3 คำถามที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำสิ่งสำคัญ

3 คำถามที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำสิ่งสำคัญ

ถ้าก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด 19 คุณเป็นคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้เข้านอนเร็วและหลับอย่างมีคุณภาพ

ไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือไม่ได้บริหารการเงินแล้วล่ะก็

ในช่วงสถานการณ์วิกฤต เช่น โควิด 19 ก็คงจะเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะทำสิ่งเหล่านั้น

แต่จะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ๆ ที่คุณจะนำเอาโควิด 19 หรือ วิกฤตต่าง ๆ มาเป็น…ข้ออ้าง

====

แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าอุปนิสัยเหล่านั้นดีต่อชีวิต
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะลุกขึ้นมาลงมือทำ
หรือทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในชีวิต 

เรามักพ่ายแพ้ให้แก่ธรรมชาติที่โหยหาการประหยัดพลังงาน(ร่างกายและสมอง)
ปรารถนาสิ่งที่ให้รางวัล(ความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน พึงพอใจที่รวดเร็ว)
และขาดการทบทวนเป้าหมายหรืออนาคตของตัวเอง(ทำเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน)

====

ถ้าให้จินตนาการถึงตัวคุณเองที่ประสบความสำเร็จสูงสุด
มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย มีหุ่นที่ดีที่สุด มีสุขภาพแข็งแรงสุด ๆ
มีความฉลาดปราดเปรื่อง สามารถคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้ดี

และมีสติที่ยอดเยี่ยมจนสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างดี

====

คุณคิดว่าพฤติกรรมที่คุณทำอยู่ในแต่ละวันจะนำพาคุณไปสู่ตัวคุณในจินตนาการคนนั้นหรือเปล่า
ถ้าคำตอบของคุณคือ “ไม่”
คุณก็คงจะรู้อยู่ลึก ๆ แก่ใจแล้วล่ะว่าถึงเวลาที่คุณจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองเสียที

หนึ่งในปัญหาคลาสสิคเรื่อง Productivity ของคนทำงานอยู่ที่คำว่า … แรงจูงใจ

ซึ่งจะว่าไปคำนี้มีทั้งส่วนที่จริงและส่วนที่ลวง(ทำให้เราหลงเชื่อแบบผิด ๆ)
ส่วนที่จริงก็คือ เราทุกคนต้องใช้แรงจูงใจในการลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่อยากทำ

ส่วนที่ลวงก็คือเราทุกคนสามารถลงมือทำสิ่งที่รู้สึกไม่อยากทำ
โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีแรงจูงใจเต็มเปี่ยมเลยก็ได้
ขอแค่มีแผนการที่ชัดเจนและมีการตระหนักรู้ในตัวเอง(Self – Awareness) ก็พอ

====

ถ้าคุณมีแผนการในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ชัดเจนแล้ว นี่คือ 3 คำถามสำคัญที่ผมแนะนำให้คุณนำมาถามตัวเอง เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง

โดยคุณสามารถใช้วิธีเขียนคำตอบของตัวเองลงกระดาษโดยละเอียดเพื่อใคร่ครวญและทบทวนความคิดของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

1. เป้าหมายที่ชัดเจนของฉันมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วมันคุ้มค่าพอที่ฉันจะลงมือทำให้กลายเป็นจริงไหม อย่างไร ?2. ถ้าฉันทำตามเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ ใครจะได้รับประโยชน์บ้าง อย่างไร ?
3. สิ่งที่ฉันทำในแต่ละวันช่วยให้เป้าหมายนั้นกลายเป็นจริงได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่ฉันจะเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้เป้าหมายนั้นกลายเป็นจริง ?   

คุณควรใช้เวลาในการตอบคำถามแต่ละข้อให้นานพอเพื่อที่จะได้สำรวจตัวเอง
เมื่อเขียนคำตอบทั้งสามข้อออกมาอย่างชัดเจนแล้ว
ให้คุณติดกระดาษแผ่นนั้นไว้ในที่ที่คุณมองเห็นเป็นประจำ

เพื่อจะได้ย้ำเตือนตัวเองว่าไม่ว่าแรงจูงใจภายในตัวคุณจะเหลือน้อยแค่ไหนก็ตาม
ถ้าเป้าหมายของคุณสำคัญและมีคุณค่ามากพอ

ถ้าพฤติกรรมนั้นช่วยทำให้เป้าหมายที่สำคัญและมีคุณค่ากลายเป็นจริงได้
คุณจะลงมือทำพฤติกรรมนั้นอย่างแน่นอน ต่อให้ต้องเผชิญพายุรุนแรงหรือมีกำแพงสูงขวางกั้นอยู่…ก็ตาม

เรียนรู้วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ คลิกที่นี่

====

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

บทความโดย 

อ.เวย์ เวสารัช โทณผลิน

Personal Productivity Facilitator

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลส่วนบุคคลให้แก่คนทำงาน 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาน้อย

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาที่น้อยลง

คุณเป็นอีกคนที่เคยเจอสถานการณ์งานกองท่วมหัวแต่มีเวลาแค่น้อยนิดใช่ไหม คุณอาจจะเคยใช้เทคนิคจัดลำดับความสำคัญหรือเคยตัดงานไม่สำคัญออกแล้วเลือกโฟกัสเน้น ๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ

แต่มันก็ยังไม่ได้ผลใช่ไหม

ต่อไปนี้คือเทคนิค ‘ขั้นกว่า’ ที่ให้คุณลองหยิบไปใช้ ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาการทำงานให้ได้เยอะ คุณภาพดี ภายในเวลาที่น้อยนิด
====

ระบุความคาดหวังให้ชัด

ต้องไม่ลืมว่าในงานหนึ่งชิ้นจะมีส่วนที่ลูกค้าหรือคนที่เกี่ยวข้องอยากได้เป็นพิเศษ และส่วนที่คิดว่าแค่ขอให้มีไปงั้น ๆ ฉะนั้นลองพูดคุยกันให้เคลียร์ไปเลยจริง ๆ ว่าคุณจำเป็นต้อง ‘จัดหนัก’ ตรงไหนกันแน่

และถ้ารู้แล้ว คุณจะได้เน้นไปยังส่วนสำคัญโดยเน้นส่วนนั้น โดยไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่คิดว่าไม่มีความจำเป็นมากเกินไปตั้งแต่แรก

====

เอาของเก่ามาปรับใช้ใหม่

นี่คือโลกแห่งยุครีไซเคิล ดังนั้นการเอาของที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่ หรือนำมาประยุกต์แบบหมุนเวียนถือเป็นการประหยัดเวลาและทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมด้วย

ลองลิสต์ออกมาดูว่าบรรดาสไลด์ต่าง ๆ เนื้อหาข้อความ ร่างโปรเจ็กต์ หรือหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่คุณเคยทำเอาไว้ มีอะไรที่นำมาปรับใช้ใหม่ได้บ้าง
====

สร้าง Template และ Check List

เมื่องานเร่ง เวลาก็น้อยจะมีอะไรที่ดีไปกว่าการมีร่างเอาไว้ แล้วใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนั้นมาปรับให้กลายเป็นงานชิ้นใหม่ การทำ Template ว่าจะต้องใส่ข้อความอะไร เพิ่มหรือปรับตรงไหนจากร่างที่มีอยู่จะช่วยทำให้คุณเปลี่ยนจากการทำข้อสอบเขียนบรรยายสองหน้าอันยืดยาว เป็นการเติมคำอย่างง่าย

และหากคุณมี Check List เพื่อเช็คงานตัวเองทีละข้อ ๆ จนครบถ้วน จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ คุณจะได้ไม่ต้องกังวล และสับสนว่าทำอะไรไปหรือยัง แล้วยังขาดอะไรอยู่อีกบ้าง
====

เรียกคุยเลยดีกว่า

ในบางครั้ง การมัวแต่นั่งเขียนบันทึก หาคำเป็นทางการ หรือทำสื่อนำเสนอที่แสนวุ่นวายอาจเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น แถมยังเปลืองทรัพยากรอีกต่างหาก

ในบางกรณี หนทางอย่างการเรียกมาพูดคุยกัน สนทนาตอบโต้เพื่อหาข้อสรุป จะช่วยทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างง่ายดายและเคลียร์ที่สุด
====

สร้างตารางเวลา

การมีตารางเวลาแบบละเอียด จะทำให้คุณกลายเป็นสุดยอดแห่งการบริหารเวลา งานแต่ละชิ้นจะถูกกำหนดชัดเจนว่าสำคัญมาก – น้อย ต้องให้เวลาแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่ถือว่าหมดเวลาแล้วควรผละไปทำอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า

ถ้ามีเครื่องมือนี้แม้จะไม่ได้การันตีว่าจะทำงานได้เสร็จอย่างยอดเยี่ยม แต่อย่างน้อยมันจะทำให้คุณรู้ว่า คุณกำลังทำงานอะไร สำคัญแค่ไหน จะทำได้ถึงเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องนั่งพะว้าพะวงกับงานชิ้นอื่นจนเสียสมาธิโดยใช่เหตุ

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดที่จะทำให้คุณทั้งทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในเวลาอันน้อยนิด และงานนั้นอาจกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้อีกด้วย

ถ้าคุณสามารถตั้งเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ขอแนะนำให้คุณฝึกฝนเทคนิค ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 


====

เรียบเรียงจาก “5 Strategies for Getting More Work Done in Less Time” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 7 มกราคม 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

“ปัญหาของการไม่มีเป้าหมายชีวิต เปรียบได้กับการที่คุณสามารถใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการวิ่งขึ้นวิ่งลงไปทั่วสนาม แต่ทำคะแนนไม่ได้แม้แต่แต้มเดียว” บิลล์ โคปแลนด์

====

คุณเคยรู้สึกไหมว่า ตัวเองทำงานหนักมากแต่กลับย่ำอยู่กับที่  บางครั้งคุณพบว่า ตัวเองมีพัฒนาการขึ้นเล็กน้อยในทักษะฝีมือ หรือในด้านความสำเร็จเมื่อเทียบกับตัวเองเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน หรือบางที คุณต้องดิ้นรนเพื่อให้รู้สึกว่า สามารถตอบสนองความทะเยอทะยานของตัวเองได้

ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตไปกับการทำงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่ง หรือวิ่งวุ่นไปทั่วเพื่อทำอะไรให้สำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีสิ่งที่ทำสำเร็จจริง ๆ ได้เล็กน้อยเท่านั้น

การตั้ง “เป้าหมายที่ชาญฉลาด หรือ SMART Goals หมายความว่า คุณสามารถเข้าใจความคิดของตัวเองได้อย่างชัดเจน โฟกัสไปที่ความพยายาม ใช้เวลาและทรัพยากรที่ตัวเองมีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในชีวิต

บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ SMART Goals  และดูว่าคุณจะสามารถใช้มันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของตัวเองได้อย่างไร?

==== 

SMART หมายถึงอะไร?

SMART คืออักษรย่อที่คุณสามารถใช้เป็นแนวทางการตั้งเป้าหมายได้

หลักเกณฑ์ทั่วไปนำมาจากแนวคิด ‘หลักการบริหารจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์’ ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกในนิตยสาร Management Review ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1981 โดย จอร์จ ที. โดแรน จากนั้น ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอส. รูบิน (มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์)

ทั้งสองได้เขียนเกี่ยวกับ SMART Goals ในบทความสำหรับสมาคมจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เขาเริ่มใช้คำว่า SMART เพื่อนิยามถึงสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล…

เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายของคุณชัดเจนและสัมผัสได้ แต่ละเป้าหมายควรจะเป็นดังนี้

SPECIFIC – มีความเฉพาะเจาะจง เรียบง่าย สมเหตุสมผล เป็นเป้าหมายที่สำคัญ
MEASURABLE – วัดผลได้ มีความหมาย มีแรงจูงใจ
ACHIEVABLE – ลงมือทำได้จริง สามารถทำได้สำเร็จ
RELEVANT – มีความเกี่ยวเนื่องกัน  มีทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนฐานผลลัพธ์ที่เป็นไปได้
TIME BOUND – กำหนดเวลาเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม นักคิดบางคนได้ขยายแนวคิดนี้เพื่อโฟกัสด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น SMARTER โดยรวมเอาการประเมินผล (EVALUATED) และการทบทวน (REVIEWED) เข้าไปด้วย

====

วิธีการใช้แนวคิด SMART

นักธุรกิจชื่อ พอล เจ. เมเยอร์ นักเขียนและผู้ค้นพบแนวคิด ‘แรงจูงใจในความสำเร็จระดับสากล’ อธิบายลักษณะเฉพาะของ SMART Goals ในหนังสือของเขา ชื่อว่า “Attitude Is Everything: If You Want to Succeed Above and Beyond.”  ดังนี้…


1. มีความเฉพาะเจาะจง (Specific)

เป้าหมายของคุณควรชัดเจนและมีความเฉพาะเจาะจง มิฉะนั้นแล้ว คุณจะไม่สามารถรวบรวมความตั้งใจ หรือรู้สึกถึงแรงจูงใจที่แท้จริงในการประสบความสำเร็จได้ เมื่อทำการร่างเป้าหมาย จึงควรตอบคำถาม 5 W นี้ให้ได้

  • WHAT – คุณต้องการประสบความสำเร็จเรื่อง อะไร?
  • WHY – ทำไม เป้าหมายนี้จึงมีความสำคัญ?
  • WHO – ใคร มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง?
  • WHERE – สถานที่ในการดำเนินการตั้งอยู่ ที่ไหน?
  • WHICH – ทรัพยากรหรือข้อจำกัด อะไรที่เกี่ยวข้อง?


ตัวอย่าง

ลองจินตนาการว่า คุณทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และต้องการขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่าย เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงอาจเป็น “ฉันต้องการทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กร เพราะฉะนั้น ฉันต้องสร้างหน้าที่การงานและทีมที่ประสบความสำเร็จ”

====

2. วัดผลได้ (Measurable)

การมีเป้าหมายที่วัดผลได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณจะสามารถติดตามความคืบหน้าและยังคงมีแรงจูงใจต่อไปได้ การประเมินความคืบหน้าจะช่วยให้คุณสามารถโฟกัสที่เป้าหมาย เผชิญกับกำหนดเวลา รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสำเร็จ

เป้าหมายที่วัดผลได้อาจเริ่มจากคำถามเหล่านี้…

  • มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?
  • มีปริมาณมากแค่ไหน?
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จ?


ตัวอย่าง

คุณอาจวัดเป้าหมายในการได้รับทักษะสำหรับการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด จากการเข้าร่วมการอบรมที่จำเป็นจนเสร็จสิ้น หรือได้รับประสบการณ์จากงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาห้าปี

====


3. ลงมือทำได้จริง (Achievable)

เป้าหมายของคุณต้องมีความสมจริง สามารถทำให้สำเร็จได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เป้าหมายควรท้าทายความสามารถของคุณ แต่ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้.. เมื่อคุณตั้งเป้าหมาย คุณอาจมองไปถึงโอกาส หรือทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อทำให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จในอนาคต

เป้าหมายที่ลงมือทำได้จริงมักจะเริ่มด้วยคำถาม เช่น
            – ฉันจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร?
            – เป้าหมายนี้ตั้งบนฐานความเป็นจริงมากแค่ไหน เช่น ดูจากปัจจัยทางการเงิน เป็นต้น


ตัวอย่าง

คุณอาจต้องถามตัวเองว่า การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดนั้น อยู่บนพื้นฐานความจริงหรือไม่ อาจมองจากคุณสมบัติ หรือประสบการณ์เดิมที่คุณมี เช่น

– คุณมีเวลามากพอจะเข้าอบรมจนเสร็จสิ้นไหม?
– มีทรัพยากรที่จำเป็นหรือไม่?
– คุณสามารถที่จะทำมันได้หรือไม่?

====

4.มีความเกี่ยวเนื่องกัน (Relevant)

สำหรับขั้นตอนนี้ เป็นการทำให้แน่ใจว่า เป้าหมายนั้นเหมาะสมกับคุณและมีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย… อันเนื่องมาจากพวกเราทุกคนต่างต้องการการสนับสนุน ต้องการความช่วยเหลือในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ก็ต้องสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้

ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าแผนของคุณจะผลักดันคนอื่น ๆ ไปข้างหน้า และคุณก็ต้องรับผิดชอบความสำเร็จของเป้าหมายของตัวเองด้วยเช่นกัน…

การหาว่าเป้าหมายนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ คุณต้องตอบ “ใช่” จากคำถามต่อไปนี้…

  • มันดูคุ้มค่าหรือไม่?
  • ถูกช่วงเวลาแล้วใช่ไหม?
  • มันตรงกับความต้องการอื่น ๆ หรือไม่?
  • ฉันคือคนที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ใช่ไหม?
  • เป้าหมายนี้สามารถเป็นไปได้ในสภาพเศรษฐกิจหรือสังคมปัจจุบันหรือไม่?


ตัวอย่าง

คุณอาจต้องการเพิ่มพูนทักษะเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กรของคุณ แต่นี่คือเวลาสำหรับการเข้าร่วมอบรมหรือยัง? หรือจะเลือกเพิ่มเติมคุณสมบัติที่จำเป็นก่อน? คุณแน่ใจแล้วใช่ไหมว่า ตัวเองเหมาะกับบทบาทหัวหน้าฝ่ายการตลาด? คุณพิจารณาเป้าหมายของคู่สมรสบ้างหรือไม่?

====

5. ผูกพันกับเวลา (Time-bound)

ทุก ๆ เป้าหมายต้องการกำหนดเวลา ดังนั้น คุณต้องตั้งเส้นตายในการทำเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองโฟกัสในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า หัวข้อนี้ของ SMART Goals จะช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญสำหรับเป้าหมายระยะยาวได้

การกำหนดเวลามักถามด้วยคำถามเหล่านี้…

  • เมื่อไหร่?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกเดือนต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกสัปดาห์ต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในวันนี้?


ตัวอย่าง

การเพิ่มพูนทักษะสำหรับเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดอาจต้องการการฝึกฝนหรือประสบการณ์ ตามที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้ คุณต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น?

หากคุณต้องการเข้าอบรม คุณก็ต้องทดสอบว่าตัวเองมีคุณสมบัติหรือไม่ มันเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องให้กรอบเวลาตามความเป็นจริงสำหรับทำเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ ๆ ต่อไป

====

ข้อดีและข้อเสีย

SMART นั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้คุณมองเห็นเป้าหมายต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน สามารถโฟกัสกับจุดมุ่งหมายและมีแรงจูงใจเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความสามารถ เพิ่มแรงใจในการกำหนดวัตถุประสงค์ต่าง ๆ และกำหนดวันที่ต้องการให้สำเร็จอีกด้วย… ทุกคนสามารถนำหลัก SMART Goals ไปปฏิบัติตามได้ง่ายในทุกที่ โดยไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ หรือการฝึกฝนใด ๆ มาก่อน

แต่การตีความได้หลากหลายของ SMART อาจทำให้สูญเสียประสิทธิภาพ หรือเกิดการเข้าใจผิดในความหมายที่แท้จริงได้ อีกทั้งบางคนก็มีความเชื่อว่า SMART ไม่เหมาะกับเป้าหมายระยะยาว เพราะขาดความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์

====

เคล็ดลับ

SMART เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการวางแผน หรือการตั้งเป้าหมาย ในขณะที่มีการตีความเรื่องอักษรย่อที่หลากหลาย ทั้งความเฉพาะเจาะจง การวัดผลได้ ทำให้สำเร็จได้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน และเรื่องความผูกพันกับเวลา

เมื่อคุณใช้แนวคิด SMART คุณสามารถสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถทำได้จริง และมีความหมายขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาแรงจูงใจ แนวทางปฏิบัติ และการสนับสนุนที่ต้องการเพื่อทำให้สำเร็จได้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

บางครั้งคุณอาจฝันบ่อย ๆ ว่าอยากไปเที่ยวรอบโลก แต่กลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง คุณอาจบอกตัวเองว่า เป็นเพราะคุณไม่มีเวลา หรือเงิน และบางทีอาจผลัดไปเป็นปีหน้า

ลองตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals เพื่อช่วยให้เป้าหมายการท่องเที่ยวของคุณมีความเจาะจงมากขึ้น สามารถวัดผลได้ ทำได้จริง มีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ และผูกพันกับกำหนดเวลา

คุณอาจพบเหตุผลที่แท้จริง ว่าทำไมคุณถึงไม่เคยได้ออกเดินทาง… นั่นอาจเพราะแผนการของคุณไม่ชัดเจน หรือเกินจริงมากไป ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้เข้ากับแนวคิด SMART Goals และนี่คือ ตัวช่วยที่จะทำให้ความฝันของคุณเป็นจริง…

ถ้าคุณสามารถตั้งเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ขอแนะนำให้คุณฝึกฝนเทคนิค ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

====

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้คุณได้คือ FLOW Model อ่าน ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลิน ด้วย Flow Model

ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลิน ด้วย Flow Model

คุณเคยทำงานจนลืมเวลา ลืมสถานที่ไปเลยไหม

ห้วงอารมณ์ที่ทำงานตรงหน้าอย่างเปี่ยมสมาธิจนเหมือนกับว่าไม่รับรู้อะไรต่อมิอะไรรอบข้าง ไม่ว่าจะเสียงโทรศัพท์ เสียงเพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างเหมือนอันตรธานหายไปหมด

ในห้วงเวลาเช่นนี้เองที่คุณจะทำงานเพลินด้วยความรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยพลังงาน ทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีหยุดหย่อน

เกือบทุกคนล้วนเคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้  ประสบการณ์ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “สภาวะลื่นไหล” (Flow) เป็นสภาวะที่สัญชาตญานในการทำงานนำหน้าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนกระทั่งมีคนนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างทฤษฎีการทำงานที่เรียกว่า Flow Model ขึ้นมา 

====

  Mihaly Csíkszentmihályi นักจิตวิทยาเชิงบวก นำเสนอแนวคิดซึ่งทำให้เห็นว่า เมื่อคนเราพยายามจะทำงานให้สำเร็จ ส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ของคนนั้นได้หลายแบบ ซึ่งจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับความท้าทายของงานและทักษะที่เราคิดว่าเรามีด้วย

Mihaly อธิบายว่า ถ้างานไม่ท้าทายและไม่ต้องการทักษะสูงนัก เราจะรู้สึกเบื่อ เซ็งเพราะไม่ถูกกระตุ้นให้ทำ แต่เมื่องานมีความท้าทายมาก แต่เราไม่ได้มีทักษะเพียงพอ ผลลัพธ์คือความตึงเครียดและวิตกกังวล นั่นหมายความว่าไม่ว่าทางไหนก็ดูแย่ไปหมด

====

ภาวะสมดุลที่ดีที่สุดในการทำงาน คือการที่เราต้องการความท้าทายและความน่าสนใจในตัวงาน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถพัฒนาทักษะได้มากเพียงพอที่จะมั่นใจว่าเราสามารถพิชิตความท้าทายนั้นได้ 

ถ้า 2 ปัจจัยนี้เดินไปด้วยกัน  เราจะทำงานได้อย่างลื่นไหล ลองดูตัวอย่างจากบรรดานักธุรกิจ ศิลปิน หรือนักกีฬา เวลาที่พวกเขาทำสิ่งที่ชำนาญจนดูเหมือนง่ายและทำต่อได้เรื่อย ๆ ไม่มีหยุด

เมื่อเข้าสู่สภาวะ Flow  แล้วจะมีองค์ประกอบอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง  ต่อไปนี้คือคำตอบ

  1. เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าสิ่งที่อยากจะบรรลุคืออะไร
  2. สามารถเพ่งสมาธิให้แน่วแน่ได้อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
  3. ไม่ถูกรบกวนด้วยโสตประสาท หรือหลงลืมความรู้สึกไปได้ชั่วขณะ
  4.  พบว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว
  5. ได้รับ Feedback โดยตรงและทันที
  6. รู้สึกถึงความสมดุลระหว่างความสามารถของเรากับความท้าทายของงาน
  7. รู้สึกควบคุมตัวเองได้เหนือสถานการณ์รอบข้าง
  8. รู้สึกว่าทำงานแล้วได้รับรางวัลจากเบื้องลึกภายใน
  9. ไม่รู้สึกว่าร่างกายต้องการอะไรระหว่างทำงาน
  10. ถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ในกิจกรรมที่ทำอย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดครบทุกข้อหรือพร้อมกัน แต่คุณจะรู้สึกว่าเมื่อคุณอยู่ในสภาวะลื่นไหลแล้วจะมีองค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 องค์ประกอบ 

====

Mihaly บอกว่ามีเงื่อนไข 3 อย่างที่จะทำให้ทำงานแล้วเกิดสภาวะลื่นไหลขึ้นได้ นั่นคือ

1.Purpose / Goals (เป้าหมาย)  

 คุณต้องมีเป้าหมายชัดเจน เป้าหมายจะทำให้เกิดแรงจูงใจ และมีโครงสร้างขั้นตอนว่าเราจะไปถึงได้อย่างไร 

2.Balance (สมดุล)

จำเป็นต้องมีสมดุลระหว่างทักษะที่คุณมีกับความท้าทายในตัวงาน ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากหรือน้อยกว่ากันมากจนเกินไป จะทำให้ทำงานไม่ลื่นไหล เช่น รู้สึกไม่ท้าทายเลยทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือรู้สึกว่ายากเกินความสามารถ เลยเครียดจนอยากเลิก ไปทำอย่างอื่น

3.Feedback (การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับ)

การได้ Feedback ที่ชัดเจนและทันเวลา จะทำให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และยังผลให้ทำงานได้ไหลลื่นมากกว่าเดิม

จากปัจจัยทั้งสามนี้ เรามีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมีสภาวะลื่นไหลในการทำงาน ดังนี้  

เริ่มจากการสร้างเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน 

ใช้สมาธิในการทำงาน ตัดสิ่งต่างๆ ออกไป ไม่ยอมให้อะไรมาทำให้วอกแวก 

ซึ่งการฝึกออกจากความคิดที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ดี คลิกที่นี่เพื่อดูวิธีการฝึก 

จากนั้นให้ฝึกมั่นใจในทักษะความสามารถของตัวเอง จะทำให้สิ่งที่ดูเหมือนยากนั้นง่ายลงทันตาเห็น (ถ้าไม่มั่นใจก็ฝึกฝนทักษะนั้นเพิ่ม) 

ระหว่างทำงานถ้าได้ feedback ที่ดีจะทำให้คุณปรับปรุงทันที เพิ่มความกระหายอยากทำงานเพิ่มขึ้นได้ ยิ่งถ้าคุณทำให้งานตรงหน้าท้าทายได้มากกว่าเดิม ก็ยิ่งสร้างความพึงพอใจต่อการทำงานได้มากขึ้น  

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานให้ Flow ด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

วิธีเป็นอิสระจากความคิดเพื่อชีวิตที่ Productive

วิธีเป็นอิสระจากความคิดเพื่อชีวิตที่ Productive

ดูเผิน ๆ เหมือนว่า ‘ความคิด’ คือ หัวใจสำคัญของการทำงานที่ Productive 

ไอเดียดีดีมากมายพร่างพรูออกจากสมองอันชาญฉลาด คุณสร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ ๆ แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ลุล่วงไป และคุณก็วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาด้วยสมองหรือความคิดของคุณนี่แหละ

ไม่แปลกเลยถ้าเราจะเทิดทูนบูชาความคิด เพราะมันมีพลานุภาพสูง ใช้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมันก็ช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงสร้างอารยธรรมของมนุษย์ด้วย แต่คุณรู้ไหมครับว่า ความคิด นี่แหล่ะที่ทำร้ายทำลายเรา(รวมถึงสังคมมนุษย์) ได้เช่นกัน

====

ทุกสิ่งที่มีพลังงานสูงมักมีสองด้านเสมอ ไฟที่ร้อนแรงสามารถให้ความร้อน ความอบอุ่นและเผาทำลายเราได้ น้ำที่มีคุณประโยชน์ก็ท่วมบ้านเรือนและคร่าชีวิตของเราได้ 

‘ความคิด’ ก็เช่นเดียวกัน เราใช้ประโยชน์จากการคิดถึงอดีต(โดยมากมักเกิดโดยอัตโนมัติ) เพื่อเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์และข้อมูลความรู้ในการทำงาน เราคิดจินตนาการถึงอนาคต(สิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น) เพื่อสร้างนวัตกรรม วิธีแก้ปัญหา และตั้งเป้าหมาย 

====

แต่ถ้าไม่ระวัง การคิดถึงอดีตมักนำมาซึ่งความเคียดแค้น ความเกลียดชัง ความหงุดหงิดรำคาญ ความโมโห และไม่พอใจ ส่วนการคิดถึงอนาคตก็นำมาซึ่งความกลัว ความวิตกกังวล และความเครียด 

วิธีการที่ดีที่สุดในการทำงานอย่าง Productive ก็คือ การใช้ความคิดให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ตกเป็นทาสความคิดจนเกิดความรู้สึกเชิงลบทั้งหลายเหล่านั้น และต่อไปนี้คือคำแนะนำจากประสบการณ์ตรงในการฝึก ‘ออกจากความคิด’ ของผม

====

1. ทำสมาธิทุกวัน

มีวิธีการทำสมาธิมากมายที่ไม่ใช่แค่การนั่งหลับตาอยู่นิ่ง  ๆ คุณอาจถนัดในการเคลื่อนไหวมือ 14 จังหวะ(ตามแนวทางหลวงพ่อเทียน) หรือใช้การเดินจงกรม การระบายสี การลืมตาแล้วรู้สึกลมหายใจ ฯลฯ วิธีไหนก็ได้ที่ถูกกับจริตของคุณแล้วทำให้เกิดสมาธิ ไม่ถูกความคิดลากจูงไปมาเพียงวันละ 15 – 30 นาทีก็ถือเป็นการฝึกออกจากความคิดที่ดีมาก ๆ แล้ว

====

2. ฝึกอยู่กับปัจจุบันอย่างไม่ตัดสิน

เราทุกคนมีแนวโน้มที่จะตัดสินปัจจุบันว่าชอบ / ไม่ชอบ  ดี / ไม่ดี อยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยความต้องการส่วนตัวและประสบการณ์เก่า ๆ ในการตัดสินนั้น ลองตั้งแอพพลิเคชั่น Mindfulness Bell ในมือถือของคุณเพื่อให้มันส่งเสียงเตือนให้คุณกลับมาอยู่กับปัจจจุบันอย่างแท้จริงโดยปล่อยวางทุกสิ่งที่คิด กังวล โมโห โกรธแค้น ไม่พอใจลง(ชั่วคราวก่อนก็ได้ครับ) 

ฝึกฝนทักษะตระหนักรู้เท่าทันตัวเอง หรือ Self – Awareness ได้ในบทความนี้

====

3. เขียนบันทึกทุกวัน

ใช้เวลาสั้น ๆ 10 – 20 นาทีก่อนนอน เป็นอิสระจากมือถือ(ก่อน) แล้วหยิบสมุดคู่กายขึ้นมาเขียนบันทึกความคิด ความรู้สึกโดยรวมในวันนั้น มีเรื่องอะไรติดค้างในหัวทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวให้จัดลงไปในสมุดให้หมด ถ้าเป็นสิ่งที่สามารถ take action อะไรบางอย่างได้ให้เขียนระบุสิ่งที่จะทำกับวันที่แล้วเสร็จลงไปด้วย นี่คือวิธี Clearing สมองและออกจากความคิดที่มีพลังมาก เพื่อที่คุณจะสามารถเข้านอนด้วยหัวสมองที่โล่งและอยู่กับปัจจุบันได้อย่างแท้จริง 

ลองนำทั้งสามวิธีไปฝึกฝนอย่างจริงจังต่อเนื่องอย่างน้อยสามสิบวันแล้ววิเคราะห์ผลที่ได้รับกับตัวเอง

เพราะผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินวิธีการเหล่านี้มามากกว่าร้อยครั้งแล้ว แต่คุณก็น่าจะรู้นะครับว่าสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่คุณคือการลงมือทำไม่ใช่การอ่าน ดู ฟัง แล้วท่องจำไปบอกคนอื่น 

ถ้าคุณต้องการให้ชีวิตและการทำงาน Productive มากขึ้น คุณต้องฝึกฝนทักษะการบริหารเวลา  ขอแนะนำหลักสูตร Effective Time Management คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงโดย

อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน

ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity

(Personal Productivity Facilitator) 


Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

เทคนิค Time Boxing เพื่อทำให้งานเสร็จอย่างยอดเยี่ยม

เทคนิค Time Boxing เพื่อทำให้งานเสร็จอย่างยอดเยี่ยม

คนทำงานส่วนใหญ่จะมีรายการสิ่งที่ต้องทำ (to do list) แปะไว้ที่ข้างฝา แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำแค่นั้นมักจะเกิดปัญหาตามมามากมาย

ปัญหาแรกคือมันทำให้เกิดตัวเลือกมากเกินไปว่าจะทำอะไรบ้าง ปัญหาต่อมาคือ คนส่วนใหญ่จะเลือกทำสิ่งที่ง่ายก่อน

ส่วนปัญหาที่สามคือเรื่องที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนมักถูกทิ้งไว้เป็นลำดับท้าย ๆ ปัญหาที่สี่คือ รายการสิ่งที่ต้องทำมักจะไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นใช้เวลาแค่ไหน

และปัญหาสุดท้ายคือ ทั้งหมดจะเป็นแค่กระดาษรายชื่อ ถ้าหากเราไม่สร้างเงื่อนไขผูกมัดว่าจะต้องทำให้ได้จริง ๆ

====

หนทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้าง Timeboxing (ระบบการจัดเวลาเป็นบล็อค) ขึ้นมา ผู้ที่ใช้วิธีนี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าประโยชน์ของมัน คือ

1.เมื่อใส่ Timeboxing ลงไปในปฏิทิน ทำให้เกิด ‘สถานะของงาน’

เช่น ถ้ารู้ว่าต้องมีคลิปโปรโมทสินค้าออกอากาศในวันอังคาร และงานนี้จะต้องให้เวลาทีมทำงานประมาณ 72 ชั่วโมง เราจะได้ช่วงระยะเวลาว่าจะต้องวางบล็อกเวลาของงานนี้ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด

Timeboxing ทำได้โดยการมาร์คเอาไว้ให้ชัดเจนเป็นภาพที่จะคอยย้ำเตือนว่างานชิ้นนี้จะต้องเริ่มเมื่อไหร่ ส่งเมื่อไหร่ ผลลัพธ์จะออกมายอดเยี่ยมตามเวลาแน่นอน
====

2. Timeboxing ทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

เพราะหากเน้นความสำคัญของงานไว้ในปฏิทิน นอกจากเราจะสังเกตเห็นแล้วเพื่อนร่วมงานก็จะเห็นด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมและเขาสามารถปรับแต่งตารางงานให้สอดคล้องกับงานที่สำคัญของเราได้

การแชร์ปฏิทินการทำงานร่วมกัน ถูกนำมาปรับใช้ในองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น กูเกิ้ล และ ไมโครซอฟต์
====

3.ทำให้เกิดการบันทึกที่ชัดเจนว่าเราทำอะไรสำเร็จไปแล้ว

สุดสัปดาห์เราสามารถทบทวนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ตลอดจนถึงการนำมาประมวลในระยะยาวว่าอะไรทำได้ดี อะไรยังต้องปรับปรุง
====

4.เราจะรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้

สิ่งนี้สำคัญมากเพราะการรู้สึกว่าเราทำงานได้ตามแผน ได้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเห็นสิ่งที่ทำเสร็จไปแล้วทำให้รู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขในการทำงาน การล็อคเวลาให้งานสำคัญจะยังช่วยให้เราหยิบเอาสิ่งที่รบกวนหรือไม่สำคัญออกไปได้

ซึ่งต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่า ความรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ในการทำงานได้คือความสุขที่ยิ่งใหญ่ของการทำงานจริงๆ
====

5.รู้สึกว่าตนเองผลิตงานได้มากขึ้น

เพราะโดยปกติแล้ว การไม่มี Timeboxing จะทำให้เราทำงานหนึ่งชิ้นโดยขยายเวลาออกไปเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด แทนที่จะทำภายในเวลาที่ควรจะทำ

เช่น ถ้าต้องแปลงานหนึ่งชิ้นโดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยปกติ แต่หากไม่มีบล็อกเวลา เราอาจจะทำไปเรื่อย ๆ ตบแต่งงาน แวะพัก จนกระทั่งงานนั้นกินเวลาไป 4 ชั่วโมง และเบียดบังเวลาอื่น

การมี Timeboxing จะทำให้เราคุมเวลาได้ว่าควรจะทำอะไรเสร็จเมื่อไหร่ได้ดีขึ้น อย่าแปลกใจ ถ้าหากมีคนนำบล็อกเวลาไปใช้แล้วพบว่า ทำงานได้มากกว่าปกติถึงสองเท่า!

ถ้าอยากผลิตงานออกมาได้ในปริมาณมากและมีประสิทธิภาพสูง คุณต้องไม่ละเลยเรื่องพลังงานซึ่งจะได้มากจากการนอน อ่าน 3 เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการนอนเพื่อชีวิตที่ Productive คลิกที่นี่

โดยสรุปแล้ว Time Boxing นั้นจะมีผลทางบวกต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เราไม่เพียงรู้สึกสุขใจที่ควบคุมชีวิตการทำงานได้ดีขึ้น แต่เรายังได้ผลงานมากขึ้น ทีมเวิร์คดีขึ้น และกลายเป็นคนทำงานที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

====

ถ้าคุณต้องการฝึกฝนการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ขอแนะนำหลักสูตร Effective Time Management คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “How Timeboxing Works and Why It Will Make You More Productive” โดย Marc Zao-Sanders จาก Harvard Business Review เล่มเดือน ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

3 เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการนอนเพื่อชีวิตที่ Productive มากขึ้น

3 เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการนอนเพื่อชีวิตที่ Productive มากขึ้น

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการทำงานตามเป้าหมาย วางแผนล่วงหน้าในวันต่อไป มีเวลาให้กับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารสุขภาพ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรัก คุณจำเป็นต้องอ่านบทความนี้

 เรามักจะเรียกชีวิตที่เป็นแบบนั้นว่า ‘Productive’  ซึ่งเป็นคำที่ใครหลายคนปรารถนา แต่มีน้อยคนที่รู้เคล็ดลับสำคัญซึ่งทำให้ตัวเอง Productive มากขึ้น

 ซึ่งหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญก็คือเรื่องพื้นฐานที่หลายคนละเลย นั่นก็คือ…การนอนหลับ นั่นเอง

====

 องค์ประกอบที่สำคัญของ Productivity คือการที่เรามีพลัง (Energy) สูงและเป็นบวกมากพอในแต่ละวัน ถ้าคุณรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ลุกขึ้นจากเตียง ดื่มน้ำ แปรงฟัน และล้างหน้าแล้วยังรู้สึกว่าตัวเองมีพลังงานไม่ถึง 8 (เต็ม 10) แล้วล่ะก็ ตลอดทั้งวันคุณจะไม่สามารถ Productive ได้เลย

 หนึ่งวันของคุณจะ Productive ได้มากที่สุดเท่ากับพลังงานที่คุณมีหลังตื่นนอนเท่านั้น และการที่คุณจะมีพลังงานสูงหลังตื่นนอนได้เกิดจากการเตรียมตัวเข้านอนอย่างมีประสิทธิภาพของคุณ

====

เพราะการเข้านอนคือกิจวัตรที่สำคัญที่สุดกิจวัตรหนึ่งในชีวิต และมันก็ส่งผลโดยตรงต่อ Productivity ของคุณ(ซึ่งหมายถึงหน้าที่การงาน การเงิน  และสุขภาพของคุณด้วย) ซึ่งมันไม่อาจจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญได้เลย

 การนอนหลับก็เหมือนกับเรื่องสำคัญอื่น ๆ อย่างการทำธุรกิจ การผลิตสินค้า การขาย การเงิน หรือการแต่งงาน นั่นคือมันต้องการการวางแผนหรือออกแบบอย่างชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน

 การนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพไม่อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญได้(เช่นเดียวกับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จที่ไม่อาจเกิดขึ้นแบบบังเอิญได้) ถ้าคุณเข้าใจ ยอมรับ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

====

 ต่อไปนี้คือ 3 เทคนิคในการเตรียมตัวเข้านอนอย่างมีประสิทธิภาพที่ได้รับการค้นคว้าวิจัยโดย Matt Walker นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนที่ศึกษาเรื่องการนอนหลับ ผู้เขียนหนังสือชื่อดัง Why we sleep ซึ่งผมนำมาปรับใช้กับตัวเองต่อเนื่องเกือบหนึ่งปีแล้ว

และผมก็อยากให้คุณได้นำไปทดลองด้วยเช่นกัน

1.Regularity / ความสม่ำเสมอ

หัวใจของความสม่ำเสมอก็คือการที่คุณต้องเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันหยุดก็ตาม

การที่คุณเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิม ๆ จะส่งผลให้ร่างกายปรับตัวให้ชินกับการพักผ่อนและการทำสิ่งต่าง ๆ ถ้าทำต่อเนื่องเกินหนึ่งเดือนคุณจะหลับได้สนิทขึ้นและตื่นนอนได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกเลยด้วยซ้ำ

====

2.Dark ,Cold and Disconnect / มืด เย็น และปลอดอินเทอร์เน็ต

ห้องนอนที่ดีควรประกอบด้วยสามองค์ประกอบนี้ มืดสนิท เพราะแสงจะรบกวนการทำงานของเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยให้คุณหลับสนิท

อุณหภูมิห้องที่เย็นในระดับที่คุณห่มผ้าหนึ่งผืนแล้วไม่รู้สึกร้อนหรือหนาวจนเกินไปจะช่วยให้คุณหลับได้ดีขึ้น

และสุดท้ายคุณควรเอาสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต ตลอดจนหน้าจอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ออกไปจากห้องของคุณเพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะส่งผลกระทบต่อม่านตาซึ่งจะทำให้คุณหลับไม่สนิทนั่นเอง

====

3.Create Bedtime Routine / สร้างกิจวัตรก่อนเข้านอน

การนอนหลับของคุณจะมีคุณภาพแค่ไหนขึ้นอยู่กับการสร้างกิจวัตรก่อนเข้านอนให้ตัวเอง

การเข้านอนเปรียบเหมือนการนำเครื่องบินลงจอด (Landing) คุณต้องค่อย ๆ พาร่างกายและจิตใจของตัวเองลงพื้นอย่างสงบหลังจากที่คุณใช้มันอย่างหนักหน่วงมาแล้วตลอดทั้งวัน 

กิจวัตรก่อนเข้านอนที่ดีประกอบไปด้วย… 

  • สรุปสิ่งที่ทำตลอดทั้งวัน และวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้
  • งดอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และงดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • อาบน้ำอุ่นและ ทำสมาธิสั้น ๆ ก่อนเข้านอน

หนึ่งในเครื่องมือสำหรับวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในวันต่อไปคือ Time Boxing รู้จักเครื่องมือชนิดนี้เพื่อการวางแผนงานก่อนเข้านอน คลิกที่นี่
====

การนอนหลับคือศิลปะประเภทหนึ่ง คุณต้องทำความเข้าใจหลักการให้ถ่องแท้ นำไปปฏิบัติจริง แล้วบันทึกผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อที่คุณจะได้สามารถปรับประยุกต์ให้เข้ากับตัวคุณจริง ๆ

ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่อง การตื่นเช้าด้วยพลังงานที่มากกว่า 8 ทุกวันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่แค่ในฝันของคุณต่อไปและการมีชีวิตที่ Productive ก็จะเป็นเรื่องที่คุณสร้างได้ด้วยตัวคุณเอง

====

ถ้าคุณต้องการฝึกฝนเรื่องการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพหลังจากที่นอนหลับได้เป็นอย่างดีแล้ว ขอแนะนำหลักสูตร Effective Time Management คลิกที่นี่

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน

ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity 
(Personal Productivity  Facilitator) 

 Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

กลยุทธ์รับมือกับคนที่เจรจาต่อรองยากทั้ง 5 ประเภท

กลยุทธ์รับมือกับคนที่เจรจาต่อรองยาก 5 ประเภท

ในการเจราจาต่อรองเรื่องใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่นักเจรจาต่อรองมือใหม่หวาดกลัวก็คือ คนที่มีลักษณะเฉพาะที่ส่งผลให้เจรจาต่อรองยากหรือรับมือด้วยยาก

       ในบทความนี้เราได้วิเคราะห์และจัดกลุ่มคนที่ถือว่าเจรจาต่อรองด้วยยากที่สุดมาทั้งหมด 5 ประเภทเพื่อให้คุณทำความเข้าใจและเรียนรู้แนวทางการดีลกับคนแต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้น

====

ก่อนจะไปเริ่มต้นทำความรู้จักคนที่เจรจาต่อรองยากแต่ละประเภท ต้องกลับมาที่หัวใจสำคัญของการเจรจาต่อรองที่ดีก่อน นั่นก็คือ การทำให้เกิดสภาวะแบบ Win – Win ซึ่งหมายถึงชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือเราได้ในสิ่งที่เราต้องการและเขาก็ต้องได้ในสิ่งที่เขาต้องการเช่นกัน

เมื่อมี Win -Win Negotiation เป็นเป้าหมายหลักอยู่ในใจแล้ว ก็มาทำความรู้จักคนที่เจรจาต่อรองหรือพูดคุยด้วยยากทั้ง 5 ประเภทพร้อมทั้งแนวทางรับมือกันได้เลย

====

1. คนที่มีเงื่อนไขเยอะ

คนกลุ่มนี้ ไม่ว่าเราเสนออะไรไป เขาจะมีคำว่า “แต่….” ขึ้นมาเสมอ เช่น ที่คุณบอกมาก็ดีนะ แต่…. แล้วมีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมา แม้ว่าเราจะมั่นใจว่าข้อเสนอของเราดีสำหรับเขาแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังมีคำว่า ‘แต่’ ตามมาเสมอ

สาเหตุที่แท้จริงของคำว่า แต่ มาจากการที่เราอาจจะยังไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของเขา ซึ่งซ่อนอยู่ในสิ่งที่เราคิดว่าคือความต้องการหลักของเขานั่นเอง เขาอาจจะไม่ได้พูดสื่อสารออกมาตรง ๆ หรือ เขาอาจจะยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าแท้จริงแล้วเขาต้องการอะไร

วิธีการ  เราต้องหยุดคำว่า “แต่” ของเขาให้ได้ โดยการถามเขาออกไปตั้งแต่เริ่มมีคำว่า ‘แต่’ ผุดออกมาเลยว่า “สิ่งที่คุณต้องการคืออะไร” หรือ มีตัวเลือกให้เขา เช่น “ระหว่าง A , B และ C คุณชอบอันไหนมากที่สุด เพราะอะไร”

====

2. คนที่ขี้สงสัย

คนประเภทนี้มักจะตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ถามตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็กโดยไม่เข้าประเด็นสักที ซึ่งก็ทำให้เราพาเขาไปสู่จุดที่ต้องตัดสินใจในเรื่องที่เจรจาด้วยได้ยากมาก

ต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะสงสัยเกิดจากความกลัว ความกังวล ความไม่ไว้ใจ เช่น กลัวว่าจะถูกเราหลอก กลัวว่าข้อเสนอของเราจะไม่ดีที่สุดสำหรับเขา

วิธีการ เราต้องขจัดความกลัวออกจากใจเขาให้ได้ โดยการถามเขาไปตรง ๆ เลยว่า “คุณกังวลหรือกลัวเรื่องอะไร” “ที่คุณยังไม่อยากตัดสินใจเพราะอะไร” เพราะถ้าเรารู้ความกลัวของเขา เราก็จะสามารถคิดวิธีการช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่เขาได้นั่นเอง

====

3. คนที่อารมณ์ไม่ดี หรือ ก้าวร้าว

เป็นธรรมดาที่เราจะกลัวคนอารมณ์ไม่ดี ก้าวร้าว หรือ มีท่าทีไม่พอใจ  ไม่ว่าจะกลัวถูกด่าถูกว่า ถูกตำหนิ หรือ กลัวว่าเขาจะไม่รับข้อเสนอของเรา คนที่อารมณ์ไม่ดีเป็นเพราะมีบางอย่างไม่ถูกใจหรือมีความต้องการบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองนั่นเอง  

วิธีการ ให้ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว เมื่อเขาแรงมาเราต้องนิ่งให้มากขึ้น แล้วพยายามสื่อสารกับเขาว่าถ้าเขาพูดเสียงดังไปจะส่งผลเสียต่อตัวเขาอย่างไร เช่น เราอาจจะได้ยินไม่ชัดหรือฟังไม่ทัน  อยากให้ช่วยพูดเสียงเบาลงก่อนดีกว่าไหม  เช่น พูดว่า “ถ้าพี่ลดน้ำเสียงลง พูดช้าลงผมน่าจะเข้าใจความต้องการของพี่แล้วผมก็จะสามารถช่วยพี่ได้มากขึ้น”

====

4.คนที่ชอบท้าทาย

คนกลุ่มนี้มักจะท้าทายเราว่า “ทำได้จริงเหรอ” “เป็นไปได้เหรอ” เป็นการพูดคล้าย ๆ กำลังดูถูกเรา ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากการที่เขายังไม่เชื่อมั่นหรือยังไม่ไว้ใจเราหรือสิ่งที่เราพูดนั่นเอง

วิธีการ เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นหรือรับรู้เพื่อทำให้เขามั่นใจในสิ่งที่เราเสนอ ซึ่งการพิสูจน์นั้นทำได้ทั้งข้อมูลทางเอกสาร ตำรา หรือบุคคลอ้างอิง ซึ่งเราควรวิเคราะห์เขาให้ออกว่าเขาชอบข้อมูลแบบไหน จากแหล่งใด หรือถ้ายังไม่แน่ใจก็ควรเตรียมข้อมูลทั้งจากเอกสาร งานวิจัย บุคคลอ้างอิง แลทักษะการเล่าเรื่องไปให้พร้อม

====

5. คนที่รู้เยอะ

คนกลุ่มนี้เป็นประเภทรู้ไปหมดทุกเรื่อง พูดอะไรไปเขาก็บอกได้ เขาก็เข้าใจหมด ลึก ๆ แล้วเขาต้องการมีตัวตน ต้องการโชว์ภูมิ ต้องการการยกย่องหรือการยอมรับ ยิ่งเขาพูดมากเท่าไหร่ให้เข้าใจได้เลยว่าเขายิ่งต้องการมากเท่านั้น

วิธีการ ให้เรามอบในสิ่งที่เขาต้องการไปเลย โดยการสนับสนุนเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเก่ง ฉลาด รอบรู้ ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขารู้นั้นมาสอนเราได้ เช่น ให้พูดขอบคุณเขาไปเลยว่า “ขอบคุณมากนะครับ ความรู้นี้มีประโยชน์ต่อผมมากเลย” เป็นต้น

สิ่งสำคัญสำหรับนักเจรจาต่อรองก็คือ ให้ระลึกไว้เสมอว่ายิ่งเราเจอคนที่เจรจาต่อรองยากเท่าไหร่ ทักษะการเจรจาต่อรองของเราก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นจงอย่ากลัวหรือหลกหนีคนที่เจรจาต่อรองยาก แต่ให้มองว่าคนเหล่านี้ก็คือมนุษย์ปุถุชนทั่วไปไม่ต่างจากเรา ซึ่งมีบางอย่างสอนและฝึกเราได้เสมอครับ

เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการเจรจาต่อรองเพิ่มเติมได้ใน อะไรเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดในการเจรจาต่อรอง คลิกที่นี่

====

ถ้าคุณอยากฝึกทักษะการเจรจาต่อรองเพื่อให้คนในทีมของคุณทำสิ่งดีดีเพื่อเป้าหมายขององค์กร ขอแนะนำหลักสูตร Persuasion and Negotiation Mastery ดูรายละเอียด คลิกที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เทคนิคโน้มน้าวใจด้วยสิ่งที่คนไม่ชอบ

เทคนิคการโน้มน้าวใจด้วยสิ่งที่คนไม่ชอบ

ไม่ว่าผมจะเกลียดแมลงสาปแค่ไหน แต่ถ้าต้องโน้มน้าวใจให้ใครทำตามที่ผมต้องการ  แมลงสาปก็พร้อมจะเป็นเพื่อนกับผมได้ทันที

หลายคนคงกลัวแมลงสาป หรือสัตว์ประหลาดอื่น ๆ ในบ้าน ผมก็เช่นกัน แต่ความคิดของผมก็เปลี่ยนไปเมื่อนึกถึงเรื่องนี้

====

ช่วง WFH ผมจะกินอาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อตอนเย็นหลังเลิกงาน ซึ่งผมก็ได้ฝึกทักษะการทำอาหารต่างๆ หลายอย่างตั้งแต่ แกงเขียวหวาน พะแนงหมู แกงกระหรี่ญี่ปุ่น ไข่ข้นกุ้ง และอื่นๆ มากมาย

รวมไปถึงเมนูที่ผมชอบมากอย่าง ‘เทมปุระ’ ด้วย

การทำเทมปุระ มีขั้นตอนมากพอสมควร แล้วก็ต้องใช้อุปกรณ์เยอะด้วย เมื่อทำเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่ผมจะเก็บเฉพาะจานชามไปไว้ที่อ่าง แล้วก็ล้างอุปกรณ์ที่ผมใช้แค่นั้น

แต่วันนี้พี่สาวของผมต้องการให้ผมช่วยจัดการโต๊ะและเตาให้สะอาดขึ้นด้วย

ซึ่งผมก็จะมีอาการที่ทุกท่านน่าจะรู้จักกันดีที่ชื่อว่า ‘ขี้เกียจ’ ผมเลยพยายามบ่ายเบี่ยง และขอปลีกตัวออกมา

พี่สาวผมบอกว่า “รีบเช็ดโต๊ะกับเตาหน่อย เดี๋ยวแมลงสาปกับจิ้งจกจะมาถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน”

====

เมื่อได้ยินดังนั้น สมองของผมก็เกิดจินตนาการที่น่าตื่นเต้นขึ้นมาว่า ถ้าแมลงสาปตัวดำทะมึน บินออกมาเกาะเศษอาหารบนเตา และเศษแป้งเทมปุระบนโต๊ะแล้วกินอย่างเอร็ดอร่อย แล้วก็มีเพื่อนรักในครัวอย่างจิ้งจกมาร่วมสังสรรค์อีกด้วย ทั้งหมดนั้นคงเป็นภาพที่ไม่น่าชื่นชมเท่าไหร่นัก

เมื่อคิดได้ดังนั้นผมก็ทำการกำจัดภาพแมลงสาปในหัวของผมด้วยการทำความสะอาดทั้งโต๊ะ และเตาจนสะอาดเรียบร้อย 

ผมตั้งใจขัด ตั้งใจถูมากจนผมมั่นใจระดับนึงว่าจะไม่เกิดภาพแมลงสาปออกมาแบบที่ผมจินตนาการเมื่อสักครู่อย่างแน่นอน 

ใช่แล้วครับ พี่สาวโน้มน้าวใจผมด้วย… ‘แมลงสาป’ 

แมลงสาปคือสิ่งที่ผมกลัว ไม่ชอบ และไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่คือเทคนิคที่คุณสามารถโน้มน้าวให้คนทำอะไรบางอย่างได้ด้วยการบอกว่าถ้าเขาไม่ทำ เขาจะต้องเจอกับแมลงสาปแน่นอน

โดยแมลงสาปที่คุณนำมาใช้ต้องเป็นแมลงสาปของเขา ไม่ใช่ของคุณ! (เพราะบางคนก็เฉยๆ กับแมลงสาปนะครับ)

====

 

แทนที่จะบอกเขาว่า ‘อย่าเดินลัดสนาม หญ้าเพิ่งปลูก’

ซึ่งในกรณีนี้คือการสื่อสารว่าหญ้าจะเสียหาย การที่หญ้าเสียหายอาจเป็นแมลงสาปของคุณ แต่ไม่ใช่ของเขา

จงบอกว่า ‘อย่าเดินลัดสนาม มีงูพิษ’ หรือ ‘อย่าเดินลัดสนาม ฉีดยาชนิดรุนแรงไว้’ เพราะคงไม่มีใครอยากเจองู หรือได้รับสารเคมีที่พิษอย่างแน่นอน 

====

เทคนิคต่อมาคือการใช้แมลงสาปที่ตัวใหญ่ และน่ากลัวมากพอ ให้คุณลองพิจารณา 2 ประโยคต่อไปนี้

‘คุณต้องออกกำลังกายบ้างนะ ไม่งั้นสุขภาพของคุณแย่แน่ๆ ใน 3 เดือนข้างหน้า’ (ถือว่าแมลงสาปตัวนี้น่ากลัวพอใช้ได้)

‘คุณต้องออกกำลังกายแล้วนะ ไม่งั้นคุณอาจอยู่ไม่ถึงวันที่ลูกคุณคลอดออกมาใน 3 เดือนข้างหน้า’ (แมลงสาปตัวนี้อาจจะดีกว่า ถ้าเขากำลังจะมีลูก)

และนี่ก็คือเทคนิคในการโน้มน้าวใจคนง่ายๆ ที่ใช้ได้ทันที และเพิ่มโอกาสสำเร็จให้คุณที่ผมนำมาฝาก

สรุป ถ้าคุณต้องการให้ใครทำตามคุณ คุณแค่ต้องเริ่มต้นด้วยการค้นหาแมลงสาปของเขาให้เจอแล้วจึงหยิบยกมันขึ้นมาพูดให้เขาเห็นภาพชัด ๆ

อีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถนำมาใช้คู่กันกับเทคนิคนี้ได้อยู่ในบทความ โน้มน้าวใจทีมงานอย่างไรให้ได้ผล คลิกอ่านที่นี่

ถ้าพร้อมแล้ว ออกไปตามหาแมลงสาปของเขากันนะครับ

====

ถ้าคุณอยากฝึกทักษะการโน้มน้าวใจเพื่อให้คนในทีมของคุณทำสิ่งดีดีเพื่อเป้าหมายขององค์กร ขอแนะนำหลักสูตร Persuasion and Negotiation Mastery ดูรายละเอียด คลิกที่นี่

บทความโดย

อ.ป้อบ มาติก ตั้งตรงจิตร 

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการเจรจาต่อรอง 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save