บริหารเวลาให้ดีขึ้นด้วยการจัดการเรื่องสำคัญที่ไม่เร่งด่วน

บริหารเวลาให้ดีขึ้นด้วยการจัดการเรื่องสำคัญที่ไม่เร่งด่วน

คุณคงจะเคยเห็นบรรดาคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่สามารถทำงานสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

พวกเขาทำธุรกิจหลัก ธุรกิจรอง ธุรกิจเสริม จนมีรายได้เข้ามาหลายช่องทาง คนเหล่านี้ยังมีเวลาไปออกกำลังกาย ดูแลครอบครัว อ่านหนังสือ และทำงานช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

ดู ๆ ไปแล้วเหมือนคนเหล่านี้จะมีเวลาในหนึ่งวันที่มากกว่าเรา  ก็ขนาดเราทำอะไรน้อยกว่าพวกเขาหลายเท่า แต่ทำไมยังทำไม่ทันเลย พวกเขามีเคล็ดลับอะไรที่เราไม่เคยรู้เช่นนั้นหรือ

====

ทบทวนกิจกรรมในชีวิตทั้ง 4 ประเภท

คุณน่าจะรู้จัก Eisenhower matrix หรือ ตารางสำคัญ – เร่งด่วน ที่ใช้ในการบริหารเวลากันมาบ้างแล้ว เพราะทุกโรงเรียนที่สอนการบริหารจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งผมเองก็ใช้ตารางนี้ในการบริหารเวลามานานหลายปีเพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารเวลาที่ทรงพลังที่สุด

ขอทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตารางนี้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน ตารางนี้เกิดจากแกนหลักสองแกนคือ แกนตั้งซึ่งเป็นแกนของกิจกรรมที่สำคัญ – ไม่สำคัญ และแกนนอนซึ่งเป็นแกนของกิจกรรมที่เร่งด่วน – ไม่เร่งด่วน

เมื่อนำแกนทั้งสองมาตั้งฉากแล้วลากเส้นแบ่งให้เป็นสี่ช่อง ก็จะได้ช่องในการนำกิจกรรมทั้งหมดในชีวิตมาจัดกลุ่มทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้

  1. กิจกรรมสำคัญและเร่งด่วน คือ งานที่ต้องส่งภายในวันนี้ ชั่วโมงนี้ ตอนนี้ งานแทรก หรือ งานดับไฟทั้งหลาย

  2. กิจกรรมสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน คือ งานที่มีความสำคัญในชีวิตแต่ไม่มีกำหนดการส่งมอบที่แน่นอน เช่น การวางแผน การพัฒนาทักษะในการทำงาน การออกกำลังกาย การพัฒนาความสัมพันธ์ การบริหารเงิน เป็นต้น

  3. กิจกรรมไม่สำคัญแต่เร่งด่วน คือ งานที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นคุณค่าหลักของเรา (คนอื่นทำแทนได้) และ งานที่แทรกเข้ามาแต่ไม่ได้สำคัญอะไร เช่น การตอบแชทคนที่ทักพูดคุยเรื่องทั่วไป เป็นต้น

  4. กิจกรรมไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน คือ สิ่งที่ไร้สาระสำหรับชีวิตของเรา ไม่ทำก็ไม่ตาย เช่น เล่นมือถือนานๆ เป็นต้น

====

แล้วเราควรทำอย่างไรกับงานหรือกิจกรรมในแต่ละช่อง

ความเข้าใจต่องานหรือกิจกรรมในแต่ละช่องว่าสำคัญแล้ว แต่การจัดการกับกิจกรรมแต่ละช่องก็สำคัญไม่แพ้กัน เมื่อคุณสามารถวิเคราะห์และนำกิจกรรมต่าง ๆ จัดลงช่องใดช่องหนึ่งใน 4 ช่องด้านบนได้แล้ว คุณก็ต้องเรียนรู้วิธีในการจัดการกับกิจกรรมทั้ง 4 ด้วย

  1. เรื่องสำคัญและเร่งด่วน เราต้องลงมือทำทันที ต้องสะสางให้จบทุกวัน และอย่าปล่อยให้มันเพิ่มขึ้นมา

  2. เรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เราต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตกับกิจกรรมในกลุ่มนี้ โดยการวางแผน ลงตารางว่าจะทำสิ่งนั้นเมื่อใด เวลาไหน

  3. เรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน เราต้องจ่ายงานให้คนอื่นทำแทน หรือ สร้างระบบให้ทำโดยอัตโนมัติ และ / หรือ ย้ายไปไว้ในช่อง 2 โดยการกำหนดช่วงเวลาในการลงมือทำ

  4. ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เราต้องลดปริมาณลงและ / หรือกำจัดทิ้งโดยการกำหนดช่วงเวลาในการทำ (ย้ายไปไว้ในช่อง 2 )

====

เทคนิคบริหารเวลาขั้นสุดยอด

ถ้าถามว่าในบรรดากิจกรรมทั้ง 4 ช่อง กิจกรรมช่องไหนที่มีคุณค่า มีความสำคัญมากที่สุด ตอบได้ทันทีเลยว่า กิจกรรมในช่องที่ 2 เพราะถ้าเราไม่ลงมือทำ มันจะเคลื่อนย้ายมาเป็นกิจกรรมที่สำคัญและเร่งด่วน(ช่อง 1) ในอนาคตอย่างแน่นอน

ตัวอย่างเช่น

ถ้าคุณไม่ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ (ช่อง 2) คุณก็อาจเจ็บป่วยจนทำงานไม่ไหว (ช่อง 1)

ถ้าคุณไม่เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่สำคัญ (ช่อง 2) คุณก็อาจจะไม่มีทักษะในการทำงานจนต้องถูกสั่งให้ไปเรียนเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด (ช่อง 1) หรือ อาจต้องหางานใหม่ (ช่อง 1 )

ถ้าคุณไม่ให้เวลาคุณภาพกับครอบครัว (ช่อง 2) คุณก็อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ลูกไม่เชื่อฟัง ไปคบเพื่อนไม่ดีจนทำผิดกฏหมายทำให้คุณต้องไปประกันตัวเขาที่สถานีตำรวจ(ช่อง 1)

====

แล้วกิจกรรมในช่องไหนที่อันตรายที่สุด

ตอบจากประสบการณ์ในการนำมาใช้จริงมากกว่าสิบปี และทำงานเป็นโค้ชด้าน Productivity มายาวนาน ก็ต้องบอกว่า….กิจกรรมที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (ช่อง 3)

เรียนรู้วิธีจัดการเรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน

คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน(ช่อง 4)  เพราะมันคือเรื่อง ‘ไร้สาระ’ ในชีวิตของคุณ(แต่คุณอาจจะใช้เวลาอยู่กับมันทั้งวันเลยก็ได้) นั่นเอง

สิ่งที่ยากกว่าคือการรู้ว่ากิจกรรมไหนคือเรื่องที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน

ในที่นี้ผมจะแบ่งกิจกรรมในช่องนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. กิจกรรมที่ไม่ใช่คุณค่าหลักของคุณ หมายความว่ามีคนที่ทำได้ดีกว่าคุณอยู่
  2. กิจกรรมที่ดูเหมือนด่วนและแทรกเข้ามาทันที แต่จริง ๆ มันเป็นเรื่องที่รอได้ เช่น มีข้อความแชทเด้งขึ้นมา

====

เมื่อคุณเข้าใจและเริ่มมองเห็นกิจกรรมช่อง 3 นี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องใช้กลวิธีในการจัดการมันให้หมดไปเสียที ซึ่งวิธีจัดการมีดังนี้

  1. Delegate คือ การจ่ายงานนั้นให้คนอื่นทำแทน เช่น ลูกน้อง หรือ การจ้าง Outsource เช่น การทำบัญชี การทำความสะอาดห้อง การล้างรถ การทำอาหาร เป็นต้น
  2. Swap คือ การแลกงานกันทำ วิธีนี้อยู่ในสมมติฐานที่ว่าแต่ละคนมีความถนัดชำนาญที่แตกต่างกัน และเราจะทำสิ่งที่เราถนัดได้ดีโดยใช้เวลาที่น้อยกว่าคนที่ไม่ถนัดเสมอ ถ้าคุณมีงานที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ลองเสนอที่จะแลกกันทำกับคนในทีมดู
  3. Re – Process คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน จากเดิมที่ต้องมีขั้นตอน 1-2-3-4 เราอาจจะลดบางขั้นตอนให้เหลือ 1-3-4 หรือ 1-2—4 เพื่อลดการใช้เวลากับกิจกรรมนั้นลง

ทั้งหมดนี้คือวิธีการสำคัญในการทวงคืนเวลาที่มีคุณค่าของคุณกลับคืนมา

====

คำถามสุดท้ายก็คือ…แล้วเราจะเอาเวลาที่ได้คืนมาจากการลดกิจกรรมในช่องที่ 3 ไปทำอะไรล่ะ

ถ้าคุณเอาไปใช้ในการทำกิจกรรมในช่องที่ 4 เช่น นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นมือถือไปเรื่อยเปื่อย หรือ นอนดูซีรี่ย์แบบมาราธอน ก็ถือว่าคุณได้ทำลายเวลาที่เพิ่งได้คืนมาไปอย่างป่นปี้

วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับเวลาที่ได้คืนมาก็คือ นำมันไปลงทุนกับการทำกิจกรรมในช่องที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ รับฟังคนในครอบครัว ใช้เวลาคุณภาพกับคนที่รัก อ่านหนังสือ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ฯลฯ

อีกหนึ่งเทคนิคในการบริหารเวลาที่ดีมากๆ คือ เทคนิค Time Boxing เพื่อทำให้งานเสร็จอย่างยอดเยี่ยม คลิก ที่นี่

และทั้งหมดนี้คือ แก่นแท้ของการบริหารเวลาอย่างแท้จริงครับ

====

สนใจเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการบริหารเวลาอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ได้ทันทีที่เรียนจบ แนะนำหลักสูตร Effective Time Management คลิกดูรายละเอียดที่นี่

บทความโดย

อ.เวย์  เวสารัช โทณผลิน

Productivity Coach and Team Collaboration Facilitator

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลและการบริหารทีมของผู้นำ

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

10 สุดยอดเทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหน 

งานวิจัยของ gallup organization องค์กรระดับโลกที่ทำงานเรื่องวัฒนธรรมองค์กรพบว่าคนที่มีเพื่อนสนิทหรือกัลยาณมิตรที่ดี 7 เท่าได้มาจากการทำงาน

ในบทความนี้จะโฟกัสที่คำถามว่าเราจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

เราจะมาดูกันว่าเพราะอะไรการมีความสัมพันธ์ที่ดีจึงมีความสำคัญและจะแนะนำวิธีพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณกับคนที่ไม่ค่อยลงรอยกับคุณให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นด้วย

====

 

ทำไมในการทำงานเราจึงควรมีความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดี

ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราโหยหามิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีเสมือนโหยหาน้ำและอาหาร

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ยิ่งเรามีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความสุขและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีขึ้นมากเท่านั้น

====

ข้อดีในการมีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตการทำงานนั้นมีมากมาย เช่น

คุณจะเพลิดเพลินในการทำงานขึ้นมาทันทีเมื่อคุณถูกรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ดี

คนเหล่านั้นมีแนวโน้มในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดี

ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้เสมอ 

====

นอกเหนือจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดียังให้อิสระต่อเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น

แทนที่เราจะใช้เวลาหมดไปกับการแก้ปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับความสัมพันธ์แย่ๆ เราสามารถโฟกัสไปที่โอกาสต่างๆที่เข้ามาได้มากขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ดียังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากถ้าคุณต้องการจะพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของคุณเอง

พูดง่ายๆคือหากเจ้านายคุณไม่ไว้ใจคุณเพราะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันแล้วละก็ สิทธิในการได้รับเลื่อนตำแหน่งในโอกาสต่างๆของคุณก็จะหมดไปอย่างแน่นอน

เพราะคนส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากร่วมงานกับคนที่ไม่ลงรอยกับเราเท่าไหร่หรอก 

นอกจากเจ้านายของคุณแล้ว คุณยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆอีกด้วย 

ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ผลิต และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการประสบความสำเร็จของคุณ สรุปว่าการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่ทำงานกับเรามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

====

 

แล้วแบบไหนล่ะที่เรียกว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตการทำงาน

ลักษณะของความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตการทำงาน มีดังนี้ 

มีความไว้เนื้อเชื่อใจ

ความไว้เนื้อเชื่อใจถือเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกๆความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ที่คุณเชื่อใจ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ นั่นหมายถึงคุณได้เชื่อมสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้คุณทำงานและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะความเชื่อใจจะทำให้คุณคิดและทำทุกอย่างอย่างซื่อสัตย์ เปิดเผย และไม่ต้องมาคอยกังวลหรือเสียเวลากับการคอยระมัดระวังการกระทำของคุณ

====

มีความเคารพซึ่งกันและกัน

 เมื่อไหร่ที่คุณเคารพเพื่อนร่วมงานของคุณ เช่น เคารพการทำงานหรือความคิด คุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาเช่นกัน

====

มีการเอาใจใส่

 ในที่นี้หมายถึงการมีความรับผิดชอบต่อการกระทำและคำพูด คนที่เอาใจใส่ผู้อื่นจะระมัดระวังและใส่ใจสิ่งที่เขาพูดไปและจะไม่ยอมให้คำพูดหรืออารมณ์ในด้านลบของตนเองต้องไปกระทบกับคนใกล้ตัว

====

มีการยอมรับในความหลากหลาย

ผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงแต่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดหรือระหว่างตัวบุคคลเท่านั้นแต่จะใส่ใจสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เช่น เมื่อไหร่ที่เพื่อนร่วมงานของคุณเสนอไอเดียที่แตกต่างออกไปจากคุณ คุณให้เวลากับตัวเองในการพิจารณาไอเดียเหล่านั้น เจาะลึกไปในแต่ละจุดและนำสิ่งเหล่านั้นไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

====

มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม

คนเราสื่อสารกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล์ การส่งข้อความต่างๆหรือแม้แต่การประชุม ยิ่งคุณมีการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพกับผู้คนรอบๆตัวคุณมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา

====

ต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดเทคนิคในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพิชิตใจเพื่อนร่วมงานที่คุณควรนำไปใช้

1.พัฒนาทักษะการทำงานกับผู้อื่น

ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มจากการมีทักษะเรื่องการทำงานที่ดีกับคน เช่น การร่วมมือกันทำงาน การสื่อสารและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

====

2.แยกแยะความสัมพันธ์กับคนที่คุณต้องการจะพัฒนา

โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ที่คุณต้องการ คุณรู้รึเปล่าว่าคุณต้องการอะไรจากคนเหล่านั้น? แล้วพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไรจากคุณ? การเข้าใจถึงความต้องการเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างความสำคัญที่ดีขึ้นได้

====

3.รู้จักจัดตารางเวลา

สละเวลาของคุณเพียงเล็กน้อยในแต่ละวันในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานเพียงแค่ 5 นาทีหรือ 20 นาที เช่น เข้าไปถามไถ่เพื่อนร่วมงานช่วงพักกลางวัน ตอบข้อความในทวิตเตอร์หรือชวนกันไปนั่งดื่มกาแฟ สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะสร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะการพูดคุยหรือทำอะไรต่อหน้ากัน

====

4.ให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์

ใช้เวลาในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณรับรู้ความรู้สึกของคุณเองและเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพยายามที่จะบอกคุณ ดังนั้นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถเข้าใจอารมณ์และความต้องการของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

====

5.ยกย่องผู้อื่น

แสดงความขอบคุณเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนช่วยคุณ ทุกคนในที่นี้คือตั้งแต่เจ้านายของคุณไปจนถึงแม่บ้านทุกคนต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในงานที่ทำ ดังนั้นการที่เราชื่นชมยกย่องผู้คนรอบตัวคุณด้วยความจริงใจ นั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดประตูในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคุณกับคนเหล่านั้น

====

6.คิดบวก

การคิดบวกเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดและสามารถส่งต่อไปยังคนรอบข้างได้และมันจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานแข็งแรงขึ้น ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบตลอดเวลา

====

7.จัดการกับขอบเขตของคุณ

คุณต้องแน่ใจว่าคุณจัดการขอบเขตของคุณอย่างเรียบร้อย ทุกคนต้องการมีเพื่อนในที่ทำงานแต่บางครั้งมิตรภาพก็ส่งผลกระทบต่องานของคุณ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนร่วมงานของคุณเริ่มอยากจะใช้เวลากับคุณมากขึ้น

เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่มันจำเป็นอย่างมากที่คุณจะต้องบริหารเวลาของคุณให้ดีว่าคุณมีเวลาเข้าสังคม พบปะสังสรรค์มากน้อยเพียงใดในระหว่างการทำงานแต่ละวัน

====

8.หลีกเลี่ยงการนินทา

การแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงานและการนินทาเป็นปัจจัยหลักที่จะทำร้ายความสัมพันธ์ของคุณ ถ้าคุณมีประสบการณ์การมีปัญหาความขัดแย้งกับใครบางคนในกลุ่มให้คุยกันแบบเปิดเผยถึงปัญหา

เพราะการนินทาเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่จะเพิ่มความรุนแรงแต่ยังก่อให้เกิดความหวาดระแวงและความเกลียดชังอีกด้วย

====

9.ฟังอย่างตั้งใจ

เมื่อไหร่ที่คุณพูดคุณกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน คนเหล่านั้นจะตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้ฟังตั้งใจฟังว่าพวกเขาพูดอะไร โฟกัสการฟังมากกว่าการพูดแล้วคุณจะกลายเป็นคนที่น่าไว้ใจได้ภายในพริบตา

ทักษะการฟังที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานดียิ่งขึ้น คือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม อ่านและศึกษาเพิ่มเติมที่นี่

====

10.จัดการกับความสัมพันธ์ที่ยากลำบาก

บางครั้งคุณอาจจะต้องทำงานกับคนที่คุณไม่ชอบหรือบางคนที่ทำงานไม่เข้าขากันบ้างแต่ยังไงก็ตามมันก็จำเป็นอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์ให้มีความเป็นมืออาชีพกับคนเหล่านั้น เมื่อไหร่ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพยายามเรียนรู้คนคนนั้น

ช่วงแรกๆมันอาจจะดูเหมือนว่าเราไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ ดังนั้นเราควรเริ่มต้นบทสนทนาที่เป็นกันเอง จริงใจ เช่นอาจจะชวนไปทานอาหารเที่ยง เป็นต้น ระหว่างบทสนทนาเพื่อให้เป็นกันเองมากขึ้นอาจจะถามถึงสิ่งที่เขาสนใจหรือสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีต แทนที่คุณจะมองหาความแตกต่างระหว่างกัน คุณควรมองหาสิ่งที่คล้ายคลึงระหว่างเขาและคุณมากกว่า

====

สุดท้ายนี้ให้คุณระลึกเอาไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่เราพยายามจะออกมาเวิร์คแต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพิชิตใจคนในทีม เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

ที่มา

https://www.mindtools.com/pages/article/good-relationships.htm

เรียบเรียงโดย
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน

วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน

ในฐานะผู้นำที่ต้องบริหารคน ไม่ว่าจะอย่างไรคุณก็ต้องเจอกับปัญหาความขัดแย้งเข้าสักวัน

แต่ก่อนจะคิดหาทางแก้ไข คุณต้องเริ่มจากการวินิจฉัยปัญหาเสียก่อนว่ามันเป็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ หรือ ปัญหาเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้ว

====

สำหรับปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ (Hot Conflict) แต่ละฝ่ายจะยังเต็มไปด้วยอารมณ์คุกรุ่น อาจมีการพูดจาโหวกเหวก โวยวายเสียงดัง บางครั้งอาจสัมผัสได้ถึงความหยาบคายหรือการข่มขู่คุกคามที่ดูเหมือนควบคุมได้ยาก

ส่วนปัญหาเรื้อรัง (Cold Conflict) แต่ละฝ่ายจะผ่านช่วงอารมณ์รุนแรงไปสักพักแล้ว แต่มีความไม่ชอบหน้ากันที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง ปฏิริยาที่เกิดขึ้นมีทั้งการบ่นพึมพำใส่กัน ทำปากขมุบขมิบประชดประชัน แซว หรือเบ้ปากใส่กัน มีการเลี่ยงการประสานงานหรือทำงานร่วมกัน ไปจนถึงดูเย็นชาต่อกัน
====

ถ้าเป็นปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ คุณจะต้องทำตรงข้ามกับสภาพที่เกิด คือจะต้องทำให้บรรยากาศเย็นลง (cool it down) เพื่อจะได้ไม่เกิดความรุนแรงและเป็นการเรียกสติกลับมา

การนำคู่ขัดแย้งมาเคลียร์กันจะต้องมีกติกาที่ชัดเจน และต้องแน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายเต็มใจที่จะแก้ปัญหา คุณต้องให้โอกาสแต่ละฝ่ายได้พูดมุมมองและความรู้สึกของตนเอง เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกัน
====

ส่วนปัญหาเรื้อรัง คุณจะต้องรื้อปัญหานั้นกลับมาให้ร้อนขึ้นอีกครั้ง (warm it up) เพื่อให้ต่างฝ่ายกลับไประลึกถึงต้นตอของเรื่อง หวนไปหาความรู้สึกตอนนั้น

เพราะปัญหาก็เหมือนกับการปรุงอาหาร คุณจะต้องทำให้มันอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดเพื่อที่คุณจะสามารถจัดการได้ง่ายที่สุด สำคัญที่สุดคือการให้ความเป็นธรรมในการพูดของแต่ละฝ่าย

สิ่งที่คุณต้องจำไว้ก็คือ เป้าหมายหลักของการจัดการความขัดแย้ง ไม่ใช่การประนีประนอมอย่างที่หลายคนคิดกัน

แท้จริงแล้วสิ่งที่ดีที่สุดคือการทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาสานสัมพันธ์จนเกิดความไว้วางใจกันอีกครั้งหนึ่ง นำไปสู่การหาหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเพื่อทำงานร่วมกัน
====

ต่อไปนี้ คือคำแนะนำในกรณีที่คุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งกับใครก็ตาม จงทำตามนี้

1.อย่ารีบร้อน

คุมสถานการณ์ให้ดี อย่างแสดงออกผลีผลาม มิเช่นนั้นคุณออาจจะเสียใจไปตลอดกาล

2.วางเป้าหมายให้ชัดว่าต้องการให้สถานการณ์นี้จบแบบไหน

กำหนดเป้าหมายโดยไม่วอกแวกกับสิ่งอื่นที่เข้ามา

3.อย่าชี้นิ้วใส่หน้าใครหรือพุ่งเป้าไปที่ชื่อของคน

ให้สนใจที่ตัวปัญหามากกว่าตัวบุคคล

4.อย่าเป็นพวก ‘คนดีขี้ตัดสิน’

จงเปิดใจให้กว้างต่อความแตกต่างระหว่างคุณกับเขาเอาไว้เสมอ

5.รับฟังทุกอย่าง

แต่จงฟังอย่างมีประเด็น

หนึ่งทักษะการฟังที่ช่วยบริหารจัดการความขัดแย้งได้ดีคือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม อ่านและศึกษาเพิ่มเติมที่นี่

====

6.อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรทั้งหมดจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้แสดงออก

7.ลองหาบุคคลที่ 3 ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนมาแชร์มุมมองของเขา

8.อย่าปัดป้องตัวเองเกินไป

ให้คู่กรณีเข้าถึงมุมมองเราในฐานะมนุษย์เหมือนกัน

9.เช็คอุณหภูมิความขัดแย้งเป็นระยะ ๆ

ถ้ายังไม่ดีก็หาทางประวิงเวลามาคุยกันอีกครั้งตอนที่อารมณ์เย็นลงกว่าเดิมอีกนิด

10.อย่าลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา

สุภาพเอาไว้เสมอ และอยากให้เขาทำอย่างไรกับเรา ก็จงทำกับคนอื่นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน จำไว้ว่าคุณต้องรักษาความเห็นอกเห็นใจกันและกันเอาไว้

อย่าลืมว่า ‘การจัดการกับปัญหา’ เป็นการทำให้คุณและคนอื่น ๆ เห็นตัวตนของคุณได้ชัดขึ้นนั่นเอง

====

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากแก้ไขความขัดแย้งในทีมและพัฒนาให้ทีมร่วมมือร่วมใจกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “To Resolve a Conflict, First Decide: Is It Hot or Cold?” โดย Mark Gerzon จาก Harvard Business Review 26 มิถุนายน 2014

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

ถ้าลองไปถามลูกทีมหรือลูกน้องในองค์กรต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงยังคงทำงานอยู่ที่นั่น คำตอบส่วนใหญ่ที่ออกจากปากพวกเขาก็คือ

“ผม / ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าและมีตัวตน”

ความรู้สึกนี้สอดคล้องกับหลักการบริหารคนที่เรียกว่า “ต้องแสดงการยอมรับและยกย่องชื่นชม” (Recognition and Appreciation)

ผู้นำที่อยากให้ลูกน้องที่เก่งและดีทำงานด้วยกันต่อหรืออยากให้ลูกน้องพัฒนาผลงานด้วยความเต็มใจ ไม่ควรละเลยหลักการนี้เป็นอันขาด เพราะสองหลักการนี้นำมาซึ่งความรู้สึกภาคภูมิใจ

เมื่อคนทำงานได้รับความภาคภูมิใจ พวกเขาจะร่วมผลักดันผลงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ การอดทนทำงาน การซื่อสัตย์ หรือการรีดเค้นผลงานที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา
====

การยอมรับ (Recognition) ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกว่าจดจำตัวเขาและผลงานที่เขาทำได้ แต่ยังรวมถึงการให้ Feedback เชิงบวก ว่าลูกน้องได้ทำอะไรดี ๆ มาบ้าง บางครั้งอาจอยู่ในรูปของการให้รางวัล ให้โบนัส เลื่อนขั้น หรือบางทีเพียงแค่การพูดว่าขอบคุณหรือเขียนโน้ตเป็นลายมือก็ถือว่ามีคุณค่ามากพอแล้ว

แต่การยอมรับต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะวิธีนี้ไม่สามารถทำได้กับทุกคน ที่สำคัญมันเป็นการให้คุณให้โทษที่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เกิดขึ้นจึงต้องทำเป็นวาระโอกาสและเป็นวาระที่มักจะมาจากเจ้านายไปสู่ลูกน้องเป็นหลักด้วย
====

การยกย่องชื่นชม (Appreciation) มีเพื่อเสริมส่วนที่การยอมรับ (Recognition) ขาดหายไป เพราะวิธีนี้ไม่ใช่แค่การรอให้เขาทำผลงานดีออกมาก่อนเท่านั้น แต่การยกย่องชื่นชมสามารถทำได้เรื่อย ๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เห็นว่าอีกฝ่ายทำงานดี

====

การชื่นชมว่าอีกฝ่ายมีคุณค่านั้น ทำได้หลายวาระกว่า เช่นเทคนิคดังต่อไปนี้

รับฟัง

การฟังอีกฝ่ายพูดเป็นแสดงถึงการให้ความสำคัญ หากมีคนมาคุยด้วยตอนเรากำลังเล่นมือถือหรือจ้องหน้าคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเราต้องการให้ความสำคัญกับเขา ให้หยุดกิจกรรมนั้นแล้วหันมาสบตาผู้พูดและตั้งใจฟังดีกว่า

หนึ่งในทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพสูง ก็คือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม ศึกษาและฝึกฝนได้คลิกที่นี่
====

บอกคนอื่นๆ ว่าคนที่เราชื่นชมเจ๋งอย่างไร

การประกาศให้คนอื่นรู้นั้นไม่ต่างจากการให้ของขวัญที่ล้ำค่า เพราะนอกจากจะทำให้เจ้าตัวปลื้มแล้ว ยังเป็นการสร้างสถานะที่ดีของคนที่ถูกชมต่อหน้าสาธารณะชนอีกด้วย
====

แสดงออกไปเลย

บอกคนที่เราชื่นชมไปเลย ว่าสิ่งที่เป็นตัวเขานั้นดีเยี่ยมเพียงไร อาจจะถามเขาด้วยว่าเขาทำมันได้อย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำว่ามันมีมากจนเราสนใจ และแสดงความสนใจว่ามันจะดำเนินไปอย่างไรต่อ

ผลการสำรวจของพนักงานในองค์กรต่างๆ ผลที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งพบว่า คำชื่นชมจากเจ้านายทำให้พวกเขามีแรงใจที่จะอยู่ที่เดิมต่อไป และแม้ว่าเจ้านายจะชื่นชมบ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ยังจะอยากได้มันต่อไปอีกเรื่อย ๆ

แล้วคุณล่ะ วันนี้ได้ให้ยอมรับหรือชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจแล้วหรือยัง

====

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Why Employees Need Both Recognition and Appreciation” โดย Mike Robbins จาก Harvard Business Review 12 พฤศจิกายน 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 


ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

เวลาทำงานร่วมกันก็ย่อมจะต้องมีการแสดงความคิดเห็น แล้วในทุกองค์กรก็มักจะมีคนที่เสนอความคิดเห็นที่มีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่องาน

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมี “คนเก่งจอมมั่น” ที่เชื่อว่าตัวเองถูกเสมอ แม้ว่าจะเคยนำสิ่งที่เขาเสนอไปปฏิบัติจริงแล้วไม่เวิร์คมาแล้วก็ตาม

====

นี่คือสถานการณ์ที่ต้องรับมือด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะกับหัวหน้า เพราะถ้าทำตามที่เขาแนะนำตลอดก็อาจส่งผลลบต่อทีมและงานในหลาย ๆ ด้าน แต่ถ้าไม่ทำตามคำแนะนำก็อาจทำให้คนนั้นรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองถูกทำลายจนอาจจะไม่เสนอไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะปวดหัวเวลาทำงานร่วมกับ “คนเก่งจอมมั่น” แต่ก็มีวิธีที่สามารถช่วยป้องกันปัญหาที่ชวนเหนื่อยใจลักษณะนี้ได้ และยังทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างและมีประสิทธิภาพตามมาได้อีก ด้วยวิธีต่อไปนี้
====

หาต้นตอของความเก่งและมั่นให้เจอ

คนเราจะเก่งและมีความมั่นใจจากหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่พบบ่อยนั้นเกิดจากความสำเร็จในการทำงานครั้งก่อน ๆ หลังจากที่เคยแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วทำให้ครั้งต่อ ๆ ไป เขาก็จะพยายามรักษาความสำเร็จเดิมเอาไว้ด้วยการแสดงออกว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องแน่นอน

สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือควบคุมบทสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น และปราศจากการโต้แย้งอย่างรุนแรง ลองพยายามดึงจังหวะ ดึงอารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ให้พุ่งสูงจนเกินไป

ถ้ามีคนน็อตหลุดขึ้นมาเพราะตกลงกันไม่ได้จริง ๆ ก็อาจต้องหาโอกาสประชุมแยกนอกรอบเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจ และปรับมุมมองให้เข้าใจกัน อย่างน้อยก็จะรักษาความมั่นใจของอีกฝ่ายเอาไว้ไม่ให้เขารู้สึกว่าตัวเองทำพลาดหรือหมดประโยชน์ต่อทีม
====

เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นบ้าง

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำคือการเปิดกว้างให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน นั่นคือการบอกทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละประเด็นอย่างตรงไปตรงมา

การให้คนในทีมมีส่วนร่วมและช่วยกันประเมินมุมมองของงานอย่างหลากหลายจะก่อให้เกิดความคิดที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ แล้วยังทำให้แต่ละคนมีความมั่นใจโดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาจนทำลายบรรยากาศและผลของการทำงานอีกด้วย
====

เสริมสร้างบรรยากาศให้คนอยากฟังและอยากแสดงความคิดเห็น

เมื่อต้องทำงานกับคนที่เก่งและมั่นมาก ๆ อาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลงจนไม่กล้านำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง

แนวทางแก้ไขปัญหานี้ คือ เมื่อต้องประชุม แสดงความคิดเห็น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเป็นผู้ฟังที่ดีและโทนเสียงในการพูด ทั้งสองอย่างนี้ต้องมาควบคู่กันจึงจะสามารถลดปัญหานี้ลงได้

เพราะทุกคนล้วนมีมุมมองเป็นของตนเอง และทุกมุมมองต่างมีความสำคัญ โทนเสียงเวลาแสดงความคิดเห็นมีผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง ว่าจะทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้มากแค่ไห

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คนอื่นจึงจะกล้าแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วจะไม่มีใครรู้สึกอายในความคิดเห็นของตนเอง

และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ท้ายที่สุดทุกคนจะกล้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จะเกิดความความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนการทำงานราบรื่นในท้ายที่สุด

ยังมีเทคนิครับมือกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกที่มักจะชอบวีนเหวี่ยงใส่คนอื่นด้วย อ่าน สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานขี้วีนอย่างไรให้ได้ผล คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงจาก How to Work with Someone Who Thinks They’re Always Right โดย Ron Carucci and Jarrod Shappell จาก Harvard Business Review 26 มิถุนายน 2019

การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลายมี Mindset และทักษะมากมายที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

Mindset 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

Mindset 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

คุณเคยเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลวไหม  ถ้าไม่เคย คุณและทีมของคุณอาจจะอยู่ห่างไกลจากการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะหัวใจของการสร้างนวัตกรรมใหม่ก็คือ…การไม่กลัวความล้มเหลว

       เพราะการไม่กลัวความล้มเหลวจะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือ การสร้างนวัตกรรม (Innovation) เพราะการสร้างนวัตกรรมคือทางออกของการทำงานในโลกที่ทุกอย่างผันผวน เปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนเช่นนี้

====

       คนส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป การแผ่ขยายพลังอำนาจของ Internet of Things(IoT) ที่ทุกอย่างในชีวิตสามารถเชื่อมโยงกันและส่งข้อมูลหากันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต

       ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากสร้างนวัตกรรม และอยากพัฒนานวัตกร (Innovator) ขึ้นในทีมหรือในองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที อาจจะเป็นเพราะว่าคุณยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือยังไม่นำทัศนคติทั้ง 3 ข้อในการสร้างนวัตกรรมไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง

====

ทัศนคติ 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร มีดังนี้

1.ทัศนคติแห่งการเติบโต (Growth Mindset)

“จงโฟกัสที่การเรียนรู้ (Learning) ไม่ใช่องค์ความรู้ (Knowledge)”

       คนทำงานยุคเก่าจะมุ่งเน้นว่า “ฉันรู้อะไรมาบ้าง” ซึ่งการมีแนวคิดเช่นนี้มักจะไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ การจะเกิดนวัตกรรมได้องค์กรจำเป็นจะต้องมี Growth Mindset หรือ ทัศนคติของการเรียนรู้และเติบโตซึ่งจะต่อยอดไปสู่การมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเติบโตในที่สุด

       วิธีการสำคัญที่จะช่วยปลูกฝัง Growth Mindset ก็คือการใช้คำถาม “สิ่งที่เพิ่งทำไป / เรื่องที่เพิ่งผ่านไป ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้าง” และ “ฉันจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปปรับใช้อย่างไรบ้าง”

       นอกจากนี้ให้คนในทีม Feedback กันเองเพื่อให้เกิดการขยายมุมมองที่กว้างขึ้น โดยเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนพูด Feedback กันเองภายใต้สองหัวข้อนี้ คือ คนนี้ทำอะไรได้ดีบ้าง และ คนนี้สามารถพัฒนาและปรับปรุงเรื่องอะไรเพื่อให้ดียิ่งขึ้นได้บ้าง

====

 

2.ทัศนคติที่เริ่มจากการเข้าใจคนอื่นก่อน (Outward Mindset)

“จงเริ่มต้นที่ความต้องการของผู้อื่นก่อนความต้องการของตัวเอง”

       หัวใจของนวัตกรรมอยู่ที่การคำนึงถึงผู้อื่น ซึ่งก็คือคนที่นวัตกรต้องการจะแก้ปัญหาให้นั่นเอง หากคนสร้างนวัตกรรมยังโฟกัสอยู่ที่ตัวเอง(ฉันรู้อะไร ฉันสามารถทำอะไรได้ ฉันอยากทำอะไร) นวัตกรรมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

       แนวทางปลูกฝัง Outward Mindset อยู่ที่การเข้าไปพูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เราจะสร้างนวัตกรรมนั้นขึ้นมาช่วยเหลือเขา หรือ เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา

       เพราะนวัตกรรมของเราจะไม่มีทางเป็นนวัตกรรมที่ดีได้เลยหากมันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ลองถามหรือค้นหาให้เจอว่าเขาต้องการอะไรบ้าง และกลับมาถามตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

 ====

 

3.ทัศนคติของการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง (Resilience Mindset)

“จงลุกขึ้นใหม่ทุกครั้งที่ล้มลงไป”

       ถ้าคนในทีมของคุณยังไม่สามารถเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลวของการทดลองทำบางสิ่งได้ ทีมของคุณก็ยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า นวัตกรรมที่ดี เพราะทีมที่กลัวความล้มเหลวจะไม่กล้าคิดและลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ทำอะไรที่นอกกรอบภายในเวลาที่รวดเร็วเพียงพอ

       การยินดีที่ยังไม่สำเร็จต้องมาคู่กับการลุกขึ้นใหม่อีกครั้งเสมอ นี่คือ Resilience Mindset หรือ ทัศนคติที่บอกว่าไม่ว่าเราจะพบเจอปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาดล้มเหลวกี่ครั้งแต่เราก็จะลุกขึ้นสู้ใหม่เสมอ

       หลังจากเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลว(สิ่งที่ทำยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าแต่เราฉลองให้กับการกล้าคิดกล้าลงมือทำสิ่งใหม่) แล้ว ให้คนในทีมพูดคุยกันว่าสิ่งที่เพิ่งผ่านไปนั้นมีจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดตรงไหน แล้วถ้าจะทำครั้งต่อไป(ลุกขึ้นสู้ใหม่) พวกเราจะปรับ เปลี่ยน หรือทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้เข้าใกล้ผลลัพธ์ในแบบที่เราต้องการบ้าง 

ยังมีวิธีปลูกฝังและฝึก Resilience Mindset ที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม อ่าน สองวิธีฝึกทักษะล้มแล้วลุกที่ทำได้จริง คลิกที่นี่

====

       จะเห็นว่านวัตกรรมที่ดีต้องมีรากฐานมาจากทัศนคติ หรือ Mindset ที่ถูกต้องเสียก่อน และ Mindset ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ก็ต้องเป็น Mindset ของนวัตกร (Innovator) ซึ่งประกอบไปด้วย มุ่งเน้นที่การเรียนรู้และเติบโต(Growth Mindset) มุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจผู้อื่นก่อน (Outward Mindset) และมุ่งเน้นที่การลุกขึ้นสู้ใหม่ไม่ว่าจะล้มลงไปกี่ครั้งก็ตาม (Resilience Mindset)

       ถ้ามีแนวคิดหรือทัศนคติที่ถูกต้อง การลงมือทำก็มักจะถูกต้องตามมา และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมในองค์กรที่หลายทีม หลายองค์กรทำผิดพลาดเพราะไปมุ่งเน้นที่การใช้เงิน ดึงดูดตัวบุคคล หรืออะไรที่เป็นเรื่องภายนอกแต่ไม่สนใจสิ่งที่อยู่ภายใน(หัว) ของคนที่ต้องสร้างนวัตกรรมเลย

====

หากต้องการสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นกับคนในทีมและในองค์กรของคุณ ขอแนะนำหลักสูตร Growth Mindset for Effective Work ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

เขียนโดย อ.เวย์  เวสารัช โทณผลิน 

Productivity Coach & Team Collaboration Facilitator 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลของผู้นำและการบริหารทีม 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม

3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม

ปัญหาในการประชุมสำหรับทีมของคุณคืออะไร?

มีคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งหัวหน้า คนพูดเยอะ และคนไม่ค่อยพูด (หรือไม่พูดเลย) ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้แหล่ะที่อาจสร้างปัญหาในห้องประชุมได้  

ประเด็นสำคัญสำคัญในการประชุมก็คือ ทุกคนที่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุม ควรจะมีบทบาทต่อหัวข้อที่ต้องการความคิดเห็นและการตัดสินใจ คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุมได้อย่างแท้จริงโดยที่ทุกคนรู้สึกพึงพอใจ ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกบังคับ ถูกครอบงำ หรือถูกเรียกเข้ามาให้เป็นตรายางรับรองการประชุมเฉย ๆ

====

‘Tsedal Neeley’  นักเขียนของ Harvard Business Review ออกแบบการประชุมโดยกำหนดว่าควรจะมีกฎ 3 ข้อสำหรับคน 3 แบบ เพื่อที่จะให้การตัดสินใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

1.กฎสำหรับหัวหน้าทีม

สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องท่องเอาไว้ก็คือ สร้างสมดุลในการประชุม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม คอยดูว่าแต่ละคนที่มีส่วนร่วมนั้น มีบทบาทมากไหน รับฟังกันหรือเปล่า และได้มีโอกาสพูดอย่างทั่วถึงและเหมาะสมหรือไม่ 

หากพบว่าใครพูดน้อยหรือไม่พูดเลย ก็ควรจะขอให้คนนั้นได้กล่าวอะไรสักหน่อย ถ้าเจอคนที่พูดไม่คล่องนักก็ต้องคอยช่วยเหลือ ช่วยเสริมประเด็น หรือซักถามให้เคลียร์ 

หน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คอยสรุปและจับใจความสิ่งที่สมาชิกในที่ประชุมพูดออกมา ถ้ามีอะไรที่ไม่ชัดเจนก็ต้องทำให้กระจ่างชัดที่สุดด้วย

บางครั้งการเป็นหัวหน้าที่พูดเยอะเกินไปหรือพูดอย่างไม่ระวังก็อาจทำให้ทีมพังได้ อ่าน ระวัง! คุณอาจเป็นหัวหน้าที่พูดจนทีมพัง  คลิกที่นี่ 

====

2.กฎสำหรับคนที่พูดคล่องหรือพูดเยอะ 

สิ่งที่ต้องจำเอาไว้ก็คือ อย่าครอบงำคนอื่นมาก ไม่งั้นอาจจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ชวนหมั่นไส้ได้  สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายไม่ว่าใครก็รู้เรื่อง อย่าเล่นศัพท์เทคนิคหรือสลับภาษาไปมาจนน่าเวียนหัว ควรลดจังหวะการพูดให้ช้าลงสักหน่อย ไม่งั้นยิ่งพูดจะยิ่งมัน จึงยิ่งดังและยิ่งเร็ว

ถ้าอยากให้เกิดบรรยากาศที่ดี อย่าเสนอตัวพูดไปหมดทุกเรื่อง ลองฝึกที่จะตั้งใจฟังคนอื่นพูดบ้าง และที่สำคัญ คอยถามคนอื่น ๆ ว่าเข้าใจและเคลียร์ในสิ่งที่คุณสื่อสารออกไปหรือไม่

====

3.กฎสำหรับคนที่พูดไม่เก่งหรือไม่พูด

สิ่งที่ควรจดจำก็คือ หาทางมีส่วนร่วม เพื่อให้การประชุมสมบูรณ์ คุณควรจะหาทางพูดหรือแสดงความคิดเห็นออกมาบ้าง ถ้าการประชุมนั้นเปิดโอกาสให้พูดแบบเวียนไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงคิวก็อย่าหลีกเลี่ยงหรือลุกหนีไปเข้าห้องน้ำ 

อย่าหลุดไปใช้ภาษาส่วนตัวหรือภาษาท้องถิ่น คอยหมั่นถามคนอื่นเวลาที่พูดเสร็จว่าเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารหรือไม่ เคล็ดลับอีกอย่างสำหรับการมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องมีทักษะการพูดที่ดีมากก็คือการฟังแล้วถามในกรณีที่ไม่เข้าใจ หรืออยากจะให้คนพูดอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่าง

เพียงทำตามกฎ 3 ข้อเท่านี้ก็จะทำให้การประชุมออกมาราบรื่น สร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน และผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับสมาชิกอย่างแน่นอน

เพื่อให้คุณและคนในทีมมีทักษะในการประชุม การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

=====

เรียบเรียงจาก “Global teams that work” โดย Tsedal Neeley จาก Harvard Business Review ตุลาคม 2015

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

ครั้งสุดท้ายที่ระเบิดลง คุณรู้สึกอย่างไร และรับมือกับมันอย่างไร?

แม้ผมจะมีช่วงเช้าที่แสนสดใส แต่ช่วงบ่ายกลับเป็นเหมือนหนังคนละม้วน  เพราะผมได้ระเบิดอารมณ์ใส่น้องที่ทำงาน!!

จากการส่งข้อความแจ้งเรื่องงานที่เรียบง่าย แต่ไม่ถึง 3 นาทีต่อจากนั้น ภาพตัดมาที่ผมกำลังตะโกนเสียงดังผ่านโทรศัพท์ว่า…

“จะเถียงพี่ทำไม #%$^&”

หัวใจผมเต้นแรงไม่เป็นจังหวะ สายตาของผมเริ่มพร่ามัว ปากและมือของผมสั่นระริก ถ้าอยู่ใกล้ ๆ อยากจะเอามือตบโต๊ะใส่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

====

แม้จะรู้สึกผิดที่คุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แต่อีกใจก็รู้สึกสะใจชะมัดที่ได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง จนกระทั่งน้องปลายสายถามผมว่า…

“อันนี้คือพี่ใช่ไหม?”

คำถามนั้นทำให้ผมนิ่งไปพักใหญ่ ๆ แล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อดึงสติให้กลับมา

นี่ไม่ใช่ตัวตนของผม!!

แต่ความพลุ่งพล่านที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดมาจากการที่ ‘ความต้องการ’ และ ‘ความกลัว’ ของผม ถูกกระตุ้น ด้วยเสียงกระซิบเบา ๆ

เสียงกระซิบที่ดังในหัวว่า…

“มึงจะยอมให้เด็กมาข้ามหน้าข้ามตามึงไม่ได้”

“เด็กนี่มันเก่งกว่ามึงอีก มึงสู้น้องมันไม่ได้”

“น้องมันทำงานดีกว่า และกำลังทำให้มึงเป็นพวกดีแต่พูด”

และเสียงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผมก็ฟังไม่ทันเหมือนกัน

====

เสียงเหล่านี้ชวนให้ผมตีความว่าข้อความทางแชทและน้ำเสียงที่คุยกัน คือน้องคนนี้กำลังกวนประสาทและท้าทายผม

ซึ่งในเสี้ยววินาที ผมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า…

“การระเบิดอารมณ์ใส่น้อง คือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงบทเรียนที่พึ่งได้เรียนในคลาส Communication Secrets

ปัญหาอย่างหนึ่งในการสื่อสารนั่นก็คือ… ‘เจตนาหรือความกลัวลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูด (Subtext)’

ซึ่งเจตนาที่ซ่อนอยู่ในการระเบิดอารมณ์ครั้งนี้ของผมคือ… “การแสดงอำนาจ”

เพราะเสียงกระซิบที่ผมได้ยินมันกำลังทำให้ผมเห็นว่า “ผมกำลังไม่ปลอดภัย” ถ้ายังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ความสำคัญของผมในทีมจะถูกลดทอนลงและผมจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้อีกต่อไป ซึ่งผมยอมไม่ได้!!

====

พอรู้ว่าความกลัวลึก ๆ นี้กำลังบงการชีวิต ผมจึงเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใหม่

เพราะ “การระเบิดอารมณ์” แค่ทำให้ผมรู้สึกมีอำนาจ แต่มันไม่ได้ช่วยให้ทีมของเราเติบโตไปไหนเลย

ผมค่อย ๆ สำรวจเสียงกระซิบภายในใจ ปรับจังหวะของลมหายใจให้ช้าและผ่อนคลาย เปลี่ยนท่าทางใหม่ ให้ผ่อนคลายและมีรอยยิ้มมากขึ้น

ผมเปิดใจคุยกับน้อง เล่าให้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจผม และขอโทษที่ระเบิดอารมณ์ออกไปแบบนั้น

ท้ายที่สุด เราก็ได้ข้อสรุปกันว่า…

การสื่อสารผ่านข้อความ ทำให้เกิดการตีความที่ผิดเพี้ยน

ดังนั้นต่อไปในกรณีที่เป็นเนื้องานที่ต้องพูดคุยกัน เราจะใช้การโทรหากัน มากกว่าการพิมพ์

และหากคุยแล้วอารมณ์เริ่มพลุ่งพล่านแบบนี้อีก ผมจะให้น้องส่งสัญญาณกับผมว่า… “เราหายใจกันเถอะ”

เพื่อให้ผมกลับมามีสติ และตอบสนองได้ดีขึ้น

====

วิธีรับมือเวลาที่อารมณ์ขึ้น

หากคุณเคยหลุดอารมณ์เสียใส่ทีม หรือเพื่อนร่วมงานของคุณ และคุณก็รู้สึกเสียใจที่ทำแบบนั้นลงไป ผมแนะนำให้คุณได้ฝึก 3 ขั้นตอนดังนี้

1.ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง

อารมณ์เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต้องรู้สึกผิดเวลาอารมณ์ขึ้น เราแค่ต้องฝึกรู้เท่าทันว่าตอนนี้ เรากำลังโกรธ เรากำลังเสียใจ เรากำลังอึดอัดอยู่ นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

====

2.ฝึกสำรวจใจตัวเอง

อารมณ์ที่เกิดขึ้น คือผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดความกลัวบางอย่างภายในใจ หรืออาจเป็นการที่เรารู้สึกว่าความต้องการบางอย่างที่สำคัญของเรากำลังถูกคุกคาม

หากเรื่องอะไรมากระทบใจเราบ่อย ๆ ลองสำรวจใจของเราว่าเรากลัวอะไร หรือเราต้องการอะไรกันแน่

และเมื่อเรารู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเองแล้ว มันจะทำให้เรากลับมาพิจารณาหาทางเลือกอื่น ๆ ได้มากขึ้น

เพราะบางครั้ง เราก็ไม่ได้โกรธเพราะอยากโกรธ แต่เราโกรธ เพราะเราต้องการให้ผลงานออกมาดี ซึ่งการจะให้ผลงานออกมาดีนั้น  ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา โดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจคนอื่น

====

3.ฝึกเริ่มใหม่เสมอ

พลาดแล้วก็เริ่มใหม่ ระเบิดแล้วก็ขอโทษแล้วก็ปรับตัว มันอาจจะยากที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนไป แต่หากเราเริ่มใหม่ทุกครั้งเวลาที่พลาด ไม่หมดความพยายามต่อตัวเองที่จะฝึกบริหารและรับมืออารมณ์ให้ดีขึ้น

เมื่อเรารู้ตัวอีกทีหลังจากที่ทำต่อเนื่องไปได้สักระยะ คุณจะประหลาดใจว่าทำไมเพื่อนร่วมงานถึงรู้สึกสนิท เคารพ และอยากเข้าใกล้คุณมากกว่าแต่ก่อน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

เป็นกำลังใจในการฝึกฝนนะครับ

บทความโดย

อ.กิตติ ไตรรัตน์

Self-Leadership Facilitator

ถ้าต้องการฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อให้การทำงานและการสร้างทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

.

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้คุณได้คือ FLOW Model อ่าน ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด

‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด

คุณไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้นะครับ แล้วปล่อยบทความนี้ผ่านไป แต่ผมคิดว่าคุณอาจจะเสียใจในภายหลัง

ผมมีเรื่องของ ‘แดเนียล คานีแมน’ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอลเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ. 2002 มาเล่าให้ฟัง

คานีแมนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics) และการตัดสินใจ (Decision Making) เจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง Thinking Fast and Slow ที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน

===

คานีแมนบอกเราว่า “เมื่อมีเรื่องให้ตัดสินใจ สมองของคนเรามีการทำงาน 2 ระบบ ระบบแรก เป็นระบบที่รวดเร็ว ตอบสนองตามสัญชาติญานและอารมณ์ ส่วนระบบที่สองเป็นระบบที่ช้า ตอบสนองโดยใช้เหตุผล”

ระบบแรกใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่สองมาก ซึ่งปกติแล้วมนุษย์เรามักจะใช้ระบบแรกในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ฟังเผินๆ ก็น่าจะดีที่เราใช้พลังงานน้อยเพราะสมองเป็นอวัยวะที่กินพลังงานสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของมัน แต่ข้อเสียของการใช้ระบบแรกในการคิดก็คือมันมักทำให้เราตัดสินใจผิด!

===

การตัดสินใจผิดเกิดจากการที่เราทำตามอารมณ์ (การใช้ระบบแรก) โดยขาดเหตุผล (การใช้ระบบที่สอง) ปรากฏการณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘อคติทางความคิด’ (Cognitive Bias) นั่นเอง

อคติทางความคิดเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2020 นี้เป็นต้นมา จาก Influencer สายพัฒนาตัวเองหลายท่าน วันนี้ผมจะยกตัวอย่างให้ดูสัก 2 อคติทางความคิดเพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้น

===

เรื่องแรก ลองนึกภาพตัวคุณซื้อตั๋วดูฟุตบอลคู่หยุดโลก (จริงๆ โลกก็ยังหมุนแหละ แต่ผมพูดให้ดูยิ่งใหญ่) Manchester United ปะทะ Liverpool ที่จะแข่งที่ประเทศไทยกลางปี 2565 ที่จะถึงนี้

ปรากฎว่าในวันที่ฟุตบอลคู่นี้แข่งขันคุณเกิดท้องเสียอย่างหนักในตอนเช้า ในใจลึก ๆ คุณอยากนอนอยู่บ้าน หรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือด้วยซ้ำ แต่กลับเกิดความคิดในหัวของคุณว่า ‘เสียค่าตั๋วไปแล้วราคาแพงมากด้วย’ คุณเลยพยายามที่จะลากสังขารตัวเองไปให้ได้ แม้จะต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปด้วยคุณก็ยอม

ถ้าคุณตัดสินใจจะเลือกทางนี้ด้วยเหตุผลนี้ นั่นแปลว่าคุณกำลังเกิดอคติทางความคิดแล้วครับ

===

อคติทางความคิดรูปแบบนี้คือ Sunk-Cost Fallacy ครับ หรือปรากฎการณ์ที่เราเอาต้นทุนจมซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกคืนไม่ได้แล้วมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าคุณสามารถเอาบัตรไปคืนผู้จัดได้โดยบอกว่าคุณท้องเสีย ขอเงินคืนเต็มจำนวน หรือบางส่วนได้ แบบนี้จะไม่เรียกต้นทุนจม แต่ถ้าคุณทำเช่นนั้นไม่ได้ค่าตั๋วนี้ก็คือต้นทุนจมครับ

ในทางกลับกันถ้าอาการของคุณไม่ได้รุนแรงมากนัก แล้วคุณตัดสินใจโดยมองว่าการไปดูจะได้ความสุขและสนุกมากกว่าการนอนเฉยๆ แบบนี้เป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นอยู่บ้าง หรือสุดท้ายแล้วคุณป่วยหนักจริงๆ แล้วคุณเลือกที่จะไม่ไปโดยขายตั๋วให้คนที่อยากดู (ผมคิดว่ามีเยอะ) ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยครับ

===

Sunk-Cost Fallacy เกิดขึ้นได้แม้ในเรื่องของความสัมพันธ์ สามี-ภรรยาบางคู่อยู่กันมานาน คบกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี มีลูกด้วยกัน พอถึงวันนึงความรู้สึกที่มีต่อกันไม่เหมือนเดิมแต่ก็ไม่ยอมพูดคุยกันเพื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ด้วยกันต่อไป หรือจะแยกทางจากกัน เพราะต่างคิดว่าคบกันมานานขนาดนี้แล้วก็ควรจะคบต่อไป

ถ้าคิดแบบนี้เรียกว่าเอาต้นทุนจมมาคิด (การคบกันมานานในอดีต) หรือ เจอ Sunk-Cost Fallacy อีกแล้วครับ

แต่ถ้าพิจารณาว่าจะอยู่ด้วยกัน เพราะมองว่าการแยกกันจะเกิดผลเสียต่อลูก ต่อตนเอง ตลอดจนทั้งคู่พูดคุยกันว่าสามารถปรับตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ในอนาคต โดยต่อยอดจากการที่เคยรู้จักกันในอดีตและปัจจุบัน แบบนี้เรียกว่าตัดสินใจด้วยเหตุผล ไม่ถือว่าติดกับดัก Sunk-Cost Fallacy

===

สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทความนี้ทั้งหมด 5 เรื่อง ดังนี้

  1. สมองมีการทำงานสองระบบ แบบเร็ว และแบบช้า
  1. เราสามารถเกิดอคติทางความคิดได้ง่ายมาก เมื่อใช้ระบบแบบเร็วมาใช้ในการตัดสินใจ
  1. รู้จัก Sunk-Cost Fallacy หรือต้นทุนจมที่เรามักเอามาใช้ในการตัดสินใจด้วย
  1. อคติทางความคิดอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้จากการตัดสินใจที่เหมือนกัน (เช่น ไปดูฟุตบอลแม้ป่วย) ขึ้นกับเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องนั้นด้วย (ถ้าเอาต้นทุนจมมาเป็นปัจจัยคุณกำลังติดอคติทางความคิดแล้ว)
  1. ขอให้กลับไปพิจารณาบทความนี้ในช่วงต้นอีกครั้ง ผมบอกว่าจะแนะนำให้รู้จักอคติทางความคิด 2 อย่างใช่ไหมครับ สังเกตเห็นไหมครับว่าใกล้จะจบบทความอยู่แล้วแต่ผมพูดถึงแค่ Sunk-Cost Fallacy เท่านั้นเอง

ที่จริง ผมแสดงให้คุณเห็นสิ่งที่เรียกว่า FOMO หรือ Fear of Missing Out ซึ่งเป็นความกลัวที่จะพลาดอะไรบางอย่างตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของบทความแล้ว (ทั้งทั้งหัวข้อ และประโยคแรกที่ผมบอกคุณอาจจะเสียใจ)

ไม่แน่ใจว่าที่คุณอ่านบทความถึงตรงนี้ เป็นเพราะหัวข้อ หรือการเกริ่นนำต้นบทความมากแค่ไหน แต่คุณน่าจะได้เห็นการทำงานของอคติทางความคิดที่ชื่อ FOMO กันไปบ้างแล้ว…แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะครับ

ถ้าอยากตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น อ่าน วิธีสร้างทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อนำไปปรับใช้กับโจทย์ของคุณ คลิกที่นี่

===

การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่ 

บทความโดย

อ.ป้อบ มาติก ตั้งตรงจิตร, CFA, FRM

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการโน้มน้าวและการเจรจาต่อรอง

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save