6 วิธีสร้างความสัมพันธ์ในทีมให้แข็งแกร่ง

6 วิธีสร้างความสัมพันธ์ในทีมให้แข็งแกร่ง

ลองจินตนาการว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนในทีมคือสะพานเชือกที่มีปลายข้างหนึ่งอยู่ที่คุณและปลายอีกข้างผูกยึดกับอีกคน

จินตนาการต่อไปว่าคุณมี ‘เรื่องหนักอึ้ง(คำวิพากษ์ วิจารณ์ คำตำหนิ เรื่องลบ ๆ ทั้งหลาย)’ ที่ต้องการสื่อสารกับคนนั้น ถ้าสะพานเชือกระหว่างคุณกับเขาแข็งแรงมันจะลำเลียงสารหนักอึ้งไปถึงอีกฝ่ายได้ดีกว่าสะพานที่อ่อนแอและขาดง่ายอย่างแน่นอน

หลักการสะพานความสัมพันธ์คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมเราจึงสื่อสารเรื่องเปราะบางกับบางคนได้ดีกว่าอีกคน
====

ถ้าอยากให้การสื่อสารภายในทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมขอเสนอให้คุณพัฒนาสะพานความสัมพันธ์ให้แข็งแรงเอาไว้ด้วยวิธีการที่สามารถนำไปประยุกต์ได้ไม่ยาก 6 วิธี ดังนี้ 

1. เข้าใจผู้อื่นก่อนเสมอ

มนุษย์ทุกคนปรารถนาความเข้าใจไม่ต่างจากอ็อกซิเจนสำหรับหายใจ แต่การเรียกร้องให้อีกฝ่ายมาทำความเข้าใจเราก่อนเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่ ก่อนจะสื่อสารกับใครครั้งต่อไปลองถามตัวเองว่าคุณตั้งใจรับฟังเขาดีพอหรือยัง และรู้หรือไม่ว่าลึก ๆ แล้วเขาต้องการอะไรกันแน่
====

2. ใส่ใจเรื่องเล็กน้อย

ลองจดจำเรื่องเล็ก ๆ เกี่ยวกับเขาด้วยการแอบจดใส่สมุดบันทึก โดยเฉพาะวันสำคัญของเขา สิ่งที่เขาให้คุณค่าเป็นพิเศษ สิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบ แล้วแสดงมันออกมาด้วยการให้ของขวัญ ทำสิ่งพิเศษแก่เขา ตลอดจนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของเขาด้วยความจริงใจ
====

3. รักษาสัญญา

ไม่มีอะไรจะทำลายสะพานความสัมพันธ์ได้มากเท่ากับการผิดสัญญาที่คุณให้ไว้กับอีกฝ่าย จดจำสัญญาเหล่านั้นให้ขึ้นใจแล้วรักษามันยิ่งชีวิตของคุณเอง จำไว้ว่าอย่าให้สัญญาในสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้โดยเด็ดขาด
====

4. ระบุความคาดหวังของคุณให้ชัดเจนที่สุด

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์คือการที่คุณมีความคาดหวังบางอย่างต่ออีกฝ่ายแล้วไม่ได้สื่อสารมันออกมา เมื่อความคาดหวังเหล่านั้นถูกเก็บสะสมเอาไว้ มันจะระเบิดออกมาจนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตได้ หนทางที่ดีคือการสื่อสารความคาดหวังนั้นออกมาให้เขาได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา
====

5. มีความซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นคนที่ไว้วางใจได้

มีความสัมพันธ์กับทุกคนในทีมด้วยหลักการซื่อสัตย์ จริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดถึงคนอื่นด้วยหลักการที่ระลึกไว้เสมอว่าเขาสามารถมานั่งฟังเรื่องนี้ได้เสมอแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นก็ตาม
====

6. กล่าวขอโทษอย่างจริงใจเมื่อทำผิดพลาด

เพราะเราคือมนุษย์ธรรมดาที่อาจทำบางเรื่องผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นละเลยการทำความเข้าใจ หลงลืมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอีกฝ่าย หรือมีเหตุให้ต้องผิดสัญญา เมื่อรู้ตัวว่าทำผิดพลาดให้รีบกล่าวขอโทษให้เร็วที่สุดภายใต้พื้นฐานความจริงใจในการที่จะแก้ไขความผิดพลาดนั้นจริง ๆ

ลองนำหลักการทั้ง 6 ไปประยุกต์ใช้กับความสัมพันธ์ภายในทีมของคุณ แล้วจะพบว่าสะพานความสัมพันธ์คือหัวใจในการสื่อสารระหว่างกันภายในทีมอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เกิดปัญหาหรือมีความขัดแย้งจึงเป็นโอกาสที่คุณจะได้ทบทวนความแข็งแรงของสะพานเชือกเส้นนั้นแล้วล่ะครับ
====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์คและวัฒนธรรมองค์กร (Teamwork & Culture Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

สร้างแรงจูงใจให้ทีมด้วยสามหลักการสุดคลาสสิค

สร้างแรงจูงใจให้ทีมด้วยสามหลักการสุดคลาสสิค

หนึ่งในปัญหาที่ทุกคนต่างเคยพบเผชิญคือ การหมดพลัง หมดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหารุมเร้า คุยกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง ขาด passion ฯลฯ ต่างก็ทำให้เราและคนในทีมหมดพลังได้ทั้งนั้น

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งในทีมที่ยังมีพลังเพียงพอที่จะทำงาน ลองกระตุ้นตัวเองเพิ่มขึ้นอีกสักนิดที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่คนในทีมดูไหมครับ เพราะแรงจูงใจก็ไม่ต่างอะไรกับเปลวไฟบนไส้เทียน นั่นคือยิ่งนำไปจุดต่อที่ไหนความสว่างไสวก็แผ่กระจายเป็นวงกว้าง

ในทางตรงกันข้ามถ้าคนรอบตัวของคุณทยอยหมดแรงจูงใจทีละคน สองคน อีกไม่นานคุณก็จะถูกความมืดมิดกลืนกินไปด้วยอย่างแน่นอน
===

ปราชญ์ยุคกรีกชื่อดังอย่าง ‘อริสโตเติล’ ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้คนในสังคมดี เขาจึงคิดค้นโมเดลในการเป็นผู้นำทีมที่จะสร้างแรงจูงใจให้แก่ทุกคนในทีมเอาไว้(บ้างก็ว่าอริสโตเติลคิดค้นขึ้นมาเพื่อการสื่อสารเป็นหลัก) โดยเรียกว่าหลักการ Etos, Pathos และ Logos

หลักการนี้จะให้ความสำคัญที่คุณลักษณะส่วนตัวของผู้ที่จะสร้างแรงจูงใจมากกว่าเทคนิคหรือวิธีการภายนอก ภายใต้แนวคิดที่ว่าการเป็นแบบอย่างและมีแรงจูงใจจากภายในอย่างแท้จริงสำคัญที่สุด รองลงมาคือการสร้างความสัมพันธ์ผ่านการมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่น สุดท้ายคือการใช้หลักการและเหตุผลเพื่อสื่อสารกับความคิดของคนในทีม
====

Etos

คือ คุณลักษณะ คุณสมบัติ และจริยธรรมที่แท้จริงภายในตัวเรา ซึ่งรวมถึงความน่าเชื่อถือของเรา มีทักษะ ความสามารถ และความแน่นอนที่คนอื่นไว้วางใจได้ ซึ่งเกิดจากการที่เราสามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่ตัวเองได้นั่นเอง

แนวทางประยุกต์ใช้หลักการ Etos

สร้างกฎ กติกา ข้อตกลงส่วนตัวขึ้นมาแล้วรับผิดชอบต่อกฎ กติกา ข้อตกลงนั้น มุ่งมั่นรับผิดชอบหน้าที่ทุกด้านของตัวเองอย่างมีวินัย ถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องมากพอ คุณจะไว้วางใจตัวเองและมีแรงจูงใจภายในอย่างแท้จริง
====

Pathos

คือ การรู้สึกร่วม การมี Empathy กับผู้อื่น มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง หลักการนี้จะทำให้คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่นนั่นเอง

แนวทางประยุกต์ใช้หลักการ Pathos

บริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง โดยการหมั่นบันทึกความรู้สึกตัวเองเรื่อย ๆ ระหว่างวัน จากนั้นฝึกการฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นโดยการเดาความรู้สึกของเขาหลังจากรับฟังเรื่องราวของเขาแล้ว
====

Logos

คือ การใช้ตรรกะ เหตุผล หลักการ ผู้นำหลายคนติดอยู่ที่เพียงหลักการนี้ซึ่งเป็นหลักการวงนอกสุด เพราะมนุษย์ล้วนทำหรือไม่ทำอะไรด้วยความรู้สึกลึก ๆ ไม่ใช่เหตุผล การให้แต่เหตุผลแก่คนในทีมจึงไม่สามารถจะจูงใจให้เขามีพลังในการทำงานขึ้นมาได้

แนวทางประยุกต์ใช้หลักการ Logos

หมั่นศึกษา หาความรู้ใส่ตัวเอง ทั้งเรื่องงานและเรื่องการทำงานเป็นทีมภาวะผู้นำ จากนั้นให้ฝึกสรุปความสิ่งที่ได้อ่าน ได้เรียนมาให้เข้าใจง่ายเพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดสื่อสารให้คนในทีมของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายคุณคงเห็นภาพแล้วว่า ตัวตนที่แท้จริงของผู้นำทีมอย่างคุณคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ต่างจากรากของต้นไม้ใหญ่ การโฟกัสไปที่เทคนิค วิธีการเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจการเปลี่ยนที่ตัวตนของคุณ

ก็เหมือนต้องการผลหรือดอกโดยไม่ได้ให้อาหารรากของต้นไม้ ท้ายที่สุดผลหรือดอกที่คุณเก็บเกี่ยวก็จะไม่แห้งเหี่ยวไปและไม่งอกงามขึ้นมาอีกตลอดกาล

====
เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค (Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

6 เทคนิคเพิ่มแรงจูงใจให้ทีมของคุณ

6 เทคนิคเพิ่มแรงจูงใจให้ทีมของคุณ

การให้รางวัลไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ ตราบใดที่คุณไม่ได้มองคนในทีมของคุณเป็นตัวอะไรสักอย่างที่ต้องเอาอาหารไปผูกเชือกห้อยไว้ที่ปลายไม้ยาว ๆ แล้วหลอกล่อให้พวกเขาเดินไปตามทางที่คุณกำหนด

ใช่ครับ คนในทีมคือสหายผู้ร่วมเดินทางเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับคุณ และสิ่งสำคัญที่คุณควรตระหนักไว้ก็คือพวกเขาอยากได้รางวัลเพื่อเพิ่มพูนแรงจูงใจเช่นเดียวกับคุณนี่แหล่ะ
====

พูดถึง ‘รางวัลเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ’ แล้ว มีเรื่องหนึ่งที่คุณควรรู้เอาไว้ก็คือ ให้ระวังแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic motivation) ซึ่งเกิดจากการได้รางวัลที่เป็นปัจจัยภายนอกที่คนอื่นหรือสังคมเป็นผู้กำหนด เช่น การให้เงินเพิ่ม การได้โบนัส การให้คำชม

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าการมุ่งเน้นที่แรงจูงใจภายนอกเหล่านั้นจะผลักดันให้คนทำงานแบบตัวใครตัวมัน แก่งแย่งแข่งขันกัน และที่น่ากลัวที่สุดคือการนำไปสู่การคดโกงได้เลยทีเดียว(Kohn, Punished by Reward)

การให้รางวัลเพื่อเพิ่มแรงจูงใจที่สร้างสรรค์กว่าและมีประสิทธิภาพในระยะยาวและยั่งยืนกว่าคือการเพิ่มแรงจูงใจภายใน (Intrinsic motivation)

ซึ่งเกิดจากการให้รางวัลที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่คนคนนั้นให้คุณค่า มีความหมายในชีวิตของเขา เป็นคุณค่าที่พวกเขากำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง เช่น อิสระในการทำงาน การย้ำเตือนว่าสิ่งที่เขาทำช่วยเหลือผู้คนได้ ฯลฯ

====

มีเทคนิคในการให้รางวัลเพื่อเพิ่ม Intrinsic motivation ที่ควรรู้ทั้งหมด 6 ประการ สิ่งสำคัญคือคุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ กึ๋น และความใจเย็นสักเล็กน้อยเพื่อรอให้ดอกผลที่หว่านผลิบานออกมาให้คุณได้ชื่นชม

1. ห้ามสัญญาเรื่องการให้รางวัล

หลักการคือทำให้มันเป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์ เพราะถ้าคุณสัญญาหรือประกาศไปว่าจะมีรางวัลชิ้นนี้ ๆ มอบให้คนที่ทำสิ่งนี้ ๆ จะทำให้เกิดความคาดหวังและคนในทีมคุณจะโฟกัสไปที่ตัวรางวัลมากกว่าการทำงานทันที
====

2. หากจำเป็นต้องประกาศให้คนรู้ ทำให้ ‘มูลค่า’ ของรางวัลน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเพิ่ม ‘คุณค่า’ ของมันแทน

อย่างที่บอกไปว่ารางวัลสำหรับแรงจูงใจภายในต้องมีคุณค่า ไม่ใช่มูลค่า ลืมเรื่องเงิน 3,000 บาท หรือ ไอโฟนรุ่นล่าสุดไปเลย ลองเปลี่ยนเป็นการ์ดชื่นชมจากหัวหน้า ลูกค้า และคนในทีม หรือ การให้อสระในการทำงานแก่เขาดูนะครับ
====

3. ให้รางวัลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแล้วจบ หรือต้องรอนานแบบเดือนละครั้งหรือสามเดือนครั้ง

ทำให้การมอบรางวัล การให้รางวัลเป็นเรื่องที่สนุก เรื่องที่มีความสุขเรื่อย ๆ และบ่อย ๆ ดีกว่า เพราะคนในทีมของคุณจะรู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับการเซอร์ไพรซ์และเรื่องประทับใจเล็ก ๆ แต่เกิดถี่ ๆ เหล่านั้น
====

4. ให้รางวัลอย่างเปิดเผย

เรื่องดีดีควรได้รับการเปิดเผยให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อทำให้คนอื่นในทีมมีแรงบันดาลใจและอยากที่จะทำเช่นนั้นได้บ้าง และเมื่อเรากำหนดว่าจะให้รางวัลสม่ำเสมออยู่แล้ว คนอื่นในทีมก็ย่อมมีความหวังได้ง่ายขึ้นว่าจะได้รับรางวัลเช่นนั้นบ้าง
====

5. ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ดี ไม่ใช่ผลงานที่ดี

นี่คือหลักการที่สำคัญที่สุดในการทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดี ทำให้คนมุ่งเน้นไปที่การกระทำมากกว่าผลลัพธ์ ลดการคดโกง การแก่งแย่งแข่งขัน และช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อื่น ๆ มากมาย

====

6. ให้รางวัลกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ลูกน้อง

รางวัลที่สร้างแรงจูงใจภายในควรมาจากคนในระดับเดียวกัน เพื่อลดการเกิดปัญหาลูกรัก ลูกชังภายในทีม และช่วยสร้างวัฒนธรรมการให้รางวัลกันและกันในทีมด้วย
====

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถ้าคุณเป็นหัวหน้าผมขอแสดงความยืนดีด้วย เพราะคุณสามารถลองกระตุ้นคนในทีมให้ร่วมกันค้นหาคุณค่าภายในของแต่ละคน คุณค่าร่วมของคนในทีม ร่วมกันคิดรางวัลที่สอดคล้องกับคุณค่าเหล่านั้นโดยคิดออกมาให้มากที่สุด

ระบุพฤติกรรมที่พึงประสงค์และผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการมอบรางวัลภายในทีมของคุณขึ้นมา

แต่ถ้าคุณไม่ใช่หัวหน้าทีมก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณสามารถมีส่วนในการสร้างสรรค์และผลักดันวัฒนธรรมนี้เช่นกัน

ลองหาแนวร่วมอย่างน้อยหนึ่งคนแล้วทำกันเองแค่สองคนก่อน จากนั้นค่อย ๆ เชิญชวนคนอื่นให้ทำตามทีละคน สองคน รู้ตัวอีกทีทีมของคุณก็มีวัฒนธรรมการสร้างแรงจูงใจภายในเกิดขึ้นแล้วล่ะ
====


เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

4 แนวทางทำทีมขนาดเล็กให้สำเร็จขนาดใหญ่

4 แนวทางทำทีมขนาดเล็กให้สำเร็จขนาดใหญ่

ในยุคที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้เช่นนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้นำทางธุรกิจหลายท่านน่าจะตระหนักถึงพลังของทีมขนาดเล็ก(Small Team) กันพอสมควรแล้วว่าทีมแบบนี้เหมาะกับยุคสมัยที่มีลักษณะดังกล่าวขนาดไหน

 

เพราะมีเพียงทีมขนาดเล็ก( 4 – 8 คนโดยประมาณ) เท่านั้นที่จะปรับตัว เปลี่ยนแปลง สร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง และผุดไอเดียใหม่ ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมและแก้ปัญหาได้อย่างแตกต่าง
====


หลายคนรับรู้ถึงพลังของทีมขนาดเล็ก แต่คำถามที่เกิดขึ้นในใจคือเราควรโฟกัสไปที่การพัฒนาเรื่องอะไรบ้างเพื่อทำให้ทีมขนาดเล็กสามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีขนาดใหญ่ได้

จากการศึกษาและร่วมงานกับทีมขนาดเล็กใหญ่มามากมาย ผมได้เรียนรู้ว่ามีอยู่ 4 ประเด็นที่หัวหน้าและคนในทีมจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีมขนาดเล็กทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
====


1. การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

การสื่อสารคือกุญแจของความสำเร็จในทุกธุรกิจ และจำเป็นต่อการทำงานเป็นทีมทุกขนาด แต่การสื่อสารจะสำคัญมากขึ้นสำหรับทีมขนาดเล็กที่มีคนในทีมไม่ถึงสิบและต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

การสื่อสารจะช่วยเพิ่มความเข้าใจ เพิ่มความไว้วางใจ เพราะมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคนในทีมจะไม่ต้องตรวจเช็คว่าคนในทีมทำงานหรือเปล่า หรือทำได้ดีไหมบ่อยจนเกินไป และเมื่อทุกคนโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้าตัวเองก็ช่วยให้งานเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
====


2. สร้างวัฒนธรรมบริษัทหรือทีมให้เป็นบริษัทหรือทีมที่สร้างแรงบันดาลใจ

ความกระตือรือร้น พลังใจ และความมุ่งมั่นคือองค์ประกอบที่สำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างทีมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ โดยการทำให้ทุกคนในทีมรับรู้ถึงเหตุผล (Why) ในการทำงานนั้น

เพื่อความสำเร็จที่มากขึ้น คุณควรร่วมกันกำหนด Why ที่สอดคล้องกับ Why ในการมาทำงานนี้ของแต่ละคนโดยการหา ‘จุดร่วม’ ให้เจอ

สิ่งสำคัญที่สร้างความแตกต่างคือการที่ผู้นำมี Mindset และลงมือทำทุกอย่างสอดคล้องกับ Why นั้นอย่างไม่ขัดแย้งในทุกกิจกรรมที่ทำ
เมื่อทุกคนในทีมตระหนักถึง Why ในการทำงานเป็นประจำ ทีมจะมีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น
====

3. ลงทุนกับทีมของคุณเสมอ

ไม่สำคัญว่าคนในทีมจะมีความสามารถมากขนาดไหน ถ้าคุณคือหัวหน้าทีมคุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณกำลังส่งเสริมการเติบโตและการเรียนรู้ของทุกคนในทีม ทั้งทักษะที่เกี่ยวกับงานและทักษะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

คุณอาจจะกำหนดวันฝึกอบรมทีมประจำเดือน (หรือประจำสัปดาห์ไปเลยก็ได้) สร้างพื้นที่ให้คนในทีมมาแบ่งปันความรู้แก่กัน หาคนมาช่วยเทรนคนในทีม และมีสวัสดิการสมัครเรียนคอร์สทั้งออฟไลน์และออนไลน์อย่างสม่ำเสมอด้วย

====

4. ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด

การเป็นทีมขนาดเล็กไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำงานทั้งหมดด้วยตัวเอง จงทบทวนว่าทีมของคุณมีและไม่มีทรัพยากรใดบ้าง โดยลิสต์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

จากนั้นก็ติดต่อ freelancer ที่มีวินัยและมีความสามารถสูงที่จะมาช่วยให้โปรเจคนั้นสำเร็จลุล่วง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกราฟิกสำหรับแคมเปญที่กำลังจะมาถึงหรืองานไอทีภายใน จำไว้ว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านที่ทีมของคุณไม่ถนัดจะช่วยให้ทีมของคุณบรรลุศักยภาพอย่างแท้จริง 

สุดท้ายไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าทีมหรือสมาชิกในทีม คุณก็คือส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทีมขนาดเล็กกลายเป็น ‘แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์’ ได้ ขอเพียงแค่อย่าลืมโฟกัส 4 เรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนฟอร์มทีมและมุ่งเน้นทั้งสี่เรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดการเดินทางของทีมของคุณ

====

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

พลังของทีมขนาดเล็ก ตอน…หลักการที่ใช้ได้ผล

หลักการที่ใช้ได้ผลในการสร้างทีมขนาดเล็ก

ทีมขนาดเล็กถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทีมขนาดเล็กเหมาะกับธุรกิจในยุคปัจจุบันและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เพราะโลกธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกขณะ

 

ทีมทำงานที่เหมาะสมกับยุคสมัยจึงต้องรวดเร็ว ตื่นตัวพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในทีมขนาดเล็ก (Small Team)
====


แล้วทีมขนาดเล็กต้องมีกี่คนล่ะ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amezon.com บอกว่าทีมที่เหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่ควรจะมีคนในทีมทั้งหมดที่สามารถกินพิซซ่าสองถาดได้แบบพอดี ๆ

 

นั่นหมายความว่าถ้าเราคิดจากพิซซ่าทั้งหมด 16 ชิ้น (ถาดละ 8 ชิ้น) ทีมขนาดเล็กควรจะมีแปดคน ถ้ากินคนละสองชิ้นซึ่งน่าจะเป็นปริมาณสำหรับคนทั่วไป

แต่ถ้าคนในทีมของเรากินคนละสี่ชิ้นก็เท่ากับว่ามีคนในทีมสี่คน และถ้ามีใครสักคนกินมากกว่าสี่ชิ้นผมแนะนำให้หาคนอื่นมาอยู่ในทีมเถอะครับ

====

ผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าใจคอนเซ็ปของทีมขนาดเล็ก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พอจะประยุกต์ใช้จริงกลับพบปัญหามากมาย จนต้องล้มเลิกกลางคัน

 

วันนี้ผมนำเอา 5 หลักการสำคัญที่จำเป็นสำหรับการสร้างทีมขนาดเล็กมาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจและมีแนวทางในการสร้างทีมขนาดเล็กด้วยกันนะครับ

 

1. หัวใจของทีมขนาดเล็กคือการถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้คนทำงานในทีมเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าแบบใกล้ชิดที่สุด


ทีมขนาดเล็กไม่ได้มีเอาไว้เท่ ๆ เพื่อเอาไปบอกชาวบ้านว่า นี่ดูสิ ชั้นมีทีมขนาดเล็กแบบ google ด้วยแหล่ะ แต่หน้าที่ของทีมขนาดเล็กก็เพื่อให้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อทำความเข้าใจลูกค้า และสร้างนวัตกรรมขึ้นมาแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าแบบใกล้ชิด จะถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมร่วมกันกับลูกค้าเลยก็ว่าได้(เราสร้าง ลูกค้าทดลองใช้ แล้ว Feedback กลับมาทันที)
====

 

2. อะไรที่ช้า ต้องรออนุมัติหลายขั้นตอน ต้องถูกยกเลิกไปให้หมด

ความรวดเร็ว ความคล่องตัวคืออีกหนึ่งหัวใจของทีมขนาดเล็ก ฉะนั้นรูปแบบการขออนุมัติงบประมาณ การตรวจวัดผลที่ล่าช้าจะต้องถูกหยิบออกไปจากทีมขนาดเล็ก(หรือจะเรียกว่าไม่ถูกนำเข้ามาในทีมขนาดเล็กน่าจะถูกกว่า)

ทีมขนาดเล็กจะต้องได้รับงบประมาณ และทรัพยากรโดยตรงแบบไม่ต้องรออนุมัติเพื่อทำการทดลองได้อย่างอิสระ ภายใต้การวัดผลที่รวดเร็วและการลงทุนที่ยอมรับได้

====

3. ต้องให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ทีมขนาดเล็กมากกว่าที่เคยทำกันมา

ทีมขนาดเล็กที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในองค์กรขนาดใหญ่จะต้องอยู่นอกเหนือกฎระเบียบเดิม ๆ ขององค์กรนั้น

นอกจากเรื่องการจัดสรรงบประมาณแล้ว อำนาจในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรจะขึ้นอยู่กับทีมโดยตรง เพื่อความคล่องตัวที่สุดของการทำงาน
====

 

4. ต้องคัดสรรคนที่ดีที่สุดและมีความหลากหลายเข้าไปอยู่ในทีม

ทีมขนาดเล็กมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับทีม Avenger คือ ต้องเป็นสมาชิกที่ดีที่สุด มีทั้งความฉลาดหลักแหลม ทักษะความสามารถ ความเป็นผู้นำ วินัย ความรับผิดชอบ ทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ เพราะการให้อิสระและทรัพยากรที่ค่อนข้างไม่จำกัดจำเป็นต้องอยู่กับคนที่ทั้งเก่งและดีอย่างแท้จริง

 

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการคัดสรรคนที่มีความคิดและทักษะที่แตกต่างกันมาอยู่ในทีมเดียวกัน เพื่อให้มุมมองในการทำงานกว้างขึ้น และเกิดการปะทะสังสรรค์ระหว่างไอเดียที่แตกต่างจนเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ นั่นเอง
====

 

5. ต้องระบุให้ชัดเจนว่าทีมนี้ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร(Why) ทำอะไร (What) ผลลัพธ์ที่ต้องการมีอะไรบ้าง และมีลักษณะเป็นอย่างไร (วัดผลได้)

เพื่อกำหนดทิศทางของทีมขนาดเล็ก อิสระต้องมาพร้อมกับความชัดเจนของ Why , What และ End Result ที่วัดผลได้อย่างชัดเจน


สิ่งสุดท้ายที่ควรรู้ก็คือทีมขนาดเล็กไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อทำโปรเจคใหญ่ ๆ ตั้งแต่แรก แต่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทดลองเปลี่ยนองค์ประกอบเล็ก ๆ ด้วยความถี่ แล้ววัดผลเป็นระยะ ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

====


เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

แนวทางการสร้างทีมของคุณให้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม

แนวทางการสร้างทีมของคุณให้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม

ทุกวันนี้การทำงานเป็นทีมแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องความหลากหลายของคน  ผู้คนอยู่ในโลกดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่ต่อให้คนแตกต่างกันขนาดไหน ทีมเวิร์คก็ยังจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่เป็นแกนของความสำเร็จ ซึ่งก็คือ การหลอมรวมใจกันเพื่อทำภารกิจให้ลุล่วง

ปรมาจารย์แห่งการศึกษาพฤติกรรมคนในองค์กร ‘เจ.ริชาร์ด แฮ็คแมน’ บอกว่าการที่คนจะประสานรวมกันได้นั้นไม่ได้มาจากทัศนคติ พฤติกรรม หรือบุคลิกเป็นหลัก แต่มาจากการที่ทีมนั้นได้ต่อสู้ฝ่าฟันกันมาด้วย ‘เงื่อนไขบางอย่าง’ ที่เหมือนกัน

และเมื่อนำความรู้นั้นมาขยายเพื่อสร้างทีมเวิร์คในโลกของการทำงานยุคปัจจุบัน เราจะพบเคล็ดลับบางอย่างที่ผู้นำควรจะทำ และหลายคนอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน!

===

4 วิธีการสร้างเงื่อนไขให้ทีมประสบความสำเร็จ

คนในทีมอาจจะแตกต่างหลากหลาย ปัจจัยหลักไม่ใช่การทำให้ทุกคนปรับตัวหากันแต่มาจากการทำให้ทุกคนมี ‘เงื่อนไข’ หรือ ‘หลักยึด’ เดียวกันต่างหาก ซึ่งคุณสามารถสร้างได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. ทิศทางที่เร้าใจ

ทิศทางในการทำงานร่วมกันนั้นสำคัญมาก เพราะต่างคนที่มาร่วมทีมล้วนต่างแบ็คกราวด์ จึงมีมุมมองต่อโลกแตกต่างกัน ถ้าทุกคนมองเห็นทิศทางที่จะไปเหมือนกันก็ย่อมที่จะผนึกกำลังไปสู่จุดหมายเดียวกันได้ง่ายขึ้น

เช่น ทำงานสำเร็จแล้วจะได้รับการจดจำ ได้โบนัสพิเศษ ได้เลื่อนขั้น หรือได้รับคุณค่าทางใจ

ดังนั้น ในความแตกต่างของชาติพันธุ์ สถานที่ ไปจนถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง ทุกคนในทีมจะพยายามต่อสู้โดยมองไปยัง ‘เป้าหมายที่คู่ควร’ ซึ่งทุกคนจะผสานกำลังโดยมองอุปสรรคตรงหน้าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องผ่านไปให้ได้เท่านั้น

หนึ่งในวิธีสร้างหรือค้นหาทิศทางที่เร้าใจคือการใช้ OKRs ในการตั้งเป้าหมายร่วมกันภายในทีม อ่าน OKRs ภาคปฏิบัติในองค์กร เพื่อทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้ร่วมกัน คลิกที่นี่
===

2. โครงสร้างแข็งแกร่ง

ทีมไม่จำเป็นจะต้องมีสมาชิกที่เหมือนกัน แต่ทีมจะต้องจัดวางความแตกต่างให้สมดุล หรืออาจกล่าวว่า ต้องสร้างบทบาทหน้าที่อย่างสอดคล้องลงตัวตามเอกลักษณ์ของแต่ละคน คนในทีมจึงควรมีภาระงาน และกระบวนการทำงานในแบบของตนเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าทีมที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมนั้นเกิดจากทักษะที่แตกต่างกัน ซึ่งสอดประสานกันได้ด้วยการหยิบเอาจุดเด่นของแต่ละคนมาสนับสนุนกัน แล้วก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกัน
===

3. เห็นค่าของการร่วมใจ

แน่นอนว่าทีมที่มีความหลากหลายของที่มาและความสนใจ อาจจะปรับตัวเข้าหากันได้ยาก หากคนหนึ่งอยู่ในสถานะที่สบายมาตลอดแล้วต้องมาทำงานร่วมกับคนที่มักจะเห็นแก่ผลตอบแทนเสมอก็อาจจะยากที่ทั้งสองฝ่ายจะมีทัศนคติที่สอดคล้องกันจนอาจจะลงเอยด้วยความขัดแย้งได้

แต่มนุษย์นั้นจะร่วมมือร่วมใจกันได้ก็เพราะเห็นอกเห็นใจกัน ถ้าหากให้สักคนหนึ่งได้เข้าถึงมุมมองของอีกคน เช่น ได้รับทราบว่าอีกคนนั้นเห็นแก่ผลตอบแทนเพราะเขามาจากครอบครัวที่ยากจนและล้มเหลวมาตลอด

เมื่อรับรู้ว่าความลำบากขัดสนเป็นแรงผลักดันชีวิตของเขาก็ทำให้รู้ว่าอีกฝ่ายมีปมปัญหาชีวิต ความเข้าใจกันจะนำไปสู่การกำจัดอุปสรรคทางมุมมอง และร่วมใจกันทำงานได้
===

4. แชร์ความเชื่อพื้นฐานกัน

ข้อที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ก็เพียงพอต่อการทำให้ทีมผสานกลายเป็นหนึ่งเดียว และในโลกยุคใหม่นั้น ทีมจะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้ามีความเชื่อพื้นฐานร่วมกัน ทำให้ไม่แบ่งเขาแบ่งเราอีกต่อไป

ผู้นำของทีมมีหน้าที่ค่อยๆ หล่อหลอมให้ลูกทีมที่มีความแตกต่างรับเอาความเชื่อบางอย่างเข้าไปด้วยกัน เช่น ความเชื่อว่าการทำงานอย่างดีเลิศจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ

เมื่อบ่มเพาะความเชื่อเหล่านั้น เวลาผ่านไปคนในทีมจะกลายเป็นมนุษย์ที่มีพื้นฐานความคิดแบบเดียวกัน การทำงานเป็นทีมจึงสำเร็จได้ในทุกสถานการณ์

ลองประเมินทีมของคุณ

เมื่อลองทำตาม 4 ข้อเบื้องต้นแล้ว ลองมาดูกันว่าทีมของคุณนั้นเป็นอย่างไร โดยใช้เกณฑ์การประเมินตามแบบของปรมาจารย์แฮ็คแมน นั่นคือ ดูผลงานของทีมที่ออกมา ดูการร่วมแรงร่วมใจ และดูพัฒนาการรายบุคคล

หากเป็นไปด้วยดีทั้ง 3 ข้อนี้ บอกได้เลยว่าคุณกำลังเป็นผู้นำของทีมที่ยอดเยี่ยมแล้วล่ะ

===

การสร้างความร่วมมือร่วมใจภายในทีมเพื่อให้กลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันกลายเป็นทีมเวิร์คที่ยอดเยี่ยมเป็นทักษะที่เรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The Secrets of Great Teamwork” โดย Martine Haas and Mark Mortensen จาก Harvard Business Review เดือนมิถุนายน 2016

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

รู้ไหม ความไว้วางใจนั้นสร้างได้

รู้ไหม ความไว้วางใจ(Trust) นั้นสร้างได้

ถ้าผมบอกคุณว่า ‘ความไว้วางใจ (Trust)’ คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างทีม เชื่อว่าหลายคนคงจะมองตาผมเป็นเชิงถามว่า

“แล้วมันแปลกใหม่ตรงไหนเหรอ”

 

ใช่ครับ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่ประสบการณ์ในการสร้างทีมให้องค์กรต่าง ๆ มาสักระยะ ทำให้ผมมั่นใจมากว่านี่คือความจริงที่ทุกคนรู้ แต่มีน้อยคนที่จะตระหนักถึงความสำคัญ และน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะยอมลงทุนให้มากพอที่จะสร้างมันขึ้นมา

===

ความไว้วางใจ(Trust) ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าจะพูดให้ถูกกว่านั้นก็คือ ความไว้วางใจอาจจะเกิดเองได้ ถ้าเหตุปัจจัยทั้งหมดสนับสนุนในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

แต่จะรอคอยโชคชะตาให้ความไว้วางใจเกิดขึ้นเองทำไม ในเมื่อเราทุกคนสามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ด้วยสองมือของเราเอง

===

เพราะปลอดภัยจึงไว้ใจ หรือ เพราะไว้ใจจึงปลอดภัย ?

พื้นที่ปลอดภัย (Safe space) กับ ความไว้วางใจ (Trust) ก็เหมือนไก่กับไข่ตรงที่ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้นจนแทบจะเป็นเหตุและผลของกันและกัน

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ความไว้ใจกับพื้นที่ปลอดภัยคล้ายไก่กับไข่มากยิ่งขึ้นก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่ต้องเกิดขึ้นก่อนแบบตายตัว

หลายคนเข้าใจว่าเพราะ ‘มีพื้นที่ปลอดภัย เราจึงรู้สึกไว้วางใจ’ ซึ่งก็ถูก แต่สมการนี้สามารถย้อนกลับเป็น ‘เพราะไว้วางใจ พื้นที่ปลอดภัยจึงเกิดขึ้น’ ก็ได้

===

และต่อไปนี้คือวิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยผ่านความไว้วางใจที่ Patrick Lencioni ที่ปรึกษาองค์กรชื่อดังเขียนไว้ในหนังสือ The Five Dysfunctions of a Team

Patrick เสนอให้ทุกคนที่ทำงานร่วมทีมกันสร้าง Moment ของการสนทนาอย่างลึกซึ้ง และร่วมแบ่งปันความเปราะบาง (ความกลัว ความกังวล ความอ่อนแอ ความเศร้า ฯลฯ) ให้เพื่อนร่วมทีมรับรู้

===

แนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพิ่มความไว้วางใจในทีม

1. เริ่มต้นด้วยการกำหนดช่วงเวลาในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ทีม (Team Bonding)

2. กำหนดหัวข้อที่จะแชร์โดยเน้นไปที่ ‘เรื่องส่วนตัว’ เช่น ชีวิตวัยเด็ก ครอบครัว การเรียน รักครั้งแรก งานอดิเรก ฯลฯ แล้วลองแชร์ในกลุ่มเล็ก (ไม่เกิน 4 คน) หรือ จับคู่กันก็ได้

 

3. ตั้งกฎให้คนที่รับฟังตั้งใจฟังอย่างใส่ใจ (Deep Listening) โดยห้ามพูดขัด หรือ เล่นมือถือในขณะที่ฟังเด็ดขาด จากนั้นให้สลับกันแชร์จนได้เล่าครบทุกคน

แนวทางสร้างความไว้วางใจและพื้นที่ปลอดภัยอย่างง่ายลักษณะนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนในองค์กรส่วนใหญ่เคยได้ยิน แต่มีน้อยคนที่ตระหนักถึงความสำคัญ แล้วสุดท้ายก็ลงเอยคล้ายกับความรู้ดีดีทั้งหลายในโลกใบนี้นั่นแหล่ะครับ

คือมีน้อยยิ่งกว่าน้อยคนที่ลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นจริงจัง

===

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ข้อควรระวังเรื่องขวัญกำลังใจคนในทีมที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

ข้อควรระวังเรื่องขวัญกำลังใจคนในทีมที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน

หนึ่งในเรื่องดังกล่าวก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่าง รวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

=====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

=====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

=====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

การฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อไม่ให้การทำงานและการสร้างทีมพังเป็นหนึ่งวิธีการที่ควรทำควบคู่กับการฝึกจิตใจ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

6 วิธีสร้างทีมให้แกร่งจนไร้เทียมทาน

6 วิธีสร้างทีมให้แกร่งจนไร้เทียมทาน

หากถามคุณว่าในทีม Avengers คิดว่าใครคือผู้นำที่เก่งที่สุด

เชื่อว่าคงตอบได้ยาก เพราะทั้งกัปตันอเมริกา, ไอร์ออน แมน, ธอว์, ฮอว์คอาย, แบล็ค วิโดว์ หรือคนอื่น ๆ ต่างก็เก่งกาจ และถือเป็นผู้นำด้วยกันทั้งนั้น

ซึ่งการผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี่แหล่ะ คือหัวใจที่สำคัญของทีมเวิร์คที่ประสบความสำเร็จ

มี 6 ขั้นตอนเน้น ๆ สำหรับแนวทางในการสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ถ้าทีมไหนเอาแนวทางทั้งหกนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง รับประกันได้เลยว่าทีมของคุณจะแข็งแกร่งจนไร้เทียมทานเลยทีเดียว

====

1. ร่วมกันสร้างเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจของทีมให้ชัดเจนที่สุด

(Create a clear goal for building team)

เป้าหมายของทีมเปรียบเหมือนจุดหมายที่ทุกคนในทีมจะมุ่งหน้าไปด้วยกัน ถ้าปราศจากเป้าหมายร่วมทีมก็จะเดินสะเปะสะปะไปคนละทิศคนละทาง

เริ่มต้นด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนแชร์เป้าหมายส่วนตัวก่อน จากนั้นค่อยนำมาหาเป้าหมายร่วมกัน โดยเขียนเป้าหมายสองแบบทั้งแบบวิสัยทัศน์ระยะยาว กับ เป้าหมายระยะสั้น ( 1 ปี , 3 ปี) ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจนและวัดผลได้มากที่สุด
====

2. สร้างความไว้วางใจและการเปิดกว้าง

(Build trust and openness)

เป้าหมายที่สร้างขึ้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าปราศจากความไว้วางใจ (Trust)

ความไว้วางใจสร้างได้ด้วยการทุกคนในทีมบ่มเพาะความไว้วางใจส่วนตัวให้เกิดขึ้นก่อน จากนั้นค่อยขยายไปสู่ทีมด้วยการสื่อสารกันอย่างเปิดใจเป็นระยะ ๆ

บอกกล่าวความรู้สึก ความกลัว ความกังวล และความต้องการของตัวเองให้คนในทีมรับรู้เป็นระยะ ๆ

หนึ่งในผลลัพธ์จากการสร้างความไว้วางใจและเปิดกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การเกิดพื้นที่ปลอดภัย อ่าน ทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่จะตามมา คลิกที่นี่
====

3. กำหนดตารางกิจกรรมสร้างทีมขึ้นมา

(Schedule and attend team-building activities)

การสร้างทีมเหมือนการสร้างความสัมพันธ์ทุกชนิดนั่นคือ ต้องค่อย ๆ บ่มเพาะด้วยวิธีการที่เล็กแต่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือต้องทำไปเรื่อย ๆ ตลอดการเดินทางด้วย

ลองกำหนดตารางกิจกรรมสร้างทีมที่ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ เช่น กำหนดวันรับประทานอาหารร่วมกันสัปดาห์ละมื้อ โดยให้ทุกคนนำอาหารมาแชร์กันคนละอย่าง หรือ กิจกรรมสุดคลาสสิคอย่าง Buddy ก็ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ
====

4. สร้างระบบให้รางวัลตอบแทนที่ชัดเจน

(Create rewards and incentives for good teamwork)

ร่วมกันกำหนดระบบการให้รางวัลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อกลไกการทำงานเป็นทีม หัวหน้าทีมควรเปิดพื้นที่ให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการกำหนดระบบให้รางวัลด้วย

ลองกำหนดเป้าและพฤติกรรมที่สมควรจะได้รางวัลขึ้นมา โดยรางวัลตอบแทนควรเป็นอะไรที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเงินสูงแต่เปี่ยมด้วยมูลค่าทางจิตใจ เช่น การ์ดขอบคุณที่เขียนโดยทุกคนในทีม , บัตรรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น
====

5. ประยุกต์ใช้แนวทางนี้กับแผนกอื่นในองค์กร

(Implement your programs throughout your entire organization)

ถ้าต้องการให้ได้ผลยิ่งขึ้นลองผลักดันให้ทีมอื่นนำแนวทางนี้ไปใช้เช่นกัน เพราะเมื่อกลุ่มอื่นเริ่มก่อร่างสร้างทีมขึ้นจากแนวทางเดียวกันกับทีมของคุณ ทั้งองค์กรจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกันโดยตรงก็ตาม
====

6. วัดผลและตรวจสอบเป็นระยะ

(Measure and review your teamwork program often)

ไม่มีแนวทางหรือวิธีการไหนที่ได้ผล 100% ถึงขั้นไม่ต้องตรวจสอบอะไรเลย หนทางที่ดีที่สุดคือสร้างระบบที่วัดผลได้ชัดเจน แล้วตรวจสอบเป็นระยะเพื่อปรับเปลี่ยนบางอย่างโดยยังรักษาแก่นของมันเอาไว้

ตรวจสอบเป้าหมายว่าทีมยังเดินไปสู่เป้านั้นร่วมกันอยู่หรือเปล่า ตรวจสอบความไว้วางใจ(คนในทีมกล้าสื่อสารความแตกต่างหรือเปล่า)

ตรวจสอบว่ายังทำกิจกรรมสร้างทีมสม่ำเสมอหรือเปล่า และระบบการให้รางวัลยังทำงานต่อเนื่องหรือไม่

เมื่อพิจารณาแนวทางทั้งหมดนี้คุณอาจจะรู้สึกว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่

แต่ถ้าคุณยอมลงทุนสร้างทีมอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากพอ ผลที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่าไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของทีม Avengers เพื่อกอบกู้โลกใบนี้เลยทีเดียวครับ

====

ยังมีทักษะและวิธีการอีกมากมายเพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่ง เราขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกดูรายละเอียดที่นี่
เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน

ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity และการทำงานเป็นทีม (Personal Productivity  &Team Collaboration  Facilitator)

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

หมั่นมองตัวเองในกระจกช่วยยกระดับทีมของคุณ

หมั่นมองตัวเองในกระจกช่วยยกระดับทีมของคุณ


ถ้าคุณเป็นผู้หญิงทั่วไป คุณก็น่าจะพกกระจกบานเล็กติดตัวไว้ส่องดูหน้าตัวเองเป็นระยะ หรือ อย่างน้อยที่สุดคุณก็น่าจะเข้าห้องน้ำไปเช็คตัวเองในกระจกอยู่เรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
..

 

การสำรวจเสื้อผ้า หน้า ผมคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำเป็นประจำ แต่สิ่งที่คนทำกันน้อยเกินไปก็คือการหมั่นสำรวจความคิดและจิตใจตัวเอง
===

 

‘ปาร์กเกอร์ เจ ปาล์มเมอร์’ เขียนเกี่ยวกับวิถีในการเป็นผู้นำซึ่งแม้เขาจะพูดถึงการนำในห้องเรียน(ครู) เป็นหลัก แต่ทั้งหมดก็คือวิถีของผู้นำในองค์กรเช่นกัน 

 

ปาล์มเมอร์บอกว่าหัวใจของการนำก็คือการหมั่นสำรวจตรวจสอบภูมิทัศน์ภายใน (Inner Landscape) ของตัวเอง ทำความเข้าใจว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เราคิด พูด และทำเช่นนั้น


เพราะมีเพียงการสำรวจตัวเองอย่างซื่อสัตย์และต่อเนื่องเท่านั้นที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้นำที่สร้างทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้
====

 

จอห์น ซี แม๊กซ์เวล เขียนถึงกฎของกระจกเงาไว้ในหนังสือสุดคลาสสิคของเขา Winning with People ว่า “บุคคลแรกที่เราในฐานะผู้นำต้องตรวจสอบก็คือ ตัวเราเอง

 

แม๊กซ์เวลสรุปแบบทดสอบกระจกเงาเอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1. บุคคลแรกที่เราต้องรู้จัก คือ ตัวเราเอง

การรู้จักตัวเองไม่ได้หมายถึงแค่รู้ว่าตัวเองชอบ ไม่ชอบอะไร แต่ยังรวมถึงการรู้เท่าทันความคิด จิตใจ ความรู้สึกของตัวเองอีกด้วย 

 

2. บุคคลแรกที่เราต้องรัก คือ ตัวเราเอง

การรักตัวเองอย่างแท้จริงจะทำให้เราไม่ทำร้ายคนอื่น เพราะเราจะกลายเป็นคนที่เคารพตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และทำสิ่งที่ดีให้แก่ผู้อื่นในที่สุด

 

3. บุคคลแรกที่จะก่อปัญหาให้เรา คือ ตัวเราเอง

นี่คือความจริงที่อาจจะยอมรับได้ยากสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนที่พบเจอแต่เรื่องแย่ ๆ ที่เขามักจะโทษว่าคือความผิดของคนอื่นมาตลอด แต่ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง(และยอมรับความเจ็บปวดในช่วงแรก) เราจะพบว่าเราคือคนแรกที่ก่อปัญหาให้ตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจริง ๆ

 

4. บุคคลแรกที่เราต้องเปลี่ยนแปลง คือ ตัวเราเอง

ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงโลก คุณต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่คุณอยากให้โลกเป็นก่อน และทำจริงจังพอที่จะแผ่ขยายอิทธิพลออกไปสู่คนรอบข้าง องค์กร และสังคม

 

5. บุคคลแรกที่สร้างความแตกต่างได้ คือ ตัวเราเอง

ผมเรียกข้อนี้ว่าคือการรับผิดชอบต่อตนเอง ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองคือใคร ตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอและรู้พรสวรรค์ของตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณต้องใช้สิ่งนั้นเพื่อสร้างความแตกต่างให้โลกใบนี้แล้วล่ะครับ
===

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

 

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save