10 สัญญาณความล้มเหลวของการเป็นผู้นำ

15 02 2017

ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนมีหัวหน้างาน-ลูกน้อง มีผู้บริหาร-พนักงาน แต่ในกลุ่มผู้เป็นหัวหน้า หรือกลุ่มผู้บริหาร กลับมีหลายคนที่กำลังประสบความล้มเหลวในการเป็น “ผู้นำ”

นโปเลียน ฮิลล์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Think & Grow Rich หนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ผู้ประสบความสำเร็จทั่วโลกล้วนเคยอ่าน ว่า “ภาวะการเป็นผู้นำ มีด้วยกัน 2 แบบ หนึ่ง ผู้นำที่ได้รับการยินยอมและความเห็นชอบจากผู้ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการนำทีมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สอง การนำทีมด้วยการสั่งงาน การบังคับ เป็นการนำโดยไม่ได้รับการยินยอมพร้อมใจใดๆ จากผู้ปฏิบัติตาม”

นโปเลียน ฮิลล์ ย้ำว่า “จากหน้าประวัติศาสตร์ เราจะเห็นชัดว่า ผู้นำที่ใช้การออกคำสั่งบังคับให้ทำตาม จะดำรงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน มีบันทึกถึงกลุ่มผู้นำที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่กลับสูญเสียอำนาจลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ยินยอมพร้อมใจเดินตามผู้นำที่นำด้วยการบังคับตลอดไป”

ในฐานะหัวหน้า หรือผู้บริหารองค์กร ย่อมไม่อยากประสบความล้มเหลวในการเป็นผู้นำ… นโปเลียน ฮิลล์ ได้แนะวิธีสังเกต “10 สัญญาณอันตราย” ไว้ดังนี้…

 

1. ไม่สามารถจัดการงานลงรายละเอียด

บุคลิกสำคัญของการเป็น “ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ” จะต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ มองทะลุทุกปัญหา สามารถจัดการกับรายละเอียดงานต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน 

ที่สำคัญ ไม่มีผู้นำคนใดที่จะ “ยุ่งเกิน” จนไม่สามารถตัดสินใจในฐานะผู้นำภารกิจไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำรู้ทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงาน ย่อมมองออกว่า งานใดควรเร่งทำ งานใดควรลงมือทำเอง และงานใดควรมอบหมายให้ผู้ช่วยที่สามารถรับงานต่อได้

 

2. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานเล็กๆ น้อยๆ
 
ในทุกการทำงานย่อมมีงานใหญ่ งานรอง งานสำคัญ งานเร่งด่วน และงานที่รอก่อนได้ แต่บางครั้ง กับผู้นำบางคน เมื่อเห็นเป็น “งานเล็กๆ น้อยๆ” แม้จะสามารถช่วยเหลือทีมได้ แต่กลับเพิกเฉย ปล่อยให้ลูกทีมลงมือทำกันเอง

“ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกท่าน จะเป็นผู้รับใช้ท่าน” นโปเลียน ฮิลล์ ยกคำกล่าวอ้างอิงมาจาก “พระคัมภีร์ มัทธิว 23 :11” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งปกติได้มอบให้ผู้อื่นทำ แต่ถ้าสามารถช่วยแล้วงานเสร็จเร็วขึ้น ผู้นำควรเข้าไปร่วมทำด้วย เพราะสิ่งที่จะได้กลับมา คือผู้นำคนนั้นจะได้รับความร่วมแรงร่วมใจ และการนับถือจากผู้ปฏิบัติตาม

 

3. คาดหวังค่าตอบแทนจาก “สิ่งที่รู้”

ไม่แปลกที่คนเป็นหัวหน้า คนเป็นผู้บริหาร จะมีความรู้ในตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างดี แต่บางคนเมื่อ “รู้” แล้ว คาดหวังค่าตอบแทนจากความรู้ที่อยู่ในหัว เรียกร้องรายได้จากวุฒิการศึกษา ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริง ค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับ “การกระทำ”

หัวหน้า หรือผู้บริหาร จะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เลย หากหวังรายได้จากความรู้ที่มี โดยไม่ได้แปรความรู้เหล่านั้นเป็นการกระทำ และในฐานะผู้ปฏิบัติตาม ก็จะไม่เข้าใจความรู้ (ที่อยู่ในหัวของพวกเขา) หากไม่ได้เห็นภาพการกระทำที่ชัดเจน และทำตามได้ทันที

นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “โลกนี้ไม่จ่ายเงินสำหรับ ‘ความรู้ของใคร’ แต่จะจ่ายให้กับ… สิ่งที่พวกเขาทำ หรือสิ่งที่โน้มน้าวให้ผู้อื่นทำ”

 

4. กลัวการแข่งขันจากผู้ปฏิบัติตาม

เราสามารถเห็นได้ทั่วไปในสังคม ว่ามีผู้นำที่หวาดกลัวผู้ปฏิบัติตามคนใดคนหนึ่งจะมาแย่งตำแหน่ง ยิ่งคุณกลัวมากเท่าไหร่ สิ่งที่กลัวก็จะเป็นจริงเร็วขึ้นเท่านั้น

ผู้นำที่ดีควรสอนงาน มอบหมายงาน ทำทุกวิถีทางให้พนักงานรู้ทุกรายละเอียดงานในตำแหน่งของเขาด้วยความเต็มใจ วิธีนี้จะทำให้ผู้นำสามารถปลีกตัวจากหน้าที่เดิม มีเวลาพัฒนาตนเอง และก้าวไปสร้างสรรค์สิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นในหน่วยงานของตน

นโปเลียน ฮิลล์ ยืนยันจากการเก็บข้อมูลบุคคลผู้ประสบความสำเร็จนับร้อยคน ว่า “การมอบหมายงานให้ผู้อื่น จะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการพยายามทำทั้งหมดคนเดียว”

 

5. ไม่มีภาพจินตนาการล่วงหน้า

หากคุณตีความคำว่า “จินตนาการ” เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เรื่องเหนือจริง คุณย่อมไม่เห็นค่า ว่าผู้นำควรจะมีจินตนาการไปเพื่ออะไร?

คำว่า “จินตนาการ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่นั้น แต่ยังหมายถึง “การคิดภาพล่วงหน้าถึงสิ่งที่ ‘อาจจะ’ เกิดขึ้น” ผู้นำที่ดีควรต้องคิดภาพ คาดการณ์ทั้งด้านดีและด้านร้าย เพื่อเตรียมการรับมือเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังต้องคิดแผนสำรองสำหรับให้พนักงานปฏิบัติ มิเช่นนั้น เวลาเกิดเหตุสุดวิสัย เมื่อขาดจินตนาการภาพเหตุการณ์ล่วงหน้า ทีมจะเกิดภาวะระส่ำระสาย

 

6. รับความดีความชอบเพียงอย่างเดียว

หัวหน้าหรือผู้บริหารที่ชอบออกหน้า รับเอาความดีความชอบทั้งหมดของผู้ใต้บังคับบัญชา ว่า “เป็นผลงานของตน” มักเผชิญกับความรู้สึกไม่พอใจ แต่น่าแปลกที่บางทีพวกเขาไม่รู้ตัว และคิดว่าสิ่งที่พนักงานทำ เป็นสิ่งที่เขาทำ!

จากการวิเคราะห์ของนโปเลียน ฮิลล์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แทบทุกคนจะไม่ขอรับความดีความชอบใดๆ และยินดีที่จะบอกให้ทุกคนรู้ ว่าความดีความชอบเหล่านั้นเป็นของทีม เพราะผู้นำที่ดี รู้ว่าผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะทำงานหนักขึ้น หากได้รับการยกย่องชมเชย เป็นผลดีมากกว่าแค่ได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว

 

7. ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

หัวหน้างานที่มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง มักเผยท่าทีให้เห็นว่า “อยากทำอะไรก็ทำ” ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานต้องรับมือกับการมีหัวหน้างานประเภทนี้ พวกเขาจะรู้สึกเหนื่อยหน่าย แถมยังจะเอาไปนินทาว่าร้ายลับหลัง และแม้จะทำงานให้ตามสั่ง แต่ก็จะคอยระวังตัวตลอดเวลา ว่าคำสั่งนั้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบหรือเปล่า?

นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “ผู้ตามจะไม่ยอมรับนับถือผู้นำที่ไม่ยับยั้งชั่งใจ หรือยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง”

 

8. ไม่จริงใจต่อทีม
 
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเจอ คนที่ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานจับได้ว่าโดนหลอก โดนหักหลัง โดยเฉพาะจากคนที่เป็นหัวหน้า/เป็นผู้บริหาร พวกเขาจะแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อต้านขึ้นมาทันที และไม่ว่าต่อไปจะมีงานใดมอบหมายให้ทำ ก็จะทำแบบขอไปที ทำด้วยความระแวง ว่าจะโดนอะไรอีก!?

ผู้นำที่ดีจะต้อง ‘จริงใจ’ ทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ที่เหนือกว่าและผู้ที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถคงความเป็นผู้นำของตนไว้ได้นาน หากไร้ซึ่งความจริงใจ

นโปเลียน ฮิลล์ เปรียบ “ผู้นำที่ไม่จริงใจ” ว่าต่ำกว่าผงธุลีดิน สมควรถูกเหยียดหยาม และ “ความไม่จริงใจต่อกัน คือสาเหตุหลักของความล้มเหลวในทุกด้านของชีวิต”

 

9. ไม่พยายามโน้มน้าวให้เชื่อ

ผู้นำที่ดีจะนำทีมด้วยการพยายามโน้มน้าวให้เชื่อ ให้คิด และทำตาม ไม่ใช่การทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา “หวาดกลัว” แต่ก็มีผู้นำที่ไม่สามารถทำให้พนักงานเชื่อและยินดีทำตามด้วยความเต็มใจได้ โดยจะพยายามทำให้ผู้ปฏิบัติตาม รู้สึกถึง ‘อำนาจ’ นั่นหมายความว่า พวกเขาจะเป็นผู้นำประเภทที่จะคอยข่มขู่ บังคับ และออกคำสั่ง

คุณจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับในความคิด ยอมรับไปถึงบุคลิกที่ไม่เบียดเบียน หรือเอารัดเอาเปรียบ เมื่อพนักงานยอมรับความคิดและการกระทำของผู้นำ นั่นหมายถึงว่า พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความยุติธรรม ที่จะได้รับในทุกการปฏิบัติงาน

 

10. ชอบออกงาน ชอบคุยโว อวดตำแหน่ง
 
เรามักจะเห็นหัวหน้า/ผู้บริหารบางคน ชอบออกงาน คุยโวอวดตัว ว่าตนมีหน้าที่การงานดี มีตำแหน่งใหญ่โต เพื่อให้คนนับถือใน “ตำแหน่ง” ที่ตนได้รับ

เป็นความจริง ว่าพวกเขาจะได้รับการนับถือจากตำแหน่งที่ได้รับ แต่กลับไม่ได้รับการนับถือจากพนักงาน ในฐานะที่เป็นผู้นำที่ดี เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่า ผู้นำของเขากำลังให้ความสำคัญกับตำแหน่งมากเกินพอดี

นโปเลียน ฮิลล์ เขียนแซวคนที่ชอบคุยโวอวดตำแหน่ง ในหนังสือ Think & Grow Rich ว่า “พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความสำคัญอื่นให้คนทั่วไปเห็น นอกจาก ‘ตำแหน่ง’ ที่ได้มา จึงพยายามวางตัวหรูหรา เจ้ายศเจ้าอย่าง อวดโอ้เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นความสำคัญ”

 

 

บทความโดย LEARNING HUB TEAM

5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานจอมเหวี่ยง

เป็นความจริงที่ว่า… มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ สามารถเลือกบริษัทใหญ่โตดูมั่นคงที่อยากทำงานด้วยได้ เลือกโลเคชั่นพิกัดสถานที่ทำงานเพื่อความสะดวกในการเดินทางได้ แต่เรากลับ “ไม่สามารถ” รู้ได้เลยว่า จะเจอเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า แบบใด!!!

เพื่อนร่วมงานดี หัวหน้างานน่ารัก ย่อมทำให้ชีวิตการทำงานของเรามีความสุข แต่ถ้าประจวบเหมาะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต้องติดต่อประสานงานกับเพื่อนร่วมงานไม่มีเหตุผล นิสัยแอบแย่ จอมเหวี่ยง ขี้อิจฉา นั่นหมายถึงว่า ชีวิตการทำงานของเราคงไม่เป็นสุข และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลงาน หรือประสิทธิภาพการทำงาน

บทความนี้ เรามีไอเดียดีๆ ให้คุณเก็บไว้ใช้สื่อสาร-รับมือ กับ “เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่น่ารัก” เหล่านั้น


1. ปรับอารมณ์ก่อนพูดคุยกับพวกเขา

แรกสุดเลย อยากบอกว่า… เรารู้นะว่าคุณโดนอะไรมา!!! แต่ถ้าคุณกำลังรู้สึกแย่กับคำพูด หรือการกระทำของเพื่อนร่วมงาน อย่าตอบโต้ตามอารมณ์คุกรุ่นด้วยถ้อยคำรุนแรง ทั้งด้วยคำพูดและท่าทาง เพราะนั่นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ทั้งยังจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลง

การใช้อารมณ์ “เหวี่ยงร่วม” นอกจากจะทำให้คุณดูแย่ ยังทำให้บรรยากาศโดยรอบ แย่ตามไปด้วย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ของตัวคุณเองในองค์กร… สูดหายใจเข้าลึกๆ ควบคุมสติ ประคองอารมณ์ ทำตัวสวยๆ พูดคุยกันด้วยเหตุผล… มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำหรอกนะ เราเข้าใจคุณ… แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากหรอก ขอเพียงเริ่มจากความคิดในใจว่า “ฉันทำได้… ฉันรับมือได้… ”

 

2. พูดคุยกับคนอื่น ระบายความรู้สึกแย่ๆ ออกมา

โอเค… คุณเพิ่งโดนเหวี่ยงมา ทั้งที่คุณไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อนเลยนะ… จังหวะนี้ คุณอาจต้องการคนคุยด้วย เพื่อระบายความอึดอัด และเพื่อให้คุณรู้สึกแย่น้อยลง แชร์เรื่องราวของคุณกับเพื่อนหรือคนรู้ใจ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่เสริมเติมอารมณ์ส่วนตัว อย่าด่วนตัดสินผิด-ถูก ลองฟังคำพูด-ความเห็นจากคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมสถานการณ์ด้วย

บ่อยครั้ง พวกเขาจะมีไอเดียดีๆ ให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เพราะพวกเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมคนนอก ด้วยเหตุด้วยผล และไม่ได้ใช้อารมณ์ในการตัดสิน… แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของพวกเขาหรอกนะ เพราะการที่คุณได้ระบายสิ่งที่คุณอึดอัด ฟังอย่างพินิจพิเคราะห์และเป็นกลาง เพียงแค่นี้ก็น่าจะช่วยให้อารมณ์คุณดีขึ้นมากแล้ว

 

3. เปลี่ยนมุมมองในใจ ลองคิดด้วยมุมของพวกเขา

การเปลี่ยนมุมมอง แล้วย้อนคิดดูว่า “พวกเขาโดนอะไรมานะ?” อาจทำให้คุณเห็นภาพเพื่อนร่วมงานจอมเหวี่ยง ว่าพวกเขาอาจได้รับแรงกดดันมหาศาล จากทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเติบโตมาในครอบครัวไม่สมบูรณ์ มีปมด้อยในชีวิต บ่มเพาะให้คิดไปว่า “การเหวี่ยงวีน การทำตัวเหนือคนอื่น เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำกัน และจะให้ผลลัพธ์ที่ดี”

เมื่อคุณรู้จักพื้นฐานครอบครัว ที่มาความคิดของพวกเขา ย่อมทำให้คุณเข้าอกเข้าใจนิสัยพื้นเพ เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม สื่อสารไม่น่ารัก คุณจะรู้สึกแย่น้อยลง แถมยังยิ้มในใจว่า “ก็เขาเคยโดนอย่างนั้นมา.. เขาเลยเป็นคนแบบนี้แหละ.. ฉันเข้าใจคุณนะ”

 

4.  หาเวลาพูดคุยกันด้วยความผ่อนคลาย

เมื่อคุณเริ่มเข้าอกเข้าใจ รู้ที่มาที่ไปของบุคลิกนิสัยไม่น่ารักของเพื่อนร่วมงานคุณแล้ว คุณอาจหาเวลาพูดคุย หรือทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ผ่อนคลาย-ไม่จริงจัง เช่น การตีแบตหลังเลิกงาน ไปกินข้าว หรือทำกิจกรรมบันเทิงสนุกๆ ร่วมกัน

เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีนอกเหนือหน้าที่การงาน จะทำให้พวกเขาผ่อนคลาย และเมื่อคุณสนิทกับพวกเขามากขึ้น คุณอาจหาจังหวะโอกาสพูดคุยกันแบบเปิดอก ว่าคุณรู้สึกอย่างไร? พร้อมทั้งอธิบายสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมานั้น ว่าไม่น่ารักอย่างไร? วิธีนี้คือ “การเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร” นั่นเอง!

 

5. ไว้คุยกันเมื่อพร้อมและสบายใจ แต่ตอนนี้ ขออยู่ห่างๆ ก่อนนะ

สำหรับ “บางคน” ถ้าคุณได้ลองทุกวิธีข้างต้น… ทั้งปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติต่อพวกเขา ทำดีด้วยก็แล้ว พูดคุยด้วยความเข้าอกเข้าใจก็แล้ว คุณได้เปิดโอกาสให้ตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ในการพัฒนาความสัมพันธ์อันดี แต่สถานการณ์กลับยังไม่ดีขึ้น… สุดท้าย คุณอาจจำเป็นต้องตัดพวกเขาออกจากการพบปะพูดคุย ด้วยการอยู่ห่างจากพวกเขา หลีกเลี่ยงการต้องทำงานร่วมกันในช่วงเวลานี้ เพราะเขาคงยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง!

เพราะการเปลี่ยนนิสัย-ความคิด-ความเชื่อของบางคนอาจเป็นสิ่งยาก แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการควบคุมปัจจัยภายในตัวคุณเอง… อย่าให้คนชอบวีน ขี้เหวี่ยง นิสัยไม่น่ารัก แสดงพฤติกรรมแย่ๆ มาทำลายวันทำงานของคุณ หรือส่งผลให้คุณรู้สึกเป็นทุกข์…

คุณควรมีความสุขกับงานที่ทำ… อย่าใส่ใจหรือให้คุณค่ากับคนไม่น่ารักเหล่านั้นเลย! 

 

 

บทความโดย LEARNING HUB TEAM

5 เคล็ดลับ สร้างสมาธิให้คุณโฟกัสงาน ได้ตลอดวัน

LHT template update 26 12 2016

คุณเคยพบว่าทำงานในแต่ละวันได้น้อยลงหรือไม่? บางวันคุณอาจรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก แต่ขณะที่วันอื่นๆ แม้ว่าจะใช้เวลานานมากแค่ไหน งานตรงหน้าก็ไม่สำเร็จสักที

เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันว่าการใช้เวลานานๆ และทำตัวให้ยุ่งตลอดทั้งวันจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการศึกษาเมื่อปี 2008 ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์แสดงให้เห็นว่าการถูกผูกติดอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานานจะลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ขณะที่การพักเบรกช่วงสั้นๆ นั้นช่วยให้คุณมีสมาธิและมีพลังงานมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่บ่งบอกว่าการนั่งอยู่ที่โต๊ะนานๆ นั้นเป็นการทำลายสุขภาพ และเรายังรู้กันมานานแล้วว่าการนั่งนานๆ เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และความเสี่ยงโรคร้ายแรงอื่นๆ กระทั่งไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้ด้วยการออกกำลังกาย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยโดยนักวิจัยชาวสวีเดน Dr. Elin Ekblom-Bak ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2010 แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแค่การออกกำลังกายเท่านั้นที่ทำให้สุขภาพเราดีขึ้น การพักเบรกเป็นช่วงและลุกจากโต๊ะบ้างก็ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้เช่นกัน

บทความวันนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ “โพโมโดโร เทคนิค” วิธีการง่ายๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและปกป้องสุขภาพของคุณโดยการสร้างกำลังใจในการทำงานแต่ละวันด้วยการพักเบรกช่วงสั้นๆ

โพโมโดโร เทคนิคถูกคิดค้นขึ้นโดย Francesco Cirillo ในปี 1980 ในหนังสือขายดีที่ใช้ชื่อเดียวกันซึ่งได้รับการปรับปรุงและพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 2013 

“โพโมโดโร” แปลว่ามะเขือเทศในภาษาอิตาเลียน Cirillo ได้แนวคิดชื่อนี้มาจากตัวจับเวลาในห้องครัวรูปมะเขือเทศที่เขาใช้เพื่อบริหารเวลาในช่วงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย  

เทคนิคนี้แนะนำว่าให้คุณแบ่งการทำงานออกเป็นช่วงละ 25 นาที แต่ละช่วงคั่นด้วยเวลาเบรกสั้นๆ

วิธีนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความเรียบง่าย ช่วงเวลา 25 นาที คือมะเขือเทศหนึ่งผล เมื่อคุณทำงานใช้ช่วงที่หนึ่งเสร็จ ให้ใช้เวลาพักประมาณ 5 นาทีก่อนจะเริ่มงานช่วงถัดไป เมื่อคุณทำงานทั้ง 4 ช่วงเสร็จ ให้พักยาวเพื่อเติมพลังและเรียกความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

ในครั้งแรกที่คุณเริ่มทำความรู้จักกับเทคนิคนี้ มันอาจดูขัดแย้งเมื่อได้รู้ว่ามีเวลาพักเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน แต่จากงานวิจัยแสดงให้เราเห็นแล้วว่ามันสามารถเพิ่มพลังสมาธิเมื่อคุณกลับมาทำงานหลังการพักเบรกได้

5 ขั้นตอนการใช้เทคนิคโพโมโดโร

ขั้นที่ 1: ตรวจสอบตารางเวลา

ในขั้นแรกนี้คุณต้องตรวจสอบตารางเวลาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำหรือโครงการต่างๆ ที่วางแผนไว้ และเริ่มคิดว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องทำในวันนี้

ประมาณการเวลาที่คุณต้องใช้ในการทำงานแต่ละชิ้น โดยจำกัดส่วนของงานที่คุณต้องการทำให้สำเร็จให้อยู่ในช่วงโพโมโดโร (ช่วงละ 25 นาที) และตอนนี้ตารางเวลาของคุณก็จะเหมาะสมกับภาระหน้าที่ในแต่ละวันพอดี

นอกจากนี้อย่าลืมเวลาพักเบรกในตารางเวลาของคุณด้วย 5 นาทีในแต่ละช่วง และเพิ่มเวลาพักเป็น 20-30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้พักช่วงจากงานอย่างเป็นธรรมชาติ (ตัวอย่างเช่น หลังทำงานครบทั้ง 4 โพโมโดโร ให้พักช่วงยาวหนึ่งช่วง)

หมายเหตุ:

Cirillo แนะนำให้ทำงานในช่วง 25 นาที แต่คุณอาจต้องการช่วงระยะเวลาอื่นๆ ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกายเรา กล่าวว่าเราจะโฟกัสสิ่งที่กำลังทำได้เต็มที่ 90-120 นาทีก่อนที่ร่างกายจะต้องการพัก

อย่างไรก็ตามเพื่อสุขภาพของเรา ควรพักช่วงจากการทำงานและเคลื่อนไหวร่างกายบ้างทุกๆ 45 นาที

ขั้นที่ 2: ตั้งกำหนดการ

ก่อนจะเริ่ม คุณต้องมั่นใจก่อนว่าคุณมีอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นในการทำงานเตรียมพร้อมไว้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นปากกาหรือกระดาษโน้ต (และอื่นๆ) ตั้งนาฬิกาจับเวลาสำหรับช่วงนาทีที่คุณตั้งใจจะทำงาน เช่น เราตั้งใจจะทำตามโพโมโดโรเทคนิคก็ตั้งไว้ที่ 25 นาที

คุณสามารถใช้ตัวจับเวลาประเภทใดก็ได้ที่ชอบ นาฬิกาจับเวลาสำหรับการทำอาหารก็ใช้ได้ถ้าหากคุณทำงานอยู่ที่บ้าน แต่หากคุณทำงานที่ออฟฟิศ ก็ต้องพยายามนึกถึงเพื่อนร่วมงานที่อาจทำเสียงดังรบกวนด้วย

ไม่ว่าจะเป็นตัวจับเวลาแบบไหนก็สามารถใช้งานได้ทั้งสิ้น กระทั้งแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนอย่าง Iphone หรือในระบบปฏิบัติการ Android ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

เมื่อคุณเริ่มจับเวลา ให้สนใจแต่งานตรงหน้าเท่านั้น จำไว้ว่าคุณมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องโฟกัสในการทำงานอย่างเต็มที่ จากนั้นเมื่อถึงช่วงพัก คุณก็สามารถโทรกลับสายที่โทรเข้ามาระหว่างทำงานหรือไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้

หรืออาจจะเลือกทางเลือกอื่นเพื่อลดเหตุการณ์ที่อาจเข้ามารบกวนระหว่างคุณทำงาน โดยก่อนเริ่มจับเวลา คุณลองปิดประตูห้องทำงาน ปิดโทรศัพท์และแจ้งเตือนข้อความหรืออีเมล์ รวมถึงทำให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าคุณไม่ต้องการถูกรบกวน

ขั้นที่ 3: ทำงานของคุณและตั้งใจทำเฉพาะงานนั้น

มุ่งความสนใจอย่างเต็มที่ไปยังงานที่เราตั้งใจจะทำในช่วงเวลานั้นๆ

อย่าปล่อยให้สมาธิของคุณไขว้เขวไปกับไอเดียของงานชิ้นอื่นที่อาจผุดขึ้นมาในหัว โดยเขียนไอเดียเหล่านั้นไว้ในกระดาษโน้ตแล้วปล่อยมันไว้เพื่อกลับมาดูภายหลัง

และถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญคุณอาจจัดตารางเวลาสำหรับไอเดียเหล่านั้นในช่วงต่อไป แต่ตอนนี้จงตั้งใจทำงานตรงหน้าซะก่อน

หากคุณทำงานเสร็จทั้งหมดก่อนเวลาจะหมด ให้ใช้เวลาที่เหลือเพื่อทำกิจวัตรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำเป็นประจำหรือทำงานชิ้นเล็กๆ อย่างอื่น เป็นไอเดียที่ดีหากคุณคิดจะเขียนโน้ตเพื่อตรวจดูว่าเทคนิคนี้ทำให้คุณทำงานสำเร็จไปกี่ชิ้น เพื่อให้คุณสามารถวางแผนการทำงานในอนาคตได้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานแต่ละวันให้มากกว่าเดิม

ขั้นที่ 4: พักเบรกสักครู่

เมื่อเวลาหมด ให้คุณพักเบรก 5 นาทีถึงแม้ว่าคุณกำลังอยู่ใน ‘ภาวะลื่นไหล’ ก็ตาม เพราะการพักจะช่วยเติมพลังในการทำงานให้เรานั่นเอง

คุณอาจกังวลว่าการพักเบรกจะทำให้เสียเวลา แต่การพักตามปกตินั้นจะช่วยให้คุณได้เติมพลังงานกลับมาใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งมากกว่าจะเป็นการเสียเวลา Cirillo ให้เหตุผลว่าพลังงานนั้นสำคัญยิ่งกว่าเวลา แนวคิดโพโมโดโรนี้ก็เป็นการบริหารจัดการพลังงานของคุณ เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เพื่อทำงานเวลาที่ระดับสมาธิของคุณลดต่ำลง

เพื่อประโยชน์สูงสุด ใช้ช่วงเวลาพักโดยอยู่ให้ห่างโต๊ะของคุณ อาจเดินไปรอบๆ หรือยืดเส้นยืดสาย แม้กระทั่งเดินไปชงกาแฟ หยิบแก้วน้ำ หรือไปถ่ายเอกสารจากเครื่องที่ตั้งอยู่ห้องข้างๆ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้คุณเลี่ยงจากความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บป่วยและภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

ระหว่างที่คุณอยู่ในช่วงพัก ให้หลีกเลี่ยงการคิดถึงความคืบหน้าของงานที่ทำไป นี่คือช่วงเวลาที่สมองจะได้ผ่อนคลายหลังจากต้องเรียนรู้อย่างหนักมาตลอด เพราะฉะนั้นอย่าคิดอะไรมากเกินความจำเป็น!

นอกจากนี้ พยายามอย่าใช้ช่วงเวลาพักไปกับการตอบแชทโซเชียลมีเดีย อีเมล์ หรือท่องเว็บต่างๆ เพราะมีผลสำรวจพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสายตาเสียจากการจ้องจอคอมหรือหน้าจอมือถือนานเกินไป

ให้ใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมอื่นที่อยู่ห่างจากโต๊ะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเอกสารเก่าๆ หรือเดินไปพูดคุยกับเพื่อนในทีม หากคุณทำงานที่บ้านก็อาจทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น นำผ้าลงเครื่องซัก เป็นต้น

ขั้นที่ 5: กลับเข้าสู่การทำงานให้ครบทุกช่วงและเข้าช่วงพักยาว

เมื่อเวลาพักสิ้นสุดลง ตั้งนาฬิกาจับเวลาเข้าสู่ช่วงการทำงานช่วงต่อไป เมื่อทำงานครบสี่ช่วงให้คุณใช้เวลาพักยาวประมาณ 20-30 นาที ไม่ว่าจะเป็นออกไปเดินเล่น กินอาหารว่างแบบเฮลท์ตี้ ทานอาหารกลางวัน อ่านหนังสือ อะไรก็ได้ที่คุณต้องการตราบใดที่กิจกรรมนั้นอยู่ห่างจากโต๊ะทำงานเพื่อให้คุณได้ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งจากงานที่เพิ่งทำมาก่อนหน้านี้

จำไว้ว่าสิ่งสำคัญคือการเติมพลังงาน เพียงเพราะแนวทางของเราบอกไว้ว่าต้องทำงานให้เสร็จในช่วงเวลาหรือทำงานครบทั้งสี่ช่วงก่อนจะพักยาว ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎเหล่านี้เป็นกฎตายตัว

การฟังความต้องการของร่างกายตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ หากจิตใจของเราเริ่มวอกแวกหรือคุณอาจเริ่มรู้สึกเหนื่อย อย่าฝืนตัวเองเพื่อทำงานให้ครบตามกำหนดช่วงเวลา ให้นึกถึงจังหวะของร่างกายที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ ที่ว่าตัวเรามีรอบการทำงานอยู่ที่ 90-120 นาที และมันก็ยากที่จะบอกได้ว่าร่างกายของคุณอยู่ในช่วงใดเมื่อเริ่มการทำงาน

บางทีคุณอาจต้องพิสูจน์เรื่องนี้ บางครั้งการทำงาน 20 นาที และแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาก่อนจะพักยาว 30 นาทีอาจเหมาะสมกับคุณมากกว่าก็เป็นได้

หรือบางทีคุณอาจมีสมาธิดีในช่วงเช้าและต้องการพักบ่อยขึ้นในช่วงบ่าย เมื่อคุณค้นพบรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง คุณจะต้องรู้สึกอัศจรรย์กับความสำเร็จของงานที่คุณทำได้ในแต่ละวัน

ข้อดีและข้อเสียของโพโมโดโร เทคนิค

การใช้โพโมโดโร เทคนิคมีประโยชน์ต่อการบริหารเวลาในการทำงานหลากหลายข้อ

การหั่นเวลาทำงานให้สั้นลงช่วยให้ระดับการโฟกัสในงานแต่ละช่วงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมันสามารถช่วยบริหารเวลาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถทำให้โปรเจคใหญ่ๆ ดูทำสำเร็จได้ง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังช่วยลดการถูกรบกวนในการทำงานหลายๆ อย่าง ลดความรู้สึกท้อหรือการผัดวันประกันพรุ่งซึ่งอาจทำให้คุณเสียสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานเพราะคุณมีเวลาทำงานแต่ละชิ้นอย่างจำกัด

งานวิจัยยืนยันว่าการพักเบรกนั้นดีต่อสุขภาพและช่วยเพิ่มระดับสมาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มระดับประสิทธิภาพการทำงานได้ Cirillo ระบุอีกว่าวิธีการนี้ยังเหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder หรือ ADD) อีกด้วย  

นอกจากนี้การพักเบรกช่วงสั้นๆ จะช่วยให้สมองของคุณได้ปรับตัวรับข้อมูลต่างๆ ได้ดี เพิ่มโอกาสในการคิดไอเดียบรรเจิดใหม่ๆ ออกมาอย่างที่คุณนึกไม่ถึง

การใช้เวลาเพื่อพักผ่อนและเติมพลังงานในระหว่างวันยังช่วยให้คุณได้พักร่างกายเมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยล้าในยามบ่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน บางคนอาจรู้สึกว่าการพักช่วงสั้นๆ นั้นน่ารำคาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงพักนั้นอยู่ในระหว่างที่พวกเขากำลังมีแรงบันดาลใจทำงานอย่างลื่นไหล

นอกจากนี้การโฟกัสงานเป็นช่วงๆ ยังทำได้ยากหากคุณมีหน้าที่การงานหรือทำงานอยู่ในออฟฟิศที่อาจถูกรบกวนได้บ่อยจากเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า

ความไม่ยืดหยุ่นของการกำหนดเวลาทำงานในแต่ละช่วงเป็นเวลาเท่าๆ กันอาจส่งผลด้านลบให้เกิดขึ้นได้ เช่น หากคุณมีประชุมและเวลาประชุมมาซ้อนทับกับช่วงเวลา 4 ช่วงที่คุณกำหนดไว้พอดี เป็นต้น

โดยสรุป โพโมโดโร เทคนิคนั้นเรียบง่ายและมีการดำเนินการไม่ยุ่งยาก มันต้องการแค่ตัวจับเวลาและทัศนคติที่ว่า “ฉันทำได้” และยังสามารถสร้างสุขภาพที่ดีไปจนถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ลองดูสิว่ามันจะเหมาะกับคุณหรือไม่!

เคล็ดลับ

โพโมโดโร เทคนิคถูกคิดค้นขึ้นโดย Francesco Cirillo ในปี 1980 และตีพิมพ์ในหนังสือขายดีที่ใช้ชื่อเดียวกัน

เทคนิคนี้ใช้ตัวจับเวลาเพื่อแบ่งงานของคุณออกเป็นช่วงละ 25 นาที แต่ละช่วงเรียงว่า “โพโมโดรริ (Pomodori) หลังจากเสร็จงานในแต่ละช่วง คุณจะได้เวลาพัก 5 นาที และเมื่อคุณทำงานครบสี่ช่วง ให้พักยาว 20-30 นาที

มันเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย ใช้งานง่ายและสามารถสร้างประโยชน์มากมายทั้งในด้านประสิทธิภาพการทำงานและด้านสุขภาพ การพักบ่อยๆ ช่วยเพิ่มระดับความสามารถในการตั้งสมาธิกับงานที่ทำซึ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้มันยังช่วยลดภาวะด้านลบต่างๆ ที่อาจเกิดกับร่างกายเมื่อนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะนานๆ อีกด้วย

แปลและเรียบเรียงโดย

Learning Hub Team

ที่มาบทความ: https://www.mindtools.com/pages/article/pomodoro-technique.htm

 

8 วิธี บริหารเวลาขั้นเทพ เพื่อให้คุณเหนื่อยน้อยลง

ผู้ที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทำงานอย่างหนัก แต่พวกเขาทำงานอย่างชาญฉลาด กล่าวคือ พวกเขาบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อย้อนดูตัวเอง คุณแบ่งเวลา 24 ชั่วโมงให้กับอะไรบ้าง เรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องเพื่อน หรือเรื่องส่วนตัว คุณให้ความสำคัญกับสิ่งใดที่สุด และคุณมีวิธีบริหารจัดการเวลาที่เหลืออย่างไร บทความนี้เปิดเผยเทคนิค 8 ข้อในการบริหารจัดการเวลาของผู้ที่ประสบความสำเร็จ

1) ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

นึกถึงสถานการณ์ตอนผู้จัดการเดินเข้ามาในออฟฟิศ ทุกคนดูยุ่งวุ่นวายไปหมด บางคนรับโทรศัพท์ บางคนประชุม บางคนพิมพ์งาน หรือทำธุระต่างๆ แต่คุณคิดว่าพวกเขายุ่งจริงๆ หรือไม่

หากถามคนที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาจะตอบทันทีว่า ภาพที่ดูสับสนวุ่นวายเหล่านั้นแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน การทำตัวยุ่งหรือทำงานหนักทั้งวัน อาจทำให้พวกเขาได้รับคำชมจากเพื่อนร่วมงาน แต่พวกเขาไม่มีวันได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

คุณอาจเปรียบเทียบตัวอย่างนี้กับนักวิ่งที่วิ่งเป็นระยะทาง 100 ไมล์อย่างไม่หยุดหย่อน แต่ผลสุดท้ายกลับพบว่าตนเองวิ่งผิดเส้นทางจึงไม่ถึงเส้นชัยสักที สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อคุณจะทำสิ่งใด คุณต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อที่คุณจะไม่วอกแวก หรือเสียเวลากับเรื่องที่ไม่จำเป็น และคุณจะประสบความสำเร็จในที่สุด

2) ปรับปรุงกระบวนการทำงาน

การทำงานอย่างชาญฉลาด คือ การทำงานที่ใช้สมอง พยายามคิดปรับปรุงวิธี หรือกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ในทางตรงกันข้าม  การทำงานตามความเคยชิน คือ การทำงานรูปแบบเดิมๆ เป็นระยะเวลานาน โดยไม่คิดเปลี่ยนแปลง หรือหาอะไรที่แปลกใหม่ คอยฟังแต่คำสั่งเพียงอย่างเดียว พฤติกรรมการทำงานเช่นนี้จะทำให้คุณกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีชีวิตชีวา

ลองสังเกตดูว่าคุณทำงานแบบไหน อย่ามัวย่ำอยู่กับที่ หรือทำแต่สิ่งซ้ำซากจำเจ เพราะคุณจะทำงานออกมาในระยะเวลาเท่าเดิม และได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ แทนที่คุณจะสามารถทำงานได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา และผลงานมีคุณภาพมากขึ้น

3) จัดลำดับความสำคัญของงาน

การจัดลำดับความสำคัญเป็นกุญแจหลักของผู้ที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี แต่พวกเขายังจัดลำดับขั้นตอนการทำงานที่เหมาะสม นั่นคือ แก้ไขปัญหาหรือทำงานที่สำคัญที่สุดก่อน

ดังนั้น จงนำวิธีนี้ไปใช้กับงานของคุณ เพราะเมื่องานที่สำคัญที่สุดเสร็จสิ้น คุณก็สามารถพูดได้ว่างานทั้งหมดของคุณประสบความสำเร็จแล้ว

นอกจากนี้ อย่าปล่อยให้งานจุกจิก หรืองานที่มีรายละเอียดมากทำให้คุณท้อใจ จงมุ่งมั่นตั้งใจทำมันอย่างต่อเนื่อง และอย่าผัดวันประกันพรุ่ง   

4) เปลี่ยนการทำงานให้เป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นเกมส์

การเปลี่ยนการทำงานให้เป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นเกมส์เป็นวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ให้คุณคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายแต่ละชิ้นเป็นเหมือนด่านต่างๆในเกมส์ ซึ่งคุณต้องผ่านมันไปให้ได้ อย่าลืมว่าในเกมส์มีอุปสรรคมากมายและหากคุณเล่นเกมส์ได้ดี คุณก็จะได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน

คุณอาจประยุกต์แนวคิดนี้กับการทำงาน โดยแบ่งงานชิ้นใหญ่ออกเป็นส่วนๆ และทำให้เสร็จภายในเวลา 15-20 นาที และหลังจากที่คุณทำมันสำเร็จ คุณก็ควรให้รางวัลตัวเองด้วย รางวัลอาจเป็นขนม เครื่องดื่ม การพักผ่อน การท่องเที่ยว หรือการทำกิจกรรมที่คุณชอบก็ได้

ประโยชน์ของการทำงานรูปแบบนี้ทำให้คุณรู้จักการบริหารจัดการเวลาในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะคุณจะทำงานเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดและได้เห็นผลลัพธ์ หรือได้รับผลตอบแทนในสิ่งที่คุณลงมือทำทันที วิธีการนี้ทำให้คุณมีกำลังใจและทำงานอย่างมีเป้าหมายยิ่งขึ้น

5) จัดงานที่ใกล้เคียงหรือมีความเกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกัน

โดยธรรมชาติสมองคนเราถูกออกแบบให้คิดเรื่องราวได้เพียงเรื่องเดียว ณ เวลาหนึ่ง แต่เมื่อคุณทำหลายงาน คุณจำเป็นต้องใช้สมองหลายส่วนพร้อมกัน

ดังนั้น หากคุณจัดงานที่ใกล้เคียงหรือมีความเกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกัน สมองของคุณก็ไม่ต้องคิดเรื่องราวต่างๆสลับไปสลับมา ยกตัวอย่างเช่น งานที่ต้องใช้การวิเคราะห์ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นต้น

ทั้งนี้การทำงานที่ใช้ทักษะประเภทเดียวกันอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน ดังนั้น คุณควรจัดงานที่คล้ายๆกันไว้ด้วยกัน และลงมือทำในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

6) จัดเอกสารให้เป็นระบบ

หนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่สุดในการบริหารเวลาก็คือ การจัดเอกสารให้เป็นระบบ เพราะเมื่อคุณลงมือจัดระเบียบเอกสารทั้งหมดแล้ว คุณก็จะเห็นว่างานแต่ละชิ้นมีสถานะเป็นอย่างไร หรือมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณประหยัดเวลาในการค้นหา และการเรียกใช้ข้อมูลต่างๆอีกด้วย

7) หัดปฏิเสธบ้าง

ในการทำงานบางครั้งคุณจำเป็นต้องพูด “ปฏิเสธ” เนื่องจากคุณไม่สามารถทำงานทุกชิ้นได้ อีกทั้ง งานที่หนักเกินไปก็ไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามมันกลับส่งผลให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า และหมดแรง

คนที่ประสบความสำเร็จ มีทักษะในการปฏิเสธงานที่ไม่จำเป็น

พวกเขามักใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อโฟกัสกับงานที่มีความสำคัญมากกว่า และนั่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาบริหารเวลาที่มีอย่างจำกัดให้กิดประสิทธิภาพมากที่สุด

8) อย่าหักโหมทำงานหนักเกินไป

แม้ว่าคุณจะบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน คุณก็จะพบว่าแต่ละวันโต๊ะของคุณก็ยังคงเต็มไปด้วยงาน ผู้ที่ประสบความสำเร็จมักทำงานอย่างพอเหมาะ พวกเขาไม่ได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำโดยไม่หยุดพัก คุณก็เช่นกัน จงใช้เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วันให้คุ้มค่า โดยแบ่งเวลาให้กับชีวิตด้านอื่นบ้าง

เช่น ครอบครัว เพื่อน ตนเอง หรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น และคุณจะพบว่าการแบ่งเวลาอย่างเหมาะสมช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในชีวิตได้

แปลและเรียบเรียงโดย 

Learning Hub Thailand

Source: http://www.lifehack.org/369109/8-time-management-secrets-only-successful-people-master

 

5 วิธีเอาชนะความกลัว เมื่อรับตำแหน่งใหม่

5-tips-to-overcome-lazy-habit

ใครๆ ก็อยากเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นใช่ไหมคะ เพราะจะได้ปรับเงินเดือนสูงขึ้น มีลูกน้องเพิ่มขึ้น มีคนนับหน้าถือตามากขึ้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว Leaning Hub เชื่อว่าหลายคนอดกลัว และกังวลใจไม่ได้ เพราะเมื่อนึกถึงภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น งานหนัก เหนื่อยและยากมากขึ้น ก็รู้สึกหวาดหวั่นและเกรงว่าจะทำไม่ได้

แต่คุณลองคิดดูสิคะว่าจะมีสักกี่คนในบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจ และโอกาสอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ดังนั้น เพื่อให้คุณรับตำแหน่งใหม่ได้อย่างมั่นใจ วันนี้เรามีวิธีเอาชนะความกลัว เมื่อรับตำแหน่งใหม่มาฝากกันค่ะ

1) ปลุกความกล้าในตัวคุณ

“จงเปลี่ยนความกลัว ให้เป็นความกล้า”

คนส่วนใหญ่เมื่อต้องรับตำแหน่งใหม่จะคาดการณ์ไปก่อนแล้วว่าเป็นงานยาก หนัก และเหนื่อย ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาและลงมือทำเลย ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะเข้าใจรายละเอียดงานเบื้องต้นแล้ว ก็ยังคิดว่าตนเองไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำงานนั้นได้ จึงเกิดความกลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง และพาลไม่อยากรับตำแหน่งใหม่ค่ะ

แต่คุณรู้ไหมคะว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเหมือนหลุมพรางที่ฉุดรั้งความก้าวหน้า และทำให้คุณพลาดโอกาสดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าคุณมัวแต่คิดว่าตนเองไม่พร้อม คุณก็จะไม่มีวันได้เริ่มต้นทำอะไรเลย และนั่นจะทำให้คุณแพ้ตั้งแต่เกมส์ยังไม่เริ่มค่ะ

คุณควรคิดว่าการลงมือทำจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จ 50% แต่หากคุณกลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าทำอะไรเลย โอกาสความสำเร็จของคุณจะเท่ากับ 0% ดังนั้น เมื่อคุณรู้แบบนี้แล้ว ก็อย่ารีรอที่จะสู้ และลงมือทำค่ะ

2) เชื่อมั่นและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

“การดูถูกความสามารถของตนเอง เป็นความคิดที่ทำร้ายตัวเองมาก”

การที่หัวหน้าให้ตำแหน่งคุณแสดงว่าเขาเล็งเห็นศักยภาพ และมั่นใจในความสามารถของคุณที่จะทำงานให้สำเร็จได้ ในเมื่อคนอื่นไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวคุณขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่คุณจะดูถูกความสามารถของตนเองนะคะ

ลองทบทวนดูสิคะว่าคุณมีจุดดี จุดเด่นอะไรบ้าง เช่น เป็นคนตรงเวลา ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบ หรือรู้จักเพื่อนร่วมงานมากมาย นอกจากนี้ คุณอาจย้อนนึกถึงผลงาน หรือความภาคภูมิใจที่คุณเคยทำสำเร็จในอดีต

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมา และพร้อมจะเป็นแรงผลักดันให้คุณพัฒนาตนเองต่อไปค่ะ แม้ว่าคุณจะเคยทำความผิดพลาดในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นะคะ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

จงนำมันมาเป็นบทเรียน ปรับปรุง และหมั่นฝึกฝนตนเองต่อไป อย่าเสียเวลาคร่ำครวญกับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คุณควรสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่สวยงามค่ะ

3) เลิกเครียดและกดดันตัวเอง

“ความเครียดทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง”

ทุกคนล้วนต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องรับตำแหน่งใหม่จริงๆ คุณก็เกิดความรู้สึกกังวล เครียด และกดดันใช่ไหมคะ คุณมักกลัวกับการเปลี่ยนแปลง และไม่อยากปรับตัวใหม่

ความเครียดและแรงกดดันเกิดขึ้น เพราะคุณรู้สึกว่าต้องทำงานที่คนอื่นสั่ง คุณจึงทำอย่างไม่เต็มใจ และแน่นอนว่าคุณไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าที่ควรจะเป็นค่ะ           

ดังนั้น จงปรับทัศนคติของตนเองใหม่ค่ะ เพียงคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้พิสูจน์และพัฒนาฝีมือตัวเอง มองงานให้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เปลี่ยนแรงกดดันเป็นพลังที่ช่วยผลักดันให้คุณสร้างสรรค์สิ่งที่ดีค่ะ

ในช่วงแรกคุณควรหลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายที่เป็นอันดับหรือตัวเลข แต่ให้มุ่งเน้นไปที่แนวทางและวิธีการทำงานก่อนค่ะ เพราะเมื่อคุณทำงานโดยไม่เครียดและไม่มีแรงกดดันแล้ว คุณจะสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลค่ะ

4) เลือกมองแต่ด้านดี

“การคิดบวก ทำให้คุณมีพลังในการทำงาน”

ตำแหน่งใหม่มักมาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น ประชุมทั้งวัน รายงานความคืบหน้าให้หัวหน้ารับทราบ มอบหมายงานให้ลูกน้องปฏิบัติ และตรวจสอบความถูกต้อง เป็นต้น

แค่คิดก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมคะ อาการท้อแท้กับงานส่วนใหญ่เป็นเพราะคุณมองเห็นแต่อุปสรรค หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานที่รับผิดชอบค่ะ

นั่นหมายความว่า หากคุณเห็นประโยชน์มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ลองถามตัวเองดูสิคะว่า

“ตำแหน่งใหม่ของคุณมีข้อดีอะไรบ้าง”

“ทำให้คุณได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง”

“ทำให้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ คือใครบ้าง” เป็นต้น

เมื่อคุณรู้ประโยชน์ที่จะได้รับ คุณจะเกิดความรู้สึกเชิงบวก และมองเห็นว่างานนั้นน่าสนใจ มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อชีวิตคุณค่ะ

5) เพิ่มพูนทักษะ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

“ทักษะ เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จ”

งานใหม่จะยากสักแค่ไหน แต่ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันทีค่ะ ดังนั้น ก่อนรับตำแหน่งใหม่ คุณจำเป็นต้องเข้าใจเนื้องาน และพัฒนาทักษะตนเองให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย

คุณต้องทราบว่างานใหม่เป็นงานประเภทไหน เช่น งานวิเคราะห์ งานติดต่อประสานงาน งานเอกสาร หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณทราบแล้ว คุณจะได้พัฒนาทักษะของตนเองให้ตรงจุด เพื่อที่จะรับมือกับงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

คุณสามารถเลือกวิธีพัฒนาตนเองได้มากมาย เช่น สังเกตการณ์ อ่านหนังสือ สอบถามผู้รู้ หรือลงเรียนคอร์สอบรมต่างๆ เมื่อคุณมีทักษะเพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกมั่นใจ และลงมือทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และอนาคตในการทำงานของคุณจะสดใสรุ่งโรจน์แน่นอนค่ะ 

สุดท้ายนี้ ใครก็ตามที่กำลังจะได้รับตำแหน่งใหม่ Learning Hub ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ จงตั้งใจทำงาน รับผิดชอบต่อหน้าที่ และอย่าลืมนำเทคนิคดีๆ ที่นำมาฝากกันในวันนี้ไปใช้ด้วยนะคะ

เรียบเรียงโดย Nadda Learning Hub Team

ที่มา (http://www.pakornblog.com/tools-trap4.php)

 

5 วิธี เพิ่มความมั่นใจ ในที่ทำงาน

5-tips-to-overcome-lazy-habit

ในแต่ละวันของการทำงานคุณเคยถามตัวเองบ้างไหมว่าคุณมีอาการขาดความมั่นใจในตัวเองบ้างหรือเปล่า และถ้าคุณกำลังมีอาการขาดความมั่นใจในที่ทำงาน หรือมีความกังวลว่าจริงๆแล้วคุณอาจไม่เหมาะที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้

มีความคิดว่าคนรอบข้างฉลาดกว่าคุณ พร้อมกว่าคุณ ขณะเดียวกันเจ้านายก็จ้องที่จะจับผิดคุณ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับคุณนาน ลองเติมความมั่นใจให้ตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้กัน

1.ทำความเข้าใจกับเรื่องไร้สาระ

ไม่มีใครเหมาะสมหรือดีพร้อมทุกอย่าง บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เช่น การนินทา เพราะถ้ามองว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญมันก็จะสำคัญ แต่ถ้าลองทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้น พูดคุยกับตัวเองมากขึ้นและให้กำลังใจตัวเอง การคิดดีจะช่วยให้คุณเรียนรู้และเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้น

2.เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง

เพิ่มเติมความรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำด้วยการอ่านหนังสือ หรือค้นหางานวิจัย สิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้คุณมีตรรกะและความคิด เรียนรู้วิธีการและเข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการทำงานที่ดี ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวคุณเองมากขึ้น

3.ถามให้มากขึ้น

อย่ากลัวที่จะซักถามเมื่อคุณไม่รู้ ความกลัวนี่ล่ะที่จะทำให้คุณไม่กล้าที่จะตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะคุณจะไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอย่างแท้จริง

ดังนั้นหากคุณไม่แน่ใจในวิธีการทำงานบางอย่างก็ควรที่จะซุกถามในสิ่งที่คุณสงสัย นอกจากจะช่วยให้คุณมีความรู้เพิ่มคุณแล้ว คุณยังมีความมั่นใจและกล้าพูดคุยกับคนรอบข้างมากขึ้นด้วย

4.เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

มันยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวคุณได้ หากคุณมัวแต่คร่ำครวญว่าคุณทำไม่ได้ จงตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองและเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าจะต้องไปถึงสิ่งนั้นให้ได้ด้วยการเพิ่มความมั่นใจในความสามารถของคุณ เพื่อความสำเร็จของตัวคุณเอง

และเพื่อโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพของคุณ และเมื่อคุณประสบความสำเร็จแล้วครั้งหนึ่ง ให้นึกถึงความสำเร็จนั้นเพื่อเป็นแรงผลักดันที่จะสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

5.ทำชีวิตให้สนุกอยู่เสมอ

ไม่มีอะไรที่เลวร้ายยิ่งกว่าการที่คุณจริงจังกับชีวิตมากเกินไป แน่นอนว่าคุณต้องการที่จะทำผลงานได้ดี แต่คุณก็ยังสามารถมีความสนุกสนานในขณะที่คุณกำลังทำมันอยู่ได้ด้วย

จงเรียนรู้ที่จะหัวเราะกับความพ่ายแพ้และความผิดพลาดของคุณและวิจารณ์ด้วยอารมณ์ขันที่ดี นั่นจะช่วยเพิ่มความมั่นใจของคุณและช่วยให้คุณปรับปรุงตัวเองดีขึ้นด้วย

ที่มา http://talentonline.com/employer/get_expert_tips/9

5 เทคนิครับมือ กับมนุษย์เจ้าปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพ

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1

ในชีวิตของคนเราต้องพบเจอกับผู้คนมากมายหลายประเภท บางคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม และสนับสนุนให้เราทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ ในทางตรงกันข้าม

บางคนคอยกลั่นแกล้ง ขัดขวาง เอาเปรียบ ใส่ร้ายป้ายสี มองโลกในแง่ลบ และทำให้เราหมดกำลังใจที่จะไล่ตามความฝัน ซึ่งเราให้คำนิยามกับคนประเภทนี้ว่าเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา”  

มนุษย์เจ้าปัญหา คือ พวกที่มักทำให้คนรอบข้างเกิดความยุ่งยาก หงุดหงิด รำคาญใจ และบางทีอาจทำให้ผู้อื่นเสียหายได้ พวกเขาอาจเป็นเจ้านาย ลูกน้อง ลูกค้า เพื่อน หรือคนในครอบครัวของคุณ

ทั้งนี้ วิธีการที่ง่ายที่สุดเมื่อเจอกับคนเหล่านี้ก็คือ การเดินหนี หรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหลายครั้งคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจวิ่งหนีปัญหาได้ ยิ่งไปกว่านั้น

บางครั้งคุณจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้น คุณจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ  

1) อย่าเกลียดชัง แต่จงขอบคุณมนุษย์เจ้าปัญหา 

เมื่อคุณเจอกับมนุษย์เจ้าปัญหา คุณอาจรู้สึกโกรธ เกลียดชัง หรือท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกในแง่ลบเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรก้าวข้ามและผ่านมันไปให้ได้ เพราะมันเป็นตัวบ่อนทำลายความสุขของคุณ

วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเปลี่ยนทัศนคติ โดยคิดว่าพวกเขาเป็นสิ่งที่ท้าทายในชีวิต กล่าวคือ คุณควรคิดว่าการใช้ชีวิตหรือการทำงานกับคนเจ้าปัญหาเป็นบททดสอบหนึ่ง ซึ่งสิ่งนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น  

ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรขอบคุณพวกเขาที่ทำให้คุณรู้จักความอดทนอดกลั้น และได้พัฒนาตนเอง วิธีการนี้ดูเหมือนว่าเป็นวิธีการที่ยาก แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากคุณสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ คุณก็จะสามารถรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาได้เช่นกัน  

2) ใช้มนุษย์เจ้าปัญหาเป็นตัวกระตุ้นสิ่งดีๆในตัวคุณ 

อีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาก็คือ การใช้สิ่งเลวร้ายที่พวกเขาทำเป็นแรงผลักดันให้คุณก้าวไปข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่คุณกำลังนั่งทำงานอย่างหนัก เพื่อนร่วมงานของคุณได้นั่งจับกลุ่มนินทาและพูดคุยเรื่องไร้สาระทั้งวัน

แน่นอนว่าหากคุณเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ คุณต้องอารมณ์เสีย หงุดหงิด และไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมกับความคิดด้านลบเหล่านั้น  

สิ่งที่คุณควรทำก็คือ การเปลี่ยนความรู้สึกแย่ๆให้กลายเป็นพลังเชิงบวก ให้คุณคิดซะว่ามันไม่ใช่เรื่องของคุณ

ดังนั้น คุณจึงไม่ควรเสียเวลาหรือใส่ใจกับการกระทำของคนเหล่านั้น และจงปล่อยให้พวกเขาทำต่อไปเพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้

สำหรับตัวคุณเองก็ควรมุ่งมั่นตั้งใจ สร้างสรรค์สิ่งดีๆ พัฒนาตนเอง และใช้อุปสรรคทั้งหลายเป็นตัวกระตุ้นไฟในตัวคุณ   

3) ใช้เวลากับพวกเขาให้มากขึ้น 

แทนที่คุณจะวิ่งหนีปัญหา ให้คุณลองเปลี่ยนแนวทางดูบ้าง กล่าวคือ คุณอาจลองเข้ากลุ่ม หรือใช้เวลากับพวกมนุษย์เจ้าปัญหาให้มากขึ้น แม้วิธีการนี้อาจทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังบีบบังคับจิตใจตนเองก็ตาม

แต่การคลุกคลีและร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับคนเหล่านี้จะทำให้พวกเขาเปิดใจและยอมรับคุณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้คุณรู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้คุณทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมในการสร้างปัญหาหรือก่อความวุ่นวายให้กับคนรอบข้างตลอดเวลา  

ทั้งนี้ เมื่อคุณเข้าใจพวกเขามากขึ้น คุณอาจได้ปรับมุมมองหรือทัศนคติของคุณที่มีต่อพวกเขาก็เป็นได้ และคุณก็จะสามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจตนเองได้มากขึ้นเช่นกัน

สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์เจ้าปัญหาได้อย่างเข้าใจ และราบรื่นยิ่งขึ้น 

4) ตั้งเป้าหมายของตัวคุณเอง 

การตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับคนเจ้าปัญหาพร้อมๆกับการพัฒนาตนเอง กล่าวคือ ให้คุณลองตั้งเป้าหมายของตนเองที่เกี่ยวกับการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา

เช่น หากฉันเจอกับคนขี้บ่น ก้าวร้าว ซุบซิบนินทา ฉันจะต้องไม่รู้สึกแย่ หงุดหงิด หรือหมดกำลังใจ นอกจากนี้ ฉันจะพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนเจ้าปัญหาให้ได้ เป็นต้น  

คุณอาจตั้งเป้าหมายเล็กๆก่อน และค่อยๆขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกท้าทาย และเห็นว่าการรับมือกับคนเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก ทั้งยังช่วยให้คุณมีโอกาสในการพัฒนาตนเองอีกด้วย

กล่าวคือ หากคุณอดทนกับคนเจ้าปัญหาและยังสามารถทำงานร่วมกับเขาได้ ก็จะทำให้คุณเป็นคนใจเย็นขึ้น ใจกว้างขึ้น และอดทนมากขึ้น 

5) พยายามทำความเข้าใจและช่วยเหลือมนุษย์เจ้าปัญหา 

บางคนอาจเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาด้วยเหตุผลบางประการ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเผชิญกับสิ่งเลวร้ายในชีวิตหรือมีปัญหาทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ และสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นจึงส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของพวกเขาจนทำให้เป็นมนุษย์เจ้าปัญหาในปัจจุบัน 

เพื่อเป็นการช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น คุณควรปฏิบัติต่อเขาอย่างที่คุณต้องการให้เขาปฏิบัติต่อคุณ อย่างไรก็ตาม

คุณอาจต้องทำใจยอมรับว่า เขาอาจปฏิบัติต่อคุณได้ไม่ดีเท่าที่คุณปฏิบัติต่อเขา นั่นเป็นเพราะปมปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น คุณควรให้เวลากับพวกเขา พยายามทำความเข้าใจ และช่วยเหลือพวกเขาเมื่อมีโอกาส 

ที่มาบทความ

Source: http://www.lifehack.org/312503/encountered-difficult-people-and-wanna-escape-you-should-deal-with-them-these-5-ways 

เทคนิค 5 ขั้นตอน หยุดโจรขโมยเวลา

เคยไหม ?  อยากทำอะไรก็ไม่ได้ทำ

อยากทำตามความฝัน ก็ไม่ได้ทำ

ทำงานประจำแป๊ปเดียวก็หมดวันแล้ว

ไม่ว่าจะอยากทำสิ่งใด ไม่ว่าจะฝันทำอะไร ไม่ว่าจะต้องการสิ่งใดก็ดูเหมือนเวลาไม่เป็นใจไปเสียทั้งหมด จนบ่อยครั้งเกิดคำถามในใจว่า “ใครขโมยเวลาของฉันไป?”

พบกับ 5 ขั้นตอนที่จะช่วยหยุดคนร้ายที่ชอบมาขโมยเวลาของคุณ

Part 1 : แบ่งประเภทของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเป็น 3 ขั้นตอน

1) งานตามความฝัน

ให้คุณนึกถึงสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำในแต่ละวันเพื่อให้เป้าหมายในชีวิตเป็นความจริง สิ่งนี้อาจจะใช่หรือไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับงานประจำหรืออาชีพคุณก็ได้ เช่น

ฝันอยากเป็นนักเขียน แต่มีอาชีพเป็นนักบัญชี งานตามความฝันของคุณ คือ การเขียนหนังสือ ไม่ใช่การทำบัญชี

ฝันอยากเป็น Top Sale มีอาชีพเป็นพนักงานขาย งานตามความฝันกับงานประจำของคุณเป็นสิ่งเดียวกัน คือ การขายงาน


2) งานประจำวัน

ให้คุณนึกถึงสิ่งที่คุณอาจจะไม่อยากทำ อาจจะไม่ใช่ความฝัน อาจจะไม่เกี่ยวกับเป้าหมายแต่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่หรือทำด้วยเหตุผลความจำเป็นบางประการ ที่คุณต้องทำให้เสร็จวันต่อวันหรือเดือนต่อเดือน เช่น

ฝันอยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟ แต่มีอาชีพเป็นข้าราชการ งานประจำวันของคุณ คือ งานราชการ ส่วนการสะสมเงินทุน การเรียนวิธีชงกาแฟ การหาทำเล เป็นงานตามความฝัน


3) งาน Event

ให้คุณนึกถึงสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นต้องทำ หรือ ต่อให้ทำก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับชีวิตมากมายนัก เพียงแต่คุณทำมันบ่อยๆ เพราะทำแล้วรู้สึกดี เพลิน จนลืมว่าเวลาที่เสียไปเกือบจะกลายเป็นเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน

เช่น เล่น Facebook Youtube หาอะไรกิน ชอปปิ้ง เม้ามอย ฟังเพลง อ่านหนังสือ   ฯลฯ


Part 2 : แบ่งประเภทของเวลาในแต่ละวันออกเป็น 2 ช่วง

1) ช่วงเวลาคุณภาพ

เป็นช่วงที่มีระยะเวลาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดต่อกันยาวๆ อาจจะ 1 –  3 ชั่วโมง ให้สังเกตว่าในแต่ละวันมีช่วงเวลาแบบนี้กี่ช่วง แล้วทำดังนี้

  • เลือกช่วงเวลาที่มีคุณภาพที่สุด เพื่อทำ งานความฝัน เช่น 

         30 นาที ก่อนนอนสำหรับเขียนต้นฉบับหนังสือ ,

         2  ชม. หลังเลิกงานสำหรับเรียนเป็น Barista

  • เลือกช่วงเวลาที่ติดต่อกันยาวนานที่สุด เพื่อทำ งานประจำวัน เช่น

         ช่วงเวลา 8.00 – 17.00 ทำงานบริษัท , เปิดร้านขายของ ,เรียนหนังสือ


2) ช่วงเศษเวลา

เป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลายๆ ช่วง ที่เป็นส่วนเกินจากช่วงเวลาคุณภาพ หากคุณสามารถนำมารวมกันบางทีอาจจะมีระยะเวลายาวนานพอๆ กับช่วงเวลาคุณภาพด้วยซ้ำ

แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่ได้มีระยะเวลาติดต่อกัน ช่วงเศษเวลาจึงเหมาะจะนำมาใช้ทำงาน Event. หลายๆ รูปแบบ เช่น

  • อ่านหนังสือ 15 นาที ระหว่างเดินทางไป/กลับ/ก่อนทานข้าวเย็น/รออาบน้ำ
  • ฟังเพลง 20 นาที ช่วงพักกลางวัน/หลังเลิกงาน/ก่อนอาบน้ำ
  • เล่น Facebook 10 นาที ก่อนทำงาน/พักกลางวัน/เดินทาง/ก่อนนอน

       “ทุกคนมีเวลาคนละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่มีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเอามันมาใช้ได้เกิน 50%”

หากคุณลองทำครบทั้ง 5 ขั้นตอน แล้ว คุณจะรู้แล้วใช่ไหมครับ ว่าใครกันแน่ที่ขโมยเวลาคุณไป

บทความโดย จิตเกษม น้อยไร่ภูมิ (แมงปอ)

Categories EQ

เคล็ดลับมัดใจ เจ้านาย 4 ประเภท

คุณเคยสังเกตไหมครับ ว่าผู้คนรอบตัวเรามากมาย มีลักษณะนิสัยคล้ายๆ กัน 4 แบบ 

เจ้านายของเราก็เช่นเดียวกัน  จะมีลักษณะทางจิตวิทยา 1 ใน 4 แบบนี้ การจะเอาชนะใจเจ้านายให้ได้ จึงต้องวิเคราะห์เบื้องต้น ให้รู้ว่าท่านๆ ของเราเป็นเจ้านายประเภทไหนกันแน่

ลักษณะเจ้านาย 4 ประเภท 


1.เผด็จการ

เจ้านายประเภทนี้มีลักษณะทางจิตวิทยาแบบ Dominance จึงมีนิสัยที่มุ่งมั่น อยากได้ผลลัพธ์เร็วๆ โดยไม่ยึดติดกับหลักการ ระเบียบ ขั้นตอน ฯลฯ เป็นเจ้านายที่ชอบตัดสินใจ กล้าได้กล้าเสีย บ่อยครั้งที่เขาทำให้คุณรู้สึกหวาดกลัวกับความมุทะลุดุดันของเขาแต่ขอให้คุณเข้าใจว่านั่นเป็นเพราะเขาต้องการให้ผลงานออกมาดีที่สุด 

Tips : วิธีเอาชนะใจเจ้านายเผด็จการ

ในการทำงานคุณต้องปรับเปลี่ยนจากวิธีการทำงานตามกระบวนการ มาเป็นการทำงานแบบเอาผลลัพธ์มาก่อน ในการพูดคุยให้คุณพูดแบบสั้น กระชับ เข้าเนื้อหาประเด็นสำคัญทันที

และอย่าลืมเตรียมข้อเสนอแนะไว้ให้ท่านๆ ตัดสินใจด้วย (ท่านๆ จะปลื้มมากถ้าได้โชว์ power ในการตัดสินใจ)


2.เจ้าสำราญ    

เจ้านายประเภทนี้มีลักษณะทางจิตวิทยาแบบ Influence จึงมีนิสัยเจ้าสำราญ ชอบคิดอะไรนอกกรอบ ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล จนบ่อยครั้งอาจจะทำให้คุณรู้สึกว่าเวลาดีก็ดีใจหาย  เวลาร้ายก็เหมือนระเบิดลง

ขอให้คุณเข้าใจว่าแม้จะมีติสแตกอยู่บ่อยครั้งแต่ในส่วนลึกๆ ของจิตใจท่านๆ เหล่านี้ เค้ารักคุณเหมือนลูกหลาน เพราะคนประเภทนี้จะไม่ยอมทำงานกับคนที่ไม่รักเป็นอันขาด

Tips : วิธีเอาชนะใจเจ้านายเจ้าสำราญ

ในการทำงานหรือนำเสนองานให้คุณใช้ความรู้สึก หรือ Sense ในการสื่อสารกับท่านๆ เหล่านี้ ถึงแม้งานจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างแต่พยายามสื่อความรู้สึกออกมาในรูปแบบของความรู้สึกที่ดี (Feel Good)

การพูดคุยไม่ต้องเน้นประเด็น  เหตุผล และสรุปให้มากนัก อย่าลืมว่าลึกๆ เจ้านายพวกนี้ไม่ได้มีสาระอะไรกับเขาเท่าไรหรอก


3.คุณครูระเบียบ

เจ้านายประเภทนี้มีลักษณะทางจิตวิทยาแบบ Steadiness จึงมีระบบความคิดที่เป็นระบบ มีระเบียบวินัยในตนเองสูง(มากๆๆๆๆๆ) กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวความไม่แน่นอน ไม่ชอบตัดสินใจ

บ่อยครั้งที่คุณรำคาญกับความจุกจิกเจ้ากี้เจ้าการของท่านๆ แต่ขอให้คุณเข้าใจว่าความจุกจิกทั้งหลายมาจากสัญชาตญาณความระมัดระวังตัวเองของคนประเภทนี้ แล้วเขาก็กำลังหวังดีและเป็นห่วงคุณจึงต้องจุกจิก

 Tips : วิธีเอาชนะใจเจ้าระเบียบ

ในการทำงานกับเจ้านายประเภทนี้ขอให้คุณระลึกเอาไว้เสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรท่านๆ จะตัดสินใจบนพื้นฐานของความปลอดภัย หรือ Play Save

ดังนั้น ทุกการพูดคุย การนำเสนองาน คุณจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญกับระเบียบ ขั้นตอน กระบวนการ ตัวเลขและสถิติ ที่ครบเครื่อง มาก่อนผลลัพธ์หรือ Idea เพราะท่านๆ ทั้งหลายไม่ชอบกระโดดออกไปนอกพื้นที่ Comfort Zone


4.นักปรัชญา

เจ้านายประเภทนี้มีลักษณะทางจิตวิทยาแบบ Compliance จึงเป็นคนที่เจ้าหลักการ เป็นนักคิดวิเคราะห์ ในสมองจะเต็มไปด้วย Logic ต่างๆ มากมาย จนบ่อยครั้งที่คุณเกร็งกับการนำเสนองาน

เพราะไม่ว่าจะพูดอะไรออกไป จะทำเอกสารเสนอแบบไหน ก็จะโดนท่านๆ สวนมาด้วยคำถามที่คาดไม่ถึงทุกครั้งไป แต่ขอให้คุณเข้าใจว่าที่ท่านๆ ทำแบบนี้เพราะต้องการให้ผลงานของคุณออกมาแบบสมบูรณ์แบบที่สุด และท่านก็เล็งเห็นแล้วว่าคุณทำได้

Tips : วิธีเอาชนะใจเจ้านายช่างวิเคราะห์

ในการทำงานกับเจ้านายประเภทนี้คุณต้องเน้นเรื่องความแม่นยำของข้อมูล Database จะต้องมาก่อน Process และ Idea เสมอ

ในการพูดคุยหรือนำเสนองานให้คุณเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า 3-5 คำตอบไว้ได้เลย เพราะท่านๆ ประเภทนี้จะต้องยิงคำถามหลังคุณพูดจบแน่ๆ ไม่ว่าเรื่องที่คุณพูดจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก เพราะท่านๆ ทั้งหลายชอบความสมบูรณ์แบบ นั่นเอง


คุณมีเจ้านายประเภทไหนครับ ?

จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถเป็นกบเลือกนายได้ แต่เราเลือกวางตัวให้เหมาะสมกับเจ้านายแต่ละประเภทได้

ขอให้คุณผู้อ่านชนะใจเจ้านายและชนะใจตนเองครับ

บทความโดย จิตเกษม น้อยไร่ภูมิ (แมงปอ)

8 สัญญาณ ยืนยันว่างานนี้ “ใช่” สำหรับคุณ

คนเราต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งหากเราทำงานอย่างเบื่อหน่าย เครียด หรือไม่มีความสุขแล้ว สิ่งนี้ก็จะบั่นทอนสุขภาพจิต และสุขภาพร่างกายของเรา ในทางตรงกันข้าม หากเราอยากไปทำงานในทุกๆเช้า มีความสุขกับงานที่ทำ เราก็จะสามารถทำงานออกมาได้ดี และมีประสิทธิภาพ

คุณเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า“คุณมีความสุขในการทำงานหรือเปล่า” แต่หากคุณยังสับสนและคิดไม่ออก ให้คุณลองอ่านบทความนี้ หากคุณมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ 8 ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่ และเหมาะสม มาดูกันเลยค่ะว่ามีอะไรบ้าง

1) คุณคิดว่างานที่ทำมีคุณค่า

หลายคนทำงานแบบเช้าชามเย็นชามหรือทำงานตามหน้าที่เท่านั้นไม่ได้ทำงานเพราะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุข ในทางกลับกัน คนที่มีความสุขในการทำงานมักเชื่อว่างานที่ตนเองทำมีความสำคัญและมีคุณค่า

สำหรับพวกเขาเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิต แต่งานที่ได้ทำ คือ ความสุขและความท้าทายดังนั้น ทุกครั้งที่ได้เห็นผลลัพธ์จากการทำงาน พวกเขาจะมีความสุขเสมอ

2) คุณรู้สึกมีแรงจูงใจที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้า

เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นในตอนเช้า หัวของคุณคิดถึงอะไร หากคุณงัวเงีย ไม่อยากลุกจากที่นอน และเลื่อนเวลาของนาฬิกาปลุกไปเรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณไม่อยากมาทำงาน

ในทางตรงกันข้าม หากคุณตื่นขึ้นมาอย่างสดใส พร้อมที่จะเริ่มต้นวันใหม่ รู้สึกกระตือรือร้น และมีกำลังใจในการทำงาน แสดงว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่และมีความสุข

3) คุณไม่เกลียดเย็นวันอาทิตย์ และไม่กลัวเช้าวันจันทร์

เย็นวันอาทิตย์และเช้าวันจันทร์ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและทรมานใจของคนทำงานหลายๆคน เพราะมีอีกตั้ง5 วันที่ต้องทำงานจนกว่าจะถึงวันหยุดอีกครั้งอย่างไรก็ตาม

หากคุณไม่รู้สึกเกลียดหรือกลัวช่วงเวลานี้แสดงว่าคุณมีความสุขกับงานที่รับผิดชอบ เพราะสิ่งที่อยู่ในใจคุณก็คือ ไม่ว่าจะเป็นวันไหนของสัปดาห์ คุณก็มีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่คุณรัก

4) คุณไม่ได้ทำงานแบบเอาตัวรอดไปวัน ๆ

หลายคนคิดว่าการทำงานคือการต่อสู้ หรือการพยายามเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นปัญหาในแต่ละวัน กล่าวคือ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างใจจดใจจ่อ คุณกลับทำงานแบบเอาตัวรอดไปวันๆ

หรือทำงานแต่ละชิ้นให้จบๆไปโดยไม่คำนึงว่างานจะมีคุณภาพดีหรือไม่ หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่าคุณกำลังมีความทุกข์กับการทำงาน

ในทางกลับกัน หากคุณรู้สึกสนใจในเนื้องานทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และมักสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยม นั่นแสดงว่าคุณรักในงานที่ทำ จึงพยายามทำมันออกมาให้ดีที่สุด

5) คุณไม่สามารถหยุดเล่าเรื่องงานของคุณให้คนอื่นฟังได้

คุณเคยเล่าเรื่องงานของคุณให้เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวฟังบ้างไหม อาจเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ของบริษัท ความท้าทายของงาน หรือความน่ารักของเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

หากคุณเคยทำเช่นนั้น ทั้งๆที่ในขณะที่คุณเล่าเรื่องงานให้คนอื่นฟัง พวกเขาแทบจะไม่ใส่ใจคุณเลย แต่คุณก็ยังคงเล่าต่อไป หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้ แสดงว่าคุณรู้สึกสนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ

6) คุณแทบจะไม่ได้มองนาฬิกาเลย

ในที่ทำงานมีพนักงาน 2 ประเภท ประเภทแรกคือ พวกที่จ้องมองนาฬิกาตลอดเวลาคนประเภทนี้มักรู้สึกว่าเวลาทำงานแต่ละวันช่างยาวนานเหลือเกิน และพวกเขาจะรอคอยให้ถึงเวลาเลิกงานอย่างใจจดใจจ่อ

อีกประเภทหนึ่งคือ พวกที่แทบจะไม่มองนาฬิกาในเวลาทำงานเลย และเมื่อพวกเขาเงยหน้าดูนาฬิกาอีกทีก็จะพบว่าเป็นเวลาเลิกงานแล้ว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าในแต่ละวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

หากคุณมีพฤติกรรมคล้ายกับคนกลุ่มที่สองแสดงว่าคุณรักและพึงพอใจกับงาน

7) คุณใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานของคุณอย่างมีความสุข

บางคนรู้สึกไม่อยากทำงาน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน หรือมีความรู้สึกด้านลบต่อเพื่อนร่วมงาน สิ่งนี้เป็นตัวบั่นทอนกำลังใจ และความสุขในการทำงาน

ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยให้ตนเองเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ทางที่ดีคุณควรมองเพื่อนร่วมงานในแง่บวก และอาจใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาให้มากขึ้น

ทั้งนี้ หากคุณส่งข้อความไปหาเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน หรือใช้เวลาในวันหยุดเพื่อไปรับประทานอาหาร ท่องเที่ยว หรือซื้อของด้วยกัน แสดงว่าคุณรู้สึกดี และต้องการการมีส่วนร่วมกับทีม สิ่งนี้แปลว่าคุณกำลังมีความสุขกับงานและเพื่อนร่วมงานของคุณ

8) คุณไม่เข้าใจว่าทำไมมีคนถึงเกลียดงานของตัวเอง

ผลสำรวจชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าผู้คนจำนวนมากถึง 80% เกลียดงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของลักษณะงาน เพื่อนร่วมงาน ผลตอบแทน หรือสิ่งอื่นๆ

กล่าวคือ คนจำนวน 4 ใน 5 คนที่ไปทำงานทุกวันรู้สึกไม่พึงพอใจในงานที่ตนทำอยู่ ซึ่งหากคุณไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงเกลียดงานของตัวเอง นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่างานที่คุณทำอยู่เหมาะสมกับคุณ

เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลง และพบว่าตนเองมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับตัวอย่างใน 8 ข้อข้างต้น ขอแสดงความยินดีด้วย ถือว่าคุณเป็นคนโชคดีมาก เพราะคุณได้ทำงานที่รักและเหมาะสมกับคุณ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://www.lifehack.org/309681/8-signs-youve-chosen-the-right-job)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save