดีก็คือ หากเรามีความพยายามอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำหนักตัวของเรา หากเรา หากเรากินตามใจและออกแรงตามใจ น้ำหนักก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อเรากินน้อยลงแต่ออกกำลังมากขึ้น น้ำหนักตัวจะปรับลดลง จนถึงจุดหนึ่งถ้าเราปฏิบัติให้เป็นนิสัย เราก็จะยังรักษาน้ำหนักในระดับนี้ต่อไปได้

แต่ถ้าเรากลับมากินและออกแรงเหมือนอย่างเคย น้ำหนักก็จะกลับไปเท่าเดิมในที่สุด
เช่นเดียวกับเรื่องของความสุข ถ้าคุณมีความสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ ด้วยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ คุณจะสามารถกำหนดรูปแบบของพฤติกรรม ที่จะสร้างความพึงพอใจและเติมเต็มในชีวิตได้ในระยะยาว
…………………………

แปลและเรียบเรียงโดย เรือรบ

เครดิตบทความ  What is Happiness, Anyway? By Acadia Parks, PhD
เครดิตภาพ Copyright: alexandralexey / 123RF Stock Photo

 

5 ทักษะ ที่เพิ่มระดับความสุขของคุณ

5skillofhappiness

ความสุข หากแบ่งจากที่มาของมัน จะเห็นว่ามีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก ความสุขภายนอก คือการได้รับสิ่งที่พอใจ และหลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ การได้ มี หรือเป็น ในสิ่งที่เราปรารถนาหรือคาดหวังไว้

ความสุขประเภทที่สอง ความสุขภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุ ไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องผิดหวัง และเราสามารถสร้างมันได้ด้วยตัวของเราเองทุกเมื่อที่ต้องการ

ความสุขจากภายในนี้ เป็น “ทักษะ” ที่ต้องอาศัยการฝึกและปฏิบัติให้เป็นนิสัย ต่อไปนี้เป็น “5 ทักษะ ที่จะเพิ่มระดับความสุขของคุณ”

1. ความดื่มด่ำ

ความดื่มด่ำนั้นเป็นวิธีที่ง่ายและเร็ว ในการเพิ่มอารมณ์ด้านบวก ลดความเครียดและอารมณ์ทางด้านลบ การฝึกที่จะสังเกตและรับรู้สิ่งดีๆรอบๆตัว และใช้เวลามากขึ้นที่จะอยู่กับมัน สุขใจเต็มเปี่ยมกับชั่วขณะนั้นๆ ทำให้ประสบการณ์ของความพึงพอใจนั้นยาวนานขึ้นเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้นการฝึกก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมมื้ออาหาร การชื่นชมดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การพูดคุยสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในทุกกิจกรรมเราก็แค่ อยู่ตรงนั้น ดื่มด่ำกับมัน ในที่สุดเราก็จะทำได้จนเป็นนิสัย

งานวิจัยของ ดร.เฟรด ไบรอัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้แสดงว่า ผู้ที่รู้จักใช้ความดื่มด่ำเป็นประจำและอย่างสม่ำเสมอ จะมีความสุขมากขึ้น มีมุมมองด้านบวก พึงพอใจกับชีวิต ซึ่งความดื่มด่ำนั้นแบ่งได้เป็น 3 ห้วงขณะ นั่นคือ เราสามารถดื่มด่ำกับอดีตด้วยความคิดคำนึง ดื่มด่ำกับอนาคตด้วยจินตนาการด้านบวก ดื่มด่ำกับปัจจุบันด้วยการเจริญสตินั่นเอง


2. การขอบคุณ

การกระทำพื้นๆอย่าง การมองเห็นและชื่นชมในสิ่งที่ผู้อื่นทำให้แก่เรา นั้นเหมือนยาขนานเอก มันทำให้ราเติมเต็มไปด้วยอารมณ์บวกและความมั่นใจ เมื่อรู้ว่าคนเหล่านั้นอยู่เพื่อเรา และสนับสนุนในสิ่งที่เราต้องการ และมันทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เมื่อเราได้แสดงความขอบคุณไปสู่ใคร เราก็จะได้ความรู้สึกดีและคำขอบคุณตอบกลับมา การศึกษาโดย ดร.มาร์ติน เซลิคแมน ระบุว่าผู้ที่ได้เขียนจดหมายระลึกคุณไปให้คนที่เค้าไม่เคยมีโอกาสได้กล่าวคำขอบคุณมาก่อน จะทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นในทันที และลดอาการของความซึมเศร้าลงได้

ดร. บ็อบ เอ็มมอน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องของการระลึกคุณ และแนะนำว่า ทุกๆคนควรที่จะฝึกที่จะระลึกคุณ เพราะจะได้ประโยชน์มหาศาล ประการแรก เพิ่มระดับความสุขขึ้นทันที 25% ประการที่สอง มันไม่ยากเลยที่จะทำ เช่น การเขียนบันทึกเพื่อระลึกคุณไปสัก 3 สัปดาห์ ก็จะสร้างผลกระทบทางบวกไปได้ยาวถึง 6 เดือนเลยทีเดียว ประการที่ 3 การเพาะบ่มจิตใจแห่งการระลึกคุณ จะทำให้สุขภาพดีขึ้น เช่น สามารถนอนหลับได้ยาวขึ้นและหลับได้ลึกขึ้น


3. ความมุ่งมั่น

ความมุ่งมั่น ก็คือความรู้สึกมีหวัง มีเป้าหมาย มีมุมมองด้านบวกกับตนเอง ได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างแพร่หลายว่า ผู้ที่สร้างสิ่งที่มีความหายในชีวิตจะมีความสุขกว่า และมีความพึงพอใจมากกว่ากับชีวิต คุณก็สามารถที่จะรู้สึกอยากฟันฝ่าไปสู่อนาคตด้วยศักยภาพที่มี ใครบ้างจะไม่อยากรู้สึกเช่นนี้ การมีมุมมองด้านบวกนั้นก็สำคัญ มันจะทำให้เป้าหมายของคุณเป็นไปได้และความท้าทายทั้งหลายก็ดูจะง่ายขึ้นที่จะก้าวผ่านไป ด้วยเหตุนี้ คุณจะไม่เพียงรู้สึกถึงความสำเร็จ แต่คุณจะสำเร็จได้มากขึ้นแน่นอน

ระดับของความหวัง จะแปรผันทำให้ความสามารถในการทำงานดีขึ้น การใช้จุดแข็งในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และมีความกระตือรือร้น หากเชื่อว่าเป้าหมายนั้นไปถึงได้แน่นอน นั่นย่อมจะทำให้รู้สึกถึง จุดมุ่งหมาย และความหมายของชีวิต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของความสุข


4. การให้

การให้อะไรก็ตามนั้นง่ายสุดๆ และเห็นได้ชัดว่า เมื่อเราให้บางอย่างกับใคร เรากำลังทำให้เค้ามีความสุข แต่สิ่งที่คุณอาจไม่รู้ก็คือ ผู้ที่ให้ ไม่ใช่ผู้ที่รับ จะได้ประโยชน์มากกว่าอีก มีการศึกษาวิจัยมากมาย ที่แสดงว่า การเป็นผู้ให้นั้น ไม่เพียงจะทำให้เราลดความเครียด รู้สึกโดดเดี่ยว หรือความโกรธ แต่ยังทำให้เรารู้สึกได้ถึงความสุขที่มากขึ้น ได้เชื่อมกับโลก และรู้สึกเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่โด่งดังของ Dr. Sonja Lyubomirsky ที่ให้นักศึกษา สัญญาที่จะทำดีกับผู้อื่น สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้ทำ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ทำดีกับผู้อื่นนั้นมีความสุขเพิ่มขึ้นถึง 42% งานวิจัยของ Dr. Stephen Post ก็ได้ผลว่า เมื่อเราได้ให้ออกไป จะมีผลกระทบอย่างสูงกับทุกๆเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจ ความตระหนักรู้ในตนเอง สุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


5. ความเห็นอกเห็นใจ

ความเห็นอกเห็นใจ เป็นความสามารถในการใส่ใจกับผู้อื่น เป็นความคิดความเข้าใจ ในพฤติกรรมและไอเดียของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่แม้จะแตกต่างจากเราก็ตาม เมื่อเราใส่ใจกับเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิต การมีทักษะในความเห็นอกเห็นใจนั้นสำคัญมากๆ เมื่อเราเห็นใจผู้อื่น เราจะลดการตัดสิน ลดความหงุดหงิด ความโกรธ หรือความผิดหวัง และเราจะมีความอดทนมากขึ้น เราจะเพิ่มพันธะผูกพัน ความสนิทสนมมากขึ้น และเมื่อเรานั้นได้ตั้งใจฟังจริงๆ ในมุมมองของผู้อื่น ก็จะพบว่าพวกเขาก็จะตั้งใจฟังเรามากขึ้นเช่นกัน ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นสำคัญต่อความสุขของคนเรา ดังนั้นการฝึกที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงสำคัญมาก

อันนี้ก็รวมไปถึงเรื่องความเมตตาที่มีให้กับตนเอง งานวิจัยของ Dr. Kristin Neff ได้ชี้ว่า คนที่มีความเมตตาต่อตนเองนั้นจะมีสุขภาพที่ดีกว่า มีผลลัพธ์ในชีวิตมากกว่าคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง


ที่มา www.happify.com – The 5 Skills That Will Increase Your Happiness

แปลและเรียบเรียงโดย เรือรบ

 

ด้วยแรงบันดาลใจและความเชื่อว่า ความสุข เป็น “ทักษะที่สร้างได้ และส่งต่อได้” เรือรบ จึงได้เขียนหนังสือ “ Happiness Recipe: 10 สูตรผสมความสุข” ที่จะทำให้ท่านได้แนวคิดและแรงบันดาลใจ เพื่อออกแบบความสุขในฉบับของตนเอง

รายละเอียดหนังสือ คลิก

 

5 วิธีที่ทำให้ชีวิต “ช้าลง”

slowlife

เคยเป็นไหม ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบเพื่อให้ทำอะไรเสร็จเร็วๆ แต่หลายๆครั้งกลับผิดพลาด หลงลืมอย่างไม่น่าให้อภัย

เรามักบอกตัวเองว่าไม่มีเวลา จึงดูเหมือนว่าจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆก็ยากไปเสียหมด แต่เรากลับมีเวลาผลาญเล่นไปกับเกม ยูทูป และโซเชียลมีเดีย

เชื่อหรือไม่ หากเราช้าลงกว่าปกติสักนิด กลับเราจะทำสิ่งต่างๆได้เร็วขึ้น เพราะมีความผิดพลาดน้อยลง ไม่ต้องเสียเวลาในการแก้ไข หรือกลับมาทำใหม่

หากเราช้าลงอีกสักหน่อย เราจะเห็นว่า เราจัดสรรเวลาได้ เวลามีเหลือเฟือสำหรับสิ่งที่สำคัญกับเรา

การใช้ชีวิตให้ช้าลง ไม่ได้หมายถึง เรื่อยเปื่อยเนิบนาบเป็นเต่าคลาน แต่หมายถึง ช้าพอที่เราจะสามารถผ่อนคลายและดื่มด่ำกับชีวิตได้

หากวันนี้เราคิดว่าความเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น มันอาจทำให้เรารีบจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

จริงๆแล้วเราสามารถทำหลายๆสิ่งให้ช้าลงได้ในจังหวะที่ตัวเองรู้สึกโอเค แต่กลับทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เรียกว่า ช้าเพื่อเร็ว นั่นเอง

 

5 สัญญาณบ่งบอกว่า เราใช้ชีวิตเร็วเกินไป

  1. คุณพบว่า มันยากขึ้น ที่จะโฟกัสกับสิ่งตรงหน้าในปัจจุบันขณะ คุณต้องคอยหาอะไรทำตลอดเวลา 2. คุณใช้ชีวิตไปเหมือนเดิม เรื่อยๆ “อย่างเป็นอัตโนมัติ” โดยไม่ได้ตระหนักว่า คุณกำลังทำมันอยู่ด้วยซ้ำ 3. คุณรีบเร่งไปกับกิจกรรมต่างๆในแต่ละวัน โดยไม่ได้ใส่ใจกับมันนัก รีบทำให้เสร็จเพื่อไปทำอย่างอื่นต่อ 4. คุณกำลังมุ่งมั่นกับเป้าหมายบางอย่างอยู่ จนคุณไม่ได้ใส่ใจว่าตอนนี้ตัวเองและคนรอบข้างกำลังทำอะไรอยู่บ้าง 5. คุณพบว่าในสมอง เต็มไปด้วยความคิดเกี่ยวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือความคำนึงอยู่กับอดีตที่ผ่านมาแล้ว

 


 

ชีวิตที่ช้า คือชีวิตที่ยืนยาว

คนเรายอมเสียเงินนับแสน เพื่อซื้อยาต้านความแก่ วิตามินชะลอความชรา ทำทุกอย่างเพื่อยืดอายุตัวเองออกไป ให้ได้อีกสัก 1-2 ปีก็ยังดี พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเป็นอัตโนมัติและหลับใหล ทำตามระบบไปอย่างไม่รู้วันคืน แต่พวกเขากลับไม่พยายาม “ตื่นขึ้นมา” เพื่อใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอายุยืนจนแก่หง่อม จึงจะเรียกว่า “ใช้ชีวิตคุ้ม” คุณสามารถใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและยืนยาวได้ โดยเพิ่มเวลาการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ขึ้นสัก 2 เท่าในทุกๆวัน นั่นเท่ากับว่าคุณมีอายุยืนขึ้นในด้านคุณภาพ เหมือนคุณอายุ 60 ปี แต่ได้ใช้ชีวิตเท่ากับคนที่มีอายุยืนยาว 120 ปี

แล้วถ้าคุณเพิ่มเวลาได้ถึง 3-4 เท่าล่ะ ? มันจะดีแค่ไหน

ในเรื่องการใช้ชีวิต ปริมาณของเวลาไม่มีความหมายเท่ากับคุณภาพ

หากแม้คุณอายุยืนขึ้นเพราะเทคโนโลยีการแพทย์ แต่ไม่มีความสุข

ไม่ได้ใช้ชีวิตที่ตนเองรัก เพราะถูกบังคับ มีแต่ข้อจำกัด นั่นอาจเป็นความทรมานอย่างร้ายแรง

ดังนั้นสิ่งที่ต้องกลับมาคิดใคร่ครวญก็คือ จะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตได้อย่างไร ?

ต่อไปนี้เป็น 5 วิธีง่ายๆที่จะยืดชีวิตให้ยาว ปลุกเราให้ตื่นจากความหลับใหล ด้วยการทำชีวิตให้ “ช้าลง”

5 วิธี ที่ทำให้ชีวิต “ช้าลง”

 1. กลับมาอยู่กับลมหายใจ

เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ หงุดหงิด เครียดหรือกังวล ลองใช้เวลาสัก 3 นาที นำจิตที่ว้าวุ่น กลับมาอยู่กับลมหายใจ…. สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ให้ลึกยาว จนรู้สึกว่าท้องพองออก ผ่อนลมหายใจออกเบาๆผ่อนคลาย จนรู้สึกว่าท้องยุบลง ทำแบบนี้ต่อเนื่องกัน โดยนำจิตรับรู้ อยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น มันจะเป็นสะพานเชื่อมร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเข้าด้วยกัน เพียงเท่านี้คุณก็จะเกิดสมดุลทางอารมณ์ขึ้นมา การกลับมาสู่ปัจจุบันขณะจะทำให้สติของคุณเต็มเปี่ยม

 การกลับมาอยู่กับลมหายใจสักครู่หนึ่ง จะช่วยให้คุณจะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 

2. ออกไปเดินเล่น

นี่เป็นวิธีออกกำลังที่ง่ายที่สุด ช่วยปลดปล่อยความเครียด และช่วยผ่อนคลายอารมณ์ การเดินจะช่วยให้คุณกลับมาอยู่กับปัจจุบัน สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัว สัมผัสกับธรรมชาติและกิจกรรมต่างๆของผู้คน คุณอาจเปลี่ยนจากการขึ้นรถเมล์ ขึ้นมอเตอร์ไซด์ ขึ้นลิฟท์ เป็นการเดินแทน แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย แต่ถ้าอยากสดชื่นกว่านั้น ออกไปเดินตอนฝนตกปรอยๆ หรือเดินในสวนตอนเช้าๆอย่างไม่รีบเร่ง

 แค่ได้อยู่กับการเดิน เชื่อมั้ยว่าคุณจะรู้สึกดีสุดๆไปเลย

 

 3. ดื่มด่ำไปกับกิจกรรมต่างๆ

ความสุข คือการมองเห็นสิ่งๆเดิม ในมุมมองที่เปลี่ยนไป ในเมื่อชีวิตนั้นเกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ วันวานและวันพรุ่งนี้มีอยู่เพียงแต่ในความคิด ดังนั้นไม่เป็นการดีกว่าหรือ ที่เราจะสัมผัสรับรู้กับปัจจุบันขณะที่กำลังเป็นอยู่ ฝึกที่จะสังเกตและรับรู้สิ่งดีๆรอบๆตัว และใช้เวลามากขึ้นที่จะอยู่กับชั่วขณะนั้น มันจะทำให้ประสบการณ์ของความพึงพอใจนั้นยาวนานขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าครัวเตรียมมื้ออาหาร การนั่งเล่นชื่นชมดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การพูดคุยสนุกๆกับครอบครัว ในทุกๆกิจกรรม เราก็แค่ “อยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยม และดื่มด่ำกับมัน”

 แค่รู้จักดื่มด่ำกับสิ่งรอบตัว  เราจะสัมผัสความสุขได้ง่ายๆและบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ

 4. อยู่กับความเงียบ

หลายคนคิดว่าความสุข คือความสนุกสนานร่าเริง และมีกิจกรรมต่างๆทำให้เพลิดเพลินใน แต่เราหารู้ไม่ว่า ชีวิตที่ถูกครอบครองด้วยกิจกรรมตลอดเวลา ลึกๆแล้วจะเรียกร้องหา “เวลาสำหรับตัวเอง” แม้แต่คอมพิวเตอร์ยังต้องการ Defragment และ มี Sleeping Mode มนุษย์เราก็ต้องการ “ชั่วขณะแห่งความเงียบ” ให้ตัวเองเหมือนกัน ในทุกๆวัน เราน่าจะกำหนดเวลาสัก 5-10 นาที เพื่ออยู่กับตัวเองลำพังในความเงียบ ลองใช้คำถามเหล่านี้กับตนเอง และอาจจะเขียนมันลงไปเพื่อให้หลายๆสิ่งชัดเจนขึ้น ร่างกายเรากำลังรู้สึกสัมผัสกับอะไรบ้างในขณะนี้ ? จิตใจและอารมณ์ในขณะนี้ของเราเป็นอย่างไร ? เรากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ มีความกังวลหรือไม่สบายใจอะไรบ้าง ? เมื่อทบทวนชีวิตในวันนี้ มีอะไรที่เราได้เรียนรู้ มีอะไรที่เราจะทำได้ดีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ? เมื่อเรากลับมาสนใจ รับรู้ ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้สักพัก เราจะพบกับความสงบใจอย่างน่าประหลาด

 ท่ามกลางที่ว่างนี้ ดูเหมือนจะเกิดความสุขได้ง่ายขึ้น เราจะตอบคำถามบางอย่างในใจตนเองได้ และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป

 

5. ไม่ด่วนตัดสิน

ความน่ากลัวอย่างหนึ่งที่คนเรามักมองข้ามไปก็คือ “เราจะได้ยิน เฉพาะสิ่งที่เราอยากฟังเท่านั้น” เมื่อใดก็ตามที่เรา “ด่วนตัดสิน” กับคนบางคน กับเรื่องบางเรื่องไปแล้ว แม้เค้าพูดไม่ทันจบประโยค เราจะปิดการฟังไป เปลี่ยนเป็นการแทรกสอด คำถาม หรือไม่สนใจ นั่นทำให้เกิดการเข้าใจผิด เกิดความขัดแย้งขึ้นในความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ฝึกที่จะรับฟังผู้คนจนจบ โดยยังไม่ด่วนตัดสิน ตีความไปก่อน นั่นทำให้การสื่อสารนั้นเข้าถึงเราได้อย่างเต็มเปี่ยม เราจะได้ยินในสิ่งที่เค้าไม่ได้พูดออกมา ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ แล้วจะประหลาดใจว่า เราสามารถเข้าใจเค้าได้ง่ายขึ้น

หนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตช้าลงได้และไม่ด่วนตัดสิน ได้แก่ “การฝึกไดอะล็อค” พัฒนาทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง

ซึ่งผมพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรม 1 วัน   “Dialogue & Deep Listening: ศิลปะแห่งการสื่อสารและการฟัง” 

การช้าลง ไม่ด่วนตัดสิน จะทำให้การสนทนาที่ดูจะยากลำบากครั้งนั้น กลับราบรื่นไปได้ด้วยดี

เป็นอย่างไรบ้างครับ กับ 5 วิธีการทำให้ชีวิตช้าลง หากเรานำวิธีเหล่านี้ไปใช้ เชื่อว่าจะมีความสุขขึ้นมากๆและบ่อยครั้งด้วย

หากคุณมีวิธีอื่นๆในการใช้ชีวิตให้ช้าลงและมีความสุขขึ้น กรุณาแชร์ในคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ

บทความโดย เรือรบ

 

Deep listening การฟังอย่างลึกซึ้งคืออะไร?

201003-omag-oprah-thich-nhat-hanh-600x250

ถอดความและเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ หลวงปู่ ติช นัท ฮันน์ ในรายการของ โอปรา วินฟรีย์

การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์จากใจของผู้อื่นได้ หรือจะเรียกว่า การฟังด้วยความเมตตาก็ได้ เธอจะฟังด้วยวัตถุประสงค์เดียวก็คือ ช่วยให้พวกเขา ได้ปลดปล่อยทุกสิ่งจากหัวใจจนหมดสิ้น ด้วยเธอตระหนักว่ากำลังช่วยเขาเหล่านั้นให้คลายความทุกข์ลง

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพูดหรือคิดในมุมมองที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด หรือด้วยความระทมขมขื่นก็ตาม เธอก็ยังสามารถรับฟังต่อไปด้วยจิตแห่งความเมตตาได้ เพราะเธอรู้ว่า การฟังแบบนี้ ด้วยจิตแห่งความเมตตา เธอกำลังมอบโอกาสให้พวกเขา บรรเทาความทุกข์ลงได้

หากเธอต้องการที่จะช่วยแก้ไขมุมมองความคิดของพวกเขา ให้เธอรอในโอกาสต่อไป แต่ในช่วงเวลาขณะนี้ เธอเพียงมอบการฟังอย่างลึกซึ้ง และช่วยให้เขาบรรเทาทุกข์ลง เพียงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการเยียวยา

ความกลัว ความโกรธ และความสิ้นหวัง บังเกิดจากพื้นฐานมุมมองที่เห็นผิด พวกเราล้วนต่างมีมุมมองที่เห็นผิด ในการคำนึงถึงแต่ตนเอง และไม่สนอีกฝ่ายหนึ่ง และนี่เป็นรากฐานของความขัดแย้ง สงคราม และความรุนแรงทั้งมวล

ผู้คนควรจะเริ่มพูดต่อกันอย่างนี้ “เพื่อนรัก ฉันรู้ว่าคุณมีความทุกข์อย่างมาก ฉันไม่อาจทำความเข้าใจได้เพียงพอถึงความยากลำบากและความทุกข์ที่คุณมี มันไม่ใช่ความตั้งใจของฉันที่จะทำให้คุณทุกข์มากขึ้น มันตรงกันข้ามเลย ดังนั้นขอให้คุคุณกรุณาเล่าให้ฉันฟัง ถึงความทุกข์ที่คุณมี ความยากลำบากที่เผชิญอยู่ ฉันต้องการที่จะรับรู้และเข้าใจมัน”

บทสนทนาต้องเริ่มจากสิ่งนี้ ด้วยคำพูดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรัก และถ้าเธอมีความจริงแท้และซื่อตรงในใจ พวกเขาจะเปิดหัวใจออกและบอกกับเธอ

และเมื่อเราฝึกที่จะมอบความเมตตาด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง ในท่ามกลางกระบวนการแห่งการฟังนั้น เราจะได้เรียนรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับมุมมองของเราเองและมุมมองของพวกเขาด้วย

และนี่คือหนทางที่ดีที่สุด เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งความขัดแย้งทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากระหว่างตัวเธอกับครอบครัว ลูกกับพ่อ เจ้านายกับลูกน้อง แม้กระทั่งสงครามและการก่อการร้าย หลักการเดียวกันนี้ ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ว่ากับระดับความขัดแย้งรูปแบบใดก็ตาม…


 

การทดสอบ 3 ชั้นของโสคราติส

โสคราติส

“The Triple Filter Test of Socrates” การทดสอบ 3 ชั้นของโสคราติส

มีเรื่องเล่ากล่าวขาน ที่ได้รับการสืบต่อกันมาจากยุคสมัยที่อาณาจักรกรีกยังรุ่งเรือง เป็นเรื่องราวของนักปราชญ์คนสำคัญนามว่า “โสคราติส” ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูง ได้เตือนสติผู้คนเกี่ยวกับเรื่องของการพูดและการฟังไว้ได้ดีมาก

วันหนึ่ง มีคนรู้จักบังเอิญได้พบกับ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ จึงพูดขึ้นว่า..”คุณรู้อะไรมั้ย? ผมเพิ่งได้ยินเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนของคุณมา”

“ช้าก่อน…” โสคราติสตอบ “ก่อนที่ท่านจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องเพื่อนของข้า มันอาจเป็นความคิดที่ดี ถ้าจะใช้เวลาสักครู่ กลั่นกรอบเรื่องที่ท่านกำลังจะพูด ซึ่งข้าจะเรียกมันว่า “การทดสอบกลั่นกรองสามชั้น”

“กลั่นกรองสามชั้น?”

“ถูกต้องแล้ว” โสคราติสกล่าวต่อไป ตัวกลั่นกรองแรก คือ “ความจริง”

ท่านแน่ใจจริงๆหรือว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะบอกข้า นั้นเป็นเรื่องจริง?”

“เปล่าหรอก…” ชายผู้นั้นตอบ “อันที่จริง ข้าก็แค่ได้ยิน เรื่องนี้มาเท่านั้นเอง แล้วก็…”

“เอาเถอะ เอาเถอะ ” โสคราติสกล่าว “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่รู้ว่า เรื่องที่ท่านรู้มาจริง หรือเท็จ
คราวนี้มาลองทดสอบ ตัวกลั่นกรองตัวที่สองกันดู

ตัวกลั่นกรองที่สอง คือ “ความดี”

เรื่องที่ท่านกำลังจะบอกข้าเกี่ยวกับเพื่อนของข้าพเจ้า เป็นเรื่องดีหรือไม่?”

” อืม ก็ไม่นะ ที่จริงมันเป็นเรื่องตรงกันข้าม…”

“ถ้าเช่นนั้น” โสคราติส กล่าวต่อ “ท่านต้องการบอกข้า เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีของเขา แต่ท่านไม่แน่ใจว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่…
ไม่เป็นไร ยังไงเสียท่านอาจจะ ผ่านการทดสอบนี้ก็ได้ เพราะยังเหลือตัวกลั่นกรองอีกหนึ่ง :

ตัวกลั่นกรองสุดท้ายนี้คือ “ความมีประโยชน์”

ท่านคิดว่าเรื่องที่ท่าน กำลังจะบอกข้าเกี่ยวกับเพื่อนของข้านั้น จะเป็นประโยชน์อะไรกับข้าหรือไม่?”

“จริงๆ มันก็ไม่เกี่ยวกับท่านนักหรอก”

“อืม…” โสคราติสสรุป “ถ้าเรื่องที่ท่านจะบอกข้านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องดี และ ไม่มีประโยชน์ เหตุใดท่านจึงอยากบอกข้าเล่า?”
……………..
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้โสคราติสเป็นมหาปราชญ์ และได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงนับตั้งแต่อดีต มาจนบัดนี้…
สรุปว่าตัวกลั่นกรอง 3 ชั้น ที่ควรรับฟัง ก็คือ 1 ความจริง 2 ความดี 3 ความมีประโยชน์

ก่อนที่จะพูดหรือกระจายข่าวเรื่องอันใด หากเราได้ทบทวน ใช้ตัวกลั่นกรองทั้ง 3 นี้ ก็จะทำให้เรารู้ว่า สิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด และหากเราเป็นผู้รับฟัง สามารถใช้เป็นเครื่องพิจารณาว่า ถ้าขาดทั้ง 3 สิ่งนี้ไป เราก็ไม่ควรจะปักใจเชื่อในทันที และลองมองอีกด้านว่าคนผู้นั้น อาจไม่ใช่คนที่หวังดีกับเราอย่างแท้จริงก็เป็นได้


 

5 สัญญาณอันตรายว่าคนนี้อาจไม่ใช่

หากคุณคบใครสักคนแต่แทนที่จะรู้สึกสุขใจ คุณกลับรู้สึกไม่ดี รู้สึกรีบเร่ง เครียดอึดอัด ร้อนรนทุรนทุราย คุณต้องการเขาทุกลมหายใจเข้าออก ไม่เป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าความสัมพันธ์แขวนอยู่บนเส้นด้ายและไม่มั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขาคืออะไร เป็นความรู้สึกขึ้นๆลงๆ บางครั้งก็สุขบางครั้งก็ทุกข์ คอยวิตกกังวลว่าคุณจะอาจสูญเสียเขาไปได้ทุกนาที คุณต้องการจะครอบครองเขาเพื่อจะให้รู้สึกว่าเขารักคุณ คุณจะนั่งครุ่นคิดในทุกรายละเอียดของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขา อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆนั่งคิดว่าเขารู้สึกยังไง ความสัมพันธ์นี้จะเป็นยังไงต่อ การยอมรับของเขาทำให้เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ แต่การไม่ได้รับการยอมรับทำให้เกิดความทุกข์ใจ หากคุณมีอาการอย่างที่ว่ามาข้างต้น ให้คุณลองประเมินว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับความสัมพันธ์ที่คุณมีอยู่ หากคุณรู้สึกแย่อยู่บ่อยๆแปลว่าคุณมาผิดทางสัญญาณอันตราย 5 ข้อได้แก่

1. คุณไม่เชื่อใจเขา

ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ ในความสัมพันธ์ที่ดี คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย มั่นคง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้น ถ้าหากคุณไม่เชื่อในสิ่งที่เขาบอกและมีคำถามอยู่ในใจเสมอ หรือระแวงตลอดเวลา คุณไม่ควรจะเสียเวลาหาความผิดปกติเหล่านั้น เพราะมันน่าเหนื่อยมาก ถ้าหากคุณเคยโดนเขาหักหลังหรือโกหก หากคิดจะกลับมาดีกันใหม่ก็ต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่นอกใจอีก มันจะแย่มากหากคุณยังต้องรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอด ความสัมพันธ์ควรจะแสดงตัวตนที่ดีที่สุดของคุณ ไม่ใช่ตัวตนที่แย่ที่สุด

2. ไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้ง

ความรู้สึกถูกตาต้องใจนั้นสำคัญ แต่เฉพาะสิ่งนี้ไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ยืนยาว คุณควรรู้ว่าเขาคิดอะไร เขาต้องการอะไรในชีวิต ความหวัง ความฝัน ความกลัวของเขาคืออะไร แต่ถ้าคุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย ก็แปลว่า คุณก็ไม่ได้รู้จักเขาดีพอ ข้อนี้สามารถแก้ไขได้หากคุณพยายามจะเรียนรู้เขา แต่หากเขาไม่ร่วมมือ อาจหมายถึงเขาไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับคุณมากพอ ซึ่งก็หมายถึงเขาไม่ได้ต้องการจะจริงจังในความสัมพันธ์ หรือคุณสองคนอาจจะไม่เหมาะสมกัน

3. เขาทำให้คุณแสดงตัวตนที่แย่ที่สุด

ถามตัวเองว่า คุณชอบตัวเองเมื่ออยู่กับเขาไหม ผู้หญิงหลายคนถูกพันธนาการไว้กับความสัมพันธ์แย่ๆที่ทำให้คุณกลายเป็นคนที่แย่ที่สุด คุณกลายเป็นคนที่ไม่ชอบตัวเองเมื่ออยู่ใกล้ๆเขา จากที่เคยเป็นคนมีความสุข มั่นใจ มองโลกในแง่ดีกลับกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไม่มั่นคง ตื่นตระหนก หวาดระแวง วิตกกังวล อึดอัด หมดพลัง แต่ด้วยความรู้สึกรัก ทำให้ยังทนอยู่ในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่ดีควรจะผลักดันให้คุณกลายเป็นคนที่ดีที่สุดที่คุณสามารถจะเป็นได้ไม่ใช่ดึงคุณให้ถอยหลัง ดังนั้นให้เรามีความกล้าหาญที่จะถามตัวเองว่าเรามีความสุขในความสัมพันธ์นี้ไหม อย่ามัวแต่เสียเวลา เสียพลังงาน กับคนที่ไม่ใช่

4. ไม่มีค่านิยมร่วมกัน

ค่านิยมพื้นฐานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณทั้งสองคนมีค่านิยมไปคนละทิศคนละทาง เช่น คุณชอบหาความรู้เพิ่มเติมและหมั่นพัฒนาความสามารถใหม่ๆอยู่เสมอ แต่อีกฝ่ายชอบความสบายและอยากทำงานเที่ยวเล่นไปวันๆ หรือฝ่ายหนึ่งมีความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่เชื่อในสถาบันครอบครัว การขาดค่านิยมร่วมกันทำให้ความสัมพันธ์ระยะยาวเป็นไปได้ยาก

5. การขาดการเคารพซึ่งกันและกัน

เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ ผู้ชายต้องการรู้สึกว่าเป็นผู้ชาย และต้องการที่จะได้รับการเคารพและชื่นชมจากผู้หญิง ผู้ชายบางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอหากผู้หญิงช่วยเหลือทำให้ทุกอย่างจนเขาไม่เหลือความภาคภูมิใจในตัวเอง  ผู้หญิงเองก็ต้องการการเคารพจากคนที่รัก เคารพในค่านิยม ทัศนคติ ความเป็นตัวตนของเธอหากคู่ของคุณชอบต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์คุณแสดงว่าเขาไม่ได้เคารพคุณและไม่ยอมรับในแบบที่คุณเป็นค่ะ หรือหากคุณต้องยอมกดหรือปิดบังความรู้สึกตัวเองไว้เพราะไม่ต้องการให้เขารู้สึกไม่ดี ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าความสัมพันธ์นี้อาจไม่ใช่

ค้นพบรักที่ใช่ และใช้ชีวิตที่รัก ในหนังสือ “รักดีดี มีอยู่จริง”

หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือที่จะพาคุณไปพบรักแท้จากจิตใต้สำนึกที่ยิ่งใหญ่ของคุณเองรักดีดีมีอยู่จริงเป็นผลงานที่ถ่ายทอดทั้งหลักการของกูรูความรักจากทั่วโลกหลอมรวมกับประสบการณ์ตรงและแนวคิดคำคมที่อบอุ่นหัวใจพร้อมภาพวาดน่ารักๆ 4 สีสะท้อนความรักในแง่มุมที่งดงามทำให้หนังสือเล่มนี้ได้ทั้งความรู้และความรู้สึกดีๆให้เข้าใจว่าแก่นแท้ของความรักคืออะไรและเราควรจะเริ่มต้นจากจุดใดจึงจะพบรักแท้ที่รอคอย…

เขียนโดย พิชชารัศมิ์ นักสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จจากจิตใต้สำนึก

หนังสือเล่มนี้เพื่อมอบรายได้ 50% จากการจำหน่าย ให้กับสถาบันโรคหัวใจแห่งประเทศไทย

 

Categories EQ

หลักพื้นฐาน 3 ประการ ของไดอะล็อค

“Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา” คือ กระบวนการสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง ใคร่ครวญ และไม่ด่วนตัดสิน

หลายท่านคนที่เคยไปเข้าวงไดอะล็อค จะรู้สึกว่า มันก็คือการตั้งวงสนทนาแบบนั่งล้อมกันเป็นวงกลมเท่านั้น

แม้ว่าการไดอะล็อคส่วนใหญ่ เราจะนิยมนั่งล้อมกันเป็นวงกลมในการพูดคุย ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียง “รูปแบบ” ภายนอกเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับความพิเศษของกระบวนการไดอะล็อคอยู่มากทีเดียว

การที่เราจะเริ่มฝึกสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องสามารถ “แยกแยะ” ความแตกต่างระหว่างการไดอะล็อค กับการสนทนารูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งในหนังสือ The Magic of Dialogue (2001) โดย Daniel Yankelovich ได้ให้แนวทางการแยกแยะไว้เป็นหลักการพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน

Deep Listening – การฟังอย่างลึกซึ้ง อย่างใส่ใจและไม่ตัดสิน

บทสนทนาทั่วไป แม้จะมีการฟังเพื่อค้นหาความเข้าใจ และถ้าเกิดมีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย โดยอัตโนมัติและรวดเร็วจะเปลี่ยนการฟังเป็นแบบ “ค้นหาจุดอ่อน” ที่เราจะเข้าไปโจมตีจุดนั้นอย่างรุนแรงทันที

ในขณะที่การฟังในวงไดอะล็อคจะแตกต่างออกไป เราจะกลับมารับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตนเอง ใส่ใจและโอบอุ้มอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยๆห้อยแขวนคำตัดสินไว้ และฟังเค้าต่อจนจบ ทักษะนี้เรียกว่า “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งต้องอาศัย “สติ” และการฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะสามารถใส่ใจรับฟัง “สิ่งที่เค้าไม่ได้พูด” อันได้แก่ ภาษากายที่สื่อถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่าเบื้องลึกที่ซ่อนไว้ ซึ่งแม้ตัวผู้พูดเองก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด

ในพื้นที่การฟังแบบนี้ จึงไม่มีการตัดสินถูกผิด เราจึงสามารถ “รับรู้” ผู้พูดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเห็นอกเห็นใจเค้าจากพื้นฐานและมุมมองของตัวเค้า โดยไม่เอาพื้นฐานมุมมองของตัวเราเข้าไปเป็นมาตรฐาน

การพูดคุยแบบอื่นนั้น มักจะลงเอยที่มี “ผู้แพ้ และผู้ชนะ” “มีคนถูก คนผิด” แต่สำหรับไดอะล็อคแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนา “ชนะไปด้วยกัน หรือไม่ก็ แพ้ไปพร้อมๆกัน”

เนื่องจากในวงไดอะล็อค ให้ความสำคัญกับ “การค้นหาความเข้าใจร่วม” ดังนั้น การที่เราเร่งด่วนตัดสินถูกผิด หรือการให้ความสำคัญของความคิดเห็นของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นการลดทอนคุณค่าของสมาชิกในวง และจะทำให้ไม่เกิดการสนทนาอย่างเปิดใจอีกต่อไป

Respect & Equalityความเท่าเทียม โดยปราศจากอิทธิพลใดๆครอบงำ

สมาชิกที่เข้าร่วมวงไดอะล็อค ต่างมีข้อตกลงว่า ภายใต้การล้อมวงนั้นแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ไม่มีผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าภายนอกวง แต่ละคนจะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันมากก็ตาม

สภาวะแห่งความเท่าเทียมกัน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้แก่กันและกัน โดยมาก คนที่มีอาวุโสหรือตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นผู้ประกาศที่จะถอดหัวโขนนั้นลงชั่วคราว และอยู่ร่วมในวงอย่างเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ นั่นจึงจะทำให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า สามารถเริ่มเปิดใจที่จะพูด และมีส่วนร่วมในวงไดอะล็อคได้

Unfolding Assumptions – การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกของตน

ความแตกต่างสำคัญของกระบวนการไดอะล็อคกับการสนทนาทั่วไปคือ ในวงไดอะล็อค พร้อมจะเปิดเผยสมมติฐาน หรือความเชื่อเบื้องลึกของตนขึ้นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้ว่าจะรู้สึกเปราะบางหรือไม่มั่นคง หรืออาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม

ในพื้นที่ของความไว้วางใจต่อกันนั้น แทนที่เราจะถูก “ตัดสิน” จากคนอื่น แต่จะกลายเป็นการสร้าง “พื้นที่แห่งความจริง (moment of truth)” ให้เกิดขึ้น ผู้คนจะรับรู้ได้และพร้อมเปิดใจของตนเองเช่นกัน

ในวงไดอะล็อค ไม่ได้จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดความสุนทรียะ หรือให้รู้สึกดีต่อกันตลอดเวลา หากแต่การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกจะทำให้เราได้เคลียร์ความในใจต่อกัน และไม่ต้องเดาหรือสงสัยในความคิดของอีกฝ่ายอีกต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้ว การปิดบังความคิดหรือมีวาระซ่อนเร้นนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางใจต่อกัน

แน่นอนว่า ในบางครั้งการเปิดเผยความเชื่อเบื้องลึก อาจดูมีอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ทำให้บรรยากาศในวงสนทนามีความไม่ราบรื่นและทำให้บางคนมีอารมณ์ที่ขึ้นสูงได้ แต่หากในเบื้องลึกคือความเชื่อมั่นและศรัทธาที่อยากจะให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำร้ายกัน  นั่นคือการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้นของการฝึก หากเรายังไม่รู้สึกไว้วางใจเต็มที่ ก็สามารถค่อยๆเปิดเผยความคิดของเราไปทีละชั้นๆได้ วงไดอะล็อคก็จะค่อยๆเติบโตไปตามความไว้วางใจที่สมาชิกต่างมอบให้กันและกัน ด้วยความเคารพให้ความเท่าเทียมกัน มีการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสินกัน  ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เราก็สามารถมอบความไว้วางใจในการเปิดเผยความคิดและอารมณ์ได้มากกว่าทุกวงสนทนา และลึกเท่าที่เราต้องการ


หากจะตอบคำถามในบรรทัดแรก ไม่ว่ารูปแบบการนั่งสนทนาจะนั่งพื้นเป็นวงกลมหรือไม่ สมาชิกจะพูดคุยกันอย่างออกรสเพียงใด หากองค์ประกอบ 3 ข้อตามที่กล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการไดอะล็อค

อย่างไรก็ตาม ในทุกบทสนทนา โดยไม่ทันรู้ตัว ก็อาจจะกลายเป็นการไดอะล็อคได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ หากผู้ร่วมวงสามารถเปิดใจรับฟังกันและกัน เคารพในความคิดของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม และเปิดใจจนเกิดการสนทนาที่ลึกซึ้งได้

ผลลัพธ์ของการพูดคุยครั้งนั้น จะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สานสายสัมพันธ์ของผู้คน และประสานพลังความคิดให้เห็นมิติใหม่ๆ เกิดเป็นความเข้าใจร่วมที่สอดคล้องกันได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

หากต้องการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง และมีประสบการณ์เข้าร่วมวงไดอะล็อคอย่างแท้จริง ขอแนะนำหลักสูตร Dialogue & Deep Listening โดย อ.เรือรบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save