เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

“ปัญหาของการไม่มีเป้าหมายชีวิต เปรียบได้กับการที่คุณสามารถใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการวิ่งขึ้นวิ่งลงไปทั่วสนาม และทำคะแนนไม่ได้แม้แต่แต้มเดียว” บิลล์ โคปแลนด์

คุณเคยรู้สึกไหมว่า ตัวเองทำงานหนักมากแต่กลับย่ำอยู่กับที่? บางครั้งคุณพบว่า ตัวเองมีพัฒนาการขึ้นเล็กน้อยในทักษะฝีมือ หรือในด้านความสำเร็จเมื่อเทียบกับตัวเองเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน หรือบางที คุณต้องดิ้นรนเพื่อให้รู้สึกว่า สามารถตอบสนองความทะเยอทะยานภายในตัวเองได้

ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตไปกับการทำงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่ง หรือวิ่งวุ่นไปทั่วเพื่อทำอะไรให้สำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีสิ่งที่ทำสำเร็จจริง ๆ ได้เล็กน้อยเท่านั้น

การตั้ง “เป้าหมายที่ชาญฉลาด หรือ SMART Goals หมายความว่า คุณสามารถเข้าใจความคิดของตัวเองได้อย่างชัดเจน โฟกัสไปที่ความพยายาม ใช้เวลาและทรัพยากรที่ตัวเองมีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในชีวิต

บทความของเราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ SMART Goals ว่าคืออะไร? และคุณสามารถใช้มันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของตัวเองได้อย่างไร?

SMART หมายถึงอะไร?

SMART คืออักษรย่อที่คุณสามารถใช้เป็นแนวทางการตั้งเป้าหมายได้

หลักเกณฑ์ทั่วไปนำมาจากแนวคิด ‘หลักการบริหารจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์’ ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกในนิตยสาร Management Review ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1981 โดย จอร์จ ที. โดแรน จากนั้น ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอส. รูบิน (มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์) ได้เขียนเกี่ยวกับ SMART ในบทความสำหรับสมาคมจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เขาเริ่มใช้คำว่า SMART เพื่อนิยามถึงสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล…

เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายของคุณชัดเจนและสัมผัสได้ แต่ละเป้าหมายควรจะเป็นดังนี้

SPECIFIC – มีความเฉพาะเจาะจง เรียบง่าย สมเหตุสมผล เป็นเป้าหมายที่สำคัญ
MEASURABLE – วัดผลได้ มีความหมาย มีแรงจูงใจ
ACHIEVABLE – ลงมือทำได้จริง สามารถทำได้สำเร็จ
RELEVANT – มีความเกี่ยวเนื่องกัน มีเหตุผล มีทรัพยากร ตั้งอยู่บนฐานผลลัพธ์ที่เป็นไปได้
TIME BOUND – กำหนดเวลาได้

อย่างไรก็ตาม นักคิดบางคนได้ขยายแนวคิดนี้เพื่อโฟกัสด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น SMARTER โดยรวมเอาการประเมินผล (EVALUATED) และการทบทวน (REVIEWED) เข้าไปด้วย

วิธีการใช้แนวคิด
SMART

นักธุรกิจชื่อ พอล เจ. เมเยอร์ นักเขียนและผู้ค้นพบแนวคิด ‘แรงจูงใจในความสำเร็จระดับสากล’ ซึ่งอธิบายลักษณะเฉพาะของ SMART Goals ในหนังสือของเขา ชื่อว่า “Attitude Is Everything: If You Want to Succeed Above and Beyond.” ไว้ดังนี้…


1. มีความเฉพาะเจาะจง (Specific)


เป้าหมายของคุณควรชัดเจนและมีความเฉพาะเจาะจง มิฉะนั้นแล้ว คุณจะไม่สามารถรวบรวมความตั้งใจ หรือรู้สึกถึงแรงจูงใจที่แท้จริงในการประสบความสำเร็จได้ เมื่อทำการร่างเป้าหมาย จึงควรตอบคำถาม 5 W นี้ให้ได้

  • WHAT – คุณต้องการประสบความสำเร็จเรื่อง อะไร?
  • WHY – ทำไม เป้าหมายนี้จึงมีความสำคัญ?
  • WHO – ใคร มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง?
  • WHERE – สถานที่ในการดำเนินการตั้งอยู่ ที่ไหน?
  • WHICH – ทรัพยากรหรือข้อจำกัด อะไรที่เกี่ยวข้อง?


ตัวอย่าง


ลองจินตนาการว่า คุณทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และต้องการขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่าย เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงอาจเป็น “ฉันต้องการทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กร เพราะฉะนั้น ฉันต้องสร้างหน้าที่การงานและทีมที่ประสบความสำเร็จ”


2. วัดผลได้ (Measurable)


การมีเป้าหมายที่วัดผลได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณจะสามารถติดตามความคืบหน้าและยังคงมีแรงจูงใจต่อไปได้ การประเมินความคืบหน้าจะช่วยให้คุณสามารถโฟกัสที่เป้าหมาย เผชิญกับกำหนดเวลา รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสำเร็จ

เป้าหมายที่วัดผลได้อาจเริ่มจากคำถามเหล่านี้…

  • มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?
  • มีปริมาณมากแค่ไหน?
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จ?


ตัวอย่าง


คุณอาจวัดเป้าหมายในการได้รับทักษะสำหรับการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด จากการเข้าร่วมการอบรมที่จำเป็นจนเสร็จสิ้น หรือได้รับประสบการณ์จากงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาห้าปี


3. ลงมือทำได้จริง (Achievable)


เป้าหมายของคุณต้องมีความสมจริง สามารถทำให้สำเร็จได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เป้าหมายควรท้าทายความสามารถของคุณ แต่ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้.. เมื่อคุณตั้งเป้าหมาย คุณอาจมองไปถึงโอกาส หรือทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อทำให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จในอนาคต

เป้าหมายที่ลงมือทำได้จริงมักจะเริ่มด้วยคำถาม เช่น
            – ฉันจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร?
            – เป้าหมายนี้ตั้งบนฐานความเป็นจริงมากแค่ไหน เช่น ดูจากปัจจัยทางการเงิน เป็นต้น


ตัวอย่าง


คุณอาจต้องถามตัวเองว่า การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดนั้น อยู่บนพื้นฐานความจริงหรือไม่ อาจมองจากคุณสมบัติ หรือประสบการณ์เดิมที่คุณมี เช่น

            – คุณมีเวลามากพอจะเข้าอบรมจนเสร็จสิ้นไหม?
– มีทรัพยากรที่จำเป็นหรือไม่?
– คุณสามารถที่จะทำมันได้หรือไม่?

 

4.มีความเกี่ยวเนื่องกัน (Relevant)

สำหรับขั้นตอนนี้ เป็นการทำให้แน่ใจว่า เป้าหมายนั้นเหมาะสมกับคุณและมีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย… อันเนื่องมาจากพวกเราทุกคนต่างต้องการการสนับสนุน ต้องการความช่วยเหลือในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ก็ต้องสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้

ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าแผนของคุณจะผลักดันคนอื่น ๆ ไปข้างหน้า และคุณก็ต้องรับผิดชอบความสำเร็จของเป้าหมายของตัวเองด้วยเช่นกัน…

การหาว่าเป้าหมายนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ คุณต้องตอบ “ใช่” จากคำถามต่อไปนี้…

  • มันดูคุ้มค่าหรือไม่?
  • ถูกช่วงเวลาแล้วใช่ไหม?
  • มันตรงกับความต้องการอื่น ๆ หรือไม่?
  • ฉันคือคนที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ใช่ไหม?
  • เป้าหมายนี้สามารถเป็นไปได้ในสภาพเศรษฐกิจหรือสังคมปัจจุบันหรือไม่?


ตัวอย่าง


คุณอาจต้องการเพิ่มพูนทักษะเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กรของคุณ แต่นี่คือเวลาสำหรับการเข้าร่วมอบรมหรือยัง? หรือจะเลือกเพิ่มเติมคุณสมบัติที่จำเป็นก่อน? คุณแน่ใจแล้วใช่ไหมว่า ตัวเองเหมาะกับบทบาทหัวหน้าฝ่ายการตลาด? คุณพิจารณาเป้าหมายของคู่สมรสบ้างหรือไม่?


5. ผูกพันกับเวลา (Time-bound)


ทุก ๆ เป้าหมายต้องการกำหนดเวลา ดังนั้น คุณต้องตั้งเส้นตายในการทำเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองโฟกัสในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า หัวข้อนี้ของ SMART Goals จะช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญสำหรับเป้าหมายระยะยาวได้

การกำหนดเวลามักถามด้วยคำถามเหล่านี้…

  • เมื่อไหร่?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกเดือนต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกสัปดาห์ต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในวันนี้?


ตัวอย่าง


การเพิ่มพูนทักษะสำหรับเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดอาจต้องการการฝึกฝนหรือประสบการณ์ ตามที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้ คุณต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น?

หากคุณต้องการเข้าอบรม คุณก็ต้องทดสอบว่าตัวเองมีคุณสมบัติหรือไม่ มันเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องให้กรอบเวลาตามความเป็นจริงสำหรับทำเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ ๆ ต่อไป

ข้อดีและข้อเสีย


SMART นั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้คุณมองเห็นเป้าหมายต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน สามารถโฟกัสกับจุดมุ่งหมายและมีแรงจูงใจเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความสามารถ เพิ่มแรงใจในการกำหนดวัตถุประสงค์ต่าง ๆ และกำหนดวันที่ต้องการให้สำเร็จอีกด้วย… ทุกคนสามารถนำหลัก SMART Goals ไปปฏิบัติตามได้ง่ายในทุกที่ โดยไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ หรือการฝึกฝนใด ๆ มาก่อน

แต่การตีความได้หลากหลายของ SMART อาจทำให้สูญเสียประสิทธิภาพ หรือเกิดการเข้าใจผิดในความหมายที่แท้จริงได้ อีกทั้งบางคนก็มีความเชื่อว่า SMART ไม่เหมาะกับเป้าหมายระยะยาว เพราะขาดความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์

เคล็ดลับ


SMART เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการวางแผน หรือการตั้งเป้าหมาย ในขณะที่มีการตีความเรื่องอักษรย่อที่หลากหลาย ทั้งความเฉพาะเจาะจง การวัดผลได้ ทำให้สำเร็จได้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน และเรื่องความผูกพันกับเวลา

เมื่อคุณใช้แนวคิด SMART คุณสามารถสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถทำได้จริง และมีความหมายขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาแรงจูงใจ แนวทางปฏิบัติ และการสนับสนุนที่ต้องการเพื่อทำให้สำเร็จได้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน


บางครั้งคุณอาจฝันบ่อย ๆ ว่าอยากไปเที่ยวรอบโลก แต่กลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง คุณอาจบอกตัวเองว่า เป็นเพราะคุณไม่มีเวลา หรือเงิน และบางทีอาจผลัดไปเป็นปีหน้า

ลองตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals เพื่อช่วยให้เป้าหมายการท่องเที่ยวของคุณมีความเจาะจงมากขึ้น สามารถวัดผลได้ ทำได้จริง มีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ และผูกพันกับกำหนดเวลา

คุณอาจพบเหตุผลที่แท้จริง ว่าทำไมคุณถึงไม่เคยได้ออกเดินทาง… นั่นอาจเพราะแผนการของคุณไม่ชัดเจน หรือเกินจริงมากไป ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้เข้ากับแนวคิด SMART Goals และนี่คือ ตัวช่วยที่จะทำให้ความฝันของคุณเป็นจริง…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

5 เคล็ดลับ ทะยานสู่ระดับ Top ในที่ทำงาน

5 เคล็ดลับ ทะยานสู่ระดับ Top ในที่ทำงาน

มนุษย์เงินเดือนทุกคนล้วนอยากเป็นที่รักของทั้งหัวหน้า ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน และบ่อยครั้ง ก็อยากทำงานได้โดดเด่น เป็นระดับ TOP ในที่ทำงาน…

และหลายต่อหลายคนมักคิดว่า ความสามารถของคนระดับ Top นั้น เป็นเพราะ “เขามีพรสวรรค์”

ความเชื่อแบบนี้ทำให้คุณหยุดพัฒนาการทำงานของตัวเอง ตามมาด้วยอาการหมดหวังต่อความก้าวหน้าในงานที่ทำอยู่ จนอาจกลายเป็นสภาวะเบื่องาน ในที่สุด

ทั้งที่ความจริงแล้ว พนักงานระดับ Top 5 ไม่ได้มีสิ่งใดเหนือกว่าพนักงานโดยส่วนใหญ่ อาจจะต่างกันเพียงแค่พรสวรรค์ข้อเดียวเท่านั้น นั่นคือ “พรสวรรค์ในการเรียนรู้เร็ว”

โชคดี พรสวรรค์นี้เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ง่าย ๆ และ ต่อไปนี้คือ 5 เคล็ดลับ ที่จะทำให้คุณมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว”

1. สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ

ขั้นตอนแรกของการเรียนรู้ ไม่ใช่การฟัง หรือการอ่าน แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้… สภาพแวดล้อมเงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวนดึงความสนใจของคุณจากสิ่งที่กำลังเรียนรู้ จะช่วยให้จิตใจเกิดสมาธิ

TIP : ควรให้ความสำคัญกับการจัดโต๊ะทำงานและบริเวณโดยรอบ ให้อยู่ในบรรยากาศเงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวน ควรปิดเสียงเครื่องมือสื่อสาร และไม่ควรตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ควรเก็บไว้ในลิ้นชัก จะได้ไม่รบกวนสายตา ส่งผลดีต่อการสร้างสมาธิในการทำงานได้มากกว่า

2. ใช้จิตนาการช่วยในการเรียนรู้

ทฤษฎีทางจิตวิทยา สรุปไว้ว่า “มนุษย์เรียนรู้และจดจำเป็นภาพ มิใช่คลื่นเสียง หรือตัวอักษร” ดังนั้น ก่อนจะเรียนรู้งานเรื่องใด ให้คุณลองจินตนาการว่า… เมื่อคุณได้รับความรู้นั้นแล้ว จะนำไปทำอะไรบ้าง? ในขณะฟัง หรืออ่าน ให้ค่อย ๆ ลำดับความคิดเป็นภาพ

วิธีการนี้เป็นการเปิดจิตใต้สำนึกให้ค่อย ๆ ดูดซับความรู้ใหม่เข้าไว้ในความทรงจำ นอกจากนี้ การทบทวนความรู้ใหม่ในตอนกลางคืน โดยเฉพาะ 30 นาที ก่อนนอน ยังช่วยให้จิตใต้สำนึกจดจำภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถประมวลผล เพื่อดึงกลับมาใช้ได้อย่างแม่นยำในวันหน้า

TIP : ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงานที่ไม่เคยทำ ก่อนจะบ่นว่ายาก ให้เปลี่ยนเป็นการฝึกตั้งคำถามกับตัวเอง ว่างานชิ้นนี้องค์กรจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง? เราจะได้เรียนรู้สิ่งใดจากงานชิ้นนี้? เราจะทำงานชิ้นนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร?

3. จดบันทึกสั้น ๆ



รูปแบบการเรียนรู้หลัก ๆ ที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เป็นทารก คือ เรียนรู้จากการฟัง (AUDITORY) และเรียนรู้จากการมองเห็น (VISUAL) ซึ่งการเรียนรู้จากการมองเห็นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟัง เนื่องจากเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง มีจำนวนมากกว่าเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างหูกับสมอง ถึง 22 เท่า

แต่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด กลับเป็นการเรียนรู้จาก “การใช้มือเขียนบันทึกข้อมูล หรือการโน้ตย่อ” เพราะช่วยให้เส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองกับตา และสมองกับหู สามารถทำงานไปพร้อม ๆ กัน

กล่าวคือ ในระหว่างคุณจดบันทึกข้อความ สมองของคุณจะเห็นภาพ และได้ยินเสียงเกี่ยวกับข้อมูลที่กำลังจดบันทึกในเวลาเดียวกัน… “การจดบันทึก” จึงเป็นเสมือนทางลัดที่ใช้ในการส่งข้อมูลความรู้เข้าไปจัดเก็บไว้ในคลังสมอง

TIP : ฝึกจดบันทึกประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากงานชิ้นใหม่ ๆ ที่เพิ่งเคยทำ หรืองานชิ้นเดิม ๆ ที่เคยทำผิดพลาด รายละเอียดของงานในแต่ละขั้นแต่ละตอน หมั่นนำมาอ่านทบทวนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสะสมความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรง ไว้ในคลังสมอง

 

4. แบ่งปันความรู้ใหม่กับผู้อื่น



สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้เรียนรู้ กว่า 90 % ไม่ว่าจะมาจากการฟัง การอ่าน หรือการเขียนก็ตาม จะคงอยู่ในสมองได้ไม่นานนัก

หากคุณไม่รีบนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สมองจะสั่งการว่า สิ่งนั้นไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคุณ และจะค่อย ๆ โละความรู้นั้นทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นภาระสมอง

ดังนั้น วิธีการง่ายที่สุดในการเก็บความรู้ใหม่ให้คงอยู่ในคลังสมองตลอดไป คือ การพูดคุยเพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้ ให้แก่คนในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น เพื่อน คนรัก พี่น้อง ซึ่งจะเป็นการย้ำเตือนกับสมองว่า เรื่องที่แบ่งปันเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ห้ามลบทิ้งโดยเด็ดขาด!

TIP : หาเวลาว่างสักวันละ 5 นาที พูดคุยเรื่องราวดี ๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน แทนการสุมหัว ตั้งวง บ่น นินทา เม้าท์มอย ฯลฯ

5. ดื่มน้ำและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

วิธีนี้เป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากสมองส่วนหน้าของมนุษย์ทำหน้าที่เรียนรู้และจดจำ ดังนั้น สมองส่วนหน้าจึงมีความต้องการใช้ออกซิเจนในเลือดในปริมาณที่เพียงพอ

การดื่มน้ำและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการส่งเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าได้อย่างทั่วถึง จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสมองอัจฉริยะ

TIP : บนโต๊ะทำงานของคุณ ควรมีกระติกน้ำ หรือขวดน้ำที่มีความจุประมาณ 1 ลิตร ตั้งไว้ เพื่อเป็นการเตือนความจำให้คุณค่อย ๆ หยิบมาจิบไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั่งทำงาน 8–10 ชั่วโมง และหลังเลิกงาน ควรจัดสรรเวลาออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 15–30 นาที

ถ้าคุณสามารถทำได้ตามเคล็ดลับง่าย ๆ ทั้ง 5 ข้อ คุณจะได้เรียนรู้ว่า “พรสวรรค์ไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด” อันที่จริงแล้ว “พรสวรรค์เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาสรรค์สร้าง” และการพัฒนาสรรค์สร้างที่ดีที่สุด ก็คือ “การให้เวลากับการเรียนรู้”

อย่าลืมใส่ใจดูแลสมองและร่างกาย ให้พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อสร้างความสำเร็จในการทำงานให้พุ่งทะยานสู่อันดับ Top ในที่ทำงานกันนะครับ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

อยากเพิ่มความมั่นใจในที่ทำงาน ทำยังไงดี!?

อยากเพิ่มความมั่นใจในที่ทำงาน ทำยังไงดี!?

ในแต่ละวันของการทำงาน คุณเคยจู่ ๆ ก็รู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาบ้างไหม?

และถ้าคุณกำลังมีอาการขาดความมั่นใจในที่ทำงาน หรือมีความกังวลว่า จริง ๆ แล้วคุณอาจไม่เหมาะที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ เพราะอาจมีความคิดแวบขึ้นมาว่า คนรอบข้างฉลาดกว่าคุณ พร้อมกว่าคุณ ขณะเดียวกันหัวหน้าก็คอยจ้องจับผิดคุณอยู่ตลอดเวลา

อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับคุณนานเกินไป ลองเติมความมั่นใจให้ตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้ดูนะคะ…

1. ทำความเข้าใจกับเรื่องไร้สาระ

ไม่มีใครเหมาะสม หรือดีพร้อมไปทุกอย่างหรอกค่ะ บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การนินทา การพูดคุยลับหลัง เพราะถ้ามองว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ มันก็จะสำคัญ แต่ถ้าลองทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้น พูดคุยกับตัวเองมากขึ้น ให้กำลังใจตัวเอง “การคิดดี” จะช่วยทำให้คุณเรียนรู้และเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้มากขึ้นค่ะ

2. เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง

เพิ่มเติมความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน ด้วยการอ่านหนังสือ หรือค้นหางานวิจัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีตรรกะเหตุและผล ความคิด เรียนรู้วิธีการและเข้าใจขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงกระบวนการทำงานที่ดี ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวคุณได้อย่างรวดเร็ว

3. กล้าตั้งคำถามให้มากขึ้น

อย่ากลัวที่จะซักถามเมื่อคุณไม่รู้ ความกลัวนี่ล่ะที่จะทำให้คุณไม่กล้าตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะคุณจะรู้สึกตลอดเวลาว่าไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอย่างแท้จริง ดังนั้น หากคุณไม่แน่ใจในวิธีการทำงานบางอย่าง ก็ควรที่จะซักถามในสิ่งที่คุณสงสัย นอกจากจะช่วยให้มีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว คุณยังมีความมั่นใจและกล้าพูดคุยกับคนรอบข้างมากขึ้นด้วยค่ะ

4. เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง หากคุณมัวแต่คร่ำครวญว่าคุณทำไม่ได้! จงตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง และเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า จะต้องไปถึงสิ่งนั้นให้ได้ด้วยการเพิ่มความมั่นใจในความสามารถของคุณ เพื่อความสำเร็จของตัวคุณเอง และเพื่อโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพของคุณ… เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณประสบความสำเร็จแล้วครั้งหนึ่ง ให้นึกถึงความสำเร็จนั้น เพื่อเป็นแรงผลักดันสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง…

5. สนุกกับชีวิตในทุก ๆ วัน

ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการที่คุณจริงจังกับชีวิตมากเกินไป! แน่นอนว่าคุณต้องการทำผลงานให้ออกมาดี แต่คุณก็ยังสามารถสนุกกับงาน มีความสุขกับชีวิตในขณะที่คุณกำลังทำสิ่งเหล่านั้นอยู่ด้วยได้นะคะ ลองเรียนรู้ที่จะหัวเราะกับความพ่ายแพ้และความผิดพลาดของคุณ มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ขัน จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวคุณ และช่วยให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นค่ะ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

ประชุมงานอย่างไร ให้ได้งาน

ประชุมงานอย่างไร ให้ได้งาน

เหล่ามนุษย์งานทั้งหลาย เคยเบื่อการประชุมบ้างไหมคะ?

          เชื่อว่ามีหลายคนยกมือสนับสนุนขึ้นสุดแขน! แต่ถึงอย่างไรในชีวิตการทำงานของเราคงหนีไม่พ้นต้องประชุม ใช่ไหมคะ… คงไม่ดีแน่ ถ้าคุณนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ในห้องประชุมครึ่งค่อนวันอย่างไม่มีความสุข เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าหมอง ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคุณย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

แต่ไม่ต้องกลุ้มใจไปค่ะ วันนี้ เรามีเทคนิคดี ๆ ที่จะทำให้การประชุมไม่น่าเบื่ออีกต่อไป มาฝากกันค่ะ

1. ประเด็นต้องชัดเจน

คุณเคยเข้าประชุมแล้วออกมาแบบงง ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นบ้างไหมคะ พอรู้ตัวอีกทีเวลาก็หมดไปกับการนั่งเหม่อลอยมองคนอ่านพรีเซนต์ ฟังคนเถียงกันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุม หากใครเคยประสบพบเจอปัญหาดังกล่าว แสดงว่าการประชุมไม่ได้ผล และเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ปัญหานี้มีทางแก้ค่ะ เพียงแค่คุณตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมจึงมีการจัดประชุม? เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การประชุมคืออะไร? ถ้าคุณตอบได้ การประชุมของคุณจะกระชับ ตรงประเด็น และได้ผลค่ะ

แต่หากคุณเอะอะก็นัดประชุมทุกเรื่อง โดยไม่คัดกรองหัวข้อให้ดี ไม่วางแผนอย่างเป็นลำดับขั้น การประชุมก็จะเต็มไปด้วยความสับสน และนั่นทำให้คุณเสียเวลาประชุม แถมยังต้องกลับไปนั่งทำงานแบบไร้ทิศทางเสียด้วยซ้ำ

2. ผู้ร่วมประชุมต้องกล้าเสนอความเห็น

คุณอาจเคยชินกับบรรยากาศการเข้าประชุมที่มีแต่คนหน้าเดิม ๆ พูดแสดงความคิดเห็น ส่วนที่เหลือก็นั่งก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์บ้าง แสร้งทำเป็นจดบันทึกการประชุมบ้าง ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาบ้าง

ภาพแบบนี้ทำให้การประชุมไร้ชีวิตชีวาและผิดวัตถุประสงค์ของการประชุมค่ะ เพราะความสำคัญของการประชุม คือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแผนงานและปฏิบัติงานอย่างมีเป้าหมายเดียวกัน

ดังนั้น การประชุมที่ดีต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ประธานควรดำเนินการประชุมอย่างกระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่พูดระบายอารมณ์ของตนเองในที่ประชุม และควรเปิดใจรับฟังผู้เข้าร่วมประชุมโดยปราศจากอคติ

ด้านผู้เข้าร่วมประชุม ก็ไม่ควรนั่งฟังเฉย ๆ โดยไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แชร์ไอเดีย หรือไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ ให้คิดว่าการได้เข้าประชุม คือโอกาสดีที่ได้นั่งคุยกับเพื่อน ได้เห็นความคืบหน้าของงาน เพื่อที่ทีมจะได้มองเห็นภาพความสำเร็จร่วมกัน และช่วยกันสร้างสรรค์งานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

3. การนำเสนอต้องน่าสนใจ

ถ้าให้หลับตาและนึกถึงภาพ Presentation การประชุมที่บริษัท เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นภาพ Presentation ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือชวนง่วงนอน มิหนำซ้ำ ผู้พูดก็ยังนำเสนอข้อมูลด้วยน้ำเสียงโมโนโทน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะสัปหงก และเผลอหลับคาห้องประชุม

แต่ปัจจุบันนี้หมดยุคที่ผู้คนจะสื่อสารกันด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ โลกหมุนเร็วกว่าที่คิด การใช้ข้อมูลจากตัวหนังสือประกอบการนำเสนอ เป็นสิ่งที่แสนน่าเบื่อและทำให้หัวใจห่อเหี่ยว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ทันสมัย ดึงดูดความสนใจให้มากขึ้น เช่น ใช้ Infographic, Video Clip หรือ Multimedia เริ่ด ๆ ประกอบการนำเสนอในที่ประชุม ลองทำดูนะคะ แล้วการประชุมของคุณจะ Work สุด ๆ เลยล่ะค่ะ

4. ความถี่การประชุมต้องเหมาะสม

ปัญหาที่หนุ่มสาวออฟฟิศต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันก็คือ ประชุมทั้งวันจนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น บางคนพูดติดตลกว่า “มีอาชีพรับจ้างประชุม” อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ว่าการประชุมที่ดีต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ใช่นึกอยากจะเรียกประชุมเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะหากประชุมพร่ำเพรื่อ ผู้เข้าร่วมจะไม่เห็นความสำคัญ และพาลไม่อยากเข้าประชุม

นอกจากนี้ ควรมีคนควบคุมเวลาไม่ให้การประชุมยืดยาวเกินไป เพราะสมาธิของคนเรามีจำกัด การประชุมเลยเวลา อาจทำให้ผู้เข้าประชุมไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเหนื่อยล้าและมึนงงกับชั่วโมงประชุมที่ยาวนานได้ค่ะ

5. ประชุมเสร็จต้องสรุปและติดตามผล

สิ่งสำคัญของการประชุม ก็คือต้องสรุปและติดตามผลการประชุม เพราะการเขียนสรุปการประชุมจะทำให้ผู้เข้าร่วมทราบว่า ผลของการประชุมคืออะไร? ใครต้องรับผิดชอบเรื่องใดต่อ?

ลองคิดดูนะคะว่า หากมีประเด็นถกเถียง โต้แย้ง หรือแชร์ไอเดียที่เป็นประโยชน์ในที่ประชุม แต่ไม่มีใครจดบันทึกเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนก็จะลืม และไม่ได้นำสิ่งที่ประชุมมาปฏิบัติต่อให้เป็นรูปธรรม ผลคือ การประชุมทั้งหมดสูญเปล่า

ในทางกลับกัน หากมีการจดบันทึกข้อคิดเห็นสำคัญ หรือมติที่ประชุม ทุกคนก็จะมีหลักฐานอ้างอิง สามารถยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานต่อไปได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การทำงานราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

10 ทักษะบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ

10 ทักษะบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ

“การบริหารเวลา” เป็นทักษะสำคัญต่อความสำเร็จ ทั้งในอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว เชื่อเถอะค่ะว่า ความสามารถในการบริหารจัดการเวลาของคุณในวันนี้ จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้ตลอดขีวิตเลยทีเดียวค่ะ… วันนี้เรามี “10 ทักษะ ที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการบริหารเวลาของคุณ” มาฝากกันค่ะ…

1. วางแผนเวลาทุกวัน

จัดสรรเวลาสักครึ่งชั่วโมง ไว้วางแผนเวลาทั้งวันของคุณทุกวัน ใช่ค่ะ มันอาจจะฟังดูแปลก ๆ ที่จะวางแผนในการวางแผน แต่การจินตนาการ หรือนึกถึงงานที่คุณตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องสำเร็จภายในวันนี้ และจัดเรียงลำดับความสำคัญของงานแต่ละงาน จะสามารถช่วยให้คุณเห็นภาพความสำเร็จ และนึกภาพออกง่ายขึ้น ว่าควรจะทำอย่างไร

2. เผื่อเวลาให้กับสิ่งรบกวนต่าง ๆ

ทุกครั้งที่ทำการนัดหมาย หรือลงตารางเวลางาน อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับสิ่งรบกวนต่าง ๆ ที่จะหยุดการทำงานของคุณชั่วคราว ส่งผลให้คุณทำงานได้ช้าลง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ดัง มีงานด่วน หรืออีเมลที่ไม่คาดคิดอาจจะเข้ามามากมาย ถ้าคุณพยายามนัดหมายใครต่อใครแบบเวลาชนเวลาเป๊ะ ๆ โดยไม่ได้มีเวลาเว้นว่าง หรือเผื่อเวลาไว้บ้างเลย แน่นอนค่ะว่า คุณจะไม่สามารถทำตามทุกนัดหมายได้ทันเวลา

3. ถ้าไม่จำเป็นต้องตอบตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องตอบ

ยอมรับเถอะค่ะว่า คุณไม่สามารถรับโทรศัพท์ทุกสาย หรือตอบกลับทุกอีเมลได้ในทันที หากคุณจำเป็นต้องทำโปรเจคท์ หรืองานของคุณให้เสร็จจริง ๆ ก็จงปล่อยให้โทรศัพท์ดัง หรือปล่อยให้ไลน์ แชต หรือข้อความต่าง ๆ ดังไปก่อน อย่าตกอยู่ในกับดักของการโต้ตอบกับทุกสิ่ง ถ้ามันไม่ได้จำเป็นต้องมีการตอบรับจากคุณตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องสนใจมันหรอกค่ะ

4. กำหนดเวลาการทำงานให้กับตัวเอง

ลองกำหนดเวลาการทำงานแต่ละชิ้นให้ตัวเองตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันไม่ให้งานของคุณลากยาวเกินไป เช่น หากคุณกำหนดไว้ว่า คุณต้องส่งอีเมลจำนวน x อีเมล ให้เสร็จภายในเวลา Y ชั่วโมง การที่คุณจะถูกดึงความสนใจไปที่งานอื่น ๆ ที่ยังไม่จำเป็นก็จะลดน้อยลงอีกไอเดียหนึ่งที่ดี คือการตั้งกำหนดเวลาเหล่านี้ในปฏิทินของคุณ เพื่อช่วยในการติดตาม และทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

5. สรุปคร่าว ๆ ทั้งก่อนและหลังการพูดคุย

ทุกครั้งก่อนการประชุม หรือการนัดหมาย หรือแม้แต่การคุยโทรศัพท์ ลองใช้เวลาสักนิดเพื่อคิดคร่าว ๆ สรุปในใจของคุณก่อนว่า สิ่งที่คุณต้องการจากการประชุม หรือนัดหมาย หรือการคุยในครั้งนี้ คืออะไร? วิธีนี้จะทำให้คุณเห็นภาพความสำเร็จก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือทำ หลังการประชุม การนัดหมาย หรือการคุยโทรศัพท์

ลองใช้เวลาอีกสักนิดในการสรุป ว่าคุณได้อะไรจากการประชุม หรือการคุยครั้งนี้บ้าง วิธีนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นระหว่างการประชุม หรือการคุยของคุณ แต่ยังจะช่วยให้คุณมีประสิทธิภาพในการพูดคุยมากขึ้น และท้ายที่สุด คุณก็จะได้รับสิ่งที่คุณต้องการได้เร็วขึ้น

6. ทฤษฎี 80/20

“กฏแห่งทฤษฎีของพาเรโต้” ระบุว่า 80 เปอร์เซนต์ของความสำเร็จของคุณ มาจากกิจกรรม 20 เปอร์เซนต์ ในตลอดทั้งวันของคุณ พยายามลองนึกสิคะว่า กิจกรรมที่นับเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของคุณ มีอะไรบ้าง? พยายามค่อย ๆ แทรกกิจกรรมเหล่านั้นเข้าไปในแต่ละวันของคุณ และค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้กับมันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่ะ

7. แบ่งงานให้คนอื่นบ้าง

บางคนอาจรู้สึกอึดอัด หรือไม่ค่อยถนัดในการมอบหมายงานต่าง ๆ ที่อยู่ในมือ ให้ลูกน้องหรือคนอื่น ๆ สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งดีในระยะยาวนะคะ สิ่งที่ดีกว่าคือ การค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะแบ่งงาน โดยเริ่มจากงานที่ไม่ค่อยสำคัญมากนัก ไปให้คนอื่นได้ทำบ้าง หรือจ้างคนอื่นที่เชี่ยวชาญกว่ามาทำ ในกรณีที่สามารถทำได้ดีกว่าค่ะ

8. ทำงานที่คล้าย ๆ กันในทีเดียว

รวบรวมงานที่คล้าย ๆ กัน มาทำพร้อมกันทีเดียว เช่น หากคุณต้องโทรศัพท์หาคนหลาย ๆ คนในวันนั้น ลองหาเวลาสักครู่ แยกตัวออกมาจากทุก ๆ งาน และคุยโทรศัพท์ให้เสร็จในทีเดียวไปเลยค่ะ

9. เด็ดขาดกับเวลาในการประชุม

คุณต้องเด็ดขาดกับการประชุม โดยต้องกำหนดวาระ หัวข้อการประชุม และกำหนดเวลาของแต่ละหัวข้อ อย่าปล่อยให้ผู้เข้าร่วมประชุมลากยาว หรือนอกเรื่องมากจนเกินไป มีสถิติว่า โดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานออฟฟิศใช้เวลาอยู่ในห้องประชุมถึง 16 ชั่วโมง ในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งโดยประมาณ 4 ชั่วโมง ใน 16 ชั่วโมงที่ว่านี้ ถือเป็นเวลาที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น คุณควรเอาเวลาที่สิ้นเปลืองนั้น ไปทำงานอย่างอื่นน่าจะดีกว่า

10. เมื่อต้องโฟกัส ก็ต้องโฟกัส

กำจัดสิ่งรบกวนสมาธิ เมื่อคุณต้องการโฟกัสกับงานของคุณ ซึ่งอาจหมายถึงการไปนั่งทำงานในห้องเงียบสงบ หรือใส่หูฟังเพื่อป้องกันเสียงรบกวนในออฟฟิศ พยายามอย่าเปิดเว็บไซต์สื่อสังคมต่าง ๆ บนเบราเซอร์ของคุณไว้นะคะ นอกเสียจากเว็บเหล่านั้นจะมีความจำเป็นต่องานของคุณค่ะ

การฝึกทักษะควบคุมเวลา คือการฝึกควบคุมตนเองอย่างหนึ่ง และท้ายที่สุด คุณก็จะพบว่า เมื่อคุณฝึกควบคุมตัวเองได้ คุณจะสามารถควบคุมส่วนอื่น ๆ ในชีวิตของคุณให้เป็นไปในแบบที่คุณต้องการได้ เช่นเดียวกัน

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

เคล็ดลับรับมือหัวหน้างานไม่ได้ดั่งใจ…ด้วยความเข้าใจ

เคล็ดลับรับมือหัวหน้างานไม่ได้ดั่งใจ ด้วยความเข้าใจ

          จากผลวิจัยของ World Economic Forum ระบุว่า ความเครียดของพนักงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากสัมพันธภาพที่ไม่ดีกับหัวหน้างาน ถ้าเจอหัวหน้างานแย่ ๆ เป็นใครก็อยากลาออก… แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เจอหัวหน้าแย่ย่อมดีกว่าตกงาน… เราเลยขอนำเสนอ “เคล็ดลับรับมือกับหัวหน้างานไม่ได้ดั่งใจด้วยความเข้าใจ” เพราะความเข้าใจคือหัวใจของการอยู่ร่วมกัน! 

1. หัวหน้างานจุกจิก  

น่าปวดหัวไม่น้อย เมื่อคุณต้องทำงานกับหัวหน้างานจู้จี้ทุกเรื่องราว คมชัดทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิดไปเสียหมดในสายตาหัวหน้า

ถ้าเจอหัวหน้างานประเภทนี้ การปรับตัวเข้าหากันจะเหมาะสมที่สุด สิ่งแรกเลย คือการทำงานของเราต้องมีวินัย ทำงานให้เสร็จก่อนกำหนดส่ง เพื่อให้หัวหน้างานได้ตรวจดูรายละเอียด และมีเวลาปรับแก้งานก่อนส่งจริง อย่าทำเวอร์ชั่นเดียวแล้วส่งในวันสุดท้าย เพราะหัวหน้างานประเภทนี้ ถูกต้องไม่สำคัญเท่ากับถูกใจ การรายงานความก้าวหน้าและส่งงานก่อนกำหนด จึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับหัวหน้าราบรื่น… 

2. หัวหน้าอัตตาสูง  

ถ้าคุณเจอะเจอหัวหน้างานอีโก้สูง คิดว่าความคิดของตัวเองถูกเสมอ และมองลูกน้องที่คิดเห็นแตกต่างหรือขัดแย้ง เป็นฝ่ายตรงข้าม ทำให้คนที่ทำงานเอาหน้าประจบประแจงได้รับความไว้ใจ แต่คนทำงานอยู่เบื้องหลังจริง ๆ เหนื่อยฟรี!

การทำงานกับหัวหน้าประเภทนี้ คุณควรเสนอความคิดเห็นในบริบทที่หัวหน้างานจะได้หน้าไปด้วย หรือพูดง่าย ๆ คือ ให้มีส่วนได้หน้าจากผลงานของเรานั่นเอง!

แม้จะเป็นวิธีการที่เจ็บปวดหน่อย ที่ต้องให้คนอื่นชุบมือเปิบ แต่ก็ป่วยการที่จะเป็นปรปักษ์กับหัวหน้างานโดยไม่จำเป็น สำคัญที่ตัวคุณต้องรู้จักตนเองและควบคุมอารมณ์ เลือกปะทะในสมรภูมิที่ได้เปรียบจะดีกว่า

3. หัวหน้าไม่เป็นงาน 

ระบบอุปถัมภ์ทำให้การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสูงอยู่ที่คนของใคร มากกว่าความสามารถ ส่งผลให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ต้องพลอยลำบาก ต้องคอยแก้งานให้กับหัวหน้าที่ไม่เป็นงาน…

หัวหน้าประเภทนี้มักเข้าหาลูกน้องก็ต่อเมื่อเจอปัญหา ปล่อยให้ลูกน้องแก้ปัญหาแต่เพียงลำพัง ในขณะที่ตนเองไม่คิดหาข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทำให้การทำงานในหลาย ๆ ครั้งสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

หัวหน้างานประเภทนี้จะรับมือยากสักหน่อย เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน รวมกลุ่มกันพูดคุยกับหัวหน้า เพื่อปรับวิธีการทำงานและหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำงาน  ลดปัญหาในการทำงาน แต่ไม่ใช่การรวมกลุ่มกันประท้วง หรือตำหนิหัวหน้างาน ต้องอาศัยการบอกกล่าวพูดคุยกันด้วยเหตุผล มุ่งเน้นที่การทำงานเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นที่ตัวบุคคล เป็นการเตือนหัวหน้าในสิ่งที่เขาไม่รู้ตัว นั่นเอง!

4. หัวหน้าอ่อนประสบการณ์ 

เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่หัวหน้า ที่ไม่ได้รู้ไปเสียทุกเรื่อง เขาอาจจะย้ายมาจากแผนกอื่น หรือทำงานที่เขาไม่คุ้นเคย เราในฐานะลูกน้องที่ผ่านงานมามากกว่า ควรแลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์กับเขา

การเสนอแนะไอเดียที่เป็นประโยชน์ ย่อมทำให้หัวหน้ารู้สึกเป็นมิตรกับเรา เช่น หัวหน้างานรุ่นเก่าอาจจะไม่คุ้นกับการทำ Power Point หน้าที่ของเรา คือแชร์ความรู้กับเขา หรือใช้ความสามารถของเราเติมเต็มส่วนที่หัวหน้าขาด ไม่ดูถูกหรือทำให้เขารู้สึกอับอาย คิดอีกแง่ เราเองก็มีเรื่องมากมายที่หัวหน้ารู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ก็เป็นได้… 

5. หัวหน้าชื่นชอบตัวเลข 

บ่อยครั้งเรามักจะพบความขัดแย้งระหว่างนักการตลาดและนักบัญชี สาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากการมองต่างมุม… นักบัญชี หรือนักการเงิน ถูกสอนให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และอ้างอิงตัวเลขเป็นสำคัญ จึงมักตั้งคำถามกับนักการตลาดว่า กลยุทธ์ที่เสนอมา สร้างกำไรกี่บาท กี่เปอร์เซ็นต์                 

เป็นคำถามที่นักการตลาดไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นกี่คน ซื้อคนละกี่ชิ้น เพราะฉะนั้น หากเผชิญหน้ากับหัวหน้าที่มีพื้นฐานทางบัญชี หรือการเงิน การจะทำงานร่วมกับเขาได้นั้นต้องมีตัวเลขเสมอ

แผนการที่เสนอไป อย่างน้อยก็ต้องมีการประมาณการณ์งบประมาณ เป้าหมายทางการเงิน ยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นต้น การตัดสินใจบนพื้นฐานของตัวเลข ไม่ได้อยู่ที่ถูกหรือผิด แต่อยู่ที่สมมติฐานของใครน่าเชื่อถือมากกว่ากัน  

6. หัวหน้าสายครีเอทีฟ  

หัวหน้าผู้มีความคิดสร้างสรรค์นับเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีมากไปก็เป็นโทษได้เหมือนกัน เพราะแต่ละวันจะมีไอเดียผุดขึ้นมากมาย เดี๋ยวก็ให้ทำนั่น เดี๋ยวก็ให้ทำนี่ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กำลังทำอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ!

การรับมือกับหัวหน้าประเภทนี้ เราต้องโฟกัสความคิดของหัวหน้า ว่าหัวหน้าต้องการผลลัพธ์อะไรในขั้นตอนสุดท้าย เพราะหัวหน้าช่างครีเอทีฟมีความคิดกว้าง แต่ไม่สามารถลงลึกถึงการปฏิบัติจริง การโน้มน้าวเขาจึงต้องตั้งคำถามที่โฟกัสมาก ๆ ว่าต้องการอะไรที่เป็นรูปธรรม และชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้หากทำเช่นนั้น             

แต่คุณไม่ควรวิพากษ์หรือปฏิเสธไอเดียของเขาโดยเด็ดขาด พยายามคล้อยตามความคิดเขา และชี้ให้หัวหน้าเห็น ว่าหากทำตามนี้จะเกิดอะไรขึ้นตามมา…   

7. สุดท้ายแล้ว… หัวหน้าไม่ใช่ศัตรู

ไม่ว่าหัวหน้าจะเป็นคนเช่นไร อย่ามองว่าเขาเป็นศัตรู ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่มีความสุขในที่ทำงาน… World Economic Forum แนะนำว่า ถ้าหัวหน้าอาการหนัก คุณไม่ควรเผชิญหน้ากับเขาโดยตรง ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งจะยิ่งร้าวลึก และก็อย่าแกล้งทำเป็นหูทวนลม หรือโฟกัสที่งานโดยไม่เห็นหัวหน้าอยู่ในสายตา เพราะหัวหน้าจะคิดว่าคุณไม่ให้ความเคารพ และเขาก็จะไม่เคารพคุณเช่นกัน      

นอกจากนั้น การแกล้งป่วยแกล้งลาก็ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน เพราะนั่นคือการหนีปัญหา การลาป่วยในวันที่หัวหน้าต้องการคุณ จะยิ่งสร้างความบาดหมางได้… และสิ่งสุดท้ายที่ไม่ควรทำเด็ดขาด คือการประจานหัวหน้าให้คนภายนอกรับรู้… “ความในไม่ควรนำออก ความนอกก็ไม่ควรนำเข้า” ค่ะ 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

วิธีรับมือการทำงานหลายอย่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

thebestperformance
thebestperformance

วิธีรับมือการทำงานหลายอย่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          การทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเรา เป้าหมายที่ต้องการย่อมเป็นการทำสิ่งเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมที่สุด แต่หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็คือ  เรามีอะไรหลายอย่างให้ทำมากเกินไปในช่วงเวลาอันจำกัด และเมื่อต้องพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมๆ กันเข้าไปแล้ว ก็จะพบว่าประสิทธิภาพของการทำงานเหล่านั้นลดลงอย่างน่าใจหาย

การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน มีแนวโน้มที่จะพบกับความผิดพลาดจากการทำงานได้มากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเราจะมีความตั้งใจในการทำงานที่ลดลง มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานน้อยลงกว่าเดิม นั่นทำให้เกิดผลลบต่อการทำงานของเราขึ้นได้

สาเหตุที่ทำให้การทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่าสมองจะมีระบบการประมวลผลในการทำงาน หากเราทำงานที่หลากหลายพร้อมกันสมองจะต้องแบ่งพลังในการประมวลผล โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้สมาธิทุ่มเทในการทำในระดับมากเท่าๆ กัน

สมองแบ่งการทำงานของตามกิจกรรมที่ทำในขณะนั้นๆ กล่าวคือ ขณะที่เราฟัง เรามองเห็นภาพ มีการเคลื่อนไหว หรือมีการใช้ภาษา  จะใช้สมองคนละส่วนกัน

ดังนั้นหากเราทำกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างที่ใช้พื้นที่สมองเดียวกัน เช่น การฟังเพื่อนเล่าเรื่องหนุ่มคนใหม่ให้ฟังพร้อมๆ กับฟังดาราคนโปรดให้สัมภาษณ์ทางรายการวิทยุไปด้วย  ก็จะพบว่าเราจับใจความทั้งสองเรื่องได้ไม่ค่อยดีนักเพราะเป็นงานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน หรือหากเราอ่านนิยายไปด้วยและคุยโทรศัพท์กับแฟนไปด้วย ก็จะพบว่าเราเข้าใจนิยายไม่ได้เต็มที่ นั่นเป็นเพราะว่าทำงานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคุณลองนอนยกขาขวาขึ้นสูงพร้อมกับสลับเอาแขนซ้ายลงมาดูค่ะ จะพบว่าการเคลื่อนไหวจะเป็นไปแบบงงๆ ก็เป็นเพราะเราทำงานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันนั่นเองนะคะ

ข่าวดีก็คือ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ โดยลองทำตามวิธีแนะนำของเราในวันนี้กันนะคะ

หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้ทักษะเหมือนกันพร้อมๆ กัน

เช่น หากคุณอยู่ในขณะขับรถไม่ควรพิมพ์แชทกับเพื่อนไปด้วยเนื่องจากเป็นการทำงานด้านการเคลื่อนไหวเหมือนกัน แต่สามารถฟังเพลงขณะขับรถไปด้วยได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเป็นการทำงานด้านการฟังและการเคลื่อนไหว

หากคุณอ่านหนังสือหรือทำงานแล้วอยากฟังเพลง

ควรเลือกเพลงบรรเลงแทนเพลงที่มีเนื้อร้อง หรือเลือกฟังเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาที่เราแปลไม่ออกแทน เนื่องจากสมองจะได้ไม่ต้องใช้การประมวลผลทางด้านภาษา ซึ่งจะดีกับการทำงานของคุณมากกว่า

หากคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้พักสักครู่ก่อนเริ่มงานใหม่

วิธีนี้จะช่วยให้การเริ่มงานใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือให้คั่นกลางด้วยกิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การรดน้ำต้นไม้ การเก็บเสื้อผ้า เพื่อให้สมองคุณได้พักหลังจากที่ผ่านการใช้ความคิดมากๆ

รู้จักจัดลำดับความสำคัญงานจึงจะสำเร็จ 

สิ่งใดๆ ที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 4 ด้านได้แก่ ด้านการงาน ด้านความสัมพันธ์ งานอดิเรกการพักผ่อน และสุดท้ายคือเรื่องของสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เราควรกำหนดเป้าหมายในชีวิตของเราให้ได้ก่อนว่าเป็นด้านใด เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วจึงจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราทำว่า สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตของเราหรือไม่

โดยให้เราแบ่งกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้ คือ งานด่วนและทำให้ชีวิตดีขึ้น, งานด่วนแต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น, งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ไม่รีบด่วน และงานที่ไม่ด่วนและไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

เมื่อมีกิจกรรมใดๆ ก็ตามเข้ามาในชีวิตเราให้นำกิจกรรมเหล่านั้นเข้ามาใส่ในหมวดหมู่ 4 ประเภทข้างต้น

หากเรามีงานหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิตพร้อมกัน ก็ให้เลือกทำงานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยทำงานด่วนแต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น และงานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ไม่ด่วน ส่วนจะทำอย่างไรกับงานประเภทสุดท้ายน่ะเหรอคะ คำตอบก็คือโยนมันทิ้งไปได้เลยค่ะ ตลอดกาล!

เห็นไหมคะว่าเพียงเท่านี้เราก็จะสามารถจัดการกับงานต่างๆ ในชีวิตของเรา และรับมือไหวไม่ว่าจะมีงานเข้ามาพร้อมกันหลายๆ งานก็ตามทีค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

3 วิธีต่อยอดงานประจำให้ทำเงิน

3 วิธีต่อยอดงานประจำให้ทำเงิน

          ในยุคปัจจุบันกระแสการเพิ่มรายได้ด้วยการ “ลาออกจากงานประจำ” หรือ “ทำรายได้จากงานไม่ประจำกันดีกว่า” เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยม

แต่หากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ หรือยังไม่พร้อมที่จะลาออกจากงานประจำแล้วล่ะก็ อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ วันนี้เรามีวิธีในการทำให้รายได้จากงานประจำของเราเพิ่มพูนขึ้น จนคุณอาจเลิกล้มความคิดที่จะลาออกอีกต่อไป

เป็นไปได้หรือที่จะทำเงินเพิ่มจากงานประจำ?

เงินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดก็จริง แต่ว่าโอกาสในการสร้างเงินมีอยู่ในทุกอาชีพ แม้แต่อาชีพที่มีรายได้ไม่มากนักก็ยังมีกลุ่มผู้ที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำขึ้นมาได้ ดังนั้นการสร้างเงินเพิ่มจากงานที่คุณทำอยู่เป็นประจำจนมีความชำนาญแล้วย่อมเป็นไปได้

คำแนะนำ 3 ข้อต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณสร้างรายได้จากงานประจำที่คุณทำอยู่มากขึ้น จนคุณอาจจะคาดไม่ถึงเลยก็ได้ค่ะ

วิธีที่ 1 ค้นหาPassion ของคุณให้พบ

มองหา “สิ่งที่คุณหลงใหลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” หรือที่เราเรียกว่า “Passion” ของคุณให้พบ วิธีการก็คือคุณไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะบทบาทหน้าที่หลักในอาชีพของคุณ ให้ค้นหาว่าคุณยังมีสิ่งใดที่ชอบ มีความสุขที่ได้ทำ ได้แบ่งปัน หรือได้พูดถึงสิ่งนั้น เช่น หากคุณเป็นคุณครู นอกจากการสอนหนังสือแล้วคุณอาจจะหลงใหลในการถ่ายภาพ หากคุณเป็นคุณหมอคุณอาจรักในการเรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือคุณอาจชอบวาดภาพแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานในสาขาอาชีพนี้เลยก็ได้

เคล็ดลับ ในขั้นตอนการค้นหายังไม่ต้องกังวล หรือคิดไปล่วงหน้าว่าจะนำ Passion ที่เรามีไปทำอะไรได้ต่อไป

 

วิธีที่ 2 Skill จากงานประจำช่วยทำเงิน

ในขั้นตอนที่สองนี้ ให้คุณวิเคราะห์สิ่งที่คุณทำอยู่เสมอในงานประจำหรือในชีวิตประจำวันของคุณ ว่าใช้ทักษะอะไรบ้าง ลองสังเกตว่าทักษะใดที่คุณมีความเชี่ยวชาญ สามารถทำได้เป็นอย่างดี ทำได้อย่างลื่นไหลเป็นอัตโนมัติ ตัวอย่างของทักษะที่คุณควรลองค้นหาดู ก็คือ ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และทักษะด้านการเขียน เป็นต้นค่ะ

เคล็ดลับ ทุกงานประจำที่เรียบง่าย และอาจขาดความตื่นเต้นท้าทาย มักจะมีทักษะสำคัญหลายอย่างซ่อนอยู่

 

วิธีที่ 3 Connection ส่วนสำคัญที่สร้างได้

เครือข่าย หรือ Connection เป็นส่วนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้อีกสองข้อข้างต้น ทั้งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่ทำงานประจำก็ตาม ทั้งนี้เครือข่ายที่กล่าวถึงมีส่วนสำคัญทั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ และเครือข่ายแบบออฟไลน์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ social network เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันรวมถึงในการทำงานของเรา ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้อย่างไม่จำกัด

ทำไม “connection” จึงสำคัญ? 

คำตอบของคำถามนี้ก็คือ มันเป็นส่วนที่เราจะนำ “Passion” และ “Skill” ที่เราค้นหามาใช้ต่อยอดและเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง เช่น หากเรามีความหลงใหลด้านเทคโนโลยี และมีทักษะการใช้โปรแกรม excel เป็นอย่างดีเราก็สามารถนำทักษะด้านนั้นมาเผยแพร่โดยการเปิดกลุ่มสอนแบบเจอหน้า หรือผ่านทางสื่อออนไลน์เพื่อทำเงินให้เราได้นั่นเองค่ะ

การประสานวิธีทั้ง 3 เข้าด้วยกันเป็นกระบวนการที่จะทำให้การหาเงินเพิ่มจากงานประจำเป็นไปได้ และเป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าหมาย เหมือนที่มีผู้เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าหาก“Passion” คือเมล็ดพันธุ์“Skill”ก็คือการรดน้ำพรวนดินให้เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโตงอกงาม และ“connection” ก็เปรียบเสมือนกลุ่มคนที่เดินอยู่ในตลาดค้าขายพืชที่เราปลูกนั่นเอง

เมล็ดพันธุ์ของคุณคืออะไร ค้นหาให้พบโดยเร็วที่สุดนะคะ อย่าปล่อยให้โอกาสที่คุณจะร่ำรวยจากงานประจำของคุณหลุดลอยไปได้ค่ะ!

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

โฟกัสกับงานนานๆ ไม่ได้ทำอย่างไรดี?

โฟกัสกับงานนานๆ ไม่ได้ทำอย่างไรดี?

          การทำงานใดๆ ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการมีสมาธิหรือ “การโฟกัส” กับงาน และยิ่งสามารถทำงานได้โดยปราศจากสิ่งรบกวนจนเกิด “ภาวะลื่นไหล” ในการทำงานได้แล้วล่ะก็ เราจะพบกับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

แต่ความเป็นจริงในชีวิตการทำงาน บ่อยครั้งที่เราพบว่าได้สูญเสียเวลาในแต่ละวันไปโดยที่งานไม่มีความคืบหน้า การทำตัวยุ่งอยู่ตลอดทั้งวัน หรือการทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำกลับไม่ได้ทำให้ชิ้นงานของคุณออกมาดีอย่างที่ต้องการ

นั่นเป็นเพราะเราไม่สามารถโฟกัสกับงานที่ทำได้นั่นเอง

สิ่งเหล่านี้เรายืนยันได้จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ในปี 2008 ที่พบว่าการนั่งอยู่โต๊ะเป็นเวลานานๆ จะลดประสิทธิภาพของการทำงานลง แต่หากมีการพักเบรกช่วงสั้นๆ สลับไปกับการทำงานจะช่วยให้เกิดสมาธิและเพิ่มพลังงานมากขึ้น

สอดคล้องกันกับการวิจัยด้านสุขภาพหลายชิ้นที่สรุปออกมาเหมือนกันว่า การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และมะเร็ง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีนักสำหรับผู้ที่ติดกับดัก “การบ้างาน” และไม่ใส่ใจต่อการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย

แม้ว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างที่เราเคยทราบมาบ้างแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งในสภาวะที่มีงานเร่งด่วนจนล้นมือ  แต่ข่าวดีก็คือ Dr. ElinEkblom-Bakนักวิจัยชาวสวีเดนได้ค้นพบในปี 2010 ว่า เราสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเหล่านั้นได้ด้วย“การพักเบรกช่วงสั้นๆ” ในขณะทำงาน

การพักเบรกช่วงสั้นๆ นี้ เป็นหลักการที่สอดคล้องกับเทคนิคที่มีชื่อว่า “โพโมโดโร เทคนิค” ซึ่งคิดค้นขึ้นมาในปี 1980 โดย Francesco Cirilloและถูกตีพิมพ์ในหนังสือขายดีที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ และยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

เทคนิคชื่อแปลกนี้ ได้แนวคิดมาจาก “โพโมโดโร” ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่ามะเขือเทศ เนื่องจากขณะที่ Cirilloเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ใช้เทคนิคการบริหารเวลาในห้องครัว ด้วยตัวจับเวลารูปมะเขือเทศนั่นเอง

“โพโมโดโร เทคนิค”มีหลักการก็คือให้คุณแบ่งการทำงานออกเป็นช่วงละ 25 นาที คั่นด้วยการพักเบรกช่วงสั้นๆ ก่อนจะเริ่มงานช่วงต่อไป และแนะนำให้คุณทำงานจนครบ 4 ช่วง จากนั้นจึงพักยาวเพื่อเติมพลังให้แก่ร่างกาย

มาเรียนรู้5 ขั้นตอนของเทคนิคโพโมโดโร

1.ตรวจสอบตารางเวลาของคุณ

ก่อนที่จะใช้เทคนิคนี้ให้คุณตรวจสอบตารางเวลาของตัวคุณเอง ว่าจะสามารถนำเทคนิคโพโมโดโร ไปใช้ในช่วงเวลาไหนจึงจะเหมาะสม ซึ่งนั้นแปลว่าคุณต้องรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรช่วงไหนบ้าง และมีเวลาที่เพียงพอในช่วงใดที่จะนำเทคนิคนี้มาใช้ได้สำเร็จ

เนื่องจากนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของคนเรา จะโฟกัสสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลายาวนาน 90 – 120 นาที ก่อนที่ร่างกายจะต้องการการพักผ่อน ดังนั้นเทคนิคนี้จึงแนะนำให้คุณทำงานช่วงละ 25 นาทีต่อด้วยการพัก 5 นาที ติดต่อกันเพียง 4 ช่วง แล้วให้พักยาวเป็นเวลา 20 – 30 นาที จึงค่อยกลับมาเข้าสู่ช่วงทำงานอีกครั้ง

2.จัดสภาวะการทำงานให้ปราศจากสิ่งรบกวน

เตรียมอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการทำงานให้ครบพร้อม วางไว้ใกล้ตัวให้สามารถหยิบฉวยได้ง่าย ทั้งปากกา กระดาษโน้ต และอุปกรณ์จับเวลาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำเทคนิคโพโมโดโร

อุปกรณ์จับเวลาไม่ได้จำกัดเฉพาะนาฬิกาเท่านั้น คุณสามารถใช้ได้ตั้งแต่ นาฬิกาจับเวลาสำหรับการทำอาหารเช่นเดียวกับเจ้าของเทคนิค หรืออาจจะใช้การปลุกจากนาฬิกาปลุกธรรมดาบนสมาร์ทโฟน รวมทั้งสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคนิคโพโมโดโร ซึ่งมีบริการทั้งบนระบบ Android และ IOS

เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ถูกเตรียมไว้พร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มใช้เทคนิคนี้ได้แล้ว จำเอาไว้ว่าเมื่อเริ่มต้นจับเวลาจะต้องสนใจเฉพาะงานที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าเท่านั้น ปิดประตูห้องทำงาน ปิดเสียงแจ้งเตือนต่างๆ ของโทรศัพท์ บอกกล่าวคนในครอบครัวให้รู้ล่วงหน้าด้วยว่าคุณกำลังโฟกัสกับงาน

3.ปล่อยช่วงเวลาทำงานให้ลื่นไหล

ขณะที่เข้าสู่ช่วง 25 นาทีของการใช้เทคนิคนี้ ให้ปล่อยการทำงานของคุณให้ลื่นไหล มุ่งความสนใจแต่กับเฉพาะงานที่เราตั้งใจจะทำให้เสร็จ หากมีไอเดียของงานชิ้นอื่นผุดขึ้นมาในช่วงนั้นอย่าเพิ่งให้ความสนใจกับมัน จดบันทึกเอาไว้แล้วค่อยกลับมาดูอย่างละเอียดทีหลังซึ่งหากมันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ แล้วล่ะก็ คุณยังสามารถใส่มันเข้าไปในตารางเวลาช่วงอื่นหลังจากทำงานตรงหน้าให้สำเร็จแล้ว

เทคนิคนี้จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากคุณทำการจดบันทึกเอาไว้ว่าได้ทำงานสำเร็จไปแล้วกี่ชิ้น และนำข้อมูลระยะเวลาและช่วงเวลาที่ใช้ทำงานมาช่วยวางแผนในการทำงานชิ้นต่อๆ ไป

4.ใช้เวลาพักให้คุ้มค่า

เมื่อถึงช่วงเวลาพักเบรก หลังจากผ่านช่วง 25 นาทีมาแล้ว ให้คุณทำการหยุดทำงานทันทีแม้ว่าคุณจะยัง “ลื่นไหล” ไปกับสิ่งที่ตรงหน้าก็ตาม

สิ่งนี้ค่อนข้างจะขัดกับความเชื่อของเราที่ว่า ควรปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าสมองจะอ่อนล้าหรือรับไม่ไหว แต่ท่านผู้คิดค้นเทคนิคนี้ได้กล่าวว่า การพักเบรก 5 นาที จะช่วยให้เกิดการชาร์ทพลังกลับมาใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วง 25 นาทีถัดไป เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการพลังงานที่เหมาะสม

ช่วงเวลาที่ใช้ในการพัก ให้คุณอยู่ให้ห่างจากโต๊ะทำงาน เดินเล่นไปรอบๆ ยืดเส้นยืดสายให้หายเมื่อย ทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้พลังงานสมองมากเกินไป เช่น การชงกาแฟ ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ การพักด้วยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายของคุณ

และที่สำคัญอีกสิ่งก็คือ หลีกเลี่ยงการคิดถึงเรื่องงานที่เพิ่งวางเอาไว้ และ ไม่ควรใช้เวลาพักไปกับการท่องโลกโซเชียล หรือเช็คอีเมลต่างๆ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการสายตาเสียจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือนานจนเกินไป

5.เข้าช่วงพักยาวเมื่อครบ 4 ช่วงเวลา

ตั้งอกตั้งใจทำงานให้ครบ 4 ช่วงเวลา และเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง ให้เคารพหลักเกณฑ์ของเทคนิคนี้ด้วยการพักยาว 20 – 30 นาที แม้ว่าคุณอาจจะยังไม่อยากพักมากนักก็ตาม

ใช้เวลาพักยาวไปกับการรับประทานอาหารมื้อหลัก กินของว่าง อ่านหนังสือ เล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่อยู่ห่างจากโต๊ะทำงานของคุณเอาไว้ เพื่อผ่อนคลายจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน

ฟังความต้องการของร่างกายคุณเป็นสำคัญ

แม้ว่าเทคนิคนี้จะแนะนำให้ใช้เวลา 90 -120 นาทีก่อนเข้าสู่ช่วงพักยาว แต่หากร่างกายของคุณเหนื่อยล้าเกินไป หรือเริ่มรู้สึกว่า “หลุดโฟกัส” บ่อยครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนทำให้ครบช่วงเวลาแต่อย่างใด ให้คำนึงด้วยว่าคุณอาจใช้พลังงานสมองมาช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะทำเทคนิคนี้ก็ได้

ค้นหาระยะเวลา รวมถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับตัวคุณ

สำหรับบางคน ระยะ 20 นาที พัก 5 นาที อาจทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่าก็ได้ และแต่ละคนจะมีสมาธิในการทำงานในช่วงเวลาต่างๆ ได้ดีแตกต่างกัน บางคนเป็นช่วงเช้า บางคนเป็นช่วงเวลาหัวค่ำ หรือกลางดึก ให้คุณค้นหาสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง

ข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้ของเทคนิคโพโมโดโร

ข้อดีก็คือ การหั่นเวลาให้สั้นลงจะช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงานให้สูงขึ้น และยังช่วยลดสิ่งรบกวนจากการทำงานให้น้อยลง ช่วยแก้นิสัยพลัดวันประกันพรุ่งให้ดีขึ้น เพราะเราจะรู้สึกว่ามีช่วงเวลาที่ชัดเจนเป็นตัวกำหนดขอบเขตในการทำงานแต่ละชิ้นสิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานของเราประสบความสำเร็จได้ง่ายดายและรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้การพักเบรกช่วงสั้นๆ จะทำให้สมองปรับตัวรับข้อมูลได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการคิดไอเดียใหม่ๆ ได้มากขึ้น

เจ้าตำรับของเทคนิคนี้ยังระบุด้วยว่า โพโมโดโรสามารถใช้กับผู้เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามวิธีโพโมโดโร ไม่ได้เหมาะสมกับทุกๆ คน สำหรับบางท่านแล้วไม่ชอบเอาเสียเลยกับการถูกขัดจังหวะในช่วงที่กำลังทำงานอย่างลื่นไหล นอกจากนี้หากคุณต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานหลายคนในห้องเดียวกัน การทำงานให้ยาว 25 นาทีโดยไม่ถูกขัดจังหวะก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้สรุปได้ว่า “โพโมโดโร” เป็นเทคนิคที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องลงทุนสูง เพียงแค่คุณมีตัวจับเวลาและความเชื่อมั่นว่า “จะต้องทำสำเร็จ” เพียงสองสิ่งเท่านั้น คุณก็จะสามารถโฟกัสกับงานของคุณได้นานขึ้นอย่างน่าทึ่ง อย่าเพิ่งเชื่อนะคะจนกว่าจะได้ทดลองด้วยตัวคุณเองค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining  

3 วิธีกำจัดความรู้สึกลบในงานขาย

3 วิธีกำจัดความรู้สึกลบในงานขาย

          การซื้อสินค้าจากแหล่งซื้อขาย อย่างห้างสรรพสินค้าย่อมมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักๆ คือ ลูกค้าและพนักงานขายสินค้า ซึ่งหากคุณเป็นลูกค้าแล้วล่ะก็ ในสถานการณ์นี้คุณย่อมเป็นผู้ที่ “ถูกต้องเสมอ” อยู่แล้ว ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม และคุณจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งการโค้งคำนับขณะเข้ามาในห้างร้าน การให้ข้อมูลสินค้า และข้อมูลส่งเสริมการขายต่างๆ

แต่หากคุณเป็นฝ่ายที่ต้องเป็น “พนักงานขาย” ล่ะ คุณจะพบว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปทันที คุณจะเป็นฝ่ายต้องรับกับลูกค้ามากหน้าหลายตา ทั้งลูกค้าขาประจำและลูกค้าใหม่ เดินเข้ามาพร้อมกับกลุ่มเพื่อนหรือเดินเข้ามาตามลำพังคนเดียว ทั้งครอบครัวที่เข้ามาพร้อมหน้าแบบพ่อแม่ลูก หรืออาจมีแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่มาพร้อมรถเข็น

เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มีตั้งแต่ลูกค้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสกับพนักงานขาย ไปจนถึงลูกค้าที่อารมณ์เสียตั้งแต่ก่อนเข้ามาในร้านค้า เร่งรีบเพราะต้องรีบใช้ของที่มาซื้อภายใน 5 นาทีนี้ หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่เฉยเมย ไม่แม้กระทั่งสบตาหรือยิ้มรับการยกมือไหว้ของพนักงานของร้านนั้น

นี่เป็นสิ่งที่เกิดเป็นปกติ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความรู้สึกของลูกค้าและความรู้สึกของพนักงานขายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ความรู้สึกของลูกค้าสำคัญอย่างไร

เมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและพนักงานขายเกิดขึ้น อาจจะเกิดการซื้อขายขึ้นมาหรือไม่ก็ได้ หากความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกสบายใจ พึงพอใจ และประทับใจ  ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าขึ้น หรือหากลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อในขณะนั้น การกลับมาซื้อสินค้าในวันหลัง หรือการกลับมาซื้อซ้ำย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก ดังนั้นความรู้สึกของลูกค้าจึงมีความสำคัญมากทีเดียว

ความรู้สึกของพนักงานขายสำคัญอย่างไร

น้อยครั้งมากที่เราจะค้นหาและใส่ใจความรู้สึกของพนักงานขาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกของพนักงานขายจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แท้ที่จริงแล้วเรื่องนี้เรียกได้ว่าสำคัญมากสำหรับการธุรกิจ เพราะหากพนักงานขายเกิดความรู้สึกทางลบขึ้น จะทำให้การให้บริการเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น และทำให้ความสุขในการทำงานของพนักงานขายลดลงอีกด้วยค่ะ

ความรู้สึกด้านลบที่ควรกำจัดทิ้งไป 3 ประการ

1.ความรู้สึกสงสารตัวเอง

เมื่อใดที่เราต้อง “ทำดี กับคนที่ไม่ได้ดีตอบ” หรือต้องยิ้มแย้มต้อนรับคนที่ไม่แม้แต่จะสบตาเราขึ้นมาละก็ ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นมาก็คือ “รู้สึกสงสารตัวเอง” ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ เนื่องจากเราต้องสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง จนบางครั้งอยากจะเลิกทำหน้าที่พนักงานขายเสียให้รู้แล้วรู้รอด

ภาพพจน์แห่งความไร้ค่า นอกจากจะเกิดจากความรู้สึกที่พนักงานขายได้รับจากลูกค้าแล้ว ยังเกิดจากภาพพจน์ที่แสดงออกมาทางสื่อต่างๆ ที่มักแสดงให้เห็นว่างานขายหรืองานบริการ เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ต้องเป็นเบี้ยล่างให้กับลูกค้า

วิธีกำจัดความรู้สึกด้านลบ ให้เราลองหัดมองว่า แท้ที่จริงแล้วการที่ผู้อื่นจะมองเห็นเราเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้ทำให้คุณค่าของตัวเราเองลดลงแต่อย่างใดนะคะ คุณค่าของตัวเราเองอยู่ที่ “ความคิดของตัวเราที่มองเห็นตัวเอง” ต่างหากค่ะ

2.ความรู้สึกโกรธลูกค้า

การให้บริการแก่ลูกค้า พนักงานขายมักให้บริการอย่างเต็มอกเต็มใจ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความคาดหวังว่าลูกค้าย่อมต้องรู้สึกพึงพอใจต่อการให้บริการ และซื้อสินค้าหรือบริการกลับไป

แต่ความเป็นจริงแล้ว การที่ลูกค้าซื้อสินค้าหรือไม่ซื้อนั้นอยู่ที่ความสมัครใจของลูกค้าเอง เราไม่สามารถไปบังคับใจลูกค้าได้ เหตุผลในการซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าและบริการมีเหตุผลหลายอย่าง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเต็มที่ในการบริการของเราเพียงอย่างเดียว

และนอกจากนั้นลูกค้าบางประเภท ยังมีพฤติกรรมแง่ลบต่อพนักงานขาย ทั้งที่เกิดจากการไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดจากบุคลิกลักษณะส่วนตัวของลูกค้าเอง เช่น ลูกค้าที่ไม่ยิ้มแย้ม พูดจาห้วน หรือเปิดใจรับฟังสิ่งที่เรานำเสนอ ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกของลูกค้าให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้

วิธีกำจัดความรู้สึกด้านลบ สิ่งที่พนักงานขายทำได้ในกรณีนี้ก็คือ เข้าใจและยอมรับว่า บุคคลแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกหรือความคิดของใครได้ ยกเว้นแต่ว่าเขาจะต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง เช่นเดียวกันกับ “ความรู้สึกโกรธ” ของเรา เราเองก็เป็นผู้ที่ควบคุมได้

มองเห็นลูกค้าเป็นกัลยาณมิตรคนหนึ่ง มีความปรารถนาดีอยากให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ดี ให้ในสิ่งที่เขาต้องการไม่ว่าจะเป็นของแถม หรือส่วนลด หากเราสามารถให้ได้ เพียงเท่านี้เราก็จะเปลี่ยนอารมณ์โกรธให้เบาบางลงได้ค่ะ

3.ความรู้สึกอิจฉาลูกค้า

 การปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน พนักงานขายจะต้องพบกับลูกค้าที่มี “อำนาจเหนือกว่า” ในการตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าและบริการหรือไม่ ซึ่งพนักงานขายได้แต่ยอมรับผลของการตัดสินใจนั้น ทำให้เกิดความรู้สึก “อิจฉา” ก่อตัวขึ้นมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้

ผลของความรู้สึกอิจฉา ทำให้พนักงานขายแสดงพฤติกรรมเชิงลบออกมา ทั้งการนินทาลูกค้าหลับหลัง การแสดงออกทางสีหน้าที่ไม่สบอารมณ์อย่างปิดไม่มิด พฤติกรรมเหล่านี้หากลูกค้าจับได้อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลาย กลายเป็นต่างฝ่ายต่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งนั้นไม่เป็นผลดีต่อเราเลยนะคะ

วิธีกำจัดความรู้สึกด้านลบให้เปลี่ยนความรู้สึกอิจฉา หรือหมั่นไส้ต่อลูกค้า มาเป็นการใส่ใจต่อความต้องการของลูกค้าอย่างจริงใจแทน ว่าลูกค้าต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำอะไร และตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ตรงจุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมิตรภาพระหว่างเราและลูกค้า และเปลี่ยนลูกค้าเป็นมิตรแทนที่จะเป็นศัตรูต่อกัน

ในการทำหน้าที่พนักงานขายหรือให้บริการ หมั่นสังเกตความรู้สึกของตัวเองว่ามี 3 สิ่งนี้ผุดขึ้นมาบ้างหรือไม่ บ่อยครั้งเพียงใด และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นความรู้สึกแง่บวก ซึ่งจะทำให้เรามีความสุขกับการขาย และทำยอดขายได้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายดายยิ่งขึ้นค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรามีความยินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save