ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่

ปัจจุบัน “ปัญหาเรื่องคน” กลายเป็นปัญหาใหญ่ในองค์กร

เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ระบบสังคมมีความซับซ้อน ผู้คนนั้นก็มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ทำให้การฟังของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา

ต่อไปนี้เป็น 5 ปัญหายอดฮิตในการทำงาน คุณเจอบ้างหรือเปล่า ?

  1. ความเร่งรีบในการสื่อสาร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดบ่อย
  2. อยากจะคุยด้วย แต่อีกฝ่ายไม่ค่อยพูด ไม่ยอมเสนอความเห็น
  3. ลูกน้องพยักหน้าเข้าใจ แต่พองานออกมา ไม่เหมือนที่สั่งไป
  4. วิธีการสื่อสารในแบบเราคนนึงรับได้ แต่กับบางคนรับไม่ได้ เอาใจไม่ถูก
  5. ปัญหาการลาออกส่วนใหญ่ เป็นเพราะมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน

เพราะเหตุใด จึงเกิดปัญหาเหล่านี้ ?

เราจะพบว่ามีผู้บริหารอยู่ 2 ประเภทในองค์กร ที่ใช้หลักการบริหารที่ต่างกัน

การบริหาร ด้วย “ความกลัว”

โดยมากมักจะเกิดกับผู้บริหารแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Style) ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต เขาจึงคิดว่าลูกน้องซึ่งเด็กกว่าและอ่อนประสบการณ์กว่า ควรจะเป็นฝ่ายเชื่อฟังและทำตาม โดยที่ไม่รู้ตัว เขามักจะใช้หลัก “6 บ.” ในการบริหารงาน นั่นคือ

  • บี้ ชอบสั่งการแบบขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ
  • ใบ้ ไม่ค่อยสอนงาน เห็นอะไรดีไม่เคยชม
  • เบลม ชอบตำหนิต่อว่า เห็นอะไรก็ผิดไปหมด
  • โบ้ย หากถ้าตัวเองทำผิด หรือตัดสินใจพลาด ก็อ้างว่าเป็นเพราะคนอื่น
  • เบิ้ล ถ้าลูกน้องทำผิดมา จะถูกซ้ำเติม หรือลงโทษทันที
  • บล็อก เขาไม่อยากเห็นใครทำตัวโดดเด่น และไม่ค่อยฟังความเห็นใคร

ผลลัพธ์จากการบริหาร ด้วยความกลัว

พนักงานจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะซุกไว้ด้วยกลัวความผิด อาจทำให้ปัญหาเล็กน้อยก็ลุกลามไปจนยากที่จะแก้ไข คนที่ไม่อยากถูกตำหนิ ก็คอยระวังตัวแจ จนไม่กล้าทำอะไร เห็นสิ่งที่ไม่เวิร์คก็จะเฉยชา องค์กรจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่มีความผูกพันกันในองค์กร ใครทนได้ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป

เพื่อหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรม 6 บ.” ซึ่งจะเป็นวงจรขาลงของการทำงานและส่งให้เกิดผลเสียมากมาย  จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรที่จะเรียนรู้ทักษะการสื่อสารของผู้บริหารยุคใหม่ และนำไปปรับใช้ในการทำงาน

การสื่อสารด้วย “ความรัก”

ผู้บริหารยุคใหม่ จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องคน ประสานงานให้เกิดการสื่อสารที่ลื่นไหลในองค์กรได้ “ความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “เจ้านาย หรือ Boss” ที่เอาแต่สั่งการและตำหนิ ไปเป็น “ผู้หล่อเลี้ยง หรือ Mentor” ที่จะคอยรับฟังและให้การสนับสนุน

ทักษะการสื่อสาร ของผู้บริหารยุคใหม่ ได้แก่

1.การฟังเสียงภายในตนเอง (Inner Listening)

การที่จะรักผู้อื่นได้ ต้องเริ่มด้วยการรู้จัก เข้าใจและยอมรับในตนเองให้ได้ก่อน ดังนั้น ทักษะการฟังเสียงภายในตนเอง จะทำให้ผู้นำคนนั้น เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างถ่องแท้ แล้วจะนำไปสู่ความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นจะทำให้เขาสามารถมอบความรักและความเห็นอกเห็นใจ ให้กับผู้คนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

2.การฟังเพื่อผลลัพธ์ (Active Listening)

การฟังเพื่อผลลัพธ์ เป็นทักษะที่ช่วยประหยัดเวลาในการฟังได้ อีกทั้งมีประสิทธิภาพอย่างสูง สามารถเก็บประเด็นได้ครบ และช่วยให้อีกฝ่ายได้แก้ปัญหาของตนเองด้วย

ซึ่งการจะฟังแบบนี้ต้องมีทักษะในการตั้งคำถามต่อยอด การสะท้อนอารมณ์ การทวนความ และการจับประเด็น เพื่อให้ผู้พูดรู้ว่า ผู้บริหารกำลังใส่ใจและรับฟัง อีกทั้งช่วยสนับสนุนให้เค้าแก้ปัญหาและหาทางออกด้วยตนเอง โดยไม่ชี้นำและสั่งการ

3.การสื่อสารด้วยใจกรุณา (Compassionate Communication)

ผู้บริหารยุค AEC ควรมีความมั่นคงในใจและเปิดเผย จะสามารถพูดจากความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริง ออกมาจากใจอย่างตรงๆซื่อๆได้ โดยไม่ปิดบัง ไม่ต้องใช้กลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อมหว่านล้อมใดๆ การพูดแบบปากไม่ตรงกับใจ การพูดเป็นปริศนาที่ต้องทิ้งให้ผู้ฟังตีความเอง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียเวลา

ผู้นำที่ดี มีสติตระหนักรู้ว่า คำพูดที่ตรงไปตรงมาของเขา จะไม่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เขาจะเลือกใช้คำพูดที่รับผิดชอบในความรู้สึกของตัวเองและไม่กล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย

แทนที่จะพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “คุณเอ ทำไมงานที่สั่งไปทำไม่เสร็จ รู้ไหมว่าทำงานล่าช้าแบบนี้บริษัทเสียหาย คุณจะว่ายังไง”

ผู้นำจะเลือกใช้คำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกและความต้องการแทน “คุณเอ ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกเครียด เพราะงานที่เราต้องส่งลูกค้าไม่เสร็จตามกำหนด ผมต้องการรักษาเครดิตของบริษัท เราควรทำยังไงดี มีอะไรให้ผมช่วยเหลือบ้างมั้ย”

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วย “ความรัก”

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการทำงาน เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานไปด้วยนานๆ อยากเห็นองค์กรเจริญเติบโต มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คอยระวังความผิดพลาดและจุดบกพร่องรั่วไหล มีความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งดีๆให้แก่องค์กรโดยไม่ต้องสั่ง และจะสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความรัก”แบบนี้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป

ผู้นำในยุคดิจิตอล นอกจากจะมีทักษะในด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว จึงต้องมีทักษะในด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศ

โดยเฉพาะ “ทักษะการสื่อสารและการฟัง” (Communication & Listening Skill) ถือเป็นทักษะหลักที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องให้ความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงจะสร้างแรงบันดาลใจและปลุกศักยภาพในผู้คน และนำพาองค์กรฟันฝ่าความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของกระแสธุรกิจในอนาคตได้ต่อไป

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

www.learninghubthailand.com

หากคุณต้องการเพิ่มศักยภาพการสื่อสารกับทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร

“Executive Communication : ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”

9-10 มิ.ย. นี้ โดย อ.เรือรบ  ดูรายละเอียดคอร์ส คลิกที่นี่

4 เทคนิค ฝึกเป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับการสื่อสารในโลกออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 


การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

แล้วการฟังอย่างลึกซึ้งจะต้องฝึกฝนแบบไหน?

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. สังเกตปฏิกิริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆ อย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆ ก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆ ที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง


2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดก็ตาม เวลาที่มีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา


3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆ ไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาส ที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆ เลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกิริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ทำให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มีคุณภาพ


 4. ให้ความเคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก


การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า สามารถคุยกับเราได้อย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆ ด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กันด้วย เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากคุณต้องการฝึกเพื่อเพิ่มศักยภาพการฟัง ขอแนะนำหลักสูตร

“Executive Communication : ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”

โดย อ.เรือรบ  ดูรายละเอียดคอร์ส คลิกที่นี่

ทำยังไงดี.. เมื่อต้องรับมือกับงานหลายอย่าง พร้อมกัน..

18 04 2017

หลังวันหยุดยาว หลายคนกลับมาใช้ชีวิตทำงานปกติ… แล้วต้องพบว่า “มีงานหลายอย่างที่ต้องทำพร้อมกัน” ซึ่งการทำงานได้หลายอย่างพร้อมกันเป็นทักษะส่วนตัวที่มีประโยชน์ แต่เราก็จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อใดที่เราพยายามทำงานหลายๆ อย่างมากเกินไป ย่อมส่งผลให้เรา… ไม่สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

ปัญหาเกิด เมื่อต้องใช้พื้นที่สมองพร้อมกัน

 

การต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ต้องอาศัยความเอาใจใส่มากกว่าปกติ ยังอาจส่งผลด้านลบต่อผลงาน… และความพยายามจะทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือทำให้เกิดความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จะทำให้ความตั้งใจน้อยลง ขาดสมาธิ มีแนวโน้มที่จะผิดพลาดได้

เหตุผลสำคัญของความล้มเหลวเหล่านี้ มีสาเหตุมาจาก.. การทำงานหลากหลาย จะแบ่งพลังประมวลผลของสมอง และยังลดประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่องานมากมายเหล่านี้ต้องทุ่มเทมากพอๆ กัน

สมองส่วนต่างๆ มีความชำนาญในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น การฟัง การดู การเคลื่อนไหว รวมถึงเรื่องการใช้ภาษา ดังนั้น การทำงานหลายอย่างพร้อมกันจึงเป็นเรื่องยากลำบาก และเป็นสาเหตุของปัญหามากมายตามมา

โดยเฉพาะเมื่องานสองอย่าง (หรือมากกว่านั้น) ต้องใช้รูปแบบการคิดที่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกันของสมอง ตัวอย่างเช่น คุณพยายามฟังการสนทนาที่ต่างกันสองเรื่องในเวลาเดียวกัน (งานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน), พูดคุยโทรศัพท์ขณะอ่านหนังสือ (งานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน) หรือกระทั่ง คุณลองลูบท้องพร้อมกับตบหัวตัวเองไปด้วยสิ! (งานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน) ดูฝืนๆ ไปหมดเลยเนอะ…

 

การทำงานหลายอย่างให้มีประสิทธิภาพ

 

ข้อแนะนำต่อไปนี้ หากนำไปปฏิบัติจะช่วยให้ทำกิจกรรมสองอย่าง (หรือมากกว่า) ได้พร้อมกัน และยังคงรักษาคุณภาพการคิดของคุณในการทำงานแต่ละอย่างได้…

1) อย่าปะปนงานที่ต้องใช้ทักษะเหมือนๆ กัน (เช่น การกดเบอร์โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ทั้งสองอย่างเป็นงานด้าน “การเคลื่อนไหว”) คุณควรนำงานที่ใช้ทักษะต่างกันมาทำพร้อมกัน จะทำให้เกิดปัญหาน้อยกว่า (เช่น การฟังดนตรีขณะขับรถ ซึ่งเป็นงานด้าน “การฟัง” บวกกับงานด้าน “การเคลื่อนไหว”)

2) หากคุณอยากฟังดนตรี ขณะอ่านหรือเขียนหนังสือ ลองฟังเพลงที่มีแต่ทำนองดนตรี โดยไม่มีเนื้อร้อง (ซึ่งคุณต้องใช้การประมวลทางภาษาในสมอง) หรือลองฟังเพลงต่างภาษา ซึ่งเนื้อเพลงและการพูดต่างภาษาจะเบนความสนใจได้น้อยกว่า

3) เมื่อคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้มี “เวลาพัก” ระหว่างงานสองงานนั้น เพื่อทำให้ความคิดคุณปลอดโปร่งเสียก่อน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ลองหากิจกรรมประจำวันที่ไม่ต้องการความเอาใจใส่มากนัก-เพื่อมาทำ หลังจากทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ

 

บ่อยครั้ง ก็ควรจัดลำดับความสำคัญ

 

การจะทำงานให้สำเร็จ เราจำเป็นต้องกำหนดพลังใจและพลังงาน เพื่อจดจ่อกับเรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ… วิธีที่ดีที่สุดในการจดจ่อกับงานที่สำคัญมากๆ และหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนเบนความสนใจ คือ… “ให้จัดลำดับความสำคัญ” ไม่ใช่ตอบสนองกับทุกเรื่องที่เข้ามาโดยทันที

 

เรื่องงาน ครอบครัว การพักผ่อน และการเล่นสนุกสนาน

 

ก่อนเริ่มทำกิจกรรมใด ลองเริ่มจากการเตือนตัวเอง ว่าเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมีอะไรบ้าง… การค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่นำไปปฏิบัติได้จริงๆ หรือเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ จะมีประโยชน์อะไร หากทางแก้เหล่านั้นไปคนละทางกับความคิด-ความเชื่อของคุณ

เพราะเรื่องทุกอย่างที่เราทำหรือพยายามจะทำนั้นล้วนจัดอยู่ในหนึ่งในสี่ประเภทต่อไปนี้ 1. เรื่องงาน (รวมถึงงานการกุศล และงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน) 2. เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น และเรื่องครอบครัว 3. งานอดิเรก และเวลาพักผ่อนจากงาน (รวมถึงการศึกษาหาความรู้เพื่อความเพลิดเพลิน) 4. เรื่องสุขภาพ (รวมถึงการฝึกฝนจิตใจ เช่น การฝึกสมาธิหรือโยคะ)

คุณควรพิจารณาว่า เรื่องเหล่านี้มีเรื่องไหน “สำคัญที่สุดสำหรับคุณตอนนี้” อะไรคือความสำคัญอันดับต้นๆ โดยรวมในชีวิตคุณ? คุณทุ่มเทเวลาให้แต่ละเรื่องนานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์? แล้วคุณอาจประหลาดใจที่พบว่า ตัวเองกำลังใช้เวลามากมายกับ “เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายสำคัญๆ ในชีวิตเลย”

 

ค้นหาว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด?

 

หลายต่อหลายครั้ง “การจัดลำดับความสำคัญ” มักถูกกำหนดจากเรื่องไหนต้องให้ความสนใจอย่างรีบด่วนที่สุด อาทิ งานเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำประจำวัน การจ่ายเงินตามบิลเรียกเก็บ รวมทั้งการทำตามที่คนอื่นขอร้อง…

คุณกลายเป็นฝ่ายตั้งรับมากเกินไป เหมือนคนที่ยืนหน้าเครื่องยิงลูกเทนนิส คอยตีลูกบอลที่พุ่งเข้ามาอย่างลนลาน แต่ไม่เคยมีเวลา “หยุดพัก” เพื่อขยับไปทำเรื่องอื่นเลย… ในขณะที่ชีวิตยิงงานที่ “เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ” มาที่คุณ ทว่าระหว่างนั้น กลับมีกิจกรรมที่ “ไม่ด่วน แต่อาจทำให้ชีวิตคุณมีคุณภาพขึ้น” ถูกละเลยไว้เบื้องหลัง หรือไม่ก็ถูกมองข้าม!!!

 

ควรจัดลำดับความสำคัญให้กับ “เรื่องที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น”

 

เราขอแนะนำให้คุณพิจารณากิจกรรมที่คุณทำ ว่าเข้าหมวดใดในรูปแบบงาน 4 ประเภท ต่อไปนี้… 1) งานด่วน และทำให้ชีวิตดีขึ้น 2) งานด่วน แต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น 3) งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ไม่รีบด่วน 4) งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

ค่อยๆ เติมงานหรือกิจกรรมของคุณจัดเข้าหมวดหมู่ข้างต้น พยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การทำกิจกรรม-ทำงานนี้ เป็นการทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราหรือไม่?”

 

ถ้าคุณต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เลือกทำ “งานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เป็นลำดับแรก เมื่อกิจกรรม/งานนั้นลุล่วงลงแล้ว คุณค่อยทำ ข้อ 2) ข้อ 3) ส่วน “งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เราอยากถามคุณว่า “เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ดีไหม?”

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

10 คำแนะนำควรระวัง เกี่ยวกับอาชีพการงาน

03 04 2017

คุณเคยขอ “คำแนะนำเรื่องงาน” จากคนรอบข้างบ้างไหม? แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า บางทีคำตอบที่คุณได้มานั้น อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีเสมอไป!!! บางคนแนะนำโดยไม่มีประสบการณ์ บางคนมีความเข้าใจผิดๆ บางคนตัดสินใจจากอคติหรือความชอบส่วนบุคคล… บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึง “10 คำแนะนำควรระวัง ที่อาจทำให้คุณพลาดงานดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย”

 

1. คว้างานตรงหน้าไว้ก่อน แม้คุณจะไม่ชอบมัน

 

ถ้าคุณสมัครงานหลายที่ และปรากฏว่าคุณได้งานที่คุณไม่ชอบ… สิ่งที่คุณควรทำ คือควรปฏิเสธงานนั้นทันที และรองานที่ใช่สำหรับคุณจริงๆ…

การตอบรับทำงานที่คุณไม่ชอบ จะส่ง “ผลเสีย” ต่อตัวคุณและนายจ้าง กล่าวคือ ผู้จ้างจะเสียเวลาและโอกาสในการคัดเลือกพนักงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ส่วนตัวคุณก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงานที่ตนไม่ชอบ ซึ่งจะส่งผลให้คุณท้อแท้ หมดไฟ ไม่มีความสุข… นอกจากนี้ หากคุณตกลงทำงานนั้นในระยะสั้นๆ แล้วตัดสินใจลาออก ย่อมเท่ากับว่า คุณกำลังทำลายชื่อเสียงของตัวเอง เพราะคุณจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความอดทน เปลี่ยนงานบ่อย ไม่น่าเชื่อถือ

 

2. ทำงานที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด

 

หนึ่งในปัจจัยที่เราใช้ตัดสินใจเลือกทำงานใดงานหนึ่ง คือ “ผลตอบแทน” แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างน้อย เงินก็ไม่สามารถซื้อความสุขได้!!!

หากมีคนแนะนำคุณว่า “จงเลือกทำงานที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด” แสดงว่าเขาไม่เข้าใจความหมายของ “ชีวิตการทำงาน” เลย เพราะการทำงานมีอะไรมากกว่านั้น คุณจึงควรพิจารณาลักษณะงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ วัฒนธรรมองค์กร สวัสดิการอื่นๆ และโอกาสความก้าวหน้า จงท่องให้ขึ้นใจว่า “หากคุณมีเงิน แต่ไม่มีความสุข ชีวิตก็ไร้ค่า”

 

3. ทำงานที่คุณถนัดเท่านั้น

 

คุณอาจมีทักษะหรือความถนัดในด้านใดด้านหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า แท้จริงแล้วคนๆ หนึ่ง สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เช่น พูดภาษาจีน เล่นเปียโน ขับรถ ช่างเจรจา ว่ายน้ำ นอกจากนี้ คุณอาจมีพรสวรรค์อื่นๆ ที่ยังไม่ค้นพบอีกด้วย…

อย่าปิดกั้นโอกาสของตนเอง ด้วยการสมัครงานในตำแหน่งที่คุณคิดว่าถนัด เพราะการที่คุณเก่งในบางเรื่อง อาจไม่ใช่เหตุผลสำหรับการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนขับรถที่ดีมาก ไม่ได้แปลว่าคุณควรทำอาชีพคนขับรถแท็กซี่!!! พยายามเปิดใจให้กว้าง ค้นหาตัวเอง และเชื่อมั่นในความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ

 

4. ทำงานหนัก จะได้เลื่อนตำแหน่ง

 

ความเชื่อที่ว่า “คุณต้องทำงานหนัก จึงจะได้เลื่อนตำแหน่ง” เป็นความคิดที่ผิด เพราะจริงๆ แล้วบริษัทไม่ได้ถือเอา “จำนวนเวลาทำงาน” มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน แต่บริษัทมองหา “คุณค่าและประโยชน์ที่พนักงานทำให้” ต่างหาก…

ดังนั้น การก้มหน้าก้มตาทำงานตลอดทั้งวัน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คุณใช้เวลากับงานชิ้นนั้นเป็นเวลานาน และไม่เหมาะที่จะรับงานที่ยากขึ้น ทางที่ดีก็คือ คุณต้องทำให้เจ้านายเห็นว่า คุณสามารถรับผิดชอบงานให้สำเร็จ จัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณมีความสามารถมากกว่างานที่ได้รับมอบหมาย

 

5. ทำงานตามที่เคยเป็นมาโดยตลอด

 

วิธีการ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” อาจใช้ไม่ได้ผลกับชีวิตการทำงาน เพราะหากคุณต้องการความก้าวหน้า คุณจำเป็นต้องเป็นที่รู้จักและมีความโดดเด่นในองค์กร กล่าวคือ หากบริษัทของคุณมีแบบแผน ทิศทาง หรือกระบวนการที่ปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานาน ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นดีที่สุด และใช้ได้ตลอดไป เพราะฉะนั้น จงกล้าที่จะตั้งคำถาม คิดนอกกรอบ และคิดอย่างสร้างสรรค์ บางทีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในบริษัท อาจเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ และสร้างชื่อเสียงให้กับคุณ

 

6. ทำในสิ่งที่รัก แล้วเงินจะตามมา

 

ไม่ผิด หากคุณจะเชื่อว่า “ความรักในงานที่ทำ เป็นสิ่งสำคัญ” แต่ถ้าความรักสวนทางกับรายได้ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย วิธีการทำงานที่ดี คือการหา “จุดลงตัว” ระหว่างงานที่ชอบ กับผลตอบแทนที่เหมาะสม

เช่น หากคุณมีพรสวรรค์ในงานศิลปะ งานเย็บปักถักร้อย การปลูกต้นไม้ หรือการซ่อมแซมสิ่งของ คุณสามารถนำทักษะเหล่านี้มาเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้ โดยคุณอาจผลิตผลงานขาย เขียนหนังสือ หรือสอนผู้อื่น กล่าวคือ อย่ามุ่งเน้นเพียงแต่ความรักในงานที่ทำ เพราะมันไม่สามารถชดเชยทุกอย่างได้ จงหาจุดที่พอดีระหว่างความสามารถ รายได้ และความต้องการของตลาด เพื่อให้การทำงานของคุณมีความสุขอย่างแท้จริง

 

7. เลือกทำงานในบริษัทที่มั่นคง

 

การทำงานในบริษัทที่มั่นคง ไม่ได้แปลว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่! คุณรู้หรือไม่ว่า ความมั่นคง หรือความเคยชินในงาน เป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเบื่อหน่ายและขาดความกระตือรือร้น… มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า พนักงานจะรู้สึกพึงพอใจสูงสุด เมื่อได้ทำงานที่ท้าทาย และใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ดังนั้น จงอย่ากลัวที่จะก้าวออกไปจากงานที่คุณคุ้นเคย เพราะมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในทางกลับกัน คุณจะได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่า และมีโอกาสเติบโตมากกว่าเดิม

 

8. ทำงานประจำ ดีกว่างานพาร์ทไทม์

 

แต่ละคนมีแนวคิดเรื่องการทำงานต่างกัน บางคนคิดว่าอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่ใช่งาน! บางคนคิดว่าการส่งพิซซ่า เป็นแค่งานพาร์ทไทม์!!! อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็คือ “งาน” เหมือนกัน… คุณจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะ กำลังแรงและกำลังสมอง เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ต้องการ แม้ว่าสำหรับบางงาน คุณอาจไม่ได้ทำไปตลอดชีวิต แต่อย่าดูถูก หรือมองข้าม… ทุกงานล้วนให้บทเรียนที่มีคุณค่า และมอบประสบการณ์ชีวิตแก่คุณ

 

9. ตอบรับตัวเลขเงินเดือน ตามที่บริษัทเสนอ

 

เมื่อคุณได้รับการเสนอเงินเดือน ขอให้ทบทวน พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนตอบตกลง เพราะบริษัทต่างๆ มักเสนอเงินเดือนเพื่อการต่อรอง แต่เมื่อคุณรู้ความจริงข้อนี้แล้ว จงอย่าเรียกเงินเดือนที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง และอย่ากลัวที่จะเรียกร้องขอเงินเพิ่ม

 

10. อย่าลาออกจากงาน แม้คุณจะไม่ชอบมันมากก็ตาม

 

คำแนะนำที่ว่า “อย่าลาออกจากงาน” ทั้งที่คุณไม่ชอบงานนั้นๆ เอาเสียเลย… เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งชีวิตคุณมากเลยนะ เพราะชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะทำงานที่ตนไม่ชอบ! นอกจากนี้ หากคุณไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ย่อมจะส่งผลต่อด้านอื่นๆ ในชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านความสัมพันธ์ ดังนั้น หากคุณรู้สึกไม่มีความสุขกับงานที่ทำแล้ว ให้รีบมองหางานอื่นๆ เพราะนอกจากจะมีโอกาสเหมาะกับคุณมากกว่า ยังทำให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้นได้อีกด้วย…

 

จาก “10 คำแนะนำพึงระวัง” ข้างต้น… ชี้ให้เห็นว่า คำแนะนำจากคนรอบข้าง อาจไม่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น เมื่อคุณต้องตัดสินใจเรื่องงาน ลองฟังเสียงจากข้างใน เชื่อในสัญชาตญาณ และเลือกหนทางในชีวิตด้วยตนเอง

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

วิธีจัดการปัญหา แบบทางออกทางเดียว และหลายทาง

28 03 2017

การจะตัดสินใจแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งให้ได้ดีที่สุด สิ่งสำคัญอยู่ที่การระบุให้ได้ว่า “ปัญหาหรือความท้าทายนั้น มีรูปแบบอย่างไร” ต้องถามตัวเองว่า “คุณมีทางออกเดียว หรือมีทางออกที่น่าพอใจมากกว่าหนึ่งทาง” การถามแบบนี้จะช่วยให้คุณคิดได้อย่างชัดเจน… ทั้งยังช่วยคุณเรื่องการตัดสินใจได้อีกด้วย…

 

ปัญหานี้ มีทางออกเดียว หรือหลายทาง

 

หากปัญหามีทางออกเดียว หรือมีหนทางแก้ไขจำนวนจำกัด และมีคำตอบแค่ ถูกหรือผิด (เช่น “2+2 เท่ากับเท่าไหร่?”, “สายการบินไหนบินตรงไปชิคาโก้บ้าง?”) ปัญหาลักษณะนี้จัดอยู่ในประเภท “มีทางออกเดียว” แต่หากมีคำตอบที่เป็นไปได้มากมาย และไม่ได้มีคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว (เช่น “จะเสิร์ฟอาหารอะไรในงานเลี้ยงอาหารค่ำ?”) จะเรียกว่าเป็น ปัญหาแบบ “มีทางออกหลายทาง”

โดยปกติแล้ว ปัญหาที่มีทางออกหลายทาง เราพบเจอได้มากกว่าปัญหาที่มีทางออกเดียว เพราะการมองปัญหาผิดๆ คิดว่ามีทางออกเดียว ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ทำให้การตัดสินใจเป็นไปได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น อาจต้องเสียเวลาและความพยายาม ทั้งยังต้องกังวลกับการเสาะหาทางออก “เพียงทางเดียว” ให้เจอ ทั้งที่ทางออก “มีหลายวิธี”

 

การจัดการปัญหาที่มีทางออกเดียว

 

วิธีจัดการปัญหาที่มีทางออกเดียว คือต้องรีบกำจัดทางตันออกไป ลองจินตนาการถึงนักเดินเท้าสองคนที่กำลังแข่งกันไปถึงยอดเขา โดยเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แต่ละคนมีวิธีรับมือกับความท้าทายแตกต่างกัน

นักเดินทางที่มีความตั้งใจแบบนักบิน จะเริ่มต้นด้วยการใช้วิธีการอะไรก็ได้ ที่ทำให้เขาเข้าไปใกล้ภูเขามากขึ้น… ส่วนนักเดินทางอีกคนซึ่งมีความตั้งใจแบบนักบุกเบิก เขาจะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบภูมิประเทศแถบนั้นในแผนที่ เพื่อวางแผนเส้นทางทั้งหมด เมื่อทำแบบนี้ เขาจึงพบว่ามีแม่น้ำกว้างใหญ่กั้นระหว่างพวกเขากับภูเขา

ขณะที่เพื่อนของเขาจะพบแม่น้ำสายนี้ ก็ต่อเมื่อต้องมาถึงที่นี่ และต้องคิดทบทวนเส้นทางใหม่… ผู้มีความตั้งใจแบบนักบุกเบิก จะเริ่มต้นด้วยวิธีที่ต่างกัน และเริ่มเดิน “ออกห่างจากภูเขา” เพราะเขารู้แล้วว่า เส้นทางนั้นจะพาไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำ

สำหรับปัญหาที่มีทางออกเดียวแบบนี้ (นั่นคือจุดมุ่งหมาย หรือทางแก้ปัญหาที่จำกัดและเฉพาะเจาะจง) วิธีการของนักบุกเบิก จะใช้ได้ผลมากกว่า… การใช้เวลารวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาและพลังงาน จากการต้องเจอทางตัน แล้วกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง…

 

การจัดการปัญหาที่มีทางออกหลายทาง

 

หากคุณกำลังจัดการกับปัญหาที่อาจมีทางออกมากมาย เช่น จะไปพักผ่อนที่ไหน? จะซื้อทีวีเครื่องไหน? จะเลือกเส้นทางการทำงานแบบไหน? เคล็ดลับความสำเร็จคือ ให้ใช้กลยุทธ์แบบนักบิน คือค่อยๆ ขยับเข้าไปสู่การตัดสินใจทีละน้อย แม้ไม่มั่นใจว่าจะใช่หนทางไปสู่การตัดสินใจหรือไม่ ก็ตาม

เทคนิคนี้ดัดแปลงมาจากกลยุทธ์นักบิน โดยเริ่มจากการพิจารณาปัญหา เพื่อดูว่าจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง? การค่อยๆ พยายามหาคำตอบ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ จะต้องแตกปัญหาใหญ่เป็นส่วนย่อยๆ ที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด แล้วลองทบทวนอีกครั้ง หากทางออกยังไม่ชัดเจน ให้แตกส่วนย่อยๆ เหล่านั้น เป็นส่วนย่อยที่เล็กลงไปอีก ลองทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนได้คำตอบ

ลองจินตนาการว่า คุณกำลังวางแผนพักผ่อนกับครอบครัว เริ่มต้นโดยพยายามหาทางออกที่เป็นทางออกทั่วไปที่สุด นั่นคือ หาสถานที่ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสัก 2-3 แห่ง ที่เติมเต็มความต้องการเบื้องต้นของทุกๆ คน จากนั้นให้ถามตัวเองว่า จะต้องทำตามความต้องการของใครอีกบ้าง มีตัวเลือกใดหรือไม่ที่คุณนำมาปรับเปลี่ยน เพื่อจะได้มีทางเลือกมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น หากจุดเริ่มต้นของคุณคือการพักผ่อนเที่ยวชมทิวทัศน์ ให้ดูว่ามีสถานที่ไหนใกล้ชายหาดที่ลูกๆ จะสนุกได้สัก 2-3 วัน หรือไม่? ให้ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณตอบสนองความต้องการได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

วิธีแก้ปัญหาแบบมนต์วิเศษ

 

ลองจินตนาการว่า เมื่อตื่นขึ้นในวันรุ่งขึ้น แล้วพบว่าปัญหาของคุณอันตรธานหายไปอย่างมหัศจรรย์ โดยไม่มีเหตุการณ์ใดมาเตือนล่วงหน้า คุณจะรู้ได้อย่างไร ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว? ให้ลองจินตนาการถึงวันนั้นทั้งวัน และเขียนทุกอย่างลงไป (แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยที่สุด) ว่าถ้าวันนั้นมีจริง จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

เทคนิคนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความเชื่อ ว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น… การจินตนาการถึงรายละเอียดต่างๆ ของชีวิตในอนาคต จะทำให้คุณคิดอย่างมีอิสระ ไม่มีข้อจำกัด และอาจพบมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยให้ปัญหาเบาบางลงในที่สุด หรือกระทั่งหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งหมดได้…

 

วิธีแก้ปัญหาแบบเน้นด้านบวก

 

ให้ถามตัวเองว่า “จะมีเวลานั้นไหม ที่จะได้เห็นผลลัพธ์ที่ฉันต้องการ” เช่น หากลูกปัสสาวะรดที่นอน คำถามที่คุณต้องเน้นคือ “คืนไหนที่ลูกของฉันจะไม่ปัสสาวะรดที่นอน”

หากคุณต้องการหาเงินได้มากขึ้น ลองถามว่า “เมื่อไหร่ที่ฉันจะหาเงินได้มากขึ้น” หรือมองเรื่องนั้นๆ จากมุมอื่น เช่น “เมื่อไหร่ที่จะรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ฉันหามาได้” หากระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการได้ (แม้จะเล็กน้อยก็ตาม) ให้ลองต่อยอดจากปัจจัยนั้นออกไป…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

8 เรื่องเล็กๆ ที่หัวหน้าไม่ควรมองข้าม

23 03 2017

หลายคนชอบคิดไปว่า “การเป็นหัวหน้า” เป็นเรื่องง่าย แค่ชี้นิ้วสั่งให้ลูกน้องทำงาน ทั้งยังมีอำนาจสามารถทำตามใจต้องการได้ทุกเรื่อง… แต่ความเป็นจริงแล้ว “หัวหน้าคือคนที่ทำงานหนัก แบกความรับผิดชอบไว้มากมาย อีกทั้งยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และครองใจลูกน้องได้ด้วย”

บทความนี้จะนำเสนอ “8 คำแนะนำ” ซึ่งคนเป็นหัวหน้าควรอ่าน เพราะเมื่อคุณอ่านจบและทำตามคำแนะนำ คุณจะพบว่า “ชีวิตการเป็นหัวหน้าของคุณดีขึ้น” คุณสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ลูกน้องก็จะรักคุณมากขึ้นด้วย…

 

1. เอ่ยคำ “ขอบคุณ” อย่างจริงใจ

 

หากคุณเป็นหัวหน้า คุณย่อมรู้ดีว่า ในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีภารกิจที่ต้องทำมากมาย ต้องประชุม ทำงานร่วมกับทีม แก้ไขปัญหาต่างๆ แม้กระทั่งการตอบอีเมล์… และต้องไม่ลืมว่า ระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ คุณต้องเดินผ่านบันไดไปทีละขั้นๆ และข้างทางยังต้องอาศัยคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

นั่นหมายความว่า “การที่คุณจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คุณไม่สามารถทำงานคนเดียว” แต่ทุกคนที่แวดล้อมคุณมีส่วนผลักดันและคอยสนับสนุนคุณอยู่เสมอ ดังนั้น คุณควรกล่าว “ขอบคุณ” พวกเขาเป็นการตอบแทนบ้าง แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำให้คุณ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

หลายองค์กรคิดว่าการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานในรูปแบบตัวเงิน โบนัส และสวัสดิการ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว… แต่คุณลองคิดดูว่า หากคุณทำสิ่งดีๆ ให้ใครสักคน แล้วเขารู้สึกได้ถึงความตั้งใจดีของคุณ เขาซาบซึ้งใจและกล่าวขอบคุณ สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดี โดยไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือรางวัลใดๆ เป็นการตอบแทน… หัวหน้างานก็เช่นกัน หากลูกน้องทำสิ่งต่างๆ ให้ คุณควรกล่าวขอบคุณพวกเขาอย่างจริงใจ เพราะนั่นทำให้พวกเขารับรู้ว่า “คุณเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ” และพวกเขาก็จะประทับใจในตัวคุณ

 

2. ใช้เวลาพูดคุยกับทีมอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน

 

ไม่ว่าคุณจะยุ่งสักแค่ไหน คุณควรจัดสรรเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ในการพูดคุยเรื่องต่างๆ กับทีมงาน คุณควรสอบถามความก้าวหน้าของงานเป็นระยะๆ เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาประสบปัญหาหรือติดขัดเรื่องอะไรหรือไม่…

วิธีการนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า “คุณดูแลเอาใจใส่ ไม่ทิ้งให้พวกเขาอยู่ลำพัง” และคุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ หากคุณมีเวลาว่างมากกว่านั้น คุณอาจถามถึงเรื่องสารทุกข์สุกดิบอื่นๆ เช่น เรื่องท่องเที่ยว, ชีวิตครอบครัว, งานอดิเรก, ข่าวสารบ้านเมือง… หากคุณให้ความเป็นกันเอง พยายามพูดคุยสื่อสาร และเข้าหาพนักงาน จะทำให้ช่องว่างระหว่างคุณกับพนักงานลดลง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาไม่เครียด ไม่อึดอัด และสามารถทำงานกับคุณได้อย่างสบายใจ

 

3. มอบหมายงานให้ลูกน้องอย่างเหมาะสม

 

คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน? ระหว่างหัวหน้าที่ทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด หรือหัวหน้าที่กระจายงานบางส่วนให้กับลูกน้อง…

หากคุณเป็นประเภทแรก คุณจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกดื่น และบางครั้ง คุณอาจส่งงานไม่ทันตามกำหนดเวลา ในทางกลับกัน หากคุณเป็นหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ลูกน้องทำ โดยคุณจะเป็นผู้ติดตาม ตรวจทาน และเสนอแนะวิธีแก้ไขให้กับลูกน้อง

หัวหน้างานที่ดี คือหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณควรสอนให้พวกเขาทำงานเป็น เพราะหากไม่มีคุณ ลูกน้องก็ยังสามารถสานต่อและรับผิดชอบงานแทนได้… วิธีนี้คล้ายกับสุภาษิตจีนที่ว่า “ถ้าให้ปลาเขา เขาจะมีกินแค่วันนี้ แต่ถ้าคุณสอนเขาตกปลา เขาจะมีปลากินไปชั่วชีวิต”

นอกจากนี้ การมอบหมายงานยังทำให้คุณรู้จักการบริหารจัดการเวลา และมีเวลาว่างเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้ว คุณก็ควรเป็นผู้ฝึกสอน คอยให้คำปรึกษาในยามที่พวกเขาพบเจอกับอุปสรรคในการทำงานด้วย

 

4. เลิกงานตรงเวลา

 

Work-Life Balance เป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน กล่าวคือ พนักงานจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย ดังนั้น คุณไม่ควรโหมทำงานหนักจนเกินไป คุณควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนหรือดูแลตัวเองบ้าง เพราะหากคุณมัวแต่หมกมุ่นกับการทำงาน สุขภาพของคุณก็จะแย่ และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา

นอกจากนี้ การที่คุณซึ่งเป็นหัวหน้างาน กลับบ้านดึก เพราะเอาแต่ทำงาน ถือเป็นการกดดันลูกน้องทางอ้อม ให้กลับบ้านดึกเหมือนคุณ เพราะลูกน้องจะรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องกลับบ้านก่อนหัวหน้า ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานตึงเครียด อึดอัด ไม่มีชีวิตชีวา… ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเป็น Role Model ให้กับลูกน้อง โดยการเลิกงานให้ตรงเวลา และบริหารจัดการงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ

 

5. ตรวจเช็คอีเมล์ก่อนส่งทุกครั้ง

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณรีบร้อนส่งอีเมล์ออกไปโดยไม่ตรวจทาน แน่นอนว่าคุณต้องพบกับความผิดพลาดด้านเนื้อหา หรือการใช้ภาษาผิด คุณอาจคิดว่าความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของคุณ แต่จริงๆ แล้ว มันทำให้ “ภาพลักษณ์ของคุณ” กลายเป็นคนที่ไม่ละเอียดรอบคอบ เลินเล่อ สะเพร่า และไม่มีความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะส่งอีเมล์ทุกครั้ง ควรตรวจทานให้ดี

 

6. สื่อสารซึ่งกันและกัน

 

“เป้าหมาย” เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำงานเป็นทีม เพราะหากทุกคนมองไม่เห็นเป้าหมายเดียวกัน ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง หัวหน้ามีเป้าหมายในการทำกำไรให้บริษัท แต่ลูกน้องมีเป้าหมายในการหาเลี้ยงครอบครัว…

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย และสามารถทำตามความต้องการของตน คุณจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้สื่อสารบ้าง กล่าวคือ หัวหน้าที่ดีต้องใช้การสื่อสารแบบ Two-Way Communication ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าที่ไม่ดีจะใช้การสื่อสารแบบ One-Way Communication เพราะฉะนั้น หากคุณต้องการให้ลูกน้องเข้าใจคุณ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจลูกน้องก่อน และทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

 

7. ปฏิเสธอย่างมีศิลปะ

 

คุณไม่จำเป็นต้องตอบรับความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลูกน้อง เพราะหากคุณทำเช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างจะถาโถมเข้าหาคุณ ดังนั้น หากมีสิ่งที่เกินกำลัง หรือคุณไม่สามารถทำได้ คุณควรปฏิเสธ ดีกว่าจะรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธของหัวหน้า ควรเป็นการปฏิเสธที่มีศิลปะ คุณควรอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน และอย่าลืมรักษาน้ำใจคนฟังด้วย

 

8. มีสติ และให้เกียรติลูกน้อง

 

หากคุณเผชิญอุปสรรคในที่ทำงาน ทำให้คุณหัวเสีย โมโห หรือส่งผลให้อารมณ์ไม่ดี จงจำให้ขึ้นใจว่า การใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์อันใด และยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม วิธีที่ถูกต้องเมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจผลงานของลูกน้อง หรือสิ่งต่างๆ คุณต้องตั้งสติ พยายามระงับความเดือดดาลภายในใจ และปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างให้เกียรติ… อย่าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ตะโกน หรือตะคอกใส่ผู้อื่น เพราะไม่มีใครชอบพฤติกรรมเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวคุณเอง

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

การทำงานในทุกๆ ที่ มักเกิด “ปัญหาขัดแย้ง” ไม่มากก็น้อย… “ความคิดเห็นไม่ตรงกัน” คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในที่ประชุม โดยเฉพาะที่ทำงานซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก…

แน่ล่ะ ไม่มีทางที่ “ทุกคน” จะชอบไอเดียของคุณได้หรอกนะ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณไม่ควรกลัว หรือหลีกเลี่ยง แต่ควรเผชิญหน้าอย่างชาญฉลาด และถ้าคุณสามารถจัดการข้อขัดแย้งในแต่ละครั้งได้ จะทำให้คุณแข็งแกร่งและเก่งขึ้นกว่าเดิม

บ่อยครั้งที่คุณอยากจะให้ปัญหานี้จบๆ ไป… ปล่อยผ่าน… ไม่อยากเข้าไปยุ่ง หรือมีเรื่องกับใครเพิ่ม… โดยเฉพาะออฟฟิศในองค์กรแบบไทยๆ ที่มักแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ถ้าใครไม่ได้อยู่พวกนี้ ก็หมายความว่าเป็นศัตรูกับพวกนั้น การอยู่เฉย แน่นอนว่าเป็นการไม่หาเรื่องเข้าตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน ในทางตรงข้าม มันหมายความว่า คุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือมีอะไรโดดเด่นที่ทำให้เจ้านายและผู้บริหารระดับสูงมองเห็นศักยภาพในตัวคุณ…

ทางที่ดี ถ้าปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ มาถึง พยายามมอง “เป็นโจทย์ และความท้าทายใหม่ๆ” เป็นเวทีที่ทำให้คุณได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการแก้ไขปัญหานั้นๆ และที่สำคัญ เมื่อคุณแก้ไขปัญหาได้ คุณอาจได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าแผนก เพราะคุณได้แสดงให้เห็นว่า คุณจัดการปัญหานั้นได้ดี ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอย่างแท้จริง

เริ่มต้นจากหาสาเหตุความขัดแย้ง

เริ่มแรก คุณควรเข้าใจและเข้าถึงปัญหาเสียก่อน พยายามเปิดใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติใดๆ คุณจึงจะมองเห็นปัญหาได้ทะลุรอบ 360 องศา กว้างมากขึ้น และเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้มากขึ้น ว่ามาจาก...

1. อารมณ์

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนกำลังมีอารมณ์ และพร้อมระเบิดมันออกมา ทางที่ดีที่สุดคือเดินออกมาจากห้องนั้น หรือ ณ ตรงนั้น เพื่อสงบสติอารมณ์… อย่าใช้อารมณ์ในการโต้แย้ง แต่จงใช้ความจริง สถิติ หลักฐานในอีเมล์ พยาน ลูกค้า และทางที่ดี พยายามหาข้อเท็จจริงที่มาจากต้นตอของปัญหา

อย่าคิดไปเอง อย่าคาดว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้จะเกิด เลิกโทษอดีต เช่น ถ้าอย่างงั้น ทำไมพี่ไม่ทำล่ะ… ถ้ารู้อย่างงี้ ทำไมเธอไม่รับผิดชอบ… มันไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างถึงอดีตที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรเอาเรื่องไม่สร้างสรรค์และวนในอ่างมาพูดถึง แต่ควรพยายามหาทางที่เป็นทางออกเชิงสร้างสรรค์ เช่น แล้วคุณจะเอายังไง? คุณมีแผนสำรองอย่างไร? คุณได้ลองติดต่อทางโน้นแล้วหรือยัง? นั่นคือประโยคเชิงบวกที่ดีและสร้างสรรค์กว่าการนั่งถกเถียง และเกี่ยงกัน…

2. การสื่อสาร

คุณกำลังใช้ภาษาหยาบคาย หรือถ้อยคำประชดประชัน ในการตอบคำถาม โต้แย้ง หรือปะทะคารม ให้อีกฝ่ายมีอารมณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า? และถ้าคุณต้องเป็นกรรมการในการห้ามมวยคู่นั้น คุณควรพูดอย่างเป็นกลาง พยายามตัดจบเรื่องราว ณ ตอนนั้น เช่น เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ให้ทุกคนไปหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อใช้ประชุมในครั้งหน้า และข้อมูลที่นำมาเสนอ ควรเป็นเรื่องที่ชัดเจน แม่นยำ เชื่อถือได้ และไม่เก่าจนเกินไป


4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

1. หาจุดร่วมของทีม

สร้างโมเดล หรือกฎกติกาในการตัดสินใจร่วมกัน หรือหาความเห็นตรงกัน “การสร้างจุดร่วม” อาจเกิดจากการถามความเห็นและสนับสนุนสิ่งที่ทำให้เกิดทีมเวิร์ค โดยคุณอาจจะกำหนดคนที่เป็น Team Player คนที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติ Influencer สร้างเฟรมเวิร์คที่มาจากความเห็นของพวกเขา และใช้สิ่งนี้เป็นรากฐาน เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ

2. หาปมขัดแย้ง

พยายามหาปมขัดแย้งให้เร็วที่สุด ทุกอย่างมีโอกาสเป็นปมขัดแย้งได้หมด แม้ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะเป็นเรื่องไร้สาระหรือมีสาระ หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ… ทางที่ดี คุณและทีมควรเปิดใจให้กว้าง เป็นกลาง และอย่ากลัวที่ต้องเผชิญความจริง คุณต้องย้ำกับเพื่อนร่วมงานหรือทีมเสมอๆ ว่าไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ เราลงเรือเดียวกันแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบร่วมกัน แสดงสปิริตที่จะทำให้คนกล้าพูดความจริง เพื่อที่จะหาต้นตอของปัญหาที่ถูก และใช่ ในเวลาจำกัด…

3. หาแรงจูงใจ

การเล็งไปที่แรงจูงใจของสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา จะทำให้คุณได้ความคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง ใครได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้ ใครเสียผลประโยชน์สูงสุด ปัญหาและปมขัดแย้งนี้มีที่มาจากคนแบบไหน และเขาต้องการอะไร เพื่อความสะใจ เพื่อทำลายใคร เพื่อจุดมุ่งหมายแบบไหน บางที เราไม่ควรมองที่การกระทำ แต่ควรใส่ใจที่เจตนาด้วย…

4. หาปัจจัยแวดล้อม

หลังจากเราหาเหตุเจอแล้ว มาถึงคราวที่เราจะต้องหาปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดปมขัดแย้ง อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปมขัดแย้งในที่ทำงานปะทุขึ้นมากกว่าเดิม ใครมีส่วนร่วมบ้าง และเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร… พยายามพูดคุยเปิดใจกัน และมองภาพใหญ่ให้ออก ว่าใครเป็นคนสนับสนุนปัจจัยสำคัญเหล่านั้น… พยายามเชื่อมโยงและทำให้พวกเขาเห็นภาพในสิ่งที่พวกเขาควรทำ หรือไม่ควรทำ…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

3 ความรู้สึกด้านลบ ส่งผลกระทบงานขาย

08 03 2017

เวลาคุณเดินเข้าห้างตอนเพิ่งเปิด แล้วเห็นการต้อนรับของพนักงานขาย ซึ่งจะยืนเข้าแถวสองข้าง รอต้อนรับลูกค้ากลุ่มแรก… คุณทำอย่างไร!?

ลูกค้าบางคนรีบเร่งฝีเท้าเดินให้ผ่านหน้าพวกเขาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังก้มหน้าพยายามไม่สบสายตาพนักงานขายที่ยืนอยู่ซ้าย-ขวา โดยเฉพาะคนที่มาคนเดียว! แต่ถ้ามากันหลายคน ก็จะเดินหน้าตาย ชวนกันคุย ทำเป็นไม่เห็น ไม่รู้ไม่ชี้!!!

และก็มีบางราย ที่พอจะก้าวเท้าเข้าห้าง กลับหยุดชะงักเมื่อเห็นแถวต้อนรับ… เขาจะรี ๆ รอ ๆ สักพัก เมื่อเห็นว่าเลิกแถวแล้ว จึงค่อยเดินเข้าไป…

พนักงานห้างที่ได้รับการฝึกอบรมให้ยืนต้อนรับและยิ้มให้ตลอดทั้งแถว เพื่อสร้างความรู้สึกว่า “ลูกค้าคือบุคคลสำคัญ” แต่กลับเจอปฏิกริยาเฉยเมย ถูกมองข้าม จากลูกค้าไม่เคยชิน ลูกค้าเขินอาย ความรู้สึกของพวกเขาก็คงไม่ต่างกับ “คนที่ทักทายคนอื่นก่อน แล้วเขาไม่ทักตอบ”

นั่นเป็นเพียงการยืนต้อนรับทักทายเพียงครู่เดียวในช่วงเช้าที่ลูกค้ายังน้อย แต่บางบริษัท ต้องการให้พนักงานขายยืนต้อนรับ ยกมือไหว้คนเป็นร้อย ๆ ตลอดทั้งวัน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยา เขิน ๆ เฉย ๆ เมิน ๆ ไม่ยิ้มรับ เป็นส่วนมาก…

คุณคิดว่า พนักงานขาย/พนักงานบริการจะมีความรู้สึกเช่นไร!?

มนุษย์เรามีบุคลิกลักษณะนิสัยใจคอต่างกัน อาชีพ “พนักงานขาย/ผู้ให้บริการ” ต้องพบปะผู้คนมากมาย ต้องเจอทั้งลูกค้าที่ถูกใจและไม่ถูกใจ แต่หน้าที่หลักของผู้ให้บริการ คือต้องทำให้ลูกค้าพอใจ ประทับใจ ทั้งสินค้าและผู้ให้บริการ

ถ้าเขาซื้อสินค้า หรือใช้บริการ ก็ดีไป… แต่ถ้าเขาไม่ซื้อสินค้า หรือไม่ใช้บริการ แต่ได้รับความพึงพอใจ หรือประทับใจ… ย่อมถือว่าพนักงานบริการคนนั้นทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เขาอาจจะกลับมาซื้อสินค้า หรือใช้บริการในภายหลัง ก็เป็นได้…

ในกิจกรรมอบรมพนักงานขายครั้งหนึ่ง วิทยากรด้านการขายได้ขึ้นบรรยายให้พนักงานขายและพนักงานบริการ ฟัง… ท่านได้ชี้ให้เห็นถึง “3 ความรู้สึกด้านลบ” ที่พนักงานให้บริการทุกคนต้องเจอ และควรควบคุมไม่ให้ลุกลามใหญ่โต…

 

1. ความรู้สึกสงสารตัวเอง

 

เป็นเรื่องปกติ ที่พนักงานขาย/พนักงานให้บริการ จะต้องดูแลเอาใจใส่ลูกค้าทุกราย โดยไม่เลือกว่าเป็นคนที่เราพอใจ หรือเป็นคนที่เราไม่ถูกใจ ดังนั้น บ่อยครั้งที่เมื่อย้อนมองตัวเอง ถึงเหตุผลว่าจะต้อง “ทำดี กับคนที่เราไม่รู้สึกดีด้วย” เพื่อแลกกับรายได้/ผลตอบแทน นั่นนำมาซึ่งความสูญเสียความภูมิใจในตนเอง จนกลายมาเป็นความรู้สึกไร้ค่าในที่สุด

และกับพนักงานขาย/พนักงานให้บริการบางคน พวกเขามีความรู้สึกอายที่ต้องบริการคนรู้จัก หรือต้องยกมือไหว้คนรู้จัก แล้วยิ่งถ้าพวกเขาทำเฉย ๆ เมินๆ ไม่สนใจใยดี ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอดสงสารตัวเองไม่ได้ ว่าทำไมต้องมาทนทำอะไรแบบนี้… สำหรับบางคนอาจรู้สึกหนักมาก จนอยากลาออกจากงาน ณ ตอนนั้นเลย!

วิทยากรผู้บรรยายได้ให้คำแนะนำว่า “งานขายหรืองานบริการ ไม่ได้ไร้ค่าอย่างที่เห็นในละครหลังข่าว ซึ่งมักจะสร้างภาพตัวละครพนักงานขาย/พนักงานบริการ ให้ดูเป็นคนต่ำต้อยด้อยค่า และที่สำคัญ คนอื่นจะพูดยังไงกับเรา ก็ไม่เท่ากับที่เราพูดกับตัวเอง…”

ความไร้ค่า ความรู้สึกไม่ภูมิใจ มาจากความคิดด้านลบในตัวเรานั่นเอง… เราจะไร้ค่าน่าสงสาร ก็เมื่อเราคิดเช่นนั้น… คนอื่นที่ทำท่าทางแปลก ๆ เฉยเมยใส่เรา เขาไม่สามารถทำให้เราเป็น “คนไร้ค่า” ได้หรอก…

 

2. ความรู้สึกโกรธลูกค้า

 

ด้วยความที่พนักงานขาย/พนักงานให้บริการ “คาดหวัง” ว่าลูกค้าจะต้องซื้อสินค้า และเห็นประโยชน์จากงานบริการ หรือสินค้าของเรา ดังนั้น ถ้าสุดท้ายลูกค้าไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ หลายคนจึงรู้สึกไม่พอใจ เหมือนว่าตนทำงาน เหนื่อยฟรี!

และบางรายก็รู้สึกไม่สบอารมณ์ เมื่อต้องเจอบุคลิกลูกค้าบางประเภท เช่น ลูกค้าพูดมาก จู้จี้ชอบต่อราคา ทำท่าหยิ่งๆ ไม่สนใจสิ่งที่เรานำเสนอ ดูสินค้าแล้วไม่ซื้อ โอ้อวดความรู้ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้นำมาซึ่ง “ความโกรธ ไม่สบอารมณ์” เป็นความรู้สึกด้านลบที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ ส่งผลต่อการขาย/การบริการลูกค้า รายต่อๆ ไป…

วิทยากรผู้บรรยายได้ให้คำแนะนำว่า “นักขายหรือผู้ให้บริการ จะต้อง ‘ยอมรับ’ พฤติกรรมเหล่านั้นของลูกค้า ว่านั่นคือความปกติของเขา ไม่ใช่ความผิดปกติ! เขาเป็นของเขาอย่างนั้นมานานแล้ว อาจจะเป็นมาตลอดทั้งชีวิตด้วยซ้ำ ดังนั้น เราจะให้เขาเปลี่ยนแปลงมาเป็นลูกค้าที่แสนดี เมื่อพบพนักงานขาย คงเป็นไม่ได้หรอก”

นักขาย/พนักงานบริการที่ดี จะต้องเข้าใจและยอมรับลูกค้าทุกราย ตามเขาไป อย่าได้คิดค้าน หรือคิดเปลี่ยนแปลงบุคลิกเหล่านั้น เพราะยังไงเราก็เปลี่ยนเขาไม่ได้หรอก และที่สำคัญ ต้องไม่โกรธเขาด้วย… จงให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ เขาอยากแสดงภูมิรู้ ก็เปลี่ยนมาขอคำแนะนำ ขอความรู้จากเขา ให้เขาพูด… ถ้าเขาอยากให้พูดชม ก็เอ่ยปากชมในสิ่งที่เป็นความจริง… ถ้าเขาอยากได้ของแถม ลองหาโอกาสให้ส่วนลด ให้ของแถมกับเขา… เพียงเท่านี้ การขายก็จะดำเนินไปด้วยดี ทั้งยังเกิดมิตรภาพ และการซื้อในโอกาสต่อๆ ไป ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย

 

3. ความรู้สึกอิจฉาลูกค้า

 

เพราะพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ เห็นต่อหน้าต่อตาทุกวัน ว่าลูกค้ามีโอกาสเลือกสินค้า เลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ เลือกที่จะใช้บริการหรือไม่!? ลูกค้าจึงดูเป็น “ผู้มีอำนาจ” เป็นผู้อยู่เหนือกว่าพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอิจฉา หรือหมั่นไส้…

และทันทีที่มีความรู้สึกด้านลบเช่นนี้เกิดขึ้นมากๆ แววตาท่าทางจะแสดงออกมาให้เห็นโดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมจับกลุ่มนินทา หรือวิจารณ์ลูกค้าลับหลัง ของพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ สามารถลุกลามใหญ่โตมากขึ้น จนกระทั่งก่อเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับลูกค้า และสุดท้ายกลายมาเป็นศัตรูกับตัวเอง ได้ในท้ายที่สุด

วิทยากรผู้บรรยายให้คำแนะนำว่า “ความรู้สึกอิจฉา หมั่นไส้ มาจากความใส่ใจผิดจุด… ถ้าเราสนใจลูกค้าอย่างจริงใจ ว่าเขาต้องการให้ช่วยเหลืออะไร ต้องการให้เราแนะนำอะไร ความรู้สึกอยากจะสร้างมิตรภาพย่อมเกิดขึ้น… เราอยากเป็นเพื่อนกับลูกค้า มากกว่าเป็นศัตรู ไม่ใช่มุ่งแต่จะขายให้ได้เงิน หรือกำไรเพียงอย่างเดียว และนั่นจะกลายเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวลูกค้า และตัวพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ”

 

หากคุณต้องทำหน้าที่ “ขาย” หรือ “ให้บริการ” ลองย้อนสำรวจตัวเอง ว่ามี “3 ความรู้สึกลบ” นี้อยู่ไหม? ถ้ามี ลองหาวิธีลดๆ ลงบ้าง… รับรองว่าคุณจะสนุกและมีความสุขกับงานขาย/งานให้บริการ มากขึ้นอย่างแน่นอน…

 

บทความโดย LEARNING HUB THAILAND

วิธีทำให้คนที่ไม่ถูกกันร่วมงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าขากันได้ดี หรือปลาบปลื้มชื่นชมเพื่อนร่วมงานหรอกนะ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าใครสักคนทำตัวเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา” มีพฤติกรรมน่ารำคาญ ก็อาจทำให้เขาสร้างปัญหากับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ส่งผลให้ทีมเจอะเจออุปสรรคปัญหาในการทำงานได้…

ถ้าคุณเป็น “หัวหน้างาน” เราขอแนะนำคุณ ดังต่อไปนี้…

====

1. หาสาเหตุที่ถูกต้อง

ว่าทำไมลูกน้องของคุณคนนี้ ถึงไม่สามารถเข้ากับคนอื่นๆ ได้? โดยพุ่งเป้าความสนใจไปที่ “พฤติกรรมของเขา” ไม่ใช่ที่ “บุคลิกลักษณะของเขา”

ดูว่าเขาทำตัวหยาบคาย หรือชอบพูดจาจิกกัดคนอื่นๆ มีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวเวลาที่คนอื่นไม่ทำตามความต้องการของเขาไหม? มักปฏิเสธความช่วยเหลือผู้ร่วมงานในเรื่องการทำงาน หรือการแก้ปัญหาใดๆ หรือไม่

====

2. เรียกลูกน้องคนนั้นเข้ามาคุยกับคุณ

“เป็นการส่วนตัว” อย่าตักเตือนลงโทษเขาอย่างเป็นทางการ แต่ทำให้เขาเข้าใจอย่างชัดเจน ว่านี่เป็นประเด็นปัญหาเรื่องการทำงานที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะมันมีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน/องค์กร

====

3. บอกให้เขารู้ว่าปัญหาคืออะไร?

อย่าบอกเขาว่า “คุณเป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ” หรืออะไรก็ตามที่เป็นการตราหน้า ว่าเขาเป็นคนไม่ดี! ให้พูดถึงแต่พฤติกรรมของเขา

เช่น “เวลาที่คุณตำหนิหรือกล่าวโทษคนอื่นรุนแรงเกินไปนั้น ทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมงานของคุณอยู่นะ” พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้เห็นภาพ

====

4. อย่าทำให้เขารู้สึกว่ากำลังโดนกดดัน หรือถูกบีบคั้น

 คุณไม่จำเป็นต้องบอกเขาว่า “ทุกคนในแผนกบ่นเรื่องคุณกันทั้งนั้น”

====

5. ให้ตระหนักไว้ว่า คนส่วนใหญ่ทำบางสิ่งบางอย่างจนติดเป็นนิสัย

จนกระทั่งพวกเขาอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่า คนอื่นๆ มองเขาเป็นคนอย่างไร? เขาอาจไม่รู้เลยก็ได้ว่า เขาได้ทำตัวหยาบคาย เที่ยวจิกกัดชาวบ้านเป็นประจำ

คุณควรพูดเตือนเขาดีๆ และอย่าไปทำลายความมั่นใจในตัวเองของเขา เพียงแต่ทำให้เขารู้ว่า “จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง”

====

แล้วถ้ามีพนักงาน/ลูกน้อง ไม่ชอบขี้หน้ากันอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้ทั้งทีมมีปัญหาการทำงานได้ คุณในฐานะหัวหน้า/ผู้บริหาร ต้องเป็นคนเข้าไปไกล่เกลี่ย แก้ไขความไม่ลงรอยกันระหว่างลูกน้องทันที ถ้า…

– หลายคนมองเห็นว่า กำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้น!
– ความขัดแย้งนั้นมีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงาน
– ความขัดแย้งนั้นทำให้พนักงานไม่สื่อสารกัน/ไม่ร่วมมือกัน
– พนักงานคนอื่นๆ มีการเข้าข้างผู้ขัดแย้งแต่ละฝ่าย
– ทั้งทีม/หน่วยงาน กำลังรู้สึกแย่ กับการขัดแย้งครั้งนี้
– ความขัดแย้งส่งผลกระทบในทางลบต่อลูกค้า
– ความขัดแย้งทำให้คุณไม่สามารถทุ่มเทความสนใจให้กับงานที่มีความสำคัญๆ ได้ เนื่องจากคุณต้องคอยจับตาดูคู่กรณี
– ที่สำคัญ ณ ตอนนี้ คุณยังไม่ได้เข้าข้างใคร ยังมีความเป็นกลาง
– คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ให้ความไว้วางใจ/เชื่อถือคุณ

====

ทั้งนี้ คุณจะต้องเรียก “คู่กรณี” เข้ามาคุยพร้อมกัน ไม่ควรเรียกเข้ามาคุยทีละคน เพราะจะทำให้แต่ละคนสงสัย ว่าคุณพูดอะไรกับอีกคนหนึ่ง? หรืออีกคนหนึ่งบอกอะไรกับคุณบ้าง? และพวกเขาก็อาจให้ข้อมูลผิดๆ แก่คุณได้ด้วย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม และอาจทำให้คุณขัดแย้งกับพวกเขาไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ

ถ้าคุณมีคู่กรณี หรือ คนที่รู้สึกไม่ชอบหน้าเสียเอง คุณสามารถเรียนรู้และลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้ อ่าน เราจะทำงานกับคนที่ไม่ชอบหน้าได้อย่างไร คลิกที่นี่

====

ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหานั้น คุณจะต้อง…

1. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ทำให้ดูจริงจังเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งตัวคุณเอง สัมผัสได้ถึงความตึงเครียด

2. บอกให้ทั้งคู่เข้าใจอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มการพูดคุย ว่าหน้าที่ของคุณ คือทำให้ทีมร่วมกันทำงานมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายของแผนก/องค์กร อย่างมีประสิทธิผลที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ความขัดแย้งของพวกเขากำลังเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการดังกล่าว และคุณต้องการแก้ปัญหานี้เพื่อหน่วยงาน

3. อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า คุณไม่ได้ต้องการตำหนิ หรือกล่าวโทษใคร คุณเพียงแต่ต้องการแก้ปัญหานี้

4. ขอให้พวกเขายอมรับคุณในฐานะที่เป็นคนกลาง ซึ่งคุณเชื่อว่า การพูดคุยปัญหานี้อย่างเปิดอก จะช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ขอให้ทั้งคู่ยอมรับด้วยว่า ถ้ามีประเด็นใดที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ พวกเขาจะยอมรับการตัดสินใจของคุณในประเด็นนั้น ซึ่งพวกเขาสามารถนำประเด็นเหล่านี้กลับมาพิจารณาในภายหลังได้เสมอ ถ้าปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่

5. กำหนดแนวทางในการพูดคุยปรึกษา เช่น แต่ละฝ่ายจะยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องที่เขาต้องการพูดจนจบก่อน โดยจะไม่พูดแทรก หรือขัดจังหวะ… ให้มุ่งไปที่ตัวปัญหา ไม่ใช่ที่บุคลิกลักษณะส่วนตัวของอีกฝ่าย… ให้แต่ละฝ่ายพูดถึงความรู้สึกและปฏิกิริยาของตนที่มีต่อปัญหานั้น ไม่ใช่พูดถึงแต่การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง…

6. เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดให้มากที่สุด ส่วนคุณมีหน้าที่คอยเตือน เมื่อพวกเขาไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ และเริ่มมีแนวโน้มว่าจะทะเลาะกัน

7. คุณจะต้องคอยระวังตัวเองอย่างเต็มที่ ว่าจะไม่แสดงท่าทีใดๆ ก็ตาม ที่จะเป็นการบ่งบอกว่าคุณลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าคุณคิดว่าฝ่ายหนึ่งไม่มีเหตุผล หรือทำตัวมีปัญหามากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อย่าแสดงท่าทีอะไรให้ทั้งสองฝ่ายรู้ เพราะคุณเป็นเพียงคนกลาง ฉะนั้น อย่าแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่คุณมีต่อคู่กรณี

8. อย่ายอมให้การพูดคุยกันจบลง โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีการตกลงกัน ว่าพวกเขาจะแก้ไขพฤติกรรมในอนาคตของตน แต่คุณต้องทำให้เกิดการตกลงด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย เพราะถ้ามีฝ่ายใดถูกบังคับให้ต้องตกลง เขาก็มักจะไม่ทำตามที่ตกลงนั้น คุณต้องทำให้แน่ใจว่าทั้งคู่ได้พูดคุย และได้หาวิธีแก้ปัญหาที่ทั้งคู่ยอมรับได้

9. ในฐานะที่เป็นหัวหน้า ให้พยายามทำทุกวิธีที่คุณสามารถทำได้ เพื่อช่วยพวกเขาแก้ปัญหา เช่น พวกเขาอาจขอให้คุณจัดแบ่งงานบางอย่างใหม่ หรือจัดที่นั่งทำงานของพวกเขาใหม่ เพื่อให้ที่นั่งทำงานของพวกเขาเข้ามาใกล้กันมากขึ้น หรือไม่ก็แยกให้ห่างกันออกไป… คุณจะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาของพวกเขา เมื่อมีการนำวิธีแก้ปัญหานั้นไปปฏิบัติจริง เพื่อให้วิธีแก้ปัญหานั้นประสบผลสำเร็จ

10. กำหนดวันที่จะให้พวกเขามาพูดคุยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหานั้นอีกครั้ง เช่น อาจจะเป็นหนึ่งสัปดาห์ หลังจากวันที่พูดคุยกันครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่ไม่รู้สึกว่า พวกเขาต้องทำตามข้อตกลงที่พวกเขาอาจไม่พอใจลึกๆ ก็เป็นได้ และถ้าการทำตามข้อตกลงนั้นช่วยแก้ปัญหาได้เพียงนิดหน่อย พวกเขาก็จะได้ใช้โอกาสนี้เจรจาปรึกษากัน ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป…

11. เมื่อสิ้นสุดการประชุม คุณต้องขอบคุณทั้งคู่ ที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และในการประชุมครั้งต่อไป คุณก็ควรขอบคุณพวกเขาอีกครั้ง สำหรับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ เพื่อให้ปัญหานั้นๆ คลี่คลาย และบอกว่าการที่ทั้งคู่พยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนั้น ได้ส่งผลดีต่อทีมด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าความขัดแย้งนั้นไม่มีแนวโน้มว่าจะประนีประนอมกันได้ คุณก็ควรจะ…

– อย่าให้พวกเขาเผชิญหน้ากัน ถ้าคุณเชื่อว่าการนำเรื่องของพวกเขาขึ้นมาพูดนั้น มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
– แยกพวกเขาออกจากกัน โดยการมอบหมายงาน การเลื่อนขั้น ย้ายแผนก หรืออาจต้องให้คนใดคนหนึ่งออกจากงาน (ถ้าจำเป็น)
– ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกันชนระหว่างทั้งคู่ เป็นผู้ประสานงานระหว่างคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน
– วางกฎ ยืนกรานในเรื่องการร่วมมือกันทำงาน ถ้าใครไม่ทำตามกฎ จะถูกลงโทษ

====
TIP วิธีป้องกันความขัดแย้งระหว่างพนักงาน

ในกรณีที่คุณไม่ต้องการปวดหัวกับ “ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกน้อง” คุณอาจป้องกันปัญหานี้ได้ โดย…

1. ให้ลูกน้องเข้ารับการฝึกอบรมในเรื่องวิธีทำงานกับคนที่มีภูมิหลัง บุคลิกลักษณะ และทัศนคติที่แตกต่างกัน
2. อย่าปล่อยให้ลูกน้องทะเลาะ แย่งชิงทรัพยากรกัน ให้จัดสรรสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน แก่พวกเขา อย่างพอเพียง
3. อย่าส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันระหว่างลูกน้อง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อย่าทำให้มันเป็นการแข่งขันในทางทำลายล้าง
4. เมื่อใดที่ลูกน้องเริ่มมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันอย่างมาก ให้เข้าไปไกล่เกลี่ย หรือหาทางยุติทันที ก่อนที่จะกลายเป็นการทะเลาะวิวาท
5. บอกวิสัยทัศน์ของแผนก/องค์กร ที่คุณอยากให้ลูกน้องร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น ให้พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจน
6. จัดทำข้อมูลอธิบายลักษณะงานที่ชัดเจน และมีลักษณะประสานสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดการเกี่ยง (หรือแย่งงานบางอย่าง) กันทำ
====

ถ้าคุณอยากเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการสร้างทีมและทำงานเป็นทีมโดยใช้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration ดูรายละเอียดคลิกที่นี่
บทความโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save