3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

ถ้าลองไปถามลูกทีมหรือลูกน้องในองค์กรต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงยังคงทำงานอยู่ที่นั่น คำตอบส่วนใหญ่ที่ออกจากปากพวกเขาก็คือ

“ผม / ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าและมีตัวตน”

ความรู้สึกนี้สอดคล้องกับหลักการบริหารคนที่เรียกว่า “ต้องแสดงการยอมรับและยกย่องชื่นชม” (Recognition and Appreciation)

ผู้นำที่อยากให้ลูกน้องที่เก่งและดีทำงานด้วยกันต่อหรืออยากให้ลูกน้องพัฒนาผลงานด้วยความเต็มใจ ไม่ควรละเลยหลักการนี้เป็นอันขาด เพราะสองหลักการนี้นำมาซึ่งความรู้สึกภาคภูมิใจ

เมื่อคนทำงานได้รับความภาคภูมิใจ พวกเขาจะร่วมผลักดันผลงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ การอดทนทำงาน การซื่อสัตย์ หรือการรีดเค้นผลงานที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา
====

การยอมรับ (Recognition) ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกว่าจดจำตัวเขาและผลงานที่เขาทำได้ แต่ยังรวมถึงการให้ Feedback เชิงบวก ว่าลูกน้องได้ทำอะไรดี ๆ มาบ้าง บางครั้งอาจอยู่ในรูปของการให้รางวัล ให้โบนัส เลื่อนขั้น หรือบางทีเพียงแค่การพูดว่าขอบคุณหรือเขียนโน้ตเป็นลายมือก็ถือว่ามีคุณค่ามากพอแล้ว

แต่การยอมรับต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะวิธีนี้ไม่สามารถทำได้กับทุกคน ที่สำคัญมันเป็นการให้คุณให้โทษที่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เกิดขึ้นจึงต้องทำเป็นวาระโอกาสและเป็นวาระที่มักจะมาจากเจ้านายไปสู่ลูกน้องเป็นหลักด้วย
====

การยกย่องชื่นชม (Appreciation) มีเพื่อเสริมส่วนที่การยอมรับ (Recognition) ขาดหายไป เพราะวิธีนี้ไม่ใช่แค่การรอให้เขาทำผลงานดีออกมาก่อนเท่านั้น แต่การยกย่องชื่นชมสามารถทำได้เรื่อย ๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เห็นว่าอีกฝ่ายทำงานดี

====

การชื่นชมว่าอีกฝ่ายมีคุณค่านั้น ทำได้หลายวาระกว่า เช่นเทคนิคดังต่อไปนี้

รับฟัง

การฟังอีกฝ่ายพูดเป็นแสดงถึงการให้ความสำคัญ หากมีคนมาคุยด้วยตอนเรากำลังเล่นมือถือหรือจ้องหน้าคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเราต้องการให้ความสำคัญกับเขา ให้หยุดกิจกรรมนั้นแล้วหันมาสบตาผู้พูดและตั้งใจฟังดีกว่า

หนึ่งในทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพสูง ก็คือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม ศึกษาและฝึกฝนได้คลิกที่นี่
====

บอกคนอื่นๆ ว่าคนที่เราชื่นชมเจ๋งอย่างไร

การประกาศให้คนอื่นรู้นั้นไม่ต่างจากการให้ของขวัญที่ล้ำค่า เพราะนอกจากจะทำให้เจ้าตัวปลื้มแล้ว ยังเป็นการสร้างสถานะที่ดีของคนที่ถูกชมต่อหน้าสาธารณะชนอีกด้วย
====

แสดงออกไปเลย

บอกคนที่เราชื่นชมไปเลย ว่าสิ่งที่เป็นตัวเขานั้นดีเยี่ยมเพียงไร อาจจะถามเขาด้วยว่าเขาทำมันได้อย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำว่ามันมีมากจนเราสนใจ และแสดงความสนใจว่ามันจะดำเนินไปอย่างไรต่อ

ผลการสำรวจของพนักงานในองค์กรต่างๆ ผลที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งพบว่า คำชื่นชมจากเจ้านายทำให้พวกเขามีแรงใจที่จะอยู่ที่เดิมต่อไป และแม้ว่าเจ้านายจะชื่นชมบ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ยังจะอยากได้มันต่อไปอีกเรื่อย ๆ

แล้วคุณล่ะ วันนี้ได้ให้ยอมรับหรือชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจแล้วหรือยัง

====

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Why Employees Need Both Recognition and Appreciation” โดย Mike Robbins จาก Harvard Business Review 12 พฤศจิกายน 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 


ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

เวลาทำงานร่วมกันก็ย่อมจะต้องมีการแสดงความคิดเห็น แล้วในทุกองค์กรก็มักจะมีคนที่เสนอความคิดเห็นที่มีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่องาน

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมี “คนเก่งจอมมั่น” ที่เชื่อว่าตัวเองถูกเสมอ แม้ว่าจะเคยนำสิ่งที่เขาเสนอไปปฏิบัติจริงแล้วไม่เวิร์คมาแล้วก็ตาม

====

นี่คือสถานการณ์ที่ต้องรับมือด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะกับหัวหน้า เพราะถ้าทำตามที่เขาแนะนำตลอดก็อาจส่งผลลบต่อทีมและงานในหลาย ๆ ด้าน แต่ถ้าไม่ทำตามคำแนะนำก็อาจทำให้คนนั้นรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองถูกทำลายจนอาจจะไม่เสนอไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะปวดหัวเวลาทำงานร่วมกับ “คนเก่งจอมมั่น” แต่ก็มีวิธีที่สามารถช่วยป้องกันปัญหาที่ชวนเหนื่อยใจลักษณะนี้ได้ และยังทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างและมีประสิทธิภาพตามมาได้อีก ด้วยวิธีต่อไปนี้
====

หาต้นตอของความเก่งและมั่นให้เจอ

คนเราจะเก่งและมีความมั่นใจจากหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่พบบ่อยนั้นเกิดจากความสำเร็จในการทำงานครั้งก่อน ๆ หลังจากที่เคยแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วทำให้ครั้งต่อ ๆ ไป เขาก็จะพยายามรักษาความสำเร็จเดิมเอาไว้ด้วยการแสดงออกว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องแน่นอน

สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือควบคุมบทสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น และปราศจากการโต้แย้งอย่างรุนแรง ลองพยายามดึงจังหวะ ดึงอารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ให้พุ่งสูงจนเกินไป

ถ้ามีคนน็อตหลุดขึ้นมาเพราะตกลงกันไม่ได้จริง ๆ ก็อาจต้องหาโอกาสประชุมแยกนอกรอบเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจ และปรับมุมมองให้เข้าใจกัน อย่างน้อยก็จะรักษาความมั่นใจของอีกฝ่ายเอาไว้ไม่ให้เขารู้สึกว่าตัวเองทำพลาดหรือหมดประโยชน์ต่อทีม
====

เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นบ้าง

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำคือการเปิดกว้างให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน นั่นคือการบอกทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละประเด็นอย่างตรงไปตรงมา

การให้คนในทีมมีส่วนร่วมและช่วยกันประเมินมุมมองของงานอย่างหลากหลายจะก่อให้เกิดความคิดที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ แล้วยังทำให้แต่ละคนมีความมั่นใจโดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาจนทำลายบรรยากาศและผลของการทำงานอีกด้วย
====

เสริมสร้างบรรยากาศให้คนอยากฟังและอยากแสดงความคิดเห็น

เมื่อต้องทำงานกับคนที่เก่งและมั่นมาก ๆ อาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลงจนไม่กล้านำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง

แนวทางแก้ไขปัญหานี้ คือ เมื่อต้องประชุม แสดงความคิดเห็น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเป็นผู้ฟังที่ดีและโทนเสียงในการพูด ทั้งสองอย่างนี้ต้องมาควบคู่กันจึงจะสามารถลดปัญหานี้ลงได้

เพราะทุกคนล้วนมีมุมมองเป็นของตนเอง และทุกมุมมองต่างมีความสำคัญ โทนเสียงเวลาแสดงความคิดเห็นมีผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง ว่าจะทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้มากแค่ไห

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คนอื่นจึงจะกล้าแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วจะไม่มีใครรู้สึกอายในความคิดเห็นของตนเอง

และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ท้ายที่สุดทุกคนจะกล้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จะเกิดความความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนการทำงานราบรื่นในท้ายที่สุด

ยังมีเทคนิครับมือกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกที่มักจะชอบวีนเหวี่ยงใส่คนอื่นด้วย อ่าน สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานขี้วีนอย่างไรให้ได้ผล คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงจาก How to Work with Someone Who Thinks They’re Always Right โดย Ron Carucci and Jarrod Shappell จาก Harvard Business Review 26 มิถุนายน 2019

การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลายมี Mindset และทักษะมากมายที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

Mindset 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

Mindset 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

คุณเคยเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลวไหม  ถ้าไม่เคย คุณและทีมของคุณอาจจะอยู่ห่างไกลจากการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะหัวใจของการสร้างนวัตกรรมใหม่ก็คือ…การไม่กลัวความล้มเหลว

       เพราะการไม่กลัวความล้มเหลวจะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือ การสร้างนวัตกรรม (Innovation) เพราะการสร้างนวัตกรรมคือทางออกของการทำงานในโลกที่ทุกอย่างผันผวน เปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนเช่นนี้

====

       คนส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป การแผ่ขยายพลังอำนาจของ Internet of Things(IoT) ที่ทุกอย่างในชีวิตสามารถเชื่อมโยงกันและส่งข้อมูลหากันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต

       ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากสร้างนวัตกรรม และอยากพัฒนานวัตกร (Innovator) ขึ้นในทีมหรือในองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที อาจจะเป็นเพราะว่าคุณยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือยังไม่นำทัศนคติทั้ง 3 ข้อในการสร้างนวัตกรรมไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง

====

ทัศนคติ 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร มีดังนี้

1.ทัศนคติแห่งการเติบโต (Growth Mindset)

“จงโฟกัสที่การเรียนรู้ (Learning) ไม่ใช่องค์ความรู้ (Knowledge)”

       คนทำงานยุคเก่าจะมุ่งเน้นว่า “ฉันรู้อะไรมาบ้าง” ซึ่งการมีแนวคิดเช่นนี้มักจะไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ การจะเกิดนวัตกรรมได้องค์กรจำเป็นจะต้องมี Growth Mindset หรือ ทัศนคติของการเรียนรู้และเติบโตซึ่งจะต่อยอดไปสู่การมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเติบโตในที่สุด

       วิธีการสำคัญที่จะช่วยปลูกฝัง Growth Mindset ก็คือการใช้คำถาม “สิ่งที่เพิ่งทำไป / เรื่องที่เพิ่งผ่านไป ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้าง” และ “ฉันจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปปรับใช้อย่างไรบ้าง”

       นอกจากนี้ให้คนในทีม Feedback กันเองเพื่อให้เกิดการขยายมุมมองที่กว้างขึ้น โดยเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนพูด Feedback กันเองภายใต้สองหัวข้อนี้ คือ คนนี้ทำอะไรได้ดีบ้าง และ คนนี้สามารถพัฒนาและปรับปรุงเรื่องอะไรเพื่อให้ดียิ่งขึ้นได้บ้าง

====

 

2.ทัศนคติที่เริ่มจากการเข้าใจคนอื่นก่อน (Outward Mindset)

“จงเริ่มต้นที่ความต้องการของผู้อื่นก่อนความต้องการของตัวเอง”

       หัวใจของนวัตกรรมอยู่ที่การคำนึงถึงผู้อื่น ซึ่งก็คือคนที่นวัตกรต้องการจะแก้ปัญหาให้นั่นเอง หากคนสร้างนวัตกรรมยังโฟกัสอยู่ที่ตัวเอง(ฉันรู้อะไร ฉันสามารถทำอะไรได้ ฉันอยากทำอะไร) นวัตกรรมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

       แนวทางปลูกฝัง Outward Mindset อยู่ที่การเข้าไปพูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เราจะสร้างนวัตกรรมนั้นขึ้นมาช่วยเหลือเขา หรือ เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา

       เพราะนวัตกรรมของเราจะไม่มีทางเป็นนวัตกรรมที่ดีได้เลยหากมันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ลองถามหรือค้นหาให้เจอว่าเขาต้องการอะไรบ้าง และกลับมาถามตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

 ====

 

3.ทัศนคติของการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง (Resilience Mindset)

“จงลุกขึ้นใหม่ทุกครั้งที่ล้มลงไป”

       ถ้าคนในทีมของคุณยังไม่สามารถเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลวของการทดลองทำบางสิ่งได้ ทีมของคุณก็ยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า นวัตกรรมที่ดี เพราะทีมที่กลัวความล้มเหลวจะไม่กล้าคิดและลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ทำอะไรที่นอกกรอบภายในเวลาที่รวดเร็วเพียงพอ

       การยินดีที่ยังไม่สำเร็จต้องมาคู่กับการลุกขึ้นใหม่อีกครั้งเสมอ นี่คือ Resilience Mindset หรือ ทัศนคติที่บอกว่าไม่ว่าเราจะพบเจอปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาดล้มเหลวกี่ครั้งแต่เราก็จะลุกขึ้นสู้ใหม่เสมอ

       หลังจากเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลว(สิ่งที่ทำยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าแต่เราฉลองให้กับการกล้าคิดกล้าลงมือทำสิ่งใหม่) แล้ว ให้คนในทีมพูดคุยกันว่าสิ่งที่เพิ่งผ่านไปนั้นมีจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดตรงไหน แล้วถ้าจะทำครั้งต่อไป(ลุกขึ้นสู้ใหม่) พวกเราจะปรับ เปลี่ยน หรือทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้เข้าใกล้ผลลัพธ์ในแบบที่เราต้องการบ้าง 

ยังมีวิธีปลูกฝังและฝึก Resilience Mindset ที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม อ่าน สองวิธีฝึกทักษะล้มแล้วลุกที่ทำได้จริง คลิกที่นี่

====

       จะเห็นว่านวัตกรรมที่ดีต้องมีรากฐานมาจากทัศนคติ หรือ Mindset ที่ถูกต้องเสียก่อน และ Mindset ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ก็ต้องเป็น Mindset ของนวัตกร (Innovator) ซึ่งประกอบไปด้วย มุ่งเน้นที่การเรียนรู้และเติบโต(Growth Mindset) มุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจผู้อื่นก่อน (Outward Mindset) และมุ่งเน้นที่การลุกขึ้นสู้ใหม่ไม่ว่าจะล้มลงไปกี่ครั้งก็ตาม (Resilience Mindset)

       ถ้ามีแนวคิดหรือทัศนคติที่ถูกต้อง การลงมือทำก็มักจะถูกต้องตามมา และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมในองค์กรที่หลายทีม หลายองค์กรทำผิดพลาดเพราะไปมุ่งเน้นที่การใช้เงิน ดึงดูดตัวบุคคล หรืออะไรที่เป็นเรื่องภายนอกแต่ไม่สนใจสิ่งที่อยู่ภายใน(หัว) ของคนที่ต้องสร้างนวัตกรรมเลย

====

หากต้องการสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นกับคนในทีมและในองค์กรของคุณ ขอแนะนำหลักสูตร Growth Mindset for Effective Work ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

เขียนโดย อ.เวย์  เวสารัช โทณผลิน 

Productivity Coach & Team Collaboration Facilitator 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลของผู้นำและการบริหารทีม 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม

3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม

ปัญหาในการประชุมสำหรับทีมของคุณคืออะไร?

มีคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งหัวหน้า คนพูดเยอะ และคนไม่ค่อยพูด (หรือไม่พูดเลย) ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้แหล่ะที่อาจสร้างปัญหาในห้องประชุมได้  

ประเด็นสำคัญสำคัญในการประชุมก็คือ ทุกคนที่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุม ควรจะมีบทบาทต่อหัวข้อที่ต้องการความคิดเห็นและการตัดสินใจ คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุมได้อย่างแท้จริงโดยที่ทุกคนรู้สึกพึงพอใจ ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกบังคับ ถูกครอบงำ หรือถูกเรียกเข้ามาให้เป็นตรายางรับรองการประชุมเฉย ๆ

====

‘Tsedal Neeley’  นักเขียนของ Harvard Business Review ออกแบบการประชุมโดยกำหนดว่าควรจะมีกฎ 3 ข้อสำหรับคน 3 แบบ เพื่อที่จะให้การตัดสินใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

1.กฎสำหรับหัวหน้าทีม

สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องท่องเอาไว้ก็คือ สร้างสมดุลในการประชุม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม คอยดูว่าแต่ละคนที่มีส่วนร่วมนั้น มีบทบาทมากไหน รับฟังกันหรือเปล่า และได้มีโอกาสพูดอย่างทั่วถึงและเหมาะสมหรือไม่ 

หากพบว่าใครพูดน้อยหรือไม่พูดเลย ก็ควรจะขอให้คนนั้นได้กล่าวอะไรสักหน่อย ถ้าเจอคนที่พูดไม่คล่องนักก็ต้องคอยช่วยเหลือ ช่วยเสริมประเด็น หรือซักถามให้เคลียร์ 

หน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คอยสรุปและจับใจความสิ่งที่สมาชิกในที่ประชุมพูดออกมา ถ้ามีอะไรที่ไม่ชัดเจนก็ต้องทำให้กระจ่างชัดที่สุดด้วย

บางครั้งการเป็นหัวหน้าที่พูดเยอะเกินไปหรือพูดอย่างไม่ระวังก็อาจทำให้ทีมพังได้ อ่าน ระวัง! คุณอาจเป็นหัวหน้าที่พูดจนทีมพัง  คลิกที่นี่ 

====

2.กฎสำหรับคนที่พูดคล่องหรือพูดเยอะ 

สิ่งที่ต้องจำเอาไว้ก็คือ อย่าครอบงำคนอื่นมาก ไม่งั้นอาจจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ชวนหมั่นไส้ได้  สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายไม่ว่าใครก็รู้เรื่อง อย่าเล่นศัพท์เทคนิคหรือสลับภาษาไปมาจนน่าเวียนหัว ควรลดจังหวะการพูดให้ช้าลงสักหน่อย ไม่งั้นยิ่งพูดจะยิ่งมัน จึงยิ่งดังและยิ่งเร็ว

ถ้าอยากให้เกิดบรรยากาศที่ดี อย่าเสนอตัวพูดไปหมดทุกเรื่อง ลองฝึกที่จะตั้งใจฟังคนอื่นพูดบ้าง และที่สำคัญ คอยถามคนอื่น ๆ ว่าเข้าใจและเคลียร์ในสิ่งที่คุณสื่อสารออกไปหรือไม่

====

3.กฎสำหรับคนที่พูดไม่เก่งหรือไม่พูด

สิ่งที่ควรจดจำก็คือ หาทางมีส่วนร่วม เพื่อให้การประชุมสมบูรณ์ คุณควรจะหาทางพูดหรือแสดงความคิดเห็นออกมาบ้าง ถ้าการประชุมนั้นเปิดโอกาสให้พูดแบบเวียนไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงคิวก็อย่าหลีกเลี่ยงหรือลุกหนีไปเข้าห้องน้ำ 

อย่าหลุดไปใช้ภาษาส่วนตัวหรือภาษาท้องถิ่น คอยหมั่นถามคนอื่นเวลาที่พูดเสร็จว่าเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารหรือไม่ เคล็ดลับอีกอย่างสำหรับการมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องมีทักษะการพูดที่ดีมากก็คือการฟังแล้วถามในกรณีที่ไม่เข้าใจ หรืออยากจะให้คนพูดอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่าง

เพียงทำตามกฎ 3 ข้อเท่านี้ก็จะทำให้การประชุมออกมาราบรื่น สร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน และผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับสมาชิกอย่างแน่นอน

เพื่อให้คุณและคนในทีมมีทักษะในการประชุม การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

=====

เรียบเรียงจาก “Global teams that work” โดย Tsedal Neeley จาก Harvard Business Review ตุลาคม 2015

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

แนวทางจัดการอารมณ์โกรธให้อยู่หมัด

ครั้งสุดท้ายที่ระเบิดลง คุณรู้สึกอย่างไร และรับมือกับมันอย่างไร?

แม้ผมจะมีช่วงเช้าที่แสนสดใส แต่ช่วงบ่ายกลับเป็นเหมือนหนังคนละม้วน  เพราะผมได้ระเบิดอารมณ์ใส่น้องที่ทำงาน!!

จากการส่งข้อความแจ้งเรื่องงานที่เรียบง่าย แต่ไม่ถึง 3 นาทีต่อจากนั้น ภาพตัดมาที่ผมกำลังตะโกนเสียงดังผ่านโทรศัพท์ว่า…

“จะเถียงพี่ทำไม #%$^&”

หัวใจผมเต้นแรงไม่เป็นจังหวะ สายตาของผมเริ่มพร่ามัว ปากและมือของผมสั่นระริก ถ้าอยู่ใกล้ ๆ อยากจะเอามือตบโต๊ะใส่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

====

แม้จะรู้สึกผิดที่คุมอารมณ์ไว้ไม่อยู่ แต่อีกใจก็รู้สึกสะใจชะมัดที่ได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง จนกระทั่งน้องปลายสายถามผมว่า…

“อันนี้คือพี่ใช่ไหม?”

คำถามนั้นทำให้ผมนิ่งไปพักใหญ่ ๆ แล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อดึงสติให้กลับมา

นี่ไม่ใช่ตัวตนของผม!!

แต่ความพลุ่งพล่านที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดมาจากการที่ ‘ความต้องการ’ และ ‘ความกลัว’ ของผม ถูกกระตุ้น ด้วยเสียงกระซิบเบา ๆ

เสียงกระซิบที่ดังในหัวว่า…

“มึงจะยอมให้เด็กมาข้ามหน้าข้ามตามึงไม่ได้”

“เด็กนี่มันเก่งกว่ามึงอีก มึงสู้น้องมันไม่ได้”

“น้องมันทำงานดีกว่า และกำลังทำให้มึงเป็นพวกดีแต่พูด”

และเสียงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผมก็ฟังไม่ทันเหมือนกัน

====

เสียงเหล่านี้ชวนให้ผมตีความว่าข้อความทางแชทและน้ำเสียงที่คุยกัน คือน้องคนนี้กำลังกวนประสาทและท้าทายผม

ซึ่งในเสี้ยววินาที ผมก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า…

“การระเบิดอารมณ์ใส่น้อง คือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงบทเรียนที่พึ่งได้เรียนในคลาส Communication Secrets

ปัญหาอย่างหนึ่งในการสื่อสารนั่นก็คือ… ‘เจตนาหรือความกลัวลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูด (Subtext)’

ซึ่งเจตนาที่ซ่อนอยู่ในการระเบิดอารมณ์ครั้งนี้ของผมคือ… “การแสดงอำนาจ”

เพราะเสียงกระซิบที่ผมได้ยินมันกำลังทำให้ผมเห็นว่า “ผมกำลังไม่ปลอดภัย” ถ้ายังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ความสำคัญของผมในทีมจะถูกลดทอนลงและผมจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนี้อีกต่อไป ซึ่งผมยอมไม่ได้!!

====

พอรู้ว่าความกลัวลึก ๆ นี้กำลังบงการชีวิต ผมจึงเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใหม่

เพราะ “การระเบิดอารมณ์” แค่ทำให้ผมรู้สึกมีอำนาจ แต่มันไม่ได้ช่วยให้ทีมของเราเติบโตไปไหนเลย

ผมค่อย ๆ สำรวจเสียงกระซิบภายในใจ ปรับจังหวะของลมหายใจให้ช้าและผ่อนคลาย เปลี่ยนท่าทางใหม่ ให้ผ่อนคลายและมีรอยยิ้มมากขึ้น

ผมเปิดใจคุยกับน้อง เล่าให้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นในใจผม และขอโทษที่ระเบิดอารมณ์ออกไปแบบนั้น

ท้ายที่สุด เราก็ได้ข้อสรุปกันว่า…

การสื่อสารผ่านข้อความ ทำให้เกิดการตีความที่ผิดเพี้ยน

ดังนั้นต่อไปในกรณีที่เป็นเนื้องานที่ต้องพูดคุยกัน เราจะใช้การโทรหากัน มากกว่าการพิมพ์

และหากคุยแล้วอารมณ์เริ่มพลุ่งพล่านแบบนี้อีก ผมจะให้น้องส่งสัญญาณกับผมว่า… “เราหายใจกันเถอะ”

เพื่อให้ผมกลับมามีสติ และตอบสนองได้ดีขึ้น

====

วิธีรับมือเวลาที่อารมณ์ขึ้น

หากคุณเคยหลุดอารมณ์เสียใส่ทีม หรือเพื่อนร่วมงานของคุณ และคุณก็รู้สึกเสียใจที่ทำแบบนั้นลงไป ผมแนะนำให้คุณได้ฝึก 3 ขั้นตอนดังนี้

1.ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง

อารมณ์เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต้องรู้สึกผิดเวลาอารมณ์ขึ้น เราแค่ต้องฝึกรู้เท่าทันว่าตอนนี้ เรากำลังโกรธ เรากำลังเสียใจ เรากำลังอึดอัดอยู่ นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

====

2.ฝึกสำรวจใจตัวเอง

อารมณ์ที่เกิดขึ้น คือผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดความกลัวบางอย่างภายในใจ หรืออาจเป็นการที่เรารู้สึกว่าความต้องการบางอย่างที่สำคัญของเรากำลังถูกคุกคาม

หากเรื่องอะไรมากระทบใจเราบ่อย ๆ ลองสำรวจใจของเราว่าเรากลัวอะไร หรือเราต้องการอะไรกันแน่

และเมื่อเรารู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเองแล้ว มันจะทำให้เรากลับมาพิจารณาหาทางเลือกอื่น ๆ ได้มากขึ้น

เพราะบางครั้ง เราก็ไม่ได้โกรธเพราะอยากโกรธ แต่เราโกรธ เพราะเราต้องการให้ผลงานออกมาดี ซึ่งการจะให้ผลงานออกมาดีนั้น  ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา โดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจคนอื่น

====

3.ฝึกเริ่มใหม่เสมอ

พลาดแล้วก็เริ่มใหม่ ระเบิดแล้วก็ขอโทษแล้วก็ปรับตัว มันอาจจะยากที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนไป แต่หากเราเริ่มใหม่ทุกครั้งเวลาที่พลาด ไม่หมดความพยายามต่อตัวเองที่จะฝึกบริหารและรับมืออารมณ์ให้ดีขึ้น

เมื่อเรารู้ตัวอีกทีหลังจากที่ทำต่อเนื่องไปได้สักระยะ คุณจะประหลาดใจว่าทำไมเพื่อนร่วมงานถึงรู้สึกสนิท เคารพ และอยากเข้าใกล้คุณมากกว่าแต่ก่อน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

เป็นกำลังใจในการฝึกฝนนะครับ

บทความโดย

อ.กิตติ ไตรรัตน์

Self-Leadership Facilitator

ถ้าต้องการฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อให้การทำงานและการสร้างทีมมีประสิทธิภาพสูงสุด เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่สามารถสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ ดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

.

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้คุณได้คือ FLOW Model อ่าน ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด

‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด

คุณไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้นะครับ แล้วปล่อยบทความนี้ผ่านไป แต่ผมคิดว่าคุณอาจจะเสียใจในภายหลัง

ผมมีเรื่องของ ‘แดเนียล คานีแมน’ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอลเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ. 2002 มาเล่าให้ฟัง

คานีแมนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics) และการตัดสินใจ (Decision Making) เจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง Thinking Fast and Slow ที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน

===

คานีแมนบอกเราว่า “เมื่อมีเรื่องให้ตัดสินใจ สมองของคนเรามีการทำงาน 2 ระบบ ระบบแรก เป็นระบบที่รวดเร็ว ตอบสนองตามสัญชาติญานและอารมณ์ ส่วนระบบที่สองเป็นระบบที่ช้า ตอบสนองโดยใช้เหตุผล”

ระบบแรกใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่สองมาก ซึ่งปกติแล้วมนุษย์เรามักจะใช้ระบบแรกในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ฟังเผินๆ ก็น่าจะดีที่เราใช้พลังงานน้อยเพราะสมองเป็นอวัยวะที่กินพลังงานสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของมัน แต่ข้อเสียของการใช้ระบบแรกในการคิดก็คือมันมักทำให้เราตัดสินใจผิด!

===

การตัดสินใจผิดเกิดจากการที่เราทำตามอารมณ์ (การใช้ระบบแรก) โดยขาดเหตุผล (การใช้ระบบที่สอง) ปรากฏการณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘อคติทางความคิด’ (Cognitive Bias) นั่นเอง

อคติทางความคิดเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2020 นี้เป็นต้นมา จาก Influencer สายพัฒนาตัวเองหลายท่าน วันนี้ผมจะยกตัวอย่างให้ดูสัก 2 อคติทางความคิดเพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้น

===

เรื่องแรก ลองนึกภาพตัวคุณซื้อตั๋วดูฟุตบอลคู่หยุดโลก (จริงๆ โลกก็ยังหมุนแหละ แต่ผมพูดให้ดูยิ่งใหญ่) Manchester United ปะทะ Liverpool ที่จะแข่งที่ประเทศไทยกลางปี 2565 ที่จะถึงนี้

ปรากฎว่าในวันที่ฟุตบอลคู่นี้แข่งขันคุณเกิดท้องเสียอย่างหนักในตอนเช้า ในใจลึก ๆ คุณอยากนอนอยู่บ้าน หรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือด้วยซ้ำ แต่กลับเกิดความคิดในหัวของคุณว่า ‘เสียค่าตั๋วไปแล้วราคาแพงมากด้วย’ คุณเลยพยายามที่จะลากสังขารตัวเองไปให้ได้ แม้จะต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปด้วยคุณก็ยอม

ถ้าคุณตัดสินใจจะเลือกทางนี้ด้วยเหตุผลนี้ นั่นแปลว่าคุณกำลังเกิดอคติทางความคิดแล้วครับ

===

อคติทางความคิดรูปแบบนี้คือ Sunk-Cost Fallacy ครับ หรือปรากฎการณ์ที่เราเอาต้นทุนจมซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกคืนไม่ได้แล้วมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าคุณสามารถเอาบัตรไปคืนผู้จัดได้โดยบอกว่าคุณท้องเสีย ขอเงินคืนเต็มจำนวน หรือบางส่วนได้ แบบนี้จะไม่เรียกต้นทุนจม แต่ถ้าคุณทำเช่นนั้นไม่ได้ค่าตั๋วนี้ก็คือต้นทุนจมครับ

ในทางกลับกันถ้าอาการของคุณไม่ได้รุนแรงมากนัก แล้วคุณตัดสินใจโดยมองว่าการไปดูจะได้ความสุขและสนุกมากกว่าการนอนเฉยๆ แบบนี้เป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นอยู่บ้าง หรือสุดท้ายแล้วคุณป่วยหนักจริงๆ แล้วคุณเลือกที่จะไม่ไปโดยขายตั๋วให้คนที่อยากดู (ผมคิดว่ามีเยอะ) ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยครับ

===

Sunk-Cost Fallacy เกิดขึ้นได้แม้ในเรื่องของความสัมพันธ์ สามี-ภรรยาบางคู่อยู่กันมานาน คบกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี มีลูกด้วยกัน พอถึงวันนึงความรู้สึกที่มีต่อกันไม่เหมือนเดิมแต่ก็ไม่ยอมพูดคุยกันเพื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ด้วยกันต่อไป หรือจะแยกทางจากกัน เพราะต่างคิดว่าคบกันมานานขนาดนี้แล้วก็ควรจะคบต่อไป

ถ้าคิดแบบนี้เรียกว่าเอาต้นทุนจมมาคิด (การคบกันมานานในอดีต) หรือ เจอ Sunk-Cost Fallacy อีกแล้วครับ

แต่ถ้าพิจารณาว่าจะอยู่ด้วยกัน เพราะมองว่าการแยกกันจะเกิดผลเสียต่อลูก ต่อตนเอง ตลอดจนทั้งคู่พูดคุยกันว่าสามารถปรับตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ในอนาคต โดยต่อยอดจากการที่เคยรู้จักกันในอดีตและปัจจุบัน แบบนี้เรียกว่าตัดสินใจด้วยเหตุผล ไม่ถือว่าติดกับดัก Sunk-Cost Fallacy

===

สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทความนี้ทั้งหมด 5 เรื่อง ดังนี้

  1. สมองมีการทำงานสองระบบ แบบเร็ว และแบบช้า
  1. เราสามารถเกิดอคติทางความคิดได้ง่ายมาก เมื่อใช้ระบบแบบเร็วมาใช้ในการตัดสินใจ
  1. รู้จัก Sunk-Cost Fallacy หรือต้นทุนจมที่เรามักเอามาใช้ในการตัดสินใจด้วย
  1. อคติทางความคิดอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้จากการตัดสินใจที่เหมือนกัน (เช่น ไปดูฟุตบอลแม้ป่วย) ขึ้นกับเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องนั้นด้วย (ถ้าเอาต้นทุนจมมาเป็นปัจจัยคุณกำลังติดอคติทางความคิดแล้ว)
  1. ขอให้กลับไปพิจารณาบทความนี้ในช่วงต้นอีกครั้ง ผมบอกว่าจะแนะนำให้รู้จักอคติทางความคิด 2 อย่างใช่ไหมครับ สังเกตเห็นไหมครับว่าใกล้จะจบบทความอยู่แล้วแต่ผมพูดถึงแค่ Sunk-Cost Fallacy เท่านั้นเอง

ที่จริง ผมแสดงให้คุณเห็นสิ่งที่เรียกว่า FOMO หรือ Fear of Missing Out ซึ่งเป็นความกลัวที่จะพลาดอะไรบางอย่างตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของบทความแล้ว (ทั้งทั้งหัวข้อ และประโยคแรกที่ผมบอกคุณอาจจะเสียใจ)

ไม่แน่ใจว่าที่คุณอ่านบทความถึงตรงนี้ เป็นเพราะหัวข้อ หรือการเกริ่นนำต้นบทความมากแค่ไหน แต่คุณน่าจะได้เห็นการทำงานของอคติทางความคิดที่ชื่อ FOMO กันไปบ้างแล้ว…แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะครับ

ถ้าอยากตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น อ่าน วิธีสร้างทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อนำไปปรับใช้กับโจทย์ของคุณ คลิกที่นี่

===

การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่ 

บทความโดย

อ.ป้อบ มาติก ตั้งตรงจิตร, CFA, FRM

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการโน้มน้าวและการเจรจาต่อรอง

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ร่วมงานกันอย่างไร ไม่ให้หมดไฟไปเสียก่อน

ร่วมงานกันอย่างไร ไม่ให้หมดไฟไปเสียก่อน

ว่ากันว่าเหนื่อยกับงานไม่เท่าไหร่ แต่เหนื่อยกับคนนี่สิที่ถือเป็น ‘ที่สุดแห่งความเหนื่อย’

และหากต้องทำงานที่ต้องเจอกับคนหลากหลายประเภท (หรือจะเรียกว่า ร้อยพ่อพันแม่) ความกดดันและตึงเครียดก็ยิ่งถาโถมมากขึ้นหลายเท่า

====

การทำงานในปัจจุบันไม่ได้หมกตัวอยู่แค่ในออฟฟิศ แต่มีการกระจายตัวไปหลายที่ มีโมเดลการทำงานใหม่ ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ความสลับซับซ้อนในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังทำให้มีการทำงานเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาอีกด้วย

การวิจัยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันพบว่า คนยุคนี้ต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมองค์กร เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำตามคำบัญชาของเจ้านาย รับมือกับลูกค้าเอาแต่ใจ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่ค่อยเข้าท่า

ทั้งหมดนี้ ทำให้คนทำงาน “รับมือไม่ไหว” และสะสมจนเกิดอาการที่เรียกว่า Burn Out (ภาวะหมดไฟ)จากการทำงานมากขึ้น

และต่อไปนี้คือแนวทางความเข้าใจและหนทางแก้ไข
====

‘หนักเกินเหตุ’ สองรูปแบบที่คุณต้องรู้

การทำงานหนักเกินเหตุมี 2 รูปแบบที่ทำให้คนทำงานถึงขั้นร่างสลายได้ แบบแรกเรียกว่า ‘เห็นผลทันตา’ ส่วนแบบที่สองเรียก ‘สะสมเรื้อรัง’

การทำงานจัดหนักเพื่อให้เห็นผลทันตา มักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องทำงานกับคนอื่น ๆ โดยต้องเพิ่มปริมาณงานมากกว่าปกติ ประเภทมีงานด่วนที่ต้องทุ่มเวลาทั้งสัปดาห์จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน
คุณต้องทำเพราะไม่อยากจะได้ชื่อว่ากลายเป็นคนนอกกลุ่มหรือไม่ให้ความร่วมมือ

และลึก ๆ คุณก็อยากจะได้รางวัลตอบแทน เช่น ได้เลื่อนขั้นด้วย ฉะนั้น หากเจ้านายขอคุณก็ต้องทำ หากเพื่อนบอกคุณก็ต้องช่วย ในขณะที่คุณก็ยังมีงานตามหน้าที่อยู่ด้วย

รูปแบบสะสมเรื้อรังนั้นน่ากลัว เพราะไม่ใช่การที่จู่ ๆ คุณก็ถูกกระชากมาทำงานโหดอย่างฉับพลัน แต่เป็นการค่อย ๆ สะสม ค่อย ๆ เพิ่มพูน ค่อย ๆ ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากทำงานของตัวเองคนเดียวจะเริ่มรับผิดชอบมากขึ้น มีคนมาเกี่ยวข้องมากขึ้น สะสมเครือข่ายการทำงานไม่สิ้นสุด

รู้ตัวอีกทีคุณก็อาจจะกลายเป็นคนที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน ใครทำอะไรคุณก็โผล่ไปช่วยทุกอย่าง จนร่างกายเริ่มพัง จิตใจเริ่มเสื่อมสลาย มีอาการห่อเหี่ยวซึมเศร้าสะสมในตัวเอง

การนอนหลับพักผ่อนให้ถูกต้องคือวิธีการสำคัญที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าคนที่นอนไม่ดีมีโอกาส Burn out มากกว่าปกติสามเท่า อ่าน 3 เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพการนอนเพื่อชีวิตที่ Productive มากขึ้น คลิกที่นี่
====

ทำไมเป็นคนแบบนี้

พฤติกรรมทำงานให้ส่วนรวมแบบจัดหนักเกินไปมักเกิดจากความต้องการสร้างชื่อเสียงให้คนรู้ รวมถึงต้องการลดความตึงเครียดในการทำงานร่วมกัน (เพราะเมื่อมีการปฏิเสธ คนก็จะเริ่มทำหน้าตึง คิ้วขมวดใส่กัน)

หรือบางที อาจจะมาจากนิสัยเต็มใจทำเพื่อส่วนรวมมากเกินไป โดยไม่ได้ยั้งคิดว่ามันทำลายสุขภาพของตัวเอง

การรับมือกับภาวะช่วยงานมากเกินต้องเริ่มต้นจากการรู้ก่อนว่า ทำไมคุณถึงจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานนั้น หรือทำไมคุณถึงเข้าไปช่วยทำงานของส่วนรวม เมื่อไตร่ตรองให้รอบคอบเพื่อค้นหาที่มาที่ไปจะทำให้คุณเริ่มเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง

และนั่นคือจุดเริ่มต้นคือการปรับทัศนคติของตัวเองก่อน
====

ทำอย่างไรให้งานส่วนรวมไม่ทำร้ายเรา

การปฏิเสธให้เป็น ถือเป็นก้าวแรกในการรับมือกับนิสัยทำงานส่วนรวมมากเกินไป ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือทำลายสังคมแม้แต่น้อยหากจะบอกคนอื่นว่า เราไม่อาจทำงานนั้นได้ด้วยเหตุผลที่น่ารับฟัง แถมเรายังได้ความรู้สึกมั่นใจและเคารพตัวเองกลับคืนมาอีกด้วย

ถัดมา คือการปรับบทบาทหน้าที่ ตารางงาน และเครือข่ายการทำงาน เพื่อไม่ให้คุณต้องตกอยู่ในวงล้อมของการทำงานส่วนรวม และลดการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่ไม่มีความจำเป็นออกไปให้หมด เรียกกระบวนการนี้ว่า การปรับภูมิทัศน์การทำงานของตัวเอง

เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเผลอไปรับปากทำงานส่วนรวมที่ไม่สำคัญสำหรับคุณ รวมถึงปรับวิธีประสานงานให้เกิดผลดีกับตัวเอง บางอย่างใช้ reply all บางอย่างใช้ cc ในการตอบอีเมล์ เพื่อให้ภาระไม่ตกอยู่กับคุณในตอนท้าย

วิธีการทั้งหมดนี้ จะทำให้คุณสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่ทุกข์ทรมานกับการต้องร่วมงานกับคนมากๆ หรือรับงานส่วนรวมมาใส่ตัว และท้ายที่สุด คุณจะสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหนื่อยเกินทน หรือภาวะหมดไฟได้อีกด้วย

====

การสร้างความสัมพันธ์ภายในทีมต้องมี  Mindset และทักษะมากมายที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝน ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching and Feedback  คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่

เขียนโดย

เรียบเรียงจาก “Collaboration Without Burnout” โดย Rob Cross, Scott Taylor, and Deb Zehner จาก Harvard Business Review กรกฎาคม ถึง สิงหาคม 2018

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน

5 วิธีรับมือกับความเครียดในการทำงาน

การทำงานเป็นสาเหตุให้คุณเกิดความเครียดได้ ไม่ว่าความเครียดนั้นจะมาจากงานที่เพิ่มขึ้น เวลาที่น้อยลง หัวหน้างานผู้เข้มงวด หรือเพื่อนร่วมงานช่างนินทา

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันสามในสี่คนทุกข์ทรมานจากความเครียดในที่ทำงาน นอกจากนี้ องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ในแต่ละปีความเครียดเป็นสาเหตุให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากป่วย และทำให้ธุรกิจของอเมริกาเสียหายถึง 3,000 ล้านเหรียญ

จากข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่าความเครียดนั้นน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงจิตใจของผู้คนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในด้านต่างๆด้วย

ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดความเครียดก่อนที่มันจะกำจัดเรา โดยบทความนี้ได้แนะนำหลักปฏิบัติ 5 ข้อ เพื่อให้คุณสามารถจัดการและรับมือกับความเครียดในที่ทำงานได้ ดังนี้

====

1) ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเครียดของคุณ กล่าวคือ อาหารสามารถกระตุ้นหรือบรรเทาความเครียดให้คุณได้ ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของอาหาร

อาหารที่ช่วยขจัดความเครียด ได้แก่ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่ว เผือก มัน น้ำเปล่า เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ และยังช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความเครียดได้อีกด้วย

นอกจากอาหารที่ควรรับประทานเพื่อลดความเครียดแล้ว ยังมีอาหารที่คุณควรหลีกเลี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารเพิ่มความเครียด ในระยะแรกที่ได้รับประทานคุณอาจรู้สึกดี แต่หากคุณรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือรับประทานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดสภาวะความเครียดสะสมในร่างกายได้

====

 2) กำหนดลมหายใจเข้า-ออก

เรื่องการหายใจก็มีความสัมพันธ์กับความเครียดเช่นกัน คุณจะพบว่าเมื่อคุณเครียด คุณจะหายใจเร็วหายใจตื้น หัวใจเต้นเร็ว และมีอาการกระสับกระส่าย

ดังนั้น เมื่อคุณเครียด ให้คุณกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยคุณอาจหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆประมาณ 1-2 นาที คุณสามารถทำเช่นนี้ในช่วงพักเที่ยง หรือระหว่างวันก็ได้ และหากคุณมีเวลามากกว่านั้น คุณอาจทำในช่วงเช้าและก่อนนอนด้วย

วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าและออกคล้ายๆกับการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้คุณลดความเครียดลงได้ เพราะเมื่อคุณหายใจเต็มปอดก็จะทำให้เลือดและสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น และสิ่งนี้จะทำให้คุณสดชื่น และกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น

====

3) ออกกำลังกาย

เวลาที่คุณนั่งจมอยู่กับปัญหาในที่ทำงาน นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เครียดเกร็งโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่รักษายาก

วิธีแก้ไขความเครียดที่ง่ายและทำได้ทันที ก็คือ ลุกออกมาจากโต๊ะทำงาน ยืดเส้นยืดสาย หรือเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถสัก 10-15 นาที 

นอกจากนี้ ในแต่ละวันคุณควรแบ่งเวลาประมาณ 30 นาทีเพื่อออกกำลังกาย ในช่วงแรกของการเริ่มต้น คุณอาจรู้สึกว่ายาก แต่หากคุณทำมันอย่างต่อเนื่อง ร่างกายของคุณจะแข็งแรงขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายแข็งแรง คุณก็จะสามารถรับมือกับความเครียดได้

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดพิน ซึ่งทำให้คุณรู้สึกดี มีพลัง และกระฉับกระเฉงมากขึ้น แต่หากคุณยังไม่มีแรงบันดาลใจมากพอ ให้ลองจัดกิจกรรมออกกำลังกายกับเพื่อนร่วมงานของคุณ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกสนุกและอยากออกกำลังกายมากขึ้น

====

4) เลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก หลีกเลี่ยงข้อมูลด้านลบ

ในที่ทำงานของคุณย่อมมีคนหลากหลายประเภท และคำกล่าวที่ว่า “หงส์อยู่ในฝูงหงส์ กาอยู่ในฝูงกา” นั้นเป็นจริงเสมอ

กล่าวคือ คนที่มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกันมักรวมตัวอยู่ด้วยกัน ดังนั้น หากคุณไม่อยากเครียด ก็ไม่ควรที่จะสุงสิงหรือยุ่งเกี่ยวกับคนที่ทำให้คุณเครียด

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานบางคนชอบระบายความเครียดให้ผู้อื่น เมื่อเขาไม่พอสิ่งใด เขาจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อต่อว่า แสดงน้ำเสียงเกรี้ยวกราด หรือแสดงท่าทางก้าวร้าว เป็นต้น

พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณ เพราะฉะนั้นจงอยู่ให้ไกลจากคนประเภทนี้ แต่ทว่า บางครั้งหากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้คุณมีสติ กลั่นกรองข้อเท็จจริง อย่าเชื่อข้อมูลทุกอย่างที่เขาพยายามสาดใส่คุณ เพราะนั่นจะทำให้คุณเครียด และกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

ทางที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเลือกคบเพื่อนร่วมงานที่มองโลกในแง่ดี และเลือกรับฟังข้อมูลด้านบวก และหากคุณเกิดความเครียดให้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ตนเองผ่อนคลาย เช่น การดูหนัง ฟังเพลง การท่องเที่ยว เป็นต้น

====

5) เลือกเสพข่าวสารอย่างเหมาะสม

หากคุณเป็นพวกที่ชอบเกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองโดยติดตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กตลอดเวลา คุณกำลังจะเครียดโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจากพฤติกรรมของสื่อในปัจจุบันมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลในเชิงลบอย่างซ้ำไปซ้ำมา นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวมักใส่ความคิดเห็น หรือแสดงอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวลงไปในเหตุการณ์ที่นำเสนอ สิ่งนี้ทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์ร่วม และเกิดความเครียดในที่สุด

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดเชิงลบ คุณควรเลือกรับข่าวสารอย่างเหมาะสม กล่าวคือ คุณควรจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูล ไม่ควรเสพข้อมูลมากเกินไป เพราะเมื่อคุณรับข้อมูลแล้ว สมองของคุณก็จะบันทึกและประมวลผล ซึ่งหากข้อมูลมีเนื้อหาที่รุนแรงและมีปริมาณมากเกินไป คุณก็จะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่คุณเสพด้วย

นอกจากนี้ คุณควรเลือกรับสารที่มีประโยชน์ และมีเนื้อหาในแง่บวก เช่น ภาพการช่วยเหลือสังคม ภาพความสำเร็จ เป็นต้น เพราะข่าวสารดีๆเหล่านี้จะทำให้คุณมองโลกในแง่ดี และเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิต

มีวิธีการบริหารความเครียดอีกมากมายที่คุณเรียนรู้และฝึกฝนได้ด้วยตัวเอง  อ่านประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์เพื่อฝึกบริหารจัดการอารมณ์ของคุณเองคลิกที่นี่

===

ที่มา : http://www.pickthebrain.com/blog/5-ways-reduce-stress-work-place/

 

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

4 คุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่

4 คุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่

ผู้นำองค์กรคนหนึ่งกำลังนำทีมผ่านพายุแห่งความเปลี่ยนแปลง บริษัทการเงินของเขาต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งสำคัญ นั่นคือ…

มีพนักงานคนสำคัญที่นิสัยดีมากแต่ทำงานไม่ได้เรื่อง และมีคำถามในหัวของเขาคือ “จะเชิญพนักงานคนนี้พ้นจากตำแหน่งในบริษัทได้อย่างไร”

โชคร้ายที่ผู้นำองค์กรท่านนั้นไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หรือเขาอาจตัดสินใจไปแล้วแต่ไม่กล้าลงมือ เวลาผ่านไป 3 เดือนเขาก็ยังไม่ยอมเซ็นคำสั่ง เสียงในหัวของเขามีแต่คำต่อว่าตัวเองว่า “อ่อนแอจัง”

====

คุณก็รู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความรู้สึก น้อยคนมากที่จะทำตามที่คิดเอาไว้ได้ทุกอย่าง หลายครั้งที่เดินมาถึงช่วงเวลาสำคัญที่ต้องตัดสินเชิงกลยุทธ์โดยไม่มีอารมณ์มาปะปน ก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่ยากเสมอ

ต่อให้ไม่ใช่ CEO หรือไม่ได้มีตำแหน่งหัวหน้า แต่ถ้าถึงคราวที่ต้องขึ้นมานำทีมหรือนำโปรเจคอะไรสักอย่าง สิ่งที่เราต้องมีก็คือพลังอำนาจ การสร้างแรงดึงดูดเพื่อให้คนยอมทำตามโดยพร้อมพลีกายถวายชีวิตอย่างสุดความสามารถ

แต่การนำทีมแบบแข็งเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี ผู้นำต้องแสดงถึงความห่วงใยคนในทีม การสื่อสารให้ดีที่สุด การจูงใจอย่างเหมาะสมที่ไม่ยอกย้อนจนดูมีเล่ห์เหลี่ยม

ผู้นำที่ดีควรจะจริงใจและเป็นตัวของตัวเองในขณะเดียวกันก็รับฟังและแสดงความโอบอ้อมอารีแม้ว่าจะถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงก็ตาม 

====

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานกับผู้นำประเภทต่าง ๆ มาแล้วมากมายจนสามารถตกผลึก 4 คุณลักษณะที่ผู้นำจะต้องมี ดังนี้

1.มีความมั่นใจในตัวเอง (Confident)

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่ผู้นำสอบผ่านกันทุกคน แต่มันไม่เป็นความจริงเลย เป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้นำหลายคนที่ประสบความสำเร็จกลับสอบตกในข้อนี้กันหลายคน

อย่าให้ภาพลักษณ์ภายนอกมาหลอกลวงคุณได้ เพราะแท้จริงแล้วภายในใจของผู้นำหลายคนกลับเปราะบาง

หลายคนทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะต้องการอำพรางความไม่มั่นใจในตนเอง จึงมุ่งสร้างภาพให้คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกพึงพอใจที่เห็นเขาทุ่มเทจริงจัง

ความมั่นใจที่แท้จริงคือ ผู้นำจะรู้ว่าตัวเองเป็นใคร สามารถมองภาพอนาคตว่าตัวเองจะเป็นอะไร เขาจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายนั้นโดยไม่วอกแวกระหว่างทาง รวมถึงใช้พลังงาน เวลา ทักษะความสามารถ และเงินอย่างชาญฉลาดและมีกลยุทธ์ ไม่ใช่บ้าพลังทุ่มเททุกสิ่งเหมือนคนเสียสติ

ถ้าการสร้างความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ ขอแนะนำให้อ่าน สุดยอดเทคนิคสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองที่เห็นผลสุดๆ คลิกที่นี่

====

2.เชื่อมต่อกับผู้อื่น (Connected)

การสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพจะนำมาซึ่งความเข้าใจในการทำงาน กระทั่งเวลาที่มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ยังทำให้คนอื่นรู้สึกไว้วางใจในตัวเราได้

หมายความว่าเมื่อมีข้อขัดแย้งหรือเกิดปัญหาใดใดอย่าเพิ่งผลีผลามทำอะไรโดยไม่เห็นหัวคนอื่น แต่จะต้องค่อย ๆ หาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

====

3.มีจุดหมายในภารกิจอย่างชัดเจน (Committed)

ผู้นำต้องรู้แน่ชัดว่าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จแล้วผลักดันให้คนอื่นมาร่วมทำด้วยตั้งแต่เริ่ม นอกจากนี้ยังต้องเปิดใจให้กว้างและไม่รีรอที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่วางเอาไว้

หมายความว่า อะไรที่ขัดขวางเป้าหมายนั้น ผู้นำจะต้องจัดการได้อย่างเด็ดขาด

หากมีหัวหน้าพนักงานขายที่ทำงานไม่ได้ตามที่ต้องการ สิ่งที่ผู้นำต้องทำคือการแสดงความเด็ดขาดเพื่อให้ลูกน้องทุกคนได้เห็น ท้ายที่สุดแล้วการไล่ออกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะมันคือภารกิจในการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

====

4.มีความกล้าหาญ (Courageous)

เมื่อใดที่เกิดความเสี่ยง เมื่อนั้นผู้นำย่อมรู้สึกเปราะบาง ผู้นำบางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงและอำพรางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงโดยไม่สื่อสารให้ใครรู้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ผู้นำจะต้องเข้มแข็งพอที่จะบอกทุกคนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากอย่างรวดเร็วด้วย

ถือเป็นเรื่องดีมากหากใครเป็นผู้นำที่สามารถหลอมรวมคุณลักษณะทั้ง 4 ข้อมาไว้ในตัวได้ แต่ถ้าจะไม่มีทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้นำบางคนมีเพียง 1 หรือ 2 ข้อ แต่ทั้งหมดสามารถฝึกฝนได้ และถ้าคุณทำได้ครบทุกข้อ คุณคือผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งแล้วล่ะ

====

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพคือทักษะสำคัญที่จะทำให้ผู้นำเชื่อมโยงกับคนในทีม คนในองค์กร และคนภายนอกได้ เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องนี้ได้ในหลักสูตร  Executive Communication ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Great Leaders Are Confident, Connected, Committed, and Courageous” โดย Peter Bregman ตีพิมพ์เมื่อ 13 กรกฎาคม 2018 ใน Harvard Business Review

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save