5 วิธีรับมือกับความเครียดในที่ทำงาน

การทำงานเป็นสาเหตุให้คุณเกิดความเครียดได้ ไม่ว่าความเครียดนั้นจะมาจากงานที่เพิ่มขึ้น เวลาที่น้อยลง หัวหน้างานผู้เข้มงวด หรือเพื่อนร่วมงานช่างนินทา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันสามในสี่คนทุกข์ทรมานจากความเครียดในที่ทำงาน นอกจากนี้ องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ในแต่ละปีความเครียดเป็นสาเหตุให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากป่วย และทำให้ธุรกิจของอเมริกาเสียหายถึง 3,000 ล้านเหรียญ

จากข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่าความเครียดนั้นน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงจิตใจของผู้คนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในด้านต่างๆด้วย ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดความเครียดก่อนที่มันจะกำจัดเรา โดยบทความนี้ได้แนะนำหลักปฏิบัติ 5 ข้อ เพื่อให้คุณสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดในที่ทำงานได้ ดังนี้

1) ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเครียดของคุณ กล่าวคือ อาหารสามารถกระตุ้นหรือบรรเทาความเครียดให้คุณได้ ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของอาหาร อาหารที่ช่วยขจัดความเครียด ได้แก่ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่ว เผือก มัน น้ำเปล่า เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ และยังช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความเครียดได้อีกด้วย

นอกจากอาหารที่ควรรับประทานเพื่อลดความเครียดแล้ว ยังมีอาหารที่คุณควรหลีกเลี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารเพิ่มความเครียด ในระยะแรกที่ได้รับประทานคุณอาจรู้สึกดี แต่หากคุณรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือรับประทานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดสภาวะความเครียดสะสมในร่างกายได้

 2) กำหนดลมหายใจเข้า-ออก

เรื่องการหายใจก็มีความสัมพันธ์กับความเครียดเช่นกัน คุณจะพบว่าเมื่อคุณเครียด คุณจะหายใจเร็วหายใจตื้น หัวใจเต้นเร็ว และมีอาการกระสับกระส่าย ดังนั้น เมื่อคุณเครียด ให้คุณกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยคุณอาจหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆประมาณ 1-2 นาที คุณสามารถทำเช่นนี้ในช่วงพักเที่ยง หรือระหว่างวันก็ได้ และหากคุณมีเวลามากกว่านั้น คุณอาจทำในช่วงเช้าและก่อนนอนด้วย

วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าและออกคล้ายๆกับการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้คุณลดความเครียดลงได้ เพราะเมื่อคุณหายใจเต็มปอดก็จะทำให้เลือดและสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น และสิ่งนี้จะทำให้คุณสดชื่น และกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น

3) ออกกำลังกาย

เวลาที่คุณนั่งจมอยู่กับปัญหาในที่ทำงาน นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เครียดเกร็งโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่รักษายาก วิธีแก้ไขความเครียดที่ง่ายและทำได้ทันที ก็คือ ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ยืดเส้นยืดสาย หรือเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถสัก 10-15 นาที นอกจากนี้ ในแต่ละวันคุณควรแบ่งเวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อออกกำลังกาย ในช่วงแรกของการเริ่มต้น คุณอาจรู้สึกว่ามันยาก แต่หากคุณทำมันอย่างต่อเนื่อง ร่างกายของคุณจะแข็งแรงขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายแข็งแรง คุณก็จะสามารถรับมือกับความเครียดได้ การออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดพิน ซึ่งทำให้คุณรู้สึกดี มีพลัง และกระฉับกระเฉงมากขึ้น แต่หากคุณยังไม่มีแรงบันดาลใจมากพอ ให้ลองจัดกิจกรรมออกกำลังกายกับเพื่อนร่วมงานของคุณ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกสนุกและอยากออกกำลังกายมากขึ้น

4) เลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก หลีกเลี่ยงข้อมูลด้านลบ

ในที่ทำงานของคุณย่อมมีคนหลากหลายประเภท และคำกล่าวที่ว่า “หงส์อยู่ในฝูงหงส์ กาอยู่ในฝูงกา” นั้นเป็นจริงเสมอ กล่าวคือ คนที่มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกันมักรวมตัวอยู่ด้วยกัน ดังนั้น หากคุณไม่อยากเครียด ก็ไม่ควรที่จะสุงสิงหรือยุ่งเกี่ยวกับคนที่ทำให้คุณเครียด ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานบางคนชอบระบายความเครียดให้ผู้อื่น เมื่อเขาไม่พอสิ่งใด เขาจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อต่อว่า แสดงน้ำเสียงเกรี้ยวกราด หรือแสดงท่าทางก้าวร้าว เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณ เพราะฉะนั้นจงอยู่ให้ไกลจากคนประเภทนี้ แต่ทว่า บางครั้งหากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้คุณมีสติ กลั่นกรองข้อเท็จจริง อย่าเชื่อข้อมูลทุกอย่างที่เขาพยายามสาดใส่คุณ เพราะนั่นจะทำให้คุณเครียด และกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

ทางที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเลือกคบเพื่อนร่วมงานที่มองโลกในแง่ดี และเลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก และหากคุณเกิดความเครียดให้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองผ่อนคลาย เช่น การดูหนัง ฟังเพลง การท่องเที่ยว เป็นต้น

5) เลือกเสพข่าวสารอย่างเหมาะสม

หากคุณเป็นพวกที่ชอบเกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองโดยติดตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กตลอดเวลา คุณกำลังจะเครียดโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากพฤติกรรมของสื่อในปัจจุบันมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลในเชิงลบอย่างซ้ำไปซ้ำมา นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวมักใส่ความคิดเห็น หรือแสดงอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวลงไปในเหตุการณ์ที่นำเสนอ สิ่งนี้ทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์ร่วม และเกิดความเครียดในที่สุด

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดเชิงลบ คุณควรเลือกรับข่าวสารอย่างเหมาะสม กล่าวคือ คุณควรจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูล ไม่ควรเสพข้อมูลมากเกินไป เพราะเมื่อคุณรับข้อมูลแล้ว สมองของคุณก็จะบันทึกและประมวลผล ซึ่งหากข้อมูลมีเนื้อหาที่รุนแรงและมีปริมาณมากเกินไป คุณก็จะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่คุณเสพด้วย นอกจากนี้ คุณควรเลือกรับสารที่มีประโยชน์ และมีเนื้อหาในแง่บวก เช่น ภาพการช่วยเหลือสังคม ภาพความสำเร็จ เป็นต้น เพราะข่าวสารดีๆเหล่านี้จะทำให้คุณมองโลกในแง่ดี และเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

Source: http://www.pickthebrain.com/blog/5-ways-reduce-stress-work-place/

7 วิธีจัดการ หัวหน้างาน ที่ไม่ทำอะไรเลย

howtomanangeyourboss

ปัญหาในการทำงาน แม้ว่ายากลำบากแค่ไหน เราก็คงพร้อมจะฝ่างานหนัก และความลำบากไปได้ ถ้าหากมีทีมเวิร์ค มีหัวหน้างานที่ดี เพราะไม่ว่างานจะเหนื่อยหนักอย่างไร ถ้าได้เจอหัวหน้างานที่ดีแล้ว ถือว่าคุณโชคดีที่สุด เพราะการทำงานของคุณ จะได้รับการสนับสนุน การปกป้อง และช่วยเหลือจากหัวหน้าได้เป็นอย่างดี

แต่ส่วนใหญ่ที่พบเจอและยากที่จะทนก็คือ หัวหน้าประเภท เรื่องดีใส่ตัว เรื่องชั่วโยนให้ลูกน้อง บางคนวันวันไม่ทำอะไร นั่งดูแต่กราฟ (หุ้น) หรือหนักเข้าไปอีก เจอหัวหน้างานประเภท ทำธุรกิจส่วนตัว (ขายตรง) จะปฏิเสธก็ลำบากใจ กลัวจะมีผลต่อการประเมินผลปลายปี เราจะมีวิธีจัดการ กับหัวหน้างานที่ไม่เอาไหนได้อย่างไรบ้าง ลองมาดูวิธีการทั้ง 7 ข้อนี้ครับ

1.แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่จะทำทุกครั้ง

ไม่ว่าเราจะทำอะไร ให้แจ้งรายละเอียด เกี่ยวกับงานนั้นๆ ให้กับหัวหน้างานทราบทุกครั้ง เพราะเป็นการสื่อให้หัวหน้างานรู้ว่า เราทำงานอย่างไร งานมาก งานน้อยแค่ไหน จะได้เป็นการกระตุ้นหัวหน้าทางอ้อมไปในตัว

2.อย่าแสดงตัวเองเหมือนว่าเก่งทุกอย่าง

ลูกน้องแบบนี้ หัวหน้างานประเภทนี้จะชอบมาก เพราะไม่ต้องเหนื่อยจัดการอะไรเลย ดังนี้มีอะไรก็จะโยนมาให้หมด ยิ่งทำได้มาก ก็ยิ่งให้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าทำตัวเป็นคนที่เก่งไปซะทุกอย่าง ทำเองได้หมด  ทำเท่าที่หน้าที่ ที่พอจะทำได้ก็เพียงพอเล้วครับ ที่เหลือให้หัวหน้างานได้แสดงฝีมือบ้าง

3.แบ่งงานให้หัวหน้างานทำบ้าง

เก่งได้แต่อย่างเก่งคนเดียวครับ หัวหน้างานที่ดีอาจจะไม่ชอบ เพราะกลัวว่า ตัวเองจะตามลูกน้องไม่ทัน แต่จะแตกต่างกับหัวหน้างานแบบที่ ไม่ทำอะไรเลยนะครับ รายนั้นถึงกับตีปีกกันเลยทีเดียว ถ้าเจอลูกน้องแบบนี้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จงแบ่งงานที่หัวหน้างานพอจะทำได้ ให้เค้าได้ฝึกทำบ้าง จะได้ไม่ทำตัวเป็นภาระ กับลูกน้องในแผนกต่อไป

4. สื่อสารตรงๆ บอกให้รู้ไปเลย

หัวหน้างานบางคน ไม่รู้เรื่องจริงๆนะครับ ไม่รู้ว่าตั้งใจไม่รู้ หรือไม่รู้จริงๆ แต่ไม่ว่าจะสื่อสารอย่างไรไป ก็ไม่เคยรู้ตัวเลย หัวหน้างานแบบนี้จำเป็นต้องพูดตรงๆไปเลยครับ แต่ไม่ใช่ใช้คำไม่สุภาพนะครับ ควรจะเป็นการบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร และต้องการให้เค้าสนับสนุนอะไร วิธีนี้ เป็นวิธีการที่ดี และเร็วที่สุดแล้ว แต่ถ้าจะทำ ลองดูสถานการณ์ดีๆก่อนนะครับ ควรจะรอโอกาสที่เค้าไม่ยุ่งมาก และอารมรณ์ดี เพราะถ้าผิดจังหวะพลาดมา จะมองหน้ากันไม่ติดอีก

5. แจ้งเมล์ผ่านหัวหน้างาน ทุกครั้ง

หมายถึง cc เมล์ ให้หัวหน้างานทราบด้วยทุกครั้ง ไม่ว่างานนั้นจะเกี่ยวข้องกับหัวหน้างานหรือเปล่า ส่งให้หมด ทำให้เห็นว่า หัวหน้างานมีความสำคัญ ต้องรับรู้งานทุกอย่างของลูกน้อง ถ้าดีหน่อย เค้าก็จะรู้สึกตัว และปรับตัวให้ดีขึ้น เพราะละอายใจที่เห็นลูกน้องทำงานหนักกว่าตนเอง แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็พยายามทำต่อไปครับ คงจะมีสักวันที่เค้าต้องรู้สึกตัว

6. ปรึกษาปัญหาเรื่องงาน กับหัวหน้างานบ่อยๆ

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดี และควรทำอย่างยิ่งครับ ไม่ว่าหัวหน้างานคุณนั้น จะดีหรือไม่ดีก็ตาม เพราะการปรึกษาปัญหาเรื่องงาน จะทำให้เราทำงานออกมาได้ดี และได้ตรงกับสิ่งที่ตัวงาน อยากจะให้เป็นจริงๆ การผิดพลาด ก็จะลดน้อยลงด้วย ส่วนการใช้วิธีนี้ จะมีผลทำให้หัวหน้างาน ที่ไม่ดี เปลี่ยนเป็นดีได้หรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากตัวของหัวหน้าคนนั้นๆเองด้วยครับ เพียงแต่เราต้องลองพยายามทำให้เต็มที่ก่อน ก็พอแล้วครับ

7. รายงานให้ผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าทราบ

อย่ามองว่าเป็นคนขี้ฟ้องเลยนะครับ เรื่องแบบนี้ ถ้าเราพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว หัวหน้างานของเราก็ไม่มีทีท่า ว่าจะดีขึ้น วิธีการนี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่คุณจะทำได้ครับ รายงานเป็นเมล์จะดีที่สุด เพราะจะดูเป็นทางการมากกว่า การที่เราพูดเล่าให้ฟังเฉยๆ ส่วนหลังจากนั้นแล้ว จะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ผู้มีอำนาจคุณนั้นๆ จะตัดสินลงไปหละครับ แต่ก็ดีกว่าเราไม่พยายามทำอะไรให้ดีขึ้นเลย ถ้าหมดหนทางแล้ว ลองพิจารณาวิธีสุดท้ายดูนะครับ

ลาออก ???

วิธีนี้ ไม่ได้ใช้จัดการหัวหน้า แต่จัดการตัวเองครับ จะแค่พูดขู่เล่น หรือจะทำจริงๆ สุดแต่ใจของคุณเลยครับ เพราะถ้าไม่มีอะไรจะเสีย ให้กับหัวหน้างานแบบนี้แล้ว ทำหมดทุกทาง ทั้งแสดง ทั้งเขียน ทั้งรายงาน ก็ยังไม่มีอะไร หรือใคร ทำให้เรื่องนี้ดีขึ้นได้ จงตัดสินใจเลือกทางเดินให้กับตัวเองใหม่ เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วครับ คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก ถ้าทำงานแล้วไม่มีความสุขเลย ชีวิตเราจะมีความสุขได้อย่างไรครับ เลือกในสิ่งที่ดีที่สุด ให้ตัวเองดีกว่าครับ

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ ขอให้เป็นวิธีสุดท้ายจริงๆนะครับ เหตุผลก็เพราะว่า หากเราลาออก เพราะเข้ากับหัวหน้าไม่ได้ รู้ได้อย่างไรว่า ไปในที่ทำงานใหม่ จะไม่มีหัวหน้าลักษณะแบบนี้ ?

แบบนี้คงไม่พ้น ต้องลาออกไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น

เราเคยมองหรือเปล่า ว่าเรามีปัญหาคนเดียว คนอื่นเค้าก็ยังโอเคหรือเปล่า หากเราว่าหัวหน้าไม่ดี แต่คนอื่นว่าดี อาจจะต้องมาพิจารณามุมมองของเราใหม่อีกครั้ง

ดังนั้น ขอให้เลือกที่จะสื่อสารอย่างเปิดเผยถึงความรู้สึกของเรา และพูดถึงที่ปัญหา ไม่ใช่ชี้ตัวบุคคล ก็น่าจะช่วยได้ครับ และขอให้เรา ได้ทำตัวเองให้ดีที่สุด อย่าได้เป็นแบบหัวหน้าคุณนั้นๆ ก็เพียงพอ แล้วสิ่งดีที่คุณทำ ก็จะทำให้คุณประสบผลสำเร็จ และเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานได้เองในที่สุดครับ

วิธีการสื่อสารที่ได้ผลในการทำงานร่วมกัน สามารถเรียนรู้ได้ในหลักสูตร “Communication for Leadership: ทักษะการสื่อสารสำหรับผู้นำยุคใหม่”

คิดให้ดีอีกมุมมอง การที่เรามีหัวหน้างานที่ไม่ทำอะไรเลยนั้น จะเป็นการได้ฝึกฝนตัวเราเอง ให้ทำงานได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร และในอนาคต ถ้าเราได้เป็นหัวหน้าคนอื่น เราก็จะเข้าใจหัวอกคนที่เป็นลูกน้อง ได้เป็นอย่างดี และอาจจะเป็นหัวหน้างานที่มีลูกน้องรักมากที่สุด ก็เป็นได้ครับ

เผย 5 เทคนิค สร้างสุข ในที่ทำงาน

happyatwork

ไม่มีใคร ที่ไม่ปรารถนาความสุข แต่คนส่วนใหญ่ กลับไม่เคยรู้วิธีสร้างความสุข ให้เกิดขึ้นได้เลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หรือเพราะเรา กำลังเข้าใจอะไรผิดๆ เกี่ยวกับความสุขอยู่ อยากสุข แต่กลับสร้างเหตุแห่งความทุกข์ แล้วเมื่อไหร่จะได้พบกับความสุขอย่างที่หวังไว้

คนเราฉลาดที่จะเข้าใจคนอื่นได้หมด แต่พอเป็นเรื่องของตัวเอง กลับไม่เคยเข้าใจมันได้เลย มีตัวอย่างที่แสดงเห็น ได้อย่างชัดเจนเรื่องหนึ่ง ก็คือ สมมติเราอยากให้ตัวเองมีความสุข แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เลยพยายามขยันทำงาน  เพื่อให้ได้เงินมามากๆ เพราะคิดว่า เมื่อมีเงินมากแล้ว จะมีความสุข แต่สุดท้าย กลับต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะร่างกายไม่ไหว พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก นี่ไงครับ ที่บอกว่า คนเราไม่เข้าใจตัวเอง คิดว่าทำแล้วจะมีความสุข แต่สุดท้ายกลับทุกข์เสียนี่

อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับการสร้างความสุข ที่ยังหาไม่เจอเลยครับ บางครั้งมันอาจอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เรามาดู 5 เทคนิคสร้างความสุขง่ายๆ ในที่ทำงานกันครับ

1.พอเพียง

พอดี พอมี พอกิน แค่นี้ ก็เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตของเราแล้วครับ ไม่ต้องมีเงินมาก แค่อย่าให้ขาดก็เป็นพอ หากตอนนี้ เงินในกระเป๋า ยังไม่ทำให้ท่านรู้สึกมีความสุข ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ท่านตั้งเป้าหมาย ให้กับความสุขในชีวิต สูงเกินไปหรือเปล่า คิดว่าต้องมีเงินเท่านั้นเท่านี้ ถึงจะมีความสุข

ถ้าท่านคิดแบบนี้ ความสุขถึงได้ดูเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป อย่าไปเปรียบเทียบ กับเพื่อนร่วมงานที่มีต้นทุนมากกว่าเราครับ ให้ลองมองดูคนที่มีโอกาสน้อยกว่าเราจะดีกว่า เพราะท่านจะเห็นว่า สิ่งที่ท่านมีอยู่นี้ มันดีมากที่สุดแล้ว อยากให้ลองถามตัวเองดูว่า ที่ท่านทุกข์อยู่นี้ เป็นเพราะว่า ”ไม่มี” หรือว่า “ไม่พอ” กันแน่ครับ

2.แบ่งปัน

การเป็นผู้รับ ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่การได้เป็นผู้ให้ ถือว่าเป็นความสุข อย่างที่สุดครับ การที่เราจะเป็นผู้ให้ หรือแบ่งปันให้กับคนอื่นได้นั้น เราจำเป็นต้องมีเหลือก่อน เหลือในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า เหลือกิน เหลือใช้นะครับ แต่คือ “เหลือใจ” ที่จะมาเห็นใจผู้อื่น ถ้าท่านไม่เหลือใจแล้ว ต่อให้มีเงินทองมากมายขนาดไหน ท่านก็ว่า ท่านมีไม่พอ ที่จะแบ่งให้คนอื่นอยู่ดี

การแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องรอให้เรามีมากก่อน ถึงจะแบ่งปันได้นะครับ ไม่มีเงิน ก็ใช้แรง ไม่มีแรง ก็ใช้ใจได้ครับ ใช้ใจในการแบ่งปันแนวคิดดีๆให้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อเป็นกำลังใจให้เขา ได้ผ่านพ้นอุปสรรคในชีวิตไปได้ นี่ถือว่า เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วครับ ดังนั้น การให้ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียง ทรัพย์สิน หรือเงินทองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วท่าน พร้อมที่จะให้ ได้บ้างหรือยังครับ

3.ใส่ใจ

เมื่อเราอยากมีความสุข แต่คนรอบๆข้างของเรา มีแต่คนที่ทุกข์ แล้วอย่างนี้ มันจะทำให้เราสุข ไปได้อย่างไร ดังนั้น ขอให้ใส่ใจผู้คนรอบข้างที่ทำงานร่วมกัน ให้เวลาในการรับฟังเรื่องราวของเพื่อนร่วมงานบ้าง แชร์สุขทุกข์ซึ่งกันและกัน ย่อมจะทำให้เกิดมิตรภาพที่ดี เมื่อเค้าสบายใจขึ้นแล้วความสุขที่เกิดขึ้นนั้น มันจะส่งผลมายังเราเอง อีกอย่าง จะทำให้ท่านเป็นคนที่มีคนรัก มากที่สุดคนหนึ่งอีกด้วย อย่าหลงลืมคนรอบข้างของท่านนะครับ สุขก็สุขไปด้วยกัน เพราะเวลาทุกข์ จะได้มีคน ช่วยกันดูแล

นอกจากใส่ใจคนแล้ว การใส่ใจงานก็สำคัญ แต่อย่าตกหลุมพรางใส่ใจเฉพาะงานของตัวเอง ขอให้ใส่ใจงานในภาพรวมของบริษัท งานบางอย่างไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราโดยตรง แต่การช่วยเหลือของเราจะทำให้เกิดผลลัพธ์ความสำเร็จต่อองค์กรได้ แบบนี้ควรใส่ใจมากกว่างานเฉพาะหน้าของตนเองเสียอีก ทำได้แบบนี้ก็แสดงว่าเราเป็นคนที่มีคุณค่าต่อองค์กรอย่างมากครับ

4.ไม่สร้างศัตรู

เมื่อมีคนเกลียดเรา ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีเหล่านั้น มันจะส่งผลมาถึงเราได้ ทำให้เราไม่มีความสุข และจิตใจเราเศร้าหมอง ไม่สดใส ทำอะไรก็มีอุปสรรคไปหมด ผิดกับคนที่มีแต่คนรัก เขาเหล่านั้น จะดูสดใสร่าเริงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะมีแต่คนอยากช่วยเหลือ เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า สร้างมิตร ดีกว่าสร้างศัตรู

ยิ่งในสังคมการทำงาน เราต้องเจอกันไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง หากเรามีศัตรูสักคน ต้องเดินเฉียดกันไปมา ย่อมทำให้เรารู้สึกอึดอัด การทำงานก็ไม่ราบรื่น คนที่ฉลาด จะไม่สร้างศัตรู เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ที่ได้ จากศัตรูที่สร้างขึ้นมาเลย ในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าจะให้เรายอมคนไปเสียหมด แต่ในทางตรงข้าม อยากให้เราฝึกวางใจเป็นกลาง และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง มีเรื่องอะไรในใจ ก็เริ่มมองตัวเองว่าให้อภัยเค้าได้มั้ย แล้วถ้ามีโอกาสก็เปิดใจคุยกัน เพื่อไม่ให้ความร้าวฉานนั้นลุกลาม

5.ขยันให้ถูกเวลา

ความขยัน เป็นสิ่งที่ดี และนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ขอให้ขยัน ให้ถูกเวลาด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นแล้ว ท่านจะกลายเป็นคนขยัน ที่ไม่มีความสุขเลย หลายท่านทำงานแบบถวายหัว ไม่เสร็จไม่กลับบ้าน เพราะคิดว่า รักษาผลประโยชน์ ให้กับบริษัทเต็มที่ ทำงานจนดึกดื่นเที่ยงคืน เช้าก็รีบกระวีกระวาดมาทำงาน เพื่อหวังว่าจะได้ก้าวหน้าในการงาน

แต่หากท่านทำงานจนป่วยหนัก อาจถึงวันที่บริษัทเลิกจ้างท่านขึ้นมา ท่านก็จะเห็นว่า แม้ไม่มีท่าน บริษัทก็ยังเจริญเติบโตต่อไปได้ เค้าหาคนมาทำหน้าที่แทนท่านได้เสมอ ท่านไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ดังนั้น เราสามารถทุ่มเทให้กับงานที่ทำได้ ขยันให้เต็มที่กับเวลาที่เหมาะที่ควร พอถึงเวลากลับบ้าน ก็ทิ้งงานไว้ ไปใช้เวลามีความสุขกับครอบครัวดีกว่าครับ

อย่าเพียงคิดแต่ว่า รีบทำงานให้เสร็จรีบเลิกงาน เพื่อกลับไปมีความสุขที่บ้านอย่างเดียว ถ้าคิดแบบนี้ วันๆก็คงอยู่แต่กับตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น หากต้องทนทุกข์กว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อจะไปมีความสุขแค่ช่วงค่ำๆที่บ้าน คงไม่ดีแน่ ดังนั้นโจทย์ของเราก็คือ ทำอย่างไรเจะสามารถมีความสุขในช่วงเวลาของการทำงานด้วย ดังนั้น 5 เทคนิค สร้างสุขในที่ทำงาน ที่ให้ในบทความนี้ หากเรานำไปปรับใช้ ก็จะช่วยให้ใจของเราเบาสบาย ทำงานอย่างมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบตัว และมีชีวิตการทำงานที่ก้าวหน้าในไปพร้อมๆกัน

8 ประโยคโดนใจ พูดเมื่อไหร่ได้งานเมื่อนั้น

bestinterview

ทุกคนล้วนแต่อยากทำงานที่ใช่ งานที่ใฝ่ฝัน หรือทำงานในบริษัทชั้นนำ แต่กว่าที่คุณจะประสบความสำเร็จในการสมัครงาน และได้รับการว่าจ้างอย่างสมบูรณ์ คุณต้องผ่านกระบวนการสรรหาคัดเลือกที่ใช้เวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่ ขั้นตอนการกรอกใบสมัคร ไปจนถึงการสอบสัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการสัมภาษณ์งาน และไม่ใส่ใจกับขั้นตอนนี้มากนัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณพลาดโอกาสได้งานไปอย่างน่าเสียดาย แต่เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลง การสัมภาษณ์งานของคุณจะเปลี่ยนไป เพราะคุณจะมั่นใจ และมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น บทความนี้แนะนำคำถามปิดท้าย 8 ประโยคที่จะทำให้คุณสามารถพิชิตใจกรรมการสัมภาษณ์ได้ไม่ยาก

1.กระบวนการหรือขั้นตอนถัดไป คืออะไร

หากการสัมภาษณ์สิ้นสุดลง และกรรมการเอ่ยถามว่าคุณต้องการถามคำถามอะไรอีกไหม คุณควรคว้าโอกาสนั้นไว้ คุณไม่ควรเดินออกจากห้องสัมภาษณ์โดยไม่ถามอะไรเลย เพราะนั่นแสดงว่าคุณไม่สนใจว่าจะได้ทำงานนี้หรือไม่ คุณควรตั้งคำถามเพื่อแสดงให้กรรมการเห็นว่า คุณกระตือรือร้นที่จะทราบผลการสัมภาษณ์ และอยากที่จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาว่าจ้างถัดไป

คุณอาจจะลองถามกรรมการว่า ยังมีผู้สมัครที่ยังรอการสัมภาษณ์ในตำแหน่งเดียวกันอีกหรือไม่ หรือหากคุณเป็นผู้สมัครคนสุดท้ายที่ถูกสัมภาษณ์ คุณควรถามว่า เมื่อไหร่ที่คุณจะทราบผลการสัมภาษณ์ หรือเมื่อไหร่ที่กรรมการจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสม การถามคำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณเตรียมตัว เตรียมใจ และทราบถึงระยะเวลาในการรอผลสัมภาษณ์

2. เมื่อไหร่ที่จะทราบผลการสัมภาษณ์

การตั้งคำถามปิดท้ายเช่นนี้ เป็นการช่วยให้กรรมการรู้สึกว่าคุณสนใจและรอคอยที่จะทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความพร้อม และการเตรียมตัวสำหรับกระบวนการถัดไปที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการย้ำเตือนกรรมการเกี่ยวกับวันเวลาในการตัดสินใจที่จะคัดเลือกผู้สมัครอีกด้วย

3. ยังมีอะไรที่อยากให้ฉันช่วยหรือทำอีกไหม

หากหัวข้อในการสัมภาษณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องรายละเอียดงาน การพูดปิดท้ายด้วยประโยคแบบนี้ ทำให้กรรมการรู้สึกว่าคุณกำลังให้คำมั่นสัญญากับทีมและต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของบริษัท นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณมีน้ำใจ กระตือรือร้น และพร้อมที่จะเรียนรู้ลักษณะงานในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้คุณได้คะแนนเพิ่มจากกรรมการ

4. คุณมีความกังวลใจ หรือมีข้อสงสัยอื่นใดหรือไม่

ระหว่างการสัมภาษณ์ คุณคงอยากจะรู้ว่ากรรมการมีความสงสัยหรือกังวลใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณหรือไม่ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความคลุมเครือซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการสัมภาษณ์ของคุณ การตั้งคำถามเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้ชี้แจงและอธิบายสิ่งต่างๆให้กรรมการได้ฟังในทันที ซึ่งจะทำให้กรรมการรู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ซื่อตรงและมีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น

5. ฉันมีคุณสมบัติและความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังมองหาบ้างหรือไม่

การถามคำถามเช่นนี้ ทำให้คุณทราบถึงทัศนคติและความคิดเห็นโดยรวมของกรรมการที่มีต่อตัวคุณ เพราะพวกเขาจะแสดงความสนอกสนใจและความพึงพอในประวัติการศึกษา ภูมิหลัง ทักษะความสามารถ และประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณ ผ่านการตอบคำถามนี้ และบางทีคุณอาจจะทราบแนวโน้มของผลการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ได้

6. ไม่ทราบว่า ใครเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน

หากคุณสอบถามถึงบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน จะทำให้กรรมการรู้สึกว่าคุณเป็นคนละเอียดรอบคอบ เพราะคุณสนใจเหตุผลที่บริษัทว่าจ้างคุณ นอกจากนี้ ขณะที่กรรมการกำลังอธิบายที่มาที่ไปของการสรรหาคัดเลือกครั้งนี้ คุณจะได้ทราบถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของตำแหน่งงาน บทบาทหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดชอบที่คุณต้องทำในบริษัทอีกด้วย

7. คุณคิดว่าวัฒนธรรมในองค์กรของคุณเป็นอย่างไร

คุณควรตั้งคำถามนี้ หากคุณต้องการทราบและทำความเข้าใจกับสิ่งที่บริษัทคาดหวังต่อพนักงานและตัวคุณ ในระหว่างที่กรรมการบรรยายถึงวัฒนธรรมของบริษัท คุณจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณาว่าตัวคุณเองมีคุณสมบัติที่ตรงและเหมาะสมกับตำแหน่งงาน และองค์กรหรือไม่ นอกจากนี้ คำถามดังกล่าวยังช่วยให้คุณมองเห็นภาพจำลองการเป็นพนักงานในบริษัท และเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคตของคุณอีกด้วย

8. ทักษะอะไรที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานนี้ และมันมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร

ทักษะเป็นเรื่องที่กรรมการสัมภาษณ์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าระหว่างการสัมภาษณ์กรรมการจะพยายามค้นหาทักษะที่จำเป็นในตัวผู้สมัครแต่ละคน พนักงานที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่แตกต่างกันจะมีทักษะต่างกัน เช่น นักบัญชีมีทักษะในการคิดคำนวณ และมีความละเอียดรอบคอบ เลขานุการมีทักษะในการจัดการและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

ดังนั้น การตั้งคำถามเช่นนี้ จะทำให้คุณสามารถประเมินตนเองได้ว่าตนเป็นคนที่ใช่และเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่ และหากคุณอยากได้คะแนนเพิ่มจากกรรมการ ให้คุณลองเล่าประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือทักษะดังกล่าว แล้วคุณก็จะกลายเป็นคนที่กรรมการตามหา หรือสามารถพิชิตใจกรรมการได้นั่นเอง

เชื่อว่า หากคุณนำ 8 ประโยคเหล่านี้ไปใช้ในการสัมภาษณ์งาน การหางานจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และคุณคงจะได้รับข่าวดีในไม่ช้า

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

Source: http://www.lifehack.org/285407/8-things-outstanding-interviewees-say-the-end-interview

 

4 วิถี สู่ความร่ำรวยที่แท้จริง

“ความรวย”  เป็นความใฝ่ฝันของผู้คนทั่วไป ซึ่งเริ่มจาก การได้ทำงานดีๆ มีเงินเดือนสูงๆ หรือมีธุรกิจของตนเอง จะได้มีเงินเยอะๆ เมื่อรวยแล้ว ชีวิตจะได้สบาย

แต่ว่า “คนรวยที่แท้จริง” ต้องมีเงินเท่าไหร่กัน ?

ในยุคปัจจุบัน “ความร่ำรวยที่แท้จริง” ไม่ได้วัดจาก “จำนวนเงินที่มี” แต่วัดจาก “อิสรภาพ” ที่ได้รับต่างหาก

ความรวย ที่คุณเข้าใจ “ยิ่งมีเงินมาก ก็จะยิ่งมีความสุขมาก” ใช่มั้ย ?

ในอดีต ความร่ำรวยอาจหมายถึง ผู้ที่ครอบครองเงิน หรือวัตถุที่มีค่าเป็นจำนวนมาก ความร่ำรวยของแต่ละคนวัดได้จาก การมีรถราคาแพงหรือไม่ มีบ้านหลังใหญ่แค่ไหน ได้ไปเที่ยวทริปหรูได้บ่อยเท่าใด การได้ครอบครองแบรนด์ชั้นนำและวัตถุหายาก มันสะท้อนถึงความร่ำรวยของคุณ แนวคิดแบบนี้ทำให้ผู้คนพยายาม ดิ้นรนไขว่คว้า สะสมครอบครอง เพื่อให้มีมากที่สุด

จนบางคนอาจไม่คำนึงถึง “วิธีการที่ได้มา”

มองเพียงแค่ “มูลค่าของสิ่งที่ครอบครอง”

แต่มันจะสร้างความสุขให้กับพวกเขาจริงๆหรือ ?

แน่นอนว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญและขาดไม่ได้ในโลกปัจจุบัน แต่หากลองพิจารณาดู เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการมีชีวิตรอดของคนกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อยเท่านั้น

ส่วนคนที่ “พอมีอันจะกิน” ซึ่งเป็นประชากรที่มีการศึกษา เงินถูกใช้เพื่อสร้างความสนุกสนาน ความสะดวกสบาย ที่อาจเกินความจำเป็น เช่น การแสดงความหรูหราเพื่อเข้าสังคมและเรียกร้องการยอมรับจากผู้อื่น ใช่หรือไม่

เปรียบเทียบให้ภาพเห็นตัวอย่างง่ายๆ หากในวัยเริ่มทำงาน คุณสามารถเก็บเงินจนซื้อรถคันแรกได้ นั่นย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับชีวิต เพราะคุณไม่ต้องไปยืนเบียดร้อนบนรถเมล์ ไม่ต้องดมควันกลางถนนบนมอเตอร์ไซด์ และสามารถขับรถของคุณเองไปได้ในทุกที่ๆต้องการ  ไปทำงาน ไปเจอเพื่อน ไปปาร์ตี้ยามค่ำคืนโดยไม่ต้องกลัวอันตราย แบบนี้ย่อมสร้างความสุขให้คุณอย่างมาก

เมื่อได้เลื่อนตำแหน่ง คุณจึงซื้อ รถคันที่ 2 ที่หรูกว่าเดิม ลองเปรียบเทียบความสุขตอนที่ได้รถคันใหม่นี้ เทียบกับตอนมีรถคันแรก อย่างไหนมีมากกว่ากัน

และหากซื้อ รถคันที่ 3 ตอนมีลูก ก็คงแทบไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรแล้ว

รถคันที่ 4 ที่ซื้อมา คงต้องเริ่มคิดว่าจะหาที่จอดที่ไหน

ส่วนรถคันที่ 5  อาจทำให้ต้องจ้างคนมาล้างรถเพิ่มอีกคน

 

ลองพิจารณาว่าที่ผ่านมา คุณมีที่สิ่งที่ซื้อมาได้ใช้เพียงแค่หนเดียวแล้วก็เก็บ มากแค่ไหน ?

คุณมีสิ่งที่ซื้อมาเป็นปีแล้ว ยังไม่เคยแกะห่อออกมาใช้เลย บ้างหรือไม่ ?

คุณได้ออกไปหาซื้อของ แล้วมาพบทีหลังว่าคุณมีสิ่งนั้นอยู่แล้ว บ่อยแค่ไหน ?

คุณต้องทิ้งของกินดีๆที่หมดอายุ เพราะคุณซื้อไว้แล้วหลงลืมหรือกินไม่หมด ไปเยอะมั้ย ?

ทุกครั้งที่ซื้อของชิ้นใหม่ คุณมีความสุขอยู่กับมันได้นานเพียงใด ?

หากทุกคนใช้ชีวิตแบบนี้ ยิ่งผลิตมากทรัพยากรธรรมชาติจะยิ่งร่อยหรอ สิ่งของจะกองทับถม มลพิษจะเกินควบคุม ขยะจะล้นโลกดังนั้นการมีสิ่งของมากๆก็อาจลดความสุขของเราไปได้

จะเห็นได้ว่า หากเราอยู่ในกลุ่มคนที่พอมีอันจะกิน เงินและสิ่งของที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ปัจจัยที่จะ “เพิ่มความสุข” ได้มากเท่าไหร่เลย

แล้วความสุขจริงๆอยู่ที่ไหนล่ะ

 


ความร่ำรวยที่แท้จริง “4 วิถี สู่อิสรภาพ”

คงถึงเวลาทบทวนแล้วว่า โลกนี้กำลังต้องการแนวคิดของ “ความร่ำรวย” ในรูปแบบใหม่หรือเปล่า คนที่มี “ความร่ำรวยที่แท้จริง” อาจดูได้จาก 4 วิถีการใช้ชีวิต ดังนี้

 

1. ความร่ำรวย ทางอารมณ์

คนรวยที่แท้จริง คือคนที่ “ไร้ความกังวลในเรื่องเงิน” เขาสามารถควบคุมอารมณ์ภายในให้สดใสเบิกบานได้ การที่เขามีอารมณ์ดีเป็นประจำ ก็จะทำให้พบแต่ประสบการณ์ดีๆในชีวิต

ไม่จำเป็นต้องรวยร้อยล้านพันล้าน ถึงจะปราศจากความกังวลในเรื่องเงิน ขอเพียงรู้จักบริหารเงินให้มีเหลือใช้ในทุกเดือน ไม่ยึดติดกับวัตถุภายนอกที่อาจสูญเสียไปเมื่อไหร่ก็ได้ รู้จักพึ่งพาตัวเองมากกว่าพึ่งพาคนอื่น

เมื่อมี “ความร่ำรวยทางอารมณ์” ก็จะไม่ขี้กลัว ไม่หงุดหงิดจิตตก ไม่ห่อเหี่ยวนานๆ จะมีความชัดเจนในชีวิต มีแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ มีพลังข้างในที่ผลักดันในตัวเองอยู่เสมอ และมีประสิทธิภาพในการทำงานให้สำเร็จได้อย่างสูง

 

2. ความร่ำรวย ด้านเวลา

เวลาคือสิ่งที่มี “ราคา” มากที่สุด เพราะชีวิตมีวันหมดอายุ จึงไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับเวลาที่หมดไปแต่ละปีๆ หากเราไม่ใช้ชีวิตที่เราเลือก เราก็กำลังผลาญเวลาในชีวิตของตัวเองลงไปเปล่าๆ

คนที่ร่ำรวยอย่างแท้จริง สามารถเลือกวิถีชีวิตที่สามารถเป็นผู้กำหนดตารางเวลาของตัวเองได้ ว่าจะตื่นกี่โมง ทำงานกี่โมง พักผ่อนเมื่อไหร่

ไม่ต้องให้คนอื่นเป็นผู้กำหนด ไม่ต้องตื่นเช้าฝ่ารถติดบนถนน ไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนเพื่อไปพักผ่อนในวันหยุดยาว

เมื่อมี “ความร่ำรวยด้านเวลา” ทำให้เค้าใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นได้มากที่สุด

 

3. ความร่ำรวย ไม่จำกัดด้วยสถานที่

คนรวยที่แท้จริง สามารถจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ได้ หรือเดินทางเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ ไม่จำเป็นจะต้องมีเงินมากมายที่จะใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว แต่เป็นเพราะพวกเค้ามีเวลา มีพลังเหลือเฟือ จึงสามารถเลือกที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆได้

พวกเค้าเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองอย่างแท้จริง จึงสามารถทำงาน ใช้ชีวิตและพักผ่อนได้ทุกที่ และทุกเวลา

เมื่อมี “ความร่ำรวย ที่ไม่จำกัดด้วยสถานที่” ทำให้เค้าได้รู้จักออกไปใช้ชีวิต พบปะผู้คน ไม่ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ได้มีโอกาสพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันหลากหลายในโลก เป็นอิสรภาพที่เค้ากำหนดได้ด้วยตัวเอง

 

4. ความร่ำรวย ในการให้

สุดยอดตัวชี้วัดของการเป็นคนรวยที่แท้จริงคือ “ความสามารถในการให้และแบ่งปัน” ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลา ให้แรงงาน ให้เงิน หรือแบ่งปันความสุขที่มีแผ่กระจายไปสู่ผู้คนรอบๆตัว คนที่มั่งคั่งนั้นเป็นผู้เหลือเฟือที่จะให้ ไม่จำเป็นว่าเค้าต้องมีเงินมากมาย เพียงแต่ว่ามันมากพอที่จะแบ่งปันออกไปได้ แม้บางคนมีมากมายก็ยังไม่สามารถให้คนอื่นรได้ เพราะลึกๆแล้วในจิตใจ เค้ายังรู้สึกว่ามีไม่พอนั่นเอง

เมื่อมีความมั่งคั่งในการให้ ย่อมจะเติมเต็มคุณค่าและความหมายในชีวิต เค้าจะรู้สึกได้ถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้วัดจากจำนวนเงินที่มีหรือมูลค่าสิ่งของที่ครอบครองอย่างใดเลย

 

คนที่ร่ำรวยไม่ว่าจะมีเงินกี่ร้อยล้านพันล้าน ทั้งชีวิตของเขา อาจเข้าไม่ถึงความรู้สึกมั่งคั่งร่ำรวยเลยก็เป็นได้

เพราะความร่ำรวยที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย ก็สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตทั้ง 4 มิตินี้ได้

เพียงแต่ต้องอาศัยการรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้

มีไลฟ์สไตล์ที่พอเพียง

มีทักษะที่หลากหลาย

และมีความกล้าคิด กล้าทำ นอกกรอบ

สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณเข้าถึงคำว่า “ความร่ำรวยที่แท้จริง”

และมันจะนำพามาซึ่งความสุข และความร่ำรวยเงินทองไปพร้อมๆกัน อย่างที่คุณนึกไม่ถึงทีเดียว

 แม้วันนี้เราอาจยังทำได้ไม่ครบทั้ง 4 ด้าน แต่ขอให้กำลังใจว่า

หากทำได้สักหนึ่งข้อ ส่วนที่เหลือจะทยอยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เพราะการเดินไปถูกทิศและไม่หลงทาง ไม่ช้าไม่นานเราจะถึงปลายทางได้อย่างแน่นอน

แนวคิดจากหนังสือ  The New Meaning of Rich: Four Principles of Wealth That Will Change Your Life by Evan Tarver

เรียบเรียงโดย เรือรบ

เคล็ดลับการทำงาน Office ให้มีความสุข

เคล็ดลับการทำงานออฟฟิตให้มีความสุข

เมื่อพูดถึงงานประจำ ส่วนใหญ่จะหมายถึง การทำงาน Office เกือบจะทั้งนั้น ซึ่งลักษณะงานเหล่านี้ ต้องนั่งโต๊ะทำงานที่อยู่ติดๆกัน มีแผนกต่างๆ นั่งรวมกันอยู่ และจะต้องพบเจอผู้คนมากมาย ที่มีนิสัยแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น แผนกขาเม้าท์ (จับกลุ่มนินทา) แผนกเฝ้าหน้าจอ (แอบดู YouTube) แผนกรอดูผล (ฟ้องหัวหน้า) หรือแผนกคนคอยเตือน (เก็บค่าแชร์) และอื่นๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนทำงาน Office จะต้องพบเจอมา ไม่มากก็น้อย

แล้วเรา จะบริหารจัดการการทำงาน การใช้ชีวิต เพื่อให้อยู่รอดในสถานที่แบบนี้ได้อย่างไร เราอาจต้องใช้ความสามารถขั้นสูงสุดเข้าสู้ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะแพ้ภัยตัวเอง ทำงานผ่านไปแต่ละวัน มีแต่ความทุกข์ ไม่พบเจอกับความสุขเลย จำเป็นต้องลาออก หางานใหม่ไปเรื่อยๆ เพียงเพราะ รับกับสภาพสังคมแบบนี้ไม่ได้ แล้วจะมีวิธีไหน ที่จะทำให้เราไม่ต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ได้บ้าง เราลองมาเรียนรู้ร่วมกันเลย

พูดให้น้อย ทำงานให้มาก

การทำงาน Office เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก และเมื่อเจอกันแล้ว ก็ต้องมีเรื่องที่นำมาพูดคุยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองทั้งสิ้น ยิ่งคุย ยิ่งไม่จบ มีเรื่องให้คุยกันได้ทั้งวัน ทำให้เราไม่มีเวลาทำงานที่ได้รับมอบหมายมาอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงกำหนดเวลาส่งงาน งานชิ้นนั้นก็เสียหาย เพราะทำแบบ ลวกๆ ไม่ตั้งใจ ผลงานก็ออกมาไม่ดี ส่งผลให้การประเมินผลงานของเรา ออกมาไม่ดีตามไปด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว ต้องฝึกพูดให้น้อยลง จะได้มีเวลาทำงานมากขึ้น ตัวงานที่รับผิดชอบ ก็จะได้ออกมามีคุณภาพมากที่สุด

ไม่จับกลุ่มนินทา

ร้อยทั้งร้อย เมื่อเห็นกลุ่มคนที่ทำงาน Office นั่งรวมตัวกัน จะต้องกำลังนินทาใครสักคนอยู่เป็นแน่ ซึ่งขอเตือนไว้เลยว่า อย่าทำแบบนี้เลย เพราะคุณต้องคิดเสมอว่า ถ้าคนอื่นโดน ตัวคุณก็มีสิทธิ์โดนเป็นรายต่อไป ไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครอยากโดนนินทาด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งถ้ามารู้ที่หลังว่ากลุ่มนั้นกำลังนินทาเรื่องเราอยู่ ก็อาจจะทำให้มองหนากันไม่ติดอีกเลย การทำงานก็จะมีปัญหาตามมา เพราะฉะนั้น ถ้าเจอวงนินทา รีบกันตัวเองออกมา เป็นดีที่สุดครับ

ไม่แบ่งฝักฝ่าย

ในที่ทำงาน อย่าก่อสงคราม โดยการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเลยครับ ไม่อย่างนั้น เราจะต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ก็คงต้องเสียเพื่อนอีกกลุ่มไป ถ้าคุณคิดได้แบบนี้แล้ว การทำงาน Office ก็จะเหมือนมีอิสระ ปราศจากข้อจำกัดใดๆ เพราะคุณสามารถเข้าไปคุยได้กับทุกฝ่าย ทุกแผนก และอาจจะทำให้คุณเป็นที่รักของทุกๆคนได้อีกด้วย เมื่อเวลาต้องการความช่วยเหลือ ก็จะมีแต่คนอยากหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คุณ เห็นถึงประโยชน์ ของการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีหรือยังครับ มีคนรัก ดีกว่ามีคนเกลียดนะครับ

อ่อนน้อมกับผู้ใหญ่

บางคนอาจจะมองว่า แค่ทำงานเก่งอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว มองที่คุณภาพงานอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องอ่อนน้อมให้ใคร แต่อย่าลืมนะครับ สังคมไทยเรา การเคารพผู้ใหญ่ ยังเป็นธรรมเนียมที่นับถือกันอยู่ คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบสูงๆและจบจากต่างประเทศ อาจจะนึกว่าตัวเองเก่งอยู่แล้ว พอมาทำงาน Office เลยไม่สนใจใคร ทำแต่ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี คิดว่าถูก จนบางครั้งข้ามหัวผู้ใหญ่ในที่ทำงาน ไปเลยก็ยังมี เคยได้ยินคำกล่าวนี้มั้ยครับ “ถ้าอยากไปเร็ว ให้ไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปไกล ให้ไปเป็นทีม” ดังนั้นมารยาทในสังคมไทยเรา การอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าเค้าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้องเราก็ตาม ควรที่เราจะให้เกียรติเค้ามากๆ แล้วเราจะเรียนรู้จากเค้าได้มากเลยทีเดียว

ไม่เสี่ยง ในเรื่องเงิน

เรื่องเงิน ไม่เข้าใครออกใคร ทำให้เสียเพื่อนกันมานักต่อนักแล้ว ถ้าคุณมีเพื่อนที่ทำงาน Office เดียวกัน มาขอยืมเงิน ไม่จำเป็น อย่าให้ยืมเด็ดขาดนะครับ ให้ปฏิเสธไปเลย บอกว่าคุณก็จำเป็นต้องใช้ เพราะถ้าให้ยืมไปแล้ว คุณจะทำงานแบบไม่มีความสุขอีกเลย ถ้ายืมแล้วคืน ตามที่ตกลงกันไว้ ก็ถือว่าโชคดีไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ค่อยได้คืน หรือกว่าจะทวงคืนได้มา ก็เลือดตาแทบกระเด็น กลายเป็นเรารู้สึกผิดไปอีกทีทวง และหลังจากนั้น อาจจะมองหน้ากันไม่ติดไปเลยก็มี

นอกจากเรื่องยืมเงินแล้ว ก็เรื่องการเบิกเงินหรือจ่ายเงินทั้งหมด ควรจะต้องตรวจสอบให้รอบคอบและมีหลักฐานในการรับเงินจ่ายเงินทุกครั้ง อย่าได้ไว้ใจเพราะเห็นว่าสนิทกัน เพราะถ้าเกิดผิดพลาดไป ต้องถูกตรวจสอบทีหลัง จะโทษใครก็ไม่ได้ ต้องโทษตัวเองคนเดียว แล้วก็ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินที่ไม่สมควรเสียด้วยนะครับ

ไม่เหยียบหัวคนอื่น

ข้อนี้สำคัญมาก อย่าทำให้งานคนอื่นแย่ลง เพียงเพราะจะทำให้งานเราดูดีขึ้น สังคมคนทำงาน Office มีเรื่องแบบนี้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ ถ้าใครผิดพลาดแล้ว เตรียมรอโดนซ้ำได้เลย ซึ่งถ้าเราจะได้ดีแล้ว ให้ดึงเพื่อนรอบๆตัวเรา ให้ได้ดีตามเราไปด้วยจะดีกว่าครับ เพราะชีวิตเรา ไม่ได้มีแต่เรื่องงานนะครับ เลิกงานแล้ว ก็ยังต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก สร้างมิตรที่ดีไว้ ดีกว่าครับ

แม้ว่าบางที การทำงาน Office อาจเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน แต่ก็เป็นการแข่งขันไปในทางที่ดี คงไม่ถึงขนาดว่าเป็นสังคมแห่งการเอารัดเอาเปรียบ ขอเพียงเราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และเคารพให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน เหมือนที่อยากให้เค้าทำกับเรา หากมีใครมาทำอะไรกระทบกระทั่งเราบ้าง พยายามมองข้าม หรือทำทุกอย่าง ให้เป็นเรื่องตลก หรือขำๆไป เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขที่สุดแล้วครับ

บทความโดย Learning Hub Thailand

3 เคล็ดวิชา สะสมความเก๋า สำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่

ในยุคนี้ กระแสของการเป็น Freelance หรือการทำงานอิสระ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ไฟแรงเมื่อเรียนจบมา มักอยากเป็นนายตนเอง อยากเป็นเจ้าของธุรกิจโดยเร็ว เพราะเห็นว่างานไม่ประจำทำเงินกว่า พอเห็นเทรนด์อะไรน่าทำก็กระโจนเข้าใส่ตามๆกัน เพราะคิดว่าเรียนมาเยอะ ความรู้ระดับปริญญาคงเป็นอาวุธที่ดีได้ แต่หากทำไปด้วยความคิดว่าจะได้อย่างเดียว ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินเก็บของตัวเองทั้งหมดใน 3-5 ปีแรก

เมื่ออาวุธเดิมที่มีใช้ไม่ได้ผล จึงเกิดกระแสที่สอง คือ การเข้าสัมมนาฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ทันสมัยต่อยอด และอาจได้แถมเคล็ดลับดีๆมาช่วยเร่งผลลัพธ์ให้ความสำเร็จนั้นง่ายขึ้น จึงเกิดการตื่นตัวเห็นคนรุ่นใหม่นิยมไปเข้าสัมมนาอบรม บางคนก็หมดเงินไปมากมาย แลกกับสิ่งที่ได้มาคือความรู้ที่ท่วมท้นไปหมด แต่กลับไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ในชีวิตได้อย่างที่ต้องการ  นั่นเป็นเพราะอะไร ?

learning pyramid

เครดิตภาพจาก https://dribbble.com/shots/1442129-Learning-Pyramid-Infographic

 

จากภาพ “ปิรามิดแห่งการเรียนรู้” ทำให้เห็นว่าการเรียนในห้องเรียน จะไม่สามารถทำให้ความรู้ถูกจดจำหรือคงอยู่ได้นาน ไม่ว่าจะเป็นการฟังบรรยาย การอ่าน การดูคลิป ดูการสาธิต เพราะการเรียนรู้เหล่านั้นเป็นเพียง “ความรู้มือสอง” เท่านั้น

ในชีวิตจริง ความรู้กว่า 90% ที่เรียนมา อาจจะไม่ถูกนำไปใช้เลย ไม่นานเราจึงลืมไปหมด จากแผนภาพนี้ เมื่อได้เรียนอะไรมาก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำคือ การนำไปฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง และนำไปสอนผู้อื่นต่อ เพื่อให้ความรู้นั้นฝังลงไปในตัวเราอย่างแท้จริง

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องการ เพื่อที่จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตก็คือ “ทักษะ” ซึ่งจะเป็น “ความรู้มือหนึ่ง” ที่มาจากตัวเรานั่นเอง

คำถามต่อมา ในบรรดาความรู้และทักษะอันมากมาย อะไรคือทักษะสำคัญ ที่เราต้องการในการทำงานและทำธุรกิจ ?

 

“ความเก๋า” คือ ทักษะขั้นเทพ ที่จะสร้างความสำเร็จให้กับการงานและธุรกิจ

แม้เราจะฉลาดแค่ไหน มีความรู้ระดับอัจฉริยะ กวาดปริญญามาไม่ว่ากี่ใบ ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต เพราะความรู้ในระบบการศึกษา อาจให้ในเรื่องของ เทคนิค วิธีการในการทำงาน แต่สิ่งที่ไม่มีโรงเรียนใดที่สอนได้คือ “ความเก๋า”

“ความเก๋า” นั้นมาจากประสบการณ์เชิงลึก เป็นองค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดและสั่งสมมาอย่างยาวนาน เฉพาะคนที่คร่ำหวอดในวงการทำงานนั้นๆเท่านั้น ที่เรียกว่า Tacit Knowledge หรือความรู้ฝังลึก และคงจะไม่สามารถถ่ายทอดออกเป็นเสต็ปขั้นตอนได้ง่ายๆ หรือเล่าให้ใครฟังได้ในวันสองวัน

ในฐานะมือใหม่ เราควรที่จะเรียนรู้กับ “คนเก๋า” ที่เป็นนักปฏิบัติจริงด้วย ไม่ใช่เชื่อถือแต่ “นักคิด” หรือคนที่มีหลักการดีทางทฤษฎีอย่างเดียว

คนที่เก๋าไม่ใช่คนอัจริยะ ไม่ใช่ว่าผิดไม่เป็น แต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจผิดพลาด แม้จะถึงขั้นต้องล้มลงไป ด้วยเวลาเพียงไม่นาน กลับมายืนหยัดได้ใหม่เสมอ และเค้าพร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะไม่ผิดซ้ำสอง และการยืนขึ้นมาครั้งใหม่ก็จะแกร่งกว่าเดิม เป็นเพราะเค้าไม่ยึดติดกับแบบแผนเดิมๆ แต่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวมากกว่า ดังนั้น “คนเก่าแก่” ก็อาจไม่ใช่คนเก๋าเสมอไป จากนิยามนี้

อาจเป็นการยากสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่จะสะสมประสบการณ์และความเก๋าด้วยเวลาอันสั้น แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับใครก็ตาม ที่อยากจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในธุรกิจหรืองานที่ตนเองสนใจ

ก่อนจะออกท่องยุทธภพ ลองใช้  3 เคล็ดวิชาต่อไปนี้เพื่อ “สะสมความเก๋า” ด้วยความรวดเร็ว มันอาจย่นย่อระยะเวลาการเรียนรู้ ลดความผิดพลาด และป้องกันความล้มเหลวและความสูญเสียสำหรับมือใหม่ได้เป็นอย่างดี

1. หาโอกาส ไม่ใช่หางาน

สำหรับคนที่กำลังอยู่ในวัยค้นหาตนเอง อย่าเพิ่งไปตกหลุมกับงานที่ให้รายได้ดีๆ ให้ลองตรวจสอบความรักและความถนัดของตัวเองก่อน เมื่อเรารู้ว่าเราอยากทำงานอะไรในชีวิตข้างหน้า แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ ไม่มีทุน แต่เมื่อเรามองหา เราจะมองเห็นโอกาสแน่นอน

หลายคนที่ทำอะไรตามกระแส เห็นเค้าทำแล้วรวย ก็อยากรวยบ้าง จะไม่สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของวงจรธุรกิจไปได้ เมื่อเลิกล้ม ก็คือความล้มเหลว

การที่เราเลือกทำสิ่งที่รักและถนัด จะทำให้เราอยู่กับงานนั้นได้นาน แม้ว่าอาจจะยังมองไม่เห็นความสำเร็จอันใกล้ เราก็จะไม่ท้อแท้หรือเลิกไปซะก่อน นั่นแหละจุดเริ่มแห่งความสำเร็จ

2. ถ้าหาโอกาสไม่ได้ ก็สร้างมันซะ

หลายๆครั้ง โอกาสก็ไม่ได้หาง่ายๆ แต่เราอาจจะ “สร้างโอกาส” ขึ้นได้ด้วยตัวเอง ลองเสนอตัว “ทำฟรี” ดูบ้าง ของฟรีใครก็ชอบ ปฏิเสธยากเพราะมีแต่ได้ไม่มีเสีย ดังนั้นหากเราเอาแรงและเอาเวลาบางส่วนเข้าแลก เราจะได้โอกาสนั้นโดยไม่ยาก

นักธุรกิจระดับโลกหลายคน เริ่มต้นชีวิตด้วยการเข้าไปของานค่าตัวถูกๆทำ เพื่อเรียนรู้กลยุทธ์ธุรกิจแบบอินไซด์จากมือเก๋า แล้วเขาก็จะขยันและตั้งใจทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถ เพื่อเรียนรู้ให้มากที่สุด

เมื่ออยู่ในธุรกิจนั้นแล้ว ถึงจะเริ่มมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อน ซึ่งก่อนนี้มองไม่เห็น แล้วจึงค่อยออกมาเริ่มธุรกิจของตนเอง ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว การที่เราเข้าไปสัมผัสธุรกิจนั้นจริงๆ ก็อาจจะบอกได้ว่า จริงๆแล้วเราไม่ได้ชอบ หรือไม่ได้สนใจมันจริงๆก็เป็นได้ แบบนี้ถ้าจะเลิกหรือถอยออกมาก็ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเรายังไม่ได้ลงทุนอะไรไป

อยากประสบความสำเร็จในธุรกิจอะไร อย่าเพียงวิเคราะห์จากภาพภายนอกที่เห็น แล้วรีบทุ่มเทเงินลงทุนกระโจนไปเพียงเพื่อลองทำ

แต่จงแอบเข้าไปทำก่อน เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และจากคนที่อยู่ในธุรกิจนั้นๆ นั่นจึงเป็นการสะสม “ความรู้มือหนึ่ง” อย่างแท้จริง

3.เรียนรู้จากยอดฝีมือเท่านั้น

ความเก๋าที่เราต้องการ คงไม่ใช่มาจากใครก็ได้ หากจะย่นย่อความสำเร็จ จาก 20 ปีให้เหลือสัก 5 ปี ดังนั้น จงใช้เวลาในการค้นหาอาจารย์ และต้องเลือกเฟ้นหายอดฝีมือในตำนานคนนั้นให้เจอ เมื่อเจอแล้วให้คิดอุทิศตัวสัก 3 ปี ไปฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิ สะสมเคล็ดวิชาความเก๋าระดับเทพเข้ามาไว้ในตนเอง

การที่เป็นศิษย์มีครู หากขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มักจะได้รับโอกาสดีๆจากครูเสมอ ทั้งคอนเนคชั่นและสายสัมพันธ์ที่อาจารย์ได้สั่งสมมา จะเป็นฐานต่อยอดงานของเราได้อย่างดี แล้วโอกาสใหญ่ๆ ก็จะเข้ามาโดยไม่คาดหมาย เผลอๆจะได้แจ้งเกิดเป็นเจ้าสำนักคนต่อไปโดยไม่ได้ตั้งตัว

อย่าคิดว่าการเรียนรู้ คือการอ่านหนังสือ หรือไปอบรมอย่างเดียว แต่การเข้าไปขลุกหรือคลุกคลีกับคนเก่งในธุรกิจ เราจะได้รับการถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ได้บอกไว้ในตำรา

จนกระทั่งเราได้ประสบการณ์ที่ตกผลึกมาเอง และนี่ต่างหากที่เรียกว่า “เคล็ดลับ” ที่แท้จริง

 บทความโดย เรือรบ 

ถอดรหัสสมอง 3 มิติ ของนักเขียนมือโปร

“ในการเขียนหนังสือสักเล่ม เทคนิควิธีการเป็นเพียง 5% เท่านั้น

ที่เหลืออีก 95% คือ ทักษะและกระบวนการคิด ที่เหมาะสมกับการเป็นนักเขียนต่างหาก” –เรือรบ

คำถามยอดฮิต เมื่อถามถึงการเริ่มต้นในการเขียนก็คือ จะต้องเรียนเทคนิคการเขียนจากที่ไหนและอย่างไร ?

หลายคนที่อยากเป็นนักเขียน เคยไปเรียนคอร์สสอนเทคนิคการเขียนมาหลายคอร์ส หมดเงินหมดเวลาไปก็เยอะ แต่ก็ยังเขียนออกมาไม่ได้  เขียนได้ก็ไม่นาน แรงบันดาลใจหมด ไอเดียตีบตัน กลัวผิด เกรงว่าจะทำไม่ได้ ไม่มั่นใจ แล้วก็ไปมองหาคอร์สที่จะสอนเทคนิคการเขียนดีๆต่อไป… จริงๆแล้วสิ่งที่เราขาดไปอาจไม่ใช่เทคนิค แต่เป็น “ทักษะและกระบวนการคิด”  ที่เราไม่สามารถคิดและเป็นได้อย่างนักเขียนนั่นเอง หากเราสามารถเข้าถึงกระบวนการคิด หรือ “ถอดรหัสสมอง ของนักเขียนมือโปร” ได้ เราก็จะสามารถผลิตงานเขียนออกมาอย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติในแบบของตัวเราได้อย่างแน่นอน “รหัสสมอง” หมายถึง กระบวนการทำงานทางความคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก่อนที่นักเขียนจะจรดปากกา หรือเริ่มพิมพ์บทความในบรรทัดแรก งานเขียนที่เราเห็นนั้น เป็นเพียงผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งสามารถถอดรหัสสมองของนักเขียน ให้ออกมาเป็นมิติทางรูปธรรมได้ 3 ด้านดังนี้

1. Input การรับข้อมูล

มิติในการนำเข้าข้อมูล เรียกง่ายๆก็คือ “การรับรู้” ของสมองเรา ซึ่งจะผ่านการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นเอง โดยการรับรู้นี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อ ทำให้เครื่องรับนั้น “ใสและแจ่มชัด” มากพอ ที่จะไม่บิดเบือนข้อมูลตรงหน้าไป สามารถเห็นถึง แง่มุมความละเอียดลึกซึ้งกับสิ่งต่างๆตรงหน้าได้ การรับรู้ที่แจ่มชัด จำเป็นจะต้องมีครบทุกมิติ “มิติทางกายภาพ” อันได้แก่ รูป แสง สี เสียง “มิติทางใจ” อันได้แก่ ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องเมื่อได้รับรู้สิ่งๆนั้น ทักษะที่สำคัญในการรับข้อมูล คือ ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ทักษะการสังเกต (Observation) และทักษะการรับรู้ด้วยใจ (Heart Receptor)

2. Process การประมวลผล

การประมวลผลก็คือ “การทำงานของสมอง” นั่นเอง ในขั้นนี้ เราจะได้กลับมามองเห็นวิธีการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งแบ่งเป็น สมองซีกซ้ายและซีกขวา ทำอย่างไรจะให้การทำงานของสมองทั้งสองซีกนั้น ประสานกันได้อย่างลงตัว มีกระบวนการคิดที่ “ทั้งลึกและกว้าง” ไปพร้อมๆกัน เราควรฝึกสร้างสมดุลของสมอง 2 ซีก ฝึกทักษะที่จะนำพากระบวนการคิดของเรา ให้เฉียบคมเป็นตรรกะขั้นตอน ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอารมณ์ สีสัน และสะท้อนแง่มุมของความงดงามในชีวิตด้วย ความสมดุล เป็นสิ่งสำคัญ หากเราใส่ความรู้ จากสมองซีกซ้ายมากเกินไป บทความของเราก็จะแห้งแล้ง น่าเบื่อ ไม่น่าติดตาม แต่หากเราใส่อารมรณ์ความรู้สึก จากสมองซีกขวามากเกินไป บทความของเราก็จะเยิ่นเย้อ ยืดย้วย เพ้อฝันจนจับต้องไม่ได้

นอกจากสมองที่ใช้คิดแล้ว เรายังสามารถมีตัวช่วยอีกอย่าง ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “จิตใต้สำนึก” ซึ่งจะเก็บความทรงจำและศักยภาพที่ซ่อนเร้น ที่เราไม่รู้ไว้ภายใน จำนวนมาก คิดเป็น 95% ของสิ่งที่เรายังไม่เคยค้นพบในตัวเอง

มิติจากจิตใต้สำนึกนั้น ไม่ใช่มิติที่ลี้ลับแต่อย่างใด นักเขียนมืออาชีพ รู้วิธีที่จะสร้างปรากฏการณ์ “ปิ๊งแว้บ” สร้างช่องว่างให้ ชั่วขณะแห่งปัญญาญาณ เผยตัวออกมา

 3. Output การถ่ายทอด

การฝึกฝนในเรื่องการถ่ายทอดนี้ จะเน้นการเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของเรา ซึ่งมีแบบแผนและสไตล์งานเขียน ที่เป็นเอกลักษณ์ เปรียบเหมือนเป็น “Signature หรือลายเซ็นเฉพาะ” ของตัวเรา หากเราสามารถรู้จักและเข้าใจแบบแผนภายในของตัวเอง รู้สไตล์การเขียน 4 แบบที่แตกต่างกัน เราจะสามารถพัฒนาสไตล์งานเขียน ที่เหมาะสมกับตัวเองและรู้ถึงประเภทงานเขียนที่เราถนัดได้ มิติของการถ่ายทอด มีความสำคัญมากไปกว่าการคำนึงแค่ว่า จะเขียนอย่างไรให้ดูดี น่าอ่าน มีภาษาสละสลวย แต่เป็นการมองถึง “คุณค่า” ของงานเขียนของเรา ว่าเราจะถ่ายทอดมันออกมา แล้วสร้างประโยชน์ให้ผู้คนได้ในระดับใด “คุณค่าที่คนอ่านได้รับ” จะเป็นตัววัดระดับว่า งานเขียนของคุณนั้น เป็นระดับทั่วไป งานเขียนชั้นดี หรือว่างานเขียนชั้นเลิศกันแน่


หากเราฝึกฝนตัวเองด้วยฝึกตามรหัสสมองของนักเขียนทั้ง 3 ประการนี้ จะทำให้เกิดการจุดประกายแห่งแรงบันดาลใจ สามารถเขียนออกมาได้ไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติ และมีศิลปะในการใช้สไตล์การเขียนให้น่าประทับใจไม่รู้ลืม ซึ่งจะยกระดับงานของเราไปอีกขั้นอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน เพียงเท่านี้เราก็พร้อมแล้ว ที่จะผลิตงานเขียนชั้นเลิศเพื่อสร้างตำนานของตนเอง

28-29 พ.ค.นี้  “Intuitive Writing: ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวคุณ”  โดย เรือรบ 

หลักสูตร 2 วัน ที่จะไม่สอนเทคนิคการเขียน แต่จะสร้างทักษะและปรับกระบวนการคิดให้เราเป็นนักเขียนได้ นำพาศักยภาพเบื้องลึกของจิตใต้สำนึกออกมาใช้ในการเขียน ฝึกทักษะการสะท้อนความคิด (Self-Reflection) การใคร่ครวญตกผลึกความคิด (Self-Realization) ตลอดจนการสร้างพื้นที่ว่างภายใน เพื่อปลดปล่อยให้ปัญญาญาณ (Intuition) และแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่แฝงอยู่ ได้เผยออกมาอย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ (Flow)  รายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่

ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหาร ยุค AEC

ในปัจจุบัน “ปัญหาเรื่องคน” คือปัญหาใหญ่ในองค์กร จริงหรือไม่?

เข้าสู่ยุค AEC ระบบสังคมมีความซับซ้อน ผู้คนนั้นก็มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ทำให้การฟังของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา

ต่อไปนี้เป็น 5 ปัญหายอดฮิตในการทำงาน คุณเจอบ้างหรือเปล่า ?

  1. ความเร่งรีบในการสื่อสาร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดบ่อย
  2. อยากจะคุยด้วย แต่อีกฝ่ายไม่ค่อยพูด ไม่ยอมเสนอความเห็น
  3. ลูกน้องพยักหน้าเข้าใจ แต่พองานออกมา ไม่เหมือนที่สั่งไปเลย
  4. วิธีการสื่อสารในแบบเรา คนนึงรับได้ แต่กับบางคนรับไม่ได้ เอาใจไม่ถูก
  5. ปัญหาการลาออกส่วนใหญ่ เป็นเพราะมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน

เพราะเหตุใด จึงเกิดปัญหาเหล่านี้ ?

เราจะพบว่ามีผู้บริหารอยู่ 2 ประเภทในองค์กร ที่ใช้หลักการบริหารที่ต่างกัน

การบริหาร ด้วย “ความกลัว”

โดยมากมักจะเกิดกับผู้บริหารแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Stlye) ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต เขาจึงคิดว่าลูกน้องซึ่งเด็กกว่าและอ่อนประสบการณ์กว่า ควรจะเป็นฝ่ายเชื่อฟังและทำตาม โดยที่ไม่รู้ตัว เขามักจะใช้หลัก “6 บ.” ในการบริหารงาน นั่นคือ

บี้ ชอบสั่งการแบบขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ
ใบ้ ไม่ค่อยสอนงาน เห็นอะไรดีไม่เคยชม
เบลม ชอบตำหนิต่อว่า เห็นอะไรก็ผิดไปหมด
โบ้ย หากถ้าตัวเองทำผิด หรือตัดสินใจพลาด ก็อ้างว่าเป็นเพราะคนอื่น
เบิ้ล ถ้าลูกน้องทำผิดมา จะถูกซ้ำเติม หรือลงโทษทันที
บล็อก เขาไม่อยากเห็นใครทำตัวโดดเด่น และไม่ค่อยฟังความเห็นใคร

ผลลัพธ์จากการบริหาร ด้วยความกลัว

พนักงานจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะซุกไว้ด้วยกลัวความผิด อาจทำให้ปัญหาเล็กน้อยก็ลุกลามไปจนยากที่จะแก้ไข คนที่ไม่อยากถูกตำหนิ ก็คอยระวังตัวแจ จนไม่กล้าทำอะไร เห็นสิ่งที่ไม่เวิร์คก็จะเฉยชา องค์กรจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่มีความผูกพันกันในองค์กร ใครทนได้ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป

เพื่อหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรม 6 บ.” ซึ่งจะเป็นวงจรขาลงของการทำงานและส่งให้เกิดผลเสียมากมาย  จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรที่จะเรียนรู้  “ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”  และนำไปปรับใช้ในการทำงาน


การสื่อสารด้วย “ความรัก”

ผู้บริหารยุค AEC จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องคน ประสานงานให้เกิดการสื่อสารที่ลื่นไหลในองค์กรได้ “ความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “เจ้านาย หรือ Boss” ที่เอาแต่สั่งการและตำหนิ ไปเป็น “ผู้หล่อเลี้ยง หรือ Mentor” ที่จะคอยรับฟังและให้การสนับสนุน

ทักษะการสื่อสาร ของผู้บริหารยุคใหม่ ได้แก่

1.การฟังเสียงภายในตนเอง (Inner Listening)

การที่จะรักผู้อื่นได้ ต้องเริ่มด้วยการรู้จัก เข้าใจและยอมรับในตนเองให้ได้ก่อน ดังนั้น ทักษะการฟังเสียงภายในตนเอง จะทำให้ผู้นำคนนั้น เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างถ่องแท้ แล้วจะนำไปสู่ความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นจะทำให้เขาสามารถมอบความรักและความเห็นอกเห็นใจ ให้กับผู้คนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

2.การฟังเพื่อผลลัพธ์ (Active Listening)

การฟังเพื่อผลลัพธ์ เป็นทักษะที่ช่วยประหยัดเวลาในการฟังได้ อีกทั้งมีประสิทธิภาพอย่างสูง สามารถเก็บประเด็นได้ครบ และช่วยให้อีกฝ่ายได้แก้ปัญหาของตนเองด้วย

ซึ่งการจะฟังแบบนี้ต้องมีทักษะในการตั้งคำถามต่อยอด การสะท้อนอารมณ์ การทวนความ และการจับประเด็น เพื่อให้ผู้พูดรู้ว่า ผู้บริหารกำลังใส่ใจและรับฟัง อีกทั้งช่วยสนับสนุนให้เค้าแก้ปัญหาและหาทางออกด้วยตนเอง โดยไม่ชี้นำและสั่งการ

3.การสื่อสารด้วยใจกรุณา (Compassionate Communication)

ผู้บริหารยุค AEC ควรมีความมั่นคงในใจและเปิดเผย จะสามารถพูดจากความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริง ออกมาจากใจอย่างตรงๆซื่อๆได้ โดยไม่ปิดบัง ไม่ต้องใช้กลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อมหว่านล้อมใดๆ การพูดแบบปากไม่ตรงกับใจ การพูดเป็นปริศนาที่ต้องทิ้งให้ผู้ฟังตีความเอง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียเวลา

ผู้นำที่ดี มีสติตระหนักรู้ว่า คำพูดที่ตรงไปตรงมาของเขา จะไม่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เขาจะเลือกใช้คำพูดที่รับผิดชอบในความรู้สึกของตัวเองและไม่กล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย

แทนที่จะพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “คุณเอ ทำไมงานที่สั่งไปทำไม่เสร็จ รู้ไหมว่าทำงานล่าช้าแบบนี้บริษัทเสียหาย คุณจะว่ายังไง”

ผู้นำจะเลือกใช้คำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกและความต้องการแทน “คุณเอ ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกเครียด เพราะงานที่เราต้องส่งลูกค้าไม่เสร็จตามกำหนด ผมต้องการรักษาเครดิตของบริษัท เราควรทำยังไงดี มีอะไรให้ผมช่วยเหลือบ้างมั้ย”

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วย “ความรัก”

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการทำงาน เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานไปด้วยนานๆ อยากเห็นองค์กรเจริญเติบโต มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คอยระวังความผิดพลาดและจุดบกพร่องรั่วไหล มีความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งดีๆให้แก่องค์กรโดยไม่ต้องสั่ง และจะสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความรัก” แบบนี้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป


ผู้นำในยุค AEC นอกจากจะมีทักษะในด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว จึงต้องมีทักษะในด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศ

โดยเฉพาะ “ทักษะการสื่อสารและการฟัง” (Communication & Listening Skill) ถือเป็นทักษะหลักที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องให้ความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงจะสร้างแรงบันดาลใจและปลุกศักยภาพในผู้คน และนำพาองค์กรฟันฝ่าความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของกระแสธุรกิจในอนาคตได้ต่อไป

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

ขอแนะนำ หลักสูตร “ ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค AEC” โดย “เรือรบ”   

เน้น Workshop เพื่อฝึกทักษะการฟังและสื่อสารขั้นสูง และเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำ ให้สามารถนำไปใช้ได้ทันที

9 ก.ค. นี้ หลักสูตร 1 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป คลิกที่นี่

หลักสูตร In House 2 วัน สำหรับองค์กร คลิกที่นี่

ไดอะล็อคในองค์กร (1)

ในตอนนี้ เราจะมาดูรูปแบบในการทำไดอะล็อคในหน่วยงานหรือองค์กร ไว้ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลองนำไปใช้

เพื่อให้พอเห็นภาพจะบรรยายไปตามลำดับเหตุการณ์ พึงระลึกไว้ว่า การนำไปฝึกฝนและปฏิบัติเท่านั้น จึงจะทำให้เราสัมผัสไดอะล็อคได้อย่างแท้จริง แม้การอ่านอย่างตั้งใจ และมีความเข้าใจในทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็เป็นเพียง 10% ของประสบการณ์จริงเท่านั้น

การจัดสถานที่ ควรเลือกให้อยู่ในพื้นที่สงบปราศจากเสียงรบกวนและมีความสบายเพียงพอ โดยมากหากจะได้ผล จะจัดให้นั่งล้อมกันเป็นวงกลม โดยไม่มีโต๊ะหรือสิ่งขวางกั้นอยู่กลางวง หากเป็นไปได้ให้นั่งกับพื้นหรือบนเบาะรองนั่งเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียม โดยที่ไม่มีประธานของกลุ่ม

เพื่อความสะดวกสำหรับผู้เริ่มใหม่ อาจตั้งผู้มีประสบการณ์ในการทำไดอะล็อคคอยเป็นผู้อำนวยวงหรือเรียกสั้นๆว่า “ฟา (Facilitator) ” เพื่ออธิบาย คอยดูแลกติกาของกลุ่ม และจับประเด็นในการพูดคุย สมาชิกในการพูดคุยอาจเริ่มจาก 4-5 คน ไปจนถึง 20 คน

ระยะเวลาที่ใช้ ควรมีเวลาอย่างต่ำราว 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของกลุ่ม

โดยมากชั่วโมงแรกบรรยากาศจะยังอึดอัดและไม่คุ้นชิน (Stress) การสนทนาในวงจะเริ่มเลื่อนไหล (Flow) ในชั่วโมงที่สอง เมื่อเข้าสู่ชั่วโมงที่สาม จะเกิดการใคร่ครวญภายในตน และเริ่มดำดิ่งลงลึกในการค้นหาคำตอบของตัวเอง (Deep Inquiry) และโดยมากจะรู้สึกอิ่มเอมและผ่อนคลาย (Relax) ในตอนจบ โดยไม่จำเป็นต้องตกตะกอนความคิดได้ในทุกครั้งที่ทำ

การเปิดวงไดอะล็อค รอบแรกนิยมเริ่มด้วยการเช็คอิน (Check in)

นั่นคือการพูดแสดงความรู้สึกสดๆในขณะนั้นทีละคน เพื่อเป็นการให้กลับมาสัมผัส รับรู้และมีสติอยู่กับปัจจุบัน อาจพูดถึงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นกังวลในขณะนั้นก็ได้ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสามารถละวางเรื่องราวภาระหน้าที่ต่างๆไว้นอกวงได้ชั่วคราว ให้รู้สึกว่าตนได้วางตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิวัยวุฒิ ยศฐาหรือฐานะลงไว้ก่อน รู้สึกเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมวง รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยในรอบต่อไป

รอบที่สอง พูดตามใจโดยไม่มีหัวข้อ หรือ Free Talk

หลังจากเช็คอินครบทุกคนแล้ว ให้เริ่มผลัดกันพูดทีละคน โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ใครจะสมัครใจพูดก่อนก็ได้ รอให้คนหนึ่งพูดจบก่อน แล้วอาจยกมือพอให้เป็นสัญญาณว่าเราขอเป็นคนพูดต่อไป โดยอยากจะพูดหัวข้อใดก็ได้ตามใจ ไม่จำเป็นต้องพูดหัวข้อเดียวกัน อยากจะเปลี่ยนหัวข้อ ข้ามหัวข้อ เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะความตั้งใจในการคุย เราไม่ได้มาฝึกพูด แต่เรามาฝึกที่จะ “ฟัง”

ใครไม่พร้อมก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนที่เหลือก็เป็นผู้ฟังที่ดี ระหว่างที่ฟังนั้น ให้สังเกตอารมณ์ความรู้สึกภายในใจของตน สังเกตสิ่งที่ได้ยินและสิ่งที่เราตีความ การตัดสินถูกผิด ความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย

ยิ่งเราอึดอัดขัดข้อง อยากพูดค้านมากเท่าใด แสดงว่าเราสามารถจับการตัดสินของตนเองได้แล้ว ให้โอกาสตนเองได้ห้อยแขวนคำตัดสินนั้นไว้ก่อน แล้วฟังต่อจนจบ

การสนทนาแบบใหม่เช่นนี้ อาจทำให้อึดอัดและรู้สึกฝืนในช่วงแรก

แต่หากเราทำได้ จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดเสมอกัน เป็นการสร้างพื้นที่ที่เท่าเทียมและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หากเป็นวงสนทนาเพื่อทำการจัดการความรู้ (KM) ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดสามารถค่อยๆลำเลียงองค์ความรู้ภายในออกมาได้ เรายังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะจะปิดกั้นความรู้สึกอยากแบ่งปันออกไป

ยิ่งการหาไอเดียใหม่ๆด้วยระดมความคิด (Brain Storming) โดยใช้วิธีนี้ยิ่งจะมีประโยชน์ เพราะความเห็นเพียงเล็กๆกับเรื่องง่ายๆหรือเรื่องธรรมดาๆ ก็อาจเปิดช่องให้สร้างโอกาสหรือความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม หากเราด่วนทำการตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใดๆ อาจทำให้ผู้คนเสียความรู้สึก และไม่อยากเสนอความคิดอื่นๆอีกเลยก็เป็นได้

การดำเนินการพูดคุยในวง ก็จะเป็นไปอย่างธรรมชาติ วนไปเรื่อยๆ จนครบเวลา โดยในตอนหน้า จะอธิบายถึงตอนจบและประโยชน์ของกระบวนการนี้ต่อไป

………………..

(ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save