6 เทคนิคเพิ่มแรงจูงใจให้ทีมของคุณ

6 เทคนิคเพิ่มแรงจูงใจให้ทีมของคุณ

การให้รางวัลไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ ตราบใดที่คุณไม่ได้มองคนในทีมของคุณเป็นตัวอะไรสักอย่างที่ต้องเอาอาหารไปผูกเชือกห้อยไว้ที่ปลายไม้ยาว ๆ แล้วหลอกล่อให้พวกเขาเดินไปตามทางที่คุณกำหนด

ใช่ครับ คนในทีมคือสหายผู้ร่วมเดินทางเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับคุณ และสิ่งสำคัญที่คุณควรตระหนักไว้ก็คือพวกเขาอยากได้รางวัลเพื่อเพิ่มพูนแรงจูงใจเช่นเดียวกับคุณนี่แหล่ะ
====

พูดถึง ‘รางวัลเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ’ แล้ว มีเรื่องหนึ่งที่คุณควรรู้เอาไว้ก็คือ ให้ระวังแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic motivation) ซึ่งเกิดจากการได้รางวัลที่เป็นปัจจัยภายนอกที่คนอื่นหรือสังคมเป็นผู้กำหนด เช่น การให้เงินเพิ่ม การได้โบนัส การให้คำชม

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าการมุ่งเน้นที่แรงจูงใจภายนอกเหล่านั้นจะผลักดันให้คนทำงานแบบตัวใครตัวมัน แก่งแย่งแข่งขันกัน และที่น่ากลัวที่สุดคือการนำไปสู่การคดโกงได้เลยทีเดียว(Kohn, Punished by Reward)

การให้รางวัลเพื่อเพิ่มแรงจูงใจที่สร้างสรรค์กว่าและมีประสิทธิภาพในระยะยาวและยั่งยืนกว่าคือการเพิ่มแรงจูงใจภายใน (Intrinsic motivation)

ซึ่งเกิดจากการให้รางวัลที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่คนคนนั้นให้คุณค่า มีความหมายในชีวิตของเขา เป็นคุณค่าที่พวกเขากำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง เช่น อิสระในการทำงาน การย้ำเตือนว่าสิ่งที่เขาทำช่วยเหลือผู้คนได้ ฯลฯ

====

มีเทคนิคในการให้รางวัลเพื่อเพิ่ม Intrinsic motivation ที่ควรรู้ทั้งหมด 6 ประการ สิ่งสำคัญคือคุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ กึ๋น และความใจเย็นสักเล็กน้อยเพื่อรอให้ดอกผลที่หว่านผลิบานออกมาให้คุณได้ชื่นชม

1. ห้ามสัญญาเรื่องการให้รางวัล

หลักการคือทำให้มันเป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์ เพราะถ้าคุณสัญญาหรือประกาศไปว่าจะมีรางวัลชิ้นนี้ ๆ มอบให้คนที่ทำสิ่งนี้ ๆ จะทำให้เกิดความคาดหวังและคนในทีมคุณจะโฟกัสไปที่ตัวรางวัลมากกว่าการทำงานทันที
====

2. หากจำเป็นต้องประกาศให้คนรู้ ทำให้ ‘มูลค่า’ ของรางวัลน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเพิ่ม ‘คุณค่า’ ของมันแทน

อย่างที่บอกไปว่ารางวัลสำหรับแรงจูงใจภายในต้องมีคุณค่า ไม่ใช่มูลค่า ลืมเรื่องเงิน 3,000 บาท หรือ ไอโฟนรุ่นล่าสุดไปเลย ลองเปลี่ยนเป็นการ์ดชื่นชมจากหัวหน้า ลูกค้า และคนในทีม หรือ การให้อสระในการทำงานแก่เขาดูนะครับ
====

3. ให้รางวัลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแล้วจบ หรือต้องรอนานแบบเดือนละครั้งหรือสามเดือนครั้ง

ทำให้การมอบรางวัล การให้รางวัลเป็นเรื่องที่สนุก เรื่องที่มีความสุขเรื่อย ๆ และบ่อย ๆ ดีกว่า เพราะคนในทีมของคุณจะรู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับการเซอร์ไพรซ์และเรื่องประทับใจเล็ก ๆ แต่เกิดถี่ ๆ เหล่านั้น
====

4. ให้รางวัลอย่างเปิดเผย

เรื่องดีดีควรได้รับการเปิดเผยให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อทำให้คนอื่นในทีมมีแรงบันดาลใจและอยากที่จะทำเช่นนั้นได้บ้าง และเมื่อเรากำหนดว่าจะให้รางวัลสม่ำเสมออยู่แล้ว คนอื่นในทีมก็ย่อมมีความหวังได้ง่ายขึ้นว่าจะได้รับรางวัลเช่นนั้นบ้าง
====

5. ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ดี ไม่ใช่ผลงานที่ดี

นี่คือหลักการที่สำคัญที่สุดในการทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดี ทำให้คนมุ่งเน้นไปที่การกระทำมากกว่าผลลัพธ์ ลดการคดโกง การแก่งแย่งแข่งขัน และช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อื่น ๆ มากมาย

====

6. ให้รางวัลกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ลูกน้อง

รางวัลที่สร้างแรงจูงใจภายในควรมาจากคนในระดับเดียวกัน เพื่อลดการเกิดปัญหาลูกรัก ลูกชังภายในทีม และช่วยสร้างวัฒนธรรมการให้รางวัลกันและกันในทีมด้วย
====

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถ้าคุณเป็นหัวหน้าผมขอแสดงความยืนดีด้วย เพราะคุณสามารถลองกระตุ้นคนในทีมให้ร่วมกันค้นหาคุณค่าภายในของแต่ละคน คุณค่าร่วมของคนในทีม ร่วมกันคิดรางวัลที่สอดคล้องกับคุณค่าเหล่านั้นโดยคิดออกมาให้มากที่สุด

ระบุพฤติกรรมที่พึงประสงค์และผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการมอบรางวัลภายในทีมของคุณขึ้นมา

แต่ถ้าคุณไม่ใช่หัวหน้าทีมก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณสามารถมีส่วนในการสร้างสรรค์และผลักดันวัฒนธรรมนี้เช่นกัน

ลองหาแนวร่วมอย่างน้อยหนึ่งคนแล้วทำกันเองแค่สองคนก่อน จากนั้นค่อย ๆ เชิญชวนคนอื่นให้ทำตามทีละคน สองคน รู้ตัวอีกทีทีมของคุณก็มีวัฒนธรรมการสร้างแรงจูงใจภายในเกิดขึ้นแล้วล่ะ
====


เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

8 วิธีเปลี่ยนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

8 วิธีเปลี่ยนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

ในทศวรรษที่ผ่านมามีองค์กรมากมายที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อการอยู่รอด ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ธุรกิจที่กำลังย่ำแย่และธุรกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่

ทั้งหมดมีเป้าหมายของการเปลี่ยนที่เหมือนกันคือ…

เพื่อให้ธุรกิจเข้าสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้ได้

บางองค์กรประสบความสำเร็จ และบางองค์กรก็ประสบความล้มเหลว ทุกคนสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดจาก 8 บทเรียนที่องค์กรใหญ่ ๆ พยายามปรับเปลี่ยนแต่กลับเผชิญความล้มเหลว

อะไรคือสาเหตุ อะไรคือผลลัพธ์ แล้วเราควรทำอย่างไรจากบทเรียนเหล่านี้ คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว
====

บทเรียนที่ 1 ไม่เข้าใจคำว่า ‘เร่งด่วน’

โดยส่วนใหญ่องค์กรที่ควรจะปรับเปลี่ยนมักจะลงเอยด้วยการปรับเปลี่ยนจริง ๆ แต่ปัญหาคือการปรับเปลี่ยนที่ช้าเกินไป โดยทั่วไป องค์กรส่วนใหญ่จะพลาดตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย

สาเหตุมาจากการติดอยู่กับ comfort zone และการมีผู้บริหารที่ไม่ใช่นักเปลี่ยนแปลง ตัวชี้วัดง่ายๆ ว่าเมื่อไหร่จะต้องปรับเปลี่ยนแบบเร่งด่วน คือระบบการบริหารจัดการอย่างน้อย 75% เริ่มไม่ราบรื่นอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้แล้ว
====

บทเรียนที่ 2 ไม่ประสานกันให้ดี

เมื่อคิดจะเปลี่ยนต้องมีแผนการและมีความเต็มใจจากคนในองค์กร ประเด็นหลักคือจะต้องมีระดับหัวหน้าขององค์กรที่พร้อมจะขับเคลื่อน เพราะการทำกันแค่สองสามคนแทบไม่มีโอกาสไปรอด

สิ่งสำคัญก็คือการปรับเปลี่ยนมักจะถูกค้านจากผู้อาวุโส อย่าคาดหวังกับคนกลุ่มนี้ตั้งแต่แรก แต่จงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่และคนมีอำนาจวางแผนดี ๆ อย่างมีหลักการ และพร้อมที่จะผลักดันอย่างพร้อมเพรียงกัน
====

บทเรียนที่ 3 ขาดวิสัยทัศน์

การเปลี่ยนจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปทำไม หรือเปลี่ยนแล้วเห็นว่าอนาคตมืดมน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงไม่มีใครในองค์กรที่อยากจะร่วมมือ

การสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีช่วยแก้ปัญหานี้ได้ มันคือการสร้างภาพอนาคตที่ชัดเจนหลังการเปลี่ยนแปลง เพื่อสื่อสารกับคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย ไปจนถึงพนักงานทุกคนในองค์กร
====

บทเรียนที่ 4 สื่อสารไม่เป็น

จำเอาไว้ว่าต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 10 ของพนักงานองค์กรที่พร้อมจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ซึ่งแปลว่าคุณจะต้องมีการสื่อสารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางสื่อสารภายในทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการซึ่งถือว่าเข้าถึงคนได้มากกว่า ทั้งการเดินพูดคุยกันในบรรยากาศสบาย ๆ การใช้เวลาว่างตอนกินข้าวเพื่อสื่อสาร เป็นต้น
====

บทเรียนที่ 5 ไม่ได้เอาอุปสรรคออกไป

หนึ่งในเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนก็เพราะมีตัวถ่วงหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ถ้าเราหยิบเอาอุปสรรคเดิม ๆ ไปบรรจุลงในวิสัยทัศน์หรือแผนการปรับเปลี่ยนก็แทบจะไม่ต่างจากการเอาของเก่ามาขายใหม่ แล้วใครจะยอมร่วมมือ

หรือถ้าบังเอิญมีคนร่วมมือด้วยจริง คุณคิดหรือว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าหากยังมีอุปสรรคเดิม ๆ กีดขวางอยู่
====

บทเรียนที่ 6 วางแผนไม่เป็นระบบ

การเปลี่ยนต้องมีแผนที่ชัดเจน มีขั้นตอนว่าจะทำอะไร ประเมินผลอย่างไร และที่สำคัญคือจะต้องมีการสร้างเป้าหมายระยะสั้น (Quick win) ที่ทีมงานสามารถบรรลุได้อย่างแน่นอน เป็นการสร้างกำลังใจเพื่อจะไปคว้าเป้าหมายใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
====

บทเรียนที่ 7 ประกาศความสำเร็จเร็วเกินไป

จริงอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นยากเย็นและเมื่อดูท่าทีว่าจะทำสำเร็จก็ควรจะดีใจ แต่คุณควรหลีกเลี่ยงการเฉลิมฉลองอย่างโอเว่อร์สุดเหวี่ยง หรือการรีบประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จแล้ว

มีองค์กรจำนวนมากที่เร่งรีบประกาศชัยชนะถึงขนาดเที่ยวไปขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างก็เริ่มเฉื่อย อะไรต่อมิอะไรกลับเชื่องช้าเมื่อเทียบกับตอนที่ยังไม่ประกาศออกมาด้วยซ้ำ ฉะนั้น รอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จจริง ๆ อย่างสมบูรณ์ก่อนดีกว่า
====

บทเรียนที่ 8 ลืมใส่หัวใจของการเปลี่ยนแปลงลงในวัฒนธรรมองค์กร

เป็นที่ทราบกันดีว่าสิ่งที่แข็งแกร่งมากในการทำงาน คือ วัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากมันหยั่งรากและยากต่อการทำลาย เมื่อมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ สิ่งที่จะต้องเร่งทำคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

เช่น เดิมองค์กรเน้นความสะดวกสบาย แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเน้นความรวดเร็วก็จะต้องทำให้คนในองค์กรมีวัฒนธรรมเห็นคุณค่าของเวลาและไม่รีรอที่จะสร้างสรรค์ผลงาน

เพราะหากไม่บรรจุสิ่งเหล่านี้เข้าไป การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืนแน่นอน

ก่อนที่จะใส่หัวใจการเปลี่ยนแปลงเข้าไปในวัฒนธรรมองค์กรใดใดได้ คุณต้องกำจัดวัฒนธรรมองค์กรแย่ ๆ ก่อนที่ทีมของคุณจะพังให้ได้เสียก่อน คลิกอ่านวิธีการได้ที่นี่
====

ทักษะสำคัญที่ช่วยสร้างหรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรก็คือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในแบบฉบับผู้นำได้ในหลักสูตร Executive Communication ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “Leading Change: Why Transformation Efforts Fail” โดย John P. Kotter จาก Harvard Business Review ฉบับ Change Management เดือนมกราคม 2017

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

4 แนวทางทำทีมขนาดเล็กให้สำเร็จขนาดใหญ่

4 แนวทางทำทีมขนาดเล็กให้สำเร็จขนาดใหญ่

ในยุคที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้เช่นนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้นำทางธุรกิจหลายท่านน่าจะตระหนักถึงพลังของทีมขนาดเล็ก(Small Team) กันพอสมควรแล้วว่าทีมแบบนี้เหมาะกับยุคสมัยที่มีลักษณะดังกล่าวขนาดไหน

 

เพราะมีเพียงทีมขนาดเล็ก( 4 – 8 คนโดยประมาณ) เท่านั้นที่จะปรับตัว เปลี่ยนแปลง สร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง และผุดไอเดียใหม่ ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมและแก้ปัญหาได้อย่างแตกต่าง
====


หลายคนรับรู้ถึงพลังของทีมขนาดเล็ก แต่คำถามที่เกิดขึ้นในใจคือเราควรโฟกัสไปที่การพัฒนาเรื่องอะไรบ้างเพื่อทำให้ทีมขนาดเล็กสามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีขนาดใหญ่ได้

จากการศึกษาและร่วมงานกับทีมขนาดเล็กใหญ่มามากมาย ผมได้เรียนรู้ว่ามีอยู่ 4 ประเด็นที่หัวหน้าและคนในทีมจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีมขนาดเล็กทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
====


1. การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

การสื่อสารคือกุญแจของความสำเร็จในทุกธุรกิจ และจำเป็นต่อการทำงานเป็นทีมทุกขนาด แต่การสื่อสารจะสำคัญมากขึ้นสำหรับทีมขนาดเล็กที่มีคนในทีมไม่ถึงสิบและต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

การสื่อสารจะช่วยเพิ่มความเข้าใจ เพิ่มความไว้วางใจ เพราะมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคนในทีมจะไม่ต้องตรวจเช็คว่าคนในทีมทำงานหรือเปล่า หรือทำได้ดีไหมบ่อยจนเกินไป และเมื่อทุกคนโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้าตัวเองก็ช่วยให้งานเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
====


2. สร้างวัฒนธรรมบริษัทหรือทีมให้เป็นบริษัทหรือทีมที่สร้างแรงบันดาลใจ

ความกระตือรือร้น พลังใจ และความมุ่งมั่นคือองค์ประกอบที่สำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างทีมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ โดยการทำให้ทุกคนในทีมรับรู้ถึงเหตุผล (Why) ในการทำงานนั้น

เพื่อความสำเร็จที่มากขึ้น คุณควรร่วมกันกำหนด Why ที่สอดคล้องกับ Why ในการมาทำงานนี้ของแต่ละคนโดยการหา ‘จุดร่วม’ ให้เจอ

สิ่งสำคัญที่สร้างความแตกต่างคือการที่ผู้นำมี Mindset และลงมือทำทุกอย่างสอดคล้องกับ Why นั้นอย่างไม่ขัดแย้งในทุกกิจกรรมที่ทำ
เมื่อทุกคนในทีมตระหนักถึง Why ในการทำงานเป็นประจำ ทีมจะมีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น
====

3. ลงทุนกับทีมของคุณเสมอ

ไม่สำคัญว่าคนในทีมจะมีความสามารถมากขนาดไหน ถ้าคุณคือหัวหน้าทีมคุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณกำลังส่งเสริมการเติบโตและการเรียนรู้ของทุกคนในทีม ทั้งทักษะที่เกี่ยวกับงานและทักษะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

คุณอาจจะกำหนดวันฝึกอบรมทีมประจำเดือน (หรือประจำสัปดาห์ไปเลยก็ได้) สร้างพื้นที่ให้คนในทีมมาแบ่งปันความรู้แก่กัน หาคนมาช่วยเทรนคนในทีม และมีสวัสดิการสมัครเรียนคอร์สทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างสม่ำเสมอด้วย

====

4. ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด

การเป็นทีมขนาดเล็กไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำงานทั้งหมดด้วยตัวเอง จงทบทวนว่าทีมของคุณมีและไม่มีทรัพยากรใดบ้าง โดยลิสต์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

จากนั้นก็ติดต่อ freelancer ที่มีวินัยและมีความสามารถสูงที่จะมาช่วยให้โปรเจคนั้นสำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกราฟิกสำหรับแคมเปญที่กำลังจะมาถึงหรืองานไอทีภายใน จำไว้ว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านที่ทีมของคุณไม่ถนัดจะช่วยให้ทีมของคุณบรรลุศักยภาพอย่างแท้จริง 

สุดท้ายไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าทีมหรือสมาชิกในทีม คุณก็คือส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทีมขนาดเล็กกลายเป็น ‘แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์’ ได้ ขอเพียงแค่อย่าลืมโฟกัส 4 เรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนฟอร์มทีมและมุ่งเน้นทั้งสี่เรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดการเดินทางของทีมของคุณ

====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

จัดการเรื่องเร่งด่วนยังไงให้มีประสิทธิภาพ

จัดการเรื่องเร่งด่วนยังไงให้มีประสิทธิภาพ

ในการทำงานหลายคนวนเวียนอยู่กับการเอาตัวรอดจากเส้นตาย (Dead Line) ในการส่งงานซึ่งเต็มไปด้วยความกดดัน ความเหนื่อยและความเครียด แต่ก็จะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจหากทำได้ทันตามกำหนดนั้น

แต่งานวิจัยบอกว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทุ่มเทแทบเป็นแทบตายเพื่อให้เสร็จทันเวลาเหล่านั้นมักเป็นงานที่ใกล้เวลาส่งงาน และทำให้รู้สึกกดดัน ทั้งที่งานนั้นอาจไม่ได้มีความสำคัญมากนัก

ในทางตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่กลับละเลยงานอื่นที่อาจจะกดดันน้อยกว่า มีเวลาเหลือสำหรับการทำงานนั้นมากกว่า และที่สำคัญก็คือให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
====

เรากำลังโดนเส้นตายและความรู้สึกกดดันหลอกลวงโดยไม่รู้ตัว จนแทนที่จะทำงานตามลำดับความสำคัญกลับกลายเป็นทำตามความตื่นตระหนกไฟลนก้นไปโดยปริยาย

งานสำคัญที่ควรจะทำก่อนได้แก่ งานที่มีความหมาย งานที่ได้ภาพลักษณ์ที่ดี งานที่เข้ากับระดับความสามารถ งานที่จะช่วยให้รอดพ้นจากหายนะทั้งของตนเองและขององค์กร
====

ต่อไปนี้คือ วิธีโฟกัสไปยังงานที่ ‘สำคัญจริง ๆ’ เพื่อทำให้ทันตามเส้นตายที่เรากำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง

วางตารางงานที่สำคัญและเผื่อเวลาเอาไว้ก่อน

งานสำคัญจะต้องถูกบรรจุเป็นเป้าหมายหลักและเพื่อให้งานออกมาดี ทันกำหนดส่ง คุณจะต้องเผื่อเวลาในการประณีต เผื่อเวลางานงอก และอย่าให้เป็นตารางงานที่อัดแน่นจนหืดจับมากกินไป
====

เตรียมใจเผื่อจัดการกับความรู้สึกและความเครียด

ต้องไม่ลืมว่างานสำคัญย่อมล้มเหลวไม่ได้ คนทำมักจะวิตกกังวลจนนำไปสู่ความผิดพลาด สิ่งที่ควรทำก็คือ สร้างมิตรภาพในการทำงานเอาไว้เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทำสิ่งที่คิดว่าท้าทายและยากก่อนเสมอ ควรร้องขอความช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้อารมณ์เสีย หรือการพร้อมรับความผิดพลาดแล้วรีบแก้ไข
====

ถ้ามีงานที่ไม่สำคัญแทรกเข้ามา อย่าใช้เวลาในการจัดการมากเกินไป

จำไว้ว่า งานสำคัญย่อมคู่ควรกับเวลาและคุณภาพของการทำงาน อะไรก็ตามที่จะมาเบี่ยงเบนให้งานสำคัญด้อยคุณภาพหรือเสร็จไม่ทันก็ควรจะต้องถูกจัดการ เช่น การมีงานอื่นแทรกเข้ามา งานดังกล่าวจะต้องถูกจำกัดเวลาว่าจะต้องเสร็จให้เร็วที่สุดและไม่กระทบงานที่สำคัญจริง ๆ ด้วย
====

ลำดับความสำคัญของงาน บริหารจัดการให้สิ่งที่รบกวนจิตใจหมดไปซะ

งานประเภทที่ไม่สำคัญอาจจะมีจำนวนพอสมควร แต่บางอย่างก็เร่งด่วนจริง ๆ สิ่งที่จะทำได้ก็คือ ทำงานเหล่านั้นให้เสร็จไปแต่ควรจะเลือกงานที่ถ้าทำเสร็จแล้วจะทำให้เรารู้สึกโล่งสบายหรือลดภาระได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะมีสมาธิและเวลาไปทำงานที่มีความสำคัญจริง ๆ
====

ให้ความสำคัญกับภาพรวมของการทำงานทั้งหมด

การมองเห็น ‘ภาพใหญ่’ ของการทำงานจะทำให้เราโฟกัสในสิ่งที่สำคัญได้ง่ายขึ้น เคล็ดลับก็คือ หาเทคนิคต่าง ๆ มาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ตารางแบบละเอียดที่ระบุให้เห็นตั้งแต่ส่วนเล็กและไฮไลท์ให้เห็นภาพรวมทั้งหมดเพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรคืบหน้าไปมากแค่ไหน อะไรเร่งด่วนเป็นพิเศษ

ถัดมาคือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองระหว่างกัน จะทำให้เห็นว่าเราขาดตกบกพร่องอะไรไปหรือเปล่า รวมถึงการบันทึกตารางการทำงานว่าใช้เวลาไปกับสิ่งไหนบ้างเพื่อจะจัดการให้ดีขึ้น โฟกัสได้ตรงจุดกว่าเดิม

เทคนิคต่างๆ ที่เสนอไปนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง แต่ก็ควรเผื่อใจไว้ด้วยว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบบนโลกใบนี้ การโฟกัสเพื่อเอาชนะเส้นตายของการทำงานเป็นเรื่องยากเสมอ แต่หากลองเอาไปปรับใช้สักครึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจแล้ว
====

เรียบเรียงจาก “How to Focus on What’s Important, Not Just What’s Urgent” โดย Alice Boyes จาก Harvard Business Review 2 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

5 วิธีทิ้งความเครียดทิ้งในที่ทำงานก่อนกลับบ้าน

5 วิธีทิ้งความเครียดทิ้งในที่ทำงานก่อนกลับบ้าน

ชีวิตเรามีทั้งงานและชีวิตส่วนตัว แต่ปัญหาที่หลายคนเจอคล้าย ๆ กัน ก็คือต้องต่อสู้ดิ้นรนในที่ทำงานอย่างหนักหนาสาหัสจนรู้สึกว่าตัวเองมีภาวะเครียด

พอกลับมาบ้านก็พบว่าตัวเองนำความทุกข์จากที่ทำงานกลับมาด้วย จนกระทบกับความสัมพันธ์ในบ้าน นอกจากนั้นความเครียดจากงานยังเข้ามารบกวนการกินและการนอนของเราอีกด้วย

====

ใครที่เป็นแบบนี้ขอให้หยุดคิดสักนิด คุณไม่จำเป็นต้องได้เป็นพนักงานดีเด่นหรือเป็นหัวหน้าคนเก่งแต่ครอบครัวพัง สุขภาพพัง ไปจนกระทั่งชีวิตพัง

จงสลัดความเครียดทิ้งไว้ในที่ทำงานแล้วกลับบ้านอย่างสบายตัว มีวิธีการที่เราแนะนำให้คุณใช้ 5 วิธี ดังนี้

สื่อสารให้เป็น

ใส่ใจคนในครอบครัว สื่อสารให้พวกเขารู้ว่าคุณยังรักและแคร์พวกเขาเสมอ อย่าแค่เดินผ่านหรือมองผ่าน ให้ทักทายและพูดคุยกับคนที่บ้านเสมอ

ที่สำคัญ หากคุณประสบความเครียดจากการทำงานให้เล่าให้พวกเขาฟังอย่างเปิดอก พวกเขาจะได้รับมือทันเพราะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วอาจจะช่วยเหลือกันและกันได้

เช่น คุณอาจจะบอกแฟนว่า “ตอนนี้ผมรับบรีฟงานมาใหม่ มันยากเหมือนกัน ยังไงช่วงนี้ผมคงจะหนักหน่อย ถ้าเห็นต้องคุยงานทางโทรศัพท์ หรือนั่งอ่านเอกสารเพิ่มที่บ้าน ก็อย่าว่ากันนะ มันคงเป็นแบบนี้ไปสักพักนึง เดี๋ยวคงจะดีขึ้นเองครับ”
====

ปรับใจก่อนกลับบ้าน

ช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านคือช่วงที่เราสามารถปรับสภาพจากคนแบกภาระหนักให้เป็นคนผ่อนคลายสบายใจได้ด้วยการหากิจกรรมง่าย ๆ ที่ทำให้มีความสุข

เช่น เลือกเส้นทางกลับบ้านที่มีทัศนียภาพที่มองแล้วมีความสุข ลองแวะแม่น้ำหรือสถานที่ที่ทำให้เราสบายใจ หรือถ้าไม่เห็นวิวอะไรมากนักก็เอาโทรศัพท์มาเปิดดูรูปที่ทำให้มีความสุข เท่านี้ก็ช่วยได้แล้ว
====

หาคนปรับทุกข์

ไม่ได้หมายความว่า ‘หาคนคุย’ ในความหมายของการมีกิ๊ก แต่คือการหาคนที่จะมารับฟัง แบ่งเบาความกลัดกลุ้ม

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิท เพื่อนฝูงในชีวิต หรือบรรดาโค้ชที่สามารถชี้แนวทางการในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ คุณควรมีคนเหล่านี้ไว้เป็นที่พึ่งพิงยามที่ต้องการความสบายใจ
====

วางแผนวันเครียด

ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเครียดจริงๆ แต่คือการวางตารางในรอบสัปดาห์หรือรอบเดือนว่าวันไหนบ้างที่จะต้องโหมงานหนักเป็นพิเศษ อาจทำให้คุณต้องกลับบ้านช้า อาจทำให้คุณไม่สามารถพูดคุยกับครอบครัวหรือกินอาหารเย็นร่วมกันได้เหมือนปกติ

นี่คือเทคนิคการล็อควันที่ภาระเยอะไว้เพื่อที่จะมีเวลาสะสางงานเพิ่มขึ้น และช่วยให้ครอบครัวเตรียมตัวล่วงหน้าได้
====

ขอบคุณที่ผ่านวันนี้มาได้

การขอบคุณในที่นี้สุดแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจจะไปสวดมนต์ให้ใจสงบ บางคนอาจระลึกถึงชีวิตที่ผ่านมาทั้งวันแล้วมองหาว่าอะไรเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนระลึกถึงและขอบคุณได้ทั้งนั้น

คุณอาจจะสรรเสริญกาแฟที่รสชาติดีสักแก้ว หรือขอบคุณไฟเขียวซึ่งเปิดให้ถนนฝั่งคุณเร็วกว่าปกติทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนานเกินไป

เทคนิคทั้งหมดนี้ หากนำไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยยกเอาความเครียดของการทำงานออกจากบ่าของคุณก่อนถึงบ้านอย่างแน่นอน

====

เรียบเรียงจาก “5 Ways to Leave Your Work Stress at Work” โดย Sabina Nawaz จาก Harvard Business Review 2 มีนาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

สามช่วงเวลาสุดท้าทายที่ผู้นำต้องข้ามผ่าน

challenge for leader

3 ช่วงเวลาสุดท้าทาย ที่ผู้นำต้องข้ามผ่าน

มีเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำให้อ่านมากมาย มีวิธีไปสู่ความสำเร็จจากหลากหลายแหล่งให้เลือกเสพ

แต่สิ่งที่หลายคนมักจะถามคล้าย ๆ กันคือ แล้วบทเรียนจาก ‘ความล้มเหลว’ ของผู้นำทั้งหลายล่ะ มีอะไรบ้าง 

น่าสนใจเหลือเกินว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้บรรดาผู้นำคนเก่งต้องกุมขมับ ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนแทบเป็นแทบตาย ต้องล้มแล้วลุกไม่รู้กี่รอบกว่าจะข้ามผ่านไปได้

====

ต่อไปนี้คือบทเรียนจาก 3 ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็น ‘ด่านโหดหิน’ ของการเป็นผู้นำ ที่ผู้นำทุกคนควรเรียนรู้และข้ามผ่านไปให้ได้

1.ช่วงที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ

การเปลี่ยนสถานะนั้นยากเสมอ เชื่อเหลือเกินว่าตอนที่ใครสักคนต้องก้าวจากการเป็นลูกน้องขึ้นมานำทีมเป็นครั้งแรกคือช่วงเวลาสุดปั่นป่วน

สถิติจากงานวิจัยบอกว่า ในช่วง 18 เดือนแรกของการมาบริหารงานระดับสูง มีคนเก่ง 50 – 60% ที่ล้มเหลวเพราะยังเตรียมตัวกับอีกระดับของงานได้ไม่ดีพอ หรือกระทั่งมองไม่เห็นภาพขนาดใหญ่ของงาน (เพราะไม่เคยมองระดับนั้นมาก่อน)

แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดคือการขอ feedback แบบรอบด้านบ่อย ๆ เหมือนการยืมมือลูกน้องทั้งหลายมาช่วยทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น หาช่องว่างหรือจุดโหว่เพื่อที่จะปรับปรุงได้นั่นเอง

การให้และรับ Feedback เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนจำเป็นต้องฝึกฝน อ่าน ให้ Feedback ได้ ทีมพัฒนาไวขึ้น คลิกที่นี่

อีกวิธีที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น คือการหาความรู้เพิ่มเติมว่าการไปยืนตรงนั้นควรจะทำอย่างไรบ้าง ลองหาโค้ชส่วนตัว ที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงที่ชำนาญด้านนั้นคอยประคับประคองหรือกระทั่งการให้คนในทีมที่ไว้ใจได้มาอยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น

====

2.ช่วงที่องค์กรปรับเปลี่ยน

ในองค์กรสมัยก่อน การปรับเปลี่ยนแต่ละทีถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่สำหรับยุคนี้การปรับเปลี่ยนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงส่งนั้นให้เร็วที่สุด
ความท้าทายของผู้นำคือ ไม่เพียงต้องว่ายในกระแสเหล่านี้ให้ได้ แต่ต้องรู้ว่าจะว่ายเมื่อไหร่ และว่ายไปทางไหนด้วย

ผู้นำองค์กรยุคเก่ามักจะตัดสินใจเชื่องช้า รวมถึงบางทีก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือผู้นำจะต้องอ่านสถานการณ์ให้ดีและ ทำอะไรสักอย่างก่อนความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง
แนวทางที่ดีคือการสื่อสารกับผู้นำระดับสูงหรือบอร์ดบริหารให้ชัดเจนและบ่อยครั้งเพื่อประเมินว่าควรจะสนองตอบอย่างไร

====

3.ช่วงไม่รู้ว่าจะไต่ไปที่ไหนต่อ

เวลาที่ผู้บริหารไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กร ความรู้สึกโดดเดี่ยวจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรกเพราะไม่มีใครที่มีอำนาจเทียบเท่า จึงไม่มีคนที่อยู่ในสถานะเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมงาน

จากนั้นจะรู้สึกว่าไม่มีจุดหมายที่สูงกว่านั้นให้ไปแล้ว เมื่อมุมานะทำงานหนักจนอยู่ในจุดสูงสุดของทีมแล้วการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำมักจะเกิดขึ้น เพื่อดันภาพรวมองค์กรให้ออกมาดี แต่ปัญหาก็คือในแง่ของสายงาน คนเหล่านี้ไม่รู้จะไต่ไปจุดไหนต่อดีจึงมักจะเกิดภาวะเหนื่อยล้า สับสน หมดไฟในการทำงานได้

ภาวะแบบนี้เป็นเหตุให้ค่าเฉลี่ยของบรรดา CEO บริษัทใหญ่ๆ จะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 5 ปี ขณะที่ CMO ของบริษัทนั้นอาจจะไม่ถึง 4 ปีด้วยซ้ำ

คำแนะนำสำหรับคนที่บริหารงานมาสู่จุดสูงสุด คือ อย่า ‘ติดแหง็ก’ ตรงนั้นถ้าใจไม่ต้องการ ลองหาทางขยับขยายไปทางอื่น โดยมีที่ปรึกษาหรือเพื่อนคอยปรับทุกข์ หรือหาโมเดลจากคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อนว่าเขาทำอย่างไร อาจจะย้ายไปองค์กรอื่น หรืออยู่ต่อไปเพื่อเป็นบอร์ดบริหาร หรือออกไปสร้างอาณาจักรใหม่ของตัวเองเลย

ทั้งนี้ การลองไปทำงานในสายที่ตำแหน่งต่ำกว่าเดิมแต่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ ก็อาจจะช่วยได้ และสักวันจะไต่ขึ้นมาในอีกบทบาทที่น่าสนใจก็ได้ครับ

====

ถ้าคุณต้องการฝึก Mindset และ Skillset ในการเป็นผู้นำยุคใหม่ เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill คลิกดูรายละเอียด ที่นี่

เรียบเรียงจาก “3 Transitions Even the Best Leaders Struggle With” โดย Cassandra Frangos จาก Harvard Business Review 2 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

พลังของทีมขนาดเล็ก ตอน…หลักการที่ใช้ได้ผล

หลักการที่ใช้ได้ผลในการสร้างทีมขนาดเล็ก

ทีมขนาดเล็กถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทีมขนาดเล็กเหมาะกับธุรกิจในยุคปัจจุบันและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เพราะโลกธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกขณะ

 

ทีมทำงานที่เหมาะสมกับยุคสมัยจึงต้องรวดเร็ว ตื่นตัวพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในทีมขนาดเล็ก (Small Team)
====


แล้วทีมขนาดเล็กต้องมีกี่คนล่ะ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amezon.com บอกว่าทีมที่เหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่ควรจะมีคนในทีมทั้งหมดที่สามารถกินพิซซ่าสองถาดได้แบบพอดี ๆ

 

นั่นหมายความว่าถ้าเราคิดจากพิซซ่าทั้งหมด 16 ชิ้น (ถาดละ 8 ชิ้น) ทีมขนาดเล็กควรจะมีแปดคน ถ้ากินคนละสองชิ้นซึ่งน่าจะเป็นปริมาณสำหรับคนทั่วไป

แต่ถ้าคนในทีมของเรากินคนละสี่ชิ้นก็เท่ากับว่ามีคนในทีมสี่คน และถ้ามีใครสักคนกินมากกว่าสี่ชิ้นผมแนะนำให้หาคนอื่นมาอยู่ในทีมเถอะครับ

====

ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าใจคอนเซ็ปของทีมขนาดเล็ก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พอจะประยุกต์ใช้จริงกลับพบปัญหามากมาย จนต้องล้มเลิกกลางคัน

 

วันนี้ผมนำเอา 5 หลักการสำคัญที่จำเป็นสำหรับการสร้างทีมขนาดเล็กมาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจและมีแนวทางในการสร้างทีมขนาดเล็กด้วยกันนะครับ

 

1. หัวใจของทีมขนาดเล็กคือการถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้คนทำงานในทีมเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าแบบใกล้ชิดที่สุด


ทีมขนาดเล็กไม่ได้มีเอาไว้เท่ ๆ เพื่อเอาไปบอกชาวบ้านว่า นี่ดูสิ ชั้นมีทีมขนาดเล็กแบบ google ด้วยแหล่ะ แต่หน้าที่ของทีมขนาดเล็กก็เพื่อให้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อทำความเข้าใจลูกค้า และสร้างนวัตกรรมขึ้นมาแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าแบบใกล้ชิด จะถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมร่วมกันกับลูกค้าเลยก็ว่าได้(เราสร้าง ลูกค้าทดลองใช้ แล้ว Feedback กลับมาทันที)
====

 

2. อะไรที่ช้า ต้องรออนุมัติหลายขั้นตอน ต้องถูกยกเลิกไปให้หมด

ความรวดเร็ว ความคล่องตัวคืออีกหนึ่งหัวใจของทีมขนาดเล็ก ฉะนั้นรูปแบบการขออนุมัติงบประมาณ การตรวจวัดผลที่ล่าช้าจะต้องถูกหยิบออกไปจากทีมขนาดเล็ก(หรือจะเรียกว่าไม่ถูกนำเข้ามาในทีมขนาดเล็กน่าจะถูกกว่า)

ทีมขนาดเล็กจะต้องได้รับงบประมาณ และทรัพยากรโดยตรงแบบไม่ต้องรออนุมัติเพื่อทำการทดลองได้อย่างอิสระ ภายใต้การวัดผลที่รวดเร็วและการลงทุนที่ยอมรับได้

====

3. ต้องให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ทีมขนาดเล็กมากกว่าที่เคยทำกันมา

ทีมขนาดเล็กที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในองค์กรขนาดใหญ่จะต้องอยู่นอกเหนือกฎระเบียบเดิม ๆ ขององค์กรนั้น

นอกจากเรื่องการจัดสรรงบประมาณแล้ว อำนาจในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรจะขึ้นอยู่กับทีมโดยตรง เพื่อความคล่องตัวที่สุดของการทำงาน
====

 

4. ต้องคัดสรรคนที่ดีที่สุดและมีความหลากหลายเข้าไปอยู่ในทีม

ทีมขนาดเล็กมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับทีม Avenger คือ ต้องเป็นสมาชิกที่ดีที่สุด มีทั้งความฉลาดหลักแหลม ทักษะความสามารถ ความเป็นผู้นำ วินัย ความรับผิดชอบ ทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ เพราะการให้อิสระและทรัพยากรที่ค่อนข้างไม่จำกัดจำเป็นต้องอยู่กับคนที่ทั้งเก่งและดีอย่างแท้จริง

 

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการคัดสรรคนที่มีความคิดและทักษะที่แตกต่างกันมาอยู่ในทีมเดียวกัน เพื่อให้มุมมองในการทำงานกว้างขึ้น และเกิดการปะทะสังสรรค์ระหว่างไอเดียที่แตกต่างจนเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ นั่นเอง
====

 

5. ต้องระบุให้ชัดเจนว่าทีมนี้ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร(Why) ทำอะไร (What) ผลลัพธ์ที่ต้องการมีอะไรบ้าง และมีลักษณะเป็นอย่างไร (วัดผลได้)

เพื่อกำหนดทิศทางของทีมขนาดเล็ก อิสระต้องมาพร้อมกับความชัดเจนของ Why , What และ End Result ที่วัดผลได้อย่างชัดเจน


สิ่งสุดท้ายที่ควรรู้ก็คือทีมขนาดเล็กไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อทำโปรเจคใหญ่ ๆ ตั้งแต่แรก แต่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทดลองเปลี่ยนองค์ประกอบเล็ก ๆ ด้วยความถี่ แล้ววัดผลเป็นระยะ ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

====


เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

3 วิธีง่าย…ง่ายเพื่อฝึกทักษะคิดวิเคราะห์

3 วิธีง่าย...ง่ายเพื่อฝึกคิดวิเคราะห์

 

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราพบว่าองค์กรจำนวนมากไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เลย ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดนิดเดียวเท่านั้นจริง ๆ 

บางแห่งตามเทคโนโลยีไม่ทัน บางแห่งมีปัญหาเรื่องคนหัวเก่า แต่พูดกันอย่างถึงที่สุดรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากที่เดียวกัน นั่นคือ ‘ขาดทักษะการคิดอย่างรอบด้าน’

====

ผู้นำองค์กรจำนวนมากไม่ยอมมุ่งเน้นประเด็นสำคัญให้มากพอ อีกทั้งยังใช้เวลาไม่คุ้มค่า บ้างก็กระโดดข้ามไปยังข้อสรุปเร็วเกินไป

แต่ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลอะไร พวกเขาก็ยังดึงดันที่จะเลือกเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตัวเอง รูปแบบนี้แหล่ะที่เรียกว่า ‘ขาดทักษะการคิดอย่างรอบด้าน’

ชื่อที่คุ้นหูของการคิดอย่างรอบด้านก็คือ ‘การคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking)’ สิ่งนี้เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ในชีวิตประจำวัน

บางคนอาจจะเคยทำหรือเคยฝึกทักษะนี้กันบ้างแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างมหาศาลระหว่างการ ‘เคยทำอยู่บ้าง’ กับการ ‘ทำอย่างสม่ำเสมอและรอบด้าน’

====

เราขอเชิญชวนให้คุณฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีต่อไปนี้

1.ลองตั้งคำถามกับข้อสรุปที่เคยมี

ข้อสรุปต่าง ๆ ที่เคยมีจะเป็นเครื่องนำทางองค์กรของคุณ แต่ถ้าคุณย้อนกลับไปดูข้อสรุปเหล่านั้นใหม่อีกครั้ง แล้วลองตั้งคำถามว่ามันเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า อาจจะช่วยให้องค์กรได้ประโยชน์มากขึ้น (แต่ไม่ใช่ให้ตั้งคำถามปรัชญาที่จะทำให้เสียเวลา อย่าง “ท้องฟ้ามันเป็นสีฟ้าจริงรึเปล่า” นะครับ)

เรื่องแรกสำหรับการตั้งคำถามคือ ‘จังหวะ’ เช่น เมื่อกำลังพูดถึงแผนการระยะยาวของบริษัทว่าจะทำให้ผลประกอบการเติบโต เราก็ควรใช้จังหวะนี้ถามว่า “มันจะเติบโตได้ยังไง”

หรือถ้าใครกำลังพยากรณ์สภาพตลาดในอนาคต เราก็อาจจะครุ่นคิดถึงคำถามที่ว่า “เขาเอาข้อมูลหรืองานวิจัยอะไรมารองรับ”

นอกจากนี้คุณยังควรถามว่านอกเหนือจากบทสรุปที่ได้มานั้น เรื่องนั้นสามารถสรุปไปในแนวทางอื่น ๆ ได้หรือไม่ มีตัวเลือกอื่นที่จะมาเปลี่ยนข้อสรุปได้หรือเปล่า

เช่น ถ้าทีมของคุณเคยสรุปว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีหน้าเพราะมีคนติดต่อเข้ามาเยอะ คุณอาจตั้งคำถามกลับไปว่าถ้าเกิดเสียลูกค้าของปีนี้ไป แล้วปีหน้าจะเพิ่มขึ้นขนาดนั้นได้อย่างไร เป็นต้น 

====

2. ฝึกการใช้ ‘ตรรกะ’ ให้ถูกต้อง

บริษัทจำนวนมากใช้ ‘เหตุผล’ ในการหาข้อสรุปและผลักดันนโยบาย แต่ปัญหาคือ เหตุผลเหล่านั้นกลับไม่สมบูรณ์ (หรือเรียกว่าตรรกะเพี้ยน)

เช่น พบว่าอาหารฮาลาลขายดีขึ้นในทวีปเอเชีย บริษัทคุณจึงขยายสาขาร้านอาหารฮาลาลให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชีย แต่ช้าก่อนเพราะคนญี่ปุ่นไม่บริโภคอาหารประเภทนี้กัน ตัวเลขนั้นอาจพุ่งมาจากประเทศที่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้นก็ได้

ลองคิดถึงการใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลจริง ๆ ไม่ใช่แค่การคิดเหมารวบยอดเท่านั้น เพราะสิ่งหนึ่งจะเป็นผลมาจากอีกสิ่งหนึ่งได้นั้นมันจะต้องมีหลักฐานที่สนับสนุนอย่างชัดเจน และต้องมีเงื่อนไขและมีบริบทแวดล้อมที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่เพียงมันบังเอิญหรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนแทรกเข้ามา

====

3.หาวิธีการคิดแบบใหม่ๆ และรวบรวมมาใช้

เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ชอบอยู่ด้วยความเคยชินและสบายใจ เราจึงหาคนที่คิดเหมือนกันเพื่อมาอยู่รวมกัน เราติดต่อสื่อสารกับคนที่ความคิดและรสนิยมเข้ากันได้เป็นหลัก

ปัญหาคือการทำแบบนี้จะทำให้มองไม่เห็นวิธีการคิดหรือสิ่งแปลกใหม่อื่น ๆ เลย ในสังคมสื่อออนไลน์เราก็จะเลือกรับข่าวสารจากคนที่มีรสนิยมและความคิดแบบเดียวกัน

เมื่อเราเปิดหน้าเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็จะพบแต่คนแสดงความคิดเห็นที่เหมือนเรา จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ” นั่นเอง

ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่คุณจะต้องออกมาจากสังคมเดิม ๆ ลองหาคนในสังคมใหม่ อาชีพใหม่ หรือคนต่างเพศต่างวัยซึ่งจะทำให้คุณได้พบแง่มุมใหม่ ๆ ช่วยเปิดความคิดให้กว้างขึ้น การฝึกทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทักษะการคิดวิเคราะห์ของคุณแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน

====

====

เรียบเรียงจาก “3 Simple Habits to Improve Your Critical Thinking” โดย Helen Lee Bouygues จาก Harvard Business Review 6 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

บททดสอบทั้ง 4 ของผู้นำยุคใหม่

บททดสอบทั้ง 4 ของผู้นำยุคใหม่

ผู้นำองค์กรคนหนึ่งกำลังนำทีมผ่านพายุแห่งความเปลี่ยนแปลง บริษัทการเงินของเขาต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งสำคัญ นั่นคือ…

มีพนักงานคนสำคัญที่นิสัยดีมากแต่ทำงานไม่ได้เรื่อง และมีคำถามในหัวของเขาคือ “จะไล่พนักงานคนนี้ออกอย่างไร”

โชคร้ายที่ผู้นำองค์กรท่านนั้นไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หรือเขาอาจตัดสินใจไปแล้วแต่ไม่กล้าลงมือ เวลาผ่านไป 3 เดือนเขาก็ยังไม่ยอมเซ็นคำสั่ง เสียงในหัวของเขามีแต่คำต่อว่าตัวเองว่า “อ่อนแอจัง”

====

คุณก็รู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความรู้สึก น้อยคนมากที่จะทำตามที่คิดเอาไว้ได้ทุกอย่าง หลายครั้งที่เดินมาถึงช่วงเวลาสำคัญที่ต้องตัดสินเชิงกลยุทธ์โดยไม่มีอารมณ์มาปะปน ก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่ยากเสมอ

ต่อให้ไม่ใช่ CEO หรือไม่ได้มีตำแหน่งหัวหน้า แต่ถ้าถึงคราวที่ต้องขึ้นมานำทีมหรือนำโปรเจคอะไรสักอย่าง สิ่งที่เราต้องมีก็คือพลังอำนาจ การสร้างแรงดึงดูดเพื่อให้คนยอมทำตามโดยพร้อมพลีกายถวายชีวิตอย่างสุดความสามารถ

แต่การนำทีมแบบแข็งเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี ผู้นำต้องแสดงถึงความห่วงใยคนในทีม การสื่อสารให้ดีที่สุด การจูงใจอย่างเหมาะสมที่ไม่ยอกย้อนจนดูมีเล่ห์เหลี่ยม

ผู้นำที่ดีควรจะจริงใจและเป็นตัวของตัวเองในขณะเดียวกันก็รับฟังและแสดงความโอบอ้อมอารีแม้ว่าจะถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงก็ตาม 

====

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานกับผู้นำประเภทต่าง ๆ มาแล้วมากมายจนสามารถตกผลึก 4 คุณลักษณะที่ผู้นำจะต้องมี ดังนี้

1.มีความมั่นใจในตัวเอง (Confident)

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่ผู้นำสอบผ่านกันทุกคน แต่มันไม่เป็นความจริงเลย เป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้นำหลายคนที่ประสบความสำเร็จกลับสอบตกในข้อนี้กันหลายคน

อย่าให้ภาพลักษณ์ภายนอกมาหลอกลวงคุณได้ เพราะแท้จริงแล้วภายในใจของผู้นำหลายคนกลับเปราะบาง

หลายคนทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะต้องการอำพรางความไม่มั่นใจในตนเอง จึงมุ่งสร้างภาพให้คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกพึงพอใจที่เห็นเขาทุ่มเทจริงจัง

ความมั่นใจที่แท้จริงคือ ผู้นำจะรู้ว่าตัวเองเป็นใคร สามารถมองภาพอนาคตว่าตัวเองจะเป็นอะไร เขาจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายนั้นโดยไม่วอกแวกระหว่างทาง รวมถึงใช้พลังงาน เวลา ทักษะความสามารถ และเงินอย่างชาญฉลาดและมีกลยุทธ์ ไม่ใช่บ้าพลังทุ่มเททุกสิ่งเหมือนคนเสียสติ

ถ้าการสร้างความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ ขอแนะนำให้อ่าน สุดยอดเทคนิคสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองที่เห็นผลสุดๆ คลิกที่นี่

=====

2.เชื่อมต่อกับผู้อื่น (Connected)

การสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพจะนำมาซึ่งความเข้าใจในการทำงาน กระทั่งเวลาที่มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ยังทำให้คนอื่นรู้สึกไว้วางใจในตัวเราได้

หมายความว่าเมื่อมีข้อขัดแย้งหรือเกิดปัญหาใดใดอย่าเพิ่งผลีผลามทำอะไรโดยไม่เห็นหัวคนอื่น แต่จะต้องค่อย ๆ หาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

====

3.มีจุดหมายในภารกิจอย่างชัดเจน (Committed)

ผู้นำต้องรู้แน่ชัดว่าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จแล้วผลักดันให้คนอื่นมาร่วมทำด้วยตั้งแต่เริ่ม นอกจากนี้ยังต้องเปิดใจให้กว้างและไม่รีรอที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่วางเอาไว้

หมายความว่า อะไรที่ขัดขวางเป้าหมายนั้น ผู้นำจะต้องจัดการได้อย่างเด็ดขาด

หากมีหัวหน้าพนักงานขายที่ทำงานไม่ได้ตามที่ต้องการ สิ่งที่ผู้นำต้องทำคือการแสดงความเด็ดขาดเพื่อให้ลูกน้องทุกคนได้เห็น ท้ายที่สุดแล้วการไล่ออกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะมันคือภารกิจในการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

====

4.มีความกล้าหาญ (Courageous)

เมื่อใดที่เกิดความเสี่ยง เมื่อนั้นผู้นำย่อมรู้สึกเปราะบาง ผู้นำบางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงและอำพรางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงโดยไม่สื่อสารให้ใครรู้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ผู้นำจะต้องเข้มแข็งพอที่จะบอกทุกคนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากอย่างรวดเร็วด้วย

ถือเป็นเรื่องดีมากหากใครเป็นผู้นำที่สามารถหลอมรวมคุณลักษณะทั้ง 4 ข้อมาไว้ในตัวได้ แต่ถ้าจะไม่มีทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้นำบางคนมีเพียง 1 หรือ 2 ข้อ แต่ทั้งหมดสามารถฝึกฝนได้ และถ้าคุณทำได้ครบทุกข้อ คุณคือผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งแล้วล่ะ

====

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพคือทักษะสำคัญที่จะทำให้ผู้นำเชื่อมโยงกับคนในทีม คนในองค์กร และคนภายนอกได้ เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องนี้ได้ในหลักสูตร  Executive Communication ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Great Leaders Are Confident, Connected, Committed, and Courageous” โดย Peter Bregman ตีพิมพ์เมื่อ 13 กรกฎาคม 2018 ใน Harvard Business Review

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน

หนึ่งในเรื่องดังกล่าวก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่าง รวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

=====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

=====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

=====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

การฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อไม่ให้การทำงานและการสร้างทีมพังเป็นหนึ่งวิธีการที่ควรทำควบคู่กับการฝึกจิตใจ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save