10 คำแนะนำควรระวัง เกี่ยวกับอาชีพการงาน

03 04 2017

คุณเคยขอ “คำแนะนำเรื่องงาน” จากคนรอบข้างบ้างไหม? แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า บางทีคำตอบที่คุณได้มานั้น อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีเสมอไป!!! บางคนแนะนำโดยไม่มีประสบการณ์ บางคนมีความเข้าใจผิดๆ บางคนตัดสินใจจากอคติหรือความชอบส่วนบุคคล… บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึง “10 คำแนะนำควรระวัง ที่อาจทำให้คุณพลาดงานดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย”

 

1. คว้างานตรงหน้าไว้ก่อน แม้คุณจะไม่ชอบมัน

 

ถ้าคุณสมัครงานหลายที่ และปรากฏว่าคุณได้งานที่คุณไม่ชอบ… สิ่งที่คุณควรทำ คือควรปฏิเสธงานนั้นทันที และรองานที่ใช่สำหรับคุณจริงๆ…

การตอบรับทำงานที่คุณไม่ชอบ จะส่ง “ผลเสีย” ต่อตัวคุณและนายจ้าง กล่าวคือ ผู้จ้างจะเสียเวลาและโอกาสในการคัดเลือกพนักงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ส่วนตัวคุณก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงานที่ตนไม่ชอบ ซึ่งจะส่งผลให้คุณท้อแท้ หมดไฟ ไม่มีความสุข… นอกจากนี้ หากคุณตกลงทำงานนั้นในระยะสั้นๆ แล้วตัดสินใจลาออก ย่อมเท่ากับว่า คุณกำลังทำลายชื่อเสียงของตัวเอง เพราะคุณจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความอดทน เปลี่ยนงานบ่อย ไม่น่าเชื่อถือ

 

2. ทำงานที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด

 

หนึ่งในปัจจัยที่เราใช้ตัดสินใจเลือกทำงานใดงานหนึ่ง คือ “ผลตอบแทน” แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างน้อย เงินก็ไม่สามารถซื้อความสุขได้!!!

หากมีคนแนะนำคุณว่า “จงเลือกทำงานที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด” แสดงว่าเขาไม่เข้าใจความหมายของ “ชีวิตการทำงาน” เลย เพราะการทำงานมีอะไรมากกว่านั้น คุณจึงควรพิจารณาลักษณะงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ วัฒนธรรมองค์กร สวัสดิการอื่นๆ และโอกาสความก้าวหน้า จงท่องให้ขึ้นใจว่า “หากคุณมีเงิน แต่ไม่มีความสุข ชีวิตก็ไร้ค่า”

 

3. ทำงานที่คุณถนัดเท่านั้น

 

คุณอาจมีทักษะหรือความถนัดในด้านใดด้านหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า แท้จริงแล้วคนๆ หนึ่ง สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เช่น พูดภาษาจีน เล่นเปียโน ขับรถ ช่างเจรจา ว่ายน้ำ นอกจากนี้ คุณอาจมีพรสวรรค์อื่นๆ ที่ยังไม่ค้นพบอีกด้วย…

อย่าปิดกั้นโอกาสของตนเอง ด้วยการสมัครงานในตำแหน่งที่คุณคิดว่าถนัด เพราะการที่คุณเก่งในบางเรื่อง อาจไม่ใช่เหตุผลสำหรับการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนขับรถที่ดีมาก ไม่ได้แปลว่าคุณควรทำอาชีพคนขับรถแท็กซี่!!! พยายามเปิดใจให้กว้าง ค้นหาตัวเอง และเชื่อมั่นในความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ

 

4. ทำงานหนัก จะได้เลื่อนตำแหน่ง

 

ความเชื่อที่ว่า “คุณต้องทำงานหนัก จึงจะได้เลื่อนตำแหน่ง” เป็นความคิดที่ผิด เพราะจริงๆ แล้วบริษัทไม่ได้ถือเอา “จำนวนเวลาทำงาน” มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน แต่บริษัทมองหา “คุณค่าและประโยชน์ที่พนักงานทำให้” ต่างหาก…

ดังนั้น การก้มหน้าก้มตาทำงานตลอดทั้งวัน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คุณใช้เวลากับงานชิ้นนั้นเป็นเวลานาน และไม่เหมาะที่จะรับงานที่ยากขึ้น ทางที่ดีก็คือ คุณต้องทำให้เจ้านายเห็นว่า คุณสามารถรับผิดชอบงานให้สำเร็จ จัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณมีความสามารถมากกว่างานที่ได้รับมอบหมาย

 

5. ทำงานตามที่เคยเป็นมาโดยตลอด

 

วิธีการ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” อาจใช้ไม่ได้ผลกับชีวิตการทำงาน เพราะหากคุณต้องการความก้าวหน้า คุณจำเป็นต้องเป็นที่รู้จักและมีความโดดเด่นในองค์กร กล่าวคือ หากบริษัทของคุณมีแบบแผน ทิศทาง หรือกระบวนการที่ปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานาน ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นดีที่สุด และใช้ได้ตลอดไป เพราะฉะนั้น จงกล้าที่จะตั้งคำถาม คิดนอกกรอบ และคิดอย่างสร้างสรรค์ บางทีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในบริษัท อาจเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ และสร้างชื่อเสียงให้กับคุณ

 

6. ทำในสิ่งที่รัก แล้วเงินจะตามมา

 

ไม่ผิด หากคุณจะเชื่อว่า “ความรักในงานที่ทำ เป็นสิ่งสำคัญ” แต่ถ้าความรักสวนทางกับรายได้ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย วิธีการทำงานที่ดี คือการหา “จุดลงตัว” ระหว่างงานที่ชอบ กับผลตอบแทนที่เหมาะสม

เช่น หากคุณมีพรสวรรค์ในงานศิลปะ งานเย็บปักถักร้อย การปลูกต้นไม้ หรือการซ่อมแซมสิ่งของ คุณสามารถนำทักษะเหล่านี้มาเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้ โดยคุณอาจผลิตผลงานขาย เขียนหนังสือ หรือสอนผู้อื่น กล่าวคือ อย่ามุ่งเน้นเพียงแต่ความรักในงานที่ทำ เพราะมันไม่สามารถชดเชยทุกอย่างได้ จงหาจุดที่พอดีระหว่างความสามารถ รายได้ และความต้องการของตลาด เพื่อให้การทำงานของคุณมีความสุขอย่างแท้จริง

 

7. เลือกทำงานในบริษัทที่มั่นคง

 

การทำงานในบริษัทที่มั่นคง ไม่ได้แปลว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่! คุณรู้หรือไม่ว่า ความมั่นคง หรือความเคยชินในงาน เป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเบื่อหน่ายและขาดความกระตือรือร้น… มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า พนักงานจะรู้สึกพึงพอใจสูงสุด เมื่อได้ทำงานที่ท้าทาย และใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ดังนั้น จงอย่ากลัวที่จะก้าวออกไปจากงานที่คุณคุ้นเคย เพราะมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในทางกลับกัน คุณจะได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่า และมีโอกาสเติบโตมากกว่าเดิม

 

8. ทำงานประจำ ดีกว่างานพาร์ทไทม์

 

แต่ละคนมีแนวคิดเรื่องการทำงานต่างกัน บางคนคิดว่าอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่ใช่งาน! บางคนคิดว่าการส่งพิซซ่า เป็นแค่งานพาร์ทไทม์!!! อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็คือ “งาน” เหมือนกัน… คุณจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะ กำลังแรงและกำลังสมอง เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ต้องการ แม้ว่าสำหรับบางงาน คุณอาจไม่ได้ทำไปตลอดชีวิต แต่อย่าดูถูก หรือมองข้าม… ทุกงานล้วนให้บทเรียนที่มีคุณค่า และมอบประสบการณ์ชีวิตแก่คุณ

 

9. ตอบรับตัวเลขเงินเดือน ตามที่บริษัทเสนอ

 

เมื่อคุณได้รับการเสนอเงินเดือน ขอให้ทบทวน พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนตอบตกลง เพราะบริษัทต่างๆ มักเสนอเงินเดือนเพื่อการต่อรอง แต่เมื่อคุณรู้ความจริงข้อนี้แล้ว จงอย่าเรียกเงินเดือนที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง และอย่ากลัวที่จะเรียกร้องขอเงินเพิ่ม

 

10. อย่าลาออกจากงาน แม้คุณจะไม่ชอบมันมากก็ตาม

 

คำแนะนำที่ว่า “อย่าลาออกจากงาน” ทั้งที่คุณไม่ชอบงานนั้นๆ เอาเสียเลย… เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งชีวิตคุณมากเลยนะ เพราะชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะทำงานที่ตนไม่ชอบ! นอกจากนี้ หากคุณไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ย่อมจะส่งผลต่อด้านอื่นๆ ในชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านความสัมพันธ์ ดังนั้น หากคุณรู้สึกไม่มีความสุขกับงานที่ทำแล้ว ให้รีบมองหางานอื่นๆ เพราะนอกจากจะมีโอกาสเหมาะกับคุณมากกว่า ยังทำให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้นได้อีกด้วย…

 

จาก “10 คำแนะนำพึงระวัง” ข้างต้น… ชี้ให้เห็นว่า คำแนะนำจากคนรอบข้าง อาจไม่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น เมื่อคุณต้องตัดสินใจเรื่องงาน ลองฟังเสียงจากข้างใน เชื่อในสัญชาตญาณ และเลือกหนทางในชีวิตด้วยตนเอง

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

ทำยังไงดี.. เมื่อต้องรับมือกับงานหลายอย่าง พร้อมกัน..

18 04 2017

หลังวันหยุดยาว หลายคนกลับมาใช้ชีวิตทำงานปกติ… แล้วต้องพบว่า “มีงานหลายอย่างที่ต้องทำพร้อมกัน” ซึ่งการทำงานได้หลายอย่างพร้อมกันเป็นทักษะส่วนตัวที่มีประโยชน์ แต่เราก็จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อใดที่เราพยายามทำงานหลายๆ อย่างมากเกินไป ย่อมส่งผลให้เรา… ไม่สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

ปัญหาเกิด เมื่อต้องใช้พื้นที่สมองพร้อมกัน

 

การต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ต้องอาศัยความเอาใจใส่มากกว่าปกติ ยังอาจส่งผลด้านลบต่อผลงาน… และความพยายามจะทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือทำให้เกิดความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จะทำให้ความตั้งใจน้อยลง ขาดสมาธิ มีแนวโน้มที่จะผิดพลาดได้

เหตุผลสำคัญของความล้มเหลวเหล่านี้ มีสาเหตุมาจาก.. การทำงานหลากหลาย จะแบ่งพลังประมวลผลของสมอง และยังลดประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่องานมากมายเหล่านี้ต้องทุ่มเทมากพอๆ กัน

สมองส่วนต่างๆ มีความชำนาญในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น การฟัง การดู การเคลื่อนไหว รวมถึงเรื่องการใช้ภาษา ดังนั้น การทำงานหลายอย่างพร้อมกันจึงเป็นเรื่องยากลำบาก และเป็นสาเหตุของปัญหามากมายตามมา

โดยเฉพาะเมื่องานสองอย่าง (หรือมากกว่านั้น) ต้องใช้รูปแบบการคิดที่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกันของสมอง ตัวอย่างเช่น คุณพยายามฟังการสนทนาที่ต่างกันสองเรื่องในเวลาเดียวกัน (งานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน), พูดคุยโทรศัพท์ขณะอ่านหนังสือ (งานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน) หรือกระทั่ง คุณลองลูบท้องพร้อมกับตบหัวตัวเองไปด้วยสิ! (งานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน) ดูฝืนๆ ไปหมดเลยเนอะ…

 

การทำงานหลายอย่างให้มีประสิทธิภาพ

 

ข้อแนะนำต่อไปนี้ หากนำไปปฏิบัติจะช่วยให้ทำกิจกรรมสองอย่าง (หรือมากกว่า) ได้พร้อมกัน และยังคงรักษาคุณภาพการคิดของคุณในการทำงานแต่ละอย่างได้…

1) อย่าปะปนงานที่ต้องใช้ทักษะเหมือนๆ กัน (เช่น การกดเบอร์โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ทั้งสองอย่างเป็นงานด้าน “การเคลื่อนไหว”) คุณควรนำงานที่ใช้ทักษะต่างกันมาทำพร้อมกัน จะทำให้เกิดปัญหาน้อยกว่า (เช่น การฟังดนตรีขณะขับรถ ซึ่งเป็นงานด้าน “การฟัง” บวกกับงานด้าน “การเคลื่อนไหว”)

2) หากคุณอยากฟังดนตรี ขณะอ่านหรือเขียนหนังสือ ลองฟังเพลงที่มีแต่ทำนองดนตรี โดยไม่มีเนื้อร้อง (ซึ่งคุณต้องใช้การประมวลทางภาษาในสมอง) หรือลองฟังเพลงต่างภาษา ซึ่งเนื้อเพลงและการพูดต่างภาษาจะเบนความสนใจได้น้อยกว่า

3) เมื่อคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้มี “เวลาพัก” ระหว่างงานสองงานนั้น เพื่อทำให้ความคิดคุณปลอดโปร่งเสียก่อน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ลองหากิจกรรมประจำวันที่ไม่ต้องการความเอาใจใส่มากนัก-เพื่อมาทำ หลังจากทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ

 

บ่อยครั้ง ก็ควรจัดลำดับความสำคัญ

 

การจะทำงานให้สำเร็จ เราจำเป็นต้องกำหนดพลังใจและพลังงาน เพื่อจดจ่อกับเรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ… วิธีที่ดีที่สุดในการจดจ่อกับงานที่สำคัญมากๆ และหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนเบนความสนใจ คือ… “ให้จัดลำดับความสำคัญ” ไม่ใช่ตอบสนองกับทุกเรื่องที่เข้ามาโดยทันที

 

เรื่องงาน ครอบครัว การพักผ่อน และการเล่นสนุกสนาน

 

ก่อนเริ่มทำกิจกรรมใด ลองเริ่มจากการเตือนตัวเอง ว่าเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมีอะไรบ้าง… การค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่นำไปปฏิบัติได้จริงๆ หรือเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ จะมีประโยชน์อะไร หากทางแก้เหล่านั้นไปคนละทางกับความคิด-ความเชื่อของคุณ

เพราะเรื่องทุกอย่างที่เราทำหรือพยายามจะทำนั้นล้วนจัดอยู่ในหนึ่งในสี่ประเภทต่อไปนี้ 1. เรื่องงาน (รวมถึงงานการกุศล และงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน) 2. เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น และเรื่องครอบครัว 3. งานอดิเรก และเวลาพักผ่อนจากงาน (รวมถึงการศึกษาหาความรู้เพื่อความเพลิดเพลิน) 4. เรื่องสุขภาพ (รวมถึงการฝึกฝนจิตใจ เช่น การฝึกสมาธิหรือโยคะ)

คุณควรพิจารณาว่า เรื่องเหล่านี้มีเรื่องไหน “สำคัญที่สุดสำหรับคุณตอนนี้” อะไรคือความสำคัญอันดับต้นๆ โดยรวมในชีวิตคุณ? คุณทุ่มเทเวลาให้แต่ละเรื่องนานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์? แล้วคุณอาจประหลาดใจที่พบว่า ตัวเองกำลังใช้เวลามากมายกับ “เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายสำคัญๆ ในชีวิตเลย”

 

ค้นหาว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด?

 

หลายต่อหลายครั้ง “การจัดลำดับความสำคัญ” มักถูกกำหนดจากเรื่องไหนต้องให้ความสนใจอย่างรีบด่วนที่สุด อาทิ งานเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำประจำวัน การจ่ายเงินตามบิลเรียกเก็บ รวมทั้งการทำตามที่คนอื่นขอร้อง…

คุณกลายเป็นฝ่ายตั้งรับมากเกินไป เหมือนคนที่ยืนหน้าเครื่องยิงลูกเทนนิส คอยตีลูกบอลที่พุ่งเข้ามาอย่างลนลาน แต่ไม่เคยมีเวลา “หยุดพัก” เพื่อขยับไปทำเรื่องอื่นเลย… ในขณะที่ชีวิตยิงงานที่ “เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ” มาที่คุณ ทว่าระหว่างนั้น กลับมีกิจกรรมที่ “ไม่ด่วน แต่อาจทำให้ชีวิตคุณมีคุณภาพขึ้น” ถูกละเลยไว้เบื้องหลัง หรือไม่ก็ถูกมองข้าม!!!

 

ควรจัดลำดับความสำคัญให้กับ “เรื่องที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น”

 

เราขอแนะนำให้คุณพิจารณากิจกรรมที่คุณทำ ว่าเข้าหมวดใดในรูปแบบงาน 4 ประเภท ต่อไปนี้… 1) งานด่วน และทำให้ชีวิตดีขึ้น 2) งานด่วน แต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น 3) งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ไม่รีบด่วน 4) งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

ค่อยๆ เติมงานหรือกิจกรรมของคุณจัดเข้าหมวดหมู่ข้างต้น พยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การทำกิจกรรม-ทำงานนี้ เป็นการทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราหรือไม่?”

 

ถ้าคุณต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เลือกทำ “งานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เป็นลำดับแรก เมื่อกิจกรรม/งานนั้นลุล่วงลงแล้ว คุณค่อยทำ ข้อ 2) ข้อ 3) ส่วน “งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เราอยากถามคุณว่า “เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ดีไหม?”

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

3 ความรู้สึกด้านลบ ส่งผลกระทบงานขาย

08 03 2017

เวลาคุณเดินเข้าห้างตอนเพิ่งเปิด แล้วเห็นการต้อนรับของพนักงานขาย ซึ่งจะยืนเข้าแถวสองข้าง รอต้อนรับลูกค้ากลุ่มแรก… คุณทำอย่างไร!?

ลูกค้าบางคนรีบเร่งฝีเท้าเดินให้ผ่านหน้าพวกเขาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังก้มหน้าพยายามไม่สบสายตาพนักงานขายที่ยืนอยู่ซ้าย-ขวา โดยเฉพาะคนที่มาคนเดียว! แต่ถ้ามากันหลายคน ก็จะเดินหน้าตาย ชวนกันคุย ทำเป็นไม่เห็น ไม่รู้ไม่ชี้!!!

และก็มีบางราย ที่พอจะก้าวเท้าเข้าห้าง กลับหยุดชะงักเมื่อเห็นแถวต้อนรับ… เขาจะรี ๆ รอ ๆ สักพัก เมื่อเห็นว่าเลิกแถวแล้ว จึงค่อยเดินเข้าไป…

พนักงานห้างที่ได้รับการฝึกอบรมให้ยืนต้อนรับและยิ้มให้ตลอดทั้งแถว เพื่อสร้างความรู้สึกว่า “ลูกค้าคือบุคคลสำคัญ” แต่กลับเจอปฏิกริยาเฉยเมย ถูกมองข้าม จากลูกค้าไม่เคยชิน ลูกค้าเขินอาย ความรู้สึกของพวกเขาก็คงไม่ต่างกับ “คนที่ทักทายคนอื่นก่อน แล้วเขาไม่ทักตอบ”

นั่นเป็นเพียงการยืนต้อนรับทักทายเพียงครู่เดียวในช่วงเช้าที่ลูกค้ายังน้อย แต่บางบริษัท ต้องการให้พนักงานขายยืนต้อนรับ ยกมือไหว้คนเป็นร้อย ๆ ตลอดทั้งวัน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยา เขิน ๆ เฉย ๆ เมิน ๆ ไม่ยิ้มรับ เป็นส่วนมาก…

คุณคิดว่า พนักงานขาย/พนักงานบริการจะมีความรู้สึกเช่นไร!?

มนุษย์เรามีบุคลิกลักษณะนิสัยใจคอต่างกัน อาชีพ “พนักงานขาย/ผู้ให้บริการ” ต้องพบปะผู้คนมากมาย ต้องเจอทั้งลูกค้าที่ถูกใจและไม่ถูกใจ แต่หน้าที่หลักของผู้ให้บริการ คือต้องทำให้ลูกค้าพอใจ ประทับใจ ทั้งสินค้าและผู้ให้บริการ

ถ้าเขาซื้อสินค้า หรือใช้บริการ ก็ดีไป… แต่ถ้าเขาไม่ซื้อสินค้า หรือไม่ใช้บริการ แต่ได้รับความพึงพอใจ หรือประทับใจ… ย่อมถือว่าพนักงานบริการคนนั้นทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เขาอาจจะกลับมาซื้อสินค้า หรือใช้บริการในภายหลัง ก็เป็นได้…

ในกิจกรรมอบรมพนักงานขายครั้งหนึ่ง วิทยากรด้านการขายได้ขึ้นบรรยายให้พนักงานขายและพนักงานบริการ ฟัง… ท่านได้ชี้ให้เห็นถึง “3 ความรู้สึกด้านลบ” ที่พนักงานให้บริการทุกคนต้องเจอ และควรควบคุมไม่ให้ลุกลามใหญ่โต…

 

1. ความรู้สึกสงสารตัวเอง

 

เป็นเรื่องปกติ ที่พนักงานขาย/พนักงานให้บริการ จะต้องดูแลเอาใจใส่ลูกค้าทุกราย โดยไม่เลือกว่าเป็นคนที่เราพอใจ หรือเป็นคนที่เราไม่ถูกใจ ดังนั้น บ่อยครั้งที่เมื่อย้อนมองตัวเอง ถึงเหตุผลว่าจะต้อง “ทำดี กับคนที่เราไม่รู้สึกดีด้วย” เพื่อแลกกับรายได้/ผลตอบแทน นั่นนำมาซึ่งความสูญเสียความภูมิใจในตนเอง จนกลายมาเป็นความรู้สึกไร้ค่าในที่สุด

และกับพนักงานขาย/พนักงานให้บริการบางคน พวกเขามีความรู้สึกอายที่ต้องบริการคนรู้จัก หรือต้องยกมือไหว้คนรู้จัก แล้วยิ่งถ้าพวกเขาทำเฉย ๆ เมินๆ ไม่สนใจใยดี ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอดสงสารตัวเองไม่ได้ ว่าทำไมต้องมาทนทำอะไรแบบนี้… สำหรับบางคนอาจรู้สึกหนักมาก จนอยากลาออกจากงาน ณ ตอนนั้นเลย!

วิทยากรผู้บรรยายได้ให้คำแนะนำว่า “งานขายหรืองานบริการ ไม่ได้ไร้ค่าอย่างที่เห็นในละครหลังข่าว ซึ่งมักจะสร้างภาพตัวละครพนักงานขาย/พนักงานบริการ ให้ดูเป็นคนต่ำต้อยด้อยค่า และที่สำคัญ คนอื่นจะพูดยังไงกับเรา ก็ไม่เท่ากับที่เราพูดกับตัวเอง…”

ความไร้ค่า ความรู้สึกไม่ภูมิใจ มาจากความคิดด้านลบในตัวเรานั่นเอง… เราจะไร้ค่าน่าสงสาร ก็เมื่อเราคิดเช่นนั้น… คนอื่นที่ทำท่าทางแปลก ๆ เฉยเมยใส่เรา เขาไม่สามารถทำให้เราเป็น “คนไร้ค่า” ได้หรอก…

 

2. ความรู้สึกโกรธลูกค้า

 

ด้วยความที่พนักงานขาย/พนักงานให้บริการ “คาดหวัง” ว่าลูกค้าจะต้องซื้อสินค้า และเห็นประโยชน์จากงานบริการ หรือสินค้าของเรา ดังนั้น ถ้าสุดท้ายลูกค้าไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ หลายคนจึงรู้สึกไม่พอใจ เหมือนว่าตนทำงาน เหนื่อยฟรี!

และบางรายก็รู้สึกไม่สบอารมณ์ เมื่อต้องเจอบุคลิกลูกค้าบางประเภท เช่น ลูกค้าพูดมาก จู้จี้ชอบต่อราคา ทำท่าหยิ่งๆ ไม่สนใจสิ่งที่เรานำเสนอ ดูสินค้าแล้วไม่ซื้อ โอ้อวดความรู้ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้นำมาซึ่ง “ความโกรธ ไม่สบอารมณ์” เป็นความรู้สึกด้านลบที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ ส่งผลต่อการขาย/การบริการลูกค้า รายต่อๆ ไป…

วิทยากรผู้บรรยายได้ให้คำแนะนำว่า “นักขายหรือผู้ให้บริการ จะต้อง ‘ยอมรับ’ พฤติกรรมเหล่านั้นของลูกค้า ว่านั่นคือความปกติของเขา ไม่ใช่ความผิดปกติ! เขาเป็นของเขาอย่างนั้นมานานแล้ว อาจจะเป็นมาตลอดทั้งชีวิตด้วยซ้ำ ดังนั้น เราจะให้เขาเปลี่ยนแปลงมาเป็นลูกค้าที่แสนดี เมื่อพบพนักงานขาย คงเป็นไม่ได้หรอก”

นักขาย/พนักงานบริการที่ดี จะต้องเข้าใจและยอมรับลูกค้าทุกราย ตามเขาไป อย่าได้คิดค้าน หรือคิดเปลี่ยนแปลงบุคลิกเหล่านั้น เพราะยังไงเราก็เปลี่ยนเขาไม่ได้หรอก และที่สำคัญ ต้องไม่โกรธเขาด้วย… จงให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ เขาอยากแสดงภูมิรู้ ก็เปลี่ยนมาขอคำแนะนำ ขอความรู้จากเขา ให้เขาพูด… ถ้าเขาอยากให้พูดชม ก็เอ่ยปากชมในสิ่งที่เป็นความจริง… ถ้าเขาอยากได้ของแถม ลองหาโอกาสให้ส่วนลด ให้ของแถมกับเขา… เพียงเท่านี้ การขายก็จะดำเนินไปด้วยดี ทั้งยังเกิดมิตรภาพ และการซื้อในโอกาสต่อๆ ไป ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย

 

3. ความรู้สึกอิจฉาลูกค้า

 

เพราะพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ เห็นต่อหน้าต่อตาทุกวัน ว่าลูกค้ามีโอกาสเลือกสินค้า เลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ เลือกที่จะใช้บริการหรือไม่!? ลูกค้าจึงดูเป็น “ผู้มีอำนาจ” เป็นผู้อยู่เหนือกว่าพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอิจฉา หรือหมั่นไส้…

และทันทีที่มีความรู้สึกด้านลบเช่นนี้เกิดขึ้นมากๆ แววตาท่าทางจะแสดงออกมาให้เห็นโดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมจับกลุ่มนินทา หรือวิจารณ์ลูกค้าลับหลัง ของพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ สามารถลุกลามใหญ่โตมากขึ้น จนกระทั่งก่อเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับลูกค้า และสุดท้ายกลายมาเป็นศัตรูกับตัวเอง ได้ในท้ายที่สุด

วิทยากรผู้บรรยายให้คำแนะนำว่า “ความรู้สึกอิจฉา หมั่นไส้ มาจากความใส่ใจผิดจุด… ถ้าเราสนใจลูกค้าอย่างจริงใจ ว่าเขาต้องการให้ช่วยเหลืออะไร ต้องการให้เราแนะนำอะไร ความรู้สึกอยากจะสร้างมิตรภาพย่อมเกิดขึ้น… เราอยากเป็นเพื่อนกับลูกค้า มากกว่าเป็นศัตรู ไม่ใช่มุ่งแต่จะขายให้ได้เงิน หรือกำไรเพียงอย่างเดียว และนั่นจะกลายเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวลูกค้า และตัวพนักงานขาย/พนักงานให้บริการ”

 

หากคุณต้องทำหน้าที่ “ขาย” หรือ “ให้บริการ” ลองย้อนสำรวจตัวเอง ว่ามี “3 ความรู้สึกลบ” นี้อยู่ไหม? ถ้ามี ลองหาวิธีลดๆ ลงบ้าง… รับรองว่าคุณจะสนุกและมีความสุขกับงานขาย/งานให้บริการ มากขึ้นอย่างแน่นอน…

 

บทความโดย LEARNING HUB THAILAND

5 เคล็ดลับ สร้างสมาธิให้คุณโฟกัสงาน ได้ตลอดวัน

LHT template update 26 12 2016

คุณเคยพบว่าทำงานในแต่ละวันได้น้อยลงหรือไม่? บางวันคุณอาจรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก แต่ขณะที่วันอื่นๆ แม้ว่าจะใช้เวลานานมากแค่ไหน งานตรงหน้าก็ไม่สำเร็จสักที

เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันว่าการใช้เวลานานๆ และทำตัวให้ยุ่งตลอดทั้งวันจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการศึกษาเมื่อปี 2008 ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์แสดงให้เห็นว่าการถูกผูกติดอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานานจะลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ขณะที่การพักเบรกช่วงสั้นๆ นั้นช่วยให้คุณมีสมาธิและมีพลังงานมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่บ่งบอกว่าการนั่งอยู่ที่โต๊ะนานๆ นั้นเป็นการทำลายสุขภาพ และเรายังรู้กันมานานแล้วว่าการนั่งนานๆ เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และความเสี่ยงโรคร้ายแรงอื่นๆ กระทั่งไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้ด้วยการออกกำลังกาย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยโดยนักวิจัยชาวสวีเดน Dr. Elin Ekblom-Bak ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2010 แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแค่การออกกำลังกายเท่านั้นที่ทำให้สุขภาพเราดีขึ้น การพักเบรกเป็นช่วงและลุกจากโต๊ะบ้างก็ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้เช่นกัน

บทความวันนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ “โพโมโดโร เทคนิค” วิธีการง่ายๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและปกป้องสุขภาพของคุณโดยการสร้างกำลังใจในการทำงานแต่ละวันด้วยการพักเบรกช่วงสั้นๆ

โพโมโดโร เทคนิคถูกคิดค้นขึ้นโดย Francesco Cirillo ในปี 1980 ในหนังสือขายดีที่ใช้ชื่อเดียวกันซึ่งได้รับการปรับปรุงและพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 2013 

“โพโมโดโร” แปลว่ามะเขือเทศในภาษาอิตาเลียน Cirillo ได้แนวคิดชื่อนี้มาจากตัวจับเวลาในห้องครัวรูปมะเขือเทศที่เขาใช้เพื่อบริหารเวลาในช่วงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย  

เทคนิคนี้แนะนำว่าให้คุณแบ่งการทำงานออกเป็นช่วงละ 25 นาที แต่ละช่วงคั่นด้วยเวลาเบรกสั้นๆ

วิธีนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความเรียบง่าย ช่วงเวลา 25 นาที คือมะเขือเทศหนึ่งผล เมื่อคุณทำงานใช้ช่วงที่หนึ่งเสร็จ ให้ใช้เวลาพักประมาณ 5 นาทีก่อนจะเริ่มงานช่วงถัดไป เมื่อคุณทำงานทั้ง 4 ช่วงเสร็จ ให้พักยาวเพื่อเติมพลังและเรียกความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

ในครั้งแรกที่คุณเริ่มทำความรู้จักกับเทคนิคนี้ มันอาจดูขัดแย้งเมื่อได้รู้ว่ามีเวลาพักเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน แต่จากงานวิจัยแสดงให้เราเห็นแล้วว่ามันสามารถเพิ่มพลังสมาธิเมื่อคุณกลับมาทำงานหลังการพักเบรกได้

5 ขั้นตอนการใช้เทคนิคโพโมโดโร

ขั้นที่ 1: ตรวจสอบตารางเวลา

ในขั้นแรกนี้คุณต้องตรวจสอบตารางเวลาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำหรือโครงการต่างๆ ที่วางแผนไว้ และเริ่มคิดว่าอะไรคือสิ่งที่คุณต้องทำในวันนี้

ประมาณการเวลาที่คุณต้องใช้ในการทำงานแต่ละชิ้น โดยจำกัดส่วนของงานที่คุณต้องการทำให้สำเร็จให้อยู่ในช่วงโพโมโดโร (ช่วงละ 25 นาที) และตอนนี้ตารางเวลาของคุณก็จะเหมาะสมกับภาระหน้าที่ในแต่ละวันพอดี

นอกจากนี้อย่าลืมเวลาพักเบรกในตารางเวลาของคุณด้วย 5 นาทีในแต่ละช่วง และเพิ่มเวลาพักเป็น 20-30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้พักช่วงจากงานอย่างเป็นธรรมชาติ (ตัวอย่างเช่น หลังทำงานครบทั้ง 4 โพโมโดโร ให้พักช่วงยาวหนึ่งช่วง)

หมายเหตุ:

Cirillo แนะนำให้ทำงานในช่วง 25 นาที แต่คุณอาจต้องการช่วงระยะเวลาอื่นๆ ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกายเรา กล่าวว่าเราจะโฟกัสสิ่งที่กำลังทำได้เต็มที่ 90-120 นาทีก่อนที่ร่างกายจะต้องการพัก

อย่างไรก็ตามเพื่อสุขภาพของเรา ควรพักช่วงจากการทำงานและเคลื่อนไหวร่างกายบ้างทุกๆ 45 นาที

ขั้นที่ 2: ตั้งกำหนดการ

ก่อนจะเริ่ม คุณต้องมั่นใจก่อนว่าคุณมีอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นในการทำงานเตรียมพร้อมไว้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นปากกาหรือกระดาษโน้ต (และอื่นๆ) ตั้งนาฬิกาจับเวลาสำหรับช่วงนาทีที่คุณตั้งใจจะทำงาน เช่น เราตั้งใจจะทำตามโพโมโดโรเทคนิคก็ตั้งไว้ที่ 25 นาที

คุณสามารถใช้ตัวจับเวลาประเภทใดก็ได้ที่ชอบ นาฬิกาจับเวลาสำหรับการทำอาหารก็ใช้ได้ถ้าหากคุณทำงานอยู่ที่บ้าน แต่หากคุณทำงานที่ออฟฟิศ ก็ต้องพยายามนึกถึงเพื่อนร่วมงานที่อาจทำเสียงดังรบกวนด้วย

ไม่ว่าจะเป็นตัวจับเวลาแบบไหนก็สามารถใช้งานได้ทั้งสิ้น กระทั้งแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนอย่าง Iphone หรือในระบบปฏิบัติการ Android ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

เมื่อคุณเริ่มจับเวลา ให้สนใจแต่งานตรงหน้าเท่านั้น จำไว้ว่าคุณมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องโฟกัสในการทำงานอย่างเต็มที่ จากนั้นเมื่อถึงช่วงพัก คุณก็สามารถโทรกลับสายที่โทรเข้ามาระหว่างทำงานหรือไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้

หรืออาจจะเลือกทางเลือกอื่นเพื่อลดเหตุการณ์ที่อาจเข้ามารบกวนระหว่างคุณทำงาน โดยก่อนเริ่มจับเวลา คุณลองปิดประตูห้องทำงาน ปิดโทรศัพท์และแจ้งเตือนข้อความหรืออีเมล์ รวมถึงทำให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าคุณไม่ต้องการถูกรบกวน

ขั้นที่ 3: ทำงานของคุณและตั้งใจทำเฉพาะงานนั้น

มุ่งความสนใจอย่างเต็มที่ไปยังงานที่เราตั้งใจจะทำในช่วงเวลานั้นๆ

อย่าปล่อยให้สมาธิของคุณไขว้เขวไปกับไอเดียของงานชิ้นอื่นที่อาจผุดขึ้นมาในหัว โดยเขียนไอเดียเหล่านั้นไว้ในกระดาษโน้ตแล้วปล่อยมันไว้เพื่อกลับมาดูภายหลัง

และถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญคุณอาจจัดตารางเวลาสำหรับไอเดียเหล่านั้นในช่วงต่อไป แต่ตอนนี้จงตั้งใจทำงานตรงหน้าซะก่อน

หากคุณทำงานเสร็จทั้งหมดก่อนเวลาจะหมด ให้ใช้เวลาที่เหลือเพื่อทำกิจวัตรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำเป็นประจำหรือทำงานชิ้นเล็กๆ อย่างอื่น เป็นไอเดียที่ดีหากคุณคิดจะเขียนโน้ตเพื่อตรวจดูว่าเทคนิคนี้ทำให้คุณทำงานสำเร็จไปกี่ชิ้น เพื่อให้คุณสามารถวางแผนการทำงานในอนาคตได้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานแต่ละวันให้มากกว่าเดิม

ขั้นที่ 4: พักเบรกสักครู่

เมื่อเวลาหมด ให้คุณพักเบรก 5 นาทีถึงแม้ว่าคุณกำลังอยู่ใน ‘ภาวะลื่นไหล’ ก็ตาม เพราะการพักจะช่วยเติมพลังในการทำงานให้เรานั่นเอง

คุณอาจกังวลว่าการพักเบรกจะทำให้เสียเวลา แต่การพักตามปกตินั้นจะช่วยให้คุณได้เติมพลังงานกลับมาใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งมากกว่าจะเป็นการเสียเวลา Cirillo ให้เหตุผลว่าพลังงานนั้นสำคัญยิ่งกว่าเวลา แนวคิดโพโมโดโรนี้ก็เป็นการบริหารจัดการพลังงานของคุณ เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เพื่อทำงานเวลาที่ระดับสมาธิของคุณลดต่ำลง

เพื่อประโยชน์สูงสุด ใช้ช่วงเวลาพักโดยอยู่ให้ห่างโต๊ะของคุณ อาจเดินไปรอบๆ หรือยืดเส้นยืดสาย แม้กระทั่งเดินไปชงกาแฟ หยิบแก้วน้ำ หรือไปถ่ายเอกสารจากเครื่องที่ตั้งอยู่ห้องข้างๆ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้คุณเลี่ยงจากความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บป่วยและภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

ระหว่างที่คุณอยู่ในช่วงพัก ให้หลีกเลี่ยงการคิดถึงความคืบหน้าของงานที่ทำไป นี่คือช่วงเวลาที่สมองจะได้ผ่อนคลายหลังจากต้องเรียนรู้อย่างหนักมาตลอด เพราะฉะนั้นอย่าคิดอะไรมากเกินความจำเป็น!

นอกจากนี้ พยายามอย่าใช้ช่วงเวลาพักไปกับการตอบแชทโซเชียลมีเดีย อีเมล์ หรือท่องเว็บต่างๆ เพราะมีผลสำรวจพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสายตาเสียจากการจ้องจอคอมหรือหน้าจอมือถือนานเกินไป

ให้ใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมอื่นที่อยู่ห่างจากโต๊ะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเอกสารเก่าๆ หรือเดินไปพูดคุยกับเพื่อนในทีม หากคุณทำงานที่บ้านก็อาจทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น นำผ้าลงเครื่องซัก เป็นต้น

ขั้นที่ 5: กลับเข้าสู่การทำงานให้ครบทุกช่วงและเข้าช่วงพักยาว

เมื่อเวลาพักสิ้นสุดลง ตั้งนาฬิกาจับเวลาเข้าสู่ช่วงการทำงานช่วงต่อไป เมื่อทำงานครบสี่ช่วงให้คุณใช้เวลาพักยาวประมาณ 20-30 นาที ไม่ว่าจะเป็นออกไปเดินเล่น กินอาหารว่างแบบเฮลท์ตี้ ทานอาหารกลางวัน อ่านหนังสือ อะไรก็ได้ที่คุณต้องการตราบใดที่กิจกรรมนั้นอยู่ห่างจากโต๊ะทำงานเพื่อให้คุณได้ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งจากงานที่เพิ่งทำมาก่อนหน้านี้

จำไว้ว่าสิ่งสำคัญคือการเติมพลังงาน เพียงเพราะแนวทางของเราบอกไว้ว่าต้องทำงานให้เสร็จในช่วงเวลาหรือทำงานครบทั้งสี่ช่วงก่อนจะพักยาว ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎเหล่านี้เป็นกฎตายตัว

การฟังความต้องการของร่างกายตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ หากจิตใจของเราเริ่มวอกแวกหรือคุณอาจเริ่มรู้สึกเหนื่อย อย่าฝืนตัวเองเพื่อทำงานให้ครบตามกำหนดช่วงเวลา ให้นึกถึงจังหวะของร่างกายที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ ที่ว่าตัวเรามีรอบการทำงานอยู่ที่ 90-120 นาที และมันก็ยากที่จะบอกได้ว่าร่างกายของคุณอยู่ในช่วงใดเมื่อเริ่มการทำงาน

บางทีคุณอาจต้องพิสูจน์เรื่องนี้ บางครั้งการทำงาน 20 นาที และแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาก่อนจะพักยาว 30 นาทีอาจเหมาะสมกับคุณมากกว่าก็เป็นได้

หรือบางทีคุณอาจมีสมาธิดีในช่วงเช้าและต้องการพักบ่อยขึ้นในช่วงบ่าย เมื่อคุณค้นพบรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง คุณจะต้องรู้สึกอัศจรรย์กับความสำเร็จของงานที่คุณทำได้ในแต่ละวัน

ข้อดีและข้อเสียของโพโมโดโร เทคนิค

การใช้โพโมโดโร เทคนิคมีประโยชน์ต่อการบริหารเวลาในการทำงานหลากหลายข้อ

การหั่นเวลาทำงานให้สั้นลงช่วยให้ระดับการโฟกัสในงานแต่ละช่วงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมันสามารถช่วยบริหารเวลาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถทำให้โปรเจคใหญ่ๆ ดูทำสำเร็จได้ง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังช่วยลดการถูกรบกวนในการทำงานหลายๆ อย่าง ลดความรู้สึกท้อหรือการผัดวันประกันพรุ่งซึ่งอาจทำให้คุณเสียสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานเพราะคุณมีเวลาทำงานแต่ละชิ้นอย่างจำกัด

งานวิจัยยืนยันว่าการพักเบรกนั้นดีต่อสุขภาพและช่วยเพิ่มระดับสมาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มระดับประสิทธิภาพการทำงานได้ Cirillo ระบุอีกว่าวิธีการนี้ยังเหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder หรือ ADD) อีกด้วย  

นอกจากนี้การพักเบรกช่วงสั้นๆ จะช่วยให้สมองของคุณได้ปรับตัวรับข้อมูลต่างๆ ได้ดี เพิ่มโอกาสในการคิดไอเดียบรรเจิดใหม่ๆ ออกมาอย่างที่คุณนึกไม่ถึง

การใช้เวลาเพื่อพักผ่อนและเติมพลังงานในระหว่างวันยังช่วยให้คุณได้พักร่างกายเมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยล้าในยามบ่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน บางคนอาจรู้สึกว่าการพักช่วงสั้นๆ นั้นน่ารำคาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงพักนั้นอยู่ในระหว่างที่พวกเขากำลังมีแรงบันดาลใจทำงานอย่างลื่นไหล

นอกจากนี้การโฟกัสงานเป็นช่วงๆ ยังทำได้ยากหากคุณมีหน้าที่การงานหรือทำงานอยู่ในออฟฟิศที่อาจถูกรบกวนได้บ่อยจากเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า

ความไม่ยืดหยุ่นของการกำหนดเวลาทำงานในแต่ละช่วงเป็นเวลาเท่าๆ กันอาจส่งผลด้านลบให้เกิดขึ้นได้ เช่น หากคุณมีประชุมและเวลาประชุมมาซ้อนทับกับช่วงเวลา 4 ช่วงที่คุณกำหนดไว้พอดี เป็นต้น

โดยสรุป โพโมโดโร เทคนิคนั้นเรียบง่ายและมีการดำเนินการไม่ยุ่งยาก มันต้องการแค่ตัวจับเวลาและทัศนคติที่ว่า “ฉันทำได้” และยังสามารถสร้างสุขภาพที่ดีไปจนถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ลองดูสิว่ามันจะเหมาะกับคุณหรือไม่!

เคล็ดลับ

โพโมโดโร เทคนิคถูกคิดค้นขึ้นโดย Francesco Cirillo ในปี 1980 และตีพิมพ์ในหนังสือขายดีที่ใช้ชื่อเดียวกัน

เทคนิคนี้ใช้ตัวจับเวลาเพื่อแบ่งงานของคุณออกเป็นช่วงละ 25 นาที แต่ละช่วงเรียงว่า “โพโมโดรริ (Pomodori) หลังจากเสร็จงานในแต่ละช่วง คุณจะได้เวลาพัก 5 นาที และเมื่อคุณทำงานครบสี่ช่วง ให้พักยาว 20-30 นาที

มันเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย ใช้งานง่ายและสามารถสร้างประโยชน์มากมายทั้งในด้านประสิทธิภาพการทำงานและด้านสุขภาพ การพักบ่อยๆ ช่วยเพิ่มระดับความสามารถในการตั้งสมาธิกับงานที่ทำซึ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้มันยังช่วยลดภาวะด้านลบต่างๆ ที่อาจเกิดกับร่างกายเมื่อนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะนานๆ อีกด้วย

แปลและเรียบเรียงโดย

Learning Hub Team

ที่มาบทความ: https://www.mindtools.com/pages/article/pomodoro-technique.htm

 

5 วิธี เพิ่มความมั่นใจ ในที่ทำงาน

5-tips-to-overcome-lazy-habit

ในแต่ละวันของการทำงานคุณเคยถามตัวเองบ้างไหมว่าคุณมีอาการขาดความมั่นใจในตัวเองบ้างหรือเปล่า และถ้าคุณกำลังมีอาการขาดความมั่นใจในที่ทำงาน หรือมีความกังวลว่าจริงๆแล้วคุณอาจไม่เหมาะที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้

มีความคิดว่าคนรอบข้างฉลาดกว่าคุณ พร้อมกว่าคุณ ขณะเดียวกันเจ้านายก็จ้องที่จะจับผิดคุณ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับคุณนาน ลองเติมความมั่นใจให้ตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้กัน

1.ทำความเข้าใจกับเรื่องไร้สาระ

ไม่มีใครเหมาะสมหรือดีพร้อมทุกอย่าง บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เช่น การนินทา เพราะถ้ามองว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญมันก็จะสำคัญ แต่ถ้าลองทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้น พูดคุยกับตัวเองมากขึ้นและให้กำลังใจตัวเอง การคิดดีจะช่วยให้คุณเรียนรู้และเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้น

2.เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง

เพิ่มเติมความรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำด้วยการอ่านหนังสือ หรือค้นหางานวิจัย สิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้คุณมีตรรกะและความคิด เรียนรู้วิธีการและเข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการทำงานที่ดี ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวคุณเองมากขึ้น

3.ถามให้มากขึ้น

อย่ากลัวที่จะซักถามเมื่อคุณไม่รู้ ความกลัวนี่ล่ะที่จะทำให้คุณไม่กล้าที่จะตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะคุณจะไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอย่างแท้จริง

ดังนั้นหากคุณไม่แน่ใจในวิธีการทำงานบางอย่างก็ควรที่จะซุกถามในสิ่งที่คุณสงสัย นอกจากจะช่วยให้คุณมีความรู้เพิ่มคุณแล้ว คุณยังมีความมั่นใจและกล้าพูดคุยกับคนรอบข้างมากขึ้นด้วย

4.เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

มันยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวคุณได้ หากคุณมัวแต่คร่ำครวญว่าคุณทำไม่ได้ จงตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองและเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าจะต้องไปถึงสิ่งนั้นให้ได้ด้วยการเพิ่มความมั่นใจในความสามารถของคุณ เพื่อความสำเร็จของตัวคุณเอง

และเพื่อโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพของคุณ และเมื่อคุณประสบความสำเร็จแล้วครั้งหนึ่ง ให้นึกถึงความสำเร็จนั้นเพื่อเป็นแรงผลักดันที่จะสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

5.ทำชีวิตให้สนุกอยู่เสมอ

ไม่มีอะไรที่เลวร้ายยิ่งกว่าการที่คุณจริงจังกับชีวิตมากเกินไป แน่นอนว่าคุณต้องการที่จะทำผลงานได้ดี แต่คุณก็ยังสามารถมีความสนุกสนานในขณะที่คุณกำลังทำมันอยู่ได้ด้วย

จงเรียนรู้ที่จะหัวเราะกับความพ่ายแพ้และความผิดพลาดของคุณและวิจารณ์ด้วยอารมณ์ขันที่ดี นั่นจะช่วยเพิ่มความมั่นใจของคุณและช่วยให้คุณปรับปรุงตัวเองดีขึ้นด้วย

ที่มา http://talentonline.com/employer/get_expert_tips/9

5 วิธีเอาชนะความกลัว เมื่อรับตำแหน่งใหม่

5-tips-to-overcome-lazy-habit

ใครๆ ก็อยากเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นใช่ไหมคะ เพราะจะได้ปรับเงินเดือนสูงขึ้น มีลูกน้องเพิ่มขึ้น มีคนนับหน้าถือตามากขึ้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว Leaning Hub เชื่อว่าหลายคนอดกลัว และกังวลใจไม่ได้ เพราะเมื่อนึกถึงภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น งานหนัก เหนื่อยและยากมากขึ้น ก็รู้สึกหวาดหวั่นและเกรงว่าจะทำไม่ได้

แต่คุณลองคิดดูสิคะว่าจะมีสักกี่คนในบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจ และโอกาสอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ดังนั้น เพื่อให้คุณรับตำแหน่งใหม่ได้อย่างมั่นใจ วันนี้เรามีวิธีเอาชนะความกลัว เมื่อรับตำแหน่งใหม่มาฝากกันค่ะ

1) ปลุกความกล้าในตัวคุณ

“จงเปลี่ยนความกลัว ให้เป็นความกล้า”

คนส่วนใหญ่เมื่อต้องรับตำแหน่งใหม่จะคาดการณ์ไปก่อนแล้วว่าเป็นงานยาก หนัก และเหนื่อย ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาและลงมือทำเลย ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะเข้าใจรายละเอียดงานเบื้องต้นแล้ว ก็ยังคิดว่าตนเองไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำงานนั้นได้ จึงเกิดความกลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง และพาลไม่อยากรับตำแหน่งใหม่ค่ะ

แต่คุณรู้ไหมคะว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเหมือนหลุมพรางที่ฉุดรั้งความก้าวหน้า และทำให้คุณพลาดโอกาสดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าคุณมัวแต่คิดว่าตนเองไม่พร้อม คุณก็จะไม่มีวันได้เริ่มต้นทำอะไรเลย และนั่นจะทำให้คุณแพ้ตั้งแต่เกมส์ยังไม่เริ่มค่ะ

คุณควรคิดว่าการลงมือทำจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จ 50% แต่หากคุณกลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าทำอะไรเลย โอกาสความสำเร็จของคุณจะเท่ากับ 0% ดังนั้น เมื่อคุณรู้แบบนี้แล้ว ก็อย่ารีรอที่จะสู้ และลงมือทำค่ะ

2) เชื่อมั่นและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

“การดูถูกความสามารถของตนเอง เป็นความคิดที่ทำร้ายตัวเองมาก”

การที่หัวหน้าให้ตำแหน่งคุณแสดงว่าเขาเล็งเห็นศักยภาพ และมั่นใจในความสามารถของคุณที่จะทำงานให้สำเร็จได้ ในเมื่อคนอื่นไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวคุณขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่คุณจะดูถูกความสามารถของตนเองนะคะ

ลองทบทวนดูสิคะว่าคุณมีจุดดี จุดเด่นอะไรบ้าง เช่น เป็นคนตรงเวลา ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบ หรือรู้จักเพื่อนร่วมงานมากมาย นอกจากนี้ คุณอาจย้อนนึกถึงผลงาน หรือความภาคภูมิใจที่คุณเคยทำสำเร็จในอดีต

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมา และพร้อมจะเป็นแรงผลักดันให้คุณพัฒนาตนเองต่อไปค่ะ แม้ว่าคุณจะเคยทำความผิดพลาดในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นะคะ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

จงนำมันมาเป็นบทเรียน ปรับปรุง และหมั่นฝึกฝนตนเองต่อไป อย่าเสียเวลาคร่ำครวญกับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คุณควรสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่สวยงามค่ะ

3) เลิกเครียดและกดดันตัวเอง

“ความเครียดทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง”

ทุกคนล้วนต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องรับตำแหน่งใหม่จริงๆ คุณก็เกิดความรู้สึกกังวล เครียด และกดดันใช่ไหมคะ คุณมักกลัวกับการเปลี่ยนแปลง และไม่อยากปรับตัวใหม่

ความเครียดและแรงกดดันเกิดขึ้น เพราะคุณรู้สึกว่าต้องทำงานที่คนอื่นสั่ง คุณจึงทำอย่างไม่เต็มใจ และแน่นอนว่าคุณไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าที่ควรจะเป็นค่ะ           

ดังนั้น จงปรับทัศนคติของตนเองใหม่ค่ะ เพียงคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้พิสูจน์และพัฒนาฝีมือตัวเอง มองงานให้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เปลี่ยนแรงกดดันเป็นพลังที่ช่วยผลักดันให้คุณสร้างสรรค์สิ่งที่ดีค่ะ

ในช่วงแรกคุณควรหลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายที่เป็นอันดับหรือตัวเลข แต่ให้มุ่งเน้นไปที่แนวทางและวิธีการทำงานก่อนค่ะ เพราะเมื่อคุณทำงานโดยไม่เครียดและไม่มีแรงกดดันแล้ว คุณจะสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลค่ะ

4) เลือกมองแต่ด้านดี

“การคิดบวก ทำให้คุณมีพลังในการทำงาน”

ตำแหน่งใหม่มักมาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น ประชุมทั้งวัน รายงานความคืบหน้าให้หัวหน้ารับทราบ มอบหมายงานให้ลูกน้องปฏิบัติ และตรวจสอบความถูกต้อง เป็นต้น

แค่คิดก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมคะ อาการท้อแท้กับงานส่วนใหญ่เป็นเพราะคุณมองเห็นแต่อุปสรรค หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานที่รับผิดชอบค่ะ

นั่นหมายความว่า หากคุณเห็นประโยชน์มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ลองถามตัวเองดูสิคะว่า

“ตำแหน่งใหม่ของคุณมีข้อดีอะไรบ้าง”

“ทำให้คุณได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง”

“ทำให้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ คือใครบ้าง” เป็นต้น

เมื่อคุณรู้ประโยชน์ที่จะได้รับ คุณจะเกิดความรู้สึกเชิงบวก และมองเห็นว่างานนั้นน่าสนใจ มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อชีวิตคุณค่ะ

5) เพิ่มพูนทักษะ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

“ทักษะ เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จ”

งานใหม่จะยากสักแค่ไหน แต่ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันทีค่ะ ดังนั้น ก่อนรับตำแหน่งใหม่ คุณจำเป็นต้องเข้าใจเนื้องาน และพัฒนาทักษะตนเองให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย

คุณต้องทราบว่างานใหม่เป็นงานประเภทไหน เช่น งานวิเคราะห์ งานติดต่อประสานงาน งานเอกสาร หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณทราบแล้ว คุณจะได้พัฒนาทักษะของตนเองให้ตรงจุด เพื่อที่จะรับมือกับงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

คุณสามารถเลือกวิธีพัฒนาตนเองได้มากมาย เช่น สังเกตการณ์ อ่านหนังสือ สอบถามผู้รู้ หรือลงเรียนคอร์สอบรมต่างๆ เมื่อคุณมีทักษะเพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกมั่นใจ และลงมือทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และอนาคตในการทำงานของคุณจะสดใสรุ่งโรจน์แน่นอนค่ะ 

สุดท้ายนี้ ใครก็ตามที่กำลังจะได้รับตำแหน่งใหม่ Learning Hub ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ จงตั้งใจทำงาน รับผิดชอบต่อหน้าที่ และอย่าลืมนำเทคนิคดีๆ ที่นำมาฝากกันในวันนี้ไปใช้ด้วยนะคะ

เรียบเรียงโดย Nadda Learning Hub Team

ที่มา (http://www.pakornblog.com/tools-trap4.php)

 

8 สัญญาณ ยืนยันว่างานนี้ “ใช่” สำหรับคุณ

คนเราต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งหากเราทำงานอย่างเบื่อหน่าย เครียด หรือไม่มีความสุขแล้ว สิ่งนี้ก็จะบั่นทอนสุขภาพจิต และสุขภาพร่างกายของเรา ในทางตรงกันข้าม หากเราอยากไปทำงานในทุกๆเช้า มีความสุขกับงานที่ทำ เราก็จะสามารถทำงานออกมาได้ดี และมีประสิทธิภาพ

คุณเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า“คุณมีความสุขในการทำงานหรือเปล่า” แต่หากคุณยังสับสนและคิดไม่ออก ให้คุณลองอ่านบทความนี้ หากคุณมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ 8 ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่ และเหมาะสม มาดูกันเลยค่ะว่ามีอะไรบ้าง

1) คุณคิดว่างานที่ทำมีคุณค่า

หลายคนทำงานแบบเช้าชามเย็นชามหรือทำงานตามหน้าที่เท่านั้นไม่ได้ทำงานเพราะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุข ในทางกลับกัน คนที่มีความสุขในการทำงานมักเชื่อว่างานที่ตนเองทำมีความสำคัญและมีคุณค่า

สำหรับพวกเขาเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิต แต่งานที่ได้ทำ คือ ความสุขและความท้าทายดังนั้น ทุกครั้งที่ได้เห็นผลลัพธ์จากการทำงาน พวกเขาจะมีความสุขเสมอ

2) คุณรู้สึกมีแรงจูงใจที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้า

เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นในตอนเช้า หัวของคุณคิดถึงอะไร หากคุณงัวเงีย ไม่อยากลุกจากที่นอน และเลื่อนเวลาของนาฬิกาปลุกไปเรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณไม่อยากมาทำงาน

ในทางตรงกันข้าม หากคุณตื่นขึ้นมาอย่างสดใส พร้อมที่จะเริ่มต้นวันใหม่ รู้สึกกระตือรือร้น และมีกำลังใจในการทำงาน แสดงว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่และมีความสุข

3) คุณไม่เกลียดเย็นวันอาทิตย์ และไม่กลัวเช้าวันจันทร์

เย็นวันอาทิตย์และเช้าวันจันทร์ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและทรมานใจของคนทำงานหลายๆคน เพราะมีอีกตั้ง5 วันที่ต้องทำงานจนกว่าจะถึงวันหยุดอีกครั้งอย่างไรก็ตาม

หากคุณไม่รู้สึกเกลียดหรือกลัวช่วงเวลานี้แสดงว่าคุณมีความสุขกับงานที่รับผิดชอบ เพราะสิ่งที่อยู่ในใจคุณก็คือ ไม่ว่าจะเป็นวันไหนของสัปดาห์ คุณก็มีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่คุณรัก

4) คุณไม่ได้ทำงานแบบเอาตัวรอดไปวัน ๆ

หลายคนคิดว่าการทำงานคือการต่อสู้ หรือการพยายามเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นปัญหาในแต่ละวัน กล่าวคือ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างใจจดใจจ่อ คุณกลับทำงานแบบเอาตัวรอดไปวันๆ

หรือทำงานแต่ละชิ้นให้จบๆไปโดยไม่คำนึงว่างานจะมีคุณภาพดีหรือไม่ หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่าคุณกำลังมีความทุกข์กับการทำงาน

ในทางกลับกัน หากคุณรู้สึกสนใจในเนื้องานทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และมักสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยม นั่นแสดงว่าคุณรักในงานที่ทำ จึงพยายามทำมันออกมาให้ดีที่สุด

5) คุณไม่สามารถหยุดเล่าเรื่องงานของคุณให้คนอื่นฟังได้

คุณเคยเล่าเรื่องงานของคุณให้เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวฟังบ้างไหม อาจเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ของบริษัท ความท้าทายของงาน หรือความน่ารักของเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

หากคุณเคยทำเช่นนั้น ทั้งๆที่ในขณะที่คุณเล่าเรื่องงานให้คนอื่นฟัง พวกเขาแทบจะไม่ใส่ใจคุณเลย แต่คุณก็ยังคงเล่าต่อไป หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้ แสดงว่าคุณรู้สึกสนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ

6) คุณแทบจะไม่ได้มองนาฬิกาเลย

ในที่ทำงานมีพนักงาน 2 ประเภท ประเภทแรกคือ พวกที่จ้องมองนาฬิกาตลอดเวลาคนประเภทนี้มักรู้สึกว่าเวลาทำงานแต่ละวันช่างยาวนานเหลือเกิน และพวกเขาจะรอคอยให้ถึงเวลาเลิกงานอย่างใจจดใจจ่อ

อีกประเภทหนึ่งคือ พวกที่แทบจะไม่มองนาฬิกาในเวลาทำงานเลย และเมื่อพวกเขาเงยหน้าดูนาฬิกาอีกทีก็จะพบว่าเป็นเวลาเลิกงานแล้ว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าในแต่ละวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

หากคุณมีพฤติกรรมคล้ายกับคนกลุ่มที่สองแสดงว่าคุณรักและพึงพอใจกับงาน

7) คุณใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานของคุณอย่างมีความสุข

บางคนรู้สึกไม่อยากทำงาน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน หรือมีความรู้สึกด้านลบต่อเพื่อนร่วมงาน สิ่งนี้เป็นตัวบั่นทอนกำลังใจ และความสุขในการทำงาน

ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยให้ตนเองเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ทางที่ดีคุณควรมองเพื่อนร่วมงานในแง่บวก และอาจใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาให้มากขึ้น

ทั้งนี้ หากคุณส่งข้อความไปหาเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน หรือใช้เวลาในวันหยุดเพื่อไปรับประทานอาหาร ท่องเที่ยว หรือซื้อของด้วยกัน แสดงว่าคุณรู้สึกดี และต้องการการมีส่วนร่วมกับทีม สิ่งนี้แปลว่าคุณกำลังมีความสุขกับงานและเพื่อนร่วมงานของคุณ

8) คุณไม่เข้าใจว่าทำไมมีคนถึงเกลียดงานของตัวเอง

ผลสำรวจชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าผู้คนจำนวนมากถึง 80% เกลียดงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของลักษณะงาน เพื่อนร่วมงาน ผลตอบแทน หรือสิ่งอื่นๆ

กล่าวคือ คนจำนวน 4 ใน 5 คนที่ไปทำงานทุกวันรู้สึกไม่พึงพอใจในงานที่ตนทำอยู่ ซึ่งหากคุณไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงเกลียดงานของตัวเอง นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่างานที่คุณทำอยู่เหมาะสมกับคุณ

เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลง และพบว่าตนเองมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับตัวอย่างใน 8 ข้อข้างต้น ขอแสดงความยินดีด้วย ถือว่าคุณเป็นคนโชคดีมาก เพราะคุณได้ทำงานที่รักและเหมาะสมกับคุณ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://www.lifehack.org/309681/8-signs-youve-chosen-the-right-job)

5 ขั้นตอน ตั้งเป้าให้สุข ทะลุกรอบเงินเดือน

ประชากรโลกกว่า 7,300 ล้านคน คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าเราสามารถแบ่งออกได้แค่ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่ขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต

แน่นอนว่าคนกลุ่มที่สอง จะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนกลุ่มแรก แต่หากคุณเป็นส่วนหนึ่งในคนกลุ่มที่สองเชื่อเหลือเกินว่าคุณอาจจะต้องพบกับคำถามที่ว่า

“ทำไมฉันมีเป้าหมายแล้ว แต่ชีวิตกลับไม่มีความสุข”

ที่แย่กว่านั้น คือ หลายคนเป้าหมายกลายเป็นความจริงแล้ว แต่ก็ยังคงไร้ซึ่งความสุขในชีวิต

วันนี้ Learning Hub Thailand มี 5 ขั้นตอนง่ายๆ ที่จะช่วยคุณสร้างเป้าหมายให้กลายเป็นจริง โดยไม่ทิ้งความสุขในชีวิต

1.คุยกับตัวเอง

ผู้คนมากมายตั้งเป้าหมายในชีวิตโดยใช้ความคิดเป็นหลัก ความคิดที่คาดหวังจะได้รับความสุขที่จะได้รับหลังเป้าหมายสำเร็จและหลายคนตั้งเป้าหมายในชีวิตตัวเองจากเป้าหมายของผู้อื่น

เป้าหมายที่เกิดจากความคิดแบบนี้จะไม่สามารถสร้างสุขให้ตัวเราในทุกขณะตั้งแต่ตั้งเป้า ระหว่างลงมือทำ ไปจนถึงวันที่เป้าหมายกลายเป็นจริง

 ณ จุดนี้อยากให้คุณลองหลับตาแล้วย้อนอดีตไปในวันที่เริ่มต้นตั้งเป้าหมายในชีวิตครั้งแรก แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า

เราตั้งเป้าหมายนี้จากเหตุผลอะไร

ทำไมถึงอยากให้เป้าหมายนี้สำเร็จ

ชีวิตเราต้องการสิ่งใดกันแน่

เคล็ดลับง่ายๆ ในการค้นหาเป้าหมายที่ใช่และทำให้ใจเป็นสุข คือ การใช้ความสุขเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง อย่าลืมว่า

          “เป้าหมายจะมีชีวิตถ้าสร้างจากความสุข มิใช่สร้างจากความคิด”

2.ค้นหาแรงบันดาลใจ

การสร้างเป้าหมายจากแรงบันดาลใจก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ลงในดิน ต้นไม้ไม่มีทางอยู่ได้โดยไม่มีดินและยิ่งดินมีคุณภาพมากเท่าไร

ต้นไม้ก็ยิ่งแข็งแกร่ง งดงาม และสร้างคุณค่าได้มากเท่านั้น

การตั้งเป้าหมายในชีวิตก็เช่นเดียวกัน ควรตอบให้ได้ว่าในชีวิตของเรา ใครบ้างที่เราอยากให้พวกเขามีความสุข

เราต้องการความสุขจากพวกเขา และพวกเขาก็ต้องการความสุขจากเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าความสุขของคุณคือการได้ดูแลภรรยาและลูกๆ ที่อยู่ในวัยกำลังซน

การตั้งเป้าหมายอยากเป็นนักธุรกิจข้ามชาติที่ต้องเดินทางแทบจะ 365 วัน ก็คงไม่สร้างพลังแห่งความสุขได้เท่ากับการตั้งเป้าหมายที่จะมีธุรกิจออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้หลักล้านแถมมีเวลาอยู่กับครอบครัว   อย่าลืมว่า

         “เป้าหมายเป็นเพียงเส้นชัย แต่แรงบันดาลใจจะทำให้คุณพิชิตเส้นชัย”

3.พร้อมที่จะให้

จุดผิดพลาดของคนที่มีเป้าหมาย คือ การตั้งเป้าหมายแบบคนที่ขาดเป้าหมาย หลายคนตั้งเป้าหมายเพียงให้ได้รับโบนัสสิ้นปีที่มากขึ้น

ได้ไปชอปปิ้งต่างประเทศบ่อยขึ้น

ต้องการให้พ่อแม่ซื้อของที่ตนเองต้องการให้มากขึ้น ฯลฯ เป้าหมายที่ทำให้ตัวเองอยู่ในฐานะ “ผู้รับ”

แบบนี้ถึงแม้จะกลายเป็นจริง ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ตั้งแตกต่างอะไรกับกลุ่มคนที่ขาดเป้าหมายและใช้ชีวิตไปวันๆ เลย

ในทางกลับกันการตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขให้ชีวิตจึงควรเปลี่ยนฐานะจากการเป็นผู้รับเป็น “ผู้ให้”

เช่น ตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้เสริมเทียบเท่าโบนัสสิ้นปี เป็นเจ้าของกิจการส่งออกสินค้า เป็นเสาหลักของครอบครัว ฯลฯ อย่าลืมว่า

      “มือของผู้ให้อยู่สูงกว่ามือของผู้รับเสมอ ความสุขจากการให้ก็เช่นเดียวกัน”

4. เขียนลงในกระดาษ

ในเมื่อความสุขเป็นนามธรรม การตั้งเป้าหมายที่จะมีความสุขจึงต้องเขียนลงในกระดาษให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ต้องการมีรายได้เดือนละเท่าไร

ต้องการใช้เวลากับครอบครัววันละกี่ชั่วโมง

วันหยุดยาวอยากพาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยวที่ไหนบ้าง

อยากทำสิ่งใดทดแทนบุญคุณพ่อและแม่ ฯลฯ

ยิ่งคุณกล้าเขียนเป้าหมายลงในกระดาษให้ชัดเจนมากขึ้นเท่าไร ขนาดความสุขก็จะยิ่งขยาย และเป้าหมายก็จะยิ่งกลายเป็นความจริงได้ไวขึ้นเท่านั้น  อย่าลืมว่า

     “การเขียนเป้าหมายลงในกระดาษ คือ การอนุญาตให้เป้าหมายมีชีวิต”

5. ระบุวันหมดอายุ

ความสุขในชีวิตไม่ใช่วัชพืชที่จู่ๆ จะงอกเงยขึ้นมาเองจากดิน แต่ความสุขเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่คุณต้องตัดสินใจให้มันเกิดขึ้นมาโดยการปลูกและรดน้ำ พรวนดิน อย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตั้งเป้าหมาย คือ การมีวินัยทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ดังนั้น ในแต่ละวันคุณจึงควรกำหนดรายละเอียดสิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจน และอย่าลืมระบุวัน เวลา ที่คาดว่าจะทำสิ่งนั้นๆ

ให้แล้วเสร็จลงไปด้วย เพื่อป้องกันอาการผัดวันประกันพรุ่งจนทำให้เป้าหมายสลายไปในอากาศ  อย่าลืมว่า

      “เป้าหมายจะหมดอายุ ถ้าเราลืมระบุวันหมดอายุลงไป”

            ถ้าคุณผู้อ่านทำตามขั้นตอนครับทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อสุภาษิตไทยโบราณที่กล่าวว่า “ได้อย่างมักเสียอย่าง” อีกต่อไป เพราะคุณจะได้ชื่อว่าเป็นทั้ง “ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต” และเป็นทั้ง “ผู้ที่มีความสุขในชีวิต”

 เขียนโดย จิตเกษม น้อยไร่ภูมิ (โค้ชแมงปอ)

10 เคล็ดลับ เพื่อการบริหารเวลาที่ดีขึ้น

3

“เวลาเป็นเหรียญที่มีค่าที่สุดในชีวิตของคุณ คุณและคุณเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดว่าเหรียญนั้นจะถูกใช้ไปอย่างไร สิ่งหนึ่งที่คุณต้องระวังคือ..อย่าให้ใครมาเป็นคนกำหนดหรือใช้มันไปแทนคุณ” – จอห์น ดรายเด็น

การบริหารเวลาเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จทั้งในอาชีพของคุณและชีวิตส่วนตัว เชื่อเถอะค่ะว่า ความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่คุณสร้างมันในวันนี้จะช่วยคุณไปได้ตลอดขีวิตเลยทีเดียวค่ะ 

วันนี้เรามี 10 เคล็ดลับที่ไม่ลับ ที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการบริหารเวลาของคุณได้ค่ะ

1.วางแผนเวลาทุกวัน

จัดแจงเวลาสักครึ่งชั่วโมงไว้วางแผนเวลาทั้งวันของคุณทุกวัน ใช่ค่ะ มันอาจจะฟังดูแปลกๆ ที่จะวางแผนในการวางแผน

แต่การจินตนาการ

หรือนึกถึงงานที่คุณตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องสำเร็จภายในวันนี้ และจัดเรียงลำดับความสำคัญของงานแต่ละงานจะสามารถช่วยให้คุณเห็นภาพความสำเร็จและนึกภาพออกง่ายขึ้นว่าควรจะทำอย่างไร

2.เผื่อเวลาให้กับสิ่งรบกวนต่างๆบ้าง

ทุกครั้งที่ทำการนัดหมาย หรือลงตารางเวลางาน อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับสิ่งรบกวนต่างๆที่จะหยุดการทำงานของคุณชั่วคราวให้คุณทำงานได้ช้าลง

ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ดัง มีงานด่วน หรือ อีเมลที่ไม่คาดคิดอาจจะเข้ามามากมาย ถ้าคุณพยายามที่จะนัดหมายใครต่อใครแบบเวลาชนเวลาเป๊ะๆ โดยที่ไม่ได้มีเวลาเว้นว่างหรือเผื่อเวลาไว้บ้างเลย

แน่นอนเลยค่ะว่าคุณจะไม่สามารถทำตามทุกนัดหมายได้ทันเวลาค่ะ

3.ถ้าไม่จำเป็นต้องตอบตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องตอบ

ยอมรับเถอะค่ะว่าคุณไม่สามารถรับโทรศัพท์ทุกสายหรือตอบกลับทุกอีเมลได้ในทันที หากคุณจำเป็นต้องทำโปรเจคหรืองานของคุณให้เสร็จจริงๆ ก็ปล่อยให้โทรศัพท์ดัง

หรือ ปล่อยให้ไลน์ แชต หรือ ข้อความต่างๆดังไปก่อน อย่าตกอยู่ในกับดักของการโต้ตอบกับทุกสิ่ง ถ้ามันไม่ได้จำเป็นต้องมีการตอบรับจากคุณตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องสนใจมันหรอกค่ะ

4.กำหนดเวลาการทำงานให้กับตัวเอง

ลองกำหนดเวลาของการทำงานแต่ละชิ้นให้ตัวเองตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันไม่ให้งานของคุณลากยาวเกินไป

เช่น หากคุณกำหนดไว้ว่า คุณต้องส่งอีเมลจำนวน x อีเมลให้เสร็จภายในเวลา Y ชั่วโมง การที่คุณจะถูกดึงความสนใจไปที่งานอื่นๆที่ยังไม่จำเป็นก็จะลดน้อยลง

อีกไอเดียหนึ่งที่ดีคือ การตั้งกำหนดเวลาเหล่านี้ในปฏิทินของคุณค่ะ เพื่อช่วยในการติดตาม และทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วยนะคะ 

5.สรุปคร่าวๆทั้งก่อนและหลังการพูดคุย

ทุกครั้งก่อนการประชุม หรือการนัดหมาย หรือแม้แต่การคุยโทรศัพท์ ลองใช้เวลาสักนิดเพื่อคิดคร่าวๆ สรุปในใจของคุณก่อนว่าสิ่งที่คุณต้องการจากการประชุม หรือนัดหมายหรือการคุยในครั้งนี้คืออะไร

วิธีนี้จะทำให้คุณเห็นภาพความสำเร็จก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือทำ หลังการประชุม การนัดหมาย หรือการคุยโทรศัพท์

ลองใช้เวลาอีกสักนิดในการสรุปว่าคุณได้อะไรจากการประชุม หรือการคุยครั้งนี้บ้าง

วิธีนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นในระหว่างการประชุม หรือการคุยของคุณ

แต่ยังจะช่วยให้คุณมีประสิทธิภาพในการพูดคุยมากขึ้น และท้ายที่สุด คุณก็จะได้รับสิ่งที่คุณต้องการได้เร็วขึ้นอีกด้วยค่ะ 

6.ทฤษฎี 80/20

“กฏแห่งทฤษฎีของพาเรโต้” ระบุว่า 80 เปอร์เซนต์ของความสำเร็จของคุณ มาจากกิจกรรม 20 เปอร์เซนต์ ในตลอดทั้งวันของคุณ พยายามลองนึกสิคะว่า

กิจกรรมที่นับเป็น 20 เปอร์เซนต์ของคุณมีอะไรบ้าง และพยายามค่อยๆแทรกกิจกรรมเหล่านั้นเข้าไปในแต่ละวันของคุณมากขึ้น และค่อยๆเพิ่มเวลาให้กับมันมากขึ้นไปเรื่อยๆค่ะ

7.รู้จักแบ่งงานให้คนอื่นบ้าง

บางคนอาจจะรู้สึกอึดอัด หรือ ไม่ค่อยถนัดในการมอบหมายงานต่างๆที่อยู่ในมือไปให้ลูกน้องหรือคนอื่นๆ

สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งดีในระยะยาวนะคะ สิ่งที่ดีกว่าคือ การค่อยๆเรียนรู้ที่จะแบ่งงาน โดยเริ่มจากงานที่ไม่ค่อยสำคัญมากนักไปให้คนอื่นได้ทำบ้าง

หรือจ้างคนอื่นที่เชี่ยวชาญกว่ามาทำ ในกรณีที่สามารถทำได้ดีกว่าค่ะ

8.ทำงานที่คล้ายๆกันในทีเดียว

รวบรวมงานที่คล้ายๆกันมาทำพร้อมกันในทีเดียว เช่น หากคุณต้องโทรศัพท์หาคนหลายๆคนในวันนั้น

หาเวลาสักครู่แยกตัวออกมาจากทุกๆงาน และคุยโทรศัพท์ให้เสร็จในทีเดียวไปเลยค่ะ

9.เด็ดขาดกับเวลาในการประชุม

คุณต้องเด็ดขาดกับการประชุมค่ะ โดยคุณควรจะกำหนดวาระ หัวข้อการประชุมและกำหนดเวลาของแต่ละหัวข้อ

อย่าปล่อยให้ผู้เข้าร่วมประชุมลากยาวหรือนอกเรื่องมากจนเกินไป มีสถิติว่าโดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานออฟฟิศใช้เวลาอยู่ในห้องประชุมถึง 16 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์

ซึ่งโดยประมาณ 4 ชั่วโมงใน 16 ชั่วโมงที่ว่านี้ ถือเป็นเวลาที่สิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น เราควรจะเอาเวลาที่สิ้นเปลืองนั้น ไปทำงานอย่างอื่นกันดีกว่าค่ะ

10.เมื่อต้องโฟกัส ก็ต้องโฟกัส

กำจัดสิ่งรบกวนสมาธิเมื่อคุณต้องการที่จะโฟกัสกับงานของคุณ ซึ่งอาจจะหมายถึง การไปนั่งทำงานในห้องที่เงียบสงบ

หรือใส่หูฟังเพื่อป้องกันเสียงรบกวนในออฟฟิศ พยายามอย่าเปิดเว็บไซต์สื่อสังคมต่างๆบนเบราเซอร์ของคุณไว้นะคะ

นอกซะจากเว็บเหล่านั้นจะมีความจำเป็นต่องานของคุณค่ะ

ในขณะที่คุณฝึกฝนศิลปะในการควบคุมเวลา มันคือการฝึกการควบคุมตนเองค่ะ และท้ายที่สุด คุณก็จะพบว่า เมื่อคุณฝึกตัวเองได้ คุณก็สามารถควบคุมส่วนอื่นๆในชีวิตของคุณให้มันเป็นไปในแบบที่คุณต้องการได้เฉกเช่นเดียวกัน

และเมื่อคุณถามตัวเองว่า “ใครเป็นคนควบคุมชีวิตของฉันกันนะ?” คุณจะรู้ว่าคำตอบนั้นคืออะไร ใช่มั้ยล่ะคะ

ให้โอกาสตัวเองเรียกชีวิตที่กระฉับกระเฉงของคุณคืนกลับมาได้แล้ว…ได้เวลาแล้วค่ะ!

ที่มาบทความ   http://talentonline.com/

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save