แนวทางการเป็นหัวหน้าบุคลิกดีโดยไม่ต้องพยายาม

แนวทางเป็นหัวหน้าบุคลิกดีโดยไม่ต้องพยายาม

การเป็นหัวหน้าที่ต้องดูแลคนนั้น มีโอกาสผิดพลาดแบบตกม้าตายได้เสมอ เพราะบุคคลิกส่วนตัวอาจกระตุ้นให้เกิดการละเมิดจริยธรรมในการทำงานได้

เช่น การล้อเล่นที่ไม่เหมาะสม อาจถูกมองว่าเป็นการล่วงเกินทั้งทางกายและคำพูดกับลูกน้องก็ได้

====

มีการทำวิจัยเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำงานจากผู้นำกว่า 3,500 คนใน 30 องค์กร เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและจริยธรรมของความเป็นผู้นำโดยมีสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ผลวิจัยพบว่า มีบุคลิกบางอย่างที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของผู้นำแต่ละคน มักจะไปสร้างผลลัพธ์ในทางที่ไม่ดีนัก นั่นคือเกิดการละเมิดจริยธรรมนั่นเอง

====

ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการสร้างบุคลิกที่ดีสำหรับหัวหน้าที่ลูกน้องชื่นชม

1. จงเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่คนมีเสน่ห์

เป็นเรื่องปกติที่เราจะถูกดึงดูดด้วยคนที่ให้แรงบันดาลใจ สนุกสนาน และมีเสน่ห์ แน่นอนว่าคนแบบนั้นทำให้เราอยากอยู่ใกล้

อย่างไรก็ตาม การสร้างเสน่ห์ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีเสมอไป เพราะการบริหารเสน่ห์กับลูกน้องในองค์กรนั้นใกล้เคียงกับการหมกมุ่นอยู่กับการสร้างภาพนั่นเอง

เมื่อมีใครสัมผัสถึงเรื่องนี้ได้ เขาก็จะรู้สึกว่าผู้นำคนนี้เห็นแก่ตัว แตกต่างจาการอ่อนน้อมที่เป็นการแสดงความเอื้ออาทรทางอารมณ์แก่คนในทีมนั่นเอง

====

2.แน่วแน่และพึ่งพาได้ คือบุคลิกที่จะพาทีมให้รอด

ผู้นำนั้นมีอำนาจในการตัดสินใจ และลูกน้องจะต้องเชื่อมั่นในตัวผู้นำว่าจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่องค์กร

การแสดงให้คนในทีมเห็นว่าคุณมีความแน่วแน่ในการทำงาน ตัดสินใจอย่างระมัดระวัง คำนวณทุกสิ่งอย่างอย่างรอบคอบ ลูกน้องจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และร่วมมือทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุด

====

3.การทำอะไรพอประมาณนั้นที่ดีที่สุด

ลูกน้องยุคใหม่มักจะอยากทำงานในบรรยากาศผ่อนคลายและไม่ต้องเป็นทางการมาก หากมีผู้นำที่เข้าอกเข้าใจก็จะยิ่งดี

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำก็ต้องมีความรับผิดชอบที่แสนหนักอึ้งในการแสดงความเป็นมืออาชีพ การพยายามทำให้ลูกน้องเห็นว่าเป็น ‘หัวหน้าที่เล่นมากไป’ ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะจะทำให้ขาดความเคารพในระยะยาว

หนทางที่ดีกว่าคือการมีระยะห่างพอสมควรซึ่งมากพอที่ลูกน้องจะไม่เล่นหัว จะเคารพ และอยากทำงานด้วยอย่างสบายใจ โดยสรุปคือทำอะไรพอประมาณจะดีที่สุด

====

4.สร้างสมดุลจากข้อมูล และการทำงานจริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเป็นหัวหน้าคงไม่มีเวลามาขลุกกับลูกน้องตลอดเวลา การวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ จากข้อมูลที่ได้รับจึงเป็นหนทางหลัก แต่ก็ไม่ควรที่จะเอาแต่วิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้มาอย่างเดียว

หัวหน้าที่ดีควรดูบริบทอื่นประกอบการตัดสินใจด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความกดดัน การตัดสินใจทำอะไรสักอย่างมักจะสำคัญกว่าในช่วงเวลาปกติ

ข้อมูลอาจจะไม่เคยโกหกใครก็จริง แต่การตัดสินใจที่แท้จริงต้องดูอย่างรอบด้านและพิจารณาว่าการตัดสินใจนั้นกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียไหม

ถ้าคุณตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนอาจส่งผลต่อการตัดสินใจ อ่าน จงช้าลงเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น เพื่อช่วยให้คุณใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากสถานการณ์นี้ คลิกที่นี่

====

5.อย่าประมาท เพราะคุณอาจพลาดได้ตลอดเวลา

การก้าวมาเป็นหัวหน้าคนใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้บทบาทใหม่ ในช่วงแรกอาจจะต้องสังเกตและปรับตัวกับสิ่งรอบข้างมากมาย การติดต่อสื่อสารกับใครล้วนเป็นการสร้างความรู้สึกในด้านดีหรือลบตั้งแต่แรกพบได้ทั้งสิ้น

เมื่อผ่านไปสักพัก หัวหน้าคนนี้ก็จะเริ่มผ่อนคลายและไม่สนใจรอบข้างเหมือนตอนเป็นผู้นำใหม่ ๆ นี่คือสิ่งที่ต้องระวัง

เพราะเมื่อผ่านไปสักครึ่งปีหรือหนึ่งปีอาจจะเริ่มมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ด้านมืดอาจจะเข้าครอบงำคุณเหมือนนักมวยที่การ์ดตกจนไม่ได้ระวังหมัดจู่โจมฉับพลัน

ทางที่ดีคือควรระมัดระวังให้ดีตลอดเวลา เปิดรับ feedback จากลูกน้องว่าต้องปรับตัวอะไรหรือไม่อยู่เสมอ

====

มีทักษะและหลักคิดที่สำคัญอีกมากมายที่จะทำให้คุณเป็นหัวหน้าที่ดูดีและมีอิทธิพลต่อผู้อื่น หลักสูตร Smart Supervisory skill ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คุณเป็นหัวหน้าที่ดีที่สุด ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “Don’t Try to Be the “Fun Boss”— and Other Lessons in Ethical Leadership” โดย Kimberly Nei and Darin Nei Mortensen จาก Harvard Business Review 10 กันยายน 2018

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เหตุผลเบื้องหลังความเย่อหยิ่งของหัวหน้า

เหตุผลเบื้องหลังความเย่อหยิ่งของหัวหน้า

เคยสงสัยไหม ถ้าความอ่อนน้อมถ่อมตนสำคัญแล้วทำไมหัวหน้าจึงดูเย่อหยิ่งล่ะ

บทความหนึ่งจาก Wall street journal บอกไว้ว่า “หัวหน้าที่ดีที่สุดคือหัวหน้าที่ถ่อมตน” และบทความยังได้บอกต่ออีกว่า “ความถ่อมตนจะช่วยสร้างทีมเวิร์คที่แนบแน่น เรียนรู้กันรวดเร็ว และมีผลงานที่ยอดเยี่ยมแก่ทีมได้ด้วย”

ว่ากันว่าองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งวางแผนเพิ่มคุณลักษณะที่ดีแก่บุคลากรยังต้องกำหนดให้มีคุณลักษณะที่สำคัญ ดังนี้

“ความจริงใจ ความถ่อมตัว ความเป็นธรรม ความถูกต้อง และการไม่เสแสร้ง” ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘H Factor’ หรือการรวมกันของความซื่อสัตย์ (Honesty) และความถ่อมตน (Humility) นั่นเอง

====

แต่เอาเข้าจริงแล้ว บรรดาหัวหน้าหรือผู้นำที่มีชื่อเสียงขององค์กรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่โดดเด่นมาก ๆ ล้วนอยู่ห่างไกลจากนิยามดังกล่าว

‘อีลอน มัสค์’ แห่ง Tesla ชอบทำตัวเองให้โดดเด่น สร้างอิทธิพลแก่คนอื่นในซิลิคอน วัลเลย์ ถ้ามองจากภาพรวมแล้วก็เป็นเรื่องยากมากที่จะจินตนาการได้ว่าบรรดาผู้นำองค์กรระดับโลกจะเป็นพวกที่ถ่อมตนได้อย่างไร

====

ในวงการกีฬา เจ้าของทีมกีฬามูลค่าสูงสุดในโลกอย่าง ‘ดัลลัส คาวบอยส์’ ที่ชื่อ ‘เจอร์รี่ โจนส์’ คือตัวอย่างที่ดีของคนที่ใช้สื่อให้ตัวเองโด่งดัง เขาทั้งคุยโม้โอ้อวดถึงความเก่งกาจ แม้ว่าทีมของเขาจะไม่ชนะการแข่งขันระดับสูงสุดมานับทศวรรษแล้วก็ตาม

น่าสงสัยมากว่า ถ้าความถ่อมตนของผู้นำสำคัญมาก แล้วทำไมผู้นำจำนวนมากจึงไม่มีสิ่งนี้ แถมยังจะไปทางด้านเย่อหยิ่งและอวดดีมากเป็นพิเศษเลยด้วยซ้ำ

====

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้นำจำนวนมากไม่สามารถที่จะทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตนไปพร้อม ๆ กับแสดงความทะเยอทะยานในเวลาเดียวกันได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่เราต้องไม่ลืมว่าคนเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายขององค์กร

คนเหล่านี้จึงมักจะต้องทบทวนตัวเองหลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้นำใหม่ ๆ ว่า “หมายความว่าตอนนี้เรามีอำนาจที่จะสั่งให้คนอื่นทำอะไรได้แล้วใช่ไหม”

นั่นคือความหมายแท้จริงของการมีอำนาจในฐานะผู้นำ พวกเขามีพันธกิจง่าย ๆ ว่าถ้าไม่ชนะก็แปลว่าแพ้ ความต้องการเอาชนะแบบนี้มักจะอยู่ตรงข้ามกับแนวคิดอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างชัดเจน

ความอ่อนน้อมอาจทำให้ผู้นำดูไม่ดีในเวลาที่จะต้องจัดการปัญหาสำคัญ เชื่อกันว่าในยามวิกฤตผู้นำไม่ควรแสดงอาการเปราะบาง และจะต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าเขาเข้มแข็งและมั่นใจที่จะพาองค์กรเดินไปข้างหน้าได้

====

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วความอ่อนน้อมนั้นสามารถแทรกอยู่ในความเป็นผู้นำได้ เช่น แสดงความอ่อนน้อมในอาวุโสของการทำงาน เพื่อให้เกิดผลทางใจของคนทำงานที่อายุมากกว่าเรา

ถัดมาคือการถ่อมตัวต่อคนที่หลงใหลอำนาจและอิทธิพลรวมถึงผลงานของเขาในการทำงาน และอย่างที่สามก็คือ ความอ่อนน้อมนั้นคือแนวคิดที่ว่า “ที่นี่และเวลานี้ให้เราอ่อนน้อมเอาไว้ก่อน”

แนวคิด “ที่นี่และเวลานี้ให้อ่อนน้อมไว้ก่อน” คือการที่ตัวเราเองเห็นภาพว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องพึ่งพาคนอื่น เราควรจะมีบุคลิกอย่างไร

เช่น ต่อให้เราเป็นเจ้านายแต่แสดงออกให้ลูกน้องเห็นว่า ในเวลานี้เราไม่ได้อยู่เหนือกว่า เพราะลูกน้องรู้วิธีจัดการปัญหาให้ลุล่วงดีกว่าเรา แน่นอนว่าผู้นำเหล่านี้มีตัวเลือกว่าจะอ่อนน้อมในเวลานั้นเพื่อให้งานสำเร็จ หรือจะแสดงอาการหัวแข็งจนไม่เกิดผลดีในท้ายที่สุดแทน

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ผู้นำจำนวนมากเลือกที่จะยอมแพ้ต่อการสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าโดยเลือกที่จะรักษาหน้าตาและตัวตนของตัวเอง มากกว่าที่จะยอมรับว่าตนเองต้องพึ่งพาลูกน้อง และช่วยกันทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายที่ใหญ่กว่าขององค์กร

และนี่คือคำถามที่เหมือนเป็นทางสองเลือกของผู้นำในปัจจุบัน ว่าจะไปในทางไหนระหว่างการทำตัวเย่อหยิ่งอวดดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูโด่งดัง หรือทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อผลลัพธ์ที่ดีเลิศขององค์กร

นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจมากว่าเราเข้มแข็งพอที่จะยอมรับว่า เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ทุกเรื่อง และเราสมควรที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนแม้กับคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายหรือไม่

====

เรียบเรียงจาก “If Humility Is So Important, Why Are Leaders So Arrogant?” โดย Bill Taylor จาก Harvard Business Review 15 ตุลาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 264

แนวทางการสร้างทีมของคุณให้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม

แนวทางการสร้างทีมของคุณให้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม

ทุกวันนี้การทำงานเป็นทีมแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องความหลากหลายของคน  ผู้คนอยู่ในโลกดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่ต่อให้คนแตกต่างกันขนาดไหน ทีมเวิร์คก็ยังจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่เป็นแกนของความสำเร็จ ซึ่งก็คือ การหลอมรวมใจกันเพื่อทำภารกิจให้ลุล่วง

ปรมาจารย์แห่งการศึกษาพฤติกรรมคนในองค์กร ‘เจ.ริชาร์ด แฮ็คแมน’ บอกว่าการที่คนจะประสานรวมกันได้นั้นไม่ได้มาจากทัศนคติ พฤติกรรม หรือบุคลิกเป็นหลัก แต่มาจากการที่ทีมนั้นได้ต่อสู้ฝ่าฟันกันมาด้วย ‘เงื่อนไขบางอย่าง’ ที่เหมือนกัน

และเมื่อนำความรู้นั้นมาขยายเพื่อสร้างทีมเวิร์คในโลกของการทำงานยุคปัจจุบัน เราจะพบเคล็ดลับบางอย่างที่ผู้นำควรจะทำ และหลายคนอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน!

===

4 วิธีการสร้างเงื่อนไขให้ทีมประสบความสำเร็จ

คนในทีมอาจจะแตกต่างหลากหลาย ปัจจัยหลักไม่ใช่การทำให้ทุกคนปรับตัวหากันแต่มาจากการทำให้ทุกคนมี ‘เงื่อนไข’ หรือ ‘หลักยึด’ เดียวกันต่างหาก ซึ่งคุณสามารถสร้างได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. ทิศทางที่เร้าใจ

ทิศทางในการทำงานร่วมกันนั้นสำคัญมาก เพราะต่างคนที่มาร่วมทีมล้วนต่างแบ็คกราวด์ จึงมีมุมมองต่อโลกแตกต่างกัน ถ้าทุกคนมองเห็นทิศทางที่จะไปเหมือนกันก็ย่อมที่จะผนึกกำลังไปสู่จุดหมายเดียวกันได้ง่ายขึ้น

เช่น ทำงานสำเร็จแล้วจะได้รับการจดจำ ได้โบนัสพิเศษ ได้เลื่อนขั้น หรือได้รับคุณค่าทางใจ

ดังนั้น ในความแตกต่างของชาติพันธุ์ สถานที่ ไปจนถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง ทุกคนในทีมจะพยายามต่อสู้โดยมองไปยัง ‘เป้าหมายที่คู่ควร’ ซึ่งทุกคนจะผสานกำลังโดยมองอุปสรรคตรงหน้าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องผ่านไปให้ได้เท่านั้น

หนึ่งในวิธีสร้างหรือค้นหาทิศทางที่เร้าใจคือการใช้ OKRs ในการตั้งเป้าหมายร่วมกันภายในทีม อ่าน OKRs ภาคปฏิบัติในองค์กร เพื่อทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้ร่วมกัน คลิกที่นี่
===

2. โครงสร้างแข็งแกร่ง

ทีมไม่จำเป็นจะต้องมีสมาชิกที่เหมือนกัน แต่ทีมจะต้องจัดวางความแตกต่างให้สมดุล หรืออาจกล่าวว่า ต้องสร้างบทบาทหน้าที่อย่างสอดคล้องลงตัวตามเอกลักษณ์ของแต่ละคน คนในทีมจึงควรมีภาระงาน และกระบวนการทำงานในแบบของตนเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าทีมที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมนั้นเกิดจากทักษะที่แตกต่างกัน ซึ่งสอดประสานกันได้ด้วยการหยิบเอาจุดเด่นของแต่ละคนมาสนับสนุนกัน แล้วก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกัน
===

3. เห็นค่าของการร่วมใจ

แน่นอนว่าทีมที่มีความหลากหลายของที่มาและความสนใจ อาจจะปรับตัวเข้าหากันได้ยาก หากคนหนึ่งอยู่ในสถานะที่สบายมาตลอดแล้วต้องมาทำงานร่วมกับคนที่มักจะเห็นแก่ผลตอบแทนเสมอก็อาจจะยากที่ทั้งสองฝ่ายจะมีทัศนคติที่สอดคล้องกันจนอาจจะลงเอยด้วยความขัดแย้งได้

แต่มนุษย์นั้นจะร่วมมือร่วมใจกันได้ก็เพราะเห็นอกเห็นใจกัน ถ้าหากให้สักคนหนึ่งได้เข้าถึงมุมมองของอีกคน เช่น ได้รับทราบว่าอีกคนนั้นเห็นแก่ผลตอบแทนเพราะเขามาจากครอบครัวที่ยากจนและล้มเหลวมาตลอด

เมื่อรับรู้ว่าความลำบากขัดสนเป็นแรงผลักดันชีวิตของเขาก็ทำให้รู้ว่าอีกฝ่ายมีปมปัญหาชีวิต ความเข้าใจกันจะนำไปสู่การกำจัดอุปสรรคทางมุมมอง และร่วมใจกันทำงานได้
===

4. แชร์ความเชื่อพื้นฐานกัน

ข้อที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ก็เพียงพอต่อการทำให้ทีมผสานกลายเป็นหนึ่งเดียว และในโลกยุคใหม่นั้น ทีมจะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้ามีความเชื่อพื้นฐานร่วมกัน ทำให้ไม่แบ่งเขาแบ่งเราอีกต่อไป

ผู้นำของทีมมีหน้าที่ค่อยๆ หล่อหลอมให้ลูกทีมที่มีความแตกต่างรับเอาความเชื่อบางอย่างเข้าไปด้วยกัน เช่น ความเชื่อว่าการทำงานอย่างดีเลิศจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ

เมื่อบ่มเพาะความเชื่อเหล่านั้น เวลาผ่านไปคนในทีมจะกลายเป็นมนุษย์ที่มีพื้นฐานความคิดแบบเดียวกัน การทำงานเป็นทีมจึงสำเร็จได้ในทุกสถานการณ์

ลองประเมินทีมของคุณ

เมื่อลองทำตาม 4 ข้อเบื้องต้นแล้ว ลองมาดูกันว่าทีมของคุณนั้นเป็นอย่างไร โดยใช้เกณฑ์การประเมินตามแบบของปรมาจารย์แฮ็คแมน นั่นคือ ดูผลงานของทีมที่ออกมา ดูการร่วมแรงร่วมใจ และดูพัฒนาการรายบุคคล

หากเป็นไปด้วยดีทั้ง 3 ข้อนี้ บอกได้เลยว่าคุณกำลังเป็นผู้นำของทีมที่ยอดเยี่ยมแล้วล่ะ

===

การสร้างความร่วมมือร่วมใจภายในทีมเพื่อให้กลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันกลายเป็นทีมเวิร์คที่ยอดเยี่ยมเป็นทักษะที่เรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The Secrets of Great Teamwork” โดย Martine Haas and Mark Mortensen จาก Harvard Business Review เดือนมิถุนายน 2016

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

รู้ไหม ความไว้วางใจนั้นสร้างได้

รู้ไหม ความไว้วางใจ(Trust) นั้นสร้างได้

ถ้าผมบอกคุณว่า ‘ความไว้วางใจ (Trust)’ คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างทีม เชื่อว่าหลายคนคงจะมองตาผมเป็นเชิงถามว่า

“แล้วมันแปลกใหม่ตรงไหนเหรอ”

 

ใช่ครับ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่ประสบการณ์ในการสร้างทีมให้องค์กรต่าง ๆ มาสักระยะ ทำให้ผมมั่นใจมากว่านี่คือความจริงที่ทุกคนรู้ แต่มีน้อยคนที่จะตระหนักถึงความสำคัญ และน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะยอมลงทุนให้มากพอที่จะสร้างมันขึ้นมา

===

ความไว้วางใจ(Trust) ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าจะพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ ความไว้วางใจอาจจะเกิดเองได้ ถ้าเหตุปัจจัยทั้งหมดสนับสนุนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

แต่จะรอคอยโชคชะตาให้ความไว้วางใจเกิดขึ้นเองทำไม ในเมื่อเราทุกคนสามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ด้วยสองมือของเราเอง

===

เพราะปลอดภัยจึงไว้ใจ หรือ เพราะไว้ใจจึงปลอดภัย ?

พื้นที่ปลอดภัย (Safe space) กับ ความไว้วางใจ (Trust) ก็เหมือนไก่กับไข่ตรงที่ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้นจนแทบจะเป็นเหตุและผลของกันและกัน

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ความไว้ใจกับพื้นที่ปลอดภัยคล้ายไก่กับไข่มากยิ่งขึ้นก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่ต้องเกิดขึ้นก่อนแบบตายตัว

หลายคนเข้าใจว่าเพราะ ‘มีพื้นที่ปลอดภัย เราจึงรู้สึกไว้วางใจ’ ซึ่งก็ถูก แต่สมการนี้สามารถย้อนกลับเป็น ‘เพราะไว้วางใจ พื้นที่ปลอดภัยจึงเกิดขึ้น’ ก็ได้

===

และต่อไปนี้คือวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยผ่านความไว้วางใจที่ Patrick Lencioni ที่ปรึกษาองค์กรชื่อดังเขียนไว้ในหนังสือ The Five Dysfunctions of a Team

Patrick เสนอให้ทุกคนที่ทำงานร่วมทีมกันสร้าง Moment ของการสนทนาอย่างลึกซึ้ง และร่วมแบ่งปันความเปราะบาง (ความกลัว ความกังวล ความอ่อนแอ ความเศร้า ฯลฯ) ให้เพื่อนร่วมทีมรับรู้

===

แนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพิ่มความไว้วางใจในทีม

1. เริ่มต้นด้วยการกำหนดช่วงเวลาในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ทีม (Team Bonding)

2. กำหนดหัวข้อที่จะแชร์โดยเน้นไปที่ ‘เรื่องส่วนตัว’ เช่น ชีวิตวัยเด็ก ครอบครัว การเรียน รักครั้งแรก งานอดิเรก ฯลฯ แล้วลองแชร์ในกลุ่มเล็ก (ไม่เกิน 4 คน) หรือ จับคู่กันก็ได้

 

3. ตั้งกฎให้คนที่รับฟังตั้งใจฟังอย่างใส่ใจ (Deep Listening) โดยห้ามพูดขัด หรือ เล่นมือถือในขณะที่ฟังเด็ดขาด จากนั้นให้สลับกันแชร์จนได้เล่าครบทุกคน

แนวทางสร้างความไว้วางใจและพื้นที่ปลอดภัยอย่างง่ายลักษณะนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนในองค์กรส่วนใหญ่เคยได้ยิน แต่มีน้อยคนที่ตระหนักถึงความสำคัญ แล้วสุดท้ายก็ลงเอยคล้ายกับความรู้ดีดีทั้งหลายในโลกใบนี้นั่นแหล่ะครับ

คือมีน้อยยิ่งกว่าน้อยคนที่ลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นจริงจัง

===

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ข้อควรระวังเรื่องขวัญกำลังใจคนในทีมที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

ข้อควรระวังเรื่องขวัญกำลังใจคนในทีมที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน

หนึ่งในเรื่องดังกล่าวก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่าง รวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

=====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

=====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

=====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

การฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อไม่ให้การทำงานและการสร้างทีมพังเป็นหนึ่งวิธีการที่ควรทำควบคู่กับการฝึกจิตใจ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

6 วิธีสร้างทีมให้แกร่งจนไร้เทียมทาน

6 วิธีสร้างทีมให้แกร่งจนไร้เทียมทาน

หากถามคุณว่าในทีม Avengers คิดว่าใครคือผู้นำที่เก่งที่สุด

เชื่อว่าคงตอบได้ยาก เพราะทั้งกัปตันอเมริกา, ไอร์ออน แมน, ธอว์, ฮอว์คอาย, แบล็ค วิโดว์ หรือคนอื่น ๆ ต่างก็เก่งกาจ และถือเป็นผู้นำด้วยกันทั้งนั้น

ซึ่งการผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี่แหล่ะ คือหัวใจที่สำคัญของทีมเวิร์คที่ประสบความสำเร็จ

มี 6 ขั้นตอนเน้น ๆ สำหรับแนวทางในการสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ถ้าทีมไหนเอาแนวทางทั้งหกนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง รับประกันได้เลยว่าทีมของคุณจะแข็งแกร่งจนไร้เทียมทานเลยทีเดียว

====

1. ร่วมกันสร้างเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจของทีมให้ชัดเจนที่สุด

(Create a clear goal for building team)

เป้าหมายของทีมเปรียบเหมือนจุดหมายที่ทุกคนในทีมจะมุ่งหน้าไปด้วยกัน ถ้าปราศจากเป้าหมายร่วมทีมก็จะเดินสะเปะสะปะไปคนละทิศคนละทาง

เริ่มต้นด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนแชร์เป้าหมายส่วนตัวก่อน จากนั้นค่อยนำมาหาเป้าหมายร่วมกัน โดยเขียนเป้าหมายสองแบบทั้งแบบวิสัยทัศน์ระยะยาว กับ เป้าหมายระยะสั้น ( 1 ปี , 3 ปี) ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจนและวัดผลได้มากที่สุด
====

2. สร้างความไว้วางใจและการเปิดกว้าง

(Build trust and openness)

เป้าหมายที่สร้างขึ้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าปราศจากความไว้วางใจ (Trust)

ความไว้วางใจสร้างได้ด้วยการทุกคนในทีมบ่มเพาะความไว้วางใจส่วนตัวให้เกิดขึ้นก่อน จากนั้นค่อยขยายไปสู่ทีมด้วยการสื่อสารกันอย่างเปิดใจเป็นระยะ ๆ

บอกกล่าวความรู้สึก ความกลัว ความกังวล และความต้องการของตัวเองให้คนในทีมรับรู้เป็นระยะ ๆ

หนึ่งในผลลัพธ์จากการสร้างความไว้วางใจและเปิดกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การเกิดพื้นที่ปลอดภัย อ่าน ทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่จะตามมา คลิกที่นี่
====

3. กำหนดตารางกิจกรรมสร้างทีมขึ้นมา

(Schedule and attend team-building activities)

การสร้างทีมเหมือนการสร้างความสัมพันธ์ทุกชนิดนั่นคือ ต้องค่อย ๆ บ่มเพาะด้วยวิธีการที่เล็กแต่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือต้องทำไปเรื่อย ๆ ตลอดการเดินทางด้วย

ลองกำหนดตารางกิจกรรมสร้างทีมที่ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ เช่น กำหนดวันรับประทานอาหารร่วมกันสัปดาห์ละมื้อ โดยให้ทุกคนนำอาหารมาแชร์กันคนละอย่าง หรือ กิจกรรมสุดคลาสสิคอย่าง Buddy ก็ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ
====

4. สร้างระบบให้รางวัลตอบแทนที่ชัดเจน

(Create rewards and incentives for good teamwork)

ร่วมกันกำหนดระบบการให้รางวัลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อกลไกการทำงานเป็นทีม หัวหน้าทีมควรเปิดพื้นที่ให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการกำหนดระบบให้รางวัลด้วย

ลองกำหนดเป้าและพฤติกรรมที่สมควรจะได้รางวัลขึ้นมา โดยรางวัลตอบแทนควรเป็นอะไรที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเงินสูงแต่เปี่ยมด้วยมูลค่าทางจิตใจ เช่น การ์ดขอบคุณที่เขียนโดยทุกคนในทีม , บัตรรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น
====

5. ประยุกต์ใช้แนวทางนี้กับแผนกอื่นในองค์กร

(Implement your programs throughout your entire organization)

ถ้าต้องการให้ได้ผลยิ่งขึ้นลองผลักดันให้ทีมอื่นนำแนวทางนี้ไปใช้เช่นกัน เพราะเมื่อกลุ่มอื่นเริ่มก่อร่างสร้างทีมขึ้นจากแนวทางเดียวกันกับทีมของคุณ ทั้งองค์กรจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกันโดยตรงก็ตาม
====

6. วัดผลและตรวจสอบเป็นระยะ

(Measure and review your teamwork program often)

ไม่มีแนวทางหรือวิธีการไหนที่ได้ผล 100% ถึงขั้นไม่ต้องตรวจสอบอะไรเลย หนทางที่ดีที่สุดคือสร้างระบบที่วัดผลได้ชัดเจน แล้วตรวจสอบเป็นระยะเพื่อปรับเปลี่ยนบางอย่างโดยยังรักษาแก่นของมันเอาไว้

ตรวจสอบเป้าหมายว่าทีมยังเดินไปสู่เป้านั้นร่วมกันอยู่หรือเปล่า ตรวจสอบความไว้วางใจ(คนในทีมกล้าสื่อสารความแตกต่างหรือเปล่า)

ตรวจสอบว่ายังทำกิจกรรมสร้างทีมสม่ำเสมอหรือเปล่า และระบบการให้รางวัลยังทำงานต่อเนื่องหรือไม่

เมื่อพิจารณาแนวทางทั้งหมดนี้คุณอาจจะรู้สึกว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่

แต่ถ้าคุณยอมลงทุนสร้างทีมอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากพอ ผลที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่าไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของทีม Avengers เพื่อกอบกู้โลกใบนี้เลยทีเดียวครับ

====

ยังมีทักษะและวิธีการอีกมากมายเพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่ง เราขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกดูรายละเอียดที่นี่
เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน

ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity และการทำงานเป็นทีม (Personal Productivity  &Team Collaboration  Facilitator)

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

รู้จัก Time Boxing เครื่องมือมหัศจรรย์ที่ช่วยให้ทำงานเสร็จและดีเยี่ยม

รู้จัก Time Boxing เพื่อให้งานเสร็จและดีเลิศ

คนส่วนใหญ่จะมีรายการสิ่งที่ต้องทำ (to do list) แปะไว้ที่ข้างฝา แต่ในความเป็นจริงก็เกิดปัญหาตามมามากมาย

 

ปัญหาแรกคือมันทำให้เกิดตัวเลือกมากเกินไปว่าจะทำอะไรบ้าง ปัญหาต่อมาคือ คนส่วนใหญ่จะเลือกทำสิ่งที่ง่ายก่อน

ส่วนปัญหาที่สามคือเรื่องที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนมักถูกทิ้งไว้เป็นลำดับท้าย ๆ ปัญหาที่สี่คือ รายการสิ่งที่ต้องทำมักจะไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นใช้เวลาแค่ไหน

 

และปัญหาสุดท้ายคือ ทั้งหมดจะเป็นแค่กระดาษรายชื่อ ถ้าหากเราไม่สร้างเงื่อนไขผูกมัดว่าจะต้องทำให้ได้จริง ๆ

 

หนทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้าง Timeboxing (ระบบการจัดเวลาเป็นบล็อค) ขึ้นมา ผู้ที่ใช้วิธีนี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าประโยชน์ของมัน คือ

 

1.เมื่อใส่ Timeboxing ลงไปในปฏิทิน ทำให้เกิด ‘สถานะของงาน’

เช่น ถ้ารู้ว่าต้องมีคลิปโปรโมทสินค้าออกอากาศในวันอังคาร และงานนี้จะต้องให้เวลาทีมทำงานประมาณ 72 ชั่วโมง เราจะได้ช่วงระยะเวลาว่าจะต้องวางบล็อกเวลาของงานนี้ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด

 

Timeboxing ทำได้โดยการมาร์คเอาไว้ให้ชัดเจนเป็นภาพที่จะคอยย้ำเตือนว่างานชิ้นนี้จะต้องเริ่มเมื่อไหร่ ส่งเมื่อไหร่ ผลลัพธ์จะออกมายอดเยี่ยมตามเวลาแน่นอน
===

2. Timeboxing ทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

เพราะหากเน้นความสำคัญของงานไว้ในปฏิทิน นอกจากเราจะสังเกตเห็นแล้วเพื่อนร่วมงานก็จะเห็นด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมและเขาสามารถปรับแต่งตารางงานให้สอดคล้องกับงานที่สำคัญของเราได้

การแชร์ปฏิทินการทำงานร่วมกัน ถูกนำมาปรับใช้ในองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น กูเกิ้ล และ ไมโครซอฟต์
===

 

3.ทำให้เกิดการบันทึกที่ชัดเจนว่าเราทำอะไรสำเร็จไปแล้ว

สุดสัปดาห์เราสามารถทบทวนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ตลอดจนถึงการนำมาประมวลในระยะยาวว่าอะไรทำได้ดี อะไรยังต้องปรับปรุง
===

4.เราจะรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้

สิ่งนี้สำคัญมากเพราะการรู้สึกว่าเราทำงานได้ตามแผน ได้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเห็นสิ่งที่ทำเสร็จไปแล้วทำให้รู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขในการทำงาน การล็อคเวลาให้งานสำคัญจะยังช่วยให้เราหยิบเอาสิ่งที่รบกวนหรือไม่สำคัญออกไปได้

 

ซึ่งต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่า ความรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ในการทำงานได้คือความสุขที่ยิ่งใหญ่ของการทำงานจริงๆ
===

 

5.รู้สึกว่าตนเองผลิตงานได้มากขึ้น

เพราะโดยปกติแล้ว การไม่มี Timeboxing จะทำให้เราทำงานหนึ่งชิ้นโดยขยายเวลาออกไปเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด แทนที่จะทำภายในเวลาที่ควรจะทำ

เช่น ถ้าต้องแปลงานหนึ่งชิ้นโดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยปกติ แต่หากไม่มีบล็อกเวลา เราอาจจะทำไปเรื่อย ๆ ตบแต่งงาน แวะพัก จนกระทั่งงานนั้นกินเวลาไป 4 ชั่วโมง และเบียดบังเวลาอื่น

การมี Timeboxing จะทำให้เราคุมเวลาได้ว่าควรจะทำอะไรเสร็จเมื่อไหร่ได้ดีขึ้น อย่าแปลกใจ ถ้าหากมีคนนำบล็อกเวลาไปใช้แล้วพบว่า ทำงานได้มากกว่าปกติถึงสองเท่า!

 

โดยสรุปแล้ว Time Boxing นั้นจะมีผลทางบวกต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เราไม่เพียงรู้สึกสุขใจที่ควบคุมชีวิตการทำงานได้ดีขึ้น แต่เรายังได้ผลงานมากขึ้น ทีมเวิร์คดีขึ้น และกลายเป็นคนทำงานที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
===

 

เรียบเรียงจาก “How Timeboxing Works and Why It Will Make You More Productive” โดย Marc Zao-Sanders จาก Harvard Business Review เล่มเดือน ธันวาคม 2018

 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

5 ระดับความไว้ใจเริ่มได้ที่ผู้นำ

5 ระดับความไว้ใจ เริ่มได้ที่ผู้นำ

ถ้าทีมของคุณมีกลยุทธ์ในการทำงานที่ลงตัว มีการทำงานเต็มศักยภาพ แต่ผลที่ออกมายังไม่ดีเท่าที่ควร เป็นไปได้สูงมากว่าทีมของคุณยังขาดสิ่งนี้

‘ความไว้วางใจ (Trust)’

 

ความไว้วางใจอาจเป็นถ้อยคำนามธรรมที่จับต้องยาก แต่มันส่งผลมหาศาลเกินกว่าจะละเลย นี่คือความลับที่ทีมและองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายมี ในขณะที่องค์กรล้มเหลวไม่มี

‘สตีเฟน เอ็ม อาร์ โควีย์’ ลูกชายของ สตีเฟน อาร์ โควีย์ นักเขียนและทีปรึกษาธุรกิจในตำนานพูดเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียดในหนังสือ The Speed of Trust

===

สตีเฟนบอกว่าความไว้วางใจ หรือ Trust คือ สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งให้ดีขึ้น เขาเขียนเป็นสมการแห่งความสำเร็จไว้ ดังนี้

ความสำเร็จ = กลยุทธ์ + การปฏิบัติงาน + ความไว้วางใจ

 

เมื่อพิจารณาตามสมการจะเห็นว่าองค์ประกอบเดียวที่หลายทีมละเลยก็คือ ความไว้วางใจ นั่นเอง

 

ความไว้วางใจมีอยู่ 5 ระดับ ซึ่งจำเป็นต้องบ่มเพาะจากระดับที่ 1 สู่ระดับที่ 5 อย่างไม่อาจลัดขั้นตอนได้
===

ความไว้วางใจ 5 ระดับ ( 5 Level of Trust)

Level 1 : Primary Trust

เราสามารถไว้วางใจตัวเองได้ นี่คือระดับของภาวะผู้นำ สร้างได้จากการเข้าใจตัวเอง การมีวินัย ความรับผิดชอบ และนิสัยโปรแอคทีฟ (ริเริ่ม สร้างสรรค์ วางแผน ป้องกัน และรับผิดชอบ)
===

Level 2 : Relationship Trust

คนในทีมสามารถไว้วางใจเราได้ เกิดจากการมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในทีมโดยการรับฟัง สื่อสารเชิงบวก ทำความเข้าใจ ยอมรับความต่าง ให้เวลา ใส่ใจ ช่วยเหลือและเห็นคุณค่าของผู้อื่น
===

Level 3 : Organizational Trust

เกิดจากองค์กรหรือทีมของคุณกำลังมุ่งไปสู่สิ่งที่ได้ประกาศจุดยืนเอาไว้ ส่วนใหญ่พูดถึงโครงสร้างและระบบ องค์กรที่มี Trust น้อยจะมีความซ้ำซ้อนของงานสูง ทำงานล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบเยอะ
===

Level 4 : Market Trust

ตลาดของคุณรู้สึกไว้วางใจในความเป็น Professional ขององค์กรของคุณ ทำให้เกิดแฟนคลับเพิ่มขึ้นมากมาย
===

Level 5 : Social Trust

เป็นความเชื่อใจ ไว้วางใจขั้นสูงสุด ที่ผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือตลาดของคุณหรือไม่ก็ตามรู้สึกเชื่อใจว่าองค์กรของคุณกำลังทำสิ่งที่ดีต่อโลกใบนี้อยู่

 

ความไว้วางใจอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก สร้างยากแถมยังถูกทำลายง่าย แต่เชื่อเถิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนสร้างขึ้นมาและรักษาเอาไว้

เพราะคุณเองก็ต้องการความไว้วางใจไม่ใช่หรือ

=== ===

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาคนและทีมเเวิร์ค (Human Development &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

6 ทักษะสุดเจ๋งที่ผู้นำควรฝึก

6 ทักษะพื้นฐานสุดเจ๋งที่ผู้นำควรฝึก


ได้ยินกันมานานแล้วว่าหนทางที่จะไปคาร์เนกี้ฮอลล์ เวทีการแสดงที่โด่งดังที่สุดในโลก คือประโยคอมตะ “ซ้อม ซ้อม และซ้อม”

 

แต่สำหรับทักษะการบริหารจัดการคนไม่ได้มีเพียงความมุ่งมั่นและฝึกซ้อม งานวิจัยและประสบการณ์ของนักบริหารจำนวนมากบอกตรงกันว่า

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่อ่านหนังสือหรือลงคอร์สเยอะ ๆ แต่ทุกคนต้องฝึกกับประสบการณ์จริง

ผู้นำองค์กรหลายท่านอาจแปลกใจ หากพบว่า โดมินิก บาร์ตัน ผู้จัดการใหญ่ของแม็คคินซี่ย์ที่มีประสบการณ์นับสิบปีไม่เคยพูดถึงการไปลงคอร์สพิเศษหรืออ่านหนังสือเลย

 

เขาเน้นย้ำเรื่อง “การเรียนรู้โดยลงมือทำ” ซึ่งส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานเป็นอย่างมาก

 

“เรียกว่าผมเสี่ยงลงมือทำดีกว่า ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้พวกเราเข้าไปอยู่ในแผนที่แห่งความสำเร็จ ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน” บาร์ตันเล่าประสบการณ์น่าตื่นเต้น

 

เขายังให้บทเรียนสั้นๆ ว่า มีทักษะพื้นฐานอยู่ 6 ประการที่ผู้นำควรจะลองฝึกเพื่อผลักดันตัวเองและองค์กรให้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น
===

 

ทักษะสำคัญพื้นฐาน 6 ประการของผู้นำ มีดังนี้

1.ฝึกวิสัยทัศน์

ลองมองหาสิ่งที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับทีมอยู่เสมอ อย่าหยุดนิ่งกับการทำงานหรือคิดแบบเก่า
===

 

2. สร้างกลยุทธ์จากวิสัยทัศน์

เมื่อเกิดวิสัยทัศน์ควรนำมาสร้างกลยุทธ์ให้เป็นรูปธรรม ว่าแผนจะเป็นอย่างไร ควรทำและไม่ควรทำอะไร
===

 

3. เลือกคน พัฒนา และให้รางวัล

ขั้นตอนของการบริหารจัดการคนที่ยอดเยี่ยมคือสร้างคนที่ดีให้องค์กร เลือกรับคนที่เหมาะสม พัฒนาให้เก่ง และให้รางวัลเพื่อความสุขในการทำงานเพื่อทำให้เขาพัฒนาไปอีกระดับ
===

 

4. โฟกัสผลลัพธ์ที่จับต้องได้

เมื่อมีการลงมือทำแล้วจะต้องสร้างเกณฑ์วัดผลงานที่จับต้องได้ มีความชัดเจน ไม่ใช่แค่กะประมาณแล้วบอกว่าดีหรือแย่ แต่ต้องกำหนดตัวเลขหรือสิ่งวัดผลเป็นรูปธรรมที่เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย
===

 

5. เปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ

ไม่มีใครก้าวหน้าโดยอยู่กับความคิดหรือเครื่องมือเก่า ๆ ได้ จึงต้องมีการนำนวัตกรรมใหม่ การเรียนรู้ใหม่ เข้ามาสนับสนุนทีมเพื่อให้เกิดการพัฒนา และยังอาจหมายถึงการมองหาผู้นำใหม่ที่จะไปได้ดีกับนวัตกรรมใหม่อีกด้วย
===

 

6. จัดการตัวเองให้ดี

ผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่สุดขององค์กร การรู้จักตัวเอง พัฒนาปรับปรุงตนเอง และจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวจึงสำคัญ เมื่อผู้นำมีความสุข องค์กรก็จะไปได้ดีนั่นเอง
===

 

6 ทักษะนี้คือสิ่งสำคัญที่ผู้นำควรฝึกฝนจนชำนาญ เพื่อให้องค์กระประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อคุณเป็นผู้นำที่มีทักษะยอดเยี่ยม คุณก็จะเห็นผลลัพธ์ที่งดงามในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน
===

 

อ้างอิงจาก “The 6 Fundamental Skills Every Leader Should Practice” โดย Ron Ashkenas and Brook Manville จาก Harvard Business Review 24 ตุลาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

หมั่นมองตัวเองในกระจกช่วยยกระดับทีมของคุณ

หมั่นมองตัวเองในกระจกช่วยยกระดับทีมของคุณ


ถ้าคุณเป็นผู้หญิงทั่วไป คุณก็น่าจะพกกระจกบานเล็กติดตัวไว้ส่องดูหน้าตัวเองเป็นระยะ หรือ อย่างน้อยที่สุดคุณก็น่าจะเข้าห้องน้ำไปเช็คตัวเองในกระจกอยู่เรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
..

 

การสำรวจเสื้อผ้า หน้า ผมคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำเป็นประจำ แต่สิ่งที่คนทำกันน้อยเกินไปก็คือการหมั่นสำรวจความคิดและจิตใจตัวเอง
===

 

‘ปาร์กเกอร์ เจ ปาล์มเมอร์’ เขียนเกี่ยวกับวิถีในการเป็นผู้นำซึ่งแม้เขาจะพูดถึงการนำในห้องเรียน(ครู) เป็นหลัก แต่ทั้งหมดก็คือวิถีของผู้นำในองค์กรเช่นกัน 

 

ปาล์มเมอร์บอกว่าหัวใจของการนำก็คือการหมั่นสำรวจตรวจสอบภูมิทัศน์ภายใน (Inner Landscape) ของตัวเอง ทำความเข้าใจว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เราคิด พูด และทำเช่นนั้น


เพราะมีเพียงการสำรวจตัวเองอย่างซื่อสัตย์และต่อเนื่องเท่านั้นที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้นำที่สร้างทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้
====

 

จอห์น ซี แม๊กซ์เวล เขียนถึงกฎของกระจกเงาไว้ในหนังสือสุดคลาสสิคของเขา Winning with People ว่า “บุคคลแรกที่เราในฐานะผู้นำต้องตรวจสอบก็คือ ตัวเราเอง

 

แม๊กซ์เวลสรุปแบบทดสอบกระจกเงาเอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1. บุคคลแรกที่เราต้องรู้จัก คือ ตัวเราเอง

การรู้จักตัวเองไม่ได้หมายถึงแค่รู้ว่าตัวเองชอบ ไม่ชอบอะไร แต่ยังรวมถึงการรู้เท่าทันความคิด จิตใจ ความรู้สึกของตัวเองอีกด้วย 

 

2. บุคคลแรกที่เราต้องรัก คือ ตัวเราเอง

การรักตัวเองอย่างแท้จริงจะทำให้เราไม่ทำร้ายคนอื่น เพราะเราจะกลายเป็นคนที่เคารพตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และทำสิ่งที่ดีให้แก่ผู้อื่นในที่สุด

 

3. บุคคลแรกที่จะก่อปัญหาให้เรา คือ ตัวเราเอง

นี่คือความจริงที่อาจจะยอมรับได้ยากสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนที่พบเจอแต่เรื่องแย่ ๆ ที่เขามักจะโทษว่าคือความผิดของคนอื่นมาตลอด แต่ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง(และยอมรับความเจ็บปวดในช่วงแรก) เราจะพบว่าเราคือคนแรกที่ก่อปัญหาให้ตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจริง ๆ

 

4. บุคคลแรกที่เราต้องเปลี่ยนแปลง คือ ตัวเราเอง

ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงโลก คุณต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่คุณอยากให้โลกเป็นก่อน และทำจริงจังพอที่จะแผ่ขยายอิทธิพลออกไปสู่คนรอบข้าง องค์กร และสังคม

 

5. บุคคลแรกที่สร้างความแตกต่างได้ คือ ตัวเราเอง

ผมเรียกข้อนี้ว่าคือการรับผิดชอบต่อตนเอง ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองคือใคร ตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอและรู้พรสวรรค์ของตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณต้องใช้สิ่งนั้นเพื่อสร้างความแตกต่างให้โลกใบนี้แล้วล่ะครับ
===

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

 

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save