ให้ Feedback ได้ ทีมพัฒนาไวขึ้น

ให้ Feedback ได้ ทีมพัฒนาไวขึ้น

การ Feedback หรือ การรีวิวผลงาน , การประเมินผลงาน เป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องมีในองค์กรต่าง ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าผลการทำงานของแต่ละคนเป็นอย่างไร 

ดูเผิน ๆ วิธีเหล่านี้เหมือนจะดี เพราะหลังจากรวบรวมความคิดเห็นและบันทึกรวบรวมสำหรับพนักงานแต่ละคนครบหนึ่งปีแล้วก็ควรจะมีการสื่อสารไปบ้างเพื่อทำให้เขาเห็นข้อบกพร่องแล้วเกิดการปรับปรุง  

แต่เชื่อไหมว่า โดยส่วนใหญ่แล้วการรีวิวมักจะสร้างความหวาดหวั่นมากกว่า เหตุผลสำคัญก็เพราะการรีวิวผลงานนั้นมักจะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว พนักงานมักรู้สึกประมาณว่าต้อง “เข้าห้องเชือด” ซึ่งทุกคนก็ลุ้นว่าจะโดนด่ามากน้อยแค่ไหน แล้วจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่น่าอึดอัดนี้ไปได้หรือไม่

=====

ในความเป็นจริง การรีวิวและประเมินผลงาน หรือการ Feedback การทำงานนั้น ควรจะทำให้คนรับฟังรู้สึกว่าได้รับข้อเสนอแนะ และเข้ามาร่วมกันสร้างหนทางไปสู่อนาคต

และควรจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง  ช่วยกันประคับประคองให้เกิดการทำงานในระดับที่น่าประทับใจยิ่งขึ้นมากกว่า

เช่นนี้แล้ว การให้ Feedback จึงถือเป็นทักษะที่จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝน เพื่อก่อให้เกิดผลดีตามมามากที่สุด ดังหลักการต่อไปนี้

=====

การให้ Feedback อย่างมีประสิทธิภาพ

1. ไตร่ตรองถึงแรงจูงใจ

ที่จะ feedback ก่อน ว่าทำไมถึงจะต้อง feedback วัตถุประสงค์คือการปรับปรุงการทำงาน และแก้ไขสถานการณ์ใช่หรือไม่ ฉะนั้น การจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ควรทำให้กลายเป็นพื้นที่ของการด่าทอหรือสร้างความรู้สึกแย่ ๆ ให้เกิดขึ้น ในทางกลับกัน การ feedback เชิงบวกและมุ่งหาการแก้ไขอย่างตรงจุด จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยต้องไม่ลืมหลักการ “เป็นธรรมและสมดุล” ด้วย 

=====

2. เลือกเวลาให้เหมาะสม

การ feedback ไม่ใช่การเซอร์ไพรส์ที่จู่ ๆ ก็โผล่มา แต่ควรจะเกิดขึ้นภายหลังจากมีเรื่องต้องแก้ไขไม่นานนัก เทคนิคอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าสถานการณ์ยังเต็มไปด้วยอารมณ์พลุ่งพล่าน ก็ควรรอให้ทุกฝ่ายสงบสติอารมณ์เสียก่อน แล้วค่อยให้ feedback  ไม่เช่นนั้น ทุกอย่างอาจพังครืนให้เสียใจภายหลังได้

=====

3.ทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นเรื่องปกติ

เมื่อมีอะไรต้องปรับปรุงก็ควรหาทาง feedback ไป จนคนร่วมทีมรับรู้ว่าจะต้องมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ควรรอเวลากำหนดชัดเจนตายตัวในระยะห่าง เช่น ทุกหนึ่งปี หรือทุกสามเดือน

จริงอยู่ว่าการ feedback ตามวาระจะต้องมีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีการ feedback อย่างไม่เป็นทางการ หรือตามสถานการณ์ด้วย 

=====


การตระเตรียมเบื้องต้น ทำได้ ดังนี้ 

  • ควรทำให้เข้าใจง่ายๆ และควรทำให้คนทำงานสามารถเตรียมรับมือได้ว่าจะมีการ feedback เกิดขึ้น  (แต่ไม่ใช่การมานั่งอ่านสคริปต์)  คุณควรทบทวนสิ่งที่ต้องการจะพูดออกไปให้เคลียร์ที่สุดก่อน แล้วค่อยสื่อสาร ถัดมาคือ ไม่ควรให้ความคิดเห็นแบบทึกทักเอาเองหรือการพูดอ้อมโลก
  •  ชี้ให้ตรงจุด ว่าอะไรกันแน่ที่เขาควรปรับปรุง เช่น อย่า feedback ว่า “ไม่เป็นมืออาชีพ” แต่คุณควรชี้เป้าให้ชัดว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้เขาไม่เป็นมืออาชีพ เช่น  ทำเสียงดังเกินไป ทำตัวสนิทสนมเกินไป หรือแต่งตัวไม่เหมาะสม
  • เลือกคำพูดที่สร้างสรรค์ คือคำพูดที่ไม่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าถูกประเมินอย่างรุนแรง เช่น หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ไม่เคยเลย” , “ทั้งหมดที่ทำ” , “ทำแบบนี้ตลอด” และควรใช้คำแทนความคิดความรู้สึกของตัวเอง เช่น  “ผมคิดว่า…” เพื่อให้เข้าใจว่าทั้งหมดนี้คือทัศนะส่วนบุคคลที่เสนอแนะอย่างเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง คนฟังจะได้ไม่รู้สึกเหมือนถูกตีตราว่าใคร ๆ ก็คิดว่าตนเองไม่ดี

ทักษะการ Feedback ที่ดีควรฝึกควบคู่กับทักษะการโค้ช อ่านบทความ High Performance Coaching เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นได้ คลิกที่นี่

=====

การวิจารณ์ที่ดีและส่งผลยอดเยี่ยมต่อคนฟัง คือ การเสนอแนะแบบเป็นส่วนตัว

ดังที่มีคนกล่าวบ่อยๆ ว่า เวลาที่ชื่นชมใครให้ชมต่อหน้าคน แต่เวลาตำหนิหรือขอให้ใครแก้ไขควรบอกเป็นการส่วนตัว ซึ่งควรเลือกสถานที่ซึ่งทำให้คุยกันได้ชัดเจน โดยไม่ถูกรบกวน 

ในการ feedback  ควรจะโฟกัสให้ตรงจุด ไม่เกินเลยไปกว่าประเด็นหรือเรื่องที่จะ feedback  และควรมองหาสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้  เช่น การมาทำงานสาย ไม่ใช่ไปบอกว่าเขาเป็นคนพูดจาไม่ดี นั่นแปลว่า  คุณควรหาทางพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกเป็นบวกมากที่สุด จริงอยู่ว่าคนที่ถูกเรียกเข้าไปคุยอาจจะทำงานผิดพลาด แต่หัวหน้าจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนคนนี้รู้สึกว่าได้รับพลังงานบวก จนอยากกลับมาปรับปรุงและทำงานได้ดีกว่าเดิม


อย่าลืมว่าทั้งคนให้ feedback และคนรับจะต้องรู้สึกถึงสิ่งที่ควรปรับปรุงร่วมกัน จะต้องเป็นการร่วมกันพัฒนาปรับปรุงเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย และมีความชัดเจนในข้อเสนอแนะด้วย 

เมื่อ feedback กลับไป ก็ต้องไม่ลืมติดตามผลด้วยว่าหลังจากนั้นเป็นอย่างไร ต้องมั่นใจให้ได้ว่าสิ่งที่พูดคุยกันไปนั้นจะทำให้เกิดผลตามที่ต้องการได้ในเวลาต่อมา 

=====

หากคุณต้องการพัฒนาทักษะและกระบวนการ Positive Feedback เพื่อพัฒนาทีมให้เก่งขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ขอแนะนำหลักสูตรสำหรับองค์กร “High Impact Coaching  & Positive Feedback” ซึ่งทำให้ผู้เข้าอบรมมีวิธีการให้ Feedback ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง คลิกดูได้ที่นี่ครับ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

โค้ชอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่

โค้ชอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่

หลายคนอาจจะคิดว่า การโค้ชเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุด น่าจะหมายถึงการโค้ชคนที่มีทักษะความสามารถในระดับสูงอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด

การโค้ชเพื่อศักยภาพระดับสูงอาจทำกับคนที่มีทักษะระดับสูงอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เราสามารถโค้ชทุกคนเพื่อที่จะบรรลุศักยภาพระดับสูงของตัวเขาเองได้ นั่นหมายถึงเราสามารถโค้ชใครก็ได้ในองค์กร ทั้งหัวหน้า ผู้จัดการ หรือลูกน้อง เพื่อรีดศักยภาพของเขาให้ทำผลงานออกมาเต็มศักยภาพ

ทักษะการโค้ชนี้หยิบยืมมาจากวงการกีฬาและการทหาร ซึ่งมุ่งมั่นผลักดันศักยภาพของคนในทีมให้ไปสู่ระดับสูงสุด โดยการโค้ชจะเริ่มจากการหาจุดตั้งต้น เช่น วิสัยทัศน์ หรือความปรารถนาในชีวิตก่อน แล้วค่อยหาทิศทางที่จะพาคนนั้นไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้

ใช้การโค้ชเมื่อไหร่ดี?

วิธีการ High-Performance Coaching จะช่วยให้คนสำรวจแรงกระตุ้นภายในตัวเอง และเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ การโค้ชแบบนี้จึงเป็นทั้งการสนับสนุนและความท้าทายในเวลาเดียวกัน ซึ่งมักจะใช้กับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้

การวางแผนในระยะยาวตลอดอาชีพ / ชีวิต บางคนอาจจะไม่ชอบวางแผนชีวิต แต่แท้จริงแล้วมีหลักฐานว่าคนที่วางแผนชีวิตนั้นจะประสบความสำเร็จในระยะยาวมากกว่าคนที่ไม่ได้วางแผน

นำทางไปสู่จุดเปลี่ยนในอาชีพ เช่น หาทางก้าวจากคนทำงานระดับธรรมดาไปสู่ระดับผู้จัดการ หรือระดับผู้จัดการไปสู่ผู้นำองค์กร โค้ชที่เก่งจะนำเสนอหนทางที่ชัดเจนและแรงบันดาลใจที่ดี เพื่อนำทางให้คนเดินไปสู่จุดเปลี่ยนของเขาได้สำเร็จ

สร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำงานหรือสร้างพฤติกรรมแห่งความสำเร็จ
เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือฉุดรั้งความสำเร็จ ให้กลายเป็นการสร้างทักษะที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญสู่เป้าหมายระยะยาว

การเยียวยาปัญหาชีวิต โค้ชที่รีดเค้นศักยภาพสูงสุดจะช่วยซ่อมแซมธุรกิจหรือปัญหาชีวิตแก่ผู้คน ทำให้ชีวิตกลับสู่ความสมดุล หรือเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ เช่น ภาวะหมดพลังในการทำงาน ได้ดีขึ้น
=====

เครื่องมือและทักษะที่คนที่ต้องการโค้ชควรจะมี ได้แก่

  • เคารพผู้รับการโค้ชในฐานะคนคนหนึ่ง
  • เคารพทักษะของผู้รับการโค้ชและเป้าหมายในชีวิต
  • จริงใจในการให้ feedback ที่มีระบบและท้าทายมากพอ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ผู้รับการโค้ชต้องการ
  • ระวัง Ego ของตัวเอง ไม่สร้างประเด็นที่มีวาระแฝงซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายของผู้รับการโค้ช
  • เลือกใช้เครื่องมือที่ตัวเองถนัด เพื่อให้ผู้รับการโค้ชได้พบตัวตน อาจจะลองใช้ GROW Model (โมเดลการโค้ชแบบสากล) มาช่วยได้
  • สิ่งที่ต้องระวังคือ Emotional Interference หรือการแทรกแซงทางอารมณ์ของตัวเราเอง

=====

หลักการนี้ มาจากสูตรที่เรียบง่ายคือ

Performance = Potential – Interference

ผลงานที่ดีจะมาจากศักยภาพที่ถูกรบกวนน้อยที่สุด แน่นอนว่ามนุษย์มักจะถูกรบกวนแทรกแซงทางอารมณ์เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกลัว ความรู้สึกผิด และความกังวล

ความกลัว ถือเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุด การกลัวบางเรื่องมาจากข้อเท็จจริงเบื้องหน้า แต่บางครั้งเป็นสิ่งที่คิดไปเอง จิตใจคนเราจะสร้างแง่มุมลบขึ้นมาเพื่อทำให้ชีวิตปลอดภัย แต่ข้อเสียคือ มันจะทำให้เราไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ และขัดขวางไม่ให้เราเติมเต็มในชีวิต(Fulfillment)

การค้นหาและขจัดความกลัวอาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่มีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะเราอาจจะพบจุดอ่อนสำคัญที่รั้งชีวิตมาโดยตลอด

ความรู้สึกผิด อารมณ์ที่ทำให้สมดุลของชีวิตและการงานเสียไป คนที่ทำงานหนักกว่าคนอื่นอาจจะมีที่มาจากการรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสำเร็จมากพอ จนเขาเลือกเพิ่มชั่วโมงการทำงาน แต่ผลลัพธ์คือการทำลายสมดุลของชีวิตไป

ความกังวล บางคนกังวลกับทุกสิ่ง รวมไปถึงกังวลว่าตนเองจะกังวล สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจตามมา เช่น นอนไม่เต็มอิ่ม เกิดพฤติกรรมการกินที่บ่อนทำลาย ไปจนถึงรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการทำงาน

การบริหารจัดการอารมณ์ด้วยตัวเองคือหนึ่งสิ่งที่ควรทำควบคู่กับการได้รับการโค้ช เรียนรู้และฝึกฝนเรื่อง Emotion Intelligence ได้ที่นี่ 

โค้ชจะช่วยให้คนในองค์กรเห็นว่าศักยภาพของตนเองมีอยู่ในระดับไหน และช่วยลบอุปสรรคทางอารมณ์ที่จะมาขัดขวาง โดยมีเคล็ดลับ เช่น ในส่วนของงาน โค้ชจะมองผู้รับการโค้ชเหมือนนักกีฬาที่จะก้าวสู่เกมอีกระดับ เขาจะรับฟังและเข้าถึงแรงจูงใจ และยอมรับว่ามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ขณะที่งานอีกส่วนคือการขยายศักยภาพ สำรวจทักษะที่จะต้องเพิ่มหรือพัฒนาเพื่อไปให้ถึงขีดสุด

=====

การโค้ชเพื่อเพิ่มศักยภาพสูงสุดนั้นควรจะทำให้เกิดความสนุกสนาน และต้องมองประเด็นนั้น ๆ ว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยให้คนก้าวไปสู่ศักยภาพสูงสุดของเขาเองได้

และถ้าหากคุณต้องการเรียนรู้ทักษะการโค้ชเพื่อเพิ่มศักยภาพทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching & Positive Feedback คลิกดูได้ที่นี่ครับ 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

ก้าวแรกสู่การเป็นผู้จัดการ

ก้าวแรกสู่การเป็นผู้จัดการ

สำหรับคนที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ เราต้องแสดงความยินดีด้วยที่คุณได้ก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ นั่นคือการกลายเป็น ผู้จัดการเป็นครั้งแรก

บทบาทผู้จัดการหน้าใหม่หมายความว่า คุณกำลังเผชิญความท้าทายที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายสำหรับทีมที่ต้องพัฒนา  การสร้างกระบวนการ และลงมือทำให้สำเร็จ รวมถึงการสร้างความมั่นใจว่าทุกคนกำลังทำงานของเขาอย่างเต็มความสามารถ

คุณอาจจะเกิดความประหม่าขึ้น เมื่อพบว่ามีคนคาดหวังกับคุณ การก้าวข้ามจากพนักงานผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้จัดการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรามีกลยุทธ์ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

สูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ แล้วลองใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยสำหรับก้าวแรกสู่การเป็นผู้จัดการของคุณดูนะครับ 
=====

1.ชัดเจนในหน้าที่

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจบทบาทใหม่ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง เป้าหมายและวัตถุประสงค์เป็นอย่างไร ถ้าเอกสารหรือการส่งมอบงานไม่เคลียร์ ก็ขอให้ลองเขียนสิ่งที่คุณคิดว่าควรจะทำจริง ๆ ให้ชัดเจนด้วยตัวเอง

ขอให้คุณรายงานเจ้านายระดับสูงกว่าคุณว่าคุณจะทำอะไรบ้าง ลองเขียนสิ่งที่อีกฝ่ายอยากได้ ลองลิสต์ภาระความรับผิดชอบที่คุณคิดว่าใช่ออกมา ลองบันทึกว่าเป้าหมายมีอะไรบ้าง

และท้ายที่สุด คุณต้องพูดคุยกับว่าที่ลูกน้องที่คุณจะเข้าไปดูแลว่าเขามองหน้าที่ของคุณอย่างไร คาดหวังว่าจะให้คุณทำอะไรให้บ้าง
=====

2.หาพี่เลี้ยง

เมื่อเริ่มงานใหม่ การได้พี่เลี้ยงดี ๆ ที่ช่วย feedback การทำงาน และช่วยโค้ชให้คุณสร้างทักษะที่จำเป็นจะพาคุณไปสู่ความสำเร็จ

เพราะไม่เพียงที่เขาจะมีคำแนะนำที่เหมาะสมแล้ว เขายังจะช่วยสร้างความมั่นใจด้วยการสนับสนุนและให้กำลังใจแก่คุณได้ด้วย

แต่การมีพี่เลี้ยงได้คุณก็ต้องสร้างกรอบที่ชัดเจนว่าคุณจะทำอย่างไรบ้าง แรกสุดคือหาพี่เลี้ยงที่ดี โดยเริ่มจากในองค์กร เช่น ผู้นำที่อยู่เหนือคุณขึ้นไป หรือผู้นำที่อยู่อีกฝ่ายขององค์กร

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จะเป็นเรื่องดีถ้าการช่วยเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษานั้นจะดำเนินไปแบบความสัมพันธ์สองทาง คือทั้งให้และรับ คุณอาจจะได้ทักษะการเป็นผู้นำ ส่วนอีกฝ่ายอาจจะได้ไอเดียเกี่ยวกับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากคุณ เป็นต้น
=====

3.สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

การเทรนนิ่งแบบ เดล คาร์เนกี’ (นักเขียน นักพูด และเทรนเนอร์ระดับโลก) ที่ปรากฏใน White Paper บอกว่าการเป็นผู้จัดการที่ดีไม่ใช่แค่การเป็นนักกลยุทธ์ชั้นยอด หรือเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลต่าง ๆ ในทีม

แน่นอนว่าผู้จัดการไม่ควรคาดหวังว่าทุกคนในทีมจะเป็นเพื่อนของคุณหรือเป็นเพื่อนกันได้ แต่อย่าลืมว่าหน้าที่แรกของการเป็นผู้นำ คือการสร้างสมดุลที่เหมาะสมในแง่ความสัมพันธ์ มองหน้าคนในทีมอย่างเข้าอกเข้าใจกัน แต่ก็ต้องนำทางพวกเขาได้ด้วย

ประการแรกคือการเปิดอกพูดคุย ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้รู้ว่าเราเป็นใคร ทำไมถึงมาอยู่ที่นี่ และทำไมคนในทีมจะต้องเชื่อมั่นคุณ ซึ่งสำคัญมากในการปลุกเร้าพลังของคนในทีม

ฝึกที่จะเคารพความแตกต่างของคนในทีม เพื่อหาทางใช้ความแตกต่างหลากหลายในการสร้างประโยชน์ร่วมกัน แต่อย่าปล่อยให้เกิดวิธีการรวมหัวกันคิด โดยที่ผู้นำไม่ได้มีส่วนชี้นำเลย
=====

4.กำหนดและสื่อสารเป้าหมายให้ชัด

หลังจากเป็นผู้ตามมาก่อน เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องกลายมาเป็นผู้นำ บางทีคุณอาจจะมีไอเดียที่สะสมมานาน พร้อมจะลุยกับความหวังใหม่ ๆ แต่อย่าเพิ่งร้อนวิชาจนเกินไป การเก็บกวาดของเก่าแล้วสร้างระบบใหม่ๆ จำเป็นต้องได้รับการหนุนหลังจากคนในทีมก่อน

ลองปรับตัวให้เข้ากับหน้าที่ใหม่ก่อน จากนั้นค่อยหาทางเปลี่ยนแปลง เมื่อเข้ามาเป็นผู้นำทีม ลองสร้างชาร์ตการทำงานทั้งหมด เพื่อระบุว่าใครอยู่ตรงไหน มีเป้าหมายอะไร ลองใช้ OKRs (Objectives and Key Results) ซึ่งจะทำให้แน่ใจได้ว่าเป้าหมายทั้งหมดสอดคล้องกับองค์กร

การสื่อสารกับทีมได้ดีและสม่ำเสมอจะนำไปสู่เป้าหมาย หนึ่งในวิธีการยุคใหม่ที่ดีคือการสร้างเรื่องเล่าทางธุรกิจที่ทรงพลัง ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องสร้างเป้าหมายส่วนตัวซึ่งรวมถึงการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในบทบาทใหม่นี้ด้วย
=====

5.เป็นต้นแบบที่ดี

ในฐานะผู้จัดการ คุณจำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในที่ทำงาน ถ้าต้องการให้ลูกน้องมีพฤติกรรมการทำงานหรือพัฒนาผลการทำงาน คนแรกที่จะต้องลงมือทำคือตัวผู้จัดการเอง สิ่งที่ต้องทำคือการแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำ เช่น ถ้าต้องการให้ประชุมทีมวันจันทร์ตอนเช้า ผู้จัดการจะต้องไม่พลาดการประชุมนี้เด็ดขาด

ถ้าต้องการให้คนในทีมไว้วางใจกัน คนแรกที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าไว้วางใจคนอื่น คือผู้จัดการที่จะต้องแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองให้คนอื่นรู้บ้าง การสร้างความชำนาญและทำให้คนในทีมเห็นอย่างสม่ำเสมอ จะเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจในการตัดสินใจต่างๆ ของผู้จัดการได้มากขึ้น
=====

6.ให้ Feedback เป็นระยะๆ

คนเราจะไม่อาจปรับปรุงได้ถ้าไม่รู้ว่าต้องปรับปรุงอะไร และคนในทีมจะไม่รู้สึกว่าถูกกระตุ้นถ้าผู้จัดการไม่รู้จักชื่นชมในการทำงานหนักและความสำเร็จของเขาเสียบ้าง

การวิจารณ์อย่างมีแบบแผนจะช่วยได้อย่างดี การให้ feedback ทันทีหรือไม่นานนักหลังผลงานออกมา จะช่วยให้การปรับปรุงเป็นไปได้มากที่สุด

เคล็ดลับสำคัญของการให้ feedback คือ จะต้องอยู่กับร่องกับรอย มีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนจบ

ผู้จัดการต้องไม่ลืมว่าการให้ feedback นั้นจะต้องมีมิติการประเมินที่น่าเชื่อถือและทำให้รู้สึกอยาก
ปรับปรุง ต้องไม่ลืมหลักการว่าต้องชมต่อหน้าคนอื่นและวิพากษ์วิจารณ์เป็นการส่วนตัว เพื่อรักษาหน้าของลูกทีมเอาไว้

เรียนรู้วิธีการให้ Feedback อย่างมีประสิทธิภาพได้ในบทความ ให้ Feedback ได้ทีมพัฒนาไวขึ้น คลิกที่นี่
=====

7.มอบหมายงานให้เป็น

การมอบหมายงานเป็นหน้าที่ของผู้จัดการ แต่การลดภาระงานก็เป็นหน้าที่ผู้จัดการเช่นกัน การบริหารจัดการปริมาณงานของลูกทีมจำต้องใคร่ครวญให้เหมาะสม หลักการลดภาระงานคือการแน่ใจว่าลูกทีมแต่ละคนนั้นเก่งด้านไหน โฟกัสให้คนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญและเพิ่มทักษะด้านนั้นๆ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยลดภาระอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่จำเป็นออกไป

เมื่อจะมอบหมายงานใหม่ๆ สมาชิกในทีมควรจะได้รู้ว่าผู้จัดการอยากได้ผลลัพธ์แบบไหน โดยไม่จำเป็นต้องบอกวิธีการทำงาน และพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทำงาน แต่ให้คอยดูเป็นระยะๆ ว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง และช่วยให้เขาได้ประสบความสำเร็จในแบบของเขาเอง
=====

8.ยืดหยุ่นอยู่เสมอ

การบริหารจัดการไม่ใช่เรื่องประเภท “One Size Fit All” หรือทำแบบเดียวกับทุกคนให้เหมือนกันหมด สถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปทำให้ผู้จัดการต้องปรับบทบาทไปเรื่อยๆ

คนที่เก่งจะสามารถหยั่งรู้ได้ว่าจะใช้บทบาทแบบไหนกับลูกทีม เช่น ในเวลาหนึ่งต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกทีม ผู้จัดการจะปรับตัวให้เข้ากับลักษณะนั้น แต่เมื่อวันต่อมาต้องเป็นตัวกลางคอยเชื่อมโยงหรือเจรจา ผู้จัดการก็จะปรับบทบาทตัวเองไปอีกแบบ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทีมก้าวสู่เป้าหมายได้ในที่สุด

=====

ถึงตรงนี้ คุณน่าจะได้ไอเดียในการเป็นผู้จัดการที่ดีและประสบความสำเร็จบ้างแล้ว  แต่ถ้าต้องการตัวช่วยเพื่อฝึกการเป็นผู้จัดการอย่างจริงจัง ขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skills คลิกที่นี่

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

OKRs ภาคปฏิบัติในองค์กร

OKRs ภาคปฏิบัติในองค์กร

คุณเคยสัมผัสประสบการณ์ ‘แปลกแยก’ กับแถลงการณ์ของบรรดา CEO บริษัทไหม

หลายครั้งการนำเสนอวิสัยทัศน์หรือนโยบายนั้น ทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่า “มันเกี่ยวกับฉันยังไง?” “เราอยู่ตรงไหนในวิสัยทัศน์พวกนั้น”

ทุกองค์กร บรรดาทีมและสมาชิกในทีม ควรจะมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์การทำงานที่มีความหมาย และสิ่งนั้นก็กระทบกับการตั้งทิศทางในการทำงาน การตัดสินใจอย่างมีข้อมูล การประเมินกลยุทธ์อนาคต และกระบวนการถกทางความคิด
=====

ปรมาจารย์ด้านบริหารธุรกิจอย่าง ‘ปีเตอร์ ดรัคเกอร์’ ให้เทคนิค MBO: Managment by Objectives หรือ การจัดการโดยมีวัตถุประสงค์เอาไว้ โดยนำวัตถุประสงค์การทำงานของลูกทีมมาทาบทับกับเป้าหมายขององค์กร และเนื้อหาในส่วนนี้เราจะทำให้เห็นว่า เครื่องมือที่ถูกพัฒนามาจนปัจจุบันเรียกว่า OKRs (Objectives and Key Results) นี้ จะนำไปปรับใช้ให้การทำงานของแต่ละบุคคลนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรได้อย่างไร

แอนดี้ โกรฟ อดีตประธานและซีอีโอของ Intel กล่าวถึงเทคนิคการทำ OKRs อย่างสั้น ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพว่า ต้องตอบคำถาม 2 ข้อต่อไปนี้

1) เราจะไปยังจุดไหน (ตอบคำถามเรื่องวัตถุประสงค์การทำงาน) และ
2) เราเช็คก้าวของเราอย่างไร เมื่อกำลังไปให้ถึงจุดนั้น (ตอบคำถามเรื่องการมีหลักไมล์ตรวจสอบความสำเร็จหรือผลลัพธ์สำคัญ) และนั่นคือการถือกำเนิดของ OKRs แล้ว
=====

องค์กรใหญ่ ๆทั้งหลายต่างใช้เทคนิคนี้โดยทำให้บุคลากรกับเป้าหมายขององค์กรให้เดินควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีแนวคิดหลัก ๆ ได้แก่

การโฟกัส 

คุณจะต้องรู้ว่าหน้าที่รับผิดชอบของคุณคืออะไรและมองไปยังวัตถุประสงค์ขององค์กร โดยที่คุณจำเป็นต้องตัดสินใจว่าเป้าหมายไหนที่สำคัญต่อวัตถุประสงค์ขององค์กร ก็ให้มุ่งเน้นไปที่สิ่งนั้น

ใช้ตัวเลขขับเคลื่อน – เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การวัดค่าต่างๆ ทั้งเป้าหมายและพัฒนาการจะต้องสามารถจับต้องวัดผลเป็นตัวเลขได้ ผลลัพธ์ต้องมาจากการคำนวณที่เที่ยงตรง ทำให้คนในทีมเห็นตรงกันว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้วหรือยัง ทั้งยังทำให้สามารถอภิปรายและ feedback กันได้อย่างมีหลักฐานรองรับ ไม่ใช่เน้นแต่อารมณ์ส่วนตัว

โปร่งใส 

หลักการนี้คือทำให้ทุกคนมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร สำคัญมากที่จะทำให้คนในทีมได้เห็นถึง OKRs ของคนอื่น ๆ ด้วย เพราะผลงานของคนอื่นย่อมส่งผลต่อภาพรวมของทีม


หมายความว่ามันส่งผลต่อการทำงานของคนอื่น ๆ ในทีมเช่นเดียวกัน การทำ OKRs จะทำให้แต่ละคนมองเห็นภาพว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร มีอิทธิพลหรือสร้างผลกระทบกันอย่างไร ความโปร่งใสนี้เองจะทำให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์โดยรวมอย่างถ่องแท้

วัฒนธรรม 

OKRs จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร จะเข้าไปฝังในกิจวัตรการทำงานของคนในทีม การเฝ้าติดตามดู OKRs คือกุญแจสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ควรให้คนในทีมพูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งนี้อย่างเปิดเผยจนกลายเป็นเรื่องปกติของการทำงาน เพราะทุกคนจะได้รู้ว่ากำลังทำอะไร เกี่ยวพันกันอย่างไร และมุ่งไปสู่จุดหมายด้วยทิศทางเดียวกันแล้วหรือยัง

และถ้าอยากให้องค์กรของคุณเต็มไปด้วยวัฒนธรรมดีดี อย่าลืม กำจัดวัฒนธรรมองค์กรที่แย่ ออกไปด้วยเพื่อเปิดพื้นที่ให้สร้างวัฒนธรรมดีดีได้ง่ายขึ้น
=====

วิธีการใช้ OKRs ในองค์กรของคุณ

1. ตั้งวัตถุประสงค์

เริ่มจากระดับบนขององค์กร คนที่ทำงานระดับสูงจะรับวัตถุประสงค์มาจากเจ้านายซึ่งจะสอดคล้องกับแผนทางธุรกิจ เมื่อแผนลงมาสู่ระดับล่าง ทีมจะรวมกันพัฒนาวัตถุประสงค์การทำงานให้สอดคล้องกับระดับสูง


ซึ่งเมื่อแยกภาระงานของแต่ละคนออกมา ก็ยังจะพบเป้าหมายการทำงานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับภายในทีม และสอดคล้องกับเป้าหมายระดับบนขององค์กรเช่นเดียวกัน

แต่การจะทำอย่างนั้นออกมาได้ จะต้องผ่านการสร้างความไว้วางใจกัน เพื่อร่วมหาสิ่งที่แต่ละคนต้องทำเพื่อร่วมเส้นทางความสำเร็จในภาพใหญ่ โดย 60-70% ของเป้าหมาย OKRs ควรจะมาจากการพูดคุยตกลงกัน
วัตถุประสงค์การทำงานต้องชัดเจนและทำได้จริง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ความท้าทายและแรงกระตุ้นต่อทีม มีความทะเยอทะยาน สามารถวัดประเมินค่าได้ มีกรอบเวลาชัดเจน สั้นและเข้าใจง่ายจนน่าจดจำ

OKRs จะประกอบด้วยทั้งแนวทางการปฏิบัติและความทะเยอทะยานไปพร้อมๆ กัน ส่วนแนวทางปฏิบัติคือการทำให้เห็นด้วยการทำงานที่ชัดเจน เช่น ออกแบบเว็บไซต์ใหม่ให้ได้ 2 แบบตามเวลาที่กำหนด ขณะที่ความทะเยอทะยานคือสร้างเป้าที่เร้าใจ เช่น ทำเว็บไซต์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในโลก
=====

2. ตั้งผลลัพธ์

หลังจากมีวัตถุประสงค์แล้ว ควรจะตั้งผลลัพธ์ที่สามารถวัดค่าได้ด้วย เพื่อจะได้เข้าใจและจัดการได้ตรงกันภายในทีม ส่วนนี้จะต้องพูดคุยตกลงกันให้ชัดเจน ว่าผลลัพธ์นี้เห็นพ้องต้องกัน ทำได้จริง และรู้ว่าจะต้องทำอะไรหรือฝึกฝนอะไรเพิ่มเติมบ้าง

โดยผลลัพธ์นี้จะต้องประกอบไปด้วย ข้อมูลที่เป็นตัวเลขปริมาณซึ่งวัดค่าได้ ระบุระดับของความสำเร็จ วางเป้าพัฒนาการเป็นระยะๆ รวมถึงเป้าหมายที่จะต้องมุ่งเน้น

ผลลัพธ์หลักนี้จะขึ้นกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ เช่น ถ้าตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าจะเพิ่มรายได้จากเว็บไซต์ เป็น 2.5 ล้านบาท ภายในไตรมาสแรก หนึ่งในการวัดผลลัพธ์หลักๆ ควรจะเป็นเรื่องของตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลานั้น หรือในอีกกรณีที่มีวัตถุประสงค์ซึ่งไม่ได้เน้นปริมาณมากนัก เช่น อยากจะสร้างโฮมเพจอันใหม่ให้ได้ ผลลัพธ์หลักๆ ที่ควรตั้งเอาไว้ประเมินก็คือ การได้ต้นแบบโฮมเพจตามเวลาที่กำหนด
=====

3. มอนิเตอร์กระบวนการ

การรอประเมินทุก ๆ 6 เดือนหรือทุกปี อาจจะช้าเกินไป ดังนั้น การเช็คกระบวนการพัฒนาทุกไตรมาสน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม และจะดีกว่านั้นคือมีการเช็คอย่างสม่ำเสมอและทันท่วงที การเช็คเหล่านี้สามารถทำได้ทั้งการดูความคืบหน้าเป็นร้อยละ หรือประเมินความสำเร็จเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าวัตถุประสงค์คือการสร้างเว็บไซต์ให้ได้ 4 ตัว เราประเมินผลลัพธ์เป็นร้อยละด้วยการนับสิ่งที่ทำได้จริง หากทำได้ 3 ตัว ก็แปลว่าความสำเร็จในส่วนนี้คือ 75%

สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ แม้ประเมินเรทของ OKRs ออกมาได้ต่ำ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีผลงานที่แย่เสมอไป เพราะที่จริงอาจจะเป็นผลมาจากการสร้างระบบ OKRs ที่ผิดพลาด เช่น วัตถุประสงค์ดูไม่เข้าท่า เป็นต้น ลองใช้หลักการ AAR หรือ After Action Review มาประเมินการทำงาน และหาคำอธิบายว่าทำไมถึงทำผลงานออกมาแล้วไม่สำเร็จอย่างที่คาดหวังเอาไว้
=====

4. ทำซ้ำวงจรเดิม

การทำ OKRs ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อจบสิ้นการวัดผลลัพธ์แล้ว เราจะมาเริ่มใหม่ ลองนำเอาบทเรียนที่ได้จากกระบวนการ OKRs ครั้งก่อนมาหาทางปรับปรุง เพื่อนำมาสู่การตั้งวัตถุประสงค์ใหม่ในช่วงเวลาถัดไป แล้วหาผลลัพธ์ที่อยากจะได้ออกมา
=====

ประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ OKRs

การทำ OKRs นั้น สิ่งที่ต้องจดจำก็คือไม่มีหลักการหนึ่งเดียวที่เหมาะสมกับทุกคน เราจำเป็นต้องประยุกต์ให้เข้ากับองค์กรของตัวเอง หาทางให้สอดผสานกับลักษณะของทีมและบุคคลในทีม แล้วจะกลายเป็น OKRs ในแบบที่เหมาะกับเรามากที่สุด

ข้อดีของ OKRs คือการมองวงจรการตั้งวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่อยากได้เพื่อประเมินในระยะที่สั้นกว่า ไม่จำเป็นต้องรอเป็นปี แต่ทำได้ทุกไตรมาส อีกทั้งยังลงรายละเอียดย่อยลงมาคือ คอยเช็คพัฒนาการได้ในทุกๆ สัปดาห์ เหล่านี้จะทำให้ปรับตัวเพื่อเอาชนะปัญหาได้ดี

แน่นอนว่า การทำทุกสิ่งให้ชัดเจนภายใต้วัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่วัดประเมินได้ จะทำให้คนในองค์กรเข้าใจกันอย่างพร้อมเพรียง เห็นทั้งบทบาทตนเองต่อองค์กรว่ามีอะไรบ้างและต้องประเมินอย่างไรให้เหมาะกับเป้าหมายใหญ่สุด

=====

สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ ระบบ OKRs มีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ อันได้แก่ หากประเมินผลลัพธ์ออกมาแล้ว ทำได้เต็ม 100% อาจจะไม่ได้หมายความว่าทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์และสร้างผลลัพธ์อันดีเลิศ แต่อาจหมายถึงเรามีความทะเยอทะยานในการตั้งวัตถุประสงค์และการวัดผลลัพธ์น้อยจนเกินไป เป้าหมายไม่ท้าทายเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม บางสิ่งก็ยากที่จะวัดให้เป็นปริมาณได้เสมอไป อย่างที่เราทราบกันว่าวัตถุประสงค์บางอย่างนั้นไม่จำเป็นจะต้องวัดเป็นตัวเงินหรือค่าร้อยละเสมอไป

=====

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากคุณต้องการใช้ OKRs กับองค์กรและทีมให้เกิดผลลัพธ์ ทำได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ขอแนะนำหลักสูตรOKRs in Action” คลิกดูได้ที่นี่ครับ


เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

โลกหลังวิกฤต โอกาสและความเป็นไปได้ที่รออยู่

โลกหลังวิกฤต โอกาสและความเป็นไปได้ที่รออยู่

“This is not just Disruption but The New Normal”

มั่นใจได้เลยว่า หลังจากนี้ไป โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิม ทุกสิ่งที่คุณมองว่าเป็นวิกฤตในวันนี้ จะกลายเป็น “ความปกติแบบใหม่” ที่ทุกคนจะต้องปรับตัวให้คุ้นชินกับมัน ต่อไปนี้มนุษย์จะไม่สามารถคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมได้อีกแล้ว

ไม่ใช่เพราะถูกใครมา Disrupt แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมและปัจจัยทั้งหมดจะบีบคั้นให้มนุษย์ทุกคนต้องเปลี่ยน ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ฟรีแลนซ์ หรือข้าราชการ นี่คือบทความที่คุณจำเป็นจะต้องอ่านให้จบ!
====

สิ่งที่จะแบ่งปันกับคุณไม่ใช่เรื่องผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน หรือการใช้ชีวิตที่หยุดชะงัก ซึ่งทุกคนก็คงเผชิญกันมาหมดแล้ว 

และถึงอย่างไร ไม่ว่าช้าหรือเร็ว “ทุกวิกฤตก็ต้องมีจุดจบเสมอ”
ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ แต่อยู่ที่ว่าเราจะเตรียมตัวรับมือกับโลกหลังยุควิกฤตอย่างไรต่างหาก

ตอนนี้หลายคนพยายามให้กำลังใจกันว่า “จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส”

ผมอยากจะชี้ให้เห็นอีกมุมว่า ไม่จำเป็นต้องไปพลิกค้นอะไรในวิกฤต เพราะคุณอาจจะหาไม่เจอ และถ้าจะรอโอกาสเข้ามา บางทีก็อาจจะช้าเกินไป

ที่จริงแล้ว คุณสามารถ ‘สร้างโอกาสใหม่’ ได้เสมอในทุกวิกฤต

สมการที่หลายคนคุ้นเคยก็คือ

โชคดี = โอกาส + ความพร้อม

บางคนเห็นโอกาส แต่ไม่พร้อม จึงล้มเหลว บางคนพร้อมกว่าใคร แต่ไม่เห็นโอกาส เพราะยึดติดกับชีวิตเดิม ๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

คนที่โชคดีจึงไม่ใช่เพราะดวงเฮง หรือบุญเก่า แต่คือคนที่เปิดรับโอกาส และมีความพร้อมควบคู่กันเสมอ 

ย้อนกลับมาที่ตัวเรา ถ้าจะรอหาโอกาสหรือเริ่มเตรียมความพร้อมเมื่อวิกฤตจบลงแล้วอาจจะสายเกินไป

ผมอยากชวนคิดว่า ตอนนี้คุณเห็นโอกาสอะไรและถ้าเห็นโอกาสนั้นแล้ว คุณพร้อมแค่ไหนที่จะคว้ามันเอาไว้ 
====

ถ้าคุณยังตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะผมมีตัวช่วยให้ ต่อไปนี้เป็นโอกาสและความท้าทายที่รอพวกเราทุกคนอยู่ ในโลกหลังยุคโควิด-19
โดยผมอ้างอิงข้อมูลจาก Gerd Leonhard – One of the Top 10 Futurist, Worldwide – https://www.futuristgerd.com/

Gerd ได้คาดการณ์สถานการณ์ของโลกหลังยุคโควิด-19 เอาไว้ ซึ่งไม่ใช่การทำนายดวงชะตาหรือแค่คาดเดา แต่มาจากการวิเคราะห์ Data มหาศาล จากงานวิจัยและแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลากหลายแห่งด้วยกัน  โดยผมนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจง่ายเป็น  5 ประเด็นดังนี้

====

New Economics ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่
เรียกว่า ‘Sustainable Capitalism’ หรือ “ทุนนิยมยั่งยืน”

ซึ่งจะเกิดเป็นกระแสสำคัญในโลกธุรกิจยุคหลังโควิด-19 นี้

มนุษย์ส่วนใหญ่เริ่มเห็นตรงกันว่า ระบบทุนนิยมที่เอาแต่กำไร โดยไม่สนโลก ไม่สนคนอื่น มันเลวร้ายมาก ทำลายโลกและสิ่งแวดล้อม กระทั่งคุณภาพชีวิตมนุษย์คนอื่น ๆ มากแค่ไหน
ธุรกิจที่ต้องการจะเปลี่ยนมาใช้เศรษฐกิจทุนนิยมยั่งยืน จะหันมาโฟกัส 4P ได้แก่

– People : สนใจความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของพนักงาน ลูกจ้าง รวมไปถึงคู่ค้าและลูกค้าด้วย

– Planet : ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนโลก แต่เสริมให้โลกน่าอยู่ขึ้น

– Purpose : เปลี่ยนเป้าประสงค์จากกำไร เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สร้างคุณค่าต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์

– Prosperity : โฟกัสที่การเจริญรุ่งเรืองในองค์รวม ไม่ใช่แค่บริษัทตัวเอง แต่เป็นทั้งระบบ Ecosystem ต้องเกื้อกูลและเติบโตไปด้วยกัน

ธุรกิจแบบเดิมจะตายไป ธุรกิจแบบใหม่จะมั่นคงและยั่งยืนกว่า เพราะได้รับการสนับสนุน ถึงแม้ในระยะแรกทุนนิยมแบบใหม่จะมีกำไรน้อยกว่า แต่ในระยะยาวจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนกว่า เพราะจะได้รับการสนับสนุนจากพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และคนในสังคมนั่นเอง
====

Remote Everything – ทำทุกอย่างจากทางไกล

อีกไม่นาน เราจะคุ้นเคยกับ Remote Working, Digital Meeting & Conferencing , Virtual Event เพราะเทคโนโลยี 5G จะช่วยเร่งให้สิ่งเหล่านี้เกิดเร็วขึ้น

ผนวกกับพฤติกรรมของคนที่เริ่มคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน ถ้าไม่จำเป็นก็คงไม่มีใครอยากฝ่ารถติดไปทำงานหรือประชุมอีกต่อไป

เราจะได้เห็นการประชุมรูปแบบใหม่ที่เหมือนในหนัง Sci-Fi 

Microsoft  เปิดตัวเทคโนโลยี Hologram + AI ซึ่งนอกจากจะเห็นคนบรรยายเป็น 3 มิติเหมือนมาปรากฏตัวตรงหน้าเราแล้ว AI จะช่วยแปลคำพูดแบบ Real Time ให้เป็นภาษาท้องถิ่นที่แต่ละคนเข้าใจได้ทันทีอีกด้วย 

ต่อไปนี้ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน หรือกระทั่งภาษาอังกฤษ ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการสื่อสารอีกต่อไปแล้ว 

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะเห็นการปฏิรูปอาคารสำนักงานให้เล็กลง ศูนย์ประชุมใหญ่ ๆ ห้องเรียนรวมขนาดใหญ่จะไม่จำเป็นอีกต่อไป รูปแบบการเดินทางไปกลับเพื่อทำงานแบบขับรถฝ่ารถติดวันละสองชั่วโมงก็จะหมดไปด้วยเช่นกัน
====

3. Tech Companies Win – ธุรกิจเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะชนะ

ธุรกิจที่เน้น AI Technology, ICT, eCommerce, Digital Media จะเติบโตอย่างมหาศาล เพราะธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและโลกออนไลน์จะเป็นแก่นแกนทุกอย่างของชีวิตมนุษย์

เรากำลังก้าวสู่โลกที่ Everything Online ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน สั่งอาหาร ซื้อของใช้ ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม เล่นโยคะ วิ่งมาราธอน กู้เงิน หางาน กระทั่งไปผับ หรือไหว้บรรพบุรุษ สั่งซื้อโลงศพ ก็ทำผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด

แต่ใครจะเป็นผู้ชนะก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถเป็น SuperApp ที่รวมความสามารถตอบโจทย์ชีวิตคนในทุกมิติไว้ในที่ที่เดียวได้ โดยมีตัวชี้วัดคือ “ปริมาณผู้ใช้จำนวนมาก” หรือ “คนใช้เวลาอยู่ในนั้นนานที่สุด” นั่นเอง  

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราจะเห็น Startup จำนวนมากล้มตาย เพราะหมดเงินทุนไหลเวียน แต่ธุรกิจใหญ่ ๆ ที่ยืนระยะได้และมองเห็นโอกาสทางเทคโนโลยีจะก้าวเข้ามาเป็น Corporate Startup เสียเอง

ทุกธุรกิจในโลกจะบ่ายหน้าเข้าพึ่งพาธุรกิจเทคโนโลยีและโลกออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคซึ่งจะยิ่งทำให้อาณาจักรของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

แม้กระทั่งขณะนี้ บางบริษัทก็มีรายได้มากกว่า GDP ของหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาครวมกันไปแล้ว 
====

4. Under-the-skin Surveillance – ตรวจวัดถึงใต้ผิวหนัง

ในปัจจุบันเราอาจเห็นกล้อง CCTV เพื่อตรวจการณ์สอดส่องความปลอดภัยของทรัพย์สินมีค่า

ในมือถือทุกคนมี GPS ที่บันทึกข้อมูลว่าเราเดินทางไปที่ไหนและพบใครบ้างในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา (แม้จะไม่เคยรู้ตัว แต่เราถูกบันทึกไว้เสมอถ้าเดินทางโดยใช้ Google Map)

แต่ในอนาคตอันใกล้ เราจะถูกตรวจตราและบันทึกมากกว่านั้น

โลกหลังโควิด-19 สิ่งที่รัฐบาลและประชาชนต่างพากันหวาดกลัวคือไวรัสกลายพันธุ์ว่ามันจะกลับมาอีกไหม และจะมาเมื่อไหร่ รูปแบบไหน ดังนั้น สิ่งที่ต้องตรวจการณ์จึงไม่ใช่แค่ตำแหน่งที่อยู่ แต่เป็น “สุขภาพ” ของเราทุกคน

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนใส่ Smart Watch ที่ตรวจวัดชีพจร อัตราการเต้นหัวใจ ทั้งตอนหลับและตอนตื่น เพื่อวัดค่าต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพอยู่แล้ว จะแปลกอะไร ถ้าเครื่องมือเหล่านั้นจะพัฒนาไป “วัดถึงใต้ผิวหนัง” ของเราได้ด้วย

หากเครื่องมือยุคใหม่สามารถวัดอุณหภูมิร่างกาย วัดความดันโลหิต วัดทุกค่าที่จะช่วยส่งข้อมูลประมวลผลให้เรารู้ถึงสุขภาพของเราหรือของคนที่เรารักว่าใกล้ป่วยหรือยัง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ควรจะไปพบแพทย์ไหม เชื่อว่าเราทุกคนย่อมอยากใช้

สุดท้าย ถ้าข้อมูลทั้งหมดนี้จากทุกคนถูกนำไปรวมเพื่อประมวลผลในที่เดียวกันก็จะสามารถติดตามและคาดการณ์ “สถานการณ์โรคระบาด” ได้แทบจะ Real Time เลยทีเดียว

แล้วมีหรือ ที่รัฐบาลประเทศไหนจะไม่อยากได้

ประเด็นสำคัญก็คือ เราพร้อมที่จะให้ข้อมูลของตัวเองเชิงลึกขนาดนั้นกับบริษัทหรือรัฐบาลไหม

นี่อาจเป็นทั้งโอกาสที่จะปกป้องพวกเราจากวิกฤตไวรัสครั้งใหม่ หรืออาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ใน
เรื่องอื่นที่น่ากลัวกว่าก็เป็นได้

เพราะเมื่อถึงเวลานั้น บางคนจะรู้จักตัวเราดีกว่าเรารู้จักตัวเองเสียอีก
====

5. Agricultural Industries Shift – การพลิกผันของอุตสาหกรรมการเกษตร

ลองถามตัวเองดูว่าจริง ๆ แล้ว มนุษย์กลัวอะไรมากที่สุดในช่วงวิกฤต

ผมมั่นใจว่าไม่ใช่กลัวติดโรค แต่กลัว “อดตาย” ดูได้จากการแย่งกันกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคตามห้างสรรพสินค้าในทุกหนแห่งทั่วโลก

ลองคิดภาพง่าย ๆ ว่า ถ้าวิกฤตโควิด-19 ยาวนานนับปี ประเทศทั้งหลายต่างชัตดาวน์ การขนส่งหยุดชะงัก คนตกงานก็เริ่มหมดเงิน สุดท้ายสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ทุกคนไม่อยากเจอก็คือ ‘ภาวะขาดแคลนอาหาร’

ผู้นำแต่ละประเทศย่อมจะต้องมีการวางแผนและป้องกันทุกวิถีทาง ไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะมันจะเกิดเหตุจลาจล ขึ้นทันทีเหมือนในหนังเกี่ยวกับวันสิ้นโลก

ถ้าคุณอ่านบทความนี้ย้อนหลัง แล้วสิ่งนี้ไม่เกิดก็นับว่ายังเป็นเคราะห์ดีของพวกเราทุกคน แต่ใครจะรู้ว่า วิกฤตไวรัสครั้งหน้าจะรุนแรง หรือยืดเยื้อยาวนานกว่าครั้งนี้ไหม 

Gerd จึงคาดการณ์ว่าจะเกิด “การพลิกผันของอุตสาหกรรมการเกษตร” โดยประเทศต่าง ๆ จะเริ่มหันมาผลิตอาหาร พลังงาน น้ำสะอาด ให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคในประเทศของตัวเอง  หากมีเหลือเฟือจึงค่อยส่งออก แต่จะไม่ใช่การโฟกัสที่การส่งออกเพื่อทำเงินอีกต่อไป

ย้อนกลับมาใกล้ตัวเราที่สุด ลองจินตนาการว่า หากเราอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีเหตุการณ์ให้ต้องปิดเมืองหนึ่งเดือน เราก็อาจต้องนอนอดตายอยู่ในห้องแคบ ๆ ได้ เพราะมีคนหลายล้านแออัดกันอยู่ในพื้นที่ไม่กี่ ตร.กม.
เราอาจจะเริ่มตระหนักว่าสุดท้ายแล้ว “เงิน” ไม่ทำให้เราอิ่มท้องได้เสมอไป

“อาหาร”ต่างหาก ที่เป็น “ความมั่นคง” ที่แท้จริง

จากวิกฤตครั้งนี้ ผมกับเพื่อน ๆ เริ่มคุยกันถึงการหาที่ผืนเล็ก ๆ ไว้เพาะปลูกผักออแกนิกปลอดสารพิษ เพื่อให้เรามีกินประทังชีวิตได้

เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มองในแง่ร้ายที่สุด หากวันหนึ่งเงินเก็บที่มีในตลาดหุ้นทั้งหมดสูญไปเพราะเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด อย่างน้อยเราก็ไม่อดตาย

การหยุดชั่วคราว (Pause) และ ช้าลงเพื่อตัดสินใจที่ดีขึ้น คือทักษะสำคัญที่คุณควรมีในภาวะวิกฤตเช่นนี้ อ่านบทความนี้คลิกที่นี่ 
====

สรุปส่งท้าย ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์จาก Futurist หรือนักวิเคราะห์อนาคตซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ได้ แต่ขอให้คุณลองกลับไปคิดวิเคราะห์ต่อ ตามข้อมูลที่คุณได้รับเพิ่มเติม

สำหรับผม ในฐานะผู้ประกอบการ เพียง 5 ข้อนี้ ก็ทำให้เห็นความท้าทายมหาศาลที่รออยู่ตรงหน้าแล้ว

ถึงตอนนี้จะบอกว่าไม่เห็นโอกาสก็คงไม่ได้ แต่จะมีความพร้อมในการคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นความโชคดีได้หรือเปล่า เรื่องนี้คงต้องเกี่ยวกับ Mindset และ Skillset ที่แต่ละคนสะสมกันมาแล้ว

แต่อย่างน้อยคุณคงเห็นเหมือนกับผมว่า…

นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งนอนเล่นเฉย ๆ ทำอะไรฆ่าเวลาไปวัน ๆ แต่เป็นเวลาทองที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ Reskill & Upskill หรือวางแผนธุรกิจใหม่ 

มีชุดทักษะและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มากมายที่ผู้นำอย่างคุณจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนในหลักสูตร The New Leadership Skills ดูรายละเอียดที่นี่

ตอนนี้โอกาสเปิดเข้าหาคุณแล้ว คุณพร้อมรึยังครับ

====

เขียนโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

 

จงช้าลง เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต

จงช้าลง เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต

ข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้คนต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การยกเลิกแผนการเดินทางท่องเที่ยว ไปจนถึงการคิดว่าจะป้องกันตัวเองและคนรักให้ดีที่สุดได้อย่างไร

มีหลายเหตุผลทางจิตวิทยาที่บอกว่าทำไมพวกเราถึงพบว่าการตัดสินใจในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ ‘ยากลำบาก’

ข้อแรก เพราะโรคระบาดนี้เป็นของจริง

ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากมัน และการระบาดก็เกิดขึ้นแล้วขยายเป็นวงกว้างมากพอที่จะมีข่าวเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน ซึ่งสมองของมนุษย์ก็มักจะผูกความสนใจไว้กับภัยคุกคามลักษณะนี้ ทำให้การระบาดของโควิด-19 ดึงความสนใจของเราในแบบที่ภัยคุกคามที่ดูไกลตัว อย่างภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไม่สามารถทำได้
=====

ข้อสอง เพราะมีความไม่แน่นอนของการระบาดสูงมาก

ม่แน่นอนทั้งในแง่ว่าจริง ๆ แล้วมีคนติดเชื้อไวรัสนี้ไปกี่คนแล้ว แล้วตอนนี้มันแพร่กระจายเป็นวงกว้างรวดเร็วแค่ไหน และสุดท้ายจะมีคนติดไวรัสนี้ทั้งหมดกี่คน

ต้องบอกว่าการคาดการณ์เรื่องต่าง ๆ ของมนุษย์จะเป็นไปในลักษณะที่ทำความเข้าใจอัตราการเพิ่มแบบเป็นเส้นตรงหรือค่อนข้างคงที่ ในขณะที่การประมาณการในการเพิ่มขึ้นแบบอัตราเร่ง อย่างเช่น การเพิ่มแบบ Exponential ที่ในตอนแรกอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่แล้วก็สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างมหาศาล เราประมาณการได้ไม่เก่งเลย ความไม่แน่นอนลักษณะนี้กระตุ้นความสนใจของเราได้เป็นอย่างดี
=====

ข้อสาม เพราะมนุษย์มีส่วนร่วมในการควบคุมการระบาดได้น้อยมาก

เราสามารถร่วมมือกันล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และเว้นระยะห่างทางสังคมได้ (Social Distancing) แต่ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมนุษย์ไม่ชอบสถานการณ์ที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดผลลัพธ์ได้มากนักแบบนี้ เพราะมันจะสร้างความกังวลใจให้เรา เราจึงอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างอำนาจในการควบคุมของเราขึ้นมา
=====

ข้อสุดท้าย ได้แต่ตั้งรับ

ความพยายามทั้งหลายในการยับยั้งการระบาดของไวรัส โดยพื้นฐานแล้วคือการป้องกันเป็นหลัก หมายความว่าถ้ามาตรการต่าง ๆ สำเร็จ จะมีคนบางกลุ่มไม่ป่วย แต่โชคร้ายที่เราไม่สามารถทดลองมาตรการต่าง ๆ ได้ทั้งหมด ผลลัพธ์จึงกลายเป็นว่าเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามาตรการไหนหรือการกระทำใดที่จะทำให้เชื้อโรคหายไปกันแน่

ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเราในช่วงนี้ ทั้งภัยคุกคาม ความไม่แน่นอน และความวิตกกังวล ส่งผลให้เราตัดสินใจโดยมองระยะสั้นเป็นหลัก
=====

ความไม่แน่นอนทำให้เราพยายามรับข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น และใช้เวลาส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไวรัสและการระบาดของมัน ซึ่งการรับรู้ข่าวสารเป็นสิ่งที่ดี แต่การรับแต่ข่าวร้ายจะทำให้เราเครียด และถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องอื่น ๆ ไป

เช่นเดียวกับการที่เราไม่สามารถทำอะไรกับการระบาดได้มากนัก ทำให้ผู้คนเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อให้รู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมเพิ่ม
เริ่มจากการซื้อสบู่ล้างมือและเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งการซื้อเหล่านี้ดูมีเหตุผล เพราะสิ่งเหล่านั้นช่วยฆ่าเชื้อโรคบนร่างกายและพื้นผิวต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสได้

แต่เมื่อของเหล่านี้ขาดตลาด ผู้คนก็เริ่มรู้สึกว่าต้องเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของการควบคุมอะไรบางอย่างอีก ทำให้มีของขาดตลาดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่กระดาษชำระ กระดาษเช็ดมือ และน้ำดื่มบรรจุขวด การซื้อของเหล่านี้ดูมีเหตุผลน้อยลง (และแน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้แนะนำด้วย)
แต่การซื้อของพวกนี้ก็ช่วยลดความวิตกกังวลของคนบางกลุ่มลงชั่วคราว ด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้ทำอะไรบางอย่างแล้วนั่นเอง
=====

ในด้านการเงิน บางคนที่เผชิญกับความวิตกกังวลก็ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว จนดัชนีหุ้นในตลาดต่าง ๆ ตกลงถึง 20% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม มีผู้คนมากมายพยายามที่จะขายหุ้น (และแน่นอนว่าหลายคนขายไปแล้ว) แต่นี่เป็นการขาดทุนในปัจจุบันที่น่าจะกลับมาเป็นปกติในอนาคต (เหมือนที่ตลาดหุ้นเคยเป็นมาทุกครั้ง)

จะเห็นได้ว่าผู้คนอยากทำอะไรสักอย่างในเวลาวิกฤตเช่นนี้ แม้หลายเรื่องการไม่ทำอะไรเลยดูจะเป็นการกระทำที่รอบคอบและเข้าท่ากว่าก็ตาม

คำถามก็คือ คุณจะทำอย่างไร ให้ตัดสินใจได้ดีที่สุดท่ามกลางปัจจัยเชิงจิตวิทยาเหล่านี้
วิธีการที่ดีที่สุดในการต่อต้านเสียงไซเรนในหัว ว่าให้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็คือ ‘การทำตัวให้ช้าลง’

การตื่นตระหนกทำให้ผู้คนอยากทำอะไรสักอย่างทันที เพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคาม (ทางความคิด) แต่การกระทำส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่รอบคอบท่ามกลางการระบาดของไวรัสที่เป็นวงกว้างมากขึ้นนี้
=====

การทำตัวให้ช้าลง ทำให้คุณสามารถใช้เหตุผลที่แยบยลพร้อมข้อมูลในการช่วยหาข้อสรุป ซึ่งเป็นสิ่งที่ Keith Stanovich และ Richard West เรียกว่าระบบที่ 2 จากระบบทางจิตใจทั้งสองของมนุษย์

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับไวรัส และการปฏิบัติตัวต่อมัน จงใช้เวลาในการอ่านและย่อยข้อมูลก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญเกี่ยวกับตัวคุณและธุรกิจ

มีหลายสิ่งที่พวกเราต้องทำในหลายสัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า แต่ทุกการกระทำควรมีพื้นฐานมาจากความละเอียดรอบคอบบนฐานของข้อมูลและการถกเถียงจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่การลงมือทำตามพาดหัวข่าวหรือทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว
=====

สิ่งเหล่านี้เป็นจริงสำหรับทุกสถานการณ์ที่ต้องการความนิ่งสงบ และจะดีกว่าถ้าคุณสามารถอยู่เฉยเพื่อรอข้อมูลได้

Stanovich กับ West บอกว่าระบบที่ 1 (Thinking Fast)ที่หลายคนใช้ตัดสินใจ เป็นระบบที่เร็วและใช้เหตุผลจากสัญชาตญาณ ซึ่งตอบสนองตามสภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ของคุณในปัจจุบัน การตัดสินใจที่รวดเร็วมักเต็มไปด้วยอคติ นี่คือเหตุผลที่คุณต้องฝึกช้าลง (Thinking Slow) เพื่อให้มั่นใจว่าการตอบสนองอย่างรวดเร็วของคุณนั้นได้รับการรับรองจริง ๆ

หนึ่งในวิธีการฝึกคิดช้าและตอบสนองช้าลงเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นคือการฝึก Self – Awareness ดูวิธีการฝึกแบบเป็นขั้นตอนได้ที่นี่
=====

โดยสรุป เราต้องการจะบอกคุณว่าภายใต้การพัฒนาไปอย่างช้า ๆ ของวิกฤตโรคระบาด สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้เวลาให้มากขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินใจบนอารมณ์ความรู้สึกชั่ววูบ
เพราะการกระทำที่รวดเร็วอาจลดความวิตกกังวลของคุณในระยะสั้น แต่มันมักจะสร้างปัญหาที่มากขึ้นหรือใหญ่กว่าปัญหาเดิมที่มันจัดการได้เสมอ

เพื่อให้คุณและทีมของคุณมีทักษะในการแก้ไขปัญหาและตัดสินใจได้ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making ที่จะช่วยให้การตัดสินใจของคุณและทีมของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม ดูรายละเอียดที่นี่


=====

เรียบเรียงโดย อ. ป้อป มาติก ตั้งตรงจิตร, CFA, FRM ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการเจรจาต่อรอง

อ้างอิง Slow Down to Make Better Decisions in a Crisis by Art Markman (Harvard Business Review, March 2020.

สื่อสารอย่างไรในช่วงวิกฤตโควิด-19

สื่อสารอย่างไรในช่วงวิกฤตโควิด-19

ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าวิกฤตของเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 จะระบาดเร็วไปทั่วโลกขนาดนี้ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 เหตุเกิดที่จีน ตอนนั้นหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันคือเรื่องไกลตัว ไม่มาถึงประเทศเราหรอก หรือบางคนอาจจะคิดว่าเราไม่ได้เดินทางไปจีน คงไม่อันตรายขนาดนั้นมั้ง ไม่น่าจะกังวลอะไร

แต่เพียงช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน เจ้าไวรัสตัวนี้ได้เดินทางไปมาแล้วทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก รวมถึงบางคนอาจจะต้องสูญเสียคนรักจากวิกฤตในครั้งนี้ก็ว่าได้ หลาย ๆ งานต่างต้องถูกยกเลิก ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่ระดับกีฬาโอลิมปิก หรืองานเทศกาลของแต่ละประเทศ อย่างงานสงกรานต์บ้านเราก็ต้องถูกยกเลิกเช่นเดียวกัน

หากพูดถึงการสื่อสารเมื่อย้อนไปหลายปีก่อน เราอาจจะยังใช้การเขียนจดหมายหากัน ส่งโทรเลขหากัน เมื่อเทคโนโลยีมันพัฒนาเราก็เริ่มโทรศัพท์ ได้ยินเสียงของอีกฝั่ง จนกระทั่งพัฒนามาเป็นเห็นหน้าของคนที่เราคุยด้วย แม้ว่าตัวจะอยู่ห่างไกลคนละซีกโลกก็ตาม

=====

เช่นเดียวกัน เรื่องบางเรื่องหลายองค์กรอาจจะเคยพูดกันมานานแล้ว อยากจะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แต่ก็ยังทำไม่ได้เสียที พอมาวันนี้เราถูกสถานการณ์บังคับให้เราต้องปรับตัว ให้เราต้องทำให้ได้ในหลาย ๆ เรื่องในช่วงวิกฤตนี้

ในสถานการณ์ที่เคลื่อนไหวรวดเร็วและไม่แน่นอน ผู้นำหลายคนอาจจะต้องเผชิญกับคำถามที่พวกเขาอาจจะไม่มีคำตอบ ในฐานะที่เป็นคนที่ต้องสื่อสารในภาวะวิกฤต คุณจำเป็นต้องสื่อสารให้เร็วและบ่อยครั้ง ด้วยการเลือกสิ่งที่สำคัญของคุณในช่วงวิกฤตมาก่อน

คุณต้องพยายามเข้าใจขอบเขตของปัญหาที่เกิดขึ้น ซื่อสัตย์และเปิดกว้างเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ เข้าหาสถานการณ์ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกทีม ลูกค้า หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว เข้าใจความวิตกกังวลของพวกเขา ว่าเขากำลังวิตกกังวลกับเรื่องอะไรอยู่ บางครั้งคุณจะทำให้ถูกต้อง บ่อยครั้งที่คุณก็มักทำผิด แต่ก็ยังดีที่คุณทำให้มันโปร่งใสเท่าที่คุณจะสามารถทำได้

=====

ผู้เขียนขออ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก Harvard Business Review มาสรุปเป็น 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการสื่อสารช่วงวิกฤต

ขั้นตอนที่ 1 : สร้างทีมเพื่อการสื่อสารแบบรวมศูนย์

การสื่อสารแบบกระจายอำนาจนั้นเป็นที่เข้าใจและเป็นที่ต้องการในองค์กรขนาดใหญ่และซับซ้อน แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณต้องมีทีมที่รับมือกับวิกฤต โดยทีมที่ดีควรมีประมาณ 5-7 คน คุณต้องรวบรวมสมาชิกของทีมผู้นำ

ไม่ว่าจะเป็นคนจากแผนกสื่อสารองค์กร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน แต่ละแผนก ทีมนี้ควรจะพบกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับวิกฤตมีการอัปเดตให้คนอื่น ๆ ทราบเป็นประจำในส่วนที่สำคัญ โปร่งใสให้ได้มากที่สุด อธิบายทั้งสิ่งที่คุณรู้และสิ่งที่คุณไม่รู้ รวมถึงบอกแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น ๆ ด้วย รวบรัด กระชับ ตรงประเด็น

หัวใจของการสร้างทีมและสื่อสารที่ดีอยู่ที่การสร้างความไว้วางใจ (Trust) และทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย (Safe space) ศึกษาวิธีการทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยได้ที่นี่

=====

ขั้นตอนที่ 2 : สื่อสารกับพนักงาน

พนักงานคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถือได้ว่าเป็นตัวแทนขององค์กร ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการแจ้งและ
ไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น การสื่อสารภายนอกองค์กรจะยากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องทำให้พนักงานเข้าใจสถานการณ์ง่าย ๆ รู้สึกสบายใจ และมีความหวังในอนาคต

ผู้นำควรที่จะสื่อสารให้ถูกช่วงเวลาในเนื้อหาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้พนักงานตื่นตระหนก ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเข้าถึงการสื่อสารกับพนักงานให้ได้มากที่สุด พยายามให้การสื่อสารเป็นแบบสองทาง (Two Way Communication) เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้สื่อสารด้วย

การศึกษาพบว่าผู้นำควรมีบทบาทพิเศษในการลดความวิตกกังวลของพนักงาน อาทิ กรณีศึกษาหลังจากเหตุการณ์ระดับโลก 9/11 พนักงานหลายคนต้องการที่จะได้ยินเสียงของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านอีเมล ข้อความทางโทรศัพท์ หรือแม้แต่การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อลดความวิตกกังวลของทุกคนลงการสื่อสารกับพนักงาน องค์กรควรจะ โพสต์ข้อมูลเป็นประจำในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัด

อาทิ ตำแหน่งหน้าจอสกรีนบนคอมพิวเตอร์ อีเมล อินทราเน็ตขององค์กร หรือช่องทางเฟซบุ๊กขององค์กร

อธิบายการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อาทิ การเดินทาง การทำงานจากที่บ้าน
สื่อสารไม่น้อยกว่าทุกวันหรือมากกว่าปกติ ให้ข้อมูลที่ทันเวลา แทนที่จะรอจนกว่าคุณรู้คำตอบทั้งหมด

=====

ขั้นตอนที่ 3 : สื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

ลูกค้าต้องการแนวทางที่แตกต่างจากพนักงาน เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มีวิธีการเข้าถึงข้อมูลไม่เหมือนกัน คุณควรจะ

– มุ่งเน้นสิ่งที่สำคัญสำหรับลูกค้า เช่น บริษัท Trekking Thai เป็นบริษัทที่ให้บริการทัวร์ชมธรรมชาติและร้านจำหน่ายอุปกรณ์เดินป่า แต่จากวิกฤตทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย ทางบริษัทจึงนำอุปกรณ์เดินป่า เช่น เปล ถุงนอน แผ่นรองนอน มาทำเป็นแพ็กเกจ โปรโมชันเพื่อคนทำงานสู้โควิด-19 ให้บริษัทหรือพนักงานที่สนใจเช่าแทน เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากนักท่องเที่ยวเป็นบริษัท พนักงาน โดยที่สินค้ายังคงเดิม ทำให้ยังสร้างยอดขายได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก

– ช่วยบรรเทาเมื่อเป็นไปได้ อาทิ Jetblue เป็นสายการบินแรกที่ยกเลิกการเปลี่ยนแปลงและยกเลิกค่าธรรมเนียมข้อกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความมั่นใจต่อลูกค้าปัจจุบันในระยะยาว รวมถึงนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้ลูกค้า อีกหนึ่งตัวอย่างสายการบินแอร์เอเชียล่าสุดมีการทำโปรโมชันตั๋วแบบ Premium Flex ตั๋วที่สามารถเลื่อนการเดินทางได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม 2 ครั้ง

– มุ่งเน้นการใส่ใจมากกว่าการพยายามสร้างโอกาสในการขาย บริษัทควรคิดกลยุทธ์ในการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เช่น SCG ใช้เทคโนโลยีการสร้างบ้าน SCG Heim มาสร้างห้องตรวจและคัดกรองโควิด-19 บริจาคให้โรงพยาบาลกว่า 7 แห่ง มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท นวัตกรรมนี้ช่วยให้ SCG สามารถประกอบห้องตรวจเสร็จอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ห้องที่สร้างปิดสนิท มีเทคโนโลยีช่วยควบคุมความดันอากาศ ใช้ UV ฆ่าเชื้อโรคได้ โดยนำเทคโนโลยีหรือสินค้าที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงและสร้างคุณค่าให้กับสังคม จะเห็นได้ว่าการสื่อสารในครั้งนี้ทำให้ผู้คนหรือลูกค้าในอนาคตจะรู้สึกเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการสร้างบ้านของ SCG มากขึ้น

=====

ขั้นตอนที่ 4 : สร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น

การแพร่ระบาดได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นควรรับผิดชอบในการสื่อสารผลกระทบของไวรัสให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ โดยมีความโปร่งใสในการสื่อสารความท้าทายในระยะสั้น
ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างพื้นฐานระยะยาวของบริษัท

สื่อสารสิ่งที่คุณทำเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ คุณควรให้ความสนใจเกี่ยวกับแผนการสื่อสารรอบประชุมประจำปีของคุณ รวมถึงการกระจายไปสู่ผู้ถือหุ้นทุกคน

=====

ขั้นตอนที่ 5 : ทำงานเชิงรุกกับชุมชน

สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรส่งผลกระทบต่อทุกคนในชุมชนรอบ ๆ อย่างไร ในวิกฤตนี้ถือเป็นโอกาสที่องค์กรจะได้ช่วยเหลือสังคมและส่วนรวม อย่างน้อยที่สุดองค์กรควรทำเต็มที่ ให้แน่ใจว่าการกระทำของพวกเขาไม่ได้ส่งผลเสียต่อสมาชิกของชุมชน แต่คุณสามารถคิดถึงวิกฤตช่วงนี้ในการสร้างสัมพันธ์กับชุมชนโดยจัดหาทรัพยากร เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดหรืออาหารสำหรับผู้ที่ถูกกักกัน

ให้ข้อมูลกับสื่อท้องถิ่นเพื่อช่วยให้ชุมชนสงบลง ในขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือขององค์กร

ให้ความโปร่งใสเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัทมากกว่าการไปออกรายการวิทยุ
นอกจากนี้ คุณยังสามารถแบ่งปันวิธีการช่วยเหลือชุมชนในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับโลกในภาวะวิกฤตเช่นนี้ได้ อาทิ ซีพี เร่งสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีเพื่อคนไทย เพราะถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง สุดท้ายเมื่อประเทศชาติไปไม่รอด เราหรือองค์กรก็คงไม่รอดไปด้วย

เมื่อต้องรับมือกับความไม่แน่นอน ผู้นำจะต้องรับมือกับการสื่อสารจากมุมมองของพนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ชุมชน และมีความเห็นอกเห็นใจพวกเขามากกว่าที่จะทำสิ่งผิด สิ่งนี้กำหนดให้บริษัทต้องสื่อสาร แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีข้อมูลทั้งหมด แต่ต้องเปิดเผยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะให้ระมัดระวังข้อมูลที่ละเอียดอ่อนกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ผู้เขียนเชื่อว่าหากผู้นำในองค์กรให้ความสำคัญกับการสื่อสาร มีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดและทั่วถึงมากขึ้น เราอาจจะพลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสก็ว่าได้

เพราะการสร้างทีมและการสื่อสารคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง และถ้าอยากให้ทีมของคุณสื่อสารและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในยามวิกฤต ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication &Collaboration คลิกดูรายละเอียดที่นี่

=====
เรียบเรียงโดย อรพินท์ ธีระตระกูลชัย (อ. ซันนี่) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคนและทีมงาน
อ้างอิง : Communicating Through the Coronavirus Crisis by Paul A. Argenti, Harvard Business Review, March 2020.

3 วิธีฟื้นตัวเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต

3 วิธีฟื้นตัวเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่กระจายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไวรัสตัวร้ายทำลายทั้งสุขภาพ ทำลายทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่เท่าภาวะวิกฤตที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ที่ถ้าเกิดกับใครแล้วดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก

รายงานการวิจัยพบว่าพนักงาน 58% ไม่สามารถควบคุมสมาธิในการทำงานในสภาวะวิกฤตได้ และทำให้พวกเขาหลงทางอยู่ในความคิดเชิงลบได้อย่างง่ายดาย

เมื่อแนวคิดเชิงลบนี้มีความรุนแรงมากขึ้น จะยิ่งส่งผลให้พนักงานเกิดความรู้สึกกลัวและหมดหนทาง ไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ในสถานการณ์เช่นนี้

=====

ความกลัวจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังติดอยู่ในกรอบที่แคบลง และยากที่จะดึงประสบการณ์หรือพลังความคิดสร้างสรรค์มาช่วยขยายกรอบความคิดให้ใหญ่ขึ้นได้ เมื่อกรอบความคิดของเราแคบลง มุมมองของเราที่กำลังเผชิญอยู่กับสภาวะวิกฤตก็จะมีแนวโน้มลดลงไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 กำลังหยอกล้ออยู่กับความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดของเรา

โดยเฉพาะสถานการณ์นี้ที่เราทุกคนต้อง Social Distancing เว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของทุกคนด้วยแล้ว ความกลัวก็ยิ่งทำงานมากขึ้น เพิ่มความรู้สึกกังวลและโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก

=====

มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับลูกศรดอกที่สอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ถามลูกศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดถูกยิงด้วยลูกธนูจะเจ็บปวดไหม” ลูกศิษย์ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจ็บแน่นอน”

ท่านถามอีก “ถ้าถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่สองอีก จะเจ็บปวดมากยิ่งกว่าเดิมไหม” แล้วก็อธิบายว่า “ในชีวิตเราไม่อาจควบคุมลูกศรลูกแรกที่เข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม ลูกศรดอกที่สองเป็นเพียงการตอบสนองต่อเหตุการณ์แรก ดังนั้น ลูกศรดอกที่สองที่เข้ามานั้น มาพร้อมกับความเป็นไปได้ในการเลือกของเรา”

ย้อนกลับมาสถานการณ์โควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เปรียบเหมือนเรากำลังประสบกับความเจ็บปวดจากลูกศรดอกแรก นั่นคือ ข้อจำกัดการเดินทาง ราคาหุ้นตก การขาดแคลนอาหารการกินหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ เป็นต้น

ขณะที่ลูกศรดอกที่สอง คือ ความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสของเราเอง คำถามที่เราถามตัวเองตลอดเวลา “เราติดหรือยัง” กังวลว่าคนที่เรารักจะได้รับผลกระทบนี้ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางการเงิน และสถานการณ์อื่น ๆ

=====

จะเห็นว่าลูกศรดอกแรกเป็นสิ่งที่เราต้องเจอกับความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ลูกศรดอกที่สอง กลับกลายเป็นการต่อต้าน ไม่ยอมรับ ความกลัว ความกังวลจากสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อจิตใจเรามากกว่า ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอบสนองอย่างไร

สิ่งสำคัญคือการจดจำไว้ว่า ลูกศรดอกที่สอง คืออารมณ์และจิตใจของเราที่ตอบโต้ต่อสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่มันมักจะทำให้เราทุกข์ยิ่งกว่าเดิม โดยทำให้ใจเรากังวลและกลัว ปิดกั้นตัวเองจากการมองเห็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

หนทางที่จะก้าวข้ามธรรมชาตินี้ของเรา คือการกลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ เราต้องสามารถควบคุมความคิดและใช้ศักยภาพของตัวเอง ในการเผชิญหน้ากับลูกศรลูกแรก และสามารถหักลูกศรดอกที่สองก่อนที่มันจะเข้ามาทำร้ายเราซ้ำได้

=====

Resilience จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะในภาวะวิกฤตนี้ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของเราด้วยการมีสติ และเพิ่มขีดความสามารถในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการใช้ทักษะในการสังเกตความคิด การจัดการกับความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ และการปรับสมดุลทางความคิดอย่างรวดเร็ว และนี่คือ 3 วิธีการฟื้นฟูตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ

1. การทำใจให้สงบ

พูดเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ได้ยาก การทำใจให้สงบเริ่มต้นจากการมีสติอยู่กับปัจจุบัน แม้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้จะเห็นว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น บางคนอาจต้องเปลี่ยนสภาพการทำงาน หรือต้องอยู่ในกรอบที่จำกัด การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ คือ ให้ลองคิดถึงปัจจุบัน สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ อาจใช้วิธีการทำสมาธิ หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ได้

จากนั้นหากความกลัวหรือกังวลก่อตัวขึ้นอยู่ในใจมาก ๆ ให้เราตระหนักและยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกนั้น การยอมรับความรู้สึกของตัวเองว่ากำลังกลัวหรือกังวลไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร กลับเป็นเรื่องดีที่เราสามารถยอมรับกับความรู้สึกของตัวเองได้ และเป็นสัญญาณดีที่หมายถึงการมีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป

แนวทางการทำใจให้สงบก็คือการเป็นอิสระจากความคิดที่รบกวนตัวเราเอง ลองดูแนวทางการฝึกได้ในบทความนี้

=====

2. ทบทวนอย่างมีสติ

หลายครั้งที่เมื่อคนเรามีความกลัว ความวิตกกังวล ปฏิกิริยาที่เรามักตอบสนองกลับไป คือการรีบตอบโต้ รีบแก้ปัญหาโดยทันที และบ่อยครั้งที่ผลของมันกลับทำร้ายตัวเรามากขึ้นไปอีก การจะลงมือจัดการตัวเองที่กำลังสับสน จัดการธุรกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรตอนนี้ คงไม่ดีแน่

หลังจากที่เราสามารถทำใจให้สงบ มีสติ และยอมรับกับอารมณ์ ความกลัวที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองได้แล้ว กรอบคิดของเราจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เราใช้สติทบทวนตัวเองให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และมีทางออกให้กับตัวเองได้มากขึ้นด้วย

ในทางจิตวิทยา การทบทวนตัวเองอย่างมีสติ ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการวางมือจากปัญหาที่กำลังวุ่นวาย หันมองออกไปนอกหน้าต่าง มองต้นไม้สีเขียว หรือมองอะไรที่ทำให้เราสบายใจ ก็ช่วยให้สมองของเราได้ขยายกรอบคิด และสามารถทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สามารถค้นหาคำตอบที่ชัดเจน ได้วิธีการที่ดีที่สุด และวางแผนในการแก้ไขปัญหา และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

=====

3. ส่งต่อกำลังใจ

ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ นอกจากตัวเราที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เรารู้จักและไม่รู้จักก็ตามกำลังต้องการกำลังใจเช่นกัน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกำลังพยายามจัดการกับไวรัสตัวร้าย กิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมถูกยกเลิก โรงเรียนปิดแบบกะทันหัน

ภาคธุรกิจก็ได้ออกนโยบาย Work from Home ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และห้ามเดินทาง เพื่อลดการติดต่อ ทั้ง ๆ ที่เราทราบดีว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเข้าสังคม” สถานการณ์นี้จึงทำให้เรารู้สึกถึงการแตกแยก ส่งผลให้เกิดความกลัวและวิตกกังวล

การส่งต่อกำลังใจให้แก่กันในสถานการณ์อันเลวร้าย การหยิบยื่นความปรารถนาดีให้แก่กัน จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่ง หากเราสามารถจัดการสติของตัวเอง ทำใจให้สงบ และสามารถทบทวนตัวเองจนพบกับทางออกในการจัดการปัญหาของตัวเองได้แล้ว เราเองก็จะมีพลังในการส่งกำลังใจให้กับคนอื่น ๆ ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหา ไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ ให้พวกเขามีสติ และทบทวนตัวเองเพื่อค้นพบทางออกได้เช่นกัน

ลองคิดดูสิครับ ถ้าเราส่งต่อกำลังใจให้กับคนอื่นมาก ๆ และพวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ ตัวเราเองจะมีพลังใจเกิดขึ้นมากขนาดไหน

การกระจายตัวอย่างรวดเร็วของโควิด-19 อาจเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบไปทั่ว โดยเฉพาะสภาพจิตใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้ความยืดหยุ่นด้วยการทำใจให้สงบโดยการมีสติ ทบทวนตัวเองด้วยความไม่รีบร้อน และส่งต่อกำลังใจให้ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ถ้าคุณอยากฝึกฝนวิธีการฟื้นฟูจิตใจตัวเองและคนในทีมเพื่อให้ทำงานต่อได้แม้จะต้องเผชิญวิกฤตหนักหนาขนาดไหน ขอแนะนำหลักสูตร Emotional Intelligence คลิกที่นี่

=====
แปลและเรียบเรียงโดย โค้ชแบท – อรรณพ นิยมเดชา นักจิตวิทยาด้านการบริหารและการพัฒนาตนเอง

อ้างอิงจาก Build Your Resilience in the face of a crisis โดย Ramus Hougaard et al., Harvard Business Review, March 2020.

ทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่จะตามมา

ทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่จะตามมา

คุณเคยเห็นทีมที่ประกอบไปด้วยคนเกรดเอที่ทำผลงานพังพาบไม่เป็นท่าหรือไม่ เกิดเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร

ผลการวิจัยพบว่า การรวมดาวเด่นมาทำงานด้วยกันต่อให้มีจุดหมายเดียวกัน พร้อมรับมือกับความท้าทาย แต่ก็ยังล้มเหลวได้ ถ้าหากว่าคนในทีมไม่รู้สึกถึงความปลอดภัย

ความรู้สึกปลอดภัยทางใจถือเป็นปัจจัยสำคัญทางจิตวิทยาที่ทำให้คนทำงานสามารถคิดสร้างสรรค์ รับมือกับความเสี่ยงได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ

ผลการศึกษาตั้งแต่อดีตชี้ว่า ความปลอดภัยทางใจเป็นสิ่งที่เปราะบางและสำคัญมากในการที่มนุษย์จะเอาตัวรอดท่ามกลางสภาวะที่ไม่แน่นอนได้
=====

ในโลกยุคใหม่ ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่ในเงื้อมมือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ยังเกี่ยวพันกับสิ่งอื่น ๆ ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกปลอดภัยที่จะทำให้มีสภาวะทางอารมณ์เป็นบวก สมองเปิดโล่งจนแก้ไขปัญหาซับซ้อน หรือสร้างความสัมพันธ์ทางการทำงานที่ดีได้

ในบรรดาอารมณ์เป็นบวกเหล่านั้น ประกอบไปด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสงสัยใคร่รู้ ความมั่นใจ และแรงบันดาลใจ

คำถามก็คือ แล้วเราจะสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่คนในทีมจนนำมาซึ่งความสำเร็จได้อย่างไร นี่คือคำตอบ
=====

1.เมื่อขัดแย้งอย่างสร้างอริ แต่ให้มองหาความร่วมมือ

มนุษย์ไม่ชอบความพ่ายแพ้ เรารู้สึกได้ดีเมื่อผ่านการแข่งขัน การถูกตำหนิหรือการวิจารณ์ ไม่ใช่เรื่องดีนักถ้าปล่อยให้เกิดความขัดแย้งในทีม จงอย่าทำให้เกิดความรู้สึกแพ้-ชนะหรือความเป็นคู่แข่งภายในทีม แต่จงทำให้เกิดสถานการณ์ win – win โดยให้คนได้เรียนรู้และร่วมมือกันจากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น
=====

2.เข้าอกเข้าใจในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

จำไว้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความนับถือ อยากมีศักยภาพในการแข่งขัน อยากได้สถานะทางสังคม ตลอดจนต้องการควบคุมชะตากรรมของตัวเองได้ จงเอาใจเขามาใส่ใจเราในเมื่อทุกคนในทีมล้วนต้องการสิ่งเหล่านี้ ให้ระลึกไว้ตลอดเวลาว่าไม่ว่าจะอย่างไร คน ๆ นี้ก็ล้วนมีความเชื่อ มุมมอง ความเห็น ความหวาดกลัว ความรัก ความสุข หรือความต้องการ….ไม่ต่างจากเรา
=====

3.คิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่อีกฝ่ายจะแสดงกลับมา

ก่อนที่จะทำหรือพูดอะไรออกไป จงคาดเดาว่าอีกฝ่ายจะแสดงออกกลับมาอย่างไรเมื่อพบเจอถ้อยคำหรือพฤติกรรมนั้นของเรา วิธีการนี้จะทำให้เราปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับอีกฝ่ายให้ดีที่สุด

ทั้งการส่งข้อความ การพูดคุย ควรใคร่ครวญว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารคืออะไร ผลลัพธ์สามแบบที่คนฟังจะตอบกลับมาน่าจะมีอะไรบ้าง และ เราจะจัดการกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร ทั้งหมดนี้คือการวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้ไม่สูญเสียพลังใจ และสร้างความปลอดภัยทางใจแก่ทุกฝ่าย
=====

4.อย่าตำหนิ แต่ให้แสดงความอยากรู้แทน

การตำหนิคือการทำลายกำแพงความปลอดภัยของอีกฝ่าย เราจึงไม่ควรทำสิ่งนี้กับคนในทีม ถ้าหากเห็นว่าผลงานหรือการกระทำอีกฝ่ายไม่ถูกต้องและคุณต้องการแก้ไขจงใช้วิธีอื่น เช่น การแสดงความอยากรู้หรือตั้งข้อสงสัยอย่างเนียน ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเริ่มด้วยการตั้งประเด็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์เป็นอย่างไร

ลองเสนอตัวร่วมมือค้นหาคำตอบร่วมกัน และถามไถ่ถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อเราทำแบบนี้ อีกฝ่ายจะไม่รู้สึกถึงการตำหนิติเตียน แต่ทั้งเราและเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อมไปด้วยกัน
=====

5.ถามหา Feedback เมื่อเราได้ส่งสารออกไป

ในบางครั้งเราอาจไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ในการสื่อสารของเราจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่ แต่เราสามารถติดตามผลและแก้ไขได้ด้วยการขอ Feedback ว่าหลังจากเราพูดหรือนำเสนออะไรไปอีกฝ่ายคิดอย่างไร เคล็ดลับสำคัญคืออย่าปล่อยให้ยืดเยื้อหรือล่วงเลยเวลาไปนาน แต่ควรจะทำให้เร็วที่สุด เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

การ Feedback เป็นศิลปะที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ อ่าน ให้ Feedback ได้ ทีมพัฒนาไวขึ้น เพื่อฝึกฝนทักษะการให้และรับ Feedback ของคุณได้แล้วที่นี่
=====

6.วัดระดับความปลอดภัย(ทางใจ)

ไม่มีอะไรจะวัดระดับความปลอดภัยในใจของคนในทีม ได้เท่ากับการถามไถ่คนในทีมว่ารู้สึกอย่างไร รู้สึกปลอดภัยอยู่หรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามที่ต้องการคุณก็ต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน
=====

เพราะการพัฒนาความไว้วางใจและร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ๆ ของการทำงานเป็นทีม ขอแนะนำหลักสูตร Building Trust and Safe Space for the Great Team ที่จะช่วยให้คุณสร้างและพัฒนาความไว้วางใจและพื้นที่ปลอดภัยได้ดีขึ้น ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “High-Performing Teams Need Psychological Safety. Here’s How to Create It” โดย Laura Delizonna จาก Harvard Business Review 24 สิงหาคม 2017

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

การมองโลกในแง่ดีช่วยให้คุณรวยขึ้นได้อย่างไร

การมองโลกในแง่ดีช่วยให้คุณรวยขึ้นได้อย่างไร

คุณคิดว่า คนมองโลกในแง่ร้าย กับ คนมองโลกในแง่ดี ใครมีสุขภาพการเงินดีกว่ากัน

หลายท่านอาจจะคิดว่ามองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนทำให้เราไม่เอาเงินไปใช้พร่ำเพรื่อ ไม่หลงกลคนต้มตุ๋น ส่วนถ้ามองโลกแง่ดีก็คงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเพราะคิดว่าหาใหม่ได้เรื่อย ๆ และตกเป็นเหยื่อคนต้มตุ๋นได้ง่าย

คุณจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ผลการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาบอกว่า ชัยชนะทางการเงินเป็นของ…คนมองโลกในแง่ดี
=====

การศึกษาชิ้นนี้อธิบายว่า คนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความเครียดมากกว่าคนยุคก่อน แถมยังไม่มีความสุขในชีวิตอีกต่างหาก

เมื่อสำรวจคนที่มองโลกแง่บวกกับคนที่มองโลกในแง่ลบพบว่าคนมองโลกในแง่บวกจะตัดสินใจเรื่องเงินได้ฉลาดกว่า และเต็มไปด้วยประโยชน์ที่จับต้องได้มากกว่า

การมองโลกเชิงบวกจะทำให้คน ๆ นั้นมีสติครุ่นคิดเรื่องการเงินได้ดีกว่า

คนกลุ่มนี้จะใช้เงินไปกับสิ่งที่จำเป็นและงอกเงยได้ พวกเขาจะมองหาความรู้ด้านการเงินและฟังคำแนะนำที่ดี มีการวางแผนและการลงทุนที่ดี 

แตกต่างจากคนที่มองโลกแบบไม่ไว้วางใจ ซึ่งมักจะตัดสินใจทางลบ จัดการเรื่องเงินอย่างตื่นตระหนกตามสถานการณ์ที่บีบคั้น
=====

เมื่อปรับความคิดในเชิงบวก (หมายถึงบวกอย่างมีปัญญา) ก็เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อทางความคิดให้แข็งแรง ซึ่งใครก็สามารถสร้างได้

และหากครอบครองความแข็งแรงนั้นแล้วก็จะนำไปสู่การขยับขยายเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ต่อไป

คำแนะนำสำหรับการสร้างความคิดเชิงบวกแบบมีปัญญาเพื่อให้เงินไหลมาเทมา มีดังต่อไปนี้
=====

โฟกัสไปยังสิ่งที่เข้าท่า

เริ่มต้นวันใหม่ ด้วยการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น คว้าโทรศัพท์มาเช็คดูข่าวสำคัญ

ปรับพฤติกรรมให้คุณเป็นมนุษย์ที่ใช้สื่ออย่างคุ้มค่า โดยเริ่มต้นวันด้วยการเสพสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้คุณใช้เวลาอย่างมีคุณภาพไม่ใช่จมจ่อมกับเรื่องที่เจ็บปวดทรมาน
=====

มองหาความก้าวหน้า อย่าคิดว่าต้องสมบูรณ์แบบ

ปัญหาของคนที่เป็น “เพอร์เฟคชั่นนิสต์” หรือมนุษย์สมบูรณ์แบบ คือการมองแบบจับผิดว่าอะไรที่ไม่ถูกต้อง อะไรที่คลาดเคลื่อนไปจากความสมบูรณ์แบบบ้าง ซึ่งการมองแบบนี้เข้าข่ายการมองโลกในแง่ลบ

คุณควรปรับการมองว่า “สิ่งที่ได้ทำลงไปหรือสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่นั้นสามารถนำมาพัฒนาตรงไหนได้บ้าง”

การปรับปรุงสิ่งละอันพันละน้อยใดบ้างที่ช่วยให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น

การทำงานคือหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ทำให้คุณก้าวหน้าผ่านการบลงมือทำจริง อ่าน เรียนรู้จากงานอย่างไรให้เก่งเร็วขึ้น เพื่อให้คุณพัฒนาแบบก้าวกระโดดผ่านการทำงาน
=====

สื่อสารกับคนอื่นอย่างมีความหมาย

การเชื่อมโยงกับคนอื่นอย่างมีคุณค่าทำให้เราได้สิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าด้วยเช่นกัน

ลองส่งอีเมลเรื่องดีเพื่อสื่อสารสิ่งที่เป็นบวกไปยังคนอื่น จะเป็นการขอบคุณหรืออะไรก็ตามแต่กับคนในครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ก็ล้วนเป็นพฤติกรรมเชิงบวกทั้งสิ้น

การทำแบบนี้ทำให้เรารู้สึกสัมพันธ์กับสังคมภายนอก เกิดความสุขและความคิดเชิงบวกตามมา

ทั้งหมดนี้ คือการสร้างสภาวะการมองโลกเชิงบวก จากนั้น การคิดและตัดสินใจต่าง ๆ ของเราก็จะนำมาซึ่งจังหวะและเวลาที่ถูกต้อง สภาพทางการเงินก็จะย่อมเป็นไปในทางที่ดีขึ้นตามผลการวิจัยอย่างแน่นอน

เพื่อให้คุณพัฒนาตัวเองเป็นคนมองโลกแง่บวกที่มีปัญญาสูงสุด มาร่วมเรียนรู้และฝึกฝนในหลักสูตร High Performance Leader ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจทั้ง Mindset และ Skill ที่สำคัญในการเป็นผู้นำยุคใหม่ คลิกที่นี่
=====

เรียบเรียงจาก “The Financial Upside of Being an Optimist” โดย elle Gielan จาก Harvard Business Review 12 มีนาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save