สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำเก่ง ๆ ‘ล้มเหลว’

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำเก่ง ๆ ‘ล้มเหลว’

เคยเห็นผู้นำเก่งๆ ที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมได้ตลอดไหม?

เชื่อว่าทุกคนคงมีภาพผู้นำแบบนั้นอยู่ในใจ แต่ถ้าจะบอกว่าผู้นำที่เก่งแบบนั้นก็ล้มเหลวได้เหมือนกันล่ะ คุณคิดอย่างไร

=====  

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเก่งไปหมดทุกอย่าง และคนที่เก่งก็อาจจะล้มเหลวด้วยสาเหตุที่คุณนึกไม่ถึงมาก่อนเลยก็ได้   

ผู้นำ หรือ หัวหน้า นั้นมีอย่างน้อยสองแบบ แบบแรกโฟกัสไปยังการสร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน เช่น สร้างสินค้ามาแรงในตลาด ทำยอดขาดสูงลิบลิ่ว ส่วนแบบที่สองโฟกัสไปยังการสร้างความสัมพันธ์กับคนในทีม 

=====

บรรดาผู้นำที่สร้างผลลัพธ์ได้เก่งกาจ หลายครั้งก็มักจะโฟกัสไปยังผลงานที่จับต้องได้มากจนเกินไป หากเป็นเช่นนั้น เขาอาจจะละเลย …

– ความใส่ใจที่มีต่อลูกน้อง

– การสร้างความสัมพันธ์ การสร้างทีมที่ดี

-การให้แรงบันดาลใจ

ผู้นำบางคนถึงกับคิดว่า ถ้าให้ความสนใจกับมนุษย์มากเกินไปจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่บรรลุผลเลยด้วยซ้ำ !

ผลการศึกษายืนยันว่า ผู้นำที่เน้นผลลัพธ์ของการทำงานมากเกินไป จะเอาแต่สร้างตัวเลขและยอดรายได้จนกระทั่งลืมเรื่องอื่นๆ จนเมื่อนำทุกองค์ประกอบมาประมวลเป็นคะแนน ผู้นำแบบนี้กลับสอบตก เพราะสิ่งที่เขาทำไม่สมดุล ทำให้เกิดผลที่เสียหายต่อองค์กร บรรยากาศในการทำงานแย่ ลูกน้องต่างหมดใจที่จะทำงานด้วย ทั้งหมดนี้ยืนยันได้จากตัวเลขการลาออกของพนักงาน

=====


ผู้นำที่เก่งจริงจะสร้างสมดุลระหว่างงาน (ทำให้งานสำเร็จ) กับคน (ให้แรงบันดาลใจ พัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดพลัง) ซึ่งผู้นำส่วนใหญ่มักไม่ค่อยทำอย่างหลัง บางคนขาดทักษะด้านนี้หรือไม่เชื่อในเรื่องการสร้างสัมพันธ์กับคนเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากกลัวควบคุมคนไม่ได้ หรือกลัวทำให้มีเวลาไปสร้างผลงานน้อยลง

แต่ถ้าหากอยากจะเป็นผู้นำที่ไม่ล้มเหลว คุณต้องไม่โฟกัสไปยังผลงานมากเกินไป โดยใช้วิธีการต่อไปนี้ 

=====

ลองฟังฟีดแบ็ค 

ลองถามคนที่เกี่ยวข้องในการทำงานว่าเราสร้างสมดุลของการโฟกัสได้ดีหรือยัง ให้อีกฝ่ายคิดเป็นคะแนนกลับมาก็ได้ ถ้าคะแนนฝั่งของการโฟกัสไปยังผลงานมากเกินไป คุณควรจะหันกลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับคนบ้าง

=====

โฟกัสไปยังคนด้วยความตั้งใจ

ให้เวลากับคนที่ทำงานร่วมกันและลูกทีม หาเวลาพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนเรื่องงาน อาจจะไปดื่มกินเพื่อรู้จักกันให้ดี กระชับความสัมพันธ์ ซึ่งควรจะทำให้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้รู้สึกฝืนใจทำ ซึ่งจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานร่วมกัน

=====

สังเกตตัวเองให้ดี

ลองสังเกตว่าคุณทำอะไรเร็วเกินไป หรือไม่ค่อยมีความอดทนหรือเปล่า เพราะนั่นแปลว่าคุณกำลังคิดแต่จะสร้างผลลัพธ์ มองเห็นแต่เป้าหมาย ลองสร้างสติระลึกตัวเอง หรือตั้งคำถามว่า เราทำอะไรเร็วไปไหม การที่เราไม่ยอมปล่อยวางหรือทำอะไรให้ช้าลง นั้น เรากำลังกลัวอะไรอยู่หรือเปล่า

การสังเกตและรู้เท่าทันตัวเองคือทักษะที่ฝึกได้ อ่านบทความวิธีการฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

=====

ทำลายความเชื่อผิดๆ

คนเรามักจะมีความเชื่อผิดๆ ในการทำงาน เช่น เชื่อว่าตนเองทำบางเรื่องไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ไม่โอเคตามมา ลองหาเวลาคุยกับคนที่สร้างสมดุลระหว่างผลงานกับสร้างคนได้ดี ลองถามเคล็ดลับว่าทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จทั้งสองอย่างพร้อมๆ กันแล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง

=====

ฝึกจัดการตัวเอง

เมื่อระลึกตัวเองได้แล้วว่าอะไรเข้าท่า อะไรไม่เข้าท่าสำหรับคุณและทีมของคุณ   ขั้นตอนต่อไปคือการฝึกตัวเองให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การไม่เที่ยวไปส่งอีเมลเกี่ยวกับงานสำคัญในช่วงวันหยุด เลิกย้ำเตือนให้คนอื่นใช้ความพยายามมากขึ้น หรือใช้เวลาในการหันมาเอาใจใส่สอนงานลูกน้อง เป็นต้น 

หากไม่อยากเป็นหนึ่งในผู้นำที่เก่งแต่ล้มเหลว เราขอแนะนำให้คุณเรียนรู้และฝึกฝนทักษะสำหรับผู้นำยุคใหม่ ในหลักสูตร The New Leadership Skill คลิกที่นี่ครับ
===== 

เรียบเรียงจาก“Why Highly Efficient Leaders Fail” โดย Rebecca Zucker ตีพิมพ์เมื่อ  12 กุมภาพันธุ์ 2019 ใน Harvard Business Review

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ระวัง! คุณอาจเป็นหัวหน้าที่พูดจนทีมพัง

ระวัง! คุณอาจเป็นหัวหน้าที่พูดจนทีมพัง

คุณอาจคิดว่าหัวหน้ามีหน้าที่สั่งการและพูดคุยกับลูกน้อง แต่ก็ใช่ว่าคนเป็นหัวหน้าจะต้องพูดอะไรเยอะแยะไปหมด

มีการสำรวจพบว่าลูกน้องจำนวนไม่น้อยบ่นว่า หัวหน้าของตัวเองพยายามสื่อสารอะไรเยอะเกินไปจนกระทบมาถึงเวลาทำงานที่มีน้อยลง 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นกลับให้ข้อมูลอีกแบบว่า การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและมีปริมาณพอสมควร จะทำให้งานก้าวหน้าได้มากขึ้น

สรุปแล้ว หัวหน้าควรจะพูดมากแค่ไหน คำตอบก็คือ การสื่อสารที่ไม่ทำให้เสียเวลาทำงาน แต่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอย่างเต็มที่ หรือเรียกอีกอย่างว่า พูดแต่พอดี อย่าให้มากหรือน้อยเกินไปนั่นเอง และต่อไปนี้คือ หลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ 

=====

สื่อสารสองทาง

เมื่อหัวหน้าพยายามสื่อสารวิสัยทัศน์และวิธีการทำงาน ส่วนใหญ่มักจะพูดไปเรื่อยอย่างที่ใจคิด ซึ่งลูกน้องในทีมก็มักจะฟังไปตามหน้าที่ แต่หัวหน้าต้องทำให้การพูดคุยมีความหมายจริง ๆ โดยการให้อีกฝ่ายได้พูด และหัวหน้าต้องเป็นฝ่ายฟังบ้าง

เมื่อมีการประชุม หัวหน้าอาจจะมีหน้าที่พูดเป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องไม่ลืมรับฟัง และเมื่อมีคำถามเกิดขึ้นก็อาจเชิญให้คนในทีมร่วมกันแสดงความคิดเห็นด้วย

หนึ่งในวิธีการสื่อสารสองทางที่ดีคือการสร้างระบบ Feedback เรียนรู้วิธีการให้ Feedback ภายในทีมอย่างมีประสิทธิภาพได้ คลิกที่นี่ 

=====

อย่าขัดจังหวะการทำงาน

เมื่อเห็นว่าลูกน้องในทีมกำลังสาละวนกับการทำงาน  เช่น พยายามปิดจ๊อบให้สำเร็จ หัวหน้าไม่ควรผลีผลามเข้าไปสร้างบทสนทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายก็จงปล่อยให้คนในทีมได้อยู่ใน โซนของตัวเองต่อไป (หมายถึง การทำงานด้วยสภาวะลื่นไหล มีสมาธิสูง) เพราะเมื่อใดที่คนกำลังโฟกัสกับงานของตัวเองอย่างเต็มที่ก็ย่อมไม่อยากถูกขัดจังหวะอย่างแน่นอน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่วงเวลาที่หัวหน้าจะพูดคุยกับลูกน้องได้ดีที่สุดจึงมักจะเป็นช่วงเริ่มต้นทำงานตอนเช้า หรือช่วงใกล้จะเลิกงาน (แต่ถ้าลูกน้องรีบจะออกไปทำธุระอย่างอื่น ก็อย่าไปขวางทางเขาเด็ดขาด)

=====

หาทางพูดคุยแบบตัวต่อตัว(อย่างน้อย)เดือนละครั้ง

เพื่อให้ไอเดียและงานต่างๆ ดำเนินไปตามแผน สมาชิกในทีมควรได้พูดคุยกับหัวหน้าแบบตัวต่อตัวเดือนละครั้ง  และเพื่อไม่ให้การพูดคุยนี้เป็นไปตามพิธี ลูกทีมควรจะได้รับโจทย์ให้หาประเด็นที่ต้องแก้ไขเพื่อเข้ามาพูดคุยกับหัวหน้าและในทางตรงกันข้าม เรื่องดี ๆ ก็สามารถนำมาพูดคุยได้เช่นกัน ในขณะที่เรื่องที่ควรปรับปรุงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์ได้

=====

ไม่ใช่แค่เปิดประตูรอลูกน้องมาปรึกษา

โดยปกติหัวหน้างานมักจะบอกลูกน้องว่า “ประตูห้องทำงานผมเปิดอยู่เสมอ เข้ามาปรึกษาได้” ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น หัวหน้าจะต้องมีการกระทำเชิงรุก ส่งเสริมให้คนในทีมแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีประเด็นอะไรเกิดขึ้น หัวหน้าควรส่งเสริมให้คนในทีมได้ร่วมกันพูดคุย มองหาอุปสรรคและก้าวข้ามไปด้วยกัน 

สรุปแล้วการพูดมากของหัวหน้านั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่การพูดไม่ถูกเวลา ไม่ถูกจังหวะ และพูดโดยไม่รับฟังต่างหากที่เป็นปัญหา การส่งเสริมให้ลูกน้องได้พูดและหัวหน้ารับฟังพร้อมกับสร้างวัฒนธรรมการแชร์ความเห็นคือทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้

เพราะการสื่อสารคือทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับหัวหน้าอย่างคุณ  เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในหลักสูตร Executive communication คลิกที่นี่ครับ

===== 

เรียบเรียงจาก “Don’t Be the Boss Who Talks Too Much” โดย Hjalmar Gislason จาก Harvard Business Review 3 พฤษภาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

4 สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมพร้อมก่อนคุยเรื่องยาก

4 สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมพร้อมก่อนคุยเรื่องยาก

หนึ่งในช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสในการทำงาน คือ การที่เราต้องคุยหรือแจ้งข่าวที่แม้แต่เราเองยังลำบากใจ

เช่น  การเชิญคนออกจากงาน ทั้ง ๆ ที่คนนั้นยังเป็นที่รักใคร่ในหมู่เพื่อนร่วมงาน แถมเขาเองก็ยังมีภาระด้านการเงินอีกมากมาย 

แต่ผลงานที่ผิดพลาดและไม่เข้าเป้าเอาเสียเลยก็ทำให้การคุยเรื่องที่ยากเกิดขึ้นจนได้ และคุณก็ไม่มีทางเลือกนอกจากการเดินหน้าคุยเรื่องยากแบบนี้ให้ลุล่วงไป

=====

ตำราต่าง ๆ บอกวิธีจัดการสถานการณ์เช่นนี้ กลยุทธ์การพูดหรือคำแนะนำด้านการสนทนาดี ๆ มีให้อ่านมากมาย ประเภทว่า เราจะเริ่มต้นประโยคแรกอย่างไรดี  เราจะแสดงความห่วงใย (ทั้งที่กำลังจะไล่เขาออก) ได้อย่างไร เราจะยังคุมสถานการณ์และมุ่งเป้าไปยังสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร

งานวิจัยบอกว่า ปัจจัยชี้ขาดว่าคุณจะทำภารกิจนี้ได้สำเร็จหรือไม่ ไมใช่ทักษะในการพูดแต่เป็นการเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนถึงการนัดหมายพูดคุย

 ถ้าคุณกำหนดเวลาพูดคุยไว้ตอนบ่าย 2 โมง นั่นแปลว่า ช่วงเวลาที่สำคัญอันจะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ คือการเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ตอนบ่ายโมงครึ่งนั่นเอง  

=====

ต่อไปนี้คือ 4 ข้อที่คุณจะต้องเตรียมตัว ถ้าอยากให้การคุยเรื่องยากผ่านไปได้อย่างราบรื่น

1.ตั้งเข็มทิศให้ถูกต้อง

คุณจะต้องมีเป้าหมายในการพูดที่แน่ชัด และพุ่งตรงไปสู่ทิศทางนั้น อย่าได้ไขว้เขวเด็ดขาด สมมติว่าอยากจะเชิญพนักงานสักคนออก แต่ดันไปตั้งเข็มทิศไว้ที่การอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ อยากหาวิธีการที่นิ่มนวลที่สุด เชื่อเลยว่าผ่านไปนานแค่ไหน ก็ไม่มีวันจะสะสางปัญหาได้ แถมยังคอยคิดเอาใจช่วย หลอกตัวเองว่าเขาไม่ได้แย่ขนาดที่จะต้องไล่ออกอีกด้วย  

ฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ว่า เป้าหมายจริงๆ ของเราคืออะไร สำหรับคนอื่นๆ คืออะไร สำหรับความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันคืออะไร และคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียคืออะไร  ในกรณีนี้ ถ้าจะเชิญออกก็จงให้ออก แต่จงคิดอย่างมีมนุษยธรรม ว่าจะหาทางช่วยเหลือต่อไปอย่างไร คนที่เคยร่วมงานจะต้องแบกภาระแทนแค่ไหน หรือคนมีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับผลอย่างไร

=====

2.วางอารมณ์ให้พอดี

อารมณ์ที่มากหรือน้อยเกินไปมักจะทำลายการพูดคุยเรื่องยาก ๆ  บางทีเราก็โกรธ หวาดกลัว เจ็บปวด หรือป้องกันตัวเองเกินไป ทั้งที่งานวิจัยบอกเราว่า อารมณ์ที่เรารู้สึกรู้สานั้น บางทีไม่ได้มีส่วนอะไรกับความรู้สึกของคนที่เราพูดคุยหรือเจรจาด้วยเลย

อย่างแรกคือต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็น เหยื่อ ของสถานการณ์ เราไม่ต้องมาเจ็บปวดอะไรทั้งสิ้นกับการต้องเผชิญหน้าพูดคุย และอย่าไปมองว่าอีกฝ่ายคือผู้ร้ายที่จะคอยทำให้เราช้ำใจ แต่ให้มองว่าตัวเองกำลังเป็น “นักแสดง” ที่ต้องเล่นตามบท ตามอารมณ์ที่ถูกกำกับไว้ และอีกฝ่ายหาใช่ผู้ร้ายต้องหวาดกลัว แต่เป็นมนุษย์ที่สามารถเข้าอกเข้าใจได้และมีเหตุผลได้ 

=====

3.ใส่ข้อเท็จจริงเข้าไปก่อน

การเริ่มต้นพูดคุยเรื่องหนักๆ ด้วยข้อสรุปของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ แต่มันควรเป็นการเริ่มต้นจากให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ ที่ยอมรับกันทุกฝ่าย แล้วค่อยๆ ตะล่อมไปสู่บทสรุป จะดีกว่า ลองนึกดูว่าถ้าเปิดมาด้วยการบอกว่าคุณไม่ดีพอ คุณถูกไล่ออก คงจะไม่เข้าทีนัก แต่ลองปรับเป็น การพูดถึงสิ่งที่เขาทำแล้วไม่เข้าท่า พูดถึงมาตรฐานการประเมินผลงาน พูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดแจ้งก่อน แล้วค่อยสรุปท้ายสุดจะดีกว่า

=====

4.ผสมความมั่นใจเข้ากับการรับฟังอีกฝ่าย

ความมั่นใจจะทำให้เราทำงานพูดคุยนี้สำเร็จลุล่วงได้ แต่มันจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดรับความคิดเห็นและความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วย การรับฟังว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร มีเหตุผลอะไร มีข้อมูลอะไรบ้าง จะทำให้รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ ว่ากันว่าหนทางที่จะโน้มนำให้อีกฝ่ายคล้อยตามเรา ไม่ใช่แค่ลมปากของเรา แต่เป็นการใช้หูรับฟังเสียงของอีกฝ่าย ฟังอย่างตั้งใจ หรือ Active Listening และมีความจริงใจ จะทำให้อีกฝ่ายไม่ต่อต้านสิ่งที่เราสรุปในท้ายที่สุดแน่นอน

การสื่อสารคือทักษะสำคัญในการทำงานที่คุณจำเป็นต้องฝึกฝน เรียนรู้และฝึกฝนวิธีการสื่อสารเรื่องยากได้ในหลักสูตร Team Communication and Collaboration คลิกที่นี่ 

=====

เรียบเรียงจาก “4 Things to Do Before a Tough Conversation” โดย Joseph Grenny จาก Harvard Business Review 12 มกราคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093-925-4962

 

Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพสูง

Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม

โดยปกติแล้วคนเราจะจำในสิ่งที่ได้ยิน เพียงร้อยละ 25 – 50 เท่านั้น

นั่นแปลว่า ตลอดเวลา 10 นาทีที่เราคุยกับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือคนรัก เราจะสนใจฟังและจดจำสิ่งที่เขาพูดได้ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ 

=====

ในบรรดาทักษะสำคัญในการสื่อสารและเรียนรู้ทั้ง 4 อย่าง  คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ผู้คนมักจะให้คุณค่ากับการพูดและการเขียนมากที่สุด รองลงมาคือการอ่าน ส่วนการฟังคนมักจะไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง การฟัง คือ ทักษะที่สำคัญมากถึงขนาดที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นอีกด้วย

=====

ลองนึกถึงการฟังแล้วได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ฟังจนเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างแตกฉาน ฟังแล้วเกิดความเพลิดเพลิน สบายใจหรือฟังแล้วได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ประโยชน์มากมายเหล่านี้ที่น่าจะทำให้ถึงเวลาที่คุณจำเป็นต้องฝึกทักษะ “Active Listening” หรือ การฟังอย่างตั้งใจ กันแล้ว

===== 

Active Listening คือ การมีสติตลอดเวลาที่ฟัง ไม่เพียงรู้ว่าข้อความที่ได้ยินคืออะไร แต่ยังรวมไปถึงการเข้าใจประเด็นของสิ่งที่ได้ยินอีกด้วย

 หลักการเบื้องต้น คือ การมีสมาธิ กับ สติ ไม่ถูกสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศรอบตัวทำให้ไขว้เขว ไม่คิดฟุ้งหรือตอบโต้สิ่งที่ได้ยิน 

เคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือ เวลาฟังอะไรให้ทวนสิ่งที่ได้ยินเป็นระยะ ๆ ทำให้เรายังจดจ่อกับเรื่องราวได้ดี รวมไปถึงการทำให้อีกฝ่ายได้รับรู้ด้วยว่า เรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่  

การทวนนี้ทำได้ตั้งแต่การทวนคำพูดของเขา  การตอบรับสั้น ๆ เช่น อืม อ่อ  การใช้ภาษาท่าทาง เช่น การพยักหน้า หรือทำทั้งหมดนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ 

=====

อย่างไรก็ตาม ให้ระวังการพยักหน้าตอนกำลังฟัง เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดว่าคุณกำลังเห็นพ้องต้องกันกับเขาไปเสียทุกเรื่อง ให้ทำแค่พอประมาณเพื่อให้รู้ว่าคุณกำลังตั้งใจฟังเขาอยู่ก็เพียงพอแล้ว 

สรุปแล้ว เคล็ดลับสำหรับการเป็น “นักฟังที่ดี” ได้แก่ การเดินตาม 5 วิธีการดังนี้

1.สนใจผู้พูด

เมื่อฟังใครพูดก็มุ่งเน้นความสนใจไปยังคนที่กำลังพูด คอยสังเกตภาษากายหรือน้ำเสียงของเขาด้วย เริ่มจากมองไปยังผู้พูด ถ้าคิดว่ามีอะไรที่จะมากวนจิตใจของเราก็ให้ทิ้งไปก่อน  อย่าคิดตอบโต้ระหว่างฟัง และคอยหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะรบกวนสมาธิคุณ  เช่น คนอื่นที่คุยกันอยู่ข้างๆ และสุดท้ายคือการอ่านภาษาท่าทางของผู้พูดให้ได้ว่าเขาสื่อความว่าอย่างไร

=====

2.แสดงให้เห็นว่าเรากำลังฟัง

ทำได้ตั้งแต่การพยักหน้าเป็นระยะๆ (แต่อย่าทำบ่อยจนคล้ายการเห็นด้วยไปเสียหมด) มองตา ยิ้มให้หรือแสดงออกทางสีหน้าบ้าง ทำให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราสนใจในสิ่งที่เขาพูด และช่วยให้ผู้พูดมีกำลังใจว่าไม่ได้พูดอยู่คนเดียว ด้วยการตอบรับบ้างเป็นครั้งคราว

=====

3.สะท้อนกลับไปบ้าง

เมื่อเราฟัง เราควรจะให้ฟีดแบ็คด้วยการประมวลผลคำพูดของเขาเป็นระยะ ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทวนสิ่งที่พูดว่า “ที่ได้ยินมานี่ หมายความว่า…” “แบบนี้มันก็แปลว่า…”  หรือถ้าเป็นไปได้ ให้ตั้งคำถามกลับไปบ้าง เช่น “ตรงที่บอกว่า… อันนี้หมายความว่ายังไงนะครับ” หรือคุณจะช่วยสรุปสิ่งที่ได้ยินออกมาเป็นระยะๆ ก็ได้เช่นกัน

=====

4.อย่าด่วนตัดสิน

การฟังก็คือการฟัง ไม่ใช่การหาทางตอบโต้ ดังนั้น การฟังอย่างตั้งใจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกวนใจผู้พูด ปล่อยให้เขาได้พูดจนจบก่อนที่จะโต้แย้งหรือตั้งคำถามยากๆ และระหว่างที่ได้ยินความคิดเห็นอะไร อย่ารีบเร่งไปถกเถียงจนกว่าคุณจะฟังจนครบถ้วนแล้วจริง ๆ 

=====

5.ตอบกลับให้เหมาะ

การตอบกลับควรจะทำอย่างมีศิลปะและจริงใจ ไม่ใช่การแสดงว่าเห็นด้วยในสิ่งที่คุณไม่ได้เห็นด้วยจริง ๆ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นสามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องเป็นความคิดเห็นที่มีเหตุผลประกอบและอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน

===== 

ทั้งหมดนี้ล้วนต้องฝึกฝน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเคยชินกับการฟังแบบผ่าน ๆ ฟังแบบจับใจความแบบได้บ้างไม่ได้บ้าง

แต่เมื่อการฝึกฝนจนก้าวหน้าและผลักดันให้ตัวเองกลายเป็นนักฟังอย่างจริงจัง  คุณจะประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับคนอื่นๆ และเกิดประสิทธิภาพต่อชีวิตและการงานอย่างแน่นอน  
ซึ่งเราขอแนะนำให้คุณฝึกทักษะการฟังอย่างตั้งใจนี้ควบคู่กับทักษะการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ

สุดท้ายนี้ หากคุณต้องการฝึกฝนการฟังอย่างจริงจังและช่วยให้ทีมมีทักษะการฟังที่ดีขึ้น เราขอแนะนำหลักสูตร “Executive Communication ทักษะการสื่อสารของผู้บริหารยุคใหม่” ที่คุณจะได้ฝึกการฟังหลากหลายรูปแบบและการสื่อสารที่จะช่วยสร้างทีมเวิร์คที่ดีขึ้นได้ คลิกดูได้ที่นี่ครับ

สุดยอดเทคนิคการสร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเองที่ได้ผลสุด ๆ

สุดยอดเทคนิคสร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเองที่เห็นผลสุด ๆ

ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการที่มั่นใจในมาดนิ่ง ๆ หรือผู้นำนักสร้างแรงบันดาลใจที่แสดงพลังความมั่นใจออกมาให้คนอื่นเห็น  คนแบบไหนก็ตามที่ ‘มั่นใจ’ ล้วนทำให้คนอื่นรู้สึกยกย่องชื่นชมทั้งสิ้น

ความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการทำงานอย่างยิ่งยวด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมี

หลายคนต้องพยายามอย่างสาหัสกว่าจะครอบครองสิ่งนี้ได้ ที่แย่กว่านั้นก็คือ คนที่ไม่มีความเชื่อมั่นล้วนยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะมักจะลงเอยด้วยความรู้สึกประหม่า มักจะโทษตัวเอง และทำอะไรล้มเหลวอยู่เสมอ

=====

ข่าวดีก็คือทุกคนสามารถสร้างความเชื่อมั่นนี้ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง  ไม่ว่าจะทำให้ตัวเองเชื่อมั่น หรือช่วยทำให้คนอื่นๆ เชื่อในตัวเรา ซึ่งทั้งสองแบบล้วนส่งผลดีต่อการทำงาน ต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง ลูกค้า หรือคู่รัก

แล้วความแตกต่างของคนที่เชื่อมั่นกับไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นอย่างไรกันแน่?

คนที่เชื่อมั่นในตัวเองจะทำสิ่งที่เชื่อมั่นด้วยความแน่วแน่ แม้จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทั่งล้อเลียน  เขาพร้อมจะเสี่ยงเพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่า และเขาก็พร้อมจะยอมรับความผิดพลาดและนำไปเรียนรู้ปรับปรุง

ในทางตรงกันข้าม คนที่ขาดความเชื่อมั่นจะโอนเอนไปตามคำพูดของคนอื่น  เขาจะอยู่ในคอมฟอร์ทโซน คือไม่กล้าลองหรือเสี่ยงอะไรใหม่ ๆ อีกทั้งยังทำงานหนักเกินจริงเพื่อไม่ให้ใครเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองอีกด้วย 

สิ่งที่คนสองแบบนี้แตกต่างกันเมื่อได้รับคำชมก็คือ คนมั่นใจในตัวเองจะโอบรับคำชม และยอมรับว่าเป็นความสามารถของตนเอง แต่คนไม่มั่นใจมักจะชอบ “ออกตัว” และผลักไสคำชื่นชมนั้นออกไปจากตัวเอง

=====

มนุษย์เราจะรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-efficacy) เมื่อเราเห็นว่าเราเก่งกาจและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในเรื่องหนึ่ง ๆ ซึ่งจะทำให้เราเริ่มสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง (Self-confident) ตามมา จากนั้นก็จะสร้างความมั่นใจที่จะทำสิ่งยาก ๆ และท้าทายมากขึ้นต่อไป

ภาวะดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) เมื่อประสบความสำเร็จ เข้าใจความสามารถตนเอง ก็จะทำให้รู้สึกเห็นค่าตัวเอง มีความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ อย่างเปี่ยมล้นด้วยความสุข และยังได้เห็นว่าคนรอบข้างยอมรับในตัวเราอีกด้วย

หลายคนบอกว่าการจะมั่นใจในตัวเองได้นั้น จะต้องใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตใจ เช่น สร้างการยืนยันตัวตน (Affirmation) ว่าเราเป็นใคร เหมาะสมกับอะไร และการคิดในเชิงบวก (Positive Thinking) 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การตั้งเป้าหมายว่าจะกลายเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง และเข้าสู่กระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เปรียบเหมือนการ “ผจญภัยสู่ความมั่นใจ” ต่อไปนี้

=====
1. เตรียมตัวกับการผจญภัยครั้งใหม่

ขั้นแรกคือการสำรวจตัวเองก่อนว่าเคยทำอะไรประสบความสำเร็จมาบ้าง สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตจะทำให้คุณมองย้อนกลับไปอย่างมีความสุข เริ่มเห็นคุณค่าของตัวเองในเบื้องต้น

จากนั้น ลองคิดถึงจุดแข็งที่ตัวเองมี ลองวิเคราะห์แบบ SWOT analysis คือการดูว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร มีจุดอ่อนอะไร แล้วจึงวิเคราะห์ว่าจะมีโอกาสและอุปสรรคอะไรในอนาคต 

การเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการสร้างความมั่นใจ เป็นขั้นตอนสำคัญ เอาชนะความคิดด้านลบที่ถ่วงความเจริญให้ได้ สร้างภาพในใจที่แข็งแกร่งขึ้นมาเพื่อจะเดินทางไปให้ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ

การเตรียมตัวขั้นสุดท้าย คือการมองว่าเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ ต้องทุ่มเทแรงใจแรงกายเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ ถ้าหากมีอะไรเป็นข้อสงสัย จงเขียนบันทึกและลงรายละเอียดว่า จะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

หนึ่งในทักษะที่ช่วยให้คุณพร้อมผจญภัยได้ดียิ่งขึ้นคือ Self – Awareness เรียนรู้และฝึกฝนได้ในบทความนี้

=====

2.ออกไปลุย!

อะไรที่อยากจะประสบความสำเร็จ จงค้นคว้าหาความรู้ให้เต็มที่ จะเริ่มต้นอย่างไร มีกระบวนการอะไร จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ถ้ามีโปรแกรมเรียนรู้หรือคอร์สเรียนน่าสนใจ เดินหน้าลุยเข้าหาไปเลย

ในช่วงเริ่มต้น อย่าเพิ่งเล่นท่ายาก จงเริ่มแบบพื้นฐาน เน้นให้มีทักษะเบื้องต้นที่แน่นเสียก่อน และอย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะเก่งกาจระดับเพอร์เฟ็คท์ ขอให้ทำสิ่งนั้นอย่างเพลิดเพลินและทำได้ดีสักระดับหนึ่งก่อน

จากนั้นค่อยเริ่มตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ว่าจะทำให้ได้ดีถึงระดับไหน อย่าตั้งเป้าสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ขอให้ตั้งเป็นแบบที่พอจะเป็นไปได้และท้าทายความสามารถของเราด้วย 

 ใช้ความคิดในเชิงบวกร่วมด้วย ถ้าอะไรสำเร็จก็ควรฉลองสักเล็กน้อย ขณะเดียวกัน เมื่อเจอความล้มเหลวหรืออุปสรรคก็ขอให้เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ

=====


3.ทำได้แล้ว ก็จะทำได้อีกเรื่อยๆ

เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้แปลว่าคุณทำสิ่งที่ประสบความสำเร็จได้แล้ว คุณแข็งแกร่งและมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ผ่านการเรียนรู้จนกลายเป็นคนที่เห็นช่องทางความสำเร็จอย่างชัดเจน เมื่อมาถึงขั้นนี้คุณต้องขยายความมั่นใจให้มากขึ้นด้วยการลองกำหนดเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ท้าทายขึ้น เพิ่มทักษะใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่คุณชำนาญ

ยิ่งพัฒนาตัวเองและสร้างความสำเร็จได้มากขึ้นเท่าไหร่ คุณจะยิ่งพบว่ามีตัวเองมีความมั่นใจเกิดมากขึ้นตามไปด้วย ของแบบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่งและลงมือทำอย่างจริงจัง 

=====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีมมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร “High Performance Leader” ที่จะช่วยให้คุณมีความเชื่อมั่นและควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คลิกดูได้ที่นี่ครับ

ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์

ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการเป็นผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์

คุณคิดว่าผู้นำแบบไหนจะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน ระหว่างผู้นำที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดแล้วหน้าแดงก่ำ กำหมัดพร้อมตะคอกใส่ลูกน้อง

หรือผู้นำที่ยังดูใจเย็นราวกับควบคุมทุกอย่างได้ และค่อยๆ หาทางแก้สถานการณ์อย่างน่านับถือ

=====

เชื่อว่า ‘ผู้นำที่สมบูรณ์แบบ’  ในใจหลายคน น่าจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือเกิดวิกฤตเพียงใด รวมถึงเป็นคนที่ให้ความไว้วางใจแก่ลูกทีม เปิดใจรับฟัง เข้าถึงและพูดคุยด้วยง่าย ไปจนถึงตัดสินใจได้อย่างมีหลักการและมีความระมัดระวัง

ด้านดี ๆ ของผู้นำมักจะมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’ หมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตัวเอง ตลอดจนอารมณ์ของผู้คนรอบข้างได้เป็นอย่างดี 

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะรู้ทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น และหาทางจัดการได้อย่างยอดเยี่ยม 

=====

สำหรับคนที่เป็นผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์จะนำไปสู่ความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้น  ซึ่ง  ‘แดเนียล โกลด์แมน’  นักจิตวิทยาและนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวว่ามี 5 องค์ประกอบย่อยที่คุณต้องฝึกฝน

1.รู้ตัวเอง (Self-awareness)

คือ การรู้เท่าทันตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร อยู่ในอารมณ์แบบไหน หากทำอะไรออกไปจะกระทบกระเทือนคนอื่นอย่างไร

ผู้นำที่รู้ตัวเองยังหมายถึงคนที่เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เข้าใจความเป็นมนุษย์ของตัวเองและผู้อื่นด้วย  

การจะพัฒนาทักษะการรู้จักตัวเองนี้ ทำได้ด้วยการฝึกเขียนบันทึก ใช้เวลาในแต่ละวันจดสิ่งที่คิดและรู้สึก เมื่อผ่านไปสักระยะจะทำให้เห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ ยังควรฝึกดึงตัวเองให้ช้าลงเมื่อเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเวลาที่เริ่มเกิดอารมณ์หงุดหงิดหรือรำคาญขึ้นมา

การดึงตัวเองให้ช้าลงจะทำให้คุณมีเวลาในการรับมือและแสดงออกได้ดีกว่าเดิม

=====

2.จัดระเบียบตัวเอง (Self-regulation)

ความสามารถในการตั้งกฎเกณฑ์และจัดการตัวเองให้ได้ จะมีผลทำให้ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น เช่น ไม่พูดต่อว่าหรือประชดออกไป ไม่ตีตราผู้คน ไม่ด่วนตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ยังทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในสายตาคนอื่นด้วย 

ผู้นำควรจะมีหลักการ มีคุณค่าที่ยึดถือชัดเจน ไม่ประนีประนอมกับสิ่งไม่ถูกต้อง (ไม่เช่นนั้นจะโดนด่าว่าเป็นคนที่ไม่มีหลักการที่ยึดถือเลย) รู้ว่าในสถานการณ์ใดจะต้องทำตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับสิ่งที่ยึดถือ

นอกจากนี้จะต้องชัดเจนว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องยอมรับและปรับปรุง เพื่อให้คนรับรู้ว่าคนคน นี้ยึดถือในหลักการ  และท้ายที่สุด คุณควรจะฝึกให้ตัวเองสงบใจเมื่อพบเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก  การสูดหายใจลึก ๆ จนความคิดจิตใจเริ่มสงบ จะช่วยแสดงภาวะผู้นำของคุณได้เป็นอย่างดี

=====

3.กระตุ้นปลุกเร้า (Self – Motivation)

ผู้นำที่ดีจะสามารถปลุกเร้าตนเองและคนอื่นให้ถึงเป้าหมายได้  โดยมีมาตรฐานการทำงานสูง การพัฒนาทักษะนี้ทำได้โดย การกลับมาสำรวจถึงเหตุผลที่ทำงานดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการย้ำเตือนตัวเองว่า เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และต้องการอะไร การเห็นภาพความสำเร็จและแรงจูงใจในการทำงานจะทำให้มีผลงานที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ยังควรที่จะระลึกอยู่เสมอว่าตัวเองคือ ผู้นำ ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นทีมงาน ควรจะทำให้คนในทีมรู้สึกได้ถึงความหวังและตระหนักว่ามีสิ่งดี ๆ รออยู่ข้างหน้า  อาจกล่าวโดยสรุปว่าเป็นคนที่ส่งพลังบวกไปให้คนทุกคนในทีมได้นั่นเอง

=====

4.เข้าอกเข้าใจคนอื่น (Empathy)

การเป็นผู้นำคือการพยุงทีมทั้งหมดให้ไปด้วยกัน ผู้นำที่ดีจะต้องเข้าใจคนที่มาร่วมงานด้วย เข้าใจความรู้สึก เข้าใจสถานะและเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ ฉะนั้นใครที่เข้าอกเข้าใจ มีความเห็นใจลูกน้อง จะทำให้เขาได้รับความจงรักภักดีไปโดยปริยาย 

การพัฒนาองค์ประกอบนี้ ทำได้โดยการฝึกมองว่าถ้าตัวเองอยู่ในบทบาทหน้าที่ของลูกน้องจะเป็นอย่างไร ความรู้สึก ความต้องการ อุปสรรค และแรงบันดาลใจของเขามาจากไหน 

นอกจากนี้ ยังควรใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้เห็นถึงความรู้สึกแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษากาย

และท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการแสดงออกให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความเหน็ดเหนื่อยและตึงเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา  ถ้าเป็นไปได้ หาทางชดเชยให้แก่เขาด้วยก็จะดีมาก

ถ้าคุณอยากฝึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นให้มากยิ่งขึ้น ขอแนะนำให้คุณฝึก ทักษะการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathic Listening) คลิกที่นี่ 

=====


5.ทักษะการเข้าสังคม (Social Skills)

ผู้นำที่ดีควรจะมีความฉลาดทางอารมณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม นั่นคือ เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม ทำให้ลูกน้องได้รับข้อมูลข่าวสารไปจนถึงอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานที่เป็นบวก ทักษะนี้ยังรวมไปถึงการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ผู้นำควรจะเรียนรู้ว่าหนทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งกับคนในทีม ลูกค้า หรือคู่ค้า จะต้องมีกระบวนการอย่างไร ควรพัฒนาทักษะทางการสื่อสาร ตลอดไปจนการรู้จักยกย่องชื่นชมคนอื่น อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น

ทักษะทั้ง 5 นี้ หากผู้นำได้พัฒนาอย่างเหมาะสมแล้วล่ะก็ จะทำให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในฐานะของผู้นำองค์กรอย่างแน่นอน 

=====
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

หากคุณอยากให้ตัวเองและทีม มีความมั่นใจและพัฒนา EQ เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence ผู้นำฉลาดทางอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะทั้ง 5 ได้เป็นอย่างดี คลิกดูได้ที่นี่ครับ

ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลิน ด้วย Flow Model

ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลิน ด้วย Flow Model

คุณเคยทำงานจนลืมเวลา ลืมสถานที่ไปเลยไหม ห้วงอารมณ์ที่ทำงานตรงหน้าอย่างเปี่ยมสมาธิจนเหมือนกับว่าไม่รับรู้อะไรต่อมิอะไรรอบข้าง ไม่ว่าจะเสียงโทรศัพท์ เสียงเพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างเหมือนอันตรธานหายไปหมด

ในห้วงเวลาเช่นนี้เองที่คุณจะทำงานเพลินด้วยความรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยพลังงาน ทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีหยุดหย่อน

เกือบทุกคนล้วนเคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้  ประสบการณ์ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “สภาวะลื่นไหล” (Flow) เป็นสภาวะที่สัญชาตญานในการทำงานนำหน้าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนกระทั่งมีคนนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างทฤษฎีการทำงานที่เรียกว่า Flow Model ขึ้นมา 

=====

  Mihaly Csíkszentmihályi นักจิตวิทยาเชิงบวก นำเสนอแนวคิดซึ่งทำให้เห็นว่า เมื่อคนเราพยายามจะทำงานให้สำเร็จ ส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ของคนนั้นได้หลายแบบ ซึ่งจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับความท้าทายของงานและทักษะที่เราคิดว่าเรามีด้วย

Mihaly อธิบายว่า ถ้างานไม่ท้าทายและไม่ต้องการทักษะสูงนัก เราจะรู้สึกเบื่อ เซ็งเพราะไม่ถูกกระตุ้นให้ทำ แต่เมื่องานมีความท้าทายมาก แต่เราไม่ได้มีทักษะเพียงพอ ผลลัพธ์คือความตึงเครียดและวิตกกังวล นั่นหมายความว่าไม่ว่าทางไหนก็ดูแย่ไปหมด

=====

ภาวะสมดุลที่ดีที่สุดในการทำงาน คือการที่เราต้องการความท้าทายและความน่าสนใจในตัวงาน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถพัฒนาทักษะได้มากเพียงพอที่จะมั่นใจว่าเราสามารถพิชิตความท้าทายนั้นได้ 

ถ้า 2 ปัจจัยนี้เดินไปด้วยกัน  เราจะทำงานได้อย่างลื่นไหล ลองดูตัวอย่างจากบรรดานักธุรกิจ ศิลปิน หรือนักกีฬา เวลาที่พวกเขาทำสิ่งที่ชำนาญจนดูเหมือนง่ายและทำต่อได้เรื่อย ๆ ไม่มีหยุด

เมื่อเข้าสู่สภาวะ Flow  แล้วจะมีองค์ประกอบอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง  ต่อไปนี้คือคำตอบ

  1. เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าสิ่งที่อยากจะบรรลุคืออะไร
  2. สามารถเพ่งสมาธิให้แน่วแน่ได้อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
  3. ไม่ถูกรบกวนด้วยโสตประสาท หรือหลงลืมความรู้สึกไปได้ชั่วขณะ
  4.  พบว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว
  5. ได้รับ Feedback โดยตรงและทันที
  6. รู้สึกถึงความสมดุลระหว่างความสามารถของเรากับความท้าทายของงาน
  7. รู้สึกควบคุมตัวเองได้เหนือสถานการณ์รอบข้าง
  8. รู้สึกว่าทำงานแล้วได้รับรางวัลจากเบื้องลึกภายใน
  9. ไม่รู้สึกว่าร่างกายต้องการอะไรระหว่างทำงาน
  10. ถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ในกิจกรรมที่ทำอย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดครบทุกข้อหรือพร้อมกัน แต่คุณจะรู้สึกว่าเมื่อคุณอยู่ในสภาวะลื่นไหลแล้วจะมีองค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 องค์ประกอบ 

=====

Mihaly บอกว่ามีเงื่อนไข 3 อย่างที่จะทำให้ทำงานแล้วเกิดสภาวะลื่นไหลขึ้นได้ นั่นคือ

1.Purpose / Goals (เป้าหมาย)  

 คุณต้องมีเป้าหมายชัดเจน เป้าหมายจะทำให้เกิดแรงจูงใจ และมีโครงสร้างขั้นตอนว่าเราจะไปถึงได้อย่างไร 

2.Balance (สมดุล)

จำเป็นต้องมีสมดุลระหว่างทักษะที่คุณมีกับความท้าทายในตัวงาน ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากหรือน้อยกว่ากันมากจนเกินไป จะทำให้ทำงานไม่ลื่นไหล เช่น รู้สึกไม่ท้าทายเลยทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือรู้สึกว่ายากเกินความสามารถ เลยเครียดจนอยากเลิก ไปทำอย่างอื่น

3.Feedback (การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับ)

การได้ Feedback ที่ชัดเจนและทันเวลา จะทำให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และยังผลให้ทำงานได้ไหลลื่นมากกว่าเดิม

จากปัจจัยทั้งสามนี้ เรามีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมีสภาวะลื่นไหลในการทำงาน ดังนี้  

เริ่มจากการสร้างเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน 

ใช้สมาธิในการทำงาน ตัดสิ่งต่างๆ ออกไป ไม่ยอมให้อะไรมาทำให้วอกแวก 

ซึ่งการฝึกออกจากความคิดที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ดี คลิกที่นี่เพื่อดูวิธีการฝึก 

จากนั้นให้ฝึกมั่นใจในทักษะความสามารถของตัวเอง จะทำให้สิ่งที่ดูเหมือนยากนั้นง่ายลงทันตาเห็น (ถ้าไม่มั่นใจก็ฝึกฝนทักษะนั้นเพิ่ม) 

ระหว่างทำงานถ้าได้ feedback ที่ดีจะทำให้คุณปรับปรุงทันที เพิ่มความกระหายอยากทำงานเพิ่มขึ้นได้ ยิ่งถ้าคุณทำให้งานตรงหน้าท้าทายได้มากกว่าเดิม ก็ยิ่งสร้างความพึงพอใจต่อการทำงานได้มากขึ้น  

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานให้ Flow ด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

=====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

รู้จัก The PERMA Model สูตรลับในการสร้างความสุขในการทำงาน

รู้จัก The PERMA Model : สูตรลับสร้างความสุขในการทำงาน

ใครๆ ก็อยากมีความสุข เพราะความสุขส่งผลดีต่อการทำงาน ช่วยให้ทำผลงานได้มากขึ้น  สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น 

แต่ปัญหาเกี่ยวกับความสุขก็คือ เมื่อเราตั้งใจจะมีความสุขมากๆ ก็มักจะไม่เป็นธรรมชาติ แล้วสุดท้ายก็มักจะรู้สึกไม่มีความสุขอยู่ดี 

=====

เราขอนำเสนอ PERMA  Model  โมเดลการทำงานที่จะทำให้คนทำงานมีความสุขอย่างแท้จริง

โมเดลนี้คิดค้นโดยนักจิตวิทยาเชิงบวก  Martin Seligman ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือที่ชื่อว่า Flourish ในปี 2001 โดยใช้อักษรย่อ PERMA เป็นตัวแทนขององค์ประกอบ 5 ที่จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น ดังนี้ 

=====

P มาจาก Positive Emotion 

หมายถึง อารมณ์ที่เป็นบวก เช่น รู้สึกสงบ รู้สึกพึงพอใจ รู้สึกมีแรงบันดาลใจ รู้สึกมีความหวัง หรือรู้สึกรักใคร่ ความรู้สึกเหล่านี้สำคัญมาก เพราะมันทำให้เราเพลิดเพลินกับชีวิตในปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่องค์ประกอบอื่น ๆ ของ PERMA เกื้อหนุน

เราไม่อาจมีอารมณ์เชิงบวกได้ตลอดเวลา แต่เราสามารถมีความรู้สึกเชิงบวกได้บ่อยๆ เมื่อใดที่รู้สึกอารมณ์ไม่บวกอย่างเพียงพอ ก็ลองหยุดแล้วคิดว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น

 ถ้าพิจารณาที่อาชีพการงาน ให้ลองถามว่าตัวเองได้ใช้ทักษะและจุดแข็งของตัวเองอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง ลองค้นหาตัวเอง แล้ววิเคราะห์ออกมา 

จากนั้นให้ลองคิดต่อไปว่า อะไรที่ทำให้คุณมีอารมณ์ทางด้านบวกขึ้นมาได้บ้าง  ลองคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดถึงสถานที่ต่าง ๆ เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างประสบการณ์นั้นขึ้นมาอีกครั้งหรือทำให้สถานที่ที่อยู่ในปัจจุบันสร้างอารมณ์แบบเดียวกับสถานที่ที่เราชื่นชอบได้

เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องการบริหารอารมณ์ในการทำงานด้วยหลักการ Emotional Intelligence คลิกที่นี่ 

=====

E มาจาก Engagement

หมายถึง การมีส่วนร่วมและผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อหน้าที่การงาน ต่อโปรเจ็กต์นั้น ๆ เมื่อเราอยู่ในภารกิจแล้วปฏิบัติได้อย่างไหลลื่น เราจะลืมคิดถึงตัวตนหรือสิ่งต่าง ๆ และหันไปมีสมาธิจดจ่อกับปัจจุบันขณะที่กำลังทำภารกิจอยู่ สิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุขขึ้นมาได้

การทำอะไรที่เราเข้าไปผูกพันไม่ว่าจะเป็นงาน งานอดิเรก หรือกีฬา จะช่วยทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น

แต่การจะเข้าไปรู้สึกผูกพันกับอะไรบางอย่าง เราจะต้องตัดสิ่งที่จะทำให้เราวอกแวกทิ้งไปแล้วพัฒนาสมาธิในเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้าเรามุ่งเป้าไปยังพันธกิจโปรเจ็กต์ใหม่ เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่จะไม่ทำให้เราไขว้เขวไปกับสิ่งอื่น  แล้วให้เวลากับสิ่งนั้น อย่างเพียงพอ

=====

R มาจาก Positive Relationships 

หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การผูกพันกับใครในทางที่ดีและมีความหมาย จะทำให้มีความสุขได้มากกว่าคนที่ไม่ผูกพันกับใครหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงลบ

ลองนึกว่าคุณใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน และมีความสัมพันธ์กับใครบ้าง ถ้าคุณอยู่ในที่ทำงานมากที่สุด  คุณก็ควรจะมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานให้ดีที่สุด ลองคิดว่าถ้ายังไม่ดี เป็นเพราะอะไร  แล้วลองหาวิธีพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเพื่อน ครอบครัว และคนรักอีกด้วย  คุณได้ลองพยายามใช้เวลาให้มากเพียงพอหรือยัง และถ้าคุณคิดว่ายากที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น คุณควรจะวางตัวอย่างไรไม่ให้ความสัมพันธ์แย่ ๆ นั้นเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจของคุณได้

=====

M มาจาก Meaning

หมายถึง  การรู้สึกถึงความหมายในชีวิต  แน่นอนว่าหมายถึงความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวของเราเอง อาจจะเป็นความหมายที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อองค์กร หรือต่อสถาบันต่าง ๆ ก็ได้

ไม่เฉพาะการรู้สึกมีความหมายหรือการพบคุณค่าในการทำงาน แต่ยังรวมไปถึงชีวิตส่วนตัว การทำกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัว การเป็นอาสาสมัคร การเจือจุนเมตตาเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำให้คนเรารู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย และสร้างความเบิกบานใจได้เช่นกัน

=====

A มาจาก Achievement

หมายถึง การประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ถ้วยรางวัลหรือเหรียญตรา ยังรวมถึงการสำเร็จในทักษะ ความชำนาญ การบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่คุณได้ตั้งเอาไว้ด้วย

ลองสำรวจว่าคุณใช้เวลาและพลังมากพอที่จะเดินตามความฝันหรือยัง เริ่มจากลองคิดว่าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องอะไรกันแน่ ลองสร้างแผนในการบรรลุเป้าหมายในชีวิต หาสิ่งที่อยากจะทำให้สำเร็จจริงๆ แล้วสร้างโปรแกรมไปสู่ความสำเร็จของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพว่าจะบรรลุความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร

=====

หากต้องการสร้างความสุขในการทำงาน ทั้งกับตัวเองและภายในทีม ขอแนะนำหลักสูตร Emotional Intelligence คลิกที่นี่ครับ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

3 วิธีฟื้นตัวเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต

3 วิธีฟื้นตัวเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤต

ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่กระจายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไวรัสตัวร้ายทำลายทั้งสุขภาพ ทำลายทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่เท่าภาวะวิกฤตที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ที่ถ้าเกิดกับใครแล้วดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก

รายงานการวิจัยพบว่าพนักงาน 58% ไม่สามารถควบคุมสมาธิในการทำงานในสภาวะวิกฤตได้ และทำให้พวกเขาหลงทางอยู่ในความคิดเชิงลบได้อย่างง่ายดาย

เมื่อแนวคิดเชิงลบนี้มีความรุนแรงมากขึ้น จะยิ่งส่งผลให้พนักงานเกิดความรู้สึกกลัวและหมดหนทาง ไม่สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ในสถานการณ์เช่นนี้

=====

ความกลัวจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังติดอยู่ในกรอบที่แคบลง และยากที่จะดึงประสบการณ์หรือพลังความคิดสร้างสรรค์มาช่วยขยายกรอบความคิดให้ใหญ่ขึ้นได้ เมื่อกรอบความคิดของเราแคบลง มุมมองของเราที่กำลังเผชิญอยู่กับสภาวะวิกฤตก็จะมีแนวโน้มลดลงไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 กำลังหยอกล้ออยู่กับความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดของเรา

โดยเฉพาะสถานการณ์นี้ที่เราทุกคนต้อง Social Distancing เว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของทุกคนด้วยแล้ว ความกลัวก็ยิ่งทำงานมากขึ้น เพิ่มความรู้สึกกังวลและโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก

=====

มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับลูกศรดอกที่สอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ถามลูกศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดถูกยิงด้วยลูกธนูจะเจ็บปวดไหม” ลูกศิษย์ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจ็บแน่นอน”

ท่านถามอีก “ถ้าถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่สองอีก จะเจ็บปวดมากยิ่งกว่าเดิมไหม” แล้วก็อธิบายว่า “ในชีวิตเราไม่อาจควบคุมลูกศรลูกแรกที่เข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม ลูกศรดอกที่สองเป็นเพียงการตอบสนองต่อเหตุการณ์แรก ดังนั้น ลูกศรดอกที่สองที่เข้ามานั้น มาพร้อมกับความเป็นไปได้ในการเลือกของเรา”

ย้อนกลับมาสถานการณ์โควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เปรียบเหมือนเรากำลังประสบกับความเจ็บปวดจากลูกศรดอกแรก นั่นคือ ข้อจำกัดการเดินทาง ราคาหุ้นตก การขาดแคลนอาหารการกินหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ เป็นต้น

ขณะที่ลูกศรดอกที่สอง คือ ความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสของเราเอง คำถามที่เราถามตัวเองตลอดเวลา “เราติดหรือยัง” กังวลว่าคนที่เรารักจะได้รับผลกระทบนี้ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางการเงิน และสถานการณ์อื่น ๆ

=====

จะเห็นว่าลูกศรดอกแรกเป็นสิ่งที่เราต้องเจอกับความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ลูกศรดอกที่สอง กลับกลายเป็นการต่อต้าน ไม่ยอมรับ ความกลัว ความกังวลจากสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อจิตใจเรามากกว่า ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอบสนองอย่างไร

สิ่งสำคัญคือการจดจำไว้ว่า ลูกศรดอกที่สอง คืออารมณ์และจิตใจของเราที่ตอบโต้ต่อสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่มันมักจะทำให้เราทุกข์ยิ่งกว่าเดิม โดยทำให้ใจเรากังวลและกลัว ปิดกั้นตัวเองจากการมองเห็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

หนทางที่จะก้าวข้ามธรรมชาตินี้ของเรา คือการกลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ เราต้องสามารถควบคุมความคิดและใช้ศักยภาพของตัวเอง ในการเผชิญหน้ากับลูกศรลูกแรก และสามารถหักลูกศรดอกที่สองก่อนที่มันจะเข้ามาทำร้ายเราซ้ำได้

=====

Resilience จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะในภาวะวิกฤตนี้ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของเราด้วยการมีสติ และเพิ่มขีดความสามารถในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการใช้ทักษะในการสังเกตความคิด การจัดการกับความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ และการปรับสมดุลทางความคิดอย่างรวดเร็ว และนี่คือ 3 วิธีการฟื้นฟูตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ

1. การทำใจให้สงบ

พูดเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ได้ยาก การทำใจให้สงบเริ่มต้นจากการมีสติอยู่กับปัจจุบัน แม้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้จะเห็นว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น บางคนอาจต้องเปลี่ยนสภาพการทำงาน หรือต้องอยู่ในกรอบที่จำกัด การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ คือ ให้ลองคิดถึงปัจจุบัน สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ อาจใช้วิธีการทำสมาธิ หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ได้

จากนั้นหากความกลัวหรือกังวลก่อตัวขึ้นอยู่ในใจมาก ๆ ให้เราตระหนักและยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกนั้น การยอมรับความรู้สึกของตัวเองว่ากำลังกลัวหรือกังวลไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร กลับเป็นเรื่องดีที่เราสามารถยอมรับกับความรู้สึกของตัวเองได้ และเป็นสัญญาณดีที่หมายถึงการมีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป

แนวทางการทำใจให้สงบก็คือการเป็นอิสระจากความคิดที่รบกวนตัวเราเอง ลองดูแนวทางการฝึกได้ในบทความนี้

=====

2. ทบทวนอย่างมีสติ

หลายครั้งที่เมื่อคนเรามีความกลัว ความวิตกกังวล ปฏิกิริยาที่เรามักตอบสนองกลับไป คือการรีบตอบโต้ รีบแก้ปัญหาโดยทันที และบ่อยครั้งที่ผลของมันกลับทำร้ายตัวเรามากขึ้นไปอีก การจะลงมือจัดการตัวเองที่กำลังสับสน จัดการธุรกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรตอนนี้ คงไม่ดีแน่

หลังจากที่เราสามารถทำใจให้สงบ มีสติ และยอมรับกับอารมณ์ ความกลัวที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองได้แล้ว กรอบคิดของเราจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เราใช้สติทบทวนตัวเองให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และมีทางออกให้กับตัวเองได้มากขึ้นด้วย

ในทางจิตวิทยา การทบทวนตัวเองอย่างมีสติ ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการวางมือจากปัญหาที่กำลังวุ่นวาย หันมองออกไปนอกหน้าต่าง มองต้นไม้สีเขียว หรือมองอะไรที่ทำให้เราสบายใจ ก็ช่วยให้สมองของเราได้ขยายกรอบคิด และสามารถทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สามารถค้นหาคำตอบที่ชัดเจน ได้วิธีการที่ดีที่สุด และวางแผนในการแก้ไขปัญหา และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

=====

3. ส่งต่อกำลังใจ

ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ นอกจากตัวเราที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เรารู้จักและไม่รู้จักก็ตามกำลังต้องการกำลังใจเช่นกัน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกำลังพยายามจัดการกับไวรัสตัวร้าย กิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมถูกยกเลิก โรงเรียนปิดแบบกะทันหัน

ภาคธุรกิจก็ได้ออกนโยบาย Work from Home ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และห้ามเดินทาง เพื่อลดการติดต่อ ทั้ง ๆ ที่เราทราบดีว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเข้าสังคม” สถานการณ์นี้จึงทำให้เรารู้สึกถึงการแตกแยก ส่งผลให้เกิดความกลัวและวิตกกังวล

การส่งต่อกำลังใจให้แก่กันในสถานการณ์อันเลวร้าย การหยิบยื่นความปรารถนาดีให้แก่กัน จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่ง หากเราสามารถจัดการสติของตัวเอง ทำใจให้สงบ และสามารถทบทวนตัวเองจนพบกับทางออกในการจัดการปัญหาของตัวเองได้แล้ว เราเองก็จะมีพลังในการส่งกำลังใจให้กับคนอื่น ๆ ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหา ไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ ให้พวกเขามีสติ และทบทวนตัวเองเพื่อค้นพบทางออกได้เช่นกัน

ลองคิดดูสิครับ ถ้าเราส่งต่อกำลังใจให้กับคนอื่นมาก ๆ และพวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ ตัวเราเองจะมีพลังใจเกิดขึ้นมากขนาดไหน

การกระจายตัวอย่างรวดเร็วของโควิด-19 อาจเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบไปทั่ว โดยเฉพาะสภาพจิตใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้ความยืดหยุ่นด้วยการทำใจให้สงบโดยการมีสติ ทบทวนตัวเองด้วยความไม่รีบร้อน และส่งต่อกำลังใจให้ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ถ้าคุณอยากฝึกฝนวิธีการฟื้นฟูจิตใจตัวเองและคนในทีมเพื่อให้ทำงานต่อได้แม้จะต้องเผชิญวิกฤตหนักหนาขนาดไหน ขอแนะนำหลักสูตร Emotional Intelligence คลิกที่นี่

=====
แปลและเรียบเรียงโดย โค้ชแบท – อรรณพ นิยมเดชา นักจิตวิทยาด้านการบริหารและการพัฒนาตนเอง

อ้างอิงจาก Build Your Resilience in the face of a crisis โดย Ramus Hougaard et al., Harvard Business Review, March 2020.

การมองโลกในแง่ดีช่วยให้คุณรวยขึ้นได้อย่างไร

การมองโลกในแง่ดีช่วยให้คุณรวยขึ้นได้อย่างไร

คุณคิดว่า คนมองโลกในแง่ร้าย กับ คนมองโลกในแง่ดี ใครมีสุขภาพการเงินดีกว่ากัน

หลายท่านอาจจะคิดว่ามองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนทำให้เราไม่เอาเงินไปใช้พร่ำเพรื่อ ไม่หลงกลคนต้มตุ๋น ส่วนถ้ามองโลกแง่ดีก็คงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเพราะคิดว่าหาใหม่ได้เรื่อย ๆ และตกเป็นเหยื่อคนต้มตุ๋นได้ง่าย

คุณจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ผลการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาบอกว่า ชัยชนะทางการเงินเป็นของ…คนมองโลกในแง่ดี
=====

การศึกษาชิ้นนี้อธิบายว่า คนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความเครียดมากกว่าคนยุคก่อน แถมยังไม่มีความสุขในชีวิตอีกต่างหาก

เมื่อสำรวจคนที่มองโลกแง่บวกกับคนที่มองโลกในแง่ลบพบว่าคนมองโลกในแง่บวกจะตัดสินใจเรื่องเงินได้ฉลาดกว่า และเต็มไปด้วยประโยชน์ที่จับต้องได้มากกว่า

การมองโลกเชิงบวกจะทำให้คน ๆ นั้นมีสติครุ่นคิดเรื่องการเงินได้ดีกว่า

คนกลุ่มนี้จะใช้เงินไปกับสิ่งที่จำเป็นและงอกเงยได้ พวกเขาจะมองหาความรู้ด้านการเงินและฟังคำแนะนำที่ดี มีการวางแผนและการลงทุนที่ดี 

แตกต่างจากคนที่มองโลกแบบไม่ไว้วางใจ ซึ่งมักจะตัดสินใจทางลบ จัดการเรื่องเงินอย่างตื่นตระหนกตามสถานการณ์ที่บีบคั้น
=====

เมื่อปรับความคิดในเชิงบวก (หมายถึงบวกอย่างมีปัญญา) ก็เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อทางความคิดให้แข็งแรง ซึ่งใครก็สามารถสร้างได้

และหากครอบครองความแข็งแรงนั้นแล้วก็จะนำไปสู่การขยับขยายเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ต่อไป

คำแนะนำสำหรับการสร้างความคิดเชิงบวกแบบมีปัญญาเพื่อให้เงินไหลมาเทมา มีดังต่อไปนี้
=====

โฟกัสไปยังสิ่งที่เข้าท่า

เริ่มต้นวันใหม่ ด้วยการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น คว้าโทรศัพท์มาเช็คดูข่าวสำคัญ

ปรับพฤติกรรมให้คุณเป็นมนุษย์ที่ใช้สื่ออย่างคุ้มค่า โดยเริ่มต้นวันด้วยการเสพสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้คุณใช้เวลาอย่างมีคุณภาพไม่ใช่จมจ่อมกับเรื่องที่เจ็บปวดทรมาน
=====

มองหาความก้าวหน้า อย่าคิดว่าต้องสมบูรณ์แบบ

ปัญหาของคนที่เป็น “เพอร์เฟคชั่นนิสต์” หรือมนุษย์สมบูรณ์แบบ คือการมองแบบจับผิดว่าอะไรที่ไม่ถูกต้อง อะไรที่คลาดเคลื่อนไปจากความสมบูรณ์แบบบ้าง ซึ่งการมองแบบนี้เข้าข่ายการมองโลกในแง่ลบ

คุณควรปรับการมองว่า “สิ่งที่ได้ทำลงไปหรือสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่นั้นสามารถนำมาพัฒนาตรงไหนได้บ้าง”

การปรับปรุงสิ่งละอันพันละน้อยใดบ้างที่ช่วยให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น

การทำงานคือหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ทำให้คุณก้าวหน้าผ่านการบลงมือทำจริง อ่าน เรียนรู้จากงานอย่างไรให้เก่งเร็วขึ้น เพื่อให้คุณพัฒนาแบบก้าวกระโดดผ่านการทำงาน
=====

สื่อสารกับคนอื่นอย่างมีความหมาย

การเชื่อมโยงกับคนอื่นอย่างมีคุณค่าทำให้เราได้สิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าด้วยเช่นกัน

ลองส่งอีเมลเรื่องดีเพื่อสื่อสารสิ่งที่เป็นบวกไปยังคนอื่น จะเป็นการขอบคุณหรืออะไรก็ตามแต่กับคนในครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ก็ล้วนเป็นพฤติกรรมเชิงบวกทั้งสิ้น

การทำแบบนี้ทำให้เรารู้สึกสัมพันธ์กับสังคมภายนอก เกิดความสุขและความคิดเชิงบวกตามมา

ทั้งหมดนี้ คือการสร้างสภาวะการมองโลกเชิงบวก จากนั้น การคิดและตัดสินใจต่าง ๆ ของเราก็จะนำมาซึ่งจังหวะและเวลาที่ถูกต้อง สภาพทางการเงินก็จะย่อมเป็นไปในทางที่ดีขึ้นตามผลการวิจัยอย่างแน่นอน

เพื่อให้คุณพัฒนาตัวเองเป็นคนมองโลกแง่บวกที่มีปัญญาสูงสุด มาร่วมเรียนรู้และฝึกฝนในหลักสูตร High Performance Leader ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจทั้ง Mindset และ Skill ที่สำคัญในการเป็นผู้นำยุคใหม่ คลิกที่นี่
=====

เรียบเรียงจาก “The Financial Upside of Being an Optimist” โดย elle Gielan จาก Harvard Business Review 12 มีนาคม 2019

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save