3 วิธีขอเจ้านายย้ายแผนกอย่างราบรื่น

การทำงานในองค์กรใหญ่ต้องมีบ้างที่เราจะรู้สึกเบื่องาน รู้สึกว่างานไม่ท้าทายและไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบสนองเป้าหมายในชีวิตจนเราอยากที่จะเปลี่ยนงาน

ถ้าคุณกำลังมีความรู้สึกนี้และอยากลองทำงานแผนกอื่นที่คิดว่ามันจะ…

– ต่อยอดในสายอาชีพตัวเอง 

– ทำให้ตัวเองรู้รอบด้านขึ้นและเก่งขึ้น

ซึ่งการทำเช่นนั้นอาจเป็นการย้ายแผนกหรือย้ายสายงานภายในบริษัทเดิมก็ได้ แต่การบอกเจ้านายตรง ๆ ว่าขอไปอยู่แผนกอื่นก็อาจทำให้ทีมและเจ้านายคนปัจจุบันดูไม่ดีในสายตาคนนอก และคนในทีมอาจมองว่าคุณเห็นแก่ตัวที่ทิ้งทีมไปในช่วงนี้

ฉะนั้นก่อนที่คุณจะเริ่มปฎิบัติการเข้าไปคุยกับเจ้านาย คุณควรเรียนรู้ 3 วิธีต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ทุกการเคลื่อนไหวของคุณเป็นไปอย่างราบเรียบและไร้ปัญหามากที่สุด

====

1. โฟกัสที่งานปัจจุบัน

ทุกครั้งที่คุณคิดจะย้ายไปอยู่ทีมใหม่หรืออยู่แผนกอื่น คุณควรจะต้องทำงานที่คุณรับผิดชอบให้ดีที่สุดเสียก่อน

การที่คุณทำงานในตำแหน่งเดิมของคุณได้ดีอยู่แล้ว จะทำให้คุณมีชื่อเสียงที่ดี  ได้รับเสียงชื่นชมทั้งในและนอกแผนก ทำให้คนต่างแผนกมองคุณในแง่บวกและอยากร่วมงานกับคุณมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานได้ดีเท่านั้น คุณต้องสร้างผลงานให้โดดเด่นจนทั้งตัวคุณและเจ้านายของคุณได้หน้า หรือได้รับความชื่นชมจากทีม Management

สิ่งนี้จะทำให้ผู้บริหารหันมาสนใจคุณมากขึ้น คุณอาจนำเสนอโปรเจ็คใหม่ที่คุณริเริ่มขึ้นมาเองก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ทำให้บริษัทประหยัดเงินมากขึ้น วิธีหาลูกค้าและเพิ่มรายได้ให้บริษัทมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้คุณไม่ควรที่จะให้ความสำคัญกับงานอื่น มากกว่างานที่ตัวเองรับผิดชอบโดยตรง  อย่าลืมพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับตำแหน่งหรือแผนกที่คุณต้องการจะย้ายไปมากขึ้น 

เช่น ถ้าคุณอยากย้ายจากการเป็นเซลล์ไปเป็นมาร์เก็ตติ้ง สิ่งที่คุณควรมีคือทักษะการวางแผน  ทักษะ Strategic thinking เป็นต้น 

====

2. พูดกับเจ้านายตรง ๆ

เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณควรแจ้งเจ้านายที่เป็น Direct report ของคุณเป็นคนแรก  คุณอาจหาเวลาที่ทั้งคู่สะดวกนอกเวลางาน หรือ งานเลี้ยงส่งคนในบริษัทก็ได้ เพราะจะช้าหรือเร็วเจ้านายคุณก็ต้องรู้ซึ่งเขาควรรู้เป็นคนแรก

ถ้าคุณและเจ้านายมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คุณอาจขอความช่วยเหลือจากเจ้านายให้พูดกับผู้ใหญ่ในบริษัทให้

แต่ถ้าคุณทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีหรือไม่ค่อยถูกจริตกันเท่าไหร่  คุณอาจปรึกษาคนที่ตำแหน่งสูงกว่าในเรื่องการย้ายแผนก  อย่าลืมว่า ไม่ว่าเจ้านายคุณจะแย่แค่ไหน จะทำงานเอาหน้ามากแค่ไหน หรือมีความผิดพลาดมากแค่ไหน คุณก็ไม่ควรพูดถึงเจ้านายในทางแย่ ๆ ให้คนอื่นฟังเด็ดขาด 

คุณไม่ควรสร้างศัตรูในโลกการทำงานเพราะคุณไม่มีทางรู้หรอกว่าใครคือพวกใครและยังทำให้คุณดูแย่ในสายตาคนอื่นอีกด้วย คนอื่นจะมองว่าคุณเอาเรื่องงานมาปนกับเรื่องส่วนตัวจนดูไม่เป็นมืออาชีพ

ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้เจ้านายคนใหม่ไม่ปลื้มกับพฤติกรรมนินทาและสร้างข่าวลือของเจ้านายคนเก่า ๆ  นี่คือเหตุผลที่คุณไม่ควรเอาชื่อเสียงของตัวเองไปเสี่ยงกับการกระทำแบบนี้

ถ้าคุณคิดว่าการพูดกับเจ้านายตรง ๆ เป็นเรื่องที่ยากเกินไป ขอแนะนำให้คุณอ่าน 4 สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมพร้อมก่อนคุยเรื่องยาก คลิกที่นี่ 

====

3. มีโจทย์ชีวิตที่ชัดเจน

เหตุผลที่ดีที่สุดในการย้ายแผนกคือการอ้างเรื่อง Career Path  เพราะมันคืออนาคต  คือสิ่งที่คุณฝันไว้  คือตำแหน่งงานที่คุณอยากจะเป็น คือก้าวสำคัญที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จ และคุณต้องการสิ่งนั้นตอนนี้ ในเวลานี้ มันคือจังหวะเหมาะสมที่คุณจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อออกจาก Comfort zone ของตัวเองแล้ว

ถ้าคุณใช้เหตุผลนี้ และคุณมีความสามารถในการทำงานที่เพียงพอ ทักษะของคุณสามารถต่อยอดและพัฒนาให้บริษัทก้าวหน้าขึ้นได้ แน่นอนว่าบริษัทจะต้องการตัวคุณอยู่แล้ว

การที่คุณรู้รอบด้านเท่าไหร่ และการที่คุณทำงานได้หลายฟังก์ชันจะยิ่งเป็นประโยชน์กับองค์กรมากขึ้นเท่านั้น และคุณควรมีเส้นตายที่ชัดเจนให้กับเจ้านายและบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเจ้านายและผู้บริหารระดับสูงให้เหตุผลว่าตำแหน่งไม่ว่าง คุณควรถามต่อว่า แล้วตำแหน่งนั้นจะว่างเมื่อไหร่ ,มีแผนที่จะเปิดรับเพิ่มไหม และเปิดเมื่อไหร่ และคิดว่าจะให้โอกาสคนในบริษัทก่อน หรือจ้างคนใหม่

ถ้าองค์กรและบริษัทของคุณให้คำตอบที่ไม่ชัดเจน มีการเลื่อนและผลัดออกไปเรื่อย เจ้านายพูดอย่าง HR พูดอีกอย่าง แสดงว่าคุณกำลังถูกหลอกเพื่อผลัดไปเรื่อย ๆ แล้ว

ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณควรหาบริษัทอื่นเพื่อขยับขยายช่องทางการทำงานของตัวเอง คุณควรมีแผนสำรองมากกว่าหนึ่งแผน ในกรณีที่แผนสองพลาด แผนสามและสี่ยังตามมา อย่าให้คุณเป็นตัวเลือกของเขา แต่ทำให้พวกเขาเป็นตัวเลือกคุณ

การเจรจาเพื่อขอเจ้านายย้ายแผนกคือทักษะที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Win-win Negotiation เพื่อให้คุณมีทักษะในการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

(ที่มา: http://www.lifehacker.co.uk/2016/01/12/how-to-tell-your-boss-that-you-want-to-transfer-to-another-team)

Categories EQ

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

ครั้งสุดท้ายที่ระเบิดลง คุณรู้สึกอย่างไร และรับมือกับมันอย่างไร?

แม้ผมจะมีช่วงเช้าที่แสนสดใส แต่ช่วงบ่ายกลับเป็นเหมือนหนังคนละม้วน  เพราะผมได้ระเบิดอารมณ์ใส่น้องที่ทำงาน!!

จากการส่งข้อความแจ้งเรื่องงานที่เรียบง่าย แต่ไม่ถึง 3 นาทีต่อจากนั้น ภาพตัดมาที่ผมกำลังตะโกนเสียงดังผ่านโทรศัพท์ว่า…

“จะเถียงพี่ทำไม #%$^&”

หัวใจผมเต้นแรงไม่เป็นจังหวะ สายตาของผมเริ่มพร่ามัว ปากและมือของผมสั่นระริก ถ้าอยู่ใกล้ ๆ อยากจะเอามือตบโต๊ะใส่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

====

แม้จะรู้สึกผิดที่คุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แต่อีกใจก็รู้สึกสะใจชะมัดที่ได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง จนกระทั่งน้องปลายสายถามผมว่า…

“อันนี้คือพี่ใช่ไหม?”

คำถามนั้นทำให้ผมนิ่งไปพักใหญ่ ๆ แล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อดึงสติให้กลับมา

นี่ไม่ใช่ตัวตนของผม!!

แต่ความพลุ่งพล่านที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดมาจากการที่ ‘ความต้องการ’ และ ‘ความกลัว’ ของผม ถูกกระตุ้น ด้วยเสียงกระซิบเบา ๆ

เสียงกระซิบที่ดังในหัวว่า…

“มึงจะยอมให้เด็กมาข้ามหน้าข้ามตามึงไม่ได้”

“เด็กนี่มันเก่งกว่ามึงอีก มึงสู้น้องมันไม่ได้”

“น้องมันทำงานดีกว่า และกำลังทำให้มึงเป็นพวกดีแต่พูด”

และเสียงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผมก็ฟังไม่ทันเหมือนกัน

====

เสียงเหล่านี้ชวนให้ผมตีความว่าข้อความทางแชทและน้ำเสียงที่คุยกัน คือน้องคนนี้กำลังกวนประสาทและท้าทายผม

ซึ่งในเสี้ยววินาที ผมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า…

“การระเบิดอารมณ์ใส่น้อง คือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงบทเรียนที่พึ่งได้เรียนในคลาส Communication Secrets

ปัญหาอย่างหนึ่งในการสื่อสารนั่นก็คือ… ‘เจตนาหรือความกลัวลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูด (Subtext)’

ซึ่งเจตนาที่ซ่อนอยู่ในการระเบิดอารมณ์ครั้งนี้ของผมคือ… “การแสดงอำนาจ”

เพราะเสียงกระซิบที่ผมได้ยินมันกำลังทำให้ผมเห็นว่า “ผมกำลังไม่ปลอดภัย” ถ้ายังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ความสำคัญของผมในทีมจะถูกลดทอนลงและผมจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้อีกต่อไป ซึ่งผมยอมไม่ได้!!

====

พอรู้ว่าความกลัวลึก ๆ นี้กำลังบงการชีวิต ผมจึงเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใหม่

เพราะ “การระเบิดอารมณ์” แค่ทำให้ผมรู้สึกมีอำนาจ แต่มันไม่ได้ช่วยให้ทีมของเราเติบโตไปไหนเลย

ผมค่อย ๆ สำรวจเสียงกระซิบภายในใจ ปรับจังหวะของลมหายใจให้ช้าและผ่อนคลาย เปลี่ยนท่าทางใหม่ ให้ผ่อนคลายและมีรอยยิ้มมากขึ้น

ผมเปิดใจคุยกับน้อง เล่าให้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจผม และขอโทษที่ระเบิดอารมณ์ออกไปแบบนั้น

ท้ายที่สุด เราก็ได้ข้อสรุปกันว่า…

การสื่อสารผ่านข้อความ ทำให้เกิดการตีความที่ผิดเพี้ยน

ดังนั้นต่อไปในกรณีที่เป็นเนื้องานที่ต้องพูดคุยกัน เราจะใช้การโทรหากัน มากกว่าการพิมพ์

และหากคุยแล้วอารมณ์เริ่มพลุ่งพล่านแบบนี้อีก ผมจะให้น้องส่งสัญญาณกับผมว่า… “เราหายใจกันเถอะ”

เพื่อให้ผมกลับมามีสติ และตอบสนองได้ดีขึ้น

====

วิธีรับมือเวลาที่อารมณ์ขึ้น

หากคุณเคยหลุดอารมณ์เสียใส่ทีม หรือเพื่อนร่วมงานของคุณ และคุณก็รู้สึกเสียใจที่ทำแบบนั้นลงไป ผมแนะนำให้คุณได้ฝึก 3 ขั้นตอนดังนี้

1.ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง

อารมณ์เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต้องรู้สึกผิดเวลาอารมณ์ขึ้น เราแค่ต้องฝึกรู้เท่าทันว่าตอนนี้ เรากำลังโกรธ เรากำลังเสียใจ เรากำลังอึดอัดอยู่ นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

====

2.ฝึกสำรวจใจตัวเอง

อารมณ์ที่เกิดขึ้น คือผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดความกลัวบางอย่างภายในใจ หรืออาจเป็นการที่เรารู้สึกว่าความต้องการบางอย่างที่สำคัญของเรากำลังถูกคุกคาม

หากเรื่องอะไรมากระทบใจเราบ่อย ๆ ลองสำรวจใจของเราว่าเรากลัวอะไร หรือเราต้องการอะไรกันแน่

และเมื่อเรารู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเองแล้ว มันจะทำให้เรากลับมาพิจารณาหาทางเลือกอื่น ๆ ได้มากขึ้น

เพราะบางครั้ง เราก็ไม่ได้โกรธเพราะอยากโกรธ แต่เราโกรธ เพราะเราต้องการให้ผลงานออกมาดี ซึ่งการจะให้ผลงานออกมาดีนั้น  ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา โดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจคนอื่น

====

3.ฝึกเริ่มใหม่เสมอ

พลาดแล้วก็เริ่มใหม่ ระเบิดแล้วก็ขอโทษแล้วก็ปรับตัว มันอาจจะยากที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนไป แต่หากเราเริ่มใหม่ทุกครั้งเวลาที่พลาด ไม่หมดความพยายามต่อตัวเองที่จะฝึกบริหารและรับมืออารมณ์ให้ดีขึ้น

เมื่อเรารู้ตัวอีกทีหลังจากที่ทำต่อเนื่องไปได้สักระยะ คุณจะประหลาดใจว่าทำไมเพื่อนร่วมงานถึงรู้สึกสนิท เคารพ และอยากเข้าใกล้คุณมากกว่าแต่ก่อน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

เป็นกำลังใจในการฝึกนะครับ

บทความโดย

อ.กิตติ ไตรรัตน์

Self-Leadership Facilitator

ถ้าต้องการฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อให้การทำงานและการสร้างทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

.

 

 

 

5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน

5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน

การทำงานเป็นสาเหตุให้คุณเกิดความเครียดได้ ไม่ว่าความเครียดนั้นจะมาจากงานที่เพิ่มขึ้น เวลาที่น้อยลง หัวหน้างานผู้เข้มงวด หรือเพื่อนร่วมงานช่างนินทา

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันสามในสี่คนทุกข์ทรมานจากความเครียดในที่ทำงาน นอกจากนี้ องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ในแต่ละปีความเครียดเป็นสาเหตุให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากป่วย และทำให้ธุรกิจของอเมริกาเสียหายถึง 3,000 ล้านเหรียญ

จากข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่าความเครียดนั้นน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงจิตใจของผู้คนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในด้านต่างๆด้วย

ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดความเครียดก่อนที่มันจะกำจัดเรา โดยบทความนี้ได้แนะนำหลักปฏิบัติ 5 ข้อ เพื่อให้คุณสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดในที่ทำงานได้ ดังนี้

====

1) ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเครียดของคุณ กล่าวคือ อาหารสามารถกระตุ้นหรือบรรเทาความเครียดให้คุณได้ ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของอาหาร

อาหารที่ช่วยขจัดความเครียด ได้แก่ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่ว เผือก มัน น้ำเปล่า เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ และยังช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความเครียดได้อีกด้วย

นอกจากอาหารที่ควรรับประทานเพื่อลดความเครียดแล้ว ยังมีอาหารที่คุณควรหลีกเลี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารเพิ่มความเครียด ในระยะแรกที่ได้รับประทานคุณอาจรู้สึกดี แต่หากคุณรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือรับประทานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดสภาวะความเครียดสะสมในร่างกายได้

====

 2) กำหนดลมหายใจเข้า-ออก

เรื่องการหายใจก็มีความสัมพันธ์กับความเครียดเช่นกัน คุณจะพบว่าเมื่อคุณเครียด คุณจะหายใจเร็วหายใจตื้น หัวใจเต้นเร็ว และมีอาการกระสับกระส่าย

ดังนั้น เมื่อคุณเครียด ให้คุณกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยคุณอาจหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆประมาณ 1-2 นาที คุณสามารถทำเช่นนี้ในช่วงพักเที่ยง หรือระหว่างวันก็ได้ และหากคุณมีเวลามากกว่านั้น คุณอาจทำในช่วงเช้าและก่อนนอนด้วย

วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าและออกคล้ายๆกับการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้คุณลดความเครียดลงได้ เพราะเมื่อคุณหายใจเต็มปอดก็จะทำให้เลือดและสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น และสิ่งนี้จะทำให้คุณสดชื่น และกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น

====

3) ออกกำลังกาย

เวลาที่คุณนั่งจมอยู่กับปัญหาในที่ทำงาน นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เครียดเกร็งโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่รักษายาก

วิธีแก้ไขความเครียดที่ง่ายและทำได้ทันที ก็คือ ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ยืดเส้นยืดสาย หรือเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถสัก 10-15 นาที 

นอกจากนี้ ในแต่ละวันคุณควรแบ่งเวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อออกกำลังกาย ในช่วงแรกของการเริ่มต้น คุณอาจรู้สึกว่ายาก แต่หากคุณทำมันอย่างต่อเนื่อง ร่างกายของคุณจะแข็งแรงขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายแข็งแรง คุณก็จะสามารถรับมือกับความเครียดได้

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดพิน ซึ่งทำให้คุณรู้สึกดี มีพลัง และกระฉับกระเฉงมากขึ้น แต่หากคุณยังไม่มีแรงบันดาลใจมากพอ ให้ลองจัดกิจกรรมออกกำลังกายกับเพื่อนร่วมงานของคุณ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกสนุกและอยากออกกำลังกายมากขึ้น

====

4) เลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก หลีกเลี่ยงข้อมูลด้านลบ

ในที่ทำงานของคุณย่อมมีคนหลากหลายประเภท และคำกล่าวที่ว่า “หงส์อยู่ในฝูงหงส์ กาอยู่ในฝูงกา” นั้นเป็นจริงเสมอ

กล่าวคือ คนที่มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกันมักรวมตัวอยู่ด้วยกัน ดังนั้น หากคุณไม่อยากเครียด ก็ไม่ควรที่จะสุงสิงหรือยุ่งเกี่ยวกับคนที่ทำให้คุณเครียด

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานบางคนชอบระบายความเครียดให้ผู้อื่น เมื่อเขาไม่พอสิ่งใด เขาจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อต่อว่า แสดงน้ำเสียงเกรี้ยวกราด หรือแสดงท่าทางก้าวร้าว เป็นต้น

พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณ เพราะฉะนั้นจงอยู่ให้ไกลจากคนประเภทนี้ แต่ทว่า บางครั้งหากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้คุณมีสติ กลั่นกรองข้อเท็จจริง อย่าเชื่อข้อมูลทุกอย่างที่เขาพยายามสาดใส่คุณ เพราะนั่นจะทำให้คุณเครียด และกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

ทางที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเลือกคบเพื่อนร่วมงานที่มองโลกในแง่ดี และเลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก และหากคุณเกิดความเครียดให้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองผ่อนคลาย เช่น การดูหนัง ฟังเพลง การท่องเที่ยว เป็นต้น

====

5) เลือกเสพข่าวสารอย่างเหมาะสม

หากคุณเป็นพวกที่ชอบเกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองโดยติดตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กตลอดเวลา คุณกำลังจะเครียดโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจากพฤติกรรมของสื่อในปัจจุบันมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลในเชิงลบอย่างซ้ำไปซ้ำมา นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวมักใส่ความคิดเห็น หรือแสดงอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวลงไปในเหตุการณ์ที่นำเสนอ สิ่งนี้ทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์ร่วม และเกิดความเครียดในที่สุด

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดเชิงลบ คุณควรเลือกรับข่าวสารอย่างเหมาะสม กล่าวคือ คุณควรจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูล ไม่ควรเสพข้อมูลมากเกินไป เพราะเมื่อคุณรับข้อมูลแล้ว สมองของคุณก็จะบันทึกและประมวลผล ซึ่งหากข้อมูลมีเนื้อหาที่รุนแรงและมีปริมาณมากเกินไป คุณก็จะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่คุณเสพด้วย

นอกจากนี้ คุณควรเลือกรับสารที่มีประโยชน์ และมีเนื้อหาในแง่บวก เช่น ภาพการช่วยเหลือสังคม ภาพความสำเร็จ เป็นต้น เพราะข่าวสารดีๆเหล่านี้จะทำให้คุณมองโลกในแง่ดี และเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต

มีวิธีการบริหารความเครียดอีกมากมายที่คุณเรียนรู้และฝึกฝนได้ด้วยตัวเอง  อ่านประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์เพื่อฝึกบริหารจัดการอารมณ์ของคุณเองคลิกที่นี่

===

ที่มา : http://www.pickthebrain.com/blog/5-ways-reduce-stress-work-place/

 

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

ถ้าต้องการฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อให้การทำงานและการสร้างทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

วิธีทิ้งความเครียดเรื่องงานเพื่อความสงบในชีวิต

วิธีทิ้งความเครียดเรื่องงานเพื่อความสงบในชีวิต

ชีวิตคนเรามีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับงานและเรื่องชีวิตส่วนตัว แต่ปัญหาที่หลายคนเจอก็คือต้องต่อสู้ดิ้นรนในที่ทำงานอย่างหนักหนาสาหัสจนรู้สึกว่ามีภาวะเครียดสะสม 

พอกลับมาบ้านก็พบว่าตัวเองนำความทุกข์จากที่ทำงานกลับมาด้วย จนกระทบกับความสัมพันธ์ในบ้าน นอกจากนั้นความเครียดจากงานยังเข้ามารบกวนการกินและการนอนหลับของเราอีกด้วย

====

ใครที่เป็นแบบนี้ขอให้หยุดคิดสักนิด คุณไม่จำเป็นต้องได้เป็นพนักงานดีเด่นหรือเป็นหัวหน้าคนเก่งแต่ครอบครัวพัง สุขภาพพัง ไปจนกระทั่งชีวิตพัง

จงสลัดความเครียดทิ้งไว้หลังการทำงานแล้วมีชีวิตอยู่ที่บ้านอย่างสบายตัว วิธีการที่เราแนะนำให้คุณลองปฏิบัติมีทั้งหมด  5 วิธี ดังนี้

สื่อสารให้เป็น

ใส่ใจคนในครอบครัว สื่อสารให้พวกเขารู้ว่าคุณยังรักและแคร์พวกเขาเสมอ อย่าแค่เดินผ่านหรือมองผ่าน ให้ทักทายและพูดคุยกับคนที่บ้านเสมอ

ที่สำคัญ หากคุณประสบความเครียดจากการทำงานให้เล่าให้พวกเขาฟังอย่างเปิดอก พวกเขาจะได้รับมือทันเพราะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วอาจจะช่วยเหลือกันและกันได้

เช่น คุณอาจจะบอกแฟนว่า “ตอนนี้ผมรับบรีฟงานมาใหม่ มันยากเหมือนกัน ยังไงช่วงนี้ผมคงจะหนักหน่อย ถ้าเห็นต้องคุยงานทางโทรศัพท์ หรือนั่งอ่านเอกสารเพิ่มที่บ้าน ก็อย่าว่ากันนะ มันคงเป็นแบบนี้ไปสักพักนึง เดี๋ยวคงจะดีขึ้นเองครับ”
====

ปรับใจก่อนเลิกงาน

ช่วงเวลาหลังเลิกงานสู่การใช้ชีวิตคือช่วงที่เราสามารถปรับสภาวะจากคนแบกภาระหนักให้เป็นคนผ่อนคลายสบายใจได้ด้วยการหากิจกรรมง่าย ๆ ที่ทำให้มีความสุข

เช่น ลองออกไปหาทัศนียภาพที่มองแล้วมีความสุข ต้นไม้ สายน้ำ หรือถ้าไม่เห็นวิวอะไรใกล้ตัวเลยก็เอาโทรศัพท์มาเปิดดูรูปที่ทำให้มีความสุขก็ได้
====

หาคนปรับทุกข์

คือการหาคนที่จะมารับฟัง แบ่งเบาความกลัดกลุ้ม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิท เพื่อนฝูงในชีวิต หรือบรรดาโค้ชที่สามารถชี้แนวทางการในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ คุณควรมีคนเหล่านี้ไว้เป็นที่พึ่งพิงยามที่ต้องการความสบายใจ
====

วางแผนวันเครียด

คือการวางตารางในรอบสัปดาห์หรือรอบเดือนว่าวันไหนบ้างที่คุณจะโหมงานหนักเป็นพิเศษ อาจทำให้คุณต้องเลิกงานช้า ไม่สามารถพูดคุยกับครอบครัวหรือกินอาหารเย็นร่วมกันได้เหมือนปกติ

นี่คือเทคนิคการล็อควันที่ภาระเยอะไว้เพื่อที่จะมีเวลาสะสางงานเพิ่มขึ้น และช่วยให้ครอบครัวของคุณเตรียมตัวล่วงหน้าได้ด้วย
====

ขอบคุณที่ผ่านวันนี้มาได้

การขอบคุณในที่นี้สุดแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจจะไปสวดมนต์ให้ใจสงบ บางคนอาจระลึกถึงชีวิตที่ผ่านมาทั้งวันแล้วมองหาว่าอะไรเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนระลึกถึงและขอบคุณได้ทั้งนั้น

คุณอาจจะสรรเสริญกาแฟที่รสชาติดีสักแก้ว หรือขอบคุณไฟเขียวซึ่งเปิดให้ถนนฝั่งคุณเร็วกว่าปกติทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนานเกินไป

ยังมีอารมณ์ทางลบอีกมากมายที่อาจก่อปัญหาในการทำงานและการมีความสงบสุขในชีวิตของคุณ อ่านประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์ เพื่อฝึกบริหารจัดการอารมณ์ของคุณเองคลิกที่นี่

เทคนิคทั้งหมดนี้ หากนำไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยยกเอาความเครียดของการทำงานออกจากบ่าของคุณก่อนถึงบ้านอย่างแน่นอน

====

เรียบเรียงจาก “5 Ways to Leave Your Work Stress at Work” โดย Sabina Nawaz จาก Harvard Business Review 2 มีนาคม 2019

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่


เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์

ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์

คุณคิดว่าผู้นำแบบไหนจะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน

ระหว่างผู้นำที่เกิดสถานการณ์ตึงเครียดแล้วหน้าแดงก่ำ กำหมัดพร้อมตะคอกใส่ลูกน้อง

หรือผู้นำที่ยังดูใจเย็นราวกับควบคุมทุกอย่างได้ และค่อยๆ หาทางแก้สถานการณ์อย่างน่านับถือ

====

เชื่อว่า ‘ผู้นำที่สมบูรณ์แบบ’  ในใจหลายคน น่าจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือเกิดวิกฤตเพียงใด รวมถึงเป็นคนที่ให้ความไว้วางใจแก่ลูกทีม เปิดใจรับฟัง เข้าถึงและพูดคุยด้วยง่าย ไปจนถึงตัดสินใจได้อย่างมีหลักการและมีความระมัดระวัง

ด้านดี ๆ ของผู้นำมักจะมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’ หมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตัวเอง ตลอดจนอารมณ์ของผู้คนรอบข้างได้เป็นอย่างดี 

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะรู้ทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น และหาทางจัดการได้อย่างยอดเยี่ยม 

====

สำหรับคนที่เป็นผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์จะนำไปสู่ความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้น  ซึ่ง  ‘Daniel Goleman’  นักจิตวิทยาและนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวว่ามี 5 องค์ประกอบย่อยที่คุณต้องฝึกฝน

1.รู้ตัวเอง (Self-awareness)

คือ การรู้เท่าทันตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร อยู่ในอารมณ์แบบไหน หากทำอะไรออกไปจะกระทบกระเทือนคนอื่นอย่างไร ผู้นำที่รู้ตัวเองยังหมายถึงคนที่เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เข้าใจความเป็นมนุษย์ของตัวเองและผู้อื่นด้วย  

การจะพัฒนาทักษะการรู้จักตัวเองนี้ ทำได้ด้วยการฝึกเขียนบันทึก ใช้เวลาในแต่ละวันจดสิ่งที่คิดและรู้สึก เมื่อผ่านไปสักระยะจะทำให้เห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ ยังควรฝึกดึงตัวเองให้ช้าลงเมื่อเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเวลาที่เริ่มเกิดอารมณ์หงุดหงิดหรือรำคาญขึ้นมา

การดึงตัวเองให้ช้าลงจะทำให้คุณมีเวลาในการรับมือและแสดงออกได้ดีกว่าเดิม

====

2.จัดระเบียบตัวเอง (Self-regulation)

ความสามารถในการตั้งกฎเกณฑ์และจัดการตัวเองให้ได้ จะมีผลทำให้ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น เช่น ไม่พูดต่อว่าหรือประชดออกไป ไม่ตีตราผู้คน ไม่ด่วนตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ยังทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในสายตาคนอื่นด้วย 

ผู้นำควรจะมีหลักการ มีคุณค่าที่ยึดถือชัดเจน ไม่ประนีประนอมกับสิ่งไม่ถูกต้อง (ไม่เช่นนั้นจะโดนด่าว่าเป็นคนที่ไม่มีหลักการที่ยึดถือเลย) รู้ว่าในสถานการณ์ใดจะต้องทำตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับสิ่งที่ยึดถือ

นอกจากนี้จะต้องชัดเจนว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องยอมรับและปรับปรุง เพื่อให้คนรับรู้ว่าคนคน นี้ยึดถือในหลักการ  และท้ายที่สุด คุณควรจะฝึกให้ตัวเองสงบใจเมื่อพบเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก  การสูดหายใจลึก ๆ จนความคิดจิตใจเริ่มสงบ จะช่วยแสดงภาวะผู้นำของคุณได้เป็นอย่างดี

====

3.กระตุ้นปลุกเร้า (Self – Motivation)

ผู้นำที่ดีจะสามารถปลุกเร้าตนเองและคนอื่นให้ถึงเป้าหมายได้  โดยมีมาตรฐานการทำงานสูง การพัฒนาทักษะนี้ทำได้โดย การกลับมาสำรวจถึงเหตุผลที่ทำงานดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการย้ำเตือนตัวเองว่า เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และต้องการอะไร การเห็นภาพความสำเร็จและแรงจูงใจในการทำงานจะทำให้มีผลงานที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ยังควรที่จะระลึกอยู่เสมอว่าตัวเองคือ ผู้นำ ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นทีมงาน ควรจะทำให้คนในทีมรู้สึกได้ถึงความหวังและตระหนักว่ามีสิ่งดี ๆ รออยู่ข้างหน้า  อาจกล่าวโดยสรุปว่าเป็นคนที่ส่งพลังบวกไปให้คนทุกคนในทีมได้นั่นเอง

====

4.เข้าอกเข้าใจคนอื่น (Empathy)

การเป็นผู้นำคือการพยุงทีมทั้งหมดให้ไปด้วยกัน ผู้นำที่ดีจะต้องเข้าใจคนที่มาร่วมงานด้วย เข้าใจความรู้สึก เข้าใจสถานะและเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ ฉะนั้นใครที่เข้าอกเข้าใจ มีความเห็นใจลูกน้อง จะทำให้เขาได้รับความจงรักภักดีไปโดยปริยาย 

การพัฒนาองค์ประกอบนี้ ทำได้โดยการฝึกมองว่าถ้าตัวเองอยู่ในบทบาทหน้าที่ของลูกน้องจะเป็นอย่างไร ความรู้สึก ความต้องการ อุปสรรค และแรงบันดาลใจของเขามาจากไหน 

นอกจากนี้ ยังควรใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้เห็นถึงความรู้สึกแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษากาย

และท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการแสดงออกให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความเหน็ดเหนื่อยและตึงเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา  ถ้าเป็นไปได้ หาทางชดเชยให้แก่เขาด้วยก็จะดีมาก

ถ้าคุณอยากฝึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น ขอแนะนำให้คุณฝึก ทักษะการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathic Listening) คลิก ที่นี่ 

====

5.ทักษะการเข้าสังคม (Social Skills)

ผู้นำที่ดีควรจะมีความฉลาดทางอารมณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม นั่นคือ เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม ทำให้ลูกน้องได้รับข้อมูลข่าวสารไปจนถึงอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานที่เป็นบวก ทักษะนี้ยังรวมไปถึงการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ผู้นำควรจะเรียนรู้ว่าหนทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งกับคนในทีม ลูกค้า หรือคู่ค้า จะต้องมีกระบวนการอย่างไร ควรพัฒนาทักษะทางการสื่อสาร ตลอดไปจนการรู้จักยกย่องชื่นชมคนอื่น อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น

ทักษะทั้ง 5 นี้ หากผู้นำได้พัฒนาอย่างเหมาะสมแล้วล่ะก็ จะทำให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในฐานะของผู้นำองค์กรอย่างแน่นอน 

====

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่


เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

วิธีฝึก Self – Awareness เพื่อความสงบในการทำงาน

วิธีฝึก Self - Awareness เพื่อความสงบในการทำงาน

เป็นเรื่องธรรมดาที่เรามักไม่ค่อยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง เพราะมันเป็นนามธรรมที่จับต้องยาก แถมเรายังมีเรื่องสำคัญและเร่งด่วนถาโถมเข้ามาทุกวันอีกด้วย  

แต่หากคุณต้องการมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต การรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง หรือ  Self -Awareness คือทักษะที่สำคัญที่สุด ที่คุณควรฝึกฝน

Self – Awareness หรือ การตระหนักรู้ตัวเอง คือ รากฐานที่สำคัญของภาวะผู้นำ (Leadership)  ถ้าการลงเสาเข็มให้หยั่งรากลึกลงในพื้นดินก่อนการสร้างตึกสูงเป็นเรื่องสำคัญฉันท์ใด การฝึก Self – Awareness ก่อนการฝึกภาวะผู้นำก็เป็นเรื่องสำคัญฉันท์นั้น

====

Self – Awareness จะช่วยทำให้เกิด Self – understanding (การเข้าใจตนเอง) Self – Acceptance (การยอมรับตัวเอง)  Self – Esteem (ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง) ไปจนมี Self – Control หรือ สามารถควบคุมตนเองให้ทำพฤติกรรมที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จรวมถึงเลิกพฤติกรรมบ่อนทำลายตัวเองลงได้ด้วย

ซึ่งสุดท้ายมันจะช่วยทำให้ชีวิตของคุณมีประสิทธิผล หรือ  Productive มากขึ้นได้ด้วย 

แม้จะเข้าใจในเชิงแนวคิด(Concept) แต่ในทางปฏิบัติก็ยังทำได้ยากอยู่ดี ใช่แล้วครับ ผมไม่ได้บอกว่ามันทำได้ง่าย แต่ผมยืนยันว่านี่คือรากฐานของการเป็นผู้นำ และเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรฝึกไม่ว่าจะมีตำแหน่งและบทบาทใดก็ตาม

====

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลส่วนบุคคลและทักษะการร่วมมือร่วมใจภายในองค์กร ผมขอแบ่งปันประสบการณ์จากการฝึก Self – Awareness ในชีวิตจริงทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จนกลายมาเป็นวิธีการฝึกแบบ Step by Step ที่คุณสามารถฝึกตามได้ทันที ดังนี้ 

1.ใส่ใจกับความรู้สึกทางร่างกายของคุณ

เริ่มต้นที่ส่วนที่สัมผัสได้ง่ายที่สุดในตัวคุณ นั่นคือร่างกาย วางทุกสิ่งที่ทำตรงหน้าแล้วมารับรู้ร่างกายของคุณอย่างเต็มที่ โดยจะเลือกที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ ที่ลมหายใจก็ได้ 

====

2. ใส่ใจกับความรู้สึกภายในใจคุณ

หลับตา แล้วถามตัวเองว่า “ขณะนี้ฉันรู้สึกอย่างไร” อาจเริ่มที่การจับว่าความรู้สึกตัวเองเป็นไปในทางบวก ลบ หรือกลาง ๆ ก่อนก็ได้ เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ ค่อยเริ่มระบุชื่อความรู้สึกออกมา เช่น กลัว กังวล เครียด โกรธ โมโห แค้น ไม่พอใจ เป็นต้น

====

3. ยอมรับทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ

ระวังความคิดต่อต้านตัดสินความรู้สึกต่าง ๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัย มีที่มาที่ไป และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา ยอมรับว่าความคิดทั้งหมดไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีคือส่วนหนึ่งข้างในตัวเรา และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดทุกข์ด้วย

====

4. กำหนดรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน

ขั้นตอนนี้คือหัวใจของทุกสิ่ง การกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันจะอยู่กับลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องคิดของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของเราก็ได้ (ควรเคลื่อนไหวง่าย ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคิด) ถ้าจิตหลุดไปคิดก็แค่กลับมารู้ตัวในปัจจุบันเท่านั้น

====

5. เฝ้าดูทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายใน

รับรู้ทุกสิ่ง ทั้งความคิด ความรู้สึกทางจิตใจ ความรู้สึกทางร่างกาย แค่รับรู้โดยไม่ต้องไปตัดสินอะไรเลย อยู่กับปัจจุบันขณะต่อไปเรื่อย ๆ และถ้าหลุดไปจากปัจจุบันก็เพียงแค่กลับมา โดยไม่ต้องคิดตัดสินอะไรตัวเองเลย ฝึกแบบนี้ต่อเนื่องจะสามารถอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้นและนานขึ้นเอง 

เมื่อฝึกทักษะการมีสติรู้ตัวได้ในระดับหนึ่งแล้ว คุณจำเป็นต้องเปลี่ยน ‘การรู้ตัว’ เป็น ‘การปรับตัว’ เพื่อความสำเร็จที่แท้จริง คลิกอ่านที่นี่

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากมีทักษะตระหนักรู้เท่าทันความคิด ความรู้สึกของตัวเอง (Self -Awareness) เพื่อพัฒนาสู่การเป็นคนที่ฉลาดทางอารมณ์ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence  คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity (Productivity Facilitator) 

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ลดปัญหาและทำให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยเทคนิคสื่อสารเชิงรุก

ลดปัญหาและทำให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยเทคนิคสื่อสารเชิงรุก

“ผมต้องการอายัดบัตร ออกบัตรใหม่ และปฏิเสธการใช้จ่าย”

“ผมต้องการยกเลิกรายการทั้งหมด พร้อมทั้งขอเงินคืนจำนวน 114.99 ดอลล่าร์ และขอให้ทีมงานตรวจสอบให้ผมด้วยว่ามีการใช้งานที่ผิดกฎหมายหรือไม่”

ผมเขียนบทความนี้ตอน 3 ทุ่มของวันที่ 18 มิถุนายน 2564

เป็นอีกวันที่ผมจัดการปัญหาได้เรียบร้อย

ซึ่งเป็นปัญหาที่เริ่มขึ้นตอนเที่ยงคืนครึ่ง

====

หลังจากที่ทำทุกอย่างเสร็จ และเตรียมจะเข้านอน

iPhone ของผมก็แจ้งเตือนว่ามีการรูดบัตรเป็นเงิน 114.99 ดอลลาร์ผ่านเว็บไซต์ Zoom โปรแกรมประชุมออนไลน์ยอดนิยม ซึ่งผมเคยสมัครแบบพรีเมี่ยมแต่ก็ยกเลิกไปนานแล้ว

เมื่อเห็นข้อความ ผมก็มั่นใจว่าต้องโดนแฮคบัตรเครดิตแน่ๆ

====

เมื่อตั้งสติได้ ผมก็รีบหยิบบัตรเครดิตที่โดนโจมตี แล้วรีบโทรเข้า Call Center ต่อสายเข้าหน่วยงาน Fraud ของธนาคารทันที

เจ้าหน้าที่รับสาย และสอบถามเรื่องราวจากผม

“ผมน่าจะโดนแฮค เพราะเคยใช้ Zoom และข้อมูลบัตรเครดิตก็ยังอยู่ในนั้น ซึ่งครั้งนี้ผมไม่ใช่ผู้ทำรายการ ผมจึงต้องการอายัดบัตร ออกบัตรใหม่ และปฏิเสธการใช้จ่ายครั้งนี้”

ปลายสายตอบกลับตามกระบวนการอย่างมืออาชีพ รับทราบเรื่องอายัดบัตร โดยจะออกบัตรใหม่ให้ภายใน 10 วันพร้อมแจ้งว่าจะส่งเอกสารให้ผมทางอีเมลเพื่อยืนยันการปฏิเสธรายการด้วย

ผมบอกว่ารับทราบ พูดขอบคุณ ทุกอย่างจบลงใน 5 นาที ผมจำกัดความเสียหายไว้ได้แล้วสำหรับบัตรใบนี้

====

เมื่อวางสายแล้ว ผมก็ยังไม่สบายใจนัก ผมยังคงสงสัยว่าโดนแฮคตอนไหน แล้วจะโดนอะไรอีกไหม จึงเปิดอีเมลดู พบว่ามีใบเสร็จจาก Zoom เข้ามา

ใบเสร็จแจ้งว่ามีการซื้อบริการหลายอย่างของ Zoom รวมเป็นจำนวนเงิน 114.99 ดอลล่าร์ เมื่อสืบค้นข่าวก็พบว่า ปี พ.ศ. 2563 Zoom โดนแฮคทำให้ข้อมูลบัญชีหลุดออกไปมากกว่า 500,000 ราย

และผมคงเป็นหนึ่งในนั้น แล้วโชคดีก็มาเยือนผมวันนี้พอดี!

ผมรีบเข้าไปใน Zoom ทุกอย่างดูปกติ จนกระทั่งผ่านไป 3 นาที มีอีเมลแจ้งเข้ามาว่า Host Key (เหมือนรหัสเข้าประชุมส่วนตัว) ถูกเปลี่ยน

====

สักพักมีอีเมลแจ้งว่า Password ผมถูกเปลี่ยน!

ผมรู้แล้วว่าตัวเองไม่ได้โดนแฮคบัตรเครดิต แต่โดนแฮค Zoom Account ต่างหาก ผมสู้กับ Hacker ด้วยการเปลี่ยน Password ทันที (ผมเป็นเจ้าของอีเมลเลยสามารถทำได้ ถ้าอีเมลโดนด้วยคือจบ)

จากนั้นจึงเปลี่ยน Host Key กลับมาเป็นของตัวเอง พร้อมเปิด 2FA ในการเข้าระบบให้ปลอดภัยขึ้น

====

ผมจำกัดความเสียหายทั้งหมดไว้แล้ว ที่เหลือคือการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะ Hacker ไปสมัครบริการไว้ 114.99 ดอลล่าร์

ผมหาวิธีติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้ สุดท้ายเลยใช้วิธีส่งอีเมลสุ่มเข้าไปที่ billing และ support

ได้ผล! ผมได้อีเมลกลับมาว่าเปิดเรื่องให้แล้ว มีอะไรเข้าไปแจ้งได้ ผมเข้าไปแจ้งว่าโดนแฮค Account จึงต้องการยกเลิกบริการทั้งหมด และต้องการเงินคืน

ผมได้เมลตอบกลับทันทีจากระบบอัตโนมัติว่า ‘คุณสามารถยกเลิกได้เลย โดยคุณยังใช้งานระบบได้ถึงวันหมดอายุ’

====

นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ผมยืนกรานกลับไปว่า “ผมทราบสิ่งที่ระบบบอกผมแล้ว แต่ผมต้องการยกเลิก และต้องการเงินคืน เนื่องจากถูกแฮค ฉะนั้นช่วยพิจารณาด้วย”

ไม่มีอีเมลตอบกลับมา ผมเลยไปนอน

จนกระทั่งวันนี้เวลาประมาณบ่าย 3 โมงกว่า มีเจ้าหน้าที่สอบถามว่าต้องการให้ยกเลิก และ Refund ใช่หรือไม่ ผมพิจารณาแล้วว่าตอนนี้ตัวเองกังวล 2 อย่างคือ

‘การยกเลิก-คืนเงิน’ และ ‘การถูกนำ Account ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง’

ผมจึงตอบกลับไปว่า “ผมต้องการยกเลิกรายการทั้งหมด พร้อมขอเงินคืนจำนวน 114.99 ดอลล่าร์ และขอให้ทีมงานตรวจสอบการใช้งานให้ผมด้วยว่ามีอะไรผิดกฎหมายหรือไม่”

ไม่กี่อึดใจ เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการยกเลิก และคืนเงินให้ผม พร้อมแจ้งว่าไม่มีการใช้งานผ่าน Account ที่สมัครบริการแต่อย่างใด

ในที่สุดปัญหาก็จบไป เป็นปัญหาที่ผมจะไม่มีวันลืมเลย

====

ตอนที่เกิดวิกฤตหรือปัญหา การรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจากใคร และจะสื่อสารอย่างไรนั้นสำคัญมาก

ในหลักสูตรการสื่อสารเชิงรุก (Proactive Communication) ผมจะสอนเสมอว่าเราต้องสื่อสารเพื่อลดปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพ

ในเหตุการณ์ข้างต้น ผมจะไม่สื่อสารว่า “ช่วยผมหน่อยๆๆ”

ผมรู้ตัวเองว่ามีเป้าหมายอะไรที่อยาก ‘รุก’ ไปหา แล้วสื่อสารให้คนฟังรู้ว่าผมอยู่ที่ไหน เกิดอะไรขึ้นบ้างด้วย

ผมทำทั้งตอนคุยกับเจ้าหน้าที่บัตรเครดิต และเจ้าหน้าที่ Zoom ผมสื่อสารว่าผมเจออะไรมา ผมทำอะไรไปแล้วบ้าง และสุดท้าย ผมต้องการให้เขาช่วยอะไร

====

สรุปเทคนิคการสื่อสารเชิงรุก 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. สื่อสารว่าเราประสบเหตุการณ์อะไร
  2. สื่อสารว่าเราต้องการอะไร
  3. สื่อสารว่าอยากให้เขาช่วยอะไร

โดยทั้ง 3 ข้อจะต้องพูดให้ชัดเจนที่สุดว่าเกิดอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และมีใครเกี่ยวข้องบ้างแบบกระชับ การสื่อสารแบบนี้ช่วย ‘ลัด’ ขั้นตอน ลดคำถามที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และในชีวิตได้

ที่สำคัญก็คือ เราได้ทบทวนตัวเองระหว่างเล่า ได้คำตอบก่อนถามคนอื่นตอนเตรียมตัวด้วยครับ

อีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถฝึกเพื่อใช้ควบคู่กับการสื่อสารเชิงรุกคือการโน้มน้าวใจ อ่านสุดยอดเทคนิคเพิ่มพลังการโน้มน้าวใจให้ได้ผล คลิกที่นี่

ยิ่งมีปัญหา ยิ่งต้องการสติ ฝึกการสื่อสารเชิงรุกให้เป็นนิสัย แล้วคุณจะพบว่า ชีวิตมีทางลัด ปัญหามีทางลด และทุกอย่างมีทางออกจริงๆ ครับ

====
ฝึกทักษะการสื่อสารเชิงรุก การโน้มน้าวใจ และการเจรจาต่อรองอย่างเข้มข้นได้ในหลักสูตร Persuasion and Negotiation Mastery ดูรายละเอียดคลิกที่นี่


เขียนโดย อ. ป้อบ มาติก ตั้งตรงจิตร ,CFA, FRM
Communication and Negotiation Trainer

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

สองขั้นตอนฝึกทักษะ Resilience ที่ทำได้จริง

สองขั้นตอนฝึกทักษะ Resilience ที่ทำได้จริง

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่เคยจิตตกเพราะเจอสถานการณ์ร้ายๆ หรือ เจอคนที่ทำไม่ดีต่อคุณจนทำให้คุณไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้เป็นเวลานาน

คุณคงรู้สึกแย่มากเลยใช่ไหมครับเมื่อพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น

ต่อไปนี้เป็นข่าวดี เพราะคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่งเพื่อรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายหรือคนที่ทำแย่ ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

=====

         เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการที่จะไม่ต้องพบเจอเหตุการณ์เลวร้ายหรือคนแย่ ๆ ก็คือ ‘การฟื้นคืนกลับมาอยู่ในวิถีทางสู่ความสำเร็จของเราอีกครั้ง’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า Resilience Skill นั่นเอง

เพราะถ้าเปรียบปัญหาและอุปสรรคเป็นคลื่นที่ถาโถมเข้ามาหาเราทุกคน การฝึกที่จะเผชิญและโต้ล้อไปกับคลื่นคือพันธกิจสำคัญของนักโต้คลื่นทุกคน

 ซึ่งผมอยากให้เราทุกคนเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นนักโต้คลื่น

เมื่อตระหนักได้เช่นนั้น เราจะรู้ว่าสิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การสวดภาวนาไม่ให้พบปัญหา แต่คือการฝึกฝนทักษะที่จะเผชิญปัญหาและฟื้นคืนกลับมาได้ทุกครั้งที่เจอปัญหาต่างหาก

=====
         Leo Babauta ผู้เขียนหนังสือชื่อดัง Zen Habits และ The Power of Less เป็นหนึ่งในคนที่ศึกษาและฝึกฝนเรื่อง Personal Productivity อย่างลึกซึ้งมานานหลายปี เขายอมรับว่า Resilience คือ หลักคิดและทักษะที่สำคัญที่สุดของคนทำงานยุคนี้และมันช่วยให้เรามี Productivity ที่สูงได้ด้วย 

         Resilience จะทำให้เรามีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ทุกครั้งที่เจอปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในยุคที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยเช่นนี้

         คำถามก็คือ เราจะฝึกทักษะ Resilience ได้อย่างไร เพราะดูเหมือนมันจะเป็นแค่แนวคิดที่นามธรรมมากเหลือเกิน

         คำตอบอยู่ที่สองขั้นที่ Leo (และผม) ฝึกปฏิบัติและนำมาถ่ายทอดให้พวกเราทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน ดังนี้

=====

1.กำจัดความเครียดที่ไม่จำเป็น (Remove Extra Stress)

ชีวิตคือความทุกข์ นี่คือเรื่องธรรมดาที่ทุกศาสนายอมรับและถ่ายทอดให้พวกเราทำความเข้าใจ  แต่ถึงอย่างไรมนุษย์ผู้มีระบบคิดที่ทรงพลังต่างก็เพิ่มความเครียดให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว และนั่นก็ทำให้จิตใจของใครหลายคนต้องแบกรับความเครียดที่เกินพอดีจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้

ถ้าการควบคุมความคิดไม่ให้กังวลกับอนาคตหรือจมปลักอยู่ที่อดีตเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก Leo แนะนำให้เริ่มต้นในสิ่งที่ทำได้ทางกาย(พฤติกรรม) กันก่อน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสิ่งเสพติดทั้งหลายที่คุณใช้หลีกหนีปัญหาลง เพราะถ้าคุณเครียดก็มีแนวโน้มสูงมากที่คุณจะเสพมันเกินพอดี ซึ่งส่งผลให้คุณยิ่งเครียดมากขึ้นในอนาคต จงจำกัดปริมาณที่ดื่มให้น้อยลงอย่างน้อย 50%
  • จำกัดปริมาณงานที่ต้องโฟกัสให้สำเร็จลงจนเหลือเพียง 3 อย่าง โดยฝึกการปฏิเสธงานที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย และฝึกการส่งมอบงานให้คนอื่นทำบ้าง
  • หยุดพักจากหน้าจอและโซเชียลมีเดียอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อเคลียร์จิตใจให้สงบอย่างแท้จริง

=====

2.ทำสิ่งที่ช่วยให้คุณรู้สึกเติมเต็ม (Replenish Yourself)

เมื่อคุณลด ละ เลิกทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น(มันอาจสร้างความสุขระยะสั้นให้คุณแต่มักจะก่อให้เกิดความเครียดในระยะยาว เช่น การดื่มเหล้า การไปปาร์ตี้ การช็อปปิ้งแบบสุดเหวี่ยง) แล้ว คุณจะมีเวลาและพลังงานเหลือที่จะทำในสิ่งที่…ทำให้คุณรู้สึกเต็มขึ้น

         สิ่งเหล่านั้นคือพฤติกรรมที่ไม่ได้ใช้เวลานาน ไม่ได้ใช้เงินเยอะ แต่คุณต้องทำอย่างสม่ำเสมอ (สร้างมันขึ้นมาแทนที่พฤติกรรมในข้อ 1) และต้องเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้อย่างแท้จริง

         ถ้านึกไม่ออกว่ามีอะไรบ้าง ตัวอย่างของผมต่อไปนี้อาจช่วยคุณได้

  • เดินและนั่งชื่นชมธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะ แม่น้ำ ท้องฟ้า
  • ก่อนเข้านอนให้อาบน้ำอุ่นและจดบันทึกเรื่องราวในด้านบวกซึ่งเกิดขึ้นในวันนี้
  • ให้เวลาคุณภาพกับคนที่คุณรัก ไปรับประทานอาหารกับเขาโดยไม่มีมือถือมารบกวน
  • หายใจเข้าลึกขึ้น และออกให้ช้าลงและยาวขึ้นในระหว่างวัน

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ช่วยให้เรารู้สึกเติมเต็มได้คือการฝึกเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์ ศึกษาแนวทางการฝึกได้ที่นี่
=====

         พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าคุณทำอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการเลิกทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น

         เพราะการเจอรถชน ไปทำงานสาย โดนเจ้านายด่า ถูกลูกค้าปฏิเสธ และโดนแฟนโมโหใส่เป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ แต่ความคิดที่คุณมีต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต่างหากที่คุณสามารถควบคุมได้

         ยิ่งคุณโฟกัสไปที่สิ่งที่คุณบริหารจัดการและควบคุมได้ เช่น ความคิด พฤติกรรมของคุณ มากเท่าไหร่ คุณก็จะเริ่มสร้างทักษะ Resilience เพื่อการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้มากขึ้นเท่านั้นครับ

=====

ถ้าคุณสนใจฝึกทักษะ Resilience คุณต้องเริ่มต้นที่การฝึกทักษะการบริหารอารมณ์ของตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น เรียนรู้และฝึกฝนเรื่อง Emotional Intelligence เพื่อเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้ คลิกที่นี่ 

เขียนโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน

ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity  (Personal Productivity Facilitator) 

 Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

อยากสำเร็จต้องเปลี่ยนการ ‘รู้ตัว’ ให้เป็นการ ‘ปรับตัว’ ด้วยวิธีนี้

อยากสำเร็จต้องเปลี่ยนการ ‘รู้ตัว’ ให้กลายเป็น ‘การปรับตัว’ ด้วยวิธีนี้

“รู้ว่าต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง…แต่ชั้นก็ยังปรับตัวไม่ได้”

นี่คือปัญหาที่เกาะกุมใจของใครหลายคน เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า การรู้ตัว (self-awareness) อันหมายการถึงรู้จุดแข็ง จุดอ่อน ความรู้สึก ความคิด และคุณค่าของตัวเอง ในห้วงเวลาต่างๆ บ้างไม่มากก็น้อย 

แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง เพียงแค่รู้ตัวยังไม่พอแต่เราจะต้องไปไกลกว่านั้นอีกก้าว นั่นคือการปรับตัวให้ได้ หรือที่เรียกว่า มีความสามารถที่จะบริหารจัดการตัวเอง (self-management) นั่นเอง

=====

ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้ก็คือ หลายคนรู้ตัวเองว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และยังรู้อีกว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไข แต่ขั้นตอนแก้ไขนี่แหล่ะที่ไม่ง่ายเลย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีข้ออ้างต่าง ๆ มากมาย จนไม่สามารถจัดการตัวเองได้ในที่สุด  เคล็ดลับเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือเบื้องต้นให้สามารถลงมือทำได้จริง

เริ่มจากอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้ว่า ณ ตอนนี้กำลังทำอะไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งภายนอกและภายในใจเรา 

ชั้นที่สอง พิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป สิ่งที่ทำนั้นจะส่งผลอะไรตามมา และถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด จะแก้ปัญหาอย่างไร

ขั้นสุดท้าย เลือกทำในสิ่งที่จะเกิดผลดีที่สุด แม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่ง่ายที่สุดเลยก็ตาม

=====

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำเหล่านี้มักจะพังพาบไม่เป็นท่า เพราะท้ายที่สุด แล้วมนุษย์มักจะเลือกหนทางที่ง่ายที่สุดและสะดวกที่สุดเสมอ เช่น รู้ตัวว่าถ้าปรับวิธีการพูดแล้วจะดีขึ้นแต่แทนที่จะลงมือปรับปรุงทันที กลับหาข้ออ้างบ่ายเบี่ยงแล้วเลือกใช้วิธีการพูดแบบเดิมไปก่อน เพราะการปรับนั้นจะต้องลงทุนลงแรงและทำให้ขาดความมั่นใจในช่วงแรก

เมื่อธรรมชาติมนุษย์เป็นเช่นนี้  เราจึงมีเทคนิค 6 ประการเพื่อกำราบตัวเอง และบริหารจัดการตัวเองให้สำเร็จอย่างเด็ดขาด

1.เลือกมาเลย ว่าจะเริ่มทำที่ไหน

ถ้าปัญหานี้มักเกิดในห้องประชุม ก็ต้องเริ่มต้นที่ห้องประชุมนี่แหละ

=====

2. สังเกตดูดีๆ ว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคในการปรับปรุงตัวเอง

เช่น ไม่ยอมปรับปรุงเพราะมัวแต่ห่วงหล่อ เพราะห่วงภาพลักษณ์ของตัวเอง หรือเพราะเราต้องการผลลัพธ์บางอย่างจากการทำแบบเดิมอยู่ เป็นต้น
=====

3. พิจารณาทางเลือกดีๆ และคิดล่วงหน้าไปเลยว่าจะเกิดผลอะไรตามมา 

การใช้ความคิดพิจารณาทางเลือกทั้งหลายจะทำให้เรามองเห็นภาพและรับมือได้ดีขึ้น 

=====

4. ทำแผนขึ้นมา

เมื่อมีแผนการที่ชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอนอะไรต่อมิอะไรก็จะง่ายขึ้น

=====

5.ทำตามแผนนั้นซะ!

ลงมือทำทันที หลังจากวางแผนเสร็จ  ไม่ต้องมาเสียเวลาหรือรอดูฤกษ์ยามอะไรแล้ว

=====

6.ทำอีก ทำไปซ้ำๆ

ทำซ้ำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  จนกว่าจะสามารถ “ปรับตัว” ได้อย่างแท้จริง

เท่านี้แหละ คุณจะไม่เพียง “รู้ตัว” ว่ามีปัญหาและควรปรับปรุงอะไร แต่คุณยังสามารถที่จะ “ปรับตัว” โดยจัดการตัวเองได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ถ้าอยากพัฒนาตัวเองจากจุดที่อยู่ไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ ขอแนะนำหลักสูตร Habit of Success ที่จะฝึกการปรับตัวเพื่อสร้างอุปนิสัยแห่งความสำเร็จ คลิกที่นี่

=====

เรียบเรียงจาก “How to Move from Self-Awareness to Self-Improvement” โดย Jennifer Porter จาก Harvard Business Review 19 มิถุนายน 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save