5 แก่นแท้สู่การเป็นผู้นำชั้นยอด

5 แก่นแท้สู่การเป็นผู้นำชั้นยอด

ทราบไหมว่า สิ่งที่ทำให้ผู้นำหลายคนล้มเหลว คืออะไร ทั้งที่บางคนมีความเฉลียวฉลาดถึงระดับวัดไอคิวได้เป็นอัจฉริยะ ผลงานส่วนบุคคลอยู่ในระดับเหรียญทอง หรือมีบุคลิกภาพดีจนน่าเลื่อมใส แต่สุดท้ายคนเหล่านั้นกลับไม่สามารถคุมองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้จนเป็นที่ร่ำลือมาต่อเนื่องยาวนาน

คำตอบก็คือ ผู้นำเหล่านี้ขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’

จากการค้นคว้าวิจัย หาความสัมพันธ์ของบรรดาผู้นำในองค์กรและระดับความสำเร็จที่เกิดขึ้น พบว่ายิ่งผู้นำฉลาดทางอารมณ์เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างสดใสมากเท่านั้น
=====

ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนาได้ ประกอบไปด้วย 5 แก่นหลัก ได้แก่ การรู้จักตัวเอง การควบคุมตนเอง แรงกระตุ้นจูงใจ ความเห็นอกเห็นใจ และทักษะทางสังคม

1.การรู้จักตัวเอง

ไม่ใช่เพียงรู้ว่าตัวเองเป็นใครในองค์กรเท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันว่าตนเองมีคุณสมบัติอะไร อะไรคือข้อดี อะไรคือข้อเสีย และปรับใช้สิ่งเหล่านั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ผู้นำชั้นยอดจะรู้จักปฏิเสธ ถ้าโปรเจคที่ได้รับข้อเสนอมานั้นไม่เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นคนค่อนข้างอารมณ์ร้อน แต่ต้องทำงานกับหัวหน้าอารมณ์ร้อนพอๆ กันภายใต้สถานการณ์กดดันตลอดเวลา แบบนั้นก็จะคิดให้หนักก่อน

หรือผู้นำที่รู้จักตัวเองอาจจะรับงานดังกล่าว แต่มอบหมายให้ผู้นำระดับรองลงไปที่มีความอดทนดีกว่า เป็นคนเข้าไปจัดการแทน เป็นต้น

ถ้าคุณคิดว่ารู้และเข้าใจตัวเองดีพอแล้ว คุณจำเป็นต้องนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ศึกษาวิธีการนำความรู้จักตัวเองมาเป็นการปรับตัวได้ที่นี่
=====

2.การควบคุมตนเอง

ลืมเรื่องเล่าอย่างบอสจอมทำลายข้าวของและด่ากราดไปได้เลย เพราะคนเป็นผู้นำต้องมีน้ำอดน้ำทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวเองในการทำงานกับคนอื่น ลองนึกถึงผู้นำที่ยังใจเย็นได้ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุ เป็นใครก็ย่อมเคารพนับถือ

ผู้นำที่ควบคุมตนเองได้จะถูกมองว่ามีเหตุผลและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ดี รวมถึงไม่แสดงอาการร้อนรน สามารถพาทีมก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้ดีไปด้วยนั่นเอง
=====

3.แรงกระตุ้นจูงใจ

เชื่อว่าคนทำงานที่ไหนต่างก็มีแรงกระตุ้นทั้งนั้น แต่การเป็นหัวหน้าทีม จะต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง แรงกระตุ้นในเรื่องเงินกับแรงกระตุ้นในเรื่องงาน

ผู้นำที่ทุ่มเทเพื่อให้ผลงานออกมาดี ด้วยความลุ่มหลงและความรักในงาน มีพลังงานที่จะทำงานอย่างล้นเหลือ ย่อมจะทำให้ลูกทีมเห็นถึงแบบอย่างที่ดี จนอยากจะร่วมมือผลักดันให้งานสำเร็จมากกว่าจะรอจังหวะหยิบฉวยผลประโยชน์เพื่อตัวเอง
=====

4.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ไม่ว่าใครก็ล้วนอยากได้ความเข้าใจและความเห็นใจ ในชีวิตส่วนตัวคนอาจจะเห็นใจกันได้แต่เมื่อเข้าสู่เรื่องธุรกิจก็มักจะเต็มไปด้วยความเขี้ยวจนไม่ค่อยคิดถึงจิตใจกันสักเท่าไหร่

เหมือนประโยคที่บอกว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องธุรกิจ” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การทำธุรกิจจะเห็นอกเห็นใจกันไม่ได้

ผู้นำไม่จำเป็นต้องแคร์คนในทีมถึงขนาดที่ต้องทำให้ทุกคนโอเคหรือเอาใจทุกคนเกินเหตุ แต่ในยามที่ต้องตัดสินใจหรือคิดถึงการทำงาน ผู้นำจะนำความรู้สึกของคนในทีมมาใคร่ครวญด้วยเพื่อหาหนทางที่จะสร้างสมดุลระหว่างการตัดสินใจกับความรู้สึกของผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
=====

5.ทักษะทางสังคม

ในแก่นของความฉลาดทางอารมณ์ 3 ข้อแรกคือการเน้นไปที่ตัวเอง ส่วน 2 ข้อหลังจะเน้นไปที่คนอื่น ข้อนี้คือการเข้าสังคมที่ไม่ได้หมายความถึงการแต่งตัวเป็น ออกงานบ่อย สร้างภาพดีแต่อย่างใด

ทักษะเข้าสังคมของผู้นำ คือการมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างมีจุดมุ่งหมาย รู้ว่าคนในสังคม (หมายถึงคนในทีมและคนภายนอก) เป็นอย่างไร มีทักษะว่าจะจูงใจคนให้มารวมกัน ปลุกเร้าให้คนเดินไปในทิศทางใด ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในธุรกิจ ก็สามารถใช้ทักษะโน้มน้าวคนจำนวนมากให้คล้อยตามได้

แก่นแท้ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา ทักษะข้อสุดท้ายมีความสำคัญมากที่สุด เพราะลูกทีมย่อมคาดหวังว่าผู้นำจะต้องหลอมคนในทีมให้เป็นหนึ่งเดียว แต่นั่นก็หมายความว่าผู้นำคนนั้นจะต้องมี 4 ข้อก่อนหน้านี้เป็นพื้นฐานก่อนนั่นเอง
=====

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำทั้ง 5 อย่างจริงจัง ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “What Makes a Leader?” โดย Daniel Goleman จาก Harvard Business Review มกราคม 2014

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

กำจัดวัฒนธรรมองค์กรแย่ ๆ ก่อนที่ทีมของคุณจะพัง

กำจัดวัฒนธรรมองค์กรแย่ ๆ ก่อนที่ทีมของคุณจะพัง

ไม่ว่าใครคงต้องเคยเจอ ‘วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ’ ที่ยากจะรับได้ เช่น การดูถูกเพื่อนร่วมงาน การแต่งตั้งหน้าที่สำคัญให้คนที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

แต่คนส่วนใหญ่ทำอย่างไรน่ะหรือ คนเกือบทั้งหมดก้มหน้ายอมรับมัน บางคนตั้งหน้าตั้งตาสานต่อวัฒนธรรมที่ไม่เข้าท่านั้นต่อไป โดยที่บางคนถูกกระทำและบางคนเป็นผู้กระทำ

ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะวัฒนธรรมที่เป็นพิษต่อองค์กรเหล่านี้จะไหลซึมเข้าไปทำลายความเป็นทีมในระยะยาวแน่นอน
=====

เราไม่ต้องรอวันที่เหมาะสมเพื่อสะสางวัฒนธรรมเช่นนั้นหรอก เพราะ ‘วันนี้’ คือวันที่เหมาะสมที่สุดในการกำจัดวัฒนธรรมเป็นพิษเหล่านั้น

ใครกันหนอที่สร้าง ‘วัฒนธรรมที่เป็นพิษ(Toxic Culture)’ คำตอบก็คือ เราทุกคนต่างร่วมด้วยช่วยกันจนมันกลายเป็นค่านิยมที่ยึดถือและปฏิบัติกันแบบเนียน ๆ และต่อไปนี้คือตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ

=====

ทำได้ทุกอย่าง

หากคนในทีมต้องทำทุกอย่างนั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนมีความสามารถหรือเปี่ยมด้วยน้ำใจ แต่มันคือการดัดแปลงคนที่มีความสามารถเฉพาะตัวให้กลายเป็น คนที่ทำอะไรก็ได้ซึ่งลดคุณค่าเฉพาะตัวไปอย่างมาก

พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้แทนที่คนเหล่านั้นจะเติบโตก้าวหน้าไปตามเส้นทางที่เขาถนัด แต่พวกเขายังต้องมาติดอยู่กับเรื่องที่ไม่อยากทำเช่นนี้
=====

แข่งขันกันเกิดเหตุ

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ “การแข่งขันสูงในองค์กรชั้นนำ” เราต้องไม่ลืมว่าเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ หากต้องตื่นขึ้นมาเพื่อเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกวันทุกปี แรงกดดันในชีวิตของเราจะมากล้นจนเกินไปซึ่งไม่เพียงส่งผลร้ายต่อจิตใจ แต่ยังทำให้เราหมดไฟในการทำงานได้อีกด้วย
=====

โหมทำงานเกินตัว

ค่านิยมพลีชีพให้การทำงานเหมือนป้ายประกาศล่องหนที่คนในหลายองค์กรมองเห็นได้ ยิ่งมีโปรเจคพิเศษหรืองานสำคัญ คนจะรับรู้ร่วมกันว่าพวกเขาต้องไม่กินไม่นอน ไม่กลับบ้าน แต่ผลร้ายคือทำให้เกิดวงจรความเหนื่อยล้าและเบื่อหน่าย ไร้ความคิดสร้างสรรค์ และสุดท้ายผลผลิตโดยรวมก็ใช่ว่าจะดี
=====

อย่างไรก็ตาม การกำจัดพิษในวัฒนธรรมการทำงานออกไปก็ยังพอจะมีหนทางอยู่บ้าง เพียงแต่ต้องมีผู้นำที่แข็งแกร่ง และสร้างแนวทางแก่ลูกทีมได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

เริ่มจากตัวเอง

การจะถอนพิษในองค์กร ไม่ได้เริ่มจากบรรยากาศที่ทำงาน แต่ต้องเริ่มจากความคิดและการเปลี่ยนแปลงภายในของแต่ละคน การหันไปดูแลตัวเอง เอาใจใส่ความรู้สึก สร้างความสุข เมื่อชีวิตส่วนตัวดีแล้ว เราก็จะนำพาสิ่งดีๆ มาสู่การทำงานในทีมไปด้วย

มีสองสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีสำหรับการเริ่มต้นที่ตัวเอง สิ่งแรกคือความรู้ตัว สิ่งที่สองคือการปรับเปลี่ยนตัวเอง อ่าน อยากสำเร็จต้องเปลี่ยนการรู้ตัวให้เป็นการปรับตัว ที่นี่
=====

ซ่อมความสัมพันธ์

องค์กรที่พังเพราะวัฒนธรรมแย่ๆ ล้วนเกิดจากการมีสัมพันธ์ที่แย่ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ลองให้แต่ละคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันทำอะไรเกินเลยกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่” “คนอื่นๆ มองเราว่าเป็นตัวป่วยของทีมหรือเปล่า” “เราเอาแต่พูดกระแนะกระแหนมากกว่าพูดหาทางออกรึเปล่า” จากนั้นก็ลงมือปรับปรุงแก้ไขทันที
=====

กระชับความสัมพันธ์

เมื่อปรับตัวเองและซ่อมความสัมพันธ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือสร้างรากฐานใหม่ให้การทำงานเป็นทีม หาโอกาสพบปะพูดคุยกันในบรรยากาศที่ดี สร้างมาตรฐานหรือวิธีปฏิบัติต่อกันที่ทำให้เกิดความสบายใจที่สุด

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มันจะค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญคือหมั่นเช็คเป็นระยะ ว่าวัฒนธรรมภาพรวมดีขึ้นหรือยัง อย่าลืมที่จะใช้ความอดทน การสนับสนุนกัน ให้อภัยตัวเองและคนอื่นในอดีตที่ผ่านไปแล้วบ้าง
=====

สิ่งสำคัญอันดับแรกหากคุณต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีคือการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นภายในทีมของคุณ ขอแนะนำหลักสูตร Building Trust and Safe Space for the Great Team เพื่อทำให้ทุกคนในทีมมีทักษะในการสร้างและพัฒนาความไว้วางใจต่อกัน คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Keep Your Company’s Toxic Culture from Infecting Your Team” โดย Annie McKee จาก Harvard Business Review 29 เมษายน 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

 

วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน

วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน

ในฐานะผู้นำที่ต้องบริหารคน ไม่ว่าจะอย่างไรคุณก็ต้องเจอกับปัญหาความขัดแย้งเข้าสักวัน

แต่ก่อนจะคิดหาทางแก้ไข คุณต้องเริ่มจากการวินิจฉัยปัญหาเสียก่อนว่ามันเป็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ หรือ ปัญหาเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้ว

=====

สำหรับปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ (Hot Conflict) แต่ละฝ่ายจะยังเต็มไปด้วยอารมณ์คุกรุ่น อาจมีการพูดจาโหวกเหวก โวยวายเสียงดัง บางครั้งอาจสัมผัสได้ถึงความหยาบคายหรือการข่มขู่คุกคามที่ดูเหมือนควบคุมได้ยาก

ส่วนปัญหาเรื้อรัง (Cold Conflict) แต่ละฝ่ายจะผ่านช่วงอารมณ์รุนแรงไปสักพักแล้ว แต่มีความไม่ชอบหน้ากันที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง ปฏิริยาที่เกิดขึ้นมีทั้งการบ่นพึมพำใส่กัน ทำปากขมุบขมิบประชดประชัน แซว หรือเบ้ปากใส่กัน มีการเลี่ยงการประสานงานหรือทำงานร่วมกัน ไปจนถึงดูเย็นชาต่อกัน
=====

ถ้าเป็นปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ คุณจะต้องทำตรงข้ามกับสภาพที่เกิด คือจะต้องทำให้บรรยากาศเย็นลง (cool it down) เพื่อจะได้ไม่เกิดความรุนแรงและเป็นการเรียกสติกลับมา

การนำคู่ขัดแย้งมาเคลียร์กันจะต้องมีกติกาที่ชัดเจน และต้องแน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายเต็มใจที่จะแก้ปัญหา คุณต้องให้โอกาสแต่ละฝ่ายได้พูดมุมมองและความรู้สึกของตนเอง เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกัน
=====

ส่วนปัญหาเรื้อรัง คุณจะต้องรื้อปัญหานั้นกลับมาให้ร้อนขึ้นอีกครั้ง (warm it up) เพื่อให้ต่างฝ่ายกลับไประลึกถึงต้นตอของเรื่อง หวนไปหาความรู้สึกตอนนั้น

เพราะปัญหาก็เหมือนกับการปรุงอาหาร คุณจะต้องทำให้มันอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดเพื่อที่คุณจะสามารถจัดการได้ง่ายที่สุด สำคัญที่สุดคือการให้ความเป็นธรรมในการพูดของแต่ละฝ่าย

สิ่งที่คุณต้องจำไว้ก็คือ เป้าหมายหลักของการจัดการความขัดแย้ง ไม่ใช่การประนีประนอมอย่างที่หลายคนคิดกัน

แท้จริงแล้วสิ่งที่ดีที่สุดคือการทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาสานสัมพันธ์จนเกิดความไว้วางใจกันอีกครั้งหนึ่ง นำไปสู่การหาหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเพื่อทำงานร่วมกัน
=====

ต่อไปนี้ คือคำแนะนำในกรณีที่คุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งกับใครก็ตาม จงทำตามนี้

1.อย่ารีบร้อน

คุมสถานการณ์ให้ดี อย่างแสดงออกผลีผลาม มิเช่นนั้นคุณออาจจะเสียใจไปตลอดกาล

2.วางเป้าหมายให้ชัดว่าต้องการให้สถานการณ์นี้จบแบบไหน

กำหนดเป้าหมายโดยไม่วอกแวกกับสิ่งอื่นที่เข้ามา

3.อย่าชี้นิ้วใส่หน้าใครหรือพุ่งเป้าไปที่ชื่อของคน

ให้สนใจที่ตัวปัญหามากกว่าตัวบุคคล

4.อย่าเป็นพวก ‘คนดีขี้ตัดสิน’

จงเปิดใจให้กว้างต่อความแตกต่างระหว่างคุณกับเขาเอาไว้เสมอ

5.รับฟังทุกอย่าง

แต่จงฟังอย่างมีประเด็น

หนึ่งทักษะการฟังที่ช่วยบริหารจัดการความขัดแย้งได้ดีคือ Active Listening อ่านและศึกษาเพิ่มเติมที่นี่

6.อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรทั้งหมดจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้แสดงออก

7.ลองหาบุคคลที่ 3 ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนมาแชร์มุมมองของเขา

8.อย่าปัดป้องตัวเองเกินไป

ให้คู่กรณีเข้าถึงมุมมองเราในฐานะมนุษย์เหมือนกัน

9.เช็คอุณหภูมิความขัดแย้งเป็นระยะ ๆ

ถ้ายังไม่ดีก็หาทางประวิงเวลามาคุยกันอีกครั้งตอนที่อารมณ์เย็นลงกว่าเดิมอีกนิด

10.อย่าลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา

สุภาพเอาไว้เสมอ และอยากให้เขาทำอย่างไรกับเรา ก็จงทำกับคนอื่นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน จำไว้ว่าคุณต้องรักษาความเห็นอกเห็นใจกันและกันเอาไว้

อย่าลืมว่า ‘การจัดการกับปัญหา’ เป็นการทำให้คุณและคนอื่น ๆ เห็นตัวตนของคุณได้ชัดขึ้นนั่นเอง
=====

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากแก้ไขความขัดแย้งในทีมและพัฒนาให้ทีมร่วมมือร่วมใจกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “To Resolve a Conflict, First Decide: Is It Hot or Cold?” โดย Mark Gerzon จาก Harvard Business Review 26 มิถุนายน 2014

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

ถ้าลองไปถามลูกทีมหรือลูกน้องในองค์กรต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงยังคงทำงานอยู่ที่นั่น คำตอบส่วนใหญ่ที่ออกจากปากพวกเขาก็คือ “ผม / ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าและมีตัวตน”

ซึ่งความรู้สึกนี้สอดคล้องกับหลักการบริหารคนที่เรียกว่า “ต้องแสดงการยอมรับและยกย่องชื่นชม” (Recognition and Appreciation)

ผู้นำที่อยากให้ลูกน้องที่เก่งและดีทำงานด้วยกันต่อหรืออยากให้ลูกน้องพัฒนาผลงานด้วยความเต็มใจ ไม่ควรละเลยหลักการนี้เป็นอันขาด เพราะสองหลักการนี้นำมาซึ่งความรู้สึกภาคภูมิใจ

เมื่อคนทำงานได้รับความภาคภูมิใจ พวกเขาก็จะร่วมผลักดันผลงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ การอดทนทำงาน การซื่อสัตย์ หรือการรีดเค้นผลงานที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา
=====

การยอมรับ (Recognition) ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกว่าจดจำตัวเขาและผลงานที่เขาทำได้ แต่ยังรวมถึงการให้ Feedback เชิงบวก ว่าลูกน้องได้ทำอะไรดี ๆ มาบ้าง บางครั้งอาจอยู่ในรูปของการให้รางวัล ให้โบนัส เลื่อนขั้น หรือบางทีเพียงแค่การพูดว่าขอบคุณหรือเขียนโน้ตเป็นลายมือก็ถือว่ามีคุณค่ามากพอแล้ว

แต่การยอมรับต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะวิธีนี้ไม่สามารถทำได้กับทุกคน ที่สำคัญมันเป็นการให้คุณให้โทษที่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เกิดขึ้นจึงต้องทำเป็นวาระโอกาสและเป็นวาระที่มักจะมาจากเจ้านายไปสู่ลูกน้องเป็นหลักด้วย
=====

การยกย่องชื่นชม (Appreciation) มีเพื่อเสริมส่วนที่การยอมรับ (Recognition) ขาดหายไป

เพราะวิธีนี้ไม่ใช่แค่การรอให้เขาทำผลงานดีออกมาก่อนเท่านั้น แต่การยกย่องชื่นชมสามารถทำได้เรื่อย ๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เห็นว่าอีกฝ่ายทำงานดี

การชื่นชมว่าอีกฝ่ายมีคุณค่านั้น ทำได้หลายวาระกว่า ดังเช่นเทคนิค ต่อไปนี้

=====

รับฟัง

การฟังอีกฝ่ายพูดเป็นแสดงถึงการให้ความสำคัญ หากมีคนมาคุยด้วยตอนเรากำลังเล่นมือถือหรือจ้องหน้าคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเราต้องการให้ความสำคัญกับเขา ให้หยุดกิจกรรมนั้นแล้วหันมาสบตาผู้พูดและตั้งใจฟังดีกว่า

หนึ่งในทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพสูง ก็คือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม ศึกษาและฝึกฝนได้จากบทความนี้
=====

บอกคนอื่นๆ ว่าคนที่เราชื่นชมนั้นเจ๋งอย่างไร

การประกาศให้คนอื่นรู้นั้นไม่ต่างจากการให้ของขวัญที่ล้ำค่า เพราะนอกจากจะทำให้เจ้าตัวปลื้มแล้ว ยังเป็นการสร้างสถานะที่ดีของคนที่ถูกชมต่อหน้าสาธารณะชนอีกด้วย
=====

แสดงออกไปเลย

บอกคนที่เราชื่นชมไปเลย ว่าสิ่งที่เป็นตัวเขานั้นดีเยี่ยมเพียงไร อาจจะถามเขาด้วยว่าเขาทำมันได้อย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำว่ามันมีมากจนเราสนใจ และแสดงความสนใจว่ามันจะดำเนินไปอย่างไรต่อ

ผลการสำรวจของพนักงานในองค์กรต่างๆ ผลที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งพบว่า คำชื่นชมจากเจ้านายทำให้พวกเขามีแรงใจที่จะอยู่ที่เดิมต่อไป และแม้ว่าเจ้านายจะชื่นชมบ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ยังจะอยากได้มันต่อไปอีกเรื่อย ๆ

แล้วคุณล่ะ วันนี้คุณได้ให้ยอมรับหรือชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจแล้วหรือยัง
=====

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Why Employees Need Both Recognition and Appreciation” โดย Mike Robbins จาก Harvard Business Review 12 พฤศจิกายน 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 


ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เรียนรู้จากงานอย่างไรให้เก่งเร็วขึ้น

เรียนรู้จากงานอย่างไรให้เก่งเร็วขึ้น

คนส่วนใหญ่มีทัศนคติว่าการศึกษาเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นในตอนที่เราเป็นเด็ก ต้องเกิดขึ้นในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ต้องเกิดขึ้นในระบบที่กระทรวงศึกษาธิการออกแบบมาเท่านั้น

ซึ่งถ้าทัศนคติเช่นนั้นทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง คนส่วนใหญ่บนโลกก็คงประสบความสำเร็จไปแล้ว  คนที่ประสบความสำเร็จมีคุณสมบัติประการหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ การเป็นนักเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา

====

ที่บอกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมาสนับสนุนให้คุณไปเรียนต่อเอาใบปริญญามาประดับฝาบ้านเพิ่ม เพราะการทำเช่นนั้นก็หมายความว่าคุณยังหนีไม่พ้นทัศนคติของคนส่วนใหญ่ข้างต้นอยู่ดี

การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากหัวใจที่เปิดกว้างและกระหายที่จะรู้ เข้าใจ และเปลี่ยนแปลง

เมื่อมีทัศนคติที่ถูกต้องแล้วต่อให้คุณมีอาชีพการงานที่ต้องทำทุกวันคุณก็สามารถเรียนรู้ได้อยู่ตลอด
เพราะการทำงานก็เป็น ‘ห้องเรียน’ ที่ดีที่สุดห้องหนึ่งเลยทีเดียว
====

เราจะเรียนรู้จากการทำงานได้อย่างไร

ในตำราการบริหารจัดการยุคใหม่หรือ Management 3.0 และหลักการบริหารแบบ Agile (หลักการทำงานที่เน้นการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย) มีเครื่องมือหนึ่งที่มีประโยชน์มากในการเรียนรู้จากการทำงานจริง

เครื่องมือนั้นชื่อ Celebration Grid

Celebration Grid คือ แผนภาพไดอะแกรมที่เป็นแกนตั้งฉากระหว่างพฤติกรรมกับผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งจะบอกส่วนผสมระหว่าง ความสำเร็จ (Success) กับ ความล้มเหลว (Failure) ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่คนส่วนใหญ่โหยหาแต่ความสำเร็จ ซึ่งดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้เราไม่ได้เรียนรู้และไม่เกิดนวัตกรรม การแก้ปัญหาใหม่ ๆ
====

แก่นแท้ของการเรียนรู้จากความล้มเหลว

Celebration Grid แสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า ณ พื้นที่ที่ประกอบไปด้วยความสำเร็จจากการทำตามสูตรเดิม และ ความล้มเหลวจากการทดลองอะไรใหม่นั่นแหล่ะคือพื้นที่ที่เราจะได้เรียนรู้มากที่สุด

เพราะถ้าเรายึดติดกับความสำเร็จเราจะไม่กล้าทดลองอะไรใหม่ ๆ และนั่นจะทำให้เราไม่ได้เรียนรู้ ส่วนถ้ามุทะลุบ้าบิ่นทำแต่สิ่งใหม่

ทดลองมันร่ำไปเราอาจจะพบแต่ความผิดพลาดล้มเหลวจนสูญเสียกำลังใจและไม่ได้เรียนรู้เช่นกัน

คำถามสองข้อที่เราควรถามตัวเองและทีมเมื่อทำโปรเจคต่าง ๆ เสร็จสิ้น(หรือทำงานเสร็จในแต่ละสัปดาห์) ก็คือ

อะไรบ้างที่เราทำได้ดี (เรามีหลักปฏิบัติที่ดีอย่างไรบ้าง)

อะไรบ้างที่เราได้เรียนรู้ (เราได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง)

ถ้าคุณรักษาสมดุลระหว่างคำถามทั้งสองข้อนี้ไปเรื่อย ๆ คุณจะพบว่าตัวเองกลายเป็นนักเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่มีห้องเรียนที่ชื่อว่า ‘การทำงาน’ นั่นเอง

เมื่อฝึกฝนตัวเองให้เรียนรู้จากงานได้สักระยะหนึ่งแล้ว คุณสามารถต่อยอดไปสู่ทีมและองค์กรได้ด้วย 4 เทคนิคสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในทีม คลิกอ่านที่นี่

====

ทักษะสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็คือการโค้ชและการให้ Feedback ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching and Feedback ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
Productivity and Team Collaboration Facilitator 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เทคนิคการประชุมให้มีประสิทธิภาพสูง

เทคนิคการประชุมให้มีประสิทธิภาพสูง

หลายคนคงมีประสบการณ์ไม่ดีนักเกี่ยวกับการประชุม คนจำนวนมากถึงกับบอกว่าการประชุมเป็นเรื่อง ‘เสียเวลา’ จนพาลรู้สึกเกลียด

แต่ยิ่งเกลียดก็ยิ่งเจอ เพราะการนัดหมายเพื่อประชุมนั้นติดตามคุณไปทุกหนทุกแห่ง และเป็นการนัดหมายที่ไม่เคยจบสิ้นเลย

มีการประเมินเอาไว้ว่า บรรดาผู้บริหารจะต้องเจอการประชุมเป็นเวลาเฉลี่ยประมาณ 23 ชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์

จากจำนวนทั้งหมดนี้ 8 ชั่วโมงเป็นปริมาณการประชุมที่สูญเปล่า มีทีมงานถึงร้อยละ 90 ยอมรับว่าเวลาประชุมพวกเขานั่งเหม่อลอยคิดเรื่องอื่น ๆ และร้อยละ 73 ยอมรับว่า พวกเขาเอาเวลาประชุมนี่แหละนั่งทำอย่างอื่นไปด้วย
====

ปัญหาจริง ๆ มีอยู่ว่าบรรดาเจ้านายหรือหัวหน้าทีมมักจะคิดไปเองว่าการประชุมนั้นดีงาม จากการสำรวจในกลุ่มผู้จัดการ พบว่าเกือบร้อยละ 80 นั้นคิดว่าการประชุมที่เขาจัดให้ผลที่ยอดเยี่ยม

มีการทำวิจัยอย่างจริงจังพบว่าคนที่มักจะบอกว่าการประชุมนั้นให้ผลดีเลิศ และมีความสุขที่สุด ก็คือคนที่พูดมากที่สุด ซึ่งก็คือ ผู้นำทีมเองนั่นแหละ

แล้วถ้าประชุมแบบนี้ต่อไปจะเสียหายอย่างไร งานวิจัยบอกกับเราว่า มีการประเมินในสหรัฐอเมริกาว่าการที่ลูกน้องในทีมต้องมานั่งประชุม โดยไม่ได้ทำงานที่สมควรทำหรืองานเร่งด่วน ไม่ได้ใช้เวลาไปกับการหาแรงบันดาลใจและคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียมากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว
====

เมื่อการประชุมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงมีคำแนะนำสำหรับบรรดาผู้นำว่าทำอย่างไรให้การประชุมมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้

1.เตรียมตัวให้พร้อม

เริ่มต้นมีชัยไปกว่าครึ่ง คนจะนัดประชุมนั้นต้องเตรียมตัวมาอย่างดีที่สุด ต้องรู้เหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอว่าทำไมต้องมีการประชุมนี้ ควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าการประชุมจะก่อให้เกิดอะไรบ้าง และกระบวนการนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง มีประเด็นหรือหัวข้ออะไรที่จำเป็นจริง ๆ

เมื่อรู้แล้ว ต่อมาก็คือเตรียมคนที่จะเข้าประชุม ให้นึกถึงเฉพาะคนที่จะมาช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพ ใครที่จะมาช่วยงาน ใครที่จะมาแสดงความคิดเห็น ใครจะมาช่วยตัดสินใจ แล้วต้องทำให้เห็นว่าคนที่ไม่จำเป็นต้องร่วมประชุมก็จะไม่ถูกทอดทิ้ง อาจจะให้พวกเขาเสนอความคิดเห็นนอกรอบมาก่อนแล้วค่อยแชร์ผลการประชุมให้พวกเขารับทราบในภายหลัง

ถัดมาก็ตัดสินใจเรื่องเวลาและสถานที่ให้ชัดเจน ลองเปลี่ยนที่ใหม่ ๆ ลองประชุมในตอนเช้าบ้าง ลองเปลี่ยนเวลาการประชุมให้แปลกออกไปสักหน่อย บางทีการเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่งก็ได้ผลดี หรือถ้าคนไม่เยอะอาจใช้การเดินประชุม การยืนประชุมก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เมื่อยเสมอไป
====

2.สนับสนุนให้การประชุมราบรื่น

การสนับสนุนคนประชุมให้รู้สึกดีถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น มีคนมายืนรับและทักทายหน้าห้องประชุม ขอบคุณทุกคนที่มา มีขนมนมเนยให้กิน มีการเล่นดนตรีสักหน่อย (แต่อย่าเยอะเกินไป) ขอให้ช่วยปิดเครื่องมือสื่อสารที่จะรบกวนสมาธิ และช่วยบอกคนที่มาว่าแต่ละคนนั้นทำไมถึงจะต้องมาร่วมประชุมครั้งนี้

ระหว่างประชุมก็ควรมีจิตวิทยาในการจัดการ เน้นการตั้งคำถามที่ดี ฟังอย่างละเอียดถี่ถ้วน ช่วยดึงคนให้มีส่วนร่วมกันอย่างทั่วถึง ถ้าเริ่มขัดแย้งก็ต้องหาทางคลี่คลายให้บรรยากาศกลับมาดีอีกครั้ง

คนที่เชิญคนมาร่วมหรือประธานการประชุมนั่นแหละจะเป็นคนทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกมีคุณค่าและไม่เสียเวลาที่มาประชุมครั้งนี้

เมื่อคนที่มาประชุมรู้สึกว่าการประชุมนั้นมีคุณค่า พวกเขาก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมอีก และไม่เท่านั้นพวกเขายังจะทำให้หวนกลับไปทำงานตามหน้าที่ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยผู้นำการประชุมที่รู้จักยืดหยุ่น เรียนรู้ และมีเหตุผล รวมถึงมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี

เพียงเท่านี้ การประชุมครั้งต่อไปของคุณก็จะไม่เสียเวลาอีกต่อไปแล้วล่ะ
====

เรียบเรียงจาก “Why Your Meetings Stink and What to Do About It” โดย Steven G. Rogelberg จาก Harvard Business Review มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาน้อย

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาน้อย

คุณเป็นอีกคนที่เคยเจอสถานการณ์งานกองท่วมหัวแต่มีเวลาแค่น้อยนิดใช่ไหม คุณอาจจะเคยลองใช้เทคนิคจัดลำดับความสำคัญหรือไม่ก็เคยตัดงานไม่สำคัญออกแล้วเลือกโฟกัสเน้น ๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ

แต่มันก็ยังไม่ได้ผลใช่ไหม

ต่อไปนี้คือเทคนิค ‘ขั้นกว่า’ ที่ให้คุณลองหยิบไปใช้ ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาการทำงานให้ได้เยอะ คุณภาพดี ภายในเวลาที่น้อยนิด
====

ระบุความคาดหวังให้ชัด

ต้องไม่ลืมว่าในงานหนึ่งชิ้นจะมีส่วนที่ลูกค้าหรือคนที่เกี่ยวข้องอยากได้เป็นพิเศษ และส่วนที่คิดว่าแค่ขอให้มีไปงั้น ๆ ฉะนั้นลองพูดคุยกันให้เคลียร์ไปเลยจริง ๆ ว่าคุณจำเป็นต้อง ‘จัดหนัก’ ตรงไหนกันแน่

และถ้ารู้แล้ว คุณจะได้เน้นไปยังส่วนสำคัญโดยเน้นส่วนนั้น โดยไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่คิดว่าไม่มีความจำเป็นมากเกินไปตั้งแต่แรก

====

เอาของเก่ามาปรับใช้ใหม่

นี่คือโลกแห่งยุครีไซเคิล ดังนั้นการเอาของที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่ หรือนำมาประยุกต์แบบหมุนเวียนถือเป็นการประหยัดเวลาและทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมด้วย

ลองลิสต์ออกมาดูว่าบรรดาสไลด์ต่าง ๆ เนื้อหาข้อความ ร่างโปรเจ็กต์ หรือหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่คุณเคยทำเอาไว้ มีอะไรที่นำมาปรับใช้ใหม่ได้บ้าง
====

สร้าง Template และ Check List

เมื่องานเร่ง เวลาก็น้อยจะมีอะไรที่ดีไปกว่าการมีร่างเอาไว้ แล้วใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนั้นมาปรับให้กลายเป็นงานชิ้นใหม่ การทำ Template ว่าจะต้องใส่ข้อความอะไร เพิ่มหรือปรับตรงไหนจากร่างที่มีอยู่จะช่วยทำให้คุณเปลี่ยนจากการทำข้อสอบเขียนบรรยายสองหน้าอันยืดยาว เป็นการเติมคำอย่างง่าย

และหากคุณมี Check List เพื่อเช็คงานตัวเองทีละข้อ ๆ จนครบถ้วน จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ คุณจะได้ไม่ต้องกังวล และสับสนว่าทำอะไรไปหรือยัง แล้วยังขาดอะไรอยู่อีกบ้าง
====

เรียกคุยเลยดีกว่า

ในบางครั้ง การมัวแต่นั่งเขียนบันทึก หาคำเป็นทางการ หรือทำสื่อนำเสนอที่แสนวุ่นวายอาจเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น แถมยังเปลืองทรัพยากรอีกต่างหาก

ในบางกรณี หนทางอย่างการเรียกมาพูดคุยกัน สนทนาตอบโต้เพื่อหาข้อสรุป จะช่วยทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างง่ายดายและเคลียร์ที่สุด
====

สร้างตารางเวลา

การมีตารางเวลาแบบละเอียด จะทำให้คุณกลายเป็นสุดยอดแห่งการบริหารเวลา งานแต่ละชิ้นจะถูกกำหนดชัดเจนว่าสำคัญมาก – น้อย ต้องให้เวลาแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่ถือว่าหมดเวลาแล้วควรผละไปทำอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า

ถ้ามีเครื่องมือนี้แม้จะไม่ได้การันตีว่าจะทำงานได้เสร็จอย่างยอดเยี่ยม แต่อย่างน้อยมันจะทำให้คุณรู้ว่า คุณกำลังทำงานอะไร สำคัญแค่ไหน จะทำได้ถึงเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องนั่งพะว้าพะวงกับงานชิ้นอื่นจนเสียสมาธิโดยใช่เหตุ

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดที่จะทำให้คุณทั้งทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในเวลาอันน้อยนิด และงานนั้นอาจกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้อีกด้วย
====

เรียบเรียงจาก “5 Strategies for Getting More Work Done in Less Time” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 7 มกราคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ร่วมงานกันอย่างไร ไม่ให้หมดไฟไปก่อน

ร่วมงานกันอย่างไร ไม่ให้หมดไฟไปก่อน

ว่ากันว่าเหนื่อยกับงานไม่เท่าไหร่ แต่เหนื่อยกับคนนี่สิที่ถือเป็น ‘ที่สุดแห่งความเหนื่อย’ และหากต้องทำงานที่ต้องเจอกับคนหลากหลายประเภท (หรือจะเรียกว่า ร้อยพ่อพันแม่) ความกดดันและตึงเครียดก็ยิ่งถาโถมเข้ามามากขึ้น

การทำงานในยุคปัจจุบันไม่ได้หมกตัวอยู่แค่ในออฟฟิศ แต่มีการกระจายตัวไปหลายที่ มีโมเดลการทำงานใหม่ ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ความสลับซับซ้อนในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังทำให้มีการทำงานเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาอีกด้วย
====

การวิจัยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันพบว่า คนยุคนี้ต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมองค์กร เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำตามคำบัญชาของเจ้านาย รับมือกับลูกค้าเอาแต่ใจ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่ค่อยเข้าท่า ทั้งหมดนี้ ทำให้คนทำงาน “รับมือไม่ไหว” และสะสมจนเกิดอาการที่เรียกว่า Burn Out (ภาวะหมดไฟ)จากการทำงานมากขึ้น
และต่อไปนี้คือแนวทางความเข้าใจและหนทางแก้ไข
====

“จัดหนักเกินเหตุ” สองรูปแบบที่คุณต้องรู้

การทำงานหนักเกินเหตุมี 2 รูปแบบที่ทำให้คนทำงานถึงขั้นร่างสลายได้ แบบแรกเรียกว่า ‘เห็นผลทันตา’ ส่วนแบบที่สองเรียก ‘สะสมเรื้อรัง’

การทำงานจัดหนักเพื่อให้เห็นผลทันตา มักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องทำงานกับคนอื่น ๆ โดยต้องเพิ่มปริมาณงานมากกว่าปกติ ประเภทมีงานด่วนที่ต้องทุ่มเวลาทั้งสัปดาห์จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน
คุณต้องทำเพราะไม่อยากจะได้ชื่อว่ากลายเป็นคนนอกกลุ่มหรือไม่ให้ความร่วมมือ

และลึก ๆ คุณก็อยากจะได้รางวัลตอบแทน เช่น ได้เลื่อนขั้นด้วย ฉะนั้น หากเจ้านายขอคุณก็ต้องทำ หากเพื่อนบอกคุณก็ต้องช่วย ในขณะที่คุณก็ยังมีงานตามหน้าที่อยู่ด้วย

รูปแบบสะสมเรื้อรังนั้นน่ากลัว เพราะไม่ใช่การที่จู่ ๆ คุณก็ถูกกระชากมาทำงานโหดอย่างฉับพลัน แต่เป็นการค่อย ๆ สะสม ค่อย ๆ เพิ่มพูน ค่อย ๆ ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากทำงานของตัวเองคนเดียวจะเริ่มรับผิดชอบมากขึ้น มีคนมาเกี่ยวข้องมากขึ้น สะสมเครือข่ายการทำงานไม่สิ้นสุด

รู้ตัวอีกทีคุณก็อาจจะกลายเป็นคนที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน ใครทำอะไรคุณก็โผล่ไปช่วยทุกอย่าง จนร่างกายเริ่มพัง จิตใจเริ่มเสื่อมสลาย มีอาการห่อเหี่ยวซึมเศร้าสะสมในตัวเอง
====

ทำไมเป็นคนแบบนี้

พฤติกรรมทำงานให้ส่วนรวมแบบจัดหนักเกินไปมักเกิดจากความต้องการสร้างชื่อเสียงให้คนรู้ รวมถึงต้องการลดความตึงเครียดในการทำงานร่วมกัน (เพราะเมื่อมีการปฏิเสธ คนก็จะเริ่มทำหน้าตึง คิ้วขมวดใส่กัน)

หรือบางที อาจจะมาจากนิสัยเต็มใจทำเพื่อส่วนรวมมากเกินไป โดยไม่ได้ยั้งคิดว่ามันทำลายสุขภาพของตัวเอง

การรับมือกับภาวะช่วยงานมากเกินต้องเริ่มต้นจากการรู้ก่อนว่า ทำไมคุณถึงจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานนั้น หรือทำไมคุณถึงเข้าไปช่วยทำงานของส่วนรวม เมื่อไตร่ตรองให้รอบคอบเพื่อค้นหาที่มาที่ไปจะทำให้คุณเริ่มเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง

และนั่นคือจุดเริ่มต้นคือการปรับทัศนคติของตัวเองก่อน
====

ทำอย่างไรให้งานส่วนรวมไม่ทำร้ายเรา

การปฏิเสธให้เป็น ถือเป็นก้าวแรกในการรับมือกับนิสัยทำงานส่วนรวมมากเกินไป ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือทำลายสังคมแม้แต่น้อยหากจะบอกคนอื่นว่า เราไม่อาจทำงานนั้นได้ด้วยเหตุผลที่น่ารับฟัง แถมเรายังได้ความรู้สึกมั่นใจและเคารพตัวเองกลับคืนมาอีกด้วย

ถัดมา คือการปรับบทบาทหน้าที่ ตารางงาน และเครือข่ายการทำงาน เพื่อไม่ให้คุณต้องตกอยู่ในวงล้อมของการทำงานส่วนรวม และลดการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่ไม่มีความจำเป็นออกไปให้หมด เรียกกระบวนการนี้ว่า การปรับภูมิทัศน์การทำงานของตัวเอง

เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเผลอไปรับปากทำงานส่วนรวมที่ไม่สำคัญสำหรับคุณ รวมถึงปรับวิธีประสานงานให้เกิดผลดีกับตัวเอง บางอย่างใช้ reply all บางอย่างใช้ cc ในการตอบอีเมล์ เพื่อให้ภาระไม่ตกอยู่กับคุณในตอนท้าย

วิธีการทั้งหมดนี้ จะทำให้คุณสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่ทุกข์ทรมานกับการต้องร่วมงานกับคนมากๆ หรือรับงานส่วนรวมมาใส่ตัว และท้ายที่สุด คุณจะสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหนื่อยเกินทน หรือภาวะหมดไฟได้อีกด้วย
====

เรียบเรียงจาก “Collaboration Without Burnout” โดย Rob Cross, Scott Taylor, and Deb Zehner จาก Harvard Business Review กรกฎาคม ถึง สิงหาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

วิธีใหม่ในการฝึกเข้าใจผู้อื่น

วิธีใหม่ในการฝึกเข้าใจผู้อื่น

ในโลกเรานี้ ‘คนฉลาด’ มีเยอะ ‘คนเก่ง’ มีมาก แต่เรื่องจริงที่คุณต้องตระหนักเอาไว้เสมอก็คือทั้งความฉลาดและความเก่งไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้ใครประสบความสำเร็จเสมอไป

เพราะเอาเข้าจริงแล้วทั้งสองสิ่งนั้นล้วนมี ‘ขั้นกว่า’ ที่จะช่วยให้ใครสักคนไปได้ไกลกว่าเดิม ขั้นกว่าความฉลาดและความเก่งนั้นก็คือ การเป็น ‘คนใจกว้าง’ ที่สามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดีนั่นเอง
====

‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ รัฐบุรุษแห่งสหรัฐอเมริกามีชื่ออยู่ในตำนานแห่งคนประสบความสำเร็จตลอดกาล เพราะว่าเขาไม่เพียงแต่จะเป็นคนที่ฉลาดเท่านั้น แต่เขายังเป็นคนเฉลียวฉลาดที่รู้ว่าตัวเองไม่อาจที่จะรู้ไปทุกเรื่องได้

ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่จะต้องถกเถียงกับคนอื่นในเรื่องต่าง ๆ เขาจะเปิดใจให้กว้างเพื่อ… รับฟัง

====

ประวัติศาสตร์สอนเรามาตลอดว่า คนมักจะเลือกผู้นำทั้งทางการเมืองและธุรกิจโดยมองหาคนที่คาดเดาได้ เข้มแข็งหนักแน่น ไม่อื้อฉาว

แต่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า คนที่เราต้องการให้เป็นผู้นำจริง ๆ มีลักษณะตรงข้ามกันด้วยซ้ำ นั่นคือเป็นคนที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและมีความคิดสร้างสรรค์

และนั่นคือบุคลิกของเบนจามิน แฟรงคลิน เราอยากได้คนฉลาดและแข็งแกร่งทางความคิดพอจะชักจูงคนอื่นได้ แต่ก็ยังมีความยืดหยุ่นพอที่จะรับฟังเรื่องใหม่ ๆ และกล้ายอมรับว่าตัวเองผิดเพื่อที่จะก้าวไปสู่พื้นที่ที่ไม่เคยก้าวไปได้ด้วย
====

ปกติผู้นำและคนฉลาดมักจะหัวดื้อ แต่อยากให้คุณลองนึกภาพคนฉลาดที่หัวไม่ดื้อดูว่าคงจะเป็นคนที่ยอดเยี่ยมไม่น้อย

มีนักวิจัยเสนอแนวคิดที่เรียกว่า “ความฉลาดในแบบมนุษย์” ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะรับฟังและเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน ก็มี Sense ที่ยอดเยี่ยมว่าเมื่อไหร่ควรปรับและเมื่อไหร่ที่ไม่ควรปรับ

ความฉลาดและใจกว้างควรประกอบไปด้วย สิ่งเหล่านี้ …

เคารพในความคิดและมุมมองของคนอื่น
อย่ามั่นใจในความฉลาดของตัวเองเกินไปนัก
แยกแยะระหว่างอีโก้และความฉลาดที่แท้จริงออกจากกันได้
เต็มใจที่จะทบทวนความคิดของตัวเองใหม่อีกครั้ง
====


เคล็ดลับส่งตรงจากเบนจามิน แฟรงคลินในการเป็นผู้นำและคนฉลาดที่ใจกว้าง ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ได้เลย ก็คือ การกระหายที่จะเรียนรู้และเติบโต เพราะสิ่งนี้จะเหมือนการปล่อยแก้วให้ว่างครึ่งแก้ว เพื่อรอการเติมเต็มอยู่เสมอ และการเรียนรู้เพื่อเติบโตนี้เอง ที่จะช่วยทำให้ผู้นำคนหนึ่งมีความมั่นใจและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม

ประโยคพูดสุดดังของแฟรงคลินที่ว่า “ผมอาจจะผิดก็ได้นะ แต่ผมคิดว่า…. “ทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกกดดันเวลาที่จะเสนอความเห็นใด ๆ ขณะเดียวกัน ตัวเขาก็ดูเปิดใจที่จะรับฟังอีกฝ่ายเพราะแสดงท่าทีแล้วว่า ไม่ใช่ว่าตัวเองจะถูกเสมอไป

และทั้งหมดนี้คือวิธีง่าย ๆ สำหรับการฝึกใจให้กว้างเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในการทำงานอย่างแท้จริง
====

เรียบเรียงจาก “New Way to Become More Open-Minded โดย Aby Shane Snow จาก Harvard Business Review 20 พฤศจิกายน 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ฝึกเป็นสุดยอดผู้นำด้วยการเป็นสุดยอดผู้ตาม

ฝึกเป็นสุดยอดผู้นำโดยการเป็นสุดยอดผู้ตาม

คุณคิดว่า ‘สุดยอดผู้นำ’ เป็นอย่างไร

เชื่อว่าคำแนะนำส่วนใหญ่ที่ปลูกฝังกันมาก็คือให้ทำตัวเป็นผู้นำด้วยการทำให้คนอื่น ๆ เห็นว่าคุณมีสถานะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการออกหน้า ออกคำสั่ง เมื่อมีโอกาสก็ขึ้นมาคุมงานและนำพาคนอื่น ๆ ให้เดินตามด้วยความมั่นใจและทรงอำนาจ

ทั้งหมดนั้นก็อาจจะใช่แต่อย่าลืมความจริงที่สำคัญว่าผู้นำไม่ใช่ผู้วิเศษ ผู้นำไม่มีอำนาจเหนือมนุษย์ที่จะสั่งให้ใครทำตามได้ทุกอย่าง งานวิจัยระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่จะทำให้คนเป็นผู้นำได้อย่างแท้จริงคือการมีผู้ตามที่เต็มใจจะตามจริง ๆ มิเช่นนั้นตำแหน่งผู้นำก็คงไร้ความหมาย
====

ในหนังสือของ ‘สตีเฟ่น รีชเชอร์’ และ ‘ไมเคิล พลาโทว์’ ชื่อ The New Psychology of Leadership บอกว่า กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ อยู่ที่การทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘พวกเรา’ ไม่ใช่ ‘ฉัน’

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามคือเรื่องสำคัญที่สุดของการทำงานเป็นทีม ผู้นำทีมจะต้องทำให้คนอื่น ๆ รู้สึกว่าตัวเองหลอมรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีสถานะที่เรียกว่าเป็นพวกเรา มีค่านิยมและประสบการณ์ต่างๆ ที่ส่งไปมาหากันอย่างแนบแน่น

ทุกสิ่งที่ผู้นำทำนั้นจะต้องเป็นการ ‘ทำเพื่อพวกเรา’ โดยอยู่บนประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าส่วนตัว
====

ฉะนั้น แทนที่ผู้นำจะคิดหาทางว่าทำอย่างไรให้ตัวเองโดดเด่น มีความเหนือกว่าคนในทีม ผู้นำควรจะหาทางทำให้คนในทีมรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

และจะดียิ่งขึ้นถ้าผู้นำทำให้รู้สึกว่าเขาคือคนที่รับฟังและพร้อมที่จะทำตามความต้องการที่แท้จริงของทีม
ทุกสิ่งที่ผู้นำขั้นเทพควรจะทำ คือการเป็นผู้ตามเสียงแห่งผลประโยชน์ของทีมไม่ใช่ตามใจตัวเอง
====

มีงานศึกษาที่ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าคนที่มองว่าตัวเองคือผู้นำที่อยากจะออกคำสั่งและคิดว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่นนั้น สุดท้ายจะไม่สามารถโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมงานยอมทำตามได้

ในทางตรงกันข้าม คนที่มองตัวเองว่าเป็นผู้ตาม (ซึ่งหมายถึงการตามคุณค่าที่แท้จริงของทีม) ที่ดีจะกลายเป็นผู้นำที่คนอื่น ๆ ให้การยอมรับนับถือ

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เรามักจะได้ผู้นำที่มีท่าทางอยากเป็นผู้นำมาก ๆ นั่นคือถ้ามีการเลือกตั้งหรือมีการแต่งตั้งจากใครสักคน คนที่แสดงตัวอยากจะเป็นผู้นำโดยชอบออกหน้า ชอบเสนอตัวอย่างโดดเด่นก็มักจะได้รับการคัดเลือกเป็นส่วนใหญ่

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะถูกเลือกมาโดยวิธีการไหน หรือใครจะเลือกเข้ามา การจะเป็นผู้นำขั้นเทพที่ได้รับการยอมรับ และทำให้งานรุดหน้าอย่างราบรื่น กฎข้อแรกที่ต้องจำไว้ก็คือคุณไม่ควรทำตัวเหินห่างจากทีม กฎต่อมาคือไม่ควรแสดงตัวให้เหนือกว่า แต่ควรจะเดินตามจังหวะของคนในกลุ่ม รับฟังและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมอย่างแท้จริง

หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญของการทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันก็คือการสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้เกิดขึ้น อ่าน ทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่จะตามมา คลิกที่นี่
====

การทำให้คนสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันอย่างมีประสิทธิภาพคือทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “To Be a Good Leader, Start By Being a Good Follower” โดย Kim Peters and Alex Haslam จาก Harvard Business Review 6 สิงหาคม 2018

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save