ไดอะล็อคในองค์กร (2)

ต่อจากตอนที่แล้ว เรากำลังกล่าวถึงการนำกระบวนการไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งสิ่งที่แปลกไปกว่าการสนทนาหรือการประชุมทั่วไปก็คือ ในวงไดอะล็อค จะไม่มีหัวข้อในการพูดคุย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องตั้งหัวข้อมาก่อน

ความน่าฉงนของบทสนทนาที่ไม่มีหัวข้อ

เราจะพบว่า เมื่อแต่ละคนพูดเรื่องบางอย่างออกมา ตอนแรกอาจดูไม่เกี่ยวกัน ไปคนละทิศละทาง แต่พอผลัดกันพูดวนไปสักรอบหรือสองรอบ อาจมีหัวข้อบางเรื่องที่กลายเป็น “วาระร่วม” หรือความสนใจร่วมในที่สุด เมื่อนั้นก็จะเกิดการเลื่อนไหลอย่างรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

อย่างไรก็ตาม หากเราจะมีจุดประสงค์ที่จะประยุกต์ใช้รูปแบบของการไดอะล็อค มาทำ KM หรือมาประชุมหารือใดๆ ก็อาจตั้งหัวข้อได้เช่นกัน แต่ถ้าหากมีการถกเถียงกันหรือต้องหาข้อยุติด้วยการโหวต หรือคำตัดสินของคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องประกาศและยอมรับการประชุมนั้นว่าได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการอภิปราย หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่การไดอะล็อคอีกต่อไป

พูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ด่วนสรุป ห้อยแขวนคำตัดสิน

ในระหว่างที่พูดคุยทำไดอะล็อคกัน หากใครต้องการจะเสนอความคิดที่ตนเองกลั่นกรองหรือตกผลึกได้ ก็ควรพูดในลักษณะที่เป็นความเห็นเฉพาะตน ไม่ยัดเยียดข้อสรุปนั้นให้ใคร ไม่ฟันธง อาจทิ้งท้ายว่า มั้ง รึเปล่า เพื่อเตือนสติตนเองว่า ความคิดของตนนั้นไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปก็ได้

หากเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่าตนคิดถูกเสมอ เราก็จะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งยังปิดโอกาสที่จะเข้าใจหรือยอมรับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป ซึ่งนั่นเป็นชนวนบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งระหว่างคู่สนทนา แต่หากเมื่อใดเราห้อยแขวนคำตัดสินได้ รับฟังเขาอย่างเต็มที่ แม้ภายหลังเรายืนกรานความคิดเรา อีกฝ่ายก็ย่อมยินดีจะเข้าใจมากกว่าที่เราปิดใจ รีบเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์ทันทีที่ยังไม่ทันฟังจนจบ ซึ่งล้วนเห็นในบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน


 

รอบสุดท้าย คือการ Check Out

เมื่อสมควรแก่เวลา ผู้อำนวยวงหรือฟา (Facilitator) ก็จะเชิญผู้ร่วมวงเช็คเอาท์ (Check out) ซึ่งก็คือการพูดถึงคุณค่าที่ตนได้รับจากการพูดคุยในครั้งนี้ รวมไปถึงสิ่งใดๆที่อยากพูดเพื่อให้รู้สึกเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ไม่ค้างคาใจ (Completion)

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากไดอะล็อคกันได้นานและลงลึกพอ สมาชิกในวงจะพบกับความอิ่มเอมใจ เพราะการสนทนานั้นจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีคุณค่าและมีความหมาย

เพียงระยะเวลาสั้นๆ เราจะได้รู้จักเพื่อนร่วมวงในมุมใหม่ที่ลึกซึ้งอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน การได้สัมผัสอารมณ์เบื้องลึกและคุณค่าในใจของกันและกัน ทำให้รู้สึกสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น อีกทั้งตลอดเวลาในการทำไดอะล็อคนั้น เราจะได้รับการรับฟังอย่างใส่ใจ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

เพียงแค่การรับฟังอย่างตั้งใจก็เปรียบเสมือนคำชื่นชมและการยอมรับ โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องกล่าวคำเยินยอหรือใช้คำพูดหวานหูใดๆเลย

เมื่อทุกคนเช็คเอาท์ครบแล้ว ฟาก็อาจเชิญทุกคนคารวะให้กัน เป็นแสดงการขอบคุณด้วยการโค้งงามๆในท่านั่งให้แก่กันและกัน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ


มหัศจรรย์ผลลัพธ์ของการไดอะล็อค

ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แต่ในช่วงเวลาแห่งการสนทนาเท่านั้น โดยมากผู้คนรายงานว่า หลังจากจบการไดอะล็อคแล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เพียงหนึ่งวันหรือสองวัน อยู่ๆพวกเขาก็จะเกิดญาณทัสนะหรืออาการปิ๊งแว้บบางอย่างขึ้นมา และสามารถแก้ไขโจทย์ที่ตนขบคิดไว้มานานก่อนการไดอะล็อคได้

นั่นเป็นเพราะมนุษย์เราต่างมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตและจิตใจใกล้เคียงกัน การสนทนาที่ผ่อนคลายก็นำพาองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันอยู่ในวงนั้น ให้เลื่อนไหลเข้ามาสู่จิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เมื่อมันเพาะบ่มได้ที่ หากมีปัญหาก็ถึงเวลาที่ปัญญาจะเผยออกมา

สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่อาจมีปัญญาหาคำตอบได้เลยหากเราคิดเพียงคนเดียว เพราะถ้าหากเรารู้คำตอบอยู่แล้ว หรือหาคำตอบได้เอง นั่นก็จะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง หรือไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่อะไรนัก

แต่ปัญหาชีวิตหรือปัญหาสำคัญที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถขบคิดได้ด้วยตนเอง หากจะเกิดจากการตกผลึกจากกระบวนการคิดร่วมกัน ได้ค้นพบปัญญาญาณร่วม หรือ Collective Wisdom ในวงไดอะล็อคนั่นเอง

( ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)


 

4 ขั้นตอน สร้างนิสัยแห่งความสำเร็จ ที่จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งคุณได้

4step2success

บ่อยครั้งแค่ไหน ที่คุณคิดจะ “ลงมือทำ” อะไรใหม่ๆ  แต่แล้วก็ต้องล้มเลิกไปในเวลาอันสั้น นั่นเป็นเพราะอะไร ?

อุปสรรคที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากไหน ล้วนมาจากอารมณ์และความคิดของเราเองทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ 3 สาเหตุหลัก นั่นก็คือ “ข้ออ้าง ความกลัว และความไม่มั่นใจ”

ซึ่งเหตุผลและอารมณ์เหล่านี้ ล้วนมาจากอิทธิพลของ สมองส่วนหลัง (Limbic System) ทั้งสิ้น อันเป็นจิตใต้สำนึกจากสัญชาตญาณดั้งเดิม ที่ต้องการปกป้องเราให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยนั่นเอง

หากเราต้องการสร้างผลลัพธ์และจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ คงต้องเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน และมีอุปนิสัยแห่งการลงมือทำอย่างต่อเนื่องได้ แต่การเอาชนะสมองส่วนหลังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เราต่างก็รู้ดี ว่ากี่ครั้งแล้วที่เราพยายามตื่นให้เช้าขึ้น กี่หนที่อยากลดน้ำหนักให้ได้สักหน่อย นิสัยพฤติกรรมอันเคยชิน ที่เราก็รู้ว่ามันไม่ดีต่อตัวเอง ต่อสุขภาพ ต่อคนรอบกาย เราก็ยังคงทำมันอยู่อย่างจำใจ รู้สึกผิดไปก็แป๊บเดียว เราไม่เคยรอดจากการเป็นทาสของสมองส่วนหลังเลย นี่ใช่ไหม บ่อเกิดของความล้มเหลวในชีวิต

หากเราต้องการก้าวข้ามพฤติกรรมเดิมๆ ที่หยุดยั้งความสำเร็จในชีวิต เราต้องฝึกกระตุ้น สมองส่วนหน้า (Pre-Frontal Cortex) ซึ่งเป็นควบคุมกลไกของการคิดวางแผน วิเคราะห์แยกแยะ และจินตนาการ ให้ทำงานได้มากขึ้น จนเอาชนะสมองส่วนหลังได้ในที่สุด โดยใช้  4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้

1. รับรู้อย่างที่เป็น

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เบื่อเซ็ง ความขี้เกียจ เหตุผลต่างๆที่อธิบายว่าเราทำไมได้ สิ่งต่างๆที่ผุดขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเรื่องราวที่เรามักคิดปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อเข้าข้างตัวเองเท่านั้น

ให้เรารับรู้ความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างที่เป็น เพียงแค่รับรู้ โดยที่ไม่ต้องพยายามหักล้าง ไม่ต้องสร้างเหตุผลข่มทับเพื่อเอาชนะ หรือหลีกเลี่ยงไปทำอย่างอื่นแทน

การไม่ต่อต้าน จะทำให้สมองส่วนหลัง หยุดผลิตความคิดและอารมณ์มาควบคุมเรา

 

2.ใคร่ครวญถึงเป้าหมาย

ลองเขียนเป้าหมายที่เราต้องการลงในกระดาษ และถามตัวเองว่า เราต้องการมันจริงไหม ด้วยเหตุผลใด มันสำคัญ หรือจำเป็นกับเราอย่างไร ?

ณ จุดนี้ สมองส่วนหน้าจะเริ่มติดเครื่องทำงานเบาๆ และมีพลังเหนือกว่าสมองส่วนหลังแล้ว

 

3. ใช้จินตนาการ

ตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากเราได้บรรลุเป้าหมายนั้น ชีวิตเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร มีสิ่งดีๆอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น ?

การใช้จินตนาการถึงภาพความสำเร็จ  ทำให้สมองส่วนหน้าได้ออกแรงทำงานได้เต็มที่

สมองส่วนหน้าจะสร้างอารมณ์แห่งความปีติยินดี มีความกระตือรือร้น เบิกบาน เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดพลังที่จะลุกออกไปทำอะไรใหม่ๆอย่างที่ต้องการได้ไม่ยากนัก

 

แต่ช้าก่อน ! เทคนิคเพียงเท่านี้อาจไม่สำเร็จเสมอไป

บางครั้งขณะที่กำลังจินตนาการเรื่องดีๆ  สมองส่วนหลังก็พลันตื่นขึ้นมา แล้วลากเราให้จมลงไปในก้นเหวอีก

จึงต้องใช้ขั้นตอนสุดท้ายต่อไปนี้

 

4. สร้างฝันร้าย

ให้ลองตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่ตั้งใจนี้ แล้วยังกลับไปทำแบบเดิมๆอยู่ต่อไปเรื่อยๆ “สิ่งที่เลวร้ายที่สุด” ที่จะเกิดขึ้นได้คืออะไร

ผลกระทบกับชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร ?

ชีวิตเราจะแย่แค่ไหน ?

หลังจากนั้น เราจะเริ่มเห็นภาพความหดหู่ จะเกิดอารมณ์เศร้า ท้อแท้ และสุดท้ายกลายเป็น “ความกลัว” เมื่อกลัวจนถึงจุดหนึ่ง เราจะเริ่มทนอยู่แบบเดิมไม่ได้ แล้วเราก็จะออกไปทำสิ่งใหม่ๆให้พ้นจากภาวะแบบนี้เองในที่สุด

( สมองส่วนหลังเมื่อสัมผัสความกลัวมากๆเข้า ก็จะเกิดกลไกการปกป้องตัวเอง ให้เราเกิดอารมณ์ลนลาน ลุกออกมาทำอะไรบางอย่างได้ทันทีเช่นกัน เป็นการใช้ความกลัวที่สมองส่วนหลังคุ้นเคย เปลี่ยนเป็นแรงผลักดัน เหมือนสำนวนที่ว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา นั่นเอง ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่แนะนำให้ใช้เทคนิคสุดท้าย เพราะมันไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ ที่จะลุกไปทำอะไรๆเพราะความกลัว ไว้ใช้เมื่อคราวที่ทำเทคนิค 3 ข้อแรกแล้วไม่ได้ผลก็พอครับ)

“สมองมนุษย์ เป็นเครื่องจักรผลิตเหตุผล” และเหตุผลส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นเลย ดังนั้นเทคนิค 4 ขั้นตอนนี้ จะทำให้สมองของเรา “ผลิตเหตุผลใหม่ๆ” ที่มุ่งสู่เป้าหมายและผลลัพธ์ ให้เราสามารถลุกออกไปทำอะไรที่ไม่คุ้นชิน ก้าวข้ามออกจากเขตปลอดภัย ไปลองผิดลองถูก ได้รับบทเรียน ได้แก้ไขปรับปรุง ได้เรียนรู้และพัฒนา จนเป็นคนที่เก่งขึ้น ดีกว่าเดิม มีผลลัพธ์ที่แตกต่าง

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจจะดูทำยาก และเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นให้ลองเริ่มจากเรื่องง่ายๆใกล้ๆตัว เช่น เริ่มฝึกเขียนบันทึกประจำวัน 5-10 นาทีก่อนนอน ออกวิ่งจ้อกกิ้งสัก 15 นาทีทุกวัน หรือตื่นเช้าขึ้นสักครึ่งชั่วโมง เมื่อสมองคุ้นเคยกับการออกจากหลุมสบายแล้วล่ะก็ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คงตามมาในไม่ช้า ใครมีวิธีอื่นๆในการกระตุ้นตัวเองเพื่อสร้างนิสัยแห่งความสำเร็จ เชิญเขียนแชร์ในคอมเม้นท์ข้างล่างได้เลยนะครับ

บทความโดย เรือรบ

ทักษะของผู้บริหารในยุค AEC

ในยุคที่ AEC กำลังจะมาถึง ซึ่งจะสร้างผลกระทบกับทุกธุรกิจในประเทศไทย อาจเป็นได้ทั้งโอกาสหรืออุปสรรค ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นจะสามารถคาดการณ์ ปรับปรุงพัฒนา และตอบสนองกับสถานการณ์ที่แปรผันได้มากแค่ไหน ดังนั้นผู้บริหารจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนองค์กรอย่างเป็นพลวัตมากยิ่งขึ้น โดยปรับบทบาทตัวเองจาก “ผู้สั่งการ” ให้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” สาเหตุหลักที่องค์กรเปลี่ยนแปลงได้ช้าและพัฒนาได้ยาก แม้ว่าจะมีระบบที่ดีแล้วก็ตาม ก็เป็นเพราะปัจจัยที่ซับซ้อนที่สุด ที่เรียกว่า “คน” นั่นเอง

ด้วยปัจจุบัน มนุษย์นั้นมีความหลากหลายทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ อีกทั้งความแตกต่างของรุ่นอายุหรือเจนเนอเรชั่น ทำให้ “การฟัง” ของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน และบางครั้งก็เกิดเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา ความแบ่งแยก ความไม่ไว้วางใจต่อกันนั้น ส่งผลต่อระบบการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เป็นที่ต้องการและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารในยุคนี้ จึงหนีไม่พ้น “ทักษะการบริหารคน”

ดังนั้นผู้บริหาร นอกจากจะมีทักษะในด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว จึงต้องมีทักษะในด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศอีกด้วย ทักษะของผู้นำยุคใหม่ ต้องสามารถรับรู้และตอบสนองต่อโลก 3 ระดับของผู้คน และมีทักษะในการบริหารคนใน 3 ระดับนั้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่

1. Concrete World: โลกแห่งผลลัพธ์

โลกแห่งผลลัพธ์ เป็นโลกภายนอกทางกายภาพ ที่มีตัวเลข ตัวชี้วัด วัดค่าและประเมินผลได้ เป็นโลกที่หลายคนคุ้นเคย แต่กระนั้นบางคนก็มีปัญหากับการทำงานในโลกที่เต็มไปด้วยความคาดหวังผลลัพธ์แบบนี้ การแก้ไขปัญหาให้คนเหล่านั้น คงไม่ได้แก้ง่ายๆเพียงอบรมให้ความรู้ หรือให้ออกจากงานไป

ผู้บริหารยุคใหม่ควรมีทักษะเพื่อทำให้ผู้คน มีแรงบันดาลใจ มุ่งมั่นที่พัฒนาตนเอง สามารถสร้างเป้าหมายที่ท้าทายในชีวิต มีผลลัพธ์ในการทำงาน ตระหนักถึงข้อจำกัดที่ตนเองมี และมองเห็นวิธีการใหม่ๆที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดนั้นด้วยตนเอง เพื่อจะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งทักษะที่สำคัญในส่วนนี้คือ Brain Based Coaching ซึ่งจะประกอบไปด้วย “ทักษะการฟังและการตั้งคำถาม” เพื่อให้ผู้คนบรรลุเป้าหมายและมุ่งสู่ความสำเร็จที่เขาต้องการได้นั่นเอง

2. Dream Land: โลกแห่งจิตใต้สำนึก

โลกแห่งจิตใต้สำนึก เป็นโลกภายใน ประกอบไปด้วย อารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการ ซึ่งอยู่ภายในจิตใจลึกๆ บางครั้งกล่าวเป็นคำพูดไม่ได้ หรือไม่อาจเปิดเผยให้ใครรู้ได้ง่ายๆ ด้วยคนเรานั้นไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ย่อมมีความแหว่งเว้าและขาดแคลนในฐานของอารมณ์อยู่บางส่วน ทำให้บางครั้งเกิดทัศนคติในแง่ลบ มีปมความขัดแย้งในใจ รู้สึกไม่เติมเต็ม หรือกระทั่งควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ย่อมส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนๆนั้น และส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก

ผู้บริหารยุคใหม่จะไม่ละเลยและเห็นความสำคัญของปัญหาในระดับนี้ สามารถเข้าใจและมีหลักในการวิเคราะห์พฤติกรรมความต้องการ และตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างเป็นธรรมชาติและทรงประสิทธิผลตามหลักการบริหารยุคใหม่ ซึ่งทักษะที่สำคัญในส่วนนี้คือ NLP (Nuero Linguistic Program) เป็นการใช้ “ทักษะภาษาเพื่อการโปรแกรมสมอง” ให้ผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากอารมณ์ภายใน จากจิตใต้สำนึก ส่งผลเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ๆตามที่เขาต้องการนั่นเอง

3. The Essene: โลกแห่งคุณค่าและเจตนารมณ์

ในโลกเบื้องลึกที่สุดแห่งจิตใจของแต่ละคน ประกอบไปด้วยชุดความเชื่อ ความศรัทธา ทัศนคติ การยึดถือคุณค่า และความหมายในการมีชีวิตอยู่ของตน แม้ว่าเราจะอาศัยอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ซึ่งมีทั้งความวุ่นวายและสับสน แต่ในทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจะเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม หากสืบค้นลงไปแล้ว ก็จะพบว่าในเบื้องลึกที่สุด ในหัวใจของมนุษย์ทุกคนนั้น ล้วนมี “คุณธรรม ความรัก ความเมตตา” ไม่แตกต่างกัน

ด้วยการศึกษาศาสตร์ทางจิตใจ คำสอนทางศาสนา การปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง หากเราสามารถฝึกฝนจน “มองเห็น เข้าใจ ยอมรับ และรักตนเอง” ได้อย่างไม่มีเงื่อนไขได้แล้ว เราจะสามารถรับรู้โลกภายในของผู้อื่นได้ จะสามารถฟังได้ลึกลงไปกว่าแค่คำพูด มองได้ลึกไปกว่าแค่การกระทำหรือพฤติกรรม จะสามารถรับรู้เจตนารมณ์หรือคุณค่าที่เขายึดถือได้ เมื่อนั้นเราจะสามารถ “เข้าถึง” ตัวตนของผู้คนรอบตัว และสื่อสารกับพวกเขาได้อย่างแท้จริง
……………………

บทสรุป

ในฐานะผู้นำยุคใหม่ หากเราต้องการเป็นผู้นำที่ครองใจคน ย่อมจะต้องสามารถสื่อสาร “คุณค่าของคนที่เราเป็น” ได้อย่างทรงพลังและมีประสิทธิภาพ ใช้ทักษะภาวะผู้นำที่มีการตัดสินใจตามเป้าหมาย โดยที่ไม่ละเลยในคุณค่าหรือความต้องการของผู้อื่น
สามารถสร้างภาวะแห่งความสมดุลของสถานการณ์ โดยมีการประยุกต์กระบวนการทางจิตวิทยาพฤติกรรม ศาสตร์ทางสมอง และกระบวนการใช้ภาษาเพื่อโปรแกรมจิต เพื่อการโน้มน้าวและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน จนเกิดนำไปสู่การลงมือทำด้วยพันธะสัญญา (Commitment) สู่ความสำเร็จด้วยตัวของเขาเอง และทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อองค์กรได้อย่างยั่งยืน


บทความโดย “เรือรบ”

เครดิต เนื้อหาจากหลักสูตร “The Magic Leadership Skills” จิตวิทยาผู้นำด้วยศาสตร์ NLP และ Brain Based Coaching

อบรมโดย ดร.ขวัญนภา ชูแสง

หลักสูตรอบรมสำหรับบุคคลทั่วไป เริ่ม 4-5 ก.ค.นี้ คลิกที่นี่

รายละเอียดหลักสูตรการอบรมสำหรับองค์กร คลิกที่นี่

 

 

The Power Of LESS : ทำน้อย ให้ได้มาก

power of less

ต้องยอมรับว่าเรากระหายที่จะมีเวลามากขึ้นเพื่อจะทำอะไรได้หลายๆอย่าง ทำงานมากขึ้น หาเงินได้มากขึ้น แต่เมื่อถึงขีดจำกัดที่คุณไม่สามารถทำได้มากกว่านี้แล้ว คุณก็จะมาถึงทางตัน ปัญหาคือยิ่งพยายามทำให้ได้มากขึ้นๆตลอดเวลา มันไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของงานสูงขึ้นเสมอไป และท้ายที่สุดการพยายามทำอะไรให้ได้มากๆ มักมีแนวโน้มที่คุณจะทำสิ่งที่ไม่สำคัญเป็นจำนวนมากเช่นกัน

หลักการ 5 ข้อในการทำน้อยให้ได้มาก

1.สร้างข้อจำกัด

ชีวิตที่ไม่มีข้อจำกัดจะดูเป็นอิสระในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปๆ เราจะไม่มีที่พอสำหรับทุกสิ่ง และเราจะไม่สามารถรับมือกับความเครียดที่เราพยายามทำอะไรทุกๆอย่างได้ เราไม่สามารถยัดทุกเรื่องไว้ในชีวิตไม่ว่าเราจะอยากทำมันแค่ไหนก็ตาม การที่เราต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะกัดกร่อนประสิทธิภาพในการทำงานของเรา สูบพลังเราจนหมดแรงที่จะจัดการกับเรื่องสำคัญ การไร้ข้อจำกัดคือการพยายามขุดดินทั้งไร่ด้วยพลั่วเล่มเดียวแต่การจดจ่ออย่างมีข้อจำกัดคือการใช้พลั่วเล่มเดียวขุดในจุดเดิมจนกระทั้งเจอแหล่งน้ำ

2.การเลือกแต่สิ่งสำคัญและทำให้เรียบง่ายขึ้น

คำถามคือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ? เมื่อคุณรู้แล้วคุณจะสามารถลดจำนวนโครงการ งาน ข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามา ภาระหน้าที่ รวมทั้งความวุ่นวายในชีวิตคุณออกไปได้ คุณก็แค่ต้องกำจัดทุกอย่างที่ไม่สำคัญไปนั่นเอง เช่น ถ้าเรจะแกะสลักรูปปั้นช้างได้เราก็แค่เอาทุกส่วนที่ไม่เหมือนช้างออกไป แต่ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ว่าช้างมีลักษณะเป็นอย่างไรนั่นเอง เมื่อคุณระบุสิ่งที่สำคัญได้แล้วการทำให้เรียบง่ายคือ การกำจัดงานอื่นๆออกไปจากรายการให้ได้มากที่สุด เช่น เมื่อคุณเลือกงานที่สำคัญได้ 3 อย่างในวันนี้แล้ว คุณก็ต้องขีดฆ่างานที่ไม่สำคัญอื่นๆออกไป หรือมอบหมายให้เพื่อนร่วมงานทำในส่วนที่เค้าทำแทนคุณได้ และผัดผ่อนงานที่ไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จในวันนี้ออกไปก่อน

3.การจดจ่อกับเรื่องเดียว

เหมือนคำกล่าวของราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน ที่ว่า “ผมไม่มีอะไรต้องทำกับอดีต หรือแม้แต่อนาคต ผมอยู่กับปัจจุบัน”
การจดจ่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะลดทอนประสิทธิภาพเพราะคุณต้องสับเปลี่ยนไปทำงานใหม่และกลับมาทำงานเดิมอีกครั้ง ไม่เกิดการจดจ่อจึงไม่ทำให้เกิดภาวะลื่นไหลทางความคิด การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะเกิดความซับซ้อนทำให้เกิดภาวะความเครียดและมีโอกาสทำผิดพลาดมากขึ้น

4.สร้างนิสัยใหม่ด้วยการพิชิตคำท้า ภายใน 30 วัน

เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ในแต่ละเดือนให้คุณจดจ่อกับการสร้างนิสัยใหม่หนึ่งอย่าง โดยใช้เครื่องมืออันทรงพลังที่จะทำให้คุณทำได้สำเร็จคือ “การพิชิตคำท้า” วิธีการง่ายๆ คือ เลือกนิสัยที่สร้างผลกระทบกับชีวิตคุณออกมา 1 อย่าง เขียนแผนขึ้นมาระบุให้ชัดว่าเป้าหมายในแต่ละวันคืออะไร อะไรคือสิ่งกระตุ้น อาจเชื่อมโยงสิ่งกระตุ้นเข้ากับกิจวัตรประจำวัน เช่น ออกกำลังกายทันทีที่แปรงฟันเสร็จ ประกาศเป้าหมายให้คนอื่นรับรู้ อาจจะ รายงานความคืบหน้ารายวัน และฉลองให้กับนิสัยใหม่ของคุณ ถ้าคุณพยายามฝึกฝนตลอดทั้งเดือนมันจะเป็นนิสัยใหม่ที่ติดตัวคุณไปตลอด

5.เริ่มต้นทีละน้อย

การเริ่มต้นทีละน้อยจะทำให้คุณเพิ่มโอกาสในความสำเร็จได้มากขึ้น การเริ่มต้นทีละน้อยจะเพิ่มพังความกระตือรือร้นของคุณในระยะยาว การเริ่มต้นทำให้น้อยกว่าที่คุณทำได้จริงจะช่วยให้คุณรับมือกับมันได้ง่ายและสร้างความกระตือรือร้นต่อเนื่อง การเริ่มต้นที่ง่ายเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น เพราะถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ยากจนไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง คุณย่อมมีแนวโน้มจะเลิกทำสูงมาก เป็นหลักประกันความสำเร็จ ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยความสำเร็จเล็กๆ ไปเรื่อยๆ ในที่สุดกลุ่มก้อนความสำเร็จของคุณก็จะใหญ่ขึ้น


 

จากหนังสือ The Power Of LESS : ทำน้อยให้ได้มาก
Credit เรื่องโดย :Leo Babauta
เรียบเรียงโดย : คลื่นน้อย

คุณลักษณะ 9 ประการ ที่บ่งบอกว่าใคร เป็นนักเขียนชั้นเลิศ

เคยสงสัยไหม อะไรทำให้คนๆหนึ่ง มาเป็นนักเขียนได้ เขามีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ?

แล้วตัวเรา หากอยากเป็นนักเขียน ต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้าง ?

จริงๆแล้ว เชื่อว่าคนที่เป็นนักเขียนเอง ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ไม่ได้รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าตัวเองจะโตขึ้นมา เขียนหนังสือขายได้เป็นสิบๆเล่ม หรือกระทั่งทำเป็นอาชีพได้

ในฐานะนักเขียนและคอลัมนิสต์ มีผลงานด้านจิตวิทยาและธรรมะประยุกต์มาแล้วจำนวน 5 เล่ม ผมขอแชร์ประสบการณ์เล่าสู่กันฟัง ผมเองนั้นเรียนโรงเรียนทหาร จบมาทางสายวิศวะ การเขียนหนังสือทางมันเริ่มมาจากความไม่ตั้งใจ โดยไม่ได้ร่ำเรียนมาทางอักษรศาสตร์ หรือมีหลักวิชาในการเขียนใดๆเลย เพียงแต่เป็นคนชอบพูด ชอบแบ่งปัน แล้วก็พบว่า การเขียน มันทำให้การแบ่งปันของเราไปสู่คนไม่รู้จักได้ นั่นก็คือจุดเริ่มต้น ที่ผมเขียนหนังสือครั้งแรก เมื่ออายุ 24 ปี

เชื่อว่านักเขียนหลายคน ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าตัวเองเขียนดีได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะถ่ายทอดสิ่งนี้ให้กับคนอื่นๆได้

ผมเองก็เป็นเช่นนั้น เมื่อ 2ปีก่อน มีคนรู้จักมาสอบถาม ขอให้ช่วยสอนและแนะนำเทคนิคในการเขียน ผมก็ได้แต่อ้ำอึ้ง ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

แต่เมื่อสามารถสร้างผลลัพธ์ได้แบบนี้ มานึกๆดู ก็คงต้องมีวิธีที่จะสอนให้คนอื่นทำได้เหมือนกัน

ผมจึงต้องกลับเข้ามาดูและสังเกตการทำงานภายในจิตใจของตนเองอย่างละเอียดทีละขั้นตอน จนสามารถ “ถอดรหัส” ทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญของนักเขียนออกมาได้

และออกแบบเป็นหลักสูตร 2 วัน เพื่อปลดล็อคศักยภาพการเขียนจากจิตใต้สำนึก ชื่อว่า  Intuitive Writing

จากประสบการณ์ ผมพบว่า ทักษะที่จำเป็นของนักเขียนมืออาชีพ ไม่ใช่เพียงทักษะด้านการเขียนเท่านั้น

แต่เป็นทักษะทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การฟัง คิด พูด อ่าน และเขียน ซึ่งทักษะแต่ละด้านก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

“นักเขียนที่พัฒนาทักษะทั้ง 5 ได้อย่างสมดุล จะมีงานเขียนที่คนจำนวนมากประทับใจและเข้าถึงได้ มีผลงานเป็นที่นิยมมากกว่านักเขียนที่ถนัดทักษะการเขียนอย่างเดียว”

ซึ่งเราอาจบอกได้ว่า ใครจะเป็นนักเขียนชั้นเลิศได้ ก็ต่อเมื่อเขามีคุณลักษณะ 9 ประการ ดังนี้

1. ช่างสังเกต

นักเขียนมืออาชีพ จะมีสมาธิดี และมีความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม และซาบซึ้งดื่มด่ำกับสิ่งเล็กๆน้อยๆตรงหน้าได้ นั่นทำให้เขาดูเหมือนเป็นคนช่างสังเกตและละเอียดลออ จริงๆเค้าไม่ได้ฉลาดกว่าคนอื่นๆหรอก เพียงแต่คนอื่นๆใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ และหมกมุ่นอยู่กับความคิดวิตกกังวล จนละเลยรายละเอียดตรงหน้าไปต่างหาก

2. รับรู้อารมณ์ได้ดี

นักเขียนจะมีหัวใจที่อ่อนโยน รับรู้อารมณ์ได้ดี มีความละเอียดอ่อนของจิตใจ สามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และมีอารมรณ์ร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆมาก นั่นทำให้เค้าบันทึกภาพความทรงจำที่ประทับใจไว้ได้ ไม่ใช่แค่หัวสมอง แต่เป็นทั้งร่างกายและหัวใจทีเดียว

3. เป็นนักรับฟัง

นอกจากการอ่านแล้ว นักเขียนจะได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากการสนทนาและการฟัง เขาจีงจะไม่ด่วนตัดสินตีความไปก่อนที่จะฟังจนจบ และไม่เอาความคิดเห็นตนเองไปตัดสินว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก แต่จะเก็บข้อมูลไปก่อน และพิจารณาภายหลัง

4. มีจินตนาการ

เมื่อต้องเขียนเริ่องราวที่ผ่านมาสักพักแล้ว นักเขียนต้องสามารถสร้างจินตนาการเสมือนว่า อยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง จึงจะสามารถดึงอารมณ์ ความรู้สึก เพื่อให้สามารถสัมผัสความสดใหม่ จากเหตุการณ์ได้อีกครั้ง นั่นทำให้เค้าเขียนออกมาได้อย่างลื่นไหลและไม่ต้องใช้ความคิด หรือความจำมาก เพราะมันเป็นการเล่าเรื่องที่เป็นธรรมชาตินั่นเอง

5. ชอบใคร่ครวญ

ทักษะที่สำคัญของนักเขียนคือ การคิดใคร่ครวญ ดังนั้น นักเขียนจะต้องหมั่นทบทวน สะท้อน และตกผลึกทางความคิดอยู่เสมอ สิ่งนี้ฝึกฝนได้จากการจดบันทึกความคิด และหมั่นแลกเปลี่ยนไอเดียกับคนอื่นๆ เพื่อลับคมความคิดของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

6. คิดนอกกรอบ

การจะคิดนอกกรอบได้ จะต้องสามารถลดละอัตตา ทิ้งความเชื่อ  และตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆอยู่เสมอ นั่นจะทำให้เราสามารถพลิกมองมุมต่าง จนนำมาสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆให้กับตนเองได้ ดังนั้นสิ่งที่รู้มาแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่ามันจะเป็นจริงเสมอไป เพราะทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นักเขียนจะไม่ยึดติดกับอดีต หรือยึดติดกับความถูกต้องของตัวเองคนเดียว

7. เป็นนักแบ่งปัน

นักเขียนจะไม่เก็บเรื่องดีๆไว้กับตัวคนเดียว เค้าจะเป็นผู้มีหัวใจแห่งการให้และการแบ่งปัน เป็นนักพูดและนักเล่าเรื่องราวที่มีสีสัน ด้วยมุมมองว่าอยากสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับผู้อื่น นี่แหละทำให้เค้ามีเรื่องเขียนได้ในทุกๆวัน

8. จับประเด็นเก่ง

นักเขียนทุกคนเป็นนักอ่าน แต่นักอ่านทุกคนอาจไม่ใช่นักเขียน เพราะนักเขียนสามารถเชื่อมโยงประเด็นและเกาะติดกับประเด็นนั้นได้ เพื่อตอบจุดมุ่งหมายในการเขียนของตัวเอง เค้าจับประเด็นที่อ่านและโน้ตย่อไว้เพื่อเตือนความจำ และไม่รอช้าที่จะนำสิ่งที่ได้นั้นมาแชร์ให้คนอื่นๆต่อไป นั่นทำให้ความรู้นั้นยิ่งฝังแน่นในตัวเค้ามากยิ่งขึ้น จึงดูเหมือนว่าเค้ารู้ลึก รู้กว้าง แต่จริงๆแล้วเค้าเป็นแค่คนหยิบประเด็นมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่อ่านผ่านๆไป

9. มีวินัย

สุดท้าย นักเขียนจะต้องมีวินัยในการเขียน วินัยไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อหรือต้องถูกบังคับ แต่วินัยเกินจากมีฉันทะ คือความรักในสิ่งที่ทำ เมื่อรักและเห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำแล้ว ก็ทำให้เกิดนิสัยในการเขียนอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ ทำซ้ำๆในเวลาเดิมๆ จึงกลายเป็นวินัยขึ้นมา

คุณลักษณะทั้ง 9 ประการนี้ อาจจะสร้างไม่ได้ในระยะสั้นๆ แต่เราจะสร้างขึ้นมาได้จากการฝึกฝนทักษะทั้ง 5 ด้าน คือ ฟัง คิด พูด อ่าน เขียน อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เวลาที่ผ่านไป ก็จะทำให้ทักษะยิ่งเพิ่มมากขึ้นและติดตัวอยู่กับเราตลอดไป

บทความโดย เรือรบ

 หากไม่รู้จะเริ่มต้นฝึกทักษะการเขียนอย่างไร หรืออยากเขียนเพื่อค้นพบตนเอง ค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียน ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวเอง

15-16 ส.ค. นี้ พบกันใน หลักสูตร Intuitive Writing นำกระบวนการโดย อ. เรือรบ รายละเอียดคลิก

 

 

 

 

 

ไดอะล็อค: บริหารงานได้ผล คนเป็นสุข

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นผู้บริหารองค์กร คือ “การฟัง”

มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้ประสิทธิภาพการฟังของผู้บริหารลดลง อาจเป็นด้วยเวลาจำกัดและภาระงานที่มาก หรืออาจะเป็นประสบการณ์ ความรู้ ความอาวุโส ทำให้พอฟังยังไม่ทันจบก็รีบตัดบท เพราะคิดว่า “รู้อยู่แล้ว“ ดังนั้นดูเหมือน ยิ่งอาวุโสมาก มิติการฟังยิ่งลดลง เป็นสัดส่วนผกผันกันไป

และคงปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ในองค์กรมีการฝึกทักษะการทำงาน การพูด และทักษะอื่นๆอีกมากมาย แต่สำหรับทักษะการฟังนั้น ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เรื่องการฟัง ไม่เห็นความจำเป็นต้องฝึกเลย

ผลกระทบที่พบได้ คงจะไม่พ้น “ปัญหาเรื่องคน” ซึ่งปัญหาใหญ่ๆมักจะเริ่มด้วยสาเหตุเล็กๆ เช่น การสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกันในการทำงาน
ก่อตัวเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย นานเข้าเกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ส่งผลให้เกิดการขาดประสิทธิภาพการทำงานและการประสานงาน และจบลงด้วยอัตราการลาออกที่เพิ่มสูง

ในแต่ละปีองค์กรต้องสูญเสียคนเก่งและมีความสามารถไป เพราะเรื่องสาเหตุเล็กนิดเดียว คือ “เราไม่ฟังกัน” สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ แต่จะมีทางแก้ไขอย่างไร….


ไดอะล็อค คือ การสนทนาด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง และไม่ด่วนตัดสิน

ซี่งเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ใช้ในการฝึกทักษะการฟัง เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทีมงานอีกด้วย มีกรณีศึกษาตัวอย่าง จากผู้บริหารธุรกิจวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลงานชนะเลิศด้านพลังงานระดับอาเซียนถึง 6 ปีซ้อน ผู้บริหารหญิงวัย 59 ปีท่านนี้ มาฝึกไดอะล็อคกับผมอย่างต่อเนื่อง แล้ววันหนึ่งก็เขียนจดหมายมาเล่า ว่าได้นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างไร ต่อไปนี้เป็นเนื้อความบางส่วนในจดหมายของท่าน

“โดยทั่วๆไปแล้วในการทำงาน เมื่อเราคุยกับลูกน้องเราจะฟังไปคิดไป มีข้อมูลมากมายวิ่งอยู่ในหัว และยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่หรือความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมาเกี่ยวด้วย ทำให้ยิ่งต้องคิดหนักไม่เคยได้ตั้งใจฟังจนจบ เราก็มักจะมีข้อมูลที่แน่นหนา พร้อมสวนกลับทันทีที่ได้ยินอะไรไม่ถูกไม่ควร กติกาที่สำคัญในการไดอะล็อคคือ การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน

เพราะในการตัดสินเราจะต้องวิเคราะห์หาเหตุและผล ใช้ความคิดมากในขณะรับฟัง เมื่อได้นำทักษะการฟังจากไดอะล็อคมาใช้ในการทำงาน ทำให้เรามีความช้าลงในการตัดสิน ไม่คอยจ้องแต่จะสอนงานหรือจับผิดอย่างเดียว มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของลูกน้องจนจบ

เมื่อเราลดการตัดสินความคิดเห็นของพวกเขา ทำให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายตามไปด้วย เกิดผลดีคือได้ความคิดเห็นที่ดีๆมากขึ้นหลากหลายขึ้น ลูกน้องเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องแนะนำมาก มันจึงช่วยลดภาระในการตัดสินใจเพราะเขาจะกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ใจเราโล่งได้ระดับหนึ่ง และถ้าทำได้มากขึ้นใจคงเบาสบายมากขึ้น

ประสบการณ์จากการร่วมวงไดอะล็อค ทำให้เราได้ฝึกความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก่อนที่จะตัดสิน ด้วยการค้นหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ ก่อนที่จะเชื่อ ทำให้ดิฉันเริ่มระมัดระวังและเตือนตัวเองให้รู้จักแยกแยะ ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินนั้น เป็นข้อมูลจากความจริง หรือเป็นความคิดเห็นจากการตีความของผู้พูดเอง ซึ่งเมื่อนำไปใช้ ก็จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในสิ่งต่างๆอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ลำเอียงเข้าข้างความคิดเห็นฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือกระทั่งลำเอียงเข้าข้างความคิดตัวเอง

ความรู้สึกที่เคยหนักอึ้ง มาจนถึงปลายทางของชีวิตการทำงาน แต่เมื่อได้มาพบหนทางแห่งการฝึกตน ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะนำมาใช้ ในช่วงเวลามีค่าที่เหลืออยู่ คงทำให้ดิฉันได้ก้าวไปในการเดินทางแห่งความสุขบ้างก็เป็นได้”

จากกรณีศึกษาจะเห็นว่า “ทักษะการฟัง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญของภาวะผู้นำ

การที่ผู้บริหารปรับทัศนคติและพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยในการพัฒนาทีมงาน ส่งเสริมให้ลูกน้องคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และภาคภูมิใจในตนเองได้

หากได้มีการนำไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ส่งผลกระทบสูง นอกจากจะได้ประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานแล้ว จะได้เรื่องการจัดการความขัดแย้ง การบริหารความสัมพันธ์ เป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำ ค่านิยมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในระยะยาว

เรียกว่า งานได้ผล และคนก็เป็นสุข ไปพร้อมๆกัน…

บทความโดย เรือรบ


 

สนใจฝึกไดอะล็อค แนะนำคอร์ส “Dialogue & Deep Listening: ศิลปะแห่งการสื่อสารและการฟัง”

โปรโมชั่นพิเศษ มา 2 จ่าย 1 สำหรับ 10 ท่านแรกเท่านั้น คลิกที่นี่

หลักสูตร In house สำหรับการอบรมในองค์กร คลิกที่นี่

3 ขั้นตอน สร้างรายได้งามๆ จากงานประจำ

คุณอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า

แต่ทว่า สำหรับคนทำงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือนแล้ว การสร้างรายได้ในสายอาชีพของคุณไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงคุณได้อ่านบทความนี้

คำถามคือ งานประจำทำเงินกว่า ได้อย่างไร ?

เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เงินลอยอยู่ในอากาศ” หรือไม่ ? ประโยคนี้เปรียบเปรยว่า ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ก็มีโอกาสสร้างเงินได้ทั้งนั้น

บทความสั้นๆ ต่อไปนี้ จะช่วยบอกวิธีสร้างเงินมหาศาลจากงานประจำที่คุณทำซ้ำๆ ทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน

1.ค้นหา passion ของตัวเองให้เจอ

คำว่า passion หากจะแปลให้ใกล้เคียงกับความหมายดั้งเดิมที่สุด น่าจะแปลว่า “สิ่งที่หลงใหลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”

ปัจจุบันคุณอาจทำงานประจำเป็น นักบัญชี ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ข้าราชการ ฯลฯ

แต่ passion ของคุณ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรอบงานประจำ

เช่น คุณอาจจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่าเรื่อง แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นฟัง ทั้งที่คุณไม่ได้ทำอาชีพพิธีกร ,คุณอาจจะชอบวิเคราะห์ตัวเลขสถิติการเงินทั้งที่คุณไม่ได้ทำงานด้านการเงิน ,คุณอาจจะชอบขายทั้งที่ไม่ได้ทำอาชีพนักขาย

ขั้นตอนแรก แค่หาให้เจอก็พอ อย่าเพิ่งคิดว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ

2.ค้นหา skill จากงานประจำ

ขั้นตอนที่สอง แค่จำแนกสิ่งที่คุณทำเป็นประจำว่าคุณมีสิ่งใดบ้างที่เป็น skill อย่าเพิ่งกังวลว่ามันเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยๆ

คำว่า skill หรือ ทักษะ ไม่ได้หมายถึงความเก่ง ไม่ได้หมายถึงวิชาชีพเท่านั้น แต่หมายถึง สิ่งที่ทำซ้ำๆ ทำจนชินเป็นนิสัย หรือ ทำไปโดยอัตโนมัติ

อาจเปรียบเทียบได้กับการปั่นจักรยานที่ทุกวันนี้คุณสามารถปั่นได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

ในงานประจำของคุณที่อาจจะดูน่าเบื่อหน่าย ถ้ามองให้ดีแล้วจะค้นพบว่ามีทักษะ หลายอย่างที่หลบซ่อนอยู่

เช่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์การเงิน อาจมี ทักษะ คือ การพิมพ์ดีด การใช้โปรแกรม Excel การติดต่อลูกค้าต่างประเทศ การนำเสนองานในที่ประชุม การเอาตัวรอดจากเจ้านายขี้วีน การออมเงินเดือนให้เพียงพอค่านมลูก ฯลฯ

3.สร้าง Connection

เครือข่ายไม่ได้มีความสำคัญแต่เฉพาะนักธุรกิจเท่านั้น สำหรับคนทำงานประจำก็สำคัญเช่นกัน

โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Media ที่สามารถสร้างทั้งโอกาสดีๆ และรายได้งามๆ ให้แก่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายได้ง่ายๆ

ในขั้นตอนนี้ ให้คุณนำ Passion ที่มี บวกเข้ากับ Skill ที่มี แล้วค้นหา “สิ่งที่คุณสามารถช่วยผู้อื่นแก้ปัญหาได้”

แล้วนำเสนอสิ่งนั้นให้เพื่อนและเครือข่ายของคุณรับรู้ เช่น

คุณมี Passion เรื่องการเล่าเรื่องราวแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น

คุณมีทักษะด้านการใช้โปรแกรม Excel เท่ากับ คุณสามารถสอนผู้คนมากมายที่ไม่มีพื้นฐานด้านการใช้ Excel ให้สามารถใช้งานได้ในแบบที่คุณทำได้ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสอนสด หรือ Online

 

                   เปรียบเทียบ Passion เป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ผลไม้

                   Skill เป็นเหมือนการรดน้ำพรวนดิน

                   Connection ก็จะเปรียบเสมือนผู้คนที่เดินอยู่ในตลาดผลไม้

 

อย่าลืม ค้นหาเมล็ดพันธุ์ผลไม้ของตัวเองให้เจอนะครับ เพราะนี่คือวิธีที่จะช่วยให้คุณหยิบเงินที่ลอยอยู่ในอากาศมาเข้ากระเป๋าของคุณได้ !!!

image1

Coach Mangpor

เพจ เล่าเป็นเรื่อง

https://m.facebook.com/rhetoricalcoach/ 

วิธีไล่ความขี้เกียจ ที่ได้ผลเร็วและดีที่สุดในโลก

Copy of ภาพบทความ

มีคำถามผู้อ่านจากผู้อ่านทางบ้านส่งมาถาม ผมว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจมากครับ เลยขอนำมาบอกกล่าวกันครับ
คำถาม : ผมพยายามดึงตัวเองขึ้นจากตัวตนที่เกียจคร้าน ขาดกะจิตกะใจ แต่ยังมองไม่เห็นความสำเร็จเลย ตัวอย่างเช่น มีงานชิ้นหนึ่งที่ใช้เวลาทำประมาณ 5 วัน ผมรู้ล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์

พยายามเริ่มต้นทำทีไรมันเหมือนไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำ ก็อืดเอื่อยไปเรื่อย จนสุดท้ายมันพอกหางหมู ผมต้องปั่นงานเป็นบ้าเป็นหลัง บางคืนไม่ได้นอนตลอด 24ชั่วโมง ร่างกายก็แย่ รู้สึกตัวเลยว่าสุขภาพเสีย

ประเด็นสำคัญที่สุดคือผมจมอยู่กับความทุกข์ทรมานใจอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จะจัดการตัวเองอย่างไรดี

เคยปรึกษานักจิตวิทยาคำตอบที่ได้จากคนเหล่านั้นก็ดูจะเป็นคำตอบกลาง ๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้ผมก็รู้อยู่แล้ว เกิดความรู้สึกว่ายังไม่น่าจะช่วยอะไรได้ ทุกวันนี้ความทุกข์ทรมานใจส่งผลถึงร่างกาย บางครั้งกินอะไรไม่ลง รู้สึกว่าตัวเองท้องไส้ปั่นป่วน หงุดหงิดง่าย จมอยู่ในกองทุกข์จนยกจิตขึ้นจากมันไม่ได้ คิดได้แต่ทำไม่ได้

พยายามหาที่พึ่งไปเรื่อย ใครพูดถึงหมอดูว่าที่ไหนแม่นยำ ก็คิดอยากจะลองซักหน่อยว่าจะเจ๋งจริงไหม จะสามารถแก้ปัญหาของเราได้หรือเปล่า ที่ร่ายมาซะยาวก็เพื่อจะบอกว่าตอนนี้ผมก็เห็นคุณเป็นเหมือนหลักเกาะอีกอันหนึ่ง หรือจะพูดให้ดูเว่อร์ต้องบอกว่าเหมือนฟางอีกเส้นที่ลอยน้ำมา

และผมก็ไม่มีอะไรจะคว้าไว้อีกแล้ว ผมอยากขอคำปรึกษาว่า ผมต้องทำไงดีเพื่อจะออกจะสภาวะชีวิตแบบนี้ครับ…

ตอบโดย พศิน อินทรวงค์…

1. วงจรชีวิต คุณเคยสังเกตไหมครับว่า ชีวิตคนแต่ละคนนั้นจะมีวงจรเป็นของตนเอง คำว่าวงจรนี้ คือกิจกรรมที่ทำซ้ำๆกันในแต่ละวัน เช่นคุณตื่นกี่โมง ตื่นมาแล้วทำอะไร เดินทางด้วยอะไรรถยนต์ เรือ หรือมอเตอร์ไซค์

ชอบรับประทานอะไรแบบไหน คุยกันใครบ่อยๆ กลับมาบ้านแล้วทำอะไร อาบน้ำเมื่อไหร่ ก่อนนอนทำอะไร และนอนกี่โมง ทั้งหมดนี้คือความหมายของคำว่าวงจรชีวิต

2. วงจรชีวิตนั้น ส่งผลต่อชีวิตทั้งทางตรง รวมถึงในแง่จิตวิทยากับคนเรามาก ถ้าคนออกแบบวงจรชีวิตผิด ชีวิตก็จะกลายเป็นชีวิตที่ไร้ประสิทธิ์ภาพไปอย่างน่าเสียดาย

3. ตอนนี้คุณยังไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องงานมากนัก เพียงแค่รักษาสมดุลของงานไว้อย่าให้เสียหายไปมากกว่านี้ พักเรื่องความกังวลเรื่องงานไว้ก่อน แล้วกลับมาสนใจสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตประจำวัน เพราะคุณต้องสร้างรากฐานให้ดีก่อน

ผมอยากให้คุณออกแบบวงจรชีวิตซะใหม่ โดยเฉพาะ เวลาตื่น และเวลานอน คุณต้องลองปรับเวลาตื่น และนอนเสียใหม่ แล้วใส่กิจกรรมบางอย่างลงไปในชีวิตเพื่อเพิ่มความสนุก สดชื่น ท้าทาย เช่น ออกกำลังกาย พยายามนอนให้เร็ว(ไม่เกินสี่ทุ่ม) และตื่นให้เช้าขึ้น (ตีห้าเป็นอย่างน้อย) แล้วออกวิ่งสักครึ่งชั่วโมง

จากนั้นกลับมาอาบน้ำ แล้วลงมือทำหน้าที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันต่อไป

4. การออกแบบวงจรชีวิตใหม่ แบบกระทันหัน ตรงนี้เป็นการทำลายวงจรร้ายๆ ที่มันกัดกินชีวิตของคุณให้ปั่นป่วน เพราะความขี้เกียจของคุณมันจะงงว่าเกิดอะไรขึ้นกับมัน มันจะช็อค สะดุดและไม่มีที่เกาะชั่วคราว

คุณต้องทำซ้ำๆๆๆๆ ในสิ่งที่ต่างออกไป รูปแบบชีวิตจะถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดด้วยการทำเช่นนี้ ถ้าคุณทำแบบนี้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ชัดมาก

5. ในเรื่องของอาหาร คุณมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใหม่ กินแต่พอสมควร ไม่มาก ไม่น้อย อย่ารับประทานอาหารพวกแป้ง และไขมัน การกินที่มีระเบียบ จะส่งผลต่อความกระตือรือล้นของร่างกาย ร่างกายจะตื่นตัวขึ้น และยังส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อการนับถือตนเองของคุณอีกด้วย

6. ความขี้เกียจ นี่มีสิ่งที่มันกลัวอยู่ ขอให้คุณสร้างความประหลาดใจให้ตัวเองให้ตัวเอง รู้สึกว่า “ฉันก็ทำได้” โดยการฝืนทำงานให้เสร็จในทันที

ในครั้งแรกนี้ ขอให้คุณทำงานแบบสายฟ้าฟาด คือทำทันทีทั้งๆที่ขี้เกียจ ให้ความขี้เกียจมันเกิดอาการช็อคว่า “เฮ้ย!! นี่มันเกิดอะไรขึ้น” ถ้าคุณทำได้ คุณจะเกิดความฮึกเฮิมว่าคุณเอาชนะมันได้

7. มีอีกอย่างที่คุณควรทำทุกวัน ขอให้คุณนั่งสมาธิอย่างน้อยก่อนนอนวันละ 15 นาที ตรงนี้จะส่งผลต่อคุณอย่างมหาศาล ทั้งในแง่จิตวิทยา และการสร้างพลังจิตใจของคุณ

ขอให้ทำแม้ว่าจะนั่งแล้วไม่สงบ ทำแม้ว่าจะเบื่อ ทำแม้ว่าจะขี้เกียจ ไม่ต้องสนใจว่าคุณจะได้อะไรจากการนั่งสมาธิ ขอให้คุณรู้ว่า นี่คือการส่งสัญญาณบางประการต่อจิตวิญญาณของคุณ

และจิตวิญญาณเบื้องลึกของคุณจะรับรู้ได้ และเกิดแสงสว่างขึ้นมาจากภายใน เป็นการอัดฉีดกำลังใจเข้าไปในจิตวิญญาณของคุณ

8. ความร้ายกาจที่สุดของคนเราก็คือการหมดหวัง คุณต้องไม่หมดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ขอให้ทำทุกข้อตามที่ผมบอกอย่างเคร่งครัดติดต่อ กันไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 15 วัน และทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เริ่มจากทำลายวงจรชีวิตเดิมๆ ให้กระเจิง

พยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันให้ต่างออกไปในทุกมิติ ทำแบบกระทันหัน ทำแบบสายฟ้าฟาด ให้ความขี้เกียจมันเกิดอาการช็อคจนจำบ้านตัวเองไม่ได้!!! ทำชีวิตประจำวันให้มันต่างจากเดิมให้เร็วที่สุด ยิ่งต่างยิ่งดี

จากนั้นคุณต้องเริ่มดูแลตนเองเรื่องการกิน เปลี่ยนเวลาตื่น นอน แล้วเริ่มทำสมาธิวันละ 15 นาที จากนั้นให้คุณกลับมาที่เรื่องงานซึ่งเป็นปัญหา ในครั้งแรกขอให้คุณจงทำงานของคุณทันที ทำงานให้เสร็จในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

เพราะคุณต้องสร้างความประหลาดใจให้ตนเอง เพื่อให้จิตวิญญาณของคุณมีภาวะเชื่อมต่อกับความสำเร็จ จนจิตวิญญาณของคุณสามารถบอกกับตัวเองได้ว่า “เฮ้ย เรานี่มันก็สุดยอดเหมือนกัน เรานี่มันไม่ธรรมดา สุดยอดๆๆๆ”

9. กิเลสหรือความขี้เกียจคือหนู วิธีไล่หนูมีอยู่สองแบบ วิธีที่หนึ่ง คือการจับหนู จับไปจับมา หนูมันก็จะมาอีก ถ้าบ้านคุณรก วิธีที่สอง คุณไม่ต้องไปสนใจจับหนู แต่คุณไปจัดบ้านของคุณให้สะอาด ให้เป็นระเบียบ

ทิ้งของบางอย่างที่รกๆ แล้วเพิ่มของบางอย่างที่ง่ายและสวยงามเข้าไป บ้านในที่นี้ก็คือวงจรชีวิตของคุณ ซึ่งคุณจะต้องจัดใหม่โดยเร็ว เพื่อที่ว่า หนูมันจะได้ย้ายออกไป ไม่สนใจมาอยู่ในบ้านของคุณอีก

ที่ผ่านมาคุณพุ่งเป้าไปที่เรื่องของการไล่หนู คือไล่ความขี้เกียจ แต่คุณไม่ได้สนใจที่จะเปลี่ยนวงจรชีวิต ซึ่งมันง่ายและได้ผลมากกว่า ผมพูดแบบนี้คิดว่าคุณคงเห็นภาพ และเข้าใจได้ไม่ยากนัก

ผมดีใจที่ได้ตอบคำถามนี้ และขอเป็นกำลังใจให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ได้ในเร็ววัน
คุณทำมันได้แน่นอนขอให้เชื่อมั่น และแน่วแน่

สู้นะครับ อย่าไปยอมแพ้มันเด็ดขาด!!!

ป.ล. คุณจะรู้สึกเบื่อ และไม่อยากทำมันเมื่อต้องทำ เช่น การตื่น การนอน การกิน แต่คุณต้องงัดตัวเองออกมาจากเตียงให้ได้  

ตรงนี้ต้องฝืนใจ ทำให้สำเร็จแล้วสิ่งดีๆ จะถาโถมเข้ามาสู่ชีวิตของคุณอย่างไม่ขาดสาย

บทความโดย พศิน อินทรวงค์ 
ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

7 วิธีใช้เวลาเดินทางอย่างชาญฉลาด

7-ways-make-the-most-out-your-commute

“เวลา” เป็นทรัพยากรที่มีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเมืองกรุงที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม หลายคนมักมองข้ามเวลาเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันที่เราสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ช่วงเวลาของการเดินทาง บทความนี้นำเสนอหลากหลายวิธีที่ช่วยให้คุณใช้เวลาเดินทางในแต่ละวันอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพด้วย 7 วิธีดังต่อไปนี้

1) คิดพิจารณาถึงเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาต่างๆ

คุณมีปัญหาที่พยายามแก้ไข เรื่องราวส่วนตัว หรือเรื่องสำคัญทางธุรกิจที่คิดไม่ตกบ้างหรือไม่ หากคุณกำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ลองใช้เวลาขณะเดินทางสะสางงานที่คั่งค้าง หรือคิดพิจารณาหาทางออกบางทีการเปลี่ยนสถานที่ในการใช้สมอง อาจทำให้คุณได้ไอเดียดีๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการกระตุ้นความคิด เพราะสมองของคุณยังปลอดโปร่ง และไม่มีเรื่องวุ่นวายใดๆ นอกจากนี้ ช่วงเวลาของการเดินทางเป็นช่วงที่ไม่มีใครรู้จักคุณ คุณจึงสามารถครุ่นคิดถึงสิ่งต่างๆได้อย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่มีสิ่งใดมารบกวน ดังนั้นจงใช้เวลากับมันให้เต็มที่

2) คลายเครียด

ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมเมือง บรรยากาศรถติด ปัญหาอาชญากรรม ความตึงเครียดของงานสิ่งเหล่านี้มักเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณเกิดความเครียดสะสม หากคุณไม่หาวิธีบำบัดหรือชำระล้างจิตใจตนเองบ้าง มันจะส่งผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตของคุณในระยะยาวอย่างแน่นอน ทั้งนี้ คุณสามารถใช้เวลาเดินทางเพื่อผ่อนคลายและบรรเทาความทุกข์ไปได้บ้าง เช่น คุณอาจฟังเพลงเบาๆขณะเดินทาง เพราะมันจะช่วยให้คุณใจเย็น  และส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง นอกจากนี้ หากคุณขับรถเอง คุณอาจฉีดสเปรย์หรือใช้น้ำหอมที่ช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่น และผ่อนคลาย วิธีการนี้จะทำให้คุณอารมณ์ดีขึ้น และพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆในวันใหม่

3) เรียนรู้ที่จะมีสติ

ระหว่างการเดินทางอาจมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น แน่นอนว่าคุณต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่วุ่นวาย และอาจทำให้คุณอารมณ์เสียอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น คุณต้องเรียนรู้ที่จะมีสติ และระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ หากคุณขับรถเอง คุณต้องไม่ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด เพราะมันอาจทำให้คุณวอกแวก และเสียสมาธิได้ ทางที่ดีก็คือ คุณควรสังเกตสิ่งรอบข้าง และขับรถอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ หากคุณใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น เรือ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือรถเมล์ คุณไม่ควรก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เพราะอาจทำให้คุณเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้การเดินทางเป็นการฝึกไหวพริบ และความอดทน เพราะฉะนั้น จงตั้งสติ และรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง เพราะมันเป็นบททดสอบหนึ่งที่ทำให้คุณมีสติ รู้จักการตัดสินใจ และเอาตัวรอดด้วยวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งคุณสามารถนำทักษะนี้ไปใช้สำหรับเรื่องอื่นๆในชีวิตได้อีกด้วย

4) อัพเดตข้อมูลข่าวสาร

ในแต่ละวันคุณอาจรู้สึกว่าตนเองมีเวลาน้อยนิดเหลือเกิน คุณต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงาน กลับบ้านมืดค่ำดึกดื่น เวลาพักผ่อนก็แทบจะไม่มี ดังนั้นจึงไม่ต้องถามถึงเวลาท่องเที่ยว แสวงหาความรู้ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แต่คุณรู้ไหมว่าคุณสามารถใช้เวลาในการเดินทางให้เกิดประโยชน์ได้ กล่าวคือ แทนที่คุณจะปล่อยให้เวลาหมดไป คุณควรใช้เวลาช่วงนี้ในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร คุณอาจเปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม หรือข่าวกีฬา เพื่อที่จะได้รู้สถานการณ์บ้านเมืองโดยรอบ รับรองว่าเมื่อคุณทำเช่นนี้เป็นประจำ คุณจะกลายเป็นคนที่รอบรู้และก้าวทันเหตุการณ์

5) แสวงหาความรู้

คุณอาจรู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้ากับการจราจรที่แออัด และใช้เวลานาน แต่หากคุณหากิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบทำเพื่อฆ่าเวลาคุณก็จะได้รับประโยชน์มากมาย หนึ่งในกิจกรรมที่คุณสามารถทำได้ก็คือ การแสวงหาความรู้ เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่ระหว่างการเดินทาง กล่าวคือ ในขณะที่คนอื่นๆนอนหลับบนรถ นั่งเหม่อลอย แชทไลน์หรือติดตามเฟซบุ๊ก คุณอาจใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลที่คุณต้องการผ่านเว็บไซต์ต่างๆวิธีการนี้ช่วยให้คุณได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า

6) เรียนรู้ภาษาใหม่

ความจำกัดของเวลาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณถอดใจในการเรียนภาษาใหม่ คุณมักคิดว่า “ฉันไม่มีเวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝน หรือทบทวนเลย” หลายครั้งคุณจึงล้มเลิกความคิดที่จะเรียนภาษาไปอย่างน่าเสียดาย ต่อจากนี้ คุณควรเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะคุณสามารถใช้เวลาเดินทางในการเรียนภาษาได้ ยิ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้ชีวิตคนเราสะดวกสบายมากขึ้นเพียงแค่คุณเลือกภาษาที่คุณชื่นชอบและต้องการพัฒนา จากนั้นก็ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสอนภาษา เช่น การออกเสียง คำศัพท์ หรือโครงสร้างทางไวยากรณ์ แค่นี้คุณก็สามารถเรียนรู้ภาษาได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาเกาหลี เป็นต้น วิธีการนี้ช่วยให้คุณประหยัดเวลา และทำให้การเดินทางของคุณมีประโยชน์และน่าสนใจมากขึ้น

7) อ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือระหว่างการเดินทางเป็นกิจกรรมที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดี และน่าเอาเป็นแบบอย่าง เพราะการอ่านหนังสือขณะเดินทางเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ คุณสามารถเลือกประเภทหนังสือที่คุณชื่นชอบ เช่น นวนิยาย ประวัติศาสตร์ ธุรกิจ ท่องเที่ยว เป็นต้น หากคุณทำเช่นนี้เป็นประจำ เชื่อแน่ว่าคุณจะได้รับทั้งความรู้ ความบันเทิงอีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอีกด้วย

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(ที่มา: http://www.lifehack.org/328614/7-ways-make-the-most-out-your-commute)

4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่าเรายังฟังไม่เป็น

“ยิ่งคุยกันมากขึ้น ทำไมเรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

บทความนี้ ผมจะเล่าถึง 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คนเรามักจะทำผิดพลาด ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้คน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์  ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุหลักๆมาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งๆที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้องอาศัย “สติ” และการ “เอาใจใส่”

ส่วนการได้ยิน เกิดขึ้นเองที่หู โดยเราไม่ต้องพยายามอะไร

ดังนั้น เรามีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่องๆนั้นเลย เป็นเหตุให้การสนทนาในชีวิตประจำวัน หากเราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายจริงๆ นั่นจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจกัน กลายเป็นปมความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นทะเลาะ และเลิกคบหากันในเวลาต่อมา

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจไหมว่าคุณฟังเป็น ?
ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง ที่เรามักจะพลาดกัน ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังอย่างไร


1.ฟัง แล้วคิดดักหน้า

หลายคนมักจะคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริงการคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง เรามักเผลอ “คิดไปดักหน้า” หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้ว ว่าคนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นเรา ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เค้าเสร็จสรรพ

โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่เราคิดมโนไปนั้น ก็ได้พลาดสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เค้าต้องการเลย

Tips: ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถามจึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ

2.ฟัง แล้วจมกับอารมณ์

ข้อนี้คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อนมักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง เราก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์ก็จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น

และยิ่งหากเรามีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้เราย้อนนึกถึงอดีต เรายิ่งจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่เรามีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆครั้ง อาการอินของเรา หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้ย่อมจะมาบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้เราละเลยผู้พูดไป อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

Tips: เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจเรา ใช้สติแยกแยะว่า เราสามารถรับฟังเค้าได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วเราก็จะสามารถฟังได้ โดยที่ไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง 

3.ฟัง แบบใจลอย

บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนานๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น

แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกมหรือแชทได้นานๆ คำว่าสมาธิสั้นนั้น อาจจะดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟังเกินไป

คนที่ใจลอยบ่อยๆเมื่อต้องฟังนั้น หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่องๆนั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าฟัง แต่หากสังเกตด้วยการมองตา ก็จะรู้เลยว่า ใจเค้าไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เค้าจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

Tips: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากเราไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรงๆว่าเราติดธุระอะไรอยู่ หรือเราไม่สะดวกคุยตอนนี้ 

การทำทีว่าฟัง แต่จริงๆแล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดเค้าจะรู้สึกได้ว่า จริงๆแล้ว เราฟังเค้าอยู่หรือเปล่า

4.ฟัง แบบมีธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเองเลย การฟังแบบมีธงในใจ จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อ

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลายๆคนอาจจะรู้สึกว่า เสียวเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อเรามีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมากลางทางเลย แย่งพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่หากลองคิดให้ดี ในแต่ละครั้งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปตามบริบทและเวลา การรีบด่วนตัดสินนั้นย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่เรารับรู้ในอดีตเท่านั้น เราจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่างไป ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

Tips: เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าเรากำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้นๆไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟังทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ เราจะคิดว่าเราฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ เราไม่เคยฟังเลย

บทความนี้ ทำให้เรารู้ว่า “การฟัง เป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจมองข้ามไม่ได้

หากเรามีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย เราก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเค้าอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟังหากเราสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล

และจะส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัว อย่างแน่นอน


เรียบเรียงโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม 

ท่านที่สนใจ ฝึกทักษะการฟัง ขอแนะนำหลักสูตร ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต
พบกัน 11 มิ.ย.นี้ อบรมโดย เรือรบ ดูรายละเอียด คลิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save