5 ขั้นตอน ของการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพ

การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจ

ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเพียงการหยุดคิดเพื่อไตร่ตรอง การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างมาก

ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในชีวิต คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะเริ่มได้รับผลจากการกระทำของคุณจริงๆ

=====

หลายคนอาจบอกว่า เขาได้ตัดสินใจที่จะทำแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่น ตัดสินใจที่จะมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้นในปีนี้ อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น ขอขึ้นเงินเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นั่นเป็นเพราะ “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติในทันที”

อย่าลืมว่า หลังการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในความคิด ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย

เรามาดู “5 ขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจ” ว่ามีอะไรบ้างกันดีกว่า

=====

ขั้นตอนที่ 1 การรับรู้

ขั้นตอนของ “การรับรู้” การรับรู้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจ

เราสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นแบบตรงไปตรงมา

เช่น พนักงานขายรายงานยอดขายที่กำลังตกลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือรายงานซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาของคุณยังเข้าไม่ถึงลูกค้า

เพื่อนอาจจะบอกว่า หน้าตาของคุณดูไม่ดีเลยช่วงนี้ แต่ปฏิกิริยาบางอย่างอาจไม่ชัดเจนนัก เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกต้อง จงอย่าละเลยความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเป็นคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลางสังหรณ์จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณค้นพบและเกิดความคิดในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้น “จงตัดสินใจที่จะตัดสินใจ” สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ และปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อรับรู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้วหรือยัง? อย่าละเลยขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณตัดสินใจต่อปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกของคุณได้เร็วเพียงใดก็จะยิ่งจัดการ หรือหาทางออกให้กับสิ่งนั้น ได้ง่ายขึ้นเพียงนั้น

=====

ขั้นตอนที่ 2 ตัดสินใจอย่างไร

เป็นขั้นตอน “เราจะตัดสินใจอย่างไร” การดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของการรวบรวมข้อมูล กับส่วนของการประเมินน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น แล้วนำมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำขั้นตอนนี้คือ เขียนข้อดี-ข้อเสียลงบนกระดาษ โดยแบ่งเป็นช่องข้อดีและข้อเสีย แล้วใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุด

ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาพิจารณาใหม่

ไม่ว่าคุณจะทำด้วยวิธีใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นขั้นตอนของการใช้เชาวน์ในการไตร่ตรอง ซึ่งสนับสนุนเชาวน์ปัญญาในด้านการเรียนรู้และประสบการณ์

“เชาวน์ในการไตร่ตรอง” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เราใช้เชาวน์ด้านนี้กันน้อยลง

=====

ขั้นตอนที่ 3  การตัดสินใจที่แท้จริง

ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่า “เมื่อใดที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสินใจจริงๆ”

คนโดยทั่วไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว (เช่น ฉันจะเริ่มออม, ฉันจะหยุดสูบบุหรี่) มักจะรู้สึกโล่งอก เพราะคิดว่าตนเองพบทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย!

เราจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ตัดสินใจ” ว่าเป็น “การเริ่มลงมือทำจริงๆ อย่างที่เราคิดไว้” เช่น เมื่อเราได้ออมเงินครั้งแรก หรือเมื่อเราได้โยนบุหรี่ทิ้ง จึงจะเรียกว่า “เป็นการตัดสินใจจริงๆ

ดังนั้น “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ จนกระทั่งได้มีการทำให้สิ่งที่คิด ให้เกิดเป็นรูปธรรม” ซึ่งการกระทำที่ว่านี้ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้

=====

อย่างแรก การกระทำนั้นต้องวัดได้ เพื่อให้คุณรู้เมื่อได้มันมา เช่น ออมเงินให้ได้มากขึ้น ไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าเป็นออมเงินวันละ 100 บาท ทุกเดือน สามารถวัดได้

อย่างที่สอง กำหนดวัน-เวลาที่จะกระทำให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ฉันจะออมเงิน วันละ 100 บาท ทุกเดือน

อย่างที่สาม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งง่ายต่อการปฏิบัติจริง

=====

อันที่จริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกัน

เหตุผลหลักที่ทำให้เรามักไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป ก็เพราะเรากลัวที่จะพบกับความล้มเหลว

เช่น ถ้าเราพูดว่า เราจะวิ่งสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แล้วเราทำไม่ได้ ก็จะคิดว่าเราล้มเหลว ถ้าไม่กำหนดวัน เราจะไม่ล้มเหลว

ซึ่งก็จริง ว่าเราจะรู้สึกแบบนั้นได้ แต่คุณอย่าลืมว่า เราก็จะไม่พัฒนา เช่นกัน

ลองคิดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสำเร็จหรือล้มเหลว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลว จะมีก็แต่ผลลัพธ์ที่คุณสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้”

หนึ่งสิ่งที่เราควรระวังคือเรื่อง “ต้นทุนจม” เพราะมันมักทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดเสมอ เรียนรู้เรื่องนี้ได้ใน ต้นทุนจม อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด  คลิกที่นี่

=====

ขั้นตอนที่ 4 วางแผนอย่างเป็นระบบ

เป็นขั้นตอนทางเลือก ซึ่งคุณอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อคุณได้ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและทำเรื่องต่อๆ ไป เช่น การเริ่มทำธุรกิจ หรือการปรับปรุงตัวเอง อาจมีส่วนคาบเกี่ยว หรือต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะทำ

คุณควรวางแผนสิ่งที่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึง “เมื่อเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรกำหนดว่าต้องทำมันเมื่อใด ใครจะเป็นคนทำ และสิ่งนี้จะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ หรือไม่”

พิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากยังไม่ได้ทำ จะมีผลทำให้ไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้ คุณอาจต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโครงการ เพื่อช่วยวิเคราะห์สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น

=====

ขั้นตอนที่ 5 ประกาศการตัดสินใจให้ผู้อื่นรับรู้ 

“ควรบอกการตัดสินใจของคุณกับผู้อื่นหรือไม่?” เช่น คุณตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตามลำพัง หรือคุณตัดสินใจที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก จงจำไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ”

คำแนะนำก็คือ “บอกเป้าหมายของคุณกับคนที่ช่วยสนับสนุนคุณเท่านั้น” อย่าบอกสิ่งนี้กับคนที่จะทำให้คุณหมดกำลังใจ

การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

Categories EQ

3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)

3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของทุกปี ผมจะหาโอกาสให้ตัวเองได้หยุดพักจากงาน ถอยออกมาจากความวุ่นวายยุ่งเหยิงของชีวิต เข้าหาธรรมชาติ ปลีกวิเวกไปพักในที่เงียบๆสัก 1 สัปดาห์

ผมใช้เวลานี้ในการทบทวนและตกผลึกตัวเอง อีกทั้งใช้ในการมองภาพที่กำลังจะนำพาบริษัทและทีมงานก้าวต่อไปในอนาคต

สิ่งที่ผมได้จากการทบทวนตัวเอง ไม่ใช่ไอเดียใหม่ๆ ดีๆ แต่จะเห็นสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดไป ซึ่งในชีวิตการทำงานปกติ ไม่มีทางเลยที่ผมจะสังเกตหรือมองเห็น

และต่อไปนี้คือ 3 สิ่งที่ผมสังเกตเห็นตัวเองทำผิดพลาด และคิดว่านี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้นำหรือผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นเหมือนกับผม จึงเขียนบทความนี้แชร์ให้คุณได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

====

แน่นอนว่า คนที่เป็นผู้นำเป็นผู้บริหาร ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เก่ง ฉลาด มั่นใจ มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างเต็มที่ที่จะบรรลุผลลัพธ์และเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีความหวังดีกับผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น

คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์และช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ในแง่ของการนำทีม สิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้ นั่นเพราะอะไรบทความนี้มีคำตอบ

====

1.ความมั่นใจที่มากไปจนกลายเป็นอีโก้

ในฐานะผู้นำ เราผ่านชีวิตการทำงานมามาก มีประสบการณ์มาเยอะ จนประสบความสำเร็จมาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าเมื่อเจอสถานการณ์อะไรที่คุ้นเคย เราจะสามารถตัดสินใจในสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีไม่ทันจะฟังความเห็นคนอื่น

แม้อีกฝ่ายจะพยายามอธิบาย เราก็จะมีธงในใจและเอาตามสิ่งที่เราเห็นว่าถูก สั่งการฟันธงลงไปทันที นั่นทำให้ลูกน้องและคนรอบตัวมองว่าเรามีอีโก้ จึงมีระยะห่าง ไม่อยากจะเข้าหา หรือมาคุยกับเรา

====

2.มุ่งผลลัพธ์มากไป จนกลายเป็นเผด็จการ

ในฐานะผู้บริหาร เราอยากจะสร้างผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ อยากทำงานให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดแม้จุดเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่เราทำจึงเป็นการพยายามควบคุมทุกอย่าง ออกคำสั่งอย่างเดียว ลงรายละเอียดทุกจุด โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องคิดและทำด้วยตนเอง

หลายๆครั้ง ทีมงานอยากเสนอไอเดีย หรืออยากทำในสิ่งที่ต่างไป แต่พอจะพูด ก็ไปเจอข้อ 1 อีก คือเราไม่ฟังเขาเลย สุดท้ายทีมงานจะมองว่าเราเผด็จการ จึงหยุดคิด หยุดเสนอความเห็น เปลี่ยนเป็นรอฟังคำสั่งแทน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเดือดร้อนถ้าตัดสินใจผิดพลาด

====

3.หวังดีมากไป จนกลายเป็นยัดเยียด

ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านโลกมามากกว่า เรามีความหวังดีต่อทีมงาน อยากช่วยเหลือลูกน้อง จึงพยายามแนะนำสั่งสอนในจุดที่คิดว่าเขายังทำได้ไม่ดีพอ พอเราแนะนำไปแล้วเขาไม่ทำตาม เราก็ผิดหวัง ขุ่นเคือง หรือถึงขั้นน้อยใจ ทั้ง ๆ ที่หลายครั้งเขาก็ไม่ได้ขอให้ช่วยเลย

นั่นทำให้ทีมงาน มองว่าเรายัดเยียด จึงพยายามเอาตัวออกห่าง หรือถึงขั้นหูทวนลม ในทุกๆครั้งที่เราเอ่ยปากพูดอะไร เพราะมองว่าเราไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ของเขาจริงๆ

====

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้ปรับตัวเองเพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีขึ้น จนได้รับผลสะท้อนที่ดีจากน้อง ๆ ในทีมหลังจากนั้นไม่นาน ผมมีคำแนะนำให้กับผู้นำหรือผู้บริหารที่ไม่อยากมีปัญหาเหมือนผม ดังนี้

1.ไม่อยากมีอีโก้ ให้ลดความเร็วลง

ไม่ใช่ทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องได้คำตอบเดี๋ยวนี้ตอนนี้เท่านั้น เวลามีเรื่องอะไรเข้ามากระทบ ไม่ควรรีบตัดสินถูกผิด “ปล่อยให้ตัวเองได้ช้าลง” รับฟังมากขึ้น ถามความเห็นของทีมก่อน หากเขาคิดไม่ตรงกับเรา ก็ถามเหตุผลและให้เขาอธิบายมากขึ้นอีก ยังไม่ต้องรีบหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาเลย ทิ้งเวลาตัวเองและอีกฝ่ายกลับไปคิดใคร่ครวญในอีกมุมที่ต่างกัน แล้วค่อยนัดมาหารือกันทีหลัง

บางทีเราอาจจะเห็นจุดที่ดีกว่าจากมุมของอีกฝ่าย หรือกระทั่งแง่มุมที่มาปรับรวมกันแล้วดีขึ้นก็เป็นได้ แม้สุดท้ายแล้วเราตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามความคิดของเขา แต่เราก็ได้แสดงออกอย่างจริงใจว่าเราได้รับฟังและเคารพมุมมองของเขาอย่างเป็นกลางแล้วนั่นเอง

====

2.ไม่อยากเป็นเผด็จการ ปล่อยให้ทีมทำผิดพลาดได้

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเป๊ะทั้งหมด อย่าเพิ่งรีบสั่งการหรือควบคุม “ฝึกให้ความไว้วางใจทีมงาน” ให้โอกาสทีมได้ทดลองทำ และเปิดพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์แบบบ้าง เพื่อให้ทีมงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้บทเรียนจากการคิดเองทำเอง จะได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น

เมื่อมอบหมายงานให้ไปแล้ว ก็อย่าไปคอยถามหรือตามงานบ่อย ๆ เพราะเขาจะมองว่าเราจู้จี้และไม่ไว้ใจ หากกังวลว่าลูกน้องจะทำงานสำคัญพัง ก็ให้มาเล่าแผนการและนัดให้มีการรายงานผลเป็นระยะแทน

====

3.ไม่อยากยัดเยียด อย่ารีบสอนรีบแนะนำ

สิ่งที่ยากในการเป็นผู้บริหาร คือ “การวางตัวเป็นกลาง” เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แล้วปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ค่อย ๆ เป็นไปตามจังหวะเวลาของมัน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไข บางทีความหวังดีที่เราให้ไป แต่ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เขาจะเข้าใจ คำแนะนำของเราเสียเปล่าหรืออาจเป็นผลเสียต่อเขาก็ได้ เช่น เขาต่อต้านแล้วไปทำตรงข้ามกับที่เราแนะนำ หรือเขาทำตามคำแนะนำโดยที่ไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริง ปัญหาเดิมก็ไม่ถูกแก้ แต่จะกลับมาใหม่อีกเรื่อย ๆ

แต่ก็ไม่ใช่จะวางเฉยจนไม่ทำอะไรเลย เมื่อเราพบว่าสิ่งที่ลูกน้องคิดและทำอาจส่งผลเสียหาก และดูท่าทางเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองพลาดอะไร ให้หาโอกาสชวนมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว พูดถึงสิ่งที่เราสังเกตเห็น พูดถึงความเป็นห่วงของเรา ให้ทำด้วยความเมตตาและปรารถนาดี

จากนั้นถามความเห็นหรือมุมมองของเขาว่าคิดเรื่องนี้อย่างไร ให้เวลาในการรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ ยังไม่ต้องรีบสอนหรือแนะนำ จนกว่าเขาจะขอความเห็นจากเรา เราก็ค่อยอธิบายมุมมองของเรา โดยไม่ต้องบังคับหรือคิดว่าเขาจะทำตามเรา เพราะชีวิตเขา เขาต้องรับผิดชอบผลลัพธ์นั้นด้วยตัวเอง

ยกเว้นว่าสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่องานและส่วนรวม เราจะต้องอธิบายให้เห็นผลกระทบส่วนนี้ แล้วถามเขาต่อว่าเขาจะป้องกันหรือแก้ไขมันอย่างไร หากเขาไม่ทราบหรือไม่รู้ เราค่อยแชร์มุมมองของเราอีกที ถ้าเป็นแบบนี้ทีมงานจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ก้าวก่ายชีวิตเขา แต่เรากำลังทำเพื่อส่วนรวม

ฝึกฝนทักษะการฟังเพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ไม่ด่วนแนะนำด้วย  Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

====

จากที่เล่ามา เป็นสิ่งที่ผมพยายามสังเกตตนเองจากการบริหารทีม และพยายามปรับตัวเองเพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ซึ่งหลายท่านที่อ่านอาจจะรู้สึกว่า ต้องปรับตัวเองมากไปหรือเปล่า ต้องผืนใจหรือพยายามเกินไปไหม

จากประสบการณ์ตรงของผม ยิ่งเราพูดน้อยลง สั่งการน้อยลง เข้าไปนั่งในออฟฟิศน้อยลง ผมพบว่าทีมงานยิ่งเก่งขึ้น ขยันมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และดูเหมือนว่าบรรยากาศในการทำงานจะดีขึ้นด้วย

ส่วนสิ่งที่ผมทำมากขึ้นคือ ให้เวลาในการฟังแต่ละคนมากขึ้น ให้เวลาพัฒนาแต่ละคนตามเป้าหมายของเขามากขึ้น สนับสนุนให้กำลังใจและชื่นชมแต่ละคนมากขึ้น

ที่ผมเน้นย้ำว่า “แต่ละคน” คือไม่ทำแบบเหมารวม แต่ทำแบบเฉพาะคน เลือกคนที่สำคัญเป็น Keyman ไม่กี่คนที่เราจะโฟกัสพัฒนาเขา แล้วสอนเขาให้ไปพัฒนาคนอื่นต่อ

เพราะงานที่แท้จริงของผู้นำ คือ “การสร้างผู้นำรอบ ๆ ตัว”

บทความโดย อ.เรือรบ CEO และผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962


====

ปล. ผมมีหลักสูตรใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2023 ชื่อ Leading with Empathy” ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูง ดูรายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่ หากสนใจจัดอบรมในองค์กร โทร 093 925 4962 หรือ Line @lhtraining

5 เทคนิคทำให้คุณเป็นที่รักของทุกคนในทีม

ตั้งใจอ่านบทความนี้ให้ดีๆ นะครับ! เพราะนี่คือวิธีที่จะทำให้คุณ กลายเป็นที่รักของคนรอบข้างได้อย่างง่ายดาย

 และที่สำคัญมันทำจะให้ตัวคุณเอง ได้ค้นพบด้วยว่า… ภาษารักของคุณคืออะไร

====

คุณเคยมีคำถามแบบนี้กับตัวเองหรือเปล่า?

“ทั้งๆ ที่คุณก็แสดงออกถึงความใส่ใจต่อคนที่คุณรักแล้ว แต่เขากลับไม่รู้สึกถึงความรักจากคุณเลย!” 

ถ้าเคย… บทความนี้จะทำให้คุณรู้ว่า… มันเกิดจากอะไร และคุณควรจะทำอย่างไร

ถ้าไม่เคย… บทความนี้ จะช่วยให้คุณรู้เทคนิค ที่จะทำให้คุณ มัดใจผู้คนได้ง่ายมากๆ

====

ผมมีคำถามง่ายๆ 1 ข้อมาถามคุณครับ

ระหว่างคน 2 คน คนที่ 1 เขาจะให้ในสิ่งที่ “คุณต้องการ” เสมอ
กับคนที่ 2 ที่ มักจะให้ ในสิ่งที่เขา “คิดว่ามันน่าจะดี” กับคุณเสมอ

คุณรู้สึกดี และชอบคนไหนมากกว่ากัน?

ผมเชื่อว่าคำตอบของคุณก็ต้องเป็น  “คนที่ 1” ใช่ไหม

ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” เรามาเรียนรู้กันเลยครับว่า 5 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณ เป็นที่รัก และเอาชนะใจของผู้คนในทีมคืออะไร

====

1. พูดชื่นชม และยกย่อง

หมั่นพูดเพราะๆ คอยหยอดคำหวาน แค่นี้ก็ทำให้คนบางคนใจละลายได้แล้ว

“ตัวเองน่ารักจังเลย” “ขอบคุณมากๆ เลยนะ… น่ารักที่สุด” “ถ้าไม่ได้คุณช่วยเอาไว้… ฉันคงแย่แน่ๆ” “วันนี้คุณดูสวย/หล่อ มากๆ เลยนะครับ”

“ผม/ฉัน รู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของคุณจากใจจริง” ฯลฯ
ใช้ปิยวาจา ในเวลาที่เหมาะสม ด้วยถ้อยคำที่กลั่นมาจากใจ ใครๆ ก็จะชื่นชอบในตัวคุณครับ

====

2. คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนเขา

การหยิบยื่นการสนับสนุน เป็นสะพานเชื่อมหัวใจของผู้คนได้เป็นอย่างดีครับ เมื่อคุณเห็นเขากำลังทำงาน หรือทำภารกิจอะไรอยู่ สอบถามเขาสักนิด หยิบยื่นน้ำใจ และความช่วยเหลือไปให้

ที่สำคัญคือ การสนับสนุนนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็ได้ เพราะแม้การสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ก็ล้วนมีคุณค่าทางจิตใจทั้งสิ้น

และการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ อย่างต่อเนื่อง…. ก็อาจมีผลต่อใจเขามากกว่า การหยิบยื่นของใหญ่ๆ เพียง 1 ครั้งนะครับ

====

3. มอบของขวัญ พิเศษให้กับเขา

แอบมีของขวัญเล็กๆ ไปเซอร์ไพรส์เขา ไปไหนมาไหน มีของฝากติดไม้ติดมือมาบ้าง ทำให้รู้ว่าคุณยังคิดถึงเขาอยู่

และทุกๆ ครั้งที่เขาหยิบเอาของขวัญของคุณขึ้นมา เขาจะคิดถึงคุณครับ ฝากเยอะๆ ฝากบ่อยๆ คุณจะไปอยู่ในใจเขาอย่างรวดเร็ว 

====

4. มอบช่วงเวลาที่มีคุณภาพให้แก่เขา

แบ่งเวลาคุณภาพให้กับเขา มอบเวลาของคุณเพื่ออยู่กับเขาอย่างเต็มที่เต็ม 100

ใช้ช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน อาจเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ใช้เวลาเพื่อดูหนังกันอย่างอิ่มเอม หรือการนั่งลงและพูดคุยกันแบบเปิดอก พูดคุยกันอย่างเป็นกันเองและสนุกสนาน ทำให้ช่วงเวลาที่ได้ใช้ไปด้วยกันนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ เป็นช่วงเวลาที่ดี และน่าจดจำ

====

5. สัมผัส โอบกอด ทำให้เขารู้ว่าคุณอยู่ข้างๆ เขา

การสัมผัส และการโอบกอด เป็นอีก 1 วิธีการการแสดงออกถึงความรักที่น่าทึ่งนะครับ

บางคนพูดอะไรมากมายเป็นร้อยเป็นพันคำ กลับทำทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอบอุ่นได้ไม่เท่าการโอบกอดเพียงไม่กี่นาที

คุณอาจสวมบทบาทเป็นหมอนวดแผนไทยชั่วคราวทำการบีบนวดผ่อนคลายให้เขา หลังจากที่เขาต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาทั้งวัน…. แค่นี้คนถูกนวดก็ฟิน และรักคุณจะตายแล้ว(ควรทำกับคนเพศเดียวกันเท่านั้นนะครับ) 

====

และนี่ครับ คือ 5 เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้คุณเป็นที่รัก และชนะใจผู้อื่นได้ทันที

แต่!!!.. ผมยังมีข่าวดี มากกว่านี้อีก!

ข่าวดีก็คือ…. เพื่อที่จะเป็นที่รัก และเอาชนะใจผู้คน
คุณไม่จำเป็นต้องทำ ครบทั้ง 5 ข้อที่ผมแบ่งปันนี้ก็ได้!

เพียงคุณรู้ว่า เขาคนนั้น เป็นคนที่มีภาษารักแบบไหน จากภาษารักทั้ง 5 ภาษา
(จากหนังสือ The 5 Love Languages โดย Gary Chapman)

ภาษารักแบบที่ 1 – Words of Affirmation การใช้คำพูดชื่นชม
ภาษารักแบบที่ 2 – Acts of Service การแสดงออกถึงการบริการ
ภาษารักแบบที่ 3 – Receiving Gifts การได้รับของขวัญ
ภาษารักแบบที่ 4 – Quality Time การได้ใช้เวลาคุณภาพ
ภาษารักแบบที่ 5 – Physical Touch การสัมผัส

ซึ่งแต่ละคน จะมีภาษารักที่รู้สึกสำคัญของตัวเอง 1 หรือ 2 ภาษา และมีภาษารักที่ไม่สำคัญอยู่ด้วย

====

ตัวอย่างเช่น ตัวผมเอง เป็นคนที่มีภาษารักในแบบที่ 2 (Acts of Service) เยอะมากๆ และ ภาษารักแบบที่ 3 (Receiving Gifts) เป็นรูปแบบที่ผมให้ความสำคัญน้อยที่สุด

ดังนั้น หากใครที่มาช่วยงานผม หรืออาสามาสนับสนุนในภารกิจ หรืองานที่ผมทำอยู่ ผมจะรักคนเหล่านี้มากๆ มากกว่าคนเอาของขวัญมาให้ แต่ไม่ได้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนอะไรเลย

และในขณะเดียวกัน ผมก็จะเป็นคนที่ชอบอาสาไปช่วยงานผู้อื่นอยู่เป็นประจำ เพราะมันคือภาษารักที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1

เมื่อเราทำให้คนในทีมรักเราได้แล้ว มาลองฝึกฝนวิธีทำให้ลูกน้องร่วมมือกับเราอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน คลิกอ่านที่นี่

====

ภาษารักของคุณคืออะไร?

คุณจะลองสังเกตตัวเองดูก็ได้นะครับ ว่าตัวคุณ มีภาษารักแบบไหน?
และคนที่คุณรักเขาให้ความสำคัญกับภาษารักแบบไหน?

เพราะเมื่อคุณได้ให้ในสิ่งที่ตรงกับภาษารักของเขามากที่สุด เขาจะรักคุณอย่างง่ายดายครับ

ขอให้คุณมีความสุข และสมหวังในความรักนะครับ 

หนึ่งทักษะสำคัญที่ทำให้คนรักและเคารพคุณก็คือ ทักาะการบริหารอารมณ์ ผมขอแนะนำหลักสูตรสำึัญสำหรับผู้นำยุคใหม่ Emotion Intelligence คลิกดูรายละเอียดที่นี่

บทความโดย อ.กิตติ ไตรรัตน์ 

Self – Leadership Coach


Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

9 วิธีเพิ่มทักษะการฟัง สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพให้คนทำงาน

การฟัง หรือ Listening ถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต เพราะมนุษย์คนหนึ่งสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้จากทักษะที่ธรรมชาติให้มาอย่างการฟังนั่นเอง

ยิ่งถ้าคุณทำงาน หรือสร้างธุรกิจด้วยแล้ว การฟังยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะหากฟังไม่ดี เกิดการเข้าใจผิดหรือตัดสินใจผิด อาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้เสมอ 

เพื่อให้ทักษะการฟังพัฒนาขึ้น “9 วิธีการเพิ่มทักษะการฟัง” ที่จะบอกในบทความนี้จะช่วยให้คุณ มีพัฒนาการด้านการฟัง และที่สำคัญ อาจกลายเป็นจิ้กซอว์ สำคัญในการสร้างความสำเร็จของคุณด้วย

====

1.เรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน

ผมเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราอาจลืม หรือไม่ได้นึกถึงมากที่สุด นั่นคือ จงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน เราฟังเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ถอดรหัสของเสียงเหล่านั้นกลายเป็นข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ เช่น ฟังการสอน  ฟังวิธีการในการทำอาหาร เสียงช่วยให้เราถอดรหัสได้ง่ายเพิ่มขึ้น

====

2.คิดตามเสมอที่คุณฟัง

อย่าฟังเรื่องใดๆแบบปล่อยผ่าน แต่จงฟังอย่างตั้งใจ และพยายามตรองเรื่องที่เราฟังไปพร้อมๆกับเสียงที่ได้ยิน การที่เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นไปด้วย จะช่วยให้สมองได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นความคิดในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และมันจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ

====

3.ทวนความเป็นช่วงๆ 

เพื่อให้การจดจำในสิ่งที่คนอื่นพูด เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากคุณสนทนากับบุคคลดังกล่าวอยู่ ลองเปลี่ยนเป็น การพูดสลับออกมาจากที่คุณฟังด้วย โดยพูดในเรื่องที่ผู้พูดคนนั้นได้ถ่ายทอดบทความออกมา ผมมักทำแบบนี้อยู่เสมอๆ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก คือผมสามารถจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ

====

4.ฝึกสมาธิเป็นประจำ

อย่าดูเบาในเรื่องของสมาธินะครับ มีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และด้านจิตวิทยาทั่วโลกมากมาย ที่สนับสนุนให้เรารู้ว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านความจำของคุณได้อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบเทคนิคง่ายๆอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า ฝึกสมาธิเลยครับ หรือเลือกเข้าคอร์สการอบรมเรื่องโยคะก็ได้

====

5.ลองฟังเสียงธรรมชาติและแยกเสียงดู

ผมว่าเทคนิคข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการฟังอยู่ไม่น้อย นั่นคือ คุณลองหาโอกาสในการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากสถานที่นั้นเป็นสถานที่แบบธรรมชาติ เพื่อที่ว่า ผมอยากให้คุณลองฟังดูเสียของธรรมชาติ เสียงต้นไม้ เสียงลมพัด หรือเสียงน้ำตกที่ไหลรินอย่างอ้อยอิ่ง ตามลำธารต่างๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ถ้าเราสามารถฟังและแยกเสียงเหล่านั้นได้ดี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฟังอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

====

6. เข้ารับการอบรมเรื่องการฟัง 

อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นนะครับ หากคุณมีปัญหาว่า ไม่สามารถเข้าใจสารที่เจ้านายสั่งงานคุณเป็นประจำ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีสมาธิสั้นในการฟังแล้ว จงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองอย่างง่ายๆด้วยการเรียนรู้ทักษะการฟังที่ถูกต้อง จากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถอย่างนี้จะดีกว่า การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นทักษะการฟังจากศูนย์

ผมมีหลักสูตรสอนเรื่องการสื่อสารและการฟัง สำหรับคนทำงานในองค์กร ในชื่อหลักสูตร Executive Communication คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

7.จดด้วยทุกครั้งที่คุณฟัง

สิ่งหนึ่งที่ผมนั้นชื่นชอบมากๆ เวลาเข้าไปฟังการอบรมหรือสัมมนานั่นคือ ยิ่งถ้าเรานั้นฟังมากเท่าใด สิ่งที่ตามมาคือปริมาณของข้อมูลที่ดีๆอาจล้นทะลัก จากคลังสมองของเรา ทำให้เราพลาดในการเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่ารอช้า เตรียมสมุดจดไปสักเล่ม และบันทึกเรื่องราวต่างๆไปด้วยเสมอในระหว่างที่คุณฟัง การทำอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูล ที่เกินกว่าจำนวนที่คุณรับรู้ได้อย่างแน่นอน

====

8. บันทึกผลของการฟังไว้บ้าง

หากเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า คุณควรจดบันทึกผลของการฟังลงในสมุดเสียหน่อย เช่นวันนี้ฟังเรื่องอะไร และสามารถฟังได้นานกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ผมว่าการทำอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการฟังได้ชัดเจนขึ้นมากเลยนะครับ

====

9.เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังได้

เทคนิคข้อที่เก้านี้ อาจเป็นเทคนิคที่หลายๆคนมองข้าม หรืออาจเกิดความไม่มั่นใจว่า มันจำเป็นจริงหรือ ผมยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มฝึกทักษะการฟังใหม่ๆ และสามารถฟังเรื่องราวของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง ในตอนนั้นผมคิดเสมอว่า มนุษย์เราจะสามารถฟังอะไรได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่า ผมต้องฟังอะไรได้ยาวกว่านั้น และเมื่อผมเชื่อ! ในที่สุดผมก็ทำได้ และนั่นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณด้วยเช่นกัน

====


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 9 วิธีการอย่างง่ายๆในการเพิ่มทักษะด้านการฟัง ที่เราสามารถนำแนวทางข้างต้นต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเราได้จริง และถ้าเราหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า ทักษะด้านการฟังของคุณจะต้องดีขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอนครับ

ฝึกฝนทักษะการฟังให้เข้มข้นเพิ่มขึ้นกับ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

บทความโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand / ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ

เวลาทำงานร่วมกันก็ย่อมจะต้องมีการแสดงความคิดเห็น แล้วในทุกองค์กรก็มักจะมีคนที่เสนอความคิดเห็นที่มีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่องาน

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมี “คนเก่งจอมมั่น” ที่เชื่อว่าตัวเองถูกเสมอ แม้ว่าจะเคยนำสิ่งที่เขาเสนอไปปฏิบัติจริงแล้วไม่เวิร์คมาแล้วก็ตาม

====

นี่คือสถานการณ์ที่ต้องรับมือด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะกับหัวหน้า เพราะถ้าทำตามที่เขาแนะนำตลอดก็อาจส่งผลลบต่อทีมและงานในหลาย ๆ ด้าน แต่ถ้าไม่ทำตามคำแนะนำก็อาจทำให้คนนั้นรู้สึกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองถูกทำลายจนอาจจะไม่เสนอไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะปวดหัวเวลาทำงานร่วมกับ “คนเก่งจอมมั่น” แต่ก็มีวิธีที่สามารถช่วยป้องกันปัญหาที่ชวนเหนื่อยใจลักษณะนี้ได้ และยังทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างและมีประสิทธิภาพตามมาได้อีก ด้วยวิธีต่อไปนี้
====

หาต้นตอของความเก่งและมั่นให้เจอ

คนเราจะเก่งและมีความมั่นใจจากหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่พบบ่อยนั้นเกิดจากความสำเร็จในการทำงานครั้งก่อน ๆ หลังจากที่เคยแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจจนเกิดผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วทำให้ครั้งต่อ ๆ ไป เขาก็จะพยายามรักษาความสำเร็จเดิมเอาไว้ด้วยการแสดงออกว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องแน่นอน

สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือควบคุมบทสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น และปราศจากการโต้แย้งอย่างรุนแรง ลองพยายามดึงจังหวะ ดึงอารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ให้พุ่งสูงจนเกินไป

ถ้ามีคนน็อตหลุดขึ้นมาเพราะตกลงกันไม่ได้จริง ๆ ก็อาจต้องหาโอกาสประชุมแยกนอกรอบเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจ และปรับมุมมองให้เข้าใจกัน อย่างน้อยก็จะรักษาความมั่นใจของอีกฝ่ายเอาไว้ไม่ให้เขารู้สึกว่าตัวเองทำพลาดหรือหมดประโยชน์ต่อทีม
====

เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นบ้าง

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นประจำคือการเปิดกว้างให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน นั่นคือการบอกทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละประเด็นอย่างตรงไปตรงมา

การให้คนในทีมมีส่วนร่วมและช่วยกันประเมินมุมมองของงานอย่างหลากหลายจะก่อให้เกิดความคิดที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ แล้วยังทำให้แต่ละคนมีความมั่นใจโดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาจนทำลายบรรยากาศและผลของการทำงานอีกด้วย
====

เสริมสร้างบรรยากาศให้คนอยากฟังและอยากแสดงความคิดเห็น

เมื่อต้องทำงานกับคนที่เก่งและมั่นมาก ๆ อาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลงจนไม่กล้านำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง

แนวทางแก้ไขปัญหานี้ คือ เมื่อต้องประชุม แสดงความคิดเห็น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเป็นผู้ฟังที่ดีและโทนเสียงในการพูด ทั้งสองอย่างนี้ต้องมาควบคู่กันจึงจะสามารถลดปัญหานี้ลงได้

เพราะทุกคนล้วนมีมุมมองเป็นของตนเอง และทุกมุมมองต่างมีความสำคัญ โทนเสียงเวลาแสดงความคิดเห็นมีผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง ว่าจะทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้มากแค่ไห

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คนอื่นจึงจะกล้าแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วจะไม่มีใครรู้สึกอายในความคิดเห็นของตนเอง

และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ท้ายที่สุดทุกคนจะกล้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จะเกิดความความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนการทำงานราบรื่นในท้ายที่สุด

ยังมีเทคนิครับมือกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกที่มักจะชอบวีนเหวี่ยงใส่คนอื่นด้วย อ่าน สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานขี้วีนอย่างไรให้ได้ผล คลิกที่นี่

====

เรียบเรียงจาก How to Work with Someone Who Thinks They’re Always Right โดย Ron Carucci and Jarrod Shappell จาก Harvard Business Review 26 มิถุนายน 2019

การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลายมี Mindset และทักษะมากมายที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 วิธีฟื้นคืน จากวิกฤตชีวิต

ยากเหลือเกินที่จะยิ้มและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หากต้องเผชิญกับความท้อแท้สิ้นหวังจากสถานการณ์ต่าง ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านการเงิน การตกงานกะทันหัน การถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ  หรือความสัมพันธ์ที่ไปไม่รอด

การสูญเสียคนรักอย่างกะทันหัน หรือความเจ็บป่วยเรื้อรังของญาติผู้ใหญ่

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ใช่หรือเปล่า 

====

ซ้ำร้ายกว่านั้น ในยามที่ชีวิตเป็นขาลง ดูเหมือนอะไรๆก็จะเข้ามาตามซ้ำเติม

ปัญหาหนึ่งยังไม่จบ ปัญหาใหม่ๆก็เข้ามาทับถม และส่งผลกระทบถึงเรื่องอื่นต่อๆไป

คุณทำอย่างไร เมื่อชีวิตอยู่ในช่วงวิกฤต

====

   ในช่วงเวลาแบบนี้คุณจะพบว่า ในใจมีแต่ความกลัวและความเจ็บปวด เพราะความหวังพังทลาย  คุณรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกไร้คุณค่าและไม่ดีพอ รู้สึกสิ้นหวังและไม่มีกำลังใจจะก้าวเดินต่อ

สิ่งที่เกิดขึ้น อาจทำให้คุณจมอยู่ความรู้สึกย่ำแย่ และเศร้าโศกเนิ่นนาน จนกลายเป็นความซึมเศร้า ขาดกำลังใจที่จะใช้ชีวิต

คุณไม่รู้ว่าจะลุกขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างไร ไม่ว่าใครจะมาพูดหรือปลอบโยนเท่าไหร่ ก็ไม่อาจช่วยให้คุณดีขึ้นมาได้เลย…

====

ตามกฎของจักรวาล “ทุกสิ่งไม่เที่ยงและจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ”

ดังนั้นโชคร้ายก็จะไม่อยู่กับคุณตลอดไป ในเมื่อชีวิตมีขาลงก็ย่อมมีขาขึ้น

ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ ข่าวดีก็จะมาเยือน แล้วคุณก็จะลุกขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

แต่จะดีขนาดไหนถ้าหากเรามีวิธีที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นได้ในเร็ววัน

และต่อไปนี้คือ 5 วิธีที่จะช่วยคุณให้ฟื้นคืนจากวิกฤตชีวิตได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง 

====

1. ยอมรับและเผชิญหน้ากับความเป็นจริง

มีความทุกข์อยู่ 2 อย่าง คือ ทุกข์ที่ทำให้คุณเจ็บปวด และทุกข์ที่ทำให้คุณเปลี่ยนแปลง

คุณจะเจ็บปวดก็ต่อเมื่อคุณต่อต้านมัน หากคุณยอมรับและพร้อมที่จะเดินไปกับมันได้ สิ่งนั้นจะนำมาซึ่งการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณ 

อย่างแรกที่คุณต้องทำก็คือ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าคุณจะไม่ชอบมันเลยก็ตาม  การดิ้นรนต่อสู้กับมัน ด้วยความคาดหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น(หรือหายไป)  จะยิ่งเสียพลังงานและเสียเวลาไปเปล่าๆ

การยอมรับจะทำให้คุณกลับมาพบความสงบในใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อในทิศทางใหม่ๆ

การปล่อยวางจะง่ายยิ่งขึ้น หากคุณ“ให้อภัย” ไม่ว่าจะเป็นกับตัวคุณเอง กับใครบางคน หรือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว

การให้อภัยจะปลดปล่อยตัวคุณจากความเครียด ความกดดัน ความกังวล ความยึดติดกับอดีตและอนาคตทั้งหลาย

การยอมรับและการอภัย จะช่วยให้ใจของคุณรู้สึกเบาสบายขึ้น เป็นอิสระจากสิ่งที่คุณยืดถือและคาดหวังว่าจะต้องเป็น แม้ว่าสิ่งภายนอกจะยังเหมือนเดิมก็ตาม

====

2. โอบกอดตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

หากคุณหมดความมั่นใจ หมดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง แสดงว่าคุณกำลังอยากจะเป็นใครคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวคุณเอง 

ถามตัวเองว่า ฉันกำลังคาดหวังความสมบูรณ์แบบในชีวิตอยู่หรือเปล่า ลองฝึกมองอดีตที่ผ่านมาของตัวเอง จะพบว่าตัวคุณก็มีความสำเร็จเกิดขึ้นมาแล้วตั้งมากมาย

สิ่งที่คุณต้องการก็คือ การโอบกอดและยอมรับตัวเอง ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

ระวังการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ชื่นชมความสำเร็จและมองเห็นความสวยงามของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 

คุณคือคนธรรมดาที่สามารถทำผิดพลาดได้ มีความกังวล มีความกลัวอยู่เป็นปกติธรรมดาเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน 

คุณไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ หรือไร้ข้อผิดพลาด คุณก็สามารถยอมรับและรักตัวเองได้

====

3. เตือนตัวเองว่า ทุกสิ่งเป็นของชั่วคราว

การก้าวข้ามที่สำคัญในชีวิต เกิดขึ้นเมื่อคุณตระหนักว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆในชีวิต ทั้งที่เป็นข้อจำกัด ความล้มเหลว ความผิดพลาด ความสูญเสีย โชคร้ายและความเสื่อมถอย เป็นเพียงของชั่วคราวเท่านั้น

และหลายครั้งมันผ่านไปแล้ว แต่ความคิดของคุณยังทำให้มันคงอยู่ ไม่ไปไหน 

ความทุกข์และความไม่แน่นอน เป็นของชั่วคราว มันไม่มีทางอยู่ยั่งยืนไปตลอดกาล

เวลาจะค่อย ๆ เยียวยาจิตใจของคุณ แม้ว่าจะต้องใช้เวลานับเดือนนับปี แต่ท้ายที่สุดมันก็จะผ่านไป

ชีวิตคือภาพยนตร์เรื่องยาวที่จะหมุนต่อไปไม่หยุดนิ่ง ฉะนั้นอย่าให้ความทุกข์แค่บางฉากบางตอนมาเปลี่ยนตัวตนที่แท้จริงของคุณไปอีกเลย 

คนที่เข้มแข็งคือคนที่ร้องไห้ได้อย่างเปิดเผย แล้วก็พร้อมก้าวต่อไปเมื่อหยาดน้ำตาเหือดแห้งลง

====

4. มองหาสิ่งที่ขอบคุณได้ ในช่วงเวลานี้

การขอบคุณ คือการเยียวยาตัวเองที่เรียบง่ายและเป็นวิธีช่วยฟื้นฟูจิตใจเราได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

ในภาวะที่กำลังจมอยู่กับตัวเองและความทุกข์ ลองมองหาสิ่งที่จะขอบคุณ ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้รอบตัว 

แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเล็กน้อยและธรรมดาแค่ไหนเราก็ขอบคุณ(ระลึกถึงคุณค่าของมัน) ได้เสมอ เช่น 

ขอบคุณที่ยังมีลมหายใจ ขอบคุณความรักจากคนรอบตัว ขอบคุณสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากเรื่องนี้

ฯลฯ 

หากเราลดการมองสิ่งที่ขาดหายไป แล้วหันมาขอบคุณสิ่งที่มีอยู่ ด้วยความรู้สึกสำนึกคุณ จะพบว่าหลายๆครั้งได้มองข้ามอะไรไปบ้าง

สิ่งที่สูญเสียไป คงเอากลับมาไม่ได้ แต่จะดีแค่ไหน ที่คุณได้ค้นพบสิ่งมีค่าที่ยังอยู่กับชีวิตที่เหลือนี้ 

====

5. ยื่นมือออกไป ช่วยใครสักคน

ความท้อแท้ในชีวิต ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะคุณรู้สึกสมเพชตัวเอง แม้มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ แต่คุณก็ทำอยู่บ่อย ๆ โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว

ถ้าคุณสามารถจับความคิดได้ว่า คุณเริ่มดูถูกและต่อว่าตัวเอง ให้หยุดพักจากการสนใจตัวเองชั่วคราวแล้วมองไปที่ผู้คนรอบตัว

ลองหาทางที่จะช่วยเหลือใครสักคน แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เชื่อไหมว่าการช่วยเหลือคนอื่นจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้แทบจะทันทีเลยทีเดียว 

เมื่อไหร่ที่คุณอยากได้รับการใส่ใจ ให้คุณใส่ใจผู้อื่น  จงดูแลเขาให้เหมือนกับที่คุณต้องการได้รับการดูแลด้วยจิตที่เมตตา และอ่อนโยน

 

การได้ช่วยเหลือใครสักคน จะทำให้คุณตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย ที่ขังคุณไว้ในจิตใจอันโดดเดี่ยวของตัวเอง

====

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง ขอให้รู้ว่า คุณไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์นี้เพียงลำพัง

คนรอบตัวที่รักคุณ ต่างรู้สึกและได้รับผลกระทบจากความเศร้าและสิ้นหวังของคุณอยู่เช่นกัน

ยิ่งทำร้ายตัวเอง ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาเจ็บปวดไปด้วย

ถ้านั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ ลองนำวิธีการทั้ง 5 ข้อนี้ในการพาตัวเองให้ฟื้นคืนขึ้นมาจากวิกฤตชีวิตและการงานดูสิครับ 

นั่นเท่ากับว่าคุณกำลังช่วยให้ชีวิตตัวเองและคนรอบตัวดีขึ้นไปพร้อมๆ กันเลยทีเดียว 

เมื่อฟื้นคืนจากวิกฤตชีวิตได้แล้ว ขั้นต่อไปคุณน่าจะอยากพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น อ่าน 5 พฤติกรรมที่คนสำเร็จจะไม่มีวันทำ คลิกที่นี่

====

บทความโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand / ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนา Mindset และทักษะของผู้นำยุคใหม่ ผมมีหลักสูตร The New Leadership Skills เพื่อพัฒนาให้คุณเป็นผู้นำที่พร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยุคใหม่ คลิกดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962



4 ขั้นตอนการจัดการ เมื่อมีคนทำให้คุณโกรธ

แว่บแรกเมื่อมีใครสักคนทำให้คุณไม่พอใจ ทำให้คุณโกรธ หรือเจ็บปวด คุณคงคิดที่จะตอบโต้ หรือหาทางแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อมใช่ไหมครับ  ผมก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

ทั้งหมดนั้นเป็นปฏิกริยาโต้ตอบอัตโนมัติของมนุษย์ ถ้าสู้ได้ก็ลุย ถ้าดูแล้วสู้ไม่ได้หรือไม่เหมาะสม ก็ผูกใจเจ็บแล้วค่อยหาทางแก้แค้นวันหลัง

สัญชาตญาณนี้มันถูกฝังอยู่ส่วนลึกสุดของสมองของเรา และคงยากที่จะปฏิเสธได้

แต่ทุกครั้งที่ผมคิดแก้แค้น ตอบโต้ หรืออยากทำเรื่องร้ายๆกับใครสักคน ผมพบว่า ความโกรธแค้นเหล่านั้นไม่ได้ลดลงไป แต่มันกลับกัดกินในใจหนักกว่าเดิม เมื่อกลับมาทบทวนผมจึงเริ่มเข้าใจว่า…

“ศัตรูที่ต้องจัดการไม่ใช่คนที่ทำให้เราเจ็บ แต่เป็นความโกรธเกลียดในใจของเราเองต่างหาก”

====

ซึ่งต่อไปนี้เป็น 4 ขั้นตอนที่ผมใช้จัดการอารมณ์โกรธและบริหารจิตใจของตัวเองเวลารู้สึกโกรธ ซึ่งผมเรียกว่า Inner Listening หรือ การรับฟังเสียงภายใน 

1.รับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ เรามักกระโจนไปสู่วิธีการจัดการ สมองคิดจากอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน และนั่นทำให้เราคิดไปสารพัด ถึงสิ่งไม่ดีของอีกฝ่าย ที่เราได้รับรู้มาตลอด นำไปสู่สภาวะ ยิ่งคิดยิ่งแค้น

“เมื่อไม่พอใจ ให้รับรู้อารมณ์ อย่าจมอยู่กับความคิด”

สิ่งแรกที่เราควรทำ จึงควรเป็นการกลับมารับรู้อารมณ์ของเราว่ากำลัง หงุดหงิด โกรธ ไม่พอใจมากแค่ไหน มองดูตัวเองเสมือนว่าเรากำลังดูหนังสักเรื่องหนึ่งอยู่ มองเห็นว่าตัวเอกกำลังฉุนได้ที่อยู่

การรับรู้อารมณ์อาจจะไม่ง่ายในช่วงแรก อาจฝึกจากการรับรู้ร่างกายก่อน เช่น สังเกตเห็นความร้อนผ่าวของเลือดที่สูบฉีดขึ้นหน้า รับรู้ถึงลมหายใจฟืดฟาดที่รุนแรง รับรู้อาการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เรารับรู้ตัวเองได้ดีขึ้น

====


2. ยอมรับอารมณ์นั้น

หลายครั้งเมื่ออารมณ์ของเราขึ้น เราจะไม่ยอมให้มันอยู่ในตัวเรา เราจะระบายอารมณ์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ระบายออกด้วยการขว้างปาข้าวของ ปิดประตูเสียงดัง บีบแตรเสียงดัง ตะโกนดังๆ แต่พฤติกรรมเหล่านั้นไม่ใช่วิธีที่ทำให้อารมณ์ลดลง

บางคนทำตรงข้าม พยายามควบคุมอารมณ์ ระงับมันด้วยการเก็บกดเอาไว้ แต่คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนขี้บ่น ขี้ฟ้อง ขี้น้อยใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น หรือไปออกอาการโวยวายกับคนใกล้ตัวแทน

เราไม่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ เพราะอารมณ์นั้น ควบคุมไม่ได้

“ยิ่งใช้อารมณ์ มันจะยิ่งบานปลาย เราแค่ยอมรับมันให้ได้ก็พอ”

เริ่มจากขั้นที่ 1 คือ รับรู้ว่าเรามีอารมณ์ จากนั้นก็ยอมรับให้อารมณ์เหล่านั้นแสดงตัว แล้วค่อยๆเห็นมันเปลี่ยนแปลงไปเอง ตามธรรมชาติ

โอบอุ้มอารมณ์ ให้เหมือนเราอุ้มทารกน้อย ให้อยู่ในอ้อมกอด เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์โกรธนั้นจะค่อยๆ ลดลงเอง โดยที่เราไม่ต้องไปจัดการใดๆเลย

====


3. สำรวจความต้องการ

แม้ว่าอารมณ์ลดลงแล้ว แต่ปัญหาและคู่กรณีที่ค้างคา ยังแก้ไขไม่ได้ หลายคนพยายามแก้ปัญหา ด้วยการคิดบวก มองในด้านดีของคนๆนั้น หรือหาข้อดดีอื่นๆมาชดเชย

บางทีก็พยายามหาวิธีคิดใดๆ มาปลอบใจตัวเอง บอกกับตัวเองว่า มันคงเป็นกรรมเก่าละมั้ง เจ้ากรรมนายเวรเก่าละสิ ดวงตกมั้ง ฟาดเคราะห์ไปละกันเรา

การคิดบวก มันช่วยเราได้เพียงชั่วคราว เพราะในส่วนลึก เราก็ยังไม่โอเคอยู่ดี เราอาจหลอกคนอื่นด้วยการฝืนยิ้มได้ ทำว่าตอนนี้ชีวิตดี๊ดี แต่เราหลอกข้างในใจตัวเองไม่ได้แน่นอน

บางคนพยายามหาทางที่จะลืม ด้วยการไปหาของกินอร่อยๆ ไปช้อปปิ้ง หรือไปกินเหล้าย้อมใจให้ลืมเธอ นั่นก็ไม่ใช่วิธีทำให้ปัญหาหมดไป (ส่วนใหญ่จะเพิ่มปัญหาใหม่ๆเข้ามาด้วยซ้ำ)

“สิ่งที่แย่กว่าในการพยายามลืม คือมันจะยิ่งจำฝังแน่นขึ้นอีก”

วิธีการแก้ปัญหาขั้นที่ 3 คือ เมื่ออารมณ์ลดลงแล้ว คือการกลับมาคุยกับตัวเอง ด้วยการ “สำรวจความต้องการ” ที่อยู่ลึกๆในใจเรา

ลองหากระดาษกับปากกามานั่งเขียนทบทวนตัวเองว่า สาเหตุที่เราโกรธ ไม่พอใจ คนๆนั้นเค้าทำอะไรที่ขัดกับ “คุณค่า” ที่เรายึดถือ หรือสวนทางกับ “ความต้องการ” ในขณะนั้นของเรา

เขียนมาให้ชัดว่าลึกๆแล้ว เราต้องการอะไร และถ้าเป็นไปได้ ลองพิจารณาว่า อีกฝ่ายต้องการอะไร จากเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย

====


4. สื่อสารด้วย I Statement

หลายครั้งเมื่อเราได้กลับมาทบทวน จะพบว่า ความขัดแย้งต่างๆเกิดขึ้นเพียงเพราะเรายึดถือคุณค่าที่ต่างกัน หรือมีความต้องการที่ต่างกันนั่นเอง  

หากเรารู้ความต้องการที่ชัดเจนของเราแล้ว อย่างน้อยเราก็จะเจอทางออกจากปัญหาได้ง่ายขึ้น

ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อเจอปัญหา แล้วหาทางออกไม่ได้ ให้ไปออกที่ทางเข้า” ก็คือการกลับไปย้อนดูว่าทางเข้า หรือจุดเริ่มของปัญหาคือ ความต้องการ หรือคุณค่าใด ที่ไม่ตรงกันนั่นเอง

เมื่อเรารับรู้อารมณ์ ดูแลมันได้แล้ว เราสามารถมองเห็นความต้องการของตัวเองชัดเจน ก็ถึงเวลาสำคัญ คือขั้นตอนในการสื่อสารกับอีกฝ่าย

หลายๆคนคงเคยเรียนเรื่อง เทคนิคการพูดเจรจาต่อรอง การใช้วาทะศิลป์ในแบบต่างๆ แต่ผมพบว่าเทคนิคเหล่านั้น มันจะไม่ได้ผลเลย ถ้าหากคุณไม่สามารถพูดมันออกมาจากใจที่แท้จริง

การพูดจากใจที่แท้จริง คือ “การสื่อสารที่ความรู้สึก และความต้องการของเราตรงๆ”

====

ผมจะเรียกว่า เทคนิค I Statement คือ พูดจากตัวเรา ไม่ใช่กล่าวโทษอีกฝ่าย ไม่ใช่การสื่อสารด้วยความคาดหวัง หรือบอกวิธีการที่เราต้องการให้อีกฝ่ายทำ มาดูตัวอย่างต่อไปนี้

เหตุการณ์ที่ 1: เจ้านาย ต้องการจะตักเตือนลูกน้องที่ทำงานบกพร่อง

คุณเคยคิดบ้างมั้ยกับสิ่งที่ทำลงไป ผมหวังว่าคราวหลังคุณควรจะคิดให้ถี่ถ้วนกว่านี้ (กล่าวโทษ)

ผมรู้สึกเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ผมต้องการหาวิธีที่เราจะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน  (I Statement)

เหตุการณ์ที่ 2: อยากจะบอกตรงๆว่า ไม่ชอบนิสัยบางอย่างของเพื่อนร่วมงาน

อย่ามาทำนิสัยแบบนี้กับฉันได้มั้ย เป็นใครก็ไม่ชอบ ทำไมไม่คิดถึงใจคนอื่นซะบ้าง (กล่าวโทษ)

ฉันรู้สึกหงุดหงิดและไม่พอใจ ฉันต้องการความเคารพเท่าเทียม ในฐานะเพื่อนร่วมงาน (I Statement)

เหตุการณ์ที่ 3: ภรรยา รู้สึกน้อยใจ กับบางพฤติกรรมของสามี

ทำไมต้องบ่นต้องว่าฉันตลอด ใช่สิ ฉันมันไม่ได้เป็นที่คุณหวังไว้ ฉันคงไม่ดีพอสำหรับคุณ (กล่าวโทษ)

ฉันรู้สึกเสียใจและน้อยใจ ฉันต้องการการยอมรับ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรา (I Statement)

====

สรุปจากกรณีตัวอย่าง

การใช้ I Statement ต้องอาศัยการฝึกฝน เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนกับนิสัยตอบโต้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติของมนุษย์ 

แม้ว่าการใช้ I Statement อาจจะยังไม่รู้ว่า หลังจากนั้นอีกฝ่ายจะตอบกลับมาอย่างไร จะออกหัวหรือออกก้อย แต่อย่างน้อยมันก็เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในระดับที่ลงลึกมากขึ้น

ที่สำคัญที่สุดคือ มันจะไม่ทำให้อีกฝ่าย “ปกป้องตัวเอง” หรือ “โต้ตอบอย่างรุนแรง” เพราะเราช่วยลดกำแพงลงและเปิดใจตัวเองออกไปแล้วนั่นเอง


คุณคงเคยตอบโต้กับเหตุการณ์ หรือผู้คนด้วยอารมณ์ ด้วยความรวดเร็ว คุณจะพบว่าหลายๆครั้งแล้ว แทนที่มันจะดีขึ้น มันกลับยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม นั่นเป็นเพราะอะไร

“คนขาดสติ ย่อมไม่อาจคิดอ่าน ที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม”

การฟังเสียงในใจ หรือ Inner Listening ก็คือการกลับมามีสติ รู้สึกตัวและใช้ปัญญาในการใคร่ครวญตัวเอง ก่อนที่จะสื่อสารออกไป

การแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุ ก็คือ เริ่มจัดการกับตัวเอง ก่อนที่จะจัดการกับคนอื่น

4 ขั้นตอนนี้ ไม่ได้ใช้เวลานาน ถ้าได้รับการฝึกฝนมาบ้าง ก็จะทำได้อย่างง่ายขึ้น

หากเพียงอ่านบทความนี้จบ อาจจะยังทำทั้ง 4 ขั้นตอนไม่ได้ทันที แต่อย่างน้อย เตือนตัวเองสักนิด ในครั้งหน้าเมื่อเราเริ่มอารมณ์ขึ้น ขอให้เราฝึกที่จะรับรู้อารมณ์ตัวเองให้ทัน

หยุดยั้งตัวเองแล้ว “ขอเวลานอก” ออกมาก่อนจะเหตุการณ์มันจะบานปลายรุนแรง

เมื่อเรามีเวลาได้อยู่กับตัวเอง การใช้เทคนิค “ฟังเสียงภายใน” ก็จะช่วยให้เราคลี่คลายสถานการณ์ในใจได้ดีขึ้นเอง และการสื่อสารหลังจากนั้น ก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นอย่างมาก

Inner Listening กับ I – Statement เป็นสองทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้เพื่อพัฒนาความสามารถในการบริหารอารมณ์ แต่ถ้าคุณอยากพัฒนาเพิ่มเติม แนะนำการเรียนรู้เรื่อง 7 อุปนิสัยของคนที่มี EQ สูง คลิกที่นี่

บทความโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand / ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาทักษะการบริหารจัดการอารมณ์ของคนทำงานยุคใหม่ขอแนะนำหลักสูตร   Emotion Intelligence  เพื่อพัฒนาให้คนทำงานยุคใหม่มีความสามารถที่จะบริหารจัดการอารมณ์โกรธและอารมณ์ไม่ดีอื่น ๆ ของตัวเองเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  คลิกดูรายละเอียด ที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

Categor

 

Categories EQ

10 วิธีที่ทำให้คุณเลิกนิสัยแย่ ๆ ได้สำเร็จ

คุณอาจเคยหงุดหงิดกับนิสัยแย่ๆของตัวเอง  ที่บางครั้งคุณก็รู้อยู่แกใจว่าไม่มีใครชอบ และคุณก็ไม่อยากจะมีนิสัยแย่ๆเหล่านั้นหรอก แต่ว่าคุณก็เลิกทำไม่ได้ซักที   

คุณสามารถที่จะค่อยๆ ลด และเลิกนิสัยแย่ๆของคุณได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามวิธีการ 10 ข้อ ที่เราแนะนำ

คุณไม่จำเป็นต้องทำทุกข้อ แต่ถ้ายิ่งทำได้หลายข้อ มันจะยิ่งเพิ่มพลังให้การละ เลิกนิสัยแย่ ๆ ของคุณได้มากขึ้น

====

1.สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่

ถ้าคุณตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่แบบจริงจัง มันไม่ใช่แค่คิดว่า ถ้าหยุดสูบแล้วจะดีกับสุขภาพคุณเอง แต่คุณต้องมีทัศนคติ และความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ก่วานั้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นตัวกระตุ้นอันทรงพลังในการเลิกสูบบุหรี่

เช่น คิดเสมอว่าทุกครั้งที่ฉันสูบบุหรี่ ฉันกำลังตายผ่อนส่งอยู่ หรือ คนที่ฉันรู้จักตายเพราะมะเร็งปอด ถ้าไม่อยากตายแบบทรมาน ฉันต้องเลิกสูบบุหรี่เดี๋ยวนี้ เป็นต้น

====

2.สัญญากับตัวเอง

คุณสัญญากับตัวเอง ว่าคุณจะไม่ทำพฤติกรรมแย่ๆ อีก แต่นั่นอาจไม่พอ เพราพอเกิดความต้องการจะทำขึ้นจริง ๆ คุณอาจใจอ่อนกับตัวเอง เทคนิคที่มีพลังมากขึ้นก็คือ คุณต้องบอกเพื่อนรอบข้าง บอกคนใกล้ชิด

จงบอกให้โลกรู้ว่าคุณมีแผนจะลด ละ เลิกสิ่งที่ไม่ดี และเมื่อคุณมีความคิด หรืออยากจะไปทำพฤติกรรมแย่ๆอีก  พวกเขาเหล่านั้น คือ คนที่จะมาช่วยเตือนสติคุณ ให้กำลังใจคุณ และอยู่เคียงข้างคุณ ไม่ให้คุณกลับไปใช้ชีวิตแย่ๆแบบเดิมอีก

====

3.ระวังสิ่งกระตุ้น

อะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้คุณมีพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้น คุณต้องหามันให้เจอ และคอยระวังไม่ให้คุณไปสัมผัสสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น เช่น คุณสูบบุหรี่ก็ต่อเมื่อมีคนชวน  เห็นคนสูบบุหรี่ หรือได้กลิ่นบุหรี่

สิ่งเหล่านี้สามารถกระตุ้นสัญชาติญาณดิบของคุณ โดยที่คุณไม่สามารถหักหามใจได้  คุณจะรู้สึกหงุดหงิด และห้ามตัวเองไมได้ จงสังเกตตัวเองให้ดีว่าอะไรคือสิ่งเร้า หรือสิ่งกระตุ้น ให้คุณเลิกนิสัยแย่ๆแบบนี้ไม่ได้ซักที จากนั้นให้นำมันออกไปจากชีวิตของคุณทันที 

====

4.รู้ที่มาของพฤติกรรมแย่ๆ

อะไรคือปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้คุณมีพฤติกรรมแย่ๆเหล่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุ คุณต้องหาสาเหตุนั้นให้เจอ โดยการพิจารณาตัวเอง และซื่อสัตย์กับตัวเอง

เช่น ถ้าคุณเป็นคนอ้วน เพราะชอบกินของหวาน และคุณอยากที่จะเลิกกินของหวาน เพราะรู้ว่ามันไม่ได้ดีกับสุขภาพ และทำให้คุณยิ่งอ้วน คุณต้องหาสาเหตุให้เจอว่าทำไมคุณถึงอยากกินของหวาน ชอบกินของหวานตอนไหน 

ยกตัวอย่างเช่น คุณจะรู้สึกอยากกินของหวานตอนที่คุณรู้สึกเครียด รู้สึกเศร้า หรือรู้สึกหดหู่ เพราะคุณไปผูกโยงว่าของหวานจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น เป็นต้น

====

5.หากิจกรรมอื่นทดแทน

คุณอาจชอบสูบบุหรี่ ชอบใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น หรือ ชอบกินอาหารที่ทำลายสุขภาพ เมื่อคุณเครียด หรือ ท้อแท้  คุณสามารถแก้พฤติกรรมแย่ๆเหล่านั้นได้ โดยการหากิจกรรมอื่นมาทดแทน เพื่อบำบัด ความเครียด หรือระบายความรู้สึกของคุณ

เช่น สมัครคอรส์เรียนชกมวย  ดูหนัง ร้องคาราโอเกะ  แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นกิจกรรมใหม่ๆที่หามาทดแทนนั้นควรจะมีเพื่อนหรือคนรักที่สนับสนุนคุณด้วย

====

6.มีสติกับสิ่งกระตุ้นที่อยู่รอบตัว

หลังจากที่คุณรู้แล้วว่าสิ่งไหนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้คุณมีพฤติกรรมแย่ๆ คุณควรที่จะระวัง และอยู่ห่างปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น 

เช่น ถ้าคุณได้ยินเสียงน้ำแข็งกระทบแก้ว แล้วทำให้คุณอยากดื่มเหล้า หรือ ได้กลิ่นควันจางๆแล้วทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ จงมีสติ ดื่มน้ำ และหายใจเข้าออกช้าๆ คุณสามารถให้เพื่อนคุณช่วย และควรเดินออกจากสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นให้เร็วที่สุด

====

7.สร้างนิสัยใหม่ๆหลังจากเจอสิ่งกระตุ้น

มันยากมากที่จะเปลี่ยนนิสัย หรือสัญชาตญานหลังจากที่คุณทำมันมานานแสนนาน แต่คุณสามารถเริ่มนิสัยใหม่ได้ ด้วยการมีสติ และความเชื่อ คุณต้องพึงระลึกอยู่เสมอ และแข็งใจกับสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นรอบข้าง

เช่น ทุกครั้งที่คุณได้กลิ่นบุหรี่ แล้วอยากสูบบุหรี่ ให้คุณเปลี่ยนไปเคี้ยวหมากฝรั่งแทน ทำแบบนี้ทุกครั้งจนกลายเป็นนิสัยใหม่

แต่ถ้ามันเกิดข้อผิดพลาดที่คุณไม่สามารถหักห้ามใจ หรือเผลอที่จะมีหรือแสดงพฤติกรรมแย่ๆออกมา คุณควรให้อภัยตัวเอง แล้วเริ่มใหม่ให้เร็วที่สุด 

====

8.ระวังความคิดของคุณ

เพราะความคิด และความเชื่อมีผลต่อพฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในชีวิตคุณ คุณต้องระวังความคิดคุณให้มาก  ถ้าจะมีเหตุผลหรือข้อแก้ตัวสำหรับพฤติกรรมแย่ๆ

เช่น วันนี้วันเกิดฉัน ขอเว้นวรรคสักวัน หรือ ฉันเพิ่งปิดจ็อบงานนี้สำเร็จขอให้รางวัลตัวเองหน่อย  คุณควรหยุดความคิดที่เข้าข้างตัวเอง ถ้าคุณอยากจะเลิกนิสัย หรือ พฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้นอย่างจริงจัง

====

9.ค่อยๆ เลิก

มันไม่จำเป็นที่จะต้องหักดิบ เลิกทันที เลิกเลย คุณสามารถค่อยๆลด และละ จนเลิกได้ เช่นถ้าคุณอยากเป็นคนตื่นเช้า แต่ปกติคุณตื่นเที่ยงตลอด คุณอาจเริ่มด้วยการตื่นตอน 11 โมง  และวันต่อไปๆ

คุณอาจเริ่มนอนให้เร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง และตื่นให้เร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง  การที่ตั้งเป้าทีละเล็กละน้อย ในแต่ละวัน มันเป็นเป้าหมายที่ทำได้ง่าย และคุณจะรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณทำมันสำเร็จในแต่ละวัน มันเป็นกำลังใจที่ดีที่ทำให้คุณไปถึงเป้าหมายของคุณได้ง่ายขึ้น และทำให้คุณเป็นคนใหม่ได้ในที่สุด

====

10.เรียนรู้จากข้อผิดพลาด

บางครั้งเราก็พลาดได้ ให้อภัยตัวเอง ล้มแล้วลุกขั้นใหม่ให้เร็วที่สุด พิจารณาสิ่งที่เกิดตามความเป็นจริง ไม่เข้าข้างใคร ยอมรับมัน และหาแผนสำรองเพื่อกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก และทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นซ้ำ คุณจะต้องรับมือมันได้ดีกว่าเดิม

คุณต้องมีพัฒนาและเข้มแข็งขึ้น การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดคือสิ่งที่ทำให้คุณใกล้เป้าหมายมากยิ่งขึ้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หลายคนล้มเลิกความตั้งใจกลางครันเพราะมองข้ามสิบข้อเหล่านี้ จงระวังความคิดในทำนองคนขี้แพ้  ทุกคนสามารถเอาชนะใจตัวเองได้ เพียงแค่คุณใช้ความตั้งใจ ความพยายาม และแรงบันดาลใจของคุณเอง

อาจมีหลายพฤติกรรมที่คุณอยากกำจัด แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่ควรกำจัดหรือไม่  อ่าน 5 พฤติกรรมที่คนสำเร็จจะไม่มีวันทำแน่นอน คลิกที่นี่

ที่มาบทความ http://zenhabits.net/bad/

====

ถ้าสนใจการกำจัดนิสัยหรือพฤติกรรมแย่ ๆ และสร้างพฤติกรรมที่ดีให้กับตัวเองและคนในทีม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

 

Categories EQ

3 Mindset ที่ช่วยให้การโค้ชลูกน้องมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

3 Mindset ที่ช่วยให้การโค้ชลูกน้องมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เบื่อไหมครับกับการที่ลูกน้องกลับมาถามวิธีแก้ปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ทั้งที่เราเคยบอกไปแล้วหลายครั้ง

เหนื่อยไหมครับกับการต้องคอยบอกคอยสอนงานลูกน้องทุกคนอย่างละเอียด  และเครียดไหมครับกับการที่ลูกน้องไม่เคยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งที่เรามั่นใจว่า ‘โค้ช’ ไปตั้งหลายรอบแล้ว

ถ้าคุณเคยประสบปัญหา 1 ใน 3 อย่างข้างต้น (หรือพบเจอทุกปัญหา) ไม่ต้องกังวลไปครับ บทความนี้มีทางออกให้กับปัญหาหนักอกที่ทำให้คุณเบื่อ เหนื่อย และเครียดกับการบริหารลูกน้องมานานหลายปี

====

โค้ชลูกน้อง หนึ่งในงานหลักของหัวหน้า

        ในการทำงานยุคนี้เราทุกคนต่างเคยได้ยินคำว่า โค้ช (Coaching) หรือ โค้ชลูกน้อง กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่เชื่อไหมครับว่ายังมีหลายคนที่เข้าใจคำนี้ผิดไป

เวลาที่บอกว่า “ฉันโค้ชลูกน้องแล้วนะ” บางคนหมายถึงการพูด บอก แนะนำ และสอนงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เคยเป็นวิธีการที่โลกการทำงานยุคก่อนเรียกรวมๆ กันว่า โค้ช (เหมือนโค้ชกีฬาที่สอนและฝึกนักกีฬาด้วยการแนะนำ)

แต่ทว่าแท้จริงแล้วการโค้ช (Coaching) นั้นหมายถึง กระบวนการและทักษะการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้บุคคลค้นพบและตระหนักรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเอง (Reality) เล็งเห็นเป้าหมาย (Goal) ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาในการค้นหาทางเลือก (Options) และกำหนดวิธีการจัดการ (Will) ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ทางออกหรือ Solution ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

โดยการโค้ชจะใช้ทักษะหลัก ๆ 3 ทักษะ นั่นคือ

การตั้งคำถาม

การรับฟัง

การสะท้อน

นั่นหมายความว่าการโค้ชจะไม่มีการบอก การแนะนำ การพูดสอน ให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้แต่จะช่วยให้เขาสามารถคิดหาคำตอบหรือวิธีการได้ด้วยตัวของเขาเอง

====

เพราะอะไรการโค้ชถึงไม่เวิร์ค

แม้จะเข้าใจการโค้ชได้อย่างถูกต้อง และมั่นใจว่าตัวเองใช้การตั้งคำถาม การรับฟัง และสะท้อนสิ่งที่ได้ยิน ทั้งการทวนคำ การสะท้อนสิ่งที่เขาอาจจะไม่เคยเข้าใจตัวเองมาก่อน ไปจนถึงการช่วยสรุปประเด็นแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีหัวหน้าจำนวนมากที่พบว่าการโค้ชของพวกเขาไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ

เรื่องนี้อาจอธิบายได้จาก Mindset หรือ ทัศนคติของการโค้ช ที่คนซึ่งทำหน้าที่โค้ชหลายคนอาจยังไม่มีหรือที่หนักไปกว่านั้นก็คือ อาจจะเข้าใจการโค้ชผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงเลย

ก่อนจะฝึกฝนและพัฒนาทักษะ (Skills) ใดก็ตาม การกำหนดวิธีคิดให้ถูกต้องและเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันอาจเป็นตัวกำหนดว่าการใช้ทักษะนั้นจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คได้เลย

และจากประสบการณ์การโค้ชลูกน้องมานานหลายปี ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ทักษะการโค้ชเพื่อพัฒนาลูกน้องให้กับองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศหลายร้อยแห่ง ทำให้ผมได้ตกผลึก Coaching Mindset 3 ประการขึ้นมา ดังนี้

1.โค้ชไม่ใช่นักตีกรอบความคิด

เราอาจมีความรู้ มีประสบการณ์ที่มากกว่า สามารถบริหารจัดการอารมณ์ ความคิด และชีวิตได้ดีกว่าจนมั่นใจว่าวิธีการที่เราใช้คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แต่ความคิดเช่นนั้นทำให้เราไม่สามารถโค้ชได้อย่างแท้จริง

เพราะในกระบวนการโค้ช เราจำเป็นต้องปล่อยวางความคิดทั้งหลายเหล่านั้นลง แล้วทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ยืนอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกับเขาอย่างแท้จริง การตั้งคำถามด้วย Mindset เช่นี้จึงเป็นคำถามที่เป็นปลายเปิด และเป็นคำถามที่โค้ชเองก็ไม่รู้คำตอบมาก่อนด้วยเช่นกัน

ระวังการตั้งคำถามที่ตัวเราเองรู้หรือคิดคำตอบอยู่ในใจแล้ว เพราะนั่นจะกลายเป็นคำถามปลายเปิดแบบปลอม ๆ เช่น เคยลองทำวิธีนี้แล้วหรือยัง หรือ เธอเคยคิดบ้างไหมว่าถ้าทำแบบนั้นจะส่งผลเสียอย่างไร เป็นต้น

====

2. การโค้ชไม่ใช่การสอนงาน

อย่างที่บอกไปว่าในสมัยก่อนคนมักใช้คำว่า โค้ช กับการสอนงาน และความเข้าใจนั้นก็ฝังแน่นติดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น จนทำให้บางที่ บางคนยังเข้าใจเช่นนั้นอยู่

การสอนงาน ก็คือการเป็นครู (Teacher) หรือ การเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ตัวเองในการบอก แนะนำ สั่งสอน ซึ่งโดยมากจะเหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ๆ หรือ คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์นั่นเอง

ส่วนการโค้ชนั่นมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน ส่วนมากจะเหมาะกับคนที่มีความรู้หรือประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว เพื่อที่เขาจะได้มีวัตถุดิบในการคิดและค้นหาทางเลือกใหม่ๆ ได้

ตราบใดที่ยังคิดว่าการโค้ชคือการสอน การบอก การแนะนำ การโค้ชของเราก็จะครึ่ง ๆ กลาง ๆ และขาดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ฉะนั้นต่อให้คุณรู้หรืออยากสอนแค่ไหนก็ต้องข่มใจ และหุบปากเอาไว้เสมอ

====

3. การโค้ชอาจไม่ใช่วิธีการที่สำเร็จเสมอไป

        แม้ว่าผมจะเชี่ยวชาญการโค้ช และนำการโค้ชไปใช้ในหลายองค์กร แต่ก็ต้องยอมรับว่าการโค้ชไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพเพียงวิธีการเดียวในการแก้ปัญหาและพัฒนาคน

การโค้ชจำเป็นต้องพิจารณาจากคนที่เราโค้ชและสถานการณ์ด้วย คนที่เหมาะสมจะได้รับการโค้ชควรเป็นคนที่มีความรู้และประสบการณ์มาพอสมควร ทำงานมาถึงระดับนึงจนถึงจุดติดขัดจนไปต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหานั้นก็ควรเป็นปัญหาที่ไม่เร่งด่วนมากนักเพราะบางครั้งกระบวนการโค้ชจะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งครั้งนั่นเอง

ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่ต้องบริหารคน ยังมีรูปแบบการดูแล และพัฒนาคนอีกเยอะมากที่คุณควรเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นครูและพี่เลี้ยงที่บอกและสอนงานจากประสบการณ์ ซึ่งเหมาะกับมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก

หรือคุณจะทำหน้าที่เป็นพี่หรือเพื่อนที่คอยรับฟังและทำความเข้าใจเขาโดยที่ยังไม่ต้องตั้งคำถามเพื่อรีบร้อนหาทางออกก่อนก็ได้

จะเห็นว่าการโค้ชเป็นกระบวนการและทักษะที่ทรงพลังถ้าหากคุณมี Mindset ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับมันอย่างแท้จริง และการโค้ชของคุณอาจจะพังหรือไม่เกิดผลที่ดีถ้าคุณยังไม่มี Mindset เหล่านี้

====

ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นโค้ชใคร ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูนะครับว่า “ฉันมีความเชื่อทั้ง 3 ข้อนี้แล้วหรือยัง” นั่นคือ

ฉันคือโค้ช ไม่ใช่คนที่ตีกรอบความคิดของเขา

ฉันคือโค้ช ไม่ใช่ครูที่มาสอนงานเขา

ฉันคือโค้ช และฉันสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อช่วยเขาได้เช่นกัน

ขอให้คุณประสบผลสำเร็จในการโค้ชนะครับ

ถ้าคุณต้องการฝึกฝนการโค้ชให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อ่านโค้ชอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่ คลิกที่นี่

====

ถ้าหากคุณต้องการเรียนรู้ทักษะการโค้ชเพื่อเพิ่มศักยภาพทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching & Positive Feedback คลิกดูได้ที่นี่ครับ 

บทความโดย 

อ.แบท อรรณพ นิยมเดชา

นักจิตวิทยาองค์กร

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save