ฝึกเป็นสุดยอดผู้นำด้วยการเป็นสุดยอดผู้ตาม

ฝึกเป็นสุดยอดผู้นำโดยการเป็นสุดยอดผู้ตาม

คุณคิดว่า ‘สุดยอดผู้นำ’ เป็นอย่างไร

เชื่อว่าคำแนะนำส่วนใหญ่ที่ปลูกฝังกันมาก็คือให้ทำตัวเป็นผู้นำด้วยการทำให้คนอื่น ๆ เห็นว่าคุณมีสถานะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการออกหน้า ออกคำสั่ง เมื่อมีโอกาสก็ขึ้นมาคุมงานและนำพาคนอื่น ๆ ให้เดินตามด้วยความมั่นใจและทรงอำนาจ

ทั้งหมดนั้นก็อาจจะใช่แต่อย่าลืมความจริงที่สำคัญว่าผู้นำไม่ใช่ผู้วิเศษ ผู้นำไม่มีอำนาจเหนือมนุษย์ที่จะสั่งให้ใครทำตามได้ทุกอย่าง งานวิจัยระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่จะทำให้คนเป็นผู้นำได้อย่างแท้จริงคือการมีผู้ตามที่เต็มใจจะตามจริง ๆ มิเช่นนั้นตำแหน่งผู้นำก็คงไร้ความหมาย
====

ในหนังสือของ ‘สตีเฟ่น รีชเชอร์’ และ ‘ไมเคิล พลาโทว์’ ชื่อ The New Psychology of Leadership บอกว่า กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้นำ อยู่ที่การทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘พวกเรา’ ไม่ใช่ ‘ฉัน’

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามคือเรื่องสำคัญที่สุดของการทำงานเป็นทีม ผู้นำทีมจะต้องทำให้คนอื่น ๆ รู้สึกว่าตัวเองหลอมรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีสถานะที่เรียกว่าเป็นพวกเรา มีค่านิยมและประสบการณ์ต่างๆ ที่ส่งไปมาหากันอย่างแนบแน่น

ทุกสิ่งที่ผู้นำทำนั้นจะต้องเป็นการ ‘ทำเพื่อพวกเรา’ โดยอยู่บนประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าส่วนตัว
====

ฉะนั้น แทนที่ผู้นำจะคิดหาทางว่าทำอย่างไรให้ตัวเองโดดเด่น มีความเหนือกว่าคนในทีม ผู้นำควรจะหาทางทำให้คนในทีมรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

และจะดียิ่งขึ้นถ้าผู้นำทำให้รู้สึกว่าเขาคือคนที่รับฟังและพร้อมที่จะทำตามความต้องการที่แท้จริงของทีม
ทุกสิ่งที่ผู้นำขั้นเทพควรจะทำ คือการเป็นผู้ตามเสียงแห่งผลประโยชน์ของทีมไม่ใช่ตามใจตัวเอง
====

มีงานศึกษาที่ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าคนที่มองว่าตัวเองคือผู้นำที่อยากจะออกคำสั่งและคิดว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่นนั้น สุดท้ายจะไม่สามารถโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมงานยอมทำตามได้

ในทางตรงกันข้าม คนที่มองตัวเองว่าเป็นผู้ตาม (ซึ่งหมายถึงการตามคุณค่าที่แท้จริงของทีม) ที่ดีจะกลายเป็นผู้นำที่คนอื่น ๆ ให้การยอมรับนับถือ

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เรามักจะได้ผู้นำที่มีท่าทางอยากเป็นผู้นำมาก ๆ นั่นคือถ้ามีการเลือกตั้งหรือมีการแต่งตั้งจากใครสักคน คนที่แสดงตัวอยากจะเป็นผู้นำโดยชอบออกหน้า ชอบเสนอตัวอย่างโดดเด่นก็มักจะได้รับการคัดเลือกเป็นส่วนใหญ่

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะถูกเลือกมาโดยวิธีการไหน หรือใครจะเลือกเข้ามา การจะเป็นผู้นำขั้นเทพที่ได้รับการยอมรับ และทำให้งานรุดหน้าอย่างราบรื่น กฎข้อแรกที่ต้องจำไว้ก็คือคุณไม่ควรทำตัวเหินห่างจากทีม กฎต่อมาคือไม่ควรแสดงตัวให้เหนือกว่า แต่ควรจะเดินตามจังหวะของคนในกลุ่ม รับฟังและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมอย่างแท้จริง

หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญของการทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันก็คือการสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้เกิดขึ้น อ่าน ทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัยแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่จะตามมา คลิกที่นี่
====

การทำให้คนสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันอย่างมีประสิทธิภาพคือทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “To Be a Good Leader, Start By Being a Good Follower” โดย Kim Peters and Alex Haslam จาก Harvard Business Review 6 สิงหาคม 2018

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 ระดับสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม

5 ระดับสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม
โดย John Maxwell

John Maxwell ที่ปรึกษาธุรกิจและนักเขียนชื่อดังระดับ Best Seller บอกว่าในยุคนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร ผู้บริหารร้านค้า โค้ชทีมฟุตบอล ครูมัธยม ผู้ประสานงานองค์กรการกุศล หรือกระทั่งพ่อแม่ บทบาทหนึ่งที่ทุกคนต้องเป็นเหมือนกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงก็คือ… ‘ผู้นำ’

ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ทุกบทบาทจำเป็นต้องก้าวไปเป็นผู้นำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และถ้าคุณไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ก็ย่อมไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี นั่นคือเหตุผลที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาความเป็นผู้นำของตัวเอง
====

และต่อไปนี้คือ 5 ขั้นตอนสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม เราขอเชิญชวนให้ทุกคนเรียนรู้และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นผู้นำ 5 ระดับ ดังนี้

Level 1 : Position

ระดับแรก : ตำแหน่งเป็นเหตุ

ก้าวแรกซึ่งเป็นระดับที่ง่ายสุดของการเป็นผู้นำ คือ การเรียนรู้ว่าตำแหน่งของคุณคืออะไร ระดับนี้ไม่ได้หนักหนาสาหัสหรือต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย เมื่อมีคนแต่งตั้งให้คุณรับตำแหน่งนั้น คุณก็เพียงแค่ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร สั่งการใคร เรื่องอะไร หรือขอความร่วมมือจากใครบ้าง

ในขั้นนี้ คนจะเดินตามผู้นำ (เล็ก ๆ) อย่างคุณ เพราะเขารู้ว่าคุณมีหน้าที่อะไร และเขาต้องทำอะไรตามที่คุณบอกเพื่อให้งานส่วนรวมลุล่วงไป อย่างไรก็ตาม คนจะทำตามหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ‘ใจสั่งมา’ เพราะคุณไม่ได้มีอำนาจไปบังคับใครมากมายนักหรอก
====

Level 2 : Permission

ระดับที่สอง : เมื่อคนอนุญาตให้คุณเป็นผู้นำ

ในขั้นนี้ คนจะเลือกทำตามที่คุณบอกเพราะว่าเขา ‘ต้องการ’ จะทำจริง ๆ พวกเขาจะอนุญาตให้คุณนำทีม คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์กับคนในทีมอย่างไร

เมื่อใดก็ตามที่คุณชื่นชอบการอยู่ร่วมกับคนในทีมและคุณปฏิบัติกับคนในทีมอย่างเคารพในคุณค่าของพวกเขา ความสัมพันธ์จะเริ่มงอกงามมากขึ้นเรื่อย ๆ ความไว้เนื้อเชื่อใจจะเกิดขึ้น คนจะเริ่มเคารพนับถือ นี่คือบรรยากาศที่ดีที่จะก้าวสู่ขั้นถัดไปแล้ว
====

Level 3 : Production

ระดับที่สาม : ทำงานให้งอกเงย

ผู้นำสุดเจ๋งจะรู้ว่าทำอย่างไรที่จะจูงใจและกระตุ้นให้คนในทีมทำงานให้สำเร็จ เรื่องราวทั้งหมดของระดับที่สามคือส่วนนี้นั่นเอง

ในฐานะผู้นำคุณจะต้องสร้างผลงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วคุณจะได้รับเครดิตและมีอิทธิพลกับทีม คนในทีมจะตามคุณไม่ใช่แค่เพราะสนิทกัน แต่เป็นเพราะนับถือผลงานที่เกิดจากการทำงานจริงของคุณด้วย

หน้าที่ของผู้นำในขั้นนี้คือการผลักดันให้งานสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะดาหน้ามาทดสอบคุณกับทีมตลอดเวลา

ถ้าคุณสามารถทำได้ดี คุณจะพบว่ามันเป็นเรื่องสนุกที่จะจูงใจคน สร้างความสัมพันธ์ และประสบความสำเร็จไปด้วยกัน การได้เห็นทีมก้าวไปข้างหน้าคือความหอมหวานของการก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับนี้
====

Level 4 : People Development

ระดับที่สี่ : พัฒนาคนในทีม

เมื่อคนในทีมยอมรับในตัวคุณและงานก็ลุล่วงไปด้วยดี ก้าวสำคัญก้าวถัดไป คือ ‘การผลิตเพิ่ม’ นั่นคือการทำให้เกิดผู้นำแบบคุณเพิ่มขึ้น คนที่สามารถจะขึ้นมานำทีม สร้างความเชื่อมั่นและบริหารทีมต่อไป

ความท้าทายในจุดนี้คือการทำให้บรรดาลูกทีมเติบโต ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาจากข้างบน เพื่อที่จะทำให้องค์กรเข้มแข็งและเต็มไปด้วยผู้นำหลายระดับ
====

Level 5 : Pinnacle 

ระดับสุดท้าย : บรรลุจุดสูงสุด

ระดับสูงสุดของการเป็นผู้นำ คือ ไม่เพียงก้าวไปครองใจคนด้วยผลงานและทำให้เกิดความเชื่อมั่น หรือการสามารถสร้างผู้นำรุ่นถัด ๆ มาแบบชั่วครั้งชั่วคราวได้ แต่ในระดับสุดท้ายคือการทำได้อย่างยาวนานจนกลายเป็น ‘ชื่อเสียง’ ให้คนจดจำและบอกต่อ

จงผสานชีวิตของคุณกับการทำงานในทุกวันและก้าวหน้าไปทุกวันๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า ก้าวไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เป็นการสั่งสมชื่อเสียงและบารมีเป็นที่เลื่องลือในแวดวงของคุณนั่นเอง

ถ้าอยากรู้ว่าผู้นำในโลกยุคใหม่นี้จะต้องปรับหลักคิดและทักษะอะไรบ้าง เราขอแนะนำให้คุณอ่าน The Next Normal Leadership บทความล่าสุดที่เกิดจากการศึกษาอย่างเข้มข้นและวิสัยทัศน์ของ อ. เรือรบ คลิกที่นี่

ทั้งหมดนี้คือ 5 ระดับที่เหมือนจะยาวไกล แต่ถ้าศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รับรองว่าคุณจะกลายเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน
====

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณยังไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นฝึกฝนเรื่องอะไร ที่จุดไหน เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill ที่คุณจะได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำยุคใหม่อย่างลงลึก คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The 5 Levels of Leadership” โดย John Maxwell จาก John Maxwell.com 30 สิงหาคม 2016

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 บทบาทของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนให้ทันยุค

5 บทบาทของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนให้ทันยุค

บางทีก็แอบคิดเล่น ๆ ไม่ได้นะว่าถ้าไล่ผู้จัดการที่ล้าสมัยออกไปจากบริษัทได้ เราน่าจะช่วยบริษัทประหยัดงบประมาณไปได้เยอะเลย

คุณทราบไหมว่าบริษัทต้องสูญเม็ดเงินไปจำนวนมากกับการจ้างคนมานั่งเฝ้าคนอื่นทำงานไปวัน ๆ และเอาเข้าจริงเราไม่ได้ต้องการผู้จัดการแบบนั้นหรอก!

เมื่อโลกธุรกิจมีความท้าทายมากขึ้นในทุก ๆ วัน ‘ผู้จัดการ’ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการบริหารคนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยในอัตราที่มากกว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาททั้ง 5 ต่อไปนี้

====

1. เปลี่ยน ‘การสั่ง’ เป็น ‘การสอน’

สำหรับการทำงานในโรงงานได้มีการเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและตัดปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ หุ่นยนต์ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI.) เหล่านี้ล้วนไม่ได้ต้องการให้ใครมาสั่งงานเลย

ผู้จัดการที่ต้องควบคุมดูแลหุ่นยนต์ต้องปรับวิธีการบริหารใหม่ แทนที่จะปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานตามออเดอร์ไปวันๆ ควรทำความเข้าใจหลักการการใช้แรงงานจากหุ่นยนต์ คอยสังเกตและมองหาวิธีในการที่จะใช้ประโยชน์จากพวกมันให้ได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

เมื่อรวบรวมความรู้ในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้แล้ว คุณจะสามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับบรรดาคนที่ต้องร่วมงานกับหุ่นยนต์ได้ต่อไป
====

2. มองจาก ‘แคบ’ ให้เป็น ‘กว้าง’

ผู้จัดการจำนวนมากยุ่งกับลูกน้องตัวเล็ก ๆ มากเกินไป ไม่ยอมปล่อยให้หัวหน้าโดยตรงของคนเหล่านั้นบริหารจัดการเอง และนั่นก็ทำให้พวกเขาเข้าไปจำกัดความคิดของลูกน้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ไอเดียใหม่ๆ ถูกสกัดอย่างน่าเสียดายด้วย

ผู้จัดการควรกระตุ้นให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและมีโอกาสในการแสดงไอเดียที่แตกต่างโดยไม่พยายามไปควบคุมความคิดมากเกินไป

ผู้จัดการหลายคนเข้าใจว่าตัวเองเก่งและ ‘เอาอยู่’ ในทุกสถานการณ์จึงหลงคิดว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร แต่กลายเป็นว่าผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพคือผู้จัดการที่สามารถรวมทีมจากหลายแผนกเพื่อร่วมกันมองหาข้อผิดพลาดและแนวทางแก้ไขจากหลากหลายมุมมองได้

แนวทางนี้จะช่วยทำให้มองเห็นภาพได้กว้างมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ดีกว่าการนั่งคิดเองคนเดียวเป็นไหน ๆ
====

3.ก้าวออกจาก ‘วังวนซ้ำซาก’

ผู้จัดการยุคเก่ามักจะชอบอะไรที่คาดเดาได้และเป็นแบบแผน ทุกอย่างต้องอยู่ในระเบียบอย่างที่เคยเป็นมาและคาดหวังให้เป็นแบบนั้นตลอดไป

ถึงแม้การปล่อยให้อะไร ๆ ที่เข้าที่อยู่แล้วเป็นแบบนั้นต่อไปจะเป็นเรื่องดี แต่ก็อาจทำให้ความคิดหยุดนิ่ง ผู้จัดการเองก็จะสนใจเฉพาะสิ่งที่ตัวเองรู้และเข้าใจแล้วเท่านั้น

องค์กรต้องการผู้จัดการที่รู้จักคิดใหม่ทำใหม่ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่บริษัทกำลังจะเจ๊ง แต่ในช่วงที่บริษัทกำลังประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็ต้องการเช่นกัน
====

4.เลิกแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว

ผู้จัดการส่วนใหญ่สารภาพว่างานหลักของพวกเขาคือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งนั่นไม่ควรเป็นหน้าที่หลักเลยสักนิด

ผู้จัดการควรใช้เวลาในการค้นหาวิธีบริหารจัดการใหม่ ๆ ที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด ตลอดจนสนับสนุนให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายด้วย
====

5. คิดให้เหมือนเจ้าของบริษัท

หลายคนมองว่าการทำงานบริษัทก็คือการเป็นลูกจ้างเท่านั้น และนั่นก็ทำให้ผู้จัดการหลายคนโฟกัสกับการเอาใจหัวหน้าเพื่อความอยู่รอดจนไม่สนใจอะไรอื่นเลย

ความคิดของผู้จัดการกลุ่มนี้จึงมักจะวนเวียนอยู่แต่กับความต้องการของหัวหน้าและติดอยู่ในกรอบ การคิดให้เหมือนเจ้าของบริษัทจะช่วยให้ผู้จัดการมองภาพต่าง ๆ ได้กว้างมากขึ้นและและลงมือทำอะไรได้มากขึ้น ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นภายในตัวเองและในตัวลูกน้องด้วย

เราเชื่อว่าไอเดียทั้งห้านี้จะทำให้ภาพของผู้จัดการไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แน่นอนว่าเมื่อผู้จัดการเปลี่ยน องค์กรก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเหมือนจรวดเลยทีเดียว

ถ้าคุณคือผู้จัดการมือใหม่ เราขอแนะนำให้อ่าน ก้าวแรกสู่การเป็นผู้จัดการ เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะของผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่นี่
====

หนึ่งในบทบาทสำคัญของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนไปก็คือ ผู้จัดการที่เป็นโค้ช คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการโค้ชและให้ feedback ได้ในหลักสูตร High Impact Coaching and Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The Role of a Manager Has to Change in 5 Key Ways” โดย Joseph Pistrui and Dimo Dimov จาก Harvard Business Review 26 ตุลาคม 2018

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

8 วิธีเปลี่ยนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

8 วิธีเปลี่ยนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

ในทศวรรษที่ผ่านมามีองค์กรมากมายที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อการอยู่รอด ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ธุรกิจที่กำลังย่ำแย่และธุรกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่

ทั้งหมดมีเป้าหมายของการเปลี่ยนที่เหมือนกันคือ…

เพื่อให้ธุรกิจเข้าสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้ได้

บางองค์กรประสบความสำเร็จ และบางองค์กรก็ประสบความล้มเหลว ทุกคนสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดจาก 8 บทเรียนที่องค์กรใหญ่ ๆ พยายามปรับเปลี่ยนแต่กลับเผชิญความล้มเหลว

อะไรคือสาเหตุ อะไรคือผลลัพธ์ แล้วเราควรทำอย่างไรจากบทเรียนเหล่านี้ คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว
====

บทเรียนที่ 1 ไม่เข้าใจคำว่า ‘เร่งด่วน’

โดยส่วนใหญ่องค์กรที่ควรจะปรับเปลี่ยนมักจะลงเอยด้วยการปรับเปลี่ยนจริง ๆ แต่ปัญหาคือการปรับเปลี่ยนที่ช้าเกินไป โดยทั่วไป องค์กรส่วนใหญ่จะพลาดตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย

สาเหตุมาจากการติดอยู่กับ comfort zone และการมีผู้บริหารที่ไม่ใช่นักเปลี่ยนแปลง ตัวชี้วัดง่ายๆ ว่าเมื่อไหร่จะต้องปรับเปลี่ยนแบบเร่งด่วน คือระบบการบริหารจัดการอย่างน้อย 75% เริ่มไม่ราบรื่นอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้แล้ว
====

บทเรียนที่ 2 ไม่ประสานกันให้ดี

เมื่อคิดจะเปลี่ยนต้องมีแผนการและมีความเต็มใจจากคนในองค์กร ประเด็นหลักคือจะต้องมีระดับหัวหน้าขององค์กรที่พร้อมจะขับเคลื่อน เพราะการทำกันแค่สองสามคนแทบไม่มีโอกาสไปรอด

สิ่งสำคัญก็คือการปรับเปลี่ยนมักจะถูกค้านจากผู้อาวุโส อย่าคาดหวังกับคนกลุ่มนี้ตั้งแต่แรก แต่จงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่และคนมีอำนาจวางแผนดี ๆ อย่างมีหลักการ และพร้อมที่จะผลักดันอย่างพร้อมเพรียงกัน
====

บทเรียนที่ 3 ขาดวิสัยทัศน์

การเปลี่ยนจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปทำไม หรือเปลี่ยนแล้วเห็นว่าอนาคตมืดมน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงไม่มีใครในองค์กรที่อยากจะร่วมมือ

การสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีช่วยแก้ปัญหานี้ได้ มันคือการสร้างภาพอนาคตที่ชัดเจนหลังการเปลี่ยนแปลง เพื่อสื่อสารกับคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย ไปจนถึงพนักงานทุกคนในองค์กร
====

บทเรียนที่ 4 สื่อสารไม่เป็น

จำเอาไว้ว่าต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 10 ของพนักงานองค์กรที่พร้อมจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ซึ่งแปลว่าคุณจะต้องมีการสื่อสารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางสื่อสารภายในทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการซึ่งถือว่าเข้าถึงคนได้มากกว่า ทั้งการเดินพูดคุยกันในบรรยากาศสบาย ๆ การใช้เวลาว่างตอนกินข้าวเพื่อสื่อสาร เป็นต้น
====

บทเรียนที่ 5 ไม่ได้เอาอุปสรรคออกไป

หนึ่งในเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนก็เพราะมีตัวถ่วงหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ถ้าเราหยิบเอาอุปสรรคเดิม ๆ ไปบรรจุลงในวิสัยทัศน์หรือแผนการปรับเปลี่ยนก็แทบจะไม่ต่างจากการเอาของเก่ามาขายใหม่ แล้วใครจะยอมร่วมมือ

หรือถ้าบังเอิญมีคนร่วมมือด้วยจริง คุณคิดหรือว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าหากยังมีอุปสรรคเดิม ๆ กีดขวางอยู่
====

บทเรียนที่ 6 วางแผนไม่เป็นระบบ

การเปลี่ยนต้องมีแผนที่ชัดเจน มีขั้นตอนว่าจะทำอะไร ประเมินผลอย่างไร และที่สำคัญคือจะต้องมีการสร้างเป้าหมายระยะสั้น (Quick win) ที่ทีมงานสามารถบรรลุได้อย่างแน่นอน เป็นการสร้างกำลังใจเพื่อจะไปคว้าเป้าหมายใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
====

บทเรียนที่ 7 ประกาศความสำเร็จเร็วเกินไป

จริงอยู่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นยากเย็นและเมื่อดูท่าทีว่าจะทำสำเร็จก็ควรจะดีใจ แต่คุณควรหลีกเลี่ยงการเฉลิมฉลองอย่างโอเว่อร์สุดเหวี่ยง หรือการรีบประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จแล้ว

มีองค์กรจำนวนมากที่เร่งรีบประกาศชัยชนะถึงขนาดเที่ยวไปขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานทุกอย่างก็เริ่มเฉื่อย อะไรต่อมิอะไรกลับเชื่องช้าเมื่อเทียบกับตอนที่ยังไม่ประกาศออกมาด้วยซ้ำ ฉะนั้น รอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นสำเร็จจริง ๆ อย่างสมบูรณ์ก่อนดีกว่า
====

บทเรียนที่ 8 ลืมใส่หัวใจของการเปลี่ยนแปลงลงในวัฒนธรรมองค์กร

เป็นที่ทราบกันดีว่าสิ่งที่แข็งแกร่งมากในการทำงาน คือ วัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากมันหยั่งรากและยากต่อการทำลาย เมื่อมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ สิ่งที่จะต้องเร่งทำคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

เช่น เดิมองค์กรเน้นความสะดวกสบาย แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเน้นความรวดเร็วก็จะต้องทำให้คนในองค์กรมีวัฒนธรรมเห็นคุณค่าของเวลาและไม่รีรอที่จะสร้างสรรค์ผลงาน

เพราะหากไม่บรรจุสิ่งเหล่านี้เข้าไป การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืนแน่นอน

ก่อนที่จะใส่หัวใจการเปลี่ยนแปลงเข้าไปในวัฒนธรรมองค์กรใดใดได้ คุณต้องกำจัดวัฒนธรรมองค์กรแย่ ๆ ก่อนที่ทีมของคุณจะพังให้ได้เสียก่อน คลิกอ่านวิธีการได้ที่นี่
====

ทักษะสำคัญที่ช่วยสร้างหรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรก็คือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในแบบฉบับผู้นำได้ในหลักสูตร Executive Communication ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “Leading Change: Why Transformation Efforts Fail” โดย John P. Kotter จาก Harvard Business Review ฉบับ Change Management เดือนมกราคม 2017

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

สามช่วงเวลาสุดท้าทายที่ผู้นำต้องข้ามผ่าน

challenge for leader

3 ช่วงเวลาสุดท้าทาย ที่ผู้นำต้องข้ามผ่าน

มีเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำให้อ่านมากมาย มีวิธีไปสู่ความสำเร็จจากหลากหลายแหล่งให้เลือกเสพ

แต่สิ่งที่หลายคนมักจะถามคล้าย ๆ กันคือ แล้วบทเรียนจาก ‘ความล้มเหลว’ ของผู้นำทั้งหลายล่ะ มีอะไรบ้าง 

น่าสนใจเหลือเกินว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้บรรดาผู้นำคนเก่งต้องกุมขมับ ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนแทบเป็นแทบตาย ต้องล้มแล้วลุกไม่รู้กี่รอบกว่าจะข้ามผ่านไปได้

====

ต่อไปนี้คือบทเรียนจาก 3 ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็น ‘ด่านโหดหิน’ ของการเป็นผู้นำ ที่ผู้นำทุกคนควรเรียนรู้และข้ามผ่านไปให้ได้

1.ช่วงที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ

การเปลี่ยนสถานะนั้นยากเสมอ เชื่อเหลือเกินว่าตอนที่ใครสักคนต้องก้าวจากการเป็นลูกน้องขึ้นมานำทีมเป็นครั้งแรกคือช่วงเวลาสุดปั่นป่วน

สถิติจากงานวิจัยบอกว่า ในช่วง 18 เดือนแรกของการมาบริหารงานระดับสูง มีคนเก่ง 50 – 60% ที่ล้มเหลวเพราะยังเตรียมตัวกับอีกระดับของงานได้ไม่ดีพอ หรือกระทั่งมองไม่เห็นภาพขนาดใหญ่ของงาน (เพราะไม่เคยมองระดับนั้นมาก่อน)

แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดคือการขอ feedback แบบรอบด้านบ่อย ๆ เหมือนการยืมมือลูกน้องทั้งหลายมาช่วยทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น หาช่องว่างหรือจุดโหว่เพื่อที่จะปรับปรุงได้นั่นเอง

การให้และรับ Feedback เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนจำเป็นต้องฝึกฝน อ่าน ให้ Feedback ได้ ทีมพัฒนาไวขึ้น คลิกที่นี่

อีกวิธีที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น คือการหาความรู้เพิ่มเติมว่าการไปยืนตรงนั้นควรจะทำอย่างไรบ้าง ลองหาโค้ชส่วนตัว ที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงที่ชำนาญด้านนั้นคอยประคับประคองหรือกระทั่งการให้คนในทีมที่ไว้ใจได้มาอยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น

====

2.ช่วงที่องค์กรปรับเปลี่ยน

ในองค์กรสมัยก่อน การปรับเปลี่ยนแต่ละทีถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่สำหรับยุคนี้การปรับเปลี่ยนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงส่งนั้นให้เร็วที่สุด
ความท้าทายของผู้นำคือ ไม่เพียงต้องว่ายในกระแสเหล่านี้ให้ได้ แต่ต้องรู้ว่าจะว่ายเมื่อไหร่ และว่ายไปทางไหนด้วย

ผู้นำองค์กรยุคเก่ามักจะตัดสินใจเชื่องช้า รวมถึงบางทีก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือผู้นำจะต้องอ่านสถานการณ์ให้ดีและ ทำอะไรสักอย่างก่อนความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง
แนวทางที่ดีคือการสื่อสารกับผู้นำระดับสูงหรือบอร์ดบริหารให้ชัดเจนและบ่อยครั้งเพื่อประเมินว่าควรจะสนองตอบอย่างไร

====

3.ช่วงไม่รู้ว่าจะไต่ไปที่ไหนต่อ

เวลาที่ผู้บริหารไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กร ความรู้สึกโดดเดี่ยวจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรกเพราะไม่มีใครที่มีอำนาจเทียบเท่า จึงไม่มีคนที่อยู่ในสถานะเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมงาน

จากนั้นจะรู้สึกว่าไม่มีจุดหมายที่สูงกว่านั้นให้ไปแล้ว เมื่อมุมานะทำงานหนักจนอยู่ในจุดสูงสุดของทีมแล้วการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำมักจะเกิดขึ้น เพื่อดันภาพรวมองค์กรให้ออกมาดี แต่ปัญหาก็คือในแง่ของสายงาน คนเหล่านี้ไม่รู้จะไต่ไปจุดไหนต่อดีจึงมักจะเกิดภาวะเหนื่อยล้า สับสน หมดไฟในการทำงานได้

ภาวะแบบนี้เป็นเหตุให้ค่าเฉลี่ยของบรรดา CEO บริษัทใหญ่ๆ จะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 5 ปี ขณะที่ CMO ของบริษัทนั้นอาจจะไม่ถึง 4 ปีด้วยซ้ำ

คำแนะนำสำหรับคนที่บริหารงานมาสู่จุดสูงสุด คือ อย่า ‘ติดแหง็ก’ ตรงนั้นถ้าใจไม่ต้องการ ลองหาทางขยับขยายไปทางอื่น โดยมีที่ปรึกษาหรือเพื่อนคอยปรับทุกข์ หรือหาโมเดลจากคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อนว่าเขาทำอย่างไร อาจจะย้ายไปองค์กรอื่น หรืออยู่ต่อไปเพื่อเป็นบอร์ดบริหาร หรือออกไปสร้างอาณาจักรใหม่ของตัวเองเลย

ทั้งนี้ การลองไปทำงานในสายที่ตำแหน่งต่ำกว่าเดิมแต่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ ก็อาจจะช่วยได้ และสักวันจะไต่ขึ้นมาในอีกบทบาทที่น่าสนใจก็ได้ครับ

====

ถ้าคุณต้องการฝึก Mindset และ Skillset ในการเป็นผู้นำยุคใหม่ เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill คลิกดูรายละเอียด ที่นี่

เรียบเรียงจาก “3 Transitions Even the Best Leaders Struggle With” โดย Cassandra Frangos จาก Harvard Business Review 2 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

บททดสอบทั้ง 4 ของผู้นำยุคใหม่

บททดสอบทั้ง 4 ของผู้นำยุคใหม่

ผู้นำองค์กรคนหนึ่งกำลังนำทีมผ่านพายุแห่งความเปลี่ยนแปลง บริษัทการเงินของเขาต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งสำคัญ นั่นคือ…

มีพนักงานคนสำคัญที่นิสัยดีมากแต่ทำงานไม่ได้เรื่อง และมีคำถามในหัวของเขาคือ “จะไล่พนักงานคนนี้ออกอย่างไร”

โชคร้ายที่ผู้นำองค์กรท่านนั้นไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หรือเขาอาจตัดสินใจไปแล้วแต่ไม่กล้าลงมือ เวลาผ่านไป 3 เดือนเขาก็ยังไม่ยอมเซ็นคำสั่ง เสียงในหัวของเขามีแต่คำต่อว่าตัวเองว่า “อ่อนแอจัง”

====

คุณก็รู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความรู้สึก น้อยคนมากที่จะทำตามที่คิดเอาไว้ได้ทุกอย่าง หลายครั้งที่เดินมาถึงช่วงเวลาสำคัญที่ต้องตัดสินเชิงกลยุทธ์โดยไม่มีอารมณ์มาปะปน ก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่ยากเสมอ

ต่อให้ไม่ใช่ CEO หรือไม่ได้มีตำแหน่งหัวหน้า แต่ถ้าถึงคราวที่ต้องขึ้นมานำทีมหรือนำโปรเจคอะไรสักอย่าง สิ่งที่เราต้องมีก็คือพลังอำนาจ การสร้างแรงดึงดูดเพื่อให้คนยอมทำตามโดยพร้อมพลีกายถวายชีวิตอย่างสุดความสามารถ

แต่การนำทีมแบบแข็งเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี ผู้นำต้องแสดงถึงความห่วงใยคนในทีม การสื่อสารให้ดีที่สุด การจูงใจอย่างเหมาะสมที่ไม่ยอกย้อนจนดูมีเล่ห์เหลี่ยม

ผู้นำที่ดีควรจะจริงใจและเป็นตัวของตัวเองในขณะเดียวกันก็รับฟังและแสดงความโอบอ้อมอารีแม้ว่าจะถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงก็ตาม 

====

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานกับผู้นำประเภทต่าง ๆ มาแล้วมากมายจนสามารถตกผลึก 4 คุณลักษณะที่ผู้นำจะต้องมี ดังนี้

1.มีความมั่นใจในตัวเอง (Confident)

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่ผู้นำสอบผ่านกันทุกคน แต่มันไม่เป็นความจริงเลย เป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้นำหลายคนที่ประสบความสำเร็จกลับสอบตกในข้อนี้กันหลายคน

อย่าให้ภาพลักษณ์ภายนอกมาหลอกลวงคุณได้ เพราะแท้จริงแล้วภายในใจของผู้นำหลายคนกลับเปราะบาง

หลายคนทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะต้องการอำพรางความไม่มั่นใจในตนเอง จึงมุ่งสร้างภาพให้คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกพึงพอใจที่เห็นเขาทุ่มเทจริงจัง

ความมั่นใจที่แท้จริงคือ ผู้นำจะรู้ว่าตัวเองเป็นใคร สามารถมองภาพอนาคตว่าตัวเองจะเป็นอะไร เขาจะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายนั้นโดยไม่วอกแวกระหว่างทาง รวมถึงใช้พลังงาน เวลา ทักษะความสามารถ และเงินอย่างชาญฉลาดและมีกลยุทธ์ ไม่ใช่บ้าพลังทุ่มเททุกสิ่งเหมือนคนเสียสติ

ถ้าการสร้างความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ ขอแนะนำให้อ่าน สุดยอดเทคนิคสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองที่เห็นผลสุดๆ คลิกที่นี่

=====

2.เชื่อมต่อกับผู้อื่น (Connected)

การสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพจะนำมาซึ่งความเข้าใจในการทำงาน กระทั่งเวลาที่มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ยังทำให้คนอื่นรู้สึกไว้วางใจในตัวเราได้

หมายความว่าเมื่อมีข้อขัดแย้งหรือเกิดปัญหาใดใดอย่าเพิ่งผลีผลามทำอะไรโดยไม่เห็นหัวคนอื่น แต่จะต้องค่อย ๆ หาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

====

3.มีจุดหมายในภารกิจอย่างชัดเจน (Committed)

ผู้นำต้องรู้แน่ชัดว่าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จแล้วผลักดันให้คนอื่นมาร่วมทำด้วยตั้งแต่เริ่ม นอกจากนี้ยังต้องเปิดใจให้กว้างและไม่รีรอที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่วางเอาไว้

หมายความว่า อะไรที่ขัดขวางเป้าหมายนั้น ผู้นำจะต้องจัดการได้อย่างเด็ดขาด

หากมีหัวหน้าพนักงานขายที่ทำงานไม่ได้ตามที่ต้องการ สิ่งที่ผู้นำต้องทำคือการแสดงความเด็ดขาดเพื่อให้ลูกน้องทุกคนได้เห็น ท้ายที่สุดแล้วการไล่ออกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะมันคือภารกิจในการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

====

4.มีความกล้าหาญ (Courageous)

เมื่อใดที่เกิดความเสี่ยง เมื่อนั้นผู้นำย่อมรู้สึกเปราะบาง ผู้นำบางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงและอำพรางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงโดยไม่สื่อสารให้ใครรู้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ผู้นำจะต้องเข้มแข็งพอที่จะบอกทุกคนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากอย่างรวดเร็วด้วย

ถือเป็นเรื่องดีมากหากใครเป็นผู้นำที่สามารถหลอมรวมคุณลักษณะทั้ง 4 ข้อมาไว้ในตัวได้ แต่ถ้าจะไม่มีทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้นำบางคนมีเพียง 1 หรือ 2 ข้อ แต่ทั้งหมดสามารถฝึกฝนได้ และถ้าคุณทำได้ครบทุกข้อ คุณคือผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งแล้วล่ะ

====

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพคือทักษะสำคัญที่จะทำให้ผู้นำเชื่อมโยงกับคนในทีม คนในองค์กร และคนภายนอกได้ เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องนี้ได้ในหลักสูตร  Executive Communication ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Great Leaders Are Confident, Connected, Committed, and Courageous” โดย Peter Bregman ตีพิมพ์เมื่อ 13 กรกฎาคม 2018 ใน Harvard Business Review

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน

หนึ่งในเรื่องดังกล่าวก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่าง รวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

=====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

=====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

=====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

การฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อไม่ให้การทำงานและการสร้างทีมพังเป็นหนึ่งวิธีการที่ควรทำควบคู่กับการฝึกจิตใจ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 ระดับความไว้ใจเริ่มได้ที่ผู้นำ

5 ระดับความไว้ใจ เริ่มได้ที่ผู้นำ

ถ้าทีมของคุณมีกลยุทธ์ในการทำงานที่ลงตัว มีการทำงานเต็มศักยภาพ แต่ผลที่ออกมายังไม่ดีเท่าที่ควร เป็นไปได้สูงมากว่าทีมของคุณยังขาดสิ่งนี้

‘ความไว้วางใจ (Trust)’

 

ความไว้วางใจอาจเป็นถ้อยคำนามธรรมที่จับต้องยาก แต่มันส่งผลมหาศาลเกินกว่าจะละเลย นี่คือความลับที่ทีมและองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายมี ในขณะที่องค์กรล้มเหลวไม่มี

‘สตีเฟน เอ็ม อาร์ โควีย์’ ลูกชายของ สตีเฟน อาร์ โควีย์ นักเขียนและทีปรึกษาธุรกิจในตำนานพูดเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียดในหนังสือ The Speed of Trust

===

สตีเฟนบอกว่าความไว้วางใจ หรือ Trust คือ สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งให้ดีขึ้น เขาเขียนเป็นสมการแห่งความสำเร็จไว้ ดังนี้

ความสำเร็จ = กลยุทธ์ + การปฏิบัติงาน + ความไว้วางใจ

 

เมื่อพิจารณาตามสมการจะเห็นว่าองค์ประกอบเดียวที่หลายทีมละเลยก็คือ ความไว้วางใจ นั่นเอง

 

ความไว้วางใจมีอยู่ 5 ระดับ ซึ่งจำเป็นต้องบ่มเพาะจากระดับที่ 1 สู่ระดับที่ 5 อย่างไม่อาจลัดขั้นตอนได้
===

ความไว้วางใจ 5 ระดับ ( 5 Level of Trust)

Level 1 : Primary Trust

เราสามารถไว้วางใจตัวเองได้ นี่คือระดับของภาวะผู้นำ สร้างได้จากการเข้าใจตัวเอง การมีวินัย ความรับผิดชอบ และนิสัยโปรแอคทีฟ (ริเริ่ม สร้างสรรค์ วางแผน ป้องกัน และรับผิดชอบ)
===

Level 2 : Relationship Trust

คนในทีมสามารถไว้วางใจเราได้ เกิดจากการมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในทีมโดยการรับฟัง สื่อสารเชิงบวก ทำความเข้าใจ ยอมรับความต่าง ให้เวลา ใส่ใจ ช่วยเหลือและเห็นคุณค่าของผู้อื่น
===

Level 3 : Organizational Trust

เกิดจากองค์กรหรือทีมของคุณกำลังมุ่งไปสู่สิ่งที่ได้ประกาศจุดยืนเอาไว้ ส่วนใหญ่พูดถึงโครงสร้างและระบบ องค์กรที่มี Trust น้อยจะมีความซ้ำซ้อนของงานสูง ทำงานล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบเยอะ
===

Level 4 : Market Trust

ตลาดของคุณรู้สึกไว้วางใจในความเป็น Professional ขององค์กรของคุณ ทำให้เกิดแฟนคลับเพิ่มขึ้นมากมาย
===

Level 5 : Social Trust

เป็นความเชื่อใจ ไว้วางใจขั้นสูงสุด ที่ผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือตลาดของคุณหรือไม่ก็ตามรู้สึกเชื่อใจว่าองค์กรของคุณกำลังทำสิ่งที่ดีต่อโลกใบนี้อยู่

 

ความไว้วางใจอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก สร้างยากแถมยังถูกทำลายง่าย แต่เชื่อเถิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนสร้างขึ้นมาและรักษาเอาไว้

เพราะคุณเองก็ต้องการความไว้วางใจไม่ใช่หรือ

=== ===

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาคนและทีมเเวิร์ค (Human Development &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

6 ทักษะสุดเจ๋งที่ผู้นำควรฝึก

6 ทักษะพื้นฐานสุดเจ๋งที่ผู้นำควรฝึก


ได้ยินกันมานานแล้วว่าหนทางที่จะไปคาร์เนกี้ฮอลล์ เวทีการแสดงที่โด่งดังที่สุดในโลก คือประโยคอมตะ “ซ้อม ซ้อม และซ้อม”

 

แต่สำหรับทักษะการบริหารจัดการคนไม่ได้มีเพียงความมุ่งมั่นและฝึกซ้อม งานวิจัยและประสบการณ์ของนักบริหารจำนวนมากบอกตรงกันว่า

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่อ่านหนังสือหรือลงคอร์สเยอะ ๆ แต่ทุกคนต้องฝึกกับประสบการณ์จริง

ผู้นำองค์กรหลายท่านอาจแปลกใจ หากพบว่า โดมินิก บาร์ตัน ผู้จัดการใหญ่ของแม็คคินซี่ย์ที่มีประสบการณ์นับสิบปีไม่เคยพูดถึงการไปลงคอร์สพิเศษหรืออ่านหนังสือเลย

 

เขาเน้นย้ำเรื่อง “การเรียนรู้โดยลงมือทำ” ซึ่งส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานเป็นอย่างมาก

 

“เรียกว่าผมเสี่ยงลงมือทำดีกว่า ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้พวกเราเข้าไปอยู่ในแผนที่แห่งความสำเร็จ ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน” บาร์ตันเล่าประสบการณ์น่าตื่นเต้น

 

เขายังให้บทเรียนสั้นๆ ว่า มีทักษะพื้นฐานอยู่ 6 ประการที่ผู้นำควรจะลองฝึกเพื่อผลักดันตัวเองและองค์กรให้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น
===

 

ทักษะสำคัญพื้นฐาน 6 ประการของผู้นำ มีดังนี้

1.ฝึกวิสัยทัศน์

ลองมองหาสิ่งที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับทีมอยู่เสมอ อย่าหยุดนิ่งกับการทำงานหรือคิดแบบเก่า
===

 

2. สร้างกลยุทธ์จากวิสัยทัศน์

เมื่อเกิดวิสัยทัศน์ควรนำมาสร้างกลยุทธ์ให้เป็นรูปธรรม ว่าแผนจะเป็นอย่างไร ควรทำและไม่ควรทำอะไร
===

 

3. เลือกคน พัฒนา และให้รางวัล

ขั้นตอนของการบริหารจัดการคนที่ยอดเยี่ยมคือสร้างคนที่ดีให้องค์กร เลือกรับคนที่เหมาะสม พัฒนาให้เก่ง และให้รางวัลเพื่อความสุขในการทำงานเพื่อทำให้เขาพัฒนาไปอีกระดับ
===

 

4. โฟกัสผลลัพธ์ที่จับต้องได้

เมื่อมีการลงมือทำแล้วจะต้องสร้างเกณฑ์วัดผลงานที่จับต้องได้ มีความชัดเจน ไม่ใช่แค่กะประมาณแล้วบอกว่าดีหรือแย่ แต่ต้องกำหนดตัวเลขหรือสิ่งวัดผลเป็นรูปธรรมที่เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย
===

 

5. เปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ

ไม่มีใครก้าวหน้าโดยอยู่กับความคิดหรือเครื่องมือเก่า ๆ ได้ จึงต้องมีการนำนวัตกรรมใหม่ การเรียนรู้ใหม่ เข้ามาสนับสนุนทีมเพื่อให้เกิดการพัฒนา และยังอาจหมายถึงการมองหาผู้นำใหม่ที่จะไปได้ดีกับนวัตกรรมใหม่อีกด้วย
===

 

6. จัดการตัวเองให้ดี

ผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่สุดขององค์กร การรู้จักตัวเอง พัฒนาปรับปรุงตนเอง และจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวจึงสำคัญ เมื่อผู้นำมีความสุข องค์กรก็จะไปได้ดีนั่นเอง
===

 

6 ทักษะนี้คือสิ่งสำคัญที่ผู้นำควรฝึกฝนจนชำนาญ เพื่อให้องค์กระประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อคุณเป็นผู้นำที่มีทักษะยอดเยี่ยม คุณก็จะเห็นผลลัพธ์ที่งดงามในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน
===

 

อ้างอิงจาก “The 6 Fundamental Skills Every Leader Should Practice” โดย Ron Ashkenas and Brook Manville จาก Harvard Business Review 24 ตุลาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะมาเผยความลับแก่คุณ

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะมาเผยความลับแก่คุณ


แม้จะรู้ทฤษฎี รู้หลักการต่าง ๆ มากมายนับสิบ นับร้อยเรื่อง แต่ในสถานการณ์จริงการสร้างทีมเวิร์คก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณอยู่ดี

และต่อไปนี้คือประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทีมซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

ลองศึกษาวิธีการของพวกเขาแล้วนำไปปรับใช้กับโจทย์ที่คุณพบเจออยู่ ตั้งเป้าไปเลยว่าคุณจะต้องมีทีมเวิร์คที่ดีให้ได้ภายในปีนี้และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณก็จะไม่เลิกล้มกลางคัน

แล้ววันหนึ่งคุณอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นคนแชร์บทเรียนเหล่านี้ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นต่อไปก็ได้
====

1. จงรู้ความต้องการของคนในทีม บทเรียนจาก Utsav Bhattacharjee, cofounder ของ Reculta

 

“จงรู้ถึงความต้องการพื้นฐานที่สุดในการเข้ามาเป็นสมาชิกในทีม ทุกคนควรจะเข้าใจชัดเจนทั้งเป้าหมายของทีมและเป้าหมายของสมาชิกแต่ละคนเพื่อให้ความพยายามของสมาชิกแต่ละคนสอดคล้องกับความพยายามของทีมนั่นเอง”

 

“ให้คุณดูทีมพายเรือโอลิมปิกที่เป็นแชมป์กับทีมพายเรือมือใหม่เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่าง คุณจะเห็นว่าการรับรู้เป้าหมายของตัวเอง เป้าหมายของเพื่อน และเป้าหมายของทีมอย่างชัดเจนที่สุดทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่ทีมจะทำได้” Bhattacharya บอก

“นอกจากนี้การให้ข้อเสนอแนะและการเรียนรู้ที่จะยอมรับฟังคำวิจารณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของทีมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองทักษะนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและต้องฝึกฝนโดยใช้เวลา” Bhattacharya สรุป
====

 

2. รับฟังและเรียนรู้จากกันและกัน บทเรียนจาก Piyush Kedia, founder and CEO ของ Blue Vector

Kedia พูดถึงคุณสมบัติที่ทำให้ทีมของเขาและทีมที่มีประสิทธิภาพทีมอื่น ๆ ที่เขาพบเจอมีเหมือนกัน ดังนี้

 

“ฟังและเรียนรู้ – เราควรพร้อมที่จะรับข้อมูลจากใครก็ตามที่อยู่รอบตัวคุณโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ ประสบการณ์การทำงาน หรือภูมิหลังของเขา “

 

“หลีกเลี่ยงการนินทาผู้อื่น – นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ ระวังการพูดนินทาคนอื่นไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้แต่คนในแผนกอื่นก็ตาม

ระลึกไว้เสมอว่าทุกคำที่คุณพูดจะต้องเป็นถ้อยคำที่เจ้าตัวสามารถมานั่งฟังอยู่ด้วยได้”

“การพบหลังเวลาทำการ – อย่าให้ความเป็นทีมของคุณมีอยู่เฉพาะเวลาทำงาน จงสร้างทีมโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เป็นหลัก ให้เวลากับเพื่อนร่วมทีมนอกเหนือเวลางานเพื่อรับฟังเรื่องราวของเขาและแบ่งปันชีวิตด้านอื่น ๆ แก่กันและกันบ้าง”
====

3. จงแสดงความคิดเห็นออกมาด้วยความเคารพต่อกัน บทเรียนจาก Jayesh Khandor, founder ของ The Brand Saloon

 

“สิ่งสำคัญคือการมีความเห็น ไม่ว่าคนนั้นจะฉลาดมากหรือฉลาดน้อยแค่ไหน ทุกคนในทีมล้วนต้องการความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นที่ดีต้องมีความเคารพรักต่อคนในทีมตามมาด้วยเสมอ”

“โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คุณแสดงความคิดเห็น ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นเขาแล้วมีคนวิพากษ์วิจารณ์คุณแบบนั้นคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณไม่โอเคก็ลองปรับเปลี่ยนให้คุณรู้สึกโอเคที่สุดก่อนพูดออกมา”

====

บทความจาก Entrepreneur.com เขียนโดย Baishali Mukherjee

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน – ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save