จงช้าลง เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต

จงช้าลง เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต

ข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้คนต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การยกเลิกแผนการเดินทางท่องเที่ยว ไปจนถึงการคิดว่าจะป้องกันตัวเองและคนรักให้ดีที่สุดได้อย่างไร

มีหลายเหตุผลทางจิตวิทยาที่บอกว่าทำไมพวกเราถึงพบว่าการตัดสินใจในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ ‘ยากลำบาก’

ข้อแรก เพราะโรคระบาดนี้เป็นของจริง

ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากมัน และการระบาดก็เกิดขึ้นแล้วขยายเป็นวงกว้างมากพอที่จะมีข่าวเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน ซึ่งสมองของมนุษย์ก็มักจะผูกความสนใจไว้กับภัยคุกคามลักษณะนี้ ทำให้การระบาดของโควิด-19 ดึงความสนใจของเราในแบบที่ภัยคุกคามที่ดูไกลตัว อย่างภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไม่สามารถทำได้
=====

ข้อสอง เพราะมีความไม่แน่นอนของการระบาดสูงมาก

ม่แน่นอนทั้งในแง่ว่าจริง ๆ แล้วมีคนติดเชื้อไวรัสนี้ไปกี่คนแล้ว แล้วตอนนี้มันแพร่กระจายเป็นวงกว้างรวดเร็วแค่ไหน และสุดท้ายจะมีคนติดไวรัสนี้ทั้งหมดกี่คน

ต้องบอกว่าการคาดการณ์เรื่องต่าง ๆ ของมนุษย์จะเป็นไปในลักษณะที่ทำความเข้าใจอัตราการเพิ่มแบบเป็นเส้นตรงหรือค่อนข้างคงที่ ในขณะที่การประมาณการในการเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่ง อย่างเช่น การเพิ่มแบบ Exponential ที่ในตอนแรกอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่แล้วก็สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างมหาศาล เราประมาณการได้ไม่เก่งเลย ความไม่แน่นอนลักษณะนี้กระตุ้นความสนใจของเราได้เป็นอย่างดี
=====

ข้อสาม เพราะมนุษย์มีส่วนร่วมในการควบคุมการระบาดได้น้อยมาก

เราสามารถร่วมมือกันล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และเว้นระยะห่างทางสังคมได้ (Social Distancing) แต่ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมนุษย์ไม่ชอบสถานการณ์ที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดผลลัพธ์ได้มากนักแบบนี้ เพราะมันจะสร้างความกังวลใจให้เรา เราจึงอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างอำนาจในการควบคุมของเราขึ้นมา
=====

ข้อสุดท้าย ได้แต่ตั้งรับ

ความพยายามทั้งหลายในการยับยั้งการระบาดของไวรัส โดยพื้นฐานแล้วคือการป้องกันเป็นหลัก หมายความว่าถ้ามาตรการต่าง ๆ สำเร็จ จะมีคนบางกลุ่มไม่ป่วย แต่โชคร้ายที่เราไม่สามารถทดลองมาตรการต่าง ๆ ได้ทั้งหมด ผลลัพธ์จึงกลายเป็นว่าเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามาตรการไหนหรือการกระทำใดที่จะทำให้เชื้อโรคหายไปกันแน่

ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเราในช่วงนี้ ทั้งภัยคุกคาม ความไม่แน่นอน และความวิตกกังวล ส่งผลให้เราตัดสินใจโดยมองระยะสั้นเป็นหลัก
=====

ความไม่แน่นอนทำให้เราพยายามรับข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น และใช้เวลาส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไวรัสและการระบาดของมัน ซึ่งการรับรู้ข่าวสารเป็นสิ่งที่ดี แต่การรับแต่ข่าวร้ายจะทำให้เราเครียด และถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องอื่น ๆ ไป

เช่นเดียวกับการที่เราไม่สามารถทำอะไรกับการระบาดได้มากนัก ทำให้ผู้คนเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อให้รู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมเพิ่ม
เริ่มจากการซื้อสบู่ล้างมือและเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งการซื้อเหล่านี้ดูมีเหตุผล เพราะสิ่งเหล่านั้นช่วยฆ่าเชื้อโรคบนร่างกายและพื้นผิวต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสได้

แต่เมื่อของเหล่านี้ขาดตลาด ผู้คนก็เริ่มรู้สึกว่าต้องเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของการควบคุมอะไรบางอย่างอีก ทำให้มีของขาดตลาดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่กระดาษชำระ กระดาษเช็ดมือ และน้ำดื่มบรรจุขวด การซื้อของเหล่านี้ดูมีเหตุผลน้อยลง (และแน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้แนะนำด้วย)
แต่การซื้อของพวกนี้ก็ช่วยลดความวิตกกังวลของคนบางกลุ่มลงชั่วคราว ด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้วนั่นเอง
=====

ในด้านการเงิน บางคนที่เผชิญกับความวิตกกังวลก็ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว จนดัชนีหุ้นในตลาดต่าง ๆ ตกลงถึง 20% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม มีผู้คนมากมายพยายามที่จะขายหุ้น (และแน่นอนว่าหลายคนขายไปแล้ว) แต่นี่เป็นการขาดทุนในปัจจุบันที่น่าจะกลับมาเป็นปกติในอนาคต (เหมือนที่ตลาดหุ้นเคยเป็นมาทุกครั้ง)

จะเห็นได้ว่าผู้คนอยากทำอะไรสักอย่างในเวลาวิกฤตเช่นนี้ แม้หลายเรื่องการไม่ทำอะไรเลยดูจะเป็นการกระทำที่รอบคอบและเข้าท่ากว่าก็ตาม

คำถามก็คือ คุณจะทำอย่างไร ให้ตัดสินใจได้ดีที่สุดท่ามกลางปัจจัยเชิงจิตวิทยาเหล่านี้
วิธีการที่ดีที่สุดในการต่อต้านเสียงไซเรนในหัว ว่าให้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็คือ ‘การทำตัวให้ช้าลง’

การตื่นตระหนกทำให้ผู้คนอยากทำอะไรสักอย่างทันที เพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคาม (ทางความคิด) แต่การกระทำส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่รอบคอบท่ามกลางการระบาดของไวรัสที่เป็นวงกว้างมากขึ้นนี้
=====

การทำตัวให้ช้าลง ทำให้คุณสามารถใช้เหตุผลที่แยบยลพร้อมข้อมูลในการช่วยหาข้อสรุป ซึ่งเป็นสิ่งที่ Keith Stanovich และ Richard West เรียกว่าระบบที่ 2 จากระบบทางจิตใจทั้งสองของมนุษย์

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับไวรัส และการปฏิบัติตัวต่อมัน จงใช้เวลาในการอ่านและย่อยข้อมูลก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญเกี่ยวกับตัวคุณและธุรกิจ

มีหลายสิ่งที่พวกเราต้องทำในหลายสัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า แต่ทุกการกระทำควรมีพื้นฐานมาจากความละเอียดรอบคอบบนฐานของข้อมูลและการถกเถียงจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่การลงมือทำตามพาดหัวข่าวหรือทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว
=====

สิ่งเหล่านี้เป็นจริงสำหรับทุกสถานการณ์ที่ต้องการความนิ่งสงบ และจะดีกว่าถ้าคุณสามารถอยู่เฉยเพื่อรอข้อมูลได้

Stanovich กับ West บอกว่าระบบที่ 1 (Thinking Fast)ที่หลายคนใช้ตัดสินใจ เป็นระบบที่เร็วและใช้เหตุผลจากสัญชาตญาณ ซึ่งตอบสนองตามสภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ของคุณในปัจจุบัน การตัดสินใจที่รวดเร็วมักเต็มไปด้วยอคติ นี่คือเหตุผลที่คุณต้องฝึกช้าลง (Thinking Slow) เพื่อให้มั่นใจว่าการตอบสนองอย่างรวดเร็วของคุณนั้นได้รับการรับรองจริง ๆ

หนึ่งในวิธีการฝึกคิดช้าและตอบสนองช้าลงเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นคือการฝึก Self – Awareness ดูวิธีการฝึกแบบเป็นขั้นตอนได้ที่นี่
=====

โดยสรุป เราต้องการจะบอกคุณว่าภายใต้การพัฒนาไปอย่างช้า ๆ ของวิกฤตโรคระบาด สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้เวลาให้มากขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินใจบนอารมณ์ความรู้สึกชั่ววูบ
เพราะการกระทำที่รวดเร็วอาจลดความวิตกกังวลของคุณในระยะสั้น แต่มันมักจะสร้างปัญหาที่มากขึ้นหรือใหญ่กว่าปัญหาเดิมที่มันจัดการได้เสมอ

เพื่อให้คุณและทีมของคุณมีทักษะในการแก้ไขปัญหาและตัดสินใจได้ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making ที่จะช่วยให้การตัดสินใจของคุณและทีมของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม ดูรายละเอียดที่นี่


=====

เรียบเรียงโดย อ. ป้อป มาติก ตั้งตรงจิตร, CFA, FRM ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการเจรจาต่อรอง

อ้างอิง Slow Down to Make Better Decisions in a Crisis by Art Markman (Harvard Business Review, March 2020.

เรียนรู้จากงานอย่างไรให้เก่งเร็วขึ้น

เรียนรู้จากงานอย่างไรให้เก่งเร็วขึ้น

คนส่วนใหญ่มีทัศนคติว่าการศึกษาเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นในตอนที่เราเป็นเด็ก ต้องเกิดขึ้นในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ต้องเกิดขึ้นในระบบที่กระทรวงศึกษาธิการออกแบบมาเท่านั้น

ซึ่งถ้าทัศนคติเช่นนั้นทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง คนส่วนใหญ่บนโลกก็คงประสบความสำเร็จไปแล้ว  คนที่ประสบความสำเร็จมีคุณสมบัติประการหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ การเป็นนักเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา

====

ที่บอกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมาสนับสนุนให้คุณไปเรียนต่อเอาใบปริญญามาประดับฝาบ้านเพิ่ม เพราะการทำเช่นนั้นก็หมายความว่าคุณยังหนีไม่พ้นทัศนคติของคนส่วนใหญ่ข้างต้นอยู่ดี

การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากหัวใจที่เปิดกว้างและกระหายที่จะรู้ เข้าใจ และเปลี่ยนแปลง

เมื่อมีทัศนคติที่ถูกต้องแล้วต่อให้คุณมีอาชีพการงานที่ต้องทำทุกวันคุณก็สามารถเรียนรู้ได้อยู่ตลอด
เพราะการทำงานก็เป็น ‘ห้องเรียน’ ที่ดีที่สุดห้องหนึ่งเลยทีเดียว
====

เราจะเรียนรู้จากการทำงานได้อย่างไร

ในตำราการบริหารจัดการยุคใหม่หรือ Management 3.0 และหลักการบริหารแบบ Agile (หลักการทำงานที่เน้นการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย) มีเครื่องมือหนึ่งที่มีประโยชน์มากในการเรียนรู้จากการทำงานจริง

เครื่องมือนั้นชื่อ Celebration Grid

Celebration Grid คือ แผนภาพไดอะแกรมที่เป็นแกนตั้งฉากระหว่างพฤติกรรมกับผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งจะบอกส่วนผสมระหว่าง ความสำเร็จ (Success) กับ ความล้มเหลว (Failure) ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่คนส่วนใหญ่โหยหาแต่ความสำเร็จ ซึ่งดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้เราไม่ได้เรียนรู้และไม่เกิดนวัตกรรม การแก้ปัญหาใหม่ ๆ
====

แก่นแท้ของการเรียนรู้จากความล้มเหลว

Celebration Grid แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า ณ พื้นที่ที่ประกอบไปด้วยความสำเร็จจากการทำตามสูตรเดิม และ ความล้มเหลวจากการทดลองอะไรใหม่นั่นแหล่ะคือพื้นที่ที่เราจะได้เรียนรู้มากที่สุด

เพราะถ้าเรายึดติดกับความสำเร็จเราจะไม่กล้าทดลองอะไรใหม่ ๆ และนั่นจะทำให้เราไม่ได้เรียนรู้ ส่วนถ้ามุทะลุบ้าบิ่นทำแต่สิ่งใหม่

ทดลองมันร่ำไปเราอาจจะพบแต่ความผิดพลาดล้มเหลวจนสูญเสียกำลังใจและไม่ได้เรียนรู้เช่นกัน

คำถามสองข้อที่เราควรถามตัวเองและทีมเมื่อทำโปรเจคต่าง ๆ เสร็จสิ้น(หรือทำงานเสร็จในแต่ละสัปดาห์) ก็คือ

อะไรบ้างที่เราทำได้ดี (เรามีหลักปฏิบัติที่ดีอย่างไรบ้าง)

อะไรบ้างที่เราได้เรียนรู้ (เราได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง)

ถ้าคุณรักษาสมดุลระหว่างคำถามทั้งสองข้อนี้ไปเรื่อย ๆ คุณจะพบว่าตัวเองกลายเป็นนักเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่มีห้องเรียนที่ชื่อว่า ‘การทำงาน’ นั่นเอง

เมื่อฝึกฝนตัวเองให้เรียนรู้จากงานได้สักระยะหนึ่งแล้ว คุณสามารถต่อยอดไปสู่ทีมและองค์กรได้ด้วย 4 เทคนิคสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในทีม คลิกอ่านที่นี่

====

ทักษะสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็คือการโค้ชและการให้ Feedback ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching and Feedback ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
Productivity and Team Collaboration Facilitator 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาน้อย

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาน้อย

คุณเป็นอีกคนที่เคยเจอสถานการณ์งานกองท่วมหัวแต่มีเวลาแค่น้อยนิดใช่ไหม คุณอาจจะเคยลองใช้เทคนิคจัดลำดับความสำคัญหรือไม่ก็เคยตัดงานไม่สำคัญออกแล้วเลือกโฟกัสเน้น ๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ

แต่มันก็ยังไม่ได้ผลใช่ไหม

ต่อไปนี้คือเทคนิค ‘ขั้นกว่า’ ที่ให้คุณลองหยิบไปใช้ ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาการทำงานให้ได้เยอะ คุณภาพดี ภายในเวลาที่น้อยนิด
====

ระบุความคาดหวังให้ชัด

ต้องไม่ลืมว่าในงานหนึ่งชิ้นจะมีส่วนที่ลูกค้าหรือคนที่เกี่ยวข้องอยากได้เป็นพิเศษ และส่วนที่คิดว่าแค่ขอให้มีไปงั้น ๆ ฉะนั้นลองพูดคุยกันให้เคลียร์ไปเลยจริง ๆ ว่าคุณจำเป็นต้อง ‘จัดหนัก’ ตรงไหนกันแน่

และถ้ารู้แล้ว คุณจะได้เน้นไปยังส่วนสำคัญโดยเน้นส่วนนั้น โดยไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่คิดว่าไม่มีความจำเป็นมากเกินไปตั้งแต่แรก

====

เอาของเก่ามาปรับใช้ใหม่

นี่คือโลกแห่งยุครีไซเคิล ดังนั้นการเอาของที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่ หรือนำมาประยุกต์แบบหมุนเวียนถือเป็นการประหยัดเวลาและทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมด้วย

ลองลิสต์ออกมาดูว่าบรรดาสไลด์ต่าง ๆ เนื้อหาข้อความ ร่างโปรเจ็กต์ หรือหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่คุณเคยทำเอาไว้ มีอะไรที่นำมาปรับใช้ใหม่ได้บ้าง
====

สร้าง Template และ Check List

เมื่องานเร่ง เวลาก็น้อยจะมีอะไรที่ดีไปกว่าการมีร่างเอาไว้ แล้วใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนั้นมาปรับให้กลายเป็นงานชิ้นใหม่ การทำ Template ว่าจะต้องใส่ข้อความอะไร เพิ่มหรือปรับตรงไหนจากร่างที่มีอยู่จะช่วยทำให้คุณเปลี่ยนจากการทำข้อสอบเขียนบรรยายสองหน้าอันยืดยาว เป็นการเติมคำอย่างง่าย

และหากคุณมี Check List เพื่อเช็คงานตัวเองทีละข้อ ๆ จนครบถ้วน จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ คุณจะได้ไม่ต้องกังวล และสับสนว่าทำอะไรไปหรือยัง แล้วยังขาดอะไรอยู่อีกบ้าง
====

เรียกคุยเลยดีกว่า

ในบางครั้ง การมัวแต่นั่งเขียนบันทึก หาคำเป็นทางการ หรือทำสื่อนำเสนอที่แสนวุ่นวายอาจเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น แถมยังเปลืองทรัพยากรอีกต่างหาก

ในบางกรณี หนทางอย่างการเรียกมาพูดคุยกัน สนทนาตอบโต้เพื่อหาข้อสรุป จะช่วยทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างง่ายดายและเคลียร์ที่สุด
====

สร้างตารางเวลา

การมีตารางเวลาแบบละเอียด จะทำให้คุณกลายเป็นสุดยอดแห่งการบริหารเวลา งานแต่ละชิ้นจะถูกกำหนดชัดเจนว่าสำคัญมาก – น้อย ต้องให้เวลาแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่ถือว่าหมดเวลาแล้วควรผละไปทำอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า

ถ้ามีเครื่องมือนี้แม้จะไม่ได้การันตีว่าจะทำงานได้เสร็จอย่างยอดเยี่ยม แต่อย่างน้อยมันจะทำให้คุณรู้ว่า คุณกำลังทำงานอะไร สำคัญแค่ไหน จะทำได้ถึงเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องนั่งพะว้าพะวงกับงานชิ้นอื่นจนเสียสมาธิโดยใช่เหตุ

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดที่จะทำให้คุณทั้งทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในเวลาอันน้อยนิด และงานนั้นอาจกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้อีกด้วย
====

เรียบเรียงจาก “5 Strategies for Getting More Work Done in Less Time” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 7 มกราคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เทคนิคการให้ Feedback ที่มีประสิทธิผลสูง

เทคนิคการให้ Feedback ที่มีประสิทธิผลสูง

คุณไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้แน่ หากไม่รับฟัง Feedback จากใครเลย มีการศึกษาพบว่าการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานอย่างสร้างสรรค์ (Feedback) นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นได้จริง ๆ

แต่การวิจารณ์มาพร้อมกับความรู้สึกหนักอึ้ง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับฟังความคิดเห็น หรือจะรู้สึกดีกับคำวิจารณ์เชิงลบ
====

งานวิจัยจาก Center for Creative Leadership (CCL) ศึกษาเกี่ยวกับการให้ Feedback พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

1.การ Feedback แรงๆ ไม่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดีจนอาจกลายเป็นการหยุดพัฒนามากกว่าจะพัฒนา

สิ่งที่จำเป็นมากเวลาวิจารณ์การทำงานของผู้อื่น คือต้องมีความเคารพซึ่งกันและกันและมีความเป็นห่วงเป็นใย คำวิจารณ์ด้านลบอาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกไม่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาในภายหน้าได้
====

2. Feedback ด้านบวกคือสิ่งสำคัญ

คนส่วนใหญ่มักจะมองเห็นข้อเสียของผู้อื่นก่อนเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการเห็นว่าอะไรคือข้อดี นี่คือปัจจัยสำคัญเพราะถ้าอยากให้คนมีกำลังใจในการทำงานต่อไป คุณก็ต้องหาข้อดีของเขาให้เจอแล้วสื่อสารมันออกมา
====

3.หลีกเลี่ยงการบอกคนอื่นว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร

วิธีที่ดีกว่าคือการตั้งคำถามให้เขาคิดถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้รับ Feedback ได้คิดและประเมินถึงผลที่จะตามมา ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหรือไม่ อย่างไร
====

4. หัวใจสำคัญของการพัฒนาอยู่ที่ตัวของผู้ให้ Feedback

ขึ้นชื่อว่า Feedback ย่อมมาจากมุมมองที่แตกต่างกันของผู้ให้ Feedback คน 100 คนย่อมมี 100 มุมมอง แต่การให้ Feedback ของคนที่เป็นหัวหน้า

ปัจจัยสำคัญคือการให้ Feedback เพื่อให้เขาพัฒนาการทำงานต่อไปโดยใช้มุมมองและประสบการณ์ของคนที่เป็นหัวหน้าเข้ามาประกอบ

สิ่งที่ต้องจดจำเอาไว้เสมอคือ หัวหน้าต้องตัดสินใจอย่างเฉียบแหลมด้วยว่า จะหาทางให้ Feedback กับคนที่มีความแตกต่างกันด้วยวิธีไหนเพื่อให้แต่ละคนนำไปปรับปรุงแล้วเกิดผลที่ดีที่สุดต่อองค์กร
====

5. การวิจารณ์จุดอ่อนไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ไม่ได้มีแต่การบอกข้อดีหรือจุดแข็ง เท่านั้นที่ทำให้ผู้คนอยากพัฒนาฝีมือ แต่การบอกจุดอ่อนหรือบอกข้อเสียก็ก่อให้เกิดการพัฒนาได้เช่นกัน

เพราะบางคนอาจนำไปใช้เป็นแรงผลักดันให้ทำงานให้ดีที่สุดอาจจะเพื่อไม่ให้โดนไล่ออก หรือโดนตัดเงินเดือนนั่นเอง
====

6. อย่าให้คนทำงานที่ถนัดจนเกินไป

จริงอยู่ว่าการมอบหมายงานบางงานให้กับคนที่เก่งในเรื่องนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่มั่นใจได้แน่นอน แต่ก็อาจทำให้คนนั้นเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเก่งด้านนี้มากจนไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านอื่น ซึ่งอาจส่งผลเสียตามมาในอนาคตทั้งต่องานและต่อคนทำงานนั้นเอง

องค์กรที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นสิ่งสำคัญจะเริ่มต้นจากการให้ Feedback ซึ่งกันและกัน เมื่อทุกคนรับรู้ถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน ข้อดี-ข้อเสีย ย่อมพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
====

เรียบเรียงจาก “What Good Feedback Really Looks Like” โดย Craig Chappelow และ Cindy McCauley จาก Harvard Business Review 13 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

จัดการเรื่องเร่งด่วนยังไงให้มีประสิทธิภาพ

จัดการเรื่องเร่งด่วนยังไงให้มีประสิทธิภาพ

ในการทำงานหลายคนวนเวียนอยู่กับการเอาตัวรอดจากเส้นตาย (Dead Line) ในการส่งงานซึ่งเต็มไปด้วยความกดดัน ความเหนื่อยและความเครียด แต่ก็จะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจหากทำได้ทันตามกำหนดนั้น

แต่งานวิจัยบอกว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทุ่มเทแทบเป็นแทบตายเพื่อให้เสร็จทันเวลาเหล่านั้นมักเป็นงานที่ใกล้เวลาส่งงาน และทำให้รู้สึกกดดัน ทั้งที่งานนั้นอาจไม่ได้มีความสำคัญมากนัก

ในทางตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่กลับละเลยงานอื่นที่อาจจะกดดันน้อยกว่า มีเวลาเหลือสำหรับการทำงานนั้นมากกว่า และที่สำคัญก็คือให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
====

เรากำลังโดนเส้นตายและความรู้สึกกดดันหลอกลวงโดยไม่รู้ตัว จนแทนที่จะทำงานตามลำดับความสำคัญกลับกลายเป็นทำตามความตื่นตระหนกไฟลนก้นไปโดยปริยาย

งานสำคัญที่ควรจะทำก่อนได้แก่ งานที่มีความหมาย งานที่ได้ภาพลักษณ์ที่ดี งานที่เข้ากับระดับความสามารถ งานที่จะช่วยให้รอดพ้นจากหายนะทั้งของตนเองและขององค์กร
====

ต่อไปนี้คือ วิธีโฟกัสไปยังงานที่ ‘สำคัญจริง ๆ’ เพื่อทำให้ทันตามเส้นตายที่เรากำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง

วางตารางงานที่สำคัญและเผื่อเวลาเอาไว้ก่อน

งานสำคัญจะต้องถูกบรรจุเป็นเป้าหมายหลักและเพื่อให้งานออกมาดี ทันกำหนดส่ง คุณจะต้องเผื่อเวลาในการประณีต เผื่อเวลางานงอก และอย่าให้เป็นตารางงานที่อัดแน่นจนหืดจับมากกินไป
====

เตรียมใจเผื่อจัดการกับความรู้สึกและความเครียด

ต้องไม่ลืมว่างานสำคัญย่อมล้มเหลวไม่ได้ คนทำมักจะวิตกกังวลจนนำไปสู่ความผิดพลาด สิ่งที่ควรทำก็คือ สร้างมิตรภาพในการทำงานเอาไว้เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทำสิ่งที่คิดว่าท้าทายและยากก่อนเสมอ ควรร้องขอความช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้อารมณ์เสีย หรือการพร้อมรับความผิดพลาดแล้วรีบแก้ไข
====

ถ้ามีงานที่ไม่สำคัญแทรกเข้ามา อย่าใช้เวลาในการจัดการมากเกินไป

จำไว้ว่า งานสำคัญย่อมคู่ควรกับเวลาและคุณภาพของการทำงาน อะไรก็ตามที่จะมาเบี่ยงเบนให้งานสำคัญด้อยคุณภาพหรือเสร็จไม่ทันก็ควรจะต้องถูกจัดการ เช่น การมีงานอื่นแทรกเข้ามา งานดังกล่าวจะต้องถูกจำกัดเวลาว่าจะต้องเสร็จให้เร็วที่สุดและไม่กระทบงานที่สำคัญจริง ๆ ด้วย
====

ลำดับความสำคัญของงาน บริหารจัดการให้สิ่งที่รบกวนจิตใจหมดไปซะ

งานประเภทที่ไม่สำคัญอาจจะมีจำนวนพอสมควร แต่บางอย่างก็เร่งด่วนจริง ๆ สิ่งที่จะทำได้ก็คือ ทำงานเหล่านั้นให้เสร็จไปแต่ควรจะเลือกงานที่ถ้าทำเสร็จแล้วจะทำให้เรารู้สึกโล่งสบายหรือลดภาระได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะมีสมาธิและเวลาไปทำงานที่มีความสำคัญจริง ๆ
====

ให้ความสำคัญกับภาพรวมของการทำงานทั้งหมด

การมองเห็น ‘ภาพใหญ่’ ของการทำงานจะทำให้เราโฟกัสในสิ่งที่สำคัญได้ง่ายขึ้น เคล็ดลับก็คือ หาเทคนิคต่าง ๆ มาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ตารางแบบละเอียดที่ระบุให้เห็นตั้งแต่ส่วนเล็กและไฮไลท์ให้เห็นภาพรวมทั้งหมดเพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรคืบหน้าไปมากแค่ไหน อะไรเร่งด่วนเป็นพิเศษ

ถัดมาคือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองระหว่างกัน จะทำให้เห็นว่าเราขาดตกบกพร่องอะไรไปหรือเปล่า รวมถึงการบันทึกตารางการทำงานว่าใช้เวลาไปกับสิ่งไหนบ้างเพื่อจะจัดการให้ดีขึ้น โฟกัสได้ตรงจุดกว่าเดิม

เทคนิคต่างๆ ที่เสนอไปนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง แต่ก็ควรเผื่อใจไว้ด้วยว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบบนโลกใบนี้ การโฟกัสเพื่อเอาชนะเส้นตายของการทำงานเป็นเรื่องยากเสมอ แต่หากลองเอาไปปรับใช้สักครึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจแล้ว
====

เรียบเรียงจาก “How to Focus on What’s Important, Not Just What’s Urgent” โดย Alice Boyes จาก Harvard Business Review 2 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

3 วิธีง่าย…ง่ายเพื่อฝึกทักษะคิดวิเคราะห์

3 วิธีง่าย...ง่ายเพื่อฝึกคิดวิเคราะห์

 

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราพบว่าองค์กรจำนวนมากไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เลย ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดนิดเดียวเท่านั้นจริง ๆ 

บางแห่งตามเทคโนโลยีไม่ทัน บางแห่งมีปัญหาเรื่องคนหัวเก่า แต่พูดกันอย่างถึงที่สุดรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากที่เดียวกัน นั่นคือ ‘ขาดทักษะการคิดอย่างรอบด้าน’

====

ผู้นำองค์กรจำนวนมากไม่ยอมมุ่งเน้นประเด็นสำคัญให้มากพอ อีกทั้งยังใช้เวลาไม่คุ้มค่า บ้างก็กระโดดข้ามไปยังข้อสรุปเร็วเกินไป

แต่ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลอะไร พวกเขาก็ยังดึงดันที่จะเลือกเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตัวเอง รูปแบบนี้แหล่ะที่เรียกว่า ‘ขาดทักษะการคิดอย่างรอบด้าน’

ชื่อที่คุ้นหูของการคิดอย่างรอบด้านก็คือ ‘การคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking)’ สิ่งนี้เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ในชีวิตประจำวัน

บางคนอาจจะเคยทำหรือเคยฝึกทักษะนี้กันบ้างแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างมหาศาลระหว่างการ ‘เคยทำอยู่บ้าง’ กับการ ‘ทำอย่างสม่ำเสมอและรอบด้าน’

====

เราขอเชิญชวนให้คุณฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีต่อไปนี้

1.ลองตั้งคำถามกับข้อสรุปที่เคยมี

ข้อสรุปต่าง ๆ ที่เคยมีจะเป็นเครื่องนำทางองค์กรของคุณ แต่ถ้าคุณย้อนกลับไปดูข้อสรุปเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง แล้วลองตั้งคำถามว่ามันเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า อาจจะช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์มากขึ้น (แต่ไม่ใช่ให้ตั้งคำถามปรัชญาที่จะทำให้เสียเวลา อย่าง “ท้องฟ้ามันเป็นสีฟ้าจริงรึเปล่า” นะครับ)

เรื่องแรกสำหรับการตั้งคำถามคือ ‘จังหวะ’ เช่น เมื่อกำลังพูดถึงแผนการระยะยาวของบริษัทว่าจะทำให้ผลประกอบการเติบโต เราก็ควรใช้จังหวะนี้ถามว่า “มันจะเติบโตได้ยังไง”

หรือถ้าใครกำลังพยากรณ์สภาพตลาดในอนาคต เราก็อาจจะครุ่นคิดถึงคำถามที่ว่า “เขาเอาข้อมูลหรืองานวิจัยอะไรมารองรับ”

นอกจากนี้คุณยังควรถามว่านอกเหนือจากบทสรุปที่ได้มานั้น เรื่องนั้นสามารถสรุปไปในแนวทางอื่น ๆ ได้หรือไม่ มีตัวเลือกอื่นที่จะมาเปลี่ยนข้อสรุปได้หรือเปล่า

เช่น ถ้าทีมของคุณเคยสรุปว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีหน้าเพราะมีคนติดต่อเข้ามาเยอะ คุณอาจตั้งคำถามกลับไปว่าถ้าเกิดเสียลูกค้าของปีนี้ไป แล้วปีหน้าจะเพิ่มขึ้นขนาดนั้นได้อย่างไร เป็นต้น 

====

2. ฝึกการใช้ ‘ตรรกะ’ ให้ถูกต้อง

บริษัทจำนวนมากใช้ ‘เหตุผล’ ในการหาข้อสรุปและผลักดันนโยบาย แต่ปัญหาคือ เหตุผลเหล่านั้นกลับไม่สมบูรณ์ (หรือเรียกว่าตรรกะเพี้ยน)

เช่น พบว่าอาหารฮาลาลขายดีขึ้นในทวีปเอเชีย บริษัทคุณจึงขยายสาขาร้านอาหารฮาลาลให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชีย แต่ช้าก่อนเพราะคนญี่ปุ่นไม่บริโภคอาหารประเภทนี้กัน ตัวเลขนั้นอาจพุ่งมาจากประเทศที่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้นก็ได้

ลองคิดถึงการใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลจริง ๆ ไม่ใช่แค่การคิดเหมารวบยอดเท่านั้น เพราะสิ่งหนึ่งจะเป็นผลมาจากอีกสิ่งหนึ่งได้นั้นมันจะต้องมีหลักฐานที่สนับสนุนอย่างชัดเจน และต้องมีเงื่อนไขและมีบริบทแวดล้อมที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่เพียงมันบังเอิญหรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนแทรกเข้ามา

====

3.หาวิธีการคิดแบบใหม่ๆ และรวบรวมมาใช้

เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ชอบอยู่ด้วยความเคยชินและสบายใจ เราจึงหาคนที่คิดเหมือนกันเพื่อมาอยู่รวมกัน เราติดต่อสื่อสารกับคนที่ความคิดและรสนิยมเข้ากันได้เป็นหลัก

ปัญหาคือการทำแบบนี้จะทำให้มองไม่เห็นวิธีการคิดหรือสิ่งแปลกใหม่อื่น ๆ เลย ในสังคมสื่อออนไลน์เราก็จะเลือกรับข่าวสารจากคนที่มีรสนิยมและความคิดแบบเดียวกัน

เมื่อเราเปิดหน้าเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็จะพบแต่คนแสดงความคิดเห็นที่เหมือนเรา จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ” นั่นเอง

ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่คุณจะต้องออกมาจากสังคมเดิม ๆ ลองหาคนในสังคมใหม่ อาชีพใหม่ หรือคนต่างเพศต่างวัยซึ่งจะทำให้คุณได้พบแง่มุมใหม่ ๆ ช่วยเปิดความคิดให้กว้างขึ้น การฝึกทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทักษะการคิดวิเคราะห์ของคุณแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน

====

====

เรียบเรียงจาก “3 Simple Habits to Improve Your Critical Thinking” โดย Helen Lee Bouygues จาก Harvard Business Review 6 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

รู้จัก Time Boxing เครื่องมือมหัศจรรย์ที่ช่วยให้ทำงานเสร็จและดีเยี่ยม

รู้จัก Time Boxing เพื่อให้งานเสร็จและดีเลิศ

คนส่วนใหญ่จะมีรายการสิ่งที่ต้องทำ (to do list) แปะไว้ที่ข้างฝา แต่ในความเป็นจริงก็เกิดปัญหาตามมามากมาย

 

ปัญหาแรกคือมันทำให้เกิดตัวเลือกมากเกินไปว่าจะทำอะไรบ้าง ปัญหาต่อมาคือ คนส่วนใหญ่จะเลือกทำสิ่งที่ง่ายก่อน

ส่วนปัญหาที่สามคือเรื่องที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนมักถูกทิ้งไว้เป็นลำดับท้าย ๆ ปัญหาที่สี่คือ รายการสิ่งที่ต้องทำมักจะไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นใช้เวลาแค่ไหน

 

และปัญหาสุดท้ายคือ ทั้งหมดจะเป็นแค่กระดาษรายชื่อ ถ้าหากเราไม่สร้างเงื่อนไขผูกมัดว่าจะต้องทำให้ได้จริง ๆ

 

หนทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้าง Timeboxing (ระบบการจัดเวลาเป็นบล็อค) ขึ้นมา ผู้ที่ใช้วิธีนี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าประโยชน์ของมัน คือ

 

1.เมื่อใส่ Timeboxing ลงไปในปฏิทิน ทำให้เกิด ‘สถานะของงาน’

เช่น ถ้ารู้ว่าต้องมีคลิปโปรโมทสินค้าออกอากาศในวันอังคาร และงานนี้จะต้องให้เวลาทีมทำงานประมาณ 72 ชั่วโมง เราจะได้ช่วงระยะเวลาว่าจะต้องวางบล็อกเวลาของงานนี้ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด

 

Timeboxing ทำได้โดยการมาร์คเอาไว้ให้ชัดเจนเป็นภาพที่จะคอยย้ำเตือนว่างานชิ้นนี้จะต้องเริ่มเมื่อไหร่ ส่งเมื่อไหร่ ผลลัพธ์จะออกมายอดเยี่ยมตามเวลาแน่นอน
===

2. Timeboxing ทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

เพราะหากเน้นความสำคัญของงานไว้ในปฏิทิน นอกจากเราจะสังเกตเห็นแล้วเพื่อนร่วมงานก็จะเห็นด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมและเขาสามารถปรับแต่งตารางงานให้สอดคล้องกับงานที่สำคัญของเราได้

การแชร์ปฏิทินการทำงานร่วมกัน ถูกนำมาปรับใช้ในองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น กูเกิ้ล และ ไมโครซอฟต์
===

 

3.ทำให้เกิดการบันทึกที่ชัดเจนว่าเราทำอะไรสำเร็จไปแล้ว

สุดสัปดาห์เราสามารถทบทวนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ตลอดจนถึงการนำมาประมวลในระยะยาวว่าอะไรทำได้ดี อะไรยังต้องปรับปรุง
===

4.เราจะรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้

สิ่งนี้สำคัญมากเพราะการรู้สึกว่าเราทำงานได้ตามแผน ได้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเห็นสิ่งที่ทำเสร็จไปแล้วทำให้รู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขในการทำงาน การล็อคเวลาให้งานสำคัญจะยังช่วยให้เราหยิบเอาสิ่งที่รบกวนหรือไม่สำคัญออกไปได้

 

ซึ่งต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่า ความรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ในการทำงานได้คือความสุขที่ยิ่งใหญ่ของการทำงานจริงๆ
===

 

5.รู้สึกว่าตนเองผลิตงานได้มากขึ้น

เพราะโดยปกติแล้ว การไม่มี Timeboxing จะทำให้เราทำงานหนึ่งชิ้นโดยขยายเวลาออกไปเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด แทนที่จะทำภายในเวลาที่ควรจะทำ

เช่น ถ้าต้องแปลงานหนึ่งชิ้นโดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยปกติ แต่หากไม่มีบล็อกเวลา เราอาจจะทำไปเรื่อย ๆ ตบแต่งงาน แวะพัก จนกระทั่งงานนั้นกินเวลาไป 4 ชั่วโมง และเบียดบังเวลาอื่น

การมี Timeboxing จะทำให้เราคุมเวลาได้ว่าควรจะทำอะไรเสร็จเมื่อไหร่ได้ดีขึ้น อย่าแปลกใจ ถ้าหากมีคนนำบล็อกเวลาไปใช้แล้วพบว่า ทำงานได้มากกว่าปกติถึงสองเท่า!

 

โดยสรุปแล้ว Time Boxing นั้นจะมีผลทางบวกต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เราไม่เพียงรู้สึกสุขใจที่ควบคุมชีวิตการทำงานได้ดีขึ้น แต่เรายังได้ผลงานมากขึ้น ทีมเวิร์คดีขึ้น และกลายเป็นคนทำงานที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
===

 

เรียบเรียงจาก “How Timeboxing Works and Why It Will Make You More Productive” โดย Marc Zao-Sanders จาก Harvard Business Review เล่มเดือน ธันวาคม 2018

 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

บันได 3 ขั้น สู่ความสำเร็จ

บันได 3 ขั้น สู่ความสำเร็จ

ทุกคนล้วนต้องการก้าวสู่ความสำเร็จ แต่หลายคนมักตั้งคำถาม ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี?

เราอยากให้คุณลองคิดถึงช่วงเวลาที่คุณเตรียมแผนการท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากการฝันถึงหลากหลายสถานที่อันสวยงาม เลือกจุดหมายปลายทาง วางแผนการเดินทางอย่างละเอียด จัดเตรียมกิจกรรมที่จะทำในแต่ละวัน แน่ล่ะ คุณคงไม่ลืมเตรียมความพร้อมด้านที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และร้านอาหาร

ช่วงเวลาตั้งแต่คุณเริ่มวางแผน วันที่คุณได้สัมผัสกับการท่องเที่ยว ตลอดจนความประทับใจที่ได้จากการเดินทาง เราเชื่อว่าคุณกำลังรู้สึกถึง… ช่วงเวลาแห่งความสุข


ตอนนี้ ให้คุณลองเปรียบเทียบประสบการณ์การวางแผนวันหยุดของคุณ กับความพยายามในการทำงาน… ทำให้การทำงานเป็นเรื่องราวแสนสนุก เต็มไปด้วยพลัง เพราะการทำงานมีความสำคัญต่อชีวิตคุณอย่างมาก การทำงานจะช่วยให้คุณสามารถหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว และทำให้คุณมีฐานะการเงินที่มั่นคง ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณในระยะยาว

บทความนี้จะเปิดเผย “เทคนิคช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน” เพียงแค่คุณคิดว่าการทำงานเหมือนกับการท่องเที่ยว กล่าวคือ คุณต้องมีความฝัน ตั้งเป้าหมาย และมุ่งมั่นตั้งใจทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริง

หากคุณยังไม่เห็นภาพชัดเจน บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจหนทางที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ ด้วยวิธีการ 3 ขั้นตอน ดังนี้
 

ขั้นที่ 1 กล้าที่จะฝัน


ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเริ่มต้นจากความฝัน… หากคุณยังไม่รู้ว่าตนเองมีความฝันอะไร? หรืออยากเป็นอะไร? วิธีการง่าย ๆ ก็คือ ให้คุณลองคิดว่า อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการทำในอีก 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ลองจินตนาการและค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่คุณปรารถนาจริง ๆ

บางที คุณอาจพบว่าตนเองอยากเรียนภาษาเกาหลี วิ่งมาราธอน หรือลดน้ำหนักสัก 5-10 กิโลกรัม ปลดปล่อยความคิดของคุณให้เป็นอิสระ คุณสามารถวาดฝันถึงอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นสกีที่เทือกเขาหิมาลัย การเอาชนะการแข่งขัน F1 การสร้างแหล่งพลังงานให้กับหมู่บ้านที่ห่างไกลในอินเดีย เป็นต้น

เมื่อคุณจุดประกายความฝันด้วยการสร้างภาพจินตนาการแล้ว จงเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวคุณเอง ยืนหยัดทำมันอย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุด คุณจะประสบความสำเร็จ

และถ้าคุณไม่สามารถทำความฝันนั้นให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว คุณสามารถหาเพื่อนร่วมทางได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาต้องมีเป้าหมายเดียวกันกับคุณ เพราะหากคุณและเพื่อนร่วมทางมีเป้าหมายแตกต่างกัน ก็คงยากที่จะถึงฝั่งฝันนั้นได้

คุณสามารถประยุกต์ขั้นตอนนี้กับเรื่องงานของคุณได้ โดยคุณอาจจินตนาการว่า ตนเองอยากทำงานในตำแหน่งหัวหน้า ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งประธานบริษัท หากคุณมีความฝันแล้ว ก็จงอย่าดูถูกความฝันของตนเอง แล้วเดินหน้าสู่บันไดขั้นถัดไป…
 

ขั้นที่ 2 ตั้งเป้าหมาย


หลังจากคุณเห็นภาพความฝันชัดแล้ว คุณต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ และทำให้เป็นจริง… คุณอาจเขียนความปรารถนาเหล่านั้นใส่กระดาษ อัดเสียง หรืออัดคลิปวิดีโอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความฝันของคุณมีชีวิต และเป็นรูปธรรม

ความมุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นพลังให้คุณพยายามทำสิ่งที่คุณคาดหวังไว้ ให้เป็นจริง นอกจากนี้ ยังทำให้คุณเห็นความฝันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณฝันว่า อยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง คุณก็ต้องตั้งเป้าหมายและคิดหาหนทางที่จะพาตนเองให้ไปสู่บันไดแห่งความสำเร็จนั้น

ยกตัวอย่าง หนทางสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง
            1) ฉันต้องไปวิ่งออกกำลังกับเพื่อน ๆ
            2) ฉันต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
            3) ฉันจะเล่าเป้าหมายเรื่องสุขภาพให้ครอบครัวของฉันฟัง

ในเรื่องงานก็เช่นกัน หากคุณมีความฝันชัดแล้ว จงเปลี่ยนให้กลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจมากขึ้น แต่ยังเป็นการตั้งเป้าหมายระยะยาว ซึ่งส่งผลดีต่ออนาคตของคุณด้วย

ขั้นที่ 3 ลงมือทำ


“ความคิด” หรือ “คำพูด” ที่ปราศจาก “การลงมือทำ” เป็นสิ่งไร้ค่า… เพราะมันเหมือนปล่อยให้ความฝันของคุณหลุดลอยไปกับสายลม

“การลงมือทำ” มีความหมายมากกว่าการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น การเดิน การเขียน การสร้างสรรค์ การทำลาย การรักษา การปกป้อง เป็นต้น กล่าวคือ การลงมือทำต้องอาศัยความคิดและจิตใจร่วมด้วย เพราะหากเราใส่จิตวิญญาณลงไปในสิ่งที่เราทำ มีความแน่วแน่ต่อเป้าหมาย ความฝันนั้นจะยิ่งชัดเจน คุณก็จะเดินไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณตั้งเป้าหมายว่า “วันนี้ฉันจะออกไปวิ่งกับเพื่อน” คุณต้องทำให้กลายเป็นจริง โดยคุณอาจตั้งนาฬิกาสำหรับการออกกำลังกายไว้ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้คุณรีบหยิบรองเท้ากีฬาคู่โปรด พร้อมกับชักชวนเพื่อนของคุณออกไปวิ่ง

ให้คุณท่องจำให้ขึ้นใจว่า หากจะทำอะไรก็ตาม อย่ารีรอ “จงทำในทันที” เพียงเท่านี้ คุณย่อมสามารถเดินตามความฝันของคุณได้สำเร็จ และผลที่ตามมาก็คือ คุณสามารถสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบ เพราะคุณมองเห็นและสามารถกำหนดเส้นทางชีวิตได้ด้วยตนเอง

ดังนั้น เริ่มต้นวันทำงานของคุณด้วยการตั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว และอย่าลืมลงมือทำให้สำเร็จ เพราะภาพความฝันที่เปลี่ยนเป็นความจริง จะทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจ คุณสามารถควบคุมอุปสรรครอบข้างได้ดีขึ้น คุณเอาชนะวิกฤติการณ์ ความกลัว และก้าวผ่านความไม่รู้ต่าง ๆ ไปได้

เชื่อมั่นเลยว่า หากคุณมีความฝัน ยึดมั่นกับเป้าหมาย และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง… ดังเช่น 3 ขั้นตอนข้างต้น สุดท้าย คุณจะพบว่า ความฝันของคุณกลายเป็นความจริง และความสำเร็จอยู่ไม่ไกล…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

ทำแบบนี้สิ! ชีวิตจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ทำแบบนี้สิ! ชีวิตจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

อยากก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่ามองที่ความเร็ว แต่ให้โฟกัสที่การแสดงออก…

ในสังคมออนไลน์ ที่ทุกวันมีแต่เรื่องราวของคนสำเร็จเร็ว รวยเร็ว บางทีก็ทำให้คุณจิตตกได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับคนอายุใกล้เคียงกัน ทำไมเขาสำเร็จได้รวดเร็ว ต่างกับคุณที่ชีวิตนิ่งอยู่กับที่ ดูเหมือนถอยหลังเสียด้วยซ้ำ

หลายคนพอเห็นว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ค่อยก้าวหน้าไปไหน ก็เลิก ยอมแพ้ ไปหาอย่างอื่นทำดีกว่า

ชีวิตที่วัน ๆ เฝ้าแต่ค้นหาแรงบันดาลใจ ค้นหาตัวเองไปเรื่อย ๆ ยิ่งค้นก็ดูเหมือนยิ่งช้า ยิ่งหาก็ยิ่งไม่เจอ.. พวกเขาไม่รู้ว่า นั่นคือ “หลุมพรางชีวิต” แบบหนึ่ง

ชีวิตที่ “เริ่มใหม่” อยู่เรื่อย ๆ จะก้าวหน้าไปได้อย่างไร?

จริง ๆ แล้ว ความก้าวหน้าในชีวิตจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับ “การแสดงออก” มากกว่าเฝ้าดูความก้าวหน้า หรือความรวดเร็ว

คำว่า “การแสดงออก” คืออะไร?

การแสดงออกที่ว่านี้เรียบง่ายมาก แต่เป็นสิ่งที่บรรดาโค้ชและเทรนเนอร์ ใช้ฝึกนักกีฬาระดับโลก นักกีฬาโอลิมปิค

1. แสดงออกจากตัวตนที่ดีที่สุดของคุณ


ในทุก ๆ สถานการณ์ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณเป็น และทำเพื่อคนอื่นได้ นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ย่อมมีสติกับตัวเองเสมอว่า ลูกที่ชู้ตครั้งนี้ เขาต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ชู้ต ๆ ไปแบบไม่หวังผล เพราะมันอาจตัดสินผลแพ้ชนะในแมตช์นั้นได้เลย

เปรียบกับตัวคุณ ในทุก ๆ วัน คุณรู้จุดแข็งของตัวเองหรือยัง? เป็นตัวของตัวเองและได้ทำสิ่งนั้นเต็มที่แล้วหรือยัง?

หากคุณไม่สามารถแสดงออกจากตัวตนที่ดีที่สุดได้ คุณก็จะดูเหมือนคนอื่น ๆ  แล้วทำไมหัวหน้า ทำไมลูกค้าต้องเลือกคุณด้วยล่ะ!

อยากก้าวหน้าเร็ว ทุก ๆ การกระทำ ต้องทำเต็มที่ หวังผลเลิศ ไม่ใช่ทำ ๆ ไปให้ผ่าน ๆ มันไม่เกี่ยวกับผลตอบแทนที่ได้รับ แต่เกี่ยวกับว่า เราใส่ใจและตั้งใจ เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้วหรือยัง…

2. แสดงออกด้วยความสุข

คนสำเร็จในชีวิตที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ถ้ารู้สึกไม่โอเค เขาจะมีสติจัดการอารมณ์ตัวเองให้กลับมาเป็นปกติ แล้วจึงออกไปพบผู้คนด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส ให้กำลังใจผู้อื่น ไม่ใช่คอยแต่มองหากำลังใจจากคนรอบตัว

แม้ในใจจะมีเรื่องราวมากมาย แต่เขารู้ว่าจะก้าวข้ามพ้นมันไปได้ สิ่งดี ๆ จะเกิดตามมาแน่นอน ดังนั้นจะรอทำไม เริ่มสร้างความสุขให้ตัวเอง ณ ตอนนี้เลย

หากทำทุกวันให้มีความสุข ผลงานก็จะออกมาดีโดยธรรมชาติ

ลองคิดดู ระหว่างคนที่มีอารมณ์บวก คนที่พร้อมให้กำลังใจและให้พลังผู้อื่น กับคนที่หน้าบูดบึ้ง ขี้วีน และคอยดูดพลังคนรอบตัว เราอยากจะอยู่ใกล้ใคร อยากสนับสนุนใคร พอมีโอกาสดี ๆ อยากจะแนะนำใครเป็นพิเศษ..

3. รู้จักอดทนและรอคอย


สิ่งที่นักกีฬาระดับโลกจะไม่ทำ คือ อาการฟิวส์ขาด แสดงพฤติกรรมแย่ ๆ ออกไป คุณเคยเห็นนักเทนนิสที่ตีไม่ดีดังใจ แล้วโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยงทุบไม้ ด่าทอ โยนแร็กเก็ตไหมครับ น่าจะเดาไม่ยากว่า แมตช์นั้นเขาแพ้ขาดลอย และบางทีอาจจะตีไม่ได้ดีอีกเลย

หากคุณได้ทำ 2 ข้อด้านบนแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นว่าชีวิตก้าวหน้า คุณกำลังมองแค่เรื่อง “ความเร็ว” อยู่หรือเปล่า? อันที่จริง ความก้าวหน้าอาจซ่อนอยู่กับ “การเรียนรู้” ที่คุณได้รับระหว่างการเดินทาง ก็เป็นได้!

เมื่อการเรียนรู้มากพอ ความเร็วจะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย คุณอาจเห็นคนบางคนสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็ว จับอะไร ทำอะไร แป๊บเดียวก็สำเร็จ แต่สิ่งที่คุณมองไม่เห็น คือ พวกเขาเคยผิดพลาด ล้มเหลว ทำอะไรชักช้ามามากแค่ไหน?

ตอนนี้พวกเขาอยู่ในจุดที่การเรียนรู้และประสบการณ์เต็มเปี่ยม เขาเป็นผู้เชื่ยวชาญในสิ่งนั้น พอทำสิ่งใด ๆ ก็เลยดูสำเร็จได้โดยง่าย

ดังนั้น อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ให้เปรียบเทียบตัวเองกับตัวเราเมื่อวาน ก็พอ

นี่คือ 3 สิ่งที่คุณควรโฟกัส เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว.. สรุปอีกครั้งนะครับ “อยากก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่ามองที่ความเร็ว แต่ให้โฟกัสที่การแสดงออก”

บทความโดย CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save