ไดอะล็อค: บริหารงานได้ผล คนเป็นสุข

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นผู้บริหารองค์กร คือ “การฟัง”

มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้ประสิทธิภาพการฟังของผู้บริหารลดลง อาจเป็นด้วยเวลาจำกัดและภาระงานที่มาก หรืออาจะเป็นประสบการณ์ ความรู้ ความอาวุโส ทำให้พอฟังยังไม่ทันจบก็รีบตัดบท เพราะคิดว่า “รู้อยู่แล้ว“ ดังนั้นดูเหมือน ยิ่งอาวุโสมาก มิติการฟังยิ่งลดลง เป็นสัดส่วนผกผันกันไป

และคงปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ในองค์กรมีการฝึกทักษะการทำงาน การพูด และทักษะอื่นๆอีกมากมาย แต่สำหรับทักษะการฟังนั้น ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เรื่องการฟัง ไม่เห็นความจำเป็นต้องฝึกเลย

ผลกระทบที่พบได้ คงจะไม่พ้น “ปัญหาเรื่องคน” ซึ่งปัญหาใหญ่ๆมักจะเริ่มด้วยสาเหตุเล็กๆ เช่น การสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกันในการทำงาน
ก่อตัวเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย นานเข้าเกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ส่งผลให้เกิดการขาดประสิทธิภาพการทำงานและการประสานงาน และจบลงด้วยอัตราการลาออกที่เพิ่มสูง

ในแต่ละปีองค์กรต้องสูญเสียคนเก่งและมีความสามารถไป เพราะเรื่องสาเหตุเล็กนิดเดียว คือ “เราไม่ฟังกัน” สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ แต่จะมีทางแก้ไขอย่างไร….


ไดอะล็อค คือ การสนทนาด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง และไม่ด่วนตัดสิน

ซี่งเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ใช้ในการฝึกทักษะการฟัง เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทีมงานอีกด้วย มีกรณีศึกษาตัวอย่าง จากผู้บริหารธุรกิจวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลงานชนะเลิศด้านพลังงานระดับอาเซียนถึง 6 ปีซ้อน ผู้บริหารหญิงวัย 59 ปีท่านนี้ มาฝึกไดอะล็อคกับผมอย่างต่อเนื่อง แล้ววันหนึ่งก็เขียนจดหมายมาเล่า ว่าได้นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างไร ต่อไปนี้เป็นเนื้อความบางส่วนในจดหมายของท่าน

“โดยทั่วๆไปแล้วในการทำงาน เมื่อเราคุยกับลูกน้องเราจะฟังไปคิดไป มีข้อมูลมากมายวิ่งอยู่ในหัว และยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่หรือความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมาเกี่ยวด้วย ทำให้ยิ่งต้องคิดหนักไม่เคยได้ตั้งใจฟังจนจบ เราก็มักจะมีข้อมูลที่แน่นหนา พร้อมสวนกลับทันทีที่ได้ยินอะไรไม่ถูกไม่ควร กติกาที่สำคัญในการไดอะล็อคคือ การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน

เพราะในการตัดสินเราจะต้องวิเคราะห์หาเหตุและผล ใช้ความคิดมากในขณะรับฟัง เมื่อได้นำทักษะการฟังจากไดอะล็อคมาใช้ในการทำงาน ทำให้เรามีความช้าลงในการตัดสิน ไม่คอยจ้องแต่จะสอนงานหรือจับผิดอย่างเดียว มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของลูกน้องจนจบ

เมื่อเราลดการตัดสินความคิดเห็นของพวกเขา ทำให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายตามไปด้วย เกิดผลดีคือได้ความคิดเห็นที่ดีๆมากขึ้นหลากหลายขึ้น ลูกน้องเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องแนะนำมาก มันจึงช่วยลดภาระในการตัดสินใจเพราะเขาจะกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ใจเราโล่งได้ระดับหนึ่ง และถ้าทำได้มากขึ้นใจคงเบาสบายมากขึ้น

ประสบการณ์จากการร่วมวงไดอะล็อค ทำให้เราได้ฝึกความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก่อนที่จะตัดสิน ด้วยการค้นหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ ก่อนที่จะเชื่อ ทำให้ดิฉันเริ่มระมัดระวังและเตือนตัวเองให้รู้จักแยกแยะ ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินนั้น เป็นข้อมูลจากความจริง หรือเป็นความคิดเห็นจากการตีความของผู้พูดเอง ซึ่งเมื่อนำไปใช้ ก็จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในสิ่งต่างๆอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ลำเอียงเข้าข้างความคิดเห็นฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือกระทั่งลำเอียงเข้าข้างความคิดตัวเอง

ความรู้สึกที่เคยหนักอึ้ง มาจนถึงปลายทางของชีวิตการทำงาน แต่เมื่อได้มาพบหนทางแห่งการฝึกตน ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะนำมาใช้ ในช่วงเวลามีค่าที่เหลืออยู่ คงทำให้ดิฉันได้ก้าวไปในการเดินทางแห่งความสุขบ้างก็เป็นได้”

จากกรณีศึกษาจะเห็นว่า “ทักษะการฟัง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญของภาวะผู้นำ

การที่ผู้บริหารปรับทัศนคติและพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยในการพัฒนาทีมงาน ส่งเสริมให้ลูกน้องคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และภาคภูมิใจในตนเองได้

หากได้มีการนำไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ส่งผลกระทบสูง นอกจากจะได้ประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานแล้ว จะได้เรื่องการจัดการความขัดแย้ง การบริหารความสัมพันธ์ เป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำ ค่านิยมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในระยะยาว

เรียกว่า งานได้ผล และคนก็เป็นสุข ไปพร้อมๆกัน…

บทความโดย เรือรบ


 

สนใจฝึกไดอะล็อค แนะนำคอร์ส “Dialogue & Deep Listening: ศิลปะแห่งการสื่อสารและการฟัง”

โปรโมชั่นพิเศษ มา 2 จ่าย 1 สำหรับ 10 ท่านแรกเท่านั้น คลิกที่นี่

หลักสูตร In house สำหรับการอบรมในองค์กร คลิกที่นี่

ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค 4.0

06 02 2017

องค์กร “ยุค 4.0” เป็นโครงสร้างธุรกิจแบบ Value-Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นอกจากองค์กรจะเน้นเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “คุณภาพของคน” ที่จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี หรือสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ดังนั้น ความท้าทายที่ผู้บริหารต้องเผชิญ อาจไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี หรือระบบงาน แต่เป็น “การสื่อสารระหว่างบุคคล” เพราะสิ่งที่พบคือ เมื่อคนเก่ง ทำงานกับคนเก่ง แทนที่จะสร้างผลลัพธ์ยกกำลังสอง กลับกลายเป็นติดลบ

หากเรามองปัญหานี้ให้ลึกลงไป จะพบว่า ที่มาของปัญหาเรื่องคน ล้วนมาจาก “การขาดทักษะการฟังและการสื่อสารที่ดี” นั่นเอง

 

5 ปัญหาการสื่อสาร ที่พบบ่อยในการทำงาน มีอะไรบ้าง ?

1) ความเร่งรีบในการสื่อสาร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำงานผิดพลาด

2) ทีมงานไม่ค่อยพูด ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม

3) ลูกน้องพยักหน้าเข้าใจ แต่พอทำงานออกมา ไม่เหมือนที่สื่อสารไป

4) วิธีการสื่อสารของคนเก่ง ใช้ได้กับบางคน แต่อาจถูกต่อต้านจากบางคน

5) ปัญหาการสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงาน หรือกับหัวหน้างาน

เป็นปัญหาหลักส่งผลให้สูญเสียบุคลากรผู้มีความสามารถ

และเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พนักงานดีๆ ลาออก

 

สาเหตุที่เกิดปัญหาการสื่อสาร เพราะเมื่อเข้า “ยุค 4.0” ระบบสังคมซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ทำให้การฟังของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา

และเราจะพบอีกว่า มีผู้บริหารอยู่ 2 ประเภทในองค์กร ที่ใช้หลักการบริหารที่ต่างกัน

 

ผู้บริหารที่สื่อสารด้วย “ความกลัว”

โดยมากมักจะเป็นผู้บริหารแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Style) ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต เขาจึงคิดว่า ลูกน้องซึ่งเด็กกว่าและอ่อนประสบการณ์กว่า ควรจะเป็นฝ่ายเชื่อฟังและทำตาม โดยไม่รู้ตัว เขามักใช้หลัก “6 บ.” ในการบริหารงาน

นั่นคือ

บี้ ชอบสั่งการแบบขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ
ใบ้ ไม่ค่อยสอนงาน เห็นอะไรดีไม่เคยชม
เบลม ชอบตำหนิต่อว่า เห็นอะไรก็ผิดไปหมด
โบ้ย หากตัวเองทำผิด หรือตัดสินใจพลาด ก็อ้างว่าเป็นเพราะคนอื่น
เบิ้ล ถ้าลูกน้องทำผิด จะถูกซ้ำเติม หรือลงโทษทันที
บล็อก เขาไม่อยากเห็นใครทำตัวโดดเด่น และไม่ค่อยฟังความเห็นใคร

 

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วยความกลัว

พนักงานจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะซุกไว้ ด้วยกลัวความผิด ซึ่งอาจทำให้ปัญหาเล็กน้อย ลุกลามไปจนยากจะแก้ไข คนที่ไม่อยากถูกตำหนิ ก็คอยระวังตัวแจ จนไม่กล้าทำอะไร เห็นสิ่งที่ไม่เวิร์คก็จะนิ่งเฉย องค์กรจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่มีความผูกพันกันในองค์กร ใครทนได้ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป

เพื่อหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรม 6 บ.” ซึ่งจะเป็นวงจรขาลงของการทำงาน และส่งผลเสียมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรที่จะเรียนรู้ “ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค 4.0” และนำไปปรับใช้ในการทำงาน


ผู้บริหารที่สื่อสารด้วย “ความรัก”

ผู้บริหารยุค 4.0 จำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องคน ประสานงานให้เกิดการสื่อสารที่ลื่นไหลในองค์กร “ความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นควรต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “เจ้านาย” หรือ Boss ที่เอาแต่สั่งการและตำหนิ มาเป็น “ผู้หล่อเลี้ยง” หรือ Mentor ที่จะคอยรับฟังและให้การสนับสนุน

ทักษะการฟังและการสื่อสาร ของผู้บริหารยุค 4.0 ที่สำคัญ
ควรมี 5 ทักษะ ต่อไปนี้

1) การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
ฟังอย่างไรให้พวกเขาเปิดใจพูด ฟังอย่างไม่ด่วนตัดสิน ฟังให้ลึกลงไปกว่าคำพูดของคนตรงหน้า
2) การฟังเสียงภายใน (Inner Voice Listening)
ฟังเพื่อเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น
3) การฟังสร้างสัมพันธ์ (Relationship Listening)
ฟังคนใกล้ตัว คู่ชีวิต สมาชิกในครอบครัว
เพื่อเยียวยาบาดแผลในใจอีกฝ่าย สานสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

4) การฟังเพื่อผลลัพธ์ (Active Listening)
ฟังจับประเด็นได้ เข้าใจตรงกัน เมื่อมีเวลาจำกัด และอยู่ในช่วงเร่งรีบ
5) การสื่อสารเพื่อสร้างทีม 4 แบบ (4 Leadership Styles)
เมื่อเราเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล เราจะสื่อสารได้ตรงใจผู้ฟังมากขึ้น

 

ผู้บริหารที่ดีจะมีสติตระหนักรู้ ว่าคำพูดที่ตรงไปตรงมาของเขา จะไม่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เขาจะเลือกใช้คำพูดที่รับผิดชอบในความรู้สึกของตัวเอง และไม่กล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย

แทนที่จะพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “คุณเอ ทำไมงานที่สั่งไปทำไม่เสร็จ รู้ไหมว่าทำงานล่าช้าแบบนี้บริษัทเสียหาย คุณจะว่ายังไง”

แต่สำหรับ ผู้บริหารยุค 4.0 จะเลือกใช้คำพูดที่ถ่ายทอดความรู้สึกและความต้องการ ว่า “คุณเอ ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกเครียด เพราะงานที่เราต้องส่งลูกค้าไม่เสร็จตามกำหนด ผมต้องการรักษาเครดิตของบริษัท เราควรทำยังไงดี มีอะไรให้ผมช่วยเหลือบ้างไหม”

 

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วย “ความรัก”

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการทำงาน เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานไปด้วยนานๆ อยากเห็นองค์กรเจริญเติบโต มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คอยระวังความผิดพลาดและจุดบกพร่องรั่วไหล มีความคิดสร้างสรรค์ ทำสิ่งดีๆ ให้แก่องค์กรโดยไม่ต้องสั่ง และจะสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความรัก” แบบนี้ ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป

“ผู้บริหารยุค 4.0” นอกจากจะต้องมีทักษะด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว ควรต้องมีทักษะด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศ

โดยเฉพาะ “ทักษะการฟังและการสื่อสารเพื่อบริหารคน” (Listening & Communication Skill) ถือเป็นทักษะหลักที่ผู้บริหารยุค 4.0 ต้องให้ความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงจะสร้างแรงบันดาลใจและปลุกศักยภาพผู้คน และนำพาองค์กรฟันฝ่าความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของกระแสธุรกิจในยุค 4.0 ได้ต่อไป


บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

 

ขอแนะนำ หลักสูตร “Executive Communication 4.0: ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค 4.0” โดย “เรือรบ” เน้น Workshop เพื่อฝึกทักษะการฟังและสื่อสารขั้นสูง และเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำ ให้สามารถนำไปใช้ได้ทันที

กำหนดการอบรมในปี 2560 (จัดปีละ 2 ครั้งเท่านั้น)
รุ่นที่ 6 วันที่ 14-15 ก.พ. 60 (รับจำกัดรุ่นละ 30 ท่าน)
สถานที่  Jasmin City Hotel (BTS อโศก)
ราคา 12,000 บาท ราคารวม International Buffet  เอกสาร และอาหารเบรค 2 มื้อ ตลอดการอบรม
พิเศษ โปรโมชั่น Early Bird เหลือ 8,900 บาท เมื่อสมัครภายใน 7 ก.พ.60 (ราคาไม่รวม VAT)

คลิกดูรายละเอียด ที่นี่

7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย

15

         สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผู้บริหารคือการคัดสรรคนให้เหมาะกับงาน  ผลประกอบการจะออกมาดีหรือไม่ย่อมขึ้นกับคน Learning Hub จึงขอนำเสนอ 7 เคล็ดลับในการเลือกคนให้เข้ากับงาน หรือ “Put the right man on the right job” ฝากให้บรรดาผู้บริหารได้ลองนำไปเป็นไอเดียในการเลือกลูกน้องกันครับ 

1.พิจารณาจากงานที่เคยทำ  

งานที่แตกต่างจึงต้องการคนที่แตกต่างกัน  

         Peter  Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการยุคใหม่ กล่าวว่าหากพนักงานทำงานไม่ดีย่อมเป็นความผิดของผู้บริหาร ไม่ใช่พนักงาน เพราะผู้บริหารเป็นคนเลือกเขามาทำงานเอง ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด ผู้บริหารจึงต้องใส่ใจกับการเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน เขาจึงแนะนำว่าการเลือกคนต้องพิจารณาจากงานที่คนผู้นั้นเคยรับผิดชอบมาก่อน อย่างน้อยก็จากประสบการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

         ยกตัวอย่างเช่น การจะหาผู้จัดการฝ่ายการตลาดสักคน ต้องคิดก่อนว่า หน้าที่ของผู้จัดการคนนี้คืออะไร เพิ่มยอดขาย คิดค้นสินค้าใหม่ หรือเจาะตลาดใหม่ ซึ่งงานแต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน    จึงต้องการคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรเลือกพนักงานที่เคยผ่านงานหรือมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งนั้นมากที่สุด หากคุณสนใจแนวคิดดีๆของ Drucker ผมแนะนำหนังสือชื่อ The Essential Drucker ครับ 

 2.อย่ามอบงานใหญ่ให้คนไม่ใหญ่   

 

กระจายอำนาจการตัดสินใจให้พนักงาน  

         Alfred Sloan อดีตผู้บริหารบริษัท General Motors ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับบริษัท    หนึ่งในนั้นคือการปรับวิธีการทำงาน โดยการกระจายอำนาจให้พนักงาน ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ 

         ซึ่งเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร  แต่ไม่ได้หมายความว่าพนักงานทุกคนจะมีอำนาจในการตัดสินใจเท่ากันนะครับ เพราะสำหรับพนักงานใหม่แล้ว   เขาจะยังไม่มอบหมายภาระงานสำคัญให้ เนื่องจากยังอ่อนประสบการณ์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้    

        เขาจึงมอบหมายให้พนักงานใหม่ทำงานที่มีความชัดเจนสูง คาดการณ์ได้ ส่วนพนักงานที่มีประสบการณ์แล้วเขาจึงเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจครับ  คุณสามารถติดตามแนวคิดของเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.economist.com/node/13047099  

3.ถามไถ่คนใกล้ชิด  

 

ผู้บริหารต้องฟังสิ่งที่คนอื่นคิด  

        Hermann Abs อดีตผู้บริหาร Deutsche Bank มีมุมมองว่า การเลือกใช้คนของผู้บริหารโดยมากตั้งอยู่บนอคติส่วนตัว ทำให้ใช้คนผิดประเภท หรือเลือกแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดมากกว่าคนที่มีความสามารถ  

        เพื่อให้การเลือกคนมีความถูกต้องและผิดพลาดน้อยที่สุด เขาจึงมองว่านอกจากการสอบประวัติของบุคคลที่ต้องการแต่งตั้งแล้ว ผู้บริหารควรจะสอบถามจากเจ้านายเก่า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน อย่างน้อย 3 – 5 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการเลือกคนที่เหมาะสม

        ดังนั้น “ We need to listen ผู้บริหารจึงต้องรับฟัง” ครับ คุณสามารถอ่านแนวคิดของเขาเพิ่มเติมที่ http://www.independent.co.uk/news/people/obituary-hermann-abs-1392727.html  

4.เลือกคนที่เข้าใจงาน  

 

วิถีของ Apple คือสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า  

        Tim Cook ซีอีโอบริษัท Apple ผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าเทคโนโลยีขั้นเทพให้กับลูกค้า ดังนั้นหัวใจสำคัญของ Apple จึงอยู่ที่แผนกฮาร์ดแวร์เทคโนโลยี เพราะแผนกนี้จะทำหน้าที่ผลิตชิป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสมองของสินค้า ดังนั้นคนที่จะรับบทหนักเช่นนี้ Tim Cook จึงเลือก  Johny Srouji  ทำไมต้องเป็นเขา ? 

        Srouji เคยผ่านงานจากบริษัท Intel และ IBM มาก่อน เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการวางระบบชิปเป็นอย่างดี เมื่อเขาเข้าร่วมงานกับ Apple  Srouji มีส่วนอย่างมากในการออกแบบระบบการทำงานของ iPhone และแท็บเล็ตใหม่   ทำให้ระบบการทำงานมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น   

        จึงทำให้  Apple สามารถยืนหยัดแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมั่นคง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ Tim Cook เลือกคนที่เข้าใจงานทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำความรู้จัก Johny Srouji ได้ที่นี่ครับ https://www.linkedin.com/in/johny-srouji-1b7a944  

 5.เข้าใจคนก่อนใช้คน   

 

 อย่าให้จุดด่างดำมาบดบังหยกขาว  

         Bob Burg วิทยากรชื่อดังของสหรัฐอเมริกา และเจ้าของหนังสือชื่อ The Go-Giver Leader เป็นกูรูอีกคนหนึ่งด้านการใช้คนครับ แน่นอนครับว่า ทุกคนย่อมมีดีมีเสียแตกต่างกันไป เขาจึงแนะนำครับว่า ควรมองคนจากจุดแข็งก่อนครับ เพราะมูลค่าของงานจะสร้างสรรค์ขึ้นได้จากจุดแข็งของคน  

        จากนั้นจึงพิจารณาจากจุดอ่อนครับ แต่ไม่ใช่คือมีจุดอ่อนแล้วคัดออกนะครับ เพราะเขาแบ่งจุดอ่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ     จุดอ่อนที่ไม่เป็นปัญหา จุดอ่อนที่แก้ไขได้ และจุดอ่อนที่เป็นปัญหา  พูดง่ายๆก็คือ หากพนักงานมีจุดอ่อน 2 ประเภทแรก ไม่ถือเป็นปัญหาครับ แต่หากเป็นจุดอ่อนประเภทที่สาม แม้ว่ามีจุดแข็งที่ดีแค่ไหนคงต้องคัดออกครับ  

         เขาได้ยกตัวอย่างวิศวกรที่ทำงานเก่งคนหนึ่ง ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนก แต่วิศวกรรายนี้ทำหน้าที่ประสานงานได้ไม่ดี แต่งานในตำแหน่งหัวหน้าต้องมีทักษะการประสานงาน

         ดังนั้นจุดอ่อนของเขาถือเป็นประเภทที่สาม เพราะถ้าเขาไม่สามารถประสานงานได้  ก็ไม่อาจแบกรับความรับผิดชอบได้ครับ ติดตามแนวคิดของ Bog Burg ได้ที่ https://www.facebook.com/burgbob/  

 6.เลือกคนจากลักษณะนิสัย   

 

Judging เหมาะกับงานบัญชี แต่ Perceiving เหมาะกับงานการตลาด  

         โดยทั่วไปลักษณะนิสัยของแต่ละคนมีส่วนอย่างมากต่อผลลัพธ์ของการทำงาน   คนที่ชอบทำงานเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนล่วงหน้า ไม่ค่อยครีเอทีฟ เรียกว่า Judging ครับ เหมาะกับการทำงานบัญชีหรือการเงิน          เพราะเป็นคนละเอียด 

          แต่คนที่ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ชอบงานเอกสาร เรียกว่า Perceiving เหมาะกับงานการออกแบบหรือการตลาดครับ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Target ถูกโจรกรรมข้อมูล บริษัทสูญเสียความเชื่อมั่น ผู้ถือหุ้นจึงเลือก John Mulligan ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการ CEO แทน CEO คนเก่าที่ขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว

          เหตุที่เลือกเขาเพราะเขาเป็นรองประธานฝ่ายการเงินหลายปี ทำงานละเอียด หรือก็คือเป็นคนประเภท Judging ซึ่งเหมาะที่จะเข้ามาประเมินความเสียหายและฟื้นฟูสถานะทางการเงินภายหลังถูกโจรกรรมข้อมูล  

คนละเอียดและรอบคอบจึงเหมาะกับสถานการณ์นี้มากกว่าคนครีเอทีฟครับ คุณสามารถศึกษาประวัติของ John Mulligan ได้ที่  https://www.linkedin.com/in/john-mulligan-2664812 

 7.ต้องเป็นที่ยอมรับ 

 

เลือกคนที่เป็นที่ยอมรับ ย่อมทำงานได้ราบรื่น  

         เทคนิคนี้ผมได้บทเรียนจากประธานาธิบดีโอบามาครับ   เมื่อครั้งโอบามารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ เสียงวิพากษ์ดังขรมว่า โอบามาขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้การประสานงานกับรัฐสภาจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมาก  

         คงไม่มีใครให้ความร่วมมือกับเด็กอ่อนอย่างโอบามาแน่  ดังนั้นโอบามาจึงดึง โจเซฟ ไบเดน เข้ามาเป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งจะเขาเคยเป็นกรรมาธิการด้านต่างประเทศถึง 9 สมัย

         ด้วยประสบการณ์ชั้นเซียนเช่นนี้ ย่อมกลบจุดอ่อนของโอบามาได้เป็นอย่างดี และความน่าเชื่อถือและการยอมรับย่อมเพิ่มขึ้น  หากคุณสนใจสามารถติดตามโอบามาได้ที่ https://www.barackobama.com/  

         แม้ว่าคุณจะเรียนรู้เทคนิคการใช้คนทั้ง 7 ข้อไปแล้วก็ตาม แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ แต่หากเราใช้คนผิดพลาด เราก็ควรยอมรับความจริง และเปลี่ยนคนใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับองค์กรได้   เพราะ Misfit is cruel to an organization.    

รียบเรียงโดย วิญญู – Learning Hub Team 

ที่มา  The Eessential Drucker: Peter Drucker author  

http://www.bloomberg.com/features/2016-johny-srouji-apple-chief-chipmaker/  

 

เผย 5 เคล็ดลับการปล่อยวางที่ทำได้จริง

สังคมปัจจุบันนี้ ต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันเพื่อที่จะให้ตัวเองสำเร็จและเหนือกว่าคนอื่น จนบางครั้งก็ลืมนึกถึงความสุขและใช้ชีวิตในแบบยึดติดกับความสำเร็จมากจนเกินไป

บางคนเมื่อเจอกับความล้มเหลว และความผิดพลาดต่างๆแล้ว ก็ทำใจให้ปล่อยวางกับเรื่องนั้น ไม่ได้ บางคนถึงขั้นคิดสั้น ฆ่าตัวตายไปเลยทีเดียว 

=====

สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ฝึกทำใจวางเฉยกับเรื่องต่างๆ รอบตัวซึ่งก็คือการปล่อยวางกับความยึดมั่นถือมั่น

ถ้าทำได้ คุณจะเห็นอีกมุมมองของชีวิต ที่อาจจะไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลยก็ได้

เมื่อพูดถึงคำว่าปล่อยวาง เราได้ยินกันบ่อยตั้งแต่เด็กจนโต  ดูเหมือนเป็นคำที่พูดง่ายแต่ทำทำได้ยาก Learning Hub จึงขอเสนอ 5 เคล็ดลับการปล่อยวางที่ทำได้จริงซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีที่อ่านจบ

=====

1.ให้อภัยอดีต

หลายคนมีอดีตที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่และเรื่องต่างๆ มักจะคอยตามหลอกหลอนอยู่เสมอ  ไมว่าจะดำเนินชีวิตไปทางไหน อดีตก็จะมาทักทายให้ได้เจ็บปวดอยู่เรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าไม่สามารถพบความสุขได้เลย

สำหรับอดีตนั้น ลึกๆแล้ว มันเกิดขึ้นมาจากใจของเราที่ไม่ยอมปล่อยวางจากเรื่องนั้นๆ ทำให้ความคิดยังคงสร้างอดีตที่แสนเจ็บปวดมาคอยทิ่มแทงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

Tips: เทคนิคในการปล่อยวางอดีต ก็คือ การให้อภัย ทั้งคนอื่น และตัวเราเอง

หากเรามองเห็นได้ว่า เหตุการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วไม่อาจหวนกลับมาแก้ไขได้อีก การให้อภัยคือการปลดปล่อยตัวเราจากความทุกข์ที่เกาะกินใจอยู่

และนั่นจะทำให้เรามีโอกาสได้ เริ่มต้นใหม่และทำให้เราสัมผัสกับความสุขในปัจจุบันได้อย่างเต็มเปี่ยมมากขึ้น

=====

2. หยุดกังวลเรื่องอนาคต

หลายคนมีชีวิตที่ดี แต่ไม่อาจมีความสุขได้เต็มที่ เพราะมีความกังวลกับอนาคตของตัวเอง  เช่น ถ้ามีมีลูก ก็กังวลกับอนาตคของลูกจนไม่อาจสงบจิตใจได้เลย

ในความเป็นจริง เราเองก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปยาวนานแค่ไหน เราอาจจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ การทำวันนี้ให้ดีที่สุด และกลับมามีความสุขอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า

หลายคนยอมแลกความสุขในปัจจุบันเพื่อรอคอยความสุขที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต น่าเศร้าที่หลายคนนั้นจากโลกนี้ไป โดยที่ยังไม่ได้พบกับความสุขนั้นเลย

Tips: หากต้องการปล่อยวางอนาคต ให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ

เมื่อมองเห็นว่า ชีวิตของเราไม่แน่นอน ปัจจุบันคือสิ่งที่แน่นอนและจริงแท้มากกว่า และเราสามารถทำให้ปัจจุบันเกิดขึ้นได้จริง

การมีความสุขตั้งแต่วันนี้ ทำทุกอย่างให้เหมือนสิ่งสุดท้ายที่เราจะได้ทำมันจะทำให้เรา ทำทุกสิ่งออกมาอย่างดีที่สุด

ทำอย่างไรถ้ายังมีความคิดกังวลกับอนาคต การตระหนักรู้เท่าทันตัวเอง (Self – Awareness) ช่วยคุณได้ นี่คือแนวทางการฝึกตระหนักรู้ในตัวเองที่เป็นรูปธรรมและเป็นขั้นตอนที่สุด

=====

3.ฝึกการบริจาค

เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องการความสะดวกสบาย เราจึงใช้ชีวิตเพื่อสะสมสิ่งของ ซื้อ เก็บ สะสมไว้เป็นปริมาณมาก จนบางครั้งก็มีเยอะเกินพอดี เยอะจนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองควรต้องมีอะไรบ้าง

ในความเป็นจริงทุกอย่างสิ่งต่าง ๆ ที่สะสมคือของที่เราไม่สามารถเอาไปได้เมื่อตายไปแล้ว แต่มนุษย์กลับยึดติดวัตถุเหล่านั้นเป็นอย่างมาก 

ทั้ง ๆ ที่วันหนึ่งถ้าเราตายไปแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นของไร้ค่าในทันที หลายคนแม้ป่วยหนัก ก็ยังหวงแหนสิ่งของ จนไม่ยอมปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ลงไป

Tips: หาเวลาประมาณสัปดาห์ละครั้ง ในการพิจารณาตู้เสื้อผ้า ห้องเก็บของ ลิ้นชักตู้

ดูว่ามีอะไรบ้างที่เราไม่เคยหยิบใช้เลยมากกว่า 1 ปี  จากนั้นให้ทยอยบริจาคสิ่งเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องเสียดาย

เพราะที่ผ่านมาเราเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีของชิ้นนั้นอยู่ ถ้าหากเราบริจาค มันจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นมากกว่า

ถ้าเราสามารถสละสิ่งเล็กๆน้อยๆ ได้อยู่เรื่อยๆได้จะทำให้เราสามารถปล่อยวางเรื่องใหญ่ต่างๆ ได้มากขึ้น

=====

4.มองเห็นทุกสิ่งเป็นสิ่งชั่วคราว

สถานะต่างๆในสังคมไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ลูกน้องหัวหน้า หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมาทั้งนั้น มันจึงเป็นเพียงแค่สิ่งชั่วคราว

ที่บอกอย่างนี้เพราะไม่มีใครที่จะรักษาตำแหน่ง หรือบทบาทเหล่านี้ไปจนตายได้ เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วเราก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหน้าที่อะไร

ร่างกายเราจะกลับคืนสู่ธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีอะไรติดตัวเราไปได้เลย นอกจากความดี ความชั่ว และเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เราจะไปยึดติด กับสิ่งที่คนอื่นสมมติให้เราทำไม ปล่อยวางแล้วหันมาสร้างสิ่งดี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้จดจำเรา ในแบบที่น่าจดจำจะดีกว่า

Tips: หากเรารู้สึกว่าใจไปยึดติดกับอะไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หน้าที่ ตำแหน่ง สถานะทางสังคม ให้ลองจินตนาการว่า อีกร้อยปีข้างหน้า สิ่งที่เรายึดถืออยู่นี้จะเป็นอย่างไร

เราจะพบว่า เรามองเห็นจุดจบของสิ่งต่างๆมองเห็นความเป็นสถานะชั่วคราว และไม่จีรังของสรรพสิ่ง

เมื่อระลึกรู้ เตือนใจตัวเองเนืองๆแบบนี้ เราจะสามารถปล่อยวางทุกสิ่งได้ง่ายยิ่งขึ้น

=====

5. ปล่อยให้มันเป็นไป

ที่สุดของการปล่อยวาง คือหยุดคาดการณ์และบังคับควบคุมอนาคต เพราะไม่มีใครที่จะสามารถหยั่งรู้ หรือจัดการกับอนาคตได้

สิ่งเดียวที่ทำได้ คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่มีวิธีอื่นใดอีก ที่จะทำให้อนาคตเราให้ดีได้ เมื่อทำวันนี้อย่างดีและเต็มที่แล้ว ก็จงปล่อยให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยกฎของเหตุและผล

ไม่ว่าเราจะเจอสิ่งดีหรือไม่ดี ให้คิดว่า เราได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะไม่ทำให้เราเสียใจภายหลัง

หลายๆ คนเคยคิดหรือไม่ว่า ที่เราเสียใจมากๆ กับเรื่องต่างๆ ที่เราผิดหวังนั้น จริงๆแล้ว เราเสียใจจากเรื่องอะไร เสียใจเพราะการเกิดขึ้นของเรื่องนั้นหรือเสียใจที่เราไม่ได้พยายามทำเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นอย่างเต็มที่กันแน่

Tips: เราสามารถวางแผน และสร้างเป้าหมายได้ แต่ไม่ต้องยึดติดว่าทุกสิ่งจะต้องดำเนินไปตามแผนที่วางไว้เสมอไป

แผนมีเพื่อเป็นแผนที่บอกทาง แต่การเดินทางจะบอกถึงการใช้ชีวิตที่แท้จริง

ฉะนั้นเมื่อวางแผนแล้วก็จงทำให้เต็มที่ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป โดยไม่ต้องกังวลหรือคาดหวังผลลัพธ์ วิธีนี้จะทำให้เรามีความสุขในทุกย่างก้าวของชีวิตอย่างแน่นอน 

=====

ปล่อยวาง เป็นคำที่ใครก็สามารถเขียนหรือพูดให้ดูดีได้ แต่คนที่ทำได้จริงมีน้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางเสียเลยทีเดียวสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน

ถ้าในขณะนี้คุณกำลังมีความทุกข์ ขอให้ถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า เรากำลังฝึกที่จะปล่อยวางบ้างหรือยัง

หวังว่าทั้ง 5 วิธีนี้ จะทำให้ท่านสามารถปล่อยวางเรื่องราวต่างๆในชีวิตได้มากขึ้น และหากคุณมีวิธีอื่นๆที่ใช้ได้ผล ก็ช่วยแบ่งปันในคอมเม้นท์ให้เราได้เรียนรู้ไปด้วยกันมากขึ้นนะครับ

และถ้าคุณอยากติดอาวุธให้กับการปล่อยวาง กรอบคิดแบบยืดหยุ่น หรือ Growth Mindset ช่วยคุณได้ ดูรายละเอียดหลักสูตร Growth Mindset for Effective work ที่นี่

=====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save