5 ระดับสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม

5 ระดับสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม
โดย John Maxwell

John Maxwell ที่ปรึกษาธุรกิจและนักเขียนชื่อดังระดับ Best Seller บอกว่าในยุคนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร ผู้บริหารร้านค้า โค้ชทีมฟุตบอล ครูมัธยม ผู้ประสานงานองค์กรการกุศล หรือกระทั่งพ่อแม่ บทบาทหนึ่งที่ทุกคนต้องเป็นเหมือนกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงก็คือ… ‘ผู้นำ’

ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ทุกบทบาทจำเป็นต้องก้าวไปเป็นผู้นำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และถ้าคุณไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ก็ย่อมไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี นั่นคือเหตุผลที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาความเป็นผู้นำของตัวเอง
====

และต่อไปนี้คือ 5 ขั้นตอนสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม เราขอเชิญชวนให้ทุกคนเรียนรู้และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นผู้นำ 5 ระดับ ดังนี้

Level 1 : Position

ระดับแรก : ตำแหน่งเป็นเหตุ

ก้าวแรกซึ่งเป็นระดับที่ง่ายสุดของการเป็นผู้นำ คือ การเรียนรู้ว่าตำแหน่งของคุณคืออะไร ระดับนี้ไม่ได้หนักหนาสาหัสหรือต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย เมื่อมีคนแต่งตั้งให้คุณรับตำแหน่งนั้น คุณก็เพียงแค่ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร สั่งการใคร เรื่องอะไร หรือขอความร่วมมือจากใครบ้าง

ในขั้นนี้ คนจะเดินตามผู้นำ (เล็ก ๆ) อย่างคุณ เพราะเขารู้ว่าคุณมีหน้าที่อะไร และเขาต้องทำอะไรตามที่คุณบอกเพื่อให้งานส่วนรวมลุล่วงไป อย่างไรก็ตาม คนจะทำตามหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ‘ใจสั่งมา’ เพราะคุณไม่ได้มีอำนาจไปบังคับใครมากมายนักหรอก
====

Level 2 : Permission

ระดับที่สอง : เมื่อคนอนุญาตให้คุณเป็นผู้นำ

ในขั้นนี้ คนจะเลือกทำตามที่คุณบอกเพราะว่าเขา ‘ต้องการ’ จะทำจริง ๆ พวกเขาจะอนุญาตให้คุณนำทีม คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์กับคนในทีมอย่างไร

เมื่อใดก็ตามที่คุณชื่นชอบการอยู่ร่วมกับคนในทีมและคุณปฏิบัติกับคนในทีมอย่างเคารพในคุณค่าของพวกเขา ความสัมพันธ์จะเริ่มงอกงามมากขึ้นเรื่อย ๆ ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้น คนจะเริ่มเคารพนับถือ นี่คือบรรยากาศที่ดีที่จะก้าวสู่ขั้นถัดไปแล้ว
====

Level 3 : Production

ระดับที่สาม : ทำงานให้งอกเงย

ผู้นำสุดเจ๋งจะรู้ว่าทำอย่างไรที่จะจูงใจและกระตุ้นให้คนในทีมทำงานให้สำเร็จ เรื่องราวทั้งหมดของระดับที่สามคือส่วนนี้นั่นเอง

ในฐานะผู้นำคุณจะต้องสร้างผลงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วคุณจะได้รับเครดิตและมีอิทธิพลกับทีม คนในทีมจะตามคุณไม่ใช่แค่เพราะสนิทกัน แต่เป็นเพราะนับถือผลงานที่เกิดจากการทำงานจริงของคุณด้วย

หน้าที่ของผู้นำในขั้นนี้คือการผลักดันให้งานสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะดาหน้ามาทดสอบคุณกับทีมตลอดเวลา

ถ้าคุณสามารถทำได้ดี คุณจะพบว่ามันเป็นเรื่องสนุกที่จะจูงใจคน สร้างความสัมพันธ์ และประสบความสำเร็จไปด้วยกัน การได้เห็นทีมก้าวไปข้างหน้าคือความหอมหวานของการก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับนี้
====

Level 4 : People Development

ระดับที่สี่ : พัฒนาคนในทีม

เมื่อคนในทีมยอมรับในตัวคุณและงานก็ลุล่วงไปด้วยดี ก้าวสำคัญก้าวถัดไป คือ ‘การผลิตเพิ่ม’ นั่นคือการทำให้เกิดผู้นำแบบคุณเพิ่มขึ้น คนที่สามารถจะขึ้นมานำทีม สร้างความเชื่อมั่นและบริหารทีมต่อไป

ความท้าทายในจุดนี้คือการทำให้บรรดาลูกทีมเติบโต ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาจากข้างบน เพื่อที่จะทำให้องค์กรเข้มแข็งและเต็มไปด้วยผู้นำหลายระดับ
====

Level 5 : Pinnacle 

ระดับสุดท้าย : บรรลุจุดสูงสุด

ระดับสูงสุดของการเป็นผู้นำ คือ ไม่เพียงก้าวไปครองใจคนด้วยผลงานและทำให้เกิดความเชื่อมั่น หรือการสามารถสร้างผู้นำรุ่นถัด ๆ มาแบบชั่วครั้งชั่วคราวได้ แต่ในระดับสุดท้ายคือการทำได้อย่างยาวนานจนกลายเป็น ‘ชื่อเสียง’ ให้คนจดจำและบอกต่อ

จงผสานชีวิตของคุณกับการทำงานในทุกวันและก้าวหน้าไปทุกวันๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า ก้าวไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นการสั่งสมชื่อเสียงและบารมีเป็นที่เลื่องลือในแวดวงของคุณนั่นเอง

ถ้าอยากรู้ว่าผู้นำในโลกยุคใหม่นี้จะต้องปรับหลักคิดและทักษะอะไรบ้าง เราขอแนะนำให้คุณอ่าน The Next Normal Leadership บทความล่าสุดที่เกิดจากการศึกษาอย่างเข้มข้นและวิสัยทัศน์ของ อ. เรือรบ คลิกที่นี่

ทั้งหมดนี้คือ 5 ระดับที่เหมือนจะยาวไกล แต่ถ้าศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รับรองว่าคุณจะกลายเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน
====

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณยังไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นฝึกฝนเรื่องอะไร ที่จุดไหน เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill ที่คุณจะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำยุคใหม่อย่างลงลึก คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The 5 Levels of Leadership” โดย John Maxwell จาก John Maxwell.com 30 สิงหาคม 2016

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 บทบาทของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนให้ทันยุค

5 บทบาทของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนให้ทันยุค

บางทีก็แอบคิดเล่น ๆ ไม่ได้นะว่าถ้าไล่ผู้จัดการที่ล้าสมัยออกไปจากบริษัทได้ เราน่าจะช่วยบริษัทประหยัดงบประมาณไปได้เยอะเลย

คุณทราบไหมว่าบริษัทต้องสูญเม็ดเงินไปจำนวนมากกับการจ้างคนมานั่งเฝ้าคนอื่นทำงานไปวัน ๆ และเอาเข้าจริงเราไม่ได้ต้องการผู้จัดการแบบนั้นหรอก!

เมื่อโลกธุรกิจมีความท้าทายมากขึ้นในทุก ๆ วัน ‘ผู้จัดการ’ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการบริหารคนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยในอัตราที่มากกว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาททั้ง 5 ต่อไปนี้

====

1. เปลี่ยน ‘การสั่ง’ เป็น ‘การสอน’

สำหรับการทำงานในโรงงานได้มีการเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและตัดปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ หุ่นยนต์ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI.) เหล่านี้ล้วนไม่ได้ต้องการให้ใครมาสั่งงานเลย

ผู้จัดการที่ต้องควบคุมดูแลหุ่นยนต์ต้องปรับวิธีการบริหารใหม่ แทนที่จะปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานตามออเดอร์ไปวันๆ ควรทำความเข้าใจหลักการการใช้แรงงานจากหุ่นยนต์ คอยสังเกตและมองหาวิธีในการที่จะใช้ประโยชน์จากพวกมันให้ได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

เมื่อรวบรวมความรู้ในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้แล้ว คุณจะสามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับบรรดาคนที่ต้องร่วมงานกับหุ่นยนต์ได้ต่อไป
====

2. มองจาก ‘แคบ’ ให้เป็น ‘กว้าง’

ผู้จัดการจำนวนมากยุ่งกับลูกน้องตัวเล็ก ๆ มากเกินไป ไม่ยอมปล่อยให้หัวหน้าโดยตรงของคนเหล่านั้นบริหารจัดการเอง และนั่นก็ทำให้พวกเขาเข้าไปจำกัดความคิดของลูกน้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ไอเดียใหม่ๆ ถูกสกัดอย่างน่าเสียดายด้วย

ผู้จัดการควรกระตุ้นให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและมีโอกาสในการแสดงไอเดียที่แตกต่างโดยไม่พยายามไปควบคุมความคิดมากเกินไป

ผู้จัดการหลายคนเข้าใจว่าตัวเองเก่งและ ‘เอาอยู่’ ในทุกสถานการณ์จึงหลงคิดว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร แต่กลายเป็นว่าผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพคือผู้จัดการที่สามารถรวมทีมจากหลายแผนกเพื่อร่วมกันมองหาข้อผิดพลาดและแนวทางแก้ไขจากหลากหลายมุมมองได้

แนวทางนี้จะช่วยทำให้มองเห็นภาพได้กว้างมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ดีกว่าการนั่งคิดเองคนเดียวเป็นไหน ๆ
====

3.ก้าวออกจาก ‘วังวนซ้ำซาก’

ผู้จัดการยุคเก่ามักจะชอบอะไรที่คาดเดาได้และเป็นแบบแผน ทุกอย่างต้องอยู่ในระเบียบอย่างที่เคยเป็นมาและคาดหวังให้เป็นแบบนั้นตลอดไป

ถึงแม้การปล่อยให้อะไร ๆ ที่เข้าที่อยู่แล้วเป็นแบบนั้นต่อไปจะเป็นเรื่องดี แต่ก็อาจทำให้ความคิดหยุดนิ่ง ผู้จัดการเองก็จะสนใจเฉพาะสิ่งที่ตัวเองรู้และเข้าใจแล้วเท่านั้น

องค์กรต้องการผู้จัดการที่รู้จักคิดใหม่ทำใหม่ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่บริษัทกำลังจะเจ๊ง แต่ในช่วงที่บริษัทกำลังประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็ต้องการเช่นกัน
====

4.เลิกแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว

ผู้จัดการส่วนใหญ่สารภาพว่างานหลักของพวกเขาคือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งนั่นไม่ควรเป็นหน้าที่หลักเลยสักนิด

ผู้จัดการควรใช้เวลาในการค้นหาวิธีบริหารจัดการใหม่ ๆ ที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด ตลอดจนสนับสนุนให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายด้วย
====

5. คิดให้เหมือนเจ้าของบริษัท

หลายคนมองว่าการทำงานบริษัทก็คือการเป็นลูกจ้างเท่านั้น และนั่นก็ทำให้ผู้จัดการหลายคนโฟกัสกับการเอาใจหัวหน้าเพื่อความอยู่รอดจนไม่สนใจอะไรอื่นเลย

ความคิดของผู้จัดการกลุ่มนี้จึงมักจะวนเวียนอยู่แต่กับความต้องการของหัวหน้าและติดอยู่ในกรอบ การคิดให้เหมือนเจ้าของบริษัทจะช่วยให้ผู้จัดการมองภาพต่าง ๆ ได้กว้างมากขึ้นและและลงมือทำอะไรได้มากขึ้น ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นภายในตัวเองและในตัวลูกน้องด้วย

เราเชื่อว่าไอเดียทั้งห้านี้จะทำให้ภาพของผู้จัดการไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แน่นอนว่าเมื่อผู้จัดการเปลี่ยน องค์กรก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเหมือนจรวดเลยทีเดียว

ถ้าคุณคือผู้จัดการมือใหม่ เราขอแนะนำให้อ่าน ก้าวแรกสู่การเป็นผู้จัดการ เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะของผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่นี่
====

หนึ่งในบทบาทสำคัญของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนไปก็คือ ผู้จัดการที่เป็นโค้ช คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการโค้ชและให้ feedback ได้ในหลักสูตร High Impact Coaching and Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The Role of a Manager Has to Change in 5 Key Ways” โดย Joseph Pistrui and Dimo Dimov จาก Harvard Business Review 26 ตุลาคม 2018

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ระวังให้ดี ‘คนมีพรสวรรค์’ อาจทำให้ทีมของคุณพัง

ระวังให้ดี ‘คนมีพรสวรรค์’ อาจทำให้ทีมพัง

การที่ใครสักคนในทีมเฉลียวฉลาด เก่งกาจ ทำคะแนนสอบตอนเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้สูงสุด เป็น top performance มาตลอดหลายปีน่าจะเป็นสิ่งที่คุณและทุกคนในทีมปรารถนา

แน่นอนว่าการมีคนเช่นนั้นอยู่ในทีมเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่อันตรายคือการหลงเชื่อว่าคน ๆ นั้นคือ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างและจะไม่มีวันทำผิดพลาดใดใดเลย

การคิดเช่นนั้นอาจเข้าข่ายยกย่องคนมีพรสวรรค์มากจนเกินไปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายองค์กรล่มสลายมาแล้ว
====

นักเขียนแนววิทยาศาสตร์การตลาดชื่อดัง ‘มัลคอห์ม แกลดเวล’ เคยสรุปถึงการล่มสลายขององค์กรยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่างเอนรอน เอาไว้ว่าเกิดจากอาการยกย่องคนมีพรสวรรค์มากเกินไปซึ่งส่งผลเสียมหาศาลดังนี้

– การยกย่องคนมีพรสวรรค์มากเกินไปทำให้คนกลุ่มนั้นมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนทั่วไปจนเกิดการแบ่งชนชั้นขึ้นในองค์กร

– เกิดวัฒนธรรมของการพยายามทำให้ตัวเองเหมือนตัวเองมีพรสวรรค์เพราะต้องการขยับชนชั้นในองค์กรจนละเลยการโฟกัสที่การทำงานให้มีคุณภาพ

– พนักงานที่ถูกยกย่องว่ามีพรสวรรค์จะปกป้องภาพลักษณ์นั้นสุดชีวิต พวกเขาจะทำใจได้ยากมากถ้าภาพลักษณ์นี้ถูกคุกคาม
====

นอกจากนั้นการยกย่องคนมีพรสวรรค์มากเกินไปจะผลักดันให้เกิดกรอบคิดที่ ‘แครอล ดเวค’ นักจิตวิทยาชื่อดังเรียกว่า Fixed Mindset หรือ กรอบคิดตายตัวขึ้นในองค์กร

กรอบคิดนี้เชื่อว่าสติ ปัญญา และทักษะต่าง ๆ คือเรื่องพรสวรรค์ที่มีเฉพาะในบางคนเท่านั้น

กรอบคิดตายตัวผลักดันให้คนพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองว่ามีพรสวรรค์โดยการทำอะไรเดิม ๆ อยู่ใน comfort zone ไม่กล้าเสี่ยง โกหกปิดบัง ทุจริต ต่างคนต่างทำเพื่อเอาดีเข้าตัว ทำทุกทางเพื่อปฏิเสธความผิดพลาดล้มเหลว เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดล้มเหลวเท่ากับว่าเขาเป็นคนไม่เก่งหรือไม่มีพรสวรรค์นั่นเอง
====

วิธีการสลายกรอบคิดตายตัวและการบูชาคนมีพรสวรรค์ คือการสนับสนุนให้เกิด Growth Mindset หรือ กรอบคิดแบบพัฒนาได้ขึ้นในองค์กร

กรอบคิดแบบนี้เชื่อว่ามนุษย์สามารถเรียนรู้และพัฒนาสติ ปัญญา ทักษะความสามารถได้เสมอ

วิธีเสริมสร้าง Growth Mindset มีดังต่อไปนี้

หมั่นตั้งคำถามต่อการทำงานของตัวเองและของทีมเสมอ

อะไรที่เราทำได้ดี อะไรที่เราควรปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น นี่คือสองคำถามสำคัญที่เราควรถามตัวเองและทุกคนในทีมให้บ่อยที่สุด
====

ยอมรับความผิดพลาด ล้มเหลว และเลือกที่จะแก้ไข

เมื่อเกิดความล้มเหลว ความผิดพลาดจงยอมรับมันอย่างตรงไปตรงมาด้วยการถามสองคำถามนี้ “เราได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนี้” และ “เราจะแก้ไขหรือปรับปรุงมันอย่างไร”
====

สร้างทีมแห่งการเรียนรู้ (Learning Team)

กระตุ้นให้เกิดทีมแห่งการเรียนรู้ โดยการตั้งคำถามว่าทักษะไหนที่จำเป็นต่อการทำงานและพัฒนาตัวเอง จากนั้นให้หาวิธีเรียนรู้ทักษะนั้นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเทรนนิ่ง ไปเรียนจากคอร์สทั่วไป อ่านหนังสือ และนำมาฝึกปฏิบัติร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อใดที่ Growth Mindset เติบโตและเบ่งบานในทีม Fixed Mindset ก็จะค่อย ๆ เสื่อมสลายหายไปจากทีมและองค์กรของคุณเอง เพราะ Mindset ทั้งสองแบบไม่สามารถเติบใหญ่ไปพร้อมกันได้ และเมื่อนั้นทีมของคุณจะเต็มไปด้วยสุดยอดคนที่เรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอไม่ใช่คนมีพรสวรรค์มาแต่กำเนิดอีกต่อไป
====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์คและวัฒนธรรมองค์กร (Teamwork & Culture Expert)
Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

วิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความเห็นอกเห็นใจกัน

วิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความเห็นอกเห็นใจกัน

ทุกวันนี้ เรามีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง (Empathy) บ้างหรือเปล่า

ปี 2017 ‘ทิม คุก’ ผู้บริหารของ Apple ได้กล่าวสุนทรพจน์ให้นักศึกษาจบใหม่ของ MIT หนึ่งในสิ่งที่เขาพูดคือ “Empathy เป็นสิ่งสำคัญ ในโลกแห่งความเป็นจริง”

มีงานวิจัยสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอ ผู้บริหารบริษัทจำนวน 150 คนพบว่า 80% ของซีอีโอในงานเห็นพ้องต้องกันว่า Empathy คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จได้
====

เมื่อออกจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานนั้นคนส่วนใหญ่พบว่าหลายสิ่งอาจไม่สวยหรู ระหว่างทางเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย มีเรื่องให้คิดจนเครียดและปวดหัวนับไม่ถ้วน ทั้งจากงาน จากเพื่อนร่วมงาน และจากหัวหน้า ส่งผลให้การทำงานไม่สนุกอย่างที่เคยคิดเอาไว้

แต่เราสามารถทำให้ชีวิตการทำงานมีคุณภาพดีขึ้นได้ด้วยการเพิ่มสิ่งเหล่านี้เข้าไปในชีวิต
====

การตระหนักรู้ในศักยภาพการเติบโตของตัวเอง

หลายคนอาจคิดว่า Empathy ไม่ใช่สิ่งจำเป็นและเอามาปฏิบัติจริงไม่ได้ แต่การศึกษาวิจัยพบว่า หากปราศจาก Empathy จะส่งผลเสียต่อองค์กรเป็นอย่างมาก

โชคดีที่ทัศนคติของเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอด Empathy เปรียบได้กับทักษะหนึ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญคือ เราต้องตระหนักรู้ความจริงในเรื่องนี้อยู่เสมอ

จะดียิ่งขึ้นหากคนเป็นผู้นำเริ่มต้นปลูกฝัง Empathy ให้กับคนในทีม คนในทีมนั้นจะทำงานต่อไปได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ
====

ระวังเสียงที่เป็นพิษ

เสียงที่ดังที่สุดของคนในทีมเป็นประโยชน์ในการทำงาน แต่บางครั้งเสียงนั้นอาจไม่เป็นมิตรกับทุกคน พึงระวังอย่าให้เสียงนั้นครอบงำความคิดของผู้อื่น

เพราะหากสมาชิกในทีมเริ่มส่งต่อความคิดที่เป็นมลพิษต่อผู้อื่นขึ้นมา ความคิดนั้นก็จะส่งผลต่อทั้งทัศนคติและความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน และอาจส่งผลเสียต่องานในภาพรวมได้

และหากเกิดขึ้นมาจริง ถือเป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่ต้องแสดงความเป็นผู้นำ ทำให้พฤติกรรมของคนในกลุ่มกลับคืนมาในสภาพเดิม

ยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งผลเสียอยู่อีกมาก ซึ่งคุณสามารถทำความเข้าใจและกำจัดไปให้พ้นจากทีมของคุณได้ อ่านกำจัดวัฒนธรรมองค์กรแย่ ๆ ก่อนที่ทีมจะพัง คลิกที่นี่
====

หาผู้มีความเป็นผู้นำและทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเข้าสู่โลกแห่งการทำงานไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรย่อมหลีกหนีการทำงานเป็นกลุ่มไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือจากผู้อื่น

สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดคือ อย่าลืมว่าการอยู่เป็นกลุ่มมักให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการอยู่คนเดียว และจะดีกว่านั้นหากอยู่ในกลุ่มคนที่มีภาวะผู้นำที่พร้อมช่วยเหลือและพาทุกคนไปสู่เป้าหมายได้

การสร้างความเห็นอกเห็นใจในสังคมการทำงานจะพึ่งแค่ผู้นำคนเดียวอาจไม่พอ คนอื่นๆ ในกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เป็นมิตร ทุกคนเปิดใจ และอยู่ในสภาวะที่เป็นบวก

เป็นเรื่องดีที่องค์กรนำ Empathy มาใช้ในการทำงาน แต่ถ้าจะให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอขององค์กรจริง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรทั้งหมด

ตั้งแต่ล่างไปสู่บน และตั้งแต่บนลงไปด้านล่าง เพื่อให้เกิดองค์กรที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

====

เพราะการสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจคือรากฐานที่สำคัญของการมีวัฒนธรรมที่เห็นอกเห็นใจกัน เรียนรู้และฝึกฝนวิธีการสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจได้ในหลักสูตร Building Trust & Safe Space for the Great Team คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Making Empathy Central to Your Company Culture” โดย Jamil Zaki จาก Harvard Business Review 20 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

6 วิธีสร้างความสัมพันธ์ในทีมให้แข็งแกร่ง

6 วิธีสร้างความสัมพันธ์ในทีมให้แข็งแกร่ง

ลองจินตนาการว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนในทีมคือสะพานเชือกที่มีปลายข้างหนึ่งอยู่ที่คุณและปลายอีกข้างผูกยึดกับอีกคน

จินตนาการต่อไปว่าคุณมี ‘เรื่องหนักอึ้ง(คำวิพากษ์ วิจารณ์ คำตำหนิ เรื่องลบ ๆ ทั้งหลาย)’ ที่ต้องการสื่อสารกับคนนั้น ถ้าสะพานเชือกระหว่างคุณกับเขาแข็งแรงมันจะลำเลียงสารหนักอึ้งไปถึงอีกฝ่ายได้ดีกว่าสะพานที่อ่อนแอและขาดง่ายอย่างแน่นอน

หลักการสะพานความสัมพันธ์คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมเราจึงสื่อสารเรื่องเปราะบางกับบางคนได้ดีกว่าอีกคน
====

ถ้าอยากให้การสื่อสารภายในทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมขอเสนอให้คุณพัฒนาสะพานความสัมพันธ์ให้แข็งแรงเอาไว้ด้วยวิธีการที่สามารถนำไปประยุกต์ได้ไม่ยาก 6 วิธี ดังนี้ 

1. เข้าใจผู้อื่นก่อนเสมอ

มนุษย์ทุกคนปรารถนาความเข้าใจไม่ต่างจากอ็อกซิเจนสำหรับหายใจ แต่การเรียกร้องให้อีกฝ่ายมาทำความเข้าใจเราก่อนเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่ ก่อนจะสื่อสารกับใครครั้งต่อไปลองถามตัวเองว่าคุณตั้งใจรับฟังเขาดีพอหรือยัง และรู้หรือไม่ว่าลึก ๆ แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่
====

2. ใส่ใจเรื่องเล็กน้อย

ลองจดจำเรื่องเล็ก ๆ เกี่ยวกับเขาด้วยการแอบจดใส่สมุดบันทึก โดยเฉพาะวันสำคัญของเขา สิ่งที่เขาให้คุณค่าเป็นพิเศษ สิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบ แล้วแสดงมันออกมาด้วยการให้ของขวัญ ทำสิ่งพิเศษแก่เขา ตลอดจนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของเขาด้วยความจริงใจ
====

3. รักษาสัญญา

ไม่มีอะไรจะทำลายสะพานความสัมพันธ์ได้มากเท่ากับการผิดสัญญาที่คุณให้ไว้กับอีกฝ่าย จดจำสัญญาเหล่านั้นให้ขึ้นใจแล้วรักษามันยิ่งชีวิตของคุณเอง จำไว้ว่าอย่าให้สัญญาในสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้โดยเด็ดขาด
====

4. ระบุความคาดหวังของคุณให้ชัดเจนที่สุด

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์คือการที่คุณมีความคาดหวังบางอย่างต่ออีกฝ่ายแล้วไม่ได้สื่อสารมันออกมา เมื่อความคาดหวังเหล่านั้นถูกเก็บสะสมเอาไว้ มันจะระเบิดออกมาจนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตได้ หนทางที่ดีคือการสื่อสารความคาดหวังนั้นออกมาให้เขาได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา
====

5. มีความซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นคนที่ไว้วางใจได้

มีความสัมพันธ์กับทุกคนในทีมด้วยหลักการซื่อสัตย์ จริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดถึงคนอื่นด้วยหลักการที่ระลึกไว้เสมอว่าเขาสามารถมานั่งฟังเรื่องนี้ได้เสมอแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นก็ตาม
====

6. กล่าวขอโทษอย่างจริงใจเมื่อทำผิดพลาด

เพราะเราคือมนุษย์ธรรมดาที่อาจทำบางเรื่องผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นละเลยการทำความเข้าใจ หลงลืมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอีกฝ่าย หรือมีเหตุให้ต้องผิดสัญญา เมื่อรู้ตัวว่าทำผิดพลาดให้รีบกล่าวขอโทษให้เร็วที่สุดภายใต้พื้นฐานความจริงใจในการที่จะแก้ไขความผิดพลาดนั้นจริง ๆ

ลองนำหลักการทั้ง 6 ไปประยุกต์ใช้กับความสัมพันธ์ภายในทีมของคุณ แล้วจะพบว่าสะพานความสัมพันธ์คือหัวใจในการสื่อสารระหว่างกันภายในทีมอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เกิดปัญหาหรือมีความขัดแย้งจึงเป็นโอกาสที่คุณจะได้ทบทวนความแข็งแรงของสะพานเชือกเส้นนั้นแล้วล่ะครับ
====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์คและวัฒนธรรมองค์กร (Teamwork & Culture Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

เวลาทำงานร่วมกันก็ย่อมจะต้องมีการแสดงความคิดเห็น แล้วในทุกองค์กรก็มักจะมีคนที่เสนอความคิดเห็นที่มีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่องาน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมี “คนเก่งจอมมั่น” ที่เชื่อว่าตัวเองถูกเสมอ แม้ว่าจะเคยนำสิ่งที่เขาเสนอไปปฏิบัติจริงแล้วไม่เวิร์คมาแล้วก็ตาม
====

นี่คือสถานการณ์ที่ต้องรับมือด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะกับหัวหน้า เพราะถ้าทำตามที่เขาแนะนำตลอดก็อาจส่งผลลบต่อทีมและงานในหลาย ๆ ด้าน แต่ถ้าไม่ทำตามคำแนะนำก็อาจทำให้คนนั้นรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองถูกทำลายจนอาจจะไม่เสนอไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะปวดหัวเวลาทำงานร่วมกับ “คนเก่งจอมมั่น” แต่ก็มีวิธีที่สามารถช่วยป้องกันปัญหาที่ชวนเหนื่อยใจลักษณะนี้ได้ และยังทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างและมีประสิทธิภาพตามมาได้อีก ด้วยวิธีต่อไปนี้
====

หาต้นตอของความเก่งและมั่นให้เจอ

คนเราจะเก่งและมีความมั่นใจจากหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่พบบ่อยนั้นเกิดจากความสำเร็จในการทำงานครั้งก่อน ๆ หลังจากที่เคยแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วทำให้ครั้งต่อ ๆ ไป เขาก็จะพยายามรักษาความสำเร็จเดิมเอาไว้ด้วยการแสดงออกว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องแน่นอน

สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือควบคุมบทสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น และปราศจากการโต้แย้งอย่างรุนแรง ลองพยายามดึงจังหวะ ดึงอารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ให้พุ่งสูงจนเกินไป

ถ้ามีคนน็อตหลุดขึ้นมาเพราะตกลงกันไม่ได้จริง ๆ ก็อาจต้องหาโอกาสประชุมแยกนอกรอบเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจ และปรับมุมมองให้เข้าใจกัน อย่างน้อยก็จะรักษาความมั่นใจของอีกฝ่ายเอาไว้ไม่ให้เขารู้สึกว่าตัวเองทำพลาดหรือหมดประโยชน์ต่อทีม
====

เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นบ้าง

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำคือการเปิดกว้างให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน นั่นคือการบอกทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละประเด็นอย่างตรงไปตรงมา

การให้คนในทีมมีส่วนร่วมและช่วยกันประเมินมุมมองของงานอย่างหลากหลายจะก่อให้เกิดความคิดที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ แล้วยังทำให้แต่ละคนมีความมั่นใจโดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาจนทำลายบรรยากาศและผลของการทำงานอีกด้วย
====

เสริมสร้างบรรยากาศให้คนอยากฟังและอยากแสดงความคิดเห็น

เมื่อต้องทำงานกับคนที่เก่งและมั่นมาก ๆ อาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลงจนไม่กล้านำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง

แนวทางแก้ไขปัญหานี้ คือ เมื่อต้องประชุม แสดงความคิดเห็น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเป็นผู้ฟังที่ดีและโทนเสียงในการพูด ทั้งสองอย่างนี้ต้องมาควบคู่กันจึงจะสามารถลดปัญหานี้ลงได้

เพราะทุกคนล้วนมีมุมมองเป็นของตนเอง และทุกมุมมองต่างมีความสำคัญ โทนเสียงเวลาแสดงความคิดเห็นมีผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง ว่าจะทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้มากแค่ไห

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คนอื่นจึงจะกล้าแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วจะไม่มีใครรู้สึกอายในความคิดเห็นของตนเอง

และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ท้ายที่สุดทุกคนจะกล้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จะเกิดความความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนการทำงานราบรื่นในท้ายที่สุด
====

เรียบเรียงจาก How to Work with Someone Who Thinks They’re Always Right โดย Ron Carucci and Jarrod Shappell จาก Harvard Business Review 26 มิถุนายน 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เทคนิคการให้ Feedback ที่มีประสิทธิผลสูง

เทคนิคการให้ Feedback ที่มีประสิทธิผลสูง

คุณไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้แน่ หากไม่รับฟัง Feedback จากใครเลย มีการศึกษาพบว่าการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานอย่างสร้างสรรค์ (Feedback) นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นได้จริง ๆ

แต่การวิจารณ์มาพร้อมกับความรู้สึกหนักอึ้ง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับฟังความคิดเห็น หรือจะรู้สึกดีกับคำวิจารณ์เชิงลบ
====

งานวิจัยจาก Center for Creative Leadership (CCL) ศึกษาเกี่ยวกับการให้ Feedback พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

1.การ Feedback แรงๆ ไม่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดีจนอาจกลายเป็นการหยุดพัฒนามากกว่าจะพัฒนา

สิ่งที่จำเป็นมากเวลาวิจารณ์การทำงานของผู้อื่น คือต้องมีความเคารพซึ่งกันและกันและมีความเป็นห่วงเป็นใย คำวิจารณ์ด้านลบอาจทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกไม่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาในภายหน้าได้
====

2. Feedback ด้านบวกคือสิ่งสำคัญ

คนส่วนใหญ่มักจะมองเห็นข้อเสียของผู้อื่นก่อนเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการเห็นว่าอะไรคือข้อดี นี่คือปัจจัยสำคัญเพราะถ้าอยากให้คนมีกำลังใจในการทำงานต่อไป คุณก็ต้องหาข้อดีของเขาให้เจอแล้วสื่อสารมันออกมา
====

3.หลีกเลี่ยงการบอกคนอื่นว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร

วิธีที่ดีกว่าคือการตั้งคำถามให้เขาคิดถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้รับ Feedback ได้คิดและประเมินถึงผลที่จะตามมา ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหรือไม่ อย่างไร
====

4. หัวใจสำคัญของการพัฒนาอยู่ที่ตัวของผู้ให้ Feedback

ขึ้นชื่อว่า Feedback ย่อมมาจากมุมมองที่แตกต่างกันของผู้ให้ Feedback คน 100 คนย่อมมี 100 มุมมอง แต่การให้ Feedback ของคนที่เป็นหัวหน้า

ปัจจัยสำคัญคือการให้ Feedback เพื่อให้เขาพัฒนาการทำงานต่อไปโดยใช้มุมมองและประสบการณ์ของคนที่เป็นหัวหน้าเข้ามาประกอบ

สิ่งที่ต้องจดจำเอาไว้เสมอคือ หัวหน้าต้องตัดสินใจอย่างเฉียบแหลมด้วยว่า จะหาทางให้ Feedback กับคนที่มีความแตกต่างกันด้วยวิธีไหนเพื่อให้แต่ละคนนำไปปรับปรุงแล้วเกิดผลที่ดีที่สุดต่อองค์กร
====

5. การวิจารณ์จุดอ่อนไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ไม่ได้มีแต่การบอกข้อดีหรือจุดแข็ง เท่านั้นที่ทำให้ผู้คนอยากพัฒนาฝีมือ แต่การบอกจุดอ่อนหรือบอกข้อเสียก็ก่อให้เกิดการพัฒนาได้เช่นกัน

เพราะบางคนอาจนำไปใช้เป็นแรงผลักดันให้ทำงานให้ดีที่สุดอาจจะเพื่อไม่ให้โดนไล่ออก หรือโดนตัดเงินเดือนนั่นเอง
====

6. อย่าให้คนทำงานที่ถนัดจนเกินไป

จริงอยู่ว่าการมอบหมายงานบางงานให้กับคนที่เก่งในเรื่องนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่มั่นใจได้แน่นอน แต่ก็อาจทำให้คนนั้นเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเก่งด้านนี้มากจนไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านอื่น ซึ่งอาจส่งผลเสียตามมาในอนาคตทั้งต่องานและต่อคนทำงานนั้นเอง

องค์กรที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นสิ่งสำคัญจะเริ่มต้นจากการให้ Feedback ซึ่งกันและกัน เมื่อทุกคนรับรู้ถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน ข้อดี-ข้อเสีย ย่อมพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
====

เรียบเรียงจาก “What Good Feedback Really Looks Like” โดย Craig Chappelow และ Cindy McCauley จาก Harvard Business Review 13 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

สร้างแรงจูงใจให้ทีมด้วยสามหลักการสุดคลาสสิค

สร้างแรงจูงใจให้ทีมด้วยสามหลักการสุดคลาสสิค

หนึ่งในปัญหาที่ทุกคนต่างเคยพบเผชิญคือ การหมดพลัง หมดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหารุมเร้า คุยกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง ขาด passion ฯลฯ ต่างก็ทำให้เราและคนในทีมหมดพลังได้ทั้งนั้น

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งในทีมที่ยังมีพลังเพียงพอที่จะทำงาน ลองกระตุ้นตัวเองเพิ่มขึ้นอีกสักนิดที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่คนในทีมดูไหมครับ เพราะแรงจูงใจก็ไม่ต่างอะไรกับเปลวไฟบนไส้เทียน นั่นคือยิ่งนำไปจุดต่อที่ไหนความสว่างไสวก็แผ่กระจายเป็นวงกว้าง

ในทางตรงกันข้ามถ้าคนรอบตัวของคุณทยอยหมดแรงจูงใจทีละคน สองคน อีกไม่นานคุณก็จะถูกความมืดมิดกลืนกินไปด้วยอย่างแน่นอน
===

ปราชญ์ยุคกรีกชื่อดังอย่าง ‘อริสโตเติล’ ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้คนในสังคมดี เขาจึงคิดค้นโมเดลในการเป็นผู้นำทีมที่จะสร้างแรงจูงใจให้แก่ทุกคนในทีมเอาไว้(บ้างก็ว่าอริสโตเติลคิดค้นขึ้นมาเพื่อการสื่อสารเป็นหลัก) โดยเรียกว่าหลักการ Etos, Pathos และ Logos

หลักการนี้จะให้ความสำคัญที่คุณลักษณะส่วนตัวของผู้ที่จะสร้างแรงจูงใจมากกว่าเทคนิคหรือวิธีการภายนอก ภายใต้แนวคิดที่ว่าการเป็นแบบอย่างและมีแรงจูงใจจากภายในอย่างแท้จริงสำคัญที่สุด รองลงมาคือการสร้างความสัมพันธ์ผ่านการมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่น สุดท้ายคือการใช้หลักการและเหตุผลเพื่อสื่อสารกับความคิดของคนในทีม
====

Etos

คือ คุณลักษณะ คุณสมบัติ และจริยธรรมที่แท้จริงภายในตัวเรา ซึ่งรวมถึงความน่าเชื่อถือของเรา มีทักษะ ความสามารถ และความแน่นอนที่คนอื่นไว้วางใจได้ ซึ่งเกิดจากการที่เราสามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่ตัวเองได้นั่นเอง

แนวทางประยุกต์ใช้หลักการ Etos

สร้างกฎ กติกา ข้อตกลงส่วนตัวขึ้นมาแล้วรับผิดชอบต่อกฎ กติกา ข้อตกลงนั้น มุ่งมั่นรับผิดชอบหน้าที่ทุกด้านของตัวเองอย่างมีวินัย ถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องมากพอ คุณจะไว้วางใจตัวเองและมีแรงจูงใจภายในอย่างแท้จริง
====

Pathos

คือ การรู้สึกร่วม การมี Empathy กับผู้อื่น มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง หลักการนี้จะทำให้คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่นนั่นเอง

แนวทางประยุกต์ใช้หลักการ Pathos

บริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง โดยการหมั่นบันทึกความรู้สึกตัวเองเรื่อย ๆ ระหว่างวัน จากนั้นฝึกการฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นโดยการเดาความรู้สึกของเขาหลังจากรับฟังเรื่องราวของเขาแล้ว
====

Logos

คือ การใช้ตรรกะ เหตุผล หลักการ ผู้นำหลายคนติดอยู่ที่เพียงหลักการนี้ซึ่งเป็นหลักการวงนอกสุด เพราะมนุษย์ล้วนทำหรือไม่ทำอะไรด้วยความรู้สึกลึก ๆ ไม่ใช่เหตุผล การให้แต่เหตุผลแก่คนในทีมจึงไม่สามารถจะจูงใจให้เขามีพลังในการทำงานขึ้นมาได้

แนวทางประยุกต์ใช้หลักการ Logos

หมั่นศึกษา หาความรู้ใส่ตัวเอง ทั้งเรื่องงานและเรื่องการทำงานเป็นทีมภาวะผู้นำ จากนั้นให้ฝึกสรุปความสิ่งที่ได้อ่าน ได้เรียนมาให้เข้าใจง่ายเพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดสื่อสารให้คนในทีมของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายคุณคงเห็นภาพแล้วว่า ตัวตนที่แท้จริงของผู้นำทีมอย่างคุณคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ต่างจากรากของต้นไม้ใหญ่ การโฟกัสไปที่เทคนิค วิธีการเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจการเปลี่ยนที่ตัวตนของคุณ

ก็เหมือนต้องการผลหรือดอกโดยไม่ได้ให้อาหารรากของต้นไม้ ท้ายที่สุดผลหรือดอกที่คุณเก็บเกี่ยวก็จะไม่แห้งเหี่ยวไปและไม่งอกงามขึ้นมาอีกตลอดกาล

====
เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค (Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ให้ฟีดแบ๊คอย่างไรไม่ให้เสียสัมพันธ์

ให้ฟีดแบ๊คทีมอย่างไรไม่ให้เสียสัมพันธ์

“กฎมีไว้แหก” ใครสักคนเคยพูดคำนี้ให้ผมได้ยินตั้งแต่สมัยเด็ก แล้วผมก็จดจำคำกล่าวที่ดูเท่เล็ก ๆนี้มาตลอด

จนกระทั่งได้มาทำงานไปสักพักจึงรู้ว่าคำกล่าวนี้มีหลายนัยยะที่ต้องตีความมิเช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อการทำงานและชีวิตเป็นอย่างยิ่ง

====

ประการแรกคือ กฎที่เราไม่รู้เหตุผลที่แท้จริง และ / หรือ ไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมสร้างกฎนั้นขึ้นมา คือกฎที่เราควรนำมาพูดคุยทบทวนร่วมกันเพื่อค้นหาเหตุผลที่แท้จริงของการตั้งกฎนั้น แล้วจึงพิจารณาร่วมกันว่าจะใช้ต่อ ยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนกฎนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับคนในทีมและบริบททางสังคม
====

ประการที่สองคือ คำว่า ‘แหกกฎ’ ในที่นี้หมายถึงการคิดต่าง คิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ซึ่งจำเป็นต้องคิดให้หลุดไปจากค่านิยมและวัฒนธรรมที่ทำตาม ๆ กันมาไม่ได้หมายถึงการตะบี้ตะบันทำผิดกฎอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด
====

จะให้ฟีดแบ๊คอย่างไรถ้ามีคนละเมิดกฎ

เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเนื่องจากการละเมิดกฎของทีม ทุกคนในทีมควรตกลงร่วมกันเมื่อเกิดกรณีมีคนละเมิดกฎ ซึ่งสามารถนำแนวทาง ‘ให้ฟีดแบ๊ค’ ที่ Blair Singer โค้ชและนักขายมืออาชีพเขียนไว้ในหนังสือ Team Code of Honor ไปประยุกต์ใช้ ดังนี้

1. เริ่มต้นให้ถูกกาลเทศะ

ไม่ควรแจ้งว่าจะให้ฟีดแบ๊คต่อหน้าลูกค้า พาร์ทเนอร์ เพื่อนร่วมงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง จำไว้ว่าเราต้องการช่วยให้เขาปรับปรุงพฤติกรรม ไม่ได้ต้องการโจมตีที่ตัวตนของเขาแต่อย่างใด
====

2. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของคุณเองก่อน

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ในใจคุณลึก ๆ อาจรู้สึกไม่สบายใจ กังวล ไปจนถึงโมโห โกรธ ให้ทำความเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้น แล้วยอมรับอย่างไม่ต้องไปคิดตัดสินความรู้สึกนั้นจนความคิดความรู้สึกของคุณสงบลงแล้วค่อยให้ฟีดแบ๊คเพื่อป้องกันไม่ให้บานปลายไปสู่ความขัดแย้ง
====

3. ขออนุญาตเจ้าตัวก่อนเข้าสู่การให้ฟีดแบ๊ค

ถามเจ้าตัวก่อนว่า เวลานี้ ๆ สะดวกคุยเรื่องนี้ ๆ กันไหม แจ้งให้เขาทราบว่าต้องการฟีดแบ๊คพฤติกรรมของเขา เพื่อช่วยปรับให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเขาบอกไม่สะดวกให้ถามหาวัน เวลาที่สะดวกจากเขา และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เกินไป( 1 – 3 วัน แล้วแต่ประเด็น)
====

4. แก้ไขที่พฤติกรรมไม่ใช่ตัวบุคคล

การแปะป้ายว่าเขาเป็น “คนเลว” “ขี้เกียจ” “ห่วยแตก” หรือคำแปะป้ายตัดสินต่าง ๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดใด เปลี่ยนมาพูดถึงพฤติกรรมของเขาโดยระบุให้ชัดเจนแทน “ผมรู้มาว่าคุณเอาข้อมูลที่เพื่อนทำไว้ไปใช้โดยไม่ได้ถามเจ้าของก่อน” “คุณไม่ได้ส่งมอบงานตามกำหนด” การโฟกัสที่พฤติกรรมจะช่วยให้เขาไม่รู้สึกว่าเรากำลังโจมตีที่ตัวตนของเขาแต่เป็นการพูดถึงพฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขของเขาแทน
====

5. บอกสิ่งที่ผิดพลาดแล้วเสนอความช่วยเหลือ

เชื่อมโยงจากข้อ 4 คุณควรระบุพฤติกรรมที่ผิดพลาดไปจากกฎ “กฎของเราระบุว่าต้องมาทำงาน 9.00 น. ซึ่งคุณมาถึงที่ทำงาน 9.45 น. ติดต่อกันมาทั้งสัปดาห์นี้ ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น(ถามสิ่งที่เกิดกับเขาด้วย) ต้องการให้ผมช่วยอะไรไหม” เป็นต้น
====

6. ย้ำเตือนถึงสิ่งที่บุคคลนั้นต้องเปลี่ยนแปลง

เมื่อพูดคุยจนได้ข้อสรุปที่เขาจะเปลี่ยน(ควรมาจากความยินยอมของเขาอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) แล้ว ให้ตัวเขา คุณรวมถึงคนในทีมที่มีส่วนเกี่ยวข้องย้ำเตือนออกมาเป็นข้อสรุปที่เขาจะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง และควรทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
====

7. แสดงการรับรู้พฤติกรรมที่เป็นไปในแนวทางที่ตกลงกันไว้แล้ว

เมื่อเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะในช่วงแรกนั้น เขาต้องการการรับรู้และ กำลังใจเป็นอย่างมาก จงแสดงการรับรู้อย่างเปิดเผยเสมอ ไม่ว่าจะชมต่อหน้า หรือพิมพ์อีเมลชื่นชมสิ่งที่เขาทำก็ได้

Blair ย้ำว่า กฎที่ไม่ได้ยึดมั่นให้ทุกคนปฏิบัติตามจะไร้ค่าลงไปเรื่อย ๆ และทำให้ผู้คนในทีม ในองค์กร หรือในสังคมคิดว่ามันไม่มีความหมายอะไรจนนำไปสู่วลี ‘กฎมีไว้แหก’

และนี่แหล่ะคือจุดเริ่มต้นของการทุจริตและอาชญากรรมทั้งหลาย
====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์คและวัฒนธรรมองค์กร (Teamwork & Culture Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save